Monday, 19 May 2025
โดนัลด์ทรัมป์

ผู้นำโคลอมเบียถอย ยอมรับผู้อพยพกลับ หลังทรัมป์ขู่ลงดาบคว่ำบาตร-ขึ้นภาษี

(27 ม.ค. 68) ทำเนียบขาวเปิดเผยเมื่อค่ำวันอาทิตย์ที่ 26 มกราคมว่า โคลอมเบียได้ตกลงรับผู้อพยพที่เดินทางเข้าสหรัฐอเมริกาโดยผิดกฎหมายกลับประเทศโดยไม่มีข้อจำกัดใด ๆ โดยข้อตกลงนี้ยังระบุว่า ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ จะไม่เรียกเก็บภาษี 25% จากโคลอมเบีย ตราบใดที่รัฐบาลโคลอมเบียปฏิบัติตามเงื่อนไขดังกล่าว

คาโรไลน์ เลวิตต์ โฆษกทำเนียบขาวแถลงว่า "รัฐบาลโคลอมเบียได้ยอมรับเงื่อนไขทั้งหมดของประธานาธิบดีทรัมป์ ซึ่งรวมถึงการรับผู้อพยพที่ถูกส่งกลับจากสหรัฐอย่างไม่จำกัด ไม่ว่าจะเดินทางด้วยเครื่องบินพาณิชย์หรือเครื่องบินทหาร โดยไม่มีการกำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติมหรือความล่าช้า"

เลวิตต์เสริมว่า มาตรการภาษีและการคว่ำบาตรต่าง ๆ ที่เคยเตรียมไว้จะถูกระงับไว้ก่อน ตราบใดที่โคลอมเบียยังคงปฏิบัติตามข้อตกลงนี้ อย่างไรก็ตาม มาตรการคว่ำบาตรด้านวีซ่าต่อเจ้าหน้าที่โคลอมเบีย รวมถึงการตรวจสอบศุลกากรที่เข้มงวดต่อสินค้าจากโคลอมเบีย จะยังคงมีผลจนกว่าการส่งตัวผู้ถูกเนรเทศชุดแรกสำเร็จ และเครื่องบินลำดังกล่าวเดินทางกลับถึงสหรัฐ

การบรรลุข้อตกลงนี้เกิดขึ้นหลังจากที่ประธานาธิบดีทรัมป์และประธานาธิบดีกุสตาโว เปโตร ของโคลอมเบีย มีการตอบโต้ทางการทูตเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวก่อนหน้านี้ โดยก่อนหน้านี้ นายเปโตร ได้สั่งระงับการลงจอดของเครื่องบินทหารสหรัฐ 2 ลำ ที่มีแผนขนส่งผู้อพยพชาวโคลอมเบียกลับประเทศ ซึ่งนำไปสู่คำขู่จากทรัมป์ว่าจะเพิ่มภาษีศุลกากร หากโคลอมเบียไม่ยอมรับเงื่อนไขนี้

รัฐบาลสั่งปลดฟ้าผ่า ทีมอัยการที่สอบเอาผิดทรัมป์ ปมพยายามพลิกผลเลือกตั้งปี 2020

กระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ ออกแถลงการณ์เมื่อวันจันทร์ (27 ม.ค.68) ระบุว่า เจ้าหน้าที่กระทรวงยุติธรรมหลายคนที่มีบทบาทในคดีความเกี่ยวกับโดนัลด์ ทรัมป์ ถูกปลดออกจากตำแหน่ง ซึ่งถือเป็นการยกระดับการดำเนินการตอบโต้ฝ่ายตรงข้ามของทรัมป์

เจ้าหน้าที่เหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของทีมสืบสวนภายใต้การดูแลของอัยการพิเศษ แจ็ค สมิธ ซึ่งทำคดีที่เกี่ยวข้องกับการพยายามพลิกผลการเลือกตั้งปี 2563 และเหตุจลาจลที่อาคารรัฐสภาสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2564 รวมถึงคดีจัดการเอกสารลับของทรัมป์  

“วันนี้ เจมส์ แมคเฮนรี รักษาการอัยการสูงสุด ได้เลิกจ้างเจ้าหน้าที่กระทรวงยุติธรรมจำนวนหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญในการดำเนินคดีกับประธานาธิบดีทรัมป์” แหล่งข่าวจากกระทรวงยุติธรรมกล่าวกับสำนักข่าวเอ็นบีซี  

เขาเสริมว่า “การกระทำของพวกเขาทำให้รักษาการอัยการสูงสุดไม่เชื่อมั่นว่าเจ้าหน้าที่เหล่านี้จะสามารถสนับสนุนการดำเนินนโยบายของประธานาธิบดีได้อย่างซื่อสัตย์ การตัดสินใจครั้งนี้เป็นไปตามพันธกิจที่ต้องการยุติการใช้อำนาจรัฐเป็นเครื่องมือทางการเมือง”  

สำนักข่าวเอบีซีรายงานเพิ่มเติมว่า เจ้าหน้าที่ในทีมสืบสวนที่ถูกปลดออกนั้นมีจำนวนมากกว่าสิบคน  

ในขณะเดียวกัน โดนัลด์ ทรัมป์ ได้กล่าวหาว่ากระทรวงยุติธรรมภายใต้รัฐบาลโจ ไบเดน ใช้อำนาจรัฐเป็นเครื่องมือในการโจมตีทางการเมืองต่อเขา ทรัมป์ยังประกาศว่าจะตอบโต้และแก้แค้นในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง  

อดีตเจ้าหน้าที่กระทรวงยุติธรรมและผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายหลายคนได้วิพากษ์วิจารณ์การกระทำครั้งนี้ โดยระบุว่าการปลดเจ้าหน้าที่ออกเนื่องจากบทบาทในคดีที่พวกเขาได้รับมอบหมายถือเป็นการละเมิดหลักนิติธรรม และอาจส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือของกระทรวงในอนาคต  

“การไล่เจ้าหน้าที่ออกเพราะพวกเขามีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีที่ได้รับมอบหมายไม่ใช่สิ่งที่ยอมรับได้” จอยซ์ แวนซ์ อดีตอัยการสหรัฐฯ กล่าว  

ทรัมป์เองได้ออกคำสั่งพิเศษหลังเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดี โดยเน้นย้ำว่าการดำเนินการครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อ “ยุติการใช้อำนาจรัฐเป็นเครื่องมือทางการเมือง” อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายชี้ว่า เจ้าหน้าที่ที่ถูกปลดยังคงมีสิทธิยื่นอุทธรณ์ตามกระบวนการทางกฎหมายที่กำหนดไว้  

เรื่องนี้ยังคงได้รับความสนใจอย่างกว้างขวาง โดยหลายฝ่ายตั้งคำถามถึงผลกระทบต่อการบริหารงานของกระทรวงยุติธรรมและความยุติธรรมในระบบกฎหมายของสหรัฐฯ

กงสุลใหญ่ชิคาโกยืนยัน 'ไม่พบข้อมูล' ชายเอเชียที่ตม.สหรัฐฯ รวบ ยันไร้คนไทยถูกจับ

(28 ม.ค.68) จากกรณีที่ ฟิล แม็กกรอว์ หรือ ดร. ฟิล พิธีกรชื่อดังของสหรัฐฯ ได้เดินทางร่วมกับโธมัส โฮแมน ผู้คุมชายแดนคนใหม่ในยุคประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ และเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองสหรัฐ ในปฏิบัติการบังคับใช้กฎหมายคนเข้าเมืองกวาดล้างผู้อพยพผิดกฎหมายในนครชิคาโก รัฐอิลลินอยส์ เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมาและมีการเผยแพร่ชายคนหนึ่งที่ชื่อ Seda (Sam) Soma ซึ่งถูกเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองสหรัฐจับกุม และได้อ้างตัวเองผ่านสื่อว่าเป็นคนไทยนั้น

สำนักข่าว VOA ได้ประสานงานเพื่อสอบถามข้อมูลต่อ สถานกงสุลใหญ่ ณ นครชิคาโก ยืนยันว่า ชายคนดังกล่าวไม่ใช่คนไทยตามที่มีการกล่าวอ้าง 

จากข้อมูลที่รายการของ ดร.ฟิล เผยแพร่ ระบุว่า ชายผู้ชื่อ Sam ที่ถูกจับกุมในคลิปดังกล่าวคือชายที่กระทำผิดทางเพศและหลอกลวงเหยื่อจากประเทศไทย โดยในคลิประบุว่า แซม เซดา เป็นชายผู้ที่ระบุว่าเกิดในประเทศไทย ได้พูดคุยกับดร.ฟิล ขณะที่ถูกถามเกี่ยวกับสถานะทางกฎหมายของเขาในสหรัฐฯ โดยเขาได้หลีกเลี่ยงการตอบคำถามเกี่ยวกับการถูกขับออกจากประเทศ และขอพบทนายก่อนที่เจ้าหน้าที่จะคุมขังเขา

เรื่องดังกล่าว นางฆฏนาวดี กัลยาณมิตร กงสุลใหญ่ ณ นครชิคาโก ได้กล่าวกับ VOAThai ว่า เมื่อได้รับข้อมูลจากข่าวดังกล่าว ทางสถานกงสุลได้ตรวจสอบข้อมูลในระบบทะเบียนราษฎร์ และไม่พบชื่อของชายดังกล่าว ซึ่งยืนยันได้ว่าเขาไม่ใช่คนไทย โดยอาจเป็นไปได้ว่าเขาเกิดในค่ายผู้ลี้ภัยและเดินทางมาสหรัฐฯ ตามแม่ที่เป็นพลเมืองอเมริกัน

นอกจากนี้ กงสุลใหญ่ยังกล่าวเสริมว่า สถานกงสุลยังไม่ได้รับรายงานว่ามีคนไทยคนใดถูกจับกุมโดยเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองในกรณีนี้แต่อย่างใด

ขณะที่ นางอุราสี ถิรตั้งเสถียร เจิง กงสุล ณ นครชิคาโก กล่าวว่า กระบวนการส่งตัวผู้ที่ถูกจับกุมจะอ้างอิงจากประเทศต้นทางที่บุคคลนั้นถือสัญชาติ ซึ่งเจ้าหน้าที่จะทำการตรวจสอบและยืนยันข้อมูลสัญชาติอย่างรอบคอบ

สถานกงสุลใหญ่ ณ นครชิคาโก ยังได้แนะนำให้ชุมชนไทยในพื้นที่ไม่ต้องตกใจและติดตามข่าวสารจากแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือเกี่ยวกับสถานการณ์การจับกุมที่เกิดขึ้น

การจับกุมในครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากที่ประธานาธิบดีทรัมป์ให้คำมั่นที่จะดำเนินการขับผู้อพยพที่อยู่ในสหรัฐฯ อย่างผิดกฎหมายออกจากประเทศ และบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีนโยบายคุ้มครองผู้อพยพ เช่น ชิคาโก

ตามรายงานจากสำนักงานตำรวจนครชิคาโก การจับกุมดังกล่าวถูกดำเนินการโดยหน่วยงานพิเศษของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองสหรัฐ  (ICE) โดยไม่ขอกำลังจากเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น และเจ้าหน้าที่ที่เข้าร่วมส่วนใหญ่เป็นเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบ

นอกจากดร.ฟิลแล้ว ยังมีรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงยุติธรรม เอมิล โบฟ เข้าร่วมภารกิจในครั้งนี้ โดยระบุว่า ผู้อพยพที่ถูกจับกุมรายแรกในชิคาโกเป็นผู้ที่อาศัยในสหรัฐฯ อย่างผิดกฎหมาย และเคยก่อเหตุฆ่าหญิงสาววัย 19 ปีในอุบัติเหตุขณะขับขี่ภายใต้ฤทธิ์สุรา

ล่าสุด รายงานจาก ICE ระบุว่าในวันเดียวกันได้จับกุมผู้อพยพผิดกฎหมายถึง 956 ราย ซึ่งมากกว่าการจับกุมเฉลี่ยในปีงบประมาณ 2024 ถึงสามเท่า

ทรัมป์สั่งสร้างโล่เหล็ก 'America Iron Dome' ป้องแผ่นดินสหรัฐฯ จากขีปนาวุธตามรอยอิสราเอล

เมื่อวันที่ (27 ม.ค.68) ตามเวลาท้องถิ่นของสหรัฐ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ลงนามคำสั่งฝ่ายบริหารในด้านการปฏิรูปกองทัพฯ หลายคำสั่ง โดยหนึ่งในคำสั่งที่ทรัมป์ลงนาม คือการริเริ่มให้มีการสร้างระบบป้องกันภัยทางอากาศ 'ไอรอนโดม' สำหรับสหรัฐฯ แบบเดียวกับที่อิสราเอลใช้สกัดขีปนาวุธหลายพันลูก 

“ภายใน 60 วันนับจากวันที่ออกคำสั่งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมจะต้อง  ส่งมอบแบบพิมพ์เขียวของระบบ ความต้องการตามขีดความสามารถ และแผนการดำเนินการสำหรับโล่ป้องกันขีปนาวุธรุ่นถัดไปให้แก่ประธานาธิบดี” คำสั่งฝ่ายบริหารของทรัมป์ระบุ

ระบบ America Iron Dome จะรวมถึงแผนการป้องกันขีปนาวุธร่อนแบบวิถีโค้ง ขีปนาวุธความเร็วเหนือเสียง และขีปนาวุธล้ำหน้า เร่งการติดตั้งเซ็นเซอร์ติดตามขีปนาวุธจากอวกาศที่มีความเร็วเหนือเสียงและแบบวิถีโค้ง และพัฒนาและติดตั้งเครื่องสกัดกั้นขีปนาวุธจากอวกาศที่สามารถสกัดกั้นขีปนาวุธได้ในช่วงส่งเสริมการโจมตี เอกสารระบุ ซึ่งคำสั่งดังกล่าวเน้นย้ำว่าภัยคุกคามจากการโจมตีด้วยขีปนาวุธและการโจมตีทางอากาศขั้นสูงอื่น ๆ "ยังคงเป็นภัยคุกคามที่เลวร้ายที่สุดที่สหรัฐฯ ต้องเผชิญ"

ระบบป้องกันภัยทางอากาศแบบใหม่ที่คล้ายกับ Iron Dome ของอิสราเอลนี้จะใช้ชื่อว่า 'America Iron Dome' ระบบนี้จะสามารถป้องกันภัยจากขีปนาวุธทั่วไป ขีปนาวุธไฮเปอร์โซนิค ขีปนาวุธนำวิถี และรูปแบบใหม่ ๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการเปิดเผยงบประมาณหรือกรอบเวลาการพัฒนาระบบนี้

"เราจำเป็นต้องเริ่มก่อสร้างโล่ป้องกันขีปนาวุธล้ำสมัย ไอรอนโดม ซึ่งจะสามารถปกป้องชาวอเมริกัน" ทรัมป์ บอกกับที่ประชุมระดมความคิดของรีพับลิกันในไมอามี พร้อมบอกว่า 'ระบบนี้จะผลิตที่นี่ ในสหรัฐฯ'

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์บางรายให้ความเห็นว่า ระบบไอรอนโดมอาจไม่เหมาะสมกับการรับมือภัยคุกคามทางอากาศของสหรัฐฯ เนื่องจากระบบที่ใช้ในอิสราเอลซึ่งเป็นแบบที่ทรัมป์อยากได้นั้น ถูกออกแบบมาเพื่อรับมือกับภัยคุกคามพิสัยใกล้ ทำให้มันไม่เหมาะสมสำหรับป้องกันการโจมตีใด ๆ ด้วยขีปนาวุธข้ามทวีป ที่เป็นตัวอันตรายหลักสำหรับสหรัฐฯ มากกว่า 

ทั้งนี้ นอกจากคำสั่งสร้าง America Iron Dome แล้ว ทรัมป์ยังลงนามคำสั่งปฏิรูปกองทัพสหรัฐในอีกหลายคนสั่ง เช่น การสั่งห้ามบุคคลข้ามเพศ หรือทรานส์เจนเดอร์ เข้ารับราชการในกองทัพสหรัฐฯ โดยทรัมป์เรียกคำสั่งนี้ว่า "การกำจัดลัทธิหัวรุนแรงทางเพศในกองทัพ" ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความหลากหลายและความเท่าเทียมในกองทัพ

ก่อนหน้านี้ ในสมัยแรกที่ทรัมป์ดำรงตำแหน่ง เขาเคยประกาศห้ามกลุ่มทรานส์เจนเดอร์เป็นทหาร โดยให้เหตุผลว่าค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของทหารข้ามเพศสูงเกินไป อย่างไรก็ตาม คำสั่งดังกล่าวไม่ได้ถูกบังคับใช้อย่างจริงจัง จนกระทั่งปี 2021 ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ได้ยกเลิกคำสั่งดังกล่าว ขณะที่ข้อมูลจากองค์กรเรียกร้องสิทธิความเท่าเทียมทางเพศระบุว่า ในจำนวนทหารอเมริกันทั้งหมด 1.3 ล้านคน มีทหารที่ระบุว่าตนเองเป็นทรานส์เจนเดอร์ไม่ต่ำกว่า 15,000 คน แต่ทางการสหรัฐฯ ชี้ว่ามีเพียงไม่ถึงพันคน

Google Maps เปลี่ยนชื่อ 'อ่าวเม็กซิโก' เป็น 'อ่าวอเมริกา' แต่..เห็นเฉพาะผู้ใช้ในสหรัฐฯ เท่านั้น

(28 ม.ค.68) Google ได้โพสต์บน X ว่า Google Maps เตรียมปรับเปลี่ยนชื่อ 'อ่าวเม็กซิโก' เป็น 'อ่าวอเมริกา' หลังจากที่รัฐบาลสหรัฐฯ ได้ทำการปรับปรุงข้อมูลในระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์หรือ Geographic Names Information System (GNIS) ซึ่งเป็นมาตรฐานการตั้งชื่อทางภูมิศาสตร์ของรัฐบาลกลางและระดับชาติ

Google ชี้แจงว่า การเปลี่ยนแปลงชื่อในครั้งนี้เป็นไปตามแนวปฏิบัติที่กำหนดสำหรับการอัปเดตชื่อสถานที่ในแผนที่ หลังจากได้รับการยืนยันจากแหล่งข้อมูลทางการของรัฐบาล

ก่อนหน้านี้ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ลงนามคำสั่งให้เปลี่ยนชื่อ 'อ่าวเม็กซิโก' เป็น 'อ่าวอเมริกา' เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา และกระทรวงมหาดไทยได้ประกาศเมื่อวันศุกร์ว่า อ่าวนี้จะถูกเรียกชื่อว่า 'อ่าวอเมริกา' อย่างเป็นทางการ

ทั้งนี้ ชื่อ 'อ่าวอเมริกา' จะปรากฏเฉพาะผู้ใช้ในสหรัฐฯ เท่านั้น ส่วนผู้ใช้ในเม็กซิโกจะยังเห็นชื่อ 'อ่าวเม็กซิโก' เหมือนเดิม ในขณะที่ผู้ใช้จากประเทศอื่น ๆ จะเห็นทั้งสองชื่อบน Google Maps

นอกจากนี้ Google Maps ยังจะปรับชื่อยอดเขาเดนาลี ซึ่งเป็นยอดเขาที่สูงที่สุดในอเมริกาเหนือ และมีชื่อที่ชาวอลาสกาตั้งให้เป็นยอดเขาเมาท์แมคคินลีย์ เมื่อหน่วยงานด้านระบบสารสนเทศชื่อภูมิศาสตร์ (GNIS) ได้ทำการปรับเปลี่ยนข้อมูลอย่างเป็นทางการ

สั่ง Meta ควัก 25 ล้านดอลลาร์ชดใช้ทรัมป์ กรณีปิดบัญชีจากเหตุจลาจลรัฐสภา

(30 ม.ค. 68) บริษัท Meta ยินยอมที่จะจ่าย 25 ล้านดอลลาร์ให้กับอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เพื่อยุติคดีความที่ทรัมป์ฟ้องร้องบริษัท หลังจากที่แพลตฟอร์มสั่งระงับบัญชีของทรัมป์หลังเหตุการณ์จลาจลที่รัฐสภาสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2021 รายงานข่าวดังกล่าวถูกเปิดเผยโดย  The Wall Street Journal และได้รับการยืนยันโดยโฆษกของ Meta 

จากรายงานของ The Wall Street Journal ระบุว่า เงินจำนวน 22 ล้านดอลลาร์ที่ Meta จ่ายให้ทรัมป์นี้จะถูกนำไปสมทบทุนสร้างหอสมุดประธานาธิบดี ส่วนที่เหลือจะถูกใช้จ่ายเป็นค่าธรรมเนียมทางกฎหมายและชำระให้กับโจทก์รายอื่น ๆ ที่มีชื่อในคดีดังกล่าว ทั้งนี้ ทำเนียบขาวยังไม่ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ 

การฟ้องร้อง Facebook ซึ่งปัจจุบันอยู่ภายใต้บริษัทแม่ Meta เป็นหนึ่งในหลายคดีที่ทรัมป์ยื่นฟ้อง สืบเนื่องหลังเหตุการณ์วันที่ 6 มกราคม ซึ่งนอกจาก Facebook แล้ว ทรัมป์ยังยื่นฟ้อง YouTube และ Twitter (ปัจจุบันคือ X) รวมถึงผู้บริหารของบริษัทเหล่านั้น อย่างไรก็ตาม คดีฟ้องร้อง Twitter ถูกผู้พิพากษาของรัฐบาลกลางยกฟ้องไปแล้ว ขณะที่คดีฟ้องร้อง Google ถูกระงับคดีชั่วคราวไปในปี 2023 แต่ยังมีโอกาสที่จะนำกลับมาพิจารณาใหม่อีกครั้ง

หลังเหตุการณ์จลาจลที่รัฐสภาสหรัฐฯ Facebook ระงับบัญชีของทรัมป์ เนื่องจากเขาใช้แพลตฟอร์มเผยแพร่ข้อมูลเท็จเกี่ยวกับการเลือกตั้งและอ้างว่าตนเป็นผู้ชนะในปี 2020 การตัดสินใจดังกล่าวถือเป็นการเปลี่ยนแปลงนโยบายของ Facebook ซึ่งก่อนหน้านี้มักปล่อยให้ผู้นำทางการเมืองใช้งานแพลตฟอร์มได้โดยไม่มีการควบคุมเข้มงวด แต่หลังจากเกิดเหตุการณ์รุนแรง บริษัทได้ปรับปรุงกฎระเบียบใหม่เพื่อให้สามารถระงับบัญชีบุคคลสำคัญได้ในกรณี "พิเศษ" เช่น ภาวะความไม่สงบและความรุนแรงทางการเมือง

มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ซีอีโอของ Facebook ในเวลานั้นกล่าวว่า "เราเชื่อว่าความเสี่ยงจากการปล่อยให้ประธานาธิบดีใช้งานแพลตฟอร์มของเราต่อไปในช่วงเวลานี้นั้นสูงเกินไป" บริษัทจึงตัดสินใจลงโทษทรัมป์ขั้นสูงสุดตามกฎใหม่ โดยระงับบัญชี Facebook และ Instagram ของเขาแบบไม่มีกำหนด

"พวกเขาไม่ควรได้รับอนุญาตให้ทำแบบนี้ พวกเขากำลังเซ็นเซอร์และปิดปากเรา และสุดท้ายแล้ว เราจะชนะ ประเทศของเราไม่สามารถทนรับการกดขี่แบบนี้ได้อีกต่อไป!" ทรัมป์กล่าวในขณะนั้น และเสริมว่า "ครั้งต่อไปที่ผมอยู่ในทำเนียบขาว จะไม่มีมื้อค่ำที่ซักเคอร์เบิร์กและภรรยาของเขาร้องขออีกต่อไป ทุกอย่างจะเป็นเรื่องธุรกิจเท่านั้น!"

ไม่กี่เดือนต่อมา Facebook ปรับลดระยะเวลาการระงับบัญชีของทรัมป์เป็นสองปี และในปี 2023 เมื่อครบกำหนดสองปี บริษัทได้คืนสิทธิ์ให้เขากลับมาใช้งานแพลตฟอร์ม เช่นเดียวกับ Twitter และ YouTube ที่ยกเลิกการแบนบัญชีของทรัมป์

ล่าสุด ซักเคอร์เบิร์กดูเหมือนจะกลับมาเป็นที่โปรดปรานของทรัมป์อีกครั้ง โดยมีรายงานว่าเขาพบกับทรัมป์หลายครั้งในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา และนั่งแถวหน้าระหว่างพิธีสาบานตนรับตำแหน่งประธานาธิบดี ซักเคอร์เบิร์กยังเป็นเจ้าภาพจัดงานเลี้ยงระดับหรูให้กับทรัมป์ในช่วงเฉลิมฉลองวันเข้ารับตำแหน่ง

การเจรจายุติคดีเริ่มขึ้นในเดือนพฤศจิกายน เมื่อซักเคอร์เบิร์กไปรับประทานอาหารค่ำกับทรัมป์ที่บ้านพัก Mar-a-Lago ในฟลอริดา โดย The Wall Street Journal รายงานว่าทรัมป์ระบุว่าคดีความต้องถูกจัดการให้เรียบร้อยก่อนที่ซักเคอร์เบิร์กจะสามารถ "เข้าร่วมกลุ่มของเขา" ได้ ต่อมา ซักเคอร์เบิร์กกลับไปที่ Mar-a-Lago ในช่วงต้นเดือนมกราคมเพื่อการไกล่เกลี่ยที่กินเวลาทั้งวัน

หลังจากเดินทางไปฟลอริดาไม่นาน ซักเคอร์เบิร์กก็ประกาศนโยบายใหม่ของ Meta โดยระบุว่าบริษัทจะยกเลิกข้อจำกัดบางอย่างเกี่ยวกับเนื้อหาทางการเมือง และอนุญาตให้มีการแสดงความคิดเห็นมากขึ้น โดยสะท้อนคำพูดของทรัมป์ว่า "การเซ็นเซอร์ออนไลน์มีมากเกินไปแล้ว ถึงเวลาที่เราจะกลับไปสู่รากฐานของเรา

ทรัมป์โทษนโยบายหลากหลาย ทำจราจรทางอากาศพัง จ้างคนไร้ความสามารถทำงาน ต้นเหตุปมเครื่องบินชนเฮลิคอปเตอร์ดับ

(31 ม.ค.68) ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แถลงข่าวถึงเหตุโศกนาฏกรรมเครื่องบินสายการบินอเมริกัน แอร์ไลน์ ชนเข้ากับเฮลิคอปเตอร์แบล็กฮอวก์ของกองทัพ ตกกลางแม่น้ำโปโตแมค ที่กรุงวอชิงตัน ขณะกำลังลงจอดที่สนามบินเรแกนในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตทั้งหมด 67 ราย โดยไม่มีผู้รอดชีวิต

ซึ่งแม้ว่าสาเหตุของอุบัติเหตุครั้งนี้ยังอยู่ระหว่างการสอบสวน แต่ทรัมป์กล่าวโทษว่าปัญหาดังกล่าวเกิดจากการขาดประสิทธิภาพของเจ้าหน้าที่ควบคุมจราจรทางอากาศ ซึ่งเป็นผลมาจากนโยบายส่งเสริมความหลากหลายและความเท่าเทียม (DEI) ที่ส่งเสริมการเปิดรับบุคคลจากกลุ่มต่าง ๆ ให้เข้ามาทำงานแทนที่บุคคลที่มีความสามารถสูงสุด โดยทรัมป์กล่าวว่า 

"คนที่ทำงานควบคุมการจราจรทางอากาศต้องเป็นคนที่ฉลาดที่สุด ไม่เกี่ยวกับรูปร่างหน้าตาหรือเชื้อชาติ สิ่งสำคัญที่สุดคือความสามารถ" ทรัมป์กล่าว พร้อมวิจารณ์ว่าการเปิดรับบุคคลจากกลุ่มที่หลากหลายเข้าทำงานแทนที่จะพิจารณาจากความสามารถ อาจทำให้เกิดข้อผิดพลาดร้ายแรง  

เมื่อนักข่าวถามว่าทำไมเขาจึงสรุปว่านโยบาย DEI เป็นสาเหตุของอุบัติเหตุครั้งนี้ ทรัมป์ตอบว่า “เพราะผมมีคอมมอนเซนส์ แต่โชคร้ายที่คนอื่นไม่มี”

ทรัมป์ยังกล่าวหาว่ารัฐบาลของอดีตประธานาธิบดีบารัก โอบามา และโจ ไบเดน ให้ความสำคัญกับนโยบาย DEI มากเกินไป จนทำให้เกิดผลกระทบต่อมาตรฐานขององค์กร เช่น องค์การบริหารการบินแห่งชาติสหรัฐฯ (FAA) ซึ่งในสมัยของโอบามา เคยเรียกร้องให้เพิ่มความหลากหลายทางเชื้อชาติภายในองค์กร แทนที่จะคัดเลือกพนักงานจากความสามารถโดยตรง

นอกจากนั้นทรัมป์ยังเผยว่า เขาเตรียมลงนามคำสั่งให้กระทรวงคมนาคมยกเลิกนโยบายความหลากหลายและความเท่าเทียม (DEI) ในภาคการบิน หลังเหตุการณ์เครื่องบินโดยสารของอเมริกันแอร์ไลน์สชนกลางอากาศกับเฮลิคอปเตอร์แบล็กฮอว์กของกองทัพสหรัฐฯ ดังกล่าวด้วย

ด้านรองประธานาธิบดี เจ.ดี. แวนซ์ และ ฌอน ดัฟฟี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ต่างสนับสนุนแนวทางของทรัมป์ โดยแวนซ์ระบุว่านโยบาย DEI ทำให้มาตรฐานการจ้างงานในหอบังคับการบินตกต่ำลง ขณะที่ดัฟฟียืนยันว่าจะมีการปฏิรูปเพื่อป้องกันไม่ให้เหตุการณ์ลักษณะนี้เกิดขึ้นอีก  

ข้อมูลเบื้องต้นระบุว่า บนเที่ยวบินของอเมริกันแอร์ไลน์สมีผู้โดยสารและลูกเรือรวม 64 คน ส่วนเฮลิคอปเตอร์แบล็กฮอว์กมีผู้โดยสาร 3 คน หนึ่งในกลุ่มผู้โดยสารคือทีมสเก็ตลีลาจากเมืองบอสตัน ซึ่งมีนักกีฬาวัย 16 ปี 2 คน พร้อมมารดาและโค้ชชาวรัสเซียอยู่บนเครื่อง  

ขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังเร่งสอบสวนสาเหตุของอุบัติเหตุ โดยเบื้องต้นพบว่าเครื่องบินและเฮลิคอปเตอร์เดินทางมาตามเส้นทางปกติ ระบบสื่อสารไม่มีปัญหา แต่ยังไม่ชัดเจนว่าจุดบกพร่องเกิดขึ้นที่ใด ขณะที่สำนักงานดับเพลิงและบริการการแพทย์ฉุกเฉินของกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ระบุว่า โอกาสพบผู้รอดชีวิตเป็นไปได้น้อยมาก ปฏิบัติการกู้ภัยจึงเปลี่ยนเป็นการเก็บกู้ศพ

ทรัมป์ฟาดหนัก! ขู่ BRICS เจอภาษี 100% แน่ หากกล้าแทนที่ดอลลาร์สหรัฐฯ

(31 ม.ค.68) อดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ออกคำเตือนผ่านแพลตฟอร์ม Truth Social ถึงกลุ่มประเทศ BRICS (บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้) โดยขู่ว่าจะขึ้นภาษี 100% หากกลุ่มประเทศเหล่านี้พยายามแทนที่ดอลลาร์สหรัฐฯ ด้วยสกุลเงินใหม่หรือสนับสนุนสกุลเงินอื่นในการค้าระหว่างประเทศ

ทรัมป์ระบุว่า “แนวคิดที่ว่ากลุ่ม BRICS จะหันหลังให้กับดอลลาร์สหรัฐฯ ในขณะที่เรายืนดูอยู่นั้นต้องจบลงแล้ว” พร้อมย้ำว่าสหรัฐฯ จะเรียกร้องให้ประเทศเหล่านี้ให้คำมั่นสัญญาว่าจะไม่สร้างสกุลเงินใหม่ของ BRICS หรือสนับสนุนสกุลเงินอื่นเพื่อแทนที่ดอลลาร์สหรัฐฯ 

“หากพวกเขาไม่ปฏิบัติตาม พวกเขาจะต้องเผชิญกับภาษี 100% และควรเตรียมตัวโบกมืออำลาการค้ากับเศรษฐกิจอันยิ่งใหญ่ของสหรัฐฯ” ทรัมป์กล่าว พร้อมเสริมว่า “พวกเขาสามารถไปหาประเทศอื่นที่ยอมจำนนได้ แต่ไม่มีทางที่ BRICS จะเข้ามาแทนที่ดอลลาร์สหรัฐฯ ในการค้าระหว่างประเทศหรือที่ใดก็ตาม”

คำเตือนของทรัมป์เกิดขึ้นในบริบทที่กลุ่ม BRICS ได้แสดงความสนใจในการลดการพึ่งพาดอลลาร์สหรัฐฯ และมีการหารือเกี่ยวกับการสร้างระบบการชำระเงินหรือสกุลเงินใหม่เพื่อลดอิทธิพลของสหรัฐฯ ในระบบการเงินโลก อย่างไรก็ตาม การขู่ว่าจะขึ้นภาษี 100% ของทรัมป์อาจส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างสหรัฐฯ และกลุ่ม BRICS ในอนาคต

ผู้นำเม็กซิโกตอกกลับทรัมป์ ร้อง Google เปลี่ยนชื่อสหรัฐอเมริกาเป็น 'อเมริกาเม็กซิกัน'

(31 ม.ค.68) นางคลอเดีย เชนบาม ประธานาธิบดีเม็กซิโก ร่อนจดหมายถึงบริษัท  Google เปิดเผยความไม่พอใจอย่างรุนแรง หลังบริษัทยอมปฏิบัติตามคำสั่งของอดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ ในการเปลี่ยนชื่อ 'อ่าวเม็กซิโก' เป็น 'อ่าวอเมริกา' พร้อมกับเรียกร้องให้เปลี่ยนชื่อประเทศสหรัฐอเมริกาเป็น 'อเมริกาเม็กซิกัน'

นางเชนบาม ได้แสดงท่าทีคัดค้านอย่างหนักต่อการกระทำของ Google ที่ปฏิบัติตามคำสั่งของทรัมป์ โดยเธอเห็นว่าการเปลี่ยนชื่อดังกล่าวเป็นการละเมิดอธิปไตยและประวัติศาสตร์ของเม็กซิโก เธอยังเรียกร้องให้ Google คืนชื่อเดิมของอ่าวเม็กซิโกและหยุดการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อชื่อทางภูมิศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับประเทศของเธอ

ความไม่พอใจของประธานาธิบดีเม็กซิโกเกิดขึ้นหลังจากที่ทรัมป์ได้ลงนามในคำสั่งฝ่ายบริหารเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา สั่งให้เปลี่ยนชื่ออ่าวเม็กซิโกเป็นอ่าวอเมริกา โดย Google ได้ปรับปรุงชื่อดังกล่าวใน Google Maps ทันทีตามคำสั่ง

ก่อนหน้านี้ Google ได้ออกแถลงการณ์ผ่านแพลตฟอร์ม X ระบุว่า "การเปลี่ยนแปลงชื่อนี้เป็นไปตามนโยบายของเราในการอัปเดตข้อมูลตามเอกสารราชการของรัฐบาลสหรัฐฯ" โดยบริษัทอ้างว่าการเปลี่ยนแปลงชื่อจะเกิดขึ้นทันทีเมื่อมีการแก้ไขในเอกสารทางการของสหรัฐฯ

นอกจากนี้ Google ยังประกาศว่าจะ 'ดำเนินการทันที' ในการเปลี่ยนชื่อภูเขาเดนาลิในรัฐอะแลสกากลับไปเป็นภูเขาแมคคินลีย์ ตามคำสั่งของทรัมป์ ทันทีที่เอกสารทางการได้รับการอัปเดต แม้ว่าจะมีการวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและชนพื้นเมืองก็ตาม

ทรัมป์ได้อธิบายว่าการเปลี่ยนแปลงทั้งสองรายการนี้เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามในการ 'เชิดชูความยิ่งใหญ่ของอเมริกา' อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนชื่อภูเขาเดนาลิ ซึ่งเป็นชื่อที่ชนพื้นเมืองอะแลสกาให้ความสำคัญ ได้ก่อให้เกิดความไม่พอใจในวงกว้าง

การเคลื่อนไหวครั้งนี้ของทรัมป์และ Google ได้รับการตอบรับอย่างไม่ดีจากทั้งเม็กซิโกและกลุ่มชนพื้นเมืองในสหรัฐฯ ซึ่งมองว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการลบเลือนประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมท้องถิ่น

‘สำนักข่าวอิศรา’ เผย!! ‘ทรัมป์’ ระงับทุนการศึกษา นศ.เมียนมา ลั่น!! ต้องการให้เงินให้ไหล ไปทำอย่างอื่น ที่เหมาะสมกว่า

(1 ก.พ. 68) นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาได้ออกมาประกาศถึงการระงับเงินทุนช่วยเหลือด้านการศึกษามูลค่า 45 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (1,518,884,289 บาท) สำหรับนักเรียน นักศึกษาชาวเมียนมา

โดยเงินทุนดังกล่าวนั้นเป็นเงินที่มีการอนุมัติโดยอดีตประธานาธิบดีโจ ไบเดน ด้วยจุดประสงค์เพื่อสนับสนุนนักเรียนในเมียนมาตามนโยบาย DEI (นโยบายสนับสนุนความหลากหลาย,ความเท่าเทียม และการเปิดรับคนทุกคน) ภายใต้ชื่อโครงการทุนการศึกษาความหลากหลายและการไม่แบ่งแยก (DISP)

แนวคิดริเริ่มของทุนการศึกษานั้นเกิดขึ้นหลังกองทัพเมียนมาได้ก่อรัฐประหารในปี 2564 ส่งผลทำให้เกิดปัญหาเรื่องการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์นับแต่นั้น

ทั้งนี้ทุนการศึกษาดังกล่าวมีผู้ดูแลได้แก่ หน่วยงานเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศสหรัฐฯ (USAID) และสถานทูตสหรัฐฯในนครย่างกุ้ง ซึ่งได้มีการเริ่มเดินหน้าทุนการศึกษา DISP ที่กรุงเทพ ตั้งแต่วันที่ 29 ก.พ.2567

โครงการทุนการศึกษา DISP มีกำหนดระยะเวลา 5 ปี ตั้งเป้าว่าจะช่วยเหลือนักศึกษากว่า 1,000 คนจากเมียนมาเพื่อศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาในเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ทั้งนี้คำสั่งระงับการสนับสนุนทุนการศึกษาดังกล่าวเป็นผลการดำเนินงานของกระทรวงพัฒนาประสิทธิภาพรัฐบาล หรือ Department Of Government Efficiency (D.O.G.E.) ซึ่งมีนายอีลอน มัสก์ รับผิดชอบกระทรวงนี้

ทางด้านของนายทรัมป์กล่าวถึงการระงับทุนการศึกษา DISP ว่า “เงิน 45 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ นั้นเป็นเงินที่มากสำหรับทุนการศึกษาเพื่อความหลากหลายในเมียนมา คุณสามารถจินตนาการได้ว่าเงินนั้นจะไปไหน นี่คือประเภทของการจ่ายเงิน และอื่น ๆ อีกมากมายที่ผมสามารถยืนอยู่ที่นี่ทั้งวันและบอกคุณถึงสิ่งที่เราได้พบมา และเราต้องหาเงินพวกนี้อย่างรวดเร็วเพราะเราต้องการให้เงินให้ไหลไปยังที่ๆเหมาะสมกว่า”

ขณะที่สำนักข่าว DVB ของเมียนมาได้มีการไปสัมภาษณ์นักศึกษาเมียนมาที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งใช้ทุนจากโครงการนี้ โดยนักศึกษารายนี้กล่าวยอมรับว่าทุน DISP ให้การช่วยเหลือกับนักเรียนนักศึกษาให้มีความต่อเนื่อง ดังนั้นการสูญเสียทุน DISP ไปก็เท่ากับว่าเป็นการสูญเสียสิทธิพิเศษที่นักศึกษาจะได้รับ และการจ่ายเงินค่าเทอมในปีถัดๆไปก็จะยากขึ้น


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top