Saturday, 19 April 2025
Columnist

มหากาพย์แห่งสงครามอินโดจีน EP#7 ‘ทหารเกาหลีใต้’ พันธมิตรร่วมรบของสหรัฐฯ และเวียตนามใต้

สงครามอินโดจีนเป็นสงครามที่มีการระดมกำลังทหารจากพันธมิตรทั้งสองฝ่ายเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะเมื่อสหรัฐอเมริกาตัดสินใจส่งกำลังทหารเข้าไปปฏิบัติการรบโดยตรง จากเดิมที่มีการส่งเพียงที่ปรึกษาทางทหาร สำหรับสหรัฐอเมริกาและพันธมิตรแล้ว สงครามเวียตนามเป็นความพยายามของหลายชาติในการหยุดยั้งกระแสการขยายตัวของคอมมิวนิสต์ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากขั้วตรงข้ามในสงครามเย็นของสหรัฐฯ คือ สหภาพโซเวียตและจีน ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เวียตนามใต้ถือเป็นจุดที่ร้อนแรงในบริบทของสงครามเย็น เช่นเดียวกับความขัดแย้งทั้งหมด จึงมีการระดมกำลังทหารจากชาติพันธมิตรร่วมอุดมการณ์โลกเสรีอีก 5 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย เกาหลีใต้ นิวซีแลนด์ ฟิลิปปินส์ และไทย 

สงครามเวียดนามเป็นภารกิจทางทหารครั้งใหญ่ครั้งแรกของเกาหลีใต้นับตั้งแต่การลงนามในสนธิสัญญาสงบศึกสงครามเกาหลีในปี 1953 กองทหารเกาหลีทั้งหมดในเวียดนามเป็นอาสาสมัคร การมีส่วนร่วมของกองทัพเกาหลีใต้ในสงครามเวียดนามเริ่มต้นขึ้นในฤดูใบไม้ร่วงปี 1965 และสิ้นสุดลงเมื่อกองทหารรบสหรัฐฯ ชุดสุดท้ายออกจากเวียตนามใต้ ทหารและนาวิกโยธินสาธารณรัฐเกาหลีชุดแรก (ซึ่งเรียกทั่วไปว่า ‘ROK’) เริ่มมาถึงหลังจากกองทหารรบสหรัฐฯ ชุดแรกมาถึงเวียตนามใต้หลายเดือนก่อนหน้าแล้ว ผู้สังเกตการณ์ทางทหารยืนยันว่า “ทหารเกาหลีใต้” สู้รบด้วยความกล้าหาญ โดยหลายคนบอกว่า ดุเดือด ยุทธวิธี และเทคนิคของพวกเขามักถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า โหดร้ายโดยไม่จำเป็น แต่ความกล้าหาญและมีวินัยของพวกเขานั้นไม่เป็นที่สงสัยเลย แม้แต่จากศัตรูของพวกเขา ความสำเร็จและการมีส่วนสนับสนุนของกองกำลังเกาหลีในเวียตนามใต้นั้น ไม่ได้รับการยกย่องและไม่ได้รับการชื่นชมมากนักนอกแวดวงทหาร สำหรับชาวอเมริกันหลายคนที่เคยร่วมรบกับพวกเขา ความสามารถในการต่อสู้ของ “ทหารเกาหลีใต้” ถือเป็นตำนาน กองกำลังเกาหลีใต้มีอัตราการสร้างความสูญเสียชีวิตให้กองกำลังคอมมิวนิสต์ในอัตราที่สูงมาก และสามารถจับกุมเชลยสงครามได้เป็นจำนวนมาก รวมทั้งอาวุธยุทโธปกรณ์อีกเป็นจำนวนมาก การกระทำดังกล่าวทำให้กองกำลังคอมมิวนิสต์ไม่กล้าเข้ามาปฏิบัติการในพื้นที่ของ “ทหารเกาหลีใต้” และสามารถขัดขวางภารกิจของเวียตกงในพื้นที่ปฏิบัติการที่ได้รับมอบหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

มุมมองของสหรัฐฯ คือ คนร่วมสมัยเชื่อว่ากองกำลังเกาหลีใต้มีประสิทธิภาพในการสู้รบเทียบเท่ากับกองกำลังสหรัฐฯ จึงช่วยแบ่งเบาภาระของกองกำลังสหรัฐฯ ในพื้นที่ปฏิบัติการของเกาหลีใต้ แน่นอน สหรัฐฯ เป็นผู้สนับสนุนการมีส่วนร่วมของกองกำลังเกาหลี ตั้งแต่ปี 1965 ถึงปี 1973 ทหารบกและทหารนาวิกโยธินของเกาหลีใต้ 320,000 นายถูกส่งมาประจำการประจำการในเวียตนามใต้ ตัวเลขดังกล่าวรองจากทหารสหรัฐฯ และเวียดนามใต้เท่านั้น และมากกว่าทหารพันธมิตรทั้งหมดรวมกัน ทหารเกาหลีใต้ 5,099 นายเสียชีวิตและอีก 10,962 นายได้รับบาดเจ็บในสงครามครั้งนี้ ในเดือนมีนาคม 1965 รายงานของ CIA อธิบายปัญหาหลักของเวียดนามใต้ไว้ดังนี้ “เวียตกงยังคงได้รับชัยชนะอย่างต่อเนื่อง ... โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ลุ่มชายฝั่งทะเล รัฐบาล [เวียตนามใต้] อยู่ในฝ่ายรับอย่างชัดเจน ความสงบยังคงหยุดชะงัก และคาดว่าความมั่นคงในพื้นที่ชนบทจะลดลงต่อไป” การตอบสนองต่อการประเมินของ CIA ได้มาในรูปแบบของ “กองพลเสือ” แห่งกองทัพบกสาธารณรัฐเกาหลี และ “กองพลมังกรน้ำเงินที่ 2”  ของหน่วยบัญชาการนาวิกโยธินสาธารณรัฐเกาหลี หน่วยรบของเกาหลีใต้รับผิดชอบหลักในการสร้างความสงบและรักษาความปลอดภัยในจังหวัดชายฝั่ง (บิ่ญดิ่ญ ฟูเอียน คานห์ฮวา และนิญถวน) ในกองพลที่ 2 พวกเขารับหน้าที่นี้ด้วยความเข้มแข็ง พื้นที่ชายฝั่ง โดยเฉพาะทางใต้ของ Qui Nhon ลงไปจนถึง Phan Rang ยังคงค่อนข้างปลอดภัยตั้งแต่นั้นมา ภายใต้การจับตามองของ “ทหารเกาหลีใต้” 

ในเดือนกันยายน 1966 เกาหลีใต้ส่ง “กองพลม้าขาวที่ 9” ไปปฏิบัติการในพื้นที่ชายฝั่งทางใต้ ทำให้กองพลที่ 2 ทำให้ “กองพลมังกรน้ำเงินที่ 2” สามารถเคลื่อนพลไปทางเหนือเพื่อช่วยเหลือทหารนาวิกโยธินสหรัฐฯ ในจังหวัดกวางนาม ผู้สังเกตการณ์ทางทหารของสหรัฐฯ ได้บันทึกว่า ในเวียตนามใต้ กองกำลัง ROK ปฏิบัติหน้าที่อย่างโดดเด่นและกล้าหาญ และได้รับสถานะที่แทบจะเรียกได้ว่าเป็นตำนานทั้งในหมู่มิตรและศัตรู และทหารร่วมสมัยบางคน แม้จะมีการกล่าวหาว่า “ทหารเกาหลีใต้” ใช้ยุทธวิธีที่ก้าวร้าวเกินไปหรือรุนแรงเกินไป เรื่องเล่าและตำนานมากมายเกี่ยวกับวินัยที่เข้มงวด ความแข็งแกร่ง และความสามารถทางการทหารของ “ทหารเกาหลีใต้” โดยได้รับการกล่าวขานว่ามี ประสิทธิภาพและประสิทธิผลอย่างยิ่งในการทำสงครามต่อต้านการก่อความไม่สงบ กลยุทธ์ และการปฏิบัติการของหน่วยขนาดเล็ก และการต่อสู้ด้วยมือเปล่า เป็นตำนานที่ทหารอเมริกันได้นำเล่าขานบ่อยครั้งด้วยความประทับใจ อาทิ “เอกสารของศัตรูที่ยึดมาได้ซึ่งสั่งให้หน่วย NVA [กองทัพเวียดนามเหนือ] หลีกเลี่ยงการปะทะกับ “ทหารเกาหลีใต้” ทั้งหมด เว้นแต่จะมั่นใจ 100 เปอร์เซ็นต์ว่าจะได้รับชัยชนะ” ในขณะที่เรื่องราวที่แต่งขึ้นส่วนใหญ่เกี่ยวกับหน่วยที่เวียดนามเหนือกลัวอย่างแท้จริงนั้นมักจะมีเรื่องเล่าของผู้เล่าเอง แต่เรื่องราวเกือบทุกเรื่องล้วนมีเนื้อหาเกี่ยวกับ “ทหารเกาหลีใต้” 

หมายเหตุ ผู้เขียนใช้คำว่า “เวียตนาม” ตัว ‘ต’ สะกด เพราะเอกสารสมัยก่อนใช้เช่นนี้ ต่อมาภายหลังจึงเปลี่ยนมาเป็น “เวียดนาม” สะกดด้วยตัว ‘ด’ 

ตลอดเดือนเมษายน 2568 พบกับเรื่องราวของมหากาพย์แห่งสงครามอินโดจีน  
ในโอกาสครบ 50 ปีแห่งการสิ้นสุดสงคราม วันที่ 30 เมษายน 2518

ประชากรรัสเซียในภาวะวิกฤต หลังอัตราการเกิดลดลงต่อเนื่อง ท่ามกลางความท้าทายในบริบทเศรษฐกิจ สงคราม และภูมิรัฐศาสตร์

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมารัสเซียกำลังเผชิญกับวิกฤตประชากรที่รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์สมัยใหม่ซึ่งเป็นวิกฤติประชากรที่ลึกซึ้งและต่อเนื่อง หลายฝ่ายมองว่าเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงแห่งชาติในระยะยาว อัตราการเกิดที่ลดลง สัดส่วนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้น และอัตราการอพยพของแรงงานฝีมือสูงล้วนบ่งชี้ถึงปัญหาที่ฝังรากลึกและยังหาทางแก้ไม่ได้อย่างยั่งยืน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปี ค.ศ. 2023 ที่อัตราการเกิดลดลงถึงระดับต่ำสุดในรอบ 200 ปี ปรากฏการณ์นี้ไม่เพียงสะท้อนถึงปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคมภายในประเทศ แต่ยังเกี่ยวข้องกับปัจจัยทางภูมิรัฐศาสตร์ เช่น สงครามในยูเครน และการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของสังคมรัสเซีย 

โดยในปี ค.ศ. 2023 มีเด็กเกิดใหม่ในรัสเซียเพียงประมาณ 1.2 ล้านคน ซึ่งเป็นตัวเลขต่ำที่สุดนับตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 19 โดยเฉพาะในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ มีเด็กเกิดเพียง 616,200 คน เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี ค.ศ. 2022 ที่มีมากกว่า 635,000 คน หรือมากกว่านั้นในช่วงก่อนโควิด สื่ออิสระและนักวิชาการบางส่วนได้ชี้ว่า จำนวนการเกิดที่ลดลงอย่างต่อเนื่องนี้เป็นผลมาจาก 1) สถานการณ์เศรษฐกิจที่ไม่แน่นอน 2) ความวิตกกังวลเกี่ยวกับอนาคต 3) ความไม่มั่นคงทางสังคมและการเมืองจากสงครามในยูเครน 4) ค่านิยมใหม่ที่ไม่เน้นการสร้างครอบครัวในคนรุ่นใหม่  

ถึงแม้จะผ่านพ้นช่วงการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ไปแล้ว แต่จำนวนผู้เสียชีวิตในรัสเซียยังคงอยู่ในระดับสูง นอกจากนี้สงครามในยูเครนยังได้คร่าชีวิตประชาชนและทหารรัสเซียจำนวนมาก (ตัวเลขไม่เป็นทางการระบุหลักแสนราย) ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อโครงสร้างประชากรโดยเฉพาะในกลุ่มชายหนุ่มวัยแรงงาน นอกจากนี้หลังการประกาศระดมพลบางส่วนในเดือนกันยายน ค.ศ. 2022 (partial mobilization) มีชายชาวรัสเซียหลายแสนคนอพยพออกนอกประเทศ โดยเฉพาะผู้มีการศึกษาและทักษะสูง เช่น โปรแกรมเมอร์ วิศวกร นักวิจัย ฯลฯ ทำให้รัสเซียสูญเสียทรัพยากรมนุษย์สำคัญ ซึ่งอาจกระทบต่ออัตราการเกิดในระยะยาว นักประชากรศาสตร์ชี้ว่า หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง รัสเซียอาจเห็นจำนวนประชากรลดลงจากราว 143 ล้านคนในปัจจุบัน เหลือเพียง 130 ล้านคนในปี ค.ศ. 2050 หรืออาจต่ำกว่านั้นในสถานการณ์เลวร้าย สถาบันเพื่อการวิเคราะห์และคาดการณ์เชิงยุทธศาสตร์ «ИСАП» ของรัสเซียรายงานว่า รัสเซียกำลังเข้าสู่ “ยุคประชากรหดตัว” «эпоха демографического сжатия» ซึ่งเป็นผลจากทั้งการเกิดที่น้อยเกินไป การเสียชีวิตที่มาก และการย้ายถิ่นออก 

แม้รัฐบาลรัสเซียจะพยายามส่งเสริมการเกิดอย่างต่อเนื่องผ่านโครงการสวัสดิการต่าง ๆ เช่น เงินอุดหนุน “ทุนมารดา” «материнский капитал» แต่แนวโน้มอัตราการเกิดกลับยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง สาเหตุหลักมาจากปัจจัยเชิงโครงสร้างในมิติ เศรษฐกิจ และ สังคม ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้ 

1) ความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจและค่าครองชีพที่สูงขึ้น เงินเฟ้อ ค่าอาหารและที่อยู่อาศัยพุ่งสูง โดยเฉพาะหลังจากรัสเซียเผชิญกับการคว่ำบาตรระหว่างประเทศจากกรณีสงครามในยูเครนรายได้เฉลี่ยของครัวเรือนไม่เพียงพอในการดูแลลูกมากกว่าหนึ่งคนโดยเฉพาะในเขตเมืองใหญ่อย่างมอสโกหรือเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กที่เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจครอบครัวต้องเผชิญกับภาระที่หนักกว่าภูมิภาคอื่น ๆ หลายเท่า ค่าเช่าหรือค่าผ่อนชำระอพาร์ตเมนต์มีราคาเฉลี่ยสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั้งประเทศถึง 2–3 เท่า ค่าเลี้ยงดูเด็กในศูนย์รับเลี้ยงหรือโรงเรียนอนุบาลเอกชนสูงจนครอบครัวรายได้ปานกลางเข้าไม่ถึง ค่าจ้างพี่เลี้ยงเด็กในมอสโกเฉลี่ยอยู่ที่ 60,000–80,000 รูเบิล/เดือน (ราว 700–900 ดอลลาร์) ซึ่งเทียบเท่าหรือสูงกว่าค่าแรงเฉลี่ยในหลายภูมิภาคของประเทศ รายงานจาก Институт демографии НИУ ВШЭ ระบุว่า “ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยในการเลี้ยงดูเด็กหนึ่งคนในมอสโกตั้งแต่เกิดจนถึงอายุ 18 ปีสูงกว่า 11 ล้านรูเบิล (ประมาณ 125,000 ดอลลาร์)” ซึ่งเป็นอัตราที่ “ไม่สอดคล้องกับรายได้ของชนชั้นกลางทั่วไป”นักประชากรศาสตร์อย่างเอเลนา ซาคาโรวา «Елена Захарова»  จาก Russian Academy of Sciences ชี้ว่า“ในระบบเศรษฐกิจที่เสี่ยงและมีต้นทุนการดำรงชีวิตสูงเช่นนี้ ครอบครัวจำนวนมากไม่สามารถ ‘แบกรับ’ ค่าใช้จ่ายของเด็กแม้แต่หนึ่งคนได้” จากข้อมูลของธนาคารกลางรัสเซีย «Банк России» ปี ค.ศ. 2023 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ประมาณ 7.4% แต่ในหมวดสินค้าเด็กเพิ่มขึ้นมากกว่า 10–15% ในบางเขตเมืองราคานม ผ้าอ้อม ของใช้เด็ก และบริการทางการแพทย์พุ่งขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ รวมถึงค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาและสาธารณสุขที่เพิ่มสูงส่งผลให้ครอบครัวรุ่นใหม่ลังเลในการมีลูกหรือมีลูกเพิ่ม รายงานของ РАНХиГС (Russian Presidential Academy of National Economy and Public Administration) ชี้ว่า “ระดับรายได้ต่ำและความรู้สึกถึงความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้คนรุ่นใหม่เลื่อนการแต่งงานและการมีบุตร” ปัจจัยข้างต้นนำไปสู่การเลื่อนหรือยกเลิกแผนการมีบุตร โดยเฉพาะในหมู่ชนชั้นกลางที่อาศัยอยู่ในเขตเมือง การลดขนาดครอบครัวลงเหลือลูกคนเดียว หรือไม่แต่งงานเลย และภาวะ “urban childfree” ที่กำลังขยายตัวในหมู่คนหนุ่มสาวในเขตเมืองที่เลือกเส้นทางการงาน ความมั่นคง และเสรีภาพ มากกว่าการมีบุตร 

2) การเปลี่ยนแปลงของค่านิยมและโครงสร้างครอบครัว การแต่งงานล่าช้าและการเลือกที่จะอยู่คนเดียว (Singlehood) กลายเป็นเรื่องปกติในหมู่คนรุ่นใหม่โดยเฉพาะในเขตเมือง การให้ความสำคัญกับอาชีพและความมั่นคงส่วนบุคคลมากกว่าการมีครอบครัวและลูกหลาน รวมถึงอัตราการหย่าร้างสูงโดยรัสเซียมีอัตราการหย่าร้างสูงติดอันดับต้น ๆ ของโลก ส่งผลต่อทัศนคติของคนรุ่นใหม่ที่มองว่าครอบครัวไม่มั่นคง อเล็กซานเดอร์ ซินเนลนิโคฟ «Александр Синельников» นักสังคมวิทยาชาวรัสเซียชี้ว่า“ความคิดเรื่องครอบครัวในรัสเซียเปลี่ยนจาก ‘การมีลูกเพื่ออนาคตชาติ’ เป็น ‘จะมีลูกเมื่อรู้สึกว่าตัวเองมั่นคงเพียงพอ’ ซึ่งในเงื่อนไขปัจจุบัน แทบไม่มีใครรู้สึกเช่นนั้น” 

3) การขาดแคลนโครงสร้างพื้นฐานสำหรับครอบครัว พบว่าในรัสเซียสถานรับเลี้ยงเด็กและโรงเรียนอนุบาลไม่เพียงพอ โดยเฉพาะในเขตเมืองชั้นนอกและในภูมิภาคห่างไกล ชั่วโมงการทำงานที่ยืดหยุ่นมีน้อยทำให้พ่อแม่โดยเฉพาะผู้หญิงทำงานลำบากเมื่อมีลูก การสนับสนุนทางรัฐจำกัด แม้จะมีนโยบายให้ “ทุนมารดา” «Материнский капитал» ที่ให้เงินสนับสนุนแก่ครอบครัวที่มีลูกคนที่สองหรือสาม และถูกขยายเพิ่มเติมในยุคของประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน แต่ผลลัพธ์ยังไม่ยั่งยืนแต่ระบบสนับสนุนอื่น ๆ เช่น ค่าดูแลเด็กหรือการลางานเพื่อเลี้ยงดูบุตรยังไม่เพียงพอในทางปฏิบัติ รวมถึงมีการเสนอสิทธิพิเศษด้านที่อยู่อาศัย เงินสนับสนุนการศึกษา และลดภาษีสำหรับครอบครัวที่มีลูกหลายคนซึ่งถึงแม้จะมีนโยบายเหล่านี้ แต่ปัญหาในระดับโครงสร้างยังไม่สามารถแก้ได้ เช่น ความไม่มั่นคง การอพยพแรงงาน และการขาดความเชื่อมั่นในอนาคต 

สงครามในยูเครนกับวิกฤติประชากรของรัสเซีย สงครามในยูเครนมีผลกระทบอย่างลึกซึ้งต่อประชากรทั้งในยูเครนและรัสเซียรวมถึงในระดับภูมิภาคและโลก มันส่งผลทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง นอกจากนี้ยังมีผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงประชากรและอัตราการเกิดในรัสเซียและยูเครนอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะในแง่ของการย้ายถิ่นฐาน การสูญเสียชีวิต และการแยกครอบครัว โดยมีผลดังนี้ 

1) ผลกระทบทางเศรษฐกิจ สงครามทำให้ประเทศสูญเสียการผลิตในระยะยาวส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อและค่าครองชีพที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะในเมืองใหญ่ในรัสเซีย เช่น มอสโก เซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก สงครามทำให้ราคาสินค้าพื้นฐานเพิ่มขึ้น และรัสเซียต้องเผชิญกับการคว่ำบาตรจากประเทศตะวันตกส่งผลให้มีปัญหาภายในเรื่องห่วงโซ่อุปทานของสินค้าและบริการ ประชาชนได้รับผลกระทบจากการขาดแคลนสินค้าและบริการบางประการ 

2) ผลกระทบต่อประชากรในด้านการย้ายถิ่นฐาน หลังจากการประกาศสงครามและมาตรการคว่ำบาตรหลายครั้ง ทำให้จำนวนประชากรรัสเซียเริ่มลดลง เนื่องจากการย้ายถิ่นฐานของผู้เชี่ยวชาญทางการงานและเยาวชนที่มองหาความมั่นคงทางการเงินและอาชีพในประเทศที่มีสภาพเศรษฐกิจที่ดีกว่า 

3) ผลกระทบทางสังคม สงครามในยูเครนทำให้มีการสูญเสียชีวิตของพลเรือนและทหารจำนวนมาก ซึ่งส่งผลให้มีการสูญเสียครอบครัวและมีผลกระทบทางอารมณ์ต่อผู้ที่รอดชีวิต หลายครอบครัวต้องแยกจากกันเนื่องจากสงคราม ทำให้เกิดการสูญเสียในหลายมิติ ทั้งด้านอารมณ์และการทำงาน การขาดแคลนทรัพยากรสำหรับครอบครัวที่ยังคงอยู่ในเขตสงคราม เด็กจำนวนมากต้องเผชิญกับความทรงจำที่รุนแรงจากสงคราม รวมถึงการสูญเสียทั้งครอบครัวและทรัพย์สิน ซึ่งส่งผลให้เกิดปัญหาทางจิตใจในระยะยาว 

4) การลดลงของอัตราการเกิดในยูเครนและรัสเซีย การที่ประชากรจำนวนมากในทั้งสองประเทศต้องเผชิญกับความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจ การสูญเสียชีวิต และการย้ายถิ่นฐานส่งผลต่อการตัดสินใจที่จะมีบุตรในอนาคต อัตราการเกิดลดลงในทั้งสองประเทศ โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ของรัสเซีย ในแง่สังคมและเศรษฐกิจการมีบุตรในประเทศที่ประสบปัญหาทางการเงินและสงครามกลายเป็นเรื่องยากมากขึ้น การมีบุตรไม่ได้ถูกมองว่าเป็นทางเลือกหลักสำหรับเยาวชนในประเทศเหล่านี้ 

5) ผลกระทบทางการเมืองและภูมิรัฐศาสตร์ สงครามนี้ได้ผลักดันให้ประชาชนในทั้งสองประเทศมีอัตลักษณ์และความภักดีทางการเมืองที่แตกต่างกัน โดยมีบางกลุ่มที่สนับสนุนการบูรณภาพของอาณาเขตในขณะที่บางกลุ่มเรียกร้องให้เกิดความเป็นอิสระ ก่อให้เกิดความตึงเครียดทางการเมืองในรัสเซียและยูเครนและการแทรกแซงจากต่างประเทศและการปฏิรูปโครงสร้าง โดยประเทศตะวันตกได้มีส่วนสำคัญในการสนับสนุนยูเครนทั้งทางการเงินและทางการทหาร ซึ่งมีผลกระทบต่ออำนาจทางภูมิรัฐศาสตร์ของรัสเซีย 

6) ความขัดแย้งในเชิงอารยธรรม สงครามทำให้เกิดการต่อสู้ระหว่างอารยธรรมตะวันตกและอารยธรรมรัสเซีย-ยูเครน การสนับสนุนจากโลกตะวันตกให้แก่ยูเครนทำให้เกิดการแบ่งแยกระหว่าง "อารยธรรมตะวันตก" และ "อารยธรรมรัสเซีย" ซึ่งส่งผลกระทบต่อการตีความอัตลักษณ์ของทั้งสองชาติ 

แนวทางการแก้ไขปัญหาของรัฐบาลรัสเซีย 
รัฐบาลรัสเซียพยายามรับมือกับวิกฤตประชากร โดยเฉพาะอัตราการเกิดที่ลดต่ำลงอย่างต่อเนื่อง ได้นำไปสู่การกำหนดนโยบายส่งเสริมครอบครัวในหลากหลายมิติ โดยหนึ่งในนโยบายหลักที่มีบทบาทชัดเจนที่สุดคือ นโยบาย "Mother Capital" «Материнский капитал» "Mother Capital"ถูกนำมาใช้ในปี ค.ศ. 2007 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่อัตราการเกิดของรัสเซียตกต่ำหลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียต ภายใต้การนำของประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน โดยมีเป้าหมายเพื่อกระตุ้นให้ครอบครัวมีลูกคนที่สองและสาม  หลักการคือ ครอบครัวที่มีลูกคนที่สองขึ้นไปจะได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐซึ่งสามารถนำไปใช้ในวัตถุประสงค์เฉพาะ เช่น ซื้อที่อยู่อาศัย ชำระค่าเล่าเรียนของบุตร นำไปสะสมในกองทุนบำนาญของมารดา ในปี ค.ศ. 2020 ได้มีการขยายสิทธิประโยชน์เพิ่มเติม เริ่มให้สิทธิตั้งแต่ลูกคนแรก เพิ่มจำนวนเงินสนับสนุน และเพิ่มทางเลือกในการใช้เงินทุน เช่น การสร้างบ้านในเขตชนบท อย่างไรก็ตามนโยบายนี้มีข้อจำกัด แม้ช่วงแรกมีผลกระตุ้นอัตราการเกิดในระดับหนึ่ง (ช่วงปี 2007–2015) แต่ไม่สามารถรักษาผลลัพธ์ระยะยาวได้ การมีบุตรยังคงถูกมองว่าเป็นภาระทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ที่ค่าครองชีพสูง นักวิชาการบางรายชี้ว่า นโยบายนี้มีลักษณะ "เงินจูงใจชั่วคราว" ที่ไม่สามารถแก้ไขโครงสร้างทางสังคมที่ลึกซึ้งได้ เช่น ความไม่มั่นคงในการจ้างงาน หรือปัญหาที่อยู่อาศัยในระยะยาว นอกจากนี้รัฐบาลยังมีมาตรการจูงใจเพิ่มเติมด้านที่อยู่อาศัย การศึกษา และภาษี เช่นโครงการจำนองพิเศษสำหรับครอบครัวที่มีลูก «семейная ипотека» อัตราดอกเบี้ยต่ำสุดเพียง 5% การสนับสนุนให้ครอบครัวสามารถกู้เงินเพื่อซื้อหรือสร้างบ้านโดยมีรัฐช่วยประกัน บางส่วนของ Mother Capital สามารถนำไปใช้เพื่อชำระค่าเล่าเรียนในระดับก่อนและหลังมหาวิทยาลัย สนับสนุนการศึกษาในมหาวิทยาลัยของรัฐ โดยมีทุนการศึกษาสำหรับครอบครัวที่มีบุตรหลายคนลดหย่อนภาษีรายได้บุคคลธรรมดาสำหรับครอบครัวที่มีลูกหลายคน บางภูมิภาคมีการมอบ สถานะ “ครอบครัวใหญ่” «многодетная семья» ซึ่งจะได้รับสิทธิพิเศษในเรื่อง ค่าขนส่ง อาหารกลางวันในโรงเรียน รวมถึงการเข้าสถานพยาบาลหรือศูนย์เด็กก่อนวัยเรียน  

สรุป วิกฤตประชากรของรัสเซียเป็น “สัญญาณอันตราย” ต่อเสถียรภาพของรัฐ การพัฒนาเศรษฐกิจ และความมั่นคงทางภูมิรัฐศาสตร์ในระยะยาว การลดลงของประชากรกำลังท้าทายอุดมการณ์ “รัสเซียที่เข้มแข็ง” ที่ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินพยายามสร้างขึ้นมาอย่างต่อเนื่องตลอดสองทศวรรษ  

ซึ่งวิกฤตประชากรในรัสเซียไม่สามารถอธิบายได้เพียงจากปัจจัยเชิงประชากรศาสตร์เท่านั้น หากแต่เป็นผลพวงจากแรงกดดันทางเศรษฐกิจ โครงสร้างสังคม และค่านิยมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างลึกซึ้ง ความไม่มั่นคงในชีวิตประจำวัน ค่าครองชีพที่พุ่งสูง และการขาดระบบสนับสนุนจากรัฐล้วนหล่อหลอมให้คนรุ่นใหม่ลังเลที่จะสร้างครอบครัว หลายฝ่ายมองว่าการแก้ไขวิกฤตประชากรของรัสเซียไม่สามารถพึ่งนโยบายการเงินเพียงอย่างเดียวได้ แต่ต้องดำเนินควบคู่ไปกับการปฏิรูประบบสวัสดิการและโครงสร้างเศรษฐกิจในระยะยาวด้วย

‘พีระพันธ์’ เริ่มภารกิจดับไฟน้ำมันกลางพายุการเมือง เรือหลวงหลงทิศเจอคลื่นคาสิโนถาโถม สูตร ‘อุ้งอิ้ง’ x ‘เนวิน’ อาจไม่รอดฝั่ง

(18 เม.ย. 68) จากโพสต์ล่าสุดของเพจเฟซบุ๊ก ปราชญ์ สามสี ได้ตีแผ่ภาพสถานการณ์การเมืองไทยผ่านลีลาภาษาสะท้อนอารมณ์ชวนติดตาม โดยพุ่งเป้าไปที่บทบาทของ พีระพันธ์ สาลีรัฐวิภาค รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่เพิ่งได้รับมอบหมายภารกิจ ท่ามกลางสถานการณ์การเมืองร้อนฉ่า

พีระพันธ์ร้อยลีลาเริ่มภารกิจดับไฟราคาน้ำมัน แต่ติดอยู่กลางรัฐบาลผสมสูตร 
'อุ้งอิ้ง x เนวิน' ที่หัวเรือใหญ่ดูจะพากันล่องทะเลการเมืองแบบไม่มี GPS — แถมมีหินโสโครกชื่อว่า 'คาสิโน' โผล่มาเป็นอุปสรรคใหญ่เบ้อเร่อ!

ลูกแรกหักหลบทันอย่างเท่ ลูกสองลูกสามนี่สิ...อุ่ย ส่วนใหญ่จม!

กรกฎาคมนี้รู้กันว่าเรือรอดหรือร่วง พีระพันธ์ที่เคยนั่งเป็น ผู้ช่วยรปภ.ใหญ่มาก่อน น่าจะเข้าใจเกมทำใจดีสู้เสือ ใส่ชูชีพแต่เนิ่น ๆ แอบประคองพวงมาลัยให้....แต่กับกัปตันคนนี้ที่พาเลี้ยวซ้ายเฉี่ยวขวาแถมมีเรือลำอื่นแอบหนีตัดหน้า ก็ไม่รู้ว่าควรจะเกาะให้แน่น หรือต้องผูกสลิงเตรียมโดด!

ที่แน่ ๆ ก๊วนเสี่ยหนู-เนวิน ทิ้งเรือไปนั่งเรือยางแล้ว แต่จะถึงฝั่งไหมไม่มีใครกล้าฟันธง โดยเฉพาะตอนนี้ที่นายเรือดูจะหรี่ตาเขียวใส่ พร้อมตั้งข้อหา 'ทรยศกลางทะเล'

หรือท้ายที่สุด...พีระพันธ์จะกลายเป็นนักว่ายน้ำดีเด่นในพายุการเมือง? หรือ ประคองเรือหลบ คาสิโนได้ .. อันนี้ก็ต้องลองลุ้นกัน

มหากาพย์แห่งสงครามอินโดจีน EP#8 'ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์' พันธมิตรสำคัญฝั่งสหรัฐฯ - เวียตนามใต้

กองกำลังผสมของกองทัพออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ (ANZAC) เป็นพันธมิตรสำคัญของสหรัฐอเมริกาในการป้องกันการแพร่กระจายของลัทธิคอมมิวนิสต์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แม้ว่าทั้งสองประเทศจะเผชิญกับกระแสต่อต้านสงครามที่เพิ่มมากขึ้นในประเทศ แต่ทั้งสองประเทศยังคงให้การสนับสนุนสหรัฐอเมริกาและเวียตนามใต้ตลอดช่วงสงคราม ในปี 1951 ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และสหรัฐอเมริกาได้ลงนามในสนธิสัญญาความมั่นคง (ANZUS) ซึ่งเป็นข้อตกลงไตรภาคีที่ออกแบบมาเพื่อปกป้องผลประโยชน์ร่วมกันของทั้งสองประเทศในภูมิภาคแปซิฟิก แม้ว่าจะไม่ได้มีการเรียกร้องสนธิสัญญาอย่างเป็นทางการสำหรับสงครามเวียตนาม แต่ถึงกระนั้น ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ก็ยังส่งกองกำลัง (ด้วยงบประมาณของตนเอง) เพื่อสนับสนุนสหรัฐอเมริกาในการปกป้องเวียตนามใต้

ในปี 1961 รัฐบาลออสเตรเลียเชื่อว่าการเอาชนะลัทธิคอมมิวนิสต์ในเวียตนามใต้เป็นเรื่องของหลักการและการป้องกันตนเอง เนื่องจากสันนิษฐานว่าเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หากถูกคอมมิวนิสต์เข้าครอบงำแล้วจะเป็นภัยคุกคามต่อดินแดนทางเหนือของออสเตรเลีย ดังนั้น ในปลายฤดูร้อนของปี 1962 รัฐบาลออสเตรเลียได้ส่งทีมที่ปรึกษาทางทหาร 30 นาย ไปช่วยฝึกอบรมทหารของกองทัพสาธารณรัฐเวียดนาม (ARVN) สองปีต่อมา ทีมดังกล่าวมีจำนวนเพิ่มขึ้นกว่าสองเท่าเป็นที่ปรึกษาทางทหาร 80 นายซึ่งฝังตัวอยู่กับกองกำลังภาคสนามของ ARVN และส่งเครื่องบินขนส่ง DHC-4 Caribou (พร้อมนักบิน) ของกองทัพอากาศออสเตรเลียอีก 6 ลำ เมื่อสหรัฐอเมริกาเพิ่มการสนับสนุนเวียดนามใต้ด้วยการส่งกองกำลังรบในปี 1965 ออสเตรเลียก็ดำเนินการตามทันที ด้วยการได้ส่งกองพันที่ 1 กรมทหารออสเตรเลีย (1RAR) และกองกำลังสนับสนุนไปประจำการภายใต้การควบคุมการปฏิบัติการของกองพลทหารอากาศที่ 173 ของกองทัพบกสหรัฐที่เบียนฮัว เมื่อสิ้นสุดปี 1965 หน่วย 1RAR ได้เพิ่ม หน่วยปืนใหญ่ หน่วยวิศวกร หน่วยลาดตระเวนทางอากาศ และหน่วยสนับสนุนด้านโลจิสติกส์

แม้ว่าทหารอเมริกันและออสเตรเลียจะมีความร่วมมือและสู้รบร่วมกันได้ดี แต่โครงสร้างการบังคับบัญชาของออสเตรเลียไม่ได้สนับสนุนยุทธวิธีของกองทัพสหรัฐฯ หรือกฎการรบของกองทัพสหรัฐฯ อย่างเต็มที่ ซึ่งบางครั้งพวกเขามองว่าเป็นข้อจำกัดที่ไร้ประโยชน์โดยไม่จำเป็น พวกเขาต้องการต่อสู้ในแบบของตนเอง ดังนั้นเมื่อในปี 1966 รัฐบาลออสเตรเลียได้เพิ่มกำลังพลให้เป็นหน่วยเฉพาะกิจสองกองพันที่มีการสนับสนุนด้านการส่งกำลังบำรุงในการรบ เรียกว่า หน่วยเฉพาะกิจออสเตรเลียที่ 1 (1ATF) พวกเขาจึงใช้โอกาสนี้แยกตัวออกจากกองพลทหารอากาศที่ 173 และกลายมาเป็นหน่วยบังคับบัญชาอิสระที่มีพื้นที่ปฏิบัติการของตนเองในจังหวัดฟุกตุย โดยมีฐานที่นุยดัต หน่วยสนับสนุนการส่งกำลังบำรุงออสเตรเลียที่ 1 (1ALSG) ตั้งขึ้นในบริเวณใกล้เคียงที่ท่าเรือและสนามบินในเมืองวุงเต่า

วันที่ 18 สิงหาคม 1966 บริษัทเดลต้า กองพันที่ 6 กรมทหารออสเตรเลีย ซึ่งมีกำลังพลรวมประมาณ 108 นาย ได้ออกเดินทางเพื่อค้นหาและเคลียร์กองกำลังของศัตรูออกจากบิญบา ซึ่งเป็นสวนยางพาราเก่าของฝรั่งเศสที่อยู่ไม่ไกลจากไซง่อน กองกำลังออสเตรเลียถูกกองกำลังคอมมิวนิสต์ผสมกว่า 1,500 นายจากเวียตนามเหนือและเวียตกงเข้าโจมตี ในการยิงตอบโต้กันป็นครั้งแรกกับศัตรู กองกำลังออสเตรเลียสูญเสียทหารไปเกือบหมด ซึ่งถือเป็นการสูญเสียชีวิตมากที่สุดที่พวกเขาต้องเผชิญในเวียตนามใต้ หลังจากการปะทะครั้งแรก เมื่อกองร้อยเดลต้าตั้งแนวป้องกันได้แล้ว กองกำลังออสเตรเลียก็ต่อสู้อย่างหนักกับการโจมตีหลายครั้งในช่วงสี่ชั่วโมงถัดมาท่ามกลางพายุฝนที่ตกหนัก กองทัพออสเตรเลียได้รับการสนับสนุนด้วยปืนใหญ่ และได้รับเสบียงจากลูกเรือเฮลิคอปเตอร์ UH-1 “Huey” Iroquois ของกองทัพอากาศออสเตรเลียสองลำ และได้รับการเสริมกำลังจากกองร้อยออสเตรเลียอีกกองหนึ่งที่มาถึงในตอนค่ำด้วยรถลำเลียงพลหุ้มเกราะพร้อมปืนกลขนาด .50 ในท้ายที่สุด กองทัพเวียตนามเหนือและเวียคกงก็ยุติการปะทะ ออสเตรเลียสูญเสียทหารไป 18 นาย และบาดเจ็บ 24 นาย ระหว่างปี 1962 ถึง 1973 ทหารจาก กองทัพบก กองทัพอากาศ และกองทัพเรือของออสเตรเลียเกือบ 60,000 นายประจำการในเวียดนามใต้ ในช่วงที่มีกำลังพลสูงสุด มีทหารออสเตรเลียประจำการอยู่ในเวียตนามใต้มากกว่า 8,300 นาย ทหารออสเตรเลียบาดเจ็บมากกว่า 3,000 นาย และเสียชีวิต 521 นายในสงครามครั้งนี้

นิวซีแลนด์ เช่นเดียวกับออสเตรเลีย รัฐบาลนิวซีแลนด์เป็นพันธมิตรที่เชื่อถือได้ในสงครามในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในช่วงต้นปี 1963 รัฐบาลนิวซีแลนด์ได้ให้การสนับสนุนที่เป็นรูปธรรมแก่ชาวเวียดนามใต้ด้วยการส่งทีมศัลยแพทย์พลเรือนไปให้ความช่วยเหลือทางการแพทย์ในเมืองกวีเญิน ฤดูร้อนปี 1964 รัฐบาลนิวซีแลนด์ได้ส่งวิศวกรของกองทัพบก 25 นายไปช่วยเหลือในโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานใหม่ และในช่วงฤดูร้อนปี 1965 รัฐบาลนิวซีแลนด์จึงได้ส่งกำลังรบเข้าไปในเวียตนามใต้ อันได้แก่ กองร้อยปืนใหญ่ที่ 161 ของกองทหารปืนใหญ่นิวซีแลนด์เดินทางมาถึงเมืองเบียนฮัวในเดือนกรกฎาคม 1965 โดยเริ่มแรกเพื่อประจำการกับกองทัพออสเตรเลียภายใต้การบังคับบัญชาของกองพลทหารอากาศที่ 173 ของกองทัพบกสหรัฐฯ ต่อมาพวกเขาได้ย้ายไปอยู่กับกองกำลังพิเศษของออสเตรเลียที่เมืองนุยดัต ซึ่งพวกเขาประจำการอยู่ในกรมทหารปืนใหญ่ของออสเตรเลียจนถึงเดือนพฤษภาคม 1971

ในปี 1967 นิวซีแลนด์ได้ส่งกองร้อยปืนเล็กยาวจากกองพันที่ 1 ของกรมทหารราบของนิวซีแลนด์ไปประจำการ ซึ่งพวกเขาได้สู้รบเคียงบ่าเคียงไหล่กับกองกำลังออสเตรเลียในหน่วยรบปืนใหญ่ที่ 1 นอกจากนั้นแล้ว นิวซีแลนด์ยังส่งเฮลิคอปเตอร์ UH-1 Iroquois (พร้อมนักบิน) ของกองทัพอากาศนิวซีแลนด์ไปประจำการอีกหลายลำ และในปี 1969 ก็ได้ส่งกองกำลังขนาดเล็กของหน่วยปฏิบัติการพิเศษทางอากาศพิเศษนิวซีแลนด์ไปประจำการกับกองกำลังของออสเตรเลีย ระหว่างปี 1964 ถึง 1972 บุคลากรทางทหารของนิวซีแลนด์ประมาณ 3,500 นายประจำการในเวียตนามใต้ แม้ว่าจะมีไม่เกิน 550 นายที่อยู่ในประเทศในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งก็ตาม พวกเขาได้รับบาดเจ็บ 187 รายและเสียชีวิต 37 รายในช่วงเวลาดังกล่าว

หมายเหตุ ผู้เขียนใช้คำว่า “เวียตนาม” ตัว ‘ต’ สะกด เพราะเอกสารสมัยก่อนใช้เช่นนี้ ต่อมาภายหลังจึงเปลี่ยนมาเป็น “เวียดนาม” สะกดด้วยตัว ‘ด’

ตลอดเดือนเมษายน 2568 พบกับเรื่องราวของมหากาพย์แห่งสงครามอินโดจีน
ในโอกาสครบ 50 ปีแห่งการสิ้นสุดสงคราม วันที่ 30 เมษายน 2518

มหากาพย์แห่งสงครามอินโดจีน EP#9 'ฟิลิปปินส์' อีกหนึ่งพันธมิตรสำคัญฝั่งสหรัฐฯ - เวียตนามใต้

ฟิลิปปินส์ อดีตรัฐอาณานิคมของสหรัฐอเมริกา จึงเป็นพันธมิตรที่สนิทชิดเชื้ออย่างแนบแน่นกับสหรัฐฯ ตั้งแต่สงครามเกาหลี ฟิลิปปินส์ส่งกองกำลังประมาณ 7,500 นายเข้าร่วมสงครามเกาหลี เมื่อสิงหาคม 1950 เป็นกองกำลังที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 4 สำหรับสงครามเวียตนาม ฟิลิปปินส์ให้การสนับสนุนกำลังพลในส่วนของปฏิบัติการด้านกิจการพลเรือน การพัฒนาชุมชน การแพทย์และสาธารณสุข โดยเริ่มส่งกำลังเข้าไปในเวียตนามใต้ครั้งแรกในปี 1964 ด้วยกำลังทหาร 28 นาย รวมทั้งพยาบาลและพลเรือน 6 นาย จำนวนทหารของกองทัพฟิลิปปินส์ที่ประจำการในเวียตนามใต้เพิ่มขึ้นเป็น 182 นาย และกำลังพล 1,882 นายในช่วงปี 1966–1968 ทหารฟิลิปปินส์ประมาณ 10,450 นายถูกส่งไปเวียตนามใต้ และสนับสนุนโครงการทางการแพทย์และกิจการพลเรือนในด้านอื่น ๆ เป็นหลัก กองกำลังเหล่านี้ปฏิบัติการภายใต้ชื่อ A หรือ กลุ่มปฏิบัติการกิจการพลเรือนฟิลิปปินส์-เวียดนาม Philippine Civic Action Group - Vietnam (PHILCAG-V)

ในปี 1954 หลังจากที่เวียตนามถูกแบ่งออกเป็นเวียตนามเหนือที่เป็นคอมมิวนิสต์และเวียตนามใต้ที่ไม่ใช่คอมมิวนิสต์ ชาวเวียดนามเหนือหลายพันคนได้อพยพลงใต้ ออสการ์ อาเรลลาโน ประธานสมาคมหอการค้าเยาวชนฟิลิปปินส์ (Jaycees) สาขามะนิลา เห็นว่าเหตุการณ์นี้เป็นวิกฤตด้านมนุษยธรรม จึงได้ขอความช่วยเหลือจาก รามอน แม็กไซไซ ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ในขณะนั้น ซึ่งตอบว่า “พวกเราได้รับความช่วยเหลือในยามที่เราต้องการความช่วยเหลือจากมิตรสหายผู้ใจดี แล้วเราจะปฏิเสธความช่วยเหลือเพื่อนบ้านเมื่อพวกเขาต้องการความช่วยเหลือได้อย่างไร ความทุกข์ยากของมนุษย์ไม่มีพรมแดนของชาติ ดังนั้นโปรดช่วยเหลือพวกเขาด้วยทุกวิถีทาง และหากข้าพเจ้าและรัฐบาลนี้สามารถช่วยอะไรได้ โปรดอย่าลังเลที่จะติดต่อข้าพเจ้า” ในช่วง 2 ปีต่อมา ในปฏิบัติการที่ชาวฟิลิปปินส์เรียกว่า Operation Brotherhood สมาคม Jaycees ได้ร่วมกับรัฐบาลฟิลิปปินส์ส่งแพทย์ พยาบาล นักสังคมสงเคราะห์ ทันตแพทย์ และเจ้าหน้าที่อื่น ๆ จำนวน 235 คน เพื่อรักษาผู้ป่วยราว 730,000 คนในสถานพยาบาลทั่วเวียตนามใต้

ในปี 1964 เพื่อตอบสนองต่อการรณรงค์ 'More Flags' ของ ลินดอน บี. จอห์นสัน ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ดิออสดาโด มาคาปากัล ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ได้ของบประมาณสนับสนุนจากรัฐสภาฟิลิปปินส์เพื่อส่งกำลังรบไปยังเวียตนามใต้ แต่สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาฟิลิปปินส์กลับอนุมัติงบประมาณสำหรับความช่วยเหลือด้านพลเรือนแทน ในเดือนสิงหาคม 1964 ฟิลิปปินส์ได้ส่ง แพทย์ พยาบาล ช่างเทคนิค และเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการด้านกิจการพลเรือน 16 นายจากกองทัพฟิลิปปินส์เข้าไปช่วยเหลือ "ในความพยายามให้คำแนะนำที่มุ่งเน้นไปที่สงครามจิตวิทยาและกิจการพลเรือนในกองพลที่ 3" ตามประวัติของกองบัญชาการความช่วยเหลือทางทหารของสหรัฐฯ เวียดนาม (MACV) ซึ่งเรียกหน่วยนี้ว่า PHILCON (กองกำลังฟิลิปปินส์)

ในปี 1966 รัฐบาลเวียตนามใต้ได้ร้องขอความช่วยเหลือเพิ่มเติมจากฟิลิปปินส์ รวมถึงกองกำลังติดอาวุธ ฟิลิปปินส์จึงส่งกองกำลังใหม่ไปยังเวียตนามใต้เพื่อแทนที่ PHILCON คือ กลุ่มปฏิบัติการกิจการพลเรือนฟิลิปปินส์-เวียดนาม (PHILCAG-V) ประกอบด้วย กองพันวิศวกรก่อสร้าง ทีมปฏิบัติการทางการแพทย์และสาธารณสุข กองพันรักษาความปลอดภัย หน่วยสนับสนุนและกองบังคับการ พวกเขาได้ตั้งฐานทัพที่เมืองเตยนิญห์ 45 ไมล์ทางตะวันตกเฉียงเหนือของไซง่อน ในช่วงฤดูร้อนของปี 1966 ในช่วง 40 เดือนถัดมา PHILCAG-V ได้ปฏิบัติภารกิจเพื่อพลเรือนที่มีความหลากหลาย โดยส่วนใหญ่เป็นงานก่อสร้างสาธารณูปโภค การพัฒนาชนบท และการบรรเทาทุกข์ด้านอาหารและการแพทย์ แม้ว่า PHILCAG-V จะมีทหารฟิลิปปินส์ 2,068 นายในช่วงที่มีบทบาทสูงสุด แต่ PHILCAG-V เน้นภารกิจด้านมนุษยธรรม ไม่ใช่การรบ ด้วยคติประจำของ PHILCAG-V ว่า “สร้าง ไม่ใช่ทำลาย นำความสุข ไม่ใช่ความเศร้าโศก สร้างความปรารถนาดี ไม่ใช่ความเกลียดชัง”

PHILCAG-V เป็นหน่วยปฏิบัติการที่มีประสิทธิภาพในการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการดำเนินการเพื่อสังคม จนเป็นที่ชื่นชมของชาวเวียตนามใต้ สมาชิกหลายคนของ PHILCAG-V รุ่นแรกจำได้ว่า ชาวเวียตนามใต้มีชื่อเล่นพิเศษสำหรับทหารฟิลิปปินส์ว่า “ทุกที่ที่พวกเขาไป พวกเขาถูกเรียกว่า ‘Philuatan’ ซึ่งหมายความว่า ‘ชาวฟิลิปปินส์คือหมายเลขหนึ่ง’” เห็นได้ชัดว่าชาวเวียตนามใต้มากมายจดจำทหารฟิลิปปินส์ด้วยมิตรภาพ นอกจากนั้นแล้วรัฐบาลฟิลิปปินส์ยังให้การสนับสนุนต่อความพยายามในการทำสงครามเวียตนามของสหรัฐฯ ด้วยการให้กองกำลังสหรัฐฯ ปฏิบัติการจากฐานทัพเรือที่อ่าวซูบิกในซัมบาเลส สำหรับกองเรือที่ 7 ของสหรัฐฯ และจากฐานทัพอากาศคลาร์กในแองเจลิสซิตี้ในลูซอนของฟิลิปปินส์ตั้งแต่ปี 1965 จนกระทั่งสิ้นสุดสงครามในปี 1975 ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ นอกจากนี้ยังรองรับคนงานในท้องถิ่นประมาณ 80,000 คนในธุรกิจระดับตติยภูมิที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีตั้งแต่ธุรกิจทำรองเท้าไปจนถึงการค้าประเวณี มีทหารฟิลิปปินส์ 9 นายเสียชีวิตในเวียตนามใต้ กองกำลังฟิลิปปินส์ถอนตัวออกจากเวียตนามใต้ในวันที่ 12 ธันวาคม 1969 โดยมีการส่งกำลังทหารฟิลิปปินส์ไปยังหมู่เกาะสแปรตลีย์ในเวลาเดียวกัน

หมายเหตุ ผู้เขียนใช้คำว่า “เวียตนาม” ตัว ‘ต’ สะกด เพราะเอกสารสมัยก่อนใช้เช่นนี้ ต่อมาภายหลังจึงเปลี่ยนมาเป็น “เวียดนาม” สะกดด้วยตัว ‘ด’

ตลอดเดือนเมษายน 2568 พบกับเรื่องราวของมหากาพย์แห่งสงครามอินโดจีน
ในโอกาสครบ 50 ปีแห่งการสิ้นสุดสงคราม วันที่ 30 เมษายน 2518

มหากาพย์แห่งสงครามอินโดจีน EP#10 พันธมิตรฝั่งสหรัฐฯ และเวียตนามใต้ : 'ไทย' (1)

ไทยมีบทบาทในภูมิภาคอินโดจีนมายาวนาน เริ่มจาก “เวียตนาม” ตั้งแต่สมัย “องเชียงสือ (เจ้าอนัมก๊ก ตามพงศาวดารไทย)” มาพึ่งพระบรมโพธิสมภารพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ 1) ที่กรุงเทพฯ ต่อมาสามารถกู้คืนอำนาจ รวมแผ่นดินเวียดนามได้สำเร็จ เฉลิมพระนาม “จักรพรรดิซาล็อง” ปฐมกษัตริย์ราชวงศ์เหงวียน ราชวงศ์สุดท้ายของเวียดนาม และสามารถโค่นล้มราชวงศ์เต็ยเซินอย่างสมบูรณ์ใน พ.ศ. 2345 ด้วยความช่วยเหลือจากสยามหลายครั้ง เป็นที่มาของการส่งต้นไม้เงินต้นไม้ทองมาถวายรัชกาลที่ 1 ถึง 6 ครั้งตลอดรัชกาล โดยไทย (“ราชอาณาจักรสยาม” ในสมัยนั้น) ต้องเสียดินแดน “สิบสองจุไทย (สิบสองเจ้าไท)” ให้กับฝรั่งเศสซึ่งส่งกำลังเข้ามายึดเอาดื้อ ๆ ในปี 1888

“ลาว” เป็นดินแดนในปกครองของไทยมายาวนานเช่นกันก่อนที่จะถูกฝรั่งเศสใช้อำนาจและสารพัดเล่ห์กลสร้างเหตุเพื่อยึดเอาดินแดนเหล่านี้ไป ได้แก่ ดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงในปี 1893 ดินแดนฝั่งขวาแม่น้ำโขงในปี 1904 เช่นเดียวกันกับ “กัมพูชา” ซึ่งได้แก่ ดินแดนกัมพูชาตะวันออกเฉียงใต้ในปี 1867 เมืองพระตะบอง เสียมราฐ และศรีโสภณในปี 1907 กระทั่งเกิด “กรณีพิพาทอินโดจีน” หรือ “สงครามฝรั่งเศส-ไทย”  เหนือดินแดนบางส่วนของอินโดจีนฝรั่งเศส ทำให้ฝรั่งเศสต้องยกดินแดนจากกัมพูชาและลาวคืนให้ไทย ได้แก่ จังหวัดพระตะบองและจังหวัดไพลิน (จัดตั้งใหม่เป็นจังหวัดพระตะบอง) จังหวัดเสียมราฐ จังหวัดบันทายมีชัย และจังหวัดอุดรมีชัย (จัดตั้งใหม่เป็นจังหวัดพิบูลสงคราม) จังหวัดพระวิหาร ผนวกเข้ากับแขวงจำปาศักดิ์ของลาวที่อยู่ตรงข้ามปากเซ เพื่อสร้างจังหวัดนครจัมปาศักดิ์ แขวงไชยบุรี รวมแขวงหลวงพระบางบางส่วน ซึ่งภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็นจังหวัดลานช้าง

อย่างไรก็ตาม ภายหลังสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลง ไทยได้สมัครเข้าเป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติ จึงจำเป็นต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดของประเทศมหาอำนาจและฝรั่งเศสซึ่งเป็นฝ่ายชนะสงคราม โดยต้องทำความตกลงระงับกรณีระหว่างไทยกับฝรั่งเศส “ความตกลงวอชิงตัน” ณ กรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา ในวันที่ 17 พฤศจิกายน 1946 มีผลให้ไทยต้องคืนดินแดน อินโดจีน ที่ได้มาทั้งหมดให้กับฝรั่งเศส ดังนั้นไทยจึงเป็นหนึ่งในผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่สำคัญในภูมิภาคนี้มาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน ไทยได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากสหรัฐอเมริกาตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 ด้วยการส่งอาวุธยุทโธปกรณ์ให้ขบวนการเสรีไทย และได้กลายเป็นพันธมิตรที่ใกล้ชิดกับสหรัฐฯ หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 สงบลง โดยเป็นหนึ่งประเทศซึ่งเป็นแนวร่วมสำคัญของสหรัฐฯ ในการต่อต้านลัทธิคอมมิวนสต์ การส่งกองกำลังไปร่วมรบกับสหประชาชาติภายใต้การนำของสหรัฐฯ ในสงครามเกาหลี

สำหรับสงครามอินโดจีนที่สหรัฐฯ เข้ามามีบทบาทนั้น สืบเนื่องจากภัยคุกคามของไทยในขณะนั้นประสบกับการรุกรานของลัทธิคอมมิวนิสต์เพิ่มมากยิ่งขึ้น ในช่วงต้นเดือนกันยายน 1958 กองทัพบกไทยได้เริ่มทำการฝึกให้กับกองทัพลาวที่ค่ายเอราวัณ ต่อมาเดือนเมษายน 1959 ค่ายฝึกทหารลาวแห่งแรกในประเทศไทยได้เปิดตัวในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย มีชื่อรหัสว่า "โครงการเอกราช (Unity)" กองทัพบกไทยยังได้จัดตั้งกองบัญชาการ 333 (HQ 333) เพื่อควบคุมการปฏิบัติการลับที่เกี่ยวข้องกับลาว โดยสำนักข่าวกรองกลางของสหรัฐฯ (CIA) ได้จัดตั้งหน่วยประสานงานร่วมเพื่อประสานงานกิจกรรมกับ HQ 333 มีการจัดส่งนักบินไทยและเจ้าหน้าที่เทคนิคไปทำการบินให้กับกองทัพอากาศลาว เดือนธันวาคมปี 1960 มีการส่งตำรวจพลร่ม (Police Aerial Reinforcement Unit : PARU) ชุดแรกเข้าไปในลาวเพื่อร่วมในปฏิบัติการด้านสงครามพิเศษ การทำสงครามแบบกองโจร และการฝึกทหารลาวม้ง การปฏิบัติการจิตวิทยา จัดตั้งกองกำลัง และการร่วมปฏิบัติการรบ

หลังจากลงนามสงบศึกที่เจนีวา แต่สงครามในลาวไม่ได้หยุดลง และกลับทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น CIA และ HQ 333 จึงจำเป็นต้องขยายขอบเขตการรบในลาว จึงมีการจัดระบบเตรียมการและจัดส่งกำลังพลทหารรับจ้างไทย (ทหารเสือพราน) เข้าไปในลาว เริ่มจากทหารปืนใหญ่ของกองทัพไทยเข้าร่วมการรบในแนวใกล้ทุ่งไหหินในปี 1964 เพื่อต่อสู้กับกองกำลังของประเทดลาว (ลาวแดง) ในโปรแกรมการฝึกพิเศษของสหรัฐฯ ต่อมาในปี 1969 หน่วยปืนใหญ่อีกหน่วยหนึ่งได้ทารรบป้องกันเมืองสุยเพื่อต่อต้านกองกำลังคอมมิวนิสต์ (ลาวแดงและเวียตนามเหนือ) และกลายเป็นหน่วยรบแรกของไทยที่สู้รบในลาว จากนั้นก็มีหน่วยอื่น ๆ ตามมา ในปี 1970 ฝ่ายอเมริกันได้โน้มน้าวฝ่ายไทยให้ใช้กำลังอาสาสมัครติดอาวุธในลาว (ทหารรับจ้างไทย (ทหารเสือพราน)) และต่อมาอาสาสมัครที่ได้รับการฝึกและใช้งานเหล่านี้ก็ตกอยู่ภายใต้การควบคุมของฝ่ายอเมริกัน กองกำลังที่ได้รับการฝึกใหม่ได้รับการจัดเป็นกองพัน กองพันละ 495 นาย ภายใต้สัญญาจ้าง 1 ปี จากนั้นก็สามารถขยายต่อไปได้ กองพันเริ่มต้นด้วยเลข "6" ซึ่งเป็นความแตกต่างในการกำหนดหน่วยของไทยจากหน่วยลาว กองพันแรกเริ่มจาก 601, 602 การเตรียมการของสองกองพันดังกล่าวสิ้นสุดลงในต้นเดือนธันวาคม 1970 และในกลางเดือนธันวาคม กองพันเหล่านี้ก็ถูกส่งเข้าสู่สนามรบแล้ว CIA ซึ่งเคยชินกับความไร้ประสิทธิภาพของทหารลาวรู้สึกประหลาดใจอย่างยินดีกับผลลัพธ์ของการโจมตีของไทย

บทบาทและจำนวนทหารรับจ้างไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง CIA ต้องการทหารให้ได้มากที่สุด จึงเริ่มรับสมัครชายไทยที่ไม่มีประสบการณ์ทางการทหารเข้าค่ายฝึก เป็นผลให้ในเดือนมิถุนายน 1971จำนวนหน่วยทหารรับจ้างไทยที่ไปทำสงครามในลาวเท่ากับ 14,028 นาย และสิ้นเดือนกันยายน 1971 มากถึง 21,413 นาย เมื่อทหารลาวและทหารลาวม้งลดจำนวนลง สัดส่วนของทหารไทยก็เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อสิ้นสุดปี 1972 ทหารไทยได้กลายมาเป็นกำลังรบหลักของลาวภายใต้การบังคับบัญชาของนายพลวางเปา ทหารรับจ้างไทยถือเป็นกองกำลังที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดในการต่อสู้กับลาวแดงและเวียตนามเหนือในลาว ทหารม้งซึ่งบางครั้งสามารถทำลายกองกำลังคอมมิวนิสต์บางส่วนด้วยการสนับสนุนทางอากาศจากอเมริกันด้อยกว่าทหารรับจ้างไทยอย่างเห็นได้ชัดในทุกๆ ด้าน อย่างไรก็ตาม การรบในปี 1971 กองกำลังคอมมิวนิสต์ได้สร้างความพ่ายแพ้ครั้งใหญ่ให้กับกองกำลังทหารรับจ้างไทย เป็นครั้งแรกที่เครื่องบิน MiG ของเวียดนามได้เปิดฉากโจมตีในลาวเพื่อสนับสนุนกองกำลังภาคพื้นดินของเวียตนามเหนือและลาวแดง  เนื่องจากคุ้นเคยกับการสนับสนุนทางอากาศจากสหรัฐฯ ทั้งกองกำลังของลาวและไทยจึงไม่สามารถรักษาที่มั่นเอาไว้ได้ เมื่อฝ่ายศัตรูสามารถครองอากาศ และกองกำลังทหารรับจ้างไทยถูกบังคับให้หลบหนีจากสนามรบ ก่อนที่จะมีการสงบศึกในเดือนกุมภาพันธ์ 1973 ทหารรับจ้างไทยเกือบครึ่งหนึ่งหลบหนีกลับไทย ทหารรับจ้างไทยที่เหลือประมาณ 10,000 นายก็ถูกส่งตัวกลับไทยและแยกย้ายกันกลับภูมิลำเนา ไม่มีข้อมูลยืนยันถึงตัวเลขของทหารรับจ้างไทยที่บาดเจ็บและเสียชีวิตในสงครามครั้งนี้ ซึ่งน่าจะถึงหลักพัน สงครามในลาวถือว่าเป็น “สงครามลับ” สำหรับสหรัฐฯ ซึ่งในวันที่ 15 พฤษภาคม 1997 สหรัฐฯ พึ่งจะยอมรับอย่างเป็นทางการว่าตนมีส่วนร่วมในสงครามลับดังกล่าว

หมายเหตุ ผู้เขียนใช้คำว่า “เวียตนาม” ตัว ‘ต’ สะกด เพราะเอกสารสมัยก่อนใช้เช่นนี้ ต่อมาภายหลังจึงเปลี่ยนมาเป็น “เวียดนาม” สะกดด้วยตัว ‘ด’

ตลอดเดือนเมษายน 2568 พบกับเรื่องราวของมหากาพย์แห่งสงครามอินโดจีน
ในโอกาสครบ 50 ปีแห่งการสิ้นสุดสงคราม วันที่ 30 เมษายน 2518


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top