สังคมแตกเป็นสองฝ่าย หนุนกฎหมายใหม่จัดหนักพวกหมิ่นพุทธ

ในประเทศไทยดูเหมือนการวิพากษ์วิจารณ์เรื่องของศาสนาพุทธจะเป็นประเด็นที่ทำให้สังคมแตกแยกออกเป็น 2 ฝ่ายโดยฝ่ายหนึ่งคือกลุ่มแนวคิดเดิมกับอีกกลุ่มคือกลุ่มแนวคิดใหม่ ซึ่งแนวทางของกลุ่มแนวคิดใหม่นั้นมองว่าการกระทำใดๆก็ตามของกลุ่มแนวคิดเดิมเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องไม่ได้ระบุไว้ในพระธรรมวินัยและพยายามทำตัวเองให้กลายเป็นอินฟลูด้านศาสนาขึ้นมาด้วย วิธีการแบบนี้สามารถใช้ได้ในประเทศไทยเพราะถ้าหากเราดูถึงการนับถือศาสนาพุทธในปัจจุบันแล้วก็จะเห็นเป็น 2 กลุ่มกลุ่มแรกคือนับถือพุทธเพราะที่บ้านนับถือสืบต่อกันมา ส่วนอีกกลุ่มนับถือพุทธด้วยถูกจริตต่อจิตใจของตน  

หากมองดูทั้งสองกลุ่มจะเห็นถึงความแตกต่างของคน 2 ประเภทนี้กล่าวคือคนกลุ่มแรกจะสามารถถูกชักจูงง่ายโดยใช้หลักการทางการตลาดใด ๆ ก็ตาม แต่อีกประเภทหนึ่งจะต้องหาเหตุผล หลักฐานมาหักล้างความเชื่อนั้นเพื่อสร้างความเชื่อใหม่ให้เกิดขึ้น เอย่าได้ไปคุยกับผู้สันทัดด้านศาสนาของไทยและเมียนมาและเห็นว่าศาสนาพุทธใน 2 ประเทศนี้มีความคล้ายและต่างกันบางอย่าง ส่วนที่เหมือนกันคือ การผสมผสานของศาสนาพุทธให้เข้ากับลัทธิดั้งเดิมที่มีมาอยู่ก่อนทั้งในไทยและเมียนมานั้น ศาสนาพุทธได้ประสบความสำเร็จจากการเผยแผ่ศาสนาแบบนี้  แต่คน  2 ประเทศนี้มีหลายอย่างต่างกันกล่าวคือ คนเมียนมาส่วนหนึ่งแม้จะบูชาผีนัตก็ตามแต่การบูชาผีนัตก็เพื่อขอความคุ้มครองต่อตัวเขา ครอบครัวและธุรกิจ อันแตกต่างจากของไทยซึ่งส่วนใหญ่การสักการะใดๆก็ตามจะเน้นการขอลาภ ยศเสียมากกว่า

เอย่าถามว่าทำไมคนพม่าถึงนับถือศาสนาพุทธอย่างเหนียวแน่น กูรูศาสนาพุทธชาวเมียนมาให้คำตอบกับเราว่าส่วนใหญ่คนเมียนมานับถือพุทธมากกว่านับถือนัต และระลึกว่าการกราบไหว้บูชาพระพุทธเป็นการสักการะเพื่อต้องการสืบต่อพระศาสนาให้ต่อเนื่องเฉกเช่นเดียวกันกับศาสนาอื่นๆอาทิเช่นชาวมุสลิมในเมียนมาก็พยายามที่จะมาทำพิธีละหมาดวันละ 5 ครั้งในสุเหร่า นั่นก็เพราะชาวเมียนมาส่วนใหญ่มีความเชื่อและความศรัทธาฝังแน่นแม้ว่าสิ่งที่เขาต้องการอาจจะไม่ได้ประสบพบในชาตินี้ชีวิตนี้แต่คนพม่าส่วนใหญ่ก็มองว่าการนับถือศาสนาของเขาจะส่งผลกรรมดีต่อเขาในโลกหน้าด้วย  หันกลับมาไทยเมื่อมาถามกูรูด้านศาสนาฝั่งไทยเขาบอกว่าคนไทยยุคใหม่นับถือศาสนาเพื่อให้ศาสนาบันดาลในสิ่งที่ตนอยากได้ โดยเฉพาะได้ในชาตินี้และนั่นทำให้คนไทยเรากลายเป็นผู้นับถือทุกสิ่งที่สามารถบันดาลให้เราได้ ทั้ง ผี ยักษ์ นาค ครุฑ หมาสองหัววัวหกขา กูรูฝั่งไทยกล่าวว่าอีกฝั่งหนึ่งของคนไทยคือผู้ไม่นับถืออะไรเลย  เพราะไม่คิดว่าทำไปแล้วจะได้อะไรเป็นการตอบแทน ไม่คิดว่าการสืบต่อพระศาสนานั้นจะทำให้ชีวิตของพวกเขาดีขึ้นอย่างไรคนกลุ่มนี้จะไปเสพติดไอดอล อินฟลูต่าง ๆ ที่ถูกกับจริตและจิตใจของเขา ดังนั้นทำให้สังคมไทยจึงแตกออกเป็น 2 ฝ่าย

เมื่อความแตกต่างนำมาซึ่งความแตกแยก กฎหมายจึงเข้ามาเพื่อเป็นข้อกำหนดไม่ให้มีการบั่นทอนความสำคัญของศาสนา ในหลายประเทศมีกฎหมายศาสนาอยู่ไม่ได้มีเพียงเมียนมาแต่ในหลายประเทศก็จะกฎหมายศาสนาเช่นกัน อาทิเช่น มาเลเซียที่มีกฎหมายของชุดคือ กฎหมายฆราวาสและกฎหมายอิสลาม ส่วนในเมียนมามีกฎหมายพุทธศาสนาอยู่เช่นกัน และหลายครั้งในเมียนมาก็มีผู้กระทำผิดต่อกฎหมายที่ว่าด้วยการกระทำผิดต่อศาสนา ในเมียนมามีคดีที่เป็นคดีที่หมิ่นศาสนาอยู่จำนวนมาก อาทิเช่น เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2563 ที่ผ่านมา ศาลเมืองมัณฑะเลย์ตัดสินจำคุก Kyaw Win Thant แพทย์ชาวเมียนมา วัย 31 ปี เป็นเวลา 21 เดือน ในความผิดฐานดูหมิ่นศาสนา สืบเนื่องจากการที่จำเลยโต้เถียงกับบรรดาพระสงฆ์เรื่องการสอนเพศศึกษาในโรงเรียน แล้วมีการโพสต์ข้อความเชิงประชดเสียดสีพระสงฆ์ดังกล่าว หรือในกรณีของ นายฟิลิป แบล็ควูด ผู้จัดการบาร์ชาวนิวซีแลนด์ในเมียนมาและชาวเมียนมาอีก 2 คน ถูกศาลตัดสินจำคุก 2 ปี 6 เดือน ในข้อหาดูหมิ่นพุทธศาสนา จากการโพสต์รูปโฆษณาทางออนไลน์ เป็นรูปพระพุทธรูปสวมเฮดโฟน เพื่อเชิญชวนให้คนมาเที่ยวสถานบันเทิง หรือล่าสุดคือ นายดิดีเยร์ นุสเบาเมอร์ อายุ 52 ปี ถูกจับกุมตัวเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา เขียน ถ่ายทำ และตัดต่อภาพยนตร์เรื่อง 'Don’t Expect Anything' ที่มีความยาว 75 นาที และโพสต์ลงบนสื่อออนไลน์

ในประเทศไทยแม้ในไทยจะมีกฎหมายหมิ่นศาสนาก็ตามแต่ตัวกฎหมายกลับไม่ได้ครอบคลุมและถูกนำมาใช้อย่างที่มันควรจะเป็น โดยมีระบุหลัก ๆ ไว้แค่ 3 มาตราคือ มาตรา 206  ผู้ใดกระทำด้วยประการใด ๆ แก่วัตถุหรือสถานอันเป็นที่เคารพในทางศาสนาของหมู่ชนใด อันเป็นการเหยียดหยามศาสนานั้น ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงเจ็ดปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ มาตรา 207 ผู้ใดก่อให้เกิดการวุ่นวายขึ้นในที่ประชุมศาสนิกชนเวลาประชุมกัน นมัสการ หรือกระทำพิธีกรรมตามศาสนาใด ๆ โดยชอบด้วยกฎหมาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ มาตรา 208  ผู้ใดแต่งกายหรือใช้เครื่องหมายที่แสดงว่าเป็นภิกษุ สามเณร นักพรตหรือนักบวชในศาสนาใดโดยมิชอบ เพื่อให้บุคคลอื่นเชื่อว่าตนเป็นบุคคลเช่นว่านั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

แต่ล่าสุดปีที่ผ่านมามีการดำเนินการให้แก้ไข โดยท่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กมลศักดิ์  ลีวาเมาะ และคณะได้นำเสนอให้แก้ไขกฎหมายศาสนา โดยอ้างว่าประมวลกฎหมายอาญาที่บัญญัติความผิดเกี่ยวกับศาสนายังไม่ครอบคลุม การกระทำของบุคคลที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสมและก่อให้เกิดความเสียหายต่อศาสนา เกิดการดูถูกดูหมิ่น เหยียดหยาม หรือทำให้รู้สึกเกลียดชัง โดยกระทำการใด ๆ เช่น การบิดเบือนหลักธรรมคำสอนของศาสนา รวมถึงการปลุกระดม การเผยแพร่เพื่อให้เกิดการเกลียดชัง การรบกวนการประกอบพิธีกรรม การวิพากษ์วิจารณ์โดยมิใช่ทางวิชาการ รวมถึงการทำลายหรือทำให้สกปรกซึ่งคัมภีร์หรือวัตถุที่เป็นที่สักการะของ ศาสนาใดศาสนาหนึ่ง  ซึ่งทางท่าน สส. ได้ให้มีการระบุรายละเอียดเข้าไปเพิ่มในมาตรา 206 เพื่อให้ครอบคลุมยิ่งขึ้น เอย่าหวังว่าไหน ๆ ก็มีการระบุถึงความผิดให้ชัดเจนเพิ่มขึ้นแล้วควรจะเพิ่มโทษให้สาสมด้วยว่าการดูหมิ่นให้ร้าย ต่อคนต่างความเชื่อนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำและไม่ควรเกิดขึ้นในสังคม คงต้องดูว่าพรรครัฐบาลชุดนี้จะเห็นด้วยกับประเด็นเหล่านี้หรือไม่   คงต้องติดตามดูกันต่อไป


เรื่อง : AYA IRRAWADEE