Monday, 19 May 2025
โดนัลด์ทรัมป์

‘โดนัลด์ ทรัมป์’ สั่งขึ้น!! ภาษีนำเข้าภาพยนตร์ที่สร้างนอกสหรัฐฯ 100% ส่งผลกระทบต่อ อุตสาหกรรมภาพยนตร์ ในออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์

(5 พ.ค. 68) เพจเฟซบุ๊ก ‘Jaroensook Limbanchongkit Pone’ ได้โพสต์ข้อความระบุว่า … 

การที่ทรัมป์สั่งขึ้นภาษีนำเข้าภาพยนตร์ที่สร้างนอกสหรัฐฯ 100% สร้างความปั่นป่วนให้กับอุตสาหกรรมภาพยนตร์ในออสเตรเลียและนิวซีแลนด์

นายโทนี่ เบิร์ค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยของออสเตรเลีย ตอบโต้กลับโดยระบุว่า พวกเขาจะปกป้องอุตสาหกรรมภาพยนตร์ของตนอย่าง "ชัดเจน"
ด้านนายกรัฐมนตรีคริสโตเฟอร์ ลักซอน ของนิวซีแลนด์ กล่าวว่า พวกเขากำลังรอรายละเอียดอยู่ แต่ไม่ต้องกังวล พวกเขาจะเป็น "แชมป์เปี้ยนที่ยิ่งใหญ่" สำหรับทีมงานภาพยนตร์ของพวกเขา

หมายเหตุ : ประมาณ 20-30% ของภาพยนตร์อเมริกัน โดยเฉพาะภาพยนตร์ที่ใช้งบสูง จะถ่ายทำในต่างประเทศ เพื่อใช้ประโยชน์จากต้นทุนที่ต่ำกว่า แรงจูงใจทางภาษี และสถานที่ถ่ายทำที่หลากหลาย

‘โดนัลด์ ทรัมป์’ สั่งเปิด ‘คุกอัลคาทราซ’ อีกครั้ง หลังปิดไป 60 ปี เตรียม!! ขังอาชญากรโหด

(5 พ.ค. 68) ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ เผยว่า ได้สั่งการให้รัฐบาลเปิดและต่อเติมอัลคาทราซ อดีตเรือนจำชื่อกระฉ่อน ซึ่งตั้งอยู่บนเกาะนอกชายฝั่งซานฟรานซิสโก ที่ปิดมานานกว่า 60 ปีอีกครั้ง

ทรัมป์ระบุผ่านโพสต์บนทรูธ โซเชียล (Truth Social) ว่า "นานเกินไปแล้วที่อเมริกาเต็มไปด้วยอาชญากรที่โหดร้าย รุนแรง และกระทำผิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า พวกเดนสังคมที่ไม่เคยทำอะไรนอกจากสร้างความเจ็บปวดและทุกข์ยาก เมื่อก่อนตอนที่เราเป็นชาติที่จริงจังกว่านี้ เราไม่เคยลังเลที่จะกักขังอาชญากรอันตรายเหล่านี้และกีดกันให้พวกเขาออกจากใครก็ตามที่เขาจะทำร้ายได้ นั่นคือสิ่งที่ควรจะเป็น นั่นคือเหตุผลว่าทำไม วันนี้ผมจึงได้สั่งการให้กรมราชทัณฑ์ ร่วมกับกระทรวงยุติธรรม เอฟบีไอ (FBI) และกระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ เปิดเรือนจำอัลคาทราซ ที่ได้รับการต่อขยายและบูรณะขึ้นมาใหม่เกือบทั้งหมด เพื่อใช้คุมขังผู้กระทำความผิดที่โหดเหี้ยมและรุนแรงที่สุดในอเมริกา"

โดยคำสั่งดังกล่าวของทรัมป์ถือเป็นความพยายามล่าสุดในการยกเครื่องวิธีการและสถานที่คุมขังนักโทษของรัฐบาลกลางและผู้ต้องขังในคดีตรวจคนเข้าเมือง แต่การดำเนินการดังกล่าวน่าจะมีความยากลำบากและค่าใช้จ่ายที่สูงจากโครงสร้างพื้นฐานที่ทรุดโทรมและต้นทุนในการซ่อมแซมและจัดหาสิ่งของต่างๆที่สูง เนื่องจากต้องขนทุกอย่างตั้งแต่เชื้อเพลิงไปจนถึงอาหารมาทางเรือ

ทั้งนี้ เรือนจำอัลคาทราซแห่งนี้ปิดตัวลงตั้งแต่ปี 2506 และได้กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียง

‘ดร.กอบศักดิ์’ วิเคราะห์!! สหรัฐอเมริกา กำลังด้อยค่า องค์กรระดับโลก ได้มาซึ่งระบบใหม่ ที่มาจากอำนาจเก่า จบด้วยการที่ ‘Changes’ ไม่ยืนยาว

(10 พ.ค. 68) ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) โพสต์ข้อความ ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว โดยมีใจความว่า...

Changes are Coming แต่จะไม่ยืนยาว ไม่ถาวร!!!

ด้วยมุมมองของผู้นำสหรัฐแบบนี้ ไม่น่าแปลกใจที่ระเบียบโลก องค์กรต่าง ๆ ที่ถูกสร้างและใช้มา 80 ปี กำลังถูกไม่ให้ค่า และกำลังตกเป็นเป้าที่จะต้องถูกจัดการ WTO IMF World Bank UN NATO แต่ความเสี่ยงที่ยิ่งใหญ่ของสิ่งที่สหรัฐกำลังทำ ก็คือ ระบบที่ไม่ได้มาจากการยอมรับจากทุกคน ไม่ได้ฉันทานุมัติสร้างด้วยกำปั้น ฉันจะเอาอย่างนี้ ทุกคนจำยอมจะอยู่ได้นานเท่ากับ 'ความเข้มแข็งของกำปั้น' นั้น ต่อให้สร้างขึ้นมาได้ แต่เมื่อความถดถอย เสื่อมถอยมาเยือน ระบบที่ถูกสร้างขึ้นด้วยอำนาจกำปั้นก็จะเสื่อมถอยอย่างรวดเร็วเช่นกัน เฉกเช่นเดียวกับอาคารที่ตั้งอยู่บนเสาต้นเดียว เมื่อเสาต้นนั้นโคลงเคลง ไม่แข็งแรง สุดท้ายก็จะล้มลงมาเช่นกัน  

ทั้งนี้ สิ่งที่สหรัฐทำ จะสำเร็จอย่างถาวร จะสามารถสร้างระเบียบโลกใหม่ได้อีกรอบ ที่ยืนยาว ตั้งมั่น เลี้ยงตัวเองได้เหมือนกับรอบที่แล้วที่อยู่กันมาได้ 80 ปี หรือไม่จะขึ้นกับนโยบายสำคัญ ๆ ที่สหรัฐยังไม่ได้เดินหน้าโดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงที่จะทำให้
- คน
- ประสิทธิภาพการผลิต
- เทคโนโลยี นวัตกรรม
- ขนาดของเศรษฐกิจและการค้า ของสหรัฐกลับมาเป็นผู้นำของโลกอย่างแท้จริง เพราะถ้าไม่แก้สิ่งเหล่านี้ ไม่มุ่งสร้าง Fundamentals และ Foundations ใหม่ที่จะนำไปสู่การสร้างอำนาจใหม่ ที่แท้จริง

สิ่งที่จะได้ก็คือ ระบบใหม่ ที่มาจากอำนาจเก่า ที่กำลังทรุดโทรมลง จบด้วยการที่ 'Changes' ไม่ยืนยาว 'ระบบใหม่ที่พยายามสร้าง' ไม่ถาวร มาดูกันครับว่า จะเป็นเช่นนี้หรือไม่ 

ปล. หากทุกอย่างจะเป็นเช่นนี้ โลกจะเดินไปอย่างนี้ในช่วงการเปลี่ยนแปลงสำคัญ รอบนี้อาจจะดี ที่ทุกประเทศที่เหลือระหว่างที่ 'ยอมเดินไปกับเขา' มาเตรียมการวางรากฐานของ 'บ้านใหม่' ที่มาจากความยอมรับของทุกคนอย่างแท้จริง เพราะ ฉันทามติ ความยอมรับของทุกฝ่าย คือ หัวใจที่แท้จริงของความยั่งยืน 

‘โดนัลด์ ทรัมป์’ เตรียมประกาศรับรอง!! ‘ปาเลสไตน์’ ในการประชุมสุดยอดระหว่าง ‘สหรัฐฯ - อ่าวเปอร์เซีย’

(10 พ.ค. 68) เพจเฟซบุ๊ก ‘Jaroensook Limbanchongkit Pone’ ได้โพสต์ข้อความระบุว่า ...

ซาอุดีอาระเบียมีกำหนดจะจัดการประชุมสุดยอดระหว่างสหรัฐและอ่าวเปอร์เซียในช่วงกลางเดือนพฤษภาคม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการเยือนซาอุดีอาระเบียครั้งแรกของโดนัลด์ ทรัมป์ในช่วงดำรงตำแหน่งสมัยที่สอง โดยการประชุมครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากการประชุมสุดยอดที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2017 ในช่วงดำรงตำแหน่งสมัยแรกของทรัมป์

การประชุมสุดยอดซึ่งจัดขึ้นที่กรุงริยาด เมืองหลวงของซาอุดีอาระเบีย มีการคาดการณ์ล่วงหน้ามากมายเกี่ยวกับการประกาศที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์อ้างถึง โดยระบุว่าเป็น 'การประกาศที่สำคัญมาก' ในระหว่างการประชุมกับจัสติน ทรูโด นายกรัฐมนตรีแคนาดา ที่ทำเนียบขาวเมื่อวันอังคารที่ 6 พฤษภาคม

นอกเหนือจากสิ่งที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ ตั้งใจจะประกาศแล้ว วาระการประชุมสุดยอด ข้อตกลง และข้อตกลงต่าง ๆ ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นก็กลายเป็นหัวข้อสนทนาของเมือง ไม่ว่าจะเป็นข้อตกลงด้านความปลอดภัยและการทหาร ข้อตกลงด้านเทคโนโลยีและปัญญาประดิษฐ์

ผู้นำอ่าวอาหรับทุกคนมีกำหนดเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอ่าวเปอร์เซีย-สหรัฐฯ ยกเว้นกษัตริย์ซัลมาน บิน อับดุลอาซิส ซึ่งไม่ได้เข้าร่วมงานสาธารณะหรือการประชุมเป็นเวลานานเนื่องจากพระองค์มีพระอาการป่วย

*** ทรัมป์จะยอมรับรัฐปาเลสไตน์หรือไม่??

แหล่งข่าวทางการทูตจากอ่าวเปอร์เซีย ซึ่งไม่ประสงค์จะเปิดเผยชื่อหรือเปิดเผยจุดยืนของตน กล่าวกับ The Media Line ว่า "ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์จะออกคำประกาศเกี่ยวกับสถานะปาเลสไตน์และการรับรองของอเมริกา และจะมีการจัดตั้งรัฐปาเลสไตน์โดยไม่มีกลุ่มฮามาสเข้าร่วม"

แหล่งข่าวยังกล่าวเพิ่มเติมว่า “หากอเมริกาประกาศรับรองปาเลสไตน์ นั่นจะเป็นการประกาศครั้งสำคัญที่สุดที่จะเปลี่ยนสมดุลอำนาจในตะวันออกกลาง และจะมีประเทศอื่นๆ เข้าร่วมข้อตกลงอับราฮัมมากขึ้น”

แหล่งข่าวยืนยันว่าจะมีข้อตกลงทางเศรษฐกิจเกิดขึ้นอย่างแน่นอน แต่หลายข้อตกลงก็ประกาศไปแล้ว และเราอาจได้เห็นรัฐอ่าวเปอร์เซียได้รับการยกเว้นภาษี

อาเหม็ด อัล-อิบราฮิม อดีตนักการทูตอ่าวเปอร์เซีย กล่าวกับ The Media Line ว่า “ผมไม่คิดว่าจะเกี่ยวกับปาเลสไตน์ ประธานาธิบดีอียิปต์ อับเดล ฟัตตาห์ อัล-ซิซี และกษัตริย์อับดุลลาห์ที่ 2 แห่งจอร์แดนไม่ได้รับเชิญ พวกเขาเป็น 2 ประเทศที่ใกล้ชิดกับปาเลสไตน์มากที่สุด และจะเป็นเรื่องสำคัญมากที่พวกเขาจะต้องเข้าร่วมงานใดๆ เช่นนี้”

อัล-อิบราฮิมยังกล่าวอีกว่า “จะมีข้อตกลงสำคัญๆ เกิดขึ้น อาจจะคล้ายกับที่เกิดขึ้นในการประชุมสุดยอดอ่าวเปอร์เซีย-สหรัฐในปี 2017 โดยข้อตกลงระหว่างซาอุดิอาระเบียมีมูลค่ามากกว่า 4 แสนล้านดอลลาร์ อย่าลืมว่าสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ประกาศการลงทุนในสหรัฐมูลค่ามากกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์ และซาอุดิอาระเบียประกาศการลงทุนมูลค่ามากกว่า 6 แสนล้านดอลลาร์”

เขากล่าวต่อว่า “นี่เป็นเรื่องชัดเจนเพราะประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ตั้งใจที่จะเยือนสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และกาตาร์หลังจากเสร็จสิ้นการเยือนซาอุดิอาระเบีย ซึ่งเป็นสองเศรษฐกิจสำคัญที่มีแหล่งเงินทุนที่สำคัญและมีการลงทุนครั้งใหญ่ในสหรัฐ”

Ahmed Boushouki นักวิเคราะห์การเมืองชาวซาอุดีอาระเบีย กล่าวกับ The Media Line ว่านี่เป็นเรื่องข้อตกลงทางเศรษฐกิจที่สำคัญที่จะเกิดขึ้นในราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย บางทีประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐฯ อาจกล่าวเป็นนัยถึงเรื่องนี้เมื่อเขาบอกกับชาวอเมริกันว่า ซื้อหุ้นตอนนี้ ก่อนที่จะมีการประกาศครั้งใหญ่ในอีกสองวันข้างหน้า

เกี่ยวกับข่าวความร่วมมือทางนิวเคลียร์อย่างสันติระหว่างสหรัฐฯ และซาอุดีอาระเบียในการผลิตไฟฟ้าในซาอุดีอาระเบีย Boushouki กล่าวว่า "ซาอุดีอาระเบียได้ประกาศโครงการมาตั้งแต่ปี 2010 และมีการหารือเรื่องนี้หลายครั้งแล้ว ปัจจุบัน บริษัทต่างชาติกำลังดำเนินการเพื่อดำเนินโครงการเหล่านี้ในซาอุดีอาระเบีย"

ขณะนี้ ซาอุดีอาระเบียกำลังมีแผนที่จะสร้างเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์แห่งแรกของซาอุดีอาระเบีย โดยมีบริษัทต่างชาติหลายแห่งแข่งขันกันออกแบบและสร้างเตาปฏิกรณ์ดังกล่าว ขณะเดียวกัน ประเทศเพื่อนบ้านในอ่าวเปอร์เซียอย่างสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เป็นเจ้าของเตาปฏิกรณ์ Barakah อยู่แล้ว และเป็นประเทศอาหรับเพียงประเทศเดียวที่มีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์สี่เตาปฏิกรณ์ โดยร่วมมือกับบริษัทของเกาหลี

รู้จัก ‘Alcatraz’ คุกบนเกาะกลางอ่าวซานฟรานซิสโก ที่ ‘โดนัลด์ ทรัมป์’ เตรียมใช้คุมขังนักโทษร้ายแรงอีกครั้ง

โลกใบนี้มีเรือนจำบนเกาะอยู่มากมายหลายแห่ง โดยเกาะเหล่านี้แยกตัวออกมาอยู่กลางทะเลตามธรรมชาติ จึงทำให้นักโทษไม่สามารถหลบหนีได้ The Rock สมญานามของเกาะ Alcatraz เกาะเล็ก ๆ กลางอ่าวซานฟรานซิสโก มลรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา เกาะนี้ในอดีตเคยเป็นสถานที่ตั้งประภาคาร ป้อมปราการของกองทัพสหรัฐฯ และยังเป็นเรือนจำสำหรับคุมขังนักโทษ แต่ในปัจจุบันได้เปลี่ยนเป็นพิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของเรือนจำแห่งนี้ รวมถึงเปิดให้เข้าชมพื้นที่ห้องขังจริง ๆ และจัดแสดงข้าวของเครื่องใช้จริงของนักโทษ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 4 พฤษภาคม 2025 ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ได้กล่าวว่า เขาจะสั่งการทำการปรับปรุงเรือนจำบนเกาะ Alcatraz เพื่อเปิดใช้งานใหม่ โดยประธานาธิบดีทรัมป์ได้สั่งให้มีการประเมินในทุกส่วนที่ยังไม่ได้รับการประเมินเพื่อกำหนดความต้องการและขั้นตอนต่อไปในการปรับปรุงเรือนจำรัฐบาลกลาง Alcatraz ซึ่งมีประวัติศาสตร์อันยาวนานเพื่อเป็นการฟื้นฟูสัญลักษณ์อันทรงพลังของกฎหมาย ความสงบเรียบร้อย และความยุติธรรม ของสหรัฐฯและรัฐบาลกลางของประเทศอื่น ๆ ที่เป็นพันธมิตร

เกาะแห่งนี้มีพืชพรรณเพียงเล็กน้อยและเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของนกทะเลเมื่อได้รับการสำรวจในปี 1775 โดยร้อยโท Juan Manuel de Ayala ซึ่งตั้งชื่อเกาะนี้ว่า Isla de los Alcatraces ('เกาะแห่งนกกระทุง') ต่อมาในปี 1849 ถูกขายให้กับรัฐบาลสหรัฐอเมริกา เกาะนี้ไม่เหมาะที่จะอยู่อาศัย เนื่องจากกระแสน้ำทะเล พืชผักที่มีปริมาณน้อยมาก และพื้นดินที่แห้งแล้ง เนื่องจากเกาะแห่งนี้ตั้งอยู่โดดเดี่ยวกลางอ่าวตามธรรมชาติ ล้อมรอบด้วยน้ำที่มีอุณหภูมิเยือกแข็งและคลื่นลมแรง กองทัพสหรัฐฯ สร้างป้อมปราการบนเกาะ Alcatraz ขึ้นในปี 1850 มีการติดตั้งปืนใหญ่เพื่อป้องกันอ่าวจากการรุกรานจากศัตรูต่างชาติอันเนื่องมาจากการเติบโตของสหรัฐฯ ในมหาสมุทรแปซิฟิก

นอกจากนี้ยังใช้เพื่อปกป้องนคร San Francisco จากการบุกรุกในช่วงสงครามกลางเมือง ไม่นานหลังจากนั้นมันก็ได้รับการพิจารณาให้ใช้เป็นที่คุมขังนักโทษ มีการสร้างประภาคารแห่งแรก และต่อมามีการสร้างอาคารอื่น ๆ บนเกาะ และกองทหารประจำการชุดแรกได้ตั้งกองทหารรักษาการณ์ในปี 1859 ในปี 1861 เกาะนี้ถูกกำหนดให้เป็นที่กักขังบรรดาผู้กระทำความผิดทางทหาร ต่อมามีนักโทษรวมถึง ชาวอินเดียแดงเผ่านโฮปี 19 คน จากมลรัฐแอริโซนาซึ่งต่อต้านความพยายามของรัฐบาลที่จะกลืนกลายพวกเขา ในปี 1861 เกาะนี้ได้เป็นที่รองรับนักโทษจากสงครามกลางเมืองจากรัฐต่าง ๆ และผลพวงจากสงครามสเปน-อเมริกัน ในปี 1898 ทำให้จำนวนนักโทษเพิ่มขึ้นจาก 26 คน เป็น 450 คน และในปี 1900 กักขังทหารอเมริกันที่ต่อสู้ในฟิลิปปินส์แต่แปรพักตร์เข้าร่วมกับฝ่ายฟิลิปปินส์ ในปี 1907 เกาะนี้ถูกกำหนดให้เป็นสาขาแปซิฟิกของเรือนจำทหารสหรัฐอเมริกา จากนั้นในปี 1906 ได้เกิดแผ่นดินไหวในนครซานฟานซิสโก (ซึ่งทำลายเมืองนี้อย่างรุนแรง) บรรดานักโทษจึงถูกย้ายไปบนเกาะเพื่อความปลอดภัย ในปี 1912 มีการก่อสร้างคุกขนาดใหญ่ที่ใจกลางเกาะ และในปลายทศวรรษ 1920 อาคารสามชั้นนี้ก็เสร็จสมบูรณ์

กองทัพสหรัฐฯ เป็นดูแลผู้รับผิดชอบเกาะแห่งนี้มามากว่า 80 ปี จากปี 1850 จนถึงปี 1933 แล้วเกาะนี้ได้ย้ายไปอยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวงยุติธรรมเพื่อใช้เป็นที่คุมขังนักโทษ รัฐบาลกลางได้ใช้เป็นสถานที่กักขังที่มีระบบรักษาความปลอดภัยสูงสุด โดยผู้ต้องขังปราศจากสิทธิพิเศษใด ๆ เพื่อจัดการกับบรรดานักโทษ และแสดงถึงประสิทธิภาพทางกฎหมายที่รัฐบาลต้องการลดคดีอาชญากรรมที่มีมากมาย ในช่วงปี 1920 และปี 1930 ตั้งแต่ปี 1934 ถึง 1963 เรือนจำแห่งนี้ทำหน้าที่เป็นเรือนจำของรัฐบาลกลางสำหรับนักโทษพลเรือนที่อันตรายที่สุดบางคนนักโทษที่ มีชื่อเสียง ได้แก่ อัล คาโปน จอร์จ เคลลี และโรเบิร์ต สตรูด มนุษย์นกแห่งเกาะ Alcatraz ('Birdman of Alcatraz') ผู้ซึ่งเลี้ยงนกและทำการวิจัยเกี่ยวกับนกขณะอยู่ในเรือนจำ” แม้ว่าเรือนจำ Alcatraz จะสามารถขังนักโทษได้ 450 คนในห้องขังที่มีขนาดประมาณ 10 x 4.5 ฟุต (3 x 1.5 เมตร) แต่ความเป็นจริงแล้วในแต่ละครั้งจะมีการขังนักโทษโดยเฉลี่ยประมาณคือ 260-275 คน (จำนวนนักโทษนี้ยังไม่ถึงปริมาณที่รองรับได้สูงสุด 336 คน ซึ่งนับได้ว่าจำนวนนักโทษของเกาะมีสัดส่วนน้อยกว่า 1% ของจำนวนนักโทษทั่วประเทศ) โดยที่นักโทษมีสภาพความเป็นอยู่ที่ดีกว่านักโทษที่อื่น (ตัวอย่างเช่น นักโทษหนึ่งคนต่อหนึ่งห้องขัง) ซึ่งมีนักโทษหลายคนได้ขอย้ายไปอยู่ที่เรือนจำบนเกาะเกาะ Alcatraz ความพยายามในการหลบหนีจากเรือนจำบนเกาะแห่งนี้นั้นยากมาก ๆ แต่ก็มีผู้ต้องขังเพียงไม่กี่คนที่หลบหนีออกจากเกาะได้ แต่ที่สุดไม่รู้ว่าพวกเขารอดชีวิตจากกระแสน้ำเย็นในอ่าวได้หรือไม่ การหลบหนีจากเกาะแห่งนี้ถูกสร้างเป็นภาพยนตร์เรื่อง Escape from Alcatraz (1979)

ในที่สุด ความยากลำบากในการขนน้ำจืดและของเสียออกจากเกาะได้ส่งผลทำให้เรือนจำบนเกาะ Alcatraz ก็ถูกปิดตัวลงในปี 1963 เนื่องจากขาดงบประมาณในการบริหารจัดการ ในเดือนมีนาคม 1964 กลุ่มชนพื้นเมืองอเมริกันได้อ้างสิทธิ์บนเกาะนี้โดยอ้างถึงสนธิสัญญาปี 1868 อนุญาตให้ชาวอินเดียนจากเขตสงวนอ้างสิทธิ์ใน "ดินแดนของรัฐบาลที่ไม่มีผู้อยู่อาศัย" อย่างไรก็ตาม พวกเขายึดครอง Alcatraz ได้เพียงไม่กี่ชั่วโมงเท่านั้น ในเดือนพฤศจิกายน 1969 นักเคลื่อนไหวชาวอินเดียนรวมถึงสมาชิกของขบวนการอินเดียนอเมริกันได้ทำการยึดครองเกาะนี้อีกครั้ง โดยเรียกร้องกรรมสิทธิ์ในเกาะและปฏิเสธที่จะออกไป จนกระทั่งถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจของรัฐบาลกลางบังคับให้ออกไปในเดือนมิถุนายน 1971 และเกาะ Alcatraz ก็ถูกโอนย้ายไปอยู่ในการดูแลของสำนักอุทยานแห่งชาติในปี 1972 หลังจากนั้นจึงมีการปรับปรุงภูมิทัศน์ แล้วเปลี่ยนสภาพจากเรือนจำไปเป็นพิพิธภัณฑ์ และเปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวต้อนรับผู้เข้าชมประมาณ 1.2 ล้านคนต่อปีมาจนถึงปัจจุบัน เกาะ Alcatraz อยู่ในเขตพื้นที่สันทนาการแห่งชาติโกลเดนเกต (Golden Gate National Recreation Area) ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ขนาดใหญ่บริเวณชายฝั่งตะวันตกรอบ ๆ ปากอ่าวซานฟรานซิสโกกว่า 82,116 เอเคอร์ เกาะ Alcatraz ซึ่งเปิดเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเต็มรูปแบบ นักท่องเที่ยวสามารถไปเยี่ยมชมได้โดยขึ้นเรือเฟอร์รี่ที่ท่าเรือ Pier 33 จากชายฝั่งนครซานฟรานซิสโก ใช้เวลาเดินทาง 4 กิโลเมตรไปยังเกาะประมาณ 20-30 นาที นอกจากนี้ เกาะ Alcatraz ยังเป็นฉากถ่ายทำภาพยนตร์ฮอลลีวูดหลายเรื่อง และยังได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติในปี 1986 อีกด้วย

‘กาตาร์แอร์เวย์ส’ เซ็นซื้อเครื่องบินจากโบอิ้ง จำนวน 210 ลำ มูลค่ากว่า 96,000 ล้านดอลลาร์

สายการบินกาตาร์แอร์เวย์สตกลงสั่งซื้อเครื่องบินสูงสุด 210 ลำจากบริษัทโบอิ้งของสหรัฐฯ ซึ่งประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศว่าเป็นคำสั่งซื้อมูลค่าสูงถึง 96,000 ล้านดอลลาร์ (ราว 3.46 ล้านล้านบาท) ถือเป็นหนึ่งในดีลสำคัญระหว่างการเยือนตะวันออกกลางของเขา

ทำเนียบขาวระบุว่า ข้อตกลงดังกล่าวจะสนับสนุนการจ้างงานในสหรัฐฯ ราว 154,000 ตำแหน่งต่อปี และถือเป็นคำสั่งซื้อเครื่องบิน 787 Dreamliner ครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของโบอิ้ง

แม้โบอิ้งจะเผชิญปัญหาการผลิตและขาดทุนกว่า 10,000 ล้านดอลลาร์ในปีที่แล้วจากเหตุเครื่องบินขัดข้อง แต่ล่าสุดบริษัทเริ่มฟื้นตัว หุ้นเพิ่มขึ้นราว 20% ตั้งแต่ต้นปี และมีแผนส่งมอบเครื่องบินกว่า 130 ลำในไตรมาสแรก

ดีลนี้รวมถึงเครื่องบิน Dreamliner 130 ลำ, รุ่น 777-9 อีก 30 ลำ และตัวเลือกสำหรับเครื่องบินรุ่นอื่นอีก 50 ลำ ถือเป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงทางเศรษฐกิจมูลค่ารวมกว่า 240,000 ล้านดอลลาร์ระหว่างสหรัฐฯ และกาตาร์

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ชี้ว่าการสั่งซื้อครั้งนี้เป็นชัยชนะเชิงสัญลักษณ์สำหรับโบอิ้ง แต่ยังไม่สะท้อนความต้องการในตลาดเพิ่มขึ้น เพราะความท้าทายหลักยังอยู่ที่การผลิตเครื่องบินให้ทันตามกำหนดส่งมอบในอนาคต

‘วอลมาร์ต’ ไม่อาจแบกรับต้นทุนได้อีกต่อไป เตรียมปรับขึ้นราคาตามมาตรการภาษีของทรัมป์

(16 พ.ค. 68) วอลมาร์ต ผู้ค้าปลีกรายใหญ่ที่สุดของโลก เตรียมปรับขึ้นราคาสินค้าบางรายการ หลังต้นทุนพุ่งจากผลกระทบสงครามการค้าและมาตรการภาษีศุลกากรของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งบริษัทระบุว่า ‘ต้นทุนสูงเกินไป’ และยากต่อการแบกรับ

ดัก แมคมิลลอน ซีอีโอของวอลมาร์ต ระบุว่า แม้บริษัทพยายามตรึงราคาให้ต่ำที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่แรงกดดันจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้นและส่วนต่างกำไรที่ลดลง ทำให้ต้องตัดสินใจขยับราคาสินค้าบางกลุ่มขึ้น โดยเฉพาะสินค้าที่ได้รับผลกระทบจากภาษีนำเข้า

ทั้งนี้ วอลมาร์ตไม่ออกตัวเลขคาดการณ์รายไตรมาสใหม่ เนื่องจากความผันผวนของนโยบายภาษีศุลกากรในสหรัฐฯ โดยยังคงใช้ประมาณการทางการเงินประจำปีเดิมที่ประกาศไว้เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

ข้อมูลจากรัฐบาลสหรัฐฯ ระบุว่ายอดค้าปลีกเติบโตช้าลง ขณะที่ผู้บริโภคใช้จ่ายอย่างระมัดระวังและไม่มั่นใจในภาวะเศรษฐกิจ ซึ่งซีอีโอวอลมาร์ตยอมรับว่า รายการสินค้าราคาประหยัดของบริษัทกำลังถูกท้าทายจากต้นทุนที่สูงขึ้นทั่วโลก


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top