Wednesday, 19 March 2025
GoodsVoice

รู้เรื่อง...ค่าไฟฟ้า (11) : ‘ไฟฟ้าสำรอง’ ใช่...สาเหตุของ ‘ค่าไฟฟ้าแพง’ หรือไม่?

นักวิชาการ NGO และสื่อบางสำนักมักหยิบยกเอาเรื่องของ “การมี ‘ไฟฟ้าสำรอง’ มากจนเกินความต้องการ จนทำให้ ‘ค่าความพร้อมจ่าย (Availability Payment หรือ ค่า AP)’ อันเป็นต้นทุนค่าก่อสร้างโรงไฟฟ้าที่การไฟฟ้าฯ จ่ายให้กับโรงไฟฟ้าเอกชนเป็นค่าความพร้อมในการเดินเครื่องเพื่อจ่ายไฟฟ้า ไม่ว่าโรงไฟฟ้าจะผลิตหรือไม่ ก็ตาม สูงมาก” ว่าเป็นสาเหตุสำคัญที่สุดที่ทำให้ ‘ค่าไฟฟ้าแพง’ ซึ่ง TST ได้อธิบายถึงข้อเท็จในส่วนที่เกี่ยวข้องใน “รู้เรื่อง...ค่าไฟฟ้า (7) : ‘ไฟฟ้าสำรอง’ ปริมาณ เหตุผล และความจำเป็น” แล้ว สำหรับตอนนี้จะได้ขยายความข้อเท็จจริงให้ท่านผู้อ่านได้รู้และเข้าใจได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น

ทำไม? นักวิชาการ NGO และสื่อบางสำนักจึงอ้างว่า ‘ไฟฟ้าสำรอง’ ของไทยนั้นมากถึง 50% แต่ขณะที่โฆษกกระทรวงพลังงานได้อธิบายชี้แจงโดยระบุว่า ‘ไฟฟ้าสำรอง’ ในปัจจุบันอยู่ที่ 25.5% เท่านั้น แล้วทำไมตัวเลข ‘ไฟฟ้าสำรอง’ ของนักวิชาการ NGO และสื่อบางสำนัก จึงมากกว่าตัวเลขปริมาณ ‘ไฟฟ้าสำรอง’ ที่โฆษกกระทรวงพลังงานได้ระบุไว้ถึงหนึ่งเท่าตัว นั่นก็เป็นเพราะวิธีการคำนวณตัวเลขปริมาณ ‘ไฟฟ้าสำรอง’ ของ 2 ฝ่ายแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง จึงขออธิบายหลักการคำนวณปริมาณ ‘ไฟฟ้าสำรอง’ ของ 2 ฝ่ายเป็นข้อมูลพอสังเขปดังนี้  

กระทรวงพลังงานใช้วิธีการคำนวณ ‘ไฟฟ้าสำรอง’ จากปริมาณการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (Peak Load) ของปี ซึ่งวันที่ใช้ไฟฟ้ามากที่สุดของปี พ.ศ. 2567 คือ วันที่ 29 เมษายน 2567 เวลา 20.56 น. มีค่าเท่ากับ 36,477.80 เมกะวัตต์ และหักด้วยปริมาณไฟฟ้าที่ได้จากพลังงานทดแทนหรือพลังงานหมุนเวียน อาทิ พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานชีวมวล จึงไม่สามารถนำมานับรวมในปริมาณพลังงานไฟฟ้า 100% ได้ อันเนื่องมาจากพลังไฟฟ้ากลุ่มนี้ไม่สามารถผลิตไฟฟ้าได้ตลอดเวลา ไม่สามารถพึ่งพาได้ตลอด 24 ชั่วโมง ด้วยปัจจัยช่วงเวลา (พลังงานแสงอาทิตย์ผลิตได้เพียงวันละ 6-8 ชั่วโมง) ฤดูกาล (ฤดูฝนผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์) จึงทำให้ไม่สามารถนำปริมาณไฟฟ้าที่ได้จากพลังงานทดแทนหรือพลังงานหมุนเวียนมาคำนวณเป็นกำลังการผลิตไฟฟ้าสำรองที่แท้จริงได้

ในขณะที่ตัวเลขปริมาณ ‘ไฟฟ้าสำรอง’ ที่นักวิชาการ NGO ซึ่งสื่อบางสำนักอ้างว่ามากถึง 50% นั้น ใช้วิธีคำนวณจากปริมาณการใช้ไฟฟ้าเฉลี่ยทั้งปี โดยคิดรวมเอาปริมาณไฟฟ้าที่ได้จากพลังงานทดแทนหรือพลังงานหมุนเวียนเข้าไปด้วย ซึ่งข้อเท็จจริงในการคำนวณตัวเลขปริมาณ ‘ไฟฟ้าสำรอง’ หากต้องการคิดรวมเอาปริมาณไฟฟ้าที่ได้จากพลังงานทดแทนหรือพลังงานหมุนเวียนเข้าไป นั่นหมายความว่า ต้องสามารถผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนหรือพลังงานหมุนเวียนได้ตลอด 24 ชั่วโมง หรือมีการเก็บกักพลังงานไฟฟ้าด้วยแบตเตอรี่เพื่อให้สามารถจ่ายไฟฟ้าได้ตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งปัจจุบันในประเทศไทยยังไม่มีผู้ผลิตพลังงานไฟฟ้ารายใดสามารถทำได้เลย แม้แต่ กฟผ. เองก็ตาม

นอกจากนี้ นักวิชาการ NGO และสื่อบางสำนักยังได้อ้างว่า การจัดทำ ‘แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (แผน PDP)’ ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันนั้นเอื้อประโยชน์ต่อผู้ประกอบการผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ จึงทำให้ ‘ไฟฟ้าสำรอง’ มากจนเกินความต้องการ นั่นคือความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องอย่างยิ่ง เพราะในการจัดทำ ‘แผน PDP’ คณะทำงานที่รับผิดชอบจัดทำการพยากรณ์ประมาณการความต้องการใช้ไฟฟ้าที่จะเกิดขั้นในอนาคตนั้น จะต้องใช้ข้อมูลจากการพยากรณ์ประมาณการตัวเลข ‘ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Gross Domestic Product หรือ GDP) ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้คำนวณออกมาเป็น ‘ตัวเลข’ ประมาณการไว้แล้วเป็นหลัก 

แต่ ในปี พ.ศ. 2563 เศรษฐกิจไทยหดตัวอย่างต่อเนื่อง จากผลกระทบของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ทำให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ติดลบถึง 6.1% นั่นหมายถึง ความต้องการการใช้พลังงานไฟฟ้าก็ติดลบในอัตราที่ใกล้เคียงเช่นเดียวกัน จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้กำลังการผลิตไฟฟ้ามากเกินความต้องการ และกลายเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ช่วง 2 – 3 ปีที่ผ่านมากำลังผลิตไฟฟ้าอยู่ในระดับสูง อันเนื่องจากสถานการณ์ดังกล่าว จนทำให้ตัวเลข ‘ไฟฟ้าสำรอง’ มากเกินต่อความจำเป็น และเกินกว่าอัตรามาตรฐานปริมาณของกระแสไฟฟ้าที่ควรสำรอง แต่มีผู้ประกอบการผลิตไฟฟ้าตามสัญญาที่ทำไว้กับกฟผ. ได้มีการลงทุนสร้างและเดินเครื่องโรงงานผลิตไฟฟ้าขึ้นมาแล้ว ดังนั้นจึงต้องมีการจ่าย ‘ค่าความพร้อมจ่าย (Availability Payment หรือ ค่า AP)’ ซึ่งเป็นค่าความพร้อมเดินเครื่องเพื่อจ่ายไฟฟ้าให้แก่ผู้ผลิตไฟฟ้า ไม่ว่าจะมีการใช้ไฟฟ้านั้นหรือไม่ก็ตาม ซึ่งเป็นไปตามโครงสร้างของรูปแบบข้อตกลงซื้อขายไฟฟ้าระหว่างเอกชนและเอกชน (Power Purchasing Agreement หรือ PPA) แต่ในปัจจุบันมีบริหารจัดการจนกระทั่ง ‘ไฟฟ้าสำรอง’ อยู่ในระดับที่เหมาะสมแล้ว

การกล่าวอ้างและกล่าวหาว่า หน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำ ‘แผน PDP’ ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันนั้นได้จงใจจัดทำ ‘แผน PDP’ ให้เอื้อประโยชน์ต่อผู้ประกอบการผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ โดยนักวิชาการ NGO และสื่อบางสำนัก ได้มีนักการเมืองผู้หนึ่งรวบรวมข้อมูลหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับการอ้างถึงความไม่ถูกต้องชอบธรรมของพฤติการณ์และพฤติกรรมดังกล่าว ยื่นฟ้องร้องต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบแล้ว ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการดำเนินคดี หลังจากกระบวนการยุติธรรมเสร็จสิ้นลง คำตัดสินในคดีนี้ก็จะเป็นการสร้างความชอบธรรมเพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง และแสดงให้สังคมไทยได้เห็นว่า เรื่องนี้มีความไม่ชอบมาพากลและความไม่ถูกต้องเป็นไปตามที่มีกล่าวอ้างและกล่าวหาหรือไม่ ซึ่งกระบวนการยุติธรรมจะเป็นเครื่องมือที่ดีที่สุดที่จะพิสูจน์ได้ว่า สิ่งที่มีการฟ้องร้องนั้นจริงหรือเท็จ ถูกหรือผิด และควรเป็นไปอย่างไร แต่เท่าที่ผ่านมาจนทุกวันนี้ ยังไม่เคยปรากฏว่า มีหน่วยงานภาครัฐหน่วยงานใดแพ้คดีที่มีการฟ้องร้องลักษณะเช่นนี้มาก่อนเลย

‘สุริยะ’ ยัน รถไฟฟ้า 20 บาททุกสีทุกสาย มาแน่ คาดสามารถประกาศใช้เดือนกันยายน นี้

‘สุริยะ’ ยืนยัน นโยบายรถไฟฟ้า 20 บาททุกสีทุกสาย ประกาศใช้ในเดือน ก.ย. นี้ ชี้ รถไฟฟ้า 20 บาท ดันผู้ใช้บริการ สายสีม่วง-สายสีแดง โต 10.86%

(13 ก.พ. 68) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า จากนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ที่ในปัจจุบันได้ดำเนินการมาแล้วกว่า 1 ปี 2 เดือนในโครงการรถไฟฟ้า 2 เส้นทาง ได้แก่ โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน - คลองบางไผ่ และโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงบางซื่อ - รังสิต และช่วงบางซื่อ - ตลิ่งชัน ได้ผลตอบรับจากประชาชนเป็นอย่างดี สะท้อนได้จากข้อมูลในช่วงที่ผ่านมาที่มีสถิติการมีผู้ใช้บริการสูงที่สุด (นิวไฮ) ตั้งแต่เปิดให้บริการ โดยทั้ง 2 สายดังกล่าว มีปริมาณผู้โดยสารรวม 3,054,439 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.86 และรายได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.28 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

ทั้งนี้ นายสุริยะ ยืนยันจะประกาศใช้นโยบายค่ารถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายในโครงการรถไฟฟ้าทุกสี ทุกสาย และทุกเส้นทางภายในเดือนกันยายน 2568 ตามที่เคยกำหนดไว้ ภายใต้การขับเคลื่อนร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม พ.ศ. …. ผ่านการจัดตั้งกองทุนส่งเสริมระบบตั๋วร่วม ที่ในขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการตามกระบวนการ คาดว่า จะประกาศราชกิจจานุเบกษาและมีผลบังคับใช้ในช่วงกลางปี 2568 และเสนอประกาศกฎหมายลำดับรองภายในเดือนกันยายน 2568

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่า เมื่อนโยบายนี้ ครอบคลุมในทุกเส้นทาง จะมีผู้โดยสารเพิ่มขึ้นต่อเนื่องอย่างแน่นอน นอกจากนี้ เมื่อมีปริมาณผู้โดยสารเพิ่มมากขึ้นแล้ว คาดว่า รถไฟฟ้าสายสีม่วง และรถไฟฟ้าสายสีแดง จะมีรายได้เท่ากับหรือมากกว่าช่วงก่อนเริ่มนโยบายภายในปี 2568 หรือเร็วกว่าแผนที่กำหนดไว้ จากเดิมที่คาดว่าภายในระยะ 2 ปี 7 เดือนหลังจากเริ่มนโยบาย ซึ่งส่งผลให้ภาครัฐอาจจะไม่ต้องชดเชยส่วนต่างรายได้ให้กับทั้ง 2 โครงการดังกล่าวแล้ว

นายสุริยะ กล่าวอีกว่า จากแนวโน้มปริมาณผู้โดยสารที่ตอบรับนโยบายค่ารถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายนั้น ถือว่า เป็นสัญญาณที่ดีที่รัฐบาล และกระทรวงคมนาคมได้ช่วยลดภาระค่าครองชีพในการเดินทางให้กับพี่น้องประชาชน อีกทั้งยังจูงใจให้หันมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะมากขึ้น ลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล ซึ่งเป็นอีก 1 ปัจจัยในการช่วยลดปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 และสร้างโอกาสในการเดินทางอย่างเท่าเทียมของคนทุกกลุ่มด้วย

บางจากฯ ได้รับการประเมินระดับสูงสุด Top1% พุ่งขึ้นอันดับหนึ่งทำเนียบธุรกิจยั่งยืนระดับโลก

(13 ก.พ.68) บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ได้รับการประเมินด้านความยั่งยืนระดับสูงสุด Top 1%ของกลุ่มอุตสาหกรรม Oil & Gas Refinery and Marketing ในทำเนียบ 'The Sustainability Yearbook 2025' จากการประเมินของ S&P Global Corporate Sustainability Assessment (CSA) ประจำปี 2024 

นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทบางจากและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า “บางจากฯ ได้รับการประเมินด้านความยั่งยืนอันดับสูงสุดของโลก(Top1%) ของกลุ่มอุตสาหกรรม Oil & Gas Refinery and Marketing ในรายงานประจำปี “The Sustainability Yearbook 2025” โดยจากการประเมินในปี 2024 บางจากฯ มีคะแนนรวม 85 คะแนน (จาก 100 คะแนน) และมีคะแนนสูงสุด (Best Dimension) ใน 2 มิติ  คือมิติการกำกับดูแล (Governance) และมิติสิ่งแวดล้อม (Environment) พร้อมได้รับการยกย่องให้เป็น Industry Mover หรือองค์กรที่มีพัฒนาการด้านความยั่งยืนโดดเด่นที่สุดจาก 43 บริษัททั่วโลกที่เข้ารับการประเมินจากอุตสาหกรรมดังกล่าว”

นอกเหนือจากความเป็นเลิศด้านธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันและการตลาดแล้ว บางจากฯ ยังได้รับการประเมินด้าน สิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการ (ESG) สูงสุดในระดับโลกจาก S&P Global CSA ผู้จัดทำรายงาน The Sustainability Yearbook ซึ่งเป็นองค์กรชั้นนำด้านการประเมิน ESG และเป็นผู้จัดทำดัชนี Dow Jones Sustainability Indices (DJSI) โดยในปี 2024 มีผู้เข้ารับการประเมิน 7,690 บริษัทจาก 62 อุตสาหกรรมทั่วโลก และบางจากฯ เข้ารับการประเมิน S&P Global CSA ต่อเนื่องมาเป็นเวลา 10 ปี ตอกย้ำถึงความเป็นผู้นำด้านความยั่งยืนในระดับสากล

“ความสำเร็จในครั้งนี้ถือเป็นอีกก้าวสำคัญในระดับโลกของบางจากฯ สะท้อนถึงความมุ่งมั่นของบริษัทฯ ในการบูรณาการหลักการด้าน ESG เข้าสู่ทุกมิติของการดำเนินงาน เพื่อสร้างคุณค่าร่วมให้กับทุกภาคส่วน เราภูมิใจที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล และจะยังคงเดินหน้าสร้างอนาคตพลังงานที่สมดุลและยั่งยืน เพื่อโลกและสังคม พร้อมก้าวสู่ทศวรรษที่ 5 อย่างแข็งแกร่งและยั่งยืน” นายชัยวัฒน์กล่าวทิ้งท้าย

‘นายกฯ’ เปิด FTI EXPO 2025 งานยิ่งใหญ่แห่งปี หนุนเพิ่มศักยภาพผู้ประกอบการสู่ตลาดโลกอย่างยั่งยืน

นายกฯ ‘แพทองธาร’ ประธานเปิดงาน FTI EXPO 2025: “EMPOWERING THAI INDUSTRY, ELEVATING THAILAND’S FUTURE เสริมพลังอุตสาหกรรมไทย เพื่ออนาคตไทย ที่ยั่งยืน” ซึ่งจัดโดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ร่วมกับพันธมิตรองค์กรชั้นนำ จัดขึ้นระหว่าง 12-15 ก.พ. นี้ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ด้วยแนวทาง 4GO ครอบคลุม ทั้งดิจิทัล นวัตกรรม การขยายตลาดต่างประเทศ และการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน  

(13 ก.พ. 68) นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดงาน FTI EXPO 2025 งานรวมสุดยอดอุตสาหกรรมไทยที่จัดขึ้นภายใต้คอนเซ็ปต์ “EMPOWERING THAI INDUSTRY, ELEVATING THAILAND’S FUTURE เสริมพลังอุตสาหกรรมไทย เพื่ออนาคตไทย ที่ยั่งยืน” ซึ่งเป็นงานมหกรรมด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีภาคอุตสาหกรรมไทยที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งปีที่แสดงให้เห็นถึงศักยภาพและความก้าวหน้าของภาคอุตสาหกรรมไทยที่เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ จัดโดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)  นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี ยังได้แสดงปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “จุดประกายอุตสาหกรรมไทย สร้างเศรษฐกิจใหม่ นำประเทศสู่ความยั่งยืน” ซึ่งเน้นย้ำให้ทุกภาคส่วนร่วมมือกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมไทย เพื่อนำไปสู่การปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมไทยจากอุตสาหกรรมเดิมไปสู่อุตสาหกรรมแห่งอนาคต ซึ่งเป็นเป้าหมายของประเทศ โดยต้องมีการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันทั้งภาคอุตสาหกรรม ควบคู่ไปกับการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

“การจัดงานในครั้งนี้ เป็นการจับมือองค์กรพันธมิตรชั้นนำ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความร่วมมือร่วมใจในการทำงานระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนที่มีบทบาทสำคัญในการช่วยกันขับเคลื่อนประเทศไทย เพื่อให้ประเทศไทยเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ เศรษฐกิจมีความมั่นคง ประชาชนทุกภาคส่วนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นและสร้างรายได้ให้กับประเทศ

ความร่วมมือดังกล่าว จะนำไปสู่การดำเนินงานที่เชื่อมโยงกันทั้งระบบ ตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง ไปจนถึงปลายทาง ไม่ว่าจะเป็นการผลิต การแปรรูป การใช้นวัตกรรมเข้ามาช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์และสินค้า การบริหารจัดการด้านการตลาด ตลอดจนการตอบสนองต่อกระแสด้านสิ่งแวดล้อม โดยรัฐบาลได้ให้ความสำคัญและตระหนักถึงการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนในการแก้ไขปัญหาและยกระดับต่อยอดการพัฒนาในทุกมิติ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในเวทีระดับโลก

ประเทศไทยจะกลายเป็นยานยนต์แห่งอนาคตที่สามารถขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้อย่างเต็มกำลัง ความมุ่งหมายของรัฐบาลมีสิ่งเดียว ซึ่งเหมือนกับพี่น้องประชาชนทุกคน นั่นคือ การได้เห็นบ้านเมืองเจริญก้าวหน้า ประชาชนอยู่ดีกินดี สามารถแข่งขันกับประเทศอื่นๆ ได้ และดิฉันเชื่อมั่นอย่างยิ่งว่าไทยเราทำได้อย่างแน่นอน หากเราทุกคนจับมือแล้วก้าวไปพร้อมกัน ซึ่งความร่วมมือระหว่างภาครัฐและ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย จะสามารถนำพาภาคอุตสาหกรรมไทยไปสู่การพัฒนาอย่างมั่นคงและยั่งยืน”

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ปัจจุบัน ท่ามกลางความท้าทายทางเศรษฐกิจที่ทั่วโลกกำลังเผชิญ ตอกย้ำให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคใหม่ที่มีความผันผวนและซับซ้อนมากขึ้น ภาคอุตสาหกรรมจึงต้องมีการพัฒนาและปรับตัวให้พร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ทั้งจากการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ สงครามการค้าและเทคโนโลยี ตลอดจนผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่คาดการณ์ได้ยากและมีแนวโน้มรุนแรงขึ้นทุกปี ทั้งหมดนี้ คือ ความท้าทายที่ประเทศไทยจะต้องรวมพลังกัน พลิกความท้าทายให้เป็นโอกาสในการพัฒนาประเทศ เร่งเดินหน้าปฏิรูปโครงสร้างอุตสาหกรรมสู่เศรษฐกิจยุคใหม่ ต่อยอดการพัฒนาของภาคการผลิตด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม มุ่งเน้นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการไทย ขณะเดียวกันต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาการศึกษา เพื่อสร้างกำลังคนรองรับอุตสาหกรรมแห่งอนาคต พร้อมทั้งวางยุทธศาสตร์ให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตอุตสาหกรรมในภูมิภาคนี้

เพื่อเป็นการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทย สร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนและผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ และเพื่อแสดงให้ทั่วโลกเห็นถึงศักยภาพและความก้าวหน้าของภาคอุตสาหกรรมไทย จึงทำให้การจัดงาน FTI EXPO 2025 เกิดขึ้น โดยรวมพลังความร่วมมือจากกลุ่ม 47 กลุ่มอุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรมจังหวัดทั้ง 76 จังหวัด สถาบันภายใต้การกำกับดูแลของ ส.อ.ท. หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน หน่วยงานระหว่างประเทศ และสถาบันการศึกษา ภายใต้นโยบาย ONE FTI (ONE Vision, ONE Team, ONE Goal) ในการวางรากฐานและขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมไทย รวมทั้งยกระดับ SMEs ไปสู่ Smart SMEs ด้วยแนวทาง 4GO ซึ่งประกอบด้วย GO Digital & AI, GO Innovation, GO Global และ GO Green ที่ครอบคลุมในเรื่องของดิจิทัล นวัตกรรม การขยายตลาดต่างประเทศ และการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน 

งาน FTI EXPO 2025 ในครั้งนี้ จะเป็นเวทีในการขยายช่องทางการตลาดของสินค้า บริการและนวัตกรรมฝีมือคนไทยผ่านสินค้าที่ได้รับการรับรอง Made in Thailand (MiT) ผลักดันให้เกิดการค้า การลงทุนเพื่อเชื่อมโยงสู่ตลาดสากล ซึ่งจะทำให้เกิดเงินทุนหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ และผลักดันให้เศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน

“FTI EXPO 2025 ภายใต้ธีม “EMPOWERING THAI INDUSTRY, ELEVATING THAILAND’S FUTURE เสริมพลังอุตสาหกรรมไทยเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน” จะเป็นโอกาสครั้งสำคัญสำหรับผู้ประกอบการไทยที่จะได้ขยายช่องทางการตลาดทั้งในและต่างประเทศ เชื่อมเครือข่ายธุรกิจจากทั่วโลก เปิดมุมมองใหม่ๆ กับนวัตกรรมและเทคโนโลยีล้ำสมัย แลกเปลี่ยนความรู้ที่เป็นประโยชน์กับเวทีเสวนาโดยกูรูทั้งระดับประเทศและระดับโลกที่มากด้วยคุณวุฒิและประสบการณ์ในด้านต่างๆ รวมถึงโซน FTI OUTLET ที่ให้ผู้เข้าร่วมได้มีโอกาสซื้อผลิตภัณฑ์คุณภาพจากสมาชิกของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยทั่วประเทศในราคาสุดพิเศษ ทั้งหมดจะมีพร้อมในงานนี้บนพื้นที่การจัดงานกว่า 20,000 ตารางเมตร” 

“อีกหนึ่งไฮไลต์ของงานนี้ที่พลาดไม่ได้ คือ ทุกท่านจะได้พบกับการสาธิตการบินโดรนโดยสาร (Passenger Drone) รุ่น Sliver Hawk ซึ่งเป็นโดรนโดยสารจากผู้ประกอบการไทยรายแรก ที่สร้าง Passenger Drone ได้สำเร็จ และได้รับการรับรอง MiT (Made in Thailand) โดรนโดยสาร นับเป็นเทคโนโลยีการขนส่งแห่งอนาคตที่จะขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมของประเทศไทยต่อไป และทุกท่านจะได้เห็นกันในงานนี้ เราจะมีการสาธิตการบินโดรนทุกวัน ตั้งแต่วันที่ 12-15 กุมภาพันธ์ 2568 วันละ 1 รอบ เวลา 14.00-15.00 น. ที่ลานพระสรัสวดี ประตู 2 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ และสวนเบญจกิติ” นายเกรียงไกร กล่าวทิ้งท้าย

งาน FTI EXPO 2025 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 12-15 กุมภาพันธ์ 2568 เวลา 10.00-19.00 น. ณ Hall 5-8 ชั้น LG ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยคาดว่า ปีนี้จะมีผู้เข้าร่วมชมงานไม่น้อยกว่า 70,000 ราย และสร้างโอกาสทางการค้าได้ไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท

‘พระจอมเกล้าธนบุรี’ พลิกขยะเกษตรสู่ลิกนิน นวัตกรรม!! เปลี่ยนเศรษฐกิจไทยให้ยั่งยืน

(15 ก.พ. 68) ในโลกปัจจุบันปัญหาขยะชีวมวลกำลังกลายเป็นวิกฤตสำคัญ โดยเฉพาะในประเทศไทยที่เศรษฐกิจพึ่งพาภาคการเกษตรเป็นอย่างมาก ชีวมวลจากชานอ้อย ฟางข้าว ปาล์มน้ำมัน และเศษวัสดุทางการเกษตรจำนวนมหาศาลถูกเผาทำลายหรือทิ้งไปโดยไร้ประโยชน์ ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศอย่างรุนแรง

เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวจึงเป็นที่มาของโครงการ การพัฒนากระบวนการบำบัดชีวมวล เพื่อแยกส่วนและตกตะกอนลิกนินบริสุทธิ์ เป็นผลงานวิจัยร่วมระหว่าง ศ.ดร. นวดล เหล่าศิริพจน์ อาจารย์ประจำบัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม (JGSEE) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และ ดร.ชญานนท์ โชติรสสุคนธ์ นักวิจัยกลุ่มวิจัยเทคโนโลยีไบโอรีไฟเนอรี่และชีวภาพ (IBBG) ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) 

“ชีวมวลไม่ใช่ของเสีย แต่คือทรัพยากรสำคัญที่สามารถแปรรูปให้เกิดประโยชน์สูงสุด เราต้องการสร้างความสมดุลระหว่างเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม” ศ.ดร. นวดล เหล่าศิริพจน์ ในฐานะหัวหน้าโครงการ กล่าว

ปัจจุบันชีวมวลถูกนำมาใช้ประโยชน์ในหลากหลายรูปแบบ เช่น การแปรรูปเป็นพลังงาน หรือการสกัดองค์ประกอบสำคัญอย่างเซลลูโลสเพื่อนำไปผลิตเยื่อกระดาษ อย่างไรก็ตาม ชีวมวลยังมีองค์ประกอบอื่น ๆ ที่ถูกมองข้าม หนึ่งในนั้นคือลิกนิน (Lignin) ซึ่งมีอยู่มากถึง 20% ของชีวมวล และมีศักยภาพสูงในการนำไปใช้ประโยชน์ 

“ลิกนินเป็นองค์ประกอบสำคัญในชีวมวลลิกโนเซลลูโลส มีคุณสมบัติพิเศษ เช่น การดูดกลืนรังสียูวีและการต้านอนุมูลอิสระ แต่ด้วยโครงสร้างทางเคมีที่ซับซ้อน ทำให้กระบวนการสกัดแบบเดิมต้องใช้สารเคมีที่รุนแรง ซึ่งนอกจากจะทำลายคุณสมบัติสำคัญของลิกนินแล้ว ยังทำให้ลิกนินถูกจัดเป็นของเสียที่ยากต่อการนำไปพัฒนาต่อยอด ทีมวิจัยจึงได้พัฒนากระบวนการใหม่ โดยใช้ ตัวทำละลายอินทรีย์ ที่สามารถสกัดลิกนินออกมาได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งนำตัวทำละลายกลับมาใช้ซ้ำ กระบวนการนี้เป็นระบบกึ่งไร้ของเสีย (Semi-Zero Waste) ช่วยให้ได้ลิกนินที่มีความบริสุทธิ์สูงและยังคงคุณสมบัติสำคัญไว้อย่างครบถ้วน” ดร.ชญานนท์ กล่าว

จากการวิจัยร่วมกันโดยใช้ห้องปฏิบัติการร่วมด้านพลังงานและเคมีชีวภาพ (BIOTEC-JGSEE Integrative Biorefinery Laboratory) ได้ค้นพบศักยภาพของลิกนินในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ยั่งยืนในหลากหลายอุตสาหกรรม เช่น การพัฒนาพลาสติกผสมลินินที่สามารถกันรังสียูวีได้โดยไม่ต้องพึ่งพาสารเคมี และผลิตเป็น 'กรีนแพ็กเกจจิ้ง' ด้วยการผสมลิกนินเข้ากับพลาสติกชีวภาพ เช่น PLA (พลาสติกย่อยสลายได้) และ พลาสติก Up-cyling rPET (พลาสติกทนความร้อนและยืดหยุ่นสูง) เพื่อพัฒนาบรรจุภัณฑ์ที่ทนต่อรังสียูวี ลดการเสื่อมสภาพ และตอบโจทย์ความยั่งยืน เหมาะสำหรับผลิตภัณฑ์ที่ต้องการคุณภาพและความปลอดภัยจากแสงยูวี ลิกนินยังถูกนำไปผสมในยางธรรมชาติ เพื่อเพิ่มความทนทานและลดการเสื่อมสภาพจากความชื้นและออกซิเจน ลิกนินยังสามารถแทนที่สารเคมีต้านอนุมูลอิสระได้อย่างสมบูรณ์ ทำให้เกิดยางที่มาจากธรรมชาติ 100% ซึ่งเหมาะสำหรับการผลิตยางรถยนต์และผลิตภัณฑ์ยางชนิดพิเศษต่าง ๆ นอกจากนี้ ลิกนินยังถูกใช้ในอุตสาหกรรมความงาม เป็นส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์รองพื้น (Foundation) ด้วยโทนสีน้ำตาลธรรมชาติและคุณสมบัติป้องกันรังสียูวี โดยมีค่า SPF สูงถึง 36 โดยไม่ต้องใช้สารเคมีเพิ่มเติม ทั้งยังมีศักยภาพในการต้านอนุมูลอิสระ ซึ่งอาจช่วยชะลอวัย ทีมวิจัยกำลังดำเนินการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อยืนยันผลลัพธ์ในเชิงลึก ทั้งหมดถือเป็นการนำของเหลือจากชีวมวลมาต่อยอดเป็นนวัตกรรมที่มีมูลค่าสูงได้

นอกจากการเพิ่มมูลค่าให้กับชีวมวลแล้ว ทีมวิจัยยังมุ่งมั่นลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ชีวมวลที่ถูกทิ้งหรือเผาทำลายมักปล่อยก๊าซเรือนกระจก เช่น มีเทนและคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กระบวนการแปรรูปลิกนินไม่เพียงช่วยลดการปล่อยก๊าซเหล่านี้ แต่ยังสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรจากการขายเศษเหลือการเกษตรในราคาที่สูงขึ้นด้วย

ในอนาคต ทีมวิจัยวางแผนขยายขอบเขตงานวิจัยเพื่อสนับสนุนเป้าหมาย "Zero Emission" และเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) โดยการใช้ชีวมวลให้เกิดประโยชน์สูงสุด ช่วยลดของเสีย และเพิ่มศักยภาพให้ผู้ประกอบการไทยในอุตสาหกรรมต่าง ๆ นอกจากนี้ทีมวิจัยยังเล็งเห็นว่าแนวทางนี้สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงในระดับโครงสร้างเศรษฐกิจ พร้อมทั้งสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในระยะยาว

“ลิกนินเป็นตัวอย่างของการแปรรูปชีวมวลที่ไม่ได้ช่วยแค่ลดขยะ แต่ยังสร้างโอกาสใหม่ให้กับอุตสาหกรรมไทย ทั้งด้านเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม” ศ.ดร. นวดล กล่าวทิ้งท้าย

รู้เรื่อง...ค่าไฟฟ้า (13) : การใช้ ‘NET METERING’ ไม่ได้สร้างความเป็นธรรม - เท่าเทียมให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าโดยรวม

(17 ก.พ. 68) หนึ่งในเรื่องกล่าวอ้างของ  นักวิชาการ และ NGO บางคน กับสื่อบางสำนัก ซึ่งบอกว่า “หากรัฐยอมให้มีการใช้ระบบ ‘NET METERING’” จะทำให้ประชาชนชาวไทยผู้ใช้ไฟฟ้าที่ติดตั้งโซลาร์เซลล์จ่าย ‘ค่าไฟฟ้า’ ถูกลง แต่กลับไม่ได้สร้างความเป็นธรรมและความเท่าเทียมให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าโดยรวม ข้อเท็จจริงเรื่องนี้เป็นอย่างไร ขอเล่าอธิบายในบทความนี้ 

ก่อนที่จะอธิบายขยายความเรื่องนี้ ขอบอกข้อมูลเรื่องราวของ ‘NET METERING’ ก่อน ระบบนี้เป็นการวัดไฟฟ้าแบบสุทธิ โดยระบบจะคำนวณค่าไฟฟ้าแบบหักลบหน่วยไฟฟ้าระหว่างหน่วยไฟฟ้าที่ซื้อจากการไฟฟ้าฯ กับหน่วยไฟฟ้าที่ผลิตได้เองจากโซลาร์เซลล์ โดยนำจำนวนหน่วยไฟฟ้าที่ใช้ ลบออกจากจำนวนไฟฟ้าที่ผลิตได้เอง เครดิตหรือหน่วยเก็บสะสมไฟฟ้าที่ผลิตได้เกินจึงอยู่ในรูปแบบของ “หน่วยไฟฟ้า” โดยสามารถหักกลบลบหน่วยได้ทันที ซึ่งทำให้ไฟฟ้าที่ผลิตได้แม้ว่าจะไม่ได้ใช้งาน ณ เวลานั้น มูลค่าของไฟฟ้าก็ยังจะมีค่าเทียบเท่ากับราคาไฟฟ้าที่ซื้อจากการไฟฟ้าฯ จึงเป็นระบบที่ช่วยให้ผู้ใช้ไฟฟ้าที่ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม สามารถส่งไฟฟ้าที่ผลิตเกินความต้องการของตนเองเข้าสู่ระบบไฟฟ้าสาธารณะ และแลกเป็นเครดิตหรือส่วนลดค่าไฟฟ้าในรอบบิลถัดไป ระบบหักลบกลบหน่วยไฟฟ้าที่ใช้ตามจริงจากการผลิตไฟฟ้าที่ได้จากโซลาร์เซลล์หักลบกับไฟที่ใช้จากการไฟฟ้าฯ ซึ่งผู้ใช้ไฟจะจ่ายค่าไฟตามจำนวนหน่วยไฟฟ้าที่หักลบกันแล้ว

หลักการทำงานของ ‘NET METERING’
1.ผู้ใช้ไฟฟ้าติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน เช่น แผงโซลาร์เซลล์
2.เมื่อระบบผลิตไฟฟ้ามากกว่าที่ใช้ ไฟฟ้าส่วนเกินจะถูกส่งเข้าสู่ระบบไฟฟ้าสาธารณะ
3.มิเตอร์ไฟฟ้าแบบสุทธิจะวัดปริมาณไฟฟ้าที่ส่งเข้าและออกจากระบบ
4.ผู้ใช้ไฟฟ้าจะได้รับเครดิตหรือส่วนลดค่าไฟฟ้าตามปริมาณไฟฟ้าที่ส่งเข้าระบบ

ข้อดีของ ‘NET METERING’
1.ประหยัดค่าไฟฟ้า ผู้ใช้ไฟฟ้าสามารถลดค่าไฟฟ้าได้ โดยเฉพาะในช่วงที่มีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนมากกว่าที่ใช้
2.ส่งเสริมพลังงานหมุนเวียน Net Metering ช่วยกระตุ้นให้ผู้ใช้ไฟฟ้าหันมาใช้พลังงานหมุนเวียนมากขึ้น

ข้อจำกัดของ Net Metering
1.อาจมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม ผู้ใช้ไฟฟ้าอาจต้องจ่ายค่าติดตั้งมิเตอร์ไฟฟ้าแบบสุทธิ และค่าธรรมเนียมการเชื่อมต่อระบบ
2.มีข้อจำกัดด้านปริมาณไฟฟ้า ผู้ใช้ไฟฟ้าอาจไม่สามารถส่งไฟฟ้าเข้าระบบได้เกินกว่าปริมาณที่ใช้   
3.นโยบาย ‘NET METERING’ ยังไม่มีความชัดเจนและแน่นอน อาจเปลี่ยนแปลงได้ในอนาคต

การที่ผู้ใช้ไฟฟ้าที่ผลิตไฟฟ้าจาก ‘พลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy)’ แล้วขายส่วนเกินให้กับการไฟฟ้าฯ นั้น สร้างประโยชน์แต่เฉพาะ ‘กลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าที่ผลิตไฟฟ้าจาก ‘พลังงานหมุนเวียน’ เท่านั้น ทั้งนี้เพราะในเวลากลางวันของประเทศไทยความต้องการใช้ไฟฟ้าไม่ใช่ช่วงเวลาที่ต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดของแต่ละวันแต่อย่างใด โดยช่วงเวลาที่ต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (Peak time) ของแต่ละวันนั้นจะอยู่ที่ช่วงเวลา 18.30 - 21.30 น. แต่เฉพาะฤดูร้อนช่วงดือนมีนาคม - พฤษภาคม ของทุกปี เนื่องมาจากสภาวะอากาศที่ร้อนจัด ทำให้กลางวันช่วงเวลาที่ต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (Peak time) จะอยู่ที่ช่วงเวลา 13.00 – 15.00 น. 

ดังที่ได้เล่าใน “รู้เรื่อง...ค่าไฟฟ้า (12) : จริงหรือ? ที่ ‘ค่าไฟฟ้าแพง’ เพราะผลิตไฟฟ้าจาก ‘พลังงานหมุนเวียน’ น้อยไป” แล้วว่า “ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนใช้ โดยเฉพาะโซลาร์เซลล์ได้เฉพาะเวลากลางวันเท่านั้น หากจะเก็บกักไว้ใช้ในเวลากลางคืนต้องลงทุนระบบแบตเตอรี่ ในปัจจุบันเทคโนโลยีแบตเตอรี่ขนาดใหญ่นั้นยังไม่สามารถตอบสนองต่อความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจได้ และเมื่อเทียบกับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานฟอสซิล เพราะไฟฟ้าจากแหล่งหมุนเวียนเมื่อผลิตแล้วต้องนำมาใช้เลย ดังนั้น “การใช้ ‘NET METERING’” จึงไม่ได้แก้ปัญหา ‘ค่าไฟฟ้าแพง’ เลย แทนที่ ‘กลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าที่ผลิตไฟฟ้าจาก ‘โซลาร์เซลล์’ จะใช้ระบบนี้ ควรจะลงทุนในระบบแบตเตอรี่เพื่อเก็บกัก ‘ไฟฟ้า’ ในเวลาที่ ‘โซลาร์เซลล์’ ไม่ทำงาน น่าจะเป็นประโยชน์มากกว่า ทั้งนี้มีนักวิชาการ และ NGO บางคน กับสื่อบางสำนัก ซึ่งได้ให้ข้อมูลกับสังคมว่า “การใช้ ‘NET METERING’” นั้น การไฟฟ้าฯ สามารถเก็บพลังไฟฟ้าจาก ‘ผู้ใช้ไฟฟ้าที่ผลิตไฟฟ้าจาก ‘โซลาร์เซลล์’ ในระบบสายส่งไฟฟ้าได้ ซึ่งไม่ได้เป็นความจริงเลย เพราะการเก็บกัก ‘พลังงานไฟฟ้า’ สามารถทำได้ด้วยการเก็บพลังไฟฟ้าด้วยแบตเตอรี่เท่านั้น 

สำหรับ ระบบส่ง/ระบบจำหน่าย/ระบบค้าปลีก (Transmission/Distribution/Retail) สามารถนำระบบกักเก็บพลังงานมาให้บริการเสริมความมั่นคงในโครงข่ายไฟฟ้า (Ancillary Services) และการบริการด้านระบบโครงข่ายไฟฟ้า (T&D Services) ในรูปแบบดังต่อไปนี้เท่านั้น
-Fast Frequency Response : การรักษาความถี่ของระบบไฟฟ้า
-Primary & Secondary Reserve : การใช้งานเป็นกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองปฐมภูมิ และทุติยภูมิ
-Operation Reserve : การใช้งานเป็นกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองด้านปฏิบัติการ
-Transmission & Distribution Investment Deferral : การเลื่อน/ลด ความจำเป็นในการลงทุนขยายระบบส่งและระบบจำหน่ายไฟฟ้า
-Transmission Congestion Relief : การลดข้อจำกัดในระบบส่งไฟฟ้า
-Voltage Support : การควบคุมแรงดันไฟฟ้า
*ข้อมูลจาก สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน

ซึ่งเทคโนโลยีของไทยในปัจจุบันยังไม่ปรากฏว่า ‘ระบบส่ง/ระบบจำหน่าย/ระบบค้าปลีก’ สามารถเก็บกัก ‘พลังงานไฟฟ้า’ ได้เช่นเดียวกับแบตเตอรี่แต่อย่างใด นอกจากนั้นการซื้อ-ขายไฟฟ้าไม่สามารถทำได้ด้วยระบบหักลบกลบหน่วยไฟฟ้าที่ใช้ตามจริงจากการผลิตไฟฟ้าที่ได้จากโซลาร์เซลล์หักลบกับไฟฟ้าที่ใช้จากการไฟฟ้าฯ ซึ่งผู้ใช้ไฟจะจ่ายค่าไฟฟ้าในยอดตามจำนวนหน่วยไฟฟ้าที่หักลบกันแล้ว ทั้งนี้เป็นเพราะการซื้อและการขายไฟฟ้าจะต้องมีการชำระภาษีซื้อและภาษีขายตามกฎหมายและระเบียบปฏิบัติของกรมสรรพากร กระทรวงการคลัง

‘คงกระพัน’ ติดท็อป 100 ซีอีโอชั้นนำของโลก ด้าน ปตท.ครองอันดับแบรนด์มูลค่าสูงสุดไทย

‘คงกระพัน’ ติดอันดับ 1 ใน 100 ซีอีโอชั้นนำของโลก และ ปตท. เป็นบริษัทเดียวในไทยที่ติดอันดับมูลค่าแบรนด์สูงสุดใน Brand Finance Global 500 ปี 2568

(17 ก.พ. 68) ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.)  ได้รับการจัดอันดับที่ 66 จาก 100 CEO ชั้นนำของโลก และอยู่ในอันดับที่ 4 ของผู้นำในกลุ่มธุรกิจน้ำมันและก๊าซ ที่ส่งเสริมการสร้างมูลค่าแบรนด์องค์กรจาก Brand Guardianship Index 2025 โดย Brand Finance ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาด้านกลยุทธ์และการประเมินมูลค่าแบรนด์ชั้นนำของโลก โดยได้รับคะแนน 76.4 จาก 100 คะแนน ในดัชนี Brand Guardianship Index  ผลการจัดอันดับสะท้อนถึงคุณลักษณะที่สำคัญของ CEO ในด้านต่างๆ ได้แก่ 1) ใส่ใจพนักงานอย่างแท้จริง 2) เป็นแรงบันดาลใจในการสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวก 3) มีความน่าเชื่อถือ 4) เข้าใจความต้องการของลูกค้า 5) เป็นผู้นำด้านความยั่งยืน 6) มุ่งเน้นคุณค่าในระยะยาว 7) มีกลยุทธ์และวิสัยทัศน์ที่ชัดเจน 8) เข้าใจความสำคัญของแบรนด์และชื่อเสียงองค์กร และ 9) มีไหวพริบทางธุรกิจ

นอกจากนี้ CEO ปตท.  ยังได้รับการจัดอันดับเป็นที่ 2 ของโลกด้านการรับรู้เรื่องความยั่งยืน ตามผลสำรวจจากกลุ่มตัวอย่างประมาณ 5,000 คน ในกว่า 30 ประเทศ ซึ่งเป็นเครื่องยืนยันถึงความมุ่งมั่นในการเป็นผู้นำที่บริหารธุรกิจอย่างยั่งยืนในระดับโลก  

โดยในปีนี้ ปตท. ยังคงได้รับการจัดอันดับให้เป็นบริษัทเดียวในประเทศไทยที่ติดหนึ่งใน 500 แบรนด์แรกของโลกที่มีมูลค่าแบรนด์องค์กรสูงสุด โดยอยู่ในอันดับที่ 249 สูงขึ้นจากอันดับ 267  ในปี 2567 ที่ผ่านมา นอกจากนี้ ยังได้รับการประเมินมูลค่าแบรนด์สูงกว่าเก้าพันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเติบโตกว่าร้อยละ 11 ซึ่งมีเกณฑ์ในการพิจารณา อาทิ ผลการดำเนินงาน ความแข็งแกร่งของแบรนด์ และความยึดมั่นในแบรนด์ที่ตอกย้ำการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนในทุกมิติ 

Mr. Alex Haigh, Managing Director – Asia Pacific of Brand Finance กล่าวว่า ดร.คงกระพัน แสดงให้เห็นถึงวิสัยทัศน์ และการขับเคลื่อนแบรนด์ด้วยเป้าหมายที่ชัดเจน โดยความมุ่งมั่นในการสร้างคุณค่าระยะยาว การพัฒนาอย่างยั่งยืน และความเป็นเลิศทางธุรกิจ มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการผลักดันให้ ปตท. เป็นแบรนด์ไทยเพียงหนึ่งเดียวที่ติดอันดับ Brand Finance Global 500 และมีชื่อเสียงระดับสากลในการขับเคลื่อนนวัตกรรมและการพัฒนาอย่างยั่งยืนในภาคพลังงาน

ดร.คงกระพัน กล่าวเพิ่มเติมว่า การได้รับการจัดอันดับบริษัทที่มีมูลค่าแบรนด์สูงสุดของโลกเป็นผลเนื่องมาจากพันธกิจขององค์กรที่ชัดเจนในการมุ่งมั่นรักษาเสถียรภาพและความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศ พร้อมขับเคลื่อนธุรกิจให้เติบโตอย่างต่อเนื่องบนหลัก “ความยั่งยืนอย่างสมดุล” ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม รวมถึงการกำกับดูแลกิจการที่ดี ภายใต้วิสัยทัศน์ “ปตท. แข็งแรงร่วมกับสังคมไทยและเติบโตในระดับโลกอย่างยั่งยืน” ตลอดจนการสนับสนุนจากคนไทยทุกภาคส่วนที่ให้ความเชื่อมั่นในการดำเนินงานของ ปตท.

นอกเหนือไปจากการดูแลรักษาเสถียรภาพทางด้านพลังงานแล้ว ปตท. ยังคงดูแลสังคม เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทย และพร้อมช่วยเหลือประเทศชาติในยามที่เกิดภาวะวิกฤติ และดูแลผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่มอย่างสมดุล ทั้งนี้ เพื่อเติบโตและมุ่งสู่การเป็นขององค์กรในระดับโลกอย่างยั่งยืน และสร้างมูลค่าแบรนด์ที่แข็งแกร่งยกระดับขีดความสามารถขององค์กรสู่ระดับสากล

EA ถูกจัดอันดับอยู่ในกลุ่มบริษัท Top 10% ของโลก ตอบโจทย์ด้านความยั่งยืน ESG กลุ่มพลังงานไฟฟ้า

(17 ก.พ. 68) - บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หนึ่งในธุรกิจพลังงานทดแทนชั้นนำของประเทศ ประกาศในวันนี้ว่า บริษัทถูกจัดอันดับให้อยู่ในกลุ่มบริษัท 10% ที่ดีที่สุดของโลกจากการประเมินด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการ (ESG) ในกลุ่มสาธารณูปโภคไฟฟ้าในปี 2568  จาก S&P Global Corporate Sustainability Assessment องค์กรชั้นนำด้านการประเมิน ESG ผู้จัดทำดัชนี Dow Jones Sustainability Indices (DJSI) โดยมีผู้เข้ารับการประเมิน 7,690 บริษัทจาก 62 อุตสาหกรรมทั่วโลก 

นายฉัตรพล ศรีประทุม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “การได้รับความยอมรับในครั้งนี้ แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้าของ EA ในเรื่องความเป็นเลิศทางด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลหรือธรรมาภิบาล (ESG) ตอกย้ำจุดยืนของ EA ในฐานะผู้นำในธุรกิจพลังงานสะอาด ซึ่งทั้งหมดนี้ยืนยันถึงเจตนารมณ์ของบริษัทที่มุ่งสร้างสรรค์พลังงานสะอาดและการดำเนินธุรกิจอย่างมีจริยธรรม”

นายฉัตรพลกว่าเพิ่มเติมว่า "เราภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่ได้รับการยอมรับให้เป็นหนึ่งในบริษัทระดับท๊อปของโลกในเรื่องของความยั่งยืน และเป็นเพียงหนึ่งใน 2 บริษัทจากประเทศไทยที่คว้ารางวัลในกลุ่มสาธารณูปโภคไฟฟ้า รางวัลนี้ไม่ได้เป็นเพียงความภาคภูมิใจของเราเท่านั้น แต่ยังเป็นความภูมิใจของประเทศที่แสดงถึงศักยภาพของคนไทยที่ก้าวขึ้นเป็นผู้นำด้านความยั่งยืนในระดับโลก เราจะยังคงเดินหน้าในการพัฒนาแหล่งพลังงานทดแทนและการพัฒนาอย่างยั่งยืนโดยจะมุ่งมั่นและยึดถือเป็นค่านิยมหลักของบริษัทต่อไป"

ในฐานะผู้นำนวัตกรรมพลังงานสะอาด EA เดินหน้าผลักดันการใช้พลังงานทดแทน ยานยนต์ไฟฟ้า และเทคโนโลยี Battery Energy Storage System เพื่อขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงของโลกไปสู่อนาคตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (low-carbon) โดยบริษัทมีการดำเนินโครงการพลังงานแสงอาทิตย์และลมขนาดใหญ่ การติดตั้งระบบจัดเก็บพลังงานแบตเตอรี่ และการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งล้วนมีบทบาทสำคัญในการสร้างโลกที่ยั่งยืนและมีใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ

ด้วยความมุ่งมั่นภายใต้แนวคิด “Energy Absolute, Energy for the Future” EA จะยังคงเป็นผู้นำนวัตกรรมที่ยั่งยืนเพื่อส่งเสริมความมั่นคงทางพลังงานของประเทศไทยและการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระดับโลกต่อไป

การดำเนินงานของกลุ่มบริษัทฯ EA ครอบคลุมตั้งแต่การผลิตเชื้อเพลิงจากแหล่งพลังงานหมุนเวียน เช่น เชื้อเพลิงชีวภาพ การผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน เช่น โรงไฟฟ้าพลังงานลม, โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ การจัดหาผลิตภัณฑ์ และระบบที่ใช้ในการกักเก็บและจำหน่ายไฟฟ้า เช่น ธุรกิจพัฒนาและผลิตแบตเตอรี่ ธุรกิจสถานีชาร์จยานยนต์ไฟฟ้า และรวมถึงธุรกิจประกอบยานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ เช่น รถบรรทุกไฟฟ้า รสบัสไฟฟ้า และเรือไฟฟ้า

‘เอกนัฏ’ ล่องใต้ ดันวิสาหกิจชุมชนสู่ Soft Power หนุนผู้ประกอบการร่วมสร้างอุตสาหกรรมยั่งยืน

“เอกนัฏ” ล่องใต้ สุราษฎร์-สงขลา ดันวิสาหกิจชุมชนสู่ Soft Power หนุนผู้ประกอบการ สร้างความยั่งยืนให้ภาคอุตสาหกรรมไทย

(18 ก.พ. 68) นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมด้วย นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม คณะผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม ลงพื้นที่ตรวจราชการและประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่1/2568 ณ จังหวัดสุราษฎร์ธานีและจังหวัดสงขลา ระหว่างวันที่ 16-18 กุมภาพันธ์ 2568 เพื่อติดตามการส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการในพื้นที่  

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า คณะฯ ได้ลงตรวจเยี่ยมสถานประกอบการในจังหวัดสุราษฎร์ธานี จำนวน 2 แห่ง ได้แก่ 1) กลุ่มวิสาหกิจชุมชนหัตถกรรมจักสานกระจูดบ้านห้วยลึก ตั้งอยู่ที่ ต.ท่าสะท้อน อ.พุนพิน จ.สุราษฎร์ธานี ผู้ประกอบการผลิตสินค้าหัตถกรรมจักสานจากต้นกระจูดด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่น และเป็นสินค้า OTOP ของจังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้รับคัดสรรเป็นสินค้าหัตถกรรมคุณภาพ และได้รับมาตรฐานสินค้า OTOP ระดับประเทศ มีผลิตภัณฑ์ เช่น เสื่อ ตะกร้า กระเป๋าจากกระจูด ซึ่งปัจจุบันกลุ่มฯ ได้พัฒนารูปแบบของสินค้าหัตถกรรมให้มีความหลากหลาย ทันสมัย และพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้เป็นไปตามสมัยนิยม เช่น กระเป๋าเดินทางแบบมีล้อ กระเป๋าแฟชั่นแบบตัดเย็บ กระเป๋าเอกสาร หมอน แฟ้มเอกสาร ปกเมนูร้านอาหาร กล่องบรรจุภัณฑ์ 

แผ่นรองจาน เป็นต้น กระทรวงอุตสาหกรรมโดยศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 10 (ศภ.10) กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมเข้ามาให้การสนับสนุน ด้านการจัดหลักสูตรฝึกอบรมการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ และการนำเครื่องรีดเส้นกระจูดไปประยุกต์ใช้กับกิจการ รวมถึงการแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมของพื้นที่แหล่งวัตถุดิบที่ได้รับผลกระทบจากคุณภาพน้ำ พร้อมทั้งส่งเสริมการปลูกพืชกระจูด เพื่อเพิ่มปริมาณวัตถุดิบ รวมถึงสร้างเครือข่ายแหล่งวัตถุดิบในการรองรับคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้น 

แห่งที่ 2 ลงพื้นที่บริษัท ซีพีแรม จำกัด (สุราษฎร์ธานี) ตั้งอยู่ที่ ต.เขาหัวควาย อ.พุนพิน จ.สุราษฎร์ธานี ผู้ดำเนินการผลิตและจัดจำหน่ายอาหารพร้อมรับประทาน และเบเกอรี่อบสด ที่มีหน่วยงานวิจัยและพัฒนาเป็นของตนเอง โดยผลิตภัณฑ์หลัก ประกอบด้วย 2 กลุ่ม ได้แก่ 1. กลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารพร้อมรับประทาน แช่เยือกแข็งและแช่เย็น ผ่านกรรมวิธีเพื่อคงคุณภาพความสดใหม่และคุณค่าทางอาหาร โดยส่งออกและจำหน่ายในประเทศ 2. กลุ่มผลิตภัณฑ์เบเกอรี่ ที่ผ่านการควบคุม ตั้งแต่การวิจัยพัฒนาคัดสรรสูตร และคัดเลือกส่วนผสม มีกรรมวิธีการผลิตที่ควบคุมคุณภาพทุกขั้นตอน ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมได้เข้ามาเป็นพี่เลี้ยงในการยกระดับสถานประกอบการจนได้รับรางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น ประเภทการเพิ่มผลผลิต ประจำปี พ.ศ. 2567 และได้รับการสนับสนุนจากสถาบันอาหาร (สอห.) ในการพัฒนามาตรฐานโรงคัดบรรจุผักที่ได้มาตรฐาน อย. ในส่วนของกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) สนับสนุนเรื่องการส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากกากอุตสาหกรรม และเข้าร่วมกิจกรรมการส่งเสริมการประยุกต์ใช้เทคนิคการบริหารจัดการโลจิสติกส์ของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ด้วย 

“พื้นที่ภาคใต้ฝั่งอ่าวไทยนับเป็นอีกหนึ่งพื้นที่เศรษฐกิจที่สำคัญ ซึ่งการลงพื้นที่พบปะผู้ประกอบการตั้งแต่วิสาหกิจชุมชนที่มีการผลิตสินค้าท้องถิ่นที่เป็นเอกลักษณ์ และมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เหมาะกับสมัยนิยมเป็นที่สนใจของคนไทยและชาวต่างชาติ ซึ่งสามารถผลักดันให้เป็น Soft Power ได้ จนถึงผู้ประกอบการโรงงานก็เป็นส่วนสำคัญที่ใช้วัตถุดิบการผลิตจากในพื้นที่และจังหวัดใกล้เคียง อีกทั้งยังเกิดการจ้างงาน และการหมุนเวียนการใช้จ่ายในชุมชนรอบโรงงาน สอดคล้องกับความมุ่งมั่นของกระทรวงอุตสาหกรรมในการพัฒนาเศรษฐกิจ ส่งเสริมผู้ประกอบการและดูแลสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับภาคอุตสาหกรรมไทย” รัฐมนตรีฯ เอกนัฏ กล่าวทิ้งท้าย 

ทั้งนี้คณะรัฐมนตรีจะร่วมประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่1/2568 ณ ห้องคอนเวนชั่น ฮอลล์ ศูนย์การประชุมนานาชาติ ฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ต.คอหงส์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2568 

รู้เรื่อง...ค่าไฟฟ้า (14) : ก่อนจะมาเป็นค่า Ft อะไรคือสาเหตุที่แท้จริงของ ‘ค่าไฟฟ้าแพง’

หลังจาก TST ได้อธิบายถึงข้อกล่าวอ้างของนักวิชาการและ NGO บางคน กับสื่อบางสำนักไปหลายตอนแล้ว ซึ่งคนเหล่านั้นได้บอกถึงสาเหตุต่าง ๆ ของ ‘ค่าไฟฟ้าแพง’ ไปมากมายแล้ว (แต่ไม่ได้ให้ข้อมูลที่ครบถ้วน สมบูรณ์ และครอบคลุมในทุกมิติ) อาทิ “โครงสร้างอุตสาหกรรมไฟฟ้าในประเทศไทยเป็นโครงสร้างกิจการไฟฟ้ารูปแบบ ‘กิจการไฟฟ้าที่มีผู้รับซื้อไฟฟ้าเพียงรายเดียวโดยรัฐ’ จึงทำให้ ‘โครงสร้างค่าไฟฟ้าไม่มีความเป็นธรรม’ หรือ “การปล่อยให้การผลิตไฟฟ้าไปอยู่ในมือของภาคเอกชนเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ” หรือ “การมี ‘ไฟฟ้าสำรอง’ มากจนเกินความต้องการ จนทำให้ ‘ค่าความพร้อมจ่าย’ สูงมาก” หรือ “การผลิตและใช้ไฟฟ้าจาก ‘พลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy)’ ยังน้อยไป” ฯลฯ และได้เคยอธิบายไปแล้วว่า สาเหตุเหล่านี้ไม่ได้เป็นสาเหตุหลักที่แท้จริงของ ‘ค่าไฟฟ้าแพง’ เลย

แล้ว อะไรคือสาเหตุที่แท้จริงของ ‘ค่าไฟฟ้าแพง’ เมื่อพิจารณาในรายละเอียดส่วนต่าง ๆ ของการเรียกเก็บและวิธีการคิดคำนวณค่าไฟฟ้าที่เรียกเก็บจากผู้ใช้ไฟฟ้าในแต่ละเดือน ซึ่งประกอบด้วย 4 ส่วน คือ (1) ‘ค่าไฟฟ้าฐาน’ ที่คิดจากต้นทุนในการผลิตไฟฟ้า (2) ‘ค่าบริการ’ ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่ กฟน. และ กฟภ. เรียกเก็บจากผู้ใช้ไฟฟ้าเพื่อเป็นต้นทุนสำหรับค่าบริการผู้ใช้ไฟฟ้า (3) ‘ค่า Ft’ (Float time) หรือค่าไฟฟ้าผันแปร ซึ่งเป็นค่าไฟฟ้าที่ปรับเปลี่ยนเพิ่มขึ้นหรือลดลงตามการเปลี่ยนแปลงของต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านเชื้อเพลิงและค่าซื้อไฟฟ้าซึ่งอยู่นอกเหนือการควบคุมของการไฟฟ้า และ (4) ‘ภาษีมูลค่าเพิ่ม’ ที่คำนวณจาก (ค่าไฟฟ้าฐาน + ค่า Ft + ค่าบริการ) x 7% แล้ว จะพบว่าส่วนที่ส่งผลทำให้ “ค่าไฟฟ้าแพง” มากที่สุด คือ (3) ‘ค่า Ft’ เพราะอัตราจะแปรเปลี่ยนไปตามต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านเชื้อเพลิง ซึ่งปัจจุบันเชื้อเพลิงที่ถูกนำมาเป็นพลังงานในการผลิตไฟฟ้ามากที่สุดคือ ‘LNG’    

ณ เดือนธันวาคม พ.ศ. 2567 ประเทศไทยผลิตไฟฟ้าจากการใช้ก๊าซธรรมชาติสูงถึง 61.33% โดยก๊าซธรรมชาติที่นำมาใช้ในการผลิตไฟฟ้ามา จาก 3 แหล่ง คือ (1) ก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทย (Gulf Gas) ราว 63.5% (2) ก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ซึ่งมาจากการนำเข้า (เริ่มนำเข้ามาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554) ราว 20.5% (3) ก๊าซธรรมชาตินำเข้าจากเมียนมา ราว 16% สัญญาซื้อขาย 30 ปี ซึ่งจะครบสัญญาในปี พ.ศ. 2571 และ 2574 ตามลำดับ ประเทศไทยใช้ราคาก๊าซธรรมชาติจากระบบ Pool Gas ที่ประกอบด้วยก๊าซทั้ง 3 แหล่ง ซึ่งจำหน่ายให้แก่โรงไฟฟ้าของ กฟผ. ผู้ผลิตไฟฟ้าอิสระ ผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก และผู้ใช้ก๊าซอื่น ๆ ประกอบด้วยก๊าซจากอ่าวไทยที่เหลือจากการจ่ายให้โรงแยกก๊าซ ก๊าซจากสหภาพพม่า (แหล่งยาดานาและแหล่งเยตากุน) ก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) และก๊าซจากแหล่งอื่นๆ ในอนาคต  ในระยะแรก สัดส่วนการใช้ก๊าซธรรมชาติผลิตไฟฟ้าเป็นก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยมากที่สุด ราว 70-80%  อีกส่วนหนึ่งเป็นการนำเข้าจากเมียนมา รวม 20% โดยที่ช่วงเวลานั้น ราคาก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยอยู่ที่เพียง 5-6 ดอลลาร์สหรัฐต่อล้านบีทียู จนกระทั่งปี พ.ศ. 2565 มีการใช้ก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยลดลงเหลือ 62% 

ปริมาณการนำก๊าซเข้าเพิ่มขึ้นเป็น 38% ในจำนวนนี้เป็น LNG ถึง 22% เนื่องจากการผลิตก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยซึ่งเดิมผลิตได้ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ลดลงเหลือ 200 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันเท่านั้น หลังจากที่แหล่งปิโตรเลียมกลางอ่าวไทย "เอราวัณ-บงกช" หมดอายุสัมปทานลงวันที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2565 รัฐบาลได้ปรับเปลี่ยนเป็นระบบแบ่งปันผลผลิต (PSC) ที่รัฐเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการการซื้อขายก๊าซธรรมชาติและผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่ผลิตได้จากแหล่งก๊าซฯ นี้ อย่างใกล้ชิด และแบ่งปันผลกำไรระหว่างกัน โดยรัฐบาลได้ไปเปิดประมูลยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทย "เอราวัณ-บงกช" ซึ่งบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ‘ปตท.สผ.’ เป็นผู้ได้รับสิทธิ์ในระบบ PSC ต่อจากเชฟรอนในวันที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2565 แต่มีข้อสังเกตว่า ปัจจุบันนี้ ‘ปตท.สผ.’ สามารถปรับปรุงกำลังการผลิตก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยกลับมาสู่จุดเดิมที่ผลิตได้ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ได้แล้วหรือยัง?

ทั้งนี้ ก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทย นอกจากจะใช้ในการผลิตไฟฟ้าแล้วยังถูกส่งไปใช้ในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีด้วยราคา Gulf Gas ซึ่งถูกกว่าราคา Pool Gas ขณะที่ไทยต้องนำเข้า LNG มากขึ้น แต่ราคาของ LNG ก็ขยับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะตั้งแต่เกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครนในปี พ.ศ. 2565 เป็นต้นมา กอปรกับค่าเงินบาทอ่อนตัว ดังนั้น ยิ่งก๊าซ LNG ที่นำเข้ามีราคาสูงก็จะทำให้ค่าไฟฟ้ายิ่งสูงขึ้นตามไปด้วย นอกจากนี้แล้ว ‘ค่า Ft’ ยังต้องผูกพันและรับผิดชอบภาระการจ่ายเพิ่มเติมจากปัจจัยด้านค่าเงินบาทและราคาต้นทุนเชื้อเพลิงพลังงานที่อยู่ใน ‘ค่าความพร้อมจ่าย’ อีกด้วย (เฉพาะในส่วนที่มีการผลิตโดยที่รับผลกระทบจากค่าเงินบาทที่อ่อนตัวและราคาต้นทุนเชื้อเพลิงพลังงานที่สูงเกินกว่าที่ได้กำหนดไว้ในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) ที่ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนทำไว้กับ กฟผ. เท่านั้น) 

ล่าสุด (15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2568) พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน มองเห็นทางออกในอีกมุมว่า “การปรับลดค่าไฟสามารถทำได้จากการบริหารจัดการเชื้อเพลิง เพราะปัจจุบัน ประเทศไทยใช้เชื้อเพลิงในการผลิตไฟอยู่ 3 แหล่งใหญ่ ๆ คือ อ่าวไทย เมียนมา และจากต่างประเทศ โดยเฉพาะตะวันออกกลางที่นำเข้ามาเป็นก๊าซธรรมชาติเหลว หรือ LNG ซึ่งมีราคาแพง และอิงราคาตลาดโลกที่ผันผวนตลอดเวลา” รองฯ พีระพันธุ์ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า “แต่ถ้าหากสามารถปรับพอร์ต Pool Gas ให้เป็นสัดส่วนชัดเจน ระหว่างการนำไปใช้ผลิตไฟฟ้าและการนำไปใช้ในอุตสาหกรรม ก็น่าจะทำให้ค่าไฟลดลงได้อีกถึงเกือบ 40 สตางค์ โดยตนจะเร่งดำเนินการอย่างเต็มที่เพื่อให้ทันค่าไฟงวดต่อไป” ซึ่งเป็นการตอบและเริ่มต้นในการจัดการแก้ไขคำถามที่ว่า “เหตุใดคนไทยจึงไม่สามารถใช้ราคาก๊าซจากอ่าวไทย (Gulf Gas) มาคำนวณต้นทุนผลิตไฟฟ้า ทั้งที่ก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยมีราคาถูกกว่า ทั้งยังเป็นทรัพยากรของคนไทยทุกคน ถ้านำราคา Gulf Gas และ Pool Gas มาเปรียบเทียบเพื่อให้เห็นส่วนต่างจะพบว่า หากสามารถใช้ราคา Gulf Gas ในการผลิตไฟฟ้าในแต่ละปี จะสามารถประหยัดค่าก๊าซธรรมชาติที่นำมาใช้ทำไฟฟ้าได้เป็นจำนวนมาก ซึ่งจะทำให้ค่าไฟฟ้าถูกลงอย่างแน่นอน” การนำก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยมาเป็นพลังงานในการผลิตกระแสไฟฟ้า จะเป็นหลักการเช่นเดียวกับการขุดแร่ลิไนต์ของ กฟผ. ที่เหมืองแม่เมาะ จังหวัดลำปาง เพื่อนำมาใช้เป็นพลังงานให้โรงไฟฟ้าแม่เมาะเพื่อใช้การผลิตกระแสไฟฟ้านั่นเอง 


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top