Monday, 19 May 2025
โดนัลด์ทรัมป์

ฝ่าทฤษฎีสมคบคิด 'กระสุนปลิดชีพ' หรือ 'หวังแค่เฉี่ยว' เมื่อคนแบบ 'ทรัมป์' กล้าบ้าดีเดือด อาจโลภอำนาจจนมัวเมา

(14 ก.ค.67) เพจ 'เดือดทะลักจุดแตก' โพสต์ข้อความวิเคราะห์มูลเหตุและความเป็นไปได้เกี่ยวกับการลอบยิง โดนัลด์ ทรัมป์ ไว้ว่า...

เช้านี้ ได้คุยกับอาจารย์ภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) ของผม...

1. ผมสงสัย คนร้ายมันขึ้นไปซุ่มยิงบนหลังคาได้ยังไง

ก็รู้ทั้งรู้ ว่าจะมีจัดปราศรัยใหญ่ คนตั้ง 1.5 หมื่น 

ปกติในหนังฝรั่ง มันต้อง 'เคลียร์' พื้นที่ ไม่ให้ใครขึ้นไปอยู่ที่สูงๆ ได้

อาจารย์ผมบอกว่า ของงี้ไม่แน่ มันซ่อนอยู่ในบ้านก่อนได้ (แต่ในหนังฝรั่งมันต้อง 'เคลียร์' บ้านด้วยนี่หว่า) แล้วจังหวะใกล้ๆ จะลงมือ ค่อยแอบขึ้นไป (แต่เดี๋ยวนี้มี 'โดรน' แล้วนี่หน่า มันจะน่าจะสอดส่องเกินจะเล็ดลอดได้)

2. อาจารย์ตั้งข้อสงสัย ทรัมป์ถูกยิง 'ช่วงหนึ่ง' แล้ว Secret Service (หน่วยสืบราชการลับ ซึ่งมีหน้าที่อารักขาระดับบิ๊กๆ) ถึงจะยิงโต้เป็นชุด มือปืนตายคาที่

อาจารย์แสดงทัศนะ ถ้ามองเป็น 'ทฤษฎีสมคบคิด' Conspiracy Theory (ในแง่ลบมากๆ) อาจคิดได้ว่าเจ้าหน้าที่ปล่อยให้มือปืนลงมือยิง 'เป้าหมาย' ก่อน แล้วค่อย 'ปิดปาก' มือสังหาร

คำว่า 'เป้าหมาย' นี่น่าสนใจ!!
มือปืนก็ถูกปลิดชีพไปแล้ว ไม่มีใครล่วงรู้ได้ว่า เป้าหมาย คือ หัว หรือ หู นั่นผมหมายความว่า ถ้าเป้าหมายคือหู เท่ากับมีทฤษฎีสมคบคิดอีกชั้น ว่า 'จัดฉาก'

3. อาจารย์ผมแย้งว่า 'จัดฉาก' เป็นไปได้ยากเกินไป

"มึงลองไปวางเป้าไว้บนหัว แล้วให้คนยิงธนูแม่นๆ มายิงมึงมั้ยล่ะ มึงกล้ารึเปล่า" อาจารย์ตอกผมกลับ

อาจารย์สำทับ "ต่อให้ยิงแม่นขนาดนั้นกูก็ไม่กล้า นี่หูเลยนะเว้ย พลาดไปนิดเดียว หัวเลย กูตายทันที ใครจะบ้าเอาชีวิตตัวเองไปเสี่ยงขนาดนั้น" (ทรัมป์กล้าบ้าดีเดือด? หรือไม่ก็โลภโมโทสันในอำนาจจนมัวเมา? ผมแค่คิดในใจ ไม่ได้ท้วงออกไป)

4. อย่างไรก็ตาม อาจารย์ชี้ว่ามีคลิปจาก 'บีบีซี' ที่สัมภาษณ์คนร่วมงานที่อยู่ด้านหลัง เขาบอกว่าเห็นคนร้ายปีนขึ้นหลังคาพร้อมปืนไรเฟิล และแจ้งเจ้าหน้าที่ไปแล้ว แต่ไม่มีการตอบสนอง

ซึ่งก็ไม่มีทางรู้ว่าเลินเล่อ (เพราะคนแจ้งไม่น่าเชื่อถือ? ประมาทไม่คิดว่าจริง?) หรือว่าเป็นทฤษฎีสมคบคิดที่กล่าวไว้ตอนต้น และถ้าสมคบคิด เป้าหมายคือ หัว หรือ หู (ซึ่งจะหมายถึง 'ผู้บงการ' ที่ต่างกัน)

ย้ำอีกครั้ง ไม่ว่าจะเชื่อทฤษฎีสมคบคิดไหน แต่กระสุนที่มือปืนยิงเข้าแถบบนของใบหู คือคลาด 'จุดตาย' ที่ศีรษะ (ขม่อมด้านขวา) ไปเฉียดฉิว 

5. ขณะนี้ มีการเรียกร้องเสียงขรม ให้ปลด ผอ. หน่วยสืบราชการลับ Secret Service

ผอ. เป็นผู้หญิง นามว่า 'คิมเบอร์ลี ชีเทิล' Kimberly Cheatle ซึ่งเคยทำงานให้ 'เป๊ปซี่' มาก่อน

'อัษฎางค์' มอง!! เหตุลอบยิงประธานาธิบดีสหรัฐฯ ไม่ใช่เรื่องใหม่ เปรียบเหมือนคำถามจากประชาชนที่สะท้อนผ่านกระสุนเสรีภาพ

(14 ก.ค.67) อัษฎางค์ ยมนาค นักประวัติศาสตร์ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก เผยถึงกรณีประธานาธิบดีสหรัฐ โดนลอบยิงไม่ใช่เรื่องใหม่ ระบุว่า..

การถูกลอบยิงนั้นไม่เกี่ยวกับการเป็นประเทศประชาธิปไตยหรือเป็นประเทศที่พัฒนาไปแล้วมากน้อยแค่ไหน  

เพราะประเทศอื่นๆ ที่เป็นประชาธิปไตยและเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ก็ไม่มีปัญหาซ้ำซากเหมือนสหรัฐอเมริกา

แต่มันคือเรื่องของ 'เสรีภาพ' ซึ่งสหรัฐอเมริกาใช้เป็น สโลแกน หรือ ภาพลักษณ์ของประเทศ

ซึ่งนี่ก็คือ ผลพวงของความเสรีภาพ อย่างไร้ขีดจำกัด

ประชาชนอเมริกันต้องเผชิญกับปัญหาสังคมและเศรษฐกิจในประเทศอย่างหนักและไม่ได้รับเหลียวแล ใยดี จากรัฐบาลเท่าที่ควรจะเป็น

เพราะรัฐบาลเอาแต่ไปยุ่งวุ่นวายกับปัญหากิจการระหว่างประเทศหรือไปแทรกแซงกิจการของประเทศอื่นๆ ทั่วโลก

รัฐบาลอเมริกันใช้ทั้งเงิน เวลาและทรัพยากรมนุษย์ไปกับเรื่องราวนอกบ้าน แต่ปัญหาในบ้าน รัฐบาลอเมริกันกลับปล่อยปละละเลย

พี่แดง ซึ่งอาศัยอยู่สหรัฐอเมริกา คนที่ผมเคยเอามาเล่าให้ฟังว่า ลูกชายทำกิจการร้านอาหารไทยในอเมริกาจนได้รางวัล เล่าให้ผมฟังว่า...

"ร้านค้าข้างร้านของเราโดนทุบกระจกเข้าไปขโมยทรัพย์สิน และเงินที่ดันเก็บไว้ในร้าน $5,000"

"อเมริกาตอนนี้ไม่เหมือนเมื่อก่อน ต้องอยู่อย่างระแวดระวัง จะออกจากบ้านก็ต้องเช็ก ต้องกดปุ่ม สารพัด"

"รถยนต์ จอดก็ต้องมีกล้องมองติดรถ รวมทั้งทั้งที่หน้าบ้าน และที่ร้านค้าก็ต้องติดกล้อง และเฝ้าระวัง"

“ถ้ามาเห็นในดาวน์ทาวน์แล้วจะหดหู่ใจมาก คนไม่กล้าไปเดินเพราะกลัวคนจรจัด และในที่สุดธุรกิจก็อยู่ไม่ได้"

"รัฐบาลมัวแต่ไปยุ่งเรื่องชาวบ้าน ไม่ดูแลบ้านเมือง ตำรวจเกียร์ว่าง มีกฎหมายบ้า ๆ เช่น ถ้าโจรกรรมไม่เกิน $900 ไม่มีความผิด"

"อเมริกาไม่ปลอดภัย บ้านหรือร้านค้าที่แอลเอ ต้องล็อคประตูสองสามชั้น ไม่ต้องพูดถึง นิวยอร์ก ซานฟรานซิสโก แอตแลนต้า และเมืองใหญ่อื่นๆ"

"แปลกใจกับกฎหมายและการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ ที่ปล่อยให้ประชาชนต้องช่วยเหลือตนเองกัน"

"ในดาวน์ทาวน์กลางใจเมือง กิจการร้านค้าที่ปิดตัวไปเยอะมาก และย่านอื่น ๆ ก็เช่นกัน มันเงียบน่าใจหาย สกปรกมาก เทศบาล ไม่ดูแล"

นี่แหละครับ สหรัฐอเมริกาในปัจจุบัน ให้เสรีภาพกับประชาชนอย่างล้นหลาม แล้วรัฐบาลก็ออกไปทำตัวเป็นผู้จัดระเบียบโลก แต่ลืมจัดระเบียบในประเทศของตนเอง

'อ.อุ๋ย-ปชป.' ชี้!! เหตุลอบยิง 'ทรัมป์' สะท้อนการเมืองแบบสุดขั้วของสหรัฐฯ ต่างจากการเมืองไทย คนไทยขัดแย้งทางแค่ไหน ก็ไม่ถึงขั้นสูญเสียรุนแรง

(14 ก.ค.67) จากกรณีเหตุลอบสังหาร โดนัลด์ ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดีสหรัฐ ฯ และผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ ฯ ปี 2024 ขณะกำลังปราศรัยหาเสียงที่มลรัฐเพนซิลเวเนีย นั้น นายประพฤติ ฉัตรประภาชัย หรือ 'อาจารย์อุ๋ย' นักวิชาการด้านกฎหมายและอดีตผู้สมัคร สส. กรุงเทพมหานคร เขตบางกะปิ พรรคประชาธิปัตย์ ได้แสดงความเห็นผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า...

ในสหรัฐอเมริกามีการลอบสังหารและพยายามลอบสังหารประธานาธิบดีและผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีนับสิบครั้ง หากนับตั้งแต่ที่ประธานาธิบดีอับบราฮัม ลินคอล์น ถูกยิงเข้าที่ท้ายทอยขณะชมละครในกรุงวอชิงตัน เมื่อ พ.ศ. 2408 โดยมือปืนเป็นนักแสดงชายที่เป็นผู้สนับสนุนสมาพันธรัฐฝ่ายใต้ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่อเมริกากำลังแตกแยกระหว่างสงครามกลางเมือง และที่น่าจะเป็นที่จดจำมากที่สุดก็คือการลอบสังหารประธานาธิบดี จอห์ เอฟ เคนเนดี เมื่อ พ.ศ. 2506 ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงสงครามเย็น และมีการปะทะทางความคิดอย่างรุนแรงระหว่างขั้วการเมือง    

สะท้อนให้เห็นความเป็นจริงของระบอบเสรีประชาธิปไตยแบบสหรัฐอเมริกา ที่พยายามจะทำตัวเป็น 'ต้นแบบ' ของโลกของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย แต่จริง ๆ แล้วกลับนิยมใช้ความรุนแรงเป็นทางออก ยังไม่นับเรื่องรัฐธรรมนูญที่เปิดเสรีในการครอบครองอาวุธปืน ซึ่งบางรัฐซื้อปืนง่ายเหมือนซื้อขนมกลับบ้าน 

นอกจากนี้การที่รัฐธรรมนูญและกฎหมายของสหรัฐฯ มอบอำนาจ 'ล้นฟ้า' ให้กับประธานาธิบดีในการชี้เป็นชี้ตายประเทศ เพราะถือว่าได้รับการเลือกตั้งมาจากประชาชนแล้ว แถมยังไปถึงขั้นที่อนุญาตให้ผู้ที่ต้องโทษคดีอาญาลงสมัครได้อีก เพราะถือว่าต้องให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสิน รวมทั้งการเอาประธานาธิบดีออกจากตำแหน่ง (Impeachment) ก็ต้องใช้เวลาและขั้นตอนมากมาย ก็ล้วนแล้วแต่เป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดการลอบสังหารขึ้นบ่อยเมื่อความขัดแย้งทางการเมืองพุ่งถึงขีดสุด เพราะถือว่า 'ตายแล้วจบ' และยังส่งผลรุนแรงในเชิงสัญลักษณ์ไปทั่วทั้งโลก 

ส่วนประเทศไทยนั้น มีสถาบันหลักคือ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และประชาชนคนไทยที่มีความสามัคคีกลมเกลียวกันเหมือนพี่น้อง มีวัฒนธรรมประเพณีอันดีงาม มีความโอบอ้อมอารีเป็นที่ตั้ง ทุกความขัดแย้งสามารถคลี่คลายด้วยคำว่า 'เป็นคนไทยด้วยกัน' ซึ่งจะเห็นได้ว่าความขัดแย้งทางการเมืองของประเทศไทย มีน้อยครั้งที่จะเกิดความสูญเสียรุนแรง หากเทียบกับในต่างประเทศ ทั้งในประเทศรอบข้างและประเทศตะวันตก    

"สุดท้ายนี้ผมหวังว่า ประเทศไทยและคนไทย จะไม่เดินตามสหรัฐอเมริกาที่ใช้การปลุกปั่นแบ่งแยกทางความคิดแบบสุดขั้ว จนนำไปสู่การใช้ความรุนแรงเป็นทางออก ไม่ว่าจะในรูปแบบใดก็ตาม ด้วยความปรารถนาดี" อ.อุ๋ย ฝากทิ้งท้าย

‘บีบีซี’ เผยข้อมูลสำคัญ มือปืนอยู่ห่าง ‘ทรัมป์’ ไม่ถึง 200 เมตร   ซุ่มยิง!! อยู่บบนหลังคา พร้อมอาวุธปืนไรเฟิลกึ่งอัตโนมัติ เออาร์-15

(14 ก.ค.67) ทีมข่าว บีบีซี วิเคราะห์ข้อมูลจากผู้เห็นเหตุการณ์พยายามลอบสังหาร นายโดนัลด์ ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ระหว่างหาเสียงในเมืองบัตเลอร์ รัฐเพนซิลเวเนีย เมื่อเวลาราว 18.15 น. ของวันเสาร์ที่ 13 ก.ค. ตามเวลาท้องถิ่น ว่า

เห็นชายคนหนึ่งถือปืนไรเฟิลจู่โจมอยู่บนหลังคาซึ่งห่างจากจุดที่นายทรัมป์ยืนบนเวทีไม่ถึง 200 เมตร เมื่อนำมาประกอบกับคลิปวิดีโอเหตุการณ์จากพยานและโพสต์บนโซเชียลมีเดีย รวมถึงคลิปสำคัญที่บันทึกได้จากทางทิศใต้ของโกดังแห่งหนึ่งที่แสดงให้เห็นภาพซึ่งดูเหมือนว่าจะเป็นศพมือปืน

เมื่อเปรียบเทียบรูปดังกล่าวบนเว็บไซต์กูเกิ้ลแมพและตำแหน่งของผู้เห็นเหตุการณ์ ทีมข่าวยืนยันว่ามือปืนอยู่บนอาคารหลังนี้ซึ่งต่อมาได้รับการยืนยันจากเจ้าหน้าที่แล้วว่าคนร้ายลอบยิงจากโกดัง

ท่ามกลางการตั้งข้อสงสัยถึงมาตรการรักษาความปลอดภัยเพราะอยู่ไม่ไกลจากเวทีปราศรัยหาเสียง นอกจากนี้สื่อท้องถิ่นของสหรัฐรายงานด้วยว่าคนร้ายใช้อาวุธปืนไรเฟิลกึ่งอัตโนมัติ เออาร์-15 (AR-15)

‘อีลอน มัสก์’ เผย!! เคยถูกลอบสังหารไม่ต่างจาก ‘ทรัมป์’  หลังเริ่มหนุนหลัง 'รีพับลิกัน' วิจารณ์ 'เดโมแครต'

(15 ก.ค.67) รายงานข่าวระบุว่า กระสุนปืนถูกยิงออกมาหลายนัด ระหว่างที่อดีตประธานาธิบดีกำลังปราศรัย ณ เวทีหาเสียง หนึ่งในนั้นพุ่งถากบริเวณใบหูขวาของทรัมป์ ในขณะที่ ทรัมป์ ถูกบรรดาเจ้าหน้าที่หน่วยสืบราชการลับอารักขาลงจากเวที อีกด้านหนึ่งปรากฏว่าเหตุลอบสังหารครั้งนี้ได้ทำให้ผู้ร่วมฟังการหาเสียงรายหนึ่งเสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บสาหัส 2 ราย ต่อมาพวกเจ้าหน้าที่รายงานว่ามือปืนซึ่งมีอายุ 20 ปี ถูกวิสามัญฆาตกรรมแล้ว หลังจากเขาก่อเหตุลอบสังหารมาจากดาดฟ้าของอาคารหลังหนึ่ง

จากเหตุดังกล่าว ‘อีลอน มัสก์’ ได้โพสต์บนแพลตฟอร์มเอ็กซ์ ระบุว่า “ช่วงเวลาแห่งอันตรายรออยู่เบื้องหน้า” พร้อมเขียนต่อว่า “บุคคล 2 ราย (คนละครั้ง) พยายามสังหารผมในช่วง 8 เดือนที่ผ่านมา พวกเขาถูกจับกุมพร้อมด้วยอาวุธปืน ห่างจากสำนักงานใหญ่ของเทสลาในเทกซัส ขับรถมาไม่ถึง 20 นาที”

คำกล่าวอ้างของ มัสก์ เป็นการเขียนตอบกลับผู้ใช้แพลตฟอร์มเอ็กซ์รายหนึ่ง ที่ขอให้อภิมหาเศรษฐีที่พูดจาขวานผ่าซากรายนี้ ยกระดับการปกป้องตนเอง 3 เท่า โดยบอกว่า “ถ้าพวกเขาสามารถทำกับทรัมป์ พวกเขาก็จะทำกับคุณด้วยเช่นกัน”

ก่อนหน้านี้ มัสก์ แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับความพยายามลอบสังหารตัวแทนพรรครีพับลิกันลงสู้ศึกชิงเก้าอี้ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในข้อความที่โพสต์ลงแพลตฟอร์มเอ็กซ์อีกอัน โดยเขียนว่า "ผมขอสนับสนุนรับรองประธานาธิบดีทรัมป์อย่างเต็มที่ และผมหวังว่าเขาจะฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว"

มหาเศรษฐีเจ้าของเทสลา มักออกมาวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลเดโมแคตในปัจจุบันซ้ำแล้วซ้ำเล่า ในนั้นรวมถึงย้อนกลับไปในเดือนพฤษภาคม 2022 ที่กล่าวอ้างว่าขุมกำลังทางการเมืองแห่งนี้ "กลายเป็นพรรคแห่งความแตกแยกและความเกลียดชัง ดังนั้นผมจึงไม่สามารถสนับสนุนพวกเขาได้อีกต่อไป และผมจะโหวตให้รีพับลิกัน"

ล่าสุด ในความเห็นที่มีต่อผลงานครั้งหายนะของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ในศึกประชันวิสัยทัศน์กับ โดนัลด์ ทรัมป์ เมื่อช่วงปลายเดือนมิถุนายน มัสก์บ่งชี้ในช่วงต้นเดือนว่า "ดูเหมือนสหรัฐฯ จะไม่มีประธานาธิบดีมาสักพักแล้ว"

ในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม มหาเศรษฐีรายนี้ประณามวินิจฉัยของคณะลูกขุนหนึ่งในแมนฮัตตัน ที่ตัดสินว่า ทรัมป์ มีความผิด 34 กระทง กรณีปลอมแปลงบันทึกทางธุรกิจเพื่อจ่ายเงินปิดปากดาราหนังผู้ใหญ่ไม่ให้แฉความสัมพันธ์ลับ

"ถ้าอดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ ถูกตัดสินว่ามีความผิดทางอาญาในประเด็นเล็กน้อยเช่นนี้ ที่มีแรงจูงใจทางการเมือง ไม่ใช่ความยุติธรรม เมื่อนั้นทุกคนก็เสี่ยงเผชิญชะตากรรมแบบเดียวกัน" มัสก์กล่าว

ขณะเดียวกัน หนังสือพิมพ์วอลล์สตรีท เจอร์นัลด์ อ้างแหล่งข่าวหลายราย รายงานว่า ทรัมป์ และ มัสก์ หล่อหลอมความสัมพันธ์แน่นแฟ้นในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา และเคยพูดคุยกันอย่างลับๆ เกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการเสนอชื่อ มัสก์ เป็นที่ปรึกษาทำเนียบขาว หากว่า ทรัมป์ คว้าชัยในศึกเลือกตั้งประธานาธิบดี ในเดือนพฤศจิกายน

แฉประวัติ!! มือปืนวัย 20 ปี ลอบยิง ‘โดนัลด์ ทรัมป์’ เฉียดตาย เป็นเด็กเรียนดี เคยสมัครเข้าทีมไรเฟิล แต่ไม่ผ่าน เพราะยิงไม่แม่น

(15 ก.ค.67) สำนักข่าวเอพีและบีบีซีรายงานว่า มีการเปิดเผยประวัติเพิ่มเติมเกี่ยวกับนายโทมัส แมทธิว ครุกส์ วัย 20 ปี มือปืนผู้ก่อเหตุลอบสังหารนายโดนัลด์ ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดีสหรัฐ จนได้รับบาดเจ็บเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคมที่ผ่านมา และครุกส์ถูกตำรวจวิสามัญ พบว่ามือก่อเหตุเป็นเด็กเรียนเก่งแต่ถูกบูลลี่ในขณะที่เรียนมัธยมศึกษา

นายโทมัส แมทธิว ครุกส์ เป็นชาวเมืองเบเธล พาร์ค รัฐเพนซิลเวเนีย ห่างจากจุดเกิดเหตุลอบสังหารเพียง 70 กิโลเมตร และจบการศึกษาจากโรงเรียนมัธยมศึกษาเบเธล พาร์ค ในปี 2022 และเคยได้รับรางวัลในวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์เป็นเงินรางวัล 500 ดอลลาร์สหรัฐ รวมถึงเคยทำงานในห้องครัวของบ้านพักคนชราที่อยู่ไม่ไกลจากบ้านของเขา

ด้าน นายเฟรเดริก มัค กัปตันของทีมไรเฟิลของโรงเรียนที่อายุน้อยกว่าครุกส์ไม่กี่ปีเล่าว่า ครุกส์เคยไปสมัครคัดตัวเข้าทีมไรเฟิล แต่ไม่ผ่านการคัดเลือกเพราะยิงไม่แม่น อย่างไรก็ตาม ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าจริง ๆ แล้วครุกส์มีนิสัยเป็นอย่างไร

ด้าน นายเจสัน โคห์เลอร์ ที่ศึกษาในโรงเรียนมัธยมเดียวกับของครุกส์แต่ไม่ได้เรียนด้วยกันเล่าว่า ครุกส์ถูกบูลลี่ในโรงเรียนและนั่งกินข้าวเที่ยงคนเดียว ส่วนเพื่อนร่วมโรงเรียนเดียวกันคนอื่น ๆ ก็เล่าเช่นกันว่า ครุกส์เป็นคนสันโดษและบางครั้งก็สวมชุดล่าสัตว์มาเรียน แต่ทาง ซัมเมอร์ บาร์คลีย์ อดีตเพื่อนร่วมชั้นเรียนเล่าว่า ครุกส์เป็นเด็กเรียนเก่งได้คะแนนดีในการสอบเป็นประจำ มีความสนใจเรื่องประวัติศาสตร์มาก และเป็นคนดี รวมถึงเป็นที่รักของครูในโรงเรียน

ด้าน เจมสัน เมเยอร์ อดีตสมาชิกทีมไรเฟิลของโรงเรียนเล่าว่า ครุกส์ดูเป็นเด็กผู้ชายธรรมดาทั่วไปที่ไม่ได้เป็นที่รู้จักในโรงเรียนแต่ไม่เคยโดนเพื่อนแกล้งอะไร ครุกส์เป็นเด็กดีที่ไม่เคยพูดให้ร้ายใครและเขาไม่คิดว่าครุกส์จะเป็นคนก่อเหตุลอบสังหารได้

สำนักงานสอบสวนกลางของสหรัฐอเมริกา (เอฟบีไอ) ระบุว่า ครุกส์มีอุปกรณ์ผลิตวัตถุระเบิดอยู่ในรถยนต์ที่เขาขับไปก่อเหตุ และเชื่อว่าครุกส์ลงมือก่อเหตุดังกล่าวเพียงคนเดียว

นอกจากนี้ สื่อสหรัฐรายงานอีกว่า ครุกส์ลงทะเบียนว่าเป็นรีพับลิกัน แต่ในปี 2021 ครุกส์เคยบริจาคเงิน 15 ดอลลาร์สหรัฐให้แก่ ActBlue หน่วยงานดำเนินการทางการเมือง ที่คอยระดมเงินให้แก่นักการเมืองฝ่ายซ้ายและพรรคเดโมแครต ซึ่งเงินบริจาคดังกล่าวจะถูกส่งไปให้แก่กลุ่ม Progressive Turnout Project ที่คอยหาเสียงให้แก่พรรคเดโมแครต รวมถึงเป็นสมาชิกของ Clairton Sportsmen’s Club ชมรมยิงปืนแถวบ้านมาเป็นเวลาอย่างน้อย 1 ปี

เจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายเชื่อว่าปืนไรเฟิลกึ่งอัตโนมัติ AR-15 ที่ใช้ก่อเหตุลอบสังหารโดนัลด์ ทรัมป์เป็นปืนของพ่อครุกส์ที่ซื้อมาอย่างน้อย 6 เดือนก่อน ครุกส์ใส่เสื้อยืดของ Demolition Ranch ในการก่อเหตุลอบสังหาร โดยช่องยูทูบดังกล่าวผลิตเนื้อหาเกี่ยวกับอาวุธปืน และมีผู้ติดตาม 11.6 ล้านคน

‘รีพับลิกัน’ ลั่น!! หากชัยชนะเป็นของ ‘ทรัมป์’ ยุติสงครามยูเครนทันที แล้วหันไปตีจีนแทน

(17 ก.ค.67) โดนัลด์ ทรัมป์ จะนำมาซึ่ง ‘จุดจบอย่างรวดเร็ว’ สำหรับความขัดแย้งในยูเครน หากได้รับเลือกตั้งกลับมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ อีกสมัยในเดือนพฤศจิกายน จากคำประกาศกร้าวของ ‘เจ.ดี. แวนซ์’ คู่ชิงรองประธานาธิบดีของรีพับลิกัน พร้อมชี้ว่าวอชิงตันควรหันไปมุ่งเน้นจีนมากกว่า โดยให้คำจำกัดความปักกิ่งว่าเป็น ‘ภัยคุกคามใหญ่หลวงที่สุด’ ต่ออเมริกา

ทั้งนี้เรื่องราวมีอยู่ว่า ทรัมป์ เปิดตัว แวนซ์ ในฐานะคู่ชิงรองประธานาธิบดีในวันจันทร์ (15 ก.ค.) ณ ที่ประชุมใหญ่พรรค ในมิลวอกี รัฐวิสคอนซิล ต่อมาการเสนอชื่อวุฒิสมาชิกจากรัฐโอไฮโอรายนี้ก็ได้รับการรับรองในวันเดียวกัน

โดย แวนซ์ ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวฟ็อกซ์นิวส์ ไม่นานหลังจากได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการว่า "ถ้าทรัมป์คืนสู่เก้าอี้ประธานาธิบดีตามหลังศึกเลือกตั้งในวันที่ 5 พฤศจิกายน นโยบายของเขาที่มีต่อยูเครน จะเป็นนโยบายที่เรียบง่ายมาก ๆ"

"รัสเซียจะไม่รุกรานยูเครน ถ้า โดนัลด์ ทรัมป์ เป็นประธานาธิบดี ทุกคนล้วนเห็นด้วยกับเรื่องนี้ แม้กระทั่งสหายจากพรรคเดโมแครตของผมจำนวนมากก็เห็นด้วยอย่างลับ ๆ กับเรื่องดังกล่าว" เขาบอก

เป็นอีกครั้งที่ แวนซ์ กล่าวหารัฐบาลของประธานาธิบดี ‘โจ ไบเดน’ ว่าปราศจากนโยบายที่สมเหตุสมผลในความขัดแย้งนี้ "ตอนนี้เราใช้เงินไปแล้ว 200,000 ล้านดอลลาร์ (ในความช่วยเหลือยูเครน) แล้วเป้าหมายคืออะไร? อะไรคือสิ่งที่เราพยายามประสบความสำเร็จ? มีความเสี่ยงลุกลามบานปลายสู่สงครามนิวเคลียร์ใช่หรือไม่? นั่นเป็นเพราะคุณมีตัวตลกดูแลนโยบายต่างประเทศใช่หรือเปล่า ตอนนี้เรามีคนแบบนั้นมากมายเลยในวอชิงตัน ดี.ซี."

"ผมคิดว่าสิ่งที่ประธานาธิบดีทรัมป์สัญญาว่าจะทำในเรื่องนี้ก็คือ เจรจากับรัสเซียและยูเครน และนำเรื่องนี้สู่จุดจบอย่างรวดเร็ว เพื่อที่อเมริกาจะได้ไปโฟกัสในประเด็นจริงจัง ซึ่งก็คือจีน ที่เป็นภัยคุกคามใหญ่หลวงที่สุด" แวนซ์เน้นย้ำ

นับตั้งแต่การสู้รบระหว่างรัสเซียกับยูเครนปะทุขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ 2022 ทรัมป์กล่าวอ้างซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่า ความขัดแย้งจะไม่เกิดขึ้นหากว่าเขาได้ดำรงตำแหน่งอีกสมัยในปี 2020 นอกจากนี้ เขายังให้สัญญาว่าจะคลี่คลายวิกฤตนี้ภายใน 24 ชั่วโมง หากได้กลับสู่ทำเนียบขาว

ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน บอกก่อนหน้านี้เมื่อช่วงต้นเดือนว่า มอสโกค่อนข้างจริงจังกับคำพูดของทรัมป์ "แน่นอน ผมไม่รู้ว่ามันคืออะไร โดยเฉพาะกับข้อเสนอของเขา (ในการยุติความขัดแย้ง) และแนวทางที่แผนของเขาจะบรรลุผล แต่ผมไม่สงสัยเลยเกี่ยวกับความจริงใจของเขา และเรารู้สึกยินดี"

ในช่วงต้นเดือนมิถุนายน วลาดิมีร์ เซเลนสกี ประธานาธิบดียูเครน เรียกร้องให้ ทรัมป์ เปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับแผนสันติภาพของเขา "ผมอยากรู้ว่าอะไรที่หมายถึงการปิดฉากสงครามอย่างรวดเร็ว" เขาบอกกับบลูมเบิร์ก "ถ้าเขารู้วิธียุติสงครามนี้ เขาควรบอกเราตั้งแต่วันนี้ เพราะถ้ามีความเสี่ยงใด ๆ ต่อความเป็นเอกราชของยูเครน และมีความเสี่ยงใด ๆ ที่เราจะสูญเสียความเป็นรัฐของเรา เราต้องการเตรียมพร้อมสำหรับสิ่งนี้"

เจ้าหน้าที่ระดับสูงของอียูรายหนึ่ง ซึ่งไม่ประสงค์เอ่ยนาม ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวโพลิติโก สื่อมวลชนสหรัฐฯ เมื่อวันจันทร์ (15 ก.ค.) ว่าการที่ทรัมป์เลือกแวนซ์ ผู้ซึ่งคัดค้านอย่างแข็งกร้าวต่อการที่วอชิงตันมอบความช่วยเหลือแก่เคียฟ ถือเป็นหายนะสำหรับยูเครน

'โพลมะกัน' ชี้!! 'แฮร์ริส' ยังเป็นรอง 'ทรัมป์' อยู่หลายขุม เพราะถูกมองเป็นเพียงภาพเงาสะท้อนไบเดน-ไร้บารมี

ข่าวใหญ่ที่สุดของวันนี้ หนีไม่พ้นการยอมสละตำแหน่งตัวแทนพรรคเดโมแครต ในการชิงตำแหน่งผู้นำสหรัฐฯ 2024 ของ 'โจ ไบเดน' และขอส่งไม้ต่อให้กับ 'กมลา แฮร์ริส' รองประธานาธิบดีคู่หูของเขา ขึ้นไปแข่งขันกับ 'โดนัลด์ ทรัมป์' แทน  

ถึงจะเป็นข่าวดังทั่วโลก แต่ไม่ได้สร้างความประหลาดใจเท่าใดนัก หากได้ติดตามข่าวการเดินสายหาเสียง และปฏิบัติภารกิจในฐานะผู้นำสหรัฐฯ ของไบเดน ในปีที่ผ่านมาก็สามารถจับสัญญาณถึงความร่วงโรยสังขารของผู้นำวัย 81 ปีได้ และจากผลงานการดีเบตระหว่างเขา และ โดนัลด์ ทรัมป์ ล่าสุดที่ผ่านมา เป็นการตอกตะปูย้ำอย่างชัดเจนเป็นประจักษ์ว่า ไบเดนควรถอยให้คนรุ่นใหม่จะดีกว่า

โดย โจ ไบเดน ประกาศสนับสนุน กมลา แฮร์ริส ให้ขึ้นมาทำหน้าที่ตัวแทนพรรคเดโมแครตแทนที่เขาอย่างสุดกำลัง เพื่อหวังที่จะดึงคะแนนเสียงทั้งกลุ่มสตรี กลุ่มคนผิวสี กลุ่มชาวเอเชีย หรือแม้แต่กลุ่มผู้สนับสนุนไบเดนเดิม ด้วยการชูประเด็นที่จะสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ ด้วยการเลือกประธานาธิบดีหญิงคนแรก และ ประธานาธิบดีผิวสีคนที่ 2 ให้กับสหรัฐฯ

แม้จะได้รับการสนับสนุนจากประธานาธิบดีในตำแหน่งคนปัจจุบัน แต่ กมลา แฮร์ริส ก็ยังไม่ถือว่าเป็นตัวแทนพรรคอย่างเป็นทางการ จนกว่าจะมีการลงมติโดยผู้แทนในการประชุมใหญ่ของพรรคเดโมแครตในเดือนสิงหาคมที่จะถึงนี้เสียก่อน ที่ไม่รู้ว่าจะพลิกโผหรือไม่ แต่ที่แน่ๆ ในวันนี้คือ โพลมาแล้ว 

โดยสำนักโพล Decision Desk HQ (DDHQ) ร่วมกับสำนักข่าวสายการเมือง The Hill ได้สำรวจกลุ่มตัวอย่างชาวอเมริกันผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งทั่วประเทศ ว่าระหว่าง กมลา แฮร์ริส และ โดนัลด์ ทรัมป์ ใครนำ? ใครตาม? อย่างไร?

จากผลโพลจาก DDHQ ชี้ว่า โดนัลด์ ทรัมป์ ยังนำ กมลา แฮร์ริส ในสัดส่วน 47% ต่อ 45%  ซึ่งแทบไม่ต่างจากผลโพลล่าสุดระหว่างทรัมป์ และ ไบเดน เลย ที่ทรัมป์ ยังนำ ไบเดน ด้วยคะแนน 46% ต่อ 43.5%

นี่เป็นคะแนนสูงสุดที่ กมลา แฮร์ริส ทำได้ในเวลานี้ ที่ยังไม่ประกาศว่าใครจะมาเป็นคู่หูของเธอในศึกเลือกตั้งครั้งนี้ แต่จากผลสำรวจล่าสุดพบว่า ถ้า โรเบิร์ต เคนเนดี จูเนียร์ กระโดดเข้าร่วมการแข่งขันอีกคนในฐานะผู้สมัครอิสระ จะยิ่งฉุดคะแนนของ กมลา แฮริส และทรัมป์ มีโอกาสนำผู้สมัครของเดโมแครตสูงถึง 6% เลยทีเดียว 

ส่วนโพลด้านคะแนนความนิยมส่วนตัวของกมลา แฮร์ริส ก็ดูยังน่าเป็นห่วง 

จากโพลสำรวจกว่า 102 สำนักพบว่าแฮร์ริสมีคะแนนความนิยมอยู่ที่  37.7% แต่คะแนนความไม่นิยมในตัวเธอกลับสูงกว่าเกือบเท่าตัวที่ 55.5% 

สก็อต แทรนเตอร์ ผู้อำนวยการสำนักโพล DDHQ กล่าวว่า ความนิยมในตัวแฮร์ริสนั้นเป็นเพียงภาพเงาสะท้อนตัวตนของไบเดน ซึ่งไม่เป็นผลดีกับเธอเท่าไหร่ เพราะ โจ ไบเดน ออกจากสนามแข่งด้วยภาพลักษณ์ที่ไม่ค่อยดีนัก และ กมลา แฮร์ริส ก็ยังไม่มีบารมีเทียบเท่าไบเดน ซึ่งสิ่งที่ผู้ลงคะแนนเสียงอยากจะเห็นคือ เธอมีอะไรสดใหม่มานำเสนอให้กับชาวอเมริกันบ้าง

แต่ก็มีผลสำรวจของบางสำนักที่สนับสนุน กมลา แฮร์ริส ด้วยเช่นกัน อาทิ โพลของ Economist/YouGov ที่ชี้ว่า 8 ใน 10 ของชาวเดโมแครตสนับสนุน แฮร์ริส และมีโอกาสที่จะเอาชนะทรัมป์ได้ ในขณะที่โพลจากสำนักข่าว CBS และ CNN เผยว่า ทั้งไบเดน และ แฮริส ล้วนมีคะแนนตามหลังทรัมป์ แต่ แฮร์ริส มีส่วนต่างของคะแนนที่ตามหลังทรัมป์น้อยกว่าไบเดน และยังมีโอกาสได้เงินสนับสนุนหาเสียงมากกว่าผู้สมัครคนอื่น ๆ ของพรรค 

แต่เมื่อมองมาที่ฟากฝั่งของพรรครีพับลิกัน ต่างมองว่าโดนัลด์ ทรัมป์ ยังมีภาษีเหนือกว่า กมลา แฮร์ริส อยู่มาก และสามารถเอาชนะได้ง่ายกว่าแข่งกับไบเดนเสียอีก  

จุดเสียเปรียบของแฮร์ริส คือ เธอต้องแข่งกับ โดนัลด์ ทรัมป์ ที่ไม่ใช่คนเดิมเมื่อ 4 หรือ 8 ปีก่อน แต่เป็นนักการเมืองที่ผ่านสนามรบมาอย่างหนักหน่วงทั้งนิติสงคราม และ การลอบสังหารอย่างจริงจังมาแล้ว

นอกจากนี้ เธอยังต้องต่อสู้กับค่านิยมการเหยียดเพศ เหยียดเชื้อชาติ และสีผิว ที่ยังฝังรากลึกในสังคมอเมริกัน ในขณะที่เธอมีเวลาเหลือเพียง 4 เดือนสำหรับแคมเปญหาเสียงที่ต้องปรับกลยุทธ์ใหม่ทั้งหมด 

ดังนั้น แฮร์ริส 2024 ไม่ใช่งานง่ายจริง ๆ 

เรื่อง: ยีนส์ อรุณรัตน์

‘โดนัลด์ ทรัมป์’ ชม 'อีลอน มัสก์' เป็นคนฉลาด-เก่งมาก แย้ม!! พร้อมทาบทามนั่งที่ปรึกษาหรือคณะรัฐมนตรี

(20 ส.ค. 67) สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า อดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐจากพรรครีพับลิกัน ขึ้นเวทีปราศรัยในเมืองยอร์ก รัฐเพนซิลเวเนีย ได้กล่าวกับสำนักข่าวว่า เมื่อถามถึงความเป็นไปได้ในการแต่งตั้ง 'อีลอน มัสก์' ซีอีโอของเทสลา ให้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาหรือคณะรัฐมนตรีหรือไม่นั้น เขาได้กล่าวว่า 'อีลอน มัสก์' เป็นคนที่ฉลาด เขาเคยคุยกันอย่างสนุกสนานเมื่อไม่กี่วันก่อน และถ้าหากเขาตกลงดึง 'อีลอน มัสก์' เข้ามาทำงานในรัฐบาลของเขาอย่างแน่นอน เพราะ 'อีลอน มัสก์' เป็นคนที่เก่งมาก

โดย 'อีลอน มัสก์' ประกาศสนับสนุนโดนัลด์ ทรัมป์ ต่อสาธารณะเป็นครั้งแรกในการแข่งขันชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ขณะที่ทางเทสลายังไม่แสดงความคิดเห็นใด ๆ เกี่ยวกับการประกาศสนับสนุนดังกล่าวของอีลอน มัสก์ 

หากทรัมป์ชนะเลือกตั้งเขาอาจยกเลิกกฎของกระทรวงการคลังที่ทำให้ผู้ผลิตรถยนต์ได้รับประโยชน์จากเครดิตภาษี EV มูลค่า 7,500 ดอลลาร์หรือคิดเป็นเงินไทยประมาณ 250,000 บาท ได้ง่ายขึ้น หรืออาจเรียกร้องให้สภาคองเกรสยกเลิกทั้งหมดในช่วงที่ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี โดยทรัมป์เคยพยายามยกเลิกเครดิตภาษี EV แต่ถูกขยายเพิ่มเติมโดยประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐในปี 2565 ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจการจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าของเทสลา

โดยเขายังได้กล่าวว่า "เขายังไม่ได้ตัดสินใจเรื่องนี้ เขาเป็นแฟนตัวยงของรถยนต์ไฟฟ้า แต่ก็เป็นแฟนตัวยงของรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยน้ำมันเชื้อเพลิงเหมือนกัน"

‘นิวยอร์กไทม์’ เผย!! 'ทรัมป์-แฮร์ริส' คะแนนนิยมกินกันไม่ลงก่อนดีเบตรอบใหม่ ภายใต้มุมมองอเมริกันชนที่ยังไม่ค่อยเข้าใจ 'จุดยืน-นโยบาย' ของ 'แฮร์ริส'

(9 ก.ย. 67) สำนักข่าวรอยเตอร์ ได้มีการเปิดเผยผลสำรวจของ ‘นิวยอร์กไทม์’ (New York Times/ Siena College) พบว่า ‘โดนัลด์ ทรัมป์’ ผู้สมัครประธานาธิบดีจากพรรคริพับริพัน มีคะแนนนิยมนำ รองประธานาธิบดี ‘กมลา แฮร์ริส’ จากพรรคเดโมแครต 1 แต้ม อยู่ที่ 48% ต่อ 47% ซึ่งเป็นส่วนต่างที่ไม่มีนัยสำคัญภายใต้ค่าความผิดพลาดของโพลซึ่งอยู่ที่บวกลบไม่เกิน 3% นั่นหมายความว่าทั้ง 2 ฝ่ายต่างก็มีโอกาสมากพอๆ กันที่จะชนะศึกเลือกตั้งในวันที่ 5 พ.ย. 67

แม้แคมเปญหาเสียงของ ทรัมป์ จะซวนเซไปบ้างหลังจากที่ประธานาธิบดี ‘โจ ไบเดน’ ประกาศถอนตัว และส่ง ‘กมลา แฮร์ริส’ ขึ้นมาเป็นผู้ท้าชิงพรรคเดโมแครตแทนเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา แต่ผลสำรวจล่าสุดของหลายสำนักบ่งชี้ตรงกันว่ากลุ่มประชากรที่เป็นฐานเสียงหลักของ ทรัมป์ ยังคงเหนียวแน่นเหมือนเดิม

โพลฉบับนี้ยังพบด้วยว่า ชาวอเมริกันผู้มีสิทธิเลือกตั้งบางส่วนยังไม่ค่อยเข้าใจจุดยืนและนโยบายต่างๆ ของแฮร์ริสเท่าไหร่นัก ขณะที่ความเข้าใจของพวกเขาต่อทรัมป์ นั้น ‘ชัดเจน’ อยู่แล้ว โดย 28% ยอมรับว่ายังต้องการข้อมูลเกี่ยวกับผู้สมัครของเดโมแครตมากกว่านี้ แต่มีเพียง 9% ที่รู้สึกแบบเดียวกันกับทรัมป์

จากตัวเลขที่ออกมาทำให้เห็นได้ว่า ศึกดีเบตนัดแรกระหว่าง ทรัมป์ กับ แฮร์ริส ในวันพรุ่งนี้ (10 ก.ย. 67) อาจจะเป็นอีกหนึ่งจุดพลิกผันที่สำคัญของศึกการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา

โดย ‘แฮร์ริส’ จะได้มีโอกาสแจกแจงนโยบายต่างๆ ของเธอให้ชาวอเมริกันเข้าใจมากยิ่งขึ้นระหว่างที่ประชันวิสัยทัศน์กับ โดนัลด์ ทรัมป์ เป็นเวลา 90 นาที และเนื่องจากคะแนนนิยมของทั้งคู่สูสีกันอย่างยิ่ง ศึกดีเบตครั้งนี้จึงอาจสร้างแรงกระเพื่อมอย่างมีนัยสำคัญหากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งทำผลงานออกมาได้ดีกว่า

นับตั้งแต่ แฮร์ริส ก้าวเข้ามาถือตั๋วผู้แทนพรรคเดโมแครต เธอก็ตระเวนเดินสายพบปะประชาชนอย่างแข็งขัน แต่ส่วนใหญ่ยังคงเป็นการแสดงวิสัยทัศน์แบบ ‘อ่านบท’ ที่เตรียมเอาไว้แล้ว และยังให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวต่างๆ น้อยมากด้วย

ผลสำรวจครั้งนี้ออกมาคล้ายคลึงกับโพลของ ‘New York Times/ Siena College’ เมื่อช่วงปลายเดือนกรกฎาคม ที่พบว่า ทรัมป์ มีคะแนนนำแฮร์ริส อยู่ 1 แต้มเช่นกัน

สำหรับผลโพลใน 7 รัฐสมรภูมิสำคัญที่คาดว่าจะเป็นตัวตัดสินผลเลือกตั้งในวันที่ 5 พ.ย. 67 ก็พบว่าผู้สมัครทั้ง 2 รายยังคงมีคะแนนนิยมตีคู่สูสีกันอย่างมาก


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top