Friday, 3 May 2024
ElectionTime

เก็บตกเลือกตั้ง 66 รวมดาว 'ผู้สมัครตัวจี๊ด'

ผลนับคะแนนเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการออกมาแล้ว แต่ความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งใหญ่จะเกิดขึ้นจริงก็ต่อเมื่อ กกต. ส่วนกลางรับรองผลคะแนน และเคลียร์ประเด็นข้อร้องเรียนต่างๆ ซึ่งทุกอย่างมีขั้นตอน และกระบวนการที่พิจารณาอย่างละเอียด แต่ กกต.ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในกรอบระยะเวลา 60 วัน 

ระหว่างรอความชัดเจน เราลองมองย้อนกลับไปดูบาง "ผู้สมัคร ส.ส." ที่สร้างสีสัน ตั้งแต่วันรับสมัคร ไปจนถึงวิธิการหาเสียง และนโยบายที่ชูเป็นจุดขาย ซึ่งมีทั้งที่น่าจะเข้าป้าย และอาจต้องผิดหวังจากการเลือกตั้งครั้งนี้

เริ่มที่ "ไอซ์" รัชนก ศรีนอก ว่าที่ ส.ส. พรรคก้าวไกล เขต 28 บางบอน ที่ล้มช้าง บ้านใหญ่เจ้าของพื้นที่เดิม อย่าง "วัน  อยู่บำรุง" จากพรรคเพื่อไทย และ "วณิชชา ม่วงศิริ" จากพรรคประชาธิปัตย์ แบบขาดลอยโดยได้รับคะแนนเสียงถึง 47,592 คะแนน

แน่นอนว่ากระแสพรรคก้าวไกลก็ส่วนหนึ่ง แต่ชื่อของ “ไอซ์ รัชนก” ถูกพูดถึงและเป็นที่จดจำมากในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง ด้วยรูปแบบการหาเสียงที่เรียกว่าถึงลูกถึงคน ทั้งการปั่นจักรยาน หิ้วโทรโข่งลุยเดี่ยวเรียกคะแนนเสียงไปตามถนนหนทาง แวะถามสารทุกข์สุกดิบกับผู้คนตามชุมชนต่างๆ และยังมีลูกเล่นหาเสียง ทำพวงมาลัยนโยบายไปแจกผู้ขับขี่ตามสี่แยก นอกจากนี้เธอยังใช้พื้นที่โซเชียลมีเดีย โดยเฉพาะทำคลิปบรรยากาศการหาเสียง ลง tiktok สร้างกระแส และสื่อสารนโยบายอย่างต่อเนื่อง

คนต่อมา ศรัณย์วุฒิ  ศรัณย์เกตุ โจรกลับใจ ที่ไม่ได้โอกาสกลับเข้าสภา 
บรรยากาศวันรับสมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขต หนึ่งในพื้นที่สีสันที่สร้างความฮือฮาได้ไม่น้อย คือที่จังหวัดอุตรดิตถ์ เมื่อ  "ศรัณย์วุฒิ ศรัณย์เกตุ"  ผู้สมัคร ส.ส.เขต 3 พรรครวมไทยสร้างชาติ ปรากฏตัวด้วยการแต่งกายแบบนักรบโบราณ 2 มือถือดาบ นำทีมผู้สมัคร ส.ส.ของพรรค นั่งเกวียนที่มีวัวลากจูง บรรทุกพืชผลทางการเกษตรเข้าสู่พื้นที่รับสมัคร สร้างความสนใจให้ชาวบ้านและสื่อมวลชนที่รอทำข่าวไม่น้อย

แม้ใครจะมองว่าเป็นเพียงสีสันทางการเมือง แต่ถ้าย้อนไปดู ถือว่า "ศรัณย์วุฒิ" เป็น ส.ส.ที่คนอุตรดิตถ์มอบความไว้วางใจมาหลายสมัย ด้วยความเป็นนักการเมืองฝีปากกล้า รวมถึงทรงผม หนวดเครา และจอนยาวที่เป็นเอกลักษณ์ ทำให้เขาได้รับฉายาทั้ง "ส.ส.หนวดงาม"  "นักรบพันธุ์ดุ" และ "ส.ส.เอลวิส" และเป็นหนึ่งใน ส.ส. ที่อภิปรายในสภาสร้างสีสันได้เสมอ 

ในช่วงก่อนเลือกตั้ง ศรัณย์วุฒิ สร้างความฮือฮาด้วยการ "ข้ามค่าย ย้ายขั้ว" จากพรรคฝ่ายค้านเดิม ประกาศตัวเป็น "โจรกลับใจ" เปิดตัวกับพรรครวมไทยสร้างชาติ เดินหน้าสนับสนุน "พลเอกประยุทธ์"  กลับเข้าไปเป็นนายกฯ อีกครั้ง

แต่ในท้ายที่สุด ผลการนับคะแนนอย่างไม่เป็นทางการ ของอุตรดิตถ์ เขต 3 ปรากฏว่าหนนี้ เจ้าพ่อคอนเทนต์อย่างศรัณย์วุฒิสอบตก โดยคะแนนเสียงอันดับ 1 ตกเป็นของ รวี เล็กอุทัย ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทยกวาดไปถึง 48,779 คะแนน ขณะที่ อดีต ส.ส. อย่างศรัณย์วุฒิ  มาเป็นอันดับ 3 ที่ 12,896 คะแนนเท่านั้น เป็นอันปิดฉากหนึ่งในนักการเมืองมากสีสัน สำหรับเวทีการเมืองสมัยนี้ไปโดยปริยาย 

มาถึง "ครูปรีชา" จากคู่พิพาทหวยด้ง 30 ล้าน  สู่ผู้สมัคร ส.ส. ผลักดันนโยบายแก้ปัญหาราคาสลากแพง
อันที่จริง ชื่อของ "ครูปรีชา ใคร่ครวญ" โด่งดังมาตั้งแต่ ปี 2562 จากกรณีเป็นคู่ความในคดีมหากาพย์หวย 30 ล้าน กับ "หมวดจรูญ" อดีตข้าราชการตำรวจ ทำให้ครูปรีชาเป็นที่รู้จักของคนทั้งประเทศ ตั้งแต่นั้นมา

แต่ในช่วงก่อนการเลือกตั้งที่ผ่านมา ชื่อของ "ครูปรีชา" กลับมาถูกพูดถึงอีกครั้ง แต่ในบริบทที่เปลี่ยนไป เพราะครั้งนี้เจ้าตัวประกาศลงสมัคร ส.ส. เขต 1 กาญจนบุรี แต่ด้วยติดปัญหาด้านการจัดการ ทำให้สุดท้าย เจ้าตัวจึงเปลี่ยนมาลงสมัครระบบบัญชีรายชื่อเป็น ลำดับที่ 9 ในนามพรรคประชากรไทย โดยเดินทางไปลงสมัครในช่วงบ่ายของวันสุดท้าย 

สำหรับนโยบายหวยๆ ที่ครูปรีชาเสนอคือ การซื้อหวยอย่างเท่าเทียม อย่างมีความสุข ใบละ 80 บาท พร้อมชูมอตโต้ "ยิ้มอย่างมีความสุข ซื้อหวยอย่างมีความสุข เลือกครูปรีชา"

แต่ล่าสุด ผลการนับคะแนนอย่างไม่เป็นทางการ ปรากฏว่าพรรคประชากรไทยได้คะแนนเสียงในระบบบัญชีรายชื่อ จำนวน 56,655 คะแนน ไม่พอต่อการได้เก้าอี้ ส.ส ความฝันและนโยบายของครูปรีชา จึงไม่ได้ไปต่อในการเลือกตั้งหนนี้  

อีกหนึ่งสีสันการเลือกตั้งหนนี้ คือการก้าวขาเข้ามาสู่การเมืองเต็มตัวของ  "นอท กองสลากพลัส" หรือ พันธ์ธวัช นาควิสุทธิ์ CEO กองสลากพลัสที่ปิดตัวไปก่อนหน้านี้ ก่อนออกมาเปิดตัว "พรรคเปลี่ยน" โดยเจ้าตัวนั่งปาร์ตี้ลิสต์ลำดับที่ 1 ตั้งเป้ากวาด 3 ล้านเสียง พร้อมกับการประกาศ 3 นโยบายหลัก 5 นโยบายรอง แก้ไขปัญหาปากท้องโดยเฉพาะกลุ่มคนหาเช้ากินค่ำผ่านนโยบาย "หวยโอกาส"  ให้สามารถหาเงินได้ปีละ 55,000 ล้านบาทต่อปี นำมาต่อยอดทำนโยบายธนาคารโอกาสและกองทุนโอกาสให้เงินกู้แก่ผู้ที่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ 

แต่แล้วก็เช่นกัน ผลการเลือกตั้งไม่เป็นทางการปรากฏว่า พรรคเปลี่ยนไม่มี ส.ส. สอบผ่านทั้งแบบเขตและบัญชีรายชื่อ ทำให้พรรคเปลี่ยนของ "นอท" ไม่มีพื้นที่ในสภาในการเลือกตั้งหนนี้ แต่อย่างน้อยตัวเขาและพรรคเปลี่ยนก็แต่งแต้มสีสันให้บรรยากาศการเลือกตั้งครั้งนี้มีชีวิตชีวามากขึ้น

‘เนเน่-จิ๊บ’ ผู้สมัคร ส.ส. รทสช. โพสต์ภาพประทับใจในอ้อมกอด ‘บิ๊กตู่’ พร้อมชื่นชมการทำงานของทั้งสอง ขอให้สู้ไปด้วยกัน อย่าถอดใจ

(17 พ.ค.66) หลังจากเกิดปรากฎการณ์ พรรคสีส้มครองที่นั่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในกรุงเทพมหานคร ไปได้ถึง 32 ที่นั่ง และล่าสุดเฟซบุ๊กผู้สมัคร ส.ส.กทม เขต 33  ‘เนเน่ รัดเกล้า สุวรรณคีรี’ และผู้สมัคร ส.ส.กทม เขต 30 ‘จิ๊บ ศศิกานต์ วัฒนะจันทร์’ พรรครวมไทยสร้างชาติ ได้โพสต์ภาพประทับใจในอ้อมกอดของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี หมายเลข 1 พรรครวมไทยสร้างชาติ พร้อมข้อความว่า… 

“ความประทับใจของวันนี้  #ลุงตู่ บอก "โคตรเชียร์พวกเธอเลย" แล้วดึงไปกอด..   "ขอบคุณพวกเธอทุกคน สู้กันได้ดีมาก รักทุกคนนะ รู้ใช่ไหม อย่าถอดใจแล้วมาสู้ไปด้วยกันต่อนะ" 🤟❤️”

ทั้งนี้ มีประชาชนเข้ามาให้กำลังใจ กันอย่างล้นหลาม

‘รัฐบาลก้าวไกล’ 310 เสียง คงเป็นแค่ ‘ฝันกลางวัน’ โอกาสได้ ‘นายกฯ คนนอก’ มีน้อย แต่ไม่ควรมองข้าม

เรียนตามตรงว่า ทำข่าวการบ้านการเมือง การเลือกตั้ง การจัดตั้งรัฐบาลมาก็หลายปี แต่ไม่มีปีไหนที่ตื่นเต้นเร้าใจ ชวนระทึกเท่ากับปีนี้

ในชั้นนี้ต้องบอกว่า ถ้าพรรคก้าวไกล 152 เสียงจับมือกับพรรคเพื่อไทย 141 เสียง บวกกับพรรคอื่น ๆ อีก 17 เสียงรวมเป็น 310 เสียงได้ เราก็จะเห็นปรากฏการณ์พรรคอันดับ 1 กับอันดับ 2 จับมือกันตั้งรัฐบาลได้เป็นครั้งแรก จากที่ผ่าน ๆ มา อันดับ 1 กับอันดับ 2 จะแยกวงอยู่คนละข้างแทบทุกครั้ง…

‘เล็ก เลียบด่วน’ ขอสรุปสถานการณ์ ณ วันที่ 17 พ.ค.ว่า น่าเป็นห่วง…โอกาสที่สถานการณ์จะบานปลายขยายวงลงสู่ท้องถนนกันอีกครั้งมีสูงไม่น้อย...

สถานการณ์ขณะนี้ พรรคก้าวไกลเดินหน้าฟอร์มรัฐบาล 310 เสียง พรรคเพื่อไทยโดยคำยืนยันของโทนี่  วู้ดซัม บิดาอุ๊งอิ๊ง ล่าสุดบอกว่าจะยกมือให้ เพราะอ่านขาดว่ายังไงก้าวไกลก็ไปถึงดวงดาว ขณะที่พรรคก้าวไกลเองบรรดาสาวกและว่าที่ ส.ส. หลายรายออกอาการห้าวเป้งจุดไฟในนาครข่มขู่สมาชิกวุฒิสภาหรือ สว. ให้โหวตสนับสนุน ไม่เพียงเท่านั้นยังลามไปกดดันพรรคการเมืองอื่น ๆ ที่ไม่ได้อยู่ใน 310 เสียงให้โหวตช่วยอีกต่างหาก จนถูกเจ้าของฉายา ‘มีโกนอาบน้ำผึ้ง’ ชวน หลีกภัย กรีดสวนว่า..อย่าจุ้นมาก คนอื่นเขาคิดเองได้…

จะว่าไปแล้ว...สาวกและว่าที่ ส.ส.ของพรรคก้าวไกลไม่ค่อยน่ารัก ขณะที่ว่าที่นายกฯ ทิม พิธา ก็ดูจะออกตัวแรงไปหน่อย...และขณะนี้น่าเป็นห่วงหัวหน้าทีมในอย่างชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรค ที่มารับบทผู้จัดการรัฐบาลมือใหม่หัดขับว่าจะเข้าโค้งแหกโค้งไปได้หรือไม่…

ส่องกล้องสถานการณ์ดูแล้ว...ตัวแปรสำคัญที่สุดตอนนี้คือ ส.ว. 250 เสียง ซึ่งฟันธงได้ไม่ยากว่าส่วนใหญ่ไม่เอา ไม่รับสูตรพิธาเป็นนายกฯ โดยก้าวไกลเป็นแกนนำ แม้จะรวมมาได้ 310 เสียงก็ตาม...เหตุผลหลักก็คือประเด็นยกเลิกหรือแก้ไขมาตรา 112 วิธีคิดต่อสถาบันเบื้องสูง และนโยบายชุดใหญ่ ‘ประเทศไทยไม่เหมือนเดิม’ หลายอย่างที่มีความล่อแหลม สุ่มเสี่ยง ดังนั้นจะกดดันแค่ไหนเพื่อหวังให้ ส.ว.ซัก 70 เสียงมาโหวตให้ทิม พิธาได้คะแนนผ่าน 376 เสียง เป็นเรื่องที่ปิดประตูตาย..อย่างมากก็จะได้เสียง ส.ว.ไม่เกิน 20 สียง

ตรงกันข้ามหากพลิกจากพรรคก้าวไกล พิธาเป็นนายกฯ ให้พรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำ โดยอุ๊งอิ๊งหรือเศรษฐาเป็นนายกฯ มีความเป็นไปได้มากกว่า ส.ว.จะสนับสนุน แต่มีข้อแม้สำคัญดังที่ ส.ว.สมชาย แสวงการ ออกมาให้สัมภาษณ์ว่า พรรคเพื่อไทยต้องเริ่มต้นตั้งแต่บัดนี้ ไม่ยืมมือ ส.ว.ให้โหวตคว่ำสูตรก้าวไกลเสียก่อน...แล้วจึงมาเริ่มต้น…

กล่าวโดยสรุป...อีกครั้ง
ประการแรก - รัฐบาลก้าวไกล 310 เสียงสุดท้ายจะเจอทางตัน เพราะแค่ ส.ว.งดออกเสียงไม่หนุนพิธาเป็นนายกฯ ก็จบข่าว ภายใต้สถานการณ์ที่มีโอกาสวุ่นวาย…

ประการที่สอง - พรรคเพื่อไทยที่รอส้มหล่น จะเดินต่อขยักสองเป็นแกนนำก็ไม่ง่าย...เพราะต้องไปอาศัยเสียงจากขั้วรัฐบาลเดิม มีความเป็นไปได้ที่จะถูกกดให้ลดชั้น สละเก้าอี้นายกรัฐมนตรีให้ ‘บิ๊กป้อม’ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หรืออนุทิน ชาญวีรกูล

ประการที่สาม - ถ้าสูตรเพื่อไทยยังตกลงกันเรื่องตำแหน่งนายกฯ ไม่ได้ สถานการณ์ก็อาจไถลไปใช้บริการมาตรา 272 วรรคสอง...นายกรัฐมนตรีคนนอก หรือนายกฯ นอกบัญชีแคนดิเดต...ซึ่งโอกาสจะเกิดแม้มีน้อย แต่ก็อย่ามองข้าม…

ประการที่สี่ - แม้ไม่มีสุญญากาศทางการเมือง แต่โอกาสที่รัฐบาลลุงตู่จะรักษาการจะลายาวไปเป็นครึ่งปีก็มีโอกาสแม้จะน้อยนิด

ส่งท้ายวันนี้...อยากบอกว่าคิดถึงคำกล่าวของ ‘ป๋าเปรม’ ที่ว่าบ้านเมืองเป็นเรื่องศักดิ์สิทธิ์ ใครอย่าคิดทำเล่น - สวัสดี!! 

คนไทยได้เห็นอะไรใน "เลือกตั้ง 66 " บ้าง

ผ่านไปกับการเลือกตั้ง 66 มีทั้งผู้สมหวัง และผู้ผิดหวัง แต่สิ่งสำคัญคือ ประชาชนและประเทศ ต้องเดินหน้าต่อไปพร้อมกับเหล่าบรรดาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ต้อง “มุ่งมั่น” ในการพัฒนาบริหารประเทศ

เลือกตั้งที่ผ่านมา ถือว่าเป็นการเลือกตั้งที่มากไปด้วยสีสัน รวมทั้งมีภาพแปลกตาอยู่ไม่น้อย The State Times รวบรวมสีสัน และความแปลกใหม่ ลองไปดูว่า มีเรื่องราวไหนที่ “ตรงใจ” กับคุณบ้าง 

'ก้าวไกล' ไม่เฟด 112 ดูท่า 'พิธา' จะอดเป็นนายกฯ แวะบ้าน ปชป.ส่อเละ!! เมื่อซุ้มเฉลิมชัยหนุน 'เดชอิศม์' คุมพรรค

'เลียบการเมือง' วันนี้...ส่งท้ายปลายสัปดาห์ ต้องบอกว่าเรื่องการจัดตั้งรัฐบาลให้จับตาการแถลงบันทึกความเข้าใจ บันทึกความตกลงของ 8 พรรคการเมือง 313 เสียงที่จะเปิดไพ่กันในในวันจันทร์ที่ 22 พ.ค. - วันที่ครบรอบ 9 ปีการรัฐประหารเมื่อปี 2557...แน่ะ...เข้าใจเลือกวัน 

แต่ 'เล็ก เลียบด่วน' สังหรณ์ใจว่าจะไม่ใช่วันมงคลซักเท่าไหร่นะ...

ได้ฟันธงไปเมื่อกลางสัปดาห์ว่า รัฐบาลสูตรก้าวไกลจะไปไม่ถึงดวงดาว วันนี้ก็ยังเหมือนเดิม ทั้งๆ ที่ในส่วนลึกของหัวใจ 'เล็ก เลียบด่วน' ก็อยากเห็นสายลมแห่งการเปลี่ยนแปลงกับเขา เหมือนกัน...แต่เมื่อดูกระบวนท่าขบวนทัพของพรรคก้าวไกลแล้ว ต้องบอกว่าถ้ายังดำเนินไปด้วยเนื้อหาและท่วงทำนองข่มขู่กดดันชาวบ้าน โดยเฉพาะสมาชิกวุฒิสภา ไม่ใช้คาถาท่านสุนทรภู่ที่ว่า “ปรารถนาสารพัดในปฐพี เอาไมตรีแลกได้ดั่งใจจง” ที่ดร.วิษณุ เครืองาม ยกมาพูดถึงสองครั้งสองคราก็อย่าหมายว่าจะไปถึงดวงดาว...

ปัจจัยชี้ชะตานายกฯ คนที่ 30 ของ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์และพรรคก้าวไกลนาทีนี้อยู่ที่...ปมประเด็นจุดยืนการแก้ไขหรือยกเลิกมาตรา 112 ที่พรรคก้าวไกลหาเสียงและเคยยื่นต่อสภา ซึ่งถ้ายังยืนยันที่จะแก้ไขหรือยกเลิก หรือแถลงแบบอึมครึมแบบเมื่อวันก่อนก็เหนื่อยหนัก...แต่ถ้าประกาศชัด ว่าจะไม่แตะต้องไม่แก้ไข ก็คงทำให้ได้เสียง ส.ว.หรือแม้กระทั่งส.ส.ที่จะโหวตฟรีจำนวนไม่น้อย...แน่นอนการประกาศอย่างนี้จะมีปฏิกิริยาจากแฟนคลับอื้ออึง...ก็เป็นเรื่องที่พรรคก้าวไกล ต้องชี้แจงเอาเอง เช่นบอกว่ารัฐบาลจะอำนวยความยุติธรรมให้กับคนที่โดนคดี 112 หรือคดีการเมือง...ประมาณนั้น

พูดไปทำไมมี...นาทีนี้ใครที่ตามลุ้นการจัดตั้งรัฐบาลก็ต้องใจร่มๆ ใจเย็นๆ ให้เหมือนพรรคเพื่อไทยที่เดินเกมเนียนสุดๆ ในการรอส้มหล่น...

สรุปว่า อีกประมาณ 60 วันเราถึงจะได้รู้ว่าใครจะเป็นประธานสภา และหลังจากนั้นอีกครึ่งเดือนจะโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี...สิริรวมต้นเดือน ส.ค.เป็นอย่างเร็วถึงจะได้นายกรัฐมนตรี ถึงวันนั้นหวยนายกฯอาจพลิกเป็นอุ้งอิ๊งหรือลุงป้อมไปแล้วก็ได้…!!??

แว้บ!! ไปที่พรรคประชาธิปัตย์กันหน่อย ประการแรกก็ต้องบอกว่า...เลือกตั้งหนนี้ได้ให้บทเรียนกับพรรคการเมืองที่เก่าแก่ที่สุดอย่างเจ็บปวด จาก 52 ที่นั่งเมื่อปี 2562 เหลือ 25 ที่นั่ง  ส.ส.เขต 23 คน ปาร์ตี้ลิสต์ 2 คน คือ คุณจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ และ คุณชวน หลีกภัย...

วันนี้คุณจุรินทร์ได้แสดงสปิริตลาออกจากหัวหน้าพรรคแล้ว ไม่แปลกที่หลายคนถามหาสปิริต เฉลิมชัย ศรีอ่อน  เลขาธิการพรรคที่ประกาศว่าถ้าได้ ส.ส.น้อยกว่าเดิมจะวางมือทางการเมือง...ตรงข้ามตอนนี้มีข่าวลือสะพัดว่ากลุ่มเฉลิมชัย อันมีสองขุนพลภาคใต้ขนาบซ้ายขวา คือเดชอิศม์ ขาวทอง รักษาการรองหัวหน้าพรรคและชัยชนะ เดชเดโช รักษาการรองเลขาธิการพรรค ได้ทอดไมตรีส่งสัญญาณยินดีเข้าร่วมรัฐบาลก้าวไกล

ว่ากันว่าช่วงกลางสัปดาห์ที่ อลงกรณ์ พลบุตร โพสต์เฟซบุ๊กเสนอให้พรรคประชาธิปัตย์ยกมือโหวตสนับสนุนรัฐบาลก้าวไกลนั้น..เป็นเรื่องเดียวกันกับที่กำลังเป็นข่าว...อย่างไรก็ตาม...ถ้าให้คาดเดาตอนนี้กลุ่มเฉลิมชัยน่าจะลุ้นหนักให้ส้มหล่น คือ ก้าวไกลไปไม่ถึงดวงดาว  และพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล แล้วพรรคประชาธิปัตย์จะเข้าร่วมรัฐบาลด้วยความสบายใจกว่า...

ครับ!! ก็ต้องจับตามองว่าจากนี้ไปใครจะเป็นผู้กอบกู้พรรคพระแม่ธรณี...บางกระแสลือกันว่า เฉลิมชัย ศรีอ่อน จะเป็นผู้ทรงอิทธิพลใช้ 17 ส.ส.ใต้ชุดใหม่หนุนให้ 'เดชอิศม์' ขึ้นเป็นหัวหน้าพรรค  ซึ่งถ้าเป็นจริงก็ดูไม่จืด...ส่วนอีกกระแสบอกว่ามวลสมาชิกจะอัญเชิญอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ-ชัยวุฒิ บรรณวัตน์ ให้คัมแบ็ก...ซึ่งนาทีนี้ก็ยากที่จะคาดหมายได้ว่า...เพราะมิรู้เลือดสีฟ้าของอภิสิทธิ์ยังเข้มข้นแค่ไหน? อย่างไร?


 

‘กกต.’ จัดเลือกตั้งใหม่ หน่วย 10 เขต 1 นครปฐม 21 พ.ค.นี้ หลังเจอฝนถล่มจนหน่วยเลือกตั้งล้ม ชวนผู้มีสิทธิเข้าคูหาอีกครั้ง

(19 พ.ค. 66) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายอิทธิพร บุญประคอง ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ได้ลงนามคำสั่งคณะกรรมการการเลือกตั้งที่ 913/2566 ลงวันที่ 18 พ.ค. 2566 เรื่องให้มีการลงคะแนนเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หน่วยเลือกตั้งที่ 10 เขตเลือกตั้งที่ 1 จังหวัดนครปฐมใหม่ โดยมีสาระสำคัญระบุว่า…

คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้รับรายงานกรณีคณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง ได้ประกาศงดลงคะแนนตามมาตรา 102 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. 2561 ด้วยในวันที่ 14 พ.ค. 66 เวลา 16.45 น. เกิดเหตุฝนตกหนักและลมพัดแรง ทำให้ปะรำที่เลือกตั้งล้ม และในระหว่างนั้นมีผู้มีสิทธิเลือกตั้งบางส่วนมาปรากฏตัวในที่เลือกตั้ง แต่คณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งที่ 10 ได้ประกาศงดการลงคะแนน จึงไม่อาจใช้สิทธิเลือกตั้งได้

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 102 พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. 2561 ประกอบข้อ 5 และข้อ 166 ระเบียบ กกต. ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. 2566 กกต. จึงมีมติให้ยกเลิกการเลือกตั้งของหน่วยเลือกตั้งที่ 10 วันที่ 14 พ.ค. 2566 และกำหนดให้วันอาทิตย์ที่ 21 พ.ค. 66 เป็นวันลงคะแนนใหม่

ขณะเดียวกัน สำนักงาน กกต. ประจำจังหวัดนครปฐม ได้ออกประกาศเชิญชวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่อยู่บ้านเลขที่ 1 ถึงบ้านเลขที่ 88/100 หมู่ 8 ต.บางแขม อ.เมือง จ.นครปฐม จำนวน 943 คน ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้ง ส.ส. ในวันอาทิตย์ที่ 21 พ.ค.66 นี้ ตั้งแต่เวลา 08.00 – 17.00 น. ณ ปะรำบริเวณองค์การบริหารส่วนตำบลบางแขม อ.เมือง จ.นครปฐม

ควันหลังเลือกตั้ง!! ย้อนทำความรู้จัก ‘MOU’ จากทั่วโลก เวิร์คหรือไม่? ทางการเมือง

หนึ่งประเด็นที่ดูเป็น ‘เรื่องใหม่’ ของการเมืองไทย และถูกจับตามากที่สุด หลัง ‘พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ออกมาประกาศต่อสาธารณชน เมื่อทราบผลการนับคะแนนไม่เป็นทางการ และปรากฏว่าพรรคก้าวไกลได้คะแนนเสียงมากที่สุด ก็คือ การเตรียมจัดทำข้อตกลง หรือ ‘เอ็มโอยู’ ระหว่างพรรคที่ร่วมจัดตั้งรัฐบาล โดยยืนยันว่า…

“เวลาที่เราจะร่วมรัฐบาลกัน มันไม่ใช่แค่แบ่งกระทรวง หรือดู ส.ส. จำนวนเท่าไร แต่เราจะทำเป็นเอ็มโอยู ที่เป็นเอกสารเปิดเผยต่อสาธารณชน ว่าการร่วมรัฐบาลเราคาดหวังอะไรซึ่งกันและกันบ้าง เวลาทำงานจะได้ไม่สะดุดระหว่างทาง แล้วก็ให้ประชาชนสามารถคาดหวังได้ว่าสิ่งที่เคยสัญญา ก่อนเลือกตั้งและหลังเลือกตั้งยังเหมือนเดิมทุกประการ”

ก่อนอื่น มาดูนิยามของ เอ็มโอยู (MOU-Memorandum of Understanding) ก็คือ “บันทึกความเข้าใจ” ซึ่งทำเป็นลายลักษณ์อักษรระหว่างบุคคล องค์กร หรือสถาบัน ตั้งแต่สองฝ่าย หรือมากกว่านั้น ไม่ได้เป็นสัญญาผูกมัด แต่เพื่อเป็นการแสดงความต้องการอันแน่วแน่ของผู้ลงนามว่าจะปฏิบัติตามเงื่อนไขดังที่ได้ระบุและตกลงกันไว้

ในส่วนของการเมือง เมื่อการเลือกตั้งปรากฏผลลัพธ์ออกมา ว่าไม่มีพรรคการเมืองใดได้เสียงเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในสภาฯ การฟอร์มรัฐบาลจึงต้องออกมาในรูปแบบการเจรจาจัดตั้ง ‘รัฐบาลผสม’ 

ที่ผ่านมาในการเมืองไทย การจัดตั้งรัฐบาลหลายพรรค มักเริ่มที่การดูจำนวน ส.ส. ก่อนตกลงผลประโยชน์ แบ่งโควต้ารัฐมนตรี และจับจองกระทรวงต่างๆ อาจมี ‘การให้สัตยาบัน’ เพื่อเป็นพันธะยึดโยงร่วมกันบ้าง แต่แทบไม่เคยเห็นการทำเอ็มโอยู เป็นตัวหนังสือกำหนดแนวทางดำเนินนโยบายร่วมกัน ซึ่งแน่นอนว่าเป็นเรื่องไม่ง่าย เพราะแต่ละพรรคการเมือง ย่อมมีนโยบายและจุดยืนแตกต่างกัน จึงต้องหาความลงตัว แสวงจุดร่วม สงวนจุดต่าง เพื่อเดินหน้าทำงานร่วมกันให้ได้ 

แต่สำหรับในหลายประเทศทั่วโลก การจัดทำข้อตกลงร่วมกันของพรรคร่วมรัฐบาลในรัฐบาลผสม ก็อาจไม่ใช่เรื่องแปลกและเคยเกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้ง เรามาลองยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัดเจนมากขึ้น

เริ่มต้นกันที่ ‘เยอรมนี’ ที่หลังสิ้นสุดยุคการบริหารบ้านเมืองโดยพรรคสหภาพคริสเตียนเดโมแครต หรือ ‘CDU’ ภายใต้การนำของ ‘อังเกลา แมร์เคิล’ มานานกว่า 16 ปี ก็นำมาสู่การเลือกตั้งทั่วไป 26 กันยายน 2021 ซึ่งพรรคโซเชียลเดโมแครต ที่นำโดย ‘โอลาฟ ชอลซ์’ ได้เสียงสนับสนุน 25.7% ร่วมกับ พรรคกรีน ที่มีเสียง 14.8% และพรรคฟรีเดโมเครต อีก 11.5% จับมือกันจัดตั้งรัฐบาลผสม โดยมีการลงนาม ‘ข้อตกลงภายใน’ ร่วมกัน จำนวนกว่า 177 หน้า เพื่อเป็นแบบร่างแผนการบริหารประเทศตลอดระยะเวลา 4 ปี

สำหรับสาระสำคัญในข้อตกลงนี้ ครอบคลุมการดำเนินนโยบาย ทั้งการสร้างรัฐทันสมัย การเปลี่ยนแปลงสู่ยุครัฐบาลดิจิทัล มาตรการป้องกันและลดโลกร้อน การส่งเสริมการค้า อุตสาหกรรมการลงทุนและธุรกิจ  การพัฒนาที่อยู่อาศัย การสร้างงาน รัฐสวัสดิการ กระบวนการยุติธรรม และนโยบายต่างประเทศและสหภาพยุโรป

ส่วนที่ ‘สหราชอาณาจักร’ ถ้าย้อนไปดูบรรยากาศหลังการเลือกตั้งในปี 2010 ปรากฏว่าไม่มีพรรคการเมืองได้ครองเสียงเบ็ดเสร็จในสภาฯ โดยพรรคคอนเซอร์เวทีฟที่นำโดย ‘เดวิด คาเมรอน’ ได้เสียงมากที่สุด ได้ตกลงจัดตั้งรัฐบาลผสมกับพรรคลิเบอรัลเดโมแครต และนำมาสู่การทำ ‘ข้อตกลง’ ร่วมกัน ที่ครอบคลุมวาระสำคัญ เช่น การแต่งตั้งตำแหน่งสำคัญๆ นโยบายและความรับผิดชอบที่จะผลักดันให้เกิดขึ้น โดยมีการประเมินและทบทวนความคืบหน้าของข้อตกลงและเผยแพร่เป็นเอกสารชี้แจงสู่สาธารณะในช่วงครึ่งเทอม เพื่อประเมินการทำงานร่วมกันรวมถึงพิจารณาความร่วมมือกันในการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

คล้อยหลังมา 5 ปี หลังการเลือกตั้งทั่วไปปี 2015 ‘เทเรซา เมย์’ ไม่สามารถพาพรรคคอนเซเวทีฟ ที่ได้ 318 ที่นั่ง แต่ยังไม่สามารถครองเสียงข้างมากในสภาได้ จึงตัดสินใจใช้เวลานานกว่า 2 สัปดาห์ในการเจรจาจับมือพรรคลำดับ 5 อย่าง สหภาพประชาธิปไตยหรือดียูพี ที่มีจำนวน ส.ส. 10 คน เพื่อจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย โดยที่พรรคดียูพีจะไม่ร่วมรัฐบาล โดยมีการลงนามในข้อตกลงร่วมกัน 

สาระสำคัญคือ พรรคดียูพีจะโหวตสนับสนุนพรรคคอนเซเวทีฟในวาระสำคัญ เช่น การผ่านร่างงบประมาณและการลงมติไว้วางใจ รวมถึงสนับสนุนการออกกฎหมายต่างๆ เกี่ยวกับเบร็กซิท ความมั่นคง และอื่นๆ ขณะเดียวกัน รัฐบาลพรรคคอนเซอเวทีฟต้องให้คำมั่นว่าจะสนับสนุนโครงการและนโยบายของพรรคดียูพี เช่น การเพิ่มงบประมาณ 1 พันล้านปอนด์ให้กับไอร์แลนด์เหนือ ฐานที่มั่นของพรรคดียูพี เพื่อสนับสนุนโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน สาธารณสุข และการศึกษา ในช่วง 2 ปี 

หรือลองแวะมาดูในพื้นที่ใกล้ตัว อย่าง ‘มาเลเซีย’ ประเทศเพื่อนบ้านของไทย ที่เมื่อช่วงปลายปีที่แล้ว มีการเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ 15 ปรากฎว่าไม่มีพรรคใดชนะขาดการเลือกตั้งและมีเสียงข้างมากในสภาฯ แต่ในที่สุด ‘อันวาร์ อิบราฮิม’ ได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลผสม และสาบานตนรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน ปีที่แล้ว

ซึ่งต่อมา ในเดือนธันวาคม มีการลงนามในเอ็มโอยู เพื่อเสถียรภาพของรัฐบาลผสม โดยพรรคแนวร่วมได้ลงนามยืนยันว่าจะสนับสนุน ‘อันวาร์ อิบราฮิม’ ผ่านการออกเสียงให้รัฐบาลหรืองดเว้นการออกเสียงเมื่อมีการยื่นญัตติไม่ไว้วางใจ รวมทั้งให้การสนับสนุนรัฐบาล อย่างเช่น การผ่านงบประมาณรายจ่าย

ย้อนกลับมาที่บ้านเรา สูตรจัดตั้งรัฐบาลผสม ที่มี ‘ก้าวไกล’ เป็นแกน จับมือกันถึง 8 พรรค จำนวน 313 เสียง เพิ่งผ่านเวลามาเพียงสัปดาห์เศษเท่านั้น ขณะเดียวกันการจัดทำ ‘เอ็มโอยู’ เพื่อขับเคลื่อนนโยบายที่เคยสัญญาไว้กับประชาชนตั้งแต่ก่อนเลือกตั้ง ก็เป็นเรื่องใหม่ และไม่ง่าย 

แต่ถ้าการทำข้อตกลง เอ็มโอยู ครั้งนี้ จะเป็นจุดเริ่มต้น ในการยกระดับ การ ‘เจรจา’ ระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล เพื่อเปิดทางนำไปสู่การทำงานด้านนโยบายร่วมกันเพื่อประชาชน ก็จะเป็นการเริ่ม ‘เปลี่ยน’ หากจุดสมดุล และเป็นบรรทัดฐานใหม่ของการเมืองไทยนับจากนี้ ที่จะทำให้การบริหารบ้านเมือง เป็นไปตามที่เคยสัญญาและให้คำมั่นกับประชาชนเอาไว้ แทนที่จะเป็นไปเพื่อการรักษาผลประโยชน์ และตำแหน่งแห่งที่ของนักการเมือง เป็นประชาธิปไตยของประชาชนเพียงแค่สี่นาที อย่างที่เคยฝังรากอยู่ในบ้านเรามานาน

หนทางพิสูจน์ม้า กาลเวลายังต้องพิสูจน์คน!!

‘พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ จะก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ในอีก 2 เดือนข้างหน้าได้หรือไม่? แต่ที่เหนือกว่าการเป็น ‘นายกฯ’ คือการนำพารัฐนาวาให้อยู่ตลอดรอดฝั่ง

ซึ่งกุญแจสำคัญที่ปฏิเสธไม่ได้ นั่นคือ การมี ‘ทีมที่ดี’ ว่าแล้วลองเหลียวมอง (ว่าที่) ส.ส.ที่จะมาเป็นลูกทีมบริหารของพิธา แต่ละคน สายล่อฟ้าเรียกพี่!!

ย้อนไทม์ไลน์ ‘พิธา’ เส้นทางการเมืองจากคนตัวเล็กๆ สู่ผู้ถืออำนาจใหญ่ของการเลือกตั้งไทย ปี 66

นาทีนี้ ไม่มีใครร้อนแรงเกินกว่า ‘ทิม - พิธา  ลิ้มเจริญรัตน์’ ที่ใช้เวลากว่า 3 ปี เปลี่ยนผ่านจากยุคอนาคตใหม่มาสู่ยุคของพรรคก้าวไกลที่มีเขาเป็นผู้นำพรรค สั่งสมความนิยม จากพรรคอันดับรอง ไต่กระแส สร้างปรากฏการณ์ ‘สีส้ม’ ทั่วทั้งแผ่นดิน จนสามารถโกยคะแนนเสียงขึ้นมาเป็นอันดับ 1 ในการเลือกตั้งล่าสุด

ความสำเร็จของ ‘พิธา’ ไม่ได้ไหลบ่ามาเพียงชั่วข้ามคืน แต่มาจากการค่อย ๆ สั่งสม เก็บเกี่ยวประสบการณ์ จากการข้องเกี่ยวกับผู้คนในแวดวงการเมืองมานานเกือบ 20 ปี ขยับจากเจ้าหน้าที่ตัวเล็ก ๆ ที่นั่งจดวาระการประชุมหลังห้อง จนกระทั่งกลายเป็นว่าที่นายกรัฐมนตรี ผู้กำหนดวาระของประเทศไทยในวันนี้ เส้นทางการเมืองของ ‘พิธา’ เป็นอย่างไร ย้อนไปดูกัน 

#เลียบเคียงการเมือง
ถ้ากล่าวถึง ‘ลิ้มเจริญรัตน์’ คนที่ติดตามการเมืองคงคุ้นเคยเป็นอย่างดี เพราะเป็นนามสกุลของ ‘ผดุง’ เลขานุการส่วนตัวของ ‘ดร.ทักษิณ ชินวัตร’ อดีตนายกรัฐมนตรี และด้วยความที่ ‘พิธา’ มีศักดิ์เป็นหลานของนายผดุง ทำให้เขามีโอกาสได้รู้จักมักคุ้นกับบุคคลการเมืองในพรรคไทยรักไทย รวมถึงทายาทของ ดร. ทักษิณ ชินวัตร ทั้ง โอ๊ค เอม และอุ๊งอุ๊งมาตั้งแต่ก่อนก้าวขาเข้ามาสัมผัสบรรยากาศ และกลิ่นอายของการเมืองด้วยตัวของเขาเอง

#จากเจ้าหน้าที่แถวหลัง ค่อยๆ ขยับก้าวมาสู่แถวหน้าการเมือง 
ช่วงปลายของการศึกษาปริญญาตรี สาขาบัญชี - การเงิน ที่ ม.ธรรมศาสตร์ พิธาเริ่มต้นฝึกงานที่บริษัทหลักทรัพย์ซึ่งมี ดร. ศุภวุฒิ สายเชื้อ เป็นผู้บริหาร และเป็นผู้ที่พิธายกให้เป็นเจ้านายคนแรกของเขา ก่อนจะขยับมาทำงานเป็นที่ปรึกษาธุรกิจให้กับอีกบริษัท ซึ่งพิธาเล่าว่า ช่วงนั้นเขามีโอกาสดูแลลูกค้ารายแรก คือ ‘ไทยซัมมิท’ ของ ‘ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ’ ซึ่งมีโปรเจกต์ขยายตลาดอุตสาหกรรมยานยนต์ไปที่ประเทศอินเดีย  

หลังจากนั้น 2 ปี พิธาได้มีโอกาสขยับเข้าใกล้งานการเมืองมากขึ้น ในช่วงหลังเหตุการณ์สึนามิ ที่ภาคใต้ และทีมงานของ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ติดต่อมายังบริษัทของเขา ให้เข้าไปทำงานให้กับหลายกระทรวง ทำให้พิธา ได้เริ่มสัมผัส และซึมซับการทำงานของนักการเมืองหลายคนในรัฐบาลในช่วง ปี 2547-48

ก่อนที่เขาจะขยับเข้าใกล้การเมืองมากขึ้น เมื่อตัดสินใจข้ามฝั่ง จากที่ปรึกษาธุรกิจเอกชน มารับบทบาทข้าราชการ ติดตาม ‘ดร. สมคิด’ ตั้งแต่ในทำเนียบรัฐบาล ก่อนย้ายไปที่กระทรวงการคลัง และกระทรวงพาณิชย์ตามลำดับ ทำให้ได้เรียนรู้การทำงานกับทีมงานของ ดร. สมคิด อย่าง ดร. อุตตม สาวนายน, ดร. สุวิทย์ เมษินทรีย์ รวมถึง ดร.โอฬาร ไชยประวัติ 

ในบทบาทของทีมเลขาฯ ตามนาย ที่นั่งอยู่แถวหลังสุดมุมห้อง พิธาใข้ช่วงเวลานั้น แอบบันทึก และซึมซับสาระสำคัญ รวมถึงวิธีคิด ของคีย์แมนทางการเมืองไปพร้อมกันด้วย แม้เป็นช่วงระยะเวลาไม่นาน ก่อนเขาจะตัดสินใจไปเรียนต่อที่สหรัฐอเมริกา กระทั่งเกิดเหตุการณ์รัฐประหาร ในปี 2549

#เป็นผู้สังเกตการณ์การเมืองระดับโลก
อีกด้าน พิธา มีโอกาสได้เปิดมุมมอง และได้พบเห็นการทำงานการเมืองระดับโลก ที่สหรัฐอเมริกา ในช่วงเวลาที่เขาเดินทางไปศึกษาต่อ ทั้งในปี 2000 ช่วงการเลือกตั้งใหญ่ ที่เป็นการขับเคี่ยวกัน ของ จอร์จ ดับเบิ้ลยู บุช จากรีพับลิกัน และ อัล กอร์ จากเดโมแครต  ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับที่เขาไปเรียนต่อด้านการเงิน ที่รัฐเท็กซัส ทำให้ได้เห็นบรรยากาศและวิธีการหาสียงในฟากของพรรครีพับลิกัน 

กระทั่ง 16 ปี คล้อยหลัง พิธากลับไปศึกษาต่อปริญญาโท ที่สหรัฐอีกครั้ง ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับการหาเสียงเลือกตั้งใหญ่ของสหรัฐฯ แต่หนนี้เขาได้ไปอยู่ในพื้นที่ของพรรคเดโมแครต ได้เห็นการต่อสู้ทางการเมืองระหว่าง ‘โอบามา’ กับ ‘แม็คเคน’ ซึ่งพิธาได้เห็นวิวัฒนาการการหาเสียงผ่านโซเชียลมีเดีย รวมถึงได้แลกเปลี่ยนกับเพื่อนๆ ร่วมคลาสการเมือง ซึ่งต่อมาเติบโตไปเป็นคนการเมืองระดับประเทศในสหรัฐฯ รวมถึงได้ติดตามเพื่อน ออกไปหาเสียง ได้เห็นและเรียนรู้สิ่งที่เรียกว่า ‘เครื่องจักรทางการเมือง’ ซึ่งเป็นยุทธวิธี ในการลงพื้นที่เรียกคะแนน รวมถึงการเคาะประตูเพื่อขอรับบริจาคเงินสนับสนุนพรรคการเมือง จนได้นำสิ่งที่ได้เห็นและสัมผัส กลับมาปรับใช้ได้จริง เมื่อเขาตัดสินใจผันตัวเองเข้าสู่บทบาท ‘นักการเมือง’ เต็มตัว

‘พิธา’ ในบทบาทของผู้นำจัดตั้งรัฐบาล เพิ่งประกาศเอ็มโอยู ระหว่าง 8 พรรค 313 เสียง ที่ร่วมจัดตั้งรัฐบาลไปเมื่อต้นสัปดาห์ แน่นอนว่า กระแส ‘พิธาฟีเวอร์’ และ ‘ด้อมส้ม’ มาแรงต่อเนื่อง หากไม่มีอุบัติเหตุ หรือความผิดพลาดทางการเมืองเกิดขึ้น ว่าที่ผู้นำคนรุ่นใหม่ ที่มาพร้อมความคาดหวังในความเปลี่ยนแปลงฉากทัศน์ทางการเมือง ที่ชื่อ ‘พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ กับประสบการณ์การเมืองที่เขาเรียนรู้และสั่งสมมา จะได้ใช้งานอย่างเต็มที่ในบทบาท และฐานะผู้นำของประเทศต่อไป

‘ก้าวไกล’ นโยบายเร่งด่วน 100 วัน เรื่องฝันๆ หรือทำได้จริง?

ยังมีปัญหาความวุ่นวายให้แก้ หลัง ‘นายพิธา  ลิ้มเจริญรัตน์’ หัวหน้าพรรคก้าวไกล นำ 8 พรรค 313 เสียง ลงนาม ‘เอ็มโอยู’ ประกาศแนวทางนโยบายร่วมกัน 23 ข้อ กับ อีก 5 แนวปฏิบัติของพรรคร่วมรัฐบาล

แต่เส้นทางการก้าวขึ้นสู่อำนาจ ของรัฐบาลก้าวไกลก็ยังไม่ราบรื่น นอกจากต้องหาเสียงสนับสนุนให้ถึง 276 เสียงเพื่อโหวตนายกฯ แล้ว ปัญหาการแช่งชิงตำแหน่ง ‘ประธานสภาฯ’ กับพรรคเพื่อไทยก็ยังตกลงกันไม่ได้

แต่หากพรรคก้าวไกล สามารถฝ่าด่านไปสู่การจัดตั้งรัฐบาลได้ ก็น่าสนใจว่า ในช่วง 100 วันแรก  ซึ่งก่อนหน้านี้ ‘พิธา’ เคยออกมาแถลง ‘โร้ดแมป’ ที่จะเร่งทำให้ ‘การเมืองดี ปากท้องดี มีอนาคต’ จะเป็นไปตามนั้นหรือไม่  วันนี้ลองมาทวนดู ว่าสิ่งที่เคยให้คำมั่นไว้ มีอะไรบ้าง 

สำหรับ 100 วันแรก ที่ ‘ก้าวไกล’ ประกาศจะทำทันที เช่น การเสนอ ครม.ทำรัฐธรรมนูญใหม่ เปิดทางให้มี สสร. จากการเลือกตั้ง ให้รัฐต้องเปิดเผยข้อมูลงบประมาณ เอากฎหมายสมรสเท่าเทียม ที่พิจารณาค้างมาจากรัฐบาลที่แล้ว มาทำให้เสร็จ ยกเลิกบังคับใส่ชุดนักเรียน และทรงผม พร้อมกับแก้สูตรค่าไฟ เดินหน้าสุราก้าวหน้า ออกโฉนดนิคมสหกรณ์ และนิคมสร้างตนเอง และเปิดเสรีโซลาร์เซลล์

ส่วนนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ นอกจากออกหวยใบเสร็จแล้ว ที่ดูท้าทายมากที่สุดคือ ‘การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 450 บาท’

หลังนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ นำทีมไปที่สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เพื่อรับฟังข้อเสนอนโยบายสะท้อนปัญหา และข้อกังวลจากตัวแทนภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะเรื่องการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 450 บาท ซึ่งก็พบว่า แม้ก้าวไกลจะตั้งเป้าทำทันที แต่นายพิธา ก็ย้ำว่า การขึ้นค่าแรงจะขึ้นตามใจตัวเองไม่ได้ เพราะต้องคำนึงถึงความสอดคล้องและเหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจ เพื่อให้เป็นประโยชน์กับทั้งสองฝั่ง ทั้งนายจ้าง ที่จะสามารถควบคุมต้นทุนได้ ขณะที่ลูกจ้างก็มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ทำให้การเพิ่มประสิทธิภาพแรงงานสามารถเกิดขึ้นได้จริง

‘ค่าแรง 450 บาท’ เป็นโจทย์ต้นๆ ที่พรรคก้าวไกล เลือกหยิบมาเดินหน้าทำ ซึ่งก็อาจเป็นกระจกสะท้อนให้เห็น ว่า นโยบาย 100 วัน ที่อยากเห็น กับความจริงที่เป็น อาจยังเป็นคนละภาพกัน ซึ่งแต่ละเรื่องไม่ง่าย เพราะมีรายละเอียด และความเห็นแตกต่างที่ต้องนำมาพิจารณาให้รอบด้าน ขณะเดียวกันก็ต้องทำงานแข่งกับเวลา เพื่อดำเนินการผลักดันให้ไปถึงเป้าหมายตามที่ตั้งไว้ ซึ่งท้ายที่สุดหากฝ่าด่านอุปสรรคนำไปสู่การจัดตั้งรัฐบาลได้ ก็รอลุ้นว่าจะสามารถผลักดันตามที่ประกาศไว้ได้หรือไม่


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top