Friday, 4 April 2025
โดนัลด์ทรัมป์

'มัสก์' เล็งแจกเงินชาวอเมริกัน คนละ 1.5 แสนบาท หลัง DOGE ช่วยประหยัดงบแสนล้าน แต่เสี่ยงเงินเฟ้อ-ขัดกฎหมาย

(20 ก.พ. 68) อีลอน มัสก์ ในฐานะหัวหน้าหน่วยงานด้านประสิทธิภาพรัฐบาล (DOGE) ได้จุดกระแสใหม่บนโซเชียลด้วยการเผยแนวคิดเงินปันผล  DOGE (DOGE Dividend) ซึ่งอาจมาในรูปแบบของเช็คกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่า 5,000 ดอลลาร์ ให้กับผู้เสียภาษีชาวอเมริกา โดยระบุว่า การมอบเงิน 5,000 ดอลลาร์นี้ เป็นผลพลอยได้จากการที่หน่วยงาน DOGE ของมัสก์สามารถประหยัดงบประมาณประเทศไปได้หลายแสนล้าน

แนวคิดนี้มาจากเจมส์ ฟิช แบ็ค ซีอีโอบริษัทการลงทุนและที่ปรึกษา DOGE ซึ่งเสนอให้จัดสรร 20% ของเงินออมที่คาดว่าจะเกิดจากนโยบาย DOGE ไปมอบเป็นเงินช่วยเหลือแก่ประชาชน โดยฟิชได้อ้างว่าหาก DOGE สามารถประหยัดงบประมาณรัฐบาลได้ถึง $2 ล้านล้าน ก็สามารถจัดสรร 20% หรือราว $400,000 ล้าน เพื่อนำไปแจกจ่ายให้แก่ 78 ล้านครัวเรือนที่เสียภาษีได้ในอัตรา $5,000 ต่อครัวเรือน

“เราต้องการทำให้ DOGE เป็นเรื่องจริงสำหรับชาวอเมริกันหลายล้านคน พวกเขาสมควรได้รับส่วนแบ่งจากเงินออมที่ DOGE จะช่วยให้เกิดขึ้นภายใต้การบริหารของประธานาธิบดีทรัมป์” ฟิชแบ็คกล่าว

มัสก์ตอบรับแนวคิดนี้โดยกล่าวว่า เขาจะนำเรื่องนี้ไปหารือกับโดนัลด์ ทรัมป์ อย่างไรก็ตาม แนวคิดดังกล่าวยังต้องเผชิญกับอุปสรรคสำคัญหลายประการ อาทิ 

การอนุมัติจากสภาคองเกรส การใช้เงินงบประมาณรัฐบาลต้องได้รับการอนุมัติจากฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งอาจมีการคัดค้านจากสมาชิกสภาคองเกรสที่ต้องการนำเงินไปใช้กับโครงการอื่น เช่น การลดหนี้สาธารณะ

นอกจากนั้นหากจ่ายเงินช่วยเหลือ5,000 ดอลลาร์ อาจส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจ  โดยผู้เชี่ยวชาญด้านงบประมาณเตือนว่า การแจกเงินกระตุ้นเศรษฐกิจในปริมาณมหาศาลอาจทำให้เงินเฟ้อพุ่งขึ้น ซึ่งเป็นปัญหาที่พรรครีพับลิกันเคยต่อต้านในช่วงการระบาดของโควิด-19 เพรสตัน แบรชเชอร์ นักวิจัยด้านนโยบายภาษีจาก Heritage Foundation กล่าวว่า “การลดรายจ่ายของรัฐบาลช่วยควบคุมเงินเฟ้อได้ แต่ถ้ารัฐบาลแจกเช็คกระตุ้นเศรษฐกิจ เงินเฟ้อจะกลับมาอย่างหนัก”

นอกจากนี้ยังอาจติดปัญหาทางกฎหมาย เพราะโครงการ DOGE เองกำลังเผชิญกับการตรวจสอบทางกฎหมาย และผลลัพธ์ของคดีความที่เกี่ยวข้องอาจส่งผลกระทบต่อแนวคิดเงินปันผลนี้

ข้อเสนอนี้เกิดขึ้นในช่วงที่รัฐบาลทรัมป์กำลังพิจารณานโยบายลดภาษีในหลายรูปแบบ แต่ต้นทุนของมาตรการเหล่านี้อาจสูงถึง $5-11 ล้านล้าน ทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับหนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้น ดังนั้นเงินปันผล DOGE อาจต้องแข่งขันกับนโยบายอื่น เช่น การยกเลิกเก็บภาษีเงินได้จากค่าทิปและโอที แม้ว่าการได้รับเช็ค 5,000 ดอลลาร์ จะเป็นที่สนใจของประชาชนจำนวนมาก แต่ก็ยังมีความท้าทายทางกฎหมายและเศรษฐกิจที่ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ 

ทรัมป์ยกย่องตัวเองเป็น 'กษัตริย์แห่งอเมริกา' หลังยกเลิกเก็บค่าธรรมเนียมรถติดในนิวยอร์ก

เมื่อวันที่ (19 ก.พ.68) ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้โพสต์ข้อความในโซเชียลมีเดีย Truth Social ยกย่องตัวเองเป็น 'กษัตริย์' หลังจากการตัดสินใจยกเลิกโครงการเก็บค่าธรรมเนียมรถติด (Congestion Pricing) ในเมืองนิวยอร์ก โดยทรัมป์เขียนว่า โครงการนี้ “ตายไปแล้ว” และกล่าวว่าแมนฮัตตันและนิวยอร์กปลอดภัย พร้อมลงท้ายข้อความด้วยคำว่า “LONG LIVE THE KING!”

ไม่นานหลังจากทรัมป์โพสต์ลง Truth Social บัญชีโซเชียลมีเดียของทำเนียบขาวในแพลตฟอร์ม X ได้โพสต์ภาพทรัมป์สวมมงกุฎ โดยมีกรอบเส้นสีทองแบบเดียวกับหน้าปกนิตยสารไทม์ พร้อมคำว่า “LONG LIVE THE KING” ที่ทรัมป์ใช้ในการยกย่องตัวเอง ซึ่งทำให้คำนี้กลายเป็นคำที่ได้รับความนิยมและติดเทรนด์ในสหรัฐฯ บางสำนักข่าวได้แสดงความสงสัยต่อการโพสต์ลักษณะนี้จากบัญชีทางการของทำเนียบขาว ซึ่งปกติจะเป็นการเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นทางการมากกว่า

สำนักข่าว NBC รายงานว่าโพสต์ดังกล่าวดูเหมือนจะเป็นสัญญาณที่ทรัมป์กำลังสร้างภาพลักษณ์ตัวเองในฐานะ “กษัตริย์” ซึ่งได้รับคำวิจารณ์อย่างกว้างขวางจากหลายฝ่าย บางคนมองว่าทรัมป์กำลังใช้อำนาจเกินกว่าที่รัฐธรรมนูญกำหนด แม้ว่าจะเป็นเพียงการเริ่มต้นของการกลับมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีอีกครั้ง

ด้านผู้ว่าการรัฐนิวยอร์ก เคธี ฮอเคิล ได้ออกมาคัดค้านโพสต์ดังกล่าว โดยระบุว่า "นิวยอร์กไม่มีผู้ปกครองในลักษณะนั้นมานานกว่า 250 ปี"

นอกจากนี้ ผู้ว่าการรัฐอื่น ๆ ก็ได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับการกระทำของทรัมป์ เช่น เจ.บี. พริตซ์เกอร์ ผู้ว่าการรัฐอิลลินอยส์ สังกัดเดโมแครต กล่าวว่า "ตามประวัติศาสตร์ของอเมริกา เราไม่มีกษัตริย์ และเราจะไม่ยอมคุกเข่าต่อทรัมป์หรือใครก็ตาม"

อย่างไรก็ตาม หลังทรัมป์โพสต์ดังกล่าว บรรดากลุ่มผู้สนับสนุนทรัมป์กลับให้การสนับสนุนโพสต์และคำพูดของเขาอย่างกว้างขวาง

ทรัมป์เผยแผนตั้ง 'External Revenue’ เก็บภาษีต่างชาติแทนเงินจากคนอเมริกัน

(21 ก.พ.68) ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เตรียมยกเลิกกรมสรรพากรของสหรัฐฯ (IRS) และมีแผนจัดตั้ง External Revenue Service (ERS) ซึ่งจะมุ่งเน้นการจัดเก็บรายได้จากภาษีศุลกากรและธุรกรรมจากต่างประเทศ แทนการเก็บภาษีจากประชาชนและธุรกิจภายในประเทศ

โฮเวิร์ด ลัทนิค (Howard Lutnick) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์คนใหม่ของทรัมป์ เปิดเผยกับ Fox News ว่า “เป้าหมายของทรัมป์คือการยกเลิก IRS และให้คนนอกเป็นผู้จ่ายภาษีแทน”

รัฐบาลทรัมป์ต้องการให้ ERS ดูแลการจัดเก็บภาษีศุลกากรและกำจัดช่องโหว่ทางภาษี โดยทรัมป์ให้คำมั่นว่าจะสามารถสร้างรายได้ 1 ล้านล้านดอลลาร์ จากมาตรการนี้ พร้อมทั้งมอบหมายให้ "DOGE Task Force" ของอีลอน มัสก์ ค้นหาการทุจริตและความสูญเปล่าในระบบเศรษฐกิจ ซึ่งคาดว่าจะสามารถเพิ่มรายได้อีก 1 ล้านล้านดอลลาร์

ทรัมป์เคยกล่าวถึงแนวคิดนี้ตั้งแต่ต้นปี 2024 แต่ไม่ได้ระบุชัดเจนว่า IRS จะถูกยกเลิกทั้งหมดหรือเพียงแค่ลดบทบาท

แม้ว่าทรัมป์จะกล่าวว่าภาษีศุลกากรเป็นรายได้จากต่างชาติ แต่นักเศรษฐศาสตร์เตือนว่าภาษีเหล่านี้มักถูกผลักภาระให้กับบริษัทและผู้บริโภคในสหรัฐฯ เอง 

ตามรายงานของ Axios หน่วยงานที่ดูแลการจัดเก็บภาษีศุลกากรในปัจจุบันคือกรมศุลกากรและป้องกันชายแดนสหรัฐฯ (CBP) ไม่ใช่ IRS ขณะที่ทรัมป์ยังคงยืนยันว่า "Tariff เป็นคำที่ไพเราะที่สุดในพจนานุกรมของผม"

ในเดือนกุมภาพันธ์ 2024 ทรัมป์เสนอให้เก็บภาษีศุลกากร 25% สำหรับสินค้านำเข้าทั้งหมดจากเม็กซิโกและแคนาดา และ 10% สำหรับสินค้าจากจีน อย่างไรก็ตาม เขายอมระงับมาตรการกับเม็กซิโกและแคนาดาชั่วคราวเพื่อลดแรงกดดันทางเศรษฐกิจ นักเศรษฐศาสตร์เตือนว่าหากมาตรการดังกล่าวมีผลบังคับใช้ อาจทำให้ต้นทุนสินค้าสูงขึ้นถึง 272,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี และก่อให้เกิดภาวะเงินเฟ้อ

ทรัมป์ยังเสนอให้ ERS ดูแลภาษีจาก เรือสำราญต่างชาติ เรือบรรทุกน้ำมัน และผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จากต่างประเทศ ซึ่งก่อนหน้านี้ไม่ต้องเสียภาษีในสหรัฐฯ โดยลัทนิคยืนยันว่า 'ภาษีเหล่านี้จะถูกเก็บภายใต้รัฐบาลทรัมป์'

ในขณะที่ทรัมป์ผลักดัน ERS เขายังเคยกล่าวถึงแนวคิดการยกเลิกภาษีเงินได้ ซึ่งอาจทำให้ IRS หมดบทบาท อย่างไรก็ตาม IRS ยังเป็นผู้จัดเก็บภาษีเงินเดือน ภาษีประกันสังคม และภาษีมรดก ซึ่งเป็นแหล่งรายได้สำคัญของรัฐบาล

แม้ว่าทรัมป์จะมุ่งเปลี่ยนแปลงระบบภาษีให้พึ่งพารายได้จากภายนอก แต่ในทางปฏิบัติ ภาษีศุลกากรยังคงเป็นภาระของภาคเอกชนและประชาชนสหรัฐฯ การปฏิรูปครั้งนี้อาจเผชิญแรงต้านจากภาคธุรกิจและนักเศรษฐศาสตร์ที่มองว่าเป็นนโยบายที่เสี่ยงต่อเศรษฐกิจของประเทศ

เซเลนสกีตกบัลลังก์ลูกรักสหรัฐฯ หมดสิทธิ์อ้อนวอชิงตัน หลังพ้นยุคไบเดน

(21 ก.พ.68) เพียงหนึ่งเดือนหลังจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กลับสู่ทำเนียบขาว ท่าทีของเขาที่มีต่อโวโลดีมีร์ เซเลนสกี ผู้นำยูเครน กลับแตกต่างจากอดีตประธานาธิบดีโจ ไบเดน อย่างสิ้นเชิง

หากย้อนไปในยุคของโจ ไบเดน เขามักหยอดคำหวานซึ่งกันและกันหลายครั้ง โดยเมื่อปลายปี 2022 ไบเดนเคยกล่าวกับเซเลนสกีว่า "เป็นเกียรติที่ได้ยืนเคียงข้างคุณ" พร้อมยกย่องเขาว่าเป็น 'บุคคลแห่งปี'

ขณะที่ในปี 2023 ไบเดนกล่าวสุนทรพจน์ที่กรุงวอร์ซออย่างดุดันราวกับฉากในภาพยนตร์ฮอลลีวูด โดยกล่าวว่าเซเลนสกีเป็น "บุรุษผู้มีความกล้าหาญที่ถูกหล่อหลอมจากไฟและเหล็กกล้า" และเป็นผู้นำของ "รัฐบาลที่ได้รับเลือกตามระบอบประชาธิปไตยและเป็นตัวแทนของประชาชนยูเครน"

เจ้าหน้าที่ระดับสูงของไบเดนต่างยกย่องเซเลนสกีอย่างต่อเนื่อง อาทิ แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ ที่ยกให้เซเลนสกีเป็นผู้นำที่มี "ความกล้าหาญและความสำเร็จอย่างไม่ธรรมดา" ขณะที่ลอยด์ ออสติน รัฐมนตรีกลาโหม กล่าวในปี 2023 ว่า "การต่อสู้เพื่ออิสรภาพของยูเครนเป็นหนึ่งในภารกิจที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในยุคของเรา"

นอกจากคำชมแล้ว รัฐบาลไบเดนยังให้คำมั่นว่าจะสนับสนุนยูเครนอย่างไม่ลดละ โดยในเดือนมิถุนายน 2024 ไบเดนกล่าวว่า "เราจะยืนเคียงข้างยูเครนจนกว่าพวกเขาจะได้รับชัยชนะ"

ถึงขนาดที่บลิงเคนเคยไปเยือนสถานีรถไฟใต้ดินในเคียฟเมื่อเดือนพฤษภาคม 2024 และเล่นเพลง Rockin' in the Free World ของนีล ยัง พร้อมประกาศว่า "เราจะอยู่เคียงข้างคุณ และจะยืนหยัดจนกว่ายูเครนจะมีความมั่นคงและอธิปไตยที่ได้รับการรับรอง"

ตรงข้ามกับแนวทางของโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งเขามักโพสต์ลง Truth Social กล่าวหาว่าเซเลนสกีติดอยู่ใน 'วงจรข้อมูลเท็จ' ของรัสเซีย "ลองคิดดูให้ดี นักแสดงตลกที่พอไปวัดไปวาได้อย่างเซเลนสกี สามารถโน้มน้าวให้สหรัฐใช้เงินกว่า 350,000 ล้านดอลลาร์ เพื่อเข้าสู่สงครามที่ไม่มีวันชนะ สงครามที่ไม่ควรเกิดขึ้นแต่แรก" 

"แถมเซเลนสกียังยอมรับเองว่า เงินครึ่งหนึ่งที่เราส่งไปให้ ‘หายไป’ เขาปฏิเสธที่จะจัดการเลือกตั้ง คะแนนนิยมในยูเครนต่ำเตี้ย และสิ่งเดียวที่เขาทำได้ดีคือหลอกใช้ไบเดนได้อย่างแยบยล" ทรัมป์ระบุ 

"เผด็จการที่ไม่มีการเลือกตั้ง เซเลนสกีควรรีบจัดการตัวเองก่อนที่เขาจะไม่มีประเทศเหลือให้ปกครองอีกต่อไป" ทรัมป์เตือน

ก่อนหน้านี้ ทรัมป์เคยประชดประชันเซเลนสกีในช่วงหาเสียงเลือกตั้งปี 2024 ว่า "เป็นนักขายที่เก่งที่สุดในบรรดานักการเมือง" แต่ครั้งนี้ภายหลังทรัมป์กลับเข้ามาดำรงตำแหน่งผู้นำสหรัฐฯ อีกสมัย เขากล่าวหาเซเลนสกีอย่างตรงไปตรงมาว่าเป็นนักต้มตุ๋นและจอมเผด็จการ

ทรัมป์ยังส่งสัญญาณถึงแนวทางใหม่ของรัฐบาลสหรัฐที่มีต่อยูเครน โดยเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ เขายืนยันว่าเซเลนสกีจะไม่ได้เข้าร่วมการประชุมระหว่างสหรัฐและรัสเซียที่กรุงริยาด ประเทศซาอุดิอาระเบีย และกล่าวว่า "ผมไม่คิดว่ามันเป็นเรื่องจริงจัง" ที่ยูเครนจะเข้าร่วม NATO ซึ่งเป็นจุดยืนที่รัสเซียถือเป็นเส้นตายมาโดยตลอด

ก่อนหน้านั้นเพียงสองวัน ทรัมป์ได้เสนอข้อตกลงให้ยูเครน โดยระบุว่าสหรัฐอาจให้ความช่วยเหลือหากยูเครนมอบทรัพยากรแร่หายากมูลค่า 500,000 ล้านดอลลาร์เป็นการแลกเปลี่ยน ซึ่งแน่นอนว่าเซเลนสกีปฏิเสธข้อเสนอดังกล่าว

จากที่เคยได้รับการเชิดชูในยุคไบเดน เซเลนสกีกลับต้องเผชิญกับแรงกดดันจากผู้นำสหรัฐคนใหม่ที่มองว่าเขาเป็นภาระและอุปสรรคของนโยบายใหม่ของอเมริกา ขณะที่ความช่วยเหลือจากวอชิงตันก็เริ่มไม่แน่นอนเช่นกัน

ในช่วงเวลาที่ยูเครนกำลังต้องการความช่วยเหลือจากพันธมิตรอย่างยิ่ง คำถามสำคัญคือ เซเลนสกีจะสามารถรักษาความสัมพันธ์กับสหรัฐได้หรือไม่ ท่ามกลางบรรยากาศทางการเมืองที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง

ทรัมป์ โบ้ย 'อียู' เอาเปรียบสหรัฐฯ มานาน ต้องเจอกำแพงภาษี 25% อียูเตือนพร้อมโต้กลับ

(27 ก.พ.68) ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศระหว่างการประชุมคณะรัฐมนตรีว่า สหภาพยุโรป (อียู) เป็นองค์กรที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อ 'เอารัดเอาเปรียบ' สหรัฐ พร้อมย้ำว่าถึงเวลาแล้วที่ต้องแก้ไขความเสียเปรียบที่เกิดขึ้นกับอเมริกา โดยหนึ่งในมาตรการหลักคือการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากอียูในอัตรา 25% ซึ่งรวมถึงภาษีนำเข้ารถยนต์ โดยรายละเอียดเพิ่มเติมจะมีการประกาศในภายหลัง

ด้านคณะกรรมาธิการยุโรป (อีซี) ซึ่งเป็นฝ่ายบริหารของอียู ออกแถลงการณ์โต้ว่า อียูเป็นตลาดการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลก และเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจสหรัฐมาโดยตลอด อย่างไรก็ตาม อียูพร้อมใช้มาตรการตอบโต้ทันที หากสหรัฐดำเนินนโยบายภาษีที่ไม่เป็นธรรม เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของผู้ผลิตและผู้บริโภคในยุโรป

ข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์สหรัฐเผยว่า สหรัฐขาดดุลการค้ากับอียูสูงถึง 235,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 7.94 ล้านล้านบาท) ในปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้ทรัมป์ผลักดันมาตรการดังกล่าว

ผู้นำสหรัฐย้ำว่า วอชิงตันจำเป็นต้องเร่งแก้ไขความไม่สมดุลทางการค้า โดยกล่าวหาว่าอียูยังไม่นำเข้าสินค้าสหรัฐในระดับที่เพียงพอ โดยเฉพาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ หากสถานการณ์ยังไม่เปลี่ยนแปลง สหรัฐอาจจำเป็นต้องใช้มาตรการภาษีที่เข้มงวดขึ้นเพื่อกดดันอียูให้เปิดตลาดมากขึ้น

สหรัฐประณามไทยส่ง 40 อุยกูร์กลับจีน แต่ตัวเองก็ไล่ตะเพิดผู้อพยพไม่ต่างกัน

(28 ก.พ. 68) กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ออกแถลงการณ์แสดงความไม่พอใจต่อการที่รัฐบาลไทยส่งตัวผู้ลี้ภัยชาวอุยกูร์อย่างน้อย 40 คนกลับไปยังจีนเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

มาร์โก รูบิโอ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ระบุว่า การดำเนินการดังกล่าวทำให้ชาวอุยกูร์ต้องกลับไปเผชิญสถานการณ์ที่เสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยไม่มีหลักประกันในการได้รับกระบวนการทางกฎหมายที่เหมาะสม พร้อมย้ำว่ากลุ่มชาติพันธุ์นี้เคยถูกกดขี่ ข่มเหง บังคับใช้แรงงาน และทรมานภายใต้การปกครองของจีน

“ในฐานะพันธมิตรที่ยาวนานของไทย เรารู้สึกตกใจกับเหตุการณ์นี้ ซึ่งอาจขัดแย้งกับพันธกรณีของไทยตามอนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมาน รวมถึงข้อตกลงระหว่างประเทศเกี่ยวกับการคุ้มครองบุคคลจากการบังคับให้หายสาบสูญ” แถลงการณ์ระบุ

นอกจากนี้ สหรัฐฯ ยังชี้ว่า การส่งตัวชาวอุยกูร์กลับจีนขัดกับแนวทางดั้งเดิมของไทยที่ให้ความช่วยเหลือและคุ้มครองกลุ่มผู้ลี้ภัยที่อยู่ในภาวะเปราะบาง ทั้งยังเรียกร้องให้รัฐบาลไทย และประเทศอื่น ๆ ที่มีชาวอุยกูร์ลี้ภัยอยู่ หลีกเลี่ยงการส่งพวกเขากลับไปยังจีน

สหรัฐฯ ย้ำข้อกล่าวหาต่อจีนว่า ทางการปักกิ่งภายใต้การนำของพรรคคอมมิวนิสต์จีนมีพฤติกรรมละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อชาวอุยกูร์และชนกลุ่มน้อยอื่น ๆ ในซินเจียง พร้อมเรียกร้องให้มีการติดตามตรวจสอบอย่างเข้มงวดเกี่ยวกับสวัสดิภาพของผู้ที่ถูกส่งตัวกลับ และให้รัฐบาลไทยแสดงความชัดเจนในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของชาวอุยกูร์ที่ได้รับผลกระทบจากกรณีนี้

อย่างไรก็ตาม ในขณะที่สหรัฐอเมริกาออกแถลงการณ์ประณามการกระทำของไทย แต่เป็นที่น่าสังเกตว่านโยบายต่อต้านผู้อพยพเข้าเมืองผิดกฎหมายของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ก็ขัดแย้งต่อหลักสิทธิมนุษยชนเช่นกัน 

ทรัมป์ใช้ AI สร้างภาพ 'กาซาในฝัน' เมืองตากอากาศหรูภายใต้อิทธิพลอเมริกา

(28 ก.พ. 68) ทีมงานของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้เผยแพร่คลิปวิดีโอที่ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) สร้างภาพอนาคตของฉนวนกาซา ตามแนวคิดของทรัมป์ที่ต้องการเปลี่ยนพื้นที่ขัดแย้งแห่งนี้ให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวสุดหรูริมทะเล  

ในวิดีโอ 'กาซาในฝัน' ฉนวนกาซาปรากฏเป็นเมืองตากอากาศที่เต็มไปด้วยรีสอร์ตหรู ตึกระฟ้า และชายหาดสวยงาม พร้อมด้วยรูปปั้นขนาดใหญ่ของทรัมป์ตั้งตระหง่านอยู่กลางเมือง ภาพยังแสดงให้เห็นอีลอน มัสก์ มหาเศรษฐีอันดับหนึ่งของโลก ซึ่งเป็นพันธมิตรใกล้ชิดของทรัมป์ โปรยธนบัตรไปทั่ว เพื่อสื่อถึงโอกาสทางเศรษฐกิจของฉนวนกาซาในอนาคต  

หนึ่งในภาพที่อาจสร้างความไม่พอใจให้กับชาวปาเลสไตน์ คือภาพของทรัมป์นอนอาบแดดข้างนายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู ของอิสราเอล ซึ่งสะท้อนถึงความสัมพันธ์แน่นแฟ้นระหว่างทั้งสองผู้นำ  

อย่างไรก็ตาม ชาวปาเลสไตน์ที่ได้รับชมคลิปต่างแสดงความคิดเห็นว่า ฉนวนกาซาสามารถพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวได้โดยไม่จำเป็นต้องขับไล่ชาวปาเลสไตน์ออกจากบ้านเกิดของตน ตามที่ทรัมป์เคยเสนอให้พวกเขาย้ายไปอยู่ในอียิปต์หรือจอร์แดน พวกเขายังมองว่า แม้ฉนวนกาซาในฝันของทรัมป์จะดูหรูหราและทันสมัยคล้ายกับนครดูไบ แต่การพัฒนาเช่นนี้ควรเกิดขึ้นโดยที่ประชากรเจ้าของพื้นที่ยังคงมีสิทธิ์อาศัยอยู่ในดินแดนของตนเอง

‘ทรัมป์’ สั่งเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนเพิ่ม จาก 10% เป็น 20% อ้างจีนไม่แก้ปัญหาเรื่องลักลอบขนยาเสพติดเข้าสหรัฐฯ

(4 มี.ค. 68) โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ ลงนามคำสั่งเก็บภาษีนำเข้าจากจีนเพิ่ม 2 เท่า จาก 10 % เมื่อ 4 กุมภาพันธ์ เป็น  20 % ซึ่งจะมีผลในวันที่ 4 มีนาคม 2568 (ตามเวลาท้องถิ่น) 

การเรียกเก็บภาษีนำเข้าจากจีนเพิ่มในครั้งนี้ เนื่องจากจีนล้มเหลวในการดำเนินการแก้ไขปัญหาการหลั่งไหลของเฟนทานิล ซึ่งเป็นสารตั้งต้นยาเสพติดเข้าประเทศสหรัฐฯ

โดยทาง กระทรวงพาณิชย์ของจีน ได้ออกมาตอบโต้เช่นเดียวกัน โดยมีการระบุว่า “ไร้ซึ่งเหตุผล และเป็นการสร้างความเสียหายต่อผู้อื่น”

เมื่อวันจันทร์ (3 มี.ค.) Global Times รายงานโดยอ้างแหล่งข่าวที่ไม่เปิดเผยชื่อ ระบุว่า จีนกำลังศึกษาและกำหนดมาตรการตอบโต้ โดยมีแนวโน้มขึ้นภาษีผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรและอาหารของสหรัฐฯ

ด้านนักวิเคราะห์รายหนึ่ง กล่าวว่า ทางปักกิ่งยังคงหวังที่จะเจรจาสงบศึกกับรัฐบาลทรัมป์ แต่เนื่องจากไม่มีสัญญาณของการเจรจาการค้าใดๆ โอกาสที่ทั้งสองยักษ์ใหญ่ทางเศรษฐกิจจะปรองดองกันก็เริ่มริบหรี่ลง 

“สงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ แต่การตัดสินใจของทรัมป์ในการเรียกเก็บภาษีในขณะนี้ถือเป็นการตัดสินใจที่ผิดพลาด” หวัง ตง ผู้อำนวยการบริหารสถาบันความร่วมมือและความเข้าใจระดับโลกแห่งมหาวิทยาลัยปักกิ่ง กล่าว

ทั้งนี้ สื่อของรัฐบาลจีน รายงานว่า เจ้าหน้าที่ระดับสูงของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ได้ประชุมกันในวันเดียวกัน และให้คำมั่นว่าจะดำเนินการเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดแรงกระแทกจากภายนอกต่อเศรษฐกิจจีน

วอร์เรน บัฟเฟตต์ ส่ายหัวนโยบายขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าของทรัมป์ ชี้สุดท้ายแล้วผู้บริโภคต่างหากที่เป็นผู้แบกรับภาษีเหล่านี้

(4 มี.ค. 68) สำนักข่าวเอ็นบีซี รายงานว่า วอร์เรน บัฟเฟตต์ (Warren Buffett) หนึ่งในนักลงทุนที่มีชื่อเสียงที่สุดในโลก ให้สัมภาษณ์กับ CBS News เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา โดยระบุถึงกรณีที่ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ ได้ใช้มาตรการเก็บภาษีศุลกากรเป็นเครื่องมือต่อรองกับหลายประเทศ

บัฟเฟตต์ ในวัย 94 ปี ระบุว่า “จริงๆ แล้วภาษีศุลกากรนั้น เรามีประสบการณ์กับเรื่องนี้มามากมาย มันเป็นการกระทำที่เปรียบดั่งสงครามในระดับหนึ่ง, เมื่อเวลาผ่านไป ภาษีเหล่านั้นก็คือภาษีสินค้านั่นแหละ ในที่สุดแล้วผู้บริโภคต่างหากที่เป็นผู้แบกรับภาระภาษีนำเข้าเหล่านี้ ไม่ใช่เทวดานางฟ้าที่ไหน”

เอ็นบีซี รายงานอีกว่า นี่นับเป็นครั้งแรกที่ บัฟเฟตต์ ออกมาแสดงความเห็นต่อสาธารณะเกี่ยวกับนโยบายการค้าของทรัมป์ ซึ่งล่าสุดมีการประกาศเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากเม็กซิโกและแคนาดาในอัตรา 25% และเพิ่มภาษีอีก 10% สำหรับสินค้านำเข้าจากจีน โดยจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 4 มี.ค.นี้

ทั้งนี้ วอร์เรน บัฟเฟตต์ เชื่อว่าการเก็บภาษีจาก บริษัท ขนาดใหญ่และบุคคลที่ร่ำรวยจะลดภาระภาษีที่ชาวอเมริกันที่ต้องเผชิญ รวมถึงการปรับสมดุลระบบภาษีจะช่วยให้สหรัฐฯจัดการการขาดดุลทางการเงินที่เพิ่มขึ้นและให้เงินทุนเพียงพอสำหรับการบริการสาธารณะและโครงสร้างพื้นฐาน

มันจบแล้วกี้ บทเรียนของ ‘ขี้ข้า’ ประเทศมหาอำนาจ หลัง ‘เซเลนสกี’ ถูกถีบออกมาจาก ‘ห้องทำงานรูปไข่’

เป็นมีมไปทั่วโลกหลังที่ประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา โดนัลด์ ทรัมป์ เรียกประธานาธิบดีของยูเครน โวโลดีมีร์ เซเลนสกีไปหารือแต่สุดท้ายกลายเป็นภาพที่เซเลนสกีถูกถีบออกมาจากห้องทำงานรูปไข่ นั่นทำให้ประเทศอื่นๆที่ยืนเคียงข้างยูเครนอย่างยุโรปสั่นคลอน เพราะหากมองกลับไปถึงจุดเริ่มต้นของสงครามคือการที่ยูเครนต้องการจะเข้านาโต้ โดยการสนับสนุนจากชาติสมาชิกนาโต้โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาภายใต้การนำของประธานาธิบดี โจ ไบเดน ในเวลานั้น

ย้อนกลับไปในการประชุมสุดยอดผู้นำองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ หรือ NATO (North Atlantic Treaty Organization) ประจำปี 2024 ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ 9-11กรกฎาคมที่ผ่านมา มีการประกาศถึงกร้าวในที่ประชุม NATO ระบุข้อความชัดเจนในปฏิญญาวอชิงตันว่า “พันธมิตร NATO จะยับยั้งและป้องกันภัยคุกคามทางอากาศและขีปนาวุธทั้งหมดด้วยการปรับปรุงการป้องกันทางอากาศและขีปนาวุธแบบผสมผสาน” และยืนยันว่า “NATO ยังคงมุ่งมั่นที่จะดำเนินการตามขั้นตอนที่จำเป็นทั้งหมด เพื่อรับประกันความน่าเชื่อถือ ความมีประสิทธิผล ความปลอดภัย และความมั่นคงของภารกิจป้องปรามด้วยนิวเคลียร์” โดยขณะนั้นพี่ใหญ่ของนาโต้คือ สหรัฐอเมริกา นั่นเอง

คำถามคือเวลาเปลี่ยน คนเปลี่ยน นโยบายระดับชาติเปลี่ยนได้หรือ….?

ต้องยอมรับข้อหนึ่งว่าชาติสมาชิกนาโต้ในยุโรปต้องไขว้เขวเมื่อประธานาธิบดีทรัมป์ขึ้นมาและประกาศกร้าวว่าจะเป็นคนกลางเพื่อจบปัญหาสงครามยูเครน จุดนี้นี่แหละที่ทำให้การสนทนา 10 นาทีสุดท้ายเปลี่ยนความสัมพันธ์ระหว่างยูเครนและสหรัฐจาก ดีล เป็น โดดเดี่ยว  หากมองว่ามาถึงวันนี้ที่ยูเครนเข้าประเทศชาติ และพลเรือนมาเป็นตัวแปรในขณะที่สหรัฐอเมริกาไม่ได้รับผลกระทบอะไรเลย แถมยังมาขอเรียกร้องค่าใช้จ่ายที่วันนั้นสัญญาว่าจะให้เองตามที่ปรากฏในหน้าสื่อ ทำให้เซเลนสกี ถึงเลือกที่จะพูดว่าก็ใช่ไงสงครามมันไม่ได้เกิดที่หน้าบ้านคุณนี่ และคำนี้นี่แหละที่ทำให้โดนัลด์ ทรัมป์สติหลุด

นับตั้งแต่เหตุการณ์ที่อ่าวเพิร์ล ฮาร์เบอร์มา อเมริกาก็ซ่อนตัวอยู่หลังสงครามมาตลอด แม้ฝ่ายตนจะบอบช้ำจากการทำสงครามแต่หากเทียบกับคนในประเทศที่อเมริกาไปทำสงครามนั้น เทียบความสูญเสียกันไม่ได้เลยแถมการทำสงครามที่ผ่านมาหลายครั้งอเมริกาเลือกจะใช้วิธีการใช้ตัวแทนในการทำสงครามไม่ว่าจะในยูเครน ตะวันออกกลางหรือแม้กระทั่งใกล้บ้านเราอย่างผู้ก่อการร้ายทางภาคใต้หรือข้างบ้านเราอย่างสงครามระหว่างกองทัพกะเหรี่ยงและกองทัพเมียนมา  หลายครั้งจะเห็นได้ว่าการที่ฝ่ายต่อต้านมีอาวุธที่ทันสมัยขนาดกองทัพเมียนมายังไม่มีนั่นคงไม่ใช่ว่าอยู่ดีๆกองกำลังเหล่านี้จะสามารถผลิตมันขึ้นมาเองได้หากไม่ได้มีเงินทุนจัดหาและสนับนุน

จากที่มีรายการรายงานเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมาว่า มีการตรวจพบหลักฐานสำคัญที่ชี้ให้เห็นว่ากลุ่ม NGO สัญชาติอเมริกันและ USAIDS ให้การสนับสนุนทั้งด้านเงินทุนและยุทโธปกรณ์ให้กับเครือข่ายกบฏในพื้นที่ โดยหลักฐานที่พบประกอบด้วยเอกสารการโอนเงิน จากเครือข่าย NGO และ USAIDS ไปยังบุคคลที่มีความเชื่อมโยงกับกลุ่มกบฏ  อาวุธและอุปกรณ์สื่อสาร บางส่วนที่ตรวจพบมีเครื่องหมายของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับ NGO ต่างชาติ  รวมถึงข้อมูลปฏิบัติการลับ ที่บ่งชี้ว่าเงินทุนที่ได้รับจากองค์กรเหล่านี้ ถูกนำไปใช้เพื่อสนับสนุนกิจกรรมที่เป็นภัยต่อความมั่นคงของไทย  นั่นเป็นหลักฐานชั้นดีที่แสดงให้เห็นว่าองค์กรเหล่านี้เคลื่อนไหวภายใต้คำสั่งลับของสหรัฐฯนั่นเอง  เช่นกันในฝั่งเมียนมาก็มีรายงานว่าองค์กร NGO อย่าง Free Burma Ranger ก็เป็นหนึ่งในองค์กรที่รับเงินทุนจาก NGO เหล่านี้ด้วยเช่นกันในการสนับสนุนสงครามให้แก่กองกำลังกะเหรี่ยงที่ทำสงครามกับกองทัพเมียนมาในช่วงเวลาที่ผ่านมา

ทรัมป์มองออกว่าการที่เขาจ่ายเงินไปในสงครามแบบนี้มันคือการจ่ายเงินไปให้คนอื่นใช้แต่ผลที่ได้ในแต่ละที่ไม่ได้เกิดประโยชน์กับสหรัฐฯอย่างเป็นรูปธรรมเลย หากสหรัฐฯจะมองใหม่ว่าเข้าไปขอคืนดีกับผู้นำกองทัพเมียนมาและช่วยเมียนมาแก้ปัญหาภายในประเทศนั่นอาจจะทำให้เมียนมามีทางเลือกที่จะไม่ไปคบค้ากับจีนและรัสเซียมากไปกว่านี้  ซึ่งน่าจะเป็นการหยุดการแผ่ขยายอำนาจของจีนและรัสเซียในภูมิภาคนี้ได้ด้วย

สุดท้ายเอย่าก็หวังแค่ว่ากลุ่มกองกำลังทั้งหลายคงได้ตระหนักถึงสิ่งที่สหรัฐฯ กระทำกับยูเครน  หากกองกำลังเหล่านั้นคิดแค่เพียงว่า “สู้แล้วรวย” คนซวยคือชาวบ้านที่เป็นกองเชียร์ต่อไป แต่หากคิดได้ว่าที่เขาให้มาไม่มีอะไรฟรี  หากคิดถึงคนของตัวเองในวันที่สหรัฐฯจะมาขอค่าอาวุธคืนโดยจ่ายเป็นทรัพยากรที่คุณมี  คุณจะยอมไหม  อย่างน้อยวันนี้กี้ก็เห็นธาตุแท้ของอเมริกาแล้ว


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top