Sunday, 27 April 2025
ElectionTime

ส่องนโยบายพรรคลุงตู่ กับ ‘สวัสดิการผู้สูงอายุ’ ฐานเสียงสำคัญที่ตัดสินเลือกตั้ง 66

ประเทศไทยกำลังจะมี ส.ว.เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ  ไม่ใช่สมาชิกวุฒิสภา แต่เรากำลังพูดถึง ‘ผู้สูงวัย’ ซึ่งถ้าดูจากจำนวนประชากรผู้สูงอายุในไทย เมื่อสิ้นปี 2565 มีประมาณ 12.5 ล้านคน จากประชากรทั้งหมด 66 ล้านคน หมายความว่าวันนี้ ประเทศไทยเรามีผู้สูงอายุ 1 ใน 5 หรือ 20% ของคนทั้งประเทศ และจะมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ ถ้าวัดตามเกณฑ์ของสหประชาชาติ ถือว่าประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ไปเรียบร้อยแล้ว

ดังนั้นการเตรียมความพร้อมเชิงระบบสำหรับรองรับสังคมที่จะมี ‘ผู้สูงอายุ’ มากขึ้นเรื่อยๆ จึงเป็นเรื่องสำคัญจำเป็น และไม่แปลกเลย ที่นโยบายหาเสียงในศึกเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง จะมีนโยบายเอาใจผู้สูงวัยเป็นหนึ่งในจุดขายของแทบทุกพรรคการเมือง 

หากมองย้อนไปถึงการดูแลคุณภาพชีวิตของกลุ่มผู้สูงวัยของรัฐบาล ‘พลเอกประยุทธ์  จันทร์โอชา’ ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา มีการจัดสวัสดิการ ‘เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ’ ที่ปัจจุบันจ่ายแบบขั้นบันได โดยในช่วงอายุ 60-69 ปี รับ 600 บาทต่อเดือน  และเพิ่มเป็นเดือนละ 700 บาท เมื่ออายุ 70-79 ปี  และ 800 บาทต่อเดือน เมื่ออายุ 80-89 ปี  ขณะที่กลุ่มอายุ 90 ปีขึ้นไปจะได้รับเดือนละ 1,000 บาท 

ขณะเดียวกัน ในมิติของระบบบริการสุขภาพ ก็มีมาตรการดูแลครบวงจรตั้งแต่การคัดกรอง ภาวะโภชนาการ การเคลื่อนไหวร่างกาย และสุขภาพช่องปาก รวมถึงระบบการชะลอความเสื่อม โดยจัดให้มีแพทย์ในระบบปฐมภูมิ ดูแลสุขภาพของผู้สูงอายุตั้งแต่ที่บ้าน และการดูแลการเข้าถึงสิทธิประโยชน์ต่างๆ สำหรับผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะพึ่งพิง โดยมีการจัดทำระบบดูแลผู้สูงอายุในระยะยาว มีการพัฒนาผู้ดูแลผู้สูงอายุที่บ้าน ครอบคลุมผู้สูงอายุกลุ่มติดบ้านและติดเตียงกว่า 500,000 คน

นอกจากนั้นแล้ว หลายกระทรวงยังดำเนินโครงการร่วมกัน ในการพัฒนาศักยภาพผู้สูงอายุทั้งในด้านความรู้ ทักษะการประกอบอาชีพ เพื่อเตรียมความพร้อมในการใช้ชีวิต และสร้างรายได้เพิ่มเติมในวัยเกษียณ
.

กลับมาที่การเลือกตั้ง 2566 ที่กำลังจะมาถึง เราลองมาดูนโยบายแต่ละพรรคการเมือง ที่ต่างชูประเด็นหาเสียงด้วยการ เพิ่มสิทธิ สวัสดิการมากมาย หวังดึงคะแนนที่มีมากกว่า 12 ล้านเสียงจากกลุ่มผู้สูงวัย 

เริ่มจาก ‘พรรครวมไทยสร้างชาติ’ ของ ‘ลุงตู่’  ที่ประกาศ ‘ทำต่อ’ เพิ่มเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเป็น 1,000 บาทต่อเดือนเท่ากันทุกช่วงอายุ และยังมีนโยบายสร้างศูนย์ดูแลผู้สูงวัย สร้างศูนย์สันทนาการผู้สูงอายุชุมชน และลดภาษีให้กับบริษัทเอกชนที่จ้างงานผู้สูงอายุ

ขณะที่ ‘พรรคเพื่อไทย’ ประกาศเดินหน้าเพิ่มประสิทธิภาพ ‘30 บาทรักษาทุกโรค’ ดูแลกลุ่มเปราะบาง และผู้สูงอายุ ให้ใช้บริการโรงพยาบาลใกล้บ้าน ลดเวลารอพบแพทย์ และปรับปรุงการบริการให้ทันสมัย ใช้บัตรประชาชนเพียงใบเดียว 

ขยับมาที่ ‘พรรคประชาธิปัตย์’ ผลักดันนโยบายการออมเพื่อวัยเกษียณภาคบังคับ พร้อมขยายอายุเกษียณจาก 60 ปี เพื่อเติมเงินออมเลี้ยงดูตัวเอง รวมถึงจัดตั้งชมรมผู้สูงอายุรับ 30,000 บาท ทุกหมู่บ้าน หนุนสุขภาวะและส่งเสริมอาชีพสร้างรายได้ให้กับผู้สูงอายุ

ส่วน ‘พรรคพลังประชารัฐ’ ของ ‘ลุงป้อม’ จะเพิ่มเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุแบบขั้นบันไดตามช่วงอายุ โดยอายุ 60 ปีขึ้นไปรับเบี้ย 3,000 บาทต่อเดือน อายุ 70 ปีขึ้นไป รับเบี้ย 4,000 บาทต่อเดือน และอายุ 80 ปีขึ้นไป รับเบี้ย 5,000 บาทต่อเดือน และขยายอายุเกษียณเป็น 63 ปี พร้อมสนับสนุนวิสาหกิจเพื่อผู้สูงอายุ สร้างงาน 1 ล้านตำแหน่งให้ผู้สูงอายุ และทำอาคารรองรับผู้สูงอายุ

ขณะที่ ‘พรรคก้าวไกล’ นำเสนอนโยบายเพิ่มเบี้ยผู้สูงอายุเป็น 3,000 บาท ภายในปี 2570  สร้างระบบดูแลผู้ป่วยติดเตียง สมทบเงินเข้ากองทุนดูแลผู้สูงอายุ ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใช้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในการดูแลผู้สูงอายุ และผู้ป่วยติดเตียงโดยมีการจ้างผู้ดูแลเฉลี่ย 1 คน ต่อผู้ป่วย 2 คน

‘บิ๊กป้อม’ ยัน!! ไม่จับมือ ‘เพื่อไทย-ก้าวไกล’ ชี้!! จุดยืนนโยบาย ม.112 ไม่ตรงกัน

(11 เม.ย.66) ที่พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ภายหลังประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรค พปชร. พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรค พปชร. ตอบคำถามผู้สื่อข่าวกรณีทำไมคนไทยถึงต้องเลือกพรรค พปชร. ว่า ต้องขึ้นอยู่กับประชาชนว่าจะเลือกใคร ขอให้เลือกคนดีมาทำประโยชน์ให้กับประเทศชาติ และให้ประชาชนอยู่ดีกินดี ซึ่งเป็นนโยบายหลักของพรรค พปชร. ส่วนจะเลือกหรือไม่ และถ้าเห็นว่ามีคนอื่นดีกว่าก็เชิญนะครับ ทั้งนี้ พรรค พปชร. ขออาสารับใช้ประชาชน 

ผู้สื่อข่าวถามว่า อะไรคือความโดดเด่นของพรรค พปชร. ที่ประชาชนต้องเลือกพล.อ.ประวิตรเป็นนายกฯ พล.อ.ประวิตร ย้อนถามว่า คุณคิดว่าอะไร พร้อมกับกล่าวว่า เราก้าวข้ามความขัดแย้ง ก้าวข้ามความยากจน ที่พรรค พปชร. จะทำให้ชัดเจน 

‘พิธา’ หาเสียงเมืองจันท์ ชวนกาหน้าใหม่เข้าสภาฯ ลั่น!! เมืองหลวงผลไม้จันทบุรี จะมีอนาคตที่สดใส

‘พิธา’ หาเสียงเมืองจันท์ ให้ความเชื่อมั่น ‘ก้าวไกล’ คัดผู้สมัครอย่างดี ขอโอกาสให้คนใหม่เข้าสภาฯ ไปเปลี่ยนประเทศ โหวตผ่านสุราก้าวหน้า เพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร

(11 เม.ย. 66) นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ลงพื้นที่จังหวัดจันทบุรี ช่วยหาเสียงผู้สมัคร ส.ส.จันทบุรี เขต1 และ 2 ของพรรคก้าวไกล สำหรับจุดแรก นายพิธาเดินทางถึงตลาดเจริญสุข พร้อมกับ นายวรายุทธ ทองสุข ผู้สมัคร ส.ส.จันทบุรี เขต 1 (เบอร์ 4) เดินหาเสียงแนะนำตัวและขอคะแนนจากพี่น้องประชาชน โดยนายพิธากล่าวอย่างชัดเจนว่า มาครั้งนี้เพื่อสร้างความมั่นใจแก่พี่น้องประชาชน ว่าพรรคก้าวไกลได้คัดสรรผู้สมัครเป็นอย่างดี ขอโอกาสให้นายวรายุทธได้เป็นคนใหม่เข้าไปในสภาฯ เป็นปากเสียงของคนจันทบุรี เป็นอีกหนึ่งเสียงในสภาฯ ที่จะโหวตให้กฎหมายที่ก้าวหน้าของพรรคก้าวไกล

จากนั้น นายพิธา เดินทางต่อไปที่ตลาดห้วยสะท้อน เพื่อช่วยหาเสียงให้นายปรัชญาวรรณ ไชยสืบ ผู้สมัคร ส.ส.จันทบุรี เขต 2 (เบอร์ 3) พร้อมกล่าวว่า ตลอด 4 ปี พรรคก้าวไกลได้พิสูจน์ให้ชาวจันทบุรีเห็นแล้วว่า ส.ส. ทุกคนทำงานอย่างคุ้มค่า คุ้มภาษีของประชาชน แม้หลายคนชอบบทบาทของพรรคก้าวไกลในฐานะฝ่ายค้าน แต่ตนต้องบอกว่ายิ่งก้าวไกลทำงานดี ยิ่งต้องให้โอกาสส.ส. ของพรรคเข้าสภาฯ ไปเลือกนายพิธาเป็นนายกฯ ให้พรรคก้าวไกลเป็นรัฐบาล เปลี่ยนประเทศไทยให้การเมืองดี ปากท้องดี มีอนาคต

‘นักวิชาการ’ มองการเมืองปากน้ำ หลัง ‘บ้านใหญ่’ สิ้นหัวเรือ เปลี่ยนขั้วย้ายค่าย หลังผล ‘เลือกตั้ง 66’ ชัด!! อาจบังเกิด

ดูเหมือน 1 ในจังหวัด ที่น่าสนใจและถูกหยิบมาวิเคราะห์ในฐานะพื้นที่น่าจับตามองในการเลือกตั้งครั้งนี้ หลัง กกต. ปิดรับสมัคร ส.ส.ทั้งแบบแบ่งเขต และ แบบบัญชีไปแล้วเรียบร้อย ดูจะไม่พ้น 'เมืองปากน้ำ' จังหวัดสมุทรปราการ ที่มี ส.ส. 8 คน จาก 8 เขต ซึ่งการเลือกตั้งปี 2562 ที่ผ่านมา พรรคพลังประชารัฐ สามารถกวาด ส.ส.ยกแผง 6 จาก 7 ที่นั่ง

โดยในการเลือกตั้ง 14 พฤษภาคมนี้ ‘ตระกูลอัศวเหม’ ส่งตัวแทนลงสมัคร ส.ส.ด้วยกันถึง 5 คน จาก 2 พรรค ทั้งแบบบัญชีรายชื่อ และแบบแบ่งเขต นำโดย...

อัครวัฒน์ อัศวเหม ลงชิงเขต 1 พรรคพลังปราชารัฐ, วรพร อัศวเหม เขต 4 พรรคพลังประชารัฐ, ต่อศักดิ์ อัศวเหม ชิงเก้าอี้เขต 7 สมุทรปราการ ขณะที่ พิม อัศวเหม มีชื่อในปาร์ตี้ลิสต์อันดับ 8 ของพรรคพลังประชารัฐ และ ชนม์ทิดา อัศวเหม ที่ติดอันดับ 5 ปาร์ตี้ลิสต์ พรรคภูมิใจไทย

ทว่า การจากไปอย่างกะทันหันของ ‘เอ๋ ชนม์สวัสดิ์ อัศวเหม’ หัวเรือบ้านใหญ่ปากน้ำ ก็ดูจะสั่นสะเทือนการเมืองสมุทรปราการไม่น้อย ด้วยขาดผู้นำทัพที่พาให้สมุทรปราการก้าวหน้า กวาดที่นั่งทั้งผู้แทนระดับประเทศ และ ระดับท้องถิ่นไปได้ทั้งหมด

ทำให้การเมืองปากน้ำ น่าจับตาถึงก้าวต่อไป ไม่เฉพาะเพียงแต่จะสามารถกวาด ส.ส.ยกจังหวัดได้อีกครั้งเหมือนปี 2562 หรือไม่ แต่ยังต้องมองต่อไปถึงหลังเลือกตั้งกันทีเดียว

เกี่ยวกับเรื่องนี้ ชาลินี สนพลาย อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้สนใจการเมืองท้องถิ่น และ ตระกูลการเมือง ได้มองภาพการเมืองปากน้ำ ที่มากไปกว่าการเลือกตั้งรอบนี้ เมื่อสิ้นหัวขบวนบ้านใหญ่ปากน้ำ ไว้อย่างน่าสนใจ โดยก่อนจะวิเคราะห์ถึงเส้นทางไปสู่การเลือกตั้งใหญ่ อาจารย์ชาลินี เปิดประเด็นชวนมองถึง ‘บ้านใหญ่ สมุทรปราการ’ ที่แตกต่างกับจังหวัดที่มีบ้านใหญ่อื่น ๆ ไว้ว่า สมุทรปราการนั้น แต่เดิมไม่ได้เป็นพื้นที่อันหนึ่งอันเดียวอยู่แล้ว ตระกูลอัศวเหมไม่ได้สามารถควบคุมพื้นที่เบ็ดเสร็จ เด็ดขาด ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ เหมือนในบางพื้นที่

“การทำงานของบ้านใหญ่โดยทั่วไปแล้ววางอยู่บนการทำงานลักษณะเครือข่าย มีกลุ่มก้อนหลายระดับมารวมกัน ซึ่งบ้านใหญ่ คือคนที่ประสานกลุ่มก้อนการเมืองมาไว้ในเครือข่ายและร่วมมือกันได้ และความที่ธรรมชาติของเครือข่ายมันมีความเปราะบาง การรักษาเครือข่ายก็ต้องใช้ความสามารถระดมทรัพยากรมาดูแล รวมไปถึงความสามารถในการจัดสรรทรัพยากรให้กับกลุ่มย่อย ๆ ในเครือข่ายใหญ่ เพื่อให้ไปดูแลพื้นที่ ไปดูแลฐานเสียงได้”

“อีกหนึ่งสิ่งที่ต้องการมาก ๆ ก็คือ Charismatic Leadership ซึ่งส่งผลต่อความสามารถในการนำ โดยปกติแล้วทรัพยากรทางเศรษฐกิจและทรัพยากรทางการเมืองหลายอย่างอาจส่งต่อให้ลูกหลานได้ อาจมีระบบวางไว้พอสมควร แต่ คาริสมาติก และภาวะการนำ มันไม่ได้ส่งต่อให้ลูกหลานกันได้ง่าย ๆ”

การเปลี่ยนผ่าน จึงเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ ที่ท้าทายคนที่จะมาดูแลต่อ ว่าจะมีความสามารถขนาดไหน ซึ่ง อ.ชาลินี ระบุว่า ความท้าทายในระยะเปลี่ยนผ่านนี้เคยเกิดขึ้นกับในชลบุรี และ สุพรรณบุรี เช่นกัน บ้านใหญ่ชลบุรีเอง ต้องใช้เวลานานกว่าจะกลับมา และยังเจอความท้าทายอยู่ ขณะที่ในสุพรรณบุรี ก็มีความท้าทายอยู่เช่นกัน

ขณะที่ ‘สมุทรปราการ’ ก็นับเป็นพื้นที่ ที่ยากเป็นพิเศษ ในทัศนะของอ.ชาลินี ด้วยเพราะเป็นเมืองที่มีพลวัตสูง มากกว่า ชลบุรีและสุพรรณบุรี มีความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมสูง ด้วยความที่อยู่ในจุดยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจ ทำให้อยู่ในสถานะที่ยากในการรักษาความมั่นคงของเครือข่ายทางการเมือง กล่าวคือ การเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูง ยิ่งส่งผลต่อความสามารถในการสะสมและผูกขาดทรัพยากรของชนชั้นนำ มีโอกาสที่เกิดชนชั้นนำใหม่ๆ มาแย่งชิง และก็ส่งผลต่อความสามารถในการดูแลเครือข่าย

ในด้านสังคม อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มองว่า องค์ประกอบของประชากรที่เปลี่ยนแปลงเร็ว เพราะเศรษฐกิจเติบโตเร็ว มีคนเข้า-ออกมาก ขณะที่คนในพื้นที่เดิมก็เปลี่ยนแปลงเร็ว ทำให้ยากที่จะ Hold ประชาชนไว้ คนย้ายเข้ามาใหม่นั้น ยากมากที่จะเกิดความผูกพันทางสังคมกับพื้นที่ หรือจะผนวกตัวเองเข้ากับเครือข่ายเดิม ยิ่งการเป็นชนชั้นกลางเพิ่มขึ้น ยิ่งคาดเดาได้ยาก

เพราะกลุ่มนี้เป็นคนที่เปลี่ยนใจทางการเมืองได้ตลอดเวลา และมีแนวโน้มที่จะผูกโยงตนเองเข้ากับชนชั้นกลางนอกพื้นที่ มากกว่าผูกตัวเองในพื้นที่ คือ เขาไม่ได้รู้สึกว่าเป็นคนสมุทรปราการ แต่มีวิถีชีวิต ผูกกับคนชนชั้นกลางพื้นที่อื่นมากกว่า ซึ่งเกิดขึ้นกับ นนทบุรี เช่นกัน คือ มีแนวโน้มจะให้ความสำคัญกับนโยบายมหภาค มากกว่าการเมืองเชิงพื้นที่ คือไม่ต้องเอาตัวไปผนวกกับเครือข่ายไหน ก็เข้าถึงนโยบายรัฐได้

“ไม่รวมถึงว่า จะสูญเสียนายชนม์สวัสดิ์ไหม แต่มันลุ่ม ๆ ดอน ๆ มาตั้งแต่ก่อน วัฒนาจะไม่อยู่ และยังมีอีกระลอก จึงเป็นความยากในยากในยาก”

ชาลินี กล่าวต่อว่า ตอนที่นายวัฒนาไม่อยู่ นายชนม์สวัสดิ์ ได้ถูกเตรียมพร้อมมากพอสมควร แต่วันนี้ที่ชนม์สวัสดิ์ไม่อยู่ อัศวเหมรุ่นที่ 3 ยังไม่ถูกเตรียมความพร้อม ในระดับเดียวกับที่ชนม์สวัสดิ์ถูกเตรียม ยิ่งกับสภาพพื้นที่ที่เปลี่ยนแปลงสูงขนาดนี้ ‘ยิ่งท้าทายมาก’

“เป็นโอกาสอันดี ที่คนที่เคยอยู่ในเครือข่ายเดียวกัน ที่เกาะกันแบบหลวมๆ นั้น จะมีคนที่อยากช่วงชิงการนำในพื้นที่ ไม่ว่าจะเครือข่ายเดิม หรือ พวกนอกเครือข่าย ที่มาแย่งชิงกลุ่มก้อนการเมืองที่อยู่กับอัศวเหม ไปผนึกขั้วกับเขาได้ หรือเป็นไปได้แม้กระทั่งว่า อาจเป็นโอกาสที่พรรคการเมืองอย่างก้าวไกล ที่ชูความเป็นตัวแทนของชนชั้นกลางรุ่นใหม่ และทำการเมืองแบบใหม่ อาจจะเข้าไปเกาะเกี่ยวผู้คนที่หลุดออกจากเครือข่ายการเมืองเดิมได้” ชาลินี กล่าว

ในระยะสั้น แน่นอนว่าคำถามมักไปตกอยู่กับกลุ่มสมุทรปราการก้าวหน้า ขั้วพลังประชารัฐ ที่หลายคนมองว่า จะสามารถกวาดเสียงสมุทปราการได้แบบครั้งที่แล้วหรือไม่? ซึ่งเรื่องนี้ ชาลินี มองว่า การเมืองมีความสะส่ำระส่ายสูง ฐานเสียงของผู้สมัครแต่ละคนถูกช่วงชิงไป วิธีการการเมืองเป็นแบบนี้ การมีหรือไม่มีชนม์สวัสดิ์ ส่งผลต่อความสามารถในการดึงดูดกลุ่มการเมืองท้องถิ่น พอไม่มีอยู่ ก็เป็นไปได้ที่จะถูกแย่งชิง อีกทั้งบางส่วนยังเป็นพื้นที่เสื้อแดง จึงเรียกว่าายากขึ้น ที่จะกวาด ส.ส.ยกจังหวัดเหมือนเดิม

แต่ นักรัฐศาสตร์ ชวนมองมากไปกว่าการเปลี่ยนแปลงที่จะได้เห็น ในช่วงการเลือกตั้ง 14 พฤษภาคมนี้ นั่นเพราะ รอยรั่ว อันเกิดจากการสูญเสียหัวเรือใหญ่ที่ผ่านมา เปิดโอกาสให้คนมีศักยภาพ เข้าไปแทนที่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กับ เพื่อไทย / ก้าวไกล และ ภูมิใจไทย

“ทายาทสายตรงทางการเมืองของ คุณชนม์สวัสดิ์ ก็คือ ‘น้องเพลง’ ซึ่งยังใหม่มาก จำเป็นต้องมีทีมซัพพอร์ตเยอะมาก ถ้าจะสืบทอดการเมืองต่อ แต่เราไม่รู้ว่าในตระกูลอัศวเหมมีความเป็นเอกภาพขนาดไหน ไม่เหมือนอย่าง ตระกูลคุณปลื้ม ที่ชัดเจนว่ามีความเป็นเอกภาพมาก แม้ว่าของอัศวเหมเรายังเห็นคนเป็นหลาน ที่ลงมาเล่นการเมืองอยู่ แต่มีบารมีมากพอไหม และเคยได้มีโอกาสช่วยดูแลเครือข่ายทางการเมืองมากน้อยแค่ไหน เพราะไม่มีใครคิดว่าจะสูญเสียผู้นำหลักเร็วเช่นนี้”

‘พท.’ เสนอ ยกเครื่อง คกก. จัดสรรบุคลากร-งบประมาณท้องถิ่น แก้ปัญหาการกระจายอำนาจไทย หลังถดถอยสุดในรอบ 25 ปี

(11 เม.ย. 66) เฟซบุ๊กแฟนเพจหลักของ ‘พรรคเพื่อไทย’ ได้ออกมาโพสต์ข้อความ โดยมีเนื้อหาระบุว่า…

“สังคมไทยกำลังต้องการการกระจายอำนาจอย่างมาก เราพบว่า 9 ปีมานี้ การกระจายอำนาจของประเทศไทยถอยหลังที่สุดในรอบ 25 ปี คำถามคือปัญหาคืออะไรและเราจะต้องแก้อย่างไร”

ส่วนหนึ่งจากการเสวนาของ จาตุรนต์ ฉายแสง คณะกรรมการยุทธศาสตร์และทิศทางการเมือง พรรคเพื่อไทย และผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ระบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในงานสัมมนาหัวข้อ ‘ท้องถิ่นมั่งคั่ง ประเทศมั่นคง’ ร่วมกับตัวแทนพรรคการเมืองอื่นรวม 8 พรรค ที่โรงแรมไฮเอท รีเจนซี่ กรุงเทพ เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2566 

จาตุรนต์ ฉายแสง เริ่มต้นกล่าวว่า การพูดถึงเรื่องการกระจายอำนาจ ก็คือการพูดวางบทบาทของรัฐบาลส่วนกลาง ส่วนภูมิภาคและส่วนท้องถิ่นว่าจะวางบทบาทอย่างไรให้เหมาะสม เพราะโลกปัจจุบันมีเรื่องใหญ่มาก ๆ ที่รัฐบาลต้องทำ ซึ่งมีทั้งทำไม่ทัน และทำทันแต่ทำได้ไม่ดี เพราะฉะนั้น ต้องมายืนบนหลักการให้ได้ว่า รัฐบาลหรือส่วนกลาง จะต้องไม่ไปแย่งงานท้องถิ่นหรือไปทำงานแทนท้องถิ่น

ประเทศไทยเพิ่งผ่านการเลือกตั้งท้องถิ่นล่าสุด คือ การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และกำลังดำเนินเข้าสู่การเลือกตั้งใหญ่ทั่วไปอีกไม่นาน ภายหลังการยึดอำนาจเมื่อปี 2557 ซึ่งการยึดอำนาจทุกครั้งทำให้การกระจายอำนาจถอยหลังเข้าคลอง อยู่ในสภาพกลืนไม่เข้าคายไม่ออก พูดไม่ได้ขยับไม่ไป พูดไม่ดีถูกปลดถูกจับติดคุก

[ปัญหาของการกระจายอำนาจที่ผ่านมา]
ภายหลังการยึดอำนาจมา 9 ปี แต่การกระจายอำนาจประเทศไทยถอยหลังไป 25 ปี คำถามคือ ปัญหาคืออะไรและแก้ไขอย่างไร

1.) การกำกับควบคุม
พบว่า มีการกำกับควบคุมจากส่วนกลางเต็มไปหมด โดยเฉพาะคำสั่ง คสช. ซึ่งคำสั่งของ คสช.ครอบท้องถิ่นไปจนถึงแม้แต่เรื่องการแต่งตั้งโยกย้าย เขาขาดคนแต่ไม่แต่งตั้งคนทำงานให้ ดังนั้น การแต่งตั้งโยกย้ายความจริงต้องทำให้ท้องถิ่นมีบทบาทมากขึ้น สามารถที่จะดูว่าจะได้บุคลากรอย่างไรสอดคล้องกับท้องถิ่น และทำให้เส้นทางความก้าวหน้าของข้าราชการส่วนท้องถิ่นเขามีที่จะไปได้ทั่วประเทศ เรื่องนี้จำเป็นจะต้องมีความสมดุล

2.) เรื่องงาน และการถ่ายโอนภารกิจ
งานที่ท้องถิ่นต้องทำมีทั้งเรื่อง Reskill-Upskill เรื่องต่าง ๆ เหล่านี้ที่เป็นสมัยใหม่ หรือส่งเสริมนวัตกรรมฝึกอาชีพ ซึ่งถ้าทำกันจริง ๆ สตง.ก็จะบอกว่าทำไม่ได้ เพราะคณะกรรมการกระจายอำนาจไม่ได้แบ่งหน้าที่ไว้ให้เขา เพราะฉะนั้น ตรงนี้ต้องทำให้มันเกิดความชัดเจน เมืองสมัยใหม่ต้องการการพัฒนา ทางพรรคเพื่อไทยก็คิดว่าจังหวัดไหนต้องการจังหวัดจัดการตนเอง เราจะส่งเสริมจังหวัดที่มีความพร้อมมีเงื่อนไขที่เหมาะสม เลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดนำร่องประมาณ 4-5 จังหวัด ยกฐานะองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ทั่วประเทศให้เป็นเทศบาลตำบล

3.) เรื่องเงินรายได้
9 ปีที่ผ่านมา ท้องถิ่นได้เงินจากงบประมาณไม่ถึง 30 เปอร์เซ็นต์ ไม่จัดรายได้ให้สอดคล้องกับภารกิจ มีแต่งาน แต่ไม่มีงบประมาณจ่ายมา และกลายเป็นท้องถิ่นไม่ได้ทำในสิ่งที่ท้องถิ่นหรือประชาชนต้องการ ทำได้แต่งานที่ส่วนกลางหรือรัฐบาลฝากทำ และที่หนักสุดคือ งบท้องถิ่น ท้องถิ่นควรได้เป็นคนพิจารณา แต่กลับเอาไปให้สภาผู้แทนพิจารณาแทน ซึ่งผิดหน้าที่ ดังนั้น ต้องเพิ่มงบท้องถิ่นให้ร้อยละ 35 ภายใน 2 ปีงบประมาณ และยกเลิกงานฝากจากส่วนกลางออกไปจากบัญชีท้องถิ่น เพื่อให้ท้องถิ่นมีรายได้ตัวเองไปใช้จ่ายให้เกิดประโยชน์กับพี่น้องประชาชนได้

‘อนุทิน’ ลุยหาเสียง ‘นครนายก’ ย้ำ นโยบายพรรคไม่ขายฝัน เน้นทำได้ระยะยาว สร้างความมั่นคง ทั้ง ปชช.-ประเทศชาติ

(11 เม.ย. 66) ที่วัดบางปลัง ตำบลศรีจุฬา อำเภอเมือง จังหวัดนครนายก นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.) และแกนนำพรรค อาทิ นายสรอรรถ กลิ่นประทุม ประธานคณะกรรมการที่ปรึกษาพรรคภูมิใจไทย และผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ, นายศุภชัย ใจสมุทร นายทะเบียนพรรค และผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ และ น.ส.อนุสรี ทับสุวรรณ ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ ลงพื้นที่ ช่วยผู้สมัครหาเสียง พร้อมทั้งแนะนำนโยบายพรรค ได้แก่ นายปิยวัฒน์ กิตติธเนศวร ผู้สมัคร ส.ส.เขต 1 จังหวัดนครนายก และนายวุฒิชัย กิตติธเนศวร ผู้สมัคร ส.ส.เขต 2 จังหวัดนครนายก ท่ามกลางประชาชนที่มาฟังการปราศรัยอย่างคับคั่ง โดยมีการขอถ่ายรูปกับนายอนุทิน และผู้สมัคร พร้อมมอบดอกไม้ให้กำลังใจ

นายอนุทิน กล่าวว่า พื้นที่ จ.นครนายก มีการทำเกษตรกรรมกันมาก และท่านผ่านอะไรมาเยอะ มันก็แก้ปัญหาท่านไม่ได้ วันนี้พรรคภูมิใจไทยมีแนวทางใหม่มานำเสนอเรียกว่า เกษตรร่ำรวย คือ เกษตรกรต้องรู้ราคาล่วงหน้า ก่อนจะปลูก ถ้าได้ราคาที่พอใจ มีกำไร ไม่ขาดทุน จึงตัดสินใจปลูก และเกษตรกรต้องมีประกันการเพาะปลูก ได้รับเงินที่ลงทุนไป ในกรณีที่ไร่นาผลผลิตเสียหายจากภัยธรรมชาติ ภัยพิบัติ หรือ ต้นทุนปัจจัยการผลิตที่ผันผวน ชาวไร่ ชาวนา ไม่ต้องเสี่ยงดวง แต่ได้ตัดสินใจบนข้อมูล ทั้งยังได้รับการดูแลจากภาครัฐฯ

นายอนุทิน กล่าวด้วยว่า ที่มานั่งฟังกันในวันนี้มีผู้สูงวัยจำนวนมาก สังคมไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ นโยบายของพรรค ให้ความสำคัญกับท่าน เราไม่ทอดทิ้งใครไว้ข้างหลัง คนทุกรุ่นล้วนสำคัญ เรามีนโยบายผู้สูงอายุให้สิทธิเป็นสมาชิกกองทุนประกันชีวิต และมีกรมธรรม์ประกันชีวิตทันทีโดยไม่ต้องสมัคร และไม่ต้องจ่ายค่าเบี้ยประกันชีวิต ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ให้สิทธิกู้เงินดูแลตัวเอง วงเงิน 20,000 บาท ในวันที่เสียชีวิต ทุกคนจะมีมรดกให้ลูกหลาน ทายาท และครอบครัว รายละ 100,000 บาท

นอกจากนี้ พรรคเรายังต้องการลดภาระค่าใช้จ่ายประชาชน คนไทยทุกครัวเรือนมีสิทธิเข้าร่วมโครงการ การไฟฟ้าประชาชนสนับสนุนให้ทุกครัวเรือนใช้พื้นที่บ้านของตัวเอง หรือพื้นที่ส่วนกลางในชุมชน ติดตั้งโซลาร์เซลล์ ผลิตกระแสไฟฟ้าขายให้กับรัฐบาล ลดค่าไฟฟ้าได้ไม่น้อยกว่า 450 บาทต่อเดือน และสิทธิซื้อมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าบ้านละ 1 คัน ในราคา 6,000 บาท ด้วยระบบผ่อนชำระ เดือนละ 100 บาท เป็นเวลา 60 เดือน

‘นันทิวัฒน์’ ซัด!! นักการเมืองค้าน ‘เกณฑ์ทหาร’ ลั่น!! มันคือการตัดมือตัดตีนตัวเองให้ต่างชาติย่ำยี

ตบปากพวกปลุก ‘เลิกเกณฑ์ทหาร’ อย่าหาเสียงด้วยการสร้างความอ่อนแอให้ประเทศ

(12 เม.ย.66) นายนันทิวัฒน์ สามารถ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และอดีตรองผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ โพสต์เฟซบุ๊กในหัวข้อ ‘เกณฑ์ทหาร : ทำไม’ มีเนื้อหาดังนี้...

เกณฑ์ทหาร : ทำไม

ไม่เข้าใจ ทำไมนักการเมือง ผู้สมัครรับเลือกตั้งและพรรคการเมืองถึงได้คัดค้านและต่อต้านการเกณฑ์ทหาร ถึงขนาดเสนอให้ยกเลิกการเกณฑ์ทหาร หรือต้องการให้ประเทศชาติอ่อนแอ

การเป็นทหารคือวิถีของลูกผู้ชาย ที่ครั้งหนึ่งในชีวิตได้รับใช้ชาติ เสียสละความสุขส่วนตัวเพื่อชาติ เตรียมความพร้อมให้ตัวเองและกองทัพเผื่อยามที่ประเทศมีศึกสงคราม ทหารเกณฑ์จะได้รับการฝึกป้องกันตัว การใช้อาวุธ การฝึกความมีระเบียบวินัย ฝึกการรับฟังคำสั่ง สั่งให้ยิงต้องยิง ไม่หนีข้าศึกที่อยู่ตรงหน้า

นักการเมืองและคนที่ต่อต้านการเกณฑ์ทหารต้องตระหนักไว้ว่า ไม่มีประเทศใดในโลกนี้ที่ไม่มีกองทัพ นอกจากประเทศที่แพ้สงครามและถูกประเทศผู้ชนะห้ามไม่ให้มีกองทัพ และไม่มีประเทศใดไม่เผชิญภัยคุกคามความมั่นคงจากนอกประเทศ ยิ่งในสถานการณ์การเมืองโลกในปัจจุบัน ที่มีความตึงเครียดและการสู้รบดั่งที่เห็น

พลังอำนาจของชาติมาจากไหน แน่นอนต้องมาจากคนในชาติ สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้าได้ทรงพระราชทานคำขวัญให้กองทหารเสือป่า ว่า “แม้หวังตั้งสงบ จงเตรียมรบให้พร้อมสรรพ ศัตรูกล้ามาประจัญ ก็อาจสู้ริปูสลาย”

หมายว่าอย่างไร หากต้องการความสงบภายใน ชาติต้องมีกำลังทหารที่พร้อมรบเพื่อป้องกันประเทศจากการรุกรานของต่างชาติ ประวัติศาสตร์ของไทยถูกรุกรานจากต่างชาติมาโดยตลอด เดชะบุญที่บูรพกษัตริย์ทรงมีความเข้มแข็งและสายพระเนตรที่กว้างไกลในการป้องกันประเทศ

'เปลวสีเงิน' เปิดสตูบ้านหลังใหม่ สัมภาษณ์ 'นายกฯ' พูดคุยสิ่งที่ 'ทำแล้ว-ทำอยู่-ทำต่อ' ในรายการ The Exclusive Talk

(11 เม.ย.66) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ให้เกียรติร่วมเปิดสำนักงานใหม่ไทยโพสต์ ที่ซอยประชาชื่น 46 ถนนประชาชื่น แขวงวงศ์สว่าง เขตบางซื่อ เมื่อ 10 เม.ย.ที่ผ่านมา

ทั้งนี้พล.อ.ประยุทธ์ ได้ร่วมสนทนากับ ‘เปลว สีเงิน’ ผู้ก่อตั้งไทยโพสต์ และคอลัมนิสต์ชื่อดัง ในรายการ The Exclusive Talk ทีวีไทยโพสต์ โดยในบทสนทนามีเนื้อหาบางส่วนดังนี้

เปลว สีเงิน - นายกฯ ไปหลายพื้นที่ที่คนต้องการให้ไปเยอะๆ แต่ภาคอีสานก็มีคนคิดถึงนะ

พล.อ.ประยุทธ์ : ก่อนหน้านี้ เราก็ไปในฐานะหัวหน้ารัฐบาลมีโครงการต่างๆก็ไปตรวจเยี่ยมทุกวันนี้ก็ต้องระวังนิดนึง ถ้าไปในฐานะนายกฯ คงไม่ได้แล้ว แต่ไปในนามของการเลือกตั้งไปได้  แต่ก็ต้องไปอย่างง่ายๆที่สุด

เปลว สีเงิน : เห็นส่ง คุณพีรพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค หัวหน้าพรรค เป็นแนวหน้าออกรายการดีเบต

พล.อ.ประยุทธ์ : ตอนนี้ก็มีคนออกมาพูดกันเยอะ สิ่งหนึ่งที่สำคัญที่สุดคือจะทำอย่างไรให้คนเข้าใจได้ โดยไม่มีความขัดแย้ง ไม่ใช่ เกลียดชังกัน สิ่งที่พูดอาจจะคิดดี หลักการอาจจะคิดว่าทำได้ แต่จริงๆ แล้วทำไม่ได้ และเป็นปัญหากับคนอื่นด้วย นี่คือประเด็นสำคัญก็ต้องระมัดระวังและคิดให้ถี่ถ้วน 

วันนี้รัฐบาลก็พยายามที่จะทำให้เรามีรายได้มากขึ้นในภาพของประเทศ เพื่อเอาเงินและรายได้เหล่านี้มาพัฒนาประเทศ และประชาชนให้ครบถ้วนมากบ้างน้อยบ้าง แต่ถ้าให้อันใดอันหนึ่งที่มากเกินไป จะส่งผลกระทบใหญ่ต่องบประมาณ อีกทั้งระบบเราเสียหายหมด ต่างประเทศดูเราอยู่ ซึ่งวันนี้เขาก็ชื่นชมประเทศไทย สามารถจัดระบบการเงินการคลัง เป็นที่น่าเชื่อถือเชื่อมั่นให้ความไว้วางใจ ค่าเงินบาทยังมีราคาเงินเฟ้อก็ลดลง ของเรายังอยู่ในสภาพที่ปลอดภัยแล้ว เป็นตัวอย่างในการประชุมระหว่างประเทศ ก็ต้องช่วยกันรักษาสิ่งเหล่านี้ต่อไป

เปลว สีเงิน : เดี๋ยวนี้ก็มีการแจกโน่นแจกนี่ซึ่งเกินความเป็นจริง แต่บางทีก็ขาดเรื่องการชี้แจง
.
พล.อ.ประยุทธ์ : สิ่งที่ผมพยายามจะพูดออกไปและสื่อสารออกไปเยอะมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเป็นหัวหน้ารัฐบาลเพื่อให้บ้านเมืองปลอดภัย คือหน่วยงาน กระทรวง ครม. เขาต้องเอาสิ่งที่ผมพูดไปช่วยกันพูด แต่ปรากฏว่าก็น้อยไปหน่อยไม่ค่อยพูดกัน ข้าราชการบางทีก็ไม่กล้าพูด

ส่วนของผมหน้าที่นายกรัฐมนตรีก็เป็นอีกบทบาทหนึ่งในเชิงบริหาร การที่ผมเยี่ยมเยียนประชาชน หรือมาเยี่ยมก็ตามส่วนหนึ่งผมอาจไปเยี่ยม ส่วนหนึ่งอาจจะยังไม่ได้ไป ส่วนหนึ่งอาจไปแล้วหลายครั้ง

แต่สิ่งที่ผมไปที่เยี่ยมเยียนนั้น ก็ด้วยผลงานของผม ถนนหนทาง น้ำ การจัดที่ทำกินต่างๆ ผมไปหมดแล้วทุกพื้นที่ บางอันอาจจะอยู่ในระดับเริ่มต้น จะตกจากตรงกลางบ้าง บางอันอยู่ในระดับสำเร็จแล้วแต่ทั้งหมดผมไปเยี่ยมเขาด้วยแผนงานโครงการของผมไม่เคยแยกแยะ ไม่เคยว่าพื้นที่นี้เป็นของใคร จังหวัดของใคร สีอะไร ไม่ได้สนใจ ผมสนใจแต่เพียงว่าประชาชนของประเทศเรามีทุกภาคทุกจังหวัด 

ไปดูได้เลยว่างบประมาณแต่ละปีทุกจังหวัดทุกกลุ่มจังหวัดได้เพิ่มขึ้นหรือไม่ ทุกภาคมากขึ้นไหม ทั้งๆ ที่ผมก็ไม่ได้มีผู้แทนอยู่ตรงนั้นนี่คือผมมองประชาชน ตรงนี้อยากฝากความเข้าใจด้วยว่าทุกอย่างที่เกิดขึ้นมาได้เพราะบ้านเมืองสงบ ถ้าบ้านเมืองไม่สงบยังเป็นแบบเดิม จะทำอะไรไม่ได้ และวันนี้จะจับต้องอะไรไม่ได้เลย แต่นี่ตั้งเยอะที่จับต้องได้ หลายคนก็บิดเบือนว่าทำเหมือนมองไม่เห็น แล้วเอาที่ยังไม่เสร็จมาโจมตี ผมก็อธิบายต่อไปก็ต้องช่วยกัน ก็ไม่บ่น บ่นไม่ได้อยู่แล้ว ที่พูด ไม่ได้บ่น แต่เป็นการอธิบาย คือคนบางทีก็ไม่ชอบฟังแต่ชอบว่า

การจะให้อะไร ถ้าผมให้ได้ก็ดีละซิ ให้อะไรต้องคำนึงถึงว่า เรามีงบประมาณเท่าไหร่ หาได้เท่าไหร่ วันนี้เรามีเท่านี้แล้วเราจ่ายเท่านี้ แต่กลุ่มโน้นกลุ่มนี้บริหารลงทุนต่างๆมันก็สมดุลกัน ชดเชยบ้าง  ลงทุนต่างๆบ้าง ธุรกิจบ้าง แต่ถ้าทำอะไรเกินจากนี้ และยังไม่มีทางขายของมาเพิ่ม  ผมบอกได้เลยล้มทั้งประเทศ การจะกู้เงินมาแจกเฉยๆ มันทำไม่ได้ หลักการของโลกในการกู้เงินมาต้องทำให้เกิดมูลค่า เกิดรายได้หรือกู้มาในสถานการณ์พิเศษ เช่นสถานการณ์โรคอุบัติใหม่

สิ่งต่างๆเหล่านี้ทุกคนต้องเข้าใจร่วมกันถ้าทุกคนอยากได้ แต่ไม่ช่วยกัน มันไปไม่ได้สักคน นี้หลักการของผม ไม่ใช่ไม่อยากให้ ไม่ใช่ไม่เห็นใจ ไม่ใช่ไม่เห็นถึงความยากลำบาก แต่ต้องไปดูว่าความยากลำบากของแต่ละกลุ่มอยู่ตรงไหนและเราต้องไปแก้ตรงไหน อย่างไรวันนี้ถึงมีมาตรการเรื่องการบริหารหนี้ครัวเรือน ทำอย่างไรจะลดลง แต่รัฐบาลทำอย่างเดียวมันไม่พอ ทุกคนต้องร่วมมือกับมาตรการของรัฐด้วย ถ้าสมมุติมีหนี้แล้วเอาเงินไปแจก โอเคหมดหนี้แล้วมันจะเกิดหนี้ใหม่หรือไม่  ถ้าเราไม่สร้างความเข้มแข็ง ไม่สร้างการเรียนรู้ให้เขาแล้วเขาจะหาเงินเองได้อย่างไร

วันนี้ทำอย่างไรให้เด็กที่กำลังโตรู้จักว่าจะดำเนินชีวิตไปได้อย่างไร ถ้าเราทำให้เขาว่าต่อไปนี้สบายไม่ต้องทำอะไรก็ได้เงินให้แล้วผมถามว่าโตไปเขาจะทำอย่างไรในวันหน้า เขาก็คาดหวังว่าเดี๋ยวก็มีเงินมาให้อีก เพราะฉะนั้น สิ่งที่คนในยุคกลางๆ ที่จะเป็นผู้ใหญ่ในเรื่องความพยายามจะหายไปหมด ต้องถามว่าประเทศจะไปได้หรือไม่และจะเป็นอย่างไร นั่นก็อีกส่วนหนึ่งมันเป็นความเป็นธรรมที่เราต้องดูแลผู้มีรายได้น้อยตามสมควร ตามงบประมาณที่มีอยู่ซึ่งเขาทำอยู่แล้ว

อีกอันคือเรื่องความเท่าเทียมในเรื่องของโอกาส แต่ต้องให้เขามีอาชีพ มีรายได้ที่มีเงินเพียงพอรวมถึงเรื่องดิจิตอลต่างๆที่จะทำขึ้นมาต้องพูดสิ่งเหล่านี้ให้มันเชื่อมโยงว่าเราจะทำอย่างไรกับประเทศของเรา ผมเห็นพี่เขียนอะไรมาก็โอเคนะ ที่ชวนชี้นำทำความเข้าใจ วิเคราะห์ได้

เราต้องแก้ปัญหาวันนี้มีอะไรบ้าง ที่เก่าๆมาก็เก็บมาแก้ไขปัญหาและพร้อมจะทำที่วันนี้ดีอยู่แล้วให้ดีขึ้น และก็ต้องทำวันหน้าไปเพื่ออนาคต ไม่ใช่มาแก้ปัญหาเฉพาะหน้าอย่างเดียว นี่ตอนผมคุยกับหัวหน้าพรรคมาตลอด นโยบายของเรา "ทำแล้ว ทำอยู่ ทำต่อ" มันจบที่ไหน นี่คืออดีตปัจจุบันและอนาคตของประเทศไทยสามคำของผมต้องตีความหมายให้เข้าใจตรงกัน

ตอนนี้สื่อก็เยอะไปหมดอย่างที่ทำเนียบฯก็เยอะผมก็รักเขา แต่คำถามเขาบางทีมันถามให้ผมปวดหัว บางทีผมก็หงุดหงิดก็ขอโทษแล้วกัน ไม่ได้เกลียดชังกันอยู่แล้วถึงเวลาก็รักกันเหมือนเดิม สื่อกับผมอยู่กันมา 8 ปี เขาบอกถ้าเป็นตรงนี้ต้องไม่โมโหใคร ผมก็มนุษย์เหมือนกัน ถ้าผมไม่ทำเลย แล้วด่าผม ผมไม่ว่า นี่ผมทำแต่ท่านก็ไม่ฟัง แต่รู้ก็เป็นเรื่องของพวกเราที่คิดอย่างไรก็ได้

ผมไปต่างประเทศทุกครั้งจะเอาหนังสือพิมพ์ต่างประเทศมาดู ไม่เห็นมันวุ่นวายมากมายเท่าบ้านเรา เขาใหญ่กว่าเราตั้งเยอะแข่งหน้าหนังสือพิมพ์เขามีความเจริญของบ้านเมือง ส่วนข้างในหนังสือพิมพ์มีนี่มีโน่น เขาไม่มีตีกันซักหน้าไม่มีฆ่ากันซักคนยกเว้นแต่เรื่องสงคราม อะไรต่างๆเค้าขึ้นเพราะเป็นเรื่องสำคัญแต่เรื่องภายในประเทศเขาอาจจะมีดีกว่าของเรา หรืออาจจะแย่กว่าของเราแต่เขาไม่ออกในหนังสือพิมพ์

‘พุทธิพงษ์’ เคลียร์ชัด!! ‘ภูมิใจไทย’ ไม่เคยคิดเอากัญชาเสรี โอด!! ทุกพรรคเห็นชอบ กม. แต่พอเรื่องเข้าสภากลับเทกลางทาง

(12 เม.ย.66) จากรายการพิเศษ เลือกตั้ง 66 เปลี่ยนใหม่ หรือ ไปต่อ (ขุนพลมหานคร) นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ ผู้อำนวยการเลือกตั้งกรุงเทพฯ พรรคภูมิใจไทย ได้ตอบชัดถึงเรื่องกัญชาเสรี โดยระบุว่า “ตนไม่เอาเสรีกัญชา”

พร้อมยังได้กล่าวเพิ่มเติม “ การที่เราจะเอากฎหมายเข้าไปในสภานั้น ต้องผ่าน 1.ครม. หลังจากนั้น 2.ครม. ต้องส่งต่อไปให้ประธานสภาฯ 3.ประธานสภาฯ บรรจุเข้าในสภา  4.ผ่านวาระรับหลักการของสภา ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลนี้ผ่านเสียงข้างมาก

“สาระสำคัญอยู่ที่ พอผ่านหลักการเรียบร้อย ตั้งกรรมธิการ ซึ่งกรรมธิการในสภาได้มีองค์ประกอบของ ส.ส. จากทุกพรรค และจากวาระรับหลักการเดิมมีอยู่ 40 มาตราตอนเสนอ แต่พอเข้ากรรมธิการในการเพิ่มเติมกฎหมายเรื่องของกัญชา ก็เพิ่มเป็น 90 มาตรา ซึ่งนั่นก็แสดงให้เห็นว่า ข้อกังวลของส.ส. ทุกพรรคได้เติมเต็มข้อบังคับ และกฎที่เป็นห่วงกันทั้งหมดเป็น 90 มาตรา แต่พอเอากลับมาเข้าสภาใหญ่ แต่ละพรรคกลับไม่เข้าประชุม, สภาล่ม จนทำให้หมดสมัยประชุม และดันมาบอกว่า ภูมิใจไทยเป็นพรรคที่เอากัญชาเสรี”

นายพุทธิพงษ์ ยังได้ย้ำอีกว่า “ตนเอง และพรรคภูมิใจไทย ไม่เห็นด้วยในเรื่องกัญชาเสรี” พร้อมยังย้อนถามกลับ “พรรคไหนที่ในวันนั้นไม่เข้าประชุม เพราะอะไร”

‘ชัยวุฒิ’ ยัน!! พปชร. ไม่จับมือ ‘เพื่อไทย-ก้าวไกล’ ชี้!! จุดยืน ‘ม.112 - ยกเลิกเกณฑ์ทหาร’ ไม่ตรงกัน

(12 เม.ย.66) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ให้สัมภาษณ์ภายหลังพิธีรถน้ำดำหัวพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว. กลาโหม เนื่องในเทศกาลสงกรานต์ 2566 ว่า เนื่องในเทศกาลปีใหม่ไทยคณะรัฐมนตรีจึงมารถน้ำขอพรจากนายกรัฐมนตรี และร่วมพิธีทำบุญ ขณะที่นายกรัฐมนตรีได้อวยพรให้ทุกคนมีความสุข เจริญก้าวหน้า และประสบความสำเร็จ

นายชัยวุฒิ กล่าวว่า ส่วนพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ไม่ได้เดินทางมาร่วมพิธีในวันนี้ เนื่องจากติดภารกิจให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง เพื่ออธิบายนโยบายของพรรคพลังประชารัฐให้ประชาชนได้รับทราบ

นายชัยวุฒิ กล่าวถึงกรณีพล.อ.ประวิตร ระบุสาเหตุที่ไม่สามารถจับมือร่วมกับพรรคการเมืองที่ มีแนวคิดแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา ม.112 ว่า พรรคพลังประชารัฐมีจุดยืนทางการเมืองที่ชัดเจน เราทำงานมา 4 ปีพี่น้องประชาชนรู้อยู่แล้วว่ามีแนวคิดอย่างไร ในเรื่องของการดูแลชาติบ้านเมือง ให้สงบสุขไม่มีความขัดแย้ง โดยเฉพาะเรื่องที่เราคิดว่าเป็นปัญหาและไม่ทำแน่นอน ซึ่งหากมีพรรคการเมืองไหนที่เสนอนโยบายที่เราไม่เห็นด้วย อย่าง เรื่องการแก้ไข ม.112 และการยกเลิกการเกณฑ์ทหาร คงไม่สามารถร่วมงานกันได้อยู่แล้ว นี่เป็นแนวหลักการ ไม่ได้เป็นเรื่องของอคติ หรือความขัดแย้ง 


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top