Monday, 19 May 2025
Columnist

เมื่อฝีมือทางดนตรีอันฉกาจฉกรรจ์ อาจแลกมาด้วยการทำข้อตกลงกับปีศาจ

ใดๆ digestในวันนี้ ขอพาผู้อ่านทุกท่านไปพบกับหนึ่งในทฤษฎีสมคบคิดที่โด่งดังที่สุดเรื่องหนึ่งในโลกแห่งดนตรี  เรื่องราวลี้ลับที่ยังหาข้อพิสูจน์ไม่ได้ ว่าเป็นแค่เรื่องเล่า เรื่องบังเอิญ อาถรรพ์ คำสาปหรือเป็นเรื่องจริงกันแน่  

The 27 Club เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับนักร้อง นักดนตรี ศิลปินระดับตำนานของโลกหลายคน แต่ละคนมีแนวเพลงและสไตล์ที่แตกต่างกัน แต่ละคนมีฝีมืออันเอกอุทั้งการเล่นดนตรี การร้องเพลงและแต่งเพลงเป็นที่ยอมรับในระดับสูงไปทั่วโลก มีฐานแฟนเพลงของตัวเองมากมาย หลายคนเป็นผู้วางรากฐานและสร้างสรรค์แนวทางใหม่ๆ ให้กับวงการดนตรีระดับโลกและ เป็นต้นแบบให้กับนักดนตรีรุ่นหลังมากมาย แต่ละคนดำรงอยู่คนละยุคสมัย แต่สิ่งที่เหมือนกันอย่างน่าขนลุกคือพวกเขาทุกคนเสียชีวิตตอนอายุ 27 เหมือนกัน

อาจดูเหมือนเป็นเรื่องบังเอิญแต่เมื่อเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก ที่ศิลปินระดับตำนานหลายต่อหลายคนไม่สามารถข้ามผ่านช่วงอายุนี้ไปได้ ในที่สุดจึงเกิดคำว่า The 27 Club ขึ้น เพื่อใช้เรียกขานถึงเหล่าศิลปินระดับโลกทั้งนักร้องและนักดนตรีเหล่านี้ที่จากไปอย่างไม่มีวันกลับเมื่ออายุได้ 27 ปีเท่ากันพอดีทุกคน โดยในเบื้องต้นไม่มีใครสังเกตถึงเรื่องนี้จนกระทั่งเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก ในที่สุดจึงเกิดคำว่า The 27 Club ขึ้นมา โดยสาเหตุการเสียชีวิตส่วนใหญ่ของเหล่าสมาชิกแห่ง The 27 Club มักมาจากการใช้ยาเสพติดเกินขนาด, อุบัติเหตุ หรือไม่ก็มักมีสาเหตุมาจากความรุนแรงเช่นการฆ่าตัวตายหรือฆาตกรรม และที่แน่ๆ คือไม่มีสมาชิกของ The 27 Club คนไหนที่จากไปอย่างธรรมชาติเลยซักคนเดียว

บรรดาสื่อดนตรีแขนงต่าง ๆ มักจะนำเสนอเรื่องราวของ The 27 Club อยู่บ่อย ๆ โดยเฉพาะเมื่อมีสมาชิกเพิ่มขึ้น จนทำให้ The 27 Club เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายและกลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมดนตรีกระแสหลักของโลกไปในที่สุด

โดยหนึ่งในทฤษฎีสมคบคิดอันน่าขนลุกที่เกี่ยวข้องกับ The 27 Club โดยตรงได้แก่ ตำนานเก่าแก่ในอเมริกาที่เล่าถึงการทำสัญญาแลกเปลี่ยนกับ 'ปีศาจ' หรือ 'ซาตาน' ที่ทางแยก หรือ 'ทางสี่แพร่ง' โดยว่ากันว่าอายุ 27 เป็นราคาที่ต้องจ่ายเพื่อเเลกกับบางสิ่งบาง ...บางอย่างที่ 'ปีศาจ' มอบให้ผู้ทำสัญญา โดยมีเงื่อนไขที่เล่าขานต่อกันมาก็คือ ให้เขียนสิ่งที่ปรารถนาลงในกล่อง จากนั้นให้นำไปฝังใว้ที่ทางสี่เเพร่ง ก็จะพบกับปีศาจที่มาทำข้อตกลง เพื่อให้ได้ในสิ่งที่ต้องการ โดยเเลกกับช่วงชีวิตที่เหลือหลังจากปี 27 นั่นเอง หรือพูดอีกอย่างก็คือหลังจากที่ปีศาจบันดาลสิ่งที่ต้องการให้แล้ว ราคาที่ต้องจ่ายเป็นการแลกเปลี่ยนก็คือ ปีศาจจะมารับวิญญาณไปเมื่ออายุครบ 27 ปีแล้วนั่นเอง อย่างไรก็ดีเรื่องนี้ก็เป็นหนึ่งในตำนานของอเมริกาครับ ก็ต้องขีดเส้นใต้หนักๆว่ากรุณาอ่านโดยใช้วิจารณญาณกันด้วย

ทีนี้เราลองมาทำความรู้จักกับสมาชิกที่โด่งดังของ The 27 Club กันดีกว่าครับว่ามีใครบ้าง 
1. Robert Johnson 
ศิลปินผู้เป็นจุดเริ่มต้นของตำนานการขายวิญญาณให้กับปีศาจเพื่อแลกกับฝีมือกีตาร์ระดับเทพเจ้า โดยมือกีตาร์และศิลปินเพลงแนว Delta Blue ระดับตำนานผู้นี้ ที่ได้สร้างสรรค์ผลงานเพลงอมตะไว้ทั้งหมด 29 เพลงที่ได้รับการยอมรับจากผู้ฟังอย่างมากมายมาจนถึงปัจจุบัน และเป็นต้นแบบให้กับมือกีตาร์สาย Blues และ Rock หลายคน โดยมีผลงานขึ้นหิ้งของเขาอย่าง Crossroad, Love in Vain และ Ramblin’ On My Mind เป็นต้น โดยเรื่องเล่าที่เป็นตำนานของเขาก็คือ ในระยะแรกเขาเป็นเพียงนักดนตรีดาดๆ ที่เล่นตามคลับทั่วไปใน Mississippi โดยหลายคนค่อนขอดว่าฝีมือของเขาห่วยแตกเลยด้วยซ้ำ แต่อยู่มาวันหนึ่งเขาก็ได้หายตัวไปอย่างไร้ร่องรอยเป็นเวลาหลายวัน และเมื่อเขากลับมาปรากฏตัวขึ้นอีกครั้ง ก็มาพร้อมกับฝีมือกีตาร์ที่ฉกาจฉกรรจ์ขึ้นเป็นคนละคนภายในชั่วข้ามคืน ซึ่งตรงนี้มีหลักฐานจากบทสัมภาษณ์เพื่อนๆ ของเขาที่เคยเล่นอยู่ในวงเดียวกัน ซึ่งทุกคนก็พูดตรงกันว่ารู้สึกตกใจที่อยู่ๆฝีมือของเขาก็รุดหน้าขึ้นอย่างรวดเร็วในเวลาอันสั้นมากๆ ซึ่งก็ดูจะเป็นเรื่องเกินวิสัยของมนุษย์ธรรมดาไปอยู่ไม่น้อย โดยตัวของ Robert Johnson เกิดที่รัฐ Mississippi ซึ่งหลายๆ คนก็เชื่อว่ารัฐนี้เอง ที่เป็นจุดเริ่มต้นในการทำสัญญาระหว่างตัวเขากับซาตาน หลังความโด่งดังที่ได้เล่นรวมกับศิลปินชื่อดังมากมายในช่วง ปี 30s ในเดือนสิงหาคม ปี 1938 Robert Johnson ได้ถูกวางยาพิษที่ใส่ไว้ในแก้ววิสกี้ หลังจากนั้น 3 วันเขาก็ได้เสียชีวิตลง แต่ที่น่าแปลกคือ Robert Johnson ได้เสียชีวิตลงในวัย 27 ปี พอดิบพอดี และถือเป็นคนแรกที่ได้เข้าสู่ The 27 club

2. Jimi Hendrix 
กีตาร์ไอคอน, ฟรอนต์แมนและมือกีตาร์แห่ง The Jimi Hendrix Experience มือกีตาร์ผู้เป็นตำนานในหมู่ตำนาน ชายผู้ได้รับขนานนามว่าเป็นมือกีตาร์ที่เก่งกาจที่สุดคนหนึ่งเท่าที่โลกนี้เคยมีมา ผู้เป็นเจ้าของสไตล์การเล่นกีตาร์กลับหัวด้วยมือข้างซ้ายมาพร้อมกับการแต่งตัวฉูดฉาดเป็นเอกลักษณ์ และการแสดงสดอันทรงพลังที่เร้าใจ ผู้ซึ่งเคยจุดไฟเผากีตาร์สดๆ บนเวทีมาแล้ว ทำให้ชื่อของ Jimi Hendrix ยังถูกกล่าวขานมาจนถึงทุกวันนี้ เขาเสียชีวิตจากการสำลักอาเจียนของตัวเองอันเป็นอาการต่อเนื่องมาจากการเสพยาเกินขนาดในปี 1970 เมื่ออายุได้ 27ปี 295วัน  

3. Janis Joplin
เสียงขับขานและกวีเอกฝ่ายหญิงแห่งยุคบุปผาชน นักร้องนักแต่งเพลงมากฝีมือคนนี้ จบชีวิตลงด้วยการใช้ยาเสพติดเกินขนาดเช่นกัน โดยมีบันทึกไว้ว่าภายหลังจากที่อัดเสียงเพลง 'A Woman Left Lonely' ซึ่งเป็นเพลงสุดท้ายในชีวิตที่เธอทิ้งไว้ให้กับโลกใบนี้ Janis กลับมาที่ห้องในโรงแรม ฉีดเฮโรอีนเข้าเส้นเลือดจำนวนมากและเดินลงไปซื้อบุหรี่แล้วกลับเข้ามาในห้อง ก็เกิดอาการช็อกและล้มลงหัวฟาดพื้น เสียชีวิตในที่สุด เป็นการจากไปในขณะที่อาชีพการงานของเธอกำลังรุ่งเรืองสุดขีดและผลต่อวงการดนตรีอย่างมาก อายุของเธอเมื่อจากโลกนี้ไปคือ 27ปี 258วัน

4. Jim Morrison 
นักร้องนำ และฟรอนต์แมนผู้ทรงเสน่ห์และมากล้นความสามารถแห่งวง The Doors เขาเสียชีวิตจากอาการหัวใจล้มเหลวจากการใช้ยาเกินขนาดในปี 1971 ซึ่งด้วยผลงานการเขียนเพลงที่ไพเราะสวยงามประหนึ่งบทกวี ทำให้หลายคนเชื่อเหลือเกินว่าถ้าเขายังมีชีวิตอยู่จนถึงทุกวันนี้ วง The Doors จะกลายเป็นวงระดับตำนานเช่นเดียวกับวงอย่าง The Beatles อย่างไม่มีข้อกังขา Jim Morrison เสียชีวิตเมื่ออายุได้ 27ปี 207วัน

5. Kurt Cobain
มือกีตาร์, นักร้อง และผู้นำแห่งวง Nirvana บิดาแห่งวงการเพลงกรันจ์ และหัวหอกแห่งกระแส Seattle Sound ด้วยเนื้อหาเพลงที่เสียดสีจิกกัดสังคมได้อย่างเจ็บแสบและบุคลิกส่วนตัวของเขาที่มีความขบถอยู่ในตัวอย่างชัดเจน ชื่อของ Kurt Cobain จึงดังระเบิดไปทั่วโลกในเวลานั้น เขามีสถานะและผู้ติดตามไม่ต่างอะไรกับซูเปอร์สตาร์ฮอลลีวูด เขาเหมือนดอกไม้ไฟลูกมหึมาที่ส่องสว่างในฟากฟ้าแห่งวงการดนตรีก่อนที่จะดับวูบลงอย่างรวดเร็ว Kurt Cobain เลือกที่จะลาจากโลกนี้ไปด้วยการใช้ปืนลูกซองยิงตัวตาย แต่ชื่อของเขายังคงเป็นตำนานมาจนทุกวันนี้ และบทเพลงต่างๆ ของ Nirvana ก็ยังคงได้รับความนิยมอย่างสูงมาจนถึงปัจจุบัน อายุของ Kurt เมื่อจากไปคือ 27ปี 44วัน 

6. Amy Winehouse
นักร้องและศิลปินแนวโซล ไอคอนแห่งวงการดนตรีผู้มีน้ำเสียงและทักษะการร้องเพลงที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ ยากจะหาใครเปรียบ และ Amy ยังมีบุคลิกที่ทรงเสน่ห์ในทุกท่วงท่าไม่ว่าจะในการแสดงหรือการพูดคุย เธอจึงเป็นที่รักของคนทั่วโลก ชีวิตของเธอผ่านอุปสรรคปัญหามากมายไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่องการติดแอลกอฮอล์ ยาเสพติด และความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง Amyพยายามต่อสู้กับอาการติดแอลกอฮอล์มาโดยตลอดแต่ในที่สุดเธอก็พ่ายแพ้และเสียชีวิตจากแอลกอฮอล์เป็นพิษในกระแสเลือดในปี 2011ในขณะที่มีอายุได้ 27ปี 312วัน 

การมีอยู่ของ The 27 Club นั้นเป็นทั้งเรื่องน่ายินดีและเรื่องน่าหดหู่ในขณะเดียวกัน เพราะ The 27 Club มีส่วนทำให้ชื่อของเหล่าศิลปินนักดนตรีระดับตำนานถูกยกมาพูดถึงบ่อยครั้ง เป็นเครื่องย้ำเตือนให้คนรุ่นหลังได้ทราบว่าครั้งหนึ่งพวกเขาเคยยิ่งใหญ่แค่ไหนและเคยสร้างผลงานที่มีคุณค่าอะไรฝากไว้ให้กับโลกใบนี้บ้าง  แต่ในทางกลับกันก็เป็นเรื่องน่าเสียดายเป็นอย่างยิ่ง เพราะถ้าพวกเขาไม่ด่วนจากไปในวัย 27 โลกและแฟนๆ ของพวกเขาก็คงยังได้เสพผลงานสร้างสรรค์จากความสามารถและจินตนาการของบรรดาไอคอนเหล่านี้อีกมากมายอย่างแน่นอน

Stephen Capus ซีอีโอของ RFE/RL ลั่น!! ‘อเมริกา’ ส่งของขวัญชิ้นโตให้ ‘ศัตรู’ เหตุ!! ‘โดนัลด์ ทรัมป์’ หั่นงบ ‘USAID’ มอง!! สื่อเสรีภาพ ต้องได้รับการสนับสนุน

(16 มี.ค. 68) โดมิโน่สื่อสายทุนจบเห่! RFE/RL โดนหั่นงบฯ หลัง USAID เดี้ยงด้วยน้ำมือทรัมป์

เมื่อวานเดินเล่นไถฟีดไปเรื่อยๆ เจอข่าวชวนตะลึงเข้าให้—Radio Free Europe/Radio Liberty (RFE/RL) ออกมาคร่ำครวญว่าถูกตัดงบสนับสนุนจากรัฐบาลสหรัฐฯ แบบสายฟ้าแลบ! อ่านแล้วก็อดสะกิดใจไม่ได้ว่านี่มันอีกหนึ่งโดมิโน่เอฟเฟ็คจากการที่ USAID ถูกทรัมป์ซอยเละตั้งแต่ยุคแรกๆ แล้วนี่นา

RFE/RL นี่ไม่ใช่ใครที่ไหน สื่อที่ได้กินอิ่มกินดีจากงบประมาณของรัฐสหรัฐฯ มาตลอด 75 ปี เป็นกระบอกเสียงเสรีประชาธิปไตยสไตล์วอชิงตันที่ส่งตรงไปถึงประเทศแถบยุโรปตะวันออก รัสเซีย จีน และตะวันออกกลาง ตอนสงครามเย็นก็ทำหน้าที่ตีแผ่ความจริง (ในเวอร์ชันที่สหรัฐฯ อยากให้โลกเห็น) ใส่พวกคอมมิวนิสต์ และแม้ว่าสงครามเย็นจะจบไปนานแล้ว RFE/RL ก็ยังคงมีงบให้ได้โลดแล่นต่อไปภายใต้ข้ออ้างว่า “สื่อเสรีภาพต้องได้รับการสนับสนุน”

แต่พอทรัมป์กลับมาทวงคืนเวทีการเมือง ปฏิบัติการสับงบฯ ก็ตามมาเป็นของแถม ซึ่งไม่ใช่แค่เรื่องนี้ USAID ก็โดนฟันมาก่อนหน้าแล้ว จะให้เหลืออะไรอีกล่ะ?

RFE/RL ลั่น: ตัดงบเรา = ของขวัญให้จีน-รัสเซีย

Stephen Capus ซีอีโอของ RFE/RL รีบออกมาจุดพลุทันที บอกว่าการถูกตัดงบนี้ เป็นเหมือนการส่งของขวัญชิ้นโตให้ศัตรูของอเมริกา ไม่ว่าจะเป็น จีน รัสเซีย อิหร่าน หรือผู้นำเผด็จการแห่งมินสก์ เพราะพวกนั้นคงจะฉลองกันยกใหญ่ที่สื่อขาประจำของวอชิงตันกำลังล้มระเนระนาด

Capus ไม่ได้พูดเล่น เพราะที่ผ่านมาสื่อสายทุนเหล่านี้ก็มีบทบาทชัดเจนในการเล่นเกมสงครามข้อมูลข่าวสาร ไล่ขุดแฉรัฐบาลฝ่ายตรงข้ามของสหรัฐฯ ตั้งแต่เรื่องสิทธิมนุษยชน ยันการทุจริตแบบข้ามชาติ แต่พอโดนตัดงบเอง ดันออกมาโอดครวญซะอย่างนั้น

อ่านมาถึงตรงนี้ก็อดคิดไม่ได้ว่า เฮ้ย แล้วตอนที่ไปเจาะข่าวประเทศอื่นเขา ทำไมไม่พูดถึงแหล่งทุนของตัวเองบ้าง? พอตัวเองโดนบ้าง กลับมาเรียกร้องเสรีภาพซะงั้น!

เมื่อ USAID เดี้ยง สื่อสายทุนก็ขาลง

มองย้อนกลับไปหน่อย USAID ไม่ใช่แค่หน่วยงานพัฒนา มันเป็น ท่อส่งเงินของรัฐบาลสหรัฐฯ ในการสนับสนุนสื่อ นักเคลื่อนไหว และ NGOs ทั่วโลก ซึ่งก็ไม่ต้องบอกนะว่าเงินไหลไปไหนบ้าง พอ USAID โดนทรัมป์ฟันงบ ก็เหมือนปิดก๊อกน้ำ ทำให้สื่อหลายเจ้าที่เคยพึ่งพางบนี้ต้องดิ้นรนหาแหล่งทุนใหม่

RFE/RL ก็คือหนึ่งในนั้น และตอนนี้ดูเหมือนว่าวิกฤตนี้จะมาถึงจุดที่พวกเขาเองก็ ต้องเผชิญความเป็นจริงว่าหากไม่มีรัฐอุ้ม ก็อยู่ลำบาก
คำถามสำคัญที่น่าสนใจคือ สื่อเสรีแบบนี้ หากไม่มีงบจากรัฐ ยังเสรีได้อยู่ไหม? หรือจริงๆ แล้วมันคือ “สื่อเสรีภาพที่มีเงื่อนไข” มาตลอด
โดมิโน่ต่อไปจะเป็นใคร?

VOA (Voice of America) ก็คงมีเสียวๆ อยู่บ้าง เพราะเป็นอีกเจ้าที่ใช้งบสนับสนุนจากรัฐสหรัฐฯ เช่นกัน จะว่าไปแล้ว ในยุคที่โซเชียลมีเดียครองเมือง สื่อที่อาศัยทุนรัฐเพื่อทำข่าวนโยบายต่างประเทศ อาจต้องเตรียมใจเผชิญยุคที่ “อเมริกาต้องมาก่อน” อย่างเต็มตัวแล้วจริงๆ
ว่าแต่… หรือพวกเขาจะหาทางออกใหม่โดยไปขอทุนจากที่อื่นแทน? หรือถ้าหมดยุคของสื่อสายทุน รัฐบาลสหรัฐฯ จะใช้ช่องทางไหนในการขยายอิทธิพลทางข้อมูลข่าวสาร? คำตอบอาจอยู่ในอนาคตที่กำลังใกล้เข้ามา…

ถอดรหัส ทำไมเกาหลีใต้ยกเมือง Yeongyang ให้คนพม่าตั้งถิ่นฐาน คาดหวังให้ช่วยเพิ่มประชากร - พัฒนาเมืองสุดกันดารที่คนเกาหลีไม่อยากอยู่

(17 มี.ค. 68) ในขณะนี้ที่ไทยประชาชนไทยส่วนหนึ่งได้ตื่นตัวเพราะการที่คนต่างด้าวเข้ามาแย่งงาน แย่งอาชีพ แย่งใช้สวัสดิการของคนไทย จนแทบจะเรียกได้ว่า คนพม่าเหล่านั้นเข้ามาสร้างปัญหา จนทำให้คนพม่าที่เข้ามาประเทศไทยอย่างถูกต้องประกอบอาชีพอย่างสุจริตต้องมาตกที่นั่งลำบากไปด้วย  แต่ไม่นานมานี้ก็มีข่าวดังไปทั่วฌลกเมื่อเกาหลีใต้ประกาศว่าจะให้ชาวเมียนมาหรือคนพม่าอพยพมาตั้งถิ่นฐานในเมืองยองยาง (Yeongyang-gun)  โดยข่าวดังกล่าวมาจากรายงานของเวปไซต์ สำนักข่าว  เดอะ โคเรีย ฮอรัลด์ อ้างว่า ส่วนบริหารท้องถิ่นของเมืองยองยางมีการหารือกับกระทรวงยุติธรรมของเกาหลีเพื่อเอาผู้ลี้ภัยชาวเมียนมา 40 คน ที่ได้รับการคุ้มครองจาก UN มาอยู่ที่นี่เพื่อจุดหมายในการเพิ่มประชากร

แต่เดี๋ยวมาถึงจุดนี้  เรามาหาข้อมูลเมืองยองยางกันก่อนดีกว่า

มีการระบุว่า เมืองยองยางนี้  เป็นพื้นที่ห่างไกลที่เข้าถึงได้ยาก โดยเมืองนี้ มักถูกเรียกว่า "เกาะในแผ่นดิน" เขตนี้มีประชากรน้อยที่สุดในบรรดาเขตทั้งหมดในจังหวัดจองซังเหนือ หากไม่รวมเขตอุลลึง เนื่องจากเป็นภูมิประเทศเป็นภูเขาที่มีหุบเขาลึก และพื้นที่เพียงร้อยละ 10 เท่านั้นที่สามารถทำการเกษตรได้ 

มาถึงจุดนี้หลายคนอาจจะถึงบางอ้อแล้วว่าการเดินทางไปเมืองนี้ยากลำยากเพียงใด และแน่นอนน่าจะรวมถึงความเจริญที่จะคืบคลานเข้าไปที่นี่ก็น่าจะลำบากเป็นเงาตามตัว

หากเอย่าเดาไม่ผิด ก็คือคงใช้คนพวกนี้มาพัฒนาแผ่นดินที่แม้แต่คนเกาหลีเองก็ทำไม่ได้ โดยอาจจะให้สนับสนุนเงินทุนหรือเครื่องมือบางส่วน เอาตรงๆว่าถ้าสำเร็จก็ดีไป ก็ค่อยเอาคนเกาหลีไปอยู่ แต่หากไม่สำเร็จก็แค่เหมือนคุกไฮโซของพวกลี้ภัยวีไอพีของพม่า

หันกลับมาดูผู้อพยพชาวเมียนมาที่ได้รับการคุ้มครองจากสหประชาชาตินั้นส่วนใหญ่คือนักการเมืองฝั่ง NLD นายทุนที่จัดหาเงินทุนให้ฝ่ายต่อต้านหรือไม่ก็เป็นพวกกระบอกเสียง ระดมทุน พวกนี้โปรไฟล์ไม่ธรรมดานะ  หลายคนจบจากต่างประเทศที่บ้านมีเงิน  ไม่ใช่ผู้อพยพกะเหรี่ยงชายแดนไทย ที่กินง่ายอยู่ง่าย อยู่สบายแพร่พันธุ์อย่างเดียว  บางทีเอย่าก็อยากจะบอกไปถึงทางเกาหลีใต้ว่าดูถูกชาวเมียนมาระดับหัวกะทิไปหรือเปล่า

ที่สำคัญภูมิอากาศที่เกาหลีไม่เหมือนไทยนะ  อย่างตอนที่เอย่าเขียนบทความนี้อยู่ที่เมืองยองยางอุณหภูมิสูงสุด 4 องศาต่ำสุด -4 องศา  หนาวขนาดนี้คนเกาหลียังแทบไม่อยู่กันเลย คิดยังไงถึงให้คนเมียนมาที่มาจากเขตร้อนไปอยู่

คิดไปละก็สงสาร สมัยสงครามเกาหลี เอย่าจำได้ว่า พม่าในขณะนั้นส่งข้าวจำนวนหลายตันมาให้คนเกาหลีที่อดอยากเพื่อจะได้มีแรงสร้างชาติ  พอมาดูวันนี้กับความคิดคนเกาหลีใต้ที่ตอบแทนน้ำใจคนพม่าในอดีต เอย่าก็ไม่อยากจะพูดว่า เหมือนหลอกเขามาตายชัดๆ 

เมื่อ VOA ถูกตัดงบ นี่อาจเป็นจุดเริ่มต้นสงครามข่าวสารที่แท้จริง ศึกวัดพลังรัฐบาลสหรัฐฯ กับทุนข้ามชาติที่ต้องการครองสื่อโลก

(17 มี.ค. 68) ถอดรหัส Michael Abramowitz – ใครอยู่เบื้องหลังเสียงโวยวายเรื่อง VOA ถูกตัดงบ? 

"เป็นครั้งแรกในรอบ 83 ปีที่ Voice of America กำลังถูกทำให้เงียบเสียง"

นั่นคือคำแถลงของ Michael Abramowitz ผู้อำนวยการ Voice of America (VOA) หลังจากรัฐบาล โดนัลด์ ทรัมป์ ตัดงบองค์กรสื่อของรัฐอย่างหนัก จนทำให้ นักข่าว โปรดิวเซอร์ และเจ้าหน้าที่กว่า 1,300 คน ถูกพักงานทันที

เสียงวิพากษ์วิจารณ์ดังสนั่น โดย Abramowitz อ้างว่าเรื่องนี้เป็นการทำลายเสรีภาพของสื่อ และเปิดช่องให้ศัตรูของสหรัฐฯ อย่างจีน รัสเซีย และอิหร่าน ขยายอิทธิพล

แต่คำถามคือ "นี่คือเรื่องของเสรีภาพจริง ๆ หรือเป็นเกมแห่งอำนาจ?"

Michael Abramowitz – นักข่าว หรือ นักยุทธศาสตร์?
ชื่อของ Michael Abramowitz อาจดูเหมือนเป็นนักข่าวสายประชาธิปไตยที่ออกมาปกป้องเสรีภาพของสื่อ แต่หากเราขุดลึกลงไป เขาไม่ใช่แค่ผู้อำนวยการ VOA เท่านั้น

เขาเป็นอดีตประธานของ Freedom House องค์กรที่ อ้างว่าเป็นองค์กรอิสระด้านประชาธิปไตย แต่แท้จริงแล้ว ได้รับเงินสนับสนุนโดยตรงจากรัฐบาลสหรัฐฯ และเครือข่ายนายทุนข้ามชาติ

Freedom House มีหน้าที่ จัดอันดับความเป็นประชาธิปไตยของประเทศต่าง ๆ ซึ่งบ่อยครั้ง คะแนนของประเทศที่ไม่เป็นมิตรกับสหรัฐฯ มักต่ำอย่างมีนัยสำคัญ ขณะที่ พันธมิตรของสหรัฐฯ กลับได้รับการจัดอันดับดีกว่าเสมอ

ดังนั้นจึงไม่แปลกครับที่ freedom house ต้องมาจัดอันดับประเทศไทยให้เรตติ้งร่วงทันทีที่รัฐบาลไทยเลี้ยงดูปูเสื่อผู้หลบหนีเข้าประเทศไทยชาวอุยกูรฺ์กว่า 11 ปีและส่งกลับประเทศต้นทางก็คือประเทศจีนนั่นเอง...

แล้วทำไม Abramowitz ต้องออกมาเดือดเรื่อง VOA?
เพราะ VOA เป็นกระบอกเสียงของสหรัฐฯ ที่ใช้เผยแพร่ประชาธิปไตยไปทั่วโลก และทำงานประสานกับองค์กรอย่าง Freedom House หาก VOA ถูกทำให้ไร้ประสิทธิภาพ นั่นหมายถึงอำนาจของ Freedom House ก็จะลดลงไปด้วย

Freedom House – องค์กรอิสระจริง หรือแขนขาของ CIA?
หลายคนอาจมองว่า Freedom House เป็นองค์กรอิสระที่ส่งเสริมประชาธิปไตย แต่เมื่อขุดลึกลงไป เราพบว่ามันมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับรัฐบาลสหรัฐฯ และหน่วยงานข่าวกรอง

กว่า 80% ของงบประมาณมาจากรัฐบาลสหรัฐฯ โดยเฉพาะ กระทรวงการต่างประเทศ (U.S. State Department) และ USAID

ได้รับทุนจาก National Endowment for Democracy (NED) ซึ่งมีประวัติว่าเคยเป็น เครื่องมือของ CIA ในการแทรกแซงรัฐบาลต่างชาติ

ในอดีตมีรายงานว่า Freedom House มีส่วนเกี่ยวข้องกับการปฏิวัติและเปลี่ยนแปลงรัฐบาลในหลายประเทศ เช่น ยูเครน อาหรับสปริง และเวเนซุเอลา

แต่ที่น่าสนใจคือ นอกจากเงินรัฐบาลสหรัฐฯ แล้ว Freedom House ยังได้รับเงินสนับสนุนจากเครือข่ายนายทุนที่ต้องสงสัย

George Soros และทุนลับที่อยู่เบื้องหลัง
หนึ่งในผู้ต้องสงสัยที่เกี่ยวข้องกับเงินทุนของ Freedom House คือ George Soros มหาเศรษฐีชาวอเมริกันที่มีอิทธิพลมหาศาลในวงการการเมืองโลก

Soros เป็นผู้ก่อตั้ง Open Society Foundations (OSF) องค์กรที่ให้ทุนสนับสนุนกลุ่มที่เรียกร้องประชาธิปไตยในหลายประเทศ

OSF เคยถูกกล่าวหาว่า มีส่วนเกี่ยวข้องกับการโค่นล้มรัฐบาลในยุโรปตะวันออกและอเมริกาใต้
Freedom House และ OSF เคยร่วมมือกันในหลายโครงการ รวมถึงการสนับสนุนขบวนการประชาธิปไตยในฮ่องกง

เงินของ Freedom House มาจากรัฐบาลสหรัฐฯ หรือ Soros? หรือทั้งสองฝ่ายต่างทำงานร่วมกัน?
หากคำตอบคือ "ทั้งสองฝ่าย" นั่นหมายความว่า Freedom House ไม่ได้เป็นแค่องค์กรส่งเสริมประชาธิปไตย แต่เป็นเครื่องมือของเครือข่ายทุนข้ามชาติที่ใช้ประชาธิปไตยเป็นเครื่องมือในการแทรกแซงประเทศอื่น

VOA ถูกตัดงบ – ผลกระทบต่อเครือข่าย Soros และพวก Globalist
เมื่อทรัมป์ตัดงบ VOA ไม่ใช่แค่สื่อของรัฐที่ได้รับผลกระทบ แต่มันคือการโจมตีเครือข่ายทั้งหมดที่ใช้ VOA เป็นเครื่องมือ

Freedom House สูญเสียหนึ่งในเครื่องมือสำคัญในการเผยแพร่ประชาธิปไตย

Open Society Foundations ของ Soros อาจได้รับผลกระทบ หาก VOA ไม่สามารถทำงานร่วมกับขบวนการของเขาได้

รัฐบาลสหรัฐฯ ภายใต้ทรัมป์อาจกำลังพยายามลดอิทธิพลของกลุ่มทุนข้ามชาติที่ใช้สื่อเป็นเครื่องมือแทรกแซงการเมือง

สรุป – เรื่องนี้เป็นแค่การตัดงบ หรือเป็นการสกัดอำนาจของพวก Globalists?
สิ่งที่เราพบจากการถอดรหัสคือ นี่ไม่ใช่แค่เรื่องของเสรีภาพสื่อ แต่มันคือ การต่อสู้เชิงอำนาจระหว่างฝ่ายอนุรักษ์นิยมของทรัมป์ กับเครือข่าย Globalists ที่ต้องการควบคุมข้อมูลข่าวสาร

Michael Abramowitz ไม่ใช่แค่ ผู้อำนวยการ VOA แต่เขาคือ อดีตประธานของ Freedom House องค์กรที่ได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลสหรัฐฯ และอาจรวมถึงกลุ่มทุนของ George Soros

การที่เขาออกมาโวยวายเรื่อง VOA จึงไม่ใช่แค่เพราะ "เสรีภาพของสื่อ" แต่เพราะ "อำนาจของเครือข่ายที่เขาอยู่กำลังถูกท้าทาย"

คำถามที่เราต้องคิดต่อคือ "เมื่อทรัมป์กลับมาเป็นประธานาธิบดีอีกครั้ง VOA จะถูกเปลี่ยนเป็นเครื่องมือของฝ่ายอนุรักษ์นิยมแทนหรือไม่?"

และ "Freedom House จะยังเป็นองค์กรอิสระได้จริงหรือ ถ้ามันยังพึ่งพาเงินทุนจากรัฐบาลสหรัฐฯ และเครือข่ายทุนข้ามชาติ?"

นี่อาจเป็นจุดเริ่มต้นของสงครามข่าวสารที่แท้จริง… ระหว่างรัฐบาลสหรัฐฯ กับทุนข้ามชาติที่ต้องการครองสื่อโลก

‘เศรษฐกิจพอเพียง’ ใช่เพียงคำนิยาม แต่คือรากที่มั่นคงของแผ่นดิน หลายนโยบายรัฐบาลเหมือนต้นไม้ที่ไร้รากไม่ก่อประโยชน์อย่างแท้จริง

ในโลกที่ทุกอย่างดูเร่งรีบเหมือนกระแสน้ำที่ไหลเชี่ยว เราอาจคิดว่าเงินที่รัฐแจกให้เด็กอายุ 16-20 ปีนั้นเป็นเหมือนเรือที่ช่วยให้พวกเขาพ้นจากการจมน้ำ หรือการที่รัฐบาลใช้ภาษีซื้อหนี้ให้ประชาชนก็เหมือนลมหายใจใหม่ให้คนที่ติดบ่วงหนี้สิน ส่วนคาสิโนที่กำลังจะตั้งก็ดูเหมือนเส้นทางใหม่ของเศรษฐกิจ แต่ถ้าเรามองให้ลึกกว่านั้น เราอาจพบว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ได้ช่วยให้ต้นไม้ของสังคมเติบโต หากแต่กำลังทำให้รากของมันลอยจากพื้นดิน

1. เงินแจก – รากที่ไม่ได้หยั่งลงดิน

เงินแจกให้เด็กวัยรุ่น ฟังดูเหมือนโอกาส แต่แท้จริงแล้วมันอาจเป็นกับดักที่ทำให้พวกเขาเคยชินกับการได้รับโดยไม่ต้องสร้าง การมีเงินใช้โดยไม่ต้องออกแรง อาจทำให้พวกเขาเข้าใจผิดว่าโลกนี้มีแต่ 'การให้' โดยไม่ต้อง 'แลกเปลี่ยน' เหมือนต้นไม้ที่เติบโตด้วยน้ำฝนที่หยดลงมาตลอดโดยไม่ต้องหยั่งรากลงไปดูดซับจากดิน ท้ายที่สุด เมื่อฝนหยุดตก ต้นไม้นั้นก็จะยืนต้นตาย เพราะไม่เคยมีรากของตัวเอง

2. รัฐล้างหนี้ – สร้างคนที่ไม่ต้องรับผลจากการกระทำของตน

เมื่อรัฐบาลใช้เงินภาษีของทุกคนไปซื้อหนี้ให้คนที่ก่อหนี้ ความรับผิดชอบในการบริหารชีวิตก็ถูกทำให้จางลง มันเหมือนการที่คนหนึ่งใช้ชีวิตฟุ่มเฟือย แต่กลับมีคนอีกกลุ่มต้องมาช่วยจ่ายค่าใช้จ่ายให้ ถ้าเราเปรียบเทียบกับธรรมชาติ นี่ก็เหมือนกับฝูงนกที่ไม่ต้องบินหาอาหารเอง เพราะมีคนมาโยนเศษขนมให้ทุกวัน เมื่อถึงเวลาที่คนหยุดให้อาหาร นกเหล่านั้นก็ไม่สามารถเอาตัวรอดได้ เพราะพวกมันไม่เคยต้องหาอาหารเอง

3. คาสิโน – เมืองมายาที่ดูเหมือนทองคำแต่เต็มไปด้วยโคลน

คาสิโนฟังดูเป็นแหล่งเงินหมุนเวียนใหม่สำหรับเศรษฐกิจ แต่แท้จริงแล้วมันเป็นเศรษฐกิจแบบ 'มายา' คือเงินไม่ได้ถูกสร้างจากผลผลิตที่แท้จริง แต่เป็นการหมุนเงินผ่านการพนันและความหวังลม ๆ แล้ง ๆ ของผู้คน คนรวยยิ่งรวยขึ้น คนจนยิ่งหมดตัว เหมือนแมลงเม่าที่บินเข้ากองไฟ มันให้แสงสว่าง แต่เป็นแสงที่เผาผลาญทุกอย่างโดยที่พวกมันไม่รู้ตัว

เศรษฐกิจพอเพียง – รากที่มั่นคงของแผ่นดิน

เศรษฐกิจพอเพียงไม่ใช่แค่เรื่องของการใช้ชีวิตเรียบง่ายหรือประหยัดเงิน แต่มันคือหลักของ “ความเข้าใจในสัจธรรมของชีวิต” เงินไม่ใช่ของที่ตกจากฟ้าแบบไม่มีที่มา การมีต้องมาจากการสร้าง ผลต้องมาจากการลงแรง ถ้ารัฐสร้างคนให้คุ้นชินกับการได้มาโดยไม่ต้องแลกเปลี่ยน แทนที่จะแก้ปัญหา มันจะกลับทำให้คนรุ่นใหม่อ่อนแอลง ตัดรากถอนโคนการพัฒนาตัวเอง และเมื่อถึงวันที่ต้องเผชิญชีวิตจริง ไม่มีรัฐบาลที่คอยแจกอีกต่อไป พวกเขาจะหลงทางและไม่มีความสามารถในการตั้งตัว

เศรษฐกิจที่แท้จริงต้องเหมือนต้นไม้
มันต้องมีรากหยั่งลึก มีกิ่งก้านแผ่กว้าง และออกผลที่เกิดจากกระบวนการเติบโตตามธรรมชาติ ถ้าเราหลงเชื่อในเงินที่ลอยมาจากฟ้า เราจะเหมือนต้นไม้ที่ไร้ราก พอพายุมา ทุกอย่างก็พังทลาย

สุดท้ายแล้ว เราต้องเลือกเอง ว่าจะเป็นต้นไม้ที่มีรากมั่นคง หรือเป็นเพียงเศษใบไม้ที่ปลิวไปตามลม

พระสนมผู้อาภัพแห่งราชวงศ์ชิง โศกนาฏกรรมแห่งชีวิตที่จบลงก้นบ่อน้ำ

ปลายราชวงศ์ชิงของจีน นับเป็นช่วงยุ่งเหยิงของราชสำนัก เนื่องจากมีภัยจากจักรวรรดินิยมตะวันตกผสมกับชาติในเอเชียที่ต้องการครอบครองพื้นที่ และทรัพยากรของแผ่นดินมังกรแห่งนี้ แต่ภัยภายนอกนั้นยังไม่เท่าภัยภายในที่เกิดขึ้นจากน้ำมือของคนในราชสำนักชิงเอง การฉ้อราษฏร์บังหลวงเป็นเรื่องปกติ การแลกผลประโยชน์กับต่างชาติเพื่อผลประโยชน์ตน เป็นธรรมเนียมที่ผู้รู้เอาตัวรอดมักทำเสมอ การเดินตามโลกไม่ทันด้วยความคิดที่ปิดตนเองจากรอบด้าน หยิ่งทะนงว่าตนคือผู้ครองแผ่นดิน ด้วยรากหยั่งลึกไม่มีสิ่งใดมาสั่นคลอนได้ ปัจจัยเหล่านี้คือสิ่งที่ทำให้จีนมาถึงจุดสิ้นสุดของระบอบจักรพรรดิ โดยมีผู้เร่งปฏิกิริยาอันไม่มีผู้ใดทัดทานได้อย่าง “พระนางซูสีไทเฮา” นางพญาหงส์ผู้อยู่เหนือมังกร

แต่...บทความนี้เรื่องราวหลักไม่ใช่พระนางซูสีไทเฮา แต่เกี่ยวกับพระสนมผู้อาภัพองค์หนึ่งใน “จักรพรรดิกวงซวี่” จักรพรรดิพระองค์ที่ 11 แห่งราชวงศ์ชิง ซึ่งพระสนมองค์นั้นคือพระสนม “เจินเฟย” 

พระสนมเจินเฟย เกิดเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1876 กำเนิดในเผ่าตาตาล่า กองกำลงธงแดงแห่งแมนจู มีบิดาชื่อ “จ่างซวี่” เป็นผู้ช่วยประจำกระทรวงพิธีกรรม มีมารดาแซ่จ้าว และมีพี่สาวต่างมารดาอีก 1 คน ซึ่งภายหลังก็คือพระสนมจิ่นเฟย ตามประวัติ พระสนมเจินเฟยเติบโตในเมืองกว่างโจวซึ่งเป็นเมืองท่าทางตอนใต้ของจีนโดยอาศัยอยู่กับแม่ทัพ“จ่างซ่าน” ผู้เป็นลุง ต้องบอกว่า “กว่างโจว” คือเมืองท่าทางเศรษฐกิจที่สำคัญของจีนในเวลานั้น มีการค้าขายแลกเปลี่ยนทั้งในประเทศ และต่างชาติ เป็นปัจจัยทำให้ผู้คนที่อาศัยอยู่กว่างโจวมีหูตากว้างไกลกว่าคนคนจีนที่อยู่ลึกเข้าไปในแผ่นดินใหญ่ ทำให้อุปนิสัยของพระสนมเจินเฟยนั้นค่อนข้างแตกต่างกับหญิงสาวคนอื่น ๆ ในรุ่นราวคราวเดียวกันพอสมควร 

พระสนมเจินเฟยได้ย้ายจากกว่างโจวไปปักกิ่งเมื่อตอนอายุ 10 ปี จนเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ ค.ศ.188๙ ก่อนวันเกิดของพระสนมเพียง 1 วัน ในวัยย่าง 13 ปี พระสนมเจินเฟย และพระสนมจิ่นเฟยพี่สาวผู้มีอายุ 15 ปี ก็ได้รับคัดเลือกเข้าวังไปเป็นนางกำนัล จนเวลาผ่านไป 5 ปี ทั้งคู่จึงได้เป็นพระสนมใน “จักรพรรดิกวงซวี่” 

เจาะจงไปที่พระสนม “เจินเฟย” นั้นมีหน้าตาที่ค่อนข้างดี ดูน่ารัก แต่สิ่งที่ต่างจากพี่สาว และผู้หญิงในวังคนอื่น ๆ คืออุปนิสัยร่าเริง สดใส ตรงไปตรงมา กระตือรือร้น และมีความคิดที่เปิดกว้าง พร้อมรับสิ่งใหม่ๆ อาจเพราะด้วยนางได้เคยอยู่ที่กว่างโจวมาตั้งแต่ยังเล็ก ทำให้มีความรู้ติดตัวมาซึ่งนี่นับเป็นพรอันประเสริฐของนาง แต่ก็เป็นคำสาปร้ายที่ทำให้บั้นปลายของนางจบด้วยความรันทด โดยผู้บันดาลพร และคำสาปนั้นมาจากพระนางซูสีไทเฮาป้าแท้ ๆ ของจักรพรรดิกวงซวี่นั่นเอง 

ว่ากันว่าแรกเริ่มเดิมทีนั้นพระนางซูสีไทเฮา โปรดในทักษะความสามารถของพระสนมเจินเฟยเป็นอย่างยิ่ง ทรงว่าจ้างศิลปินชั้นนำของประเทศมาสอนพระสนมในด้านศิลปะ ด้านการดนตรี และด้านอักษรเพิ่มเติมอีกด้วย ทั้งยังรับสั่งให้ช่วยตรวจสอบเอกสารราชการ บางครั้งคราวก็ได้รับมอบหมายให้เขียนอักษรมงคลเพื่อเป็นของขวัญแด่เหล่าขุนนางในวัง ซึ่งนางปฏิบัติหน้าที่ได้โดยไม่ขาดตกบกพร่อง เรียกว่าถูกใจพระนางซูสีไทเฮาเป็นอย่างยิ่ง

ซึ่งมีบันทึกยืนยันตรงกันว่าพระสนมเจินเฟยนั้นเชี่ยวชาญทั้งวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ เล่นดนตรีได้ วาดรูปเป็น เขียนอักษรศิลป์ได้ และช่ำชองการเล่นหมากรุก เรียกว่าครบเครื่อง นอกจากนี้เมื่อเข้าวังแล้ว พระสนมเจินเฟย ยังมีความสนใจด้านการถ่ายภาพ ซึ่งแตกต่างไปจากคนจีนสมัยนั้นที่ยังคิดว่ากล้องถ่ายภาพคือเครื่องมือดูดวิญญาณ (พระนางซูสีกับเหล่าขันทีกลับถ่ายภาพกันเพียบ ย้อนแย้งจริงๆ) แต่พระสนมกลับไม่มีความเชื่อนี้อยู่ในหัวเลยแม้แต่น้อย แน่นอนว่าบุคลิกแบบนี้จึงทำให้ “จักรพรรดิกวงซวี่” ซึ่งมีหัวค่อนข้างสมัยใหม่ โปรดปรานนางเป็นยิ่งนัก ทั้งสองมักจะใช้เวลาร่วมกันในการถ่ายภาพ ด้วยรูปแบบที่คล้ายกับผลงานของชาวตะวันตก กล่าวกันว่าในปี ค.ศ. 18๙4 พระสนมเจินเฟย ได้สั่งซื้อกล้องถ่ายภาพ และอุปกรณ์ครบชุดจากนอกพระราชวัง ซึ่งนางเป็นชาววังคนแรกที่นำกล้องถ่ายภาพเข้ามาใช้ในวังหลวง โดยอุปกรณ์ประกอบการถ่ายภาพที่มีทั้งฉากที่เอื้อกับการโพสต์ท่า เครื่องแต่งกายแบบตะวันตก หรือการแต่งกายแบบแฟนซี 

เมื่อได้อุปกรณ์มากพระสนมก็ขลุกอยู่แต่ในตำหนักจิ่งเหรินกงของตนเพื่อเรียนรู้เทคนิคการถ่ายภาพ ไม่เพียงถ่ายภาพตนเอง แต่ยังถ่ายภาพจักรพรรดิกวงซวี่รวมทั้งบรรดาข้าราชบริพาร อีกทั้งถวายการสอนเทคนิคการถ่ายภาพแด่องค์จักรพรรดิถึงพระที่นั่งหย่างซินเตี้ยน อันเป็นที่ประทับขององค์จักรพรรดิด้วย เรียกว่าไม่นำพาธรรมเนียมของราชสำนัก นอกไปจากการถ่ายภาพแล้ว พระสนมยังสนทนากับองค์จักรพรรดิในหลาย ๆ เรื่อง โดยเฉพาะประเด็นทางการเมือง ซึ่งแน่นอนพระสนมสนับสนุนให้องค์จักรพรรดิดำเนินการปฏิรูปบ้านเมือง เพื่อกอบกู้ประเทศที่กำลังประสบปัญหาจากรอบด้าน รวมไปถึงสะสางปัญหาการแทรกแซงการปกครองจากภายใน ซึ่งนั่นไม่รอดพ้นหูตาของพระพันปีซูสีไทเฮา 

การไม่โปรดพระสนมเจินเฟย ของพระนางซูสีไทเฮานั้นนอกจากความเป็นคนหัวสมัยใหม่เกินงามแล้ว ยังเกิดจากการไม่ยอมอยู่ในแผนงานของพระนางนั่นเอง ในแผนการของพระนางก็คือดันพระนัดดาในพระองค์คือ “พระนางหลงยฺวี่” ซึ่งมาจากเผ่าเยเฮ่อน่าลา เผ่าเดียวกับพระนางซูสีไทเฮา ให้ขึ้นเป็นพระจักรพรรดินีเพื่อจะครอบงำราชสำนักให้เบ็ดเสร็จ (จักรพรรดิก็เป็นหลาน และจักรพรรดินีก็เป็นญาติจักรพรรดิ เป็นหลานของพระองค์อีก) แต่เรื่องแบบนี้ปรบมือข้างเดียวมันไม่ดัง เพราะจักรพรรดิกวงซวี่ดันไม่สนใจพระนางหลงยฺวี่เลยแม้แต่นิดเดียว แถมยังไปประทับอยู่กับพระสนมเจินเฟยแทบจะเป็นประจำ 

แม้พระนางซูสีไทเฮาทรงอยากให้ทั้งสองพระองค์นั้นรักใคร่กัน แต่ยิ่ง “พระนางหลงยฺวี่” พยายามเข้าหาองค์จักรพรรดิเท่าไหร่ พระองค์ก็ยิ่งทำนิ่งเฉยจนกลายเป็นเหินห่างมากขึ้นเท่านั้น เมื่อเป็นเช่นนี้ความประสงค์ของพระนางซูสีไทเฮาที่หวังจะใช้ “พระนางหลงยฺวี่” คอยกำกับดูแลจักรพรรดิกวงซวี่ก็ลดน้อยถอยลง ส่วน “พระนางหลงยฺวี่” เมื่อได้รับการปฏิบัติอย่างเย็นชาจากองค์จักรพรรดิหลายต่อหลายครั้งก็เลยเป็นแรงแค้นผลักให้พระองค์เดินหน้าจัดการพระสนมคนโปรดขององค์จักรพรรดิด้วยการเพ็ดทูลเรื่องราวต่าง ๆ อันเป็นภัยต่อพระสนมเจินเฟย โดยเฉพาะทรงเล่าเรื่องเกินจริงเกี่ยวกับความคิดที่จะก่อกบฏต่อพระนางซูสีไทเฮา

การลงโทษสนมเจินเฟยนั้นมีมาอย่างต่อเนื่องโดยเริ่มจากการชอบแต่งกายถ่ายภาพ โดยเวลาตามเสด็จจักรพรรดิกวงซวี่พระสนมมักแต่งตัวเป็นขุนนาง ถักเปียยาว สวมหมวกสีแดงแบบราชวงศ์ชิง แล้วก็ถ่ายภาพร่วมกับองค์จักรพรรดิ ซึ่งพฤติกรรมผิดกฏของวังหลวงเมื่อเรื่องนี้ถึงพระกรรณของพระนางซูสีไทเฮา พระองค์ทรงกริ้วอย่างมากก่อนจะสั่งลงโทษพระสนมเจินเฟยด้วยการตบปากซึ่งถามว่าพระสนมเข็ดไหม ? ตอบเลยว่าไม่ ? 

วิบากต่อมาก็สืบเนื่องจากการที่พระสนมชื่นชอบการถ่ายภาพอีกนั่นแหละ เลยคิดการเปิดร้านถ่ายภาพโดยดำเนินการผ่านขันทีประจำตำหนักของพระสนมนามว่า “ไต้อันผิง” ซึ่งเขามักออกไปยังร้านถ่ายภาพนอกวังหลวง ซึ่งไม่รอดพ้นสายพระเนตรของพระนางซูสีไทเฮา พระนางได้ทราบว่าพระสนมเจินเฟยได้นำเงินเก็บไปเปิดร้านถ่ายภาพ เมื่อทราบดังนั้นพระนางจึงมีรับสั่งให้ปิดร้านถ่ายภาพ สั่งประหารชีวิตไต้อันผิง และโบยพระสนมเจินเฟยซึ่งกำลังตั้งครรภ์ 3 เดือนจนแท้งลูก อีกทั้งก่อให้เกิดอาการของโรคทางนรีเวช (เกี่ยวกับระบบสืบพันธ์) ทำให้ไม่สามารถตั้งครรภ์ได้อีก (อันนี้เดาว่าไหน ๆ ก็ไหน ลงโทษทั้งทีก็จัดการไม่ให้สามารถกำเนิดโอรสสวรรค์ได้ซะเลย) 

นอกจากนี้พระสนมยังถูกกล่าวโทษว่าไปพัวพันกับการซื้อขายตำแหน่งขุนนาง (อันนี้เพียงแต่กล่าวโทษแต่ไม่ได้ระบุว่าจริงหรือไม่) แต่ประเด็นที่โดนเพ่งเล็งที่สุดคือความคิดเห็นที่มีทีท่าสนับสนุนให้จักรพรรดิกวงซวี่ปฏิรูปประเทศ เนื่องจากความเสื่อมโทรมของประเทศที่เกิดขึ้นจากทั้งภายนอกที่ถูกเอารัดเอาเปรียบจากชาติจักรวรรดินิยม และภายในประเทศที่เกิดจากความล้าหลังของระบบการปกครอง ทำให้องค์จักรพรรดิมีแนวคิดดังกล่าว พระองค์ได้ร่วมมือกับ คังโหย่วเหวย เหลียงฉี่เชา และขุนทหารอย่าง หยวนซื่อไข่ โดยมีเป้าหมายหลักคือปฏิรูปโครงสร้างทางการเมือง เศรษฐกิจ การทหาร การศึกษาให้เทียบเท่าอารยประเทศ อันมีผลกระทบโดยตรงต่อพระนางซูสีไทเฮา เพราะจะปฏิรูปได้นั้นต้องยึดอำนาจคืนจากพระนาง แต่ทว่าการปฏิรูปเดินหน้าไปเพียงแค่ 103 วัน ก็ต้องล้มเหลวเนื่องจากมีการหักหลังจากผู้เสียประโยชน์ และผู้ที่ต้องการผลประโยชน์เหนือราชสำนักอย่าง หยวนซื่อไข่ ทำให้นักปฏิรูปถูกจับ และโดนประหาร ส่วนองค์จักรพรรดิก็ถูกนำไปกักตัวไว้ที่เกาะกลางทะเลสาบในพระราชวังฤดูร้อน โดยมีขันทีคอยดูแล ส่วนพระสนมเจินเฟยถูกโบยและนำไปจองจำที่ตำหนักเย็น

จนมาในปี ค.ศ. 1900 เกิดเหตุกองกำลังผสม 8 ชาติบุกปักกิ่ง ด้วยเหตุที่พระนางซูสีไทเฮาไปสนับสนุนกบฏนักมวยให้ทำร้ายชาวต่างชาติ พระนางจึงทรงคิดจะลี้ภัยไปซีอาน โดยเชิญเสด็จ ฯ จักรพรรดิกวงซวี่ไปด้วย ซึ่งตามบันทึกก่อนหน้าที่จะเสด็จลี้ภัย พระนางซูสีไทเฮาได้ทรงเบิกตัวสนมเจินเฟยมาเฝ้าและมีรับสั่งว่า

“เมื่อแรกเราตั้งใจจะนำเจ้าไปกับเราด้วย แต่เจ้านั้นยังอ่อนวัยและจิ้มลิ้มนัก เกรงว่าจะถูกพวกทหารต่างชาติกระทำทารุณข่มขืนเอาได้ ดังนั้น เราเชื่อว่าเจ้าคงเข้าใจว่าควรทำเช่นไรต่อไป” 

ซึ่งก็ชัดเจนว่าพระสนมนั้นไม่ได้รับอนุญาตให้ตามไป ทั้งยังให้กระทำ “อัตวินิบาตกรรม” แต่พระสนมไม่เพียงแต่จะไม่ทำตามแล้ว พระสนมเจินเฟยกลับหาญกล้าทูลฯ พระนางไปว่าอยากจะขอให้องค์จักรพรรดิได้ทรงอยู่ในนครปักกิ่ง เพื่อให้ชาวจีนได้มีกำลังใจสู้กลับกับแปดชาติที่รุกราน (อันนี้เหมือนนิยายไปหน่อย แต่อ่านเพลินดี) เมื่อพระนางทรงได้ยินดังนั้นก็ทรงกริ้วเป็นอย่างมาก จึงรับสั่งให้ “ชุยอวี้กุ้ย” ขันทีคนสนิท พาเหล่าขันทีจับพระสนมเจินเฟยโยนลงบ่อน้ำด้านหน้าตำหนักหนิงโซ่วกง (ผมจำได้ว่าเคยไปชมบ่อน้ำที่ว่านี้อยู่) จนสิ้นใจในบ่อน้ำนั้น จากนั้นพระนางก็มีรับสั่งให้เผาทำลายข้าวของทั้งหมดของนาง รวมทั้งภาพถ่ายจำนวนมากที่นางเคยถ่าย ปัจจุบันจึงเหลือภาพของพระสนมเจินเฟยเพียงภาพเดียว (ภาพปกที่เห็นอยู่นี่เอง)

ผ่านไปราวปีครึ่ง พระนางซูสีไทเฮาก็เชิญเสด็จฯ จักรพรรดิกวงซวี่กลับนครปักกิ่ง พร้อมรับสั่งให้งมศพของพระสนมเจินเฟยขึ้นมาฝังที่ “เอินจี้จวง” ซึ่งเป็นสุสานสำหรับขันทีหรือนางกำนัล ดังนั้นการฝังศพของพระสนมไว้ ณ ที่แห่งนี้จึงเป็นการหลู่เกียรติ อันเป็นการลงโทษในฐานความผิดครั้งสุดท้ายของพระสนมเจินเฟินแม้จะสิ้นชีพไปแล้วก็ตาม

รู้จัก ‘กองทัพแดงญี่ปุ่น’ หนึ่งในกลุ่มก่อการร้ายสะท้านโลก จากจุดเริ่มต้นหวังโค่นล้มราชวงศ์ญี่ปุ่นสู่ปฏิบัติการป่วนโลกทุกรูปแบบ

ผู้อ่านหลาย ๆ ท่านคงอยากจะไม่เชื่อว่า ชาวญี่ปุ่นในปัจจุบันซึ่งผู้คนดูเหมือนว่า รักความสงบและไม่นิยมความรุนแรง แต่ครั้งหนึ่งเคยมีองค์กรก่อการร้ายในระดับสากลที่ชื่อว่า “กองทัพแดงญี่ปุ่น” (Japanese Red Army หรือ 日本赤軍 (Nihon Sekigun)) องค์กรก่อการร้ายแห่งนี้ก่อตั้งขึ้นในปี 1971 โดย Tsuyoshi Okudaira (ผู้นำระหว่าง 1971–พฤศจิกายน 1987) และ Fusako Shigenobu (ผู้นำระหว่าง พฤศจิกายน 1987–เมษายน 2001) “กองทัพแดงญี่ปุ่น” แยกตัวออกมาจาก “สันนิบาตคอมมิวนิสต์แห่งญี่ปุ่น” 

นอกจากนี้ “กองทัพแดงญี่ปุ่น” ยังเป็นที่รู้จักในนามว่า “กองพลต่อต้านจักรวรรดินิยมสากล (the Anti-Imperialist International Brigade : AIIB)” หรือ “กองพลสงครามศักดิ์สิทธิ์ (the Holy War Brigade)” หรือ “แนวร่วมต่อต้านสงครามประชาธิปไตย (the Anti-War Democratic Front)” ซึ่งมีเป้าหมายที่จะทำการโค่นล้มรัฐบาลญี่ปุ่นและโค่นล้มราชวงศ์ญี่ปุ่น รวมทั้งเริ่มการปฏิวัติโลก เครือข่ายของกลุ่มได้แพร่หลายอยู่ในหลายประเทศในเอเชีย เชื่อกันว่าฐานที่มั่นอยู่ในประเทศเลบานอนตั้งแต่ 1977 และมีความสัมพันธ์ที่ค่อนข้างใกล้ชิดกับองค์การปลดปล่อยปาเลสไตน์

หนึ่งในผู้ก่อตั้ง Fusako Shigenobu หลังจากเรียนมัธยมปลายเธอเข้าทำงานให้กับบริษัท Kikkoman พร้อมทั้งเรียนหลักสูตรปริญญาตรีภาคค่ำที่มหาวิทยาลัยเมจิ จนสำเร็จการศึกษาศิลปะศาสตร์บัณฑิตสาขาเศรษฐศาสตร์การเมืองและประวัติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเมจิ โดยขณะนั้นเองเธอได้เข้าร่วมขบวนการนักศึกษาที่ทำการประท้วงการขึ้นค่าเล่าเรียน และทำให้เธอได้เคลื่อนไหวในขบวนการนักศึกษาฝ่ายซ้ายทั่วไป (Zengakuren) ในทศวรรษ 1960 จนกระทั่งเธอได้ก้าวขึ้นมาเป็นหนึ่งในผู้นำระดับสูงของ Zengakuren และร่วมก่อตั้งกองทัพแดงญี่ปุ่น ซึ่งมีรากฐานจากพรรคคอมมิวนิสต์ฝ่ายซ้ายใหม่ที่สนับสนุนการปฏิวัติผ่านการก่อการร้าย เธอและพรรคพวกได้จัดตั้งกลุ่มของตัวเองประกาศสงครามกับรัฐบาลญี่ปุ่นในเดือนกันยายน 1969 แต่ตำรวจญี่ปุ่นก็สามารถจับกุมสมาชิกหลายคนได้อย่างรวดเร็วรวมถึง Tsuyoshi Okudaira ผู้ก่อตั้งและผู้นำทางความคิด ซึ่งถูกจำคุกในปี 1970 สมาชิกส่วนที่เหลือได้รวมเข้ากับกลุ่มลัทธิเหมา (the Maoist Revolutionary Left Wing of the Japanese Communist Party) จัดตั้ง United Red Army (連合赤軍 (Rengō Sekigun)) ในเดือนกรกฎาคม 1971 กลุ่มนี้มีชื่อเสียงจากเหตุการณ์ Asama-Sanso ซึ่งเป็นการกวาดล้างจับกุมสมาชิกสิบสองคนในค่ายฝึกลับบนภูเขาฮารุนะ โดยกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจญี่ปุ่นหลายร้อยนายทำการปิดล้อมนานถึงหนึ่งสัปดาห์

กุมภาพันธ์ 1917 Fusako Shigenobu และ Tsuyoshi Okudaira พร้อมสมาชิกติดตามประมาณ 40 คน ได้เดินทางออกจากญี่ปุ่นไปยังประเทศในตะวันออกกลาง ตั้งแต่ปี 1970 “กองทัพแดง” ได้ดำเนินการก่อการร้ายครั้งใหญ่หลายครั้ง รวมถึงการจี้เครื่องบินของสายการบินเจแปนแอร์ไลน์หลายลำ การสังหารหมู่ที่สนามบิน Lod ในกรุงเทลอาวีฟ (1972) อิสราเอล ซึ่งทำให้ “กองทัพแดงญี่ปุ่น” กลายเป็นหนึ่งในกลุ่มซ้ายติดอาวุธที่มีชื่อเสียงที่สุดในโลก ตั้งแต่ปี 1971 กองทัพแดงญี่ปุ่นมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับแนวร่วมเพื่อการปลดปล่อยปาเลสไตน์ (The Popular Front for the Liberation of Palestine : PFLP) และ Wadie Haddad ในปี 1972 United Red Army ในญี่ปุ่นก็สลายตัว และกลุ่มของ Shigenobu จึงพึ่งพาอาศัย PFLP ในการจัดหาเงินทุน การฝึกอบรม และอาวุธยุทโธปกรณ์และการบุกยึดสถานทูตในประเทศต่าง ๆ ในปี 1971–72 องค์กรได้เกิดความขัดแย้งจนนำไปสู่การต่อสู้ภายในกลุ่มกันอย่างรุนแรงจนมีการสังหารชีวิตสมาชิก 14 คนโดยสมาชิกกองทัพแดงด้วยกัน การสังหารเหล่านี้สร้างความตกตะลึงให้กับประชาชนญี่ปุ่น และตามมาด้วยรัฐบาลญี่ปุ่นได้ดำเนินคดีกับผู้ก่อเหตุจำนวนมาก แม้ว่ากองทัพแดงจะยังมีขนาดเล็ก แต่กิจกรรมก่อการร้ายของกองทัพแดงยังคงดำเนินต่อไปจนถึงช่วงทศวรรษ 1990 ในช่วงต้นศตวรรษที่ 21 สมาชิกหลายคนถูกขับไล่ออกจากจอร์แดนและส่งตัวกลับญี่ปุ่นซึ่งทำให้พวกเขาถูกจับกุมและดำเนินคดี

ในช่วงทศวรรษที่ 1970 ถึง 1980 กองทัพแดงญี่ปุ่นได้ปฏิบัติการโจมตีทั้งในญี่ปุ่นและทั่วโลกหลายครั้งได้แก่ :

1. เมื่อ 31 มีนาคม 1971: สมาชิกเก้าคน (รุ่นก่อนกองทัพแดงญี่ปุ่นซึ่งผู้นำเคยเป็นส่วนหนึ่งของพรรคคอมมิวนิสต์ก่อนที่พวกเขาจะถูกขับออกไป) ได้จี้เครื่องบิน Boeing 727 JAL 351 ซึ่งเป็นเที่ยวบินภายในประเทศญี่ปุ่น บรรทุกผู้โดยสาร 129 คนจากสนามบินนานาชาติโตเกียว ไปยังเกาหลีเหนือ

2. เมื่อ 30 พฤษภาคม 1972: การสังหารหมู่ที่สนามบิน Lod กรุงเทลอาวีฟ อิสราเอล (ปัจจุบันคือสนามบินนานาชาติเบนกูเรียน) ด้วยปืนและระเบิดทำให้มีผู้เสียชีวิต 26 คน อีกประมาณ 80 คนได้รับบาดเจ็บ หนึ่งในสามของผู้ก่อการร้ายฆ่าตัวตายด้วยระเบิดมือ อีกคนถูกยิงระหว่างการต่อสู้ ผู้ที่รอดชีวิตเพียงคนเดียวคือ Kōzō Okamoto โดยเหยื่อหลายคนเป็นผู้แสวงบุญชาวคริสต์ 

3. กรกฎาคม 1973: สมาชิกกองทัพแดงญี่ปุ่นจี้เครื่องบิน JAL 404 เหนือเนเธอร์แลนด์ ผู้โดยสารและลูกเรือได้รับการปล่อยตัวในลิเบีย แล้วผู้จี้ก็ทำการระเบิดเครื่องบินทิ้ง

4. มกราคม 1974: เหตุการณ์ Laju กองทัพแดงญี่ปุ่นโจมตีโรงงานเชลล์ในสิงคโปร์ และจับตัวประกันห้าคน ในเวลาเดียวกัน PFLP ได้ยึดสถานทูตญี่ปุ่นในคูเวต ตัวประกันถูกแลกเปลี่ยนด้วยค่าไถ่ และสมาชิก PFLP เดินทางไปยังเยเมนใต้ได้อย่างปลอดภัย

5. เมื่อ 13 กันยายน 1974 : สถานทูตฝรั่งเศสในกรุงเฮก เนเธอร์แลนด์ถูกบุกโจมตี เอกอัครราชทูตและคนอื่น ๆ อีกสิบคนถูกจับเป็นตัวประกัน และ Joke Remmerswaal ตำรวจหญิงดัตช์ถูกยิงที่ด้านหลังเจาะปอด หลังจากการเจรจาเป็นเวลานานตัวประกันได้รับการปลดปล่อยโดยแลกกับการปล่อยตัวสมาชิกกองทัพแดง (Yatsuka Furuya) ที่ถูกจำคุก เงินสด 300,000 ดอลลาร์ และเครื่องบินเดินทางไปยังเมืองเอเดนทางใต้ของเยเมน เป็นครั้งแรกซึ่งพวกเขาไม่ได้ตอบรับ จากนั้นไปยังซีเรีย แต่ซีเรียไม่ยอมรับการจับตัวประกันเพื่อเรียกค่าไถ่ และบังคับให้พวกเขาต้องคืนค่าไถ่

6. สิงหาคม 1975: กองทัพแดงญี่ปุ่นจับตัวประกันมากกว่า 50 คนที่อาคาร AIA ซึ่งเป็นที่ตั้งของสถานทูตหลายแห่งในกรุงกัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย ตัวประกันรวมถึงกงสุลสหรัฐฯและอุปทูตสวีเดน โดยสมาชิก 5 คนที่ถูกคุมขังถูกปล่อยตัว และเดินทางไปลิเบีย

7. เมื่อ 11 สิงหาคม 1976: ในนครอิสตันบูล ตุรกี มีผู้เสียชีวิต 4 คนและบาดเจ็บ 20 คน โดย PFLP และสมาชิกกองทัพแดงญี่ปุ่นทำการโจมตีสนามบินอตาเติร์ก นครอิสตันบูล

8. กันยายน 1977: กองทัพแดงญี่ปุ่นจี้เครื่องบิน JAL 472 เหนืออินเดีย และบังคับให้ลงจอดที่กรุงธากา บังกลาเทศ รัฐบาลญี่ปุ่นยอมปล่อยตัวสมาชิกกลุ่ม 6 คนที่ถูกคุมขัง และมีข่าวว่า ต้องจ่ายค่าไถ่อีก 6 ล้านดอลลาร์ด้วย

9. ธันวาคม 1977: ผู้ต้องสงสัยว่าเป็นสมาชิกคนเดียวของกองทัพแดงญี่ปุ่นได้จี้เครื่องบินมาเลเซียแอร์ไลน์ 653 ซึ่งมีเอกอัครราชทูตคิวบาประจำญี่ปุ่น Mario Garcia อยู่ด้วย แต่เครื่องบิน Boeing 737 ลำดังกล่าวตกทำให้คนบนเครื่องทั้งหมดเสียชีวิต

10. พฤศจิกายน 1986: Fusako Shigenobu ร่วมมือกับ New People’s Army ซึ่งเป็นของพรรคคอมมิวนิสต์ฟิลิปปินส์ลักพาตัว Nobuyuki Wakaouji ชาวญี่ปุ่น ผู้จัดการ Mitsui & Co. สาขามะนิลา ในกรุงมะนิลา ฟิลิปปินส์

11. พฤษภาคม 1986: กองทัพแดงยิงปืนครกใส่สถานทูตญี่ปุ่นในแคนาดา และสหรัฐอเมริกา ในกรุงจาการ์ตา อินโดนีเซีย 

12. มิถุนายน 1987: เกิดการโจมตีด้วยปืนครกแบบเดียวกันกับสถานทูตอังกฤษและสหรัฐอเมริกาในกรุงโรม อิตาลี 

13. เมษายน 1988: สมาชิกกองทัพแดงญี่ปุ่นวางระเบิดสโมสรสันทนาการทหารของสหรัฐฯ (USO) ในเมืองเนเปิลส์ อิตาลี มีผู้เสียชีวิต 5 ราย

14. ในเดือนเดียวกัน (เมษายน 1988) Yū Kikumura สมาชิกฝ่ายปฏิบัติการ กองทัพแดงญี่ปุ่นถูกจับพร้อมกับวัตถุระเบิดบนทางหลวง New Jersey Turnpike ซึ่งดูเหมือนจะตรงกับการวางระเบิด USO เขาถูกตัดสินว่า มีความผิดในข้อหาเหล่านี้ และถูกจำคุกในเรือนจำของสหรัฐอเมริกาจนกระทั่งได้รับการปล่อยตัวในเดือนเมษายน 2007 เมื่อกลับมาถึงญี่ปุ่นเขาก็ถูกจับกุมทันทีในข้อหาใช้หนังสือเดินทางปลอม

Fusako Shigenobu มีบุตรสาวหนึ่งคน ซึ่งเกิดในปี 1973 ที่กรุงเบรุต เลบานอน ปัจจุบันเป็นนักข่าวชื่อว่า Mei Shigenobu เธอเคลื่อนไหวในตะวันออกกลางมากว่า 30 ปี การเคลื่อนไหวของเธอเป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือเพื่อความเป็นปึกแผ่นของการปฏิวัติระหว่างประเทศ โดยมีแนวคิดว่า ขบวนการปฏิวัติควรร่วมมือกัน และนำไปสู่การปฏิวัติสังคมนิยมระดับโลกในที่สุด จุดหมายปลายทางของเธอคือ เลบานอน และเป้าหมายของเธอคือ สนับสนุนชาวปาเลสไตน์ เดิมเธอเข้าร่วมแนวร่วมเพื่อการปลดปล่อยปาเลสไตน์ (PFLP) ในฐานะอาสาสมัคร แต่ในที่สุดกองทัพแดงญี่ปุ่นก็กลายเป็นกลุ่มอิสระ เธอกล่าวในหนังสือหลายเล่มของเธอว่า "เป้าหมายของภารกิจคือการรวมกลุ่มพันธมิตรในการปฏิวัติระหว่างประเทศเพื่อต่อต้านจักรวรรดินิยมของโลก" Shigenobu ถูกระบุว่า เป็นบุคคลที่ต้องการตัวโดย INTERPOL ในปี 1974 หลังจากการจับตัวประกันที่สถานทูตฝรั่งเศสในกรุงเฮก ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจเนเธอร์แลนด์เชื่อว่าเธอมีส่วนเกี่ยวข้อง

ตามเอกสารของ Shigenobu ที่ยึดได้เมื่อเธอถูกจับ และหนังสือพิมพ์รายงานข่าวเรื่องนี้ว่า เธอเดินทางเข้าประเทศญี่ปุ่นอย่างผิดกฎหมายโดยใช้หนังสือเดินทางปลอม ซึ่งเธอได้มาโดยผิดกฎหมายด้วยการแอบอ้างตัวเองเป็นบุคคลอื่น Shigenobu เดินทางเข้าและออกจากสาธารณรัฐประชาชนจีนซ้ำแล้วซ้ำเล่าถึง 16 ครั้งจากสนามบินนานาชาติคันไซตั้งแต่ธันวาคม 1997 ถึงกันยายน 2000 ตั้งแต่ปี 1990 เธอได้ก่อตั้ง "พรรคปฏิวัติประชาชน" เพื่อจุดประสงค์ที่จะ "การปฏิวัติด้วยกองกำลังติดอาวุธ" ในญี่ปุ่น โดยมีองค์กรบังหน้าคือ "ศตวรรษที่ 21 แห่งความหวัง" ซึ่งรับผิดชอบงานด้านกิจกรรมสาธารณะ ว่ากันว่าเธอใช้องค์กรนี้เป็นหลักในการวางแผนร่วมมือกับพรรคสังคมนิยมญี่ปุ่น หลังจากนั้นเธอก็ซ่อนตัวอยู่ในอพาร์ตเมนต์แห่งหนึ่งใน Nishinari Ward โอซาก้า อยู่ช่วงหนึ่ง ในปี 2000 สำนักงานรักษาความมั่นคงสาธารณะ ส่วนที่ 3 โอซาก้า ซึ่งกำลังทำการตรวจสอบผู้สนับสนุนกองทัพแดงญี่ปุ่น และได้เริ่มสอบสวนบุคคลที่ติดต่อกับผู้หญิงที่มีลักษณะคล้ายกับ Shigenobu โดยเธอมีปานบนใบหน้าแต่ซ่อนไว้ด้วยการแต่งหน้า อย่างไรก็ตามรอยนิ้วมือของเธอก็ถูกเก็บรวบรวมจากถ้วยกาแฟที่ผู้หญิงคล้ายกับ Shigenobu ใช้ อีกทั้งวิธีการสูบบุหรี่ของหญิงผู้ต้องสงสัยก็คล้ายกับ Shigenobu และเธอมักไปดื่มในสถานที่แห่งหนึ่งเป็นประจำ เมื่อสำนักงานรักษาความมั่นคงสาธารณะฯ พบว่า ลายนิ้วมือที่เก็บมาได้ตรงกับลายนิ้วมือของ Shigenobu เป็นเวลา 26 ปีหลังจากการจี้จับตัวประกันที่สถานทูตฝรั่งเศสในกรุงเฮก ปี 1974 Shigenobu ก็ถูกจับกุมเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2000 ในเมืองทาคาสึกิ นครโอซาก้า ซึ่งเธอซ่อนตัวอยู่ เธอถูกส่งตัวจากโอซาก้าไปยังกรมตำรวจนครบาลในกรุงโตเกียว และถูกควบคุมในห้องส่วนตัวของ "รถด่วนสีเขียว" Tokaido Shinkansen เพื่อป้องกันการหลบหนี ชาวญี่ปุ่นต่างตื่นตกใจเมื่อเห็นหญิงวัยกลางคนที่ถูกใส่กุญแจมือลงจากรถไฟที่มาถึงกรุงโตเกียว เมื่อ Shigenobu เห็นบรรดากล้องที่รอทำข่าวอยู่เธอก็ชูนิ้วโป้งขึ้น และตะโกนใส่ผู้สื่อข่าวว่า "ฉันจะสู้ต่อไป!"

เธอถูกตัดสินจำคุก 20 ปีเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2006 และได้รับคำพิพากษาขั้นสุดท้ายจากศาลสูงสุดของญี่ปุ่นในปี พ.ศ. 2010 ด้วยเงื่อนไขเดียวกัน การฟ้องร้องเธอในสามข้อหาคือ (1)การใช้หนังสือเดินทางปลอม (2)ช่วยเหลือสมาชิกกองทัพแดงคนอื่น ๆ ในการทำหนังสือเดินทางปลอม และ(3)พยายามฆ่าคนตายโดยมีการวางแผนและสั่งการ กักขังและจับตัวประกันในปี 1974 ที่สถานทูตฝรั่งเศสในกรุงเฮก เนเธอร์แลนด์ Shigenobu สารภาพผิดในสองข้อหาแรก แต่ถูกตัดสินว่า ไม่มีความผิดในข้อหาที่เชื่อมโยงเธอกับการจับตัวประกันสถานทูตใน 1974 ในบรรดาพยานของเธอที่ปรากฏตัวในศาลสำหรับการสู้คดีคือ ซึ่งเป็นที่รู้จักจากการจี้เครื่องบิน TWA Flight 840 ในปี 1969 และปัจจุบันเป็นสมาชิกของสภาแห่งชาติปาเลสไตน์ ในคำพิพากษาสุดท้ายของเธอ ผู้พิพากษาระบุว่า ไม่มีหลักฐานที่แน่ชัดว่า เธอมีส่วนเกี่ยวข้องกับการยึดสถานทูตด้วยอาวุธ ซึ่งส่งผลให้ตำรวจสองนายได้รับบาดเจ็บ หรือข้อหาพยายามฆ่า แต่ตัดสินว่า เธอสมคบคิดกับสมาชิกกลุ่มของเธอเพื่อกักขังและจับตัวประกันในสถานทูต เธอถูกตัดสินลงโทษด้วยการจำคุกเป็นเวลา 20 ปี อย่างไรก็ตามเนื่องจากการรวมการคุมขังสามปีระหว่างการพิจารณาคดีเป็นเวลา 810 วันในเรือนจำ จึงเหลือเวลา 17 ปี 

ในเดือนเมษายน ปี 2001 Shigenobu ได้ออกแถลงการณ์จากที่คุมขัง โดยประกาศว่า กองทัพแดงญี่ปุ่นได้ยุติบทบาทลงแล้ว และการต่อสู้ต่อไปควรกระทำด้วยวิธีการที่ชอบด้วยกฎหมาย Shigenobu ได้รับการปล่อยตัวเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2022 สำนักงานตำรวจแห่งชาติญี่ปุ่นได้แถลงต่อสาธารณะว่า มีกลุ่มสืบทอดเจตนารมย์ของกองทัพแดงญี่ปุ่นก่อตั้งขึ้นในปี 2001 ในชื่อว่า “ขบวนการเรนไต (ムーブメント連帯 (Mūbumento Rentai)) “กองทัพแดงญี่ปุ่น” เคยถูกระบุโดนรัฐบาลสหรัฐฯว่าเป็นกลุ่มก่อการร้ายในบัญชีกลุ่ม/องค์กรก่อการร้ายเมื่อ 8 ตุลาคม 1997 และถูกถอดจากรายชื่อเมื่อ 8 ตุลาคม 2001 โดยครั้งหนึ่งกองทัพแดงญี่ปุ่นถูกระบุว่า เป็นหนึ่งในกลุ่มก่อการร้ายนิยมคอมมิวนิสต์ติดอาวุธที่มีความศักยภาพในการก่อการร้ายสูงที่สุดกลุ่มหนึ่งของโลกเลยทีเดียว

IO ไม่ใช่เครื่องมือไล่ล่าใครแต่ใช้เพื่อความมั่นคง ป้องกันกลุ่มแบ่งแยกชาติแฝงตัวในคราบนักการเมือง

ทำไมกองทัพจึงต้องมี IO: เมื่อพฤติกรรมของนักการเมืองบางคนเปิดช่องให้แนวคิดแบ่งแยกชาติฝังราก

เสียงวิจารณ์ว่ากองทัพไทยใช้งบประมาณในปฏิบัติการข่าวสาร (IO) เพื่อโจมตีนักการเมืองฝ่ายค้านนั้นมีมานาน และยิ่งดังขึ้นเมื่อคุณอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล ออกมาแสดงตนว่าเป็น 'เหยื่อ IO' ด้วยวาทกรรมแรงกล้าในทุกเวทีทั้งในและนอกสภา

แต่แทนที่จะหยุดเพียงคำถามว่า “ทำไมทหารต้องทำ IO” เราควรถามกลับว่า “อะไร” คือเหตุผลที่ทำให้บางพรรคการเมืองกลายเป็นเป้าหมายของการเฝ้าระวังทางความมั่นคง

หนึ่งในคำตอบนั้นคือพฤติกรรมของบุคคลในพรรคเดียวกับคุณอมรัตน์ — นั่นคือ รอมฎอน ปันจอ สส.ผู้มีบทบาทชัดเจนในการสนับสนุนงานวิจัยเรื่อง 'สานฝันปาตานีโดยไม่ใช้ความรุนแรง' ซึ่งเผยแพร่แนวคิดเอกราชปาตานีอย่างเป็นระบบ

รอมฎอน ปันจอ เคยเป็นบรรณาธิการเว็บไซต์ Deep South Watch และมีบทบาทอย่างชัดเจนในการสนับสนุนงานวิจัยเรื่อง “สานฝันปาตานีโดยไม่ใช้ความรุนแรง” ที่เนื้อหาภายในมีลักษณะส่งเสริมแนวคิดเอกราชปาตานีอย่างเป็นระบบ

เขานำผลสำรวจความคิดเห็นของคนในพื้นที่ 1,000 คนที่ 'ยอมรับว่าต้องการเอกราช' มานำเสนอผ่านสื่อ และเรียกงานวิจัยชิ้นนี้ว่า 'สุดพีค' พร้อมเสนอว่า รัฐไทยควรยุติความพยายามในการทำให้คนปาตานีละทิ้งความฝันเรื่องเอกราช และควร 'เปิดพื้นที่' ให้แนวทางแบ่งแยกดินแดนได้อภิปรายอย่างเปิดเผยในทางการเมือง

สิ่งที่น่าตกใจกว่านั้นคือ ผู้ช่วยวิจัยของงานชิ้นนี้ล้วนเป็นสมาชิกของเครือข่าย The Patani และ PerMas ซึ่งเป็นกลุ่มที่รณรงค์เรื่อง สิทธิในการกำหนดใจตนเอง และมีความเกี่ยวข้องกับองค์กรต่างชาติที่เคยผลักดันการแบ่งแยกดินแดนในอดีต

เมื่อบุคคลที่มีสถานะเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สนับสนุนงานลักษณะนี้ และพรรคการเมืองต้นสังกัดของเขากลับไม่มีท่าทีชี้แจง หรือควบคุมอย่างเป็นรูปธรรม สิ่งที่เกิดขึ้นจึงไม่อาจมองว่าเป็นการกระทำส่วนตัว หากแต่เป็น 'การยินยอมโดยพฤตินัย' ของพรรคทั้งพรรค

นี่คือเหตุผลว่าเหตุใดกองทัพ และหน่วยงานความมั่นคงจึงต้องจับตาพรรคการเมืองนี้อย่างใกล้ชิด

IO จึงไม่ใช่เครื่องมือไล่ล่าใคร แต่เป็นเครื่องมือสร้างการรับรู้ข้อเท็จจริงให้ประชาชนได้เห็นอีกด้านหนึ่ง — ด้านที่ซ่อนอยู่หลังงานวิจัย วาทกรรมสิทธิ และการเคลื่อนไหวใต้ดินของขบวนการที่ไม่เคารพอธิปไตย

การมี IO จึงไม่ใช่เรื่องผิด เพราะทุกประเทศในโลกต่างมีกลไกเช่นนี้เพื่อป้องกันภัยเงียบ เพียงแต่เขารู้ว่า 'ข้อมูลด้านความมั่นคง' ไม่ใช่สิ่งที่จะเปิดเผยต่อสาธารณชนหรือปล่อยให้ต่างชาติเข้าถึงอย่างเสรี

การอภิปรายเรื่องความมั่นคงในรัฐสภาเปิด เป็นเรื่องที่อาจกระทบต่อผลประโยชน์ของชาติ ในประเทศที่พัฒนาแล้ว รัฐบาลและฝ่ายการเมืองมีวุฒิภาวะพอที่จะจำกัดการพูดเรื่องความมั่นคงไว้เฉพาะในการประชุมลับของกรรมาธิการหรือหน่วยงานความมั่นคงเท่านั้น

ประเทศไทยเองก็ไม่ต่างกัน หากยังปล่อยให้แนวคิดแบ่งแยกแฝงตัวผ่านช่องทางประชาธิปไตยแบบเสรีไร้ขอบเขต โดยไม่มี IO คอยสกัดกั้นและให้ข้อมูลแก่ประชาชน สังคมไทยก็อาจตื่นรู้ไม่ทัน ก่อนที่โครงสร้างของชาติจะถูกกัดกร่อนไปทีละชั้น

‘รัฐประหารในกาตาร์’ ปี 1996 ล้มเหลวไม่เป็นท่า เพียงเพราะทหารรับจ้างลืมแผนที่ - หาพระราชวังไม่เจอ

กาตาร์หรือรัฐกาตาร์ เป็นประเทศในเอเชียตะวันตก ตั้งอยู่ในคาบสมุทรกาตาร์บนชายฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือของคาบสมุทรอาหรับ มีพรมแดนทางบกติดกับซาอุดีอาระเบียทางทิศใต้ และดินแดนส่วนที่เหลือล้อมรอบด้วยอ่าวเปอร์เซียและอ่าวบาห์เรน โดยมีอ่าวเปอร์เซียแบ่งกาตาร์ออกจากบาห์เรนที่อยู่ติดกัน เมืองหลวงคือกรุงโดฮาซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของประชากรกว่า 80% ของประเทศ พื้นที่ส่วนใหญ่ของกาตาร์เป็นที่ราบลุ่มทะเลทราย

กาตาร์ปกครองโดยราชวงศ์ Al Thani ในฐานะรัฐราชาธิปไตยด้วยการสืบทอดสายเลือดตั้งแต่ Mohammed bin Thani ได้ลงนามในข้อตกลงกับอังกฤษในปี 1868 หลังจากการปกครองของจักรวรรดิออตโตมัน กาตาร์กลายเป็นรัฐในอารักขาของอังกฤษ ในปี 1916 และได้รับเอกราชในปี 1971 Emir (เจ้าผู้ครองรัฐ) คนปัจจุบันคือ ชีค Tamim bin Hamad Al Thani ซึ่งดำรงตำแหน่งทั้งฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการเกือบทั้งหมด (ตั้งแต่ปี 2013) ด้วยระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญของกาตาร์ โดยแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี สภาที่ปรึกษาที่ได้รับการเลือกตั้งบางส่วน และสามารถขัดขวางกฎหมายและมีอำนาจในการปลดรัฐมนตรี

ในช่วงต้นปี 2017 ประชากรของกาตาร์อยู่ที่ 2.6 ล้านคน แม้ว่าจะมีเพียง 313,000 คนเท่านั้นที่เป็นพลเมืองกาตาร์ โดย 2.3 ล้านคนเป็นชาวต่างชาติและแรงงานข้ามชาติ มีศาสนาอิสลามเป็นประจำชาติ มีผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ต่อหัวสูงเป็นอันดับสี่ของโลก และอยู่ในอันดับที่ 42 ในดัชนีการพัฒนามนุษย์ซึ่งเป็น HDI ที่สูงเป็นอันดับสามของโลกอาหรับ เศรษฐกิจที่มั่งคั่งมาจากแหล่งสำรองก๊าซธรรมชาติและน้ำมันสำรองที่ใหญ่เป็นอันดับสามของโลก กาตาร์เป็นหนึ่งในผู้ส่งออกก๊าซธรรมชาติเหลวรายใหญ่ที่สุดของโลก และเป็นผู้ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่อหัวรายใหญ่ที่สุดในโลกด้วยเช่นกัน

กาตาร์ในขณะที่ปกครองโดย ชีค Hamad bin Khalifa Al Thani ผู้ซึ่งเผชิญกับความพยายามก่อรัฐประหารที่แปลกประหลาดที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ที่ไม่ใช่การโค่นล้มแบบทั่ว ๆ ไปที่มีทั้งการระเบิดและคำปราศรัยที่ดราม่า แต่เป็นเรื่องราวของการก่อรัฐประหารที่ล้มเหลว ซึ่งหน่วยข่าวกรองกาตาร์เรียกความพยายามก่อรัฐประหารในครั้งนั้นว่า "ปฏิบัติการอาบู อาลี (Abu Ali Operation)" ไม่ใช่เพราะการทรยศหรือขาดกำลังอาวุธ แต่เพราะทหารรับจ้างที่รับงานรัฐประหารมานั้นไม่สามารถหาที่ตั้งของพระราชวังเจอ ข้อมูลเรื่องราวสุดเหลือเชื่อของความพยายามก่อรัฐประหารในกาตาร์ในปี 1995 มีดังนี้

ในปี 1995 กาตาร์ซึ่งอยู่ภายใต้การปกครองของชีค Khalifa bin Hamad Al Thani (1972-1995) ในขณะที่ทรงพักผ่อนในสวิตเซอร์แลนด์ โดยเวลาเดียวกัน ชีค Hamad bin Khalifa Al Thani พระโอรสของพระองค์ ทรงตัดสินใจว่าถึงเวลาเปลี่ยนแปลงแล้ว ด้วยการสนับสนุนจากสมาชิกพระองค์อื่น ๆ ในราชวงศ์ Al Thani ชีค Hamad จึงทรงทำรัฐประหารโดยไม่นองเลือด และทรงยึดบัลลังก์พระบิดาของพระองค์ในขณะที่ไม่อยู่ โดยไม่มีการต่อสู้ เป็นการยึดอำนาจรัฐที่ราบรื่น แต่ ชีค Khalifa พระบิดาทรงไม่ยอมปล่อยผ่านเรื่องนี้ หนึ่งปีต่อมา ชีค Khalifa พระบิดาทรงตัดสินใจทวงบัลลังก์คืน พระองค์ทรงวางแผนไว้ว่าจะทรงจ้างทหารรับจ้างเพื่อบุกพระราชวัง และยึดอำนาจกลับคืนมาด้วยแผนการที่ฟังดูง่าย แต่ไม่ใช่เลย เมื่อทหารรับจ้างของพระองค์กลับมีฝีมือลายมือเหมือนกับผู้ร้ายสองคนใน Home Alone มากกว่าพระเอกใน Mission Impossible 

ความพยายามในการทำรัฐประหารที่ล้มเหลวอยู่ภายใต้การนำของ Hamad bin Jassim bin Hamad Al Thani อดีตรัฐมนตรีเศรษฐกิจ และได้รับการสนับสนุนจากพันธมิตรอาหรับดั้งเดิมของกาตาร์หลายชาติได้แก่ ซาอุดีอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ บาห์เรน และอียิปต์ โดย ซาอุดีอาระเบีย และอียิปต์ ให้การสนับสนุนด้านการข่าว และได้รับการสนับสนุนด้านอาวุธยุทโธปกรณ์จาก บาห์เรน และอียิปต์ สืบเนื่องจากสมาชิกระดับสูงหลายคนของราชวงศ์ Al Thani ซึ่งยังคงเป็นพันธมิตรกับชีค Khalifa อดีต Emir ที่ถูกรัฐประหารได้ร่วมกันก่อรัฐประหารเพื่อโค่นล้มชีค Hamad กาตาร์อ้างว่ารัฐประหารครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนจากต่างประเทศ อาทิ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซาอุดีอาระเบีย อียิปต์และบาห์เรน บทความของ New York Times ในปี 1997 ระบุว่า นักการทูตตะวันตกที่ไม่ได้เปิดเผยชื่อหลายคนเชื่อว่า “รัฐประหารครั้งนี้สามารถวางแผนได้ก็ต่อเมื่อได้รับความยินยอมจากซาอุดีอาระเบียและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์แล้วเท่านั้น”

ความพยายามก่อรัฐประหารที่กลายเป็นเรื่องตลกที่เกิดจากความผิดพลาด เกิดขึ้นในคืนวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 1996 ไม่ถึงหนึ่งปีหลังจากชีค Hamad ครองอำนาจ แผนการเบื้องต้นของชีค Khalifa ดูเหมือนจะไร้ข้อผิดพลาด จนกระทั่งมันกลายเป็นจริงจากเรื่องราวที่เกิดขึ้นทั้งหมด

ขั้นตอนที่ 1 : การจ้างทหารรับจ้าง ชีค Khalifa ได้ทรงจ้างทหารรับจ้างหลายสัญชาติจำนวนหนึ่ง (ตอนแรกทรงตั้งพระทัยจะจ้างทหารรับจ้างชาวแอฟริกาใต้ ต่อมาเป็นชาวฝรั่งเศส แต่รัฐบาลฝรั่งเศสไม่ยินยอม) เพื่อดำเนินแผนการของพระองค์ พวกเขาไม่ใช่ทหารรับจ้างธรรมดาแต่กลับกลายเป็นนักรบที่ติดการใช้ชีวิตหรูอยู่สบาย เริ่มด้วยการพักในโรงแรมระดับห้าดาวเมื่อเดินทางมาถึงกรุงโดฮา ด้วยเพราะกลุ่มทหารรับจ้างเหล่านั้นคิดว่าทำไมถึงต้องใช้ชีวิตอย่างลำบากด้วยในเมื่อพวกเขากำลังจะโค่นล้มรัฐบาลอยู่แล้ว

ขั้นตอนที่ 2 : การบุกพระราชวัง ภารกิจแรกของทหารรับจ้างคือ การบุกพระราชวัง แต่ประเด็นสำคัญคือพวกเขาหาไม่พบพระราชวัง ชาวกาต้าร์บอกว่าเห็นพวกเขาเดินเตร่ไปทั่วกรุงโดฮาแล้วเที่ยวถามว่า "พระราชวังอยู่ที่ไหน" ราวกับการบุกประเทศหนึ่งด้วยหน่วยรบชั้นยอด แต่กลับลืมนำแผนที่มาด้วย

ขั้นตอนที่ 3 : หลังจากที่ได้ข้อสรุปในที่สุดว่า “พระราชวังตั้งอยู่ที่ไหน” กลุ่มทหารรับจ้างก็ต้องเผชิญกับปัญหาอีกอย่างหนึ่ง นั่นคือพวกเขาไม่มีเรือที่จะข้ามแม่น้ำไปยังพระราชวัง เมื่อต้องเผชิญกับทางเลือกระหว่างการบุกพระราชวังด้วยการเดินเท้า หรือกลับไปพักผ่อนยังโรงแรมสุดหรู พวกเขาเลือกเอาอย่างหลัง และเพียงชั่วพริบตา ความพยายามก่อรัฐประหารก็จบลงด้วยกลุ่มทหารรับจ้างเดินกลับโรงแรมเพื่อพักผ่อนแทน ทำให้ในเวลาต่อมาทางการกาต้าร์ได้เริ่มปฏิบัติการต่อต้าน กวาดล้าง และปราบปรามการรัฐประหารดังกล่าวได้สำเร็จ

ในปี 2018 หนึ่งปีหลังจากวิกฤตการทูตกาตาร์เริ่มต้นขึ้น Al Jazeera ได้รายงานรายละเอียดใหม่ที่ชัดเจนในสารคดีเกี่ยวกับปฏิบัติการซึ่งกล่าวหาว่า ซาอุดีอาระเบีย บาห์เรน อียิปต์ และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) วางแผนโค่นล้มชีค Hamad สารคดีระบุถึงประเด็นสำคัญในปฏิบัติการคือการที่กลุ่มชายติดอาวุธจะกักบริเวณชีค Hamad ไว้ในพระราชวังซึ่งอยู่ติดกับถนน Al Rayyan เดิมทีมีกำหนดจะกักบริเวณในเวลา 05.00 น. ของวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 1996 ซึ่งเป็นวันที่ 27 ของเทศกาลถือศีลอด ทำให้มีกำลังทหารของกองทัพกาต้าร์ที่เตรียมพร้อมอยู่เพียง 20% แต่ได้เปลี่ยนเป็นวันที่ 14 กุมภาพันธ์เพื่อลดโอกาสที่จะถูกค้นพบ ตามข้อมูลข่าวกรองของกาตาร์การเปลี่ยนแปลงนี้เป็นคำสั่งของ Mohamed bin Zayed Al Nahyan (ประธานาธิบดีสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์คนปัจจุบัน) ซึ่งขณะนั้นเป็นผู้บัญชาการกองทัพสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ นอกจากนี้ เอกสารข่าวกรองของกาตาร์ยังอ้างว่า หลังจากผู้วางแผนเข้ารับตำแหน่งผู้บัญชาการกองกำลังทหารของกาตาร์อย่างเต็มรูปแบบแล้ว ผู้วางแผนจะส่งคนไปขอความช่วยเหลือจากกองกำลังติดอาวุธในซาอุดีอาระเบีย อย่างไรก็ตาม ในที่สุด การรัฐประหารก็ถูกค้นพบและขัดขวางได้ก่อนที่จะประสบความสำเร็จ 

ตามรายงานของ Al Jazeera ระบุว่า Paul Barril อดีตเจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงของฝรั่งเศสได้รับมอบหมายให้จัดหาอาวุธให้สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เพื่อดำเนินการก่อรัฐประหารในกาตาร์ ซึ่ง Anwar Gargash รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ตอบโต้สารคดีดังกล่าว โดยระบุว่า Paul Barril เป็นเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของชีค Khalifa ซึ่งเดินทางเยือนนครอาบูดาบี และไม่มีความสัมพันธ์กับสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และกล่าวว่า สารคดีดังกล่าวเป็นความพยายามโกหกเพื่อพาดพิงสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ว่าเกี่ยวข้องกับความพยายามในการก่อรัฐประหารในกาต้าร์ 1996

แม้ว่าความพยายามก่อรัฐประหารในปี 1995 จะเป็นเพียงบันทึกเล็ก ๆ ในประวัติศาสตร์ของกาตาร์ แต่ประเทศและราชวงศ์ที่ปกครองอยู่ก็มีความน่าสนใจในแบบของตัวเอง นี่คือข้อเท็จจริงที่น่าสนใจบางส่วน :
1. ราชวงศ์ Al Thani ปกครองกาตาร์มาตั้งแต่กลางศตวรรษที่ 19 พวกเขามีชื่อเสียงในเรื่องความรู้ด้านการทูตและความสามารถในการรักษาเสถียรภาพในภูมิภาคที่มักเต็มไปด้วยความขัดแย้ง
2. ความมั่งคั่งของกาตาร์ กาตาร์เป็นหนึ่งในประเทศที่ร่ำรวยที่สุดในโลก เนื่องจากมีก๊าซธรรมชาติสำรองอยู่เป็นจำนวนมาก ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศต่อหัวของประเทศเป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ต่อหัวที่สูงที่สุดในระดับโลก และยังเป็นที่ตั้งของโรงแรมที่หรูหราที่สุด ห้างสรรพสินค้า และสถาปัตยกรรมล้ำสมัยอีกด้วย

3. เกาะเพิร์ล-กาตาร์ เป็นเกาะเทียมของกาตาร์ซึ่งมีรูปร่างเหมือนสร้อยไข่มุก เกาะแห่งนี้เป็นศูนย์กลางของการใช้ชีวิตที่หรูหรา มีร้านบูติกระดับไฮเอนด์ ร้านอาหาร และท่าจอดเรือ
4. ฟุตบอลโลก 2022 กาตาร์สร้างประวัติศาสตร์ด้วยการเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก 2022 กลายเป็นประเทศตะวันออกกลางประเทศแรกที่ได้เป็นเจ้าภาพ แสดงให้เห็นถึงความสามารถของกาตาร์ในการจัดการแข่งขันระดับโลก แม้จะต้องเผชิญกับความท้าทายจากการตรวจสอบอย่างเข้มงวดจากชุมชนนานาชาติ

5. ไม่ต้องเสียภาษีเงินได้ ข้อดีอย่างหนึ่งของการอาศัยอยู่ในกาตาร์คือไม่ต้องเสียภาษีเงินได้ ถูกต้องแล้ว ประชาชนสามารถเก็บรายได้ทั้งหมดไว้ได้ ซึ่งเป็นเพียงเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ประเทศนี้ดึงดูดชาวต่างชาติได้มาก

ความพยายามก่อรัฐประหารในกาตาร์เมื่อปี 1995 เป็นการเตือนใจว่าแม้แต่แผนการที่วางไว้อย่างดีที่สุดก็อาจผิดพลาดอย่างน่าขบขันได้ ไม่ว่าจะเป็นการลืมนำแผนที่มาด้วยหรือการจองโรงแรมระดับห้าดาวให้กับทหารรับจ้าง บางครั้งความจริงก็แปลกประหลาดกว่านิยาย กลายเป็นประวัติศาสตร์ของความพยายามในการก่อรัฐประหารที่ไร้เหตุผล ประหลาด และโง่เขลา อย่างแท้จริง และบางครั้งล้มเหลวเพราะการวางแผนที่ไม่ดี ในขณะที่บางครั้งล้มเหลวเพราะผู้นำลืมรายละเอียดพื้นฐาน เช่น แผนที่ GPS ฯลฯ ดังนั้น ครั้งต่อไปที่มีการวางแผนทำการรัฐประหาร โปรดจำไว้ว่า ต้องแผนที่หรือ GPS ติดตัวไปด้วยเสมอ ตรวจสอบข้อมูลให้ดี และหลีกเลี่ยงการพักในโรงแรมระดับห้าดาวก็ได้ และถ้าทุกอย่างล้มเหลว ให้จำคำพูดของชีค Khalifa ที่ว่า "บ้าเอ๊ย น่าจะจ้างพวก Wagner มากกว่า" 

หลังจากลี้ภัยในต่างประเทศอยู่หลายปี ในที่สุด Hamad bin Jassim bin Hamad Al Thani ลูกพี่ลูกน้องของชีค Hamad อดีตรัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจและหัวหน้าตำรวจ ผู้วางแผนในการทำรัฐประหารก็ถูกจับกุมในเดือนกรกฎาคม 1999 และถูกนำตัวขึ้นศาลในเดือนกุมภาพันธ์ 2000 โดย Hamad bin Jassim รวมถึงผู้ร่วมก่อการอีก 32 คน ถูกตัดสินจำคุกตลอดชีวิตในข้อหาวางแผนรัฐประหาร มีผู้ต้องหาอีก 85 คนที่ถูกตัดสินว่ามีความผิดในข้อหาที่เกี่ยวข้องกับการรัฐประหาร บางคนถูกพิจารณาคดีลับหลัง ซึ่งจำเลยทั้งหมดที่เข้าร่วมให้การปฏิเสธข้อกล่าวหา ไม่มีข้อมูลเพิ่มเติมในส่วนเกี่ยวข้องกับกลุ่มทหารรับจ้างต่างชาติที่รับงานนี้มาหลังเหตุการณ์

ผลพวงจากความพยายามก่อรัฐประหารในกาตาร์ปี 1996 น่าสนใจไม่แพ้การก่อรัฐประหารเลยทีเดียว แม้ว่าการก่อรัฐประหารที่ล้มเหลวโดยกลุ่มทหารรับจ้างจะถือเป็นหายนะที่น่าขบขัน แต่ก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์ของกาตาร์ไปมากนัก และกลับทำให้ตำแหน่งของชีค Hamad bin Khalifa Al Thani ในฐานะ Emir แห่งกาตาร์แข็งแกร่งขึ้น และปูทางไปสู่การเปลี่ยนแปลงของประเทศให้กลายเป็นมหาอำนาจระดับภูมิภาคด้วยสิ่งที่เกิดขึ้นต่อไปนี้ :

1. การรวมอำนาจของชีค Hamad หลังจากความพยายามในการทำรัฐประหารโดยพระบิดาของพระองค์ล้มเหลว ชีค Hamad ได้ทรงกระชับอำนาจของพระองค์ให้มั่นคงขึ้น พระองค์ยังทรงปกครองกาตาร์โดยเน้นที่การปรับปรุงให้ทันสมัยและการกระจายความเสี่ยงทางเศรษฐกิจ การครองราชย์ของพระองค์ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการเติบโตของกาตาร์ในฐานะผู้มีบทบาทสำคัญบนเวทีโลก ด้วยแหล่งสำรองก๊าซธรรมชาติจำนวนมหาศาลและนโยบายการทูตเชิงยุทธศาสตร์
2. การเปลี่ยนแปลงของกาตาร์ภายใต้การนำของชีค Hamad (1995–2013) ซึ่งมักถูกเรียกว่า “ยุคทองของกาตาร์” ต่อไปนี้คือการเปลี่ยนแปลงสำคัญบางส่วนที่พระองค์ทรงดำเนินการ :
- การกระจายความเสี่ยงทางเศรษฐกิจ ชีค Hamad ทรงลงทุนในอุตสาหกรรมก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ของกาตาร์อย่างมากมาย จนทำให้กาตาร์กลายเป็นผู้ส่งออกก๊าซธรรมชาติรายใหญ่ที่สุดรายหนึ่งของโลก ความมั่งคั่งดังกล่าวทำให้กาตาร์สามารถระดมทุนสำหรับโครงการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ การปฏิรูปการศึกษา และโครงการทางสังคมได้

- สื่อและการศึกษา ชีค Hamad ทรงก่อตั้งสำนักข่าวนานาชาติ Al Jazeera ที่มีชื่อเสียง ในปี 1996 โดย Al Jazeera ได้กลายเป็นเครื่องมือที่ทรงพลังในการกำหนดความคิดเห็นของสาธารณชนในโลกอาหรับและที่อื่น ๆ นอกจากนี้ พระองค์ยังทรงลงทุนในด้านการศึกษาด้วยการก่อตั้งมหาวิทยาลัยระดับโลก เช่น Education City ซึ่งเป็นที่ตั้งของสถาบันระดับนานาชาติที่มีชื่อเสียง
- สิทธิสตรีและการปฏิรูปสังคม ภายใต้การนำของชีค Hamad กาตาร์ได้ก้าวหน้าอย่างมากในด้านสิทธิสตรี รวมถึงให้สิทธิสตรีในการลงคะแนนเสียงและลงสมัครรับเลือกตั้งในปี 1999 นอกจากนี้ พระองค์ยังทรงสนับสนุนให้สตรีมีส่วนร่วมมากขึ้นในกำลังแรงงานและชีวิตสาธารณะอีกด้วย
- อิทธิพลระดับโลก ชีค Hamad ทรงวางตำแหน่งให้กาตาร์เป็นผู้ไกล่เกลี่ยความขัดแย้งในภูมิภาคและเป็นศูนย์กลางการทูตระหว่างประเทศ ด้วยการเป็นเจ้าภาพการเจรจาสันติภาพ ลงทุนในกีฬาระดับโลก (เช่น ฟุตบอลโลก 2022) และกลายเป็นพันธมิตรสำคัญของมหาอำนาจตะวันตก

ชะตากรรมของชีค Khalifa bin Hamad Al Thani หลังจากความพยายามก่อรัฐประหารล้มเหลว พระองค์ยังทรงต้องลี้ภัยไปยังฝรั่งเศส นครอาบูดาบี สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อยู่หลายปี ในที่สุดก็สามารถเสด็จกลับมายังกาตาร์ในปี 2004 หลังจากทรงคืนดีกับพระโอรส โดยชีค Hamad ได้พระราชทานอภัยโทษอย่างเป็นทางการแก่พระองค์ และชีค Khalifa ทรงใช้ชีวิตในกาตาร์จนกระทั่งสิ้นพระชนม์ในปี 2016 การคืนดีครั้งนี้ช่วยรักษาเสถียรภาพภายในราชวงศ์ A Thani ซึ่งยังคงครองอำนาจอย่างมั่นคงจนกระทั่งทุกวันนี้

ชีค Tamim bin Hamad Al Thani ทรงรับช่วงจากพระบิดาต่อในปี 2013 โดยชีค Hamad ทรงสละราชบัลลังก์โดยสมัครใจเพื่อให้ชีค Tamim bin Hamad Al Thani พระโอรสของพระองค์ขึ้นเป็น Emir แทน การถ่ายโอนอำนาจอย่างสันตินี้เกิดขึ้นไม่บ่อยนักในภูมิภาคนี้แสดงให้เห็นถึงความมั่นคงของผู้นำกาตาร์ ชีค Tamim ยังทรงดำเนินตามนโยบายของพระบิดา โดยเน้นที่การกระจายความเสี่ยงทางเศรษฐกิจ การทูตระดับโลก และการเป็นเจ้าภาพจัดงานระดับนานาชาติที่สำคัญ เช่น ฟุตบอลโลก 2022

มรดกจากการรัฐประหารปี 1995 และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายหลัง มักถูกมองว่าเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในประวัติศาสตร์ของกาตาร์ แม้ว่าความพยายามการทำรัฐประหารจะล้มเหลวอย่างน่าตลก แต่ก็ตอกย้ำถึงความอดทนของผู้นำของชีค Hamad วิสัยทัศน์และการปฏิรูปของพระองค์ทำให้กาตาร์เปลี่ยนจากรัฐอ่าวเปอร์เซียเล็ก ๆ มาเป็นประเทศที่มีอิทธิพลระดับโลก มีมาตรฐานการครองชีพสูง เศรษฐกิจแข็งแกร่ง และมีสถานะที่แข็งแกร่งในระดับนานาชาติ เรื่องราวนี้ยังเน้นย้ำถึงความสำคัญของความสามารถในการปรับตัวและความเป็นผู้นำที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกล แม้ว่าความพยายามก่อรัฐประหารจะเป็นความผิดพลาด แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตามมาพิสูจน์ให้เห็นว่ากาตาร์มีความสามารถในการเอาชนะความท้าทายและเจริญรุ่งเรืองได้ แม้จะกาต้าร์จะต้องเผชิญกับความยากลำบากมาแล้วก็ตาม

เส้นขอบฟ้าที่ทันสมัยของกาตาร์ สัญลักษณ์ที่เห็นได้ชัดที่สุดอย่างหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงของกาตาร์คือเส้นขอบฟ้าอันล้ำยุคในกรุงโดฮา นครแห่งนี้เป็นที่ตั้งของสิ่งมหัศจรรย์ทางสถาปัตยกรรม เช่น Torch Doha พิพิธภัณฑ์ศิลปะอิสลาม และ Pearl-Qatar โดยสถานที่สำคัญเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงความทะเยอทะยานและความมั่งคั่งของประเทศ ซึ่งเริ่มต้นขึ้นในรัชสมัยของชีค Hamad bin Khalifa Al Thani

หมายเหตุ ชาวอาหรับไม่มีนามสกุล จึงใช้ชื่อของบิดาต่อท้าย เช่น Tamim bin Hamad bin Khalifa Al Thani หมายถึง Tamim บุตรชายของ Hamad ผู้ซึ่งเป็นบุตรชายของ Khalifa แห่งราชวงศ์ Al Thani

ไม่พลาด!!!
ตลอดเดือนเมษายน 2568 พบกับเรื่องราวของมหากาพย์แห่งสงครามอินโดจีน ในวาระครบรอบ 50 ปีแห่งการสิ้นสุดสงครามอินโดจีน 30 เมษายน 2568

ปี้บ่อนเบี้ย : จากเศรษฐกิจเงา สู่บาดแผลของชาติ บทเรียนจากรัชกาลที่ 5 ถึงสังคมไทยปัจจุบัน

(3 เม.ย. 68) กลางแสงไฟมัวหมองของโรงบ่อนในสมัยรัชกาลที่ 5 เสียงเม็ดถั่วกระทบโต๊ะหินดังกระทบหูผู้คนที่เบียดเสียดกันในวงพนัน ภาพชายชาวจีนในเสื้อคอกลม มือข้างหนึ่งถือ “ปี้” เซรามิก อีกข้างคลึงลูกปัดนับแต้ม เสียงเรียก “ถั่วโป!” ดังสลับกับเสียงหัวเราะคละเคล้าเสียงถอนหายใจ เป็นฉากชีวิตที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นเรื่องปกติในหัวเมืองสยามจากเกมเสี่ยงโชค สู่กลไกรัฐ: บ่อนเบี้ยและอากรในราชสำนัก

หากมองการพนันเพียงผิวเผิน อาจเป็นเพียงเรื่องของความบันเทิงส่วนบุคคล แต่ในสมัยอยุธยาเรื่อยมาถึงต้นรัตนโกสินทร์ การพนันกลับกลายเป็นหนึ่งในแหล่งรายได้ของรัฐ ผ่านระบบสัมปทานที่เรียกว่า “อากรบ่อนเบี้ย” รัฐเปิดให้เอกชนผูกขาดกิจการบ่อน แลกกับการเก็บภาษีเข้าท้องพระคลัง ซึ่งในสมัยรัชกาลที่ 3 เคยทำรายได้ถึงปีละ 400,000 บาท

ขุนพัฒน์ แซ่คู และอำนาจในเงามืด

ในกลุ่มผู้รับสัมปทานบ่อนเบี้ย “นายอากร” ที่มีบทบาทสำคัญคือ นายเส็ง แซ่คู (ภายหลังเปลี่ยนนามสกุลเป็น “ชินวัตร”) ผู้ได้รับสัมปทานบ่อนในจันทบุรี ก่อนจะขยายอิทธิพลไปสู่ภาคเหนือ เบื้องหลังความสำเร็จของนายเส็ง คือความชำนาญในการจัดการระบบปี้ — เหรียญเซรามิกที่ใช้แทนเงินในบ่อน

แต่ปี้ไม่ได้อยู่แค่ในวงพนัน เมื่อเศรษฐกิจขาดแคลนเงินปลีก ปี้เหล่านี้ก็หลุดออกมาสู่ตลาด ถูกใช้แลกเปลี่ยนซื้อขายของจริง กลายเป็น “เงินคู่ขนาน” ที่ไม่ผ่านมือรัฐ

พระราชหัตถเลขาจากยุโรป: เมื่อในหลวงทรงลองเล่นการพนัน

ในพระราชหัตถเลขาเมื่อปี พ.ศ. 2450 ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีถึงกรมพระยาดำรงราชานุภาพจากเมืองซานเรโม อิตาลี พระองค์ทรงเล่าว่า

> “ได้เรียนตำราเล่นเบี้ยอย่างฝรั่งเข้าใจ ข้อซึ่งเข้าใจว่าเล่นไม่น่าสนุกนั้น ไม่จริงเลย สนุกยิ่งกว่าอะไร ๆ หมด
ชาวบางกอกรู้ได้ไปเล่นแล้ว ฉิบหายกันไม่เหลือ”

เป็นคำกล่าวที่ไม่ได้มีเจตนาเย้ยหยันประชาชน แต่แฝงไว้ด้วยความห่วงใยอย่างลึกซึ้ง หากกิจกรรมอย่างการพนันที่สนุกเกินต้าน ไร้การควบคุม เข้าถึงปัจเจกชนอย่างไม่มีกรอบ — สังคมจะเดินไปทางใด?

เลิกบ่อน: การปฏิรูปครั้งใหญ่ในยุครัชกาลที่ 5

หลังเสด็จกลับจากยุโรป รัชกาลที่ 5 ทรงตัดสินใจเลิกบ่อนเบี้ยทั่วราชอาณาจักรในปี พ.ศ. 2460 โดยมีการสำรวจพบว่า หลังเลิกบ่อนแล้ว อาชญากรรมลดลง วิวาทในครอบครัวลดลง และการค้าขายกลับดีขึ้น

จากพระราชดำรัส...สู่คำถามในยุคปัจจุบัน

บทเรียนจากอดีตถูกบันทึกไว้ครบถ้วน ทว่าผ่านมาเพียงร้อยปี คำถามกลับหวนกลับมาอีกครั้งในรูปของ “คาสิโนถูกกฎหมาย” ที่ถูกเสนอเป็นนโยบายเพื่อหารายได้เข้ารัฐ

ใช่, รายได้จากคาสิโนอาจมหาศาล แต่หากไม่เข้าใจบทเรียนของ "ปี้โรงบ่อน" ไม่เข้าใจว่าทำไมรัชกาลที่ 5 จึงยอมเสียรายได้จำนวนมหาศาลเพื่อปิดบ่อน แล้วเราในวันนี้จะเดินหน้าไปโดยไม่สนใจร่องรอยจากอดีตเลยหรือ?

บทสรุป: การพนันไม่ใช่สิ่งเลวร้ายในตัวเอง — หากควบคุมไม่ได้ มันก็กลายเป็นภัย

การพูดถึงปี้ในบ่อนเบี้ย หรือชื่อของผู้ที่เคยได้รับสัมปทาน ไม่ได้หมายถึงการประณามหรือรื้อฟื้นเพื่อลงโทษใครในประวัติศาสตร์ หากแต่เป็นการย้ำเตือนว่า ระบบเศรษฐกิจใดก็ตามที่ไม่อยู่ภายใต้กรอบความรับผิดชอบของรัฐ — ย่อมย้อนกลับมาทำลายสังคมในที่สุด

และไม่ว่าคาสิโนจะถูกเรียกด้วยถ้อยคำใหม่ว่า “รีสอร์ทครบวงจร” หรือ “เครื่องมือพัฒนาเศรษฐกิจ” คำถามเดิมก็ยังตามมา :

เราแน่ใจหรือว่าได้วางรากฐานไว้ดีพอ…ก่อนจะอนุญาตให้คนทั้งประเทศเข้าไปเล่นด้วยกัน?

บรรณานุกรม
1. ธัชพงศ์ พัตรสงวน. “ปี้ในบ่อนเบี้ยหัวเมือง.” กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ กรมศิลปากร. สืบค้นเมื่อ 2565.
2. เฉลิม ยงบุญเกิด. ปี้โรงบ่อน. พระนคร: ศิวพร, 2514.
3. Kom Chad Luek. “เปิดตำนานตระกูลชินวัตร.” คมชัดลึกออนไลน์, 2566.
4. ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 8, ตอนที่ 40. “ข้อบังคับสำหรับนายอากรบ่อนเบี้ย.” 3 มกราคม ร.ศ. 110 (พ.ศ. 2434).
5. สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ. ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 17 ตำนานเรื่องเลิกหวยแลบ่อนเบี้ยในกรุงสยาม. พระนคร: โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร, 2463.
6. เอกสารจดหมายเหตุแห่งชาติ. “บ่อนเบี้ยมณฑลฝ่ายเหนือ.” กรมราชเลขาธิการ ร.5 ค 14.1 ค/2.


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top