Tuesday, 10 December 2024
GoodsVoice

‘นายกฯ อิ๊งค์’ เผย!! แถลง ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ 12 ก.ย.นี้ ยัน!! เงินหมื่นช่วยกระตุ้น-หมุน ศก.ไทยได้ทั้งระบบ

(11 ก.ย. 67) น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เดินทางเข้าอาคารชินวัตร 3 โดยมี นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี เดินทางเข้ามาด้วยเพื่อเตรียมความพร้อมข้อมูลต่าง ๆ ในการแถลงนโยบายคณะรัฐมนตรีต่อรัฐสภา ในวันที่ 12-13 ก.ย.

โดย น.ส.แพทองธาร ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ได้กำชับรัฐมนตรีทุกกระทรวงชี้แจงทันทีในข้อสงสัยของสมาชิกรัฐสภาที่อภิปราย ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายฯเพื่อความเข้าใจ ว่า ใช่ เพราะจริง ๆ แล้วรัฐมนตรีทุกท่านตั้งแต่ตั้งรัฐบาลมา ก็ทำงานกันอยู่แล้ว จึงอยากให้รัฐมนตรีที่รับผิดชอบในเรื่องต่าง ๆ ได้ตอบเอง 

ในส่วนของนายกฯ ตอบภาพรวมได้ แต่ดีเทลการทำงานของแต่ละกระทรวง เขามีดีเทลที่เขาทำจริง ๆ ซึ่งจะชัดเจนกว่าและจะสามารถให้ข้อมูลประชาชนได้ชัดเจน และจะได้ไม่เกิดข้อสงสัยหรือเข้าใจผิดกัน จึงคิดว่าอยากให้รัฐมนตรีที่รับผิดชอบได้ตอบงานของตัวเอง

เมื่อถามว่า โครงการดิจิทัลวอลเล็ตจะเกิดความชัดเจนจากเวทีนี้ใช่หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ใช่ แน่นอนวันที่ 12 ก.ย.แถลงแล้ว จะแถลงภาพรวมของนโยบาย แต่นโยบายดิจิทัลวอลเล็ต รมว.การคลังจะเป็นคนแถลงรายละเอียดทั้งหมด

เมื่อถามว่า พรรคเพื่อไทยหาเสียงไว้ 10,000 บาทได้ทั้งหมดก้อนเดียวดิจิทัลวอลเล็ต แต่วิธีการทำกับการหาเสียงแตกต่างกัน จะสามารถอธิบายประชาชนอย่างไร นายกฯ กล่าวว่า มันมีความแตกต่างแน่นอน พอได้ลงมือทำจริง ๆ เมื่อเข้ามาเป็นรัฐบาลมันมีเรื่องของระบบที่จะต้องติดตั้งอีกนาน ฉะนั้นเราคิดว่าเมื่อระบบและสิ่งอื่น ๆ ยังมีข้อพิพาทต่าง ๆ ซึ่งมันต้องรอ แต่เศรษฐกิจรอไม่ได้ประชาชนรอไม่ไหว ฉะนั้นต้องปรับเปลี่ยนในจุดนี้ให้ประชาชนก่อน เพราะเรื่องเศรษฐกิจเป้าหมายของเราในการทำดิจิทัลวอลเล็ตนั่นคือการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งระบบ หากกระตุ้นไม่พอ เรายังพร้อมที่จะปรับโครงสร้างเศรษฐกิจในแบบดิจิทัลด้วย แต่ว่ามันมาช้ากว่า แต่เศรษฐกิจต้องถูกกระตุ้นก่อน เราทำอันนี้เสร็จไม่ใช่มีแค่นโยบายเดียว เรามีอีกหลายอันที่สามารถเศรษฐกิจได้ แต่อันนี้เป็นอันหลัก เร่งด่วนและเห็นผลทันทีจึงอยากรีบทำ

เมื่อถามว่า รัฐบาลวันนี้สานต่องานของรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกฯ ซึ่งเคยมีนโยบายจ่ายเงินดิจิทัล รอบเดียวไม่แบ่งจ่ายกระตุ้นเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภาพใหญ่ แต่วันนี้เปลี่ยนไปการกระตุ้นเศรษฐกิจจะเป็นตามเป้าหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า การวางแผนเรื่องการกระตุ้นเศรษฐกิจมีหลายเฟสที่ต้องกระตุ้น อย่าง 10,000 บาท ที่ได้แถลงไปแล้วว่าจะจ่ายก่อน ก็เป็นการกระตุ้นอันหนึ่ง ภาพใหญ่หนึ่งภาพก่อน แต่ส่วนหลังจากนั้นก็ไม่ลืมทิ้งโครงสร้างดิจิทัลที่เราจะต้องทำต่อด้วย อันนี้สำคัญ ตอนแรกเราจะไม่ให้เป็นเงินสดเลยทั้งหมด จะเป็นเงินดิจิทัลทั้งหมด แต่อย่างที่บอกเศรษฐกิจรอไม่ได้ เราก็เลยต้องแบ่งเฟส ดิจิทัลยังอยู่แต่เราอาจจะเปลี่ยนเป็นว่า 5,000 บาทไหม หรืออย่างไร เดี๋ยวให้ รมว.การคลังแถลงรายละเอียด

เมื่อถามว่า พอแบ่งจ่ายอาจจะไม่ใช่พายุหมุนเหมือนที่เราตั้งใจไว้ หลายคนมองว่าเหลือเพียงแค่หย่อมความกดอากาศต่ำ นายกฯ กล่าวว่า มันเป็นการกระตุ้นแน่นอนแต่รูปแบบเปลี่ยนไป ฉะนั้นขอให้ รมว.การคลัง แจงในรายละเอียดอีกที

เมื่อถามว่าเป้าในการกระตุ้นเศรษฐกิจจะลดลงหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ไม่ค่ะ เพราะเราแบ่งเฟสแล้วและอย่างที่บอกไม่ได้มีนโยบายเดียว ที่จะให้การกระตุ้นเศรษฐกิจเกิดขึ้น ฉะนั้นการแบ่งทีละเฟสควบคู่กับนโยบายอื่น ๆ ก็จะทำให้เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจดูดี

เมื่อถามว่าพรรคเพื่อไทยหาเสียงจ่ายเงินดิจิทัลขณะที่ยังไม่ศึกษารายละเอียดจึงทำให้การจ่ายเงินล่าช้า นายกฯ กล่าวว่า มันล่าช้าเพราะเราเข้ามาเราคิดว่าจริง ๆ แล้วระบบมันจะสามารถดำเนินไปได้เลย แต่มันต้องมีการรับฟัง แน่นอนถ้าไม่เกิดการรับฟังมีปัญหาอย่างแน่นอน ซึ่งต้องรับฟังหลาย ๆ ฝ่ายว่ามีข้อกังวลหรือข้อสงสัยอะไร อันนี้คือสิ่งที่เราพยายามทำให้รัดกุม และดีที่สุดสำหรับประเทศด้วย

เมื่อถามว่า ในการแถลงนโยบายต่อรัฐสภามีความมั่นใจเต็มที่หรือไม่ เนื่องจากทั้งฝ่ายค้านและ สว.จองคิวไว้เต็มที่ นายกฯ กล่าวว่า “เหรอคะ เราก็ทำเต็มที่ แต่จริง ๆ แล้วขอโฟกัสเรื่องน้ำท่วม หลังการแถลงก่อน”

เมื่อถามย้ำว่า จำเป็นถึงกับจะต้องมีองครักษ์พิทักษ์นายกฯ หรือไม่ นายกฯ ไม่ตอบได้แต่ร้องอ๋อ

เมื่อถามว่า ยังมีเสียงข้อครหารัฐบาลแพทองธาร ไม่ต้องนับปีเอาแค่นับเดือนจะรอดหรือไม่ นายกฯ ยิ้มพร้อมกล่าวว่า “ก็ช่วยกันนับ”

'รมว.เอกนัฏ' เปิดฉาก!! 'ปฏิรูปอุตสาหกรรม' หลังเข้ากระทรวงอุตฯ วันแรก พร้อมเตรียมงานเชิงรุก ก่อนลุยเก็บข้อมูลกากของเสียรั่วไหลที่ระยอง

(11 ก.ย. 67) นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมคณะ เดินทางเข้ากระทรวงอุตสาหกรรมเป็นวันแรก เพื่อเตรียมการทำงาน แลกเปลี่ยนมุมมองกับคณะผู้บริหารระดับสูง โดยมีนายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นำเสนอภาพรวมการดำเนินงาน พร้อมแนะนำผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม

โดยนายเอกนัฏ กล่าวถึง 'การปฏิรูปอุตสาหกรรมไทย' (Industrial Reform) เพื่อรับโอกาสใหม่ที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของโลกใน 3 พันธกิจสำคัญเร่งด่วน ดังนี้...

1. จัดการกากอุตสาหกรรมตกค้างทั้งระบบอย่างเข้มงวด

2. ปกป้องอุตสาหกรรมไทยจากการทุ่มตลาด: ช่วยผู้ประกอบการรายย่อย ที่รับผลกระทบจากการทะลักเข้าของสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐาน และยกระดับขีดความสามารถ SME ไทย

3. สร้างอุตสาหกรรมแห่งอนาคต สร้าง New S-Curve กับประเทศ ด้วยสินค้าเกษตรเทคโนโลยีสูง พลาสติกชีวภาพ โอลีโอเคมี น้ำมันเชื้อเพลิง อุตสาหกรรมยานยนต์ EV ชิพเซมิคอนดักเตอร์ อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ

นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เตรียมที่จะรื้อปรับปรุง กฎหมาย กฎกระทรวงที่เกี่ยวข้อง พร้อมผสานความร่วมมือกับภาคประชาชน เอกชน ท้องถิ่น และกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อบูรณาการงานให้สำเร็จตามเป้าหมายภายในระยะเวลาที่ชัดเจน

รวมถึงการจัดตั้ง 'กองทุนเพื่อการปฏิรูปอุตสาหกรรม' แบบครบวงจร เพื่อเพิ่มขีดความสามารถผู้ประกอบการไทย อัปสกิลผลิตแรงงานคุณภาพสูง ส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมด้วยเครื่องมือและเทคโนโลยี บริหารจัดการค่าจับปรับด้านสิ่งแวดล้อมแบบไม่ต้องพึ่งพางบกลาง

"ผมจะทำทันที ทำทุกวินาที ไม่ยอมจนกว่าจะทำให้สำเร็จ" รมว.อุตสาหกรรม กล่าวเสริม

หลังจากประชุมกับผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงแล้วนายเอกนัฏ และคณะ ได้ออกเดินทางทันที เพื่อสำรวจพื้นที่ที่มีสารเคมีรั่วไหลใน อ.บ้านค่าย จ.ระยอง ตามข้อร้องเรียนของประชาชน

'ผลสำรวจ' ชี้!! หนี้ครัวเรือนไทยปี 67 ทะลุ 6 แสน/ครัวเรือน สูงสุดในรอบ 16 ปี ส่วนใหญ่ก่อหนี้ที่ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น 'ลงทุน ประกอบอาชีพ-บ้าน-รถ'

(11 ก.ย. 67) นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า จากการสำรวจจากทั่วประเทศ จำนวน 1,300 ตัวอย่าง ตั้งแต่วันที่ 1-7 กันยายน 2567 พบว่า คนไทยมีหนี้เฉลี่ย 606,378 บาท/ครัวเรือน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 8.4% เพิ่มขึ้น 47,000 บาท

เมื่อเทียบจากปี 66 และ สูงสุดในรอบ 16 ปีตั้งแต่ทำการสำรวจในปี 52 ที่มีหนี้สินครัวเรือนเฉลี่ยต่อครัวเรือนที่ 143,476.32 บาท ส่วนการผ่อนชำระต่อเดือนปี 67 อยู่ที่ 18,787.38 บาท เพิ่มขึ้นจากปี 66 ที่อยู่ 16,742 บาท 

และสูงสุดเป็นอันดับ 7 ของโลก คิดเป็น 90.4-90.8% ของจีดีพีประเทศ โดยมีอัตราภาระการผ่อนชำระ18,787บาท/เดือน

โดยสาเหตุที่ก่อให้เกิดปัญหาหนี้ครัวเรือนเกิดจากสภาพเศรษฐกิจที่ชะลอตัว และ รายรับไม่พอกับรายจ่าย ประกอบกับ ปัจจุบันคนกู้หนี้นอกระบบมากกว่าในระบบมากขึ้น และจากผลการสำรวจชี้ให้เห็นว่าส่วนใหญ่ กู้เพื่อนำไปลงทุน ประกอบอาชีพ ซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค ซื้อสินทรัพย์คงทนอาทิ บ้าน และรถ ซึ่งเป็นหนี้ที่ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น แต่ก็ยอมรับว่าหนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้นส่งผลทางจิตวิทยา ด้านความเชื่อมั่นของนักลงทุนจากต่างชาติ

"ปัญหาหนี้ครัวเรือนก่อนปี 2556 คนอื่นไม่ถึง 80% ต่อจีดีพี เรามีปัญหาน้ำท่วมใหญ่ในปี 2557 อัตราการขยายตัว หรือ จีดีพีติดลบ ผ่านมา 11 ปี ปัญหาหนี้ครัวเรือนยังไม่ถูกการแก้ไขให้ต่ำกว่า 80% ต่อจีดีพี"

อยากให้ภาครัฐชำแหละหนี้ให้ชัดเจน ยกตัวอย่าง ทางธกส. มีข้อมูลหนี้เกษตรกร ทางออมสิน มีข้อมูลหนี้ธนาคารประชาชน ทางธอส. มีข้อมูลหนี้บ้าน ถ้าทำได้เราจะหาวิธีแก้ที่ตรงจุด

อย่างไรก็ดี คาดว่าหากสามารถจ่ายเงินดิจิทัลวอลเล็ตล็อตแรก 1.4 แสนล้านบาท ให้กลุ่มเปราะบาง 14.5 ล้านคน ภายใน 20 ก.ย. นี้ จะทำให้มีเงินหมุนในระบบเศรษฐกิจ 2 รอบ ทำให้จีดีพีไตรมาส 4 โต 3.5-4% ผลักให้จีดีพีโตเพิ่มได้ 0.2-0.4 % และทำให้จีดีพีทั้งปีนี้ โตเพิ่มจาก 2.5% เป็น 2.8% ได้ เพราะมั่นใจว่ากลุ่มนี้จะมีการใช้จ่ายทันที

นางอุมากมล สุนทรสุรัติ ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย จากการเปรียบเทียบรายได้และค่าใช้จ่ายของครัวเรือนในปัจจุบันพบว่า จากกลุ่มตัวอย่างรายได้ต่อเดือนของครัวเรือน มีรายได้ 5,000-15,000 บาท 3% มีรายได้ 15,001-30,000 บาท 15.2% มีรายได้ 30,001-50,000 บาท 18% มีรายได้ 50,001-100,000 บาท 34.7% มีรายได้มากกว่า 100,000 บาทขึ้นไป 29.1%

ทั้งนี้ การเก็บออมเพื่อใช้ในยามฉุกเฉินในปัจจุบัน พบว่า ไม่เคยเก็บออม 48.1% มีเพียงพอสำหรับค่าใช้จ่าย 6 เดือนขึ้นไป 22.6% มีเพียงพอสำหรับค่าใช้จ่าย 3-6 เดือน 16% มีแต่น้อยกว่าค่าใช้จ่าย 3 เดือน 13.3% ขณะที่การเก็บออมเทียบกับปีก่อน ลดลง 46.8% 

สำหรับพฤติกรรมการใช้จ่ายของครัวเรือน โดยสัดส่วนค่าใช้จ่ายของกลุ่มตัวอย่าง พบว่า ใช้จ่ายค่าอาหารและเครื่องดื่ม (ไม่มีแอลกอฮอล์) 23.2% ค่าเดินทาง / ยานพาหนะ 10.2% ค่าที่อยู่อาศัย / เครื่องใช้ / เครื่องเรือน 8.7% ยาสูบ / เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ 8.2% ของใช้ส่วนตัว 8.1% ค่าใช้ด้านการท่องเที่ยว 7.9% เวชภัณฑ์และค่ารักษาพยาบาล 7.1% ค่าใช้จ่ายด้านการศึกษา 7% ค่าใช้จ่ายด้านการสื่อสาร 6.8% กิจกรรมศาสนา 6.8% และการบันเทิง จัดงานพิธี จัดเลี้ยง 6% 

หากเปรียบเทียบรายได้และค่าใช้จ่ายของครัวเรือนในปัจจุบัน พบว่า รายได้ครัวเรือนน้อยกว่ารายจ่าย 46.3% รายได้ของครัวเรือนเท่ากับรายจ่าย 35% รายได้ครัวเรือนมากกว่ารายจ่าย 18.7%  

การแก้ไขปัญหากรณีที่รายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่ายในปัจจุบัน กลุ่มตัวอย่างเลือกวิธีการแก้ไขปัญหาโดยการกู้ยืมจากแหล่งต่าง ๆ 55% มากจากการกดเงินสดจากบัตรเครดิต 24.8% กู้จากธนาคารพาณิชย์ 23.7% กู้ธนาคารเฉพาะกิจ 21.2% จำนำทรัพย์ที่มี 7.9% กู้เงินสหกรณ์ 7.6% เป็นต้น

โดยในช่วง 1 ปีที่ผ่านมาคนส่วนมาก 71.1% เคยผิดนัดชำระหนี้ และ 28.4 % ไม่เคย ซึ่งปัจจัยที่ทำให้ผิดนัดชำระหนี้มากที่สุดคือ เศรษฐกิจไม่ดี รองลงมาคือรายได้ลดลง สภาพคล่องธุรกิจลดลง ราคาพืชผลเกษตรตกต่ำ ค่าครองชีพเพิ่มสูงขึ้นเป็นต้น

'รมว.เอกนัฏ' ลุยงานเชิงรุก สางปม 'กาก-น้ำ-อากาศพิษ' กระทบประชาชนเตรียมยกเครื่องจัดการกากอุตสาหกรรมทั้งระบบอย่างเป็นรูปธรรม

(11 ก.ย. 67) นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ลุยงานเชิงรุก ลงพื้นที่บริษัท วินโพรเสส จำกัด อำเภอบ้านค่าย จังหวัดระยอง รับฟังข้อมูล เพื่อวางแนวทางการแก้ไขปัญหาการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมทั้งระบบ โดยมี ดร.ณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม และคณะผู้บริหารระดับสูงกระทรวงอุตสาหกรรม เข้าร่วม

นายเอกนัฏ กล่าวว่า จากปัญหาการลักลอบทิ้งกากของเสียอุตสาหกรรมออกสู่สิ่งแวดล้อมและพื้นที่สาธารณะ นำไปสู่การรั่วไหลแพร่กระจายของสารมลพิษเป็นพื้นที่ปนเปื้อนในหลายพื้นที่ ก่อให้เกิดความเสียหายและส่งผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพอนามัยของประชาชนเป็นวงกว้าง ซึ่งตนได้รับเรื่องร้องเรียนจากชาวบ้านและติดตามสถานการณ์มาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกรณีของ บริษัท วินโพรเสส จำกัด อำเภอบ้านค่าย จังหวัดระยอง ที่เกิดเหตุเพลิงไหม้อาคารโรงงานที่มีการลักลอบเก็บกากของเสียและสารอันตรายจำนวนมาก ทำให้สารเคมีและสารมลพิษเกิดการแพร่กระจายและชะล้างออกสู่พื้นที่ภายนอก สร้างปัญหาและความเดือดร้อนให้แก่ชาวบ้านข้างเคียง 

"วันนี้ ได้ลงพื้นที่ร่วมกับคณะผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อรับฟังข้อมูลข้อเท็จจริงและผลกระทบจากการแพร่กระจายของมลพิษ ตลอดจนแนวทางและการดำเนินการแก้ปัญหาด้วยตนเอง เพื่อวางแนวทางการจัดการกากอุตสาหกรรมตกค้างอย่างเข้มงวด พร้อมยกระดับการบริหารจัดการกากอุตสาหกรรมทั้งระบบอย่างเป็นรูปธรรม"

นอกจากนี้ รมว.อุตสาหกรรม ยังเตรียมที่จะรื้อปรับปรุงกฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง จัดตั้งกองทุนเพื่อการปฏิรูปอุตสาหกรรมแบบครบวงจร พร้อมผสานความร่วมมือกับภาคประชาชน เอกชน ท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อบูรณาการงานให้สำเร็จตามเป้าหมายภายในระยะเวลาที่ชัดเจน ยกระดับความปลอดภัยในพื้นที่โรงงานอุตสาหกรรม และสร้างความเชื่อมั่นให้กับชุมชนที่อาศัยอยู่โดยรอบ ต่อไป

ด้าน ดร.ณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า กรณีของ บริษัท วินโพรเสส จำกัด อำเภอบ้านค่าย จังหวัดระยอง กระทรวงอุตสาหกรรมได้ฟ้องร้องต่อศาลจังหวัดระยองและเร่งรัดให้บริษัทฯ ทำการบำบัดกำจัดกากของเสียและสารอันตรายในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งเกิดเหตุเพลิงไหม้ในช่วงเช้าของวันที่ 22 เมษายน 2567 ทำให้สารเคมีและสารมลพิษเกิดการแพร่กระจายและชะล้างออกสู่พื้นที่ของชาวบ้านข้างเคียง โดยในระยะเร่งด่วน กระทรวงอุตสาหกรรมได้เร่งดำเนินการ ดังนี้...

1)  ทำการเบี่ยงทางน้ำป้องกันปริมาณน้ำฝนไม่ให้ไหลกัดเซาะบ่อกักเก็บน้ำเสียและชะล้างสารเคมีหรือกากอุตสาหกรรมไหลปนเปื้อนออกสู่พื้นที่ของชาวบ้านข้างเคียง ซึ่งปัจจุบันดำเนินการติดตั้งระบบไฟฟ้า เครื่องสูบน้ำและวางระบบท่อพร้อมใช้งาน โดยได้รับการสนับสนุนจากภาคอุตสาหกรรมผ่านกิจกรรม 'อุตสาหกรรมรวมใจ' เช่น บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด กลุ่มบริษัทในเครือเอสซีจี บริษัท อูเบะ เคมิคอลส์ (เอเชีย) จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) 

2) เร่งทำการบำบัดกำจัดตะกรันอะลูมิเนียมโดยใช้งบประมาณ 4 ล้านบาท จากเงินที่วางไว้ต่อศาลจังหวัดระยอง 

และ 3) เร่งทำการบำบัดน้ำเสียในพื้นที่เพื่อลดการปนเปื้อนและรั่วซึมไปสู่พื้นที่ของชาวบ้าน นอกจากนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมจะเร่งทำการกำจัดของเสียทั้งหมดที่อยู่ภายในอาคารโรงงานและพื้นที่โดยรอบอาคาร และจะทำการบำบัดกำจัดของเสียที่อยู่ใต้ดิน ตลอดจนทำการฟื้นฟูพื้นที่ในระยะต่อไป เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้กับชาวบ้านโดยเร็วที่สุด 

"ผมจะต่อสู้กับปัญหาขยะพิษที่ทำร้ายชีวิตประชาชน ไม่อ่อนข้อให้ผลประโยชน์ ไม่เกรงกลัวต่ออิทธิพล เดินหน้า เร่งคืนน้ำที่สะอาด และอากาศที่บริสุทธิ์ให้คนไทย" รมว.เอกนัฏ กล่าวทิ้งท้าย

จับตา!! ร่างกฎหมายกำกับดูแลราคาน้ำมัน สกัดผู้ค้าปรับราคาตามอำเภอใจ การปฏิรูปโครงสร้างพลังงานไทยครั้งใหญ่เพื่อคนไทยจาก 'พีระพันธุ์'

(12 ก.ย. 67) เชื่อว่าหลาย ๆ คน คงจดจำโมเมนต์การเติมน้ำมันผิดวันได้เป็นอย่างดี ในวันที่เราเพิ่งเติมเต็มถัง กลับมีข่าวประกาศว่า “พรุ่งนี้น้ำมันลดราคา 30 สตางค์” หรือในวันที่เลิกงานช้าถึงบ้านดึก แล้วมาพบข่าวว่า “พรุ่งนี้น้ำมันขึ้น 60 สตางค์” 

แม้จะไม่ใช่มูลค่ามากมาย แต่ถ้าเลือกได้คงไม่มีใครอยากจ่ายแพงกว่าเดิมแน่ ๆ นี่ยังไม่รวมโมเมนต์หงุดหงิดกับราคาน้ำมันที่ถูกอ้างว่าขึ้นตามตลาดโลก แต่เวลาตลาดโลกลดลง ทำไมราคาน้ำมันในบ้านเรากลับยังเท่าเดิม จนทำให้คิดไปได้ว่า ผู้ค้าน้ำมันนึกอยากจะขึ้นก็ขึ้นใช่หรือไม่?

ประเด็นที่เกิดขึ้นนี้ จึงเป็นหนึ่งในภารกิจสำคัญที่นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ต้องการเร่งออกกฎหมายเพื่อมากำกับดูแลราคาน้ำมัน

แหล่งข่าวในกระทรวงพลังงาน มองว่า นับตั้งแต่ที่นายพีระพันธุ์ เข้ามาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานได้ 1 ปี เขาได้กลายเป็นรัฐมนตรีที่สร้างความแตกต่างไปจากอดีตรัฐมนตรีพลังงานในอดีตอย่างสิ้นเชิง 

แม้นายพีระพันธุ์จะมาจากสายกฎหมาย มิใช่ผู้บริหารระดับสูงจากบริษัทน้ำมัน และไม่มีประสบการณ์ด้านพลังงานมาก่อน แต่นายพีระพันธุ์สามารถใช้องค์ความรู้และความเชี่ยวชาญด้านกฎหมายเข้ามาจัดการแก้ไขปัญหาพลังงานที่หมักหมมมาตลอดหลายสิบปี โดยปัญหาราคาน้ำมันที่หมักหมมมาตลอดหลายสิบปี เป็นเพราะไม่มีใครสามารถรู้ราคาต้นทุนของน้ำมันเชื้อเพลิงมาก่อน ซึ่งเมื่อไม่รู้ต้นทุนที่แท้จริงก็ไม่สามารถกำหนดราคาที่เป็นธรรมได้ แต่กระทรวงพลังงานในยุคของนายพีระพันธุ์สามารถออกประกาศกระทรวงพลังงานที่กําหนดให้ผู้ค้าน้ำมันต้องแจ้งต้นทุน และมีผลบังคับใช้ในเดือนเมษายน 2567 ที่ผ่านมาแล้ว  

นอกจากประเทศไทยจะไม่เคยมีกฎหมายให้ผู้ค้าแจ้งต้นทุนราคาน้ำมันแล้ว เราก็ไม่เคยมีกฎหมายในการควบคุมการขึ้นลงของราคาน้ำมัน ซึ่งเรื่องนี้พี่น้องประชาชนเคยสงสัยกันมาตลอด สงสัยกันมานานแล้วว่า ทำไมกระทรวงพลังงานไม่ดูแลเลย นั่นเป็นเพราะกระทรวงพลังงานไม่มีกฎหมายอยู่ในมือจึงไม่มีอำนาจจะไปกำกับควบคุมการปรับราคาน้ำมันขึ้นหรือลงได้

ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีแต่กฎหมายในการอนุญาตให้ค้าน้ำมัน แต่ไม่มีกฎหมายในการกํากับดูแลราคาน้ำมัน ซึ่งเป็นเรื่องเหลือเชื่อมาก ๆ เพราะขนาดราคาค่าไฟฟ้า ยังมีคณะกรรมการกํากับกิจการพลังงาน เป็นผู้กํากับดูแลการปรับขึ้นราคาที่ต้องสมเหตุผล ขนาดการกํากับดูแลกิจการสื่อก็ยังมี กสทช. แต่ราคาน้ำมันไม่มีการกำกับดูแล และเป็นอย่างนี้มาหลายสิบปีแล้ว จึงทำให้กระทรวงพลังงานในยุคของนายพีระพันธุ์ ลุกขึ้นมาจัดทำร่างกฎหมายเพื่อกํากับดูแลการประกอบธุรกิจการค้าน้ำมันจนเสร็จเรียบร้อยแล้ว เพื่อให้กระทรวงมีอำนาจในการดูแลราคาน้ำมัน สกัดกั้นบรรดาผู้ค้าน้ำมันที่ปรับราคาขึ้นลงตามอำเภอใจ หรืออ้างขึ้นราคาตามตลาดโลก แต่เวลาราคาตลาดโลกลดกลับไม่ลดราคาตาม

แหล่งข่าวมองว่า ภารกิจที่ท้าทายในเรื่องน้ำมันนั้น ก็คือ การผลักดันกฎหมายเรื่องสํารองน้ำมันของประเทศ เพราะที่ผ่านมาหลายสิบปี ประเทศไทยไม่เคยมีการสํารองน้ำมันของประเทศเลย ที่อ้างอิงหรือระบุว่ามีนั้นมิใช่สํารองน้ำมันของประเทศ แต่เป็นสํารองน้ำมันของผู้ค้าน้ำมัน ซึ่งนั่นเท่ากับว่า เราปล่อยให้คนทั้งประเทศและเสถียรภาพทางพลังงานทั้งหมดตกอยู่ในมือของบรรดาผู้ค้าน้ำมัน 

ดังนั้นการจัดทำระบบสำรองน้ำมันทางยุทธศาสตร์เพื่อความมั่นคงของประเทศ หรือ SPR (Strategic Petroleum Reserve) จึงเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันให้อยู่ในระดับที่รัฐบาลสามารถควบคุมราคาได้เอง และหากสามารถผลักดันการสำรองน้ำมันของประเทศได้ นายพีระพันธุ์ก็ยังมีแผนที่จะนำน้ำมันสำรองมาดูแลแก้ไขปัญหาราคาน้ำมันแทนการใช้กลไกของกองทุนน้ำมันฯ เพื่อให้ประเทศไทยมีน้ำมันสำรอง และให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเปลี่ยนน้ำมันสำรองนี้มาเป็นสินทรัพย์ของกองทุน เพื่อให้การบริหารจัดการราคาน้ำมันของกองทุนน้ำมันกลายเป็นการสร้างทรัพย์สินของประเทศให้เพิ่มพูน กองทุนน้ำมันจะไม่ต้องแบกหนี้สินจากการตรึงราคาน้ำมัน และมิใช่ภาระหนี้สินของประเทศอีกต่อไป

สำหรับเรื่องพลังงานไฟฟ้า นายพีระพันธุ์ ก็กำลังผลักดันกฎหมายกำกับดูแลการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคา เพื่อให้ประชาชนสามารถผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ได้ง่ายขึ้น เพราะการติดตั้งในปัจจุบันมีความยุ่งยากทั้งเรื่องขออนุญาตและการติดตั้ง ซึ่งสาเหตุก็มาจากการที่ไม่มีกฎหมาย ซึ่งพอไม่มีกฎหมาย บรรดากระทรวงและ หน่วยงานต่าง ๆ ก็บอกว่าเป็นอํานาจของหน่วยงานตนเองหมดเลย ประชาชนก็ต้องวิ่งไปขออนุญาตทุกที่ เสียเวลาเสียค่าใช้จ่าย และสร้างความยุ่งยากกว่าจะได้ติดตั้ง แต่หากกฎหมายของกระทรวงพลังงานเสร็จเรียบร้อย จะเปรียบเสมือนการปลดล็อกให้ประชาชนสามารถติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์บนหลังคา หรือในพื้นที่บ้านได้สะดวกและง่ายขึ้น

และนอกจากการออกกฎหมายให้เข้าถึงพลังงานแสงอาทิตย์ได้ง่ายขึ้นแล้ว กระทรวงพลังงานก็กำลังหาทางช่วยให้ประชาชนเข้าถึงการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในราคาที่ถูกลง ด้วยการพัฒนาระบบต่าง ๆ ให้มีคุณภาพสูงแต่มีราคาถูกลง ได้แก่ ระบบแบตเตอรี่สำรอง เพราะการใช้ไฟฟ้าในตอนกลางคืนที่ไม่มีแสงแดด จะต้องใช้แบตเตอรีเก็บสํารองที่มีราคาแพงมาก กระทรวงพลังงานจึงได้มีการตั้งคณะกรรมการโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อประชาชน ซึ่งมีการประชุมมาอย่างต่อเนื่อง โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการทดสอบแผงโซลาร์เซลล์ระบบอินเวอร์เตอร์ และระบบแบตเตอรี่สำรอง ซึ่งทั้งหมดต้องผ่านการตรวจสอบจากหน่วยงานผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้ได้ชุดผลิตและสำรองไฟฟ้าที่มีมาตรฐานและความปลอดภัย โดยโจทย์สำคัญที่สุดคือจะต้องทำให้มีราคาที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้

'อรวดี' ชี้!! ชีพจรเศรษฐกิจไทย-โลก พร้อมทิศทางการลงทุนที่น่าจับตา

รายการ THE TOMORROW มหาชนต้องรู้ ออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES เมื่อวันที่ 14 ก.ย.67 ได้พูดคุยกับคุณอรวดี ศิริผดุงธรรม Senior Investment Advisory ถึงทิศทางการลงทุนในจังหวะที่การเมืองเริ่มนิ่ง ว่า...

ด้วยการขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่มีทิศทางมากขึ้น รวมถึงนโยบายของภาครัฐที่เตรียมเดินหน้า ทำให้บรรยากาศการลงทุนโดยเฉพาะในตลาดหุ้นไทยกลับมาคึกคัก ในขณะที่กระทรวงการคลัง ก็ได้มีนโยบายระดมทุนผ่านกองทุนวายุภักษ์ ซึ่งจะเริ่มเปิดขาย 16-20 ก.ย.นี้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นกลไกเสริมสร้างการออม และการลงทุนให้กับประชาชน ตลอดจนสนับสนุนการพัฒนาตลาดเงิน และตลาดทุน ทำให้นักลงทุนเชื่อมั่นมากขึ้น 

แต่ในด้านของตลาดทองคำ ยังมีความผันผวน ถ้าพิจารณาให้ดีในช่วงกันยายนของทุกปี จะเป็นช่วงที่นักลงทุนนิยมขายสินทรัพย์มั่นคง เช่น ทองคำ สกุลเงินดิจิทัล ออกไปมาก เนื่องจากนักลงทุนอยากปรับพอร์ตและลงทุนในทรัพย์สินที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่าในระยะสั้น ๆ 

ส่วนการลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ คาดว่า ยังเติบโตในบางกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มตลาดบ้านและคอนโดมิเนียม พูลวิลล่า ระดับราคา 100 ล้านบาทขึ้นไป โดยเฉพาะที่จังหวัดภูเก็ตเติบโตมาก โดยได้รับความสนใจจากเศรษฐีรัสเซีย, ไต้หวัน, ฮ่องกง และสิงคโปร์ เป็นจำนวนมาก 

เมื่อถามถึงเทรนด์การทำธุรกิจในอนาคต? คุณอรวดี มองว่า ควรพิจารณาจากเมกะเทรนด์ให้มากขึ้น เช่น คนจีนยุคใหม่นิยม 'แข่งกันประหยัด' และหลายประเทศทั่วโลกก็เริ่มมาหันมาสนใจ หรือแม้แต่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายใต้แนวคิด Zero Waste ตรงนี้ต้องจับตาให้ดี เพราะถ้าเราทำธุรกิจอะไรที่เกี่ยวข้องและตอบโจทย์เทรนด์เหล่านี้ก็มีโอกาสเติบโตสูง 

เมื่อถามถึงภาพรวมเศรษฐกิจโลก? คุณอรวดี กล่าวว่า เริ่มที่สหรัฐฯ ต้องจับตามองการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐในวันที่ 5 พฤศจิกายนนี้ ระหว่าง นางกมลา แฮร์ริส กับ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งมีนโยบายหาเสียงแตกต่างกันอย่างสุดขั้ว โดยนักวิเคราะห์มองว่า ถ้านายโดนัลด์ ทรัมป์ ได้กลับมาเป็นประธานาธิบดีอีกครั้ง คงหนีไม่พ้นที่จะขับเคลื่อนนโยบายด้านกำแพงภาษีแบบสุดโต่ง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลกได้ ขณะเดียวกันหาก นางกมลา แฮร์ริส ได้เป็นประธานาธิบดี อาจส่งผลดีกว่า เพราะไม่ได้ชูนโยบายด้านกำแพงภาษีสุดโต่งแบบนายโดนัลด์ ทรัมป์ 

ส่วนเศรษฐกิจยุโรป ยังคงมีปัญหาค่าครองชีพสูงขึ้น เนื่องจากภาวะวิกฤตด้านพลังงานซึ่งตอนนี้ยุโรปใกล้เข้าสู่ฤดูหนาวแล้ว ทำให้ธนาคารกลางยุโรป (European Central Bank) ประกาศลดดอกเบี้ยไปก่อนหน้านี้แล้ว เพื่อให้เศรษฐกิจเดินหน้าเต็มที่ 

ส่วนจีน การบริโภคภายในประเทศลดลงอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะการบริโภคน้ำมันเนื่องจากการขนส่งลดลง รวมถึงปัญหาอสังหาริมทรัพย์ที่ยังคงมีปัญหาต่อเนื่อง 

ส่วนอาเซียน มาเลเซียและอินโดนีเซีย มีการปรับตัวเข้าสู่ธุรกิจเทรนด์ใหม่ เน้นธุรกิจ AI เพิ่มมากขึ้น 

ในด้านการลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ Fed (The Federal Reserve) คุณอรวดี เผยว่า จะมีการประชุมอีกครั้งประมาณกลางเดือนกันยายนนี้ โดยนักวิเคราะห์มองว่ามีโอกาสสูงที่ Fed จะปรับลดดอกเบี้ยลง 0.25 เนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ส่งสัญญาณชะลอตัวชัดเจน อัตราเงินเฟ้อเริ่มคลี่คลาย และที่สำคัญใกล้ช่วงเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ซึ่งจากสถิติที่ผ่านมา ตลาดเงิน ตลาดทุน ส่วนใหญ่จะได้รับข่าวดีในช่วงนี้ ซึ่งจะทำให้ตลาดกลับมาคึกคักอีกครั้ง 

‘Amity’ เทคโอเวอร์ ‘Tollring’ ยักษ์ใหญ่ AI สัญชาติอังกฤษ ช่วยเร่งเครื่องสู่ความเป็นผู้นำด้าน GenAI ในเวทีโลก

(12 ก.ย. 67) ‘อะมิตี้ โซลูชั่นส์’ (Amity Solutions: ASOL) หนึ่งในผู้พัฒนาซอฟต์แวร์และเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์สร้างสรรค์ (GenAI) ของไทย ประกาศเข้าซื้อหุ้นและกลายเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ใน ‘โทลล์ริง’ (Tollring) ผู้ให้บริการชั้นนำด้านการวิเคราะห์การโทรและระบบธุรกิจอัจฉริยะ มีสำนักงานใหญ่อยู่ในสหราชอาณาจักร

โทลล์ริง ได้รับการยอมรับว่า เป็นหนึ่งในผู้ให้บริการชั้นนำระดับโลกด้านโซลูชันการวิเคราะห์การโทรและระบบธุรกิจอัจฉริยะ โดยให้บริการแก่ธุรกิจกว่า 20,000 แห่งในสหราชอาณาจักร, ยุโรป, สหรัฐอเมริกา และออสเตรเลีย ซึ่งเฉิดฉายและมีชื่อเสียงจากการใช้เทคโนโลยีเอไอ และเจนเอไอ อย่างสร้างสรรค์ในชุดผลิตภัณฑ์ของบริษัท

‘นายกรวัฒน์ เจียรวนนท์’ ประธานกรรมการบริหารและผู้ก่อตั้ง ASOL กล่าวว่า การเข้าซื้อหุ้นครั้งนี้ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในการเดินทางของ ASOL สู่การเป็น GenAI แชมเปี้ยนของไทย

“ความเชี่ยวชาญของ โทลล์ริง ในด้านระบบวิเคราะห์เสียงและการโทรด้วยเทคโนโลยี เอไอ สอดคล้องกับกลยุทธ์ของเราได้อย่างลงตัว และยังช่วยเพิ่มขีดความสามารถของเราในตลาดนี้ได้เป็นอย่างมาก”

ดีลมูลค่าระดับหลักพันล้านบาทนี้ คาดว่าจะก่อให้เกิดคุณประโยชน์สำคัญกับ ASOL เช่น เสริมแกร่งขีดความสามารถด้าน GenAI ความเป็นผู้นำตลาดของ โทลล์ริง ด้านระบบวิเคราะห์เสียงและสายโทรด้วยเทคโนโลยีเอไอ จะช่วยเป็นทั้งตัวเสริมและขยายโครงการด้าน GenAI ต่าง ๆ ที่มีอยู่เดิมของ ASOL

ทั้งเป็นการเพิ่มการเข้าถึงตลาดโลก การเข้าซื้อหุ้นครั้งนี้ช่วยเสริมแกร่งให้กับกลยุทธ์ของ ASOL ไปสู่ระดับนานาชาติ โดยต่อยอดจากรายได้และกำไรที่มาจากตลาดโลกที่มีอยู่เดิมได้อย่างมีนัยสำคัญ

ขณะที่ การผนึกกำลังด้านผลิตภัณฑ์ ชุดผลิตภัณฑ์ของโทลล์ริงสามารถผสานรวมเข้ากับผลิตภัณฑ์ปัจจุบันของ ASOL ได้อย่างราบรื่น สร้างโอกาสในการเกิดการผสานพลังร่วมกัน (cross-synergies) ในระดับโลก ซึ่งชุดผลิตภัณฑ์นวัตกรรมของโทลล์ริงช่วยติดสปีดความสามารถให้ธุรกิจต่างๆ ด้วยการมองเห็นและควบคุมการสื่อสารทางเสียงได้อย่างครอบคลุม อาศัยระบบวิเคราะห์การโทรขั้นสูง ข้อมูลเชิงลึกจากการสนทนาที่ขับเคลื่อนด้วยเอไอ และการผสานรวมกับแพลตฟอร์มการสื่อสารชั้นนำ องค์กรสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการโทร รับรองการปฏิบัติตามกฎระเบียบ และตัดสินใจโดยอิงจากข้อมูลเพื่อยกระดับประสบการณ์และปฏิสัมพันธ์กับลูกค้า

ผลิตภัณฑ์ของ โทลล์ริง มีฟีเจอร์หลักประกอบด้วยการบันทึกและวิเคราะห์ที่ขับเคลื่อนด้วย เอไอ เพื่อการตัดสินใจที่ดีขึ้น การวิเคราะห์การโทรขั้นสูงเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการมีปฏิสัมพันธ์กับลูกค้า และการวิเคราะห์การทำงานร่วมกันเพื่อการจัดการทีมได้อย่างมีประสิทธิผล

ความสามารถเหล่านี้ครอบคลุมการใช้งานต่าง ๆ เช่น การบันทึกการโทร การจัดการการปฏิบัติตามกฎระเบียบ การวิเคราะห์ปฏิสัมพันธ์กับลูกค้า และการวิเคราะห์การทำงานร่วมกัน ลูกค้าของ Tollring นั้นรวมถึงองค์กรชั้นนำต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น BT Group, KPN, Dstny, CallTower, Mitel และ NFON

‘นายโทนี่ มาร์ติโน่’ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หรือ ซีอีโอ ของ โทลล์ริง กล่าวว่า ช่วงหลายปีที่ผ่านมา การเดินทางของโทลล์ริง นับวันแล้วมีแต่ก้าวที่ยิ่งใหญ่ และความสำเร็จของบริษัท สร้างขึ้นบนพื้นฐานของวัฒนธรรมองค์กรที่ยอดเยี่ยม ควบคู่ไปกับกลยุทธ์ผลิตภัณฑ์ที่แข็งแกร่งที่บริษัทมุ่งเน้นอย่างจริงจังในการตอบสนองความต้องการของลูกค้า

“เรารู้สึกตื่นเต้นมากกับการเดินทางบทใหม่ของเราในฐานะส่วนหนึ่งของ ASOL ซึ่งจะทำให้เราสามารถส่งมอบคุณค่าและขยายขนาดธุรกิจในระดับที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนให้กับลูกค้าและพาร์ตเนอร์ของเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่และโอกาสอันมหาศาลในอุตสาหกรรมของเรา”

อย่างไรก็ตาม ดีลครั้งนี้ส่งผลให้ ASOL มีพนักงานใหม่เพิ่มขึ้นอีกประมาณ 120 คน มีสำนักงานอยู่ในลอนดอนและนิวเดลี ซึ่งช่วยเพิ่มความหลากหลายให้กับกลุ่มบุคลากรที่มีความสามารถในเวทีโลก อีกทั้งยังช่วยขยายฐานการดำเนินงานของบริษัท ขณะที่ การร่วมมือครั้งนี้ตอกย้ำถึงความมุ่งมั่นของ ASOL ในด้านนวัตกรรม เร่งเครื่องสู่ความเป็นผู้นำในด้าน GenAI ไม่เพียงแค่ในประเทศไทย แต่รวมถึงในเวทีโลก

'รัฐบาลแพทองธาร' ชัดเจน!! ประกาศนโยบาย 'ลดราคาค่าพลังงาน' พร้อมเดินหน้าปรับปรุงกฎหมายสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้ประเทศ

(12 ก.ย. 67) นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แถลงนโนบายต่อรัฐสภา โดยนโยบายที่ 3 จาก 10 นโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล คือ รัฐบาลจะเร่งออกมาตรการเพื่อลดราคาค่าพลังงานและสาธารณูปโภค ปรับโครงสร้างราคาพลังงานควบคู่กับการเร่งรัดจัดทำ ปรับปรุงกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง เช่น ข้อกำหนดเกี่ยวกับการทำสัญญาซื้อขายพลังงานได้โดยตรง (Direct PPA) รวมทั้งการพัฒนาระบบสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อความมั่นคงทางยุทธศาสตร์ของประเทศ (Strategic Petroleum Reserve: SPR) สำรวจหาแหล่งพลังงานเพิ่มเติม และการเจรจาประเด็นพื้นที่ทับซ้อนกับกัมพูชา (OCA) เพื่อลดต้นทุนด้านพลังงาน 

พร้อมกันนี้ รัฐบาลได้เดินหน้าผลักดันการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนสาธารณะ (Mass Transit) และการกำหนดโครงสร้างอัตราค่าโดยสารร่วมในเขตกรุงเทพมหานคร เพื่อรองรับนโยบาย 'ค่าโดยสารราคาเดียว' ตลอดสาย เพื่อลดภาระค่าเดินทาง

นอกจากนี้ สำหรับนโยบายระยะกลางและระยะยาวที่เกี่ยวข้องกับพลังงาน รัฐบาลจะส่งเสริมเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy or Eco-friendly Economy) โดยอาศัยจุดแข็งของที่ตั้งใกล้เส้นศูนย์สูตรเข้าถึงพลังงานแสงอาทิตย์ได้ตลอดทั้งปี เพื่อสนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นแหล่งผลิตพลังงานสะอาด ทั้งพลังงานแสงอาทิตย์ เช่น การติดตั้ง แผงโซลาร์เซลล์บนหลังคาและผืนน้ำ พลังงานน้ำ และพลังงานทางเลือกอื่นๆ รวมทั้งพัฒนาตลาดซื้อขายไฟฟ้าเสรีและคาร์บอนเครดิต (Carbon Credit) เพื่อความยั่งยืน และการเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานรูปแบบใหม่สำหรับทั้งการบริโภคภายในประเทศและการส่งออกพลังงานสู่ภูมิภาคอาเซียน รวมทั้งการปรับกระบวนการผลิตของภาคอุตสาหกรรม ภาคเกษตรกรรม และภาคธุรกิจบริการ ให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

นอกจากนั้น รัฐบาลจะสานต่อนโยบายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) เพื่อให้ประเทศไทยเป็นผู้นำของอาเซียนในด้านการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศ ซึ่งจะช่วยเปิดประตูบานใหญ่สู่การค้าโลกและช่วยสร้างข้อได้เปรียบให้ผู้ผลิตสินค้าและบริการในประเทศ และส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนญ์กลางด้านการซื้อขาย Carbon Credit ของอาเซียนผ่านตลาดหลักทรัพย์ไทย

สำหรับนโยบายเร่งด่วนทั้ง 10 นโยบาย ประกอบด้วย...

นโยบายที่ 1 รัฐบาลจะผลักดันให้เกิดการปรับโครงสร้างหนี้ทั้งระบบ

นโยบายที่ 2 รัฐบาลจะดูแลส่งเสริมพร้อมปกป้องผลประโยชน์ของผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะ SME

นโยบายที่ 3 รัฐบาลจะเร่งออกมาตรการเพื่อลดราคาค่าพลังงานและสาธารณูปโภค

นโยบายที่ 4 รัฐบาลจะสร้างรายได้ใหม่ของรัฐด้วยการนำเศรษฐกิจนอกระบบภาษี (Informat Economy) และเศรษฐกิจใต้ดิน (Underground Economy) เข้าสู่ระบบภาษี

นโยบายที่ 5 รัฐบาลจะเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยให้ความสำคัญกับกลุ่มเปราะบางเป็นลำดับแรก และผลักดันโครงการดิจิทัลวอลเล็ต (Digital Wallet)

นโยบายที่ 6 รัฐบาลจะยกระดับการทำเกษตรแบบดั้งเดิมให้เป็นเกษตรทันสมัย  

นโยบายที่ 7 รัฐบาลจะเร่งส่งเสริมการท่องเที่ยว

นโยบายที่ 8 รัฐบาลจะแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างเด็ดขาดและครบวงจร

นโยบายที่ 9 รัฐบาลจะเร่งแก้ไขปัญหาอาชญากรรม อาชญกรรมออนไลน์/มิจฉาชีพ และอาชญากรรมข้ามชาติ

นโยบายที่ 10 รัฐบาลจะส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพ และจัดสวัสดิการสังคม ให้สอดคล้องกับสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป

'ปตท.' รวมพลัง 'คนเล็กเปลี่ยนโลก' ให้ยั่งยืน จัดพิธีมอบรางวัลหญ้าแฝก-ลูกโลกสีเขียว

(12 ก.ย. 67) บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) (ปตท.) จัดพิธีมอบรางวัลการประกวดการพัฒนาและรณรงค์การใช้หญ้าแฝกอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ครั้งที่ 13 และ พิธีมอบรางวัลลูกโลกสีเขียว ครั้งที่ 22 ภายใต้แนวคิด 'คนเล็กเปลี่ยนโลก' ที่สะท้อนพลังของคนเล็กๆ กว่า 7,800 คนทั่วประเทศที่สามารถเปลี่ยนแปลงโลกให้ยั่งยืนได้จากการมุ่งมั่นทุ่มเทดูแล รักษา ฟื้นฟูและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติอันมีคุณค่า

สำหรับ พิธีมอบรางวัลการประกวดการพัฒนาและรณรงค์การใช้หญ้าแฝกอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ครั้งที่ 13 ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระราชทานโล่รางวัลแก่ผู้ชนะเลิศการประกวด 

ส่วนผู้ที่ได้รับรางวัลรองชนะเลิศและรางวัลชมเชยได้รับโล่พร้อมรับเกียรติบัตรจากองค์กรร่วมจัด อันประกอบด้วยมูลนิธิชัยพัฒนา สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.), กรมพัฒนาที่ดิน และบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) โดยมีผู้ได้รับรางวัลทั้งสิ้น 32 ผลงาน แบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่ ประเภทส่งเสริมการปลูกและขยายผล 22 รางวัล และ ประเภทส่งเสริมหัตถกรรมผลิตภัณฑ์จากใบหญ้าแฝก 10 รางวัล

ขณะที่ พิธีมอบรางวัลลูกโลกสีเขียว ครั้งที่ 22 โดยสถาบันลูกโลกสีเขียว มีผู้ได้รับรางวัล 38 ผลงาน จาก 5 ประเภทผลงาน คือ ประเภทชุมชน ประเภทบุคคล ประเภทกลุ่มเยาวชน ประเภทสิปปนนท์ เกตุทัต รางวัลแห่งความยั่งยืน และประเภทงานเขียน

ด้าน ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) กล่าวว่า “บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ในฐานะบริษัทพลังงานแห่งชาติ มีพันธกิจหลักในการสร้างความมั่นคงทางพลังงาน ควบคู่กับการดูแลสังคม สิ่งแวดล้อม และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างสมดุล ภายใต้วิสัยทัศน์ 'ปตท. แข็งแรงร่วมกับสังคมไทย และเติบโตในระดับโลกอย่างยั่งยืน' พร้อมทั้งให้การสนับสนุนการดำเนินงานการประกวดการพัฒนาและรณรงค์การใช้หญ้าแฝกอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และสถาบันลูกโลกสีเขียวมาอย่างต่อเนื่องกว่า 20 ปี เพื่อยกย่อง เชิดชู บุคคลต้นแบบด้านการดูแลรักษาความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของประเทศ”

ปตท. ให้ความสำคัญในการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมาโดยตลอด การจัดงานในปีนี้เป็นโอกาสอันดีที่เครือข่ายผู้ได้รับรางวัลทั้งสองรางวัล มีโอกาสได้มาพบปะ ร่วมแสดงความยินดี แลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงานอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมต่อยอด ขยายผลองค์ความรู้ สร้างภาคีเครือข่ายให้เข้มแข็ง สร้างผลลัพธ์ต่อคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่สังคมไทยในวงกว้าง รวมพลังทำให้โลกใบนี้น่าอยู่เพื่ออนาคตที่ยั่งยืน

'รมว.คลัง' รับ!! ดิจิทัลวอลเล็ต เฟส 2 แจกไม่ทันปี 67 ชี้!! ต้องดูหลายปัจจัย รวมถึงความพร้อมช่องทางการจ่าย

(13 ก.ย. 67) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงโครงการเงินดิจิทัลวอลเล็ต เฟสที่ 2 จะสามารถดำเนินการจ่ายได้วันไหน ว่า ขอดำเนินการเฟส 1 ให้เสร็จก่อน

ผู้สื่อข่าวถามว่า เฟสที่สองจะสามารถดำเนินการภายในปี 2567 ได้หรือไม่ นายพิชัยตอบว่า ”ไม่น่าจะทันครับ“

เมื่อถามว่า หากเป็นปี 2568 ในเฟสที่สอง จะสามารถดำเนินการได้ภายในเดือนใด นายพิชัย กล่าวว่า เราจะดูความต่อเนื่องอีก 2-3 เรื่อง โดยจะดูพร้อม ๆ กัน ว่าอันไหนดีที่สุด ส่วนจะได้ไตรมาสไหนนั้นจะต้องขอดูหลังจากนี้ก่อน

ส่วนการจ่ายเงินเฟสที่ 2 จะเป็นการแบ่งจ่ายอีกหรือไม่นั้น นายพิชัย กล่าวว่า ก็ต้องดูหลายปัจจัย ในความพร้อมทุก ๆ อย่าง รวมถึงความพร้อมของช่องทางการจ่ายด้วย

ผู้สื่อข่าวถามว่า งบประมาณที่เหลือจะไปดำเนินในโครงการใด หากว่าไม่นำมาใช้ในโครงการนี้ หรือมีโครงการอื่นรองรับแล้ว อย่างเช่นเรื่องการลงทุนต่าง ๆ นายพิชัย กล่าวว่า เรื่องนั้นเราถือว่ามีความสำคัญ ถ้าอะไรตัดปัญหาและสร้างความเข้มแข็งให้ประเทศก็ต้องมาที่หนึ่ง

เมื่อถามย้ำว่า การสร้างความเข้มแข็งคือ การลงทุนในระดับฐานรากใช่หรือไม่ นายพิชัย กล่าวว่า วิธีการจัดเงินก็คงต้องจัดอะไรที่สำคัญ และให้ผลต่อเนื่องอย่างเร็วที่สุด

เมื่อถามย้ำว่า เหตุใดถึงไม่สามารถจ่ายเงินในเฟสที่ 2 ได้ภายในปีนี้ นายพิชัยไม่ตอบ ก่อนเดินขึ้นตึกบัญชาการทันที


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top