Friday, 18 April 2025
GoodsVoice

‘เสธ.หิ’ ออกโรงแจง 3 ประเด็น ปมตรวจสอบจ้างขุด-ขนถ่านหินแม่เมาะ ชี้ เป็นสิ่งควรทำเพื่อให้การประมูลโปร่งใส และเป็นประโยชน์ต่อ กฟผ.

(13 มี.ค. 68) ดร.หิมาลัย ผิวพรรณ ผู้อำนวยการพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน (นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า...การตรวจสอบอย่างยุติธรรม เป็นสิ่งที่ควรกระทำ

วันนี้ผมได้ฟังสื่อใหญ่พร้อมพิธีกรผู้มีชื่อเสียงในวงการสื่อมวลชน ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ผลการตรวจสอบ การจ้างขุดถ่านหินเมืองแม่เมาะ ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิต ซึ่งผลการออกตรวจสอบ ก็ออกมาทันเวลา ไม่ได้เกิดความเสียหายต่อกระบวนการผลิตไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแต่อย่างใด ปฐมบทในเรื่องนี้ เกิดจากการร้องเรียนของผู้เข้าร่วมประมูลถึงความโปร่งใสของขั้นตอนต่างๆ ดังนั้นการที่ท่านพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน สั่งตรวจสอบความถูกต้อง จึงเป็นเรื่องที่พึงควรจะทำ หลังจากการตรวจสอบแล้ว เมื่อไม่พบการกระทำที่ผิดระเบียบและกฎหมาย ก็แจ้งให้สามารถดำเนินการต่อไปได้ รวมทั้งสามารถตอบคำถามให้ผู้ร้องเรียนเข้าใจในข้อสงสัยต่าง ๆ ได้

การตรวจสอบดังกล่าวจึงเป็นไปอย่างบริสุทธิ์และยุติธรรม ไม่ได้มีเจตนาจะทำให้ผู้ใดหรือผลประโยชน์ของส่วนรวมต้องเสียหาย ทั้ง 3 ข้อสังเกต ที่ส่งให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตไปพิจารณานั้น ก็เป็นหน้าที่ของกรรมการผู้บริหารของการไฟฟ้าฝ่ายผลิต จะเป็นผู้พิจารณาปรับปรุงแก้ไข เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาเป็นที่เคลือบแคลงสงสัยต่อการประมูลครั้งต่อไป ว่าได้คำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุดของรัฐและส่วนรวมแล้วหรือยัง

ผมขออาศัยพื้นที่ตรงนี้ ชี้แจงข้อสังเกต 3 ข้อ ที่ได้ส่งให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิต ได้พิจารณาเพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินการเพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศชาติได้

1.การขุด-ขนถ่านหิน ไม่จำเป็นต้องเร่งด่วน เรื่องนี้มีการกล่าวหาว่าท่านพีระพันธุ์ฯ จะเป็นต้นเหตุของค่าไฟแพง เนื่องจากหากไม่รีบดำเนินการจะต้องไปใช้ก๊าซ ซึ่งมีราคาแพงกว่าถ่านหินมาก 
มุมมองที่ว่าเป็นเรื่องเร่งด่วนนั้น ผมคงไม่ต้องชี้แจงมาก เพราะทาง กฟผ.ได้โหมสื่อประชาสัมพันธ์ในเรื่องนี้ไปอย่างมากแล้ว แต่มาดูมุมมองที่ว่าไม่เร่งด่วนนั้น เป็นเพราะวิกฤตการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน ไม่ได้ขยายตัวและส่งผลกระทบในวงกว้างอย่างที่วิตกกังวลในตอนแรกแต่อย่างใด รวมทั้งการขุด-ขน ตามสัญญาที่ผ่านมาก็สามารถทำได้เกินเป้า ทำให้มีปริมาณถ่านหินสำรองไว้ใช้สำหรับการผลิตได้ถึงประมาณ 3-4 เดือน 

ข้อสังเกตที่ 2.ควรเปิดประมูลตามปกติ และ 

3.ไม่จำเป็นต้องจัดจ้างโดยวิธีพิเศษ อันนี้เป็นเหตุผลต่อเนื่องมาจากข้อสังเกตที่ 1 ซึ่งตรงไปตรงมาอยู่แล้ว แต่ผมอยากชี้แจงมุมความคิดอีกด้านซึ่งอาจตรงกันข้ามกับท่านพิธีกรดังนี้นะครับ 

ปัจจุบันเหมืองแม่เมาะมีผู้รับเหมาที่รับจ้าง ขุด-ขนดินและถ่าน อยู่จำนวน 2 รายใหญ่ 2 สัญญา คือ 

1.สัญญา 8 ผู้ได้สัญญาคือ บ.สหกล อิควิปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) SQ เริ่มสัญญา 1 ม.ค. 2559 ครบ สัญญา เม.ย.2569

2.สัญญา 9 ผู้ได้รับสัญญา บ.อิตาเลียนไทย ดีเวลเมนท์ จำกัด (มหาชน) ITD เริ่ม สัญญา 1 ม.ค.2562 ครบ สัญญา 31 ธ.ค.2571

ผมอยากให้ท่านดูเวลาที่ประมูลนะครับ สัญญาที่ 8 เริ่มสัญญา 1 ม.ค.2559 แสดงว่าขั้นตอนการประมูลอยู่ในปี 2558 ปีนี้ 2568 ก็คือ 10 ปี มาแล้วนะครับ สัญญาที่ 9 เริ่มสัญญา 1 ม.ค.2562 แสดงว่าขั้นตอนการประมูลอยู่ในปี 2561 ปีนี้ 2568 ก็คือ 7 ปี มาแล้วครับ ผมคิดแบบโง่ๆนะครับ เดี๋ยวนี้เทคโนโลยีก้าวหน้าเร็วมาก ในปี 2558 กับปี 2561 อาจจะมีบริษัทที่มีเทคโนโลยี สามารถรับงานนี้ได้อยู่จำนวนหนึ่ง หากเราเปิดกว้างให้ประมูลตามปกติไม่เฉพาะเจาะจง ผมเชื่อว่าจะมีบริษัทที่มีเทคโนโลยีสามารถรับงานนี้ได้มากกว่าปี 2558 กับปี 2561 อย่างแน่นอน อีกข้อหนึ่งในเรื่องของเงินทุน เวลาที่ต่างกันมาถึง 10 ปี เนื่องจากความก้าวหน้าทางการเคลื่อนย้ายทุนของโลก ผมเชื่อว่าบริษัทที่มีเงินทุนที่สามารถจะทำงานนี้ได้ก็มีจำนวนมากกว่าในปี 2558 กับปี 2561 เช่นกัน

เนื่องจากระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตเป็นระเบียบของตัวเอง ไม่ได้ใช้ระเบียบของทางราชการซึ่งมีความรัดกุมและโปร่งใส จากกรณีที่เกิดขึ้นนี้ ถึงเวลาแล้วหรือยังครับ ที่คณะผู้บริหารของ กฟผ. จะพิจารณาปรับปรุงแก้ไขระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างให้โปร่งใสและเป็นธรรมมากขึ้น อาจจะใช้ระเบียบของทางราชการมาใช้เลยก็ได้ เพื่อลดดุลย์พินิจของเจ้าหน้าที่และมีมาตรฐานมากขึ้น เช่นในการประมูลลักษณะนี้ ควรแยกซองเทคนิคกับซองราคา ออกจากกันหรือไม่ ควรประกาศผลซองเทคนิคก่อนหรือไม่ เพื่อให้ผู้ร่วมประมูลสามารถอุทธรณ์ โต้แย้ง และชี้แจงกับคณะกรรมการได้ เมื่อได้ข้อสรุปที่ชัดเจน ว่าบริษัทใดผ่านทางด้านเทคนิค และสามารถทำงานได้ จึงค่อยเปิดซองราคาต่อไป เหมือนที่หน่วยราชการทั่วไปเขาทำ ก็น่าจะลดข้อกังวลสงสัยของบริษัทผู้ร่วมประมูลได้

มุมมองของผมที่นำเสนอมานี้ อาจจะแตกต่างจากความคิดของท่านพิธีกรทั้ง 2 ท่าน ตามที่กล่าวมานะครับ ผมมีความเห็นว่า การตรวจสอบของท่านพีรพันธุ์สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการทรงพลังงาน ในกรณีนี้เป็นสิ่งที่พึงกระทำ และเมื่อไม่พบความผิดตามระเบียบและกฎหมายก็รีบแจ้งให้ทาง กฟผ.ทราบ เพื่อรีบดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป ซึ่งผมยังไม่เห็นว่าการตรวจสอบนี้จะทำให้เกิดความเสียหายแต่อย่างใด ในทางตรงกันข้าม น่าจะเป็นประโยชน์ ต่อผู้บริหาร กฟผ. ได้ไปพิจารณาปรับปรุงแก้ไข ระเบียบปฏิบัติต่างๆให้ดียิ่งๆขึ้นไป เพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชน

รู้เรื่อง...ค่าไฟฟ้า (18) : ‘รองพีร์’ กับการแก้ปัญหา ‘ค่าไฟฟ้าแพง’ #1 ตรึงราคา ‘ค่าไฟฟ้า’ อย่างต่อเนื่อง เพื่อความเหมาะสม และเป็นธรรม

(16 มี.ค. 68) ‘ราคาพลังงาน’ เป็นปัญหาที่หมักหมมเรื้อรังมาอย่างยาวนาน โดยที่ผ่านมาหน่วยงานภาครัฐอย่างเช่นกระทรวงพลังงานซึ่งทำหน้าที่รับผิดชอบแทบจะไม่สามารถดำเนินการใด ๆ ได้เลย ‘ราคาพลังงาน’ สร้างผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อประเทศชาติโดยรวมในทุก ๆ มิติ อย่างกว้างขวาง ไม่ว่าจะเป็น เศรษฐกิจ สังคม การเมือง จนกระทั่งเรื่องของความมั่นคง ฯลฯ นับวัน ปัญหาจาก ‘ราคาพลังงาน’ ก็ยิ่งส่งผลกระทบกับสังคมไทยมากยิ่ง และเมื่อประเทศเจริญก้าวหน้ามากขึ้น ภาครัฐจึงต้องเริ่มปล่อยมือจากรัฐวิสาหกิจต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสาธารณูปโภค อาทิ การบทบาทในการผลิตไฟฟ้าด้วยการลดการลงทุนสร้างโรงงานผลิตไฟฟ้าโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย แล้วอนุญาตให้เอกชนเข้ามาทำหน้าที่ผลิตไฟฟ้าแทน เพื่อนำงบประมาณส่วนนี้ไปใช้จ่ายลงทุนในด้านอื่น ๆ แทน

อีกทั้งยังมีคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานซึ่งเป็นองค์กรอิสระมาทำหน้าที่กำกับดูแลกิจการไฟฟ้าทั้งระบบ ดังนั้นรับมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานที่ผ่านมาส่วนใหญ่จึงปล่อยให้สถานการณ์ ‘ราคาพลัง’ เป็นไปตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งแปลง่าย ๆ ว่า “ปล่อยให้ ‘ราคาพลังงาน’ เป็นไปตามยะถากรรม” และใช้กลไกเดิม ๆ ที่มีอยู่เข้าจัดการ เช่น “กองทุนน้ำมัน” ในการชดเชยราคาน้ำมันดีเซลและก๊าซหุงต้ม (LPG) ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจและส่งผลกระทบอย่างสำคัญของค่าใช้จ่ายของพี่น้องประชาชนคนไทย (จนปัจจุบัน “กองทุนน้ำมัน” ติดลบไปแล้วร่วมหนึ่งแสนล้านบาท) อีกทั้งการแปรรูป ‘การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย’ รัฐวิสาหกิจที่ทำหน้าบริหารจัดการธุรกิจน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซของชาติ จนกลายเป็นบริษัทมหาชนในตลาดหลักทรัพย์ จึงทำให้ต้องสูญเสียจุดยืนในการเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจด้านพลังงานของรัฐ แทนที่จะดำเนินกิจการเพื่อเป็นการให้บริการในลักษณะที่สามารถช่วยเหลือพี่น้องประชาชนคนไทยได้ กลายเป็นบริษัทเอกชนที่ต้องให้ความสำคัญกับประโยชน์ขององค์กรอันได้แก่ ‘ผลกำไร’ เป็นลำดับแรก และทำให้แนวคิดตลอดจนวิธีในการดำเนินการแปลกแยกไปจากวัตถุประสงค์แรกตั้งไปโดยสิ้นเชิง ‘ราคาพลังงาน’ ในส่วนของเชื้อเพลิงพลังงานจึงกลายเป็นเรื่องที่มีการอ้างว่าเป็นไปตามกลไกของตลาดโลก จึงทำให้ชัดเจนว่า ‘ราคาเชื้อเพลิงพลังงาน’ เป็นไปตาม ‘ยะถากรรม’ อย่างสิ้นเชิง 

รวมทั้งที่ผ่านมา รัฐมนตรีที่ดูแลรับผิดชอบกระทรวงพลังงานส่วนใหญ่กลับเป็นอดีตผู้บริหารของบริษัทพลังงาน ดังนั้นการดำเนินการต่าง ๆ เพื่อให้ ‘ราคาพลังงาน’ เป็นธรรมแก่พี่น้องประชาชนคนไทยจึงกลายเป็นความยากยิ่งและถูกปล่อยปละละเลยมาโดยตลอด กระทั่งในปี พ.ศ. 2566 เมื่อ ‘รองพีร์ พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค’ หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ เข้ามาดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ไม่ได้ “ปล่อยให้ ‘ราคาพลังงาน’ เป็นไปตามยะถากรรม” และใช้เพียงแต่กลไกเดิม ๆ ที่มีอยู่เข้าจัดการเท่านั้น โดยได้มีการศึกษาข้อมูลตามสภาพความเป็นจริงที่เกิดขึ้น โดยมีความพยายามทำให้ ‘ราคาพลังงาน’ ทั้ง ‘น้ำมันเชื้อเพลิง’ และ ‘ไฟฟ้า’ ซึ่งมีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยนั้น ถูกต้อง เหมาะสม และเป็นธรรมพี่น้องประชาชนคนไทย แนวคิด “รื้อ-ลด-ปลด-สร้าง” จึงได้ถือกำเนิดขึ้นเป็นนโยบาย และถูกขับเคลื่อนปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมอย่างชัดเจน 

ตั้งแต่การเข้ารับตำแหน่งในส่วนของการแก้ไขปัญหา ‘ค่าไฟฟ้าแพง’ โดย ‘รองพีร์’ (1)ได้ผลักดันให้มีการลดค่าไฟฟ้าให้แก่ประชาชนจนกระทั่งสามารถตรึงราคาค่าไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่องไม่ให้สูงขึ้นตามที่มีการคาดการณ์เอาไว้ และยังคงมีการตรึงราคาค่าไฟฟ้าไว้อยู่จนทุกวันนี้ แม้จะทำให้ กฟผ. ต้องแบกรับภาระหนี้ร่วมหนึ่งแสนล้านบาทก็ตาม ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ และเพื่อไม่ให้กระทบต่อความเป็นอยู่ของพี่น้อง (2)ได้มีความพยายามในการปรับโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติ (Pool gas) เพื่อให้ต้นทุนก๊าซธรรมชาติในภาพรวมลดลง และเพื่อเป็นการลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซ รวมทั้งเร่งรัดติดตามการขุดเจาะและผลิตก๊าซจากอ่าวไทยเพื่อลดต้นทุนในการผลิตไฟฟ้า ด้วยในปัจจุบันการผลิตไฟฟ้าของไทยกว่า 60% ใช้พลังงานจากก๊าซธรรมชาติ 

ด้วย พรบ. การประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 ทำให้ทุกเรื่องที่เกี่ยวข้องกับไฟฟ้านั้นอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ทั้งหมด โดยเฉพาะค่า FT (Fuel Adjustment Charge (at the given time)) ซึ่งใช้ในการคำนวนเพื่อปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ หรือ ‘ค่าไฟฟ้าผันแปร’ อันเป็นค่าไฟฟ้าที่ปรับเปลี่ยนเพิ่มขึ้นหรือลดลง ตามการเปลี่ยนแปลงของต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านเชื้อเพลิงและค่าซื้อไฟฟ้าจากเอกชนหรือประเทศเพื่อนบ้าน รวมไปถึงค่าใช้จ่ายที่การไฟฟ้าไม่สามารถควบคุมได้ โดย กกพ.เป็นผู้พิจารณาปรับค่า Ft ทุก 4 เดือน นับแต่ กกพ.ชุดแรกเข้ามาทำหน้าที่ดังกล่าว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานที่ผ่านมาต่างปล่อยให้ กกพ.เป็นผู้ดำเนินการกำหนดราคาค่าไฟฟ้า ดังนั้น ‘ค่า FT’ จึงถูกกำหนดให้เป็นไปตามเหตุและปัจจัยที่ กกพ. ได้พิจารณา แต่ ‘รองพีร์’ ได้พยายามคิดค้น แสวงหาวิธีการและมาตรการต่าง ๆ ในทุกรูปแบบเพื่อตรึงค่าไฟฟ้าภายในอำนาจหน้าที่ของกระทรวงพลังงาน เพื่อให้ผู้ผลิตไฟฟ้าทั้งรัฐและเอกชนมีต้นทุนการผลิตที่ต่ำที่สุด และทำให้ค่า FT ต่ำที่สุด 

ดังเช่น ค่าไฟฟ้าในงวดปัจจุบัน (มกราคม-เมษายน พ.ศ. 2568) ถ้าเป็นไปตามที่ กกพ.เสนอจะอยู่ที่หน่วยละ 5.49 บาท ซึ่ง ‘รองพีร์’ ไม่เห็นด้วย กกพ. จึงเสนอให้ราคาคงที่หน่วยละ 4.18 บาทเหมือนเดิม แต่‘รองพีร์’ ได้ขอให้ลดลงอีกหน่อยจนเหลือหน่วยละ 4.15 บาทการลดอัตราค่าไฟฟ้าจริงจึงอยู่ที่หน่วยละ 1.34 บาท ไม่ใช่ 3 สตางค์ตามที่เข้าใจกัน ซึ่ง ภาระดังกล่าวถูกผลักให้ ‘กฟผ.’ ต้องรับผิดชอบ โดยพี่น้องประชาชนคนไทยเป็นหนี้ ‘กฟผ.’ เพราะ ‘กฟผ.’ เรียกเก็บค่าไฟฟ้าต่ำกว่าต้นทุนของตัวเองจากนโยบายของรัฐที่จะไม่ให้พี่น้องประชาชนคนไทยผู้ใช้ไฟฟ้าต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานไฟฟ้ามากจนเกินไป แต่จำเป็นทยอยใช้หนี้ดังกล่าวคืนให้กับ ‘กฟผ.’ เพื่อไปใช้หนี้คืนอีกทอดหนึ่ง ทำให้เกิดสมการที่ใช้ในการเก็บ ‘ค่าไฟฟ้าผันแปร’ ว่าจะต้องเก็บเท่าไรเพื่อที่ ‘กฟผ.’ จะมีเงินเพื่อนำไปใช้หนี้ตามข้อเสนอของกกพ.ตามแนวทางที่ได้กล่าวมา ซึ่ง ‘รองพีร์’ ตัดสินใจเสนอให้มีการยืดหนี้แล้วจ่ายบางส่วน ทำให้อัตราค่าไฟฟ้าจะอยู่ที่หน่วยละ 4.15 บาท ซึ่งเป็นแนวทางที่ทำให้พี่น้องประชาชนคนไทยรับภาระน้อยกว่าที่กกพ.ได้เสนอมา และในขณะเดียวกัน ‘กฟผ.’ เองก็จะมีเงินเพื่อนำไปชำระหนี้จำนวนหนึ่ง และเมื่อมีโอกาสที่สามารถทำให้ต้นทุนลดลงได้อีก ‘กฟผ.’ จึงค่อยเรียกเก็บ ‘ค่า FT’ เพิ่มจากพี่น้องประชาชนคนไทยผู้ใช้ไฟฟ้าเพื่อมาเฉลี่ยใช้หนี้ดังกล่าวในอนาคตต่อไป

ไทย และ สปป.ลาว ร่วมพัฒนาถนน R11 ย่นเวลาเดินทาง สร้างมูลค่าการค้าเพิ่มขึ้น 1,200 ล้านบาท

(17 มี.ค. 68) นายพีรเมศร์ วุฒิธรเนติรักษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (องค์การมหาชน) หรือเนด้า เปิดเผยว่า การพัฒนาถนนหมายเลข 11 (R11) จากด่านภูดู่ จังหวัดอุตรดิตถ์-ปากลาย และบ้านน้ำสัง-เวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ที่ดำเนินการแล้วเสร็จตั้งแต่ปี 2567 ทำการเดินทางจากจังหวัดภาคเหนือตอนล่างไปยัง สปป.ลาว ใช้เวลาเดินทางแค่ 3-4 ชั่วโมง จากเดิมต้องใช้เวลาเดินทางกว่า 7 ชั่วโมง และที่สำคัญยังสามารถเพิ่มมูลค่าการค้าขายจากเดิมกว่า 100 ล้านบาท เป็น 1,200 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังจะช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวของประชาชนจากภาคเหนือของไทยไปท่องเที่ยวยัง สปป.ลาว ได้สะดวกยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ ในอนาคตยังจะมีการพัฒนาสะพานเชื่อมต่อจังหวัดน่านไปยังหลวงพระบาง สปป.ลาว  เพื่อให้การเดินทางคมนาคมสะดวกยิ่งขึ้น เพราะจากเดิมต้องเดินทางข้ามแม่น้ำโขงด้วยเรือ ซึ่งหากเริ่มดำเนินการในปีหน้าคาดจะใช้เวลา 2-3 ปีแล้วเสร็จ ซึ่งโครงการนี้จะเกิดประโยชน์ในการส่งเสริมการท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี

บีโอไอ เคาะส่งเสริม รถไฟฟ้าสีส้ม – ดาต้า เซ็นเตอร์ ลงทุนกว่า 2 แสนล้าน ยกระดับนิเวศดิจิทัลรองรับยุค AI

(18 มี.ค. 68) บอร์ดบีโอไอ อนุมัติส่งเสริมลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 4 โครงการใหญ่ มูลค่ากว่า 2 แสนล้านบาท 
ทั้งรถไฟฟ้าสายสีส้ม และ Data Center 3 แห่งจากบริษัทไทย จีน และสิงคโปร์ เสริมแกร่งระบบนิเวศดิจิทัล รองรับยุค AI พร้อมสนับสนุนให้เอกชนร่วมลงทุนกิจการโรงพยาบาลของรัฐ ยกระดับบริการทางการแพทย์อย่างทั่วถึง

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 
17 มีนาคม 2568 การประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ) ที่มีนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายก รัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธาน ได้อนุมัติส่งเสริมการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญขนาดใหญ่ 4 โครงการ รวมมูลค่าเงินลงทุนกว่า 200,000 ล้านบาท ได้แก่ 

โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ของบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เงินลงทุน 109,210 ล้านบาท และโครงการ Data Center 3 โครงการจากประเทศไทย จีน และสิงคโปร์ ได้แก่ (1) บริษัท จีเอสเอ ดาต้า เซนเตอร์ 02 จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างกลุ่ม Gulf, Singapore Telecommunications และ AIS เงินลงทุน 13,480 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่จังหวัดชลบุรี  (2) บริษัท Beijing Haoyang Cloud Data Technology จากประเทศจีน เงินลงทุน 72,670 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่จังหวัดระยอง (3) บริษัทในเครือ Empyrion Digital ประเทศสิงคโปร์ เงินลงทุน 4,720 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่กรุงเทพมหานคร 

“Data Center ถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น สำหรับรองรับความต้องการในยุคเศรษฐกิจดิจิทัลและการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของเทคโนโลยี AI การที่มีบริษัทระดับโลกเข้ามาลงทุนจัดตั้ง Data Center ในไทยก่อให้เกิดประโยชน์หลายด้าน นอกจากจะส่งเสริมให้ไทยเป็นดิจิทัลฮับของภูมิภาคแล้ว ยังช่วยเพิ่มโอกาสให้ผู้ประกอบการและประชาชนได้เข้าถึงบริการของศูนย์ข้อมูลและบริการคลาวด์ที่มีมาตรฐาน มีความปลอดภัยสูง และมีความเสถียรในการให้บริการดิจิทัล ลดต้นทุนบริษัทในการทำศูนย์ข้อมูลของตนเอง ช่วยรักษาข้อมูลสำคัญให้ถูกเก็บและประมวลผลในประเทศซึ่งจะเป็นประโยชน์ด้านความมั่นคง ช่วยสนับสนุนการใช้แอปพลิเคชันและเทคโนโลยีดิจิทัลในการยกระดับภาคส่วนต่าง ๆ อีกทั้งจะส่งผลดีต่อธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจโทรคมนาคม สาธารณูปโภค พลังงาน อุปกรณ์ไอที บริษัทก่อสร้างและวางระบบขั้นสูง System Integrator ด้านต่าง ๆ รวมถึงช่วยสร้างงานที่มีคุณค่าสูงให้กับคนไทย เช่น ผู้ดูแลระบบโครงข่าย งานด้านวิเคราะห์ข้อมูล การพัฒนาโปรแกรม ความปลอดภัยทางไซเบอร์ และงานสนับสนุนด้านไอที” นายนฤตม์ กล่าว

ทั้งนี้ ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ. 2565-2567) มีโครงการที่ขอรับส่งเสริมการลงทุนในกิจการ Data Center และ Cloud Service จำนวน 27 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 2.9 แสนล้านบาท

ส่งเสริมการร่วมลงทุนรัฐ-เอกชนในกิจการโรงพยาบาล
ตามที่รัฐบาลมีแนวทางส่งเสริมให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในบริการด้านสาธารณสุขมากขึ้นในรูปแบบ PPP (Public-Private Partnership) เพื่อยกระดับมาตรฐานและเพิ่มขีดความสามารถทางการรักษาพยาบาล โดยลดภาระงบประมาณภาครัฐ แต่สามารถบรรลุเป้าหมายการเป็นโรงพยาบาลที่รับผู้ป่วยที่เป็นผู้ประกันตนได้จำนวนมาก โดยการผสานจุดแข็งของภาครัฐที่มีความเชี่ยวชาญของบุคลากรทางการแพทย์ ขณะที่ภาคเอกชนมีความคล่องตัว ในการบริหารจัดการและความพร้อมด้านการลงทุนเทคโนโลยี บอร์ดบีโอไอจึงได้เห็นชอบให้กำหนดสิทธิประโยชน์พิเศษสำหรับกิจการโรงพยาบาลขนาดใหญ่ที่มีจำนวนเตียงรับผู้ป่วยไว้ค้างคืนตั้งแต่ 91 เตียงขึ้นไป ในกรณีที่มีการร่วมทุนในรูปแบบ PPP กับหน่วยงานรัฐ จะได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นอากรเครื่องจักรและอุปกรณ์ และยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นเวลา 5 ปี (โรงพยาบาลทั่วไป จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปี) 

นอกจากนี้ บอร์ดบีโอไอ ได้อนุมัติหลักการในการส่งเสริม “โครงการโรงพยาบาลปลวกแดง 2 จังหวัดระยอง” ซึ่งจะเป็นการร่วมทุนรัฐ-เอกชนในรูปแบบ PPP ครั้งแรกของกระทรวงสาธารณสุข ให้ได้รับสิทธิประโยชน์ตามมาตรการนี้เป็นโครงการแรกด้วย  

สนับสนุนการลดก๊าซเรือนกระจก
เพื่อส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนในภาคอุตสาหกรรม ที่ประชุมได้เห็นชอบให้กิจการที่มีการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน เช่น ลมหรือแสงอาทิตย์ไปแล้ว แต่ต้องการติดตั้งระบบกักเก็บพลังงานไฟฟ้า (Battery Energy Storage System: BESS) และเครื่องแปลงกระแสไฟฟ้า (Inverter) ของระบบ BESS เพิ่มเติม สามารถขอรับการส่งเสริมภายใต้มาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพด้านการใช้พลังงานทดแทนได้ 

นอกจากนี้ เพื่อเป็นการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมวัสดุ ลงทุนปรับเปลี่ยนเครื่องจักรเพื่อลดก๊าซเรือนกระจก ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบจากมาตรการปรับคาร์บอนก่อนข้ามแดน (CBAM) ที่ประชุมจึงได้เห็นชอบให้กิจการผลิตวัสดุก่อสร้าง ผลิตภัณฑ์คอนกรีตอัดแรง ผลิตภัณฑ์เซรามิกส์ในกลุ่ม Earthenware และกระเบื้องเซรามิกส์ ซึ่งเป็นกิจการที่มีปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง สามารถยื่นขอรับสิทธิประโยชน์ภายใต้มาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพด้านการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 

‘ปตท.’ ยืนยัน!! แผ่นดินไหวเมียนมา ไม่กระทบพลังงานไทย ตรวจสอบพื้นที่ปฏิบัติการทั้งระบบแล้ว ยังเดินเครื่องได้ตามปกติ

(29 มี.ค. 68) ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) ยืนยันเหตุการณ์แผ่นดินไหว โดยมีจุดศูนย์กลางอยู่ที่ประเทศเมียนมา เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 ที่ผ่านมา ไม่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของ กลุ่ม ปตท. มั่นใจสามารถรองรับความต้องการใช้พลังงานของประชาชนได้อย่างต่อเนื่อง ตอกย้ำพันธกิจสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้แก่ประเทศ

กลุ่ม ปตท. ได้ตรวจสอบพื้นที่ปฏิบัติการทั้งหมด ตั้งแต่แท่นผลิตก๊าซธรรมชาติ ระบบรับส่งก๊าซธรรมชาติในทุกพื้นที่ โรงแยกก๊าซธรรมชาติ โรงกลั่นน้ำมัน โรงงานผลิตปิโตรเคมี โรงไฟฟ้า คลังน้ำมันและคลังปิโตรเลียมทั่วประเทศ ตลอดจนสถานีบริการน้ำมันและสถานีบริการ NGV โดยได้รับยืนยันว่าสามารถเดินเครื่องดำเนินงานและให้บริการได้ตามปกติ และไม่ได้รับความเสียหายที่ส่งผลกระทบต่อกระบวนการผลิตและส่งจ่ายพลังงาน

ทั้งนี้ ปตท. ให้ความสำคัญในการดำเนินการตามมาตรฐานความปลอดภัยและการบริหารความเสี่ยง มีแผนบริหารจัดการรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อรักษาความเสถียรของระบบพลังงานของประเทศ ปตท. จะติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อให้ประชาชนมีพลังงานใช้อย่างเพียงพอ สามารถดำเนินชีวิตประจำวันได้อย่างต่อเนื่อง พร้อมร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เดินหน้าได้อย่างมั่นคงต่อไป


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top