Tuesday, 8 April 2025
โดนัลด์ทรัมป์

'โดนัลด์ ทรัมป์' ประกาศเก็บภาษี 100% หากประเทศใดเลิกใช้ดอลลาร์ในการค้าขาย

(9 ก.ย. 67) สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า แถลงการณ์ของทรัมป์เกิดขึ้นหลังจากที่อดีตประธานาธิบดีสหรัฐและที่ปรึกษาเศรษฐกิจของเขาหารือกันเป็นเวลานานหลายเดือนเกี่ยวกับแนวทางในการลงโทษพันธมิตรหรือศัตรูที่แสวงหาวิธีดำเนินการทางการค้าทวิภาคีด้วยสกุลเงินอื่นที่ไม่ใช่ดอลลาร์ ทรัมป์กล่าวว่าดอลลาร์ถูกโจมตีอย่างหนักมาเป็นเวลา 8 ปีแล้ว

“ถ้าคุณเลิกใช้เงินดอลลาร์สหรัฐฯ คุณก็ไม่ได้ทำธุรกิจกับสหรัฐฯ เพราะเราจะเรียกเก็บภาษีสินค้าของคุณ 100 เปอร์เซ็นต์” โดนัลด์ ทรัมป์ กล่าวในการชุมนุมที่วิสคอนซิน พร้อมให้คำมั่นว่าจะทำให้ประเทศต่าง ๆ จ่ายเงินชดเชยกรณีเลิกใช้เงินดอลลาร์สหรัฐฯ

ขณะที่ จีน อินเดีย บราซิล รัสเซีย และแอฟริกาใต้ หารือเกี่ยวกับการเลิกใช้ดอลลาร์ในการประชุมสุดยอดเมื่อปีที่แล้ว

อิทธิพลของเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ในการค้าและการเงินระหว่างประเทศเผชิญกับความท้าทายที่เพิ่มมากขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา กระแสที่เรียกว่า de-dollarisation หมายถึงกระบวนการที่ประเทศต่าง ๆ ตั้งเป้าหมายที่จะลดการพึ่งพาเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ในฐานะสกุลเงินหลักของโลก

ความพยายามในการยกเลิกการใช้ดอลลาร์ผ่านความคิดริเริ่ม เช่น กลุ่ม BRICS (บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้) กำลังเผชิญกับความท้าทายที่สำคัญ ทำให้การบรรลุฉันทามติเกี่ยวกับสกุลเงินร่วมและนโยบายการเงินทำได้ยาก

แม้ว่าการครอบงำของดอลลาร์จะลดลงในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา แต่สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐยังคงคิดเป็น 59% ของทุนสำรองเงินตราต่างประเทศอย่างเป็นทางการในไตรมาสแรกของปี 2024 เงินยูโรเป็นอันดับสองที่เกือบ 20% ตามข้อมูลของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ การค้าโลกประมาณครึ่งหนึ่งมีสกุลเงินดอลลาร์ ตามข้อมูลของธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ

ระยะหลังอินเดียกำลังผลักดันความพยายามที่จะเพิ่มการชำระเงินทางการค้าด้วยเงินรูปีและลดการพึ่งพาเงินดอลลาร์มากขึ้น ซึ่งเป็นความทะเยอทะยานที่หลบเลี่ยงประเทศต่าง ๆ ส่วนใหญ่

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานเมื่อปีที่แล้วว่า โรงกลั่นในอินเดียได้เริ่มชำระเงินค่าน้ำมันรัสเซียส่วนใหญ่ที่ซื้อผ่านผู้ค้าในดูไบด้วยสกุลเงินเดอร์แฮม สกุลเงินที่ใช้ในประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์แทนที่จะเป็นสกุลเงินดอลลาร์

อินเดีย เริ่มทำการค้าเงินรูปีกับประเทศเพื่อนบ้าน รวมทั้งเนปาลและภูฏาน กลไกการค้าเงินรูปีได้รับการริเริ่มขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกในการค้าสกุลเงินประจำชาติกับรัสเซีย ในขณะที่ศรีลังกาได้รวมเงินรูปีไว้ในรายชื่อสกุลเงินต่างประเทศที่กำหนดไว้

เริ่มแล้ว!! ดีเบต ‘ทรัมป์ VS แฮร์ริส’ เลือกตั้งชิงผู้นำสหรัฐฯ มีแต่ 'ซัด-สวน-แขวะ' ปม 'การเมือง-เศรษฐกิจ-ความมั่นคง'

(11 ก.ย. 67) สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ศึกดีเบตรอบแรกระหว่าง ‘โดนัลด์ ทรัมป์’ และ รองประธานาธิบดี ‘กมลา แฮร์ริส’ เริ่มเปิดฉากขึ้นในเวลา 21.00 น. ตามเวลามาตรฐานตะวันออก (ET) ที่เมือง ‘ฟิลาเดเฟีย’ รัฐ ‘เพนซิลเวเนีย’ โดยมีสถานีโทรทัศน์ ‘ABC News’ เป็นเจ้าภาพ ท่ามกลางคำถามว่า ทรัมป์และแฮร์ริส ซึ่งไม่เคยพบเจอกันตัวเป็นๆ มาก่อนจะทักทายกันอย่างไร? ซึ่งปรากฏว่าแฮร์ริสจบข้อสงสัยด้วยการเป็นฝ่ายเดินไปหาทรัมป์ที่โพเดียมของเขา และยื่นมือทักทายพร้อมแนะนำตัวเองว่า ‘กมลา แฮร์ริส’ ซึ่งถือเป็นการจับมือในศึกดีเบตระหว่างผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2016 เป็นต้นมา

รอยเตอร์ชี้ว่าท่าทีของแฮร์ริสเป็นการส่งสัญญาณ ‘ลดการ์ด’ ให้กับชายซึ่งใช้เวลาตลอดหลายสัปดาห์ที่ผ่านมาดูหมิ่นเหยียดหยามเธอทั้งในแง่ของเพศและเชื้อชาติ

แฮร์ริส ซึ่งเป็นอดีตอัยการวัย 59 ปี พุ่งเป้าโจมตีจุดอ่อนต่างๆ ของทรัมป์ซ้ำไปซ้ำมาหลายครั้ง จนทำให้ทรัมป์ในวัย 78 ปีออกอาการโมโหอย่างเห็นได้ชัด และพยายามตอบโต้ด้วยการอ้างข้อมูลบิดเบือนต่างๆ โดยในช่วงหนึ่งของการอภิปราย แฮร์ริสได้กล่าวถึงการปราศรัยหาเสียงของทรัมป์ โดยเยาะเย้ยว่าคนส่วนใหญ่ ‘มักจะกลับก่อน’ เพราะว่า ‘ทนความเบื่อไม่ไหว’

ทรัมป์ก็ตอกกลับทันควันว่า “ในการปราศรัยของผม เรามีการปราศรัยขนาดใหญ่ที่สุด และเหลือเชื่อที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองสหรัฐฯ” พร้อมทั้งกล่าวหาว่า แฮร์ริส ‘จัดรถบัส’ ไปขนคนเข้ามาฟังการปราศรัยของตัวเอง

พร้อมกันนั้น ทรัมป์ยังอ้างทฤษฎีสมคบคิดไร้หลักฐานที่ระบุว่า ผู้อพยพผิดกฎหมายชาวเฮติในเมืองสปริงฟิลด์ รัฐโอไฮโอ ‘กินสัตว์เลี้ยง’ ของประชาชนในพื้นที่ โดยข้อมูลนี้ถูกแชร์กันอย่างกว้างขวางในโลกออนไลน์ และถูกนำมาโหมกระพือโดย ‘เจ. ดี. แวนซ์’ ซึ่งเป็นคู่ชิงรองประธานาธิบดีของทรัมป์เอง

“ที่สปริงฟิลด์ คนพวกนั้นกินสุนัข พวกที่อพยพย้ายเข้ามา พวกเขากินแมว” ทรัมป์ กล่าว “พวกนั้นกินสัตว์เลี้ยงของประชาชนที่อาศัยอยู่ในเมือง”

เจ้าหน้าที่เมืองสปริงฟิลด์เคยออกมาชี้แจงแล้วว่าข้อครหาเหล่านั้นไม่เป็นความจริง และผู้ดำเนินรายการของ ABC ก็รีบโต้แย้งทันทีหลังจากที่ทรัมป์พูดเรื่องนี้ขึ้นมา ขณะที่แฮร์ริสแสดงออกด้วยการหัวเราะและเย้ยหยันอีกฝ่ายว่า “พูดจาสุดโต่ง”

แฮร์ริสซึ่งเป็นอดีตอัยการรัฐแคลิฟอร์เนีย ยังพยายามขุดคุ้ยพฤติกรรมในอดีตของทรัมป์ขึ้นมาโจมตี โดยเฉพาะเรื่องที่เขาพยายามล้มผลเลือกตั้งในปี 2020 ซึ่งตลอด 1 ชั่วโมงแรกของการดีเบตดูเหมือนว่ายุทธศาสตร์นี้จะได้ผลไม่น้อย และบีบให้ ทรัมป์ต้องพยายามหาทางแก้ต่างให้กับตัวเอง

ทรัมป์กล่าวว่าตนเอง ‘ไม่มีอะไรเกี่ยวข้อง’ กับเหตุจลาจลที่อาคารรัฐสภาเมื่อวันที่ 6 ม.ค. 2021 นอกเหนือไปจาก “พวกเขาขอให้ผมขึ้นไปกล่าวสุนทรพจน์” และยังคงอ้างเหมือนเดิมว่าตนเองคือผู้ที่ชนะศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี 2020

แฮร์ริสยกพฤติกรรมในอดีตของทรัมป์มาเป็นเหตุผลว่าถึงเวลาแล้วที่สหรัฐฯ จะต้องพลิกประวัติศาสตร์หน้าใหม่

“โดนัลด์ ทรัมป์ ถูกชาวอเมริกัน 81 ล้านคนไล่ลงจากเก้าอี้ ขอให้ทุกท่านเข้าใจชัดเจนตามนี้ด้วย และเห็นได้ชัดว่าเขามีปัญหาในการทำความเข้าใจข้อเท็จจริงข้อนี้ แต่เราไม่สามารถยอมให้สหรัฐฯ มีประธานาธิบดีที่พยายามล้มล้างเจตนารมณ์ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งในการเลือกตั้งที่จัดขึ้นอย่างเสรีและเป็นธรรม อย่างที่เขาเคยพยายามทำมาในอดีตได้” แฮร์ริส กล่าว

รองประธานาธิบดีหญิงผู้นี้ยังจิกกัดทรัมป์ด้วยการบอกว่าผู้นำทั่วโลกต่าง ‘หัวเราะเยาะ’ เขา และมองว่าเขา ‘สร้างความอับอาย’ ต่อสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นสำนวนภาษาเดียวกันกับที่ทรัมป์มักจะพูดเย้ยหยัน ‘โจ ไบเดน’ ระหว่างที่เดินสายหาเสียง

ด้านทรัมป์ก็หันมาเล่นงานแฮร์ริสด้วยการอ้างว่าเธอ ‘ไม่เคยได้รับคะแนนโหวต’ ในการเป็นตัวแทนพรรคเดโมแครต และยังอ้างว่าเธอก้าวขึ้นมาแทนที่ไบเดน ตามแผน ‘รัฐประหาร’ (coup) ของคนในพรรค

“เขาเกลียดเธอ” ทรัมป์อ้างว่าไบเดนรู้สึกเช่นนั้น “เขาทนเธอไม่ได้”

อย่างไรก็ตาม การโต้เถียงเช่นนี้ดูเหมือนจะยิ่งไปเพิ่มน้ำหนักให้กับคำพูดของแฮร์ริสที่ว่า ทรัมป์ขาดความสามารถในการ ‘ควบคุมอารมณ์’ ซึ่งประธานาธิบดีควรจะมี

ผู้สมัครทั้งสองยังแลกหมัดกันในประเด็นด้านเศรษฐกิจ ซึ่งผลสำรวจความคิดเห็นพบว่า ทรัมป์มีคะแนนนิยมสูงกว่าแฮร์ริส ในด้านนี้

แฮร์ริสได้แจกแจงนโยบายต่างๆ ที่เธอได้นำเสนอตลอดช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา เช่น การให้ประโยชน์ทางภาษีแก่ครอบครัวและผู้ประกอบการรายย่อย เป็นต้น ขณะเดียวกันก็โจมตีแผนของทรัมป์ ในการขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ โดยบอกว่ามันไม่ต่างอะไรกับการรีดภาษีการขาย (sales tax) เอากับชนชั้นกลาง

“โดนัลด์ ทรัมป์ ทำให้เราต้องเผชิญปัญหาการว่างงานรุนแรงที่สุดนับตั้งแต่ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (Great Depression)” แฮร์ริสกล่าว โดยอ้างถึงตัวเลขการว่างงานในสหรัฐฯ ซึ่งพุ่งสูงสุด 14.8% ในเดือน เม.ย. ปี 2020 และลงมาอยู่ที่ 6.4% ในขณะที่ทรัมป์พ้นตำแหน่ง

ด้านทรัมป์ก็วิพากษ์วิจารณ์แฮร์ริสเกี่ยวกับปัญหาเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นในรัฐบาลไบเดน โดยระบุว่า “เงินเฟ้อถือเป็นหายนะสำหรับประชาชน สำหรับกลุ่มชนชั้นกลาง และคนทุกๆ กลุ่ม” จากนั้นก็รีบเปลี่ยนไปสู่ประเด็นเรื่องผู้อพยพ โดยอ้างแบบไร้หลักฐานยืนยันว่ามีผู้อพยพ ‘จากโรงพยาบาลบ้า’ (insane asylums) หลบหนีข้ามพรมแดนจากเม็กซิโกเข้ามายังสหรัฐฯ เป็นจำนวนมาก

ผู้สมัครทั้ง 2 รายยังแสดงมุมมองที่แตกต่างเกี่ยวกับประเด็นการทำแท้ง ซึ่งผลสำรวจความคิดเห็นบ่งชี้ว่าคนอเมริกันส่วนใหญ่สนับสนุนแนวทางของแฮร์ริสมากกว่า

ทรัมป์อ้างไปถึงคำพิพากษาของศาลสูงสุดในปี 2022 ที่ยกเลิกสิทธิตามรัฐธรรมนูญในการทำแท้ง และให้แต่ละรัฐมีอำนาจตัดสินใจในประเด็นนี้เอง โดยเขาอ้างว่า “ผมเองมีส่วนในการผลักดันเรื่องนี้ และใช้ความกล้าหาญในการทำสิ่งนี้”

ด้านแฮร์ริสแสดงความไม่พอใจต่อข้อกล่าวอ้างของทรัมป์ที่ว่าการที่สิทธิทำแท้งกลายเป็นเรื่องของแต่ละรัฐถือเป็นผลลัพธ์ที่ประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วย

“นี่คือสิ่งที่ประชาชนต้องการงั้นหรือ? คนจำนวนมากถูกปฏิเสธรับเข้าห้องฉุกเฉิน เพราะพวกเจ้าหน้าที่สาธารณสุขกลัวว่าจะติดคุกเนี่ยนะ?” แฮร์ริสตั้งคำถาม

เมื่อถูกถามว่าจะใช้สิทธิ ‘วีโต’ หรือไม่หากสภาคองเกรสผ่านกฎหมายแบนการทำแท้ง? ทรัมป์ยืนยันว่า “สิ่งนั้นจะไม่เกิดขึ้น” แต่ก็ปฏิเสธที่จะตอบอย่างตรงไปตรงมา

ทรัมป์และแฮร์ริสยังกล่าวหาซึ่งกันและกันว่าพยายามใช้กระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ เป็น ‘อาวุธ’ โจมตีฝ่ายตรงข้าม โดย ทรัมป์นั้นอ้างว่าการที่ตนถูกยื่นฟ้องฐานสมคบคิดล้มผลเลือกตั้งเมื่อปี 2020 และจัดการเอกสารชั้นความลับอย่างไม่เหมาะสม รวมถึงเรื่องการจ่ายเงินปิดปากดาราหนังผู้ใหญ่ที่เคยมีสัมพันธ์สวาทด้วยนั้น ทั้งหมดเป็น ‘แผนสมคบคิด’ ที่ แฮร์ริสและไบเดนร่วมมือกันสร้างขึ้นมา ซึ่งก็เป็นการกล่าวหาแบบไม่มีหลักฐานตามเคย

ด้านแฮร์ริสฟาดกลับด้วยการชี้ว่า ทรัมป์ข่มขู่จะใช้กฎหมายเอาผิดกับบรรดาศัตรูทางการเมือง หากได้กลับมาเป็นประธานาธิบดีสมัยที่ 2

“โปรดเข้าใจด้วยว่า เขาคือคนที่เคยออกมาพูดอย่างเปิดเผยว่าจะฉีก --- นี่ดิฉันเอ่ยตามที่เขาพูดนะ --- จะฉีกรัฐธรรมนูญ” เธอกล่าว

ทรัมป์ยังคงอ้างซ้ำๆ เหมือนเดิมว่าการที่ตนแพ้ศึกเลือกตั้งในปี 2020 ก็เพราะ ‘ถูกโกง’ พร้อมทั้งกล่าวหาแฮร์ริสว่าเป็นพวก ‘มาร์กซิสต์’ และอ้างด้วยว่าผู้อพยพเป็นต้นเหตุทำให้สถิติอาชญากรรมในสหรัฐอเมริกาพุ่งสูงขึ้น

ในประเด็นสงครามอิสราเอล-กาซา แฮร์ริสประกาศว่า “สงครามจำเป็นต้องยุติลงทันที และมันจะยุติลงได้ก็ต่อเมื่อเรามีข้อตกลงหยุดยิง และเราจำเป็นต้องช่วยตัวประกันทั้งหมดออกมา” ขณะที่ทรัมป์ระบุว่าแฮร์ริส “เกลียดชังอิสราเอล ถ้าเธอได้เป็นประธานาธิบดี ผมเชื่อว่าภายใน 2 ปีข้างหน้าจะไม่มีชาติอิสราเอลเหลืออยู่แน่นอน”

แฮร์ริสเถียงกลับทันควันว่า “นี่ไม่ใช่ความจริงเลยแม้แต่น้อย ตลอดชีวิตและการทำงานของดิฉันสนับสนุนอิสราเอลและประชาชนชาวอิสราเอลเรื่อยมา”

'ผลสำรวจ' ชี้!! 'มะกัน' ยังเชื่อมั่นใน ‘ทรัมป์’ แม้ ‘กมลา’ ดีเบตได้ดีกว่า แต่ผิดหวัง!! ทั้งคู่ยังพูดถึง 'แผน-นโยบาย' พัฒนาประเทศได้ไม่ชัดนัก

(12 ก.ย. 67) หลังการดีเบตยกแรกของ ‘ทรัมป์-แฮร์ริส’ ผู้สื่อข่าวพีพีทีวีในสหรัฐฯ ได้สำรวจความเห็นประชาชนในวอชิงตันดีซีและรัฐแมรีแลนด์ พบชาวอเมริกันยังเชื่อมั่นในตัว ‘ทรัมป์’ มากกว่า

จากการลงพื้นที่สำรวจความเห็นประชาชนหลังการดีเบตครั้งประวัติศาสตร์เมื่อวันที่ 10 ก.ย. 67 ชาวอเมริกันมองว่า พวกเขาต้องการแผนการพัฒนาเศรษฐกิจที่ชัดเจนมากกว่าการโต้เถียงเรื่องอื่น ๆ

ด้านผลโพลล่าสุดชี้ การดีเบตในครั้งนี้ ‘กมลา แฮร์ริส’ รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ ทำผลงานได้ดีกว่าคู่แข่งอย่างอดีตประธานาธิบดี ‘โดนัล ทรัมป์’ แต่หากเจาะลึกความเชื่อมั่นแล้ว ชาวอเมริกันยังเชื่อมั่นในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของทรัมป์มากกว่า

การพบกันครั้งแรกในศึกดีเบตระหว่างแฮร์ริสจากพรรค ‘เดโมแครต’ และทรัมป์จากพรรค ‘รีพับลิกัน’ ทั้งสองได้แสดงวิสัยทัศน์ทั้งในเรื่องเศรษฐกิจที่เน้นเรื่องภาษี สิทธิการทำแท้งในผู้หญิง และบทบาทของสหรัฐฯ ในด้านการต่างประเทศ จุดยืนในการช่วยเหลือสงครามในตะวันออกกลางหรือสงครามยูเครน

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นการจัดการแนวชายแดน และแรงงานผิดกฎหมาย ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่ทรัมป์เลือกที่จะโจมตีแฮร์ริส ที่ดำรงตำแหน่งรองประธานาธิบดีในตอนนี้และรับผิดชอบโดยตรงแต่ยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ด้านนางกมลาก็หันไปโจมตี โดนัล ทรัมป์กลับ ว่าเป็นผู้ที่มีคดีความติดตัวและโกหก

จากการลงพื้นที่สำรวจความเห็นประชาชนในกรุงวอชิงตันดีซีและรัฐแมรีแลนด์ พบว่า ชาวอเมริกันต้องการเห็นแผนการบริหารงานที่ชัดเจน มากกว่าการโจมตีกัน 

ไมค์ ซี จากรัฐแมรีแลนด์ กล่าวว่า การดีเบตครั้งนี้ มองโดยรวมแล้วไม่สามารถโน้มน้าวให้เปลี่ยนการตัดสินใจในการลงคะแนนเสียงเลือกประธานาธิบดีในวันที่ 5 พ.ย. 67 นี้ได้ เพราะต่างคนต่างเลี่ยงตอบคำถามและไม่มีแผน หรือแนวทางที่ชัดเจน

ไมค์ ซี ชาวอเมริกัน บอกว่า “ผมคาดหวังให้ทั้งคู่พูดถึงแผนการ และนโยบายให้ชัดเจนมากขึ้น เพราะพวกเขาไม่ได้ตอบคำถามมากนัก หรือให้ข้อมูลตามจริงในสิ่งที่พวกเขาวางไว้”

ก่อนจะเสริมว่า “ผมไม่คิดว่าการอภิปรายครั้งนี้จะทำให้สามารถเปลี่ยนผลการลงคะแนนเลือกตั้งของใครได้”

ด้านลูเซียร์ วัย 29 ปี ให้สัมภาษณ์ระหว่างเดินทางมาเที่ยวที่กรุงวอชิงตัน ดีซี มองว่า การดีเบตครั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายมีแต่การโจมตีกันเป็นส่วนใหญ่ โดยส่วนตัวเธอมองว่า การดีเบตมุ่งแต่ถกเถียงเรื่องการต่างประเทศ โดยไม่ได้มีแผนในการดำเนินงาน หรือแก้ปัญหาการพัฒนาเศรษฐกิจภายในสหรัฐฯ

ลูเซียร์บอกว่า “ฉันคิดว่าพวกเขาโฟกัสปัญหาต่างประเทศ และอภิปรายแผนแบบนามธรรม ฉันอยากรู้แผนการพัฒนาด้านประกันสุขภาพ หรือสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตสำหรับรุ่นลูก ฉันยังไม่เห็นแผนการพัฒนาประเทศในการดีเบต”

สอดคล้องกับผลการสำรวจจาก ‘CNN Polls’ ในผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งที่เข้ารับการลงทะเบียนชมการถ่ายทอดสดศึกดีเบต ระหว่าง ทรัมป์และแฮริส ได้มองว่า หากเลือกถึงผลงานการอภิปรายบนเวทีดีเบต กมลา แฮร์ริส รองประธานาธิบดี จากเดโมแครต ทำผลงานได้ดีกว่าทรัมป์ ถึง 63% โดยหลังจากนั้น ทีมหาเสียงของแฮร์ริสได้เรียกร้องให้มีการจัดดีเบตผู้ท้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีอีกครั้ง แต่ทรัมป์ปฏิเสธและอ้างว่า การดีเบตครั้งนี้เป็นชัยชนะของเขา 

ศึกดีเบตที่มีหัวข้อที่โจมตีทั้งสองฝ่าย โดยทรัมป์เลือกเลี่ยงตอบคำถามในหลายประเด็น ขณะที่แฮร์ริสเลือกที่จะตอบคำถามอย่างมั่นใจมากกว่า หากแตกประเด็นลงไปดูการสำรวจความเชื่อมั่นด้านการแก้ไขปัญหาในด้านต่าง ๆ แล้วนั้น ด้านปัญหาการป้องกันชายแดนและแก้ปัญหาแรงงานผิดกฎหมาย  ทรัมป์ยังเอาชนะแฮร์ริสได้กว่า 56%

รวมถึงประเด็นสำคัญด้านเศรษฐกิจ ทรัมป์ยังสามารถสร้างความเชื่อมั่นได้มากกว่า ทางด้านแฮร์ริส ได้รับความเชื่อมั่นในด้านการปกป้องประชาธิปไตย และการดูแลสิทธิสตรีให้เข้าถึงการทำแท้งถูกกฎหมาย

‘ทรัมป์’ ยัน!! ไม่ดีเบต 'กมลา' อีกรอบ ลั่น!! มีแต่ผู้แพ้เท่านั้นที่ขอโอกาสล้างตา

(13 ก.ย. 67) อดีตประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ตัวแทนพรรครีพับลิกันในศึกชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ โพสต์ข้อความลงบน ทรูธ โซเชียล ระบุว่า การประชันวิสัยทัศน์หรือดีเบตครั้งที่ 3 กับตัวแทนพรรคเดโมแครตจะไม่เกิดขึ้น หลังจากก่อนหน้านี้ได้ขึ้นเวทีมาแล้ว 2 ครั้ง ในเดือน มิ.ย.67 กับประธานาธิบดี โจ ไบเดน และครั้งล่าสุดกับรองประธานาธิบดี กมลา แฮร์ริส เมื่อวันที่ 10 ก.ย.67 ที่ผ่านมา

ในโพสต์ดังกล่าว ทรัมป์ยืนยันว่าตนเองเป็นฝ่ายเอาชนะแฮร์ริส และมีเพียงผู้แพ้เท่านั้นที่เรียกร้องขอโอกาสแก้มือหรือล้างตากันอีกรอบ โดยทรัมป์แนะนำว่าแฮร์ริสควรมีสมาธิกับการทำหน้าที่รองประธานาธิบดี

อย่างไรก็ตาม ยังมีความเป็นไปได้ที่ทรัมป์จะเปลี่ยนใจ เพราะก่อนการดีเบตกับแฮร์ริส ทรัมป์แทบไม่เคยให้ความชัดเจนเลยว่าจะขึ้นเวทีประชันวิสัยทัศน์หรือไม่ ขณะที่แกนนำพรรครีพับลิกันหลายคนต้องการให้ทรัมป์ขึ้นดีเบตกับแฮร์ริสอีกครั้ง โดยมีรายงานว่า สถานีโทรทัศน์ฟ็อกซ์นิวส์ได้เชิญทรัมป์และแฮร์ริสขึ้นเวทีดีเบตกันในเดือน ต.ค. 67 นี้

ส่วนความเคลื่อนไหวการหาเสียงเลือกตั้งภายหลังการดีเบต  เมื่อวันที่ 12 ก.ย. 67 ที่ผ่านมา ทรัมป์ได้เลือกลงพื้นที่เมือง ‘ทูซอน’ รัฐ ‘แอริโซนา’ 1 ใน 6 รัฐสำคัญที่คะแนนเสียงสูสีและจะเป็นปัจจัยชี้ขาดผลแพ้ชนะ โดยทรัมป์ได้ย้ำถึงปัญหาการควบคุมพรมแดนที่รัฐบาลชุดปัจจุบันปล่อยให้ผู้อพยพหลั่งไหลเข้ามาเป็นจำนวนมากและก่อให้เกิดปัญหาอาชญากรรมเพิ่มมากขึ้น

ด้านแฮร์ริสเดินทางไปยังเมือง ‘ชาร์ลอต’ รัฐ ‘นอร์ทแคโรไลนา’ โดยระหว่างการปราศรัย แฮร์ริสระบุว่า เธอและทรัมป์ยังต้องทำหน้าที่รับใช้ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งด้วยการขึ้นเวทีดีเบตกันอีกครั้ง เพราะการเลือกตั้งประธานาธิบดีที่กำลังจะมีขึ้นในวันที่ 5 พ.ย. 67 นี้ คือเดิมพันครั้งสำคัญที่สุดของสหรัฐฯ 

ขณะที่ทีมหาเสียงของแฮร์ริสเปิดเผยว่า ยอดเงินบริจาคในระยะเวลา 24 ชั่วโมง ภายหลังจากการดีเบต มีตัวเลขอยู่ 47 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 1,500  ล้านบาท จากจำนวนผู้บริจาคเกือบ 600,000 คน ทำให้ขณะนี้ แฮร์ริสมียอดเงินบริจาคสะสมสำหรับการหาเสียงเพิ่มเป็น 360 ล้านดอลลาร์ หรือ 12,000 ล้านบาท ส่วนทรัมป์มียอดบริจาคสะสมอยู่ที่ประมาณ 130 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 4,500 ล้านบาท

'ทรัมป์' ถูกลอบสังหารรอบ 2 ขณะตีกอล์ฟในฟลอริดา พบมือลอบสังหารเป็นฝ่ายหนุน 'แฮร์ริส' ประวัติอาชญากรรมเพียบ

(16 ก.ย. 67) สำนักข่าวนิวยอร์กโพสต์ รายงานว่า มือปืนต้องสงสัยลอบสังหารอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ขณะกำลังตีกอล์ฟในรัฐฟลอริดาในช่วงบ่ายวันอาทิตย์ (15 ก.ย.) เคยประกาศบนสื่อสังคมออนไลน์ในปีนี้ว่า "ประชาธิปไตยอยู่บนบัตรเลือกตั้ง" และ "เราไม่อาจพ่ายแพ้ได้" สะท้อนวาทกรรมต่อต้านทรัมป์ ที่รองประธานาธิบดีกมลา แฮร์ริส และประธานาธิบดีโจ ไบเดน ใช้บ่อย ๆ

แหล่งข่าวพวกเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย ระบุผู้ต้องสงสัยรายนี้คือนายไรอัน เวสลีย์ รูธ วัย 58 ปี ขณะที่หนังสือพิมพ์นิวยอร์กโพสต์ระบุว่า รูธ ซึ่งมาจากนอร์ทแคโรไลนาและมีประวัติอาชญากรรมยาวเหยียด บ่อยครั้งมักโพสต์เกี่ยวกับการเมืองและเคยบริจาคเงินให้บรรดาตัวแทนพรรคเดโมแครตหลายต่อหลายครั้ง ย้อนกลับไปตั้งแต่ปี 2019

นอกจากนี้ เขายังเคยวิจารณ์ ทรัมป์ อย่างดุเดือด โดยเมื่อวันที่ 22 เมษายนที่ผ่านมา ซึ่งเขาได้โพสต์ข้อความบนแพลตฟอร์มเอ็กซ์ ว่า "ประชาธิปไตยอยู่บนบัตรเลือกตั้งและเราไม่อาจพ่ายแพ้ได้"

ทั้งนี้ ประธานาธิบดีไบเดน และรองประธานาธิบดีแฮร์ริส มักใช้สโลแกนดังกล่าวอยู่เป็นประจำ

ในข้อความที่โพสต์ในวันดังกล่าว เขายังเขียนแนะนำ ไบเดน วัย 81 ปี ซึ่งตอนนั้นยังคงเป็นตัวแทนพรรคเดโมแครต ลงชิงเก้าอี้ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ว่าให้เดินหน้ารักษา "ความเป็นประชาธิปไตยและความเสรีของอเมริกา" ต่อไป พร้อมกับอ้างว่า ทรัมป์ ต้องการทำให้ "อเมริกันชนเป็นทาสรับใช้"

"ประชาธิปไตยอยู่บนบัตรเลือกตั้ง และเราไม่อาจพ่ายแพ้ได้ เราไม่สามารถล้มเหลว โลกกำลังยึดถือการนำทางของเรา" รูธ ระบุ

ภาษาลักษณะเดียวกันนี้เป็นวาทกรรมที่ แฮร์ริส เดินหน้าใช้มาตลอดการหาเสียงเช่นกัน โดยเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม เธอกล่าว ณ เวทีหาเสียงที่เมืองซาวานนาห์ รัฐจอร์เจีย ว่า "เรากำลังต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของเรา"

ก่อนหน้านี้ในวันที่ 31 กรกฎาคม แฮร์ริส กล่าวในกิจกรรมหนึ่งในฮิวสตัน ว่า "เสรีภาพพื้นฐานของเราอยู่บนบัตรเลือกตั้ง เช่นเดียวกับประชาธิปไตยของเรา" หลังจากกล่าววาทกรรมแบบเดียวกันนี้ ในอีกกิจกรรมของชมรมหนึ่งในวันเดียวกัน

ทอม ฟิตตอน ประธาน Judicial Watch กลุ่มกฎหมายอนุรักษนิยม ให้สัมภาษณ์กับนิวยอร์กโพสต์ว่า "ไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่ รูธ จะพูดพร่ำวาทกรรมรุนแรงสุดขั้วของ กมลา และ โจ ที่มีต่อ ทรัมป์ และ ณ เวลานี้ มันคือการยั่วยุที่ไม่อาจให้อภัยได้"

เบื้องต้น โฆษกของทั้งไบเดนและแฮร์ริส ยังไม่ออกมาแสดงความคิดเห็นในเรื่องนี้

เปิดข้อมูล 'ไรอัน รูธ' ผู้ต้องสงสัยคิดลอบสังหาร 'ทรัมป์' เป็นผู้สนับสนุนยูเครนตัวยงเรื่องการทำสงครามกับรัสเซีย

(16 ก.ย. 67) ผลการสืบค้นข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตเกี่ยวกับชายต้องสงสัยพยายามลอบสังหารนายโดนัลด์ ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดีสหรัฐพบว่า เขาเป็นผู้สนับสนุนยูเครนตัวยงเรื่องการทำสงครามกับรัสเซีย

รอยเตอร์รายงานว่า พบข้อมูลของนายไรอัน รูธ ชาวรัฐฮาวาย วัย 58 ปี ในแพลตฟอร์มเอ็กซ์ (X) เฟซบุ๊ก และลิงก์อิน (LinkedIn) แต่การเข้าถึงเอ็กซ์และเฟซบุ๊กของเขาแบบสาธารณะ ถูกลบไปไม่กี่ชั่วโมงหลังเกิดเหตุพยายามลอบสังหารทรัมป์ที่สนามกอล์ฟ เมืองเวสต์ปาล์มบีช รัฐฟลอริดา เมื่อบ่ายวันอาทิตย์ตามเวลาท้องถิ่น บัญชีที่ใช้ชื่อนายรูธ 3 บัญชีบ่งชี้ว่า เขาเป็นผู้สนับสนุนยูเครนตัวยง

โดยเมื่อวันที่ 21 เมษายน เขาโพสต์ข้อความผ่านเอ็กซ์ถึงนายอีลอน มัสก์ เจ้าของแพลตฟอร์มโดยตรงว่า "อยากซื้อจรวดของมัสก์เพื่อนำไปติดหัวรบถล่มคฤหาสน์ที่ทะเลดำของวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย เพื่อจบชีวิตปูติน ขอให้แจ้งราคามาด้วย"

ส่วนเมื่อต้นปีนี้เขาโพสต์เอ็กซ์โดยติดแท็กชื่อบัญชีของประธานาธิบดีโจ ไบเดนว่า "การหาเสียงของไบเดนควรใช้ชื่อว่า KADAF ย่อมาจากคำว่า Keep America democratic and free แปลได้ว่า ทำให้อเมริกาเป็นประชาธิปไตยและเสรีต่อไป ส่วนการหาเสียงของทรัมป์ควรใช้ชื่อว่า MASA ย่อมาจากคำว่า make Americans slaves again master แปลได้ว่า ทำให้อเมริกาเป็นทาสอีกครั้ง"

ทั้งนี้ นิวยอร์กไทมส์ รายงานว่า เคยสัมภาษณ์นายรูธในปี 2566 เรื่องชาวอเมริกันที่อาสาไปช่วยยูเครนรบกับรัสเซีย โดยเขาอ้างว่าเคยอยู่ในยูเครนหลายเดือนในปี 2565 และหาทางรับสมัครทหารอัฟกันที่หนีรัฐบาลตอลิบานในอัฟกานิสถานไปรบในยูเครน

รอยเตอร์และซีเอ็นเอ็นได้ติดต่อสอบถามบุตรชาย 2 คนของนายรูธ แต่ทั้งคู่ปฏิเสธว่าไม่ทราบเรื่องลอบสังหาร

รายการทีวีดังมะกัน The Tonight show เปิดฟรีโหวตเลือกตั้ง พบ 'หมูเด้ง' ชนะขาดเหนือ 'ทรัมป์-แฮร์ริส' ได้เป็นปธน.สหรัฐฯ

(27 ก.ย. 67) เอเอฟพี เผยว่า 'หมูเด้ง' ในเวลานี้กลายเป็นซูเปอร์สตาร์โด่งดังไปทั่วโลกแล้ว ล่าสุดรายการชื่อดังทางสถานีโทรทัศน์ MSNBC ของสหรัฐฯ The Tonight show starring Jimmy Fallon ของ จิมมี แฟลลอน (Jimmy Fallon) ยังเอามาเป็นส่วนหนึ่งในการโพสต์ล้อเลียนการเลือกตั้งสหรัฐฯ ที่กำลังงวดเข้ามาด้วย

โดยทางรายการได้ล้อเลียน ด้วยการแอบทำโพลเลือกตั้งสหรัฐฯ เวอร์ชันหมูเด้ง หรือ 'โพลหมูเด้ง' บนแพลตฟอร์ม X ในวันพฤหัสบดี (26 ก.ย.) เป็นโพลสอบถามชาวอเมริกันว่า จะโหวตเลือกใคร พบว่า 'หมูเด้ง' นำโด่งชนะขาดได้ไป 93% ได้เป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ ทิ้งห่างผู้สมัครพรรคเดโมแครต รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ กมลา แฮร์ริส ที่ได้ไป 4% ส่วนผู้สมัครพรรครีพับลิกัน อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ ได้ไป 3%

หมูเด้งยังสามารถเรียกรอยยิ้มรายวันไปทั่วโลกโซเชียลเมื่อบริษัทแพลตฟอร์ม X ส่งมีมอารมณ์หมูเด้งทวีตรายวันเป็นภาพอิริยาบทสุดคิ้วของฮิปโปฯ แคระแก้มชมพูพร้อมแคปชันโดนใจ เป็นต้นว่า “เพิ่งนึกได้ว่านี่มันแค่วันอังคาร” หรือ “รู้สึกยังไงที่ได้โพสต์”

ทั้งนี้ หนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทม์ส รายงานเมื่อวันอังคาร (24 ก.ย.) ถึงหมูเด้ง ฮิปโปฯ แคระที่กำลังขโมยหัวใจไป (และกัดผู้ดูแล) (A Pygmy Hippo Is Stealing Hearts (and Biting Zookeepers)) ได้กล่าวว่า หมูเด้งทำให้นิยามความงามเปลี่ยนไป โดยรายงานว่าหนึ่งในผู้จัดรายการทีวีโชว์ Today Show ชื่อดังทางสถานี NBC พูดถึงหมูเด้งว่า เป็นผู้เปลี่ยนนิยามความงามไป

โฮดา ค็อตบ์ (Hoda Kotb) หนึ่งในผู้จัดร่วมของรายการที่กำลังจะเกษียณพูดถึงฮิปโปฯ แคระจากไทยว่า เป็นสาวคนใหม่ที่กำลังร้อนแรงมากที่สุดบนโลกใบนี้ พร้อมแสดงความเห็นว่า หมูเด้งทำให้มาตรฐานความงามเปลี่ยนไป จากการที่เธอนั้นมีแก้มอ้วนยุ้ยสีชมพู และสัดส่วนทรงมันฝรั่งที่โดดเด่น

เอเอฟพีรายงานว่า ฮิปโปฯ แคระ ‘หมูเด้ง’ ดีวาของไทยสามารถทำให้สวนสัตว์เปิดเขาเขียวมีรายได้สูงถึง 19.2 ล้านบาทหรือราว 590,000 ดอลลาร์ จากการจำหน่ายบัตรเริ่มตั้งแต่กันยายนมาจนถึงวันพุธ (25 ก.ย.) สูงกว่า 4 เท่าของระยะเวลาเดียวกันปีที่แล้ว ผู้ชมจากทั่วโลกต้องเข้าคิวต่อแถวนานหลายชั่วโมงเพื่อชมความน่ารักของหมูเด้งที่มีกำหนดเวลา 5 นาทีเท่านั้น

และเมื่อสัปดาห์ที่แล้วสวนสัตว์เปิดเขาเขียวได้เปิดตัวเสื้อยืดหมูเด้ง 300 บาทต่อตัวหรือราว 9 ดอลลาร์และปัจจุบันมีเฉพาะที่สวนสัตว์เท่านั้น นอกจากนี้ยังมีการไลฟ์สตรีมสดหมูเด้งให้ชมสำหรับแฟน ๆ ที่ไม่สามารถมาที่สวนสัตว์ได้

โดนัลด์ ทรัมป์ ชนะเลือกตั้ง โกยคะแนนแตะ 270 ผงาดปธน.คนที่ 47

(6 พ.ย. 67) นายโดนัลด์ ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดีสหรัฐคนที่ 45 กำลังจะกลายเป็นประธานาธิบดีสหรัฐคนต่อไปถัดจากนายโจ ไบเดน โดยผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการระบุว่า นายทรัมป์จากรีพับลิกันชนะเลือกตั้งด้วยคะแนน Electoral College 266 เสียง มีชัยเหนือนางกมลา แฮร์ริส คู่แข่งจากพรรคเดโมแครตที่ได้คะแนน 194

แม้ว่าผลการประกาศคะแนนรัฐสวิสสเตตทั้ง 7 รัฐจะยังไม่ครบ แต่ก็มีโอกาสสูงที่ทรัมป์จะคว้าชัย หลังพรรครีพับลิกันยึดครองรัฐที่เป็นสมรภูมิรบอย่างเพนซิลเวเนีย นอร์ทแคโรไลนา และจอร์เจีย และครองตำแหน่งนำในอีก 4 รัฐ ซึ่งทำให้นางแฮร์ริสโอกาสริบหรี่จะตีคะแนนขึ้นนำได้

นายทรัมป์ได้ขึ้นเวทีที่ศูนย์ประชุมเมืองปาล์มบีช รัฐฟลอริด้า ประกาศชัยชนะเหนือพรรคแดโมแครต ซึ่งถือเป็นการกลับมาอย่างน่าทึ่งทางการเมือง 4 ปีหลังจากที่เขาออกจากทำเนียบขาว

ทรัมป์ได้รับเสียงเชียร์จากผู้สนับสนุนในงานเลี้ยงฉลองการเลือกตั้งที่ Palm Beach Convention Center ในฟลอริดา โดยมีครอบครัวและ JD Vance เพื่อนร่วมทีมของเขาขึ้นเวทีร่วมด้วย

ทรัมป์กล่าวที่ Palm Beach County Convention Center ว่า "ผมกลับมาแล้ว ... อเมริกาได้มอบอำนาจที่ไม่เคยมีมาก่อนและทรงพลังให้กับเรา"

เปิดประวัติ ว่าที่ประธานาธิบดี ‘Donald Trump’ ชีวิตส่วนตัว!! ในมุมที่ไม่มีใครเคยรู้

(9 พ.ย. 67) 10 ข้อเท็จจริงที่ใครอาจจะไม่รู้เกี่ยวกับว่าที่ประธานาธิบดี Donald Trump

1. ชื่อเล่นวัยเด็ก : ในวัยเด็ก โดนัลด์ ทรัมป์ มีชื่อเล่นว่า ‘ดอนนี่; แม้ในปัจจุบันเขาจะไม่ค่อยถูกใครเรียกด้วยชื่อนี้แล้วก็ตาม 

2. ดาวบนฮอลลีวูดวอล์คออฟเฟม : บทบาทของเขาในรายการ The Apprentice และ Celebrity Apprentice ทำให้เขาเป็นที่รู้จักและทำให้ภาพลักษณ์ของเขาที่ดูเป็นนักธุรกิจที่เก่งกาจ จนทำให้ทรัมป์ได้รับดาวบนฮอลลีวูดวอล์คออฟเฟมในปี 2007 จากบทบาทในรายการ แต่ดาวของเขามักถูกทำลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่เขาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี นอกจากนั้นแล้วทรัมป์เคยปรากฏตัวในภาพยนตร์และรายการทีวีหลายรายการในฐานะตัวเขาเอง การปรากฏตัวที่มีชื่อเสียงของเขารวมถึง Home Alone 2: Lost in New York, The Fresh Prince of Bel-Air, และ Sex and the City อีกด้วย

3. ทรัมป์และเกียรติยศในวงการมวยปล้ำ : ทรัมป์เคยปรากฏตัวใน WWE (เวิลด์เรสลิงเอนเตอร์เทนเมนต์) และขึ้นสังเวียนใน WrestleMania 23 ในปี 2007 เขา ‘ต่อสู้’ กับวินซ์ แม็กมาฮอน ซีอีโอของ WWE ในศึก ‘Battle of the Billionaires’ ซึ่งตัวแทนของทรัมป์เป็นผู้ชนะ ทำให้เขาโกนหัวแม็กมาฮอน

4. ความชอบในอาหารฟาสต์ฟู้ด : แม้จะมีความมั่งคั่ง แต่ทรัมป์กลับชอบรับประทานอาหารฟาสต์ฟู้ด เช่น แมคโดนัลด์ เขาเคยบอกว่าเขาไว้ใจในอาหารเหล่านี้ เพราะมาตรฐานความสะอาดและความสม่ำเสมอของแบรนด์

5. ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ : ทรัมป์ไม่เคยดื่มแอลกอฮอล์เลยในชีวิต ซึ่งเป็นการให้เกียรติแก่เฟร็ด ทรัมป์ จูเนียร์ พี่ชายที่ต่อสู้กับการติดแอลกอฮอล์ก่อนที่จะเสียชีวิต

6. จบการศึกษาจากวอร์ตัน : ทรัมป์เรียนที่ Wharton School of Finance ที่มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย และจบการศึกษาในสาขาเศรษฐศาสตร์ โดยเขาย้ายไปที่นั่นหลังจากเรียนที่มหาวิทยาลัยฟอร์ดแฮมเป็นเวลา 2 ปี เพราะ Wharton เป็นที่รู้จักในด้านชื่อเสียงที่แข็งแกร่งในหลักสูตรธุรกิจและการเงิน

7. ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีมายาวนานที่สุด : ทรัมป์เคยคิดจะลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีตั้งแต่ทศวรรษ 1980 หลังจากที่ใช้เวลาหลายสิบปีในการคิดสุดท้ายเขาลงสมัครอย่างเป็นทางการในปี 2016 และได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีสหรัฐคนที่ 45 และทรัมป์เคยเปลี่ยนพรรคการเมืองหลายครั้ง เขาเคยเป็นสมาชิกพรรคเดโมแครตในช่วงต้นทศวรรษ 2000 เข้าร่วมพรรครีฟอร์มในปี 2000 แต่ถอนตัวออกไป และสุดท้ายเปลี่ยนมาอยู่กับพรรครีพับลิกันจนได้ลงสมัครและชนะการเลือกตั้งในปี 2016

8. ประธานาธิบดีคนแรกที่ไม่มีประสบการณ์ด้านการทหารหรือการเมือง : ทรัมป์ทำลายสถิติด้วยการเป็นประธานาธิบดีคนแรกที่ไม่เคยมีประสบการณ์ในด้านทหารหรือการเมืองมาก่อน โดยพื้นฐานของเขาคือการเป็นนักธุรกิจและสื่อบันเทิง

9. ถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งสองครั้ง : ทรัมป์เป็นประธานาธิบดีสหรัฐคนแรกที่ถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งสองครั้ง สภาผู้แทนราษฎรถอดถอนเขาครั้งแรกในปี 2019 และอีกครั้งในปี 2021 ทั้งสองครั้ง แต่วุฒิสภายกฟ้องเขา ทำให้เขาสามารถดำรงตำแหน่งได้จนครบวาระ

10. ความฝันในการเป็นเจ้าของทีมฟุตบอล : ทรัมป์เคยพยายามเป็นเจ้าของทีม NFL โดยเขาเคยลงทุนในลีก USFL (ยูไนเต็ดสเตทฟุตบอลลีก) และหวังจะรวมลีกกับ NFL แต่ลีกดังกล่าวล้มเหลวก่อนที่จะเกิดขึ้น

‘นิวยอร์กไทม์ส’ รายงาน!! โดนัลด์ ทรัมป์ เตรียมประกาศถอนตัว จากข้อตกลงปารีส ขยายการขุดเจาะน้ำมัน ส่งออกก๊าซธรรมชาติ

(10 พ.ย. 67) นิวยอร์กไทม์ส รายงานว่า แผนนี้รวมถึงการเพิกถอนการยกเว้นของรัฐแคลิฟอร์เนียสำหรับมาตรฐานมลพิษที่เข้มงวดยิ่งขึ้น และย้ายสำนักงานใหญ่ของสำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อม (EPA) จากวอชิงตัน

แคโรไลน์ ลีวิตต์ โฆษกของทีมงานเปลี่ยนผ่านของทรัมป์ ระบุ

ทั้งนี้ ฝ่ายบริหารของไบเดนได้ระงับการออกใบอนุญาต LNG ใหม่ในเดือนมกราคม เพื่อการตรวจสอบด้านสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจ ซึ่งกำหนดให้สาธารณชนแสดงความคิดเห็นภายในสิ้นปีนี้


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top