Monday, 19 May 2025
โดนัลด์ทรัมป์

อีลอน มัสก์จวกธนาคารกลางสหรัฐฯ ทำงานล่าช้า-พนักงานเกินจำเป็น

(24 ธ.ค.67) บลูมเบิร์กรายงานว่า อีลอน มัสก์ ซีอีโอของ เทสลา (Tesla) และ สเปซเอ็กซ์ (SpaceX) ว่าที่ประธานร่วมของ สำนักงานควบคุมประสิทธิภาพของรัฐบาล (Department of Government Efficiency หรือ DOGE) โดยมัสก์ได้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ว่าเป็นหน่วยงานที่มีพนักงานมากเกินความจำเป็น  

มัสก์แสดงความคิดเห็นผ่าน แพลตฟอร์ม X โดยระบุว่าเฟดเป็นหน่วยงานที่มีจำนวนพนักงานที่มากเกินไป ซึ่งความคิดเห็นนี้เกิดขึ้นในกระทู้ที่พูดถึงการตัดสินใจด้านนโยบายล่าสุดของเฟด อย่างไรก็ตาม มัสก์ไม่ได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับมุมมองดังกล่าว  

ขณะเดียวกัน มัสก์ยังถือเป็นหนึ่งในที่ปรึกษาคนสำคัญของ โดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งกำลังจัดตั้งหน่วยงานใหม่ในชื่อ DOGE เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของรัฐบาลและตั้งเป้าลดการใช้จ่ายให้ได้ถึง 2 ล้านล้านดอลลาร์  

ทั้งนี้ ธนาคารกลางสหรัฐในกรุงวอชิงตันและธนาคารระดับภูมิภาคอีก 12 แห่งทั่วประเทศ มีพนักงานรวมประมาณ 24,000 คน เมื่อปีที่แล้ว ซึ่งน้อยกว่าธนาคารกลางในยุโรป เช่น เยอรมนี ฝรั่งเศส และอิตาลี ที่มีจำนวนพนักงานรวมกันมากกว่าของสหรัฐ  

ต่างจากหน่วยงานอื่นของรัฐบาล ธนาคารกลางสหรัฐไม่ได้รับเงินสนับสนุนจากงบประมาณของรัฐสภา แต่มีรายได้จากการดำเนินงานของธนาคาร เช่น ดอกเบี้ยจากหลักทรัพย์รัฐบาลที่เฟดถือครอง โดยรายได้ส่วนเกินจะถูกส่งกลับไปยัง กระทรวงการคลัง ซึ่งในช่วงเวลาปกติ เฟดถือเป็นแหล่งรายได้สำคัญของรัฐบาล  

อย่างไรก็ตาม การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างรวดเร็วในปี 2565 ทำให้รายได้สุทธิของเฟดลดลง แต่ยังคงสามารถส่งรายได้ส่วนเกินประมาณ 100,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี ให้กับกระทรวงการคลังได้  

ในอดีต เฟดเคยตกเป็นเป้าหมายของทรัมป์ โดยในระหว่างการหาเสียง ทรัมป์เคยกล่าวว่าตนควรมีสิทธิ์ในการกำหนดนโยบายการเงินและอัตราดอกเบี้ย นอกจากนี้ ทรัมป์ยังล้อเลียนบทบาทของ เจอโรม พาวเวลล ประธานเฟด ว่าเป็น 'งานที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในรัฐบาล' 

แม้พาวเวลไม่ได้ตอบโต้โดยตรง แต่ คริสติน ลาการ์ด ประธานธนาคารกลางยุโรป (ECB) ได้ออกมาท้าทายทรัมป์ในก่อนหน้านั้น โดยเธอเชิญเขาไปดูการทำงานของทีม ECB ที่แฟรงก์เฟิร์ต พร้อมย้ำว่า  

“ฉันมีพนักงานที่ทำงานหนักหลายพันคน ทั้งนักเศรษฐศาสตร์ นักกฎหมาย และนักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ พวกเขาทำงานหนักทุกวัน ไม่ใช่แค่เดือนละครั้ง เราปกป้องยูโร เช่นเดียวกับที่เฟดปกป้องดอลลาร์ ฉันมั่นใจว่าพาวเวลก็เห็นงานของเขาในมุมเดียวกัน”

โดนัลด์ ทรัมป์ อาจอนุญาต TikTok ทำธุรกิจในสหรัฐฯ ต่อไปได้

(24 ธ.ค.67) โดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนใหม่ เปิดเผยว่าเขาอาจอนุญาตให้ติ๊กต็อก (TikTok) ดำเนินธุรกิจในสหรัฐฯ ต่อไป ขณะเขาเข้าร่วมงานที่จัดโดยเทิร์นนิง พอยต์ ยูเอสเอ (Turning Point USA) องค์กรอนุรักษ์นิยม ในเมืองฟีนิกซ์ รัฐแอริโซนาของสหรัฐฯ เมื่อวันอาทิตย์ (22 ธ.ค.) ที่ผ่านมา

ทรัมป์กล่าวว่าติ๊กต็อกที่เป็นแอปพลิเคชันแบ่งปันวิดีโอยอดนิยมอาจช่วยให้เข้าถึงกลุ่มผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงบางส่วนที่สำคัญในการเลือกตั้งประธานาธิบดี และแสดงความเป็นไปได้ของการอนุญาตให้ติ๊กต็อกดำเนินงานต่อไป “อีกสักพักหนึ่ง” โดยทรัมป์เสริมว่าเขาได้ดูแผนภูมิที่เผยให้เห็นยอดเข้าชมคลิปวิดีโอหาเสียงของเขาบนติ๊กต็อกด้วย

ก่อนหน้านี้เมื่อวันพุธ (18 ธ.ค.) ศาลสูงสุดสหรัฐฯ เห็นพ้องจะทบทวนคำร้องจากติ๊กต็อกและไบต์แดนซ์ (ByteDance) บริษัทแม่ของติ๊กต็อก เพื่อระงับกฎหมายที่กำหนดการจำหน่ายกิจการของติ๊กต็อกภายในวันที่ 19 ม.ค. 2025 มิเช่นนั้นอาจเผชิญการลงโทษแบน เนื่องด้วยเหตุผลความมั่นคงของชาติ

ศาลสูงสุดสหรัฐฯ จะรับฟังข้อโต้แย้งในวันที่ 10 ม.ค. 2025 เพื่อตัดสินว่ากฎหมายดังกล่าวจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกอันขัดกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับที่ 1 ของสหรัฐฯ หรือไม่

ทั้งนี้ ติ๊กต็อกชี้ว่าการลงโทษแบนที่อาจเกิดขึ้นนั้นจะปิดหนึ่งในแพลตฟอร์มที่มีเสรีภาพในการแสดงออกที่ได้รับความนิยมมากที่สุดของอเมริกาก่อนวันสาบานตนรับตำแหน่งประธานาธิบดีของทรัมป์เพียงหนึ่งวัน และปิดปากชาวอเมริกันจำนวนมากที่ใช้ติ๊กต็อกสื่อสารเกี่ยวกับการเมือง การค้า ศิลปะ และประเด็นอื่น ๆ ที่สาธารณชนสนใจ

เมื่อเดือนเมษายน โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ออกกฎหมายที่ให้เวลากับไบต์แดนซ์เพียง 270 วันในการจำหน่ายกิจการของติ๊กต็อก โดยอ้างอิงเหตุผลความมั่นคงของชาติที่ไม่มีมูลความจริง ซึ่งหากไบต์แดนซ์ไม่สามารถปฏิบัติตามกฎหมายดังกล่าว ผู้ให้บริการร้านค้าแอปพลิเคชันอย่างแอปเปิลและกูเกิลต้องถอดติ๊กต็อกออกจากแพลตฟอร์ม

ต่อมาเดือนพฤษภาคม ติ๊กต็อกยื่นฟ้องร้องรัฐบาลสหรัฐฯ เพื่อระงับคำสั่งแบนที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งจุดกระแสวิพากษ์วิจารณ์เป็นวงกว้าง และเมื่อต้นเดือนธันวาคม ศาลอุทธรณ์สหรัฐฯ ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ยกฟ้องคำกล่าวอ้างของติ๊กต็อกที่ว่าคำสั่งแบนขัดต่อรัฐธรรมนูญ

ย้อนเปิดยุทธศาสตร์จากยุคปธน.ทรูเเมน 'เเปซิฟิกมีอะเเลสกา เเอตเเลนติกก็ควรมีกรีนเเลนด์'

(26 ธ.ค. 67) โดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐคนที่ 47 เคยเสนอให้สหรัฐฯ ซื้อกรีนแลนด์จากเดนมาร์กในช่วงปี 2019 ขณะดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยแรก แต่แนวคิดดังกล่าวถูกปฏิเสธจากเดนมาร์ก โดยชี้ว่า "กรีนแลนด์ไม่ใช่สินค้าที่สามารถขายได้" ล่าสุดในปี 2024 ทรัมป์ได้หยิบยกประเด็นนี้ขึ้นมาอีกครั้ง หลังจากเสนอชื่อนายเคน ฮาวเวอรี อดีตเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำสวีเดน และนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จให้ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตประจำเดนมาร์กคนใหม่ โดยทรัมป์มั่นใจว่าฮาวเวอรีจะทำหน้าที่ได้อย่างยอดเยี่ยมในการเป็นตัวแทนผลประโยชน์ของสหรัฐฯ

ทรัมป์ยังได้ย้ำผ่านแพลตฟอร์มโซเชียล Truth Social โดยระบุถึงความสำคัญของการเป็นเจ้าของกรีนแลนด์ โดยมองว่าเพื่อเสริมความมั่นคงและเสรีภาพทั่วโลก สหรัฐฯ ควรมีอำนาจในการครอบครองและควบคุมพื้นที่กรีนแลนด์

ดินแดนกรีนแลนด์ ถูกจัดว่าเป็นเกาะที่ใหญ่ที่สุดในโลก ตั้งอยู่เหนือสุดของโลกในแถบขั้วโลกเหนือ มีพื้นที่กว้างใหญ่ไพศาลถึง2,175,900 ตารางกิโลเมตร และมีสถานะเป็นดินแดนในคุ้มครองของเดนมาร์ก มีประชากรอยู่ราว 57,000 คน กรีนแลนด์เพิ่งมีสถานะเป็นดินแดนเอกราชปกครองตนเองในปี 2009 ประชาชนมีการเลือกรัฐบาลท้องถิ่นเป็นของตนเอง พื้นที่ส่วนใหญ่ของกรีนแลนด์เต็มไปด้วยน้ำแข็งและดินแดนอันเวิ้งว้างที่หนาวเหน็บ แต่เต็มไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติมากมาย

ข้อมูลจากรายงานที่มีชื่อว่า "The Greenland Gold Rush: Promise and Pitfalls of Greenland’s Energy and Mineral Resources" ระบุว่า ในขณะที่โลกกำลังเผชิญสภาวะโลกร้อน แน่นอนว่าส่งผลกระทบต่อกรีนแลนด์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ .. การละลายของน้ำแข็งในอาร์คติกส่งผลให้ทรัพยากรอันมีค่าหลากหลายชนิดของกรีนแลนด์ผุดขึ้นราวกับดอกเห็ดเพราะเข้าถึงได้ง่าย อาทิ แร่เหล็ก ตะกั่ว สังกะสี เพชร ทองคำ องค์ประกอบธาตุหายาก (แรร์เอิรธ์) ยูเรเนียม และน้ำมัน

การที่กรีนแลนด์สามารถมีสิทธิจัดตั้งรัฐบาลท้องถิ่นเพื่อปกครองตนเอง ที่เป็นอิสระจากรัฐบาลกลางเดนมาร์ก ส่งผลให้กรีนแลนด์สามารถแสวงหาผลประโยชน์เหล่านี้ได้ง่ายมากขึ้นเช่นกัน .. แต่ก็ใช่ว่ากรีนแลนด์จะขุดทุกอย่างออกมาขาย ด้วยวิถีการดำเนินเศรษฐกิจแบบพึ่งพาตนเอง กรีนแลนด์จึงระมัดระวังอย่างมากในการแสวงหาผลประโยชน์จากทรัพยากรเหล่านี้ 

แม้ทรัมป์จะไม่เคยกล่าวถึงเหตุผลชัดเจนว่าทำไมเขาต้องการกรีนแลนด์ แต่สามารถคาดเดาได้ว่าเพราะเป็นดินแดนที่มีทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่มากมายรอการขุดค้น ขณะที่ยังมีอีกเหตุผลด้านความมั่นคง  

แนวคิดการซื้อกรีนแลนด์ด้านความมั่นคงนั้น ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในยุคของประธานาธิบดีทรัมป์เท่านั้น เพราะในปี 1946 สมัยประธานาธิบดีแฮร์รี่ ทรูแมน ผู้นำสหรัฐฯ คนที่ 33 ก็เคยเสนอซื้อกรีนแลนด์จากเดนมาร์กด้วยจำนวนเงิน 100 ล้านดอลลาร์ ภายใต้แนวคิด "หากทางแปซิฟิกมีอะแลสกา ทางแอตแลนติกก็ควรมีกรีนแลนด์" แต่ข้อเสนอนี้ถูกปฏิเสธทั้งจากเดนมาร์กและประชาชนในกรีนแลนด์ เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับการแทรกแซงจากสหรัฐฯ 

แม้การซื้อกรีนแลนด์จะไม่สำเร็จ แต่สหรัฐฯ ยังคงรักษาอิทธิพลในกรีนแลนด์ผ่านข้อตกลงการตั้งฐานทัพทูล (Thule Air Base Agreement) เพื่อประโยชน์ด้านความมั่นคงทางยุทธศาสตร์จ  ให้ปัจจุบันสหรัฐฯ ยังคงมีฐานทัพอากาศ Thule Air Base ประจำการในกรีนแลนด์มาตั้งแต่ยุคสงครามโลกครั้งที่สอง โดยเป็นฐานทัพอากาศสำคัญในการป้องกันการรุกรานจากสหภาพโซเวียตในช่วงสงครามเย็น และยังเป็นฐานทัพอากาศสหรัฐที่ตั้งอยู่ในบริเวณเหนือสุดของโลกอีกด้วย

'เดนมาร์ก' ทุ่มงบกลาโหม หลังทรัมป์เปรยอยากผนวกดินแดน

(25 ธ.ค. 67) รัฐบาลเดนมาร์กประกาศเพิ่มงบประมาณด้านกลาโหมสำหรับเกาะกรีนแลนด์อย่างมาก หลังจากโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ แสดงความต้องการซื้อเกาะแห่งนี้เป็นครั้งที่สอง นักวิเคราะห์มองว่า นี่เป็นการเคลื่อนไหวที่ชาญฉลาดของทรัมป์

รายงานจากบีบีซีระบุว่า รัฐบาลเดนมาร์กประกาศเพิ่มงบประมาณด้านการป้องกันสำหรับเกาะกรีนแลนด์ ซึ่งเป็นความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นไม่นานหลังจากที่ทรัมป์แสดงความต้องการซื้อเกาะแห่งนี้อีกครั้ง

โทรลส์ ลุนด์ พูลเซ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเดนมาร์กกล่าวว่า งบประมาณด้านกลาโหมสำหรับเกาะกรีนแลนด์จะมีมูลค่าหลายพันล้านโครน ซึ่งคาดว่าจะสูงถึง 1.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 51,000 ล้านบาท) โดยจะใช้ในการซื้อเรือลาดตระเวน 2 ลำ โดรนพิสัยไกล 2 ลำ และทีมสุนัขลากเลื่อนพิเศษ 2 ตัว รวมถึงการเพิ่มจำนวนเจ้าหน้าที่ที่หน่วยบัญชาการอาร์กติกในเมืองนุก และการอัพเกรดสนามบินพลเรือนหนึ่งแห่งเพื่อรองรับเครื่องบินรบรุ่น F-35

นายพูลเซ่นกล่าวว่า การประกาศเพิ่มงบฯ กลาโหมในครั้งนี้เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่เหมาะสมหลังจากที่ทรัมป์ประกาศว่า ความเป็นเจ้าของและการควบคุมเกาะกรีนแลนด์เป็นสิ่งสำคัญสำหรับสหรัฐฯ

เกาะกรีนแลนด์เป็นดินแดนปกครองตนเองของเดนมาร์ก และเป็นแหล่งที่ตั้งของศูนย์อวกาศสำคัญของสหรัฐฯ โดยมีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ เนื่องจากตั้งอยู่ในเส้นทางที่สั้นที่สุดระหว่างทวีปอเมริกาเหนือและยุโรป และเป็นแหล่งแร่ธาตุสำคัญ

การเพิ่มงบฯ กลาโหมนี้เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามของเดนมาร์กในการเสริมความแข็งแกร่งด้านการป้องกันในภูมิภาคอาร์กติก ซึ่งนักวิเคราะห์บางคนมองว่าเป็นการตอบสนองต่อความต้องการของสหรัฐฯ ที่อาจจะเพิ่มขึ้นหากเดนมาร์กไม่สามารถปกป้องพื้นที่ดังกล่าวจากการขยายอิทธิพลของจีนและรัสเซียได้

มูเต เอเกเด นายกรัฐมนตรีเกาะกรีนแลนด์กล่าวว่า เกาะของเราจะไม่ถูกขาย แต่เขายังเน้นว่า ชาวกรีนแลนด์ควรเปิดกว้างสำหรับความร่วมมือและการค้า โดยเฉพาะกับเพื่อนบ้าน

สำหรับข้อเสนอที่ทรัมป์ยื่นซื้อเกาะกรีนแลนด์ในปี 2019 ได้รับการตำหนิจากผู้นำเดนมาร์กในขณะนั้นอย่างรุนแรง จนกระทั่งทรัมป์ยกเลิกการเยือนเดนมาร์ก

ทั้งนี้ แนวคิดในการซื้อเกาะกรีนแลนด์ของสหรัฐฯ ไม่ใช่เรื่องใหม่ โดยมีการพูดถึงครั้งแรกในยุคประธานาธิบดีแอนดรูว์ จอห์นสัน ในช่วงทศวรรษ 1860

ย้อนรอยการซื้อดินแดนของสหรัฐฯ หลังทรัมป์หวังผนวกกรีนแลนด์

(26 ธ.ค. 67) จากกรณีว่าที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แสดงความสนใจอยากได้กรีนแลนด์มาเป็นส่วนหนึ่งของสหรัฐฯ โดยทรัมป์มีแนวคิดยื่นข้อเสนอซื้อกรีนแลนด์จากเดนมาร์ก ซึ่งแม้จะไม่ชัดเจนว่าเป็นมูลค่าเท่าใด แต่ดูท่าทางเดนมาร์กจะไม่มีวันยอมขายดินแดนกรีนแลนด์ให้สหรัฐอย่างแน่นอน

หากย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์สหรัฐอเมริกา เคยใช้วิธีการจ่ายเงินเพื่อซื้อดินแดนมาผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสหรัฐมาแล้วในหลายครั้ง โดยมีเหตุการณ์สำคัญดังนี้

การซื้อดินแดนลุยเซียนา เมื่อปี 1803 ประธานาธิบดีโทมัส เจฟเฟอร์สัน ลงนามข้อตกลงกับฝรั่งเศส ซื้อดินแดนลุยเซียนา ซึ่งครอบคลุมพื้นที่กว่า 2.14 ล้านตารางกิโลเมตร ตั้งแต่ลุ่มแม่น้ำมิสซิสซิปปีเริ่มต้นจากอ่าวเม็กซิโกจรดทางใต้ของแคนาดา ด้วยเงินจำนวน 15 ล้านดอลลาร์ในยุคนั้น พร้อมยกหนี้กว่า 3.7 ล้านดอลลาร์ให้ราชสำนักฝรั่งเศส หากคิดเป็นมูลค่าในปัจจุบัน ราคาดินแดนนี้จะสูงถึง 340 พันล้านดอลลาร์

การซื้ออะแลสกา ในปี 1867 สหรัฐฯ เคยซื้อดินแดนอะแลสกาจากจักรวรรดิรัสเซีย ในรัชสมัยของพระเจ้าซาร์อเล็กซานเดอร์ที่ 2 ด้วยราคา 7.2 ล้านดอลลาร์ ซึ่งหากคิดเป็นค่าเงินปัจจุบันจะอยู่ที่กว่า 109 ล้านดอลลาร์ การซื้อครั้งนี้คุ้มค่าอย่างยิ่งเมื่อเทียบกับทรัพยากรธรรมชาติ เช่น น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ที่สหรัฐขุดพบในห้วงเวลาต่อมา

สนธิสัญญากัวดาลูปอีดัลโก ในปี 1848 หลังสงครามเม็กซิโก-อเมริกา สหรัฐฯ และเม็กซิโกได้ลงนามในสนธิสัญญากัวดาลูปอีดัลโก ซึ่งระบุให้สหรัฐฯ จ่ายเงิน 15 ล้านดอลลาร์แก่เม็กซิโก เพื่อแลกกับการครอบครองดินแดนทางฝั่งตะวันตก เช่น แคลิฟอร์เนีย และรัฐอื่นๆ พร้อมกำหนดให้แม่น้ำริโอแกรนด์เป็นพรมแดนธรรมชาติ 

ขณะการซื้อฟลอริดา หรือที่รู้จักกันในชื่อ สนธิสัญญาอดัมส์–โอนิส (Adams–Onís Treaty) เป็นข้อตกลงที่ลงนามในปี ค.ศ. 1819 ระหว่างสหรัฐอเมริกาและสเปน สนธิสัญญานี้มีความสำคัญในการโอนดินแดนฟลอริดาจากสเปนมายังสหรัฐฯ  โดยสหรัฐจ่ายเงินมูลค่า 5 ล้านดอลลาร์แก่ราชสำนักสเปนเพื่อโอนกรรมสิทธิ์การครอบครองดินแดนฟลอริด้า

ภายใต้สนธิสัญญานี้ สเปนได้ยินยอมสละสิทธิ์ในฟลอริดา พร้อมทั้งปรับปรุงขอบเขตของดินแดนในทวีปอเมริกาเหนือเพื่อแก้ไขข้อพิพาทเรื่องพรมแดนระหว่างสองประเทศ การโอนดินแดนนี้ช่วยเสริมอำนาจและอิทธิพลของสหรัฐฯ ในภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้ของทวีป ในขณะที่สเปนเลือกที่จะมุ่งเน้นอำนาจไปที่ดินแดนในอเมริกาใต้แทน

แม้ว่าสหรัฐฯ จะมีประวัติศาสตร์การซื้อดินแดนที่สำคัญหลายครั้ง แต่ในกรณีของกรีนแลนด์ ดูเหมือนว่าการเจรจานี้จะไม่ง่าย เพราะเดนมาร์กยังคงยืนกรานไม่ขายดินแดนดังกล่าวให้สหรัฐฯ อย่างชัดเจน

ไบเดนทิ้งทวนออกกม. ห้ามสส.รับบำนาญหากมีความผิด พร้อมประกาศ 'อินทรีหัวขาว' เป็นนกประจำชาติ

(26 ธ.ค. 67) ประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ ได้ลงนามบังคับใช้กฎหมายจำนวน 50 ฉบับเมื่อวันอังคารที่ 24 ธันวาคม ซึ่งรวมถึงการประกาศให้อินทรีหัวขาวเป็นนกประจำชาติของสหรัฐฯ อย่างเป็นทางการ และการออกกฎหมายห้ามสมาชิกรัฐสภารับเงินบำนาญหากถูกตัดสินว่ามีความผิดทางอาญา

นอกจากนี้ ไบเดนยังได้ลงนามในกฎหมายที่กำหนดมาตรฐานต่อต้านการรับน้องแบบรุนแรงของรัฐบาลกลางเป็นครั้งแรก เพื่อแก้ไขปัญหาความรุนแรงและการเสียชีวิตในมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ อีกทั้งยังได้ลงนามในกฎหมายที่ได้รับการสนับสนุนจากปารีส ฮิลตัน ดาราเรียลลิตี้ทีวีและทายาทตระกูลฮิลตัน ซึ่งกำหนดให้ศูนย์บำบัดและสถานดูแลเยาวชนต้องรับผิดชอบต่อความปลอดภัยและคุณภาพการบริการ

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ในต้นเดือนนี้ ไบเดนได้ใช้สิทธิ์วีโต้กฎหมายที่เสนอให้แต่งตั้งผู้พิพากษาใหม่ 66 คน เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรในศาลรัฐบาลกลางทั่วประเทศ

นอกจากนี้ ไบเดนยังได้ลดโทษประหารชีวิตของนักโทษในแดนประหารจำนวน 37 คน จาก 40 คน และเปลี่ยนเป็นโทษจำคุกตลอดชีวิตโดยไม่รอลงอาญา พร้อมทั้งได้อภัยโทษอย่างเต็มรูปแบบและไม่มีเงื่อนไขให้กับฮันเตอร์ ไบเดน ลูกชายของเขา

การลงนามในกฎหมายต่างๆ เกิดขึ้นในช่วงที่ไบเดนกำลังเร่งผลักดันนโยบายสำคัญในช่วงโค้งสุดท้ายของการดำรงตำแหน่ง ก่อนที่จะส่งมอบอำนาจให้กับโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่ในวันที่ 20 มกราคม 2568

ทั้งนี้ ไบเดนยังอยู่ในช่วงสรุปโครงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานที่สภาคองเกรสอนุมัติไว้ก่อนหน้านี้ รวมถึงการจัดสรรเงินทุนสำหรับการจัดหาอาวุธให้กับยูเครนก่อนที่เขาจะหมดวาระการดำรงตำแหน่ง

‘ทรัมป์’ จวกรัฐบาลเดโมแครตอ่อนแอ ไร้ประสิทธิภาพ เปิดชายแดนจนประเทศล้มเหลว ย้ำพบกัน 20 ม.ค. จะทำให้อเมริกากลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง

เมื่อวันที่ (2 ม.ค.68)โดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐ โพสต์ข้อความผ่านแพลตฟอร์มทรูธโซเชียล หลังการเกิดเหตุคนร้ายขับรถพุ่งชนใส่ฝูงชนในเมืองนิวออร์ลีน รัฐฐลุยเซียนา โดยว่าที่ผู้นำสหรัฐกล่าวว่า  ประเทศของเราตกอยู่ในหายนะ เป็นที่ขบขันของทั่วโลก นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อเปิดชายแดน ด้วยความเป็นผู้นำที่ไม่มีอยู่จริง อ่อนแอ และไร้ประสิทธิภาพ กระทรวงยุติธรรม (DOJ) สำนักงานสอบสวนกลาง (FBI) และอัยการรัฐและท้องถิ่นเดโมแครต ต่างไม่ปฏิบัติหน้าที่ของตน ไร้สมรรถนะ และทุจริต ใช้เวลาทำงานทั้งหมดไปกับการโจมตีคู่แข่งทางการเมืองโดยมิชอบด้วยกฎหมาย คือผมเอง แทนที่จะมุ่งปกป้องชาวอเมริกัน จากคนเลวจากทั้งในและนอกประเทศที่ใช้ความรุนแรงและแทรกซึมอยู่ในทุกภาคส่วนของรัฐบาลและชาติของเรา"

ทรัมป์ ระบุอีกว่า "เดโมแครตควรละอายแก่ตนที่ปล่อยให้เรื่องนี้เกิดขึ้นกับประเทศของเรา สำนักข่าวกรองกลาง (CIA) ต้องเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องตอนนี้ ก่อนจะสายไป สหรัฐอเมริกากำลังแหลกสลาย ความปลอดภัย ความมั่นคงแห่งชาติ และประชาธิปไตย กำลังถูกเซาะกร่อนบ่อนทำลายอย่างรุนแรงทั่วทั้งชาติ ความเป็นผู้นำที่เข้มแข็งและทรงพลังเท่านั้นที่จะหยุดยั้งได้ แล้วพบกันวันที่ 20 มกราคม ผมจะทำให้อเมริกากลับมาแข็งแกร่งอีกครั้ง"

คำกล่าวของทรัมป์สะท้อนเสียงวิจารณ์ของชาวอเมริกันบางกลุ่มที่มองว่ากรณีเหตุที่นิวออร์ลีน จุดชนวนข้อถกเถียงขึ้นเกี่ยวกับนโยบายคนเข้าเมืองภายใต้รัฐบาลโจ ไบเดนว่าเป็นต้นเหตุของเรื่องดังกล่าว แม้ว่าจะยังไม่มีข้อเท็จจริงที่ชัดเจนก็ตาม ทำให้บุคคลสำคัญฝั่งขวาหลายคนรีบเชื่อมโยงโศกนาฏกรรมครั้งนี้เข้ากับนโยบายคนเข้าเมืองของประธานาธิบดีโจ ไบเดน  

‘ไมค์ จอห์นสัน’ ได้รับเลือกเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐอีกสมัย โดยได้รับการสนับสนุนหลักจาก ‘โดนัลด์ ทรัมป์’ ประธานาธิบดีคนใหม่

(4 ม.ค. 68) ‘ไมค์ จอห์นสัน’ จากพรรครีพับลิกัน ได้รับเลือกเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐอีกครั้ง หลังผ่านกระบวนการอันตึงเครียดในรัฐสภา

จอห์นสันทำให้สมาชิกรัฐสภาฝ่ายค้านโกรธเคืองด้วยการร่วมมือกับพรรคเดโมแครตในการผ่านกฎหมายงบประมาณ และชัยชนะของเขาได้มาหลังจากการเจรจาภายในห้องลับที่ตึงเครียดซึ่งมีสมาชิกรัฐสภาจากพรรครีพับลิกันมากกว่าสิบคนแสดงความสงสัยต่อความเป็นผู้นำของเขา

การประชุมงบประมาณในปี 2023-2025 ที่วุ่นวายนั้นเต็มไปด้วยความโกรธแค้นของกลุ่มอนุรักษนิยม โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อการจัดการการเจรจาการใช้จ่ายของรัฐบาลไบเดน โดยที่กลุ่มผู้ต่อต้านการคลังเรียงคิวกล่าวหาว่าเขาไม่เข้มงวดกับการขาดดุล

ในท้ายที่สุด มีเพียง 3 คนที่ยังคงสนับสนุนพรรครีพับลิกันเมื่อการลงคะแนนเสียงเริ่มต้นขึ้น โดยสมาชิกพรรคเดโมแครตทั้ง 215 คนสนับสนุนฮาคีม เจฟฟรีส์ ผู้นำของพวกเขา

สำนักข่าว Punchbowl News ซึ่งเป็นสื่อของรัฐสภา รายงานว่าจอห์นสันสามารถรักษาความทะเยอทะยานในการเป็นประธานสภาไว้ได้ หลังจากที่ทรัมป์เข้าแทรกแซงเป็นการส่วนตัวเพื่อพูดคุยกับกลุ่มกบฏ 2 คนทางโทรศัพท์ ก่อนที่พวกเขาจะเปลี่ยนคะแนนเสียง

"หลังจากสี่ปีของภาวะเงินเฟ้อสูง เรามีวาระสำคัญ เรามีอะไรต้องทำอีกมาก และเราสามารถทำได้โดยปราศจากการผูกขาด" จอห์นสันกล่าวในขณะที่เขาให้คำมั่นว่าจะช่วยทรัมป์ให้เปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจได้สำเร็จ

"เราสามารถต่อสู้กับภาวะเงินเฟ้อสูงได้ และเราต้องทำ เราจะให้ความช่วยเหลือชาวอเมริกัน และเราจะขยายเวลาการลดหย่อนภาษีของทรัมป์ เราจะลดขนาดและขอบเขตของรัฐบาลลงอย่างมาก เราจะคืนอำนาจกลับสู่ประชาชน" จอห์นสันกล่าว

โดนัลด์ ทรัมป์กล่าวถึงประธานสภาฯคนใหม่แต่หน้าเดิมว่า "ไมค์จะเป็นผู้พูดที่ยอดเยี่ยม และประเทศของเราจะเป็นผู้ได้รับประโยชน์ ประชาชนชาวอเมริกันรอคอยสามัญสำนึก, ความเข้มแข็ง และความเป็นผู้นำมาเป็นเวลา 4 ปี และอเมริกาจะยิ่งใหญ่กว่าที่เคย"

การเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีของทรัมป์ที่ใกล้จะมาถึงมีผลอย่างมากในการต่อสู้เพื่อชิงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรซึ่งมีอิทธิพลสำคัญในวอชิงตัน โดยควบคุมดูแลกิจการของสภาผู้แทนราษฎร และอยู่ในลำดับสามต่อจากตำแหน่งประธานาธิบดี และรองประธานาธิบดี

แต่จอห์นสันอ่อนแอลงจากการเผชิญหน้ากับกลุ่มหัวรุนแรงในพรรคฯ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงอิทธิพลที่พวกเขามี เนื่องจากพรรครีพับลิกันมีเสียงข้างมากเพียงเล็กน้อยในสภาผู้แทนราษฎรของรัฐสภา

สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรครีพับลิกัน มีกำหนดจะรวมตัวกันที่วอชิงตันในวันเสาร์ เพื่อหารือเกี่ยวกับแผนการสำหรับปี 2025 และผู้นำพรรคฯจะพบกันอีกครั้งในวันอาทิตย์ที่เมืองบัลติมอร์

แต่ลำดับแรกที่จะต้องดำเนินการคือการพิจารณาการเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์ที่ก่อให้เกิดความขัดแย้ง ซึ่งควบคุมการดำเนินงานประจำวัน โดยจะอนุญาตให้เฉพาะสมาชิกพรรครีพับลิกันเท่านั้นที่จะบังคับให้มีการลงคะแนนเสียงเพื่อปลดประธานสภาผู้แทนราษฎรได้

พรรคเดโมแครตโต้แย้งว่าการปฏิรูปดังกล่าวจะทำให้จอห์นสันต้องรับผิดชอบต่อฝ่ายของตัวเองเท่านั้น ไม่ใช่ทั้งสภา โดยในสภาคองเกรสชุดที่แล้ว สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรคนใดคนหนึ่งก็สามารถเสนอ ‘ญัตติเพื่อถอดถอน’ ประธานสภาผู้แทนราษฎรได้

ทรัมป์ปิ๊งไอเดีย เปลี่ยนชื่อ 'อ่าวเม็กซิโก' เป็น 'อ่าวอเมริกา' เผยฟังไพเราะดี แย้มแผนขยายดินแดนปานามา-กรีนแลนด์

(8 ม.ค.68) โดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ สร้างกระแสฮือฮาอีกครั้งเมื่อวันอังคาร (7 ม.ค.) ด้วยการประกาศแผนเปลี่ยนชื่อ 'อ่าวเม็กซิโก' เป็น 'อ่าวอเมริกา' โดยถือเป็นอีกหนึ่งนโยบายที่เขาเสนอเพื่อสะท้อนอัตลักษณ์ของสหรัฐฯ ก่อนเข้ารับตำแหน่งในปลายเดือนนี้ 

พร้อมกันนั้น ทรัมป์ยังเปิดเผยถึงความเป็นไปได้ในการใช้กำลังทหารหรือมาตรการทางเศรษฐกิจเพื่อครอบครอง 'คลองปานามา' และ 'กรีนแลนด์' ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวิสัยทัศน์การขยายดินแดนที่เขาพยายามผลักดันตั้งแต่ชนะการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 5 พ.ย.  

ทรัมป์ยังกล่าวถึงแนวคิดการผนวก 'แคนาดา' ให้กลายเป็นรัฐหนึ่งของสหรัฐฯ พร้อมระบุว่าจะกดดันพันธมิตรในองค์การนาโต (NATO) ให้เพิ่มงบประมาณด้านกลาโหม และย้ำถึงความมุ่งมั่นในการเปลี่ยนชื่อ 'อ่าวเม็กซิโก'  

แม้ยังมีเวลาอีกสองสัปดาห์ก่อนเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ แต่ทรัมป์ได้เริ่มร่างนโยบายต่างประเทศเชิงรุก โดยไม่ได้คำนึงถึงหลักการทางการทูตหรือความกังวลจากประเทศพันธมิตร  

เมื่อถูกถามในงานแถลงข่าวที่รีสอร์ตในฟลอริดา ว่าจะรับประกันได้หรือไม่ว่าจะไม่ใช้กำลังทหารหรือมาตรการทางเศรษฐกิจเพื่อยึดคลองปานามาและกรีนแลนด์ ทรัมป์ตอบว่า  

“ผมรับประกันไม่ได้ แต่สิ่งเหล่านี้จำเป็นต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจของเรา”  

นอกจากนี้ ทรัมป์ยังวิจารณ์การที่สหรัฐฯ ต้องสนับสนุนแคนาดาโดยไม่ได้รับผลตอบแทน พร้อมกล่าวถึงเส้นพรมแดนระหว่างสองประเทศว่าเป็นเพียง 'เส้นที่ใครบางคนขีดขึ้นมา'  

เขายังขู่จะตั้งกำแพงภาษีกับเดนมาร์ก หากเดนมาร์กไม่ยอมขายกรีนแลนด์ให้สหรัฐฯ โดยอ้างว่ากรีนแลนด์มีความสำคัญต่อความมั่นคงของชาติ ขณะที่ก่อนการแถลงการณ์ ดอน จูเนียร์ บุตรชายของทรัมป์ได้เดินทางเยือนกรีนแลนด์เป็นการส่วนตัว  

ด้านเดนมาร์กแสดงจุดยืนชัดเจน โดยเมตเต เฟรเดอริกเซน นายกรัฐมนตรีเดนมาร์ก ย้ำว่า 'กรีนแลนด์' ซึ่งเป็นดินแดนปกครองตนเองในราชอาณาจักรเดนมาร์ก ไม่ได้มีไว้ขาย  

“การใช้มาตรการทางการเงินมาต่อสู้กันไม่ใช่ทางออกที่เหมาะสม เมื่อเรายังเป็นพันธมิตรและหุ้นส่วนที่ใกล้ชิด” เฟรเดอริกเซนกล่าวเพื่อตอบโต้แถลงการณ์ของทรัมป์ในคืนวันอังคารที่ผ่านมา

'ทรัมป์' ส่งลูกชายเยือนกรีนแลนด์ เชื่อหวังฮุบน้ำมัน-ก๊าซธรรมชาติ

(8 ม.ค.68) โดนัลด์ ทรัมป์ จูเนียร์ บุตรชายของโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐ เดินทางเยือนกรุงนุก เมืองหลวงของกรีนแลนด์ เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา หนึ่งวันหลังจากบิดาของเขากล่าวย้ำถึงความสนใจในเกาะกึ่งปกครองตนเองแห่งนี้ ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของเดนมาร์ก

รายงานจากสำนักข่าวรอยเตอร์ส ระบุว่า ทรัมป์ จูเนียร์ ใช้เครื่องบินส่วนตัวเดินทางไปยังกรุงนุก โดยใช้เวลาอยู่ในพื้นที่ราว 4-5 ชั่วโมงโดยไม่มีการเข้าพบเจ้าหน้าที่รัฐบาลท้องถิ่นแต่อย่างใด เกาะแห่งนี้มีประชากรราว 57,000 คน และเป็นจุดหมายที่เขาเผยว่าตั้งใจจะเยี่ยมชมตั้งแต่ฤดูใบไม้ผลิที่ผ่านมา

ทรัมป์ จูเนียร์ โพสต์ข้อความบนแพลตฟอร์ม X พร้อมวิดีโอจากห้องนักบิน ขณะเครื่องบินกำลังลงจอดบนดินแดนที่ถูกปกคลุมด้วยหิมะว่า “กรีนแลนด์กำลังร้อน... แต่หนาวมาก!” เขาเสริมว่า การเดินทางครั้งนี้เป็นการมาเยือนในฐานะนักท่องเที่ยว และพ่อของเขาก็ฝากคำทักทายมายังชาวกรีนแลนด์ด้วย

ความสนใจของทรัมป์ต่อกรีนแลนด์สร้างความฮือฮา เนื่องจากเขาเคยกล่าวไว้ว่า การที่สหรัฐเข้าควบคุมเกาะแห่งนี้เป็นสิ่งที่ “จำเป็นอย่างยิ่ง” พร้อมโพสต์ข้อความบนโซเชียลมีเดียว่า “ทำให้กรีนแลนด์ยิ่งใหญ่อีกครั้ง!” แนวคิดดังกล่าวถูกมองว่าเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายต่างประเทศที่ไม่ยึดติดกับกรอบทางการทูตแบบดั้งเดิม

ด้านนายกฯ เมตต์ เฟรเดอริกสัน ของเดนมาร์ก ให้สัมภาษณ์กับสื่อท้องถิ่นว่า เธอไม่เห็นด้วยกับการต่อสู้กับพันธมิตรใกล้ชิดอย่างสหรัฐ และย้ำว่า “กรีนแลนด์ไม่ได้มีไว้ขาย” 

นายกฯ มิวต์ เอเกเด ของกรีนแลนด์เองก็กล่าวในทำนองเดียวกันว่า อนาคตของกรีนแลนด์ขึ้นอยู่กับชาวกรีนแลนด์ และการแสดงความคิดเห็นจากต่างชาติไม่ควรทำให้ดินแดนแห่งนี้เปลี่ยนทิศทางการพัฒนาของตัวเอง

กรีนแลนด์ถือเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญของกองทัพสหรัฐ และยังเป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติ เช่น แร่ธาตุ น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจในปัจจุบันยังคงพึ่งพาการประมงและการสนับสนุนจากเดนมาร์กเป็นหลัก

สมาชิกสภาจากกรีนแลนด์ อาจา เคมนิตซ์ กล่าวชัดเจนว่า เธอไม่ต้องการให้เกาะแห่งนี้กลายเป็นส่วนหนึ่งของความทะเยอทะยานทางการเมืองของทรัมป์ พร้อมย้ำถึงความสำคัญของการปกป้องดินแดนนี้จากอิทธิพลภายนอก

การเดินทางของทรัมป์ จูเนียร์ แม้จะถูกระบุว่าเป็นเพียงการเยือนส่วนตัว แต่ก็ยิ่งทำให้กรีนแลนด์กลายเป็นประเด็นที่ทั่วโลกจับตามองอย่างใกล้ชิด ท่ามกลางกระแสความเปลี่ยนแปลงในเวทีการเมืองโลก


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top