จะเกิดอะไรขึ้นถ้าเจ้าของบริษัทตึ๊งหุ้นตัวเอง สัญญาณเตือน! บริษัทอาจกำลังขาดสภาพคล่อง

(9 ม.ค. 68) ในช่วงนี้ถ้าใครที่เป็นนักลงทุนในตลาดหุ้นก็จะเห็นบรรดาข่าวที่ส่งผลให้ตลาดหุ้นบ้านเราเต็มไปด้วยปัจจัยลบทั้งจากตัวเศรษฐกิจเองที่เงินเฟ้อไทยที่ยังอยู่ในระดับสูงกว่าที่คาด หรือมาตรการของภาครัฐที่กดดันหุ้นอุตสาหกรรมบางประเภท อย่าง กลุ่มโรงไฟฟ้า และหุ้นที่พากันลงไปแตะที่ระดับต่ำสุดของวันหรือที่เราเรียกว่า หุ้นลงแตะที่ฟลอร์ จากปัจจัยเฉพาะตัวของหุ้นตัวนั้นๆเอง 

ล่าสุดเราก็จะเห็นได้จากกรณีของหุ้นตัวหนึ่งที่ลงไปแตะฟลอร์หลายวันติดกันจากกรณีที่เจ้าของนำหุ้นตัวเองไปตึ๊ง เพื่อนำเงินไปหมุนเวียน และเมื่อมีการกู้ที่เยอะเกินกว่าปกติทำให้โบรกเกอร์เริ่มจำกัดวงเงิน และส่งผลทำให้หมุนเงินไม่ทัน จนนำมาซึ่งการถูกบังคับขาย แล้วการตึ๊งหุ้นตัวเองคืออะไร เดี๋ยววันนี้จะมาสรุปให้ฟังแบบเข้าใจง่ายๆกันค่ะ 

การตึ๊งหุ้นตัวเองก็คือการที่ผู้บริหาร หรือ ผู้ถือหุ้นใหญ่ นำหุ้นของบริษัทตนเองออกไปวางเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันเพื่อกู้เงิน และนำเงินที่กู้ได้นั้นไปเชื่อเพื่อเป็นเงินหมุนเวียนในการทำธุรกิจ หรืออีกนัยหนึ่งก็คือการเอาหุ้นที่เรามีไปวางเป็นหลักประกันเพื่อที่จะขอเปิดบัญชีซื้อขายหุ้นด้วยวงเงินที่สูงขึ้น ที่เรารู้จักคุ้นหูว่า “บัญชีมาร์จิ้น” โดยเราจะเรียกพฤติการณ์การทำแบบนี้ในทางการว่า “ธุรกรรมหุ้นหลักประกัน” 

แม้ว่าการกระทำเช่นนี้จะไม่ใช่สิ่งที่ผิดกฎหมายและก็ถือเป็นสิทธิของผู้กู้และผู้ให้กู้อยู่แล้ว แต่การทำเช่นนี้ก็มีความเสี่ยงมากมายที่อาจจะส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อนักลงทุนและราคาหุ้นตัวนั้นได้ ยกตัวอย่างเช่น ถ้าหุ้นตัวนั้นมีข่าวที่ไม่ดีอย่างงบการเงินที่ออกมาไม่ดี หรือข่าวที่เกี่ยวกับธรรมาภิบาลของเจ้าของบริษัท ก็จะทำให้เกิดแรงขายในหุ้นตัวนั้นได้ และเมื่อมูลค่าหุ้นลดลง เจ้าของที่ทำการกู้เงินจากการตึ๊งหุ้นตัวเองก็จำเป็นต้องเติมเงินเข้ามาเพื่อรักษามูลค่า หรือที่เรียกว่า Margin Call และถ้าไม่สามารถหาเงินมาเติมได้ก็จะถูกให้บังคับขายหุ้น (Forced Sell) ที่มี และนั่นก็จะยิ่งเป็นการซ้ำเติมให้ราคาหุ้นตกลงไปอีก และยิ่งไปซ้ำเติมปัญหาเรื่องความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่มีต่อหุ้นตัวนั้นในแย่ลงไปอีก

ซึ่งเรื่องนี้บอกอะไรเราในฐานะนักลงทุนบ้าง? ในฐานะนักลงทุนพวกเราควรเห็นสัญญาณเตือนนี้ว่า การที่ผู้ถือหุ้นใหญ่นำหุ้นของตัวเองไปจำนำ อาจสะท้อนถึงความต้องการเงินสดเร่งด่วน ซึ่งบางครั้งอาจเป็นเพราะบริษัทมีปัญหาด้านสภาพคล่อง หรือผู้ถือหุ้นใหญ่ต้องการเงินทุนสำหรับโครงการอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับบริษัท เราเองจึงตรวจสอบสถานะทางการเงินของบริษัทอย่างละเอียดมากขึ้น รวมถึงต้องมองหาบริษัทที่มีธรรมาภิบาลที่ดี มีการบริหารจัดการความเสี่ยงอย่างรอบคอบและโปร่งใส รวมถึงศึกษาหาข้อมูลจากกรณีศึกษาที่เคยเกิดขึ้นในอดีตค่ะ 


เรื่อง : อรวดี ศิริผดุงธรรม ,IP