Tuesday, 22 April 2025
Columnist

จดหมายจาก ‘แกรนด์ดยุกอดอล์ฟ’ แห่งลักเซมเบิร์กสู่บางกอก ร่องรอยแห่งมิตรภาพข้ามทวีปในยุคสมัย ‘รัชกาลที่ 5’

(21 เม.ย. 68) เพจเฟซบุ๊ก ปราชญ์ สามสี เผยแพร่เรื่องราวน่าทึ่งจากประวัติศาสตร์ซึ่งเชื่อมโยงโลกตะวันตกกับสยามในยุครัชกาลที่ 5 ผ่านจดหมายจากแกรนด์ดยุกอดอล์ฟแห่งลักเซมเบิร์กถึงกรุงเทพฯ โดยมีผู้รับคือ “F. Grahlert” ช่างอัญมณีหลวงผู้มีบทบาทสำคัญในการออกแบบและสร้างเครื่องราชูปโภคให้กับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ในปี ค.ศ. 1906 (พ.ศ. 2449) โปสการ์ดตอบกลับจากแกรนด์ดยุกอดอล์ฟแห่งลักเซมเบิร์ก ถูกส่งข้ามทวีปมายังชายฝั่งบางกอก โดยมีปลายทางคือบริษัท “F. Grahlert & Co.” - ช่างอัญมณีผู้ได้รับการแต่งตั้งอย่างเป็นทางการให้ดูแลเครื่องราชูปโภคของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 แห่งสยาม

โปสการ์ดดังกล่าวลงวันที่ 7 กรกฎาคม ค.ศ. 1906 จากเมืองลักเซมเบิร์ก และเดินทางถึงกรุงเทพฯ ในวันที่ 8 สิงหาคมของปีเดียวกัน นี่ไม่ใช่เพียงแค่หลักฐานทางไปรษณีย์ แต่เป็นหน้าต่างที่เปิดให้เรามองเห็นโลกแห่งความสัมพันธ์ระหว่างราชสำนักสยามกับโลกตะวันตกผ่านเส้นทางการค้าและศิลปะ

ตามบันทึกในหนังสือ Twentieth Century Impressions of Siam (1908) โดย Arnold Wright และ Oliver T. Breakspear F. Grahlert ได้เดินทางเข้ามายังกรุงเทพฯ ประมาณปี ค.ศ. 1890 ในฐานะช่างอัญมณีหลวง ก่อนจะเปิดร้านของตนเองใกล้พระบรมมหาราชวัง ซึ่งถือเป็นร้านจำหน่ายและออกแบบเครื่องประดับแห่งแรกของกรุงเทพฯ ในสไตล์ยุโรป

Grahlert ไม่เพียงแต่รับใช้ราชสำนักเท่านั้น แต่ยังมีช่างฝีมือชาวไทยมากกว่า 50 คนในร้าน ซึ่งสามารถรังสรรค์เครื่องประดับทองและเงินด้วยศิลปะที่ประณีต ทั้งในแบบไทยดั้งเดิมและแบบตะวันตก งานของ Grahlert ได้รับการยอมรับว่าเป็นที่สุดของความวิจิตรในยุคนั้น

ความสัมพันธ์ระหว่างราชสำนักสยามกับ Grahlert ไม่ใช่เพียงเรื่องของเครื่องประดับหรือสินค้าแฟชั่น หากแต่คือความไว้วางใจระดับสูงสุด ในการรังสรรค์สัญลักษณ์แห่งพระราชอำนาจ - ไม่ว่าจะเป็นมงกุฎ พานทอง หรือเครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่ต้องใช้ในพระราชพิธีต่าง ๆ

วันนี้ อาคารร้าน F. Grahlert ได้เลือนหายไปตามกาลเวลา แต่โปสการ์ดจากแกรนด์ดยุกอดอล์ฟ ในนามแห่งยุโรป กลับยังเป็นหลักฐานสำคัญที่ยืนยันว่าครั้งหนึ่ง ช่างอัญมณีจากต่างแดนได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของราชสำนักไทย และฝากร่องรอยศิลปะไว้ในประวัติศาสตร์แห่งรัชกาลที่ 5 อย่างงดงาม

“อัญมณีไม่ได้เป็นเพียงเครื่องประดับ หากเป็นความศรัทธาที่ร้อยเรียงความสัมพันธ์ระหว่างสยามกับโลก” — ปราชญ์ สามสี

การยึดกิจการ ‘Glavprodukt’ ของรัสเซีย สู่หมุดหมายการจัดเสบียงในสงครามอย่างเพียงพอ

(21 เม.ย. 68) ในช่วงต้นปี ค.ศ. 2025 รัฐบาลรัสเซีย โดยคำสั่งของประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินได้ประกาศยึดกิจการของบริษัท Glavprodukt «Главпродукт» ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ผลิตอาหารกระป๋องรายใหญ่ที่สุดของประเทศ โดยให้เหตุผลด้าน "ความมั่นคงทางเศรษฐกิจและความมั่นคงของชาติ" ในบริบทของสงครามยูเครนและการเผชิญหน้ากับกลุ่มประเทศตะวันตก แม้ว่า Glavprodukt จะมีฐานการผลิตหลักอยู่ในรัสเซียและดำเนินธุรกิจมานานหลายสิบปี แต่บริษัทถูกระบุว่ามีความเกี่ยวข้องกับโครงสร้างการลงทุนของต่างชาติ โดยเฉพาะจากกลุ่มนักลงทุนที่มีถิ่นฐานในสหรัฐอเมริกา รัฐบาลรัสเซียจึงอ้างอำนาจตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมทรัพย์สินของ "รัฐที่ไม่เป็นมิตร" (unfriendly states) ซึ่งผ่านการแก้ไขในช่วงหลังปี ค.ศ. 2022 เพื่อยึดกิจการและทรัพย์สินของต่างชาติที่อาจส่งผลต่อความมั่นคงของประเทศ

การดำเนินการครั้งนี้เกิดขึ้นพร้อมกับการประกาศใช้ Glavprodukt เป็นฐานการจัดหาเสบียงให้กับกองทัพรัสเซียในแนวหน้าโดยเฉพาะในยูเครนตะวันออก การเคลื่อนไหวดังกล่าวจึงถูกมองว่าเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนผ่านระบบเศรษฐกิจของรัสเซียเข้าสู่รูปแบบ “เศรษฐกิจสงคราม” ที่รัฐมีบทบาทสูงในการควบคุมการผลิตสินค้าเชิงยุทธศาสตร์ ในขณะเดียวกันฝ่ายตะวันตกโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาได้แสดงความไม่พอใจต่อการกระทำดังกล่าวโดยมองว่าเป็นการละเมิดสิทธิ์ในทรัพย์สินของนักลงทุน และอาจนำไปสู่ความขัดแย้งทางเศรษฐกิจที่ลึกขึ้นในระดับพหุภาคี

Glavprodukt «Главпродукт» เป็นหนึ่งในบริษัทผลิตอาหารกระป๋องและอาหารแปรรูปรายใหญ่ของรัสเซียก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1991 หลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียต โดยสืบทอดโรงงานและสายการผลิตจากระบบเศรษฐกิจแบบวางแผนกลางเดิมของโซเวียต บริษัทมีฐานการผลิตหลักอยู่ในกรุงมอสโกและแคว้นใกล้เคียง และได้พัฒนาเทคโนโลยีการผลิตอาหารกระป๋องและอาหารสำเร็จรูปจนกลายเป็นหนึ่งในแบรนด์ที่ได้รับความนิยมในตลาดรัสเซียและประเทศในเครืออดีตสหภาพโซเวียต โดย Glavprodukt มีชื่อเสียงจากผลิตภัณฑ์อาหารประเภทเนื้อกระป๋อง (Stewed meat) «тушёнка»  นมข้นหวาน (Condensed milk) «сгущёнка» และอาหารประเภทซุป (Soups) อาหารพร้อมรับประทาน (ready-to-eat meals) รวมถึงซีเรียล (cereals) ในช่วงทศวรรษที่ 2000 บริษัทเริ่มเปิดรับการลงทุนจากต่างประเทศผ่านกองทุนที่มีความเชื่อมโยงกับนักลงทุนจากยุโรปและสหรัฐอเมริกา ซึ่งในภายหลังกลายเป็นหนึ่งในประเด็นที่ถูกหยิบยกขึ้นมาเมื่อรัฐบาลรัสเซียต้องการแทรกแซงการบริหารกิจการ

หลังการรุกรานยูเครนในปี ค.ศ. 2022 และมาตรการคว่ำบาตรจากชาติตะวันตกกลุ่มธุรกิจอาหารรวมถึง Glavprodukt ได้รับบทบาทใหม่ในฐานะผู้จัดหาเสบียงให้กับหน่วยงานความมั่นคงและกองทัพรัสเซีย รัฐจึงเข้ามามีบทบาทควบคุมมากขึ้น โดยเฉพาะหลังปี ค.ศ. 2023 ที่มีการเร่งฟื้นระบบเศรษฐกิจแบบพึ่งพาตนเอง (self-reliance) ภายใต้นโยบาย “เศรษฐกิจแห่งอธิปไตย” «суверенная экономика» ในปี ค.ศ. 2025 รัฐบาลรัสเซียได้ประกาศยึดกิจการของ Glavprodukt อย่างเป็นทางการ โดยให้เหตุผลว่าบริษัทมีทรัพยากรสำคัญต่อความมั่นคงของชาติและไม่ควรอยู่ภายใต้การควบคุมของนักลงทุนต่างชาติ โดยเฉพาะจาก "ประเทศที่ไม่เป็นมิตร"«недружественные государства»  

สถานการณ์ดังกล่าวไม่ได้เป็นเพียงแค่การยึดกิจการของบริษัทเอกชนที่มีประวัติยาวนานในรัสเซียเท่านั้น แต่ยังสะท้อนถึงความเปลี่ยนแปลงในยุทธศาสตร์ความมั่นคงและการเตรียมพร้อมสำหรับการต่อสู้ในสงครามที่ยาวนานขึ้น โดยเฉพาะการจัดหาสินค้าสำคัญสำหรับการเสริมสร้างเสบียงกองทัพรัสเซียในช่วงเวลาสงคราม ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดของนักวิชาการหลายท่าน เช่น แดเนียล ฟรีดริช ลิสต์ (Daniel Friedrich List, 1841) นักเศรษฐศาสตร์ชาวเยอรมันที่มองว่า “รัฐควรปกป้องเศรษฐกิจในยามวิกฤตเพื่ออธิปไตยแห่งชาติ” โดยเฉพาะมุมมองของเคนเนธ เอ็น. วอลทซ์ (Kenneth N. Waltz, 1979) ศาสตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยโคลัมเบียผู้คิดค้นและพัฒนาแนวคิดสัจนิยมใหม่ (Neorealism) ที่มองว่าความมั่นคงไม่อาจแยกออกจากเศรษฐกิจ — เศรษฐกิจที่ถูกควบคุมได้ คือ “อาวุธเชิงยุทธศาสตร์” ในทฤษฎี Neorealism ของวอลทซ์ รัฐถือเป็นผู้เล่นหลัก (primary actors) ในระบบระหว่างประเทศที่ไร้ศูนย์กลาง (anarchic structure) ซึ่งการอยู่รอด (survival) คือเป้าหมายสูงสุดของรัฐทุกแห่ง นั่นหมายความว่า ทุกกลไกภายในรัฐต้องถูกจัดสรรเพื่อสนับสนุน “อำนาจแห่งรัฐ” (power of the state) ในกรอบนี้เศรษฐกิจไม่ได้ถูกมองว่าเป็นระบบอิสระเชิงตลาดเท่านั้น แต่สามารถเป็น “เครื่องมือของอำนาจรัฐ” (instrument of state power) ได้ หากรัฐสามารถควบคุมมันได้อย่างมีประสิทธิภาพ

การที่รัสเซียเข้ายึดครองกิจการของ Glavprodukt ซึ่งเดิมมีสถานะเป็นกิจการเอกชน (และเคยมีการลงทุนหรือถือหุ้นโดยนักธุรกิจต่างชาติหรือผู้มีความเกี่ยวข้องกับสหรัฐฯ) ถือเป็นตัวอย่างของการ "ทำให้รัฐควบคุมห่วงโซ่อุปทานอาหารเชิงยุทธศาสตร์" อย่างสมบูรณ์ การยึดกิจการเช่น Glavprodukt เป็นหนึ่งในแนวทางการ “ระดมทรัพยากรพลเรือนเพื่อสนับสนุนการทำสงคราม” หรือที่ในรัสเซียเรียกว่า “การวางแผนการระดมกำลังในยามสงคราม” «военное мобилизационное планирование» แนวโน้มของการทหารควบคุมพลเรือน (military-civilian fusion) แนวคิดนี้เกิดขึ้นในบริบทของสงครามยืดเยื้อที่รัฐต้องอาศัยทรัพยากรของภาคเอกชน เช่น โรงงานอาหาร, คลังสินค้า, ระบบขนส่งเพื่อหนุนภารกิจของกองทัพ ในขณะที่การควบคุมทรัพย์สินภาคเอกชนในนามของ “ความมั่นคงแห่งชาติ” กลายเป็นวิธีหนึ่งในการตอบโต้การคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจจากตะวันตกและสร้าง “เศรษฐกิจสงคราม” ภายในประเทศ

ยุทธศาสตร์รัฐนิยมทางเศรษฐกิจที่ดึงกิจการอาหารรายใหญ่เข้าสู่การควบคุมโดยรัฐสะท้อนแนวทางเศรษฐกิจที่มุ่งสู่ “รัฐควบคุมยุทธศาสตร์หลัก” โดยเฉพาะในช่วงสงคราม โดยหลังการยึดครองมีรายงานว่า Glavprodukt อยู่ภายใต้การกำกับของหน่วยงานด้านการส่งกำลังบำรุงของกองทัพ «Минобороны» หรืออาจอยู่ภายใต้การควบคุมร่วมกับกระทรวงเกษตรหรือหน่วยงานภาคอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ «ОПК» 
ซึ่งลักษณะดังกล่าวคล้ายกับสหภาพโซเวียตซึ่งเคยมีระบบโรงงานอาหาร “รัฐวิสาหกิจ” ที่ผลิตอาหารเฉพาะสำหรับทหาร เช่น в/ч 83130  หรือจีนที่มีระบบ “บริษัทอาหารกึ่งทหาร” ภายใต้การควบคุมของกองทัพปลดปล่อยประชาชน ในขณะที่สหรัฐฯ การผลิต MRE (Meals Ready to Eat) มีบริษัทเอกชนเช่น Sopakco, Wornick Group แต่สัญญาผลิตถูกควบคุมโดยรัฐบาลกลาง ในยูเครนยูเครนมีการประสานงานกับผู้ผลิตท้องถิ่นเพื่อผลิตอาหารให้ทหารแนวหน้าโดยได้รับการสนับสนุนจากภาคประชาชน

Glavprodukt มีสายการผลิตอาหารกระป๋องประเภทโปรตีน เช่น เนื้อวัวกระป๋อง, สตูว์, ซุป และอาหารพร้อมรับประทาน (ready-to-eat meals) ซึ่งเหมาะสมกับระบบโลจิสติกส์ของกองทัพรัสเซียที่ต้องการอาหารคงทนและสะดวกในสนามรบ โดยมีการปรับสูตรหรือบรรจุภัณฑ์ให้ตรงตามมาตรฐานทหาร เช่น บรรจุในภาชนะทนแรงกระแทกหรือพร้อมเปิดในภาคสนาม โรงงานของ Glavprodukt กลายเป็นฐานผลิตเสบียงหลักให้กับกองทัพรัสเซียในแนวรบยูเครน โดยมีรายงานว่ามีคำสั่งผลิตล่วงหน้าเพื่อสำรองเป็นคลังยุทธปัจจัย (mobilization reserve)

การยึด Glavprodukt จึงเป็นการเปลี่ยนผ่านสู่ยุทธศาสตร์ความมั่นคงทางอาหารของรัสเซีย โดยมีรายละเอียดดังนี้

1) จากการผลิตเพื่อผู้บริโภคทั่วไปสู่การเสริมสร้างเสบียงทางทหาร
เมื่อรัฐบาลรัสเซียเข้าควบคุมกิจการของ Glavprodukt บริษัทที่เดิมเน้นการผลิตอาหารกระป๋องและอาหารแปรรูปสำหรับผู้บริโภคทั่วไปกลับต้องปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การผลิตเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของกองทัพรัสเซีย โดยเฉพาะในยุคที่ประเทศกำลังเผชิญกับสงครามในยูเครนและมาตรการคว่ำบาตรจากชาติตะวันตก ผลิตภัณฑ์ของ Glavprodukt เช่น stewed meat «тушёнка»  และซุปกระป๋อง «консервы» ซึ่งเป็นอาหารที่มีอายุการเก็บรักษานานได้กลายเป็นเสบียงหลักสำหรับทหารในพื้นที่สงคราม การเปลี่ยนผ่านจากการผลิตอาหารสำหรับประชาชนทั่วไปสู่การผลิตเสบียงทางทหารเป็นการตอบสนองอย่างชัดเจนต่อนโยบายของรัฐบาลรัสเซียในการจัดหาทรัพยากรที่จำเป็นในสงคราม

2) ยุทธศาสตร์ความมั่นคงทางเศรษฐกิจและการพึ่งพาตนเอง
การเข้ามาควบคุมกิจการของ Glavprodukt โดยรัฐบาลรัสเซียไม่เพียงแค่การสนับสนุนการผลิตเสบียงสำหรับกองทัพเท่านั้น แต่ยังเกี่ยวข้องกับยุทธศาสตร์ความมั่นคงทางเศรษฐกิจในระยะยาวที่มุ่งเน้นการพึ่งพาตนเอง (self-reliance) ท่ามกลางมาตรการคว่ำบาตรที่ส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตอาหารและเสบียงทหารในรัสเซีย นอกจากนี้ยังเป็นการปรับเปลี่ยนระบบการจัดหาผลิตภัณฑ์จากต่างประเทศให้เป็นระบบภายในประเทศ โดย Glavprodukt กลายเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารของรัสเซีย ซึ่งทำให้สามารถรักษาความมั่นคงของเสบียงและลดการพึ่งพาการนำเข้าจากประเทศตะวันตก

3) การป้องกันผลกระทบจากมาตรการคว่ำบาตร
การยึด Glavprodukt ยังสะท้อนถึงความพยายามของรัฐบาลรัสเซียในการป้องกันผลกระทบจากมาตรการคว่ำบาตรที่ส่งผลต่อการดำเนินงานของบริษัทต่างชาติในรัสเซีย โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมอาหารและการจัดหาผลิตภัณฑ์ที่สำคัญสำหรับภาคทหารและภาคการผลิตทั่วไป การลดการพึ่งพาผลิตภัณฑ์จากต่างประเทศทำให้ Glavprodukt สามารถพัฒนาการผลิตอาหารภายในประเทศได้มากขึ้น โดยไม่ต้องพึ่งพา
ซัพพลายเออร์จากประเทศที่ "ไม่เป็นมิตร" ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในยุทธศาสตร์การรักษาความมั่นคงของรัสเซีย

4) การควบคุมเศรษฐกิจสงครามและการจัดหาทรัพยากร
การยึด Glavprodukt ยังเป็นส่วนหนึ่งของการควบคุมเศรษฐกิจในช่วงสงครามที่รัฐบาลรัสเซียพยายามจัดสรรทรัพยากรไปยังพื้นที่ที่สำคัญที่สุด เช่น กองทัพและการสนับสนุนการดำเนินการทางทหาร โดย Glavprodukt ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการผลิตเสบียงทหาร จึงได้รับความสำคัญสูงสุดในแผนการจัดหาทรัพยากรของรัฐ

5) มุมมองในระดับภูมิรัฐศาสตร์
การยึดกิจการของ Glavprodukt ยังเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงในภูมิรัฐศาสตร์ของรัสเซียในยุคปัจจุบัน ที่มุ่งเน้นการรักษาความมั่นคงทั้งทางทหารและเศรษฐกิจ ท่ามกลางการปะทะกับประเทศตะวันตก การควบคุมกิจการสำคัญ เช่น Glavprodukt ที่ผลิตอาหารสำคัญสำหรับการทำสงคราม กลายเป็นการแสดงออกถึงการสร้างอำนาจของรัฐในภาวะที่เศรษฐกิจตกต่ำและมีการคว่ำบาตรจากภายนอก

ผลกระทบของการยึดกิจการของ Glavprodukt
1) ผลกระทบต่ออุตสาหกรรมอาหารภายในประเทศ การเข้ายึดกิจการ Glavprodukt ไม่ได้เป็นเพียงการเพิ่มศักยภาพด้านเสบียงให้กับกองทัพ แต่ยังส่งผลเป็นลูกโซ่ต่อระบบอุตสาหกรรมอาหารทั้งระบบ ได้แก่ 1) การควบรวมทรัพยากร การที่รัฐเข้ายึดโรงงานอาหารรายใหญ่ทำให้เกิดการควบคุมห่วงโซ่อุปทานในระดับสูง ตั้งแต่วัตถุดิบ (เนื้อสัตว์ พืชผัก) ไปจนถึงกระบวนการผลิต บรรจุภัณฑ์ และการกระจายสินค้า 
2) กระทบการแข่งขัน ผู้ประกอบการรายย่อยในอุตสาหกรรมอาหารอาจเผชิญการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมกับรัฐ เนื่องจากรัฐสามารถเข้าถึงทรัพยากรและการสนับสนุนด้านโลจิสติกส์ที่เหนือกว่า 3) อุปสงค์พิเศษในช่วงสงครามเมื่ออุปสงค์สำหรับการจัดหาอาหารกองทัพพุ่งสูงขึ้น อุตสาหกรรมอาหารภาคพลเรือนอาจถูกเบียด ส่งผลต่อราคาสินค้าและความมั่นคงด้านอาหารของประชาชน

4) ผลกระทบต่อการจัดการกับบริษัทต่างชาติในบริบทสงคราม Glavprodukt เคยมีผู้ถือหุ้นสัญชาติอเมริกันหรือกลุ่มทุนที่มีความเกี่ยวข้องกับตะวันตก การยึดครองกิจการจึงสะท้อนกลยุทธ์ของรัสเซียในการจัดการ “ทรัพย์สินศัตรู” หรือ “ทรัพย์สินที่ไม่เป็นมิตร” «недружественные активы» รัสเซียได้วางหลักการต่าง ๆ เกี่ยวกับกรณีนี้เอาไว้ภายใต้กฎหมายฉุกเฉิน (เช่น «Указ Президента РФ №302/2023»)   รัฐสามารถเข้ายึดกิจการของบริษัทต่างชาติที่ “ถอนตัว” จากรัสเซีย หรือที่ “คุกคามความมั่นคงของชาติ”นอกจากนี้รัสเซียยังมีการตอบโต้การคว่ำบาตรซึ่งเป็นการ “ตอบโต้กลับ” ทางเศรษฐกิจต่อการคว่ำบาตรของตะวันตก โดยใช้วิธี mirror sanctions หรือการยึดทรัพย์สินบริษัทต่างชาติ ส่งผลกระทบต่อนักลงทุนทำให้บรรยากาศการลงทุนในรัสเซียยิ่งตึงเครียด นักลงทุนต่างชาติที่ยังคงอยู่ในรัสเซียอาจต้องเลือก “ทำงานร่วมกับรัฐ” หรือยอม “ถอนตัวโดยเสียทรัพย์สิน”

5) เป็นการส่งสัญญาณทางภูมิรัฐศาสตร์โดยการใช้รัฐเป็นเครื่องมือเศรษฐกิจในภาวะสงคราม
การยึดกิจการอาหารกระป๋องอย่าง Glavprodukt ไม่ใช่เพียงการเคลื่อนไหวภายในประเทศ แต่เป็นการส่ง “สัญญาณทางภูมิรัฐศาสตร์” อย่างชัดเจนไปยังตะวันตก แสดงให้เห็นถึงรัฐเป็นเครื่องมือสงครามทางเศรษฐกิจ (Economic Warfare) โดยรัสเซียใช้รัฐเป็นกลไกควบคุมทรัพยากรยุทธศาสตร์ ตอบโต้การคว่ำบาตร และสร้าง “เศรษฐกิจแบบปิดล้อม” (Autarky) เพื่อเสริมความมั่นคงให้กับรัฐ โดยรัสเซียมีแนวทางหลัก 3 ประการ ได้แก่ 1) ยึดกิจการต่างชาติและเปลี่ยนการควบคุมไปสู่รัฐ 2) พัฒนาผลิตภัณฑ์ในประเทศแทนสินค้าเทคโนโลยีตะวันตก และ 3) ใช้ระบบการเงินทางเลือก เช่น การซื้อขายพลังงานด้วยรูเบิลหรือเงินหยวน 
การยึดบริษัท Glavprodukt ยังบ่งชี้ว่า รัสเซียพร้อม “ใช้เศรษฐกิจเป็นอาวุธ” เช่นเดียวกับที่ตะวันตกใช้ระบบการเงินและการค้าเป็นเครื่องมือควบคุมนอกจากนี้ยังการสร้างแนวร่วมทางเศรษฐกิจใหม่โดยรัสเซียอาจเชื่อมต่อ Glavprodukt กับตลาดในกลุ่ม BRICS หรือ SCO เช่น ส่งอาหารให้จีน อิหร่าน หรือประเทศแอฟริกาเพื่อลดการพึ่งพาตะวันตก

บทสรุป
กรณีการเข้ายึดกิจการบริษัท Glavprodukt โดยรัฐรัสเซียมิได้เป็นเพียงการเคลื่อนไหวในเชิงอุตสาหกรรมอาหารเท่านั้นแต่ยังสะท้อนถึงยุทธศาสตร์ที่ลึกซึ้งกว่านั้น ซึ่งครอบคลุมทั้งมิติทางเศรษฐกิจ ความมั่นคง และภูมิรัฐศาสตร์ในบริบทของสงครามยืดเยื้อกับตะวันตก ในระดับภายในการผนวกกิจการของภาคเอกชนเข้าสู่โครงสร้างของรัฐช่วยให้รัสเซียสามารถควบคุมระบบเสบียงของกองทัพได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกันก็ส่งผลกระทบต่อตลาดภาคพลเรือน ทั้งในแง่การแข่งขันและเสถียรภาพด้านอาหาร โดยเฉพาะในบริบทของเศรษฐกิจที่ถูกคว่ำบาตรอย่างหนัก ในระดับระหว่างประเทศการเข้ายึด Glavprodukt เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ตอบโต้ตะวันตกผ่านการใช้ “เศรษฐกิจเป็นเครื่องมือของรัฐ” ซึ่งสะท้อนการเปลี่ยนแปลงทิศทางของนโยบายเศรษฐกิจรัสเซียที่เน้นการพึ่งตนเอง การตัดขาดจากทุนต่างชาติ และการสร้างพันธมิตรทางเศรษฐกิจใหม่ในกลุ่มประเทศไม่ฝักใฝ่ตะวันตก กล่าวโดยสรุป กรณีของ Glavprodukt ชี้ให้เห็นว่า “อาหาร” ไม่ได้เป็นเพียงปัจจัยสี่สำหรับประชาชนเท่านั้น แต่ยังกลายเป็น “อาวุธยุทธศาสตร์” ในการต่อรอง สู้รบ และรักษาอธิปไตยในยุคที่สงครามถูกขยายออกจากสนามรบสู่สนามเศรษฐกิจและการทูต

เมื่อ ‘เวลา’ กลายเป็นของขวัญที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ก่อเกิดเมล็ดพันธุ์แห่งน้ำใจที่มนุษย์จะมอบให้แก่กัน

ในโลกยุคที่ผู้คนต่างเร่งรีบแข่งขันกันกับเวลา 'เวลา' กลายเป็นสิ่งล้ำค่าที่มักไม่มีใครเหลือให้กันมากนัก แต่ในประเทศเล็ก ๆ กลางเทือกเขาแอลป์อย่างสวิตเซอร์แลนด์ กลับมีแนวคิดหนึ่งที่เปลี่ยนความหมายของคำว่า 'เวลา' ไปอย่างสิ้นเชิง นั่นคือ 'ธนาคารเวลา' ครับ 

ธนาคารเวลา ไม่ใช่สถานที่ที่เก็บเงินทอง หรือดอกเบี้ยทางการเงิน แต่เป็นระบบที่ให้ผู้คน "ฝากเวลาแห่งการช่วยเหลือ" เอาไว้ แล้วถอนคืนมาใช้เมื่อถึงวันที่ตนเองต้องการความช่วยเหลือ แนวคิดเรียบง่ายนี้กลับมีพลังมหาศาลครับ เพราะมันทำให้เราเห็นว่า แม้ไม่มีเงินทอง เราก็สามารถดูแลกันและกันได้ด้วยความตั้งใจและการลงมือทำ

เรื่องราวของชายชราคนหนึ่งในเมือง St. Gallen สร้างความประทับใจให้คนทั้งประเทศ หลังเกษียณ เขาใช้เวลาว่างไปช่วยดูแลผู้สูงวัยในชุมชน พาไปหาหมอ ทำอาหารให้ หรือแค่นั่งฟังพวกเขาเล่าเรื่องชีวิตเก่า ๆ เขาบันทึกทุกชั่วโมงแห่งความเมตตานั้นไว้ในระบบธนาคารเวลา  

หลายปีผ่านไป เขาเองก็เริ่มอ่อนแรง เดินไม่ไหวเหมือนเดิม และนั่นคือวันที่ 'เวลา' ที่เขาเคยมอบให้ผู้อื่น กลับมาดูแลเขาในแบบเดียวกัน เด็กหนุ่มสาวในวัย 20 กว่ามาหาเขาทุกเย็น ช่วยทำอาหาร นั่งคุย และพาไปเดินเล่นริมทะเลสาบ แม้จะไม่ใช่ลูกหลานแท้ ๆ แต่เขาก็ได้กล่าวไว้ว่า “หัวใจฉันอบอุ่นกว่าเดิมทุกครั้งที่เขามาเยี่ยม เหมือนฉันไม่เคยแก่เกินไปสำหรับใครเลย”

ธนาคารเวลาไม่เพียงแค่เป็นระบบการแลกเปลี่ยนบริการ แต่เป็นการปลูกเมล็ดพันธุ์ของน้ำใจ ความห่วงใย และการไม่ทอดทิ้งกันในสังคม มันทำให้เรารู้ว่า แม้วันหนึ่งเราจะอ่อนแอ แต่สิ่งที่เราเคยหยิบยื่นให้คนอื่น จะย้อนกลับมาดูแลเราในวันที่เราต้องการมากที่สุด

และบางที ของขวัญที่ยิ่งใหญ่ที่สุด อาจไม่ใช่เงินทอง หรือทรัพย์สมบัติใด ๆ แต่อาจเป็นเพียงสิ่งที่เรียบง่ายที่สุดอย่าง "หนึ่งชั่วโมงแห่งน้ำใจ" ที่เรามอบให้กันเท่านั้น

หากจะอธิบายระบบการทำงานให้เข้าใจอย่างง่าย ๆ 'ธนาคารเวลา' (Time Bank) ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์เป็นแนวคิดที่น่าสนใจมากครับ แนวคิดนี้เกี่ยวข้องกับการแลกเปลี่ยนบริการโดยใช้ 'เวลา' เป็นสกุลเงินแทนเงินตรา และแนวคิดนี้มีการนำมาใช้จริงในหลายๆพื้นที่เพื่อส่งเสริมความร่วมมือในชุมชน โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุหรือการดูแลซึ่งกันและกันในสังคม

หลักการและแนวคิดของธนาคารเวลาในสวิตเซอร์แลนด์นั้นแสนจะเรียบง่ายดังนี้ครับ 

1. การแลกเปลี่ยนบริการด้วยเวลา
ผู้คนจะ 'ฝากเวลา' โดยให้บริการกับผู้อื่น เช่น ดูแลผู้สูงอายุ, ช่วยทำความสะอาดบ้าน, สอนภาษา ฯลฯ และจะได้รับ 'เครดิตเวลา' ที่สามารถนำไปใช้ขอความช่วยเหลือจากผู้อื่นในอนาคต

2. ส่งเสริมสังคมแห่งการดูแล
แนวคิดนี้ถูกใช้ในโครงการดูแลผู้สูงอายุ เพื่อให้คนวัยเกษียณมีคุณค่าและรู้สึกมีส่วนร่วมในสังคม ขณะเดียวกันยังได้รับการดูแลเมื่อพวกเขาต้องการในภายหลัง

3. ดำเนินการโดยองค์กรหรือภาครัฐ
ในบางเขต เช่น เมือง St. Gallen รัฐบาลท้องถิ่นได้มีส่วนร่วมในการจัดตั้งระบบธนาคารเวลานี้ โดยใช้ระบบบันทึกชั่วโมงผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์

4. ไม่มีการวัดมูลค่าตามทักษะ
ทุกคนมีค่าเท่ากันในแง่เวลา นั่นหมายความว่า 1 ชั่วโมงของการทำสวน = 1 ชั่วโมงของการช่วยสอนหนังสือ เป็นต้น

กล่าวโดยสรุปสิ่งที่ธนาคารเวลาได้มอบให้กับผู้คนก็คือ
- สร้างความสัมพันธ์ในชุมชน
- สนับสนุนการดูแลผู้สูงอายุอย่างยั่งยืน
- ลดภาระของรัฐในด้านสวัสดิการ
- ส่งเสริมความเท่าเทียม

ในท้ายที่สุด ธนาคารเวลาอาจไม่ได้เปลี่ยนโลกทั้งใบในชั่วข้ามคืนครับ แต่สิ่งที่มันทำได้คือการเปลี่ยน 'หัวใจของผู้คน' ให้กลับมาเห็นค่าของกันและกันอีกครั้ง มันเตือนเราว่า บางครั้งสิ่งที่คนเราต้องการไม่ใช่เงิน หรือสิ่งของราคาแพง หากแต่เป็น "เวลา" เวลาที่เราตั้งใจมอบให้กันด้วยความเข้าใจและเมตตา และหากสังคมของเรามีพื้นที่แบบนี้มากขึ้น มนุษย์เราอาจจะเห็นได้ว่า แท้จริงแล้วว่าผู้คนอาจไม่ต้องการสิ่งใดมากไปกว่า หนึ่งชั่วโมงแห่งความห่วงใย ที่ไม่มีดอกเบี้ยใดๆแต่เต็มไปด้วยความหมายและความเอื้ออาทรที่มนุษย์เรามอบให้กันในวันที่อีกฝ่ายต้องการมากที่สุด 

เท่านี้ก็พอครับ

มหากาพย์แห่งสงครามอินโดจีน EP#12 พันธมิตรของเวียตนามเหนือ : ลาว-เขมรแดง -สหภาพโซเวียต

ในขณะที่สหรัฐอเมริกาทุ่มเท กำลังทหาร อาวุธยุทโธปกรณ์ และงบประมาณมากมายมหาศาลเข้าสู่เวียตนามใต้ สหภาพโซเวียตก็มีทั้งบทบาทและส่วนร่วมในเวียตนามเหนือเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน ในฐานะที่เป็นอำนาจคอมมิวนิสต์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก สหภาพโซเวียตขณะที่ยังไม่ขัดแย้งแตกคอกับสาธารณรัฐประชาชนจีนได้ให้สนับสนุนอาวุธยุทโธปกรณ์จำนวนมากไปยังเวียตนามเหนือ ทั้งมอสโกและปักกิ่งหวังที่จะรวมและขยายคอมมิวนิสต์ในเอเชีย ไม่เพียงแต่การเติบโตขึ้นของลัทธิคอมมิวนิสต์ในเอเชียจะช่วยให้สร้างสมดุลกับตะวันตกในสงครามเย็นเท่านั้น แต่ยังเกิดผลประโยชน์ต่อทั้งรัสเซียและจีน การสนับสนุนของโซเวียตและจีนมีความสำคัญต่อฮานอยและมีส่วนทำให้เวียตนามเหนือประสบชัยชนะในที่สุด

ปารีส ในปี 1920 โฮจินมินห์ได้กลายเป็นหนึ่งในสมาชิกของพรรคคอมมิวนิสต์ฝรั่งเศส สามปีต่อมาเขาเดินทางไปมอสโก ซึ่งเขาได้ศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับทฤษฎีคอมมิวนิสต์และการเคลื่อนไหวระหว่างประเทศ นอกจากนี้เขายังเป็นตัวแทนของเวียตนามประสานงานกับองค์การคอมมิวนิสต์สากล (Communist International : Comintern) ซึ่งเป็นองค์การที่ทำหน้าที่เผยแพร่แนวความคิดปฏิวัติ ล้มล้างนายทุนและจักรวรรดินิยมตามแบบการปฏิวัติของบอลเชวิก จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่าโฮจิมินห์มีอุดมการณ์คอมมิวนิสต์เต็มตัว

หลังจากสงครามโลกครั้งที่สอง สหภาพโซเวียตให้การสนับสนุนการเคลื่อนไหวของคอมมิวนิสต์ในเวียตนามเพียงเล็กน้อย เพราะ โจเซฟ “สตาลิน” พยายามที่จะรักษาสัมพันธภาพที่ดีกับพันธมิตรสงครามฝ่ายตะวันตกอย่างน้อยเป็นการชั่วคราว และเลือกที่จะไม่เป็นปฏิปักษ์พวกเขาด้วยการสนับสนุนเวียตมินห์ ในปี 1946-47 “สตาลิน” ยังคงไม่ไว้วางใจในกลุ่มคอมมิวนิสต์ของเอเชีย โดยมองว่าอ่อนแอ ไม่มีวินัย และชื่อเสียงไม่ดี อันเนื่องมาจากผลประโยชน์ของตนเองและความเป็นชาตินิยม ปลายปี 1949 สถานการณ์ได้เปลี่ยนไปอย่างชัดเจน ความตึงเครียดของสหรัฐอเมริกา-โซเวียตเพิ่มขึ้น และชัยชนะของพรรคคอมมิวนิสต์นำโดย “เหมาเจ๋อตง” ในจีน (ตุลาคม 1949) เป็นพัฒนาการที่มีความรุนแรงที่สุดในยุคสงครามเย็น มกราคมปี 1950 มอสโกได้ให้การยอมรับ “โฮจิมินห์และเวียดมินห์” ในฐานะ ‘ผู้ปกครอง’ และ 'เจ้าหน้าที่' ของเวียตนาม โฮจิมินห์ได้เดินทางไปมอสโกและแสวงหาการสนับสนุนทางทหารจากสหภาพโซเวียตเพื่อสงครามอิสรภาพกับฝรั่งเศส แต่ “สตาลิน” ซึ่งยังมีความสนใจอยู่ในยุโรปได้ปฏิเสธการพูดคุยเจรจา โดยสนับสนุนให้ “เหมาเจ๋อตง” เป็นพันธมิตรคอมมิวนิสต์สนับสนุนเวียคมินห์แทน

ในเบื้องต้นจีนให้การสนับสนุนทั้งเงินและอาวุธยุทโธปกรณ์ แต่ปัญหาระหว่างเวียตนามเหนือและจากความพยายามที่จะครอบงำของจีน ทำให้ในที่สุดก็ทำให้เวียตนามเหนือหันไปหาสหภาพโซเวียตเพื่อขอความช่วยเหลือ ก่อนปี 1967 สหภาพโซเวียตให้ความช่วยเหลือทางทหารโดยการฝึกอบรมบุคลากรกองทัพอากาศเวียตนามเหนือ ต่อมาสหภาพโซเวียตได้จัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์ ไม่ว่าจะเป็น รถถัง เครื่องบิน เฮลิคอปเตอร์ ปืนใหญ่, ขีปนาวุธต่อต้านอากาศยาน เวชภัณฑ์ และอุปกรณ์ทางทหารอื่น ๆ ให้เวียตนามเหนือ กล่าวกันว่า ทีมงานชาวโซเวียตรัสเซียเป็นผู้ยิงเครื่องบินรบไอพ่นแบบ F-4 Phantoms ของสหรัฐฯ ตกที่เมือง Thanh Hóa ในปี 1965 ภายหลังจากการสลายตัวของสหภาพโซเวียตในปี 1991 เจ้าหน้าที่ของสหพันธรัฐรัสเซียยอมรับว่า ในช่วงสงครามเวียตนาม สหภาพโซเวียตได้ส่งทหารราว 3,300 นายประจำการในเวียตนามเหนือ

นอกจากนี้เรือหาข่าวของสหภาพโซเวียตในทะเลจีนใต้ได้ส่งคำเตือนล่วงหน้าแก่เวียตนามเหนือ โดยทำการตรวจหาเครื่องบินทิ้งระเบิด B-52 อเมริกันที่บินจากเกาะโอกินาวาและเกาะกวม เครื่องบินและทิศทางจะถูกบันทึกไว้แล้วส่งไปทำการวิเคราะห์ละคำนวณเป้าหมายการทิ้งระเบิด เพื่อแจ้งเตือนให้ย้ายอาวุธยุทโธปกรณ์สำคัญ คำเตือนล่วงหน้าเหล่านี้ทำให้เวียตนามเหนือมีเวลาพอที่จะย้ายอาวุธยุทโธปกรณ์สำคัญต่าง ๆ ให้ปลอดภัยจากเครื่องบินทิ้งระเบิด และในขณะที่มีการทิ้งระเบิดซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายอย่างกว้างขวาง ตั้งแต่ปี 1968-1970 ด้วยการแจ้งเตือนทำให้เวียตนามเหนือไม่สูญเสียผู้นำทหารหรือพลเรือนเลยแม้แต่คนเดียว นอกจากนี้ยังมีการขยายความช่วยเหลือเพิ่มเติมเพื่อช่วยให้เวียตนามเหนือพัฒนาวิธีโฆษณาชวนเชื่อในการต่อต้านสหรัฐฯ

ระหว่างปี 1953 ถึง 1991 สหภาพโซเวียตส่งมอบอาวุธยุทโธปกร์ให้เวียตนามเหนือประกอบด้วยรถถัง 2,000 คัน รถหุ้มเกราะลำเลียงพล 1,700 คัน ปืนใหญ่ 7,000 กระบอก ปืนต่อสู้อากาศยานมากกว่า 5,000 กระบอก ขีปนาวุธพื้นสู่อากาศ 158 ระบบ และเฮลิคอปเตอร์ 120 ลำ ในช่วงสงครามสหภาพโซเวียตส่งอาวุธยุทโธปกรณ์ให้เวียตนามเหนือมูลค่าปีละ 450 ล้านเหรียญสหรัฐ โรงเรียนทหารและสถาบันการศึกษาของโซเวียตได้ฝึกบุคลากรทางทหารของเวียตนามเหนือมากกว่า 10,000 คน ในปี 1964 นักบินเครื่องบินขับไล่เวียตนามเหนือและพลปืนต่อต้านอากาศยานได้รับการฝึกฝนในสหภาพโซเวียต โดยมีที่ปรึกษาโซเวียตยังถูกส่งไปประจำการในเวียตนามเหนือ ในช่วงต้น ๆ เมื่อกองทหารเวียตนามเหนือยังคงไม่คุ้นเคยกับอาวุธต่อสู้อากาศยานของสหภาพโซเวียต ทีมอาวุธต่อสู้อากาศยานของโซเวียตได้เข้าจัดการระบบปืนด้วยตัวเองและทีมงานได้ยิงเครื่องบินรบของสหรัฐฯ ตกด้วย มีรายงานว่า ทีมอาวุธต่อสู้อากาศยานของโซเวียตทีมหนึ่งสามารถยิงเครื่องบินรบของสหรัฐฯ ตกถึง 6 ลำ

KGB ยังช่วยพัฒนาความสามารถของ Signals Intelligence (SIGINT) ของเวียตนามเหนือผ่านการดำเนินการที่รู้จักกันใน “โปรแกรม Vostok” ซึ่งเป็นโปรแกรมข่าวกรองและการจารกรรม โปรแกรมเหล่านี้เป็นหัวใจสำคัญในการตรวจจับและเอาชนะทีมคอมมานโดของสหรัฐฯ และเวียตนามใต้ที่ส่งไปยังเวียตนามเหนือ โซเวียตยังช่วยกระทรวงความมั่นคงสาธารณะเวียตนามเหนือรับสมัครชาวต่างชาติในวงการทูตระดับสูงในหมู่พันธมิตรตะวันตกของสหรัฐฯ ภายใต้โครงการลับ "B12, MM" ซึ่งสามารถจัดทำเอกสารความลับระดับสูงนานเกือบทศวรรษหลายพันรายการ รวมถึงเป้าหมายของการทิ้งระเบิดของเครื่องบิน B-52 ในปี 1975 SIGINT ได้ทำลายข้อมูลจากพันธมิตรตะวันตกของสหรัฐฯ ในช่วงสงครามแม้ว่าทหารและเจ้าหน้าที่ของสหภาพโซเวียตจะถูกระบุให้เป็น“ ผู้เชี่ยวชาญทางทหารของโซเวียต” เนื่องจากสหภาพโซเวียตอ้างว่าไม่มี “ทหาร” ในสงครามเวียตนาม แต่ก็สูญเสียเจ้าหน้าที่ไป 16 นาย แม้การมีส่วนร่วมของสหภาพโซเวียตนั้นจะไม่มากเท่ากับกรณีสหรัฐฯ กับเวียตนามใต้ แต่สำหรับเวียตนามเหนือแล้ว ถือเป็นความช่วยเหลือที่ทรงคุณค่าเป็นอย่างยิ่ง สำหรับสหภาพโซเวียตได้ถือโอกาสนี้ในการทดสอบทั้งอาวุธยุทโธปกรณ์และยุทธวิธีการรบที่ดำเนินการในสถานการณ์จริง

หมายเหตุ ผู้เขียนใช้คำว่า “เวียตนาม” ตัว ‘ต’ สะกด เพราะเอกสารสมัยก่อนใช้เช่นนี้ ต่อมาภายหลังจึงเปลี่ยนมาเป็น “เวียดนาม” สะกดด้วยตัว ‘ด’

ตลอดเดือนเมษายน 2568 พบกับเรื่องราวของมหากาพย์แห่งสงครามอินโดจีน
ในโอกาสครบ 50 ปีแห่งการสิ้นสุดสงคราม วันที่ 30 เมษายน 2518


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top