นักวิจัยมหาวิทยาลัยขอนแก่น เจ๋ง! ผนึกองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ เปิดตัวคู่มือ “ทำฟาร์มจิ้งหรีด” โชว์ชาวโลก หนุนประเทศไทยเป็นฮับ แมลงกินได้
ปัจจุบัน “จิ้งหรีด” ได้รับการยอมรับว่า เป็นแมลงเศรษฐกิจที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง เรียกได้ว่า เป็นแหล่งโปรตีนราคาถูก ที่แม้แต่องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ ยังส่งเสริมให้คนทั่วโลกหันมาบริโภคกันอย่างแพร่หลาย
ศ.ดร.ยุพา หาญบุญทรง หัวหน้าภาควิชากีฏวิทยาและโรคพืช คณะเกษตรศาตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และเป็นที่ปรึกษาด้านแมลงกินได้ ของ องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) เปิดเผยว่า เมื่อ 25 ปีที่ก่อน มหาวิทยาลัยขอนแก่น นับเป็นแห่งแรกที่เริ่ม การวิจัย และริเริ่มพัฒนาการทำฟาร์มจิ้งหรีดขึ้นมาและถ่ายทอดสู่เกษตรกรทั่วประเทศจนในปัจจุบันประเทศไทยเป็นผู้นำด้านการทำฟาร์มจิ้งหรีดที่ทันสมัยและมีการส่งออกจิ้งหรีดและผลิตภัณฑ์ เป็นมูลค่าหลายพันล้านบาท ต่อปี
จากวัฒนธรรมของคนทางภาคอิสานที่คุ้นเคยกับการกินแมลงเป็นอาหารอยู่แล้ว แต่ยังไม่มีการเพาะเลี้ยงเป็นฟาร์ม แต่ในช่วงปี พ.ศ. 2540 ประเทศไทยเผชิญกับวิกฤตการทางเศรษฐกิจ หรือวิกฤตต้มยำกุ้ง จึงเป็นที่มาของการพัฒนาเทคนิคการเพาะเลี้ยงแมลง จิ้งหรีด หรือ แมงสะดิ้ง เพื่อใช้บริโภค และเพื่อรายได้ครัวเรือนขึ้น
หลังจากนั้นทาง FAO ซึ่งเป็นองค์การดูแลเรื่องนโยบายอาหารของโลก เห็นความสำคัญของการใช้แมลงเป็นอาหารโปรตีนและต้องการนำองค์ความรู้เรื่องการทำฟาร์มแมลงกินได้ ของมหาวิทยาลัยขอนแก่นเพื่อใช้เป็นต้นแบบช่วยประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกที่ขาดแคลนอาหารโปรตีนและสร้างรายได้ จึงได้ให้ตนเองเป็นผู้นำทีมถ่ายทอดความรู้การทำฟาร์มแมลงกินได้แก่ประเทศต่าง ๆ เช่น สปป.ลาว ประเทศเคนย่า อูกานดา ใน ทวีปอัฟริกา เป็นต้น
จากนั้น ในปีพ.ศ.2556 ทาง FAO ได้ตีพิมพ์หนังสือที่เขียน โดย ศ.ดร.ยุพา หาญบุญทรง และคณะ เรื่อง ปศุสัตว์หกขา การทำฟาร์มแมลงกินได้ของประเทศไทย หรือ “ Six-legged livestock: Edible insect farming, collection and marketing in Thailand” ทำให้เกิดมีธุรกิจการทำฟาร์มแมลงกินได้ โดยเฉพาะจิ้งหรีดไปทั่วโลก และมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง มีมูลค่าทางธุรกิจของแมลงกินได้ทั่วโลกเป็นจำนวนมาก
จึงเป็นสาเหตุที่ FAO และ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เล็งเห็นถึงการที่ต้องมีคู่มือและข้อแนะนำที่ถูกต้องที่ให้การผลิตจิ้งหรีดที่ปลอดภัยต่อผู้บริโภคและการประเมินความปลอดภัยในการผลิตฟาร์มแมลงกินได้นี้
ล่าสุด ได้เปิดตัวหนังสือ เรื่อง “คู่มือแนวการปฏิบัติที่ดีในการทำฟาร์มจิ้งหรีดอย่างยั่งยืน สำหรับเกษตรกรและผู้ประเมินฟาร์ม” หรือ “ Guidance on sustainable cricket Farming : A practical manual for farmers and inspectors” ของ FAO ในการประชุม online Webinar ของ FAO ณ สำนักใหญ่ กรุงโรม
ศ.ดร.ยุพา กล่าวว่า หนังสือเล่มนี้ ได้รวบรวมองค์ความรู้จากประสบการณ์การทำฟาร์มเพาะเลี้ยงจิ้งหรีดในประเทศไทยมากกว่า 25 ปี ที่สามารถใช้เป็นต้นแบบให้ภาครัฐและผู้สนใจในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกใช้เป็นแนวปฏิบัติของเกษตรกรในการทำฟาร์มจิ้งหรีด
อย่างปลอดภัยและยั่งยืนต่อผู้บริโภค พร้อมทั้งสามารถต่อยอดธุรกิจและการตลาด เพื่อเพิ่มผลผลิตการเกษตรให้มีมูลค่ามากขึ้น และ เพื่อใช้เป็นมาตรฐานและมีคำแนะนำสำหรับใช้ของผู้ประเมินฟาร์มจิ้งหรีดเพื่อรับรองมาตรฐานการผลิตที่ปลอดภัยต่อผู้บริโภค
ในการสัมมนาออนไลน์ครั้งนี้ มีผู้สนใจทั่วโลกมากกว่า 120 คน จากทวีปต่าง ๆ เข้าร่วมรับฟังและมีการซักถามข้อมูลของคู่มือนี้ และอยากให้มีการแปลหนังสือคู่มือนี้เป็นภาษาต่าง ๆ อีกด้วย ซึ่งทาง FAO ได้เปิดให้ ผู้สนใจทั่วโลกสามารถ download คู่มือเล่มนี้ได้ที่ http://www.fao.org/3/cb2446en/cb2446en.pdf
ศ.ดร.ยุพา กล่าวเพิ่มเติมว่า "ในปัจจุบัน มีการนำจิ้งหรีด มาพัฒนาเป็นอาหารแปรรูป ชนิดต่างๆ เช่น ในรูปแบบผง (เหมาะกับชาวต่างชาติ) หรือเป็นซอง ที่กินง่าย ปลอดภัย ซึ่งมีการพัฒนาร่วมกับกับคณาจารย์มหาวิทยาลัยขอนแก่นหลายคณะ เช่น คณะเทคโนโลยี สาขาเทคโนโลยีการอาหาร คณะวิศวกรรมศาสตร์
เพื่อพัฒนาการทำฟาร์มจิ้งหรีดแบบ smart farm คณะวิทยาการจัดการ เรื่องการตลาด ตลอดจนสถาบันยุทธศาสตร์เพื่อการวิจัยและพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ส่งเสริมเรื่องการปฏิบัติที่ดีของการทำฟาร์มจิ้งหรีดให้เกษตรกร เพื่อช่วย ให้เกษตรกร และผู้ประกอบด้านการแปรรูปผลิตภัณฑ์ มีการทำฟาร์มจิ้งหรีดที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น มีการผลิตที่ปลอดภัยสำหรับผู้บริโภค และสามารถแข่งขันและส่งออกต่างประเทศได้"
นอกจากนี้ ทางมหาวิทยาลัยขอนแก่น กำลังพัฒนาการใช้แมลงสำหรับเป็นอาหารสัตว์ ให้เป็นที่ยอมรับของนานาชาติ อีกทั้ง พยายามที่จะผลักดันให้จังหวัดขอนแก่น เป็นศูนย์กลางแมลงที่รับประทานเป็นอาหารได้ หรือ “Edible Insect HUB” และมีแผนการที่จะจัดงาน “จิ้งหรีดโลก” ขึ้น เพื่อส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นครัวโลกด้านแมลงกินได้อย่างแท้จริงและในอนาคต และอยากให้นักวิจัยรุ่นใหม่ ของประเทศไทยร่วมกันศึกษาต่อยอดทางด้านแมลงเพื่อใช้สำหรับเป็นยารักษาโรค ต่อไปอีกด้วย