‘กบฏบวรเดช’ ประวัติศาสตร์ที่ต้องมองให้รอบด้าน!! หลังมีนักวิชาการ สร้างความเชื่อที่ผิด ทำลายข้อเท็จจริง
‘กบฏบวรเดช’ ประวัติศาสตร์ที่ต้องมองรอบด้าน
ในวงสนทนาทางวิชาการบางท่าน...ก็ มีผู้พยายามแสดงความเห็นว่า "...การพ่ายแพ้ของกบฏบวรเดชในปี 2476 คือจุดเริ่มต้นที่ทำให้ประชาธิปไตยในประเทศไทยตั้งมั่นอย่างมั่นคง.."
นี่คือแนวคิดที่ข้าพเจ้าขอทักท้วง ....
เพราะการมองว่าฝ่ายรัฐบาลในขณะนั้นเป็น "ผู้พิทักษ์ประชาธิปไตย" และฝ่ายบวรเดชเป็น 'ผู้ทำลาย' เป็นการลดทอนความซับซ้อนของบริบทและข้อเท็จจริงในช่วงเวลานั้น
เพื่อให้เข้าใจบริบทของเหตุการณ์นี้อย่างถ่องแท้ เรา จำเป็นต้องย้อนกลับไปพิจารณาภาพรวมของการได้มาซึ่งประชาธิปไตยในสังคมไทย และความสัมพันธ์ระหว่างผู้มีบทบาทสำคัญในช่วงเวลานั้น
การเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 นำโดยกลุ่มคณะผู้ก่อการ เปลี่ยนแปลงการปกครอง ซึ่งรวมถึงบุคคลสำคัญเช่น พระยาพหลพลพยุหเสนา พระยาทรงสุรเดช พระยาฤทธิอัคเนย์ และ พระประศาสน์พิทยายุทธ ...อีกทั้งยังต้องนับรวมไปถึงพระองค์เจ้าบวรเดชอีกด้วย นะครับ!!!
บุคคลเหล่านี้ส่วนใหญ่มีแนวคิดอยากเปลี่ยนแปลงประเทศไทยไปสู่ระบบรัฐธรรมนูญที่คล้ายคลึงกับประเทศอังกฤษ ซึ่งมีการถ่วงดุลอำนาจระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์และประชาชน อย่างไรก็ตาม แนวทางนี้กลับถูกสั่นคลอนเมื่อแนวคิดของของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม(อาจารย์ปรีดี พนมยงค์ )ซึ่งนำเสนอระบบที่ใกล้เคียงกับลัทธิคอมมิวนิสต์ เริ่มก่อตัวขึ้นในช่วงเดียวกัน ช่วงชิงการนำในวันปฏิวัติ เกิดเป็นประกาศคณะราษฎรฉบับที่ 1 นั่นเอง
ความขัดแย้งเริ่มปรากฏชัดเจนขึ้นเมื่อรัชกาลที่ 7 ทรงทักท้วงแนวทางการร่างรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวของอาจารย์ปรีดีและแสดงความกังวลในเอกสาร ‘สมุดปกเหลือง’ ทรงเห็นว่าระบบที่กำลังจะเกิดขึ้นอาจไม่เหมาะสมกับประเทศไทยที่ยังขาดความเข้าใจเกี่ยวกับประชาธิปไตยและสิทธิหน้าที่ของพลเมือง ข้อทักท้วงเหล่านี้กลับสร้างความตึงเครียดระหว่างกลุ่มผู้นำของคณะราษฎร และแบ่งแยกมุมมองระหว่างทหารและประชาชน จะเห็นได้ว่าคณะราษฎรใน ณ ที่นี้ จะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มคือกลุ่มที่มีแนวความคิดแบบอังกฤษ กับอีกกลุ่มนึงมีแนวความคิดแบบที่นำลัทธิคอมมิวนิสต์เข้ามาประยุกต์ใช้
ในตอนที่เหตุการณ์การก่อกบฏของพระองค์เจ้าบวรเดชเกิดขึ้นนั้น...
คณะบวรเดชเกิดขึ้นจากกลุ่มผู้นำทหารที่ไม่พอใจกับแนวทางการบริหารของคณะราษฎร นำโดยพระองค์เจ้าบวรเดชและพระยาศรีสิทธิสงคราม ซึ่งมองว่ารัฐบาลในขณะนั้นเริ่มละเลยหลักการที่ควรจะสนับสนุนสถาบันพระมหากษัตริย์ในฐานะผู้ประสานงานแห่งชาติ แต่อย่างไรก็ตาม ฝ่ายคณะราษฎรและฝ่ายคณะบวรเดช ทั้งสองฝ่ายต่างอ้างสิทธิ์ในนามของพระเจ้าแผ่นดินเพื่อสร้างความชอบธรรมในการเคลื่อนไหวของตน
การสู้รบที่เกิดขึ้นกลายเป็นสงครามกลางเมืองในท้ายที่สุดส่งผลให้ฝ่ายรัฐบาลเป็นผู้ชนะ แต่ความสูญเสียในครั้งนี้มิได้จำกัดอยู่เพียงในแง่ชีวิตและทรัพย์สิน แต่ยังส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อความเชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตยในสังคมไทย ความขัดแย้งภายในและการต่อสู้ที่อ้างประชาธิปไตยกลับกลายเป็นปัจจัยที่ทำให้สังคมไทยล้าหลังในเรื่องนี้
ฝ่ายที่ชนะใช้เงื่อนไขที่ชนะกดดันรัชกาลที่ 7 ให้พระองค์ทรงรับผิดชอบกับการกระทำของฝ่ายกบฏโดยอ้างว่าพวกเขาได้รับการสนับสนุน จากสถาบันฯ ทั้งที่ความเป็นจริงแล้วทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายบวรเดชก็ล้วนเป็นคนสนิทของรัชกาลที่ 7 ทั้งนั้น กลับไม่มีใครฟังพระองค์เลย...
‘บทเรียนจากอดีต’
เหตุการณ์กบฏบวรเดชไม่ได้เป็นเพียงความขัดแย้งทางการเมือง แต่ยังสะท้อนถึงรากเหง้าของปัญหาที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองที่เร่งรัดเกินไป โดยขาดการเตรียมพร้อมและความเข้าใจร่วมกันในสังคม ความพยายามของทั้งฝ่ายคณะราษฎรและฝ่ายบวรเดชล้วนมีเป้าหมายเพื่อปกป้องชาติในแนวทางที่แตกต่าง แต่การเดินทางสู่ประชาธิปไตยที่แท้จริงกลับถูกบิดเบือนด้วยความขัดแย้งและการแย่งชิงอำนาจ
บทเรียนสำคัญจากเหตุการณ์นี้คือ ประชาธิปไตยไม่สามารถตั้งมั่นได้ด้วยชัยชนะทางการทหารหรือการใช้ความรุนแรงต่อฝ่ายตรงข้าม แต่ต้องเกิดจากความร่วมมือและการสร้างความเข้าใจที่ลึกซึ้งในหมู่ประชาชน การละเลยเสียงของผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ เช่น รัชกาลที่ 7 ซึ่งทรงพยายามเตือนถึงความเสี่ยงของความแตกแยกในสังคม กลายเป็นสัญญาณเตือนถึงความล้มเหลวของการบริหารในเวลานั้น
การมองเหตุการณ์กบฏบวรเดชในมิติเดียวว่าเป็น ‘ชัยชนะของประชาธิปไตย’ อาจทำให้เราพลาดโอกาสที่จะเข้าใจความซับซ้อนของปัญหาในเชิงโครงสร้างที่ยังคงส่งผลกระทบต่อการเมืองไทยจนถึงปัจจุบัน อดีตไม่ได้มีไว้เพื่อโต้แย้งหรือกล่าวโทษ แต่มีไว้เพื่อเรียนรู้และหลีกเลี่ยงความผิดพลาดในอนาคต หากเราต้องการประชาธิปไตยที่แท้จริง เราต้องฟังและเข้าใจเสียงของทุกฝ่ายในสังคม เพื่อสร้างอนาคตที่สมดุลและยั่งยืน
เรื่อง : ปราชญ์ สามสี