ได้เสียววาบ ๆ กันอีกรอบ อาจจะถึงขั้นล็อกดาวน์กันเลยก็เป็นได้ หลังพบผู้ติดเชื้อโควิด - 19 ระลอกใหม่ในไทย ระลอกนี้เริ่มมาจากแดนเหนือ และเริ่มแพร่กระจายแบบไม่รู้จะคุมอยู่แค่ไหน แต่ที่แน่ ๆ เริ่มเล็ดหลุดมากรุงเทพฯ เรียบร้อย
เรื่องโรคยังไงก็ต้องปล่อยหน้าที่ให้ทางการจัดการไป แต่ถ้าหันกลับมามองในแง่ของธุรกิจที่เหมือนกำลังจะกลับมาจะทำยังไงต่อไป ถ้าโควิด - 19 คัมแบ็คอีกรอบ
ลองมาตั้งสมมติฐานกันดูว่า หากโควิด - 19 กลับมาระบาดรอบสองแล้ว ผู้ประกอบการธุรกิจไทย จะรับมือกันอย่างไรต่อ? และจะยังมีแรงยกการ์ดตั้งรับไหวไหม? ที่สำคัญงวดนี้รัฐบาลควรจะหามาตรการใดมารับมือ?
"หากดูจากบทเรียนล็อกดาวน์รอบแรก"
กุญแจสำคัญของล็อกดาวน์รอบแรก ธุรกิจจะกลับมาดูธุรกิจตัวเองมากขึ้น เรียนรู้ตัวเองมากขึ้น เพราะผู้ประกอบการจะมีเวลามากขึ้น จากการที่โควิด - 19 ทำให้ทุกอย่างหยุดชะงัก โดย 3 เรื่องที่สามารถกลับมานั่งนิ่ง ๆ แล้วทบทวนตัวเอง คือ รายได้ / ต้นทุน และกำไร
- อย่างรายได้ ถ้าอยากให้กลับมีเหมือนเดิม ก็ต้องเข้ามาดูลูกค้าว่ากลุ่มไหนที่มีความสำคัญอย่างมากต่อธุรกิจของเรา ต้องจับไว้ให้มั่น ไม่ใช่จับมันทุกกลุ่มเหมือนก่อนไหม
- อย่างต้นทุน ถ้าอยากให้ลดลง ก็ต้องทำให้ต้นทุนต่าง ๆ ไม่จำเป็น ลดลง บางสายงานจำเป็น ไม่จำเป็น ต้องโยกย้ายคนไหม ค่าใช้จ่ายไหน ไม่จำเป็นบ้าง ค่าน้ำ ค่าไฟ และอื่น ๆ อาจจะต้องตัด
- อย่างกำไร ถ้าอยากให้มากขึ้น ก็ต้องมีเวลากลับเข้ามาดูว่าธุรกิจส่วนไหนที่เราจะสามารถทำอะไรให้ได้มากขึ้น หรือขยายไปเป็นธุรกิจใหม่ที่ตอบสนองต่อยุคโควิด - 19 เช่น ร้านอาหาร ก็เปลี่ยนตัวเองจากขายหน้าร้าน มาส่งเดลิเวอรี่อย่างเดียว
ทีนี้ถ้าโควิด -19 รอบ 2 มา แล้วเกิดมันหนักจนรัฐต้องปิดประเทศอีกรอบ บอกเลยว่า...งวดนี้หนักแน่นอน!! เพราะจากข้อมูลในช่วงล็อกดาวน์ที่มีการประเมินจากศูนย์วิจัยต่าง ๆ พบว่า
- ระบบเศรษฐกิจต้องสูญเสียรายได้ในประเทศประมาณ 1.5 หมื่นล้านต่อวัน
- เมื่อเอา 30 วันคูณเข้าไป ก็ตก 4.5 แสนล้านต่อเดือน
- และถ้าเอา 10 เดือนคูณเข้าไป ก็จะสูญเสียไป 4.5 ล้านล้านต่อปี
ฉะนั้นหากเกิดเหตุขึ้นอีก ตัวเลขนี้ก็จะเกิดตาม และจะไม่มีอะไรไปทดแทนได้อีกเลย ถ้าต้องล็อกดาวน์นานมากขนาดนั้น
"รัฐต้องวางหมากให้แม่น" การ์ดที่ภาครัฐต้องตั้ง คือ ดูแลทรัพยากร รวมถึงรายได้ธุรกิจภายในประเทศ หากต้องมีการล็อกดาวน์ ก็ควรล็อกแค่เฉพาะส่วน และปล่อยในบางส่วน เช่น พื้นที่เศรษฐกิจสำคัญในกรุงเทพ อย่าง ราชประสงค์ สยาม เยาวราช สีลม สุขุมวิท หากจะต้องเลือกล็อก ก็ต้องล็อกเฉพาะบางจุดของพื้นที่ เพื่อให้เกิดการใช้จ่ายในพื้นที่นั้น ๆ ไม่ควรปิดทั้งหมด
ขณะเดียวกันต้องเลือกผ่อนปรนบางธุรกิจที่สามารถกระตุ้นภาคการจับจ่ายไว้ด้วย โดยเฉพาะร้านอาหาร เพราะหากปิดทั้งหมด การจะกลับมาแบบเฟสแรกนี่คงยากมาก ๆ ไหนจะในแง่มูลค่าเศรษฐกิจ ไหนจะในเรื่องพนักงาน และคนทำงานด้วย โดยเฉพาะเรื่องตัวเลขคนตกงานที่เกิดขึ้นในช่วงโควิด - 19
มีการคาดการณ์ตัวเลขพุ่งขึ้นไปถึงกว่า 8 ล้านกว่าคน ตัวเลขนี้ไม่ว่าจะชดเชยยังไง ก็ถมกันไม่หมด เพราะไม่ใช่แค่การสูญเสียเชิงมูลค่าเศรษฐกิจอย่างเดียว แต่ยังมีการสูญเสียมูลค่าทางใจที่ยากกู้คืนกลับ พูดง่าย ๆ คือ ในประเทศไม่ควรล็อกดาวน์ทั้งหมด แต่ถ้าปิดประเทศ ไม่ให้ต่างประเทศเข้ามา อันนี้ ควรทำ!!
...ทีนี้หันกลับมามองภาคผู้ประกอบธุรกิจจะรับมือไหวไหม ถ้าโควิดระบาดจริง ๆ ?
ในที่นี้มี 3 สิ่งที่อยากให้ผู้ประกอบการลองคิด การตั้งการ์ดของผู้ประกอบการอาจจะเริ่มที่การกลับมาดูแลตัวเองเท่านั้น และในส่วนของ "รายได้" และ "กำไร" คงไม่เกิดขึ้นง่าย ๆ สิ่งที่ทำได้อย่างเดียว คือ จัดการ "ต้นทุน" ให้เข้ม ต้องกลับมาทำให้องค์กร "ผอม" เพื่อให้ต้นทุนต่ำลง...นี่คือสิ่งแรกที่ต้องทำ!!
ต่อมา...ถ้าผ่านวิกฤตินี้ไปได้ จนไปถึงกลางปีหน้า อาจจะเห็นหลาย ๆ ผู้ประกอบการที่เคยทำธุรกิจหนึ่ง เปลี่ยนไปทำอีกธุรกิจหนึ่งที่ไม่เกี่ยวข้องกันเลยก็ได้ แบบที่บางธุรกิจหันมาทำหน้ากากอนามัยขาย หรือบางธุรกิจ เช่น โรงแรม มาทำอาหารขายไปเลย...นี่คือสิ่งต่อมาที่ควรทำ !!
ต่อมา...ถ้ารอไม่ไหว ต้องหาแรงสนับสนุน ผู้ประกอบการธุรกิจหนึ่ง อาจจะต้องร่วมมือกับผู้ประกอบการอื่น ๆ ลองหันมาดูว่าธุรกิจเรา มีสิ่งไหนเป็นคีย์ซัคเซสที่ทำได้ดี
แล้วสิ่งไหนที่เราทำได้ยากหรือไม่ถนัด แต่ผู้ประกอบการอื่น ๆ มีศักยภาพมากกว่า
แล้วผู้ประกอบการก็ควรต้องหาทางไปร่วมมือกับเขาทันที!!
เช่น เดิมเคยทำอาหารได้อร่อยมาก แต่ไม่มีสายส่งอาหาร หรือไม่มีฐานลูกค้าในพื้นที่อื่น ๆ ไม่มีวิธีการกระจายไปหาผู้บริโภคได้มากพอ ก็อาจจะต้องไปคุยกับร้านค้าอื่น ที่มีสาขาหลาย ๆ จุด เพื่อกระจายสินค้าให้มากขึ้น แล้วแบ่งกำไรกัน ต้องจำไว้ว่าเวลาเจอวิกฤติ การร่วมมือ สำคัญมากกว่า การแข่งขัน ท่องไว้...อย่าเห็นแก่ตัวในยามยาก!!…นี่คือสิ่งสุดท้ายที่ห้ามมองข้าม!!
ช่วงวิกฤติหลายคนมักจะพูดถึงคำว่าโอกาสใหม่ ๆ นั่นก็ใช่!! แต่ไม่ทั้งหมด
เพราะจริงๆ แล้ว โอกาสมันมาจากการเจอนวัตกรรมใหม่ ที่ตอบโจทย์ธุรกิจช่วงนั้น
ต้องหาให้เจอ ต้องดิ้นให้สุด...