Saturday, 9 November 2024
GoodsVoice

หากย้อนกลับไปในช่วงแรกๆ ที่มีดีลการเจรจาซื้อคืน ‘เทสโก้ โลตัส’ กลับคืนอก เจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ แห่งอาณาจักรซีพี

จะเห็นได้ว่าทุกบทสัมภาษณ์จะมีตอนหนึ่งที่พูดถึง ‘เทสโก้ โลตัส’ ที่เปรียบเสมือนลูกรัก แต่ต้องตัดใจขายไปในช่วงวิกฤติต้มยำกุ้ง และเมื่อวันนึงมีโอกาสซื้อคืนกลับมาก็ย่อมไม่ปล่อยให้หลุดลอยไป

“ความจริงเทสโก้ โลตัสเป็นลูกของผม ตอนวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 ผมขายไป ฝากให้คนอื่นเลี้ยง ในครั้งนี้เจ้าของที่เคยเลี้ยงลูกผมจะขายลูกกลับคืนมา ผมก็ต้องซื้อ แต่ผมจะซื้อต่อเมื่อต้องเป็นประโยชน์ ถ้าซื้อแล้วไม่เป็นประโยชน์ก็ไม่ซื้อ ผมตั้งใจให้เทสโก้ โลตัสเป็นที่กระจายสินค้าของสดของซีพี ทำให้ของดีราคาถูกกระจายไปทั่วประเทศไทยได้ดีขึ้น ผมเชื่อว่าผมมีความสามารถซื้อกลับมาแล้วเลี้ยงลูกให้ดีกว่าเดิม เอาเทคนิคใหม่ๆ เข้ามา แล้วก็พัฒนาให้เข้ากับยุค 4.0” ธนินท์ กล่าว

นั่นคือคำพูดของเจ้าสัวธนินท์ในอดีต ที่นำมาสู่การควบรวมค้าปลีกขนาดยักษ์ระหว่าง ซีพี-เทสโก้ โลตัส ไว้ด้วยกันในประเทศไทยเป็นผลสำเร็จ ด้วยมูลค่าดีลสูงถึง 338,445 ล้านบาท ซี่งหลังจากการควบรวมเสร็จสิ้นอย่างเป็นทางการจะทำให้กลุ่มซีพีได้เทสโก้โลตัส ที่มีสาขาในไทย 2,100 แห่ง และในมาเลเซียอีก 74 แห่ง รวมถึงพนักงานกว่า 60,000 คน

อย่างไรก็ตาม ดีลครั้งนี้สร้างความไม่สบายใจต่อตลาดค้าปลีกไทย โดยเฉพาะรายย่อย ที่เชื่อว่าจะทำให้ทุนใหญ่กระหน่ำตลาดและผูกขาดแบบกินรวบ

ถึงกระนั้น ด้านนักวิเคราะห์ ก็ยังมองว่าดีลดังกล่าวไม่ถึงขั้นผูกขาด โดยแหล่งข่าวจากนักวิเคราะห์ของบริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด มองว่า ฝ่ายวิจัยเคยทำการศึกษาภาพรวมส่วนแบ่งตลาดกลุ่มค้าปลีก โดยพิจารณากรณีเครือข่ายที่ CPALL มีในปัจจุบัน (CPALL+MAKRO) แล้ว จะพบว่ามีส่วนแบ่งตลาดราว 31.9% และหากรวมกับ Tesco อีกราว 11.6% เข้าไปอีก ก็จะมีส่วนแบ่งตลาดรวม 43.5%

ทั้งนี้ระดับส่วนแบ่งตลาดดังกล่าว ไม่ถือเป็นการควบรวมที่อาจเข้าข่ายกรณีผูกขาดตามคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า หรือ กขค. ที่ระบุว่าหลังควบรวมแล้วต้องครองส่วนแบ่งตลาดมากกว่า 50% จึงจะเข้าข่าย

อย่างไรก็ตาม มีการประเมินว่า หากมองส่วนแบ่งตลาดจากกลุ่มทุนใหญ่ เช่น ซีพี (เทสโก้/แมคโคร) + บิ๊กซี (BJC) และ CRC (เซ็นทรัล) จะสูงมากกว่าครึ่งของตลาด ซึ่งทำให้ธุรกิจค้าปลีกรายย่อยยังรู้สึกถึงอำนาจในการต่อรองตลาดอยู่ดี แม้กลุ่มทุนแต่ละฝ่ายจะชวนให้มองทฤษฏีการแบ่งประเภทตลาด Modern Marketing Concept ที่แต่ละประเภทจะมีส่วนแบ่งการตลาดต่างกัน และกลุ่มเป้าหมายลูกค้าแตกต่างกันก็ตาม

ปตท.สผ. ประสบความสำเร็จในการขยายการลงทุนในตะวันออกกลางอีกครั้ง โดยชนะการประมูลร่วมกับพันธมิตรทางธุรกิจในแปลงสำรวจออฟชอร์ 3

นายพงศธร ทวีสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. เปิดเผยว่า ปตท.สผ. โดยบริษัท พีทีทีอีพี มีนา จำกัด (PTTEP MENA Limited) ซึ่งร่วมทุนกับบริษัท อีเอ็นไอ อาบูดาบี (Eni Abu Dhabi)

บริษัทในเครือของอีเอ็นไอ (Eni) ผู้ผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติรายใหญ่ของประเทศอิตาลี ได้ชนะประมูลในแปลงออฟชอร์ 3 (Block Offshore 3) จากบริษัท อาบูดาบี เนชั่นแนล ออยล์ หรือ แอดนอค (Abu Dhabi National Oil Company หรือ ADNOC) บริษัทน้ำมันแห่งชาติของ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) โดยมีอายุสัมปทานตั้งแต่ระยะการสำรวจ พัฒนา และผลิต รวม 35 ปี

สำหรับแปลงออฟชอร์ 3 ตั้งอยู่นอกชายฝั่งยูเออี และอยู่ติดกับแปลงออฟชอร์ 1 และออฟชอร์ 2 ซึ่ง ปตท.สผ. และอีเอ็นไอ ได้ชนะการประมูลร่วมกันเมื่อปี 2562 โดยเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพปิโตรเลียมสูงอันดับต้น ๆ ของโลก รวมทั้ง เป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์การลงทุนที่สำคัญของบริษัทด้วย อีกทั้ง 3 แปลงยังตั้งอยู่ในบริเวณที่โครงสร้างพื้นฐานมีความพร้อมสำหรับการพัฒนาธุรกิจน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ รวมถึง ยังมีตลาดที่พร้อมรองรับการผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ

“การชนะการประมูลร่วมกันอีกครั้งในแปลงออฟชอร์ 3 จะเป็นการกระชับความร่วมมือกันระหว่าง ปตท.สผ. อีเอ็นไอ และแอดนอค ซึ่งเป็นพันธมิตรทางธุรกิจที่มีความเชี่ยวชาญระดับโลกให้แข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น ซึ่งกลุ่มพันธมิตรจะร่วมกันนำความรู้ ประสบการณ์ ความสามารถ เข้ามาพัฒนาแปลงสำรวจทั้ง 3 ให้ประสบความสำเร็จ

เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างการเติบโตให้กับธุรกิจปิโตรเลียมในยูเออี ในขณะเดียวกัน ยังเป็นการสร้างการเติบโตและขยายฐานการลงทุนของบริษัทในภูมิภาคตะวันออกกลางตามกลยุทธ์ Execute & Expand ที่จะสามารถเพิ่มปริมาณสำรองและกำลังการผลิตปิโตรเลียมให้กับบริษัทได้ในอนาคต” นายพงศธร กล่าว

ด้าน ดร.สุลต่าน อาห์เหม็ด อัล จาเบอร์ รัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีของยูเออี และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร แอดนอค กรุ๊ป กล่าวว่า การให้สัมปทานกับอีเอ็นไอและ ปตท.สผ. ในครั้งนี้ ได้ตอกย้ำการเป็นพันธมิตรที่ดีที่พร้อมเติบโตไปด้วยกัน

รวมถึง สะท้อนถึงความร่วมมือที่แน่นแฟ้นมากขึ้นกับประเทศไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในตลาดที่สำคัญของยูเออี ซึ่งยูเออียินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะเปิดโอกาสให้พันธมิตรทางธุรกิจเข้ามาลงทุน เพื่อเพิ่มศักยภาพในการพัฒนาแหล่งปิโตรเลียม และสร้างผลตอบแทนในระยะยาว

นายเคลาดิโอ เดสคัลซี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร อีเอ็นไอ กล่าวว่า การชนะการประมูลครั้งนี้เป็นความสำเร็จร่วมกันอีกครั้งของกลุ่มผู้ร่วมทุนที่ชนะการประมูลในแปลงสำรวจออฟชอร์ 1 และออฟชอร์ 2 เมื่อปีที่ผ่านมา โดยกลุ่มผู้ร่วมทุนจะนำความเชี่ยวชาญมาใช้ในการสำรวจเพื่อเพิ่มทรัพยากรปิโตรเลียม รวมทั้ง ผสานประโยชน์ในการสำรวจปิโตรเลียมร่วมกันในแปลงสำรวจทั้งหมดที่ได้รับมา

ทั้งนี้ แปลงออฟชอร์ 3 มีขนาดพื้นที่ 11,660 ตารางกิโลเมตร เป็นแปลงสำรวจนอกชายฝั่งที่มีขนาดใหญ่ที่สุดจากที่มีการเปิดประมูลทั้งหมดในยูเออี ซึ่งได้มีการวัดคลื่นไหวสะเทือนแบบ 3 มิติ (3D seismic survey) ในพื้นที่บางส่วนแล้ว พบว่าพื้นที่ดังกล่าวมีศักยภาพเป็นก๊าซธรรมชาติ โดยพีทีทีอีพี มีนา และอีเอ็นไอ ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการ ถือสัดส่วนการลงทุนร้อยละ 30 และ 70 ตามลำดับ

สำหรับสัมปทานแปลงสำรวจออฟชอร์ 1 และออฟชอร์ 2 ปัจจุบัน อยู่ในระหว่างการศึกษาทางธรณีวิทยา ประเมินศักยภาพปิโตรเลียม และเตรียมการเจาะหลุมสำรวจในปี 2564

รัฐบาลเปิดทางการลงทุนในต่างแดนของภาคเอกเชน เป้าหมายเพื่อให้เงินที่อยู่ในระบบออกไปลงทุนในต่างประเทศมากยิ่งขึ้น และชะลอค่าเงินบาทที่กำลังแข็งตัวอ่อนลง

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบอร์ดบีโอไอ ว่า ต้องการให้มีการส่งเสริมการลงทุนในประเทศ และให้นักลงทุนไทยออกไปลงทุนต่างประเทศด้วยเช่นกัน

เพื่อให้เงินที่อยู่ในระบบของเราออกไปลงทุนในต่างประเทศมากยิ่งขึ้น และให้ค่าเงินบาทของเราอ่อนลง ส่วนนี้ภาคเอกชนต้องช่วยกัน ซึ่งนี่เป็นข้อมูลและข้อสังเกตจากธนาคารแห่งประเทศไทย และกำลังหามาตรการอยู่โดยเฉพาะการนำเครื่องจักรนำเข้า ซึ่งเรื่องนี้ก็กำลังติดตามอยู่

ด้าน น.ส.ดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวว่า ที่ประชุมเห็นชอบมาตรการกระตุ้นการลงทุนปี 64 เพื่อให้เกิดการลงทุนโดยเร็ว โดยเฉพาะโครงการลงทุนขนาดใหญ่ในอุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งจะส่งผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศ ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยมาตรการนี้กำหนดให้สิทธิประโยชน์ลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล 50% เป็นระยะเวลา 5 ปี เพิ่มเติมจากเกณฑ์ปกติ

ทั้งนี้ผู้ที่จะได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมครั้งนี้ มีข้อแม้ว่าต้องมีเงินลงทุนจริงอย่างน้อย 1,000 ล้านบาท ภายใน 12 เดือนหลังออกบัตรส่งเสริม และไม่อนุญาตให้ขยายเวลาในขั้นตอนการตอบรับให้การส่งเสริมและการออกบัตรส่งเสริม โดยผู้ประกอบการสามารถยื่นขอรับการส่งเสริมได้ตั้งแต่วันทำการแรกของปีพ.ศ.2564 ถึงวันทำการสุดท้ายของปีพ.ศ.2564

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ สั่งการทูตพาณิชย์ เร่งสร้างความเข้าใจให้กับผู้ซื้อ เน้นย้ำสินค้าอาหารทะเลไทยได้มาตรฐาน ปลอดโควิด-19 ป้องกันผลกระทบการส่งออก

นายสมเด็จ สุสมบูรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) เปิดเผยว่า ได้ประสานงานและกำชับให้ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (ทูตพาณิชย์) ที่ประจำอยู่ในประเทศต่างๆ โดยเฉพาะในประเทศที่เป็นตลาดเป้าหมายการส่งออกสินค้าอาหารทะเลของไทย ให้เร่งดำเนินการสร้างความเชื่อมั่น

และสร้างความเข้าใจให้กับผู้ซื้อ ผู้นำเข้า ในการสั่งซื้อสินค้าจากไทยว่าเป็นสินค้าที่มีคุณภาพ มาตรฐาน และมีมาตรการในการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ตามนโยบายที่ได้รับจากนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์แล้ว โดยกรมฯได้หารือร่วมกับผู้ส่งออกและได้ประเมินสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เกิดขึ้น เพื่อเร่งสร้างความเชื่อมั่น และสร้างความมั่นใจให้กับผู้ซื้อ ผู้นำเข้า

ก่อนหน้านี้ ในการส่งออกสินค้าประมง ได้มีการจัดทำ “หนังสือรับรองการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการปนเปื้อนเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในกระบวนการผลิตอาหารส่งออก (COVID – 19 Prevention Best Practice)” ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงมหาดไทย มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้นำเข้าสินค้าอาหารจากไทย และเพื่อส่งเสริมการส่งออกสินค้าอาหารของไทยให้เพิ่มมากขึ้น

โดยข้อมูลล่าสุดจากกรมประมงรายงานว่า มีผู้ส่งออก โรงงาน ได้ประสานงานติดต่อกับประมง เพื่อขอเข้ากระบวนการออกหนังสือรับรองดังกล่าวแล้ว จำนวน 51 ราย นอกจากนี้ กรมยังได้ผลิตวีดีโอเพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์กระบวนการผลิตสินค้าทะเลและปศุสัตว์ จำนวน 10 ภาษา เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้นำเข้าอีกทางหนึ่งด้วย

อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจในสินค้าประมง โดยเฉพาะสินค้ากุ้ง ล่าสุดนายจุรินทร์ ยังได้มอบหมายให้นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ประสานสำนักงานพาณิชย์จังหวัดสมุทรสาครและสำนักงานพาณิชย์ในจังหวัดใกล้เคียง ในการทำหน้าที่ติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดที่ส่งผลกระทบต่อสินค้าประมงอย่างใกล้ชิด เพื่อนำข้อมูลมาประเมินสถานการณ์และหาวิธีการรับมือต่อปัญหาที่จะตามมาในอนาคตด้วย

ทั้งนี้ ในช่วง 10 เดือนของปีพ.ศ.2563 (ม.ค.- ต.ค.) ไทยมีการส่งออกอาหารทะเลสดแช่เย็นแช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป (รวมทูน่ากระป๋องและแปรรูป แต่ไม่รวมกุ้งสดแช่เย็นแช่แข็งและแปรรูป) มีมูลค่า 115,912.74 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.09% โดยเฉพาะทูน่ากระป๋องและแปรรูป ส่งออกมูลค่า 63,391.47 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11.19% ส่วนกุ้งสดแช่เย็นแช่แข็งและแปรรูป (ไม่รวมกุ้งกระป๋อง) ส่งออกมูลค่า 27,347.09 ล้านบาท ลดลง 11.37%

นักวิจัยมหาวิทยาลัยขอนแก่น เจ๋ง! ผนึกองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ เปิดตัวคู่มือ “ทำฟาร์มจิ้งหรีด” โชว์ชาวโลก หนุนประเทศไทยเป็นฮับ แมลงกินได้

ปัจจุบัน “จิ้งหรีด” ได้รับการยอมรับว่า เป็นแมลงเศรษฐกิจที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง เรียกได้ว่า เป็นแหล่งโปรตีนราคาถูก ที่แม้แต่องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ ยังส่งเสริมให้คนทั่วโลกหันมาบริโภคกันอย่างแพร่หลาย

ศ.ดร.ยุพา หาญบุญทรง หัวหน้าภาควิชากีฏวิทยาและโรคพืช คณะเกษตรศาตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และเป็นที่ปรึกษาด้านแมลงกินได้ ของ องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) เปิดเผยว่า เมื่อ 25 ปีที่ก่อน มหาวิทยาลัยขอนแก่น นับเป็นแห่งแรกที่เริ่ม การวิจัย และริเริ่มพัฒนาการทำฟาร์มจิ้งหรีดขึ้นมาและถ่ายทอดสู่เกษตรกรทั่วประเทศจนในปัจจุบันประเทศไทยเป็นผู้นำด้านการทำฟาร์มจิ้งหรีดที่ทันสมัยและมีการส่งออกจิ้งหรีดและผลิตภัณฑ์ เป็นมูลค่าหลายพันล้านบาท ต่อปี

จากวัฒนธรรมของคนทางภาคอิสานที่คุ้นเคยกับการกินแมลงเป็นอาหารอยู่แล้ว แต่ยังไม่มีการเพาะเลี้ยงเป็นฟาร์ม แต่ในช่วงปี พ.ศ. 2540 ประเทศไทยเผชิญกับวิกฤตการทางเศรษฐกิจ หรือวิกฤตต้มยำกุ้ง จึงเป็นที่มาของการพัฒนาเทคนิคการเพาะเลี้ยงแมลง จิ้งหรีด หรือ แมงสะดิ้ง เพื่อใช้บริโภค และเพื่อรายได้ครัวเรือนขึ้น

หลังจากนั้นทาง FAO ซึ่งเป็นองค์การดูแลเรื่องนโยบายอาหารของโลก เห็นความสำคัญของการใช้แมลงเป็นอาหารโปรตีนและต้องการนำองค์ความรู้เรื่องการทำฟาร์มแมลงกินได้ ของมหาวิทยาลัยขอนแก่นเพื่อใช้เป็นต้นแบบช่วยประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกที่ขาดแคลนอาหารโปรตีนและสร้างรายได้ จึงได้ให้ตนเองเป็นผู้นำทีมถ่ายทอดความรู้การทำฟาร์มแมลงกินได้แก่ประเทศต่าง ๆ เช่น สปป.ลาว ประเทศเคนย่า อูกานดา ใน ทวีปอัฟริกา เป็นต้น

จากนั้น ในปีพ.ศ.2556 ทาง FAO ได้ตีพิมพ์หนังสือที่เขียน โดย ศ.ดร.ยุพา หาญบุญทรง และคณะ เรื่อง ปศุสัตว์หกขา การทำฟาร์มแมลงกินได้ของประเทศไทย หรือ “ Six-legged livestock: Edible insect farming, collection and marketing in Thailand” ทำให้เกิดมีธุรกิจการทำฟาร์มแมลงกินได้ โดยเฉพาะจิ้งหรีดไปทั่วโลก และมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง มีมูลค่าทางธุรกิจของแมลงกินได้ทั่วโลกเป็นจำนวนมาก

จึงเป็นสาเหตุที่ FAO และ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เล็งเห็นถึงการที่ต้องมีคู่มือและข้อแนะนำที่ถูกต้องที่ให้การผลิตจิ้งหรีดที่ปลอดภัยต่อผู้บริโภคและการประเมินความปลอดภัยในการผลิตฟาร์มแมลงกินได้นี้

ล่าสุด ได้เปิดตัวหนังสือ เรื่อง “คู่มือแนวการปฏิบัติที่ดีในการทำฟาร์มจิ้งหรีดอย่างยั่งยืน สำหรับเกษตรกรและผู้ประเมินฟาร์ม” หรือ “ Guidance on sustainable cricket Farming : A practical manual for farmers and inspectors” ของ FAO ในการประชุม online Webinar ของ FAO ณ สำนักใหญ่ กรุงโรม

ศ.ดร.ยุพา กล่าวว่า หนังสือเล่มนี้ ได้รวบรวมองค์ความรู้จากประสบการณ์การทำฟาร์มเพาะเลี้ยงจิ้งหรีดในประเทศไทยมากกว่า 25 ปี ที่สามารถใช้เป็นต้นแบบให้ภาครัฐและผู้สนใจในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกใช้เป็นแนวปฏิบัติของเกษตรกรในการทำฟาร์มจิ้งหรีด

อย่างปลอดภัยและยั่งยืนต่อผู้บริโภค พร้อมทั้งสามารถต่อยอดธุรกิจและการตลาด เพื่อเพิ่มผลผลิตการเกษตรให้มีมูลค่ามากขึ้น และ เพื่อใช้เป็นมาตรฐานและมีคำแนะนำสำหรับใช้ของผู้ประเมินฟาร์มจิ้งหรีดเพื่อรับรองมาตรฐานการผลิตที่ปลอดภัยต่อผู้บริโภค

ในการสัมมนาออนไลน์ครั้งนี้ มีผู้สนใจทั่วโลกมากกว่า 120 คน จากทวีปต่าง ๆ เข้าร่วมรับฟังและมีการซักถามข้อมูลของคู่มือนี้ และอยากให้มีการแปลหนังสือคู่มือนี้เป็นภาษาต่าง ๆ อีกด้วย ซึ่งทาง FAO ได้เปิดให้ ผู้สนใจทั่วโลกสามารถ download คู่มือเล่มนี้ได้ที่ http://www.fao.org/3/cb2446en/cb2446en.pdf

ศ.ดร.ยุพา กล่าวเพิ่มเติมว่า "ในปัจจุบัน มีการนำจิ้งหรีด มาพัฒนาเป็นอาหารแปรรูป ชนิดต่างๆ เช่น ในรูปแบบผง (เหมาะกับชาวต่างชาติ) หรือเป็นซอง ที่กินง่าย ปลอดภัย ซึ่งมีการพัฒนาร่วมกับกับคณาจารย์มหาวิทยาลัยขอนแก่นหลายคณะ เช่น คณะเทคโนโลยี สาขาเทคโนโลยีการอาหาร คณะวิศวกรรมศาสตร์

เพื่อพัฒนาการทำฟาร์มจิ้งหรีดแบบ smart farm คณะวิทยาการจัดการ เรื่องการตลาด ตลอดจนสถาบันยุทธศาสตร์เพื่อการวิจัยและพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ส่งเสริมเรื่องการปฏิบัติที่ดีของการทำฟาร์มจิ้งหรีดให้เกษตรกร เพื่อช่วย ให้เกษตรกร และผู้ประกอบด้านการแปรรูปผลิตภัณฑ์ มีการทำฟาร์มจิ้งหรีดที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น มีการผลิตที่ปลอดภัยสำหรับผู้บริโภค และสามารถแข่งขันและส่งออกต่างประเทศได้"

นอกจากนี้ ทางมหาวิทยาลัยขอนแก่น กำลังพัฒนาการใช้แมลงสำหรับเป็นอาหารสัตว์ ให้เป็นที่ยอมรับของนานาชาติ อีกทั้ง พยายามที่จะผลักดันให้จังหวัดขอนแก่น เป็นศูนย์กลางแมลงที่รับประทานเป็นอาหารได้ หรือ “Edible Insect HUB” และมีแผนการที่จะจัดงาน “จิ้งหรีดโลก” ขึ้น เพื่อส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นครัวโลกด้านแมลงกินได้อย่างแท้จริงและในอนาคต และอยากให้นักวิจัยรุ่นใหม่ ของประเทศไทยร่วมกันศึกษาต่อยอดทางด้านแมลงเพื่อใช้สำหรับเป็นยารักษาโรค ต่อไปอีกด้วย

โควิด-19 ระบาดระลอดใหม่ในพื้นที่สมุทรสาคร ลามถึงบริการทางการเงิน หลังสาขาธนาคารทยอยปิดสาขาลดความเสี่ยง ด้านสมาคมธนาคารไทย แนะลูกค้าทำธุรกรรมผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ ผ่านเครื่องรับฝาก - ถอนเงินอัตโนมัติ และบริการโอนเงินผ่านพร้อมเพย์

นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยว่า ตามที่ได้มีประกาศจากคณะกรรรมการโรคติดต่อจังหวัดสมุทรสาคร ในการบริหารจัดการเพื่อควบคุมสถานการณ์ระบาดของ COVID-19 ด้วยมาตรการเด็ดขาด และรวดเร็ว โดยการควบคุมการเข้าออกพื้นที่และการจัดกิจกรรมต่าง ๆ อย่างเคร่งครัด ในพื้นที่การระบาดและพื้นที่เสี่ยงตั้งแต่วันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ.2563 – 3 มกราคม พ.ศ.2564 นั้น

เพื่อความปลอดภัยของลูกค้า พนักงาน และดำเนินการตามมาตรการป้องกันโรค COVID-19 ของธนาคารสมาชิกเป็นไปมาตรการของรัฐ และแนวปฏิบัติของกรมควบคุมโรคกระทรวงสาธารณสุขโดยเคร่งครัด ธนาคารสมาชิกของสมาคมธนาคารไทยจึงมีความจำเป็นต้องปิดการทำงานและบริการที่อาคารและสาขาของบางธนาคารภายในเขตพื้นที่ดังกล่าว ตั้งแต่วันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ.2563 เป็นต้นไป

อย่างไรก็ตาม ลูกค้าสามารถใช้บริการหลักของธนาคาร ทั้งการถอนเงิน โอนเงินและฝากเงินในเขตพื้นที่ ผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ เช่น เครื่องรับฝากเงินและถอนเงินอัตโนมัติที่ตั้งกระจายในพื้นที่ และบริเวณหน้าสาขาของธนาคาร รวมถึงการทำธุรกรรมผ่านระบบ PromptPay และบริการสินเชื่อต่าง ๆ ที่อยู่ในกระบวนการของสินเชื่อแล้ว

ทั้งนี้ บริการบางอย่างของธนาคารในเขตพื้นที่ที่มีการปิดสำนักงานและสาขาของธนาคารอาจจะต้องใช้เวลาการดำเนินการมากกว่าเดิม หรือล่าช้ากว่าปกติ ตามข้อจำกัดของแต่ละธนาคารในช่วงเวลานี้ โดยลูกค้าสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Call Center หรือดูรายละเอียดเพิ่มเติมจากทาง website ของแต่ละธนาคาร

ทั้งนี้ จากสถานการณ์แพร่ระบาดของโรค COVID-19 ดังกล่าว สมาคมธนาคารไทยและธนาคารพาณิชย์มีความห่วงใยความปลอดภัยและสวัสดิภาพของพนักงานและลูกค้าเป็นสำคัญ จึงขอให้ดำเนินการตามมาตรฐานด้านสุขอนามัยอย่างเคร่งครัด

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบแผนการคลังระยะปานกลาง ปีงบประมาณ 2565 - 2568 เน้นฟื้นฟูเศรษฐกิจ รองรับสถานการณ์และความเสี่ยง พร้อมลดการขาดดุล มุ่งสู่การทำงบประมาณสมดุลในระยะยาว

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เห็นชอบ แผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2565 – 2568) รายละเอียด ดังนี้

1.) สถานะและประมาณการเศรษฐกิจ คาดว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ในปี 2565 จะขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 3.0-4.0 และปี 2566 คาดว่าจะขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 2.7-3.7 โดยจะเร่งขึ้นอยู่ในช่วงร้อยละ 2.9-3.9 ในปี 2567 และร้อยละ 3.2-4.2 ในปี 2568 ตามลำดับ

2.) สถานะและประมาณการการคลัง ประมาณการรายได้สุทธิ ปี 2565 - 2568 จะอยู่ที่ 2,400,000 ล้านบาท 2,490,000 ล้านบาท 2,619,500 ล้านบาทและ 2,750,500 ล้านบาท ตามลำดับ โดยประมาณการรายได้สุทธิดังกล่าวมีสมมติฐานด้านนโยบายภาษีที่สำคัญ ได้แก่ การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศ (e-service)

รายได้จากค่าธรรมเนียมใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อประกอบกิจการโทรคมนาคม รวมทั้งผลจากการปรับเปลี่ยนระบบสัญญาสัมปทานปิโตรเลียมเป็นระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต (Production Sharing Contract: PSC)

สำหรับประมาณการงบประมาณรายจ่าย ปี 2565-2568 อยู่ที่ 3,100,000 ล้านบาท 3,200,000 ล้านบาท 3,310,00 ล้านบาท และ 3,420,000 ล้านบาท ตามลำดับ ภายใต้สมมติฐานที่สำคัญ เช่น สัดส่วนงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นร้อยละ 2.0 - 3.5 ของวงเงินงบประมาณ รายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้มีสัดส่วนร้อยละ 2.5 - 4 ของวงเงินงบประมาณ ค่าใช้จ่ายบุคลากรมีอัตราเพิ่มโดยเฉลี่ยไม่เกินร้อยละ 3.5 เป็นต้น

ดังนั้น รัฐบาลจะขาดดุลงบประมาณในปีงบประมาณ 2565 จำนวน 700,000 ล้านบาท ปี 2566 จำนวน 710,000 ล้านบาท ปี 2567 จำนวน 690,500 ล้านบาท ปี 2568 จำนวน 669,500 ล้านบาท

ทั้งนี้ ยอดหนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นงบประมาณ 2563 จำนวน 7,848,156 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 49.3 ต่อ GDP และประมาณการสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP สำหรับปีงบประมาณ 2565-2568 เท่ากับร้อยละ 57.6, 58.6, 59.0 และ 58.7 ตามลำดับ

3.) เป้าหมายและนโยบายการคลัง เป้าหมายการคลังในระยะสั้นถึงระยะปานกลาง เพื่อเพิ่มศักยภาพทางการคลังทั้งด้านรายได้ รายจ่าย และหนี้สาธารณะ ให้ภาคการคลังสามารถรองรับสถานการณ์และพร้อมรับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้ ขณะที่เป้าหมายระยะยาว ยังกำหนดให้มีการปรับลดขนาดการขาดดุลและมุ่งสู่การจัดทำงบประมาณสมดุลในที่สุด

พร้อมกันนี้ คณะรัฐมนตรียังเห็นชอบแนวทาง 3Rs เพื่อเพิ่มศักยภาพทางการคลัง ประกอบด้วย

(1) Reform หรือการปฏิรูปการจัดเก็บรายได้ เพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษีอากร ทบทวนโครงสร้างภาษีในปัจจุบันเพื่อสร้างความมั่นคงด้านรายได้

(2) Reshape คือ การปรับเพื่อควบคุมการจัดสรรงบประมาณ ให้สอดคล้องเชื่อมโยงกับแผนสำคัญ เช่น ยุทธศาสตร์ชาติแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นโยบายสำคัญของรัฐบาล เป็นต้น รวมทั้งให้ความสำคัญกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และชะลอปรับลดยกเลิกโครงการที่ไม่มีความจำเป็น และ

(3) Resilience การบริหารหนี้สาธารณะอย่างมีภูมิคุ้มกันและสามารถรองรับต่อเหตุการณ์ไม่คาดคิดต่าง ๆ ได้ โดยยึดหลักความระมัดระวังสูงสุด (Conservative) การกู้เงินที่เน้นความเสี่ยงต่ำภายใต้ต้นทุนที่เหมาะสม รวมทั้งส่งเสริมการพัฒนาตลาดตราสารหนี้ในประเทศ เพื่อให้เป็นแหล่งระดมทุนสำคัญให้กับทั้งภาครัฐบาลและภาคเอกชนด้วย

ธนาคารแห่งประเทศไทย ต่อลมหายใจธุรกิจเอสเอ็มอี แก้กฎหมายสินเชื่อซอฟต์โลน เปิดทางขอกู้ได้ 2 ครั้ง แต่ยอดรวมต้องไม่เกิน 20% ของยอดหนี้คงค้าง พร้อมยืดเวลาขอสินเชื่อได้ถึง เม.ย.64

รายงานข่าวจากธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) แจ้งว่า ขณะนี้ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ลงนามในประกาศ ธปท. เรื่องการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 ออกตามพระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่เอสเอ็มอี (ซอฟต์โลน)

เพื่อเปิดโอกาสให้เอสเอ็มอี สามารถยื่นขอกู้สินเชื่อซอฟต์โลนได้ไม่เกิน 2 ครั้ง จากเดิมที่กำหนดให้ขอสินเชื่อซอฟต์โลนได้เพียงครั้งเดียว แต่กำหนดให้วงเงินกู้ซอฟต์โลนทั้ง 2 ครั้งรวมกันต้องไม่เกิน 20% ของยอดหนี้คงค้างสิ้น ณ วันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ.2562

ขณะเดียวกันยังขยายระยะเวลาให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอียื่นขอสินเชื่อได้จนถึงเดือนเมษายน พ.ศ.2564 และสามารถขยายต่อไปได้อีก 6 เดือนจนถึงเดือนตุลาคม พ.ศ.2564 เพื่อประคับประคองการประกอบธุรกิจ และเยียวยาผู้ประกอบการเอสเอ็มอี จากสถานการณ์การระบาดในประเทศ และต่างประเทศทั่วโลกยังคงมีความรุนแรง และมีแนวโน้มยืดเยื้อต่อไป

อย่างไรก็ตาม ความคืบหน้าการปล่อยสินเชื่อซอฟต์โลน ณ วันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ.2563 พบว่า ได้มีการปล่อยสินเชื่อไปแล้ว 1.22 แสนล้านบาท จำนวนเอสเอ็มอี 73,500 ราย เฉลี่ยสินเชื่อ 1.7 ล้านบาทต่อราย โดยแบ่งเป็น เอสเอ็มอีขนาดเล็ก 56,200 ราย หรือ 76.5% รองลงมาคือ เอสเอ็มอีขนาดกลาง 12,633 ราย และเอสเอ็มอีขนาดใหญ่ 4,667 ราย

รู้ไหม Apple จะไม่ได้มีขายแค่สมาร์ทโฟนอีกต่อไป นั่นก็เพราะภายใต้โครงการที่ชื่อว่า Project Titan ซึ่งถูกพัฒนามาตั้งแต่ปี 2014 ได้วางแผนที่จะสร้าง Apple Car อย่างจริงจัง

โดยรายงานจาก Reuters ได้เผยว่า Apple กำลังกลับมาจริงจังกับโครงการนี้ และตั้งเป้าว่าจะผลิตรถยนต์ Apple Car ให้ได้ภายในปี 2024 

สำหรับเป้าหมายของการผลิตรถยนต์ Apple Car คือ มุ่งสู่ตลาดรถยนต์ส่วนบุคคล ไม่ใช่ตลาดขนส่งมวลชน หรือสาธารณะ เหมือนกับคู่แข่ง เช่น บริษัท Waymo ของ Alphabet (Google) ซึ่งต้องการสร้างแท็กซี่ ที่ให้บริการแบบขับเคลื่อนอัตโนมัติ หรือไร้คนขับ

จุดเด่นหลัก ๆ ของ Apple Car คือเรื่องของ เทคโนโลยีแบตเตอรี่ โดยแบตเตอรี่ได้ถูกออกแบบและพัฒนาใหม่ทั้งหมด และจะทำให้รถยนต์สามารถวิ่งได้ในระยะทางที่ไกลกว่าตลาดรถยนต์ไฟฟ้าที่มีอยู่ให้ได้
 
นั่นจึงทำให้ Apple พยายามตรวจสอบหาแนวทางในการใช้ แบตเตอรี่ลิเธียม ไอออน ฟอสเฟต (LFP) ที่ทำให้เกิดความร้อนน้อยกว่า และปลอดภัยกว่า แบตเตอรี่ลิเธียมไอออนประเภทอื่นๆ

ทั้งนี้ Apple กำลังพิจารณาเลือกพันธมิตรภายนอก เพื่อมาร่วมสร้างและผลิต Apple Car เช่น ผู้ผลิตเซ็นเซอร์ Lidar ที่ช่วยให้รถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติทำงานได้ดีขึ้น โดยสามารถตรวจจับภาพแบบ 3 มิติ ได้รอบคัน

แน่นอนว่าพอมีข่าวนี้ออกมา ราคาหุ้นของผู้ผลิตเซ็นเซอร์ Velodyne Lidar ก็เลยพุ่งขึ้นเกือบ 23% และ Luminar พุ่งขึ้นกว่า 27% หลังจากมีข่าวว่า Apple กำลังมองหาพันธมิตรใหม่ทางด้านนี้

ทั้งนี้ หนึ่งในความท้าทายที่สุดของ Project Titan คือ การผลิตตัวรถยนต์เป็นจำนวนมาก เพราะทาง Apple ไม่เคยมีประสบการณ์ด้านนี้มาก่อน และตอนนี้ยังไม่แน่ชัดว่า ใครจะเป็นพันธมิตรของ Apple ในการทำหน้าที่ประกอบรถยนต์ Apple Car

ก็ต้องนับถอยหลังกันดูว่าในอีกราวไม่เกิน 4 ปี (2024) Apple จะสามารถผลิตรถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติ ออกสู่ตลาดได้ตามเป้าที่ตั้งไว้หรือไม่ละกัน

 

Nikon ผู้ผลิตกล้องถ่ายรูปชั้นนำระดับโลกเผย ประกาศเตรียมย้ายฐานการผลิตกล้องมาไทยเพิ่มเติม ขณะที่ สายพานการผลิตในประเทศญี่ปุ่นจะสิ้นสุดลงในปี 2564

Nikon ผู้ผลิตกล้องถ่ายรูป แบรนด ชั้นนำระดับโลก ประกาศเตรียมยุติสายพานการผลิตกล้องถ่ายภาพในโรงงานที่เมืองเซนได ประเทศญี่ปุ่น ในปี 2564 และย้ายไลน์ผลิตทั้งหมดมาที่ประเทศไทยเพื่อควบคุมต้นทุน เพราะตลาดกล้องถ่ายรูปยังหดตัวอย่างต่อเนื่อง

การประกาศเลิกผลิตกล้องในญี่ปุ่นของ Nikon ในครั้งนี้ เป็นการปิดฉาก 70 ปีที่ Nikon ทำการผลิตกล้องถ่ายรูปโดยมีฐานการผลิตที่ประเทศญี่ปุ่น

แต่ด้วยอัตราต้นทุนที่สูงทำให้ทาง Nikon ตัดสินใจย้ายฐานการผลิตมายังประเทศไทย โดยก่อนหน้านี้ กล้องแบบ Mirrorless ตระกูล Z6 และ Z7 นั้น ถูกย้ายฐานการผลิตจนแล้วเสร็จในเดือนกันยายนที่ผ่านมา

ขณะที่ การเตรียมย้ายฐานการผลิตมายังประเทศไทยจะถูกดำเนินการในเดือนตุลาคม โดยการผลิต D6 Digital SLR จะถูกย้ายมายังประเทศไทยไม่เกินปลายปี 2564 ด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม Nikon จะย้ายไลน์ผลิตกล้องถ่ายรูปทั้งหมดมาที่โรงงานประเทศไทย โดยก่อนหน้านี้ Nikon มีการนำกล้องแบบ Mirrorless ระดับสูงเช่น Z6 และ Z7 เข้ามาผลิตในประเทศไทย ส่วนรุ่นถัดไปที่จะถูกย้ายมาผลิตที่ประเทศไทยคือกล้องระดับมืออาชีพรุ่น D6 โดยรุ่นดังกล่าวจะถูกย้ายมาภายในปี 2021

ปัจจุบันโรงงานในประเทศไทยถือเป็นโรงงานหลักของ Nikon ผ่านการผลิตกล้องถ่ายรูปรุ่นต่าง ๆ รวมถึงเลนส์หลากหลายแบบ ในทางกลับกันโรงงานที่ญี่ปุ่นหลังจากนี้จะถูกใช้ผลิตชิ้นส่วนสำหรับกล้องวีดีโอแทน รวมถึงเป็นสถานที่พัฒนาธุรกิจใหม่เพื่อสนับสนุน Nikon ในอนาคต

สำหรับประวัติความเป็นมาโรงงาน Sendai ของนิคอน เปิดทำการมาตั้งแต่ปี 1971 มีกล้องตัวแรกที่ผลิตคือ Nikon EM เรียกได้ว่าปิดตำนาน 41 ปี ที่โรงงานแห่งนี้ได้เปิดทำการมา และเป็นอันยุติฐานการผลิตกล้องนิคอนทั้งหมดในประเทศญี่ปุ่นด้วยเช่นกัน


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top