ฟุตบอลเด็กไทย จะไปทางไหน? เมื่อพ่อแม่ -โค้ชหวังแค่ผลลัพธ์ แต่ไม่สนใจผลที่จะได้รับ
เมื่อไม่นานมานี้ผมได้มีโอกาสไปร่วมงานมหกรรมการแข่งขันกีฬาของนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษา เพื่อเชื่อมความสัมพันธ์ของสถาบันการศึกษารวมกว่า 10 สถาบัน โดยเจ้าภาพในปีนี้เป็นสถาบันที่อยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ นัก ผมไปในฐานะของผู้ฝึกสอนกีฬาฟุตบอลระดับประถมศึกษาตอนต้น เนื่องด้วยตัวเองคลุกคลีกับฟุตบอลเด็กมาในระดับหนึ่ง แม้จะไม่ยาวนานนัก แต่ด้วยความเป็นนักกีฬา และทำโครงการกีฬามามากทำให้สามารถดูแลได้ประมาณหนึ่ง
ในมุมของฟุตบอลเด็ก ก่อนหน้ามหกรรมกีฬาในครั้งนี้ ด้วยความที่เป็นคนทำโครงการกีฬา และกำลังดำเนินการจัดตั้งอคาเดมี่ฟุตบอลสำหรับพัฒนาเด็กอายุ 6-12 ปี ผมจึงมีข้อมูลจำนวนมากที่เกี่ยวกับ รูปแบบการสอน กฎกติกา ความเหมาะสมของช่วงวัย พัฒนาการของช่วงวัยตามหลักวิทยาศาสตร์การกีฬา พร้อมด้วยความร่วมมือจากผู้ฝึกสอนที่มีใบอนุญาตฝึกสอนในระดับต่าง ๆ หลายท่าน อีกทั้งรายชื่ออคาเดมี่ที่ลงทะเบียนไว้กับสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ จำนวนกว่า 600 รายชื่อ ก่อนจะไปเรื่องอื่น ๆ เรื่องตรงนี้ผมเกิดคำถามขึ้นมาที่น่าสนใจขึ้นมาอย่างหนึ่งคือ รายชื่ออคาเดมี่ที่มีอยู่ มีกี่อคาเดมี่ที่มีสนามฝึกซ้อมเป็นของตนเองจริง ๆ (ไม่ว่าจะเช่าหรือเป็นเจ้าของเอง) เพราะในบางอคาเดมี่ตามรายชื่อไม่มีสนามฝึกซ้อม มีแค่ตัวโค้ชกับทีมงาน อันนี้ก็แปลกดี
อีก 1 คำถามที่เกิดขึ้นตามมาก็คือ อคาเดมี่ที่เปิดกันอยู่ในประเทศไทยมีอีกกี่อคาเดมี่ที่ไม่ลงทะเบียนกับสมาคม ฯ จากการประเมินผมตอบคำถามได้เลยว่าน่าจะมีหลักพัน เพราะอะไร ? ก็เพราะในสนามฟุตบอลเช่าจะมีโค้ชที่สอนประจำอยู่ โดยไม่ได้อ้างอิงระบบอคาเดมี่ แต่ใช้สถานที่เป็นตัวตั้งและจับโค้ชใส่เข้าไป ซึ่งก็มีการฝึกสอนเด็ก ๆ อยู่จำนวนมาก และแน่นอนเป็นการเสียเงินเพื่อเรียนฟุตบอล
ด้วยระบบที่ดีของสมาคม ฯ ตามที่ผมได้เข้าไปศึกษา ผมยินดีมาก ๆ ที่เราได้เดินทางมาอย่างมีเป้าหมายชัดเจน และต้องการให้การสร้างรากฐานฟุตบอลเด็กได้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมโดยการจับมือกับ FIFA แล้วสร้างโปรแกรมให้เด็ก ๆ ได้เล่นฟุตบอลอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ซึ่งดีมาก ๆ แต่ทว่า วันนี้การพัฒนารูปแบบนี้กลับกำลังถูกเมินเฉย และค่อยๆ ถูกเซาะกร่อนด้วยการหวังผลลัพธ์แห่งชัยชนะที่เร็วเกินวัยจาก พ่อ แม่ ผู้ปกครอง และอคาเดมี่ (หรือโค้ช) บางส่วน ประกอบกับอีกปัจจัยสำคัญก็คือการจัดการแข่งขันฟุตบอลเด็กที่เกิดขึ้นอย่างถี่ยิบในปัจจุบัน ทำให้ความหวังผลเลิศอันเกิดขึ้นจากการเสพติดชัยชนะบ่มเพาะให้เกิดการสอนฟุตบอลเกินวัย เทคนิคเกินเด็ก และการเล่นอันตรายถูกนำมาสอนมากขึ้น
กลับมาที่การแข่งขันกีฬาที่ผมไปเข้าร่วมดีกว่า เพราะน่าจะเป็นภาพสะท้อนที่ชัดเจนขึ้น เนื่องจากการแข่งขันในครั้งนี้บนหน้าอกของเด็ก ๆ คือสถาบันการศึกษา ความเป็นมาตรฐานจึงเป็นสิ่งสำคัญ และแน่นอนการแข่งขันเพื่อชัยชนะก็เข้มข้น ซึ่งก็จริงดังคาด การแข่งขันเป็นไปอย่างจริงจัง แต่ความจริงจังนั้นเป็นไปอย่างน่าชื่นใจ เพราะทีมฟุตบอลเด็กจำนวนมากเล่นกันเป็นระบบ มีความสามารถเฉพาะตัวที่เก่งกาจ แสดงให้เห็นเด่นชัดถึงความตั้งใจของตัวเด็ก และการฝึกสอนที่มีคุณภาพ ไม่แปลกใจที่ทีมชนะเลิศจะได้เพราะเขาสามารถรวมเอาระบบ และความสามารถของเด็กมาไว้ด้วยกันได้ แต่ความน่าสนใจไม่ได้อยู่ที่ทีมชนะเลิศครับ มันอยู่ที่ทีมเด็กทีมหนึ่งซึ่งใช้ทักษะเกินวัย และเป็นเทคนิคเสี่ยงบาดเจ็บ
ปกติเด็กในวัยประถมศึกษาคือช่วงประมาณอายุ 6 – 12 ปี นั้นทักษะหนึ่งที่มักจะห้ามใช้กันก็คือการ 'สไลด์บอล' ทำไม ? ถึงห้าม เราลองมานึกตามกันนะครับ การสไลด์บอลคือการป้องกันที่ถือว่าอันตรายในระดับหนึ่ง แม้จะเป็นในระดับผู้ใหญ่ สำหรับเด็กเมื่อเด็กสไลด์ขาไปบนสนามหญ้าร่างกายจะมีส่วนของการสัมผัสพื้นค่อนข้างมาก ทั้งยังต้องใช้แรงบังคับทิศทางไปยังเป้าหมายคือลูกฟุตบอลที่อยู่กับเท้าของฝั่งตรงข้าม ซึ่งแน่นอนการบังคับผลให้เกิดไม่สามารถทำให้ใกล้เคียงกับนักฟุตบอลผู้ใหญ่แน่นอน ถ้าการสไลด์สำหรับนักฟุตบอลผู้ใหญ่มีผลสำเร็จอยู่ที่ 70 – 80 % โดยไม่ฟาวล์หรือบาดเจ็บ แล้วนักฟุตบอลเด็กคุณคิดว่ามันจะมีผลสำเร็จอยู่ที่เท่าไหร่ ? สิ่งที่น่าจะเกิดขึ้นมีอยู่หลายทาง ทางแรกคือโดนบอล ไม่โดนเท้าคู่แข่ง คู่แข่งกระโดดหลบได้ ป้องกันได้สำเร็จ ทางที่สองคือโดนบอล โดนเท้าคู่แข่ง คู่แข่งบาดเจ็บ จังหวะล้มคู่แข่งลงมาทับพอดี เสียฟาวล์ ทางที่สามคือไม่โดนบอล โดนเท้าคู่แข่ง คู่แข่งบาดเจ็บ เสียฟาวล์ ทางที่สี่ไม่โดนบอล ไม่โดนเท้าคู่แข่งแต่ “คู่แข่งกระโดดหลบแล้วลงมาทับหรือเหยียบ” คนสไลด์บาดเจ็บ ทางที่ห้าสไลด์แล้วไม่โดนอะไรเลย ป้องกันไม่ได้ และยังมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดอีกหลายทาง อีกทั้งการสไลด์ข้างหลัง ด้านข้าง ด้านหน้า และเปิดปุ่มสตั๊ด มันยังสามารถเกิดประเด็นได้อีกมากมาย คำถามคือกับเด็กอายุ 6 – 12 ปี ที่เราเรียกกันว่ายุวชน มีความคิดเผื่อไว้หลายชั้นสำหรับผลที่ต้องได้รับขนาดนั้นหรือไม่ ? คำตอบ 100% คือ “ไม่”
ทำไม ? โค้ชในอคาเดมี่บางแห่งถึงได้สอนเด็ก ๆ สไลด์บอล ก็อาจจะตอบได้แบบสวย ๆ ว่า เพื่อให้เด็กได้รู้ถึงเทคนิคนี้ เพราะต่อให้ตนไม่สอนเด็ก ๆ เมื่อไปดูการแข่งขัน หรือดูใน YouTube ก็ต้องนำเอามาใช้แน่นอน คำตอบนี้ตอบได้ถูกต้อง แต่ไม่ถูกทั้งหมด เพราะถ้าสอนเข้าไปลึก ๆ การสไลด์มันมีขั้นตอนทางเทคนิคที่วัย 6 – 12 ปี ยังต้องเรียนรู้เพิ่มเติมอีก แต่ที่เด็กกล้านำมาใช้ ผมเชื่อว่าเพราะโค้ชผู้สอนไม่ได้เตือนถึงผลเสียหากนำไปใช้ เพราะโค้ชคำนึงถึงแต่ผลลัพธ์ที่จะตอบโจทย์ผู้ปกครอง มากกว่าผลที่จะได้รับ เด็กไม่ผิดหรอกครับที่นำมาใช้ แต่ผู้ใหญ่ที่สอนให้ใช้อย่างไม่มีความรับผิดชอบนั่นแหละคือคนผิดตัวจริง
แต่สไลด์บอลไม่ใช่เพียงเทคนิคเดียวที่ถูกสอนให้นำมาใช้ การใช้ศอก ดึงเสื้อ เตะขา เหยียบเท้า เปิดปุ่ม เข้าเข่า ดึงขา คือภาพที่ผมเห็นมาจากทีมฟุตบอลระดับอคาเดมี่หลายแห่งที่หวังผลเป็นเลิศ เคยเห็นในการแข่งระดับมัธยมก็พอได้พบ แต่ไม่น่าเชื่อว่าผมจะได้เห็นจากทีมฟุตบอลโรงเรียนระดับประถมศึกษาตอนต้นในรายการมหกรรมกีฬาระดับประเทศ คำถามคือ “เกิดอะไรขึ้นกับการแข่งขันฟุตบอลเด็ก ?” เราไม่ได้สอนให้เด็กแข็งแกร่งขึ้นจากการฝึกซ้อมแล้วหรือ เราไม่ได้สอนให้มีทักษะจากเรียนรู้แล้วหรือ เราไม่ได้สอนให้เขารู้จักเอาชนะคู่แข่งด้วยความสามารถแล้วหรือ
คำตอบที่ผมตอบได้ประการเดียวก็คือ “ชัยชนะ” เพราะมันคือผลลัพธ์ที่ตอบโจทย์พ่อ แม่ ผู้ปกครอง จำนวนหนึ่ง ที่คาดหวังจากการเรียนฟุตบอลในอคาเดมี่ของลูกตัวเอง ลูกฉันเรียนบอล ลูกฉันต้องชนะ ซึ่งโค้ชบางท่านก็ตอบสนองความต้องการนั้น ด้วยการสอนทุกอย่างที่เด็กในวัยเด็กเดียวกันเขาไม่สอน โดยเฉพาะตามระบบมาตรฐานของสมาคมฯ หรือ FIFA ถ้าลูกคุณสไลด์เอาบอลมาจากคู่แข่งได้อย่างสวยงาม คุณคงดีใจ แต่ถ้าลูกคุณสไลด์ไปเอาบอลโดยที่สร้างรอยแผลไว้ให้กับคู่แข่งล่ะ ลูกคุณไม่เจ็บแต่เด็กที่โดนสไลด์เจ็บ ผมได้ยินเด็กน้อยในทีมถามว่าทำไมเขาสไลด์ได้? ทำไมเขาสไลด์แล้วทำคนอื่นเจ็บได้? ทำไมผมทำบ้างไม่ได้ ? เด็กที่โดนสไลด์บางคนไม่กล้าเล่นบอลหรือเอาบอลไว้กับเท้า ตามวัยที่เขาต้องเรียนรู้แล้ว เพียงเพราะเขากลัวการถูกสไลด์ กลับกันถ้าคนที่ถูกสไลด์ถูกตอบแทนด้วยการถูกเหยียบ การถูกทับจากคู่แข่งที่เอาศอกลงที่หน้า ที่อก ที่เบ้าตา จะเกิดอะไรขึ้น ? มันจะเป็นรอยแผลในใจของลูกคุณไหม ? อ่าน ๆ ไปแล้วดูมันจะโหดขึ้นเรื่อย ๆ แต่นี่คือเรื่องจริงที่เกิดขึ้นจากการแข่งขันฟุตบอลเด็กครับ ไม่ว่าจะเป็นการแข่งขันรายการแบบไหน ก็ไม่สมควรจะเกิด คุณว่าจริงไหม ?
มาถึงตรงนี้ หากคุณได้ชมฟุตบอลชิงแชมป์อาเซียนครั้งล่าสุด คุณเห็นคู่แข่งของทีมชาติไทยไหมครับว่าเขาเข้าบอลกับเราแบบไหน ทัศนคติของเขาเป็นแบบไหน ย้อนกลับมาที่เรา พ่อ แม่ ผู้ปกครอง อยากให้โค้ชสอนลูกเราให้เป็นแบบนั้นหรือครับ สอนให้ทำร้าย ทำลาย คู่แข่งเพื่อชัยชนะ โดยไม่สนว่าในอนาคตของคู่แข่งจะเป็นอย่างไร ? ฟุตบอลไทยจะเป็นอย่างไร? ทั้ง ๆ ที่ฟุตบอลมันให้อะไรมากกว่ากว่าชัยชนะอีกตั้งมากมาย สิ่งที่ผมนำมาเล่าในตอนนี้คือภาพที่ผมเห็นมากับตาตัวเอง ขอให้เรากลับมาสนใจผลที่จะได้รับมากกว่าผลลัพธ์กันเถอะครับ ฟุตบอลไทยจะได้ไปต่ออย่างสวยงาม
อย่าให้เจอคำพูดที่ผมเจอจากผู้ใหญ่ท่านหนึ่ง ณ สนามแข่งขันว่า “ก็แค่เด็กมันเล่นบอลกัน จะอะไรนักหนา” อีกเลยครับ