Monday, 19 May 2025
โดนัลด์ทรัมป์

โดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศถอนสหรัฐจากองค์การอนามัยโลก

(21 ม.ค.68) ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ลงนามคำสั่งฝ่ายบริหารหลายฉบับหลังจากเข้าพิธีสาบานตนรับตำแหน่ง โดยหนึ่งในคำสั่งที่ทรัมป์ลงนามคือ ให้สหรัฐถอนตัวจากการเป็นสมาชิกองค์การอนามัยโลก ซึ่งเป็นหน่วยงานของสหประชาชาติที่ทำงานร่วมกับหน่วยงานรัฐบาลและพันธมิตรอื่น ๆ เพื่อปรับปรุงสุขภาพของประชาชนและชุมชนทั่วโลก โดยปัจจุบันอนามัยโลกมีชาติสมาชิกกว่า 124 ประเทศทั่วโลก

ทรัมป์เคยให้ความเห็นถึงประเด็นอนามัยโลกในครั้งหนึ่งว่า “จีนจ่าย 39 ล้านดอลลาร์ และเราจ่าย 500 ล้านดอลลาร์ ทั้งๆ ที่จีนเป็นประเทศที่ใหญ่กว่า ไม่ยุติธรรมเลย” โดยเขาพูดถึงค่าใช้จ่ายในการมีส่วนร่วมนั้นสูงเกินไปสำหรับสหรัฐฯ โดยบอกว่าสหรัฐฯ จ่ายเงินไปแล้ว 500 ล้านดอลลาร์เพื่อสนับสนุนองค์กร ในขณะที่จีนจ่ายเพียง 39 ล้านดอลลาร์เท่านั้น 

ทรัมป์ยังเคยกล่าวว่า กรณีอนามัยโลกเราต้องเจรจาเพิ่มเติม "พวกเขา (อนามัยโลก) ต้องการให้เรากลับมา ดังนั้นเมื่อเราถอนตัวจะรอดูว่าจะเกิดอะไรขึ้น"

ทั้งนี้ ข้อมูลจากอนามัยโลก ณ ปี 2018-2019 ระบุว่า สหรัฐเป็นผู้บริจาคเงินให้อนามัยโลกมากถึง 893 ล้านดอลลาร์ ขณะที่จีนบริจาคให้ที่ 86 ล้านดอลลาร์ แต่อย่างไรก็ตาม ไม่ปรากฏอมูลการบริจาคเงินในช่วงปี 2023-2024 ว่าทั้งสองชาติให้เงินอุดหนุนอนามัยโลกจำนวนเท่าใด

สหรัฐอเมริกาเข้าร่วมสมาชิกอนามัยโลก ครั้งแรกในปี 1948 โดยก่อนหน้านี้ทรัมป์ได้สั่งถอนการเข้าร่วมของทั้งประเทศในสมัยการดำรงตำแหน่งวาระแรกของเขาในปี 2020 และได้รับการคืนสถานะโดยอดีตประธานาธิบดีโจ ไบเดนในปี 2021

จากข้อมูลของเว็บไซต์อนามัยโลก ระบุว่า "สหรัฐอเมริกามีบทบาทสำคัญในการสนับสนุน WHO ในการปกป้องและปรับปรุงสุขภาพของชาวอเมริกันและผู้คนทั่วโลก"

อดีตทูตอังกฤษเผยวิธีดีลกับ 'ทรัมป์' แนะทิ้งทุกทฤษฎีการทูต พร้อมหมัดเด็ดรับมือ

(21 ม.ค. 68) ในที่สุดโดนัลด์ ทรัมป์ ก็กลับเข้ามารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐสมัยที่สองอย่างเป็นทางการ ท่ามกลางการจับตาของบรรดาชาติเอเชียและตะวันตก ถึงการรับมือด้านนโยบายต่างๆ 

หนึ่งในประเทศพันธมิตรที่ใกล้ชิดสหรัฐที่สุดแต่ขณะนี้มีรัฐบาลที่มาจากคนละขั้วการเมืองคือ สหราชอาณาจักร ซึ่งนายกรัฐมนตรีเคียร์ สตาร์เมอร์ จากพรรคแรงงาน ซึ่งมีแนวคิดฝ่ายซ้าย ขณะที่รีพับลิกันของทรัมป์ค่อนข้างมีนโยบายทางขวาจัด ส่งผลให้นายคิม ดาร์รอค (Kim Darroch) อดีตเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำสหรัฐฯ ระหว่างปี 2016 - 2019 ซึ่งเคยอยู่ในสมัยที่ทรัมป์ดำรงตำแหน่งผู้นำสหรัฐสมัยแรกในปี 2017 ได้ออกมาให้คำแนะนำต่อ นายกรัฐมนตรีเคียร์ สตาร์เมอร์ ถึงแนวทางการรับมือต่อท่าทีของทรัมป์ในสมัยที่สอง

คิม ดาร์รอค ได้เขียนบทความแนะนำการรับมือของรัฐบาลอังกฤษภายใต้การนำของพรรคแรงงานผ่านเว็บไซต์เดอะการ์เดี้ยน โดยระบุว่า รัฐบาลอังกฤษควรทิ้งทุกตำราการทูตที่รู้มา เพื่อรับมือกับทรัมป์ 2.0 

ดาร์รอคแนะนำแนวทางสำคัญที่รัฐบาลอังกฤษควรใช้ในการจัดการกับการกลับมาของทรัมป์ โดยระบุว่า หากมีการพูดคุยแบบทวิภาคี ควรเน้นการพูดคุยที่กระชับ เข้าประเด็น และนำเสนอแนวคิดของสหราชอาณาจักรที่จะเป็นประโยชน์ต่อสหรัฐอเมริกา มากกว่าที่จะเน้นความสัมพันธ์แบบพิเศษระหว่างสองประเทศในแบบที่อังกฤษนิยมทำมาในอดีต

ดาร์รอค ยกตัวอย่างว่า หากจะพูดคุยเรื่องสหรัฐตั้งภาษีนำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียมของยุโรป ควรพูดคุยกับทรัมป์โดยชี้ให้เห็นถึงผลเสียที่อาจเกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ ก็อาจโน้มน้าวได้ง่ายขึ้น เช่น พูดถึงสินค้าอะไร ภาษีเท่าไร หากเก็บภาษีจะกระทบสหรัฐอย่างไร

ตามคำแนะนำของดาร์รอค หากไปบอกการขึ้นภาษีของสหรัฐจะทำร้ายเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าอย่างไร ทรัมป์จะไม่สนใจ คู่เจรจรต้องพยายามโน้มน้าวให้ทรัมป์เห็นว่าการขึ้นภาษีจะทำร้ายอเมริกาอย่างไรจึงจะได้ผล 

ดาร์รอค ยังแนะนำอีกว่า ในยุคทรัมป์ 2.0 ควรหลีกเลี่ยงการตอบโต้กับบรรดาผู้ใกล้ชิดทรัมป์ อาทิ หากเกิดประเด็นปะทะคารมกับอีลอน มักส์ ให้หลีกเลี่ยงการปะทะคารมผ่านโซเชียลมีเดีย โดยดาร์รอคชี้ว่าความคิดเห็นของมัสก์ส่วนใหญ่มาจากความโกรธภายในมากกว่าจะมีผลต่อการเมืองจริงจัง

อดีตทูตอังกฤษ ยังระบุว่า ทรัมป์เป็นคนไม่ชอบการพูดยาวเวิ่นเว้อ หากต้องการโน้มน้าวเขา ควรใช้วิธีการอธิบายให้ตรงประเด็นว่า แนวคิดของคุณจะเป็นประโยชน์ต่อเขาอย่างไร โดยเฉพาะการอธิบายว่าแนวคิดนี้จะช่วยผลักดันนโยบาย “America First” ได้อย่างไร

เขาแนะนำว่า ประธานาธิบดีทรัมป์เกลียดบทสนทนายืดยาว ถ้าคุณเริ่มพูดอะไรยืดเยื้อเมื่อไหร่ ทรัมป์จะแทรกตัดบทหรือไม่ก็เบือนหน้าหนีทันที แล้วอำนาจต่อรองก็จะหายไปทันที และหากคุณนำเสนอหลายข้อเสนอ ทรัมป์อาจไม่สนใจเลย แต่หากคุณยื่นข้อเสนอที่ไม่มากเกินไป และอธิบายถึงประโยชน์ที่เขาจะได้รับ ก็จะมีโอกาสสำเร็จ

ดาร์รอค ยังให้ความเห็นว่า ในยุคทรัมป์ 2.0  การทูตระหว่างประเทศที่มีความซับซ้อนจะไม่สามารถใช้ได้ในยุคนี้ ทรัมป์อาจจะเป็นสัญญาณของการฟื้นฟูแนวคิดแบบสร้าง "เขตอิทธิพล" เหมือนที่บรรดาชาติยุโรปเคยทำในในยุคศตวรรษที่ 19 กลับมาใช้ในยุคศตวรรษที่ 21

ทำท่ามือในงานฉลองทรัมป์ร คล้ายสัญลักษณ์นาซี

(21 ม.ค. 68) อีลอน มัสก์ มหาเศรษฐีชื่อดัง กำลังตกเป็นประเด็นดราม่าในโลกออนไลน์ หลังจากที่เขาทำท่าทางมือระหว่างกล่าวสุนทรพจน์ในงานฉลองการเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีของโดนัลด์ ทรัมป์ เมื่อวันจันทร์ที่ 20 มกราคม ซึ่งหลายคนได้เปรียบเทียบท่าทางนี้กับการทำความเคารพแบบนาซี (Sieg Heil) อย่างไรก็ตาม องค์กรต่อต้านการเหยียดชาวยิว (ADL) เชื่อว่า ท่าทางดังกล่าวอาจเกิดจากความกระตือรือร้นมากกว่าที่จะมีความหมายเชิงสัญลักษณ์แบบนั้น

ADL ได้โพสต์ข้อความบนแพลตฟอร์ม x ว่า “ท่าทางที่อีลอน มัสก์ ทำดูเหมือนจะเป็นการแสดงออกจากความตื่นเต้น ไม่ใช่ท่าทางการทำความเคารพแบบนาซี แต่เราเข้าใจว่าทำไมคนถึงรู้สึกไม่สบายใจ”

ท่าทางนี้เกิดขึ้นขณะที่มัสก์ขึ้นเวทีในสนามแคปิตอล วัน อารีนา กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เพื่อเฉลิมฉลองการกลับมาดำรงตำแหน่งของโดนัลด์ ทรัมป์ และได้รับเสียงเชียร์จากฝูงชน เขาโบกมือและตะโกนว่า “เยส!” จากนั้นพูดว่า “นี่ไม่ใช่แค่ชัยชนะธรรมดา แต่มันคือจุดเปลี่ยนของอารยธรรมมนุษย์ ขอบคุณทุกคนที่ทำให้มันเป็นจริง!” 

มัสก์กัดริมฝีปากและทำท่าขยายแขนขวา โดยมือขวายกขึ้นแตะที่หน้าอกซ้ายก่อนจะเหยียดแขนขวาออกไปข้างหน้าในท่าทางที่ฝ่ามือหันลงและนิ้วมือชิดกัน หลังจากนั้นเขาก็หันไปทำท่าทางเดียวกันกับฝูงชนที่อยู่ข้างหลัง พร้อมพูดว่า “ขอมอบหัวใจให้พวกคุณ เพราะพวกคุณคืออนาคต”

ท่าทางนี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ในโลกออนไลน์อย่างรวดเร็ว โดยหนังสือพิมพ์เยรูซาเลมโพสต์ได้ตั้งคำถามว่า “อีลอน มัสก์ทำท่าซีค ไฮล์ในพิธีสาบานตนของทรัมป์หรือไม่?”

มัสก์ได้ออกมาปฏิเสธข้อกล่าวหานี้ โดยโพสต์ข้อความในแพลตฟอร์มเอ็กซ์ว่า “พูดตรงๆ นะ พวกเขาต้องหาวิธีโจมตีที่ดีกว่านี้แล้ว ‘ทุกคนคือฮิตเลอร์’ มันเป็นมุกเก่าที่ไม่มีใครอยากได้ยิน”

หลังจากเสร็จสิ้นสุนทรพจน์ มัสก์ได้โพสต์คลิปวิดีโอส่วนหนึ่งจากสุนทรพจน์ผ่านช่องฟ็อกซ์นิวส์ บนแพลตฟอร์มเอ็กซ์ โดยตัดช่วงที่ทำท่าทางนั้นออกไป พร้อมกับข้อความว่า “อนาคตน่าสนใจจริงๆ”

บางส่วนในโลกออนไลน์ได้ออกมาปกป้องมัสก์ โดยชี้ว่าเขากำลังสื่อความหมายว่า “มอบหัวใจให้” และวิจารณ์โพสต์ที่ตีความไปในทางอื่น

ทั้งนี้ มัสก์เคยแสดงการสนับสนุนพรรค AfD (พรรคทางเลือกเพื่อเยอรมนี) ซึ่งเป็นพรรคขวาจัดที่ต่อต้านผู้อพยพและศาสนาอิสลาม โดยถูกหน่วยงานความมั่นคงของเยอรมนีระบุว่าเป็นกลุ่มที่มีลัทธิหัวรุนแรงฝ่ายขวา โดยเขาเพิ่งได้มีการสัมภาษณ์กับหัวหน้าพรรค AfD ผ่านแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียของเขาเมื่อเดือนที่ผ่านมา

ผลโพลเผยคนอเมริกันมอง 4 ปีของไบเดน ทำสหรัฐแตกแยก ทิ้งผลงานผู้อพยพทะลัก

(22 ม.ค.68) ผลสำรวจจาก Rasmussen Reports ระบุว่า ชาวอเมริกันส่วนใหญ่เชื่อว่าในช่วงการเป็นประธานาธิบดีของโจ ไบเดน ระหว่างปี 2021-2024 ทำให้สหรัฐฯ กลายเป็นประเทศที่มีความแตกแยกมากขึ้น

ผลสำรวจที่จัดทำขึ้นออนไลน์ในช่วงกลางเดือนมกราคมในการสำรวจผู้ใหญ่ชาวอเมริกัน 1,220 คน พบว่า 55% ของผู้ตอบแบบสอบถามเห็นว่าอเมริกาแตกแยกมากขึ้นหลังจากการดำรงตำแหน่ง 4 ปีของไบเดน ขณะอีกที่ 30% มองว่า ระดับความแตกแยกในประเทศยังคงเหมือนเดิมเมื่อเทียบกับช่วงก่อนที่ไบเดนจะเข้ามาดำรงตำแหน่ง

มีเพียง 16% ของผู้ตอบแบบสอบถามกล่าวว่า รู้สึกว่าประเทศมีความแตกแยกน้อยลง ในขณะที่ 2% ไม่มีความเห็นในเรื่องดังกล่าว

การบริหารงานของไบเดนได้เผชิญความท้าทายกับปัญหาการอพยพเข้าเมืองผิดกฎหมายจากชายแดนใต้ของสหรัฐฯ โดยมีตัวเลขผู้เข้าเมืองผิดกฎหมายทำสถิติสูงสุดติดต่อกันถึง 3 ปี มีผู้ย้ายถิ่นผิดกฎหมายมากกว่า 8 ล้านคนที่ข้ามเข้ามาในสหรัฐฯ ตั้งแต่เดือนมกราคม 2021 ตามข้อมูลจากกรมศุลกากรและการป้องกันชายแดน (CBP)

ในอีกแง่หนึ่ง ผลสำรวจความคิดเห็นล่าสุดโดย Ipsos และ Reuters การสำรวจครั้งนี้จัดทำขึ้นระหว่างวันที่ 20-21 มกราคม โดยมีการสำรวจความคิดเห็นจากผู้ใหญ่ในสหรัฐฯ จำนวน 1,077 คน  ระบุว่า คะแนนความนิยมของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ สูงถึงเกือบครึ่งของผู้สำรวจความเห็น โดยร้อยละ  47% ของผู้ตอบความเห็นแสดงจุดยืนให้การสนับสนุนทรัมป์ หลังจากที่เขาเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เป็นครั้งที่สองในพิธีสาบานตนเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ณ อาคารรัฐสภาสหรัฐฯ

อย่างไรก็ตาม จากผลสำรวจดังกล่าว พบว่า 58% ของผู้ตอบแบบสอบถามไม่เห็นด้วยกับการตัดสินใจของทรัมป์ในการอภัยโทษผู้ต้องโทษประมาณ 1,500 คนที่ถูกตัดสินลงโทษจากเหตุการณ์ประท้วงที่อาคารรัฐสภา ขณะที่ 29% สนับสนุนการจัดการของประธานาธิบดีคนที่ 47 ในเรื่องการเมืองและความยุติธรรม

ในขณะเดียวกัน 46% ของผู้ตอบแบบสอบถามเห็นด้วยกับนโยบายของทรัมป์ในด้านการตรวจคนเข้าเมือง โดย 56% สนับสนุนข้อเสนอที่ว่า สหรัฐฯ ควร "ลดจำนวนผู้ขอลี้ภัยที่ได้รับอนุญาตให้ข้ามพรมแดนอย่างมีนัยสำคัญ"

สำหรับคะแนนความนิยมของทรัมป์ในช่วงเริ่มต้นของวาระแรกนั้นอยู่ที่ 43% และสูงสุดที่ 49% ในปี 2017 ก่อนที่จะลดลงเหลือ 34% เมื่อสิ้นสุดวาระ

เปิดหลักฐาน!! ยันจีนไม่เคยคุมคลองปานามา หลังทรัมป์กล่าวหาปักกิ่งบงการค่าผ่านทาง

(23 ม.ค.68) หลังโดนัลด์ ทรัมป์ กลับมาดำรงตำแหน่งผู้นำสหรัฐสมัย 2 เพียงไม่กี่วัน ได้มีคำสั่งให้นายมาร์โก รูบิโอ รัฐมนตรีการทรวงการต่างประเทศสหรัฐ เตรียมเดินทางเยือนปานามาภายในสัปดาห์หน้า ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการเดินทางเยือนลาตินอเมริกา สะท้อนท่าทีจริงจังของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ต้องการยึดคลองปานามาคืน นอกจากนี้ รูบิโอยังมีกำหนดที่จะเดินทางไปเยือนกัวเตมาลา เอลซัลวาดอร์ และคอสตาริกาด้วย

การเดินทางครั้งนี้จะเป็นครั้งแรกของรูบิโอในฐานะรัฐมนตรีต่างประเทศ หลังจากเข้ารับตำแหน่งเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (21 ม.ค.) การเยือนครั้งนี้เป็นสัญญาณที่แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นอย่างต่อเนื่องของปธน.ทรัมป์ที่ต้องการสกัดกั้นการอพยพผิดกฎหมายผ่านเส้นทางอเมริกากลาง และผลักดันให้ผู้อพยพเดินทางกลับประเทศต้นทาง

รายงานข่าวระบุว่า ตามธรรมเนียมแล้ว รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ มักจะเลือกเยือนประเทศพันธมิตรสำคัญทางยุทธศาสตร์เป็นทริปแรก เช่น แอนโทนี บลิงเคน ที่เลือกไปญี่ปุ่น หรือเร็กซ์ ทิลเลอร์สัน ที่เลือกไปเยอรมนี

ทรัมป์ได้ประกาศจุดยืนว่าต้องการให้สหรัฐฯ กลับมาควบคุมคลองปานามา หากไม่มีการลดค่าธรรมเนียมผ่านคลองสำหรับเรือรบและเรือพาณิชย์ พร้อมทั้งกล่าวหาอย่างซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่า จีนเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการดำเนินการคลองแห่งนี้ ขณะที่ประธานาธิบดีปานามารีบออกมาตอกย้ำอธิปไตยเหนือคลองปานามา และยืนยันว่าจีนไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องใด ๆ ในการบริหารจัดการคลอง

จากข้อมูลซึ่งเป็นเปิดเผยต่อสาธารณะพบว่า คลองปานามาซึ่งมีความยาว 82 กิโลเมตร (51 ไมล์) เชื่อมระหว่างมหาสมุทรแอตแลนติกและแปซิฟิก ถูกสร้างขึ้นและเป็นของสหรัฐฯ ในช่วงต้นทศวรรษปี 1900 ก่อนที่จะถูกมอบให้กับปานามาในที่สุดในปี 1977 ภายใต้สนธิสัญญาที่รับประกันความเป็นกลางปานามา โดยในปี 2021 ข้อตกลงที่อนุญาตให้ Panama Ports Company ดำเนินการต่อไปได้รับการขยายเวลาออกไปอีก 25 ปี

สหรัฐอเมริกาเป็นลูกค้าผู้ใช้คลองปานามารายใหญ่ที่สุด และรับผิดชอบการขนส่งสินค้าประมาณสามในสี่ส่วนในแต่ละปีจีนตามมาเป็นอันดับสอง ขณะที่ข้อมูลตั้งแต่เดือน ต.ค. 2023 ถึง ก.ย. 2024 จำนวนเรือขนส่งสินค้าของจีนที่เดินทางมาที่คลองปานามาคิดเป็น 21.4% ปริมาณการขนส่งทางเรือทั้งหมด ซึ่งมากเป็นอันดับสองรองจากสหรัฐฯ

คำกล่าวของทรัมป์ที่ว่า "จีนคุมคลองปานามาจากทั้งสองฝั่งคลอง" อาจหมายถึง การมีอยู่ของท่าเรืออยู่สองฝั่งของคลองปานามาซึ่งดำเนินการโดยบริษัทในฮ่องกง ซึ่งตลอดเส้นทางคลองปานามานั้น มีท่าเรือทั้งหมด 5 แห่งอยู่ติดกับคลองปานามา โดยมีท่าเรืออื่นๆ เป็นของบริษัทต่างชาติ รวมถึงบริษัทของสหรัฐฯ ด้วย ท่าเรือ 2 แห่งจากที่มีทั้งหมด 5 แห่งบริเวณใกล้เคียงกับคลองปานามา ดำเนินการโดยบริษัทฮัตชิสัน พอร์ต โฮลดิ้งส์ มาตั้งแต่ปี 1997 ท่าเรือทั้ง 2 แห่งได้แก่ ท่าเรือบัลบัวที่อยู่ทางฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิก และท่าเรือคริสโตบัลที่ตั้งอยู่ทางฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติก

ในปี 1996 ปานามาได้ให้สัมปทานแก่บริษัทในฮ่องกงที่ชื่อ ฮัทชิสัน-วัมเปา (hutchison whampoa) ในตอนนั้นในการดำเนินการท่าเรือบัลโบอาในฝั่งแปซิฟิก และท่าเรือคริสโตบัลในฝั่งแอตแลนติก สัญญาดังกล่าวไม่ได้ทำให้ฮัทชิสัน-วัมโปอาเป็นเจ้าของท่าเรือ แต่ให้สิทธิแก่บริษัทดังกล่าวในการดำเนินการในนามของรัฐบาลปานามา

ปัจจุบันผู้ประกอบการท่าเรือนี้รู้จักกันในชื่อ Hutchison Ports ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ CK Hutchison Holdings ซึ่งมีฐานอยู่ในฮ่องกงและเป็นเจ้าของโดยมหาเศรษฐีหลี่ กาชิง (Li Ka-shing) ซึ่งบริษัท Hutchison ต่างก็เข้าไปลงทุนบริหารท่าเรือหลายแห่งทั่วโลก รวมถึงบริหารท่าเรือแหลมฉบังของไทยด้วย

อีกทั้งในปี 1999 จากการสอบสวนของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ ต่อกรณีที่รัฐบาลปานามาจะมอบสัมปทานแก่ฮัทชิสัน-วัมโปอา ว่า จ้าหน้าที่ของกระทรวงได้ค้นคว้าเรื่องนี้อย่างละเอียดแล้วและ "ไม่พบหลักฐานใด ๆ ที่จะสนับสนุนข้อสรุปว่าสาธารณรัฐประชาชนจีนจะอยู่ในตำแหน่งที่จะควบคุมการดำเนินงานคลอง" 

ท่ามกลางคำกล่าวของทรัมป์ที่อ้างถึงรัฐบาลปักกิ่งว่าอยู่เบื้องหลังคลองปานามา ทางด้านโฆษกกระทรวงต่างประเทศของจีน เหมา หนิง กล่าวว่า “จีนไม่ได้มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการและการดำเนินงานของคลอง และไม่เคยแทรกแซงกิจการของคลอง”

อย่างไรก็ตาม มีความเห็นจาก ไรอัน เบิร์ก ผู้อำนวยการโครงการอเมริกาศึกษา แห่งศูนย์ศึกษายุทธศาสตร์และการระหว่างประเทศ มองว่า การบริหารท่าเรือเหล่านี้ทำให้บริษัท ซีเค ฮัตชิสัน มีข้อมูลทางยุทธศาสตร์ที่เป็นประโยชน์จำนวนมากของเรือต่าง ๆ ที่ผ่านเส้นทางนี้

"ความตึงเครียดทางด้านภูมิรัฐศาสตร์เกี่ยวกับทางด้านเศรษฐกิจระหว่างสหรัฐฯ และจีนนั้นมีเพิ่มมากขึ้น" เบิร์กกล่าว "ข้อมูลที่เกี่ยวกับเรือขนส่งสินค้าเหล่านั้นจะเป็นประโยชน์เมื่อเกิดสงครามเรื่องห่วงโซ่อุปทานเกิดขึ้น"

ถึงแม้ว่าซีเค ฮัตชิสัน จะไม่ได้มีรัฐบาลเป็นจีนเป็นเจ้าของ แต่เบิร์กมองว่า รัฐบาลสหรัฐอาจหวาดระแวงว่า รัฐบาลจีนจะสามารถเข้ามาแทรกแซงในบริษัทบริหารท่าเรือดังกล่าวได้มากน้อยเพียงใด

สส.รีพับลิกัน ผุดไอเดียแก้ไขรัฐธรรมนูญ ดัน 'ทรัมป์' นั่งประธานาธิบดีสมัยที่ 3

(24 ม.ค.68) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรครีพับลิกันได้ยื่นญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญในวันที่ 23 มกราคม เพื่อให้ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ และประธานาธิบดีในอนาคตสามารถดำรงตำแหน่งได้มากถึง 3 สมัย

ญัตติที่เสนอขึ้นมาเพียงไม่กี่วันหลังจากที่นายทรัมป์เข้ารับตำแหน่งเป็นสมัยที่สอง โดยนายแอนดี้ โอเกิลส์ สส.พรรครีพับลิกันจากรัฐเทนเนสซี ซึ่งเป็นผู้เสนอการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ ได้กล่าวว่า นายทรัมป์ได้แสดงให้เห็นถึงความสามารถในการฟื้นฟูสหรัฐให้กลับมายิ่งใหญ่และควรได้รับโอกาสอีกครั้งเพื่อบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้

ปัจจุบัน มาตราที่ 22 ของรัฐธรรมนูญสหรัฐกำหนดให้ประธานาธิบดีที่ได้รับเลือกสามารถดำรงตำแหน่งได้สูงสุดเพียง 2 สมัย โดยระบุว่า "ไม่มีบุคคลใดจะได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีเกินกว่า 2 ครั้ง" ในขณะที่การแก้ไขครั้งนี้จะเปลี่ยนเป็น "ไม่มีบุคคลใดจะได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีเกินกว่า 3 ครั้ง"

นอกจากนี้ยังมีการเสนอการแก้ไขเกี่ยวกับการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีที่เกิน 2 ปีในระหว่างที่บุคคลอื่นดำรงตำแหน่ง ซึ่งจะสามารถลงเลือกตั้งได้อีกเพียงครั้งเดียว

นายโอเกิลส์กล่าวว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้จะช่วยให้สหรัฐสามารถรักษาผู้นำที่กล้าหาญไว้ในประเทศได้

มาตราที่ 22 ได้รับการเสนอในปี 2490 และมีการรับรองในปี 2494 เพื่อป้องกันไม่ให้ประธานาธิบดีคนใดดำรงตำแหน่งยาวเกินไป โดยอ้างอิงถึงอดีตประธานาธิบดีแฟรงคลิน ดี. โรสเวลต์ ผู้เป็นประธานาธิบดีเพียงคนเดียวที่ดำรงตำแหน่งเกิน 2 สมัย

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าพรรครีพับลิกันจะมีเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร แต่จำนวนที่นั่งเพียงแค่ 3 ที่นั่งทำให้การผ่านญัตตินี้ยังมีความยากลำบาก และคาดว่าแนวทางนี้อาจไม่ได้รับการสนับสนุนจากพรรคเดโมแครต

'ทรัมป์' สั่งเปิดแฟ้มลับคดีลอบสังหาร 'เจเอฟเค' และ 'มาร์ติน ลูเธอร์ คิง'

(24 ม.ค.68) ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ได้สั่งให้เจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลจัดทำแผนการเปิดเผยเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการลอบสังหารที่สำคัญ 3 เหตุการณ์ในประวัติศาสตร์สหรัฐฯ ได้แก่ การสังหาร จอห์น เอฟ. เคนเนดี, โรเบิร์ต เอฟ. เคนเนดี และมาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์

ทรัมป์กล่าวเมื่อวันที่ 23 มกราคมว่า "หลายคนรอคอยการเปิดเผยนี้มานาน และเราจะเปิดเผยทุกอย่าง" พร้อมกำหนดให้เจ้าหน้าที่ต้องส่งแผนการเปิดเผยเอกสารภายใน 15 วัน

การลอบสังหารประธานาธิบดีเคนเนดีเกิดขึ้นที่ดัลลาสในปี 1963 ขณะที่โรเบิร์ต เอฟ. เคนเนดีถูกยิงเสียชีวิตในปี 1968 ขณะลงสมัครรับเลือกตั้งประธานาธิบดีในแคลิฟอร์เนีย และมาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ ผู้นำด้านสิทธิมนุษยชนก็ถูกสังหารในเมมฟิส รัฐเทนเนสซี

เอกสารเกี่ยวกับการสืบสวนเหล่านี้ได้ถูกเปิดเผยบางส่วนในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่ยังมีเอกสารอีกจำนวนมากที่ถูกเก็บเป็นความลับ โดยเฉพาะเอกสารที่เกี่ยวข้องกับคดีของเคนเนดีที่มีรายละเอียดซับซ้อน

การสืบสวนเกี่ยวกับการสังหารของเคนเนดีระบุว่า ลี ฮาร์วีย์ ออสวอลด์ เป็นผู้ลงมือเพียงคนเดียว แต่ยังมีข้อสงสัยและทฤษฎีเกี่ยวกับการมีส่วนเกี่ยวข้องของกลุ่มต่าง ๆ เช่น เจ้าหน้าที่รัฐบาล มาเฟีย หรือบุคคลอื่น ๆ ซึ่งได้สร้างข้อสงสัยในหมู่ประชาชน

ในปี 1992 สหรัฐฯ ได้ผ่านกฎหมายให้เปิดเผยเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการสืบสวนภายใน 25 ปี ซึ่งมีการเปิดเผยเอกสารจำนวนมากในยุคของทรัมป์และโจ ไบเดน แม้ว่าเอกสารบางส่วนยังคงเป็นความลับ

ทรัมป์เคยสัญญาว่าจะเปิดเผยเอกสารทั้งหมดในระหว่างการดำรงตำแหน่งครั้งแรก แต่ไม่ได้ทำตามสัญญา หลังจากที่หน่วยงานอย่างซีไอเอและเอฟบีไอขอให้เก็บเอกสารบางส่วนเป็นความลับ

การลงนามในคำสั่งล่าสุดของทรัมป์ระบุว่า การรักษาความลับไม่สอดคล้องกับผลประโยชน์ของสาธารณชน ซึ่งอาจนำไปสู่การเปิดเผยข้อมูลใหม่เกี่ยวกับการลอบสังหารและความเชื่อมโยงของออสวอลด์กับหน่วยงานต่าง ๆ

นอกจากนี้ เอกสารที่เปิดเผยเมื่อไม่นานนี้ยังมีการเพิ่มข้อมูลใหม่เกี่ยวกับการติดตามออสวอลด์โดยซีไอเอ รวมถึงการให้ข้อมูลจากพยานเห็นเหตุการณ์ ซึ่งทำให้ทฤษฎีที่ว่าออสวอลด์เป็นผู้ลงมือเพียงคนเดียวต้องได้รับการพิจารณาใหม่

ในคดีของโรเบิร์ต เอฟ. เคนเนดีและมาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ ก็ยังมีความสงสัยในคำกล่าวอ้างว่า เซอร์ฮานและเจมส์ เอิร์ล เรย์ เป็นผู้ลงมือเพียงคนเดียว เนื่องจากครอบครัวของทั้งสองได้ตั้งคำถามว่า การลอบสังหารเป็นผลจากแผนการสมคบคิดที่กว้างขวางกว่าที่เคยเชื่อกัน

‘ครูเดวิด’ ฉะยุคทรัมป์ เศรษฐีครองอเมริกาจะแย่ลง ‘อาจารย์อดัม’ ซัดเดือด!! ไบเดนนั่นแหละห่วย

(25 ม.ค. 68) ภายหลัง นายโดนัลด์ ทรัมป์ เข้าสาบานตนรับตำแหน่งเป็นประธานาธิบดีคนที่ 47 ของสหรัฐอเมริกา ทั่วโลกก็ต่างจับตาถึงทิศทางการทำงานของทรัมป์โดยเฉพาะในเรื่องความร่วมมือและเศรษฐกิจ

ล่าสุด ครูเดวิด วิลเลี่ยม ติ๊กต็อกเกอร์ดัง ชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ไทยมานาน ได้ออกมาเผยแพร่คลิปแสดงความคิดเห็นใจความตอนหนึ่งว่า อีลอน มัสก์ ไม่ได้เป็นคนดี สนใจแต่เงิน เขาไม่สนใจประชาธิปไตย ถามว่ารู้ได้ไง ถ้าคุณดูอย่างทวิตเตอร์จะเปลี่ยนเป็น x ทำไมไม่รู้ แต่ถ้ามีใครมาวิจารณ์เขา เขาจะเอาปิดบัญชีนั้นไปเลย แสดงว่าไม่สนใจเรื่อง Free Speech แล้วคนๆ นี้ที่เป็นเศรษฐีทำไมถึงได้เข้าไปพูดในงานที่โดนัล ทรัมป์ไปพูดได้ยังไง

ขณะเดียวกันนโยบายของทรัมป์ใช้งบประมาณมหาศาลเลยนะ งบประมาณของอเมริกาจึงต้องเพิ่มไม่ใช่ลดลง แล้วก่อนหน้านี้ทรัมป์ยังประกาศช่วงหาเสียงว่า เหตุผลที่ต้องทรัมป์เพราะจะขับไล่ต่างด้าวไปให้หมด และเก็บสิ่งดีๆ สำคัญไว้ให้คนอเมริกัน

นอกจากนี้คนรอบตัวทรัมป์มีแต่เศรษฐีมากกว่านักการเมืองเสียอีก นักการเมืองที่ถูกเลือกด้วยประชาชน แต่ทรัมป์เอาเจ้าของบริษัทรวยๆ ดังๆ ได้นั่งเก้าอี้พรีเมียม นั่นหมายความว่าเขาอยากจะบอกประชาชนว่าใครคือเจ้าของประเทศ คอยดูเลยนะว่า อเมริกาจะเลอะเทอะมาก คนจนจะจนลง คนรวยจะรวยมหาศาล

ต่อมา อาจารย์อดัม แบรดชอว์ ชาวอเมริกันผู้มีประสบการณ์การสอนในประเทศไทยกว่า 18 ปี และมีรายการสอนภาษาอังกฤษในโทรทัศน์ทางหลาย ๆ ช่อง ได้แชร์คลิปดังกล่าวและระบุว่า

“ถุย!! เดวิดไม่ใช่ตัวแทนชาวเมกันหรอก มีแต่แขวะเมกาและอวยประเทศไทย ผมเองก็รักประเทศไทยมาก ๆ เหมือนกัน แต่ไม่ได้แปลว่าต้องมาบอกว่าเมกาแย่อย่างนี้อย่างนั้น ขณะเดียวกัน ผมเข้าใจเจตนาของเดวิดคืออยากเรียกยอดวิวด้วยการพูดในสิ่งที่เค้าคิดว่าคนไทยอยากจะฟัง

แต่ผมว่าคนไทยส่วนใหญ่ทราบดีว่าไบเดนนั่นแหละห่วยแตกมาก ไม่ได้ทำห่าอะไรใน 4 ปีที่ผ่านมานอกจากปิดปากทุกคนที่ตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับนโยบายชัตดาวน์และที่มาของโควิด ถามหน่อยในช่วงของไบเดนอัตราเงินเฟ้อเป็นยังไงบ้าง ? แล้วอัตราดอกเบี้ยล่ะ”

‘โดนัลด์ ทรัมป์’ อนุมัติส่ง!! ระเบิดหนัก 2,000 ปอนด์ ให้ ‘อิสราเอล’ หลัง ‘ไบเดน’ เคยสั่งระงับ!! เพราะกลัวสงคราม กระทบพลเรือน

(26 ม.ค. 68) ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เปิดให้กองทัพสหรัฐส่งระเบิดหนัก 2,000 ปอนด์ให้อิสราเอล ซึ่งเป็นการดำเนินการที่อดีตปธน.โจ ไบเดน เคยระงับไว้

หลายฝ่ายคาดว่าการดำเนินการดังกล่าวจะเกิดขึ้น ขณะที่ไบเดนเคยระงับการจัดส่งระเบิดหนักดังกล่าว เนื่องจากกังวลเกี่ยวกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อพลเรือน โดยเฉพาะประชาชนในเขตราฟาห์ในกาซา ระหว่างการทำสงครามของอิสราเอลในดินแดนปาเลสไตน์

“มีหลายสิ่งหลายอย่างที่สั่งการและจ่ายให้กับอิสราเอล แต่มีอย่างหนึ่งที่ไบเดนไม่ได้ทำ ตอนนี้อยู่ระหว่างดำเนินการแล้ว!” ทรัมป์โพสต์ผ่านทรูธโซเชียลโดยไม่ได้ระบุรายละเอียดใดเพิ่มเติม

ทรัมป์และไบเดนเป็นผู้สนับสนุนอิสราเอลอย่างเหนียวแน่น แม้รัฐบาลวอชิงตันตกอยู่ภายใต้การวิพากษ์วิจารณ์ จากนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยนเกี่ยวกับวิกฤติมนุษยธรรมในกาซาจากการโจมตีทางทหารของอิสราเอลต่อกลุ่มฮามาส ซึ่งเป็นกลุ่มก่อการร้ายในปาเลสไตน์ โดยผู้ประท้วงเรียกร้องให้สหรัฐห้ามขายอาวุธให้อิสราเอล แต่ไม่ประสบความสำเร็จ

ขณะนี้อิสราเอลและฮามาสอยู่ระหว่างดำเนินการภายใต้ข้อตกลงหยุดยิง โดยมีการแลกเปลี่ยนตัวประกันอิสราเอลกับนักโทษปาเลสไตน์ไปแล้วบางส่วน ซึ่งล่าสุดฮามาสได้ปล่อยตัวทหารหญิงอิสราเอล 4 คน แลกกับนักโทษปาเลสไตน์ 200 คน เมื่อวันเสาร์

ฮามาสจับตัวประกันอิสราเอลไว้ 250 ราย ในระหว่างบุกโจมตีอิสราเอลวันที่ 7 ต.ค. 2566 ซึ่งเหตุการณ์ครั้งนั้นมีผู้เสียชีวิตราว 1,200 ราย และจุดชนวนให้เกิดการนองเลือดครั้งล่าสุด ในความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ที่มีมายาวนานหลายทศวรรษ

ขณะที่การโจมตีทางทหารของอิสราเอลในกาซา คร่าชีวิตประชาชนไปมากกว่า 47,000 คน ตามข้อมูลกระทรวงสาธารณสุขกาซา นำไปสู่ข้อกล่าวหาว่าอิสราเอลฆ่าล้างเผ่าพันธุ์และก่ออาชญากรรมสงคราม ซึ่งอิสราเอลปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าว

ทรัมป์ส่งสัญญาณคืนดี WHO ถ้ารับปากปรับปรุงองค์กรใหม่

(27 ม.ค. 68) โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ส่งสัญญาณอาจพิจารณากลับเข้าร่วมองค์การอนามัยโลก (WHO) หากองค์กรสามารถปรับปรุงการทำงานให้ดีขึ้น พร้อมแสดงความไม่พอใจที่สหรัฐฯ ต้องจ่ายเงินสนับสนุน WHO ในสัดส่วนที่สูงกว่าจีน แม้จีนจะมีประชากรมากกว่าสหรัฐฯ หลายเท่า

ทรัมป์ได้กล่าวระหว่างการปราศรัยที่นครลาสเวกัสว่า สหรัฐฯ อาจพิจารณากลับเข้าร่วม WHO อีกครั้ง แต่การตัดสินใจนี้จะขึ้นอยู่กับการปรับปรุงภายในองค์กรก่อน ขณะเดียวกัน เขายังกล่าวถึงความไม่เป็นธรรมที่สหรัฐฯ ต้องจ่ายเงินสนับสนุน WHO มากกว่าจีน แม้ว่าจีนจะเป็นประเทศที่สนับสนุน WHO สูงสุดในปัจจุบัน โดยการสนับสนุนของจีนคิดเป็นราว 18% ของงบประมาณทั้งหมด ซึ่ง WHO มีงบประมาณ 2 ปีล่าสุดอยู่ที่ 6.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

ก่อนหน้านี้ สหรัฐฯ ได้ประกาศออกจากการเป็นสมาชิก WHO อย่างเป็นทางการในวันที่ 22 มกราคม 2569 โดยทรัมป์แถลงในวันที่ 20 มกราคม หลังจากเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยที่สอง โดยอ้างว่า WHO ล้มเหลวในการบริหารจัดการสถานการณ์โควิด-19 และวิกฤตสุขภาพระดับโลกอื่นๆ


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top