ถอดบทเรียน 'แม่สายโมเดล' พายุยางิถล่ม-น้ำท่วมเชียงราย หนึ่งในผลลัพธ์จากภาวะโลกร้อน ที่ 100 ปีก่อนยังไม่เคยมี
รายการ THE TOMORROW มหาชนต้องรู้ ออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES เมื่อวันที่ 21 ก.ย.67 ได้พูดคุยกับ ดร.ก้องเกียรติ สุริเย ผู้เชี่ยวชาญด้านคาร์บอนเครดิต ในประเด็นถอดบทเรียนจากเหตุน้ำท่วมใหญ่ที่อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย
ดร.ก้องเกียรติ กล่าวว่า อุทกภัยที่แม่สาย จังหวัดเชียงราย เกิดจากปัญหาหลายมิติที่มีความซับซ้อนสูง ซึ่งอำเภอแม่สายเป็นพื้นที่พรมแดนติดประเทศเพื่อนบ้าน มีมิติทางด้านความมั่นคงอยู่ด้วย
"ขอยกเป็นกรณีตัวอย่าง 'แม่สายโมเดล' โดยการเกิดอุทกภัยครั้งนี้ คาดว่ามีสาเหตุเกิดจากภาวะโลกร้อนอย่างแน่นอน เพราะเมื่อ 80 ถึง 100 ปีก่อน ไม่เคยเกิดภัยพิบัตินี้ พายุที่พัดมารุนแรง เช่น พายุยางิ ก็ไม่ได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก แต่ถ้าวิเคราะห์จริง ๆ มันเกิดจาก โลกร้อนมากขึ้น กลายเป็นโลกเดือด เวลาโลกเดือดมันเดือดทั้งบนพื้นดินและบนพื้นน้ำ เวลาโลกเดือดเหนือมหาสมุทร ก็เหมือนเรากำลังต้มน้ำในหม้อ น้ำก็จะเดือดปุด ๆ กลายเป็นไอขึ้นมา โลกเดือดก็เหมือนกับการต้มน้ำกลายเป็นไอขึ้นไปบนชั้นบรรยากาศ"
ดร.ก้องเกียรติ เผยอีกว่า "ถ้าสังเกตดี ๆ วันนี้เรามองไม่เห็นยอดตึกแล้ว ส่วนใหญ่มองเห็นเป็นละอองฝอยปกคลุม คล้ายฝุ่น PM 2.5 แต่ไม่ใช่ เพราะเป็นไอน้ำที่ลอยขึ้นไปรอการควบแน่นและกลายเป็นฝนตกลงมา โดยเฉพาะบริเวณที่มีอากาศเย็น เช่น ยอดเขา ยอดภู ซึ่งทำให้บริเวณนั้นมีฝนตกหนักมากขึ้น แบบเทราด เรียกว่า Rain Bomb หรือ ระเบิดฝน ซึ่งสถานการณ์น้ำท่วมที่เชียงรายมีลักษณะนั้น"
ทั้งนี้ ดร.ก้องเกียรติ ได้กล่าวถึงสาเหตุน้ำท่วมใหญ่ที่เชียงราย โดยสรุปได้ 4 ประการ ดังนี้...
1.น้ำบนฟ้ามีมากขึ้น ทำให้เกิด Rain Bomb หรือ ระเบิดฝน
2.ดินซับน้ำน้อยลง หมายถึง พื้นดินขาดสมดุลในการดูดซับน้ำ เนื่องจากป่าไม้ลดลง โดยเฉพาะป่าไม้ซึ่งเป็นต้นแม่น้ำสายซึ่งอยู่ในประเทศเพื่อนบ้าน จากการวิเคราะห์ขี้เลนที่พัดมาที่แม่สายเป็นเลนนุ่ม ๆ เลนละเอียด แสดงว่าผ่านการกรองเศษดิน เศษไม้มาพอสมควรน่าจะถูกพัดมาเป็นระยะทางไกล
3.ทางระบายน้ำตีบตัน ตื้นเขินเวลาน้ำไหลผ่านแม่น้ำ ปกติต้องใช้ระยะเวลาหนึ่งถึงลงแม่น้ำโขงได้ เมื่อทางระบายน้ำตีบตัน ตื้นเขิน น้ำจึงเอ่อล้นเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชน ซึ่งในอดีตแม่น้ำสายมีความกว้าง 130-150 เมตร แต่ปัจจุบันกว้างเพียง 20-50 เมตร เท่านั้น
4.พื้นที่รับน้ำกลายเป็นเมืองมากขึ้น แก้มลิงหายไป ทำให้เกิดความเสียหายเป็นจำนวนมาก
ส่วนการรับมืออุทกภัยในอนาคต ดร.ก้องเกียรติ กล่าวว่า "เราควรเตรียมพร้อมและอยู่กับธรรมชาติให้ได้ โดยแบ่งเป็นส่วนของภาคประชาชน และภาครัฐ โดยส่วนของประชาชน 1.ควรพิจารณาการย้ายที่อยู่อาศัยเพื่อหลีกเลี่ยงทางน้ำ 2.ปรับเปลี่ยนรูปแบบบ้านให้กลับไปเป็นแบบดั้งเดิม สร้างบ้านใต้ถุนสูงขึ้น 3.เตรียมเรือไว้ให้พร้อม เตรียมข้าวสารอาหารแห้ง เพื่อดำรงชีวิตเวลาน้ำท่วม และในชุมชนร่วมกันสร้างเขื่อนกั้นน้ำให้สูงขึ้น ที่แม่สายตอนนี้สูง 1-2 เมตร อาจต้องปรับเพิ่มเป็น 3-5 เมตร
"ในส่วนของภาครัฐ (1) ควรมุ่งเน้นนโยบายการลดก๊าซเรือนกระจกอย่างจริงจังและรวดเร็ว (2) เพิ่มเติมการซับน้ำโดยการอนุรักษ์ป่าไม้ เคร่งครัดข้อกฎหมายทำลายป่า และรีบดำเนินการเรื่องภาษีคาร์บอน คาร์บอนเครดิต (3) นโยบายด้านต่างประเทศ เร่งหารือระหว่างไทย-พม่า เพื่อเพิ่มความกว้างของทางน้ำมากขึ้น หรือสร้างทางด่วนน้ำให้เหมาะสม รวมถึงการติดตั้งระบบเตือนภัยภาวะน้ำท่วมฉับพลัน ให้อยู่บริเวณต้นน้ำเพื่อแจ้งเตือนประชาชนได้ล่วงหน้ามากขึ้น"