รู้เรื่อง...ค่าไฟฟ้า (9) : จริงหรือ? ที่ กฟผ. รับซื้อไฟฟ้าเพียงรายเดียว สาเหตุสำคัญทำให้ ‘ค่าไฟฟ้า’ แพง

‘ค่าไฟฟ้าแพง’ ปัญหาที่กลายเป็นโจทย์ใหญ่ซึ่งยากแก่การแก้ไขของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องมายาวนานจนกระทั่งทุกวันนี้ ตลอดเวลาที่ผ่านมาสังคมไทยมักจะรับเอาแต่ข้อมูลต่าง ๆ จากนักวิชาการ NGO และสื่อบางสำนัก เพียงด้านเดียว ซึ่งกล่าวถึงสาเหตุของ ‘ค่าไฟฟ้าแพง’ ไว้อย่างมากมาย (แต่เป็นสาเหตุที่บอกเล่าข้อมูลโดยไม่ครบถ้วน สมบูรณ์ และทุกมิติ) อาทิ “โครงสร้างอุตสาหกรรมไฟฟ้าในประเทศไทยเป็นโครงสร้างกิจการไฟฟ้ารูปแบบ ‘กิจการไฟฟ้าที่มีผู้รับซื้อไฟฟ้าเพียงรายเดียว (Enhanced Single Buyer Model (ESB))’ ซึ่งรัฐเป็นผู้รับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเพียงรายเดียว” จึงทำให้ ‘โครงสร้างค่าไฟฟ้าไม่มีความเป็นธรรม’ หรือ “การปล่อยให้การผลิตไฟฟ้าไปอยู่ในมือของภาคเอกชนเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ” หรือ “การมี ‘ไฟฟ้าสำรอง’ มากจนเกินความต้องการ จนทำให้ ‘ค่าความพร้อมจ่าย (Availability Payment หรือ ค่า AP)’ “อันเป็นต้นทุนค่าก่อสร้างโรงไฟฟ้าที่การไฟฟ้าฯ จ่ายให้กับโรงไฟฟ้าเอกชนเป็นค่าความพร้อมในการเดินเครื่องเพื่อจ่ายไฟฟ้า ไม่ว่าโรงไฟฟ้าจะผลิตหรือไม่ ก็ตาม สูงมาก” หรือ “การผลิตและใช้ไฟฟ้าจาก ‘พลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy)’ ยังน้อยไป” ฯลฯ ซึ่ง TST จะได้อธิบายถึงข้อเท็จจริงถึงสาเหตุของ ‘ค่าไฟฟ้าแพง’ ที่ได้มีการหยิบยกมากล่าวอ้างพอเป็นสังเขป

จริงหรือ? ที่ โครงสร้างกิจการไฟฟ้ารูปแบบ ‘กิจการไฟฟ้าที่มีผู้รับซื้อไฟฟ้าเพียงรายเดียว’ จึงทำให้ ‘โครงสร้างค่าไฟฟ้าไม่มีความเป็นธรรม’ แน่นอนที่สุดว่า การซื้อ-ขายไฟฟ้าของประเทศไทยนั้นผูกขาดโดยรัฐ ‘กฟผ.’ ซื้อ-ขายไฟฟ้า โดยรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าเอกชน ได้แก่ IPP (โรงไฟฟ้าเอกชนขนาดมากกว่า 90 MW) และ SPP (โรงไฟฟ้าเอกชนขนาดน้อยกว่า 90 MW) รวมถึงรับซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศ แล้วขายให้ “กฟน. และ กฟภ.” ส่วน “กฟน. และ กฟภ.” เองก็รับซื้อไฟฟ้าจาก VSPP (โรงไฟฟ้าเอกชนขนาดน้อยกว่า 10MW) เพื่อขายให้ประชาชนและผู้ประกอบการซึ่งเป็นผู้ใช้ไฟฟ้า ซึ่ง นักวิชาการ สื่อ และ NGO ต่างก็บอกว่า การตัดสินใจและวางแผนแบบรวมศูนย์โดยมีผู้ซื้อเพียงรายเดียว นั้นทำให้ ‘โครงสร้างค่าไฟฟ้าไม่มีความเป็นธรรม’ จึงจำเป็นต้องมีการเพิ่มการใช้กลไกตลาดเข้าไปในระบบไฟฟ้า เพื่อทำให้เกิด ‘ตลาดซื้อขายไฟฟ้า’ อย่างเสรีขึ้นในประเทศไทย 

อันที่จริงแล้วการเปิด ‘ตลาดซื้อขายไฟฟ้า’ อย่างเสรีก็ไม่ต่างไปจากเรื่องของความพยายามในการแปรรูป ‘กฟผ.’ ให้เป็นบริษัทมหาชนในตลาดหลักทรัพย์เลย เพราะ ‘ตลาดซื้อขายไฟฟ้า’ จะทำให้วัตถุประสงค์หลักในการดำเนิน ‘กิจการไฟฟ้า’ อันเป็นกิจการเพื่อบริการสาธารณะหายไป เพราะ ผู้ประกอบการใน ‘ตลาดไฟฟ้า’ ย่อมต้องมีวัตถุประสงค์หลักในการดำเนินธุรกิจเพื่อให้ได้กำไรสูงสุด เพื่อจ่ายเงินปันผลจากกำไรให้กับผู้ถือหุ้น อีกทั้งความเสรีจะทำให้ผู้ประกอบการรายใหญ่มีความได้เปรียบ ซึ่งที่สุดอาจจะนำไปสู่การเป็น ‘ตลาดซื้อขายไฟฟ้าผูกขาด’ แทน ‘ตลาดซื้อขายไฟฟ้าเสรี’ ตามที่คาดหวังเอาไว้ อีกทั้งจะทำให้เกิดความเสี่ยงต่อความมั่นคงทางพลังงานได้ ตัวอย่างเช่นที่เคยเกิดไฟฟ้าดับเป็นวงกว้าง 2 ครั้งในทวีปอเมริกาเหนือฝั่งตะวันตก เมื่อปี พ.ศ. 2539 (ค.ศ. 1996) โดยเกิดขึ้นทั่ว แคนาดาฝั่งตะวันตก สหรัฐอเมริกาฝั่งตะวันตก และเม็กซิโกฝั่งตะวันตกเฉียงเหนือ เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม และ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2539 เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นห่างกัน 6 สัปดาห์ และเชื่อว่ามีสาเหตุมาจากความต้องการไฟฟ้าเกินในช่วงฤดูร้อน และทำให้ผู้ใช้ไฟฟ้าประมาณ 7.5 ล้านรายไม่มีไฟฟ้าใช้เป็นเวลาหลายนาทีจนถึง 6 ชั่วโมง ไฟฟ้าดับตั้งแต่แคนาดาไปจนถึงนิวเม็กซิโก และทำให้ผู้ใช้ไฟฟ้า 4 ล้านรายไม่มีไฟฟ้าใช้ท่ามกลางคลื่นความร้อนที่สูงถึงสามหลัก และในปี พ.ศ. 2543-2544 ได้เกิดวิกฤตการณ์ไฟฟ้าในมลรัฐแคลิฟอร์เนีย (วิกฤตการณ์พลังงานทางตะวันตกของสหรัฐฯในปี 2000 และ 2001) ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มลรัฐแคลิฟอร์เนียของสหรัฐอเมริกาประสบปัญหาขาดแคลนไฟฟ้าอันเนื่องมาจากการจัดการตลาดและราคาขายปลีกไฟฟ้าที่ถูกจำกัด ทั้ง ๆ ที่มี  ‘ตลาดซื้อขายไฟฟ้า’ อย่างเสรี จนทำให้มลรัฐนี้ต้องประสบกับปัญหาไฟฟ้าดับครั้งใหญ่หลายครั้ง และบริษัทพลังงานที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของมลรัฐแคลิฟอร์เนียล้มละลาย เกิดสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำและส่งผลกระทบต่อสถานะของ  Gray Davis ผู้ว่าการมลรัฐแคลิฟอร์เนียในขณะนั้นเป็นอย่างมาก จน Arnold Schwarzenegger พระเอกคนเหล็กได้รับเลือกเป็นผู้ว่าการมลรัฐนี้แทนและได้รับเลือกถึง 2 สมัย

ทั้งนี้ โครงสร้างกิจการไฟฟ้ารูปแบบ ‘กิจการไฟฟ้าที่มีผู้รับซื้อไฟฟ้าเพียงรายเดียว’ มีจุดแข็งคือ “ทำให้รัฐมีอำนาจในการบริหารจัดการและควบคุมสั่งการในกิจการไฟฟ้าได้อย่างเด็ดขาด 100% เพื่อให้เกิดเสถียรภาพด้านราคา และความมั่นคงของพลังงานไฟฟ้า นอกจากนั้น รัฐบาลยังสามารถสั่งการให้หน่วยงานด้านกิจการไฟฟ้าทั้ง กฟผ. กฟน. และ กฟภ. ดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาล อาทิ การยกเว้น ‘ค่าไฟฟ้า’ ให้ผู้ใช้ไฟฟ้าในพื้นที่ประสบภัยที่มีความรุนแรง ซึ่งเฉลี่ยอยู่ในต้นทุนคิดเป็นสัดส่วนราว 4-5% ของค่าไฟฟ้าเฉลี่ย หากแต่เป็นการซื้อ-ขายใน ‘ตลาดไฟฟ้า’ แล้ว รัฐจะดำเนินนโยบายที่เกี่ยวข้องกับกิจการไฟฟ้าในสภาวะวิกฤต ฯลฯ ได้ยากมาก เมื่อเทียบกับน้ำมันเชื้อเพลิง รัฐไม่สามารถจะดำเนินนโยบายที่เกี่ยวข้องกับกิจการน้ำมันเชื้อเพลิงได้เลย อาทิ การสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงในสภาวะวิกฤต ฯลฯ จะต้องมีการใช้กฎหมายพิเศษเช่น ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือกฎอัยการศึก เสียก่อน แล้วรัฐจึงจะเข้าไปดำเนินการได้

นอกจากนี้แล้ว ‘กิจการไฟฟ้า’ ไม่ใช้เฉพาะเพียงแต่การเป็นการซื้อ-ขายกระแสไฟฟ้าเท่านั้น ยังมีเรื่องของ ‘ต้นทุนระบบจำหน่ายไฟฟ้าให้กับผู้ใช้ไฟฟ้า (ขายปลีก)’ ซึ่งเป็นระบบที่นำไฟฟ้าไปสู่ผู้ใช้ไฟฟ้า ประกอบด้วย (1)สายจำหน่ายไฟฟ้าแบ่งเป็นตามระดับแรงดัน (2)หม้อแปลงไฟฟ้า ทำหน้าที่เพิ่มหรือลดระดับแรงดันไฟฟ้าเพื่อให้สามารถนำไปใช้กับระบบไฟฟ้าภายในบ้าน, สำนักงาน, โรงงานอุตสาหกรรม และ ‘ต้นทุนระบบสายส่งของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)’ อันเป็นระบบที่ส่งไฟฟ้าจากแหล่งผลิตไฟฟ้าจนถึงสถานีไฟฟ้าของระบบจำหน่ายไฟฟ้าที่ส่งจ่ายไฟฟ้าไปยังระบบจำหน่ายของ กฟน. และ กฟภ. ซึ่งจะปรับลดระดับแรงดันไฟฟ้าก่อนส่งไปยังผู้ใช้ไฟฟ้าทุกภาคส่วนอย่างเหมาะสม ประกอบด้วย (1)สายส่งไฟฟ้าแรงสูง (Transmission Line) (2) สถานีไฟฟ้าแรงสูง (Substation) (3)ศูนย์ควบคุมระบบกำลังไฟฟ้า (National Control Center : NCC) หาก ‘กิจการไฟฟ้า’ เข้าสู่ระบบ ‘ตลาดซื้อขายไฟฟ้า’ แล้ว จะทำให้มีการตั้งบริษัทหรือกิจการที่ดูแลรับผิดชอบขึ้นมาอีกต่างหาก และแน่นอนภาระค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ก็จะเพิ่มขึ้นกว่าที่เป็นอยู่และประชาชนคนไทยผู้ใช้ไฟฟ้าต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายส่วนนี้ที่เพิ่มมากกว่าที่ต้องจ่ายแต่เดิมอย่างแน่นอน