Saturday, 22 March 2025
GoodsVoice

บีโอไอ ไฟเขียวเครือ AWC ลงทุน 1,200 ล้านบาท ผุด ‘Jurassic World’ แห่งแรกในอาเซียน กระตุ้นท่องเที่ยวไทย

บีโอไอ อนุมัติส่งเสริมลงทุน โครงการ 'Jurassic World: The Experience' แห่งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มูลค่ากว่า 1,200 ล้านบาท บนพื้นที่กว่า 4,000 ตารางเมตร แหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ ใจกลางกรุงเทพฯ ปั้นเป็นแลนด์มาร์กระดับโลก สนับสนุนภาคท่องเที่ยวไทย เผยยอดส่งเสริมลงทุนกิจการกลุ่มท่องเที่ยวในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา กว่า 200 โครงการ มูลค่าลงทุนกว่า 2 แสนล้านบาท

(5 ก.พ. 68) นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า คณะอนุกรรมการพิจารณาโครงการ ซึ่งได้รับมอบอำนาจจากบอร์ดบีโอไอ ได้อนุมัติคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนโครงการสร้างแหล่งท่องเที่ยวขนาดใหญ่ 'Jurassic World: The Experience' ของบริษัท แอสเสท เวิรด์ แอทแทรคชั่น แอนด์ รีเทล จำกัด บริษัทในเครือของบริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ AWC ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของไทยที่มุ่งเน้นตอบสนองไลฟ์สไตล์แบบครบวงจร โดยโครงการนี้มีมูลค่าการลงทุนกว่า 1,200 ล้านบาท บนพื้นที่ 4,000 ตารางเมตร ตั้งอยู่ในโครงการ เอเชียทีค เดอะ ริเวอร์ฟร้อนท์ เดสติเนชั่น ศูนย์กลางการท่องเที่ยวเชิงไลฟ์สไตล์ริมแม่น้ำเจ้าพระยา และแหล่งท่องเที่ยวชื่อดังที่ได้รับความนิยมจากกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างชาติ โดยบริษัทจะพัฒนาสถานที่ท่องเที่ยวดังกล่าวให้เป็นแลนด์มาร์กใหม่ของกรุงเทพฯ และประเทศไทย

โครงการดังกล่าวถือเป็นการลงทุนสร้างศูนย์กลางการท่องเที่ยวและความบันเทิงระดับโลกโดยบริษัทอสังหาริมทรัพย์ของไทย ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจมาจากแฟรนไชส์ภาพยนตร์ชื่อดัง 'Jurassic World' จาก Universal Pictures และ Amblin Entertainment ที่ได้รับความนิยมทั่วโลก มีการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการสร้างไดโนเสาร์แอนิมาทรอนิกส์ที่มีการเคลื่อนไหวเสมือนจริง โดยใช้นวัตกรรมการออกแบบ 3 มิติ และใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ควบคุมการเคลื่อนไหว เพื่อให้ได้รับประสบการณ์ที่สมจริงมากที่สุด ซึ่งจะช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวโดยเฉพาะแฟนคลับคนรักไดโนเสาร์ที่มีอยู่ทั่วโลก โดยโครงการนี้ถือเป็นประสบการณ์ความบันเทิงรูปแบบอิมเมอร์ซีฟที่ยิ่งใหญ่ระดับโลก และเป็นแห่งแรกของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

“ภาคการท่องเที่ยว ถือเป็นเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและนำเงินเข้าสู่ประเทศไทย โดยปีที่ผ่านมามีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยมากกว่า 35 ล้านคน สร้างรายได้เข้าประเทศกว่า 1.67 ล้านล้านบาท ในการส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นฮับการท่องเที่ยวของภูมิภาค เราจำเป็นต้องเดินหน้าพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการท่องเที่ยวให้พร้อม ทั้งด้านบุคลากร คุณภาพของการบริการ โครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล การจัดกิจกรรมนานาชาติหรืออีเวนต์ขนาดใหญ่ การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ รวมทั้งการสร้างแหล่งท่องเที่ยวแบบ Man-made ที่จะเป็นแลนด์มาร์กแห่งใหม่ของประเทศ” นายนฤตม์ กล่าว

ทั้งนี้ ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ. 2558 – 2567) บีโอไอได้ส่งเสริมลงทุนกิจการในกลุ่มอุตสาหกรรม การท่องเที่ยวจำนวน 209 โครงการ มูลค่าการลงทุนรวมกว่า 2 แสนล้านบาท ครอบคลุมทั้งกิจการโรงแรม ศูนย์ประชุมขนาดใหญ่ การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวขนาดใหญ่ ศูนย์แสดงศิลปวัฒนธรรมไทย กิจการมหกรรม ดนตรี กีฬา และเทศกาลนานาชาติ รวมทั้งกิจการสวนสนุก

รู้จัก ‘บ้านผีเสื้อ’ แห่งเชียงใหม่ ต้นแบบบ้านพลังงานสะอาด บ้านพักอาศัยแห่งแรกของโลกที่ผลิตไฟฟ้าใช้เอง 100%

บ้านพักอาศัยแห่งแรกของโลกที่สามารถผลิตไฟฟ้าด้วยตัวเอง 100% โดยไม่เสียค่าไฟฟ้า พลังงานไฮโดรเจนสีเขียว จะกลายเป็นส่วนสำคัญของการเปลี่ยนผ่านทางพลังงานในอนาคต

(29 ม.ค. 68) บ้านผีเสื้อ จังหวัดเชียงใหม่ บ้านพักอาศัยแห่งแรกของโลกที่ใช้พลังงาน Green Hydrogen  ซึ่งเป็นโครงการที่บุกเบิกการพัฒนาที่อยู่อาศัยอย่างยั่งยืน และแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของพลังงานไฮโดรเจนในการสนับสนุนเป้าหมายของประเทศไทยในการมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ เนื่องในโอกาสครบรอบ 10 ปี โครงการได้จัดการประชุม Hydrogen Summit 2025 เพื่อเป็นเวทีที่รวบรวมผู้นำและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในอุตสาหกรรมไฮโดรเจนจากทั่วโลก มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์ แลกเปลี่ยนความคิดเห็น และนำเสนอแนวทางในการส่งเสริมเศรษฐกิจไฮโดรเจนทั้งในประเทศไทยและในระดับนานาชาติ

ประเทศไทยมีข้อผูกพันในการบรรลุเป้าหมายระยะยาวเพื่อเข้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2050 นอกจากนี้ สถานการณ์ทางภูมิรัฐศาสตร์ การเกิดภัยธรรมชาติที่รุนแรงขึ้น และความเร่งด่วนในการรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทำให้มีความจำเป็นในการสร้างความยืดหยุ่นทางพลังงาน เนื่องจากหลายประเทศได้หันไปใช้แหล่งพลังงานอื่น ๆ เพื่อ ลดการพึ่งพาพลังงานฟอสซิล โครงการบ้านผีเสื้อได้พิสูจน์ถึงแนวทางที่สามารถนำไปใช้ในระดับบุคคล ชุมชน และประเทศในการใช้ประโยชน์จากไฮโดรเจนเพื่อแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมและบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ พร้อมทั้งช่วยสร้างความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของประเทศอีกด้วย

บ้านผีเสื้อ เป็นโครงการที่ไม่เหมือนใครในโลก โดยเป็นบ้านพักอาศัยบนพื้นที่ 18 ไร่ ที่พึ่งพาตนเอง 100% จากพลังงานแสงอาทิตย์ โดยใช้เทคโนโลยีอิเล็กโทรไลเซอร์ไฮโดรเจนที่ทันสมัยในการแปลงน้ำเป็นไฮโดรเจน เพื่อผลิต จัดเก็บ และใช้ไฮโดรเจนเป็นพลังงาน วิธีการที่เป็นนวัตกรรมนี้ช่วยให้บ้านสามารถผลิตพลังงานเองได้ทั้งหมดโดยไม่ต้องพึ่งพาโครงข่ายไฟฟ้า นอกจากนี้ ยังรักษาการปล่อยก๊าซเป็นศูนย์ และแสดงให้เห็นถึงโอกาสที่เป็นไปได้ในการพัฒนาที่อยู่อาศัยในประเทศไทยในอนาคต

“บ้านผีเสื้อ เป็นตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมของการบูรณาการเทคโนโลยีอย่างยั่งยืน เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมการอยู่อาศัยที่มีคาร์บอนเป็นศูนย์อย่างแท้จริง” นายเซบาสเตียน-ยุสตุส ชมิดท์ เจ้าของบ้านผีเสื้อและผู้ก่อตั้ง Enapter กล่าวว่า “ด้วยการใช้พลังงานแสงอาทิตย์และการเก็บไฮโดรเจน เราได้แสดงให้เห็นถึงโมเดลที่สามารถมีส่วนสำคัญต่อเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย”

บ้านผีเสื้อ เป็นศูนย์กลางของโครงการที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อ 10 ปีก่อน โดยมีบทบาทในการช่วยลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ด้วยการใช้แหล่งพลังงานหมุนเวียนธรรมชาติที่ไม่ก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม นายชมิดต์กล่าวว่า "ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา บ้านผีเสื้อได้ใช้พลังงานหมุนเวียน 100% โดยไม่พึ่งพากระแสไฟฟ้า ซึ่งพิสูจน์ถึงการใช้งานได้จริงและความยั่งยืนของบ้าน นอกจากนี้ สภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปส่งผลให้แนวโน้มการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล เช่น ถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ และไฮโดรเจนจะกลายเป็นส่วนสำคัญของการเปลี่ยนผ่านทางพลังงานในอนาคต"

โครงการบ้านผีเสื้อ สอดคล้องกับความมุ่งมั่นของประเทศไทยในการบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2065 คุณสมบัติหลักของบ้านผีเสื้อที่มีส่วนสนับสนุนเป้าหมายเหล่านี้ ได้แก่:

•ระบบพลังงานไฮบริดพลังงานแสงอาทิตย์-ไฮโดรเจน: ระบบพลังงานแบบออฟกริดนี้ใช้ประโยชน์จากพลังงานแสงอาทิตย์อย่างเต็มที่ เพื่อนำมาขับเคลื่อนบ้านด้วยพลังงานสะอาดตลอด 24 ชั่วโมง แม้ในช่วงที่ไม่มีแสงแดด ระบบนี้ช่วยให้มีการจ่ายพลังงานอย่างต่อเนื่องและเสถียร โดยลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลและไม่ปล่อยคาร์บอน นอกจากนี้ บ้านผีเสื้อยังเป็นตัวอย่างการใช้งานจริงในการบูรณาการเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียนที่ทันสมัยสำหรับการอยู่อาศัยอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจให้กับโครงการที่คล้ายกันในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และทั่วโลก

ระบบพลังงานแสงอาทิตย์ไฮโดรเจนที่บ้านผีเสื้อ เป็นโซลูชันพลังงานที่เป็นนวัตกรรม ซึ่งออกแบบมาเพื่อแสดงให้เห็นถึงการใช้ชีวิตแบบออฟกริดได้อย่างยั่งยืน โดยการบูรณาการแผงพลังงานแสงอาทิตย์เข้ากับระบบเก็บพลังงานแบบไฮโดรเจน เพื่อให้มีอิสรภาพด้านพลังงานตลอดทั้งปี

ระบบนี้ประกอบด้วยแผงโซลาร์เซลล์ขนาด 140 กิโลวัตต์ (kWp) ซึ่งผลิตกระแสไฟฟ้าในช่วงกลางวันเพื่อใช้ในบ้านและตอบสนองความต้องการพลังงานในทันที ขณะที่พลังงานแสงอาทิตย์ส่วนเกินจะถูกนำมาผลิตไฮโดรเจนผ่านอิเล็กโทรไลเซอร์ขนาด 20 kW ที่ทำการแยกน้ำออกเป็นไฮโดรเจนและออกซิเจน ไฮโดรเจนจะถูกเก็บในรูปแบบก๊าซที่แรงดัน 35 บาร์ ในถังจะเก็บไฮโดรเจนได้สูงสุด 42 กิโลกรัม ซึ่งสามารถจ่ายพลังงานให้กับบ้านได้ประมาณ 600 กิโลวัตต์-ชั่วโมง (kWh)

ในเวลากลางคืนหรือช่วงที่มีแสงแดดน้อย ไฮโดรเจนที่เก็บไว้จะถูกแปลงกลับเป็นกระแสไฟฟ้าโดยใช้ระบบเซลล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจน (Fuel Cell) ขนาด 8 กิโลวัตต์ เมื่อไฮโดรเจนรวมกับออกซิเจน จะเป็นไฟฟ้ากับน้ำ ซึ่งไม่ส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม ทำให้มั่นใจได้ว่ามีการใช้พลังงานที่สะอาดและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างสมบูรณ์ นอกจากนี้ ระบบภายในบ้านผีเสื้อยังมีแบตเตอรี่ขนาด 384 กิโลวัตต์ชั่วโมง (kWh) ซึ่งเมื่อทั้ง ไฮโดรเจนและแบตเตอรี่ใช้ร่วมกันจะสามารถกักเก็บพลังงานเพื่อใช้งานอย่างน้อย 7 วัน ในฤดูที่มีแดดน้อยและมีเมฆมากเป็นเวลานาน

•การออกแบบที่ประหยัดพลังงาน: บ้านผีเสื้อ ใช้เทคนิคการทำความเย็นแบบพาสซีฟ รวมถึงการประสานฉนวนที่เหมาะสมและอุปกรณ์ที่ใช้พลังงานต่ำที่สุด การออกแบบสถาปัตยกรรมแบบเปิดกว้างช่วยให้ใช้ประโยชน์จากแสงธรรมชาติได้อย่างเต็มที่ นอกจากนี้ การก่อสร้างและโครงสร้างของบ้านยังใช้วัสดุที่ยั่งยืนกว่าร้อยละ 98 ที่มาจากในประเทศ เช่น บล็อกคอนกรีตอัดไอน้ำและหน้าต่างชั้นคู่ที่มีฉนวน

•ระบบการจัดการน้ำ: ระบบการชลประทานที่ซับซ้อนของบ้านนี้กักเก็บและบำบัดน้ำฝน เพื่อลดการพึ่งพาแหล่งน้ำจากภายนอก โดยน้ำจะถูกนำไปใช้ในการทำสวนและนาข้าว ซึ่งมีการปลูกพืชผักและผลไม้ท้องถิ่นที่เติบโตตามฤดูกาล นอกจากนี้ยังช่วยลดความจำเป็นในการใช้แหล่งอาหารจากภายนอกที่มักมีการปล่อยมลพิษจากการขนส่ง ส่งเสริมความมั่นคงด้านอาหารและลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกโดยรวมของครัวเรือน

บ้านผีเสื้อไม่เพียงแต่เป็นเครื่องยืนยันถึงนวัตกรรมทางเทคโนโลยี แต่ยังทำหน้าที่เป็นแพลตฟอร์มการศึกษา ที่ช่วยเพิ่มความตระหนักเกี่ยวกับการใช้ชีวิตอย่างยั่งยืน รวมถึงกระตุ้นการวิจัยและพัฒนามากขึ้น ความสำเร็จอย่างต่อเนื่องของโครงการนี้ทำให้ประเทศไทยกลายเป็นผู้นำในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และในระดับโลกในการใช้โซลูชันพลังงานสะอาดและสร้างอนาคตที่ยั่งยืน

‘เอกนัฏ’ สั่งทลายโกดังสินค้า ไร้ มอก. ยึดของกลางกว่า 11 ล. หลังพบยังขายเกลื่อนออนไลน์ ทั้งที่เคยเกมแล้วแต่ไม่เข็ด

‘เอกนัฏ’ ส่ง ‘ทีมสุดซอย’ ทลายโกดังสินค้าไร้คุณภาพไม่มีมาตรฐาน มอก. พบขายเกลื่อนแพลตฟอร์มออนไลน์ ยึดของกลางกว่า 11.8 ล้านบาท ห่วง ปชช. ซื้อไปใช้เกิดอันตรายร้ายแรง วอน ปชช.ช่วยชี้เป้า 'แจ้งอุต' พร้อมลุยปราบทันที 'ฐิติภัสร์' เร่งสาวถึงต้นตอชี้ลักลอบนำเข้ามาขายถูกทุ่มตลาด เตือนแพลตฟอร์มออนไลน์-โมเดิร์นเทรด ปล่อยขายมีความผิดฐานมีส่วนร่วม โฆษณา-จำหน่ายสินค้าเถื่อน

(5 ก.พ.68) นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ชุดตรวจการสุดซอยกระทรวงอุตสาหกรรม นำโดย น.ส.ฐิติภัสร์ โชติเดชาชัยนันต์ หัวหน้าคณะทำงาน รมว.อุตสาหกรรม และนายเอกนิติ รมยานนท์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมด้วยสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) และเจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจภูธรบางปู (สภ.บางปู) จ.สมุทรปราการ เข้าตรวจสอบคลังสินค้าขนาดใหญ่   ของ บริษัท วินไทย เทรดดิ้ง จำกัด ตั้งอยู่ใน ต.แพรกษา อ.เมือง จ.สมุทรปราการ หลังตรวจพบการโฆษณาขายสินค้าไม่มีเครื่องหมายมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) ผ่านช่องแพลตฟอร์มออนไลน์ชื่อดัง จนสามารถขยายผลไปถึงคลังสินค้าดังกล่าวและตรวจยึดสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐาน มอก. หลายรายการ อาทิ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์, พาวเวอร์แบงค์, อะแดปเตอร์, ไดร์เป่าผม, หม้อหุงข้าว, หม้ออบลมร้อน, ของเล่น, หมวกกันน็อก และภาชนะพลาสติก เป็นต้น รวมมูลค่ากว่า 11.8 ล้านบาท

“สินค้าที่ตรวจยึดได้ทั้งหมดเป็นสินค้าที่ สมอ. ควบคุมต้องได้รับการรับรองมาตรฐาน มอก. และต้องมีการแสดงเครื่องหมาย มอก. จึงจำหน่ายได้แต่มีการลักลอบนำเข้ามาจำหน่ายออนไลน์ในราคาถูก จึงมีความผิดและหากประชาชนพบเห็นการขายสินค้าออนไลน์ที่ไม่มีเครื่องหมาย มอก. ขอให้ช่วยกันแจ้งเรื่องร้องเรียนผ่านแพลตฟอร์ม 'แจ้งอุต' หรือไลน์ไอดี 'traffyfondue' เลือกไปยัง 'แจ้งอุต' โดยเมื่อได้รับแจ้งกระทรวงอุตสาหกรรมจะส่งทีมสุดซอยลงดำเนินการทันที” นายเอกนัฏ ระบุ น.ส.ฐิติภัสร์ กล่าวเสริมว่า เชื่อว่าการลักลอบจำหน่ายสินค้าไม่มีคุณภาพ ลักลอบนำเข้าสินค้าควบคุมที่ไม่มี มอก. มาหลอกขายประชาชนในราคาถูก เช่นนี้ต้องทำเป็นขบวนการ เบื้องต้นได้ทำการยึดอายัดสินค้าที่ไม่มี มอก.ทั้งหมด ตามมาตรการปราบปรามสินค้าไม่ได้มาตรฐาน เพื่อป้องกันอันตรายร้ายแรงที่อาจเกิดกับประชาชนผู้บริโภค ไม่ว่าจะเป็นไฟช็อต หรือไฟไหม้จากเครื่องใช้ไฟฟ้า รวมถึงสารปนเปื้อนในของเล่น และภาชนะพลาสติก นอกจากนี้ขบวนการนี้ยังมีพฤติกรรมทุ่มตลาดที่นำเข้าสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานลักลอบจำหน่ายในราคาถูก ซึ่งเป็นการเอารัดเอาเปรียบผู้ประกอบการไทยที่ผลิตและจำหน่ายสินค้าที่ได้มาตรฐาน และปฏิบัติตามกฎหมายอย่างถูกต้องด้วย

น.ส.ฐิติภัสร์ เปิดเผยเพิ่มเติมว่า สำหรับ บริษัท วินไทย เทรดดิ้ง จำกัด แห่งนี้เคยถูกตรวจสอบและยึดอายัดสินค้าไม่ได้มาตรฐานมาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อวันที่ 14 ม.ค.68 แต่ก็ถูกขยายผลจากผู้ค้าในแพลตฟอร์มออนไลน์ เมื่อเข้าตรวจสอบอีกครั้งของกลางที่ส่วนใหญ่เป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ไม่มีมาตรฐานหายไปจำนวนมาก และแถบป้ายยึดอายัดของ สมอ.ถูกรื้อออก ซึ่งเป็นความผิดทางอาญาร้ายแรง จึงได้ประสานอุตสาหกรรมจังหวัด (สอจ.) สมุทรปราการและตำรวจ สภ.บางปู สั่งหยุดการบรรจุและส่งสินค้า พร้อมยึดอายัดสินค้าที่ไม่มี มอก. ในคลังสินค้าไว้ทั้งหมด โดย บริษัท วินไทย เทรดดิ้ง จำกัด ได้จดทะเบียนนิติบุคคลเมื่อวันที่ 21 พ.ค.64 ระบุชื่อ นายตง เริ่น สัญชาติจีน เป็นกรรมการบริษัท โดยบริษัทฯ ทำหน้าที่เป็นทั้งคลังเก็บสินค้าและ เป็นผู้จำหน่ายเองด้วย จึงมีความผิดฐานจำหน่ายสินค้าไม่ได้มาตรฐาน มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 5 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ความผิดฐานทำลายของกลาง มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 6 พันบาท และความผิดฐานทำลายแถบป้ายยึดอายัด มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 4 พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 

“หลังจากนี้จะทำการขยายผลไปถึงต้นตอว่า สินค้าที่ยึดอายัดเป็นของผู้นำเข้ารายใด โดย สมอ. จะดำเนินคดีอาญากับผู้นำเข้ารายนั้นอย่างถึงที่สุด ซึ่งบทลงโทษสำหรับผู้นำเข้าสินค้าไม่ได้มาตรฐาน มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 2 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนแพลตฟอร์มออนไลน์และเจ้าของโกดัง ที่ให้เช่าก็ถือว่ามีความผิดด้วยในฐานะผู้โฆษณา และ ร่วมจำหน่ายสินค้าไม่ได้มาตรฐาน มีโทษจำคุกไม่เกิน  6 เดือน ปรับไม่เกิน 5 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” น.ส.ฐิติภัสร์ ระบุ

น.ส.ฐิติภัสร์ กล่าวในช่วงท้ายด้วยว่า ขอความร่วมมือผู้ให้บริการแพลตฟอร์มออนไลน์ รวมไปถึงโมเดิร์นเทรดและคลังสินค้า ตรวจสินค้าที่เข้าสู่ระบบของตนเองอย่างเข้มงวด หากพบว่ามีการจัดจำหน่ายสินค้าไม่ได้มาตรฐานกระทรวงอุตสาหกรรมก็จำเป็นต้องดำเนินคดีอย่างถึงที่สุดเช่นกัน

บอร์ด ปณท. ไฟเขียวต่อสัญญาจ้าง ‘ดนันท์’ นั่งเก้าอี้ MD ไปรษณีย์ไทย ต่ออีก 4 ปี

คณะกรรมการ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด มีมติต่อสัญญาจ้าง 'ดร.ดนันท์ สุภัทรพันธุ์' ให้ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ต่ออีก 4 ปี  

เมื่อวันที่  (4 ก.พ. 68) ที่ประชุมคณะกรรมการ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด วันที่ 31 มกราคม 2568 มีมติให้ต่อสัญญาจ้าง ดร.ดนันท์ สุภัทรพันธุ์ ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่  บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด อีกวาระหนึ่ง นับตั้งแต่วันที่ 17 พฤษภาคม 2568 ถึงวันที่ 16 พฤษภาคม 2572  

การต่อสัญญาจ้างฯ ในครั้งนี้ จะทำให้การขับเคลื่อนนโยบายและโครงการต่างๆ เป็นไปอย่างต่อเนื่องพร้อมยกระดับคุณภาพบริการนำพา 'ธุรกิจไปรษณีย์ไทย' ให้สามารถแข่งขันได้ในยุคการแข่งขันที่รุนแรง ของอุตสาหกรรมขนส่งและโลจิสติกส์

รู้เรื่อง...ค่าไฟฟ้า (7) : ‘ไฟฟ้าสำรอง’ ปริมาณ เหตุผล และความจำเป็น

จากตอนที่แล้ว “รู้เรื่อง...ค่าไฟฟ้า (6) : ‘ไฟฟ้าสำรอง’ จำเป็นหรือไม่...ส่งผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าอย่างไร???” ได้เล่าถึง ‘การสำรองไฟฟ้า’ ในประเทศต่าง ๆ เพื่อให้การใช้ไฟฟ้ามีความเสถียร และเป็นการลดความเสี่ยงเพื่อให้เกิดความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้า สำหรับประเทศไทย ณ วันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2567 กระทรวงพลังงาน โดยนายวีรพัฒน์ เกียรติเฟื่องฟู รองปลัดกระทรวงพลังงาน ปฏิบัติหน้าที่โฆษกกระทรวงพลังงาน ได้เปิดเผยว่า ตามที่ได้มีการเผยแพร่ข่าวเกี่ยวกับกำลังการผลิตไฟฟ้าสำรองของประเทศไทยที่สูงถึง 50% นั้น ขอเรียนชี้แจงว่า กำลังการผลิตไฟฟ้าของไทยในปัจจุบันอยู่ที่ 25.5% เท่านั้น ซึ่งการคำนวณกำลังการผลิตไฟฟ้าจะต้องคำนวณจากการผลิตไฟฟ้าที่สามารถผลิตได้จริง ซึ่งไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานทดแทน อาทิ พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานชีวมวล กลุ่มนี้ไม่สามารถพึ่งพาได้ตลอด 24 ชั่วโมง เนื่องจากปัจจัยช่วงเวลา ฤดูกาล จึงไม่สามารถนำมาคำนวณเป็นกำลังการผลิตไฟฟ้าสำรองที่แท้จริงได้ 

ทั้งนี้ กำลังการผลิตไฟฟ้าสำรองในช่วง 2 – 3 ปีที่ผ่านมา อาจจะสูงซึ่งเป็นผลมาจากสถานการณ์โควิด จึงทำให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญ แต่การสร้างโรงไฟฟ้าต้องใช้เวลาค่อนข้างนาน จึงทำให้กำลังการผลิตไฟฟ้าอาจจะไม่มีความสอดคล้องในช่วงระยะเวลาดังกล่าว แต่ในปัจจุบันหลังจากสถานการณ์โควิดเริ่มคลี่คลาย ความต้องการใช้ไฟฟ้ากลับมาอยู่ในเกณฑ์ปกติ ทำให้กำลังผลิตไฟฟ้าสำรองจึงไม่ได้สูงถึง 50% ตามที่มีการเผยแพร่ ด้าน  Peak Demand หรือความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดของระบบทั้ง 3 การไฟฟ้า (กฟผ. กฟน. และ กฟภ.) ในปี พ.ศ. 2567 เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2567 เวลา 22.24 น. อยู่ที่ 36,792 เมกะวัตต์ ในระยะหลังการเกิด Peak จะเป็นช่วงกลางคืนซึ่งต่างจากในอดีต แสดงให้เห็นถึงพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าของประชาชนเปลี่ยนไป ทั้งนี้ การใช้ไฟฟ้าในช่วงดังกล่าว กำลังการผลิตไฟฟ้าที่พึ่งพาประมาณ 46,191 เมกะวัตต์ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า กำลังการผลิตไฟฟ้าสำรองที่แท้จริงนั้นเพียง 25.5% เท่านั้น

เหตุผลหนึ่งที่ต้องมี ‘การสำรองไฟฟ้า’ ซึ่งเป็นเรื่องที่ผู้คนต่างไม่ได้คาดคิดหรือนึกถึงมาก่อน และไม่มีการหยิบยกมาพูดเล่า บอกกล่าว อธิบายเลย นั่นก็คือ การผลิตไฟฟ้าจาก “พลังงานทดแทน (Alternative Energy) หรือ พลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy)” ตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (Alternative Energy Development Plan : AEDP2015) ที่ใช้ระหว่างปี พ.ศ. 2558-2579 โดยบูรณาการร่วมกับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP) ซึ่งในแผน PDP ฉบับล่าสุด กำหนดว่า จะต้องมีการส่งเสริมให้มีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน ในสัดส่วน 20% ในปี พ.ศ. 2579 แต่หากคิดรวมในภาพรวมทั้งที่ใช้ผลิตเป็นไฟฟ้า ความร้อน และเชื้อเพลิงในภาคขนส่ง การส่งเสริมพลังงานทดแทนตามแผน AEDP2015 จะมีสัดส่วน 30% ของการใช้พลังงานขั้นสุดท้ายในปี พ.ศ. 2579

โดยที่การผลิตไฟฟ้าจาก “พลังงานทดแทน หรือ พลังงานหมุนเวียน” ไม่ว่าจะเป็นจาก ‘พลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Energy)’ หรือ ‘พลังงานลม (Wind Energy)’ แต่พลังงานทั้งสองแบบนี้ไม่สามารถควบคุมความสม่ำเสมอของการผลิตไฟฟ้า กรณีพลังงานแสงอาทิตย์ มาจากสภาพอากาศและดวงอาทิตย์ไม่ได้ส่องแสงตลอดเวลา แม้ว่า บ้านเราจะอยู่ในเขตภูมิอากาศร้อน แต่ความสามารถในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ทำได้เพียง 6-8 ชั่วโมงต่อวันเท่านั้น ถ้าไม่มีแบตเตอรี่เพื่อเก็บกักให้เพียงพอต่อการใช้พลังงานไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่องแล้ว ต้องมีกำลังการผลิตกระแสไฟฟ้าให้เพียงพอต่อ 16-18 ชั่วโมงที่ไม่มีพลังงานแสงอาทิตย์ด้วย และหากความเข้มของพลังงานแสงอาทิตย์นั้นอาจไม่สูง และมีความต้องการพลังงานไฟฟ้าในปริมาณมาก จึงจำเป็นต้องใช้แผงเซลล์แสงอาทิตย์และพื้นที่ติดตั้งที่มากตามไปด้วย ในกรณีของพลังงานลมก็เช่นกัน ลมในประเทศไทยมีความเร็วค่อนข้างต่ำ อีกทั้งความแรงของลมขึ้นอยู่กับสภาวะอากาศ ในบางฤดูอาจไม่มีลมเลยก็เป็นไปได้ จึงยากที่จะควบคุมความสม่ำเสมอได้

ดังนั้นเพื่อคง ‘ความสม่ำเสมอของพลังงานไฟฟ้า (Uniformity of Electric Energy)’ รัฐจึงต้องจัดให้มีกระแสไฟฟ้าสำรองไว้เป็นจำนวนมากเพื่อให้พลังงานไฟฟ้าเพียงพอต่อการใช้ไฟฟ้าในภาพรวมของประเทศ ด้วยประสบการณ์การเกิด Blackout (เหตุการณ์ไฟฟ้าดับเป็นวงกว้าง) ในวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2556 เกิดเหตุการณ์ไฟฟ้าดับกินพื้นที่ 14 จังหวัดของภาคใต้ ได้แก่ ชุมพร, ระนอง, นครศรีธรรมราช, สุราษฎร์ธานี, พัทลุง, พังงา, กระบี่, ภูเก็ต, ตรัง, สตูล, สงขลา, ปัตตานี, ยะลา และนราธิวาส มาแล้ว โดยภาคอุตสาหกรรมได้ประเมินความเสียหายในครั้งนั้นว่า ไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านบาท โดยเฉพาะอุตสาหกรรมห้องเย็น แปรรูปประมง แปรรูปยางพารา ที่ได้รับความเสียหายจากการที่เครื่องจักรหยุดทำงานกะทันหัน ซึ่งอุตสาหกรรมการผลิตถุงมือยาง-ถุงยางอนามัย ได้รับความเสียหายค่อนข้างมาก เพราะส่วนใหญ่เป็นการผลิต 24 ชั่วโมง เรื่องนี้จึงทำให้แนวคิดของการสำรองกระแสไฟฟ้าแบบ ‘เหลือดีกว่าขาด’ จึงถูกนำมาใช้ในบ้านเราจนทุกวันนี้ และอีกหนึ่งประเด็นสำคัญอีกคือ การถูกคัดค้านการสร้างเขื่อนโดย NGO ก็เป็นส่วนหนึ่งซึ่งทำให้ไม่สามารถผลิตไฟฟ้าเพิ่มเติม/ทดแทนจากพลังงานน้ำ (Water Energy) ได้ โดยการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานน้ำมีความสม่ำเสมอของพลังงานไฟฟ้ามากกว่าพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม

พลังงานไฟฟ้าในปัจจุบัน ถือว่าเป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิตของมนุษย์ในยุคนี้แล้ว เพราะนอกจากฤดูร้อนที่จำเป็นต้องเปิดเครื่องปรับอากาศนานกว่าปกติแล้ว ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลก็ต้องประสบภัยจากฝุ่น PM2.5 ทำให้ต้องเปิดเครื่องปรับอากาศนานทั้งวัน และยังต้องใช้เครื่องฟอกอากาศอีกด้วย กว่าปกติแล้ว ดังนั้น ความมั่นคงทางพลังงานไฟฟ้าของประเทศจึงจำเป็นต้องมีการเตรียมผลิตไฟฟ้าสำรองในปริมาณที่เหมาะสม ซึ่งต้องมี ‘ค่าพร้อมจ่าย (Availability Payment หรือ ค่า AP)’ เป็นค่าความพร้อมเดินเครื่องเพื่อจ่ายไฟฟ้า เพื่อให้พลังงานไฟฟ้ามีความเสถียร สม่ำเสมอ แน่นอน เช่นทุกวันนี้ 

‘พีระพันธุ์’ เดินหน้าตั้งกรรมการยกร่างกฎหมายส่งเสริมปาล์มน้ำมัน พร้อมเร่งรัดการทำงานเตรียมรับมือเลิกชดเชยไบโอดีเซล ปี 69

(6 ก.พ. 68) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้เปิดเผยว่า วานนี้(5 กุมภาพันธ์ 2568) ได้มีการจัดประชุมคณะกรรมการยกร่างกฎหมายส่งเสริมอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มเป็นครั้งแรก ตามที่ตนได้เคยกล่าวไปก่อนหน้านี้ว่าจะมีการตั้งคณะกรรมการชุดดังกล่าวขึ้น แต่เนื่องจากมีการเสนอกฎหมายในทำนองเดียวกันจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จึงต้องมีการมอบหมายให้ผู้เกี่ยวข้องทำการศึกษากฎหมายฉบับดังกล่าวเสียก่อนว่าสามารถบรรลุวัตถุประสงค์ตามกฎหมายที่จะยกร่างหรือไม่ จึงทำให้เวลาล่วงเลยไประยะหนึ่ง 

บทสรุปในวันนี้คือทางเราจะเร่งเดินหน้ายกร่างกฎหมายฉบับนี้ขึ้นโดยมีนายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี เป็นประธานคณะกรรมการในการยกร่างกฎหมายส่งเสริมอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม ซึ่งตนได้มอบนโยบายให้เร่งดำเนินการ และเพื่อให้เกิดความรวดเร็วยิ่งขึ้นในการทำงาน จะมีการตั้งคณะทำงานเพื่อยกร่างกฎหมายอีก 1 คณะ เพื่อให้การยกร่างกฎหมายฉบับนี้เป็นไปอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว 

ตนเชื่อว่ากฎหมายฉบับนี้จะช่วยทําให้พี่น้องเกษตรกรชาวสวนปาล์มมีหลักประกันในการประกอบอาชีพ พร้อมทั้งสร้างความเป็นธรรมในด้านรายได้ และจะทําให้วงจรของการนําน้ำมันปาล์มไปผลิตเป็นสินค้า หรือว่าเพิ่มมูลค่าเป็นระบบและครบวงจร 

สำหรับรูปแบบของร่างกฎหมายฉบับนี้จะนำรูปแบบของพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 ที่ส่งเสริมพี่น้องเกษตรกรชาวไร่อ้อยมาปรับใช้ โดยกฎหมายอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มก็จะออกมาในทำนองเดียวกัน

นอกจากนี้ใน พ.ศ. 2569 ที่จะถึงนี้ เงินจากกองทุนน้ำมันที่ต้องไปสนับสนุน ตรึงราคาน้ำมันปาล์มจากการที่เอาน้ำมันปาล์มผสมกับน้ำมันดีเซลจะถูกหยุดลง เป็นเหตุผลสำคัญประการหนึ่งที่ต้องรีบเตรียมการเพื่อให้พี่น้องเกษตรกรชาวสวนปาล์มมีตลาดเพิ่มมากขึ้น หลังจากการลดการสนับสนุนให้ผสมกับน้ำมันดีเซลของกองทุนน้ำมัน ซึ่งหากไม่มีการเตรียมการจะเกิดปัญหาต่อไป

ดังนั้นตนพร้อมทั้งกระทรวงพลังงาน รวมถึงกระทรวงอุตสาหกรรมซึ่งนำโดยนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ ก็ได้ช่วยกันเตรียมความพร้อมเพื่อแก้ไขปัญหาและรองรับกับสถานการณ์ใน พ.ศ. 2569 ตนเชื่อว่าการเตรียมการนี้จะแก้ไขปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นให้ลุล่วงไปด้วยดี 

รู้เรื่อง...ค่าไฟฟ้า (9) : จริงหรือ? ที่ กฟผ. รับซื้อไฟฟ้าเพียงรายเดียว สาเหตุสำคัญทำให้ ‘ค่าไฟฟ้า’ แพง

‘ค่าไฟฟ้าแพง’ ปัญหาที่กลายเป็นโจทย์ใหญ่ซึ่งยากแก่การแก้ไขของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องมายาวนานจนกระทั่งทุกวันนี้ ตลอดเวลาที่ผ่านมาสังคมไทยมักจะรับเอาแต่ข้อมูลต่าง ๆ จากนักวิชาการ NGO และสื่อบางสำนัก เพียงด้านเดียว ซึ่งกล่าวถึงสาเหตุของ ‘ค่าไฟฟ้าแพง’ ไว้อย่างมากมาย (แต่เป็นสาเหตุที่บอกเล่าข้อมูลโดยไม่ครบถ้วน สมบูรณ์ และทุกมิติ) อาทิ “โครงสร้างอุตสาหกรรมไฟฟ้าในประเทศไทยเป็นโครงสร้างกิจการไฟฟ้ารูปแบบ ‘กิจการไฟฟ้าที่มีผู้รับซื้อไฟฟ้าเพียงรายเดียว (Enhanced Single Buyer Model (ESB))’ ซึ่งรัฐเป็นผู้รับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเพียงรายเดียว” จึงทำให้ ‘โครงสร้างค่าไฟฟ้าไม่มีความเป็นธรรม’ หรือ “การปล่อยให้การผลิตไฟฟ้าไปอยู่ในมือของภาคเอกชนเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ” หรือ “การมี ‘ไฟฟ้าสำรอง’ มากจนเกินความต้องการ จนทำให้ ‘ค่าความพร้อมจ่าย (Availability Payment หรือ ค่า AP)’ “อันเป็นต้นทุนค่าก่อสร้างโรงไฟฟ้าที่การไฟฟ้าฯ จ่ายให้กับโรงไฟฟ้าเอกชนเป็นค่าความพร้อมในการเดินเครื่องเพื่อจ่ายไฟฟ้า ไม่ว่าโรงไฟฟ้าจะผลิตหรือไม่ ก็ตาม สูงมาก” หรือ “การผลิตและใช้ไฟฟ้าจาก ‘พลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy)’ ยังน้อยไป” ฯลฯ ซึ่ง TST จะได้อธิบายถึงข้อเท็จจริงถึงสาเหตุของ ‘ค่าไฟฟ้าแพง’ ที่ได้มีการหยิบยกมากล่าวอ้างพอเป็นสังเขป

จริงหรือ? ที่ โครงสร้างกิจการไฟฟ้ารูปแบบ ‘กิจการไฟฟ้าที่มีผู้รับซื้อไฟฟ้าเพียงรายเดียว’ จึงทำให้ ‘โครงสร้างค่าไฟฟ้าไม่มีความเป็นธรรม’ แน่นอนที่สุดว่า การซื้อ-ขายไฟฟ้าของประเทศไทยนั้นผูกขาดโดยรัฐ ‘กฟผ.’ ซื้อ-ขายไฟฟ้า โดยรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าเอกชน ได้แก่ IPP (โรงไฟฟ้าเอกชนขนาดมากกว่า 90 MW) และ SPP (โรงไฟฟ้าเอกชนขนาดน้อยกว่า 90 MW) รวมถึงรับซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศ แล้วขายให้ “กฟน. และ กฟภ.” ส่วน “กฟน. และ กฟภ.” เองก็รับซื้อไฟฟ้าจาก VSPP (โรงไฟฟ้าเอกชนขนาดน้อยกว่า 10MW) เพื่อขายให้ประชาชนและผู้ประกอบการซึ่งเป็นผู้ใช้ไฟฟ้า ซึ่ง นักวิชาการ สื่อ และ NGO ต่างก็บอกว่า การตัดสินใจและวางแผนแบบรวมศูนย์โดยมีผู้ซื้อเพียงรายเดียว นั้นทำให้ ‘โครงสร้างค่าไฟฟ้าไม่มีความเป็นธรรม’ จึงจำเป็นต้องมีการเพิ่มการใช้กลไกตลาดเข้าไปในระบบไฟฟ้า เพื่อทำให้เกิด ‘ตลาดซื้อขายไฟฟ้า’ อย่างเสรีขึ้นในประเทศไทย 

อันที่จริงแล้วการเปิด ‘ตลาดซื้อขายไฟฟ้า’ อย่างเสรีก็ไม่ต่างไปจากเรื่องของความพยายามในการแปรรูป ‘กฟผ.’ ให้เป็นบริษัทมหาชนในตลาดหลักทรัพย์เลย เพราะ ‘ตลาดซื้อขายไฟฟ้า’ จะทำให้วัตถุประสงค์หลักในการดำเนิน ‘กิจการไฟฟ้า’ อันเป็นกิจการเพื่อบริการสาธารณะหายไป เพราะ ผู้ประกอบการใน ‘ตลาดไฟฟ้า’ ย่อมต้องมีวัตถุประสงค์หลักในการดำเนินธุรกิจเพื่อให้ได้กำไรสูงสุด เพื่อจ่ายเงินปันผลจากกำไรให้กับผู้ถือหุ้น อีกทั้งความเสรีจะทำให้ผู้ประกอบการรายใหญ่มีความได้เปรียบ ซึ่งที่สุดอาจจะนำไปสู่การเป็น ‘ตลาดซื้อขายไฟฟ้าผูกขาด’ แทน ‘ตลาดซื้อขายไฟฟ้าเสรี’ ตามที่คาดหวังเอาไว้ อีกทั้งจะทำให้เกิดความเสี่ยงต่อความมั่นคงทางพลังงานได้ ตัวอย่างเช่นที่เคยเกิดไฟฟ้าดับเป็นวงกว้าง 2 ครั้งในทวีปอเมริกาเหนือฝั่งตะวันตก เมื่อปี พ.ศ. 2539 (ค.ศ. 1996) โดยเกิดขึ้นทั่ว แคนาดาฝั่งตะวันตก สหรัฐอเมริกาฝั่งตะวันตก และเม็กซิโกฝั่งตะวันตกเฉียงเหนือ เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม และ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2539 เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นห่างกัน 6 สัปดาห์ และเชื่อว่ามีสาเหตุมาจากความต้องการไฟฟ้าเกินในช่วงฤดูร้อน และทำให้ผู้ใช้ไฟฟ้าประมาณ 7.5 ล้านรายไม่มีไฟฟ้าใช้เป็นเวลาหลายนาทีจนถึง 6 ชั่วโมง ไฟฟ้าดับตั้งแต่แคนาดาไปจนถึงนิวเม็กซิโก และทำให้ผู้ใช้ไฟฟ้า 4 ล้านรายไม่มีไฟฟ้าใช้ท่ามกลางคลื่นความร้อนที่สูงถึงสามหลัก และในปี พ.ศ. 2543-2544 ได้เกิดวิกฤตการณ์ไฟฟ้าในมลรัฐแคลิฟอร์เนีย (วิกฤตการณ์พลังงานทางตะวันตกของสหรัฐฯในปี 2000 และ 2001) ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มลรัฐแคลิฟอร์เนียของสหรัฐอเมริกาประสบปัญหาขาดแคลนไฟฟ้าอันเนื่องมาจากการจัดการตลาดและราคาขายปลีกไฟฟ้าที่ถูกจำกัด ทั้ง ๆ ที่มี  ‘ตลาดซื้อขายไฟฟ้า’ อย่างเสรี จนทำให้มลรัฐนี้ต้องประสบกับปัญหาไฟฟ้าดับครั้งใหญ่หลายครั้ง และบริษัทพลังงานที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของมลรัฐแคลิฟอร์เนียล้มละลาย เกิดสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำและส่งผลกระทบต่อสถานะของ  Gray Davis ผู้ว่าการมลรัฐแคลิฟอร์เนียในขณะนั้นเป็นอย่างมาก จน Arnold Schwarzenegger พระเอกคนเหล็กได้รับเลือกเป็นผู้ว่าการมลรัฐนี้แทนและได้รับเลือกถึง 2 สมัย

ทั้งนี้ โครงสร้างกิจการไฟฟ้ารูปแบบ ‘กิจการไฟฟ้าที่มีผู้รับซื้อไฟฟ้าเพียงรายเดียว’ มีจุดแข็งคือ “ทำให้รัฐมีอำนาจในการบริหารจัดการและควบคุมสั่งการในกิจการไฟฟ้าได้อย่างเด็ดขาด 100% เพื่อให้เกิดเสถียรภาพด้านราคา และความมั่นคงของพลังงานไฟฟ้า นอกจากนั้น รัฐบาลยังสามารถสั่งการให้หน่วยงานด้านกิจการไฟฟ้าทั้ง กฟผ. กฟน. และ กฟภ. ดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาล อาทิ การยกเว้น ‘ค่าไฟฟ้า’ ให้ผู้ใช้ไฟฟ้าในพื้นที่ประสบภัยที่มีความรุนแรง ซึ่งเฉลี่ยอยู่ในต้นทุนคิดเป็นสัดส่วนราว 4-5% ของค่าไฟฟ้าเฉลี่ย หากแต่เป็นการซื้อ-ขายใน ‘ตลาดไฟฟ้า’ แล้ว รัฐจะดำเนินนโยบายที่เกี่ยวข้องกับกิจการไฟฟ้าในสภาวะวิกฤต ฯลฯ ได้ยากมาก เมื่อเทียบกับน้ำมันเชื้อเพลิง รัฐไม่สามารถจะดำเนินนโยบายที่เกี่ยวข้องกับกิจการน้ำมันเชื้อเพลิงได้เลย อาทิ การสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงในสภาวะวิกฤต ฯลฯ จะต้องมีการใช้กฎหมายพิเศษเช่น ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือกฎอัยการศึก เสียก่อน แล้วรัฐจึงจะเข้าไปดำเนินการได้

นอกจากนี้แล้ว ‘กิจการไฟฟ้า’ ไม่ใช้เฉพาะเพียงแต่การเป็นการซื้อ-ขายกระแสไฟฟ้าเท่านั้น ยังมีเรื่องของ ‘ต้นทุนระบบจำหน่ายไฟฟ้าให้กับผู้ใช้ไฟฟ้า (ขายปลีก)’ ซึ่งเป็นระบบที่นำไฟฟ้าไปสู่ผู้ใช้ไฟฟ้า ประกอบด้วย (1)สายจำหน่ายไฟฟ้าแบ่งเป็นตามระดับแรงดัน (2)หม้อแปลงไฟฟ้า ทำหน้าที่เพิ่มหรือลดระดับแรงดันไฟฟ้าเพื่อให้สามารถนำไปใช้กับระบบไฟฟ้าภายในบ้าน, สำนักงาน, โรงงานอุตสาหกรรม และ ‘ต้นทุนระบบสายส่งของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)’ อันเป็นระบบที่ส่งไฟฟ้าจากแหล่งผลิตไฟฟ้าจนถึงสถานีไฟฟ้าของระบบจำหน่ายไฟฟ้าที่ส่งจ่ายไฟฟ้าไปยังระบบจำหน่ายของ กฟน. และ กฟภ. ซึ่งจะปรับลดระดับแรงดันไฟฟ้าก่อนส่งไปยังผู้ใช้ไฟฟ้าทุกภาคส่วนอย่างเหมาะสม ประกอบด้วย (1)สายส่งไฟฟ้าแรงสูง (Transmission Line) (2) สถานีไฟฟ้าแรงสูง (Substation) (3)ศูนย์ควบคุมระบบกำลังไฟฟ้า (National Control Center : NCC) หาก ‘กิจการไฟฟ้า’ เข้าสู่ระบบ ‘ตลาดซื้อขายไฟฟ้า’ แล้ว จะทำให้มีการตั้งบริษัทหรือกิจการที่ดูแลรับผิดชอบขึ้นมาอีกต่างหาก และแน่นอนภาระค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ก็จะเพิ่มขึ้นกว่าที่เป็นอยู่และประชาชนคนไทยผู้ใช้ไฟฟ้าต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายส่วนนี้ที่เพิ่มมากกว่าที่ต้องจ่ายแต่เดิมอย่างแน่นอน

สกพอ. MOU กระทรวงพาณิชย์แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ผนึกกำลังส่งเสริมการลงทุนด้านเศรษฐกิจดิจิทัล สู่พื้นที่อีอีซี

เมื่อวันที่ (6 ก.พ.68) ณ North Hall มหาศาลาประชาชน สาธารณรัฐประชาชนจีน นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และ นายหลี่ เฉียง (H.E. Mr. Li Qiang) นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาชนจีน ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ว่าด้วยการส่งเสริมด้านการลงทุนสาขาเศรษฐกิจดิจิทัล ระหว่างสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) กับ กระทรวงพาณิชย์แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยมีนายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรือ อีอีซี และนายหวัง เหวินเทา (Mr. Wang Wentao) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์สาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นผู้ลงนามบันทึกความเข้าใจฯ ซึ่งมีผู้แทนระดับสูงจากหน่วยงานภาครัฐทั้งจากประเทศไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีน เข้าร่วมงาน

ในการลงนาม MOU ครั้งนี้ ถือเป็นเรื่องที่น่ายินดี และถือเป็นก้าวสำคัญในการส่งเสริมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล และสนับสนุนอุตสาหกรรมเป้าหมายด้านดิจิทัล ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ตลอดจนยกระดับมาตรฐานด้านเศรษฐกิจดิจิทัลของทั้งสองฝ่าย และเสริมสร้างความร่วมมือในการพัฒนาระบบการชำระเงินที่มีประสิทธิภาพ ระบบโลจิสติกส์อัจฉริยะ คลังสินค้าอัจฉริยะ การแสดงสินค้าทั้งแบบออนไลน์และออฟไลน์ อินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (Internet of Things หรือ IoT) และด้านอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์ สาธารณรัฐประชาชนจีน พร้อมสนับสนุนการขับเคลื่อนให้เกิดการลงทุนอย่างเต็มที่ ซึ่งในช่วงปี พ.ศ. 2561 – เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2567 ที่ผ่านมา ภาคธุรกิจจีน ให้ความสนใจในการลงทุนเป็นอย่างมาก โดยมีมูลค่าการลงทุนสูงในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก มูลค่ารวม 289,951 ล้านบาท ทำให้ความร่วมมือดังกล่าวเน้นย้ำการสนับสนุนให้เกิดการเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันของกลุ่มผู้ประกอบการเป้าหมายในพื้นที่อีอีซี

‘เอกนัฏ’ ลุยสิงคโปร์ ศึกษาจัดการ PM 2.5 – ฝุ่นควันข้ามแดน หวังใช้แก้ปัญหาอย่างยั่งยืน - ดึงดูดลงทุนเพิ่ม

‘เอกนัฏ’ นำทีมเยือนสิงคโปร์ ศึกษาต้นแบบความสำเร็จด้านการจัดการ PM 2.5 และฝุ่นควันข้ามแดน เล็งนำแนวทางมาปรับใช้ในไทย ตอกย้ำความมุ่งมั่นของกระทรวงอุตสาหกรรมและรัฐบาลไทย ในการแก้ไขปัญหา PM 2.5 และฝุ่นควันข้ามแดนอย่างจริงจัง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุนและส่งเสริมการลงทุนในประเทศ

นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ในระหว่างวันที่ 6-7 กุมภาพันธ์ 2568 ตนเองพร้อมด้วย นายสุเมธ ตั้งประเสริฐ กรรมการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ในฐานะรักษาการผู้ว่าการ กนอ. ได้เดินทางเยือนสาธารณรัฐสิงคโปร์อย่างเป็นทางการ เพื่อศึกษาและหารือแนวทางการแก้ไขปัญหา PM 2.5 รวมถึงแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ด้านการจัดการฝุ่นควันข้ามแดน กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของสิงคโปร์ และเข้าร่วมประชุมหารือกับนายโคห์ โพห์ คูน (Koh Poh Koon) รัฐมนตรีอาวุโสแห่งรัฐของกระทรวงความยั่งยืนและสิ่งแวดล้อมสิงคโปร์ ด้วย

นายเอกนัฏ กล่าวว่า ปัญหาฝุ่น PM 2.5 และฝุ่นควันข้ามแดน ส่งผลกระทบรุนแรงต่อภูมิภาคอาเซียนทั้งในด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และเศรษฐกิจ  สิงคโปร์ ร่วมกับประเทศสมาชิกอาเซียน ได้ร่วมลงนามในข้อตกลงอาเซียนว่าด้วยฝุ่นควันข้ามแดนเพื่อป้องกันและลดมลพิษจากไฟป่าและไฟบนพื้นดิน โดยมีความร่วมมือในการติดตามตรวจสอบ แลกเปลี่ยนข้อมูล และเทคโนโลยีระหว่างกัน ซึ่งการแก้ไขปัญหา PM 2.5 ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน โดยทุกฝ่ายต้องตระหนักถึงความรับผิดชอบต่อส่วนรวม รวมทั้งการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการปัญหา PM 2.5 การกำหนดมาตรฐานการปฏิบัติงานเพื่อแก้ไขปัญหาที่ชัดเจน เพื่อให้ชุมชนและภาคอุตสาหกรรมสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสมดุล ทั้งนี้ การแก้ไขปัญหา PM 2.5 และปัญหาฝุ่นควัน ไม่เพียงช่วยให้คุณภาพชีวิตของประชาชนดีขึ้น แต่ยังเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุนต่างชาติโดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ หากประเทศไทยสามารถจัดการปัญหานี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ จะช่วยยกระดับภาพลักษณ์ของประเทศ และดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติได้มากขึ้น

“เราต้องการให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางของการลงทุนที่ยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การแก้ไขปัญหา PM 2.5 และมลพิษทางอากาศ จึงเป็นวาระสำคัญที่เราต้องเร่งดำเนินการแก้ไข” นายเอกนัฏ กล่าว

ด้านนายสุเมธ ตั้งประเสริฐ กรรมการ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการ กนอ. กล่าวเสริมว่า กนอ.สามารถนำแนวทางเหล่านี้มาปรับใช้ในการแก้ไขปัญหา PM 2.5 ในนิคมอุตสาหกรรมได้ โดยการกำหนดมาตรฐานการปล่อยมลพิษที่เข้มงวดสำหรับโรงงานในนิคมอุตสาหกรรม ตรวจสอบและบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดกับโรงงานที่ปล่อยมลพิษเกินมาตรฐาน ส่งเสริมให้โรงงานในนิคมอุตสาหกรรมใช้เทคโนโลยีการผลิตที่สะอาดและเป็นมิตร ต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และชุมชน เพื่อแก้ไขปัญหา PM 2.5 อย่างจริงจัง

“กนอ.ชื่นชมและเห็นด้วยกับหลักการของสิงคโปร์ ในการจัดการปัญหาฝุ่นควัน และพร้อมนำแนวทางดังกล่าว มาปรับใช้ในนิคมอุตสาหกรรม ซึ่ง กนอ.มุ่งมั่นที่จะดำเนินการตามมาตรฐานและพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นไปอีก เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหา PM2.5 โดยเราต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน” นายสุเมธ กล่าว

สำหรับการเดินทางเยือนสาธารณรัฐสิงคโปร์อย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ 6-7 กุมภาพันธ์ 2568 คณะได้มีการประชุมหารือกับกระทรวงความยั่งยืนและสิ่งแวดล้อม สิงคโปร์ (Ministry of Sustainability and the Environment) ณ สำนักงานสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (The National Environment Agency : NEA, Singapore ) โดยมีนางอุรีรัชต์ เจริญโต เอกอัครราชทูตไทยประจำสาธารณรัฐสิงคโปร์ เข้าร่วมในการประชุมหารือในครั้งนี้ด้วย โดยการเยือนสิงคโปร์ครั้งนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญในการเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศ เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหา PM 2.5 และฝุ่นควันข้ามแดนอย่างยั่งยืนในอนาคต

ศึก ONE 168 สร้างเม็ดเงินสู่เดนเวอร์กว่า 18 ล้านเหรียญ สะท้อนการยอมรับในตลาดศิลปะการต่อสู้ระดับโลก

(10 ก.พ.68) วัน แชมเปียนชิพ (ONE) องค์กรศิลปะการต่อสู้ระดับโลก เปิดเผยว่า ศึก ONE 168 ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 7 ก.ย.67 ณ เมืองเดนเวอร์ รัฐโคโลราโด สหรัฐอเมริกา สามารถสร้างรายได้ทางเศรษฐกิจให้กับเมืองเดนเวอร์กว่า 18 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (กว่า 6 ร้อยล้านบาท) โดยข้อมูลนี้อ้างอิงจากผลการศึกษาวิจัยของบริษัทพัฒนาเศรษฐกิจเมโทรเดนเวอร์ (EDC)

สำหรับศึก ONE 168 ถือเป็นการกลับมาจัดการแข่งขันในสหรัฐอเมริกาเป็นครั้งที่ 2 ของ ONE หลังจากประสบความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่ในการประเดิมจัดครั้งแรกในศึก ONE Fight Night 10 ณ เฟิร์สแบงก์ เซ็นเตอร์ รัฐโคโลราโด เมื่อเดือน พ.ค.66 ซึ่งบัตรเข้าชมถูกขายหมดเกลี้ยงล่วงหน้าหลายสัปดาห์ 

ขณะที่ครั้งนี้ถือว่าได้รับการตอบรับอย่างล้นหลามไม่แพ้กัน โดยสามารถดึงดูดผู้ชมเกือบเต็มความจุ 10,000 ที่นั่ง ของสังเวียน บอล อารีนา ซึ่งเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จที่สะท้อนถึงการเติบโตของ ONE ในตลาดศิลปะการต่อสู้ขนาดใหญ่ระดับโลกอย่างสหรัฐอเมริกา

โดยรายงานตามผลการศึกษาวิจัยของ EDC เปิดเผยว่า มากกว่าครึ่งหนึ่งของผู้ชมในสนามเดินทางมาจากต่างรัฐ ซึ่งก่อให้เกิดเงินหมุนเวียนทางเศรษฐกิจมากกว่า 15 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็น 83 เปอร์เซ็นต์ ของผลกระทบทั้งหมดที่เกิดขึ้น ขณะที่กิจกรรมการใช้จ่ายโดยตรงที่เกี่ยวข้องกับศึก ONE 168 อาทิ ค่าเดินทาง, ที่พัก, อาหารและเครื่องดื่ม มีมูลค่าสูงกว่า 9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ รวมถึงยังมีค่าใช้จ่ายด้านนันทนาการ คิดเป็นมูลค่า 7.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ 

งานวิจัยยังเผยข้อมูลที่น่าสนใจด้วยว่า ผู้เข้าชมจากต่างรัฐเดินทางมาเฉลี่ยกลุ่มละ 2 คน และพักอยู่ในเมืองเดนเวอร์ประมาณ 3 คืน ซึ่งส่งผลให้มีการจองห้องพักสูงถึง 6,590 ห้อง ช่วยสร้างรายได้ให้กับธุรกิจที่พักในท้องถิ่นกว่า 1.4 ล้านดอลลาร์ นอกจากนี้ ศึก ONE 168 ยังช่วยกระจายรายได้สู่ประชาชนในรัฐโคโลราโด อีกกว่า 6.3 ล้านดอลลาร์ ผ่านการจ้างงานชั่วคราวอีก 146 ตำแหน่ง

ในโอกาสนี้ นายชาตรี ศิษย์ยอดธง ผู้ก่อตั้ง ประธานและซีอีโอของ ONE ได้กล่าวถึงความภาคภูมิใจต่อความสำเร็จของศึก ONE 168 ที่มีส่วนช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของเมืองเดนเวอร์

“พวกเรารู้สึกภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่ศึก ONE 168 เมื่อเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา ได้สร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจมูลค่า 18 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ให้กับเดนเวอร์ และสร้างมูลค่าสื่อกว่า 108 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากการถ่ายทอดสดและสตรีมมิงทั่วโลกผ่านเครือข่ายพันธมิตรของเรา”

“วัน แชมเปียนชิพ เป็นที่รักของแฟนกีฬาการต่อสู้มากที่สุดในโลก และเราขอบคุณพวกเขาที่เดินทางมาร่วมชมการแข่งขัน รวมถึงแฟน ๆ ทุกคนของเราในโคโลราโด ที่เข้าร่วมและทำให้อีเวนต์นี้เป็นค่ำคืนที่น่าจดจำ”

“นอกจากนี้ เราต้องขอขอบคุณพันธมิตรของเราอย่าง โครเอนเก สปอร์ต & เอนเตอร์เทนเมนต์ และหอการค้าเดนเวอร์เมโทร ที่ให้การสนับสนุนจนทำให้อีเวนต์นี้ประสบความสำเร็จอย่างท่วมท้น หวังเป็นอย่างยิ่งว่าเราจะสามารถสร้างความทรงจำที่น่าประทับใจและสร้างผลกระทบแบบเดียวกันต่อเศรษฐกิจในท้องถิ่นของอเมริกา จากการขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่องของเรา” 

ทั้งนี้ ONE จะหวนกลับมาจัดการแข่งขันขึ้นที่ประเทศสหรัฐอเมริกาอีกครั้งในช่วงปลายปีนี้ โดยจะประกาศรายละเอียดของอีเวนต์ดังกล่าวให้ทราบต่อไป


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top