Sunday, 20 April 2025
GoodsVoice

‘ธ.ก.ส.’ จัด ‘สินเชื่อเกษตรวิวัฒน์’ กู้ซื้อที่ดิน!! ทำการเกษตร 8 ล้านบาท หนุนวัยใกล้เกษียณ!! ทำการเกษตรคู่ขนาน รองรับการเข้าสู่ Aging Society

(8 มี.ค. 68) นายฉัตรชัย ศิริไล ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า เพื่อเป็นการส่งเสริมให้ผู้มีรายได้ประจำเป็นรายเดือน สามารถวางแผนการสร้างรายได้คู่ขนานจากการประกอบอาชีพเกษตรกรรม หรืออาชีพที่เกี่ยวกับการเกษตรในวัยก่อนและหลังเกษียณ รองรับการก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) เพิ่มการเกษตรที่มีการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม สร้างสินค้าเกษตรมูลค่าสูง ลดปัญหาโลกร้อนและฝุ่น PM 2.5 ธ.ก.ส.

จึงได้จัดโครงการสินเชื่อเกษตรวิวัฒน์ ให้กับบุคลากรภาครัฐหรือพนักงานองค์กรเอกชน อายุตั้งแต่ 50-59 ปี ที่มีรายได้ประจำเป็นรายเดือน เพื่อนำไปเป็นค่าลงทุนซื้อที่ดินทางการเกษตรเพื่อประกอบอาชีพภาคการเกษตรและอาชีพที่เกี่ยวเนื่อง เนื้อที่ไม่เกิน 20 ไร่ วงเงินกู้รายละไม่เกิน 8,000,000 บาท ทั้งนี้ ผู้กู้ต้องนำรายได้เข้าบัญชี เพื่อหักชำระหนี้เป็นรายเดือน มีแผนการประกอบธุรกิจ หรืออาชีพเกษตรกรรม หรืออาชีพที่เกี่ยวเนื่องในภาคเกษตรกรรม ตั้งแต่ก่อนและหลังเกษียณอายุ

โดยสามารถเริ่มดำเนินโครงการตามแผนที่วางไว้ได้ภายใน 3 เดือน นับถัดจากวันที่รับเงินกู้ รวมถึงมีแผนชำระเงินกู้ก่อนการเกษียณอายุด้วยเงินเดือนหรือรายได้ประจำ และแผนชำระเงินกู้หลังจากเกษียณอายุจากรายได้ในการประกอบอาชีพเกษตรกรรมและอาชีพที่เกี่ยวเนื่อง อัตราดอกเบี้ย MRR -2 ต่อปี (ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ย MRR เท่ากับร้อยละ 6.725 ต่อปี) หรือเท่ากับร้อยละ 4.725 ต่อปี ในช่วง 5 ปีแรก และปีที่ 6 เป็นต้นไป อยู่ที่ MRR ต่อปี กำหนดชำระคืนไม่เกิน 20 ปี นับตั้งแต่วันกู้ กรอบวงเงินสินเชื่อรวม 37,500 ล้านบาท

“โครงการสินเชื่อเกษตรวิวัฒน์ นอกจากจะส่งเสริมให้ผู้มีรายได้ประจำที่เตรียมแผนเกษียณอายุมีรายได้คู่ขนานจากการทำการเกษตร เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายในการดำรงชีวิตหลังเกษียณแล้ว ยังช่วยให้ผู้ที่เป็นเกษตรกรในพื้นที่ใกล้เคียงมีรายได้เสริมจากการจ้างงานในการทำการเกษตรและดูแลพื้นที่เพาะปลูกให้กับผู้กู้ที่เข้าร่วมโครงการ ซึ่งทำให้เกิดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจระดับชุมชนต่อไป” นายฉัตรชัยกล่าว

ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจสามารถแจ้งความประสงค์ขอสินเชื่อได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปที่ ธ.ก.ส.ทุกสาขาทั่วประเทศ และอนุมัติเงินกู้ภายใน 31 มีนาคม 2572 (เงื่อนไขอื่น ๆ เป็นไปตามที่ธนาคารกำหนด)

‘แพทองธาร’ เผย!! ต่างชาติชื่นชมบูธ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ITB Berlin 2025 ชี้!! เป็นการขยายโอกาส ให้กับผู้ประกอบการด้าน ‘การท่องเที่ยวเมืองรอง’ 

(9 มี.ค. 68) นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ภายหลังเดินทางกลับถึงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ แล้ว ภายหลังเดินทางเข้าร่วมเข้าร่วมงาน ITB Berlin 2025 ที่กรุงเบอร์ลิน สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ระหว่างวันที่ 3-8 มีนาคมที่ผ่านมา

นายกรัฐมนตรี ได้สรุปผลการเดินทางเข้าร่วมงาน ITB Berlin 2025 ว่า งานนี้ถือเป็นงานท่องเที่ยว ที่มีหลายประเทศเข้าร่วมงาน โดยตนเองได้เดินไปดูงาน พร้อมกับได้มีโอกาสในช่วงทำงานโรงแรมเคยได้ไปร่ววมงานนี้ ส่วนตัวรู้สึกว่างานนี้เป็นงานที่สร้างโอกาสให้กับผู้ประกอบการโรงแรม บริษัททัวร์ท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก เนื่องจากมีการเจรจาจับคู่ธุรกิจ ต่างประเทศได้มาเจอกัน ซึ่งปีนี้บูธของประเทศไทยทำได้ดีมากๆ สวยงามและได้รับคำชมจากประเทศอื่นๆ ว่าของประเทศไทยจัดได้สวยงามมาก ดังนั้นจึงขอชื่นชมกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ที่ได้จัดงานนี้อย่างเต็มความสามารถ และในงานนี้ยังได้มีการเชิญชวนให้ผู้ประกอบการโรงแรม กิจการเจ้าของกิจการจังหวัดเล็กๆ ในทุกภาคได้ไปร่วมงานนี้ เช่น จังหวัดน่าน ตรัง และอีกหลายจังหวัดที่มีตัวแทนได้เข้าร่วม โดยได้นำแพ็คเกจไปขาย และได้พบเจอกับผู้ค้าด้วยกัน จากประเทศอื่นๆด้วย ซึ่งทุกคนบอกว่าเป็นโอกาสที่ดีมากที่ได้ไปร่วมงานนี้และได้มีโอกาสขายโรงแรมตัวเอง และขายความน่าสนใจจังหวัดของตัวเอง

นายกรัฐมนตรี ยังเปิดเผยว่าได้มีโอกาสไปเยี่ยมชมบูธอื่นๆ และได้เห็นว่าบูธท่องเที่ยวไทยจะต้องมีการปรับปรุงในด้านใดบ้าง หรือการนำเสนอประเทศไทยให้น่ามาท่องเที่ยวมากยิ่งขึ้นจะต้องทำอย่างไรโดยไปดูเรื่องข้อดีข้อเสียต่างๆและดูจุดแข็งจุดอ่อน ซึ่งส่วนตัวคิดว่างานนี้ดีมากๆ ที่ประเทศไทย ได้มีตัวแทนจากหลายจังหวัด ไปช่วยกันขายและไปแนะนำ ว่าอาจจะไม่ใช่มีแค่เมืองหลักที่ชาวต่างชาติจะรู้จัก แต่ยังมีเมืองหลวงที่น่าสนใจ ที่น่าเที่ยวอีกจำนวนมากดังนั้นจึงเป็นโอกาสที่ดีที่ประเทศไทยได้เข้าร่วมงานนี้

ส่วนเวลาที่นายกรัฐมนตรีได้เดินทางไปต่างประเทศได้มีโอกาสสำรวจสินค้าไทย จะมาต่อยอดอย่างไรได้บ้าง นายกรัฐมนตรี กล่าวว่าเวลาเดินห้างได้เห็นสินค้าของแต่ละประเทศ ก็รู้สึกว่าไม่ได้เห็นสินค้าแค่ท้องถิ่นแต่ยังเห็นสินค้าประเทศอื่นๆที่นำไปขายเช่นของไทยที่ได้นำไปขายก็รู้สึกว่าได้ราคาดีมาก ดังนั้นช่วงว่าง ระหว่างเกษตรกร ไปถึงหน้าร้านในต่างประเทศมีช่องว่างเยอะมาก จึงเป็นแนวทางที่จะเพิ่มรายได้กับเกษตรกรซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญ เมื่อไปถึงมีการผ่านรอยต่อดังนั้นจึงคิดว่าถ้าสามารถมีการเพิ่ม การถนอมสินค้า และเพิ่มจำนวนสินค้าได้ ตรงจุดนี้จึงต้องเป็นนวัตกรรม ที่ควรจะต่อยอดและลงทุน อีกอย่างคือ คือ งานวิจัยต่างๆ ที่จะทำให้สินค้าเกษตรที่ดีขึ้น เช่น ผลไม้หรือของสด ซึ่งก็เห็นแล้วว่าประเทศอื่นๆ ก็ขายเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องข้าวก็เช่นกันก็มาจากทุกประเทศ ทั้งญี่ปุ่นและอีกหลายประเทศก็ขาย ดังนั้นไทยจะต้องมีวิธี หรือมาตรฐานของไทย ซึ่งเคยพูดไปก่อนหน้านี้แล้วว่าจะต้องมีเอกลักษณ์เฉพาะ ไทยมีความพิเศษอย่างไรที่จะนำไปขายท่ามกลางการแข่งขันจำนวนมาก ทำไมต้องซื้อของไทย ดังนั้นต้องเพิ่มเรื่องดังกล่าวอีกจำนวนมาก

รัฐบาล เผย!! ท่าเรือสำราญขนาดใหญ่ ที่เกาะสมุย เสร็จตามกำหนดปี 75 แน่ ย้ำ!! ให้ความสำคัญ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยว

(9 มี.ค. 68) นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ลงพื้นที่เพื่อรับฟังปัญหาการบริหารจัดการพื้นที่ฝั่งอ่าวไทยในจังหวัดสงขลา พัทลุง นครศรีธรรมราช  สุราษฎร์ธานี   ตามที่นายกรัฐมนตรีมีข้อสั่งการในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรที่จังหวัดสงขลาเมื่อเดือนที่ผ่านมาในเรื่องการพัฒนาท่าเรือเพื่อเพิ่มจุดท่องเที่ยวสำคัญในจังหวัดสงขลาและจังหวัดในฝั่งอ่าวไทย

ทั้งนี้ คณะฯได้ติดตามการพัฒนา การให้บริการแก่นักท่องเที่ยว ที่ใช้บริการท่าเรืออำเภอดอนสัก จ.สุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็นท่าเรือเฟอร์รี่ที่ขนคนและยานพาหนะซึ่งผู้แทนกรมเจ้าท่ายืนยันว่ายังมีความพร้อมและเพียงพอในการบริหารจัดการนักท่องเที่ยวไปยังเกาะสมุยซึ่งถือว่าเป็นจุดสำคัญอีกจุดหนึ่งที่รับนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาจากฝั่งอันดามัน เช่น จังหวัดกระบี่ พังงา ภูเก็ต ที่สามารถเดินทางข้ามฝั่งมาเที่ยวที่ฝั่งอ่าวไทยบริเวณท่าเรือดังกล่าวนี้ เป็นจำนวนมาก

ส่วนที่อำเภอเกาะสมุย โครงการจัดทำท่าเทียบเรือสำราญขนาดใหญ่ซึ่งคาดว่าเริ่มก่อสร้างในเร็ววันนี้จะแล้วเสร็จในปี 2575 ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ให้นโยบายในการศึกษาจัดทำจุดจอดเรือเพื่อเชื่อมโยงการท่องเที่ยวฝั่งตะวันออกของอ่าวไทยโดยเฉพาะจุดท่าเทียบเรือสำราญขนาดใหญ่ ที่อำเภอเมือง จังหวัดสงขลาต่อเนื่องมายังเกาะสมุย สุราษฯ เพื่อเพิ่มจุดและเดินทางท่องเที่ยวให้กับนักท่องเที่ยวในฝั่งอ่าวไทย เพื่อเพิ่มศักยภาพด้านการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจในพื้นที่จังหวัดชายทะเลฝั่งอ่าวไทยของภาคใต้ 

นายจิรายุ กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ยังได้ติดตามผลการดำเนินงานการจัดการน้ำเสีย บนเกาะสมุย และความคืบหน้าโครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือสำราญขนาดใหญ่ (Cruise Terminal) ที่ห้องประชุมมุกสมุย เทศบาลนครเกาะสมุย อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี โดยมีนายชัชชัย มณี ปลัดอำเภอเกาะสมุย รักษาราชการแทนนายอำเภอเกาะสมุย  นายสิทธิศักดิ์ ยิ่งเชิดสุข นายช่างโยธาชำนาญงาน ได้นำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับการจัดการคุณภาพน้ำเสียของเทศบาลนครเกาะสมุย และรายงานเกี่ยวกับความคืบหน้าโครงการก่อสร้างท่าเรือสำราญขนาดใหญ่ ที่เกาะสมุย  ซึ่งเป็นโครงการที่ดำเนินการโดยกรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม โดยนายอดูลย์ ระลึกมูล ผู้อำนวยการสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาค สาขาเกาะสมุย ได้รายงานความพร้อมในการดำเนินการว่าเป็นไปตามกำหนดการที่รัฐบาลได้มอบหมาย

“ รัฐบาลให้ความสำคัญ กับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ในภาคใต้ เพื่อรองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจ และสนับสนุนการท่องเที่ยวและการเพิ่มประสิทธิภาพของตำรวจท่องเที่ยว และการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี ในเรื่องของการจัดทำแหล่งท่องเที่ยวระดับชาติในภูมิภาคอาเซียนซึ่งนักท่องเที่ยวจะสามารถใช้เรือสำราญขนาดใหญ่เดินทางจากสิงคโปร์เข้าสู่สงขลาผ่านมายังสุราษฎร์ธานีเกาะสมุย ไปยังพัทยาและประเทศต่างๆทางฝั่งตะวันออกได้”

สำหรับโครงการท่าเทียบเรือสำราญขนาดใหญ่นี้ การดำเนินงาน เป็นไปตามเป้าหมายคาดว่าในปี 2572 จะสามารถดำเนินการก่อสร้างได้ และจะแล้วเสร็จในปี 2575 ซึ่งจะเป็นการสร้างช่องทางการท่องเที่ยวให้กับนักท่องเที่ยวที่นิยมเดินทางด้วยเรือสำราญระหว่างประเทศมากยิ่งขึ้น

ส่วนการบริหารจัดการน้ำเสียในพื้นที่อำเภอเกาะสมุยแม้ว่าองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นจะเป็นผู้ดำเนินการเองแต่ก็ยังมีงบประมาณไม่เพียงพอ ในที่ประชุมได้ประสานกับองค์การจัดการน้ำเสียกระทรวงมหาดไทยให้ร่วมกันดำเนินการเพื่อจัดทำบ่อบำบัดน้ำเสียขนาดใหญ่ต่อไป

ขณะที่ปัญหาการขาดแคลนน้ำประปาในพื้นที่เกาะสมุยซึ่งพบว่ามีปริมาณความต้องการมากกว่าน้ำที่ส่งทางท่อจากจังหวัดสุราษฎร์ธานีมาที่เกาะสมุย  ที่ประชุมได้ขอให้การประปาส่วนภูมิภาคพิจารณาเพิ่มเติมท่อส่งน้ำเพื่อให้เกาะสมุยมีน้ำประปาใช้ได้เพียงพอโดยเฉพาะช่วงไฮซีซั่น

ขณะที่ผู้บังคับการตำรวจท่องเที่ยว 3 กองบัญชาการตำรวจท่องเที่ยว พลตำรวจตรี ภพพล จักกะพาก ที่ดูแลพื้นที่ 22 จังหวัดภาคใต้ กล่าวว่าปัญหาของเกาะสมุยและเกาะพะงันส่วนใหญ่จะเป็นนักท่องเที่ยวจำนวนมากที่มีมากกว่าที่พักบนเกาะพะงันทำให้นักท่องเที่ยวเดินทางไปงานสำคัญคือฟูมูนปาร์ตี้แบบไปกลับทำให้เกิดอุบัติเหตุหลายครั้ง ทั้งนี้ได้ร่วมมือกับกรมเจ้าท่าในการกวดขันตรวจเรือโดยเฉพาะสัญญาณไฟและอุปกรณ์ชูชีพในเรือให้พร้อมตลอดเวลาซึ่งในส่วนของตำรวจท่องเที่ยวได้ดำเนินการตรวจสารเสพติดต่อผู้ขับขี่เรือระหว่างเกาะต่าง ๆ ของจังหวัดสุราษฎร์ธานีอย่างต่อเนื่อง

จากนั้น คณะที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีได้ลงพื้นที่ดูความคืบหน้าของโครงการบริเวณแหลมหินคม ตำบลตลิ่งงามซึ่งห่างจากที่ว่าการอำเภอไปประมาณ 15 กิโลเมตร โดยพบว่าปัจจุบันไม่มีการต่อต้านจากประชาชนในพื้นที่  อยู่ระหว่างขั้นตอนการมอบเงินที่ได้จากการเวนคืนที่ดินเพื่อจัดสร้างท่าเรือดังกล่าว ได้เน้นย้ำถึงความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในการขับเคลื่อนนโยบายที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ

‘แพทองธาร’ สั่งเดินหน้าเร่งเครื่องเศรษฐกิจ หวังทุกหน่วยงานทั้งรัฐ-เอกชน ช่วยดันจีดีพีโตเกิน 3%

นายกรัฐมนตรี เปิดประชุมบอร์ดกระตุ้นเศรษฐกิจ ครั้งที่ 1 สั่งทุกหน่วยงานขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ผลักดันจีดีพี ปี 2568 โตเกิน 3%

(10 มี.ค. 68) น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ครั้งที่ 1/2568 ณ ทำเนียบรัฐบาล โดยย้ำว่ารัฐบาลจะเดินหน้าผลักดันเศรษฐกิจไทยให้เติบโตเกินเป้าหมาย 3% ที่กระทรวงการคลังคาดการณ์ไว้

นายกฯ ระบุว่า แม้ในช่วงปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้นจากภาคการส่งออกและการท่องเที่ยว แต่รัฐบาลมุ่งมั่นที่จะขับเคลื่อนให้ขยายตัวได้มากกว่านี้ โดยอาศัยความร่วมมือจากทุกกระทรวงและภาคเอกชน

ทั้งนี้ รัฐบาลได้มอบหมายให้ทุกหน่วยงานร่วมกันคิดค้นมาตรการและโครงการที่สามารถเร่งการเติบโตของเศรษฐกิจให้เป็นไปตามเป้าหมาย โดยจะเน้นไปที่การขับเคลื่อนนโยบายเชิงรุก ควบคู่กับการปฏิบัติตามกฎหมาย เพื่อให้การเติบโตของเศรษฐกิจไทยมีความยั่งยืนในระยะยาว

'ภูเก็ต' ยืนหนึ่งเมืองทำเงินสูงสุดกวาดรายได้ 4.9 แสนล้าน รัฐเร่งเดินหน้ากระตุ้นเศรษฐกิจ หวังดัน GDP ไทยโตต่อเนื่อง

เมื่อวานนี้ (9 มี.ค. 68) นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ลงพื้นที่เพื่อรับฟังปัญหาการบริหารจัดการพื้นที่ฝั่งอ่าวไทยในจังหวัดสงขลา พัทลุง นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี ตามที่นายกรัฐมนตรีมีข้อสั่งการในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรที่จังหวัดสงขลาเมื่อเดือนที่ผ่านมาในเรื่องการพัฒนาท่าเรือเพื่อเพิ่มจุดท่องเที่ยวสำคัญในจังหวัดสงขลาและจังหวัดในฝั่งอ่าวไทย

ทั้งนี้ คณะฯได้ติดตามการพัฒนา การให้บริการแก่นักท่องเที่ยว ที่ใช้บริการท่าเรืออำเภอดอนสัก จ.สุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็นท่าเรือเฟอร์รี่ที่ขนคนและยานพาหนะซึ่งผู้แทนกรมเจ้าท่ายืนยันว่ายังมีความพร้อมและเพียงพอในการบริหารจัดการนักท่องเที่ยวไปยังเกาะสมุยซึ่งถือว่าเป็นจุดสำคัญอีกจุดหนึ่งที่รับนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาจากฝั่งอันดามัน เช่น จังหวัดกระบี่ พังงา ภูเก็ต ที่สามารถเดินทางข้ามฝั่งมาเที่ยวที่ฝั่งอ่าวไทยบริเวณท่าเรือดังกล่าวนี้ เป็นจำนวนมาก

ส่วนที่อำเภอเกาะสมุย โครงการจัดทำท่าเทียบเรือสำราญขนาดใหญ่ซึ่งคาดว่าเริ่มก่อสร้างในเร็ววันนี้จะแล้วเสร็จในปี 2575 ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ให้นโยบายในการศึกษาจัดทำจุดจอดเรือเพื่อเชื่อมโยงการท่องเที่ยวฝั่งตะวันออกของอ่าวไทยโดยเฉพาะจุดท่าเทียบเรือสำราญขนาดใหญ่ ที่อำเภอเมือง จังหวัดสงขลาต่อเนื่องมายังเกาะสมุย สุราษฎร์ฯ เพื่อเพิ่มจุดและเดินทางท่องเที่ยวให้กับนักท่องเที่ยวในฝั่งอ่าวไทย เพื่อเพิ่มศักยภาพด้านการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจในพื้นที่จังหวัดชายทะเลฝั่งอ่าวไทยของภาคใต้ 

นายจิรายุ กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ยังได้ติดตามผลการดำเนินงานการจัดการน้ำเสีย บนเกาะสมุย และความคืบหน้าโครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือสำราญขนาดใหญ่ (Cruise Terminal) ที่ห้องประชุมมุกสมุย เทศบาลนครเกาะสมุย อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี โดยมีนายชัชชัย มณี ปลัดอำเภอเกาะสมุย รักษาราชการแทนนายอำเภอเกาะสมุย นายสิทธิศักดิ์ ยิ่งเชิดสุข นายช่างโยธาชำนาญงาน ได้นำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับการจัดการคุณภาพน้ำเสียของเทศบาลนครเกาะสมุย และรายงานเกี่ยวกับความคืบหน้าโครงการก่อสร้างท่าเรือสำราญขนาดใหญ่ ที่เกาะสมุย ซึ่งเป็นโครงการที่ดำเนินการโดยกรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม โดยนายอดูลย์ ระลึกมูล ผู้อำนวยการสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาค สาขาเกาะสมุย ได้รายงานความพร้อมในการดำเนินการว่าเป็นไปตามกำหนดการที่รัฐบาลได้มอบหมาย

“รัฐบาลให้ความสำคัญ กับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ในภาคใต้ เพื่อรองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจ และสนับสนุนการท่องเที่ยวและการเพิ่มประสิทธิภาพของตำรวจท่องเที่ยว และการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี ในเรื่องของการจัดทำแหล่งท่องเที่ยวระดับชาติในภูมิภาคอาเซียนซึ่งนักท่องเที่ยวจะสามารถใช้เรือสำราญขนาดใหญ่เดินทางจากสิงคโปร์เข้าสู่สงขลาผ่านมายังสุราษฎร์ธานีเกาะสมุย ไปยังพัทยาและประเทศต่างๆทางฝั่งตะวันออกได้”

สำหรับโครงการท่าเทียบเรือสำราญขนาดใหญ่นี้ การดำเนินงาน เป็นไปตามเป้าหมายคาดว่าในปี 2572 จะสามารถดำเนินการก่อสร้างได้ และจะแล้วเสร็จในปี 2575 ซึ่งจะเป็นการสร้างช่องทางการท่องเที่ยวให้กับนักท่องเที่ยวที่นิยมเดินทางด้วยเรือสำราญระหว่างประเทศมากยิ่งขึ้น

ส่วนการบริหารจัดการน้ำเสียในพื้นที่อำเภอเกาะสมุยแม้ว่าองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นจะเป็นผู้ดำเนินการเองแต่ก็ยังมีงบประมาณไม่เพียงพอ ในที่ประชุมได้ประสานกับองค์การจัดการน้ำเสียกระทรวงมหาดไทยให้ร่วมกันดำเนินการเพื่อจัดทำบ่อบำบัดน้ำเสียขนาดใหญ่ต่อไป

ขณะที่ปัญหาการขาดแคลนน้ำประปาในพื้นที่เกาะสมุยซึ่งพบว่ามีปริมาณความต้องการมากกว่าน้ำที่ส่งทางท่อจากจังหวัดสุราษฎร์ธานีมาที่เกาะสมุย  ที่ประชุมได้ขอให้การประปาส่วนภูมิภาคพิจารณาเพิ่มเติมท่อส่งน้ำเพื่อให้เกาะสมุยมีน้ำประปาใช้ได้เพียงพอโดยเฉพาะช่วงไฮซีซั่น

ขณะที่ผู้บังคับการตำรวจท่องเที่ยว 3 กองบัญชาการตำรวจท่องเที่ยว พลตำรวจตรี ภพพล จักกะพาก ที่ดูแลพื้นที่ 22 จังหวัดภาคใต้ กล่าวว่าปัญหาของเกาะสมุยและเกาะพะงันส่วนใหญ่จะเป็นนักท่องเที่ยวจำนวนมากที่มีมากกว่าที่พักบนเกาะพะงันทำให้นักท่องเที่ยวเดินทางไปงานสำคัญคือฟูมูนปาร์ตี้แบบไปกลับทำให้เกิดอุบัติเหตุหลายครั้ง ทั้งนี้ได้ร่วมมือกับกรมเจ้าท่าในการกวดขันตรวจเรือโดยเฉพาะสัญญาณไฟและอุปกรณ์ชูชีพในเรือให้พร้อมตลอดเวลาซึ่งในส่วนของตำรวจท่องเที่ยวได้ดำเนินการตรวจสารเสพติดต่อผู้ขับขี่เรือระหว่างเกาะต่าง ๆ ของจังหวัดสุราษฎร์ธานีอย่างต่อเนื่อง

จากนั้น คณะที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีได้ลงพื้นที่ดูความคืบหน้าของโครงการบริเวณแหลมหินคม ตำบลตลิ่งงามซึ่งห่างจากที่ว่าการอำเภอไปประมาณ 15 กิโลเมตร โดยพบว่าปัจจุบันไม่มีการต่อต้านจากประชาชนในพื้นที่  อยู่ระหว่างขั้นตอนการมอบเงินที่ได้จากการเวนคืนที่ดินเพื่อจัดสร้างท่าเรือดังกล่าว ได้เน้นย้ำถึงความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในการขับเคลื่อนนโยบายที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ

'กรมที่ดิน' ทยอยเพิกถอนโฉนด 'อัลไพน์' เผยหากครบ 120 วัน จะโอนกลับไปเป็น ‘ที่ธรณีสงฆ์’

‘เจ้าพนักงานที่ดิน จ.ปทุมธานี’ ทยอยเพิกถอนโฉนด ‘อัลไพน์’ พร้อมประทับตราห้าม ‘จำหน่ายจ่ายโอน’ เผยหากครบ 120 วัน จะโอนเป็น ที่ธรณีสงฆ์ ขณะที่ ‘เจ้าของที่ดิน’ ทยอยฟ้อง ‘ศาลปกครอง’ เพิกถอนคำสั่ง

จากกรณีเมื่อวันที่ 16 ม.ค.2568 นายชำนาญวิทย์ เตรัตน์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านกิจการความมั่นคงภายใน ได้ลงนามคำสั่งเพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์เดิมของนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวงมหาดไทย รักษาการแทนปลัดกระทรวงมหาดไทย และมีคำสั่งให้เพิกถอนเอกสารสิทธิ์ในที่ดินธรณีสงฆ์ของวัดธรรมิการามวรวิหาร (ที่ดินอัลไพน์) และส่งเรื่องให้กรมที่ดินดำเนินการ นั้น

ล่าสุดนายสมคิด จันทมฤก ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ถึงความคืบหน้าในการเพิกถอนโฉนดที่ดินอัลไพน์ ว่า ได้รับทราบอย่างไม่เป็นทางการว่า เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดปทุมธานี กรมที่ดิน ได้ดำเนินการทยอยขีดหลังโฉนดที่ถูกเพิกถอนแล้ว และประทับตราห้ามจำหน่ายจ่ายโอน แต่ยังไม่ครบทุกแปลง ทั้งนี้ เมื่อดำเนินการดังกล่าวครบ 120 วัน แล้ว จึงจะดำเนินการโอนเป็นที่ธรณีสงฆ์

“เมื่อถึงขั้นตอนนั้น ทางสำนักงานที่ดินจังหวัดจะต้องรายงานให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทราบ” นายสมคิด กล่าว

นายสมคิด ระบุด้วยว่า หลังจากที่เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดได้เริ่มเขียนหลังโฉนดว่า ห้ามจำหน่ายจ่ายโอนที่ดินแล้ว ทราบว่าเจ้าของที่ดินบางรายได้ทยอยยื่นฟ้องต่อศาลปกครองเพื่อเพิกถอนคำสั่งฯดังกล่าว

รายงานข่าวแจ้งว่า ก่อนหน้านี้ กรมที่ดินได้จัดทำเอกสารสรุปขั้นตอนการดำเนินการ ในกรณีที่รองปลัดกระทรวงมหาดไทย มีคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งของปลัดกระทรวงมหาดไทย (นายยงยุทธ์ วิชัยดิษฐ) และให้คำสั่งอธิบดีกรมที่ดิน ที่ 2308/2544 ลงวันที่ 20 ธ.ค.2544 กลับมามีผล และกรณีการดำเนินการหลังมีการเพิกถอนรายการจดทะเบียน ตามคำสั่งอธิบดีกรมที่ดิน ที่ 2308/2544 ลงวันที่ 20 ธ.ค.2544 ดังนี้

กรณีการดำเนินการของกรมที่ดิน เมื่อรองปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้เพิกถอนคำสั่งของปลัดกระทรวงมหาดไทย (นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ)

เมื่อรองปลัดกระทรวงมหาดไทย เพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์เดิม และวินิจฉัยอุทธรณ์ใหม่ โดยให้คำสั่งอธิบดีกรมที่ดิน ที่ 2308/2544 ลงวันที่ 20 ธ.ค.2544 กลับมามีผล กรมที่ดินจะแจ้งผลการพิจารณาอุทธรณ์ พร้อมทั้งสิทธิการฟ้องคดีให้กับกลุ่มเจ้าของที่ดิน ได้แก่ 1.กลุ่มเจ้าของที่ดินซึ่งไม่ได้อุทธรณ์ 16 ราย 20 แปลง เนื้อที่ 13-0-14.2 ไร่ และผู้รับโอนต่อมา และ 2.กลุ่มผู้อุทธรณ์เดิม 294 ราย 624 แปลง เนื้อที่ 911-2-60.8 ไร่ และผู้รับโอนต่อมา

จากนั้นสำนักงานที่ดินจังหวัดปทุมธานี จะแจ้งให้บุคคลดังกล่าว ให้ส่งมอบโฉนดที่ดินเพื่อหมายเหตุการณ์เพิกถอน ซึ่งในกรณีที่ไม่ส่งมอบโฉนดที่ดินนั้น จะมีการออกใบแทน (มาตรา 61 วรรคหก แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน) โดยประกาศภายใน 30 วัน ตามข้อ 17 (6) กฎกระทรวงฉบับที่ 43 (พ.ศ.2537)

กรณีการดำเนินการภายหลังเพิกถอนรายการจดทะเบียน ตามคำสั่งอธิบดีกรมที่ดิน ที่ 2308/2544 ลงวันที่ 20 ธ.ค.2544

เมื่อคำสั่งอธิบดีกรมที่ดิน ที่ 2308/2544 ลงวันที่ 20 ธ.ค.2544 กลับมามีผล ที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 20 และ 1446 อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี กลับเป็นทรัพย์มรดกของนางเนื่อม ชำนาญชาติศักดา ทางผู้จัดการมรดกต้องโอนมรดกตามพินัยกรรมของนางเนื่อมฯ ให้วัดธรรมิการามวรวิหาร

จากนั้นวัดธรรมิการามวรวิหาร จะยื่นขออนุญาตได้มา ซึ่งที่ดินตามมาตรา 84 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน และผู้ว่าราชการจังหวัดปฏิบัติราชการแทน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (คำสั่งกระทรวงมหาดไทย ที่ 95/2546 ลงวันที่ 20 มี.ค.2546) มีคำสั่งอนุญาตให้วัดฯได้มาซึ่งที่ดิน โดยวัดฯจะเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์เฉพาะที่ดิน โดยการจดทะเบียนโอนมรดก ส่วนสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินนั้น จะไม่ตกเป็นของวัดฯ

ทั้งนี้ ในการดำเนินการกับที่ดิน ซึ่งวัดฯเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ฯนั้น จะมี 3 แนวทาง คือ 1.วัดให้เจ้าของที่ดิน คนปัจจุบันเช่า ซึ่งกรณีระยะเวลาการเช่าเกินกว่า 3 ปี แต่ไม่เกิน 30 ปี ต้องได้รับ ความเห็นชอบจากกรมการศาสนา (ปัจจุบันสำนักงานพระพุทธศาสนา) ตามข้อ 4 (1) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 2 (พ.ศ.2511) พ.ร.บ.คณะสงฆ์ (พ.ศ.2505) 2.วัดฯขอออก หนังสือรับรอง ทรัพย์อิงสิทธิ ไม่เกิน 30 ปี (มาตรา 4 พ.ร.บ.ทรัพย์อิงสิทธิ พ.ศ.2562)

และ 3.วัดโอนที่ดิน โดยตราเป็น พ.ร.บ. (มาตรา 34 พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505) ซึ่งเป็นไปตามความเห็น ของคณะกรรมการกฤษฎีกา ลงวันที่ 1 เม.ย.2545 โดยให้เฉพาะบุคคลซึ่งได้สิทธิในที่ดินมาโดยสุจริต

ขณะที่การดำเนินการกับสิ่งปลูกสร้างบนที่ดิน ซึ่งไม่ตกเป็นของวัด นั้น มี 2 แนวทาง คือ 1.วัดฯต้องชดใช้ราคา ให้กับเจ้าของปัจจุบัน และ 2.เจ้าของขอรื้อถอนออกไป โดยเรียกร้องค่าเสียหายจากทางราชการ

ครม. ไฟเขียว ตั้งกองทุนใหม่ ‘Thai ESG Extra’ หวังโยกเงินจาก LTF จูงใจลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 5 แสนบาท

ครม.ไฟเขียว Thai ESG Extra โยกเงินจาก LTF เดิมเข้ากองทุนใหม่ ลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 5 แสนบาท พร้อมให้ซื้อกองทุนใหม่ได้ในวงเงินอีก 3 แสนบาท พร้อมลดหย่อนภาษีได้ “พิชัย” เชื่อชะลอแรงขายหุ้น สร้างความเชื่อมั่นเพิ่มในช่วงตลาดหุ้นได้รับผลกระทบจากปัจจัยภายนอก

(11 มี.ค. 68) นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่าที่ประชุมเห็นการจัดตั้งกองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืนกองทุนใหม่ หรือเรียกว่ากองทุน “Thai ESG Extra” โดยกองทุนนี้จะรองรับเงินลงทุนของนักลงทุนที่ลงทุนในหุ้น 2 ส่วนโดยส่วนแรกมาจากเงินลงทุนที่มาจากนักลงทุนที่ถือหน่วยลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) ที่ปัจจุบันมีวงเงินคงค้างอยู่ประมาณ 1.8 แสนล้านบาท โดยในส่วนนี้จะให้นักลงทุนโยกเงินจากกองทุน LTF มาอยู่ในกองทุน Thai ESG Extra โดยได้สิทธิลดหย่อนภาษีสูงสุด 5 แสนบาท สามารถใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีในปี 2568 ได้ 3 แสนบาท ส่วนที่เหลืออีก 2 แสนบาท จะให้ใช้สิทธิ์ในปีภาษีต่อๆไปปีละ 50,000 บาทจนครบจำนวน อีกส่วนหนึ่งจะเปิดโอกาสให้นักลงทุนที่ต้องการซื้อหน่วยลงทุนในกองทุน Thai ESG Extra เพื่อลดหย่อนภาษีซึ่งในส่วนนี้ถือเป็นเงินลงทุนใหม่โดยสามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 3 แสนบาทในปี 2568 โดยจะต้องซื้อหน่วยลงทุนภายในระยะเวลา 2 เดือน ในช่วงเดือน พ.ค. - มิ.ย.ปีนี้

นายพิชัย กล่าวว่าปัจจุบันสถานการณ์ในตลาดหุ้นทั่วโลกถือว่ามีความผันผวนมากจากนโยบายของโดนัลก์ ทรัมป์ที่มีการปรับขึ้นภาษีกับคู่ค้า ล่าสุดในสหรัฐฯตลาดหุ้นก็ลดลงมากทั้งดัชนี Nasdaq และดาวน์โจนส์ ส่วนดัชนีหุ้นปรับตัวลดลงโดยหุ้นไทยเคยลงมาอยู่ในระดับต่ำประมาณ 1,200 จุด ตอนนั้นเราทำกองทุนวายุกภักษ์ก็สามารถดึงดัชนีขึ้นไปได้ที่ประมาณ 1,400 จุดก่อนจะปรับลดลงมาที่ระดับ 1,200 จุดและได้รับผลกระทบจากข่าวสารภายนอก

ทั้งนี้รัฐบาลมีแนวคิดว่าในกองทุน ESG มีการเลือกหุ้นที่ดีมีอนาคต การเติบโตที่ยั่งยืน และมีการลงทุนในเทคโนโลยี ซึ่งถือว่ามีโอกาสเติบโตในอนาคต เมื่อมีความชัดเจนเรื่องนโยบายนี้ก็เชื่อว่าจะสามารถชะลอแรงขายของดัชนีหุ้นลงได้

กระทรวงอุตฯ เอาจริง!! นำทีมสุดซอยบุกตรวจโรงงานผิดกฎหมายในสมุทรสาคร ทลายแหล่งผลิตกล่องโฟมเถื่อน ยึดของกลางกว่า 4 ล้านชิ้น

(11 มี.ค. 68) นายพงศ์พล ยอดเมืองเจริญ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และโฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม สั่งการให้ทีมตรวจ 'สุดซอย' ลงพื้นที่ตรวจสอบ อำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร หลังได้รับเรื่องร้องเรียนผ่านไลน์ 'แจ้งอุต' ว่ามีการประกอบกิจการโดยไม่มีใบอนุญาต

จากการตรวจสอบพบว่า โรงงานที่ถูกร้องเรียนคือ บริษัท ไทยสมายล์ เทเบิลแวร์ จำกัด ซึ่งเป็นผู้ผลิตกล่องโฟมและจานโฟมใส่อาหาร ใช้เครื่องจักรกำลังรวม 544.9 แรงม้า ซึ่งเข้าข่ายเป็นโรงงานลำดับที่ 53(1) และจัดเป็นโรงงานจำพวกที่ 3 แต่ไม่มีใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน นอกจากนี้ โรงงานดังกล่าวยังแสดงเครื่องหมาย มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) โดยไม่ได้รับอนุญาต และจำหน่ายสินค้าที่ไม่ได้ผ่านการรับรอง

ทีมสุดซอยและเจ้าหน้าที่ได้ทำการ ยึดอายัดผลิตภัณฑ์ต้องสงสัยรวม 10 รายการ จำนวน 4,093,000 ชิ้น มูลค่ากว่า 2,281,150 บาท และได้ดำเนินคดีในข้อหาตั้งโรงงานและประกอบกิจการโรงงานโดยไม่ได้รับอนุญาต พร้อมมีคำสั่งให้ระงับการกระทำที่ฝ่าฝืนตาม พระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 ในส่วนของ การผลิตสินค้าที่ไม่ได้รับมาตรฐาน มอก. สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) จะดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป

นายพงศ์พล กล่าวเพิ่มเติมว่า การตรวจสอบในครั้งนี้เกิดขึ้นจากเรื่องร้องเรียนที่ประชาชนแจ้งเข้ามาผ่านแพลตฟอร์ม 'แจ้งอุต' ซึ่งเป็นช่องทางร้องเรียนเกี่ยวกับปัญหาในภาคอุตสาหกรรมที่สะดวกและรวดเร็วที่สุด โดยไม่ต้องทำหนังสือร้องเรียนเหมือนในอดีต

“ตลอดระยะเวลา 1 เดือนที่ผ่านมา กระทรวงฯ ได้รับเรื่องร้องเรียนแล้วกว่า 682 เรื่อง ทำให้สามารถเข้าถึงพื้นที่ที่มีปัญหาได้มากขึ้นและจัดการกับธุรกิจสีเทาในภาคอุตสาหกรรมได้อย่างทันท่วงที”

ทั้งนี้ประชาชนสามารถแจ้งเบาะแสเกี่ยวกับโรงงานผิดกฎหมายหรือสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐาน ผ่านไลน์ไอดี 'traffyfondue' โดยเลือกเมนู 'แจ้งอุต' และกดเลือกปัญหาที่พบ เพื่อให้กระทรวงอุตสาหกรรมส่งทีมสุดซอยลงพื้นที่ตรวจสอบทันที

“แพลตฟอร์ม 'แจ้งอุต' เปรียบเสมือนแสงสว่างที่ช่วยเปิดเผยปัญหาในภาคอุตสาหกรรมให้ชัดเจนขึ้น และทำให้ภาครัฐสามารถเข้าไปช่วยเหลือประชาชนได้รวดเร็วและตรงจุด” นายพงศ์พล กล่าวทิ้งท้าย

รทสช. ร่วมยินดี ‘กฎหมายสุรารวมไทย’ ผ่านวุฒิสภา ช่วยเปิดกว้างการแข่งขัน เพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรท้องถิ่น

‘โฆษกพรรครวมไทยสร้างชาติ’ ร่วมยินดีกฎหมายสุรารวมไทยผ่าน ส.ว. เปิดกว้างการแข่งขัน เพิ่มมูลค่าสินค้าทางการเกษตร แง้มอีกหลายกฎหมายยึดผลประโยชน์ประเทศชาติ-ประชาชน จ่อเข้าคิวพิจารณา 

(11 มี.ค.68) นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดราชบุรี เขต 4 ในฐานะโฆษกพรรครวมไทยสร้างชาติ เปิดเผยกรณีวุฒิสภาได้มีมติผ่าน ร่างพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....ว่า 

ในลำดับแรกต้องขอแสดงความยินดีกับพี่น้องประชาชนที่ร่างพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... หรือ กฎหมายสุรารวมไทย ได้ผ่านวุฒิสภา ซึ่งถือเป็นก้าวที่มีความสำคัญที่ปลดล็อกให้วิสาหกิจชุมชนสามารถผลิตสุราสีได้ ซึ่งจะเป็นสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าทางการเกษตร ผ่านการแปรรูปสินค้าทางการเกษตร เช่น พืชและผลไม้ในท้องถิ่น 

และคาดว่าผลของกฎหมายฉบับนี้จะทำให้ปรากฏสุราของไทยที่ผลิตจากผลไม้ขึ้นชื่อในท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นลำไย มะพร้าวน้ำหอม สับปะรด มังคุด หรือผลไม้พื้นถิ่นต่างๆ เพื่อจำหน่ายเป็นของฝากในท้องถิ่น หรือแม้กระทั่งส่งออกไปยังต่างประเทศ ถือเป็นการส่งเสริมผลผลิตทางการเกษตรในท้องถิ่น ให้เติบโตยิ่งขึ้น

กฎหมายฉบับนี้จะเป็นเปิดกว้างตลาดการผลิต ทลายทุนผูกขาด ทำให้เกิดการแข่งขันในตลาด จึงขอขอบคุณวุฒิสมาชิกที่ได้ผ่านกฎหมายฉบับนี้ และเป็นอีกครั้งหนึ่งที่พรรครวมไทยสร้างชาติได้เสนอกฎหมายที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชน โดยการนำของนางศิริวรรณ ปราศจากศัตรู สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ และเพื่อนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรครวมไทยสร้างชาติ

และไม่ใช่แค่กฎหมายฉบับนี้เท่านั้น กฎหมายที่เสนอโดยพรรครวมไทยสร้างชาติยังมีอีกหลายฉบับซึ่งเป็นกฎหมายที่มีประโยชน์ต่อประเทศและประชาชนที่รอการพิจารณาจากสภาผู้แทนราษฎร เช่น กฎหมายการแข่งขันทางการค้า การปรับปรุงกฎหมายโรงงาน กฎหมายสนับสนุนการติดตั้งโซลาร์เซลล์ กฎหมายเครดิตบูโร กฎหมายการควบคุมการขายทอดตลาดและค้าของเก่า เป็นต้น ซึ่งทางสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรครวมไทยสร้างชาติ จะได้ดำเนินการติดตามความคืบหน้าในการพิจารณากฎหมายต่อไป

'กกพ.' เสนอ 3 ทางเลือกค่าไฟงวด พ.ค.-ส.ค. 68 ที่ 4.15-5.16 บาท/หน่วย ชี้ แนวโน้มอาจตรึงค่าเอฟทีเท่าปัจจุบัน เหตุภาระหนี้และต้นทุนเชื้อเพลิงยังกดดัน

‘กกพ.’ เสนอ 3 ทางเลือกค่าไฟงวด พ.ค. – ส.ค. 2568 ที่ 4.15 – 5.16 บาทต่อหน่วย ชี้หลายปัจจัยยังคงกดดันค่าไฟ ทั้งภาระหนี้ต่อ กฟผ. อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทที่ผันผวนจากนโยบายภาษีนำเข้าของสหรัฐ ปริมาณความต้องการไฟฟ้าเพิ่มต่อเนื่อง ปริมาณไฟฟ้าพลังน้ำนำเข้าลดลงตามฤดูกาล และแนวโน้มต้นทุนไฟฟ้าจากถ่านหินที่เพิ่มสูงขึ้น

ดร.พูลพัฒน์ ลีสมบัติไพบูลย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ในฐานะโฆษกคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่า ค่าเอฟทีในงวดเดือน พ.ค.- ส.ค. 2568 ยังคงมีภาระการชดเชยต้นทุนคงค้างที่เกิดขึ้นจริงของ กฟผ. นอกจากนี้อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐที่ยังผันผวนจากนโยบายภาษีนำเข้าของสหรัฐ และการระบายน้ำของเขื่อนในประเทศได้ลดลงในฤดูแล้ง แม้จะมีแผนเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินแล้ว แต่ความต้องการใช้ไฟฟ้ายังมีแนวโน้มที่สูงขึ้นตามสภาพอากาศร้อน ทำให้ กกพ. ยังไม่สามารถประกาศปรับลดค่าเอฟทีลงได้

“ปัจจัยหลักๆ ยังคงเป็นภาระการชดเชยต้นทุนคงค้าง (AF) ที่เกิดขึ้นจริงของ กฟผ. และต้นทุนการผลิตไฟฟ้าที่อ้างอิงอัตราแลกเปลี่ยน ประกอบกับเป็นช่วงฤดูแล้งและอากาศที่ร้อนทำให้สัดส่วนการผลิตไฟฟ้าต้นทุนต่ำลดลงตามฤดูกาล ในขณะที่ความต้องการใช้ไฟฟ้ากลับเพิ่มขึ้น เป็นปัจจัยลบที่กดดันค่าเอฟที และไม่สามารถปรับลดค่าเอฟทีลงได้อีก” ดร.พูลพัฒน์ กล่าว

ดร.พูลพัฒน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนที่ กกพ. ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เพื่อร่วมหาแนวทางใหม่เพิ่มเติม ในการปรับลดค่าไฟฟ้าให้กับประชาชนและภาคธุรกิจ กกพ.ยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง แต่ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนเพิ่มเติม ที่จะสามารถนำมาเป็นปัจจัยในการพิจารณาค่าเอฟทีได้ทันตามวงรอบปกติของการพิจารณาค่าไฟฟ้าในงวดเดือน พ.ค.- ส.ค. 2568 ที่ถูกกำหนดให้ต้องทบทวนค่าเอฟที และค่าไฟฟ้า ล่วงหน้าเป็นระยะเวลา 1 เดือนก่อนที่การประกาศจะมีผลบังคับใช้

ทั้งนี้ในการประชุม กกพ. ครั้งที่ 9/2568 เมื่อวันพุธที่ 5 มีนาคม 2568 ที่ผ่านมา กกพ. มีมติให้สำนักงาน กกพ. ดำเนินการเปิดรับฟังความคิดเห็นค่าไฟฟ้าผันแปร (ค่าเอฟที) สำหรับการเรียกเก็บค่าไฟฟ้าในงวดเดือน พ.ค. – ส.ค. 2568 แบ่งเป็น 3 กรณีตามเงื่อนไข ดังนี้

กรณีที่ 1: ผลการคำนวณตามสูตรการปรับค่าเอฟที (จ่ายคืนภาระต้นทุนคงค้าง กฟผ. ทั้งหมด) และการคำนวณกรณีเรียกเก็บมูลค่าส่วนต่างราคาก๊าซธรรมชาติสำหรับภาคไฟฟ้าปี 2566 ค่าเอฟทีขายปลีกเท่ากับ 137.39 สตางค์ต่อหน่วย ซึ่งจะเป็นการเรียกเก็บตามผลการคำนวณตามสูตรการปรับค่าเอฟทีที่สะท้อนแนวโน้ม (1) ต้นทุนเดือนพฤษภาคม – สิงหาคม 2568 จำนวน 16.39 สตางค์ต่อหน่วย และ (2) เงินเรียกเก็บเพื่อชดเชยต้นทุนคงค้าง (AF) ที่เกิดขึ้นจริงของ กฟผ. จำนวน 71,740 ล้านบาท (หรือคิดเป็น 99.98 สตางค์ต่อหน่วย) และมูลค่าส่วนต่างราคาก๊าซธรรมชาติที่เกิดขึ้นจริงกับราคาก๊าซธรรมชาติที่เรียกเก็บเดือนกันยายน – ธันวาคม 2566 ของรัฐวิสาหกิจที่ประกอบกิจการจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ (Shipper) จำนวน 15,084 ล้านบาท (หรือคิดเป็น 21.02 สตางค์ต่อหน่วย) รวมจำนวน 121.00 สตางค์ต่อหน่วย โดย กฟผ. จะได้รับเงินที่รับภาระต้นทุนค่าเชื้อเพลิงและค่าซื้อไฟฟ้าแทนประชาชนตั้งแต่เดือนกันยายน 2564 – ธันวาคม 2567 ในช่วงสภาวะวิกฤตของราคาพลังงานที่ผ่านมา คืนทั้งหมดภายในเดือนสิงหาคม 2568 เพื่อนำไปชำระหนี้เงินกู้เพื่อเสริมสภาพคล่องให้มีสถานะทางการเงินคืนสู่สภาวะปกติโดยเร็ว และรัฐวิสาหกิจที่ประกอบกิจการก๊าซธรรมชาติ จะได้รับเงินคืนส่วนต่างราคาก๊าซธรรมชาติสำหรับภาคไฟฟ้าคืนทั้งหมด ซึ่งเมื่อรวมค่าเอฟทีขายปลีกที่คำนวณได้กับค่าไฟฟ้าฐานที่ 3.78 บาทต่อหน่วย ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ย (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 5.16 บาทต่อหน่วย โดยค่าไฟฟ้าของผู้ใช้ไฟฟ้าทั่วประเทศจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 24 จากระดับ 4.15 บาทต่อหน่วย ในงวดปัจจุบัน

กรณีที่ 2: ผลการคำนวณตามสูตรการปรับค่าเอฟที (จ่ายคืนภาระต้นทุนคงค้าง กฟผ. ทั้งหมด) ค่าเอฟทีขายปลีกเท่ากับ 116.37 สตางค์ต่อหน่วย ซึ่งจะเป็นการเรียกเก็บตามผลการคำนวณตามสูตรการปรับค่าเอฟทีที่สะท้อนแนวโน้มต้นทุนเดือนพฤษภาคม – สิงหาคม 2568 จำนวน 16.39 สตางค์ต่อหน่วย และเงินเรียกเก็บเพื่อชดเชยต้นทุนคงค้าง (AF) ที่เกิดขึ้นจริงของ กฟผ. จำนวน 71,740 ล้านบาท (หรือคิดเป็น 99.98 สตางค์ต่อหน่วย) โดย กฟผ. จะได้รับเงินที่รับภาระต้นทุนค่าเชื้อเพลิงและค่าซื้อไฟฟ้าแทนประชาชนในช่วงสภาวะวิกฤตของราคาพลังงานที่ผ่านมา คืนทั้งหมดภายในเดือนสิงหาคม 2568 เพื่อนำไปชำระหนี้เงินกู้เพื่อเสริมสภาพคล่องให้มีสถานะทางการเงินคืนสู่สภาวะปกติโดยเร็ว ซึ่งเมื่อรวมค่าเอฟทีขายปลีกที่คำนวณได้กับค่าไฟฟ้าฐานที่ 3.78 บาทต่อหน่วย ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ย (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 4.95 บาท ต่อหน่วย โดยค่าไฟฟ้าของผู้ใช้ไฟฟ้าทั่วประเทศจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 19 จากระดับ 4.15 บาทต่อหน่วย ในงวดปัจจุบัน ทั้งนี้ ยังไม่รวมมูลค่าส่วนต่างราคาก๊าซธรรมชาติที่เกิดขึ้นจริงกับราคาก๊าซธรรมชาติที่เรียกเก็บเดือนกันยายน – ธันวาคม 2566 ของรัฐวิสาหกิจที่ประกอบกิจการจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ (Shipper) อีกจำนวน 15,084 ล้านบาท

กรณีที่ 3: กรณีตรึงค่าเอฟทีเท่ากับงวดปัจจุบัน (ข้อเสนอ กฟผ.) ค่าเอฟทีขายปลีกเท่ากับ 36.72 สตางค์ต่อหน่วย ซึ่งจะสะท้อนแนวโน้มต้นทุนเดือนพฤษภาคม – สิงหาคม 2568 จำนวน 16.39 สตางค์ต่อหน่วย และทยอยชำระคืนภาระต้นทุน AF คงค้างสะสมได้จำนวน 14,590 ล้านบาท (หรือคิดเป็น 20.33 สตางค์ต่อหน่วย) เพื่อนำไปพิจารณาทยอยคืนภาระค่า AF ให้แก่ กฟผ. และมูลค่าส่วนต่างของราคาก๊าซธรรมชาติที่เกิดขึ้นจริงกับค่าก๊าซธรรมชาติที่เรียกเก็บ เดือนกันยายน – ธันวาคม 2566 ของรัฐวิสาหกิจที่ประกอบกิจการจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ (Shipper) ในระบบของ กฟผ. ต่อไป โดยคาดว่า ณ สิ้นเดือนสิงหาคม 2568 จะมีภาระต้นทุนคงค้างที่ กฟผ. รับภาระแทนประชาชนคงเหลืออยู่ที่ 60,474 ล้านบาท ทั้งนี้ ยังไม่รวมมูลค่าส่วนต่างราคาก๊าซธรรมชาติที่เกิดขึ้นจริงกับราคาก๊าซธรรมชาติที่เรียกเก็บเดือนกันยายน – ธันวาคม 2566 ของรัฐวิสาหกิจที่ประกอบกิจการจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ (Shipper) อีกจำนวน 15,084 ล้านบาท ซึ่งเมื่อรวมค่าเอฟทีขายปลีกกับค่าไฟฟ้าฐานที่ 3.78 บาทต่อหน่วย ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ย (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) คงที่เท่ากับ 4.15 บาทต่อหน่วย เช่นเดียวกับงวดปัจจุบัน

“จากแนวโน้มค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐที่อ่อนค่าลงจากงวดก่อนหน้า 0.91 บาทต่อเหรียญสหรัฐ (งวดเดือน ม.ค. – เม.ย. 68) เป็น 34.27 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ความต้องการใช้ไฟฟ้ามีแนวโน้มสูงขึ้นในช่วงเดือน พ.ค. – ส.ค. 2568 ในขณะที่การผลิตไฟฟ้าพลังน้ำในประเทศลดลงเนื่องจากเข้าสู่ช่วงฤดูแล้ง โดยการไฟฟ้าได้ลดต้นทุนโดยซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศและการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินนำเข้าเพิ่มขึ้นแล้ว แต่ยังต้องจัดหานำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลวแบบสัญญาตลาดจร (LNG Spot) มากกว่าช่วงต้นปี โดยราคา LNG Spot ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเล็กน้อยตามปริมาณความต้องการในตลาดโลกมาอยู่ที่ 14.0 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู แต่ปัจจัยที่ยังไม่สามารถทำให้ค่าไฟลดลงได้ยังคงมาจากภาระหนี้ค่าเชื้อเพลิงสะสมในช่วงกว่า 3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งแม้ว่าจะลดลงมากจากงวดก่อนหน้า แต่ภาระหนี้ที่มีอยู่ก็ยังคงอยู่ในระดับสูงและต้องได้รับการดูแลเพื่อรักษาเสถียรภาพและความมั่นคงระบบไฟฟ้าของประเทศด้วย” ดร.พูลพัฒน์ กล่าว

ดร.พูลพัฒน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากสาเหตุหลักซึ่งเป็นปัจจัยที่อยู่นอกเหนือการควบคุมส่งผลให้ต้นทุนค่าเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าปรับตัวลดลง แต่เมื่อรวมกับการทยอยคืนหนี้ค่าเชื้อเพลิงค้างชำระในงวดก่อนหน้าที่ยังคงสูงอยู่ ส่งผลให้ค่าไฟในช่วงกลางปี 2568 นี้ อาจจะต้องปรับเพิ่มค่าเอฟทีขึ้นสู่ระดับ 116.37 – 137.39 สตางค์ต่อหน่วย เพื่อคืนหนี้คงค้างให้กับ กฟผ. และ ปตท. ซึ่งทำให้เมื่อรวมกับค่าไฟฟ้าฐานที่ 3.7833 บาทต่อหน่วย ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าเรียกเก็บในงวด พ.ค. – ส.ค. 2568 เพิ่มขึ้นเป็น 4.95 – 5.16 บาทต่อหน่วย หรือหากตรึงค่าเอฟทีไว้ที่ 36.72 สตางค์ต่อหน่วย โดยทยอยคืนหนี้คงค้างควบคู่ไปกับการลดผลกระทบต่อการปรับค่าไฟฟ้าอย่างก้าวกระโดดเพื่อลดภาระของประชาชน ค่าไฟฟ้าจะอยู่ที่ 4.15 บาทต่อหน่วย เท่ากับปัจจุบัน

สำนักงาน กกพ. ขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนร่วมกันปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าได้ง่ายๆ 5 ป. ได้แก่ ปลด หรือถอดปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้าลดการใช้ไฟฟ้าเมื่อใช้งานเสร็จ ปิด หรือดับไฟเมื่อเลิกใช้งานปรับ อุณหภูมิเครื่องปรับอากาศให้อยู่ที่ 26 องศา เปลี่ยน มาใช้อุปกรณ์ประหยัดไฟเบอร์ 5 ปลูกต้นไม้เพิ่มขึ้นเพื่อลดอุณหภูมิภายในบ้าน ซึ่งทั้ง 5 ป. จะช่วยลดภาระค่าไฟฟ้าของผู้ใช้ไฟฟ้าเองด้วย

ทั้งนี้ กกพ. เปิดรับฟังความคิดเห็นผ่านทางเว็บไซต์สำนักงาน กกพ. ตั้งแต่วันที่ 11 – 24 มีนาคม 2568 ก่อนที่จะมีการสรุปและประกาศอย่างเป็นทางการต่อไป


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top