Tuesday, 22 April 2025
Columnist

‘กบฏบวรเดช’ ประวัติศาสตร์ที่ต้องมองให้รอบด้าน!! หลังมีนักวิชาการ สร้างความเชื่อที่ผิด ทำลายข้อเท็จจริง

‘กบฏบวรเดช’ ประวัติศาสตร์ที่ต้องมองรอบด้าน

ในวงสนทนาทางวิชาการบางท่าน...ก็ มีผู้พยายามแสดงความเห็นว่า "...การพ่ายแพ้ของกบฏบวรเดชในปี 2476 คือจุดเริ่มต้นที่ทำให้ประชาธิปไตยในประเทศไทยตั้งมั่นอย่างมั่นคง.."

นี่คือแนวคิดที่ข้าพเจ้าขอทักท้วง ....
เพราะการมองว่าฝ่ายรัฐบาลในขณะนั้นเป็น "ผู้พิทักษ์ประชาธิปไตย" และฝ่ายบวรเดชเป็น 'ผู้ทำลาย' เป็นการลดทอนความซับซ้อนของบริบทและข้อเท็จจริงในช่วงเวลานั้น

เพื่อให้เข้าใจบริบทของเหตุการณ์นี้อย่างถ่องแท้ เรา จำเป็นต้องย้อนกลับไปพิจารณาภาพรวมของการได้มาซึ่งประชาธิปไตยในสังคมไทย และความสัมพันธ์ระหว่างผู้มีบทบาทสำคัญในช่วงเวลานั้น

การเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 นำโดยกลุ่มคณะผู้ก่อการ เปลี่ยนแปลงการปกครอง ซึ่งรวมถึงบุคคลสำคัญเช่น พระยาพหลพลพยุหเสนา พระยาทรงสุรเดช พระยาฤทธิอัคเนย์ และ พระประศาสน์พิทยายุทธ ...อีกทั้งยังต้องนับรวมไปถึงพระองค์เจ้าบวรเดชอีกด้วย นะครับ!!!

บุคคลเหล่านี้ส่วนใหญ่มีแนวคิดอยากเปลี่ยนแปลงประเทศไทยไปสู่ระบบรัฐธรรมนูญที่คล้ายคลึงกับประเทศอังกฤษ ซึ่งมีการถ่วงดุลอำนาจระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์และประชาชน อย่างไรก็ตาม แนวทางนี้กลับถูกสั่นคลอนเมื่อแนวคิดของของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม(อาจารย์ปรีดี พนมยงค์ )ซึ่งนำเสนอระบบที่ใกล้เคียงกับลัทธิคอมมิวนิสต์ เริ่มก่อตัวขึ้นในช่วงเดียวกัน ช่วงชิงการนำในวันปฏิวัติ เกิดเป็นประกาศคณะราษฎรฉบับที่ 1 นั่นเอง

ความขัดแย้งเริ่มปรากฏชัดเจนขึ้นเมื่อรัชกาลที่ 7 ทรงทักท้วงแนวทางการร่างรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวของอาจารย์ปรีดีและแสดงความกังวลในเอกสาร ‘สมุดปกเหลือง’ ทรงเห็นว่าระบบที่กำลังจะเกิดขึ้นอาจไม่เหมาะสมกับประเทศไทยที่ยังขาดความเข้าใจเกี่ยวกับประชาธิปไตยและสิทธิหน้าที่ของพลเมือง ข้อทักท้วงเหล่านี้กลับสร้างความตึงเครียดระหว่างกลุ่มผู้นำของคณะราษฎร และแบ่งแยกมุมมองระหว่างทหารและประชาชน จะเห็นได้ว่าคณะราษฎรใน ณ ที่นี้ จะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มคือกลุ่มที่มีแนวความคิดแบบอังกฤษ กับอีกกลุ่มนึงมีแนวความคิดแบบที่นำลัทธิคอมมิวนิสต์เข้ามาประยุกต์ใช้

ในตอนที่เหตุการณ์การก่อกบฏของพระองค์เจ้าบวรเดชเกิดขึ้นนั้น...
คณะบวรเดชเกิดขึ้นจากกลุ่มผู้นำทหารที่ไม่พอใจกับแนวทางการบริหารของคณะราษฎร นำโดยพระองค์เจ้าบวรเดชและพระยาศรีสิทธิสงคราม ซึ่งมองว่ารัฐบาลในขณะนั้นเริ่มละเลยหลักการที่ควรจะสนับสนุนสถาบันพระมหากษัตริย์ในฐานะผู้ประสานงานแห่งชาติ แต่อย่างไรก็ตาม ฝ่ายคณะราษฎรและฝ่ายคณะบวรเดช ทั้งสองฝ่ายต่างอ้างสิทธิ์ในนามของพระเจ้าแผ่นดินเพื่อสร้างความชอบธรรมในการเคลื่อนไหวของตน

การสู้รบที่เกิดขึ้นกลายเป็นสงครามกลางเมืองในท้ายที่สุดส่งผลให้ฝ่ายรัฐบาลเป็นผู้ชนะ แต่ความสูญเสียในครั้งนี้มิได้จำกัดอยู่เพียงในแง่ชีวิตและทรัพย์สิน แต่ยังส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อความเชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตยในสังคมไทย ความขัดแย้งภายในและการต่อสู้ที่อ้างประชาธิปไตยกลับกลายเป็นปัจจัยที่ทำให้สังคมไทยล้าหลังในเรื่องนี้

ฝ่ายที่ชนะใช้เงื่อนไขที่ชนะกดดันรัชกาลที่ 7 ให้พระองค์ทรงรับผิดชอบกับการกระทำของฝ่ายกบฏโดยอ้างว่าพวกเขาได้รับการสนับสนุน จากสถาบันฯ ทั้งที่ความเป็นจริงแล้วทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายบวรเดชก็ล้วนเป็นคนสนิทของรัชกาลที่ 7 ทั้งนั้น กลับไม่มีใครฟังพระองค์เลย...

‘บทเรียนจากอดีต’

เหตุการณ์กบฏบวรเดชไม่ได้เป็นเพียงความขัดแย้งทางการเมือง แต่ยังสะท้อนถึงรากเหง้าของปัญหาที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองที่เร่งรัดเกินไป โดยขาดการเตรียมพร้อมและความเข้าใจร่วมกันในสังคม ความพยายามของทั้งฝ่ายคณะราษฎรและฝ่ายบวรเดชล้วนมีเป้าหมายเพื่อปกป้องชาติในแนวทางที่แตกต่าง แต่การเดินทางสู่ประชาธิปไตยที่แท้จริงกลับถูกบิดเบือนด้วยความขัดแย้งและการแย่งชิงอำนาจ

บทเรียนสำคัญจากเหตุการณ์นี้คือ ประชาธิปไตยไม่สามารถตั้งมั่นได้ด้วยชัยชนะทางการทหารหรือการใช้ความรุนแรงต่อฝ่ายตรงข้าม แต่ต้องเกิดจากความร่วมมือและการสร้างความเข้าใจที่ลึกซึ้งในหมู่ประชาชน การละเลยเสียงของผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ เช่น รัชกาลที่ 7 ซึ่งทรงพยายามเตือนถึงความเสี่ยงของความแตกแยกในสังคม กลายเป็นสัญญาณเตือนถึงความล้มเหลวของการบริหารในเวลานั้น

การมองเหตุการณ์กบฏบวรเดชในมิติเดียวว่าเป็น ‘ชัยชนะของประชาธิปไตย’ อาจทำให้เราพลาดโอกาสที่จะเข้าใจความซับซ้อนของปัญหาในเชิงโครงสร้างที่ยังคงส่งผลกระทบต่อการเมืองไทยจนถึงปัจจุบัน อดีตไม่ได้มีไว้เพื่อโต้แย้งหรือกล่าวโทษ แต่มีไว้เพื่อเรียนรู้และหลีกเลี่ยงความผิดพลาดในอนาคต หากเราต้องการประชาธิปไตยที่แท้จริง เราต้องฟังและเข้าใจเสียงของทุกฝ่ายในสังคม เพื่อสร้างอนาคตที่สมดุลและยั่งยืน

Globalism: อุดมคติแห่งโลกไร้พรมแดน หรือกับดักที่หลอมรวมความแตกต่าง?

(1 ม.ค. 68) ในยุคที่คำว่า "โลกาภิวัตน์" หรือ Globalism ถูกยกย่องว่าเป็นภาพแทนของอุดมคติร่วมสมัย—โลกที่ไร้พรมแดน การร่วมมือเพื่อเป้าหมายใหญ่ และการเคารพความหลากหลาย—ดูเหมือนเป็นสิ่งที่ควรค่าแก่การยึดถือ แต่เบื้องลึกของแนวคิดนี้กลับซับซ้อนกว่าที่คิด มันเกี่ยวพันกับการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างของสังคม และเปิดคำถามสำคัญถึงความหมายที่แท้จริงของ "ความหลากหลาย" และ "สันติภาพ" ที่ Globalism พยายามนำเสนอ

Globalism: อุดมคติแห่งระเบียบโลกใหม่
แนวคิด Globalism ไม่ได้เกิดขึ้นลอย ๆ แต่มีจุดเริ่มต้นที่เชื่อมโยงกับช่วงเวลาหนึ่งในประวัติศาสตร์ เมื่อโลกกำลังเผชิญกับความขัดแย้งทางอุดมการณ์และอำนาจที่รุนแรง แนวคิดนี้ถือกำเนิดขึ้นพร้อมกับความพยายามของบางฝ่ายที่ต้องการสร้าง "ระเบียบโลกใหม่" ที่ทุกประเทศสามารถอยู่ร่วมกันได้บนกฎเกณฑ์เดียวกัน

แนวคิดดังกล่าวเริ่มต้นจากความหวังดี—ความต้องการแก้ไขปัญหาของโลกที่ใหญ่เกินกว่าจะจัดการได้ในระดับประเทศ เช่น ความยากจน โรคระบาด หรือความขัดแย้งระหว่างชาติ แนวคิดเรื่อง "การร่วมมือระดับโลก" จึงถูกนำเสนออย่างจริงจัง เพื่อให้ทุกประเทศทำงานร่วมกันได้อย่างราบรื่น บางทีอาจเป็นเพราะช่วงเวลานั้น โลกจำเป็นต้องหาทางออกจากความรุนแรงในรูปแบบเดิม

แต่เมื่อระยะเวลาผ่านไป แนวคิด Globalism ได้เปลี่ยนแปลงและขยายตัว กลายเป็นกรอบอุดมคติที่ไม่เพียงเน้นการร่วมมือ แต่ยังรวมถึงการกำหนดมาตรฐานที่เหมือนกันในทุกประเทศ บ่อยครั้ง มาตรฐานเหล่านี้สะท้อนความต้องการของมหาอำนาจบางแห่งมากกว่าความจำเป็นของประเทศที่ถูกบังคับให้ปรับตัวตาม

Global Citizen: พลเมืองโลกในโลกไร้พรมแดน
หนึ่งในเครื่องมือสำคัญของ Globalism คือแนวคิด "Global Citizen" หรือ "พลเมืองโลก" ที่ส่งเสริมให้ผู้คนมองข้ามพรมแดนและอัตลักษณ์ของชาติ โดยอ้างว่าเพื่อความร่วมมือและลดความขัดแย้ง แต่เป้าหมายที่แท้จริงคือการสร้างเยาวชนที่พร้อมเปลี่ยนวิธีคิดและละทิ้งความเป็นชาติ

กลไกที่ใช้คือกิจกรรมทางการศึกษา เช่น โครงการนักเรียนแลกเปลี่ยน ค่ายเยาวชนนานาชาติ หรือทุนการศึกษาระหว่างประเทศ ซึ่งช่วยปลูกฝังให้เยาวชนเหล่านี้มองว่า "โลกคือบ้านของเรา" และลดความสำคัญของ "ชาติ" แนวคิดนี้สร้างผู้นำรุ่นใหม่ที่มุ่งสู่ระเบียบโลกใหม่ มากกว่าการพิทักษ์อัตลักษณ์ของชาติ

เด็ก : เป้าหมายของการเปลี่ยนแปลง
ในโครงสร้างที่เปรียบเหมือน สามเหลี่ยมแห่งการปกครอง ที่ชนชั้นล่างเป็นฐาน ชนชั้นกลางเป็นกลไกขับเคลื่อน และชนชั้นนำเป็นผู้กำหนดทิศทาง Globalism มองว่าเยาวชนคือชนชั้นนำในอนาคต โดยเฉพาะเด็กจากครอบครัวชนชั้นนำ เช่น ลูกหลานนายทุน เจ้าของธุรกิจ หรือผู้มีอิทธิพลทางการเมือง

ทำไมต้องเป็นพวกเขา? เพราะเยาวชนกลุ่มนี้มีโอกาสกำหนดทิศทางของประเทศในอนาคต การเปลี่ยนแปลงวิธีคิดของพวกเขาจึง ง่ายกว่าและส่งผลกระทบได้เร็วกว่า การเปลี่ยนแปลงความคิดของชนชั้นกลางหรือล่าง

กิจกรรมที่ใช้ในการปลูกฝัง เช่น การจัดค่ายแลกเปลี่ยน การส่งเสริมแนวคิดโลกนิยม และการลดทอนความเป็นชาติ ล้วนถูกออกแบบมาเพื่อให้เด็กเหล่านี้เติบโตขึ้นพร้อมความคิดว่า "การเป็นพลเมืองโลก" สำคัญกว่าการภักดีต่อชาติ

อุดมคติที่ขัดแย้งในตัวเอง
แม้ Globalism จะอ้างว่าสันติภาพเกิดจากการร่วมมือระดับโลก แต่มันกลับสร้างปัญหาใหม่ ความพยายามในการสร้างระเบียบเดียวกันทั่วโลกไม่เคารพความหลากหลายของวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ ท้ายที่สุด Globalism กลับทำให้ประเทศที่มีอัตลักษณ์อ่อนแอสูญเสียความสามารถในการกำหนดอนาคตของตนเอง

BRICS : แนวคิด Multipolarity และสมดุลของโลก
ในขณะที่ Globalism มุ่งเน้นการรวมศูนย์อำนาจ กลุ่ม BRICS (บราซิล, รัสเซีย, อินเดีย, จีน, และแอฟริกาใต้) เสนอแนวคิด "Multipolarity" หรือ "โลกหลายขั้วอำนาจ" ซึ่งสนับสนุนให้ประเทศต่างๆ รักษาอิสระในการกำหนดอนาคตของตนเอง โดยไม่ต้องพึ่งพาระบบที่มหาอำนาจควบคุม

Multipolarity ส่งเสริมความสมดุล โดยเน้นการกระจายอำนาจและเคารพความหลากหลาย เช่น การลดการพึ่งพาดอลลาร์สหรัฐในระบบการค้าโลก และสร้างพันธมิตรในด้านเศรษฐกิจและพลังงาน แนวคิดนี้ไม่ได้มุ่งสร้างระเบียบเดียว แต่สนับสนุนให้แต่ละประเทศพัฒนาในแบบของตัวเอง

บทส่งท้าย: รักษาความหลากหลายเพื่อความยั่งยืน
Globalism อาจดูเหมือนคำตอบสำหรับความท้าทายของโลกยุคใหม่ แต่ในความจริง มันสร้างโลกที่เปราะบางและขัดแย้ง แนวคิด Multipolarity ของ BRICS แสดงให้เห็นว่าโลกไม่จำเป็นต้องมีระเบียบเดียวกันเพื่อความสงบสุข แต่ควรสร้างสมดุลบนพื้นฐานของความหลากหลาย

คำถามสำคัญสำหรับอนาคตคือ เราจะรักษาความเป็นอิสระและความหลากหลายของเราได้อย่างไร ในโลกที่เชื่อมโยงกันอย่างใกล้ชิด? เพราะท้ายที่สุด สันติภาพไม่ได้มาจากระเบียบที่เหมือนกัน แต่มาจากการเคารพในความแตกต่างอย่างแท้จริง

รู้จัก ‘Legats’ สำนักงานภาคสนามของ FBI นอกสหรัฐฯ หน่วยงานด้านกฎหมายที่ทรงอำนาจกระจายอยู่ทั่วโลก

เราท่านต่างพอรู้และเข้าใจว่า FBI (Federal Bureau of Investigation) หรือ สำนักงานสอบสวนกลาง เป็นหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายภายใต้กระทรวงยุติธรรมของรัฐบาลสหรัฐฯ โดยมีภารกิจคือ การต่อต้านการก่อการร้าย การต่อต้านข่าวกรอง และอาชญากรรมร้ายแรงในประเทศ มีขอบเขตอำนาจในการบังคับใช้กฎหมายมากกว่า 200 หมวดหมู่ รายงานต่อทั้งอัยการสูงสุดสหรัฐฯ (United States Attorney General) ซึ่งก็คือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ และผู้อำนวยการหน่วยข่าวกรองแห่งชาติ (Director of National Intelligence : DNI) หากจะเปรียบเทียบกับบ้านเราให้เข้าใจอย่างง่ายคือ งานของ FBI จะคล้ายกับงานที่ของ 3 หน่วยงานบังคับใช้กฎหมายของไทยรวมกันได้แก่ กองบัญชาการสอบสวนกลาง และกองบัญชาการตำรวจสันติบาล สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) กระทรวงยุติธรรม 

แม้ว่าบทบาทหน้าที่หลายอย่างของ FBI จะมีลักษณะเฉพาะ แต่ภารกิจด้านความมั่นคงของชาตินั้นเทียบได้กับ MI5 และ NCA ของอังกฤษ GCSB ของนิวซีแลนด์ และ FSB ของรัสเซีย ซึ่งแตกต่างจากหน่วยข่าวกรองกลาง (CIA) ซึ่งไม่มีอำนาจบังคับใช้กฎหมายและมุ่งเน้นการรวบรวมข่าวกรองในต่างประเทศ ด้วย FBI เป็นหน่วยงานที่ปฏิบัติการในประเทศเป็นหลัก โดยมีสำนักงานภาคสนาม 56 แห่งในเมืองใหญ่ทั่วสหรัฐอเมริกา และหน่วยงานขนาดเล็กประจำอีกมากกว่า 400 แห่งในเมืองเล็ก ๆ และพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ โดยสำนักงานภาคสนามของ FBI เจ้าหน้าที่ระดับสูงของ FBI ของสำนักงานภาคสนามจะทำหน้าที่เป็นตัวแทนของผู้อำนวยการหน่วยข่าวกรองแห่งชาติ (DNI) ในเวลาเดียวกัน

แม้ว่า ขอบเขตอำนาจในการปฏิบัติหน้าที่ของ FBI จะจำกัดอยู่เฉพาะในดินแดนสหรัฐฯ แต่สหรัฐฯ เองก็เป็นหนึ่งประเทศในโลกที่มีอาชญากรรมร้ายแรงมากที่สุด มีเครือข่ายของบรรดากลุ่มผิดกฎหมายทั้งในและนอกประเทศ FBI จึงต้องมีสำนักงานภาคสนามในการดำเนินงานระดับนานาชาติที่สำคัญ โดยเป็นสำนักงานผู้ช่วยทูตฝ่ายกฎหมาย (Legal Attaché Office : Legats) อยู่ 63 แห่งและสำนักงานย่อยอีก 27 แห่งประจำอยู่ในสถานทูตและสถานกงสุลสหรัฐฯ ทั่วโลก และมีเจ้าหน้าที่พิเศษและเจ้าหน้าที่สนับสนุนประมาณ 250 นายประจำการอยู่สำนักงานต่างประเทศเหล่านั้น Legats ตั้งขึ้นเพื่อจุดประสงค์หลักในการประสานงานกับหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายและหน่วยด้านความมั่นคงของประเทศที่ประจำ และโดยปกติจะไม่ดำเนินการฝ่ายเดียวในประเทศนั้น ๆ แต่บางครั้ง FBI ก็ปฏิบัติการในภารกิจลับในต่างประเทศ Legats (Legal Attaché ) คือเจ้าหน้าที่พิเศษของ FBI ที่ได้รับมอบหมายให้ประจำสถานทูตหรือสถานกงสุลสหรัฐฯ ในต่างประเทศ ทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานหลัก ระหว่าง FBI กับหน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย หน่วยข่าวกรอง และหน่วยงานความมั่นคงของต่างประเทศหน้าที่ของพวกเขาคืออำนวยความสะดวกในการร่วมมือระหว่างประเทศในการสืบสวนคดีอาญา การต่อต้านการก่อการร้าย อาชญากรรมทางไซเบอร์ และภัยคุกคามข้ามชาติอื่น ๆ เช่นเดียวกับ CIA ที่ภารกิจในประเทศก็ถูกจำกัด ซึ่งภารกิจเหล่านี้โดยทั่วไปต้องอาศัยการประสานงานระหว่างหน่วยงานของรัฐของประเทศนั้น ๆ ด้วย

สำนักงาน Legats เกิดขึ้นในปี 1940 ในช่วงต้นของสงครามโลกครั้งที่ 2 ในชื่อว่า ‘หน่วยข่าวกรองพิเศษ’ ก่อนที่สหรัฐอเมริกาจะเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 2 ในปี 1941 ในเวลานั้น ประธานาธิบดี Franklin D. Roosevelt ได้ออกคำสั่งให้หน่วยงานต่าง ๆ ให้การสนับสนุนช่วยเหลือในความพยายามเพื่อรวบรวมข่าวกรองตามภัยคุกคามที่เกิดจากฝ่ายอักษะ ดังนั้น FBI จึงตอบสนองต่อคำสั่งนั้น และเริ่มส่งเจ้าหน้าที่พิเศษไปประจำการทั่วละตินอเมริกาและอเมริกากลาง และพัฒนาหรือก่อตั้งหน่วยข่าวกรองพิเศษ หน้าที่แรกของหน่วยนี้คือ ในปี 1941 ที่กรุงโบโกตา ประเทศโคลอมเบีย และนั่นคือจุดเริ่มต้นของสำนักงานผู้ช่วยทูตฝ่ายกฎหมายของ FBI ในเวลานั้น FBI แบ่งปันข้อมูลกับประเทศต่าง ๆ ที่ให้ความร่วมมือเกี่ยวกับภัยคุกคามจากนาซี เยอรมัน ซึ่งสหรัฐอเมริกากำลังเผชิญอยู่ ดังนั้นปฏิบัติการระหว่างประเทศของ FBI ในปัจจุบันจึงแตกต่างไปจากสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 มาก แต่ภารกิจนี้ยังคงดำเนินต่อไปจนทุกวันนี้

ดังที่ Robert Swan Mueller III อดีตผู้อำนวยการ FBI ได้กล่าวไว้ว่า “การก่ออาชญากรรมทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นการก่อการร้าย การค้ายาเสพติดระหว่างประเทศ สินค้าผิดกฎหมาย และผู้คน หรืออาชญากรรมทางไซเบอร์ ล้วนต้องอาศัยความร่วมมือของหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายทั่วโลก และนั่นหมายถึงการที่เจ้าหน้าที่ของเราจะต้องทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในต่างประเทศโดยตรงในคดีที่มีผลประโยชน์ร่วมกัน ไม่เพียงแต่เพื่อแก้ไขอาชญากรรมที่เกิดขึ้นเท่านั้น แต่ยังเพื่อป้องกันอาชญากรรมและการก่อการร้ายด้วยการแบ่งปันข้อมูลแบบเรียลไทม์” ในอดีต การบังคับใช้กฎหมายเน้นไปที่อาชญากรรมที่ได้รับผลกระทบหรือเกิดขึ้นภายในดินแดนของแต่ละประเทศ ซึ่งปัจจุบันนี้ แนวคิดดังกล่าวไม่สามารถใช้ต่อไปได้อีกแล้ว เนื่องจากโลกาภิวัฒน์ที่ผนวกรวมกับความก้าวหน้าอย่างเหลือเชื่อในด้านเทคโนโลยี การเดินทาง การค้า และที่สำคัญที่สุดคือการสื่อสารได้ทำลายกำแพงเหล่านั้นและพรมแดนลง ส่งผลให้ภัยคุกคามกลายเป็นเรื่องทั่วโลกมากขึ้น และความจำเป็นในการร่วมมือกัน การแบ่งปันข้อมูล และการมีส่วนร่วมที่ดีขึ้นนั้นมีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับหน่วยงานและประเทศต่างๆ เพื่อรับมือกับภัยคุกคามระดับโลกเหล่านี้ได้ดีขึ้น เหล่านี้จึงทำให้เกิดสำนักงานผู้ช่วยทูตฝ่ายกฎหมาย (Legal Attaché Office : Legats) 63 แห่ง และสำนักงานย่อย 27 แห่งในสถานทูตและสถานกงสุลสหรัฐทั่วโลก

ภารกิจของสำนักงาน Legats ประกอบด้วย :

- การประสานงานการสืบสวน: ช่วยเหลือในการปฏิบัติการร่วม แบ่งปันข่าวกรอง และประสานงานกับพันธมิตรต่างประเทศในคดีที่ FBI รับผิดชอบแต่มีขอบเขตเกินกว่าขอบเขตของสหรัฐฯ

- การส่งผู้ร้ายข้ามแดนและกระบวนการทางกฎหมาย: อำนวยความสะดวกในการขอส่งผู้ร้ายข้ามแดน การรวบรวมหลักฐานจากเขตอำนาจศาลต่างประเทศ และการทำให้แน่ใจว่าผลประโยชน์ทางกฎหมายของสหรัฐฯ ได้รับการเป็นตัวแทนในต่างประเทศ

- การแบ่งปันข้อมูล: การแลกเปลี่ยนข่าวกรองและข้อมูลอาชญากรรมเพื่อต่อสู้กับการก่อการร้าย อาชญากรรมที่เป็นองค์กร การค้ามนุษย์ และอาชญากรรมทางไซเบอร์

- การตอบสนองต่อเหตุวิกฤต: การช่วยเหลือพลเมืองสหรัฐฯ ที่ได้รับผลกระทบจากการก่อการร้ายหรืออาชญากรรมร้ายแรงในต่างประเทศ และมีส่วนสนับสนุนการจัดการวิกฤตระหว่างประเทศ

- การประสานงานคำร้องขอความช่วยเหลือระหว่าง FBI กับประเทศที่สำนักงาน Legats รับผิดชอบ

- ดำเนินการสอบสวนร่วมกับรัฐบาลประเทศที่สำนักงาน Legats รับผิดชอบ

- การแบ่งปันข้อมูลและแนวทางการสืบสวน

- ประสานงานหลักสูตรการฝึกอบรม FBI ให้กับตำรวจในพื้นที่รับผิดชอบ ตั้งแต่การต่อต้านการก่อการร้ายและอาชญากรรมทางไซเบอร์ ไปจนถึงเทคนิคทางนิติวิทยาศาสตร์ การค้ามนุษย์ และสิทธิมนุษยชน

- บรรยายสรุปแก่หน่วยงานอื่น ๆ ของสถานทูต รวมถึงหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายและเอกอัครรัฐทูต

- การจัดการการขออนุมัติปฏิบัติในประเทศที่รับผิดชอบ

- การรายงานสถานการณ์เกี่ยวกับพิธีการทางวัฒนธรรม

- การประเมินสภาพแวดล้อมทางการเมืองและความมั่นคง

- การประสานงานช่วยเหลือเหยื่อและด้านมนุษยธรรม

สำนักงาน Legats ในต่างประเทศอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานปฏิบัติการระหว่างประเทศ สำนักงานใหญ่ FBI ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. สำนักงานนี้มีการติดต่อประสานอย่างใกล้ชิดกับหน่วยงานของรัฐบาลกลางอื่น ๆ ตำรวจสากล เจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยต่างประเทศที่มีสำนักงานในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. และชุมชนบังคับใช้กฎหมายทั้งในประเทศและต่างประเทศ สำหรับบ้านเราแล้ว FBI มีสำนักงาน egats ซึ่งมีที่ตั้งอยู่ในสถานทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย มาตั้งแต่ ปี 1990 (พ.ศ. 2533) แต่หน่วยงานบังคับใช้กฎหมายของรัฐบาลสหรัฐฯ ที่เข้ามาปฏิบัติการในบ้านเราก่อนหน้านั้นก็คือ สำนักงานปราบปรามยาเสพติด (the Drug Enforcement Administration : DEA) อันเนื่องมาจากยาเสพติดประเภทเฮโรอีนและกัญชาได้แพร่ระบาดเข้าในสหรัฐฯ อย่างมากมายตั้งแต่ยุคสงครามเวียดนาม โดย DEA สนับสนุนการปราบปรามยาเสพติดให้กับหน่วยงานของไทยที่รับผิดชอบ อาทิ เงินทุนสนับสนุน การฝึกอบรม อุปกรณ์เทคโนโลยีที่สำคัญและจำเป็น แม้กระทั่งเงินที่ใช้สำหรับใช้ในการล่อซื้อยาเสพติด ฯลฯ โดย DEA มีสำนักงานย่อยในจังหวัดใหญ่ซึ่งอยู่ใกล้ชายแดนและมีการค้ายาเสพติดในปริมาณมาก เช่น เชียงใหม่ ปัจจุบันสำนักงานของ DEA ในไทยยังเป็นสำนักงานภูมิภาคของ DEA ประจำทวีปเอเชียด้วย 

FBI โดยสำนักงาน Legats ประจำประเทศไทยและอีกหลายหน่วยงานของรัฐบาลสหรัฐฯ ได้ทำงานอย่างใกล้ชิดกับรัฐบาลไทยและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในการปราบปรามอาชญากรรมร้ายแรง ไม่ว่าจะเป็น ผู้ก่อการร้าย ผู้ค้ามนุษย์ ผู้กระทำความผิดทางไซเบอร์ที่ประสงค์ร้าย และอาชญากรและศัตรูอื่น ๆ จะใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและชุมชนทั่วโลกเพื่อก่ออันตรายได้ง่ายดายขนาดนี้ ตัวอย่างเช่น กลุ่มอาชญากร MS-13 และ 18th Street ไม่ได้ปฏิบัติการเพียงแต่ในเมืองหรือภูมิภาคเดียวอีกต่อไป แต่กลายมาเป็นกลุ่มที่ปรากฏตัวอยู่ทั่วโลก ยาเสพติดผิดกฎหมาย เช่น เฟนทานิล (Fentanyl) ไม่จำเป็นต้องหาซื้อด้วยตนเองอีกต่อไป เนื่องจากสามารถหาซื้อได้ง่ายบนเว็บมืด ดังนั้น สิ่งต่าง ๆ เช่นนั้น อาทิ การค้ามนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเกี่ยวข้องกับเด็ก จึงกลายเป็นภัยคุกคามระดับโลก และต้องมีการตอบสนองหรือแนวทางในระดับโลก นอกจากการปราบปรามอาชญากรรมแล้ว FBI และรัฐบาลสหรัฐฯ ยังแสดงความมุ่งมั่นที่จะร่วมมือกับประเทศต่าง ๆ เพื่อต่อต้านการก่อการร้ายสากล โดย FBI มีหน่วยปฏิบัติการที่จะสนับสนุนภารกิจในการต่อต้านการก่อการร้าย อาทิ หน่วยกู้ระเบิด (Bomb Technician) หน่วยตอบสนองต่อวัตถุพยานอันตราย (Hazardous Evidence Response Team) หน่วยตอบสนองต่อวิกฤต (Crisis Response Team) หน่วยเจรจาต่อรอง (Negotiation Team) หรือแม้แต่หน่วยสืบค้นใต้น้ำ (Underwater Search Team) จากทุกสิ่งตั้งแต่ การต่อต้านการก่อการร้าย อาชญากรรมทางไซเบอร์ การค้ามนุษย์ อาชญากรรมข้ามชาติที่ก่อขึ้นเป็นองค์กร ความพยายามของ FBI ยังคงก้าวต่อไปข้างหน้าในปัจจุบันและดำเนินต่อไปในอนาคตอย่างไม่ลดละและหยุดยั้ง

‘ยุทธศาสตร์พลังงาน’ ของ ‘ลุงตู่’ ที่ไม่ได้หยุดอยู่ แค่การพึ่งพาน้ำมัน วิสัยทัศน์แบบ ‘นกอินทรี’ ที่ ‘อีกา’ ไม่มีวันเข้าถึง มองไกล เห็นอนาคต

ใครจะคิดว่าการบริหารงาน 8 ปีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะเปลี่ยนภูมิทัศน์ด้านพลังงานของประเทศไทยไปชนิดที่โลกต้องจับตามอง!! วิสัยทัศน์แบบนกอินทรีที่โผบินเหนือเมฆพายุ มองเห็นทิศทางอนาคตได้ไกลจนอีกาอย่างฝ่ายค้านไม่มีวันตามทัน ยุทธศาสตร์พลังงานของลุงตู่นั้นไม่ได้หยุดอยู่แค่การพึ่งพาน้ำมัน แต่ได้วางหมากสำหรับอนาคตด้วยเทคโนโลยีล้ำสมัยและการเปิดศักราชใหม่ของพลังงานทดแทน

หนึ่งในตัวเปลี่ยนเกมสำคัญคือ ‘พระอาทิตย์เทียม’ หรือ Tokamak ที่ไทยได้รับเทคโนโลยีจากจีนในโครงการ Thailand Tokamak-1 ซึ่งทำให้เราเป็นประเทศแรกในอาเซียนที่ก้าวเข้าสู่ยุคพลังงานฟิวชันระดับโลก! ไม่ใช่เพียงแค่การได้ของเล่นไฮเทค แต่นี่คือจุดเริ่มต้นของการพลิกโฉมระบบพลังงานที่สะอาดและยั่งยืน การผลักดันเรื่องนี้เกิดจากวิสัยทัศน์ของ อเนก เหล่าธรรมทัศน์ และพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่เป็นฟันเฟืองสำคัญในการทำให้ยุทธศาสตร์นี้เป็นจริง

การพัฒนาพลังงานไฟฟ้าจากน้ำมันไปสู่พลังงานสะอาด เช่น โซลาร์เซลล์ กังหันลม และพลังงานนิวเคลียร์ฟิวชัน เป็นอีกหนึ่งในความสำเร็จของลุงตู่ที่ไม่ได้แค่สวยในเอกสาร แต่มองเห็นได้จากการลงทุนในโรงไฟฟ้าทดแทนทั่วประเทศ แผนพัฒนาพลังงานทดแทน (AEDP2018) ที่ถูกวางไว้ช่วยให้ไทยลดการพึ่งพาน้ำมันอย่างมีประสิทธิภาพ

สิ่งสำคัญอีกอย่างคือการสร้างบุคลากรที่พร้อมรองรับเทคโนโลยีล้ำสมัยนี้ ไทยได้จัดตั้งโรงเรียนฟิสิกส์แห่งอาเซียน เพื่อผลิต ‘นักคิด-นักสร้าง’ ที่จะนำประเทศเข้าสู่ยุคพลังงานสะอาดได้อย่างสง่างาม เพราะเทคโนโลยีจะไร้ค่า หากปราศจากคนที่มีความรู้ความสามารถในการใช้งาน

ยุทธศาสตร์พลังงานของลุงตู่ไม่ได้เป็นแค่การตอบโจทย์วันนี้ แต่คือการปูทางให้ไทยพร้อมในสมรภูมิพลังงานโลก แม้บางฝ่ายจะวิจารณ์ว่าไทยเคลื่อนไหวช้า แต่แท้จริงแล้ว ลุงตู่เลือกจะ ‘รอให้พร้อม’ เพื่อก้าวไปสู่ยุคฟิวชันอย่างมั่นคงและยั่งยืน

คำถามสำคัญคือ อีกาพร้อมจะเข้าใจการมองการณ์ไกลแบบนกอินทรีแล้วหรือยัง? หรือจะบินต่ำต่อไปในเงาแห่งอดีต ขณะที่ลุงตู่นำประเทศไทยเข้าสู่เกมพลังงานแห่งอนาคตอย่างชาญฉลาด

จะเกิดอะไรขึ้นถ้าเจ้าของบริษัทตึ๊งหุ้นตัวเอง สัญญาณเตือน! บริษัทอาจกำลังขาดสภาพคล่อง

(9 ม.ค. 68) ในช่วงนี้ถ้าใครที่เป็นนักลงทุนในตลาดหุ้นก็จะเห็นบรรดาข่าวที่ส่งผลให้ตลาดหุ้นบ้านเราเต็มไปด้วยปัจจัยลบทั้งจากตัวเศรษฐกิจเองที่เงินเฟ้อไทยที่ยังอยู่ในระดับสูงกว่าที่คาด หรือมาตรการของภาครัฐที่กดดันหุ้นอุตสาหกรรมบางประเภท อย่าง กลุ่มโรงไฟฟ้า และหุ้นที่พากันลงไปแตะที่ระดับต่ำสุดของวันหรือที่เราเรียกว่า หุ้นลงแตะที่ฟลอร์ จากปัจจัยเฉพาะตัวของหุ้นตัวนั้นๆเอง 

ล่าสุดเราก็จะเห็นได้จากกรณีของหุ้นตัวหนึ่งที่ลงไปแตะฟลอร์หลายวันติดกันจากกรณีที่เจ้าของนำหุ้นตัวเองไปตึ๊ง เพื่อนำเงินไปหมุนเวียน และเมื่อมีการกู้ที่เยอะเกินกว่าปกติทำให้โบรกเกอร์เริ่มจำกัดวงเงิน และส่งผลทำให้หมุนเงินไม่ทัน จนนำมาซึ่งการถูกบังคับขาย แล้วการตึ๊งหุ้นตัวเองคืออะไร เดี๋ยววันนี้จะมาสรุปให้ฟังแบบเข้าใจง่ายๆกันค่ะ 

การตึ๊งหุ้นตัวเองก็คือการที่ผู้บริหาร หรือ ผู้ถือหุ้นใหญ่ นำหุ้นของบริษัทตนเองออกไปวางเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันเพื่อกู้เงิน และนำเงินที่กู้ได้นั้นไปเชื่อเพื่อเป็นเงินหมุนเวียนในการทำธุรกิจ หรืออีกนัยหนึ่งก็คือการเอาหุ้นที่เรามีไปวางเป็นหลักประกันเพื่อที่จะขอเปิดบัญชีซื้อขายหุ้นด้วยวงเงินที่สูงขึ้น ที่เรารู้จักคุ้นหูว่า “บัญชีมาร์จิ้น” โดยเราจะเรียกพฤติการณ์การทำแบบนี้ในทางการว่า “ธุรกรรมหุ้นหลักประกัน” 

แม้ว่าการกระทำเช่นนี้จะไม่ใช่สิ่งที่ผิดกฎหมายและก็ถือเป็นสิทธิของผู้กู้และผู้ให้กู้อยู่แล้ว แต่การทำเช่นนี้ก็มีความเสี่ยงมากมายที่อาจจะส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อนักลงทุนและราคาหุ้นตัวนั้นได้ ยกตัวอย่างเช่น ถ้าหุ้นตัวนั้นมีข่าวที่ไม่ดีอย่างงบการเงินที่ออกมาไม่ดี หรือข่าวที่เกี่ยวกับธรรมาภิบาลของเจ้าของบริษัท ก็จะทำให้เกิดแรงขายในหุ้นตัวนั้นได้ และเมื่อมูลค่าหุ้นลดลง เจ้าของที่ทำการกู้เงินจากการตึ๊งหุ้นตัวเองก็จำเป็นต้องเติมเงินเข้ามาเพื่อรักษามูลค่า หรือที่เรียกว่า Margin Call และถ้าไม่สามารถหาเงินมาเติมได้ก็จะถูกให้บังคับขายหุ้น (Forced Sell) ที่มี และนั่นก็จะยิ่งเป็นการซ้ำเติมให้ราคาหุ้นตกลงไปอีก และยิ่งไปซ้ำเติมปัญหาเรื่องความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่มีต่อหุ้นตัวนั้นในแย่ลงไปอีก

ซึ่งเรื่องนี้บอกอะไรเราในฐานะนักลงทุนบ้าง? ในฐานะนักลงทุนพวกเราควรเห็นสัญญาณเตือนนี้ว่า การที่ผู้ถือหุ้นใหญ่นำหุ้นของตัวเองไปจำนำ อาจสะท้อนถึงความต้องการเงินสดเร่งด่วน ซึ่งบางครั้งอาจเป็นเพราะบริษัทมีปัญหาด้านสภาพคล่อง หรือผู้ถือหุ้นใหญ่ต้องการเงินทุนสำหรับโครงการอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับบริษัท เราเองจึงตรวจสอบสถานะทางการเงินของบริษัทอย่างละเอียดมากขึ้น รวมถึงต้องมองหาบริษัทที่มีธรรมาภิบาลที่ดี มีการบริหารจัดการความเสี่ยงอย่างรอบคอบและโปร่งใส รวมถึงศึกษาหาข้อมูลจากกรณีศึกษาที่เคยเกิดขึ้นในอดีตค่ะ 

‘Freeze/Stop and don't move’ คำสั่งเรียบง่ายแต่เด็ดขาด ของตำรวจสหรัฐฯ

จากกรณีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เมืองเชียงใหม่ ได้เดินทางไปฏิบัติหน้าที่รักษาความปลอดภัยในช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ได้พบเห็นนักท่องเที่ยวชายชาวญี่ปุ่นกำลังจะปล่อยโคมซึ่งอาจลอยไปตกใส่บ้านเรือนอาคารร้านค้าทำให้เกิดเพลิงไหม้สร้างความเดือดร้อนได้ จึงได้เข้าไปพูดคุยห้ามปราม แต่นักท่องเที่ยวคนดังกล่าวไม่ยอมฟังและโต้เถียงกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ จนกระทั่งมีการดึงคอเสื้อเจ้าหน้าที่ตำรวจ และกลายเป็นคลิปเผยแพร่ไปทั่ว (https://www.facebook.com/reel/1000054821913998) โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจนายดังกล่าวไม่ได้ติดใจเอาความแต่อย่างใดจึงไม่ได้ดำเนินคดี เพราะไม่ต้องการให้เป็นภาพจำที่ไม่ประทับใจของนักท่องเที่ยวเดินทางมาเที่ยวจังหวัดเชียงใหม่ในเทศกาลปีใหม่ 

สมมติว่า กรณีนี้เกิดขึ้นกับนักท่องเที่ยวชาวไทยไปกระทำการเช่นนี้ในประเทศญี่ปุ่นแล้วอะไรจะเกิดขึ้น ตำรวจญี่ปุ่นจะยอมรับคำขอโทษ เลิกแล้วต่อกันและไม่ดำเนินคดีกับนักท่องเที่ยวชาวไทยรายนั้นหรือไม่? เช่นเดียวกับหากกรณีที่เกิดขึ้นในจังหวัดเชียงใหม่แล้วนักท่องเที่ยวรายนี้เป็นชาวไทยแล้วจะได้รับการเว้นโทษ ไม่ได้ติดใจเอาความและไม่ดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญา ในหมวด 1 ความผิดต่อเจ้าพนักงาน (มาตรา 136 - 146) มาตราใดมาตราหนึ่งหรือไม่? เหตุการณ์นี้ชวนให้นึกถึงคำว่า ‘Freeze/Stop and don't move’ ซึ่งมีความหมายว่า ‘หยุด...อย่าขยับ’ ปรากฏทั้งในภาพยนตร์และชีวิตจริงโดยเป็นคำสั่งของตำรวจอเมริกันให้ผู้ต้องสงสัยต้องหยุดอยู่นิ่งระหว่างการตรวจค้นหรือจับกุม 

คำว่า ‘Freeze’ นอกจากจะเป็นคำสั่งของเจ้าหน้าที่ตำรวจให้ผู้ต้องสงสัยหยุดนิ่งแล้ว อีกความหมายหนึ่งที่ใช้ในแวดวงของกฎหมายคือ การยึดอายัดทรัพย์สินต่าง ๆ ตามอำนาจหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายด้วย ทุกประเทศบนโลกใบนี้ถือว่า การขัดขืนการจับกุมหรือแม้แต่ขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายถือเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมาย ดังนั้นคำว่า ‘Freeze/Stop and don't move’ หรือ ‘หยุด...อย่าขยับ’ จึงเป็นคำสั่งที่ชัดเจน เรียบง่าย และเข้าใจได้ง่าย บ่อยครั้งที่เจ้าหน้าที่ตำรวจสหรัฐฯ มีการใช้อาวุธปืนกับผู้ต้องสงสัยเมื่อสั่งให้ผู้ต้องสงสัยหยุดแล้วไม่ปฏิบัติตาม แม้ว่าผู้ต้องสงสัยรายนั้นจะไม่มีอาวุธปืนก็ตาม  เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจยิงผู้ต้องสงสัยรายนั้นจนได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต โดยที่เจ้าหน้าที่ตำรวจผู้ยิงจะไม่มีความผิดแต่อย่างใด โดยถือเป็นการป้องกันตัวที่สมควรแก่เหตุ 

ดังนั้นคำว่า "ตำรวจ! หยุด อย่าขยับ!" (Police! ‘Freeze/Stop and don't move’) จึงเป็นคำสั่งที่ประชาชนพลเมืองอเมริกันต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด แม้บางคนจะปฏิบัติตาม หรือบางคนไม่ยอมปฏิบัติตาม แต่เป็นที่รู้โดยทั่วไปว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจอเมริกันได้รับอนุญาตและได้รับการฝึกอบรมให้ใช้กำลังทุกรูปแบบที่จำเป็นเพื่อบังคับให้ผู้ต้องสงสัยทุกคนปฏิบัติตามคำสั่งที่ถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อเป็นการป้องกันภัยอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นต่อตัวเจ้าหน้าที่ตำรวจเองหรือประชาชนพลเมืองคนอื่น ๆ รวมถึงการใช้กำลังถึงชีวิต (ซึ่งคนอเมริกันบางส่วนไม่ได้ตระหนักถึง) 

ดังนั้น วิธีการปฏิบัติที่ดีที่สุดของสุจริตชนอเมริกันคือ การปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าหน้าที่ตำรวจอย่างเคร่งครัดในทันที โดยปิดปากเงียบ ไม่โต้เถียง หรือขัดขืน และเชื่อฟังทันที หากให้ความร่วมมือ และถามคำถามหลังจากที่เจ้าหน้าที่พูดจบแล้ว ต้องยึดหลักที่ว่า "ปฏิบัติตามตอนนี้ เรื่องอื่นค่อยว่ากันทีหลัง"  ปิดปากและเชื่อฟังทันที หากคุณให้ความร่วมมือ อย่าขัดขืน และถามคำถามหลังจากที่เจ้าหน้าที่พูดจบแล้วแม้จะมีช่องว่างมากมายที่นำไปสู่การปฏิบัติที่ผิดพลาดของเจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งสามารถนำไปใช้ในการพูดคุยเจรจาได้ “จงอย่าได้ชนะคดีในศาล แต่เป็นเพียงคนที่ตายไปแล้ว”

อันที่จริงแล้วกระบวนการยุติธรรมของบ้านเรานั้นมีปัญหาอย่างแน่นอน ไม่ว่าจะเป็นกรณีที่กรมราชทัณฑ์สามารถลดโทษระยะเวลาการจำคุกนักโทษเด็ดขาดที่ศาลตัดสินแล้วลงได้อย่างมากมาย หรือกรณีอาชญากรต่างชาติที่หลบหนีมาบ้านเราแล้วทางการประเทศนั้น ๆ ขอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจไทยจับกุมตัว ซึ่งเมื่อจับกุมตัวได้แล้วสำนักงานตำรวจแห่งชาติมักจะใช้วิธีการยกเลิกวีซ่าแล้วผลักดัน/เนรเทศบุคคลผู้นั้นออกไปนอกราชอาณาจักรภายใต้การควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่ของประเทศที่ร้องขอทันที ไม่ต้องผ่านการพิจารณาของศาลไทยว่าเข้าเงื่อนไขการส่งผู้ร้ามข้ามแดนตามข้อตกลงกับประเทศนั้น ๆ หรือไม่ ในขณะที่อาชญากรที่กระทำความผิดในไทยแล้วหลบหนีไปยังต่างประเทศแล้ว มักไม่ได้รับความร่วมมือในการปฏิบัติเช่นการปฏิบัติของฝ่ายไทยเลย

ดังเช่นกรณีของนายราเกซ สักเสนา ซึ่งถูกดำเนินคดีข้อหายักยอกทรัพย์ธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชยการ เป็นเงิน 75 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อปี พ.ศ. 2539 แล้วหลบหนีไปอาศัยอยู่ในประเทศแคนาดา แม้ว่าทางการไทยจะออกหมายจับตั้งแต่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2539 และนายราเกรซถูกจับกุมโดยกองตำรวจม้าหลวงแห่งแคนาดา เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2539 แต่กว่าที่นายราเกรซจะถูกศาลแคนาดาตัดสินให้ส่งตัวเป็นผู้ร้ายข้ามแดนต้องใช้เวลาถึง 12 ปี จึงได้ตัวนายราเกรซมาดำเนินคดี กรณีเหล่านี้จึงเป็นเรื่องที่ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต้องนำมาดำเนินการปรับปรุงแก้ไขเพื่อให้เกิดความถูกต้อง เหมาะสม ยุติธรรม และเท่าเทียม ในการบังคับใช้กฎหมายโดยเร็ว

ฟุตบอลเด็กไทย จะไปทางไหน? เมื่อพ่อแม่ -โค้ชหวังแค่ผลลัพธ์ แต่ไม่สนใจผลที่จะได้รับ

เมื่อไม่นานมานี้ผมได้มีโอกาสไปร่วมงานมหกรรมการแข่งขันกีฬาของนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษา เพื่อเชื่อมความสัมพันธ์ของสถาบันการศึกษารวมกว่า 10 สถาบัน โดยเจ้าภาพในปีนี้เป็นสถาบันที่อยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ นัก ผมไปในฐานะของผู้ฝึกสอนกีฬาฟุตบอลระดับประถมศึกษาตอนต้น เนื่องด้วยตัวเองคลุกคลีกับฟุตบอลเด็กมาในระดับหนึ่ง แม้จะไม่ยาวนานนัก แต่ด้วยความเป็นนักกีฬา และทำโครงการกีฬามามากทำให้สามารถดูแลได้ประมาณหนึ่ง 

ในมุมของฟุตบอลเด็ก ก่อนหน้ามหกรรมกีฬาในครั้งนี้ ด้วยความที่เป็นคนทำโครงการกีฬา และกำลังดำเนินการจัดตั้งอคาเดมี่ฟุตบอลสำหรับพัฒนาเด็กอายุ 6-12 ปี ผมจึงมีข้อมูลจำนวนมากที่เกี่ยวกับ รูปแบบการสอน กฎกติกา ความเหมาะสมของช่วงวัย พัฒนาการของช่วงวัยตามหลักวิทยาศาสตร์การกีฬา พร้อมด้วยความร่วมมือจากผู้ฝึกสอนที่มีใบอนุญาตฝึกสอนในระดับต่าง ๆ หลายท่าน อีกทั้งรายชื่ออคาเดมี่ที่ลงทะเบียนไว้กับสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ จำนวนกว่า 600 รายชื่อ ก่อนจะไปเรื่องอื่น ๆ เรื่องตรงนี้ผมเกิดคำถามขึ้นมาที่น่าสนใจขึ้นมาอย่างหนึ่งคือ รายชื่ออคาเดมี่ที่มีอยู่ มีกี่อคาเดมี่ที่มีสนามฝึกซ้อมเป็นของตนเองจริง ๆ (ไม่ว่าจะเช่าหรือเป็นเจ้าของเอง) เพราะในบางอคาเดมี่ตามรายชื่อไม่มีสนามฝึกซ้อม มีแค่ตัวโค้ชกับทีมงาน อันนี้ก็แปลกดี 

อีก 1 คำถามที่เกิดขึ้นตามมาก็คือ อคาเดมี่ที่เปิดกันอยู่ในประเทศไทยมีอีกกี่อคาเดมี่ที่ไม่ลงทะเบียนกับสมาคม ฯ จากการประเมินผมตอบคำถามได้เลยว่าน่าจะมีหลักพัน เพราะอะไร ? ก็เพราะในสนามฟุตบอลเช่าจะมีโค้ชที่สอนประจำอยู่ โดยไม่ได้อ้างอิงระบบอคาเดมี่ แต่ใช้สถานที่เป็นตัวตั้งและจับโค้ชใส่เข้าไป ซึ่งก็มีการฝึกสอนเด็ก ๆ อยู่จำนวนมาก และแน่นอนเป็นการเสียเงินเพื่อเรียนฟุตบอล 

ด้วยระบบที่ดีของสมาคม ฯ ตามที่ผมได้เข้าไปศึกษา ผมยินดีมาก ๆ ที่เราได้เดินทางมาอย่างมีเป้าหมายชัดเจน และต้องการให้การสร้างรากฐานฟุตบอลเด็กได้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมโดยการจับมือกับ FIFA แล้วสร้างโปรแกรมให้เด็ก ๆ ได้เล่นฟุตบอลอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ซึ่งดีมาก ๆ แต่ทว่า วันนี้การพัฒนารูปแบบนี้กลับกำลังถูกเมินเฉย และค่อยๆ ถูกเซาะกร่อนด้วยการหวังผลลัพธ์แห่งชัยชนะที่เร็วเกินวัยจาก พ่อ แม่ ผู้ปกครอง และอคาเดมี่ (หรือโค้ช) บางส่วน ประกอบกับอีกปัจจัยสำคัญก็คือการจัดการแข่งขันฟุตบอลเด็กที่เกิดขึ้นอย่างถี่ยิบในปัจจุบัน ทำให้ความหวังผลเลิศอันเกิดขึ้นจากการเสพติดชัยชนะบ่มเพาะให้เกิดการสอนฟุตบอลเกินวัย เทคนิคเกินเด็ก และการเล่นอันตรายถูกนำมาสอนมากขึ้น  

กลับมาที่การแข่งขันกีฬาที่ผมไปเข้าร่วมดีกว่า เพราะน่าจะเป็นภาพสะท้อนที่ชัดเจนขึ้น เนื่องจากการแข่งขันในครั้งนี้บนหน้าอกของเด็ก ๆ คือสถาบันการศึกษา ความเป็นมาตรฐานจึงเป็นสิ่งสำคัญ และแน่นอนการแข่งขันเพื่อชัยชนะก็เข้มข้น ซึ่งก็จริงดังคาด การแข่งขันเป็นไปอย่างจริงจัง แต่ความจริงจังนั้นเป็นไปอย่างน่าชื่นใจ เพราะทีมฟุตบอลเด็กจำนวนมากเล่นกันเป็นระบบ มีความสามารถเฉพาะตัวที่เก่งกาจ แสดงให้เห็นเด่นชัดถึงความตั้งใจของตัวเด็ก และการฝึกสอนที่มีคุณภาพ ไม่แปลกใจที่ทีมชนะเลิศจะได้เพราะเขาสามารถรวมเอาระบบ และความสามารถของเด็กมาไว้ด้วยกันได้ แต่ความน่าสนใจไม่ได้อยู่ที่ทีมชนะเลิศครับ มันอยู่ที่ทีมเด็กทีมหนึ่งซึ่งใช้ทักษะเกินวัย และเป็นเทคนิคเสี่ยงบาดเจ็บ

ปกติเด็กในวัยประถมศึกษาคือช่วงประมาณอายุ 6 – 12 ปี นั้นทักษะหนึ่งที่มักจะห้ามใช้กันก็คือการ 'สไลด์บอล' ทำไม ? ถึงห้าม เราลองมานึกตามกันนะครับ การสไลด์บอลคือการป้องกันที่ถือว่าอันตรายในระดับหนึ่ง แม้จะเป็นในระดับผู้ใหญ่ สำหรับเด็กเมื่อเด็กสไลด์ขาไปบนสนามหญ้าร่างกายจะมีส่วนของการสัมผัสพื้นค่อนข้างมาก ทั้งยังต้องใช้แรงบังคับทิศทางไปยังเป้าหมายคือลูกฟุตบอลที่อยู่กับเท้าของฝั่งตรงข้าม ซึ่งแน่นอนการบังคับผลให้เกิดไม่สามารถทำให้ใกล้เคียงกับนักฟุตบอลผู้ใหญ่แน่นอน ถ้าการสไลด์สำหรับนักฟุตบอลผู้ใหญ่มีผลสำเร็จอยู่ที่ 70 – 80 % โดยไม่ฟาวล์หรือบาดเจ็บ แล้วนักฟุตบอลเด็กคุณคิดว่ามันจะมีผลสำเร็จอยู่ที่เท่าไหร่ ? สิ่งที่น่าจะเกิดขึ้นมีอยู่หลายทาง ทางแรกคือโดนบอล ไม่โดนเท้าคู่แข่ง คู่แข่งกระโดดหลบได้ ป้องกันได้สำเร็จ ทางที่สองคือโดนบอล โดนเท้าคู่แข่ง คู่แข่งบาดเจ็บ จังหวะล้มคู่แข่งลงมาทับพอดี เสียฟาวล์ ทางที่สามคือไม่โดนบอล โดนเท้าคู่แข่ง คู่แข่งบาดเจ็บ เสียฟาวล์ ทางที่สี่ไม่โดนบอล ไม่โดนเท้าคู่แข่งแต่ “คู่แข่งกระโดดหลบแล้วลงมาทับหรือเหยียบ” คนสไลด์บาดเจ็บ ทางที่ห้าสไลด์แล้วไม่โดนอะไรเลย ป้องกันไม่ได้ และยังมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดอีกหลายทาง อีกทั้งการสไลด์ข้างหลัง ด้านข้าง ด้านหน้า และเปิดปุ่มสตั๊ด มันยังสามารถเกิดประเด็นได้อีกมากมาย คำถามคือกับเด็กอายุ 6 – 12 ปี ที่เราเรียกกันว่ายุวชน มีความคิดเผื่อไว้หลายชั้นสำหรับผลที่ต้องได้รับขนาดนั้นหรือไม่ ? คำตอบ 100% คือ “ไม่” 

ทำไม ? โค้ชในอคาเดมี่บางแห่งถึงได้สอนเด็ก ๆ สไลด์บอล ก็อาจจะตอบได้แบบสวย ๆ ว่า เพื่อให้เด็กได้รู้ถึงเทคนิคนี้ เพราะต่อให้ตนไม่สอนเด็ก ๆ เมื่อไปดูการแข่งขัน หรือดูใน YouTube ก็ต้องนำเอามาใช้แน่นอน คำตอบนี้ตอบได้ถูกต้อง แต่ไม่ถูกทั้งหมด เพราะถ้าสอนเข้าไปลึก ๆ การสไลด์มันมีขั้นตอนทางเทคนิคที่วัย 6 – 12 ปี ยังต้องเรียนรู้เพิ่มเติมอีก แต่ที่เด็กกล้านำมาใช้ ผมเชื่อว่าเพราะโค้ชผู้สอนไม่ได้เตือนถึงผลเสียหากนำไปใช้ เพราะโค้ชคำนึงถึงแต่ผลลัพธ์ที่จะตอบโจทย์ผู้ปกครอง มากกว่าผลที่จะได้รับ เด็กไม่ผิดหรอกครับที่นำมาใช้ แต่ผู้ใหญ่ที่สอนให้ใช้อย่างไม่มีความรับผิดชอบนั่นแหละคือคนผิดตัวจริง 

แต่สไลด์บอลไม่ใช่เพียงเทคนิคเดียวที่ถูกสอนให้นำมาใช้ การใช้ศอก ดึงเสื้อ เตะขา เหยียบเท้า เปิดปุ่ม เข้าเข่า ดึงขา คือภาพที่ผมเห็นมาจากทีมฟุตบอลระดับอคาเดมี่หลายแห่งที่หวังผลเป็นเลิศ เคยเห็นในการแข่งระดับมัธยมก็พอได้พบ แต่ไม่น่าเชื่อว่าผมจะได้เห็นจากทีมฟุตบอลโรงเรียนระดับประถมศึกษาตอนต้นในรายการมหกรรมกีฬาระดับประเทศ คำถามคือ “เกิดอะไรขึ้นกับการแข่งขันฟุตบอลเด็ก ?”  เราไม่ได้สอนให้เด็กแข็งแกร่งขึ้นจากการฝึกซ้อมแล้วหรือ เราไม่ได้สอนให้มีทักษะจากเรียนรู้แล้วหรือ เราไม่ได้สอนให้เขารู้จักเอาชนะคู่แข่งด้วยความสามารถแล้วหรือ 

คำตอบที่ผมตอบได้ประการเดียวก็คือ “ชัยชนะ” เพราะมันคือผลลัพธ์ที่ตอบโจทย์พ่อ แม่ ผู้ปกครอง จำนวนหนึ่ง ที่คาดหวังจากการเรียนฟุตบอลในอคาเดมี่ของลูกตัวเอง ลูกฉันเรียนบอล ลูกฉันต้องชนะ ซึ่งโค้ชบางท่านก็ตอบสนองความต้องการนั้น ด้วยการสอนทุกอย่างที่เด็กในวัยเด็กเดียวกันเขาไม่สอน โดยเฉพาะตามระบบมาตรฐานของสมาคมฯ หรือ FIFA ถ้าลูกคุณสไลด์เอาบอลมาจากคู่แข่งได้อย่างสวยงาม คุณคงดีใจ แต่ถ้าลูกคุณสไลด์ไปเอาบอลโดยที่สร้างรอยแผลไว้ให้กับคู่แข่งล่ะ ลูกคุณไม่เจ็บแต่เด็กที่โดนสไลด์เจ็บ ผมได้ยินเด็กน้อยในทีมถามว่าทำไมเขาสไลด์ได้? ทำไมเขาสไลด์แล้วทำคนอื่นเจ็บได้?  ทำไมผมทำบ้างไม่ได้ ? เด็กที่โดนสไลด์บางคนไม่กล้าเล่นบอลหรือเอาบอลไว้กับเท้า ตามวัยที่เขาต้องเรียนรู้แล้ว เพียงเพราะเขากลัวการถูกสไลด์ กลับกันถ้าคนที่ถูกสไลด์ถูกตอบแทนด้วยการถูกเหยียบ การถูกทับจากคู่แข่งที่เอาศอกลงที่หน้า ที่อก ที่เบ้าตา จะเกิดอะไรขึ้น ? มันจะเป็นรอยแผลในใจของลูกคุณไหม ? อ่าน ๆ ไปแล้วดูมันจะโหดขึ้นเรื่อย ๆ แต่นี่คือเรื่องจริงที่เกิดขึ้นจากการแข่งขันฟุตบอลเด็กครับ ไม่ว่าจะเป็นการแข่งขันรายการแบบไหน ก็ไม่สมควรจะเกิด คุณว่าจริงไหม ? 

มาถึงตรงนี้ หากคุณได้ชมฟุตบอลชิงแชมป์อาเซียนครั้งล่าสุด คุณเห็นคู่แข่งของทีมชาติไทยไหมครับว่าเขาเข้าบอลกับเราแบบไหน ทัศนคติของเขาเป็นแบบไหน ย้อนกลับมาที่เรา พ่อ แม่ ผู้ปกครอง อยากให้โค้ชสอนลูกเราให้เป็นแบบนั้นหรือครับ สอนให้ทำร้าย ทำลาย คู่แข่งเพื่อชัยชนะ โดยไม่สนว่าในอนาคตของคู่แข่งจะเป็นอย่างไร ? ฟุตบอลไทยจะเป็นอย่างไร? ทั้ง ๆ ที่ฟุตบอลมันให้อะไรมากกว่ากว่าชัยชนะอีกตั้งมากมาย สิ่งที่ผมนำมาเล่าในตอนนี้คือภาพที่ผมเห็นมากับตาตัวเอง ขอให้เรากลับมาสนใจผลที่จะได้รับมากกว่าผลลัพธ์กันเถอะครับ ฟุตบอลไทยจะได้ไปต่ออย่างสวยงาม

อย่าให้เจอคำพูดที่ผมเจอจากผู้ใหญ่ท่านหนึ่ง ณ สนามแข่งขันว่า “ก็แค่เด็กมันเล่นบอลกัน จะอะไรนักหนา” อีกเลยครับ 

สังคมแตกเป็นสองฝ่าย หนุนกฎหมายใหม่จัดหนักพวกหมิ่นพุทธ

ในประเทศไทยดูเหมือนการวิพากษ์วิจารณ์เรื่องของศาสนาพุทธจะเป็นประเด็นที่ทำให้สังคมแตกแยกออกเป็น 2 ฝ่ายโดยฝ่ายหนึ่งคือกลุ่มแนวคิดเดิมกับอีกกลุ่มคือกลุ่มแนวคิดใหม่ ซึ่งแนวทางของกลุ่มแนวคิดใหม่นั้นมองว่าการกระทำใดๆก็ตามของกลุ่มแนวคิดเดิมเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องไม่ได้ระบุไว้ในพระธรรมวินัยและพยายามทำตัวเองให้กลายเป็นอินฟลูด้านศาสนาขึ้นมาด้วย วิธีการแบบนี้สามารถใช้ได้ในประเทศไทยเพราะถ้าหากเราดูถึงการนับถือศาสนาพุทธในปัจจุบันแล้วก็จะเห็นเป็น 2 กลุ่มกลุ่มแรกคือนับถือพุทธเพราะที่บ้านนับถือสืบต่อกันมา ส่วนอีกกลุ่มนับถือพุทธด้วยถูกจริตต่อจิตใจของตน  

หากมองดูทั้งสองกลุ่มจะเห็นถึงความแตกต่างของคน 2 ประเภทนี้กล่าวคือคนกลุ่มแรกจะสามารถถูกชักจูงง่ายโดยใช้หลักการทางการตลาดใด ๆ ก็ตาม แต่อีกประเภทหนึ่งจะต้องหาเหตุผล หลักฐานมาหักล้างความเชื่อนั้นเพื่อสร้างความเชื่อใหม่ให้เกิดขึ้น เอย่าได้ไปคุยกับผู้สันทัดด้านศาสนาของไทยและเมียนมาและเห็นว่าศาสนาพุทธใน 2 ประเทศนี้มีความคล้ายและต่างกันบางอย่าง ส่วนที่เหมือนกันคือ การผสมผสานของศาสนาพุทธให้เข้ากับลัทธิดั้งเดิมที่มีมาอยู่ก่อนทั้งในไทยและเมียนมานั้น ศาสนาพุทธได้ประสบความสำเร็จจากการเผยแผ่ศาสนาแบบนี้  แต่คน  2 ประเทศนี้มีหลายอย่างต่างกันกล่าวคือ คนเมียนมาส่วนหนึ่งแม้จะบูชาผีนัตก็ตามแต่การบูชาผีนัตก็เพื่อขอความคุ้มครองต่อตัวเขา ครอบครัวและธุรกิจ อันแตกต่างจากของไทยซึ่งส่วนใหญ่การสักการะใดๆก็ตามจะเน้นการขอลาภ ยศเสียมากกว่า

เอย่าถามว่าทำไมคนพม่าถึงนับถือศาสนาพุทธอย่างเหนียวแน่น กูรูศาสนาพุทธชาวเมียนมาให้คำตอบกับเราว่าส่วนใหญ่คนเมียนมานับถือพุทธมากกว่านับถือนัต และระลึกว่าการกราบไหว้บูชาพระพุทธเป็นการสักการะเพื่อต้องการสืบต่อพระศาสนาให้ต่อเนื่องเฉกเช่นเดียวกันกับศาสนาอื่นๆอาทิเช่นชาวมุสลิมในเมียนมาก็พยายามที่จะมาทำพิธีละหมาดวันละ 5 ครั้งในสุเหร่า นั่นก็เพราะชาวเมียนมาส่วนใหญ่มีความเชื่อและความศรัทธาฝังแน่นแม้ว่าสิ่งที่เขาต้องการอาจจะไม่ได้ประสบพบในชาตินี้ชีวิตนี้แต่คนพม่าส่วนใหญ่ก็มองว่าการนับถือศาสนาของเขาจะส่งผลกรรมดีต่อเขาในโลกหน้าด้วย  หันกลับมาไทยเมื่อมาถามกูรูด้านศาสนาฝั่งไทยเขาบอกว่าคนไทยยุคใหม่นับถือศาสนาเพื่อให้ศาสนาบันดาลในสิ่งที่ตนอยากได้ โดยเฉพาะได้ในชาตินี้และนั่นทำให้คนไทยเรากลายเป็นผู้นับถือทุกสิ่งที่สามารถบันดาลให้เราได้ ทั้ง ผี ยักษ์ นาค ครุฑ หมาสองหัววัวหกขา กูรูฝั่งไทยกล่าวว่าอีกฝั่งหนึ่งของคนไทยคือผู้ไม่นับถืออะไรเลย  เพราะไม่คิดว่าทำไปแล้วจะได้อะไรเป็นการตอบแทน ไม่คิดว่าการสืบต่อพระศาสนานั้นจะทำให้ชีวิตของพวกเขาดีขึ้นอย่างไรคนกลุ่มนี้จะไปเสพติดไอดอล อินฟลูต่าง ๆ ที่ถูกกับจริตและจิตใจของเขา ดังนั้นทำให้สังคมไทยจึงแตกออกเป็น 2 ฝ่าย

เมื่อความแตกต่างนำมาซึ่งความแตกแยก กฎหมายจึงเข้ามาเพื่อเป็นข้อกำหนดไม่ให้มีการบั่นทอนความสำคัญของศาสนา ในหลายประเทศมีกฎหมายศาสนาอยู่ไม่ได้มีเพียงเมียนมาแต่ในหลายประเทศก็จะกฎหมายศาสนาเช่นกัน อาทิเช่น มาเลเซียที่มีกฎหมายของชุดคือ กฎหมายฆราวาสและกฎหมายอิสลาม ส่วนในเมียนมามีกฎหมายพุทธศาสนาอยู่เช่นกัน และหลายครั้งในเมียนมาก็มีผู้กระทำผิดต่อกฎหมายที่ว่าด้วยการกระทำผิดต่อศาสนา ในเมียนมามีคดีที่เป็นคดีที่หมิ่นศาสนาอยู่จำนวนมาก อาทิเช่น เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2563 ที่ผ่านมา ศาลเมืองมัณฑะเลย์ตัดสินจำคุก Kyaw Win Thant แพทย์ชาวเมียนมา วัย 31 ปี เป็นเวลา 21 เดือน ในความผิดฐานดูหมิ่นศาสนา สืบเนื่องจากการที่จำเลยโต้เถียงกับบรรดาพระสงฆ์เรื่องการสอนเพศศึกษาในโรงเรียน แล้วมีการโพสต์ข้อความเชิงประชดเสียดสีพระสงฆ์ดังกล่าว หรือในกรณีของ นายฟิลิป แบล็ควูด ผู้จัดการบาร์ชาวนิวซีแลนด์ในเมียนมาและชาวเมียนมาอีก 2 คน ถูกศาลตัดสินจำคุก 2 ปี 6 เดือน ในข้อหาดูหมิ่นพุทธศาสนา จากการโพสต์รูปโฆษณาทางออนไลน์ เป็นรูปพระพุทธรูปสวมเฮดโฟน เพื่อเชิญชวนให้คนมาเที่ยวสถานบันเทิง หรือล่าสุดคือ นายดิดีเยร์ นุสเบาเมอร์ อายุ 52 ปี ถูกจับกุมตัวเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา เขียน ถ่ายทำ และตัดต่อภาพยนตร์เรื่อง 'Don’t Expect Anything' ที่มีความยาว 75 นาที และโพสต์ลงบนสื่อออนไลน์

ในประเทศไทยแม้ในไทยจะมีกฎหมายหมิ่นศาสนาก็ตามแต่ตัวกฎหมายกลับไม่ได้ครอบคลุมและถูกนำมาใช้อย่างที่มันควรจะเป็น โดยมีระบุหลัก ๆ ไว้แค่ 3 มาตราคือ มาตรา 206  ผู้ใดกระทำด้วยประการใด ๆ แก่วัตถุหรือสถานอันเป็นที่เคารพในทางศาสนาของหมู่ชนใด อันเป็นการเหยียดหยามศาสนานั้น ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงเจ็ดปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ มาตรา 207 ผู้ใดก่อให้เกิดการวุ่นวายขึ้นในที่ประชุมศาสนิกชนเวลาประชุมกัน นมัสการ หรือกระทำพิธีกรรมตามศาสนาใด ๆ โดยชอบด้วยกฎหมาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ มาตรา 208  ผู้ใดแต่งกายหรือใช้เครื่องหมายที่แสดงว่าเป็นภิกษุ สามเณร นักพรตหรือนักบวชในศาสนาใดโดยมิชอบ เพื่อให้บุคคลอื่นเชื่อว่าตนเป็นบุคคลเช่นว่านั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

แต่ล่าสุดปีที่ผ่านมามีการดำเนินการให้แก้ไข โดยท่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กมลศักดิ์  ลีวาเมาะ และคณะได้นำเสนอให้แก้ไขกฎหมายศาสนา โดยอ้างว่าประมวลกฎหมายอาญาที่บัญญัติความผิดเกี่ยวกับศาสนายังไม่ครอบคลุม การกระทำของบุคคลที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสมและก่อให้เกิดความเสียหายต่อศาสนา เกิดการดูถูกดูหมิ่น เหยียดหยาม หรือทำให้รู้สึกเกลียดชัง โดยกระทำการใด ๆ เช่น การบิดเบือนหลักธรรมคำสอนของศาสนา รวมถึงการปลุกระดม การเผยแพร่เพื่อให้เกิดการเกลียดชัง การรบกวนการประกอบพิธีกรรม การวิพากษ์วิจารณ์โดยมิใช่ทางวิชาการ รวมถึงการทำลายหรือทำให้สกปรกซึ่งคัมภีร์หรือวัตถุที่เป็นที่สักการะของ ศาสนาใดศาสนาหนึ่ง  ซึ่งทางท่าน สส. ได้ให้มีการระบุรายละเอียดเข้าไปเพิ่มในมาตรา 206 เพื่อให้ครอบคลุมยิ่งขึ้น เอย่าหวังว่าไหน ๆ ก็มีการระบุถึงความผิดให้ชัดเจนเพิ่มขึ้นแล้วควรจะเพิ่มโทษให้สาสมด้วยว่าการดูหมิ่นให้ร้าย ต่อคนต่างความเชื่อนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำและไม่ควรเกิดขึ้นในสังคม คงต้องดูว่าพรรครัฐบาลชุดนี้จะเห็นด้วยกับประเด็นเหล่านี้หรือไม่   คงต้องติดตามดูกันต่อไป

ย้อนบทเรียนสมัย ร.5 ชี้! การพนันสร้างแต่ปัญหา วอนทบทวน พรบ.การพนัน ช่วยตัดไฟแต่ต้นลม

ข้าพเจ้าเชื่อว่าเรื่องนี้หลายคนสะกิดแล้ว แต่ดูเหมือนว่าความห่วงใยของประชาชนเกี่ยวกับปัญหาที่จะเกิดจากการเปิดคาสิโนในประเทศจะไม่ได้รับการใส่ใจ หลายฝ่ายกังวลว่าการผลักดันให้คาสิโนถูกกฎหมาย อาจนำไปสู่ปัญหาหนี้สิน การเพิ่มขึ้นของอาชญากรรม และความเหลื่อมล้ำในสังคม โดยเฉพาะประชาชนรากหญ้าที่ต้องดิ้นรนขายเช้ากินค่ำ เพื่อประคองชีวิตกลับต้องเผชิญกับผลกระทบที่หนักหน่วง

ทั้งนี้ข้าพเจ้าจึงเป็นต้องขออนุญาตส่งข้อห่วงใยถึงรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถึงพิษภัยของ การพนัน...นะครับ

บทเรียนจากอดีต…ลืมไปแล้วหรือ?

ในอดีต สมัยรัชกาลที่ 5 ประเทศไทยเคยเจอวิกฤตจากบ่อนการพนันที่เฟื่องฟูจนกลายเป็นต้นเหตุของอาชญากรรมและปัญหาสังคม 

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเห็นถึงโทษของการพนันที่ส่งผลกระทบต่อสังคมไทย จึงทรงมีพระราชดำริให้ลดและเลิกบ่อนการพนันทั่วประเทศ โดยเริ่มจากการลดจำนวนบ่อนในหัวเมืองต่าง ๆ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2430 และขยายมาสู่กรุงเทพฯ ในปี พ.ศ. 2432 กระบวนการนี้ดำเนินไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนที่เกี่ยวข้องกับบ่อนการพนัน จนกระทั่งในสมัยรัชกาลที่ 6 ได้มีการประกาศพระราชบัญญัติห้ามบ่อนการพนันทั่วประเทศเมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2460

ทั้งนี้เป็นการตัดสินใจ 'ตัดไฟแต่ต้นลม' ด้วยการปิดบ่อนทั่วประเทศ เพราะรู้ดีว่าผลเสียของการพนันมันกัดกินประเทศยิ่งกว่ารายได้ที่ประเทศชาติจะได้รับ แต่ดูเหมือนบทเรียนนี้จะเลือนหายไปในยุคที่ใครๆสนใจแต่ตัวเลขผลกำไร มากกว่าผลกระทบที่แท้จริง

ประเทศอื่นเขาก็รู้…การพนันสร้างแต่ปัญหา

ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดคือฟิลิปปินส์ ที่เปิดให้การพนันถูกกฎหมายอย่างเสรี ผลลัพธ์คือการเพิ่มหนี้สินของประชาชน ปัญหาครอบครัวแตกแยก และการขยายตัวของแก๊งฟอกเงิน ในขณะที่ประเทศที่ควบคุมการพนันอย่างเข้มงวด เช่น นอร์เวย์ กลับมีความมั่นคงทางสังคมและเศรษฐกิจ เพราะรัฐบาลเขาเลือกส่งเสริมอุตสาหกรรมที่ยั่งยืน เช่น เทคโนโลยีและการศึกษา

ใครเจ็บ? ใครได้?

ประชาชนรากหญ้าที่ขายเช้ากินค่ำมักจะเป็นกลุ่มที่เจ็บหนักที่สุด เพราะความหวังลมๆ แล้งๆ จากการพนันที่หลอกล่อพวกเขาให้เอาเงินก้อนสุดท้ายไปเสี่ยง โอกาสที่จะ “หมดตัว” มีสูงกว่าการถูกรางวัลเสมอ แต่คนที่ได้กลับเป็นเจ้าของเว็บและรัฐบาลที่เก็บภาษีอยู่บนหนี้สินและน้ำตาของประชาชน

การพนัน…ไม่ใช่คำตอบของประเทศนี้

ถ้ารัฐบาลนี้มีวิสัยทัศน์รักในประชาชนจริงๆ ข้าพเจ้าเห็นควรเลือกสนับสนุนอุตสาหกรรมที่สร้างอนาคต เช่น การศึกษา การวิจัย หรือการพัฒนาเทคโนโลยี มากกว่าการพึ่งรายได้จากความทุกข์ของคนจน การพนันไม่ใช่ทางลัด มันคือ “หลุมดำ” ที่ทำให้ประชาชนจมลึกลงไปในปัญหาที่แก้ไม่จบ

‘CAL FIRE’ ทีมนักสู้ไฟป่าแห่งแคลิฟอร์เนีย เหล่าผู้กล้าผจญเพลิงที่อาสาทำเพื่อส่วนรวม

เหตุการณ์ไฟไหม้ป่าที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ของนครลอสแอนเจลิส มลรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ได้คร่าชีวิตผู้คนไปแล้วอย่างน้อย 24 ราย (14/1/2568) เผาผลาญบ้านเรือนประชาชนไปแล้วนับหมื่นหลัง และส่งผลทำให้ต้องออกคำสั่งอพยพผู้คนหลายแสนคนออกจากพื้นที่ ด้วยสหรัฐฯ เป็นประเทศที่มีพื้นที่ขนาดใหญ่เป็นอันดับสามของโลก มีผืนป่าขนาดใหญ่มากมายโดยเฉพาะในมลรัฐแคลิฟอร์เนียซึ่งเกิดไฟไหม้ป่าเป็นประจำทุกปี

โดยภารกิจในการดูแลรักษาผืนป่า การป้องกันและดับไฟป่าในมลรัฐนี้อยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของ ‘กรมป่าไม้และป้องกันอัคคีภัยแห่งมลรัฐแคลิฟอร์เนีย (California Department of Forestry and Fire Protection : CAL FIRE)’ เป็นหน่วยงานภายใต้สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติแห่งมลรัฐแคลิฟอร์เนีย (California Natural Resources Agency : CNRA) สหรัฐอเมริกามีหน้าที่รับผิดชอบในการป้องกันอัคคีภัยในพื้นที่ต่างๆ ภายใต้ความรับผิดชอบของรัฐรวม 31 ล้านเอเคอร์ รวมถึงการบริหารจัดการป่า ทั้งป่าส่วนบุคคลและป่าสาธารณะภายในมลรัฐ

นอกจากนี้ ‘CAL FIRE’ ยังให้บริการฉุกเฉินด้านต่าง ๆ ใน 36 จาก 58 เทศมณฑลของมลรัฐผ่านสัญญากับรัฐบาลท้องถิ่น ผู้อำนวยการ ‘CAL FIRE’ คนปัจจุบันของกรมคือ Joe Tyler ซึ่งได้รับการแต่งตั้งโดย Gavin Newsom ผู้ว่าการรัฐแคลิฟอร์เนีย เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2022

นอกจากภารกิจหลักที่สำคัญที่สุดของ ‘CAL FIRE’ คือการต่อสู้และป้องกันไฟป่าบนพื้นที่ป่าของรัฐ 31 ล้านเอเคอร์แล้ว ‘CAL FIRE’ ยังปฏิบัติงานทั้งด้านการดับและป้องกันในพื้นที่ของมลรัฐ ตลอดจนให้ความช่วยเหลือในการตอบสนองต่อภัยพิบัติและเหตุการณ์ต่าง ๆ มากมาย รวมถึงแผ่นดินไหว การกู้ภัยทางน้ำ และการรั่วไหลของวัสดุอันตราย ‘CAL FIRE’ ยังทำหน้าที่ในการบริหารจัดการป่าสาธิตของมลรัฐ 8 แห่งในเรื่องของการปลูกและตัดไม้ สันทนาการ และการวิจัย ส่วนที่ใหญ่ที่สุดและเป็นรูปธรรมชัดเจนที่สุดในการปฏิบัติการของ ‘CAL FIRE’ คือการป้องกันอัคคีภัย โดยเฉพาะไฟป่า การปฏิบัติการแบ่งหน่วยออกเป็น 21 หน่วยปฏิบัติการ ซึ่งแบ่งตามเขตพื้นที่ของแต่ละเทศมณฑล หน่วยแต่ละหน่วยประกอบด้วยพื้นที่ของเทศมณฑลหนึ่งแห่งขึ้นไป หน่วยปฏิบัติการแบ่งตามภูมิภาคแคลิฟอร์เนียเหนือหรือภูมิภาคแคลิฟอร์เนียใต้

‘CAL FIRE’ ก่อตั้งขึ้นในปี 1885 เป็นหน่วยดับเพลิงที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐอเมริกาด้วยจำนวนเจ้าหน้าที่ 12,800 นาย ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่ประจำ 6,100 คน เจ้าหน้าที่ไม่ประจำ (พนักงานจ้างตามฤดูกาล) 2,600 คน ผู้ต้องขัง 3,500 คน สมาชิกกองกำลังอนุรักษ์ อาสาสมัครป้องกันภัยส่วนบุคคล (VIP) 600 คน รวม 12,800 คน พร้อมอุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้สำหรับการปฏิบัติงานมากมาย ด้วยงบประมาณประจำปีที่ได้รับ 4.2 พันล้านเหรียญ (ราว 1.457 แสนล้านบาท) ‘CAL FIRE’ มีศูนย์ฝึกอบรม 2 แห่ง แห่งแรกเป็นสถาบันเดิมคือ ศูนย์ฝึกอบรม CAL FIRE ในเมืองไอโอเน ทางทิศตะวันออกของนครซาคราเมนโต (เมืองหลวงของมลรัฐแคลิฟอร์เนีย) สถาบันแห่งที่สองตั้งอยู่ที่ศูนย์ฝึกอบรม Ben Clark ในเทศมณฑลริเวอร์ไซด์ทั้งสองศูนย์เป็นที่ตั้งของสถาบันดับเพลิง (Fire Fighter Academy : FFA) เจ้าหน้าที่ดับเพลิงของ CAL FIRE ทุกคนจะต้องผ่านสถาบันนี้ก่อนที่พวกเขาเป็นเจ้าหน้าที่ประจำ และยังมีสถาบันฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ประจำ (Company Officer Academy : COA) ในเมืองไอโอเน เจ้าหน้าที่ประจำบรรจุ/เลื่อนตำแหน่งใหม่ทั้งหมดของ ‘CAL FIRE’ (วิศวกร หัวหน้าหน่วย เจ้าหน้าที่ป่าไม้ ฯลฯ) จะต้องผ่านการฝึกอบรมจากสถาบันแห่งนี้ ณ ปี 2017 เงินเดือนเฉลี่ยของนักดับเพลิงประจำ (ซึ่งรวมเงินเดือนพื้นฐาน เงินพิเศษ ค่าล่วงเวลา และสวัสดิการ) เฉลี่ยอยู่ที่ปีละ 148,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 5,134,120 บาท) เนื่องจากจัดว่าเป็นอาชีพที่มีความเสี่ยงสูงมาก

นอกจากนี้ ‘CAL FIRE’ ยังทำงานร่วมกับกรมราชทัณฑ์และการพัฒนาพฤตินิสัยแห่งมลรัฐแคลิฟอร์เนีย (California Department of Corrections and Rehabilitation : CDCR) ใช้ผู้ต้องขังหลายพันคนในทัณฑสถาน 44 แห่งทั่วมลรัฐ หรือที่เรียกว่า ‘โครงการทัณฑสถาน/ค่ายดับเพลิง’ เพื่อทำหน้าที่ในการป้องกันอัคคีภัย การดับเพลิง และโครงการบำรุงรักษาและอนุรักษ์ต่าง ๆ ภารกิจของโครงการนี้คือ ให้การ “สนับสนุนหน่วยงานของรัฐบาลท้องถิ่น และรัฐบาลกลางในการตอบสนองต่อเหตุฉุกเฉิน เช่น ไฟไหม้ น้ำท่วม และภัยพิบัติจากธรรมชาติหรือที่มนุษย์สร้างขึ้นอื่น ๆ” มีผู้ต้องขังทั้ง ชาย หญิง และเยาวชน มากกว่า 3,000 คนทำงานในโครงการนี้ทุกปี ทั้งหมดเป็นอาสาสมัครของโครงการฯ อาสาสมัครทุกคนได้รับการฝึกอบรมระดับเริ่มต้นเช่นเดียวกับนักดับเพลิงตามฤดูกาลของ ‘CAL FIRE’ มีนักดับเพลิงที่เป็นผู้ต้องขังราว 3,500 คน ทำให้มีนักดับเพลิงที่เป็นผู้ต้องคุมขังคิดเป็นประมาณ 27% ของศักยภาพในการดับเพลิงทั้งหมดของมลรัฐ

หน่วยปฏิบัติการภายใต้ ‘CAL FIRE’ คือหน่วยงานที่ได้รับการออกแบบมาเพื่อรับมือกับการดับเพลิงในพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ โดยมีขนาดและภูมิประเทศที่มีความแตกต่างกัน อาทิ หน่วยปฏิบัติการ Lassen-Modoc-Plumas ครอบคลุมพื้นที่ชนบท 3 แห่ง และประกอบด้วยสถานีดับเพลิง 8 แห่ง ฐานเฮลิคอปเตอร์ 1 แห่ง ค่ายดับเพลิง 3 แห่ง และศูนย์ฝึกอบรมนักดับเพลิงผู้ต้องขัง ทรัพยากรที่ใช้การดับเพลิงประกอบด้วยรถดับเพลิง 13 คัน เฮลิคอปเตอร์ 1 ลำ รถปราบดิน 3 คัน และเจ้าหน้าที่ดับเพลิงผู้ต้องขัง 14 คน หน่วยนี้ใช้ศูนย์บัญชาการฉุกเฉินร่วมกันกับหน่วยงานของรัฐบาลกลาง รวมทั้งกรมป่าไม้แห่งสหรัฐอเมริกา กรมอุทยานแห่งชาติ และสำนักงานจัดการที่ดิน เป็นศูนย์ปฏิบัติการร่วมระหว่างหน่วยงาน รองรับความร่วมมือ และเอื้อต่อการปฏิบัติงานที่ราบรื่นยิ่งขึ้น พื้นที่นี้มีเขตอำนาจในการปฏิบัติที่กระจัดกระจายไปทั่วพื้นที่ชนบทขนาดใหญ่ตามแนวเขตแดนมลรัฐเนวาดาและโอเรกอน ส่วย Riverside Operational Unit เป็นหน่วยดับเพลิงที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศ โดยมีสถานีดับเพลิง 95 แห่งและทรัพยากรที่ใช้การดับเพลิงประมาณ 230 รายการ ปฏิบัติการร่วมกับ Riverside County Fire Department ตามสัญญาซึ่งรวมถึงดำเนินการดับเพลิงใน 18 เมืองและ 1 เขตบริการชุมชน สถานีเหล่านี้ 9 แห่งเป็นของมลรัฐ ส่วนที่เหลือเป็นของหน่วยงานรัฐบาลท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง หน่วยนี้ดำเนินการศูนย์บัญชาการฉุกเฉินของตนเองใน Perris พื้นที่ที่ให้บริการรวมถึงเขตเมืองและชานเมืองของ Inland Empire และชุมชนในเขต Palm Springs พื้นที่ดังกล่าวรวมถึงภูเขาที่มีป่าไม้ลุ่มแม่น้ำโคโลราโดทะเลทรายโมฮาวีและทางหลวงระหว่างรัฐหมายเลข 10 เขต Marin (MRN), Kern (KRN), Santa Barbara (SBC), Ventura (VNC), Los Angeles (LAC) และ Orange (ORC) ได้รับเงินสนับสนุนจาก ‘CAL FIRE’ เพื่อจัดเตรียมการป้องกันอัคคีภัยให้กับพื้นที่รับผิดชอบของมลรัฐภายในเขตเทศมณฑลเหล่านั้น แทนที่จะให้ ‘CAL FIRE’ จัดหาการป้องกันอัคคีภัยโดยตรง และเป็นที่รู้จักกันทั่วไปในชื่อ “เขตสัญญาเทศมณฑล (Contract counties)”

‘CAL FIRE’ ใช้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศหลายระบบในการจัดการการดำเนินงาน อาทิ Altaris CAD ซึ่งเป็นระบบจัดส่งด้วยความช่วยเหลือของคอมพิวเตอร์ผลิตโดย Northrop Grumman ถูกใช้โดยศูนย์บัญชาการฉุกเฉิน (ECC) ของแต่ละหน่วย เพื่อติดตามทรัพยากรและงานที่ได้รับมอบหมาย ซึ่งทำได้โดยใช้ระบบระบุตำแหน่งยานพาหนะอัตโนมัติ (AVL) ซึ่งระบุตำแหน่งยานพาหนะ การสื่อสารข้อมูล และการจัดส่งผ่านเทอร์มินัลข้อมูลเคลื่อนที่ (MDT) และระบบสลับเครือข่ายหลายเครือข่ายในยานพาหนะมากกว่า 1,200 คันทั่วทั้งรัฐ หน่วยปฏิบัติการแต่ละหน่วยมีระบบแบบ stand alone ซึ่งรวมถึงข้อมูลที่อยู่และแผนที่โดยละเอียด

ในการดับไฟป่าและภารกิจที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ นั้น ‘CAL FIRE’ มีอากาศยานที่ใช้ในภารกิจรวม 70 ลำ ประกอบด้วยเครื่องบินโปรยน้ำ/สารเคมี 30 ลำ เครื่องบินตรวจการณ์ 16 ลำ และเฮลิคอปเตอร์อีก 24 ลำ ซึ่งอยู่ภายใต้การบริหารจัดการของโครงการบริหารจัดการการบิน (Aviation Management Program) โดยเมื่อมีความจำเป็น ‘CAL FIRE’ จะจัดเช่าอากาศยานเพิ่มเติม เครื่องบินทั้งหมดเป็นของ ‘CAL FIRE’ เอง แต่อยู่ภายใต้การบริหารจัดการและบำรุงรักษาโดย DynCorp International ซึ่งโครงการฯ นี้เป็นหนึ่งในโครงการปฏิบัติการทางอากาศของหน่วยงานพลเรือน (ที่ไม่ใช่ทางทหาร) ที่ใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ ประกอบด้วย เครื่องบินบรรทุกน้ำ/สารเคมี Grumman S-2 Tracker (S-2T) ขนาดความจุ 1,200 แกลลอน จำนวน 23 ลำ เครื่องบินบรรทุกน้ำ/สารเคมี Lockheed-Martin C-130H Hercules ขนาดความจุ 4,000 แกลลอน จำนวน 7 ลำ เครื่องบินตรวจการณ์ North American Rockwell OV-10 Bronco จำนวน 14 ลำ และ เฮลิคอปเตอร์ Bell UH-1H Super Huey จำนวน 12 ลำ ปัจจุบัน ‘CAL FIRE’ ได้เริ่มปฏิบัติการบินด้วย เฮลิคอปเตอร์ Sikorsky S-70i Firehawk รุ่นใหม่สำหรับการสนับสนุนการดับเพลิงทางอากาศ รวมถึงการทิ้งน้ำ/สารเคมีดับเพลิง และกำลังวางแผนที่จะจัดหาเฮลิคอปเตอร์รุ่นนี้ 12 ลำเพื่อทดแทนเฮลิคอปเตอร์ Bell UH-1H Super Huey ที่เก่ามากแล้ว

จากฐานปฏิบัติบิน 13 แห่งและฐานบินเฮลิคอปเตอร์ 10 แห่งของ ‘CAL FIRE’ ที่ตั้งอยู่ทั่วมลรัฐ เครื่องบินโปรยน้ำ/สารเคมีจะสามารถเข้าถึงจุดไฟไหม้ส่วนใหญ่ได้ภายในเวลา 20 นาที โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเวลาที่เกิดไฟป่า มีการใช้ทั้งเครื่องบินในการบินดับเพลิง และเฮลิคอปเตอร์ในการส่งเจ้าหน้าที่ดับเพลิง (Helitack) เข้าไปในพื้นที่ที่เกิดไฟไหม้ และโปรยน้ำและสารเคมีหน่วงไฟลงเพื่อดับไฟ เครื่องบินตรวจการณ์จะทำหน้าที่ในการสั่งการ สังเกตการณ์ และทิ้งสารเคมีหน่วงไฟลงบนพื้นที่เกิดไฟไหม้ด้วย ในอดีต ‘CAL FIRE’ เคยทำสัญญากับ 10 Tanker Air Carrier เพื่อเช่าใช้เครื่องบินดับเพลิงทางอากาศ McDonnell Douglas DC-10-10 (Tanker 911) เป็นเวลา 3 ปี โดยมีค่าใช้จ่าย 5 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี นอกจากนี้ยังมีการเช่าใช้เครื่องบินดับเพลิงทางอากาศ DC-10-30 เพิ่มเติม (Tanker 911 และ Tanker 912) ในปี 2014 Tanker 910 ได้ถูกปลดระวาง และทุกวันนี้ 10 Tanker Air Carrier ยังคงใช้เครื่องบินดับเพลิงทางอากาศแบบ DC-10-30 ในการปฏิบัติการดับไฟป่าให้ ‘CAL FIRE’

สำหรับบ้านเรา การป้องกันและดับไฟป่าเป็นภารกิจของหน่วยงานเจ้าของพื้นที่ ซึ่งจะมี 2 หน่วยงานได้แก่ กรมอุทยาน สัตว์ป่า และพันธุ์พืช (เขตพื้นที่ป่าเพื่อการอนุรักษ์) และกรมป่าไม้ (ป่าชุมชนและป่าไม้ในพื้นที่รับผิดชอบ) ทั้ง 2 กรมภายใต้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยมีหน่วยงานอื่น ๆ จากกระทรวงต่าง ๆ ให้การสนับสนุน อาทิ เหล่าทัพต่าง ๆ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย ฯลฯ แต่ทั้งนี้และทั้งนั้น การป้องกันไม่ให้เกิดไฟไหม้ป่าถือเป็น ‘หน้าที่’ ของชาวไทยทุกคน เพราะทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่อุดมสมบูรณ์ล้วนแล้วแต่เป็นสมบัติที่สำคัญของชาติ จึงถือว่าเป็นสมบัติส่วนรวมของพี่น้องประชาชนคนไทยทุกคนด้วย

หากมีความสงสัยว่า เหตุใดไฟป่าจึงรุนแรงขึ้น คำตอบอาจทำให้เราต้องประหลาดใจ แม้ว่า วิทยาศาสตร์จะแสดงให้เห็นว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นตัวทวีคูณภัยคุกคามที่เพิ่มความถี่และความรุนแรงของไฟป่า แต่มนุษย์ก็มีส่วนเป็นอย่างมากเช่นกัน ตัวอย่างเช่น ไฟป่าเกือบ 85% ในสหรัฐอเมริกาเกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ และหลายกรณีสามารถป้องกันได้ กิจกรรมในชีวิตประจำวันหลายอย่างก็อาจทำให้เกิดไฟไหม้ได้เช่นกัน สภาพอากาศที่อบอุ่นขึ้น ประวัติการดับเพลิง และปัจจัยอื่น ๆ ทำให้ไฟไหม้รุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ แต่หากเราอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มักเกิดภัยแล้งหรือไฟป่า เราสามารถช่วยป้องกันภัยธรรมชาติได้โดยปฏิบัติตามแนวทางด้านความปลอดภัยจากอัคคีภัยได้อย่างง่าย ๆ

วิธีการง่าย ๆ ในการป้องกันไฟไหม้ป่า

1. ไม่จุดพลุไฟ ในสภาพแวดล้อมที่ร้อนและแห้งแล้ง มีความเสี่ยงต่อการเกิดไฟป่ามาก เชื่อว่า ไฟป่าที่เกิดขึ้นในมลรัฐแคลิฟอร์เนียต้นเดือนที่ผ่านมาเกิดจากการจุดพลุไฟ

2. กำจัดวัสดุที่ใช้ในการสูบบุหรี่อย่างระมัดระวัง ทุกครั้งที่สูบบุหรี่ ให้ราดน้ำที่ก้นบุหรี่แล้วใส่ไว้ในภาชนะกันไฟเพื่อทิ้งอย่างปลอดภัยหลังจากแน่ใจว่าได้ดับไปแล้ว ไม่ว่าจะทำอะไรก็ตาม ไม่ทิ้งก้นบุหรี่ลงบนพื้น

3. ดูแลกองไฟที่จุดเองอย่างมีความรับผิดชอบ ก่อนจุดกองไฟหรือกองไฟ ให้แน่ใจว่าสภาพแวดล้อมปลอดภัยและไม่มีข้อห้ามจุดไฟในพื้นที่ เมื่อจุดไฟเสร็จแล้ว ให้ดับไฟและรอจนกว่าไฟจะเย็นลงจนสัมผัสได้ก่อนออกจากพื้นที่ตั้งแคมป์ อย่าปล่อยให้กองไฟติดอยู่โดยไม่มีผู้ดูแล

4. ตัดหญ้าก่อนเวลา 10.00 น. หากจำเป็นต้องตัดหญ้า ‘CAL FIRE’ แนะนำให้ทำตั้งแต่เนิ่น ๆ ก่อนที่อุณหภูมิจะถึงจุดสูงสุด แต่หากลมแรงและแห้งเกินไป ให้รอไว้ก่อนจนกว่าจะถึงวันถัดไป ในสภาวะเช่นนี้ ใบมีดโลหะใต้เครื่องตัดหญ้าอาจจุดไฟได้ง่ายหากไปโดนหิน

5. ตรวจสอบให้แน่ใจว่าท่อไอเสียของรถของคุณอยู่ในระดับที่เหมาะสม ตรวจสอบท่อไอเสียของรถ เลื่อยโซ่ยนต์ เครื่องเป่าใบไม้ ฯลฯ เพื่อให้แน่ใจว่ามีตัวป้องกันประกายไฟติดตั้งอยู่ ซึ่งจะช่วยป้องกันไม่ให้เครื่องยนต์ปล่อยเศษวัสดุที่ติดไฟได้ออกมา และอย่าลืมว่าท่อไอเสียรถยนต์อาจมีอุณหภูมิสูงเกิน 1,000 องศาได้!

6. ขับรถอยู่บนถนนเสมอ แม้การขับรถบนเส้นทางออฟโรดเป็นเรื่องสนุก แต่หากทำในพื้นที่ทุ่งหญ้าหรือพื้นที่ที่มีพุ่มไม้หนาทึบ อาจเกิดอันตรายถึงชีวิตได้ ควรขับบนถนนกรวดและยางมะตอย โดยเฉพาะในช่วงฤดูแล้ง ช่วงเวลาที่ดีที่สุดในการขับรถออฟโรดในพื้นที่เสี่ยงไฟไหม้ คือเมื่อพื้นดินเฉอะแฉะ เปียกฝน

7. คอยสังเกตเทียนอย่างใกล้ชิด เทียนไขอาจดูไม่เป็นอันตราย แต่เป็นสาเหตุหลักของไฟไหม้บ้าน โดยเปลวไฟสามารถลุกไหม้ได้สูงถึง 1,400 องศา! วิธีที่ดีที่สุดคือใส่เทียนไขในภาชนะที่แข็งแรงและไม่สามารถล้มได้ เช่น ขวดโหล และอย่าทิ้งเทียนไขไว้โดยไม่มีผู้ดูแล

8. สร้างและรักษาพื้นที่ป้องกันได้ หากท่านเป็นเจ้าของบ้าน ควรกำจัดต้นไม้ พุ่มไม้ และพืชพรรณต่าง ๆ  ที่ตายแล้วออกไปให้หมดภายในระยะ 100 ฟุตจากโครงสร้างทั้งหมด การทำเช่นนี้จะช่วยชะลอหรือหยุดการลุกลามของไฟป่าในชุมชนของท่าน นอกจากนี้ ยังช่วยปกป้องนักดับเพลิงในกรณีที่ต้องดับไฟรอบ ๆ บ้านของท่านอีกด้วย

9. การจัดภูมิทัศน์เพื่อป้องกันไฟป่า ด้วยปลูกพืชทนไฟ เช่น ลาเวนเดอร์ฝรั่งเศส เซจ และฟูเชียแคลิฟอร์เนีย ว่านหางจระเข้ ร็อคโรส และไอซ์แพลนเน็ต ฯลฯ ไว้ในการจัดสวน และอาจพัฒนาไปอีกขั้นด้วยการสร้างเขตกัน/ทนไฟ เช่น กำแพงหิน ลานบ้าน ดาดฟ้า ฯลฯ

10. การฟื้นฟูพื้นที่ที่เคยเกิดไฟป่า และสุดท้าย  การสนับสนุนในการฟื้นฟูพื้นที่ที่เคยเกิดไฟไหม้ในอดีตถือเป็นวิธีสำคัญในการลดโอกาสหรือความรุนแรงของไฟไหม้ในอนาคต อาทิ โครงการอนุรักษ์ที่เกี่ยวข้องกับการปลูกพันธุ์ไม้ที่สามารถป้องกัน/ต้านทานไฟป่าได้


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top