Saturday, 12 October 2024
GoodsVoice

อีกหนึ่งแรงสำคัญ!! 'กลุ่ม ปตท.' เร่งส่งมอบถุงยังชีพช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยต่อเนื่อง หลังให้การช่วยเหลือผู้คนในภาคเหนือมาตั้งแต่เดือนสิงหาคม

(13 ก.ย. 67) ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) พร้อมด้วยผู้บริหารและพนักงาน ปล่อยรถบรรทุกถุงยังชีพไปยัง จ.เชียงราย เพื่อใช้ในการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ซึ่งสถานการณ์ยังคงวิกฤต 

ทั้งนี้ กลุ่ม ปตท. ได้ทยอยส่งมอบความช่วยเหลือพี่น้องผู้ประสบภัยในภาคเหนืออย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่เดือนสิงหาคม รวมมูลค่ากว่า 8.8 ล้านบาท ประกอบด้วย ถุงยังชีพ 16,350 ถุง น้ำดื่ม 64,700 ขวด ยารักษาโรค ผ้าห่ม เรือพาย และก๊าซหุงต้มเพื่อใช้ในการประกอบอาหาร โดย กลุ่ม ปตท. ได้ส่งมอบความช่วยเหลือผู้ประสบภัย จ.เชียงราย, แพร่, น่าน, พะเยา, พิษณุโลก และสุโขทัย ในรูปแบบต่าง ๆ ผ่านหน่วยงานภาครัฐทั้งในส่วนกลางและส่วนท้องถิ่น และส่งทีมปฏิบัติการ PTT Group SEALs ลงพื้นที่ที่ยากแก่การเข้าถึง เพื่อมอบถุงยังชีพ อพยพประชาชน เร่งบรรเทาทุกข์ในสถานการณ์วิกฤต อันเป็นพันธกิจสำคัญที่ กลุ่ม ปตท. ยึดถือปฏิบัติเสมอมาในการช่วยเหลือดูแลสังคมและชุมชน 

‘ปิยสวัสดิ์’ เผยสถานะ ‘การบินไทย’ จ่อยื่นขอพ้นแผนฟื้นฟูกิจการ ในปี 68 ย้ำ!! ไม่กลับเป็น ‘รัฐวิสาหกิจ’ อีก มุ่งบริหารแบบคล่องตัว-ไร้การแทรกแซง

(13 ก.ย. 67) สำนักข่าว ‘กรุงเทพธุรกิจ’ ได้เผยแพร่บทความบทสัมภาษณ์ของ ‘นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ถึงทิศทางดำเนินงานหลังออกจากแผนฟื้นฟูกิจการ โดยระบุว่า เป็นเวลา 4 ปี ที่เข้าสู่การฟื้นฟูกิจการนับตั้งแต่วันที่ 14 ก.ย. 63 ก่อนที่ศาลล้มละลายกลางจะเห็นชอบแผนฟื้นฟูกิจการเมื่อวันที่ 20 ต.ค. 65

ปัจจุบันการดำเนินงานตามแผนฟื้นฟูแล้วเสร็จต่อเนื่องทั้งการปรับโครงสร้างองค์กร คุมรายจ่าย ปรับลดพนักงานจาก 30,000 คน เหลือ 15,000 คน และปัจจุบันปรับเพิ่มมาอยู่ที่ 17,000 คน ซึ่งเป็นอัตราที่เพียงพอต่อการดำเนินธุรกิจภายใต้จำนวนเครื่องบินที่มี 79 ลำในปี 2567 และจะเพิ่มต่อเนื่องถึง 100 ลำ

ขณะเดียวกันการบินไทยทำตามเงื่อนไขเพื่อขอออกจากแผนฟื้นฟูกิจการ โดยกำหนดผลสำเร็จของแผนฟื้นฟูกิจการที่ต้องแล้วเสร็จรวม 4 เงื่อนไข ได้แก่ 

1.การเพิ่มทุนจดทะเบียน โดยต้องดำเนินการจดทะเบียนเพิ่มทุน และได้รับสินเชื่อใหม่ตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในแผน และมีจำนวนที่เพียงพอต่อการดำเนินธุรกิจ

2.ดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการ ไม่ผิดนัดชำระหนี้ได้ติดต่อกัน 5 ปี นับตั้งแต่วันที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งเห็นชอบด้วย 

3.มีกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) จากการดำเนินงานหลังหักเงินสดจ่ายหนี้สินตามสัญญาเช่าซื้อเครื่องบิน เฉลี่ยไม่น้อยกว่า 2 หมื่นล้านบาทต่อปี ใน 2 ปีก่อนจะรายงานผลสำเร็จของแผนฟื้นฟู

4.การแต่งตั้งคณะกรรมการใหม่ ในกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้น

“ผลการดำเนินงานขณะนี้กลับมาเป็นบวก กำไรปีก่อนดีที่สุดเท่าที่เคยดำเนินธุรกิจมา และเงื่อนไข EBITDA ไม่น้อยกว่า 2 หมื่นล้านบาท ก็ทำได้แล้ว เหลือเพียงการทำให้ส่วนทุนเป็นบวก ซึ่งเตรียมออกหุ้นกู้ แปลงหนี้เป็นทุน ถ้าทำได้เรียบร้อยจะทำให้ได้เงิน 8 หมื่นล้านบาท และส่วนทุนกลับมาเป็นบวก”

>>เตรียมยื่นไฟลิ่งเข้าซื้อขายตลาดหุ้น

นายปิยสวัสดิ์ กล่าวว่า การดำเนินงานที่เป็นบวกต่อเนื่องและทำให้บรรลุเงื่อนไข EBITDA ไม่น้อยกว่า 2 หมื่นล้านบาท ขณะนี้การบินไทยอยู่ช่วงฟื้นฟูกิจการขั้นสุดท้ายที่ต้องทำให้ส่วนทุนเป็นบวก 

โดยเตรียมยื่นแบบแสดงรายงานข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ และร่างหนังสือชี้ชวน (Filing) ให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ภายใน 30 ก.ย.นี้

หลังจากนั้นภายในเดือนพ.ย.2567 จะเริ่มกระบวนการใช้สิทธิ และแจ้งเจตนาแปลงหนี้เป็นทุนของเจ้าหนี้แต่ละกลุ่ม และภายในเดือนธ.ค.2567 จะเข้าสู่กระบวนการเสนอขาย และจองซื้อหุ้นเพิ่มทุน สำหรับผู้ถือหุ้นก่อนบริษัท เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ พนักงานบริษัท และนักลงทุนแบบเฉพาะเจาะจง (Private Placement : PP)

รวมทั้งหลังเริ่มกระบวนการปรับโครงสร้างทุน ซึ่งจะทำให้การบินไทยมีส่วนทุนเป็นบวกนั้น อาจต้องใช้เวลา 2 เดือน เพื่อตรวจสอบงบการเงิน และประกาศงบการเงินงวดปี 2567 ในช่วงเดือนก.พ.2568 หลังจากนั้นจะเริ่มยื่นคำร้องต่อศาลล้มละลายกลางเพื่อขอออกจากแผนฟื้นฟูกิจการ และหุ้นของบริษัท กลับเข้าซื้อขายใน ตลท.ภายในไตรมาส 2 ปี 2568

>>การบินไทยเดินหน้าแปลงหนี้เป็นทุน

สำหรับการปรับโครงสร้างทุนตามแผนฟื้นฟูกิจการแบ่งเป็น การแปลงหนี้เป็นทุน ด้วยราคา 2.5452 บาทต่อหุ้น โดยมาจากเงินต้นเจ้าหน้าที่ตามแผนแปลงหนี้เป็นทุน ซึ่งกลุ่มนี้ประกอบด้วย เจ้าหนี้กลุ่มกระทรวงการคลัง แปลงหนี้สัดส่วน 100% ของมูลหนี้เป็นทุน

เจ้าหนี้กลุ่ม 5 (สถาบันการเงินที่มีสิทธิตามสัญญาโอนสิทธิในการรับเงินจากการขายเครื่องบิน), เจ้าหนี้กลุ่ม 6 (สถาบันการเงินไม่มีประกัน) และเจ้าหนี้กลุ่มที่ 18-31 (เจ้าหนี้ผู้ถือหุ้นกู้) แปลงหนี้สัดส่วน 24.50% ของมูลหนี้เป็นทุน และส่วนเจ้าหนี้กลุ่ม 5-6 และเจ้าหนี้ผู้ถือหุ้นกู้ ยังแปลงหนี้เป็นทุนเพิ่มเติมคิดเป็นไม่เกิน 75.50%

ขณะเดียวกันกรณีเจ้าหนี้ใช้สิทธิตามข้อ 2 ไม่ครบ การบินไทยจะเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนด้วยราคาเสนอขายเป็นไปตามที่ผู้บริหารแผนกำหนด โดยไม่ต่ำกว่า 2.5452 บาทต่อหุ้น มีจำนวน 9,822 ล้านหุ้น บวกกับจำนวนหุ้นที่เหลือจากสิทธิตามข้อ 2 โดยเสนอขายเป็นตามลำดับ ประกอบด้วย ผู้ถือหุ้นเดิมก่อนการปรับโครงสร้างทุน หลังจากนั้นเสนอขายส่วนที่เหลือให้พนักงานการบินไทย และส่วนที่เหลือเสนอขายให้นักลงทุนแบบเฉพาะเจาะจง รวมจำนวนหุ้นจากการปรับโครงสร้างทุนไม่เกิน 31,500 ล้านหุ้น

>>ไม่ควรกลับไปเป็นรัฐวิสาหกิจ

ทั้งนี้ หลังปรับโครงสร้างทุนตามแผนฟื้นฟูกิจการจะทำให้สัดส่วนการถือหุ้นของกระทรวงการคลังลดจาก 48% เหลือ 30-40% แน่นอนว่าสถานะการบินไทยจะไม่กลับไปเป็นรัฐวิสาหกิจอีก ซึ่งจะทำให้บริหารธุรกิจคล่องตัว ทำงานเต็มที่ และไม่มีการแทรกแซงจากภายนอก

นอกจากนี้แม้กระทรวงการคลังจะซื้อหุ้นเพิ่มเติมหลังกลับเข้าซื้อขายใน ตลท.ได้ แต่ไม่ควรทำเช่นนั้นเพราะจะทำให้กลับไปเป็นแบบเดิม บริษัทต้องบริหารงานภายใต้การให้ความสำคัญข้อกฎหมาย และกฎระเบียบรัฐที่ใช้เวลาเกิน 50% ของการประชุมต้องพิจารณากฎระเบียบ ขณะที่ปัจจุบันเวลาส่วนใหญ่กว่า 95% พิจารณาประเด็นธุรกิจ ดังนั้นสถานะปัจจุบันจึงคล่องตัวมากกว่า

อีกทั้งเจ้าหนี้ส่วนใหญ่ต้องการให้การบินไทยอยู่สถานะบริษัทเอกชน เพราะต้องการให้บริหารงานแบบที่เป็นอยู่เพื่อสร้างรายได้ต่อเนื่อง และมีความสามารถ ในการจ่ายคืนหนี้ อีกทั้งเพื่อทำให้การบินไทยมีผู้ถือหุ้นหลากหลายและมีความเชี่ยวชาญทางธุรกิจมากขึ้น

“การเปิดขายหุ้นให้กลุ่ม PP เป็นแนวทางที่จะทำให้การบินไทยมีผู้ลงทุนหน้าใหม่ ซึ่งเป็นเรื่องดีเพราะจะมีผู้ถือหุ้นที่เชี่ยวชาญด้านการบินเข้ามา เพราะไม่อยากเห็นการบินไทยเป็นแบบเดิม คิดแบบราชการ การแต่งตั้งโยกย้ายเป็นไปด้วยการวิ่งเต้น ถ้าได้ผู้ถือหุ้นมีความรู้ด้านการบินนับเป็นเรื่องที่ดีกว่า”

ทั้งนี้ การบินไทยเริ่มเจรจาหาพันธมิตรเข้ามาซื้อหุ้นในกลุ่มที่จะเสนอขายให้นักลงทุนแบบเฉพาะเจาะจง ซึ่งเป็นทุนต่างชาติ และอยู่ในธุรกิจสายการบิน เพราะปัจจุบันในไทยไม่มีสายการบินใดที่บริหารกิจการ และทำรายได้ดีกว่าการบินไทย ดังนั้นต้องหาพันธมิตรจากต่างประเทศ คาดว่าได้ข้อสรุปเร็วๆ นี้ แต่จะซื้อหุ้นในสัดส่วนเท่าไรต้องรอดูจำนวนหุ้นที่เหลือจากการแปลงหนี้เป็นทุน

นายปิยสวัสดิ์ กล่าวว่า บทเรียนความผิดพลาดที่การบินไทยจะไม่กลับไปดำเนินการอีก ประเด็นสำคัญคือ เรื่องคน การเอาคนมาบริหารองค์กรต้องเป็นคนที่ทำงานได้ เพราะหากผู้บริหารไม่เก่ง ได้ตำแหน่งมาจากการวิ่งเต้น และการแทรกแซง ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตจะกลับไปเป็นการบินไทยแบบเดิม ดังนั้นต้องดูเรื่องนี้ให้ดี เพราะไม่อยากให้การบินไทยกลับไปซ้ำรอยเดิม

'รมว.เอกนัฏ' สั่งพักหนี้ SME ที่ได้รับผลกระทบทันที พร้อมสั่งการจัดส่งถุงยังชีพเพิ่มช่วยผู้ประสบภัย

(13 ก.ย. 67) นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากสถานการณ์อุทกภัยรุนแรงในพื้นที่ในภาคเหนือ ส่งผลกระทบชีวิตผู้คนทั้งในบ้านเรือนและโรงงานอุตสาหกรรมเป็นวงกว้าง ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรม ได้มีการสรุปรายงานสถานการณ์อุทกภัยที่ผ่านมา รวมทั้ง 14 จังหวัดที่ได้รับผลกระทบ มีสถานประกอบการได้รับความเสียหาย จำนวน 61 ราย คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 42.1 ล้านบาท และมีผู้ประกอบการ SME รายย่อย ได้รับผลกระทบโดยตรงและโดยอ้อม จำนวนไม่ต่ำกว่า 505 ราย (ข้อมูล ณ วันที่ 11 กันยายน 2567)

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้มีความห่วงใยพี่น้องประชาชนและสถานประกอบการ ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย จึงได้กำชับให้ทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เตรียมให้ความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน ขณะนี้ทางปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม (นายณัฐพล รังสิตพล) ได้มอบหมายให้สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด (สอจ.) ในพื้นที่ที่ประสบอุทกภัย เร่งสำรวจความเสียหายของสถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบว่ามีกี่ราย เสียหายอย่างไรบ้าง และเร่งส่งมอบถุงยังชีพ 'อุตสาหกรรมรวมใจ MIND ไม่ทิ้งกัน' ซึ่งเป็นการร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ เอกชน สถานประกอบการ โรงงานอุตสาหกรรมทั่วประเทศ ผ่านกิจกรรม 'อุตสาหกรรมรวมใจ ช่วยพี่น้องชาวไทย' บรรจุเครื่องอุปโภคบริโภคและสิ่งของจำเป็นถุงยังชีพรวมใจส่งมอบรอยยิ้ม เพื่อเป็นกำลังใจให้กับผู้ประสบอุทกภัยในการก้าวข้ามช่วงเวลาที่ยากลำบากไปได้

นอกจากนั้นยังเตรียมแผนการเยียวยาเต็มรูปแบบ หลังพื้นที่ประสบภัยน้ำเริ่มลดลง ให้หน่วยงานในสังกัด อก. เร่งเข้าไปให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการและประชาชน โดย...

1) จัดเตรียมเจ้าหน้าที่ ทีมวิศวกร หรือช่างชุมชนของโครงการอาชีพช่าง เข้าปรับปรุง ซ่อมแซม ฟื้นฟู เครื่องจักร ระบบไฟฟ้า 

2) จัดส่งเจ้าหน้าที่เข้าประเมินสภาพปัญหาให้คำปรึกษาปัญหาธุรกิจ วางแผน ฟื้นฟูสถานประกอบการ ผ่านศูนย์บริการธุรกิจอุตสาหกรรมดีพร้อม (DIPROM BSC) 

3) จัดส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปให้คำปรึกษาฟื้นฟูกระบวนการผลิต ระบบคุณภาพ GMP/HACCP/GHP มาตรฐานความปลอดภัย ผ่านศูนย์ DIPROM Center ในพื้นที่ส่วนภูมิภาค เพื่อให้ผู้ประกอบการและประชาชนสามารถกลับมาดำเนินการได้อย่างปกติโดยเร็ว 

4) การพักชำระหนี้ 3 เดือน สำหรับลูกหนี้กองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีฯ

"หลังน้ำลดและสถานการณ์คลี่คลาย ผมและคณะผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม จะเร่งลงพื้นที่เพื่อเข้าให้ความช่วยเหลือสถานประกอบการและพี่น้องประชาชนโดยรอบ ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรม ขอร่วมส่งกำลังใจให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยในครั้งนี้ ให้ทุกท่านผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปได้และกลับมาดำเนินชีวิตในรูปแบบปกติได้โดยเร็ว และจะเดินเคียงข้างพี่น้องประชาชนให้ก้าวข้ามช่วงเวลาที่ยากลำบากไปได้" รมว.เอกนัฏ กล่าวทิ้งท้าย

‘ผู้ว่าฯ ธปท.’ มอง!! การเติบโตเศรษฐกิจไทย ไม่ควรล่า ‘GDP’ แบบเดิมอีกต่อไป เผย!! ควรเน้นการเติบโตจากท้องถิ่น ชี้!! นี่คือ ‘กุญแจสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน'

เมื่อวานนี้ (13 ก.ย.67) ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวปาฐกถาพิเศษในงานสัมมนา ‘Big Heart Big Impact สร้างโอกาสคนตัวเล็ก..Power of Partnership จับมือไว้ไปด้วยกัน’ ที่จัดโดยสำนักข่าว Thaipublica ในหัวข้อ ‘สร้างไทยเข้มแข็งด้วยท้องถิ่นนิยม Localism Future of Thailand’ ว่า ประเทศไทยจะเติบโตแบบเดิมๆ ไม่ได้อีกต่อไป ต้องหารูปแบบการเติบโตใหม่ ๆ ที่ต่างไปจากที่เราเคยเติบโต

ตัวสะท้อนที่เห็นชัด ว่าเราจะเติบโตแบบเดิมไม่ได้ ด้านแรก หากดูในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา อัตราการเติบโตของจีดีพี ถือว่าไม่ได้สะท้อนเรื่องของความมั่งคั่งหรือรายได้ของครัวเรือนเท่าที่ควร 

โดยเฉพาะหากมองไปข้างหน้า อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มชะลอตัวลง จากปัญหาเชิงโครงสร้าง ดังนั้นแม้ตัวเลขจีดีพีเติบโต แต่ไม่ได้หมายความว่า รายได้หรือความมั่งคั่งของครัวเรือนหรือรายได้ต่างเพิ่มขึ้น 

ด้านที่สอง ในมุมของภาคธุรกิจ เห็นการกระจุกตัวค่อนข้างสูง โดยปัจจุบันสัดส่วนรายได้จากธุรกิจขนาดใหญ่ที่อยู่ที่ 5% แต่มีสัดส่วนรายได้สูงถึงเกือบ 90% เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง หากเทียบกับก่อนหน้าที่อยู่ระดับ 84-85%

สะท้อนการกระจุกตัวของรายได้ธุรกิจที่เพิ่มขึ้น มิหนำซ้ำ หากดูธุรกิจรายเล็กที่เพิ่งเกิดใหม่ และมีการก่อตั้งธุรกิจมาน้อยกว่า 5 ปีหลัก มีอัตราการปิดกิจการ หรือการตายที่เพิ่มสูงขึ้น สะท้อนถึง Dynamic ที่เริ่มลดลง สะท้อนการกระจุกตัวสูงขึ้น

ด้านที่สาม ภายใต้บริบทของโลกที่เปลี่ยนไป ทำให้อานิสงส์ที่ประเทศไทยเคยได้รับ ไม่เหมือนเดิม โดยเฉพาะ การพึ่งพาการลงทุนจากต่างประเทศหรือ FDI ที่เข้ามาในประเทศ ที่ไทยหวังพึ่งแบบเดิมไม่ได้เหมือนเดิม หากดูมาร์เก็ตแชร์ของไทยเคยอยู่ที่ 0.57%  ซึ่งสูงกว่าเพื่อนบ้านอย่างอินโดนีเซีย เวียดนาม มาก แต่ปัจจุบัน FDI  เวียดนามแซงไทยไปมาก

สะท้อนให้เห็นว่าเราทำแบบเดิมไม่ได้อีกต่อไป ไม่เหมือนอดีตที่เรามีเสน่ห์แม้เรานั่งเฉยๆ เขาก็วิ่งมาหาเรา แต่ตอนนี้ไม่ใช่อีกต่อไป ดังนั้นประเทศไทยต้องปรับตัว ต้องออกแรงมากขึ้น จะหวังพึ่งต่างชาติไม่ได้เหมือนเดิม หมายความเราจำเป็นที่ต้องพึ่งความเข้มแข็งภายในของเรามากขึ้น

“เราไม่ควรโตแบบล่าตัวเลขอย่างเดียว ล่าจีดีพี ล่า FDI เพราะการเติบโตที่ผ่านมาก็ไม่ได้สะท้อนไปสู่เรื่องของชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น แต่ตัวเลขที่ต้องล่าคือ ชีวิตความเป็นอยู่ของคน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องรายได้คน ความมั่งคั่งของคน ที่เป็นสะท้อนคุณภาพของชีวิตความเป็นอยู่ของคน เช่น ตัวเลขสาธารณสุข การศึกษา และโอกาสต่างๆ เพราะตัวเลขวันนี้ไม่ได้สวยหรูเหมือนเมื่อก่อน”

ดังนั้นการเติบโตอย่างยั่งยืนมากขึ้น เข้มแข็งกว่าเดิม หรือเติบโตบนรูปแบบใหม่ ต้องอาศัยหลายๆ เรื่อง ภายใต้ More Local 

ด้านแรก เน้นการเติบโตแบบท้องถิ่นมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันประชากร 80% อยู่นอกพื้นที่ กทม./ปริมณฑล

ซึ่งต้องสร้างความมั่งคั่งนอกพื้นที่ และด้านที่สอง ธุรกิจประมาณ 80% อยู่นอกพื้นที่ กทม./ปริมณฑล ซึ่งหากดูสัดส่วนประชากรเมืองหลวง และเมืองรองมีช่องว่าง (Gap) มหาศาล และด้านที่สาม จากตัวเลข World Bank

สะท้อนว่าการเติบโตจีดีพีสูง แต่การเติบโตของประชากรเพียง 0.22% เท่านั้น 

อย่างไรก็ดี การเติบโตแบบท้องถิ่น จะต้องโตแบบแข่งขันได้ และเป็นการแข่งขันกับโลกได้ด้วย ไม่เฉพาะแข่งขันเฉพาะจังหวัดเท่านั้น แต่การเติบโตที่แข่งขันได้ ต้องก้าวข้ามหลายด้าน 

ซึ่งสิ่งที่ไม่ควรทำ หรือของที่ไม่ใช่

ด้านแรก การเติบโตโดยอาศัยความหนาแน่นของพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ที่เริ่มส่งผลกระทบ จากความหนาแน่นเหล่านี้แล้ว ทั้งความแออัด ต้นทุนที่สูงขึ้น ที่เริ่มเห็นจีดีพีต่อหัวของกรุงเทพฯ และปริมณฑลที่ชะลอตัวลง 

ด้านที่สอง นโยบายที่เน้นการกระจายความเจริญไปพื้นที่ต่างๆ ที่ไม่ค่อยประสบความสำเร็จมากนัก เช่น การพยายามไปพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ  หรือ Special Economic Zone  เพื่อดึงดูดความมั่งคั่งการลงทุนต่าง ซึ่งจากการทำมาตั้งแต่ ปี 2558 พบว่ามีมูลค่าลงทุน หากเทียบกับสัดส่วนของมูลค่าการออกบัตรส่งเสริมการลงทุนในประเทศทั้งหมด ที่พบว่าอยู่เพียง 0.5% หรือไม่ถึง1%  ดังนั้นแม้นโยบายเหล่านี้ เป็นเจตนารมณ์ที่ดีของนโยบายรัฐ เพื่อหวังให้เกิดการกระจายความเจริญ แต่หากไม่ได้ศักยภาพต่างๆ นโยบายพวกนี้อาจเป็นนโยบายที่ไม่ใช่ 

ส่วนสิ่งที่ ‘ใช่’ คือ การสร้างท้องถิ่นสากลให้มีเอกลักษณ์ที่แตกต่างกัน จุดเด่นแต่ละพื้นที่ไม่เหมือนกัน ทั้งทรัพยากร และประวัติศาสตร์ แต่จะต้องแข่งขันกับโลกได้ด้วยต้นทุนที่ต่ำ แต่มีมูลค่าสูงขึ้น โดยการที่ทำให้ท้องถิ่นสากลได้ ต้องมี 5-6 เรื่อง 

1.เชื่อมกับตลาด แต่จากท้องถิ่นที่ไม่หนาแน่น กระจายไม่เยอะ ทำให้ต้นทุนจะต่ำได้น้อยมาก แต่กระแสออนไลน์จะทำให้การเชื่อมกับตลาดได้ง่ายขึ้น

2.สร้างมูลค่าเพิ่มโดยการหาจุดเด่น และเอกลักษณ์ 

3.ร่วมมือกับพันธมิตร (Partner) จะช่วยได้ โดยตัวเล็กจับมือกับตัวใหญ่ เพื่อสร้างโอกาสที่เป็น Win-Win

4.ทำให้เมืองรองโต ทำให้เกิดการเข้าถึงเมืองรอง สร้างการกระจุกตัวในเมืองใหม่ ๆ 

5.ให้ท้องถิ่นบริหารจัดการเองได้ เพราะอะไรที่จากส่วนกลางแบบ One size fits all จะไม่เหมาะกับทุกพื้นที่ เช่น ต่างประเทศที่พัฒนาได้ดี อาทิ เกาะเจจู ของเกาหลีที่ให้พื้นที่ออกนโยบายเอง ทำให้รายได้ต่อหัวเพิ่มขึ้นเป็น 10 เท่า จากเดิมอยู่ที่ 1,500 ดอลลาร์

6.สร้างระบบติดตาม ประเทศที่ทำได้ดี คือ เวียดนาม ที่มีการคำนวณความสามารถในการแข่งขันในแต่ละจังหวัด และแต่ละพื้นที่ โดยมีการสำรวจความเห็นนักลงทุนถึงกฎระเบียบการลงทุน และอุปสรรคมีอะไรบ้าง เพื่อพยายามให้เกิดความสามารถในการแข่งขัน 

เพจดังชี้!! ท่องเที่ยวโดดเด่น เดินทางสะดวก ดึงดูดนักลงทุน

(15 ก.ย. 67) เพจ ‘Bangkok I Love You’ โพสต์ข้อความ โดยระบุว่า …

การลงทุนสร้างสวนสนุกขนาดใหญ่ที่มีมาตรฐานระดับโลก เช่น ดิสนีย์แลนด์ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ในอำเภอบางปะอิน จังหวัดอยุธยา ซึ่งเป็นเมืองชั้นนอกกรุงเทพมหานครที่มีศักยภาพสูง ทั้งด้านตำแหน่งที่ตั้งและโครงสร้างพื้นฐาน

สวนสนุกขนาดใหญ่เป็นสถานที่ที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ให้เดินทางเข้ามาเที่ยว
โดยมีข้อดีหลายประการดังนี้

1.ประเทศไทยเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางยอดนิยมของนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก โดยมีจำนวนผู้เยี่ยมชมมากเป็นอันดับต้น ๆ ของโลกทุกปี สถานที่ตั้งในอำเภอบางปะอินซึ่งอยู่ใกล้กับกรุงเทพมหานครและเมืองมรดกโลกอย่างอยุธยา จะช่วยสร้างแรงดึงดูดให้สวนสนุกเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ครบวงจร นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางมาได้ทั้งจากในประเทศและต่างประเทศ

2.ทำเลที่ตั้งและความสะดวกสบายในการเดินทาง: อำเภอบางปะอินอยู่ห่างจากกรุงเทพมหานครเพียง 45 นาที โดยใช้บริการรถไฟความเร็วสูงซึ่งกำลังอยู่ในระหว่างการพัฒนา นอกจากนี้ ยังมีทางด่วนและมอเตอร์เวย์ที่เชื่อมโยงกับกรุงเทพฯ และจังหวัดอื่น ๆ อย่างง่ายดาย ทำให้การเดินทางเป็นไปอย่างสะดวกและรวดเร็ว สวนสนุกที่ตั้งอยู่ในจุดนี้จะเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สามารถเข้าถึงได้ง่ายและดึงดูดกลุ่มนักท่องเที่ยวที่หลากหลาย

3.ใช้ประโยชน์จากเครือข่ายแม่น้ำเจ้าพระยาริมแม่น้ำเจ้าพระยาจะเป็นการขยายเครือข่ายการท่องเที่ยวที่เชื่อมต่อกับแหล่งท่องเที่ยวสำคัญต่าง ๆ ได้โดยสะดวก เช่น การท่องเที่ยวทางน้ำที่เชื่อมต่อไปยังเกาะรัตนโกสินทร์ เกาะเกร็ด จังหวัดปทุมธานี หรือการเดินทางต่อไปยังอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา นอกจากนี้ นักท่องเที่ยวยังสามารถเดินทางด้วยรถไฟหรือทางบกเพื่อเยี่ยมชมแหล่งมรดกโลกได้อย่างง่ายดาย

4.การสร้างประสบการณ์การท่องเที่ยวแบบครบวงจร: สวนสนุกแห่งนี้สามารถเป็นศูนย์กลางของการท่องเที่ยวในภาคกลางของประเทศไทย ไม่เพียงแต่มีเครื่องเล่นและกิจกรรมสนุกสนานระดับโลก แต่ยังสามารถสร้างประสบการณ์เชื่อมโยงกับการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่อยุธยา ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญ นอกจากนี้ยังมีโอกาสในการพัฒนาการท่องเที่ยวทางน้ำที่นำเสนอความเป็นเอกลักษณ์ของแม่น้ำเจ้าพระยา

5..สวนสนุกขนาดใหญ่ในทำเลที่ตั้งเชิงยุทธศาสตร์เช่นนี้สามารถเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจที่ส่งเสริมการเติบโตของธุรกิจท่องเที่ยวและบริการในพื้นที่โดยรอบได้ ทั้งโรงแรม ร้านอาหาร และศูนย์การค้า ยิ่งไปกว่านั้น การเป็นส่วนหนึ่งของแหล่งท่องเที่ยวที่ครบวงจร จะช่วยเสริมสร้างความมั่นคงให้กับการลงทุนระยะยาว

ด้วยศักยภาพการท่องเที่ยวที่โดดเด่น ความสะดวกในการเดินทาง และทำเลที่ตั้งที่ใกล้กรุงเทพฯ การลงทุนสร้างสวนสนุกขนาดใหญ่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาในอำเภอบางปะอิน จึงเป็นโอกาสที่น่าจับตามองและมีแนวโน้มที่จะกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวระดับโลกที่ดึงดูดทั้งนักท่องเที่ยวและนักลงทุน

‘รมว.พิชัย’ แถลง 10 นโยบายพาณิชย์ เร่งเครื่องฟื้นฟูเศรษฐกิจไทย ‘ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ขยายโอกาส’

(16 ก.ย. 67) นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ แถลงทิศทางและนโยบายสำคัญของกระทรวงพาณิชย์ โดยมีนายนภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ และผู้บริหารระดับสูงกระทรวงพาณิชย์ ร่วมด้วยที่ห้องกิตติยากรวรลักษณ์ ชั้น 4 อาคารสำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ 

นายพิชัย กล่าวว่า ตนและท่านรัฐมนตรีช่วยทั้งสองท่าน สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ พร้อมขอขอบคุณท่านนายกรัฐมนตรี แพทองธาร ชินวัตร ที่ได้มอบหมายงานให้ตนมาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้ใช้ความรู้ความสามารถขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจไทยประสบความสำเร็จและตนได้มาพบกับข้าราชการที่นี่เก่งมาก ประทับใจมีประสิทธิภาพสูง ท่านปลัดคล่องแคล่วมีแนวคิดที่ดี 

ตนได้ให้นโยบาย 10 ข้อ บางส่วนเป็นของท่านภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมที่ทำไว้ ตนจะสานต่อและเพิ่มบางเรื่องเข้าไป เพราะวันนี้โลกเปลี่ยนไปเร็วมาก กระทรวงพาณิชย์จำเป็นจะต้องมีการปรับตัว ปรับแนวคิด โดยคำนึงถึงการค้าและธุรกิจรูปแบบใหม่ โดยนโยบาย 10 ข้อ ประกอบด้วย

1. ลดค่าใช้จ่าย เพิ่มรายได้ ขยายโอกาส เน้นการลดค่าครองชีพของพี่น้องประชาชน เพิ่มรายได้ ผ่านการสร้างอาชีพ และช่องทางการจำหน่าย เร่งขยายโอกาส นำเทคโนโลยีนวัตกรรมเข้ามาเสริมสร้างศักยภาพการค้าให้เป็นรูปธรรม 

2. บริหารให้เกิดความสมดุลระหว่างผู้บริโภค เกษตรกร ผู้ประกอบการ โดยผู้บริโภคได้สินค้าดี ราคาเป็นธรรม ขณะที่เกษตรกรและผู้ประกอบการรายได้สุทธิเพิ่มพูนอย่างยั่งยืน

3. ทำงานเชิงรุก ระหว่างพาณิชย์จังหวัด และทูตพาณิชย์ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการนำสินค้าไทยไปขายในต่างประเทศ โดย ‘รักษาตลาดเดิม เสริมตลาดใหม่’

4. แก้ไขข้อจำกัดของกฎหมายหรือปรับปรุงข้อกฎหมายที่เก่าล้าสมัย ซึ่งพรรคเพื่อไทยเราเน้นแก้ปัญหาข้อกฎหมายที่เก่าล้าสมัย และต้องแก้ให้เร็วเพราะโลกเปลี่ยนเร็ว และมีทั้งเรื่องใหม่ เช่น เรื่อง e-Commerce การปรับกฎหมายให้ทันเป็นเรื่องที่จำเป็น

5. ร่วมขับเคลื่อนนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก โดยสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยเข้าถึงตลาดและเชื่อมต่อกับการกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก

6. เร่งผลักดันการส่งออกให้ตัวเลขเป็นบวกยิ่งกว่าเดิม ผ่านกลไกการทูตเศรษฐกิจเชิงรุก เปิดตลาดการค้าใหม่ ยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน และการพัฒนาระบบโลจิสติกส์

7. ผลักดันให้มีการใช้ประโยชน์จาก FTA เร่งเจรจาให้เร็วที่สุด เพื่อให้มีการลงทุนเพิ่มขึ้นส่งออกให้มากขึ้น หลังจากนี้จะมี FTA กำลังจะเกิดขึ้นอีกหลายประเทศ

8. พานักธุรกิจไทยไปบุกต่างประเทศ อยากเห็นนักธุรกิจไทยเข้มแข็งขยายธุรกิจไปในต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์จะเป็นผู้สนับสนุนให้เกิดขึ้นได้จริง

9. ปรับโครงสร้างการส่งออกให้ทันสมัย สินค้าส่งออกไทยเริ่มจะล้าสมัย ต้องทำในธุรกิจใหม่ เช่น เรื่อง PCB (แผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์) ต้องเร่งให้เกิดมากขึ้น ปีที่แล้วมีการลงทุนแล้วกว่า 150,000 ล้านบาท เชื่อว่าอีกไม่นานจะเป็นหลายแสนล้านถึงล้านล้านบาท น่าจะมีธุรกิจที่ต่อเนื่องจากชิปเพิ่มขึ้นในไทยและสินค้าที่ใช้ PCB ไทย เช่น พวกสมาร์ตโฟน สมาร์ตทีวี เป็นต้น หรือ AI Big Data หวังว่าเราจะช่วยสร้าง S-Curve ใหม่ และธุรกิจอื่น ๆ ซึ่งเทคโนโลยีเป็นอุตสาหกรรมที่มีรายได้สูง สามารถสร้างการจ้างงานได้เยอะและเงินเดือนสูง

10. ส่งเสริมผู้ประกอบการไทยให้เข้าถึงตลาดสินค้ารักสิ่งแวดล้อม ต้องผลิตสินค้าที่โลกให้ความสำคัญ ซึ่งเรื่องสิ่งแวดล้อมต้องระมัดระวังต้องขายของที่รักษ์ธรรมชาติไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม

รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า นโยบายทั้ง 10 ข้อ จะเป็นทิศทางการดำเนินงานของกระทรวงพาณิชย์ เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจไทย ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ขยายโอกาส ตนเชื่อว่าด้วยศักยภาพของข้าราชการกระทรวงพาณิชย์ เราจะสามารถนำพาการค้าการลงทุนของประเทศให้เจริญก้าวหน้าต่อไปได้ เพราะมีทั้งคนหนุ่มสาวและคนอาวุโสให้ทันการเปลี่ยนแปลงของโลก ซึ่งตนเปิดรับตลอดใครมีไอเดียและแนวคิดพร้อมรับฟังความคิดเห็นของทุกฝ่ายมาช่วยพัฒนากระทรวงไปด้วยกัน

'กนอ.' จัดงานใหญ่ ISB Forum & Awards 2024 ปลุกผู้ประกอบการใช้นวัตกรรมสร้างมูลค่าเพิ่ม

(16 ก.ย. 67) นายสุเมธ ตั้งประเสริฐ กรรมการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการ กนอ. เป็นประธานในพิธีเปิดงาน ISB Forum & Awards 2024 ภายใต้โครงการยกระดับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมสู่เกณฑ์ผลสัมฤทธิ์ทางสังคมและการพัฒนาอย่างยั่งยืนของ กนอ. ปี 2567 (I-EA-T Sustainable Business 2024) โดยปีนี้จัดขึ้นภายใต้หัวข้อ 'Inclusive and Sustainable Industrialization Towards New Growth' (การพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างครอบคลุมและยั่งยืนสู่การเติบโตครั้งใหม่) โดยมีผู้บริหาร กนอ. และผู้ประกอบการเข้าร่วมงาน

นายสุเมธ กล่าวว่า การจัดงาน งาน ISB Forum & Awards 2024 ในปีนี้ เพื่อส่งเสริมแนวคิดการพัฒนาอุตสาหกรรม ที่ไม่เพียงแต่สร้างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ แต่ยังคำนึงถึงความเป็นธรรมในสังคมและการรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนใน 3 ประเด็นสำคัญ ได้แก่...

1.การพัฒนาอุตสาหกรรมที่ครอบคลุม (Inclusive Industrialization) เปิดโอกาสให้ทุกกลุ่มในสังคมมีส่วนร่วมและเข้าถึงโอกาสทางเศรษฐกิจได้อย่างเท่าเทียม ลดความเหลื่อมล้ำ และส่งเสริมความหลากหลายในการทำงาน 

2.การพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน (Sustainable Industrialization) มุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สร้างความเจริญเติบโตที่เป็นประโยชน์ร่วมกันในระยะยาว 

และ 3.การปฏิรูปอุตสาหกรรมไทย (New Industrialization) นำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้เพื่อเพิ่มผลิตภาพและมูลค่า ยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน ส่งเสริมการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมใหม่

“ผมเชื่อมั่นว่าผู้ประกอบการภายใต้การกำกับดูแลของ กนอ. ต่างมีกิจกรรมโครงการเพื่อสังคม ตลอดจนความรู้ความชำนาญ และทรัพยากรที่สนับสนุนลงไปยังชุมชนโดยรอบ หากมีการพัฒนาออกแบบแนวทางการดำเนินงานที่มุ่งผลลัพธ์ และเกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ตลอดจนความร่วมมือร่วมกัน การผนึกกำลังของภาคอุตสาหกรรมจะพลิกวิกฤติ ช่วยสร้างโอกาสการพัฒนาสังคมเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนอย่างจับต้องได้ คุ้มค่า และเป็นรูปธรรม” นายสุเมธ กล่าว

สำหรับ โครงการ ISB (I-EA-T Sustainable Business) ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2565 เพื่อส่งเสริมความพร้อมของผู้ประกอบการในการยกระดับมาตรฐานการพัฒนาอย่างยั่งยืน และเปิดเผยข้อมูลผลกระทบทางสังคม (Social Impact) ในระดับสากล โดยในปี 2567 กนอ. ขยายผลกลุ่มเป้าหมายไปสู่สำนักงานนิคมอุตสาหกรรม/ท่าเรืออุตสาหกรรม และผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรมร่วมดำเนินงาน มีผู้เข้าร่วมโครงการ ISB Roadshow กว่า 61 สถานประกอบการ และผู้เข้าร่วม BIA/SIA Workshop จำนวน 45 ราย ซึ่งผลสัมฤทธิ์จากการดำเนินงานของผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ ISB ตลอด 3 ปีที่ผ่านมาพบว่า มีการสนับสนุนงบประมาณในกิจกรรมทางสังคม รวม 575.87 ล้านบาท และเกิดผลตอบแทนทางสังคม (SROI) สูงถึง 4.87 เท่า คิดเป็นมูลค่ารวม 2,801.46 ล้านบาท

ภายในงาน ISB Forum & Awards 2024 มีการมอบรางวัล ISB List จำนวน 16 รางวัลให้แก่ สำนักงานนิคมอุตสาหกรรม ผู้พัฒนานิคมฯ ผู้ประกอบการที่สะท้อนการรับรองตามเกณฑ์มาตรฐานผลสัมฤทธิ์ BIA และ SIA และมอบรางวัล ISB Awards 2024 แก่ผู้ประกอบการที่มีความโดดเด่นด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน จำนวน 11 ราย และมอบรางวัลแก่สำนักงานนิคมอุตสาหกรรม/ท่าเรืออุตสาหกรรม ในบทบาท ISB Accelerator จำนวน 8 ราย

“กนอ. มุ่งพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศไทยให้เป็นไปอย่างครอบคลุมและยั่งยืน ผ่านโครงการต่างๆ เช่น โครงการเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ, โครงการธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อม, โครงการ Smart I.E., โครงการพัฒนาและสนับสนุน SMEs, โครงการการพัฒนาแรงงานและทักษะ, โครงการพัฒนาท้องถิ่น, โครงการการสร้างนวัตกรรมและการวิจัย โดยเราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เราจะสร้างอุตสาหกรรมที่ทุกคนเติบโตไปด้วยกัน ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีสร้างมูลค่าเพิ่มอย่างยั่งยืน ผลักดันทุกภาคส่วนให้เข้มแข็งไปด้วยกัน” รักษาการในตำแหน่ง ผู้ว่าการ กนอ. กล่าวทิ้งท้าย

จับตา ‘สรวงศ์’ เล็งคืนชีพ ‘เราเที่ยวด้วยกัน’ แคมเปญแรงยุค 'ลุงตู่' หวังกระตุ้น 'ไทยเที่ยวไทย' กระตุ้นการจับจ่ายช่วงโลว์ซีซัน

เมื่อวานนี้ (16 ก.ย. 67) นายสรวงศ์ เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยภายหลังเข้าปฏิบัติหน้าที่ที่กระทรวงการท่องเที่ยวฯ เป็นวันแรกว่า กระทรวงการท่องเที่ยวฯ มีไอเดียนำโครงการ 'เราเที่ยวด้วยกัน' กลับมาดูอีกครั้ง เพื่อเป็นหนึ่งในมาตรการส่งเสริมตลาดไทยเที่ยวไทย เพราะเป็นแคมเปญที่ช่วยกระตุ้นการจับจ่ายของนักท่องเที่ยว สร้างรายได้แก่ผู้ประกอบการทุกระดับ แม้แต่ร้านอาหารขนาดเล็กก็ได้อานิสงส์ไปด้วย

"ต้องหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาแคมเปญลักษณะนี้อย่างละเอียดอีกครั้งว่าสามารถทำอะไรได้บ้าง"

ก่อนหน้านี้ นายเทียนประสิทธิ์ ไชยภัทรานันท์ นายกสมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) กล่าวว่า จากการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการที่พักแรม เดือน ส.ค. 2567 จัดทำโดย สมาคมฯ ร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย ระหว่างวันที่ 19-30 ส.ค. มีผู้ตอบแบบสำรวจ 106 แห่ง พบว่า หนึ่งในมาตรการช่วยเหลือที่ผู้ประกอบการโรงแรมส่วนใหญ่ต้องการจากภาครัฐคือ มาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวไทย

โดยเน้นกระตุ้นการท่องเที่ยวเมืองน่าเที่ยว และเที่ยววันธรรมดา (วันอาทิตย์-วันพฤหัสบดี) กระตุ้นการท่องเที่ยวของลูกค้ากลุ่มประชุมและสัมมนามากขึ้น มีมาตรการเราเที่ยวด้วยกันเพื่อเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวในช่วงโลว์ซีซัน รวมถึงประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวไทยให้กับลูกค้าต่างชาติอย่างต่อเนื่อง

‘พีระพันธุ์’ ถก ‘เอกนัฏ’ ประสานความร่วมมือ ‘พลังงาน-อุตสาหกรรม’ แก้ช่องโหว่กฎหมายเอื้อโซลาร์ทั่วถึง-ดันนิคมฯ SME ช่วยรายย่อย

(17 ก.ย. 67) นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยหลังการหารือกับนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน วานนี้ (16 ก.ย.67) ว่า รองนายกรัฐมนตรี ได้แสดงความยินดีในโอกาสเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมหารือการดำเนินงานของกระทรวงอุตสาหกรรม ทำอย่างไรให้ประชาชนได้รับบริการที่รวดเร็วมากยิ่งขึ้น ลดขั้นตอน สร้างความสะดวก คล่องตัวให้กับประชาชน 

ทั้งนี้ ภาคอุตสาหกรรมเป็นกำลังหลักที่สำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ซึ่งเป็นเศรษฐกิจฐานรากที่เราต้องส่งเสริม สร้างโอกาส ให้ความสะดวก เติมทุนหนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เพื่อยกระดับธุรกิจให้เติบโต สร้างงานสร้างรายได้ เพื่อให้สามารถเดินต่อและแข่งขันได้อย่างมั่นคง ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการสร้างความมั่นคงและเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในภาพรวมอีกด้วย 

รัฐมนตรีฯ เอกนัฏ ยังกล่าวต่อว่า ยังมีแนวคิดที่จะทำนิคมอุตสาหกรรมเพื่อธุรกิจขนาดเล็กขึ้น (นิคมฯ SME) เพื่อช่วยลดต้นทุน สามารถส่งต่อวัตถุดิบหรือผลิตภัณฑ์ให้ผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรมได้ ทำให้การสนับสนุนเอสเอ็มอีทำได้สะดวกขึ้น รวมทั้งการเร่งแก้กฎระเบียบ กฎหมาย เพื่อให้สอดรับกับการดำเนินงานในปัจจุบัน ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญในการปฏิรูปอุตสาหกรรมไทย 

นอกจากนี้ กระทรวงอุตสาหกรรม ให้ความสำคัญในการผลักดันการใช้พลังงานทดแทนหรือพลังงานสีเขียว โดยได้มีการแก้กฎหมายในการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ชนิดติดตั้งบนหลังคา (Solar Rooftop) ไม่เข้าข่ายโรงงานที่ต้องขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน จากเดิมที่กำหนดว่าหากมีกำลังผลิตเกินกว่า 1 เมกะวัตต์ เข้าข่ายเป็นโรงงานต้องขอรับใบอนุญาต โดยการแก้กฎหมายดังกล่าวเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลที่จะผลักดันให้ทุกภาคส่วนใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพื่อยกระดับพลังงานไทยให้มีความเสถียร ยั่งยืน เป็นพลังงานสะอาด และราคาถูก ตอบสนองกติกาสากล ทั้งนี้ คาดว่าการปลดล็อกกฎหมายดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ภายในปี พ.ศ. 2567 

รมว.เอกนัฏ กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงอุตสาหกรรม จะดำเนินการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายให้ทันสมัย ตอบโจทย์การประกอบการและเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมของไทย โดยการปรับการบริหารจัดการกากอุตสาหกรรมทั้งระบบ ซึ่งจะมีการแก้ไขกฎหมายเพื่อส่งเสริมให้เกิดความยั่งยืน การเพิ่มโทษอาญา พร้อมวางแนวทางในการปรับกฎหมายและภารกิจเข้าสู่ภาครัฐดิจิทัล สร้าง Ease of Doing Business (ความยากง่ายในการประกอบธุรกิจ) โดยเฉพาะการปรับปรุงกฎหมายแก้ช่องโหว่ในการส่งเสริมการประกอบการที่ดี การมีระบบ Digital แบบ One Stop Service เพื่ออำนวยความสะดวกและลดขั้นตอนให้กับผู้ประกอบการ และการจัดตั้งกองทุนเพื่อการปฏิรูปอุตสาหกรรม ส่งเสริมให้เกิดการปรับเปลี่ยนอุตสาหกรรมสู่อนาคต สร้างความยั่งยืนและฟื้นฟูเยียวยาผลกระทบที่อาจเกิดจากการประกอบการ ให้สามารถทำได้อย่างรวดเร็ว ถือเป็นการเพิ่มเครื่องมือหนึ่งในการทำงานเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนา เพื่อการปฏิรูปอุตสาหกรรม

‘ดร.กอบศักดิ์’ ชี้!! 'Strength from Bottom' จะเป็นทางออกให้ไทย สู้กับปัญหาความเหลื่อมล้ำ

(16 ก.ย. 67) ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก สรุปช่วงหนึ่งในงานสัมมนา 'Big Heart Big Impact สร้างโอกาสคนตัวเล็ก...Power of Partnership จับมือไว้ ไปด้วยกัน' ของสำนักข่าวไทยพับลิก้าในหัวข้อ 'คนจนลง ภาพลวงตาของไทย ทางออกคือ? Move Forward, Just Do It' ระบุว่า...

ประเทศไทยหลงทางมานาน!!!

ยิ่งพัฒนา ยิ่งเหลื่อมล้ำ

ชุมชนยิ่งอ่อนแอ มีแต่หนี้ 

ทุกคนเรียกร้อง จะเอา 'สวัสดิการถ้วนหน้า'

แต่รัฐมีงบไม่พอ

แนวทางใหม่ในการพัฒนา

New Paradigm ที่เรียกว่า 'Strength from Bottom'

จะเป็นทางออกให้ไทย 

อ่านเนื้อหาเต็มเกี่ยวกับเรื่องนี้ได้ที่ >> งานสัมมนา ThaiPublica https://thaipublica.org/2024/09/kobsak-pootrakool-unleashing-power-of-communities/ 


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top