Monday, 29 April 2024
เลือกตั้ง66

‘กกต.’ ขีดเส้น 7 วัน กรณีใครไม่ได้ไป ‘เลือกตั้ง66’ รีบแจ้งเหตุผลภายใน 15-21 พ.ค. ก่อนจะเสียสิทธิ 5 ข้อ

(16 พ.ค.66) เป็นเรื่องที่ประชาชนคนไทยต้องรู้และปฎิบัติเพื่อให้เป็นไปตามกฎหมาย สำหรับผู้ที่ไม่ได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ในวันที่ 14 พฤษภาคมที่ผ่านมา รวมถึงไม่ได้ขอใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าวันที่ 7 พฤษภาคม 2566 และไม่ได้แจ้งเหตุผล หรือแจ้งแล้ว แต่เป็นเหตุผลที่ไม่สมควร จะต้องเสียสิทธิ 5 ข้อที่ประชาชนพึงได้รับ ได้แก่
.
- สิทธิในการยื่นคำร้องคัดค้านการเลือกตั้ง ส.ส., 
- สิทธิในการสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. หรือสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น หรือสมัครรับเลือกเป็น ส.ว., 
- สิทธิในการสมัครรับเลือกเป็นกำนันและผู้ใหญ่บ้าน
- ต้องห้ามดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมือง และข้าราชการรัฐสภาฝ่ายการเมือง 
- ต้องห้ามดำรงตำแหน่งรองผู้บริหารท้องถิ่น เลขานุการผู้บริหารท้องถิ่น ผู้ช่วยเลขานุการผู้บริหารท้องถิ่น ประธานที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น ที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น หรือคณะที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่นตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
.
รวมการจำกัดสิทธิทั้ง 5 ข้อ มีกำหนดระยะเวลาถึง 2 ปี นับแต่วันเลือกตั้งครั้งที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง
.
แต่จะยกเว้นให้สำหรับผู้มีเหตุอันสมควรที่ทำให้ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ส.ส.ไม่ได้ ดังนี้
.
- เป็นผู้ที่มีธุรกิจจำเป็นเร่งด่วนต้องเดินทางไปพื้นที่ห่างไกล
- เป็นผู้ป่วยและไม่สามารถเดินทางไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้
- เป็นผู้พิการและผู้สูงอายุที่ไม่สามารถเดินทางไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้
- เป็นผู้เดินทางออกนอกราชอาณาจักร 
- เป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ห่างไกลจากที่เลือกตั้งเกินกว่า 100 กิโลเมตร
- เป็นผู้ประสบเหตุสุดวิสัย เช่น อุทกภัย วาตภัย ฯลฯ
.
สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. เปิดโอกาสสำหรับผู้ที่ไม่ได้ไปใช้สิทธิโดยเข้าข่ายมีเหตุอันสมควรข้างต้น ให้รีบลงทะเบียนแจ้งเหตุภายใน 7 วัน หลังวันเลือกตั้ง ก็คือระหว่างวันที่ 15-21 พฤษภาคม 2566 โดยขอรับแบบ ส.ส. 28 หรือทำหนังสือชี้แจงเหตุที่ทำให้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งไม่ได้ พร้อมระบุหมายเลขบัตรประจำตัวประชาชน และที่อยู่ตามทะเบียนบ้าน
.
จากนั้นให้ยื่นหนังสือต่อนายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่น จะยื่นด้วยตัวเองหรือมอบหมายให้ผู้อื่นก็ได้ และหากไม่สะดวกเดินทางก็ให้ส่งทางไปรษณีย์พร้อมกับลงทะเบียน หรือจะแจ้งผ่านทางอินเทอร์เน็ตก็สามารถทำได้เช่นกัน
.
หากมีข้อสงสัย สามารถยกหูโทรถามได้ที่สายด่วน 1444 หรือเว็ปไซต์ www.ect.go.th หรือเพจเฟซบุ๊ก สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง

'โบว์' อบรมนิ่มๆ ส.ส.ที่อยากได้พิธาเป็นนายกฯ มี 150 คนจาก 500 ซึ่งไม่ถึงครึ่ง ไม่ใช่เสียงส่วนใหญ่

(16 พ.ค.66) โบว์ ณัฏฐา มหัทธนา นักกิจกรรมนักเคลื่อนไหวทางการเมือง โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Bow Nuttaa Mahattana ว่า...

ส.ส.ที่อยากได้พิธาเป็นนายก มี 150 คนจาก 500 .. ซึ่งไม่ถึงครึ่ง

อีก 150 กว่าเสียงที่ไปเติม คือตัวแทนจากพรรคที่อยาก “ร่วมรัฐบาล” ไม่ใช่ตัวแทนของคนที่อยากให้พิธาเป็นนายก เพราะส.ส.เหล่านั้นหาเสียงให้แคนดิเดตคนอื่นหมด ตอนเลือกตั้ง

จะไปเหมาว่านี่คือการแสดงว่าคนไทยส่วนใหญ่อยากให้พิธาเป็นนายก จนต้องบีบให้พรรคที่เขาไม่อยากได้ “พิธา” มาหลับหูหลับตาโหวตให้ .. ไม่ได้

ไม่มีใครต้องไปโหวตสนับสนุน “การร่วมรัฐบาล” หรือความอยากเป็นนายกของใคร ถ้าเขาไม่ได้ต้องการ เหตุผลพื้นฐานที่สุดของการโหวตคือการแสดงความต้องการ เพื่อเอามานับกันแล้วกำหนดทิศทางประเทศ

การบีบให้คนต้องเลือกในสิ่งที่เขาไม่ต้องการ ไม่ใช่ประชาธิปไตยค่ะ อย่าใช้คำว่า “ประชาธิปไตย” ให้มันมั่วไปกว่านี้

เมื่อไม่ประสบความสำเร็จในการแก้ไขกติกาเพี้ยนๆ ก็ต้องหาทางเอาชนะตามกติกาให้ได้ ไม่ใช่ไปสร้างความเพี้ยนใหม่ขึ้นมา

(ตอนเรารณรงค์แก้ ม.272 ตัดอำนาจ ส.ว.โหวตนายกฯ มีคนมาร่วมลงชื่อแปดหมื่นคน ที่เหลือบอกจะทำไปทำไมไร้สาระ เดี๋ยวชนะเลือกตั้งถล่มทลายก็ปิดสวิตช์ ส.ว. ได้เอง ถึงตอนนี้ทำไม่ได้ตามนั้น จะเลือกใช้วิธีไปบีบบังคับคนอื่น)

ถ้าพิธาได้โหวตไม่พอ พรรคต่อไปมีสิทธิลองเสนอแคนดิเดตของตัวเองแล้วจัดสูตรใหม่บ้าง และควรทำด้วย ถ้าไม่ทำก็ประหลาดแล้ว ตกลงคุณหาเสียงมาแทบตาย เพื่อให้พรรคอื่นซึ่งได้เสียงไม่ถึงครึ่งเป็นนายกหรือ?

ลองดูว่าคุณ “เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย” ได้มากกว่าหรือไม่ นั่นคือคุณสมบัติที่นายกฯ ของวันพรุ่งนี้ต้องมี

ถ้าพรรคเพื่อไทยยังไม่ Get a grip ทุกอย่างจะหลุดไปอยู่ในมือของคนที่คุณไม่ต้องการแน่นอน

เก็บตกเลือกตั้ง 66 รวมดาว 'ผู้สมัครตัวจี๊ด'

ผลนับคะแนนเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการออกมาแล้ว แต่ความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งใหญ่จะเกิดขึ้นจริงก็ต่อเมื่อ กกต. ส่วนกลางรับรองผลคะแนน และเคลียร์ประเด็นข้อร้องเรียนต่างๆ ซึ่งทุกอย่างมีขั้นตอน และกระบวนการที่พิจารณาอย่างละเอียด แต่ กกต.ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในกรอบระยะเวลา 60 วัน 

ระหว่างรอความชัดเจน เราลองมองย้อนกลับไปดูบาง "ผู้สมัคร ส.ส." ที่สร้างสีสัน ตั้งแต่วันรับสมัคร ไปจนถึงวิธิการหาเสียง และนโยบายที่ชูเป็นจุดขาย ซึ่งมีทั้งที่น่าจะเข้าป้าย และอาจต้องผิดหวังจากการเลือกตั้งครั้งนี้

เริ่มที่ "ไอซ์" รัชนก ศรีนอก ว่าที่ ส.ส. พรรคก้าวไกล เขต 28 บางบอน ที่ล้มช้าง บ้านใหญ่เจ้าของพื้นที่เดิม อย่าง "วัน  อยู่บำรุง" จากพรรคเพื่อไทย และ "วณิชชา ม่วงศิริ" จากพรรคประชาธิปัตย์ แบบขาดลอยโดยได้รับคะแนนเสียงถึง 47,592 คะแนน

แน่นอนว่ากระแสพรรคก้าวไกลก็ส่วนหนึ่ง แต่ชื่อของ “ไอซ์ รัชนก” ถูกพูดถึงและเป็นที่จดจำมากในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง ด้วยรูปแบบการหาเสียงที่เรียกว่าถึงลูกถึงคน ทั้งการปั่นจักรยาน หิ้วโทรโข่งลุยเดี่ยวเรียกคะแนนเสียงไปตามถนนหนทาง แวะถามสารทุกข์สุกดิบกับผู้คนตามชุมชนต่างๆ และยังมีลูกเล่นหาเสียง ทำพวงมาลัยนโยบายไปแจกผู้ขับขี่ตามสี่แยก นอกจากนี้เธอยังใช้พื้นที่โซเชียลมีเดีย โดยเฉพาะทำคลิปบรรยากาศการหาเสียง ลง tiktok สร้างกระแส และสื่อสารนโยบายอย่างต่อเนื่อง

คนต่อมา ศรัณย์วุฒิ  ศรัณย์เกตุ โจรกลับใจ ที่ไม่ได้โอกาสกลับเข้าสภา 
บรรยากาศวันรับสมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขต หนึ่งในพื้นที่สีสันที่สร้างความฮือฮาได้ไม่น้อย คือที่จังหวัดอุตรดิตถ์ เมื่อ  "ศรัณย์วุฒิ ศรัณย์เกตุ"  ผู้สมัคร ส.ส.เขต 3 พรรครวมไทยสร้างชาติ ปรากฏตัวด้วยการแต่งกายแบบนักรบโบราณ 2 มือถือดาบ นำทีมผู้สมัคร ส.ส.ของพรรค นั่งเกวียนที่มีวัวลากจูง บรรทุกพืชผลทางการเกษตรเข้าสู่พื้นที่รับสมัคร สร้างความสนใจให้ชาวบ้านและสื่อมวลชนที่รอทำข่าวไม่น้อย

แม้ใครจะมองว่าเป็นเพียงสีสันทางการเมือง แต่ถ้าย้อนไปดู ถือว่า "ศรัณย์วุฒิ" เป็น ส.ส.ที่คนอุตรดิตถ์มอบความไว้วางใจมาหลายสมัย ด้วยความเป็นนักการเมืองฝีปากกล้า รวมถึงทรงผม หนวดเครา และจอนยาวที่เป็นเอกลักษณ์ ทำให้เขาได้รับฉายาทั้ง "ส.ส.หนวดงาม"  "นักรบพันธุ์ดุ" และ "ส.ส.เอลวิส" และเป็นหนึ่งใน ส.ส. ที่อภิปรายในสภาสร้างสีสันได้เสมอ 

ในช่วงก่อนเลือกตั้ง ศรัณย์วุฒิ สร้างความฮือฮาด้วยการ "ข้ามค่าย ย้ายขั้ว" จากพรรคฝ่ายค้านเดิม ประกาศตัวเป็น "โจรกลับใจ" เปิดตัวกับพรรครวมไทยสร้างชาติ เดินหน้าสนับสนุน "พลเอกประยุทธ์"  กลับเข้าไปเป็นนายกฯ อีกครั้ง

แต่ในท้ายที่สุด ผลการนับคะแนนอย่างไม่เป็นทางการ ของอุตรดิตถ์ เขต 3 ปรากฏว่าหนนี้ เจ้าพ่อคอนเทนต์อย่างศรัณย์วุฒิสอบตก โดยคะแนนเสียงอันดับ 1 ตกเป็นของ รวี เล็กอุทัย ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทยกวาดไปถึง 48,779 คะแนน ขณะที่ อดีต ส.ส. อย่างศรัณย์วุฒิ  มาเป็นอันดับ 3 ที่ 12,896 คะแนนเท่านั้น เป็นอันปิดฉากหนึ่งในนักการเมืองมากสีสัน สำหรับเวทีการเมืองสมัยนี้ไปโดยปริยาย 

มาถึง "ครูปรีชา" จากคู่พิพาทหวยด้ง 30 ล้าน  สู่ผู้สมัคร ส.ส. ผลักดันนโยบายแก้ปัญหาราคาสลากแพง
อันที่จริง ชื่อของ "ครูปรีชา ใคร่ครวญ" โด่งดังมาตั้งแต่ ปี 2562 จากกรณีเป็นคู่ความในคดีมหากาพย์หวย 30 ล้าน กับ "หมวดจรูญ" อดีตข้าราชการตำรวจ ทำให้ครูปรีชาเป็นที่รู้จักของคนทั้งประเทศ ตั้งแต่นั้นมา

แต่ในช่วงก่อนการเลือกตั้งที่ผ่านมา ชื่อของ "ครูปรีชา" กลับมาถูกพูดถึงอีกครั้ง แต่ในบริบทที่เปลี่ยนไป เพราะครั้งนี้เจ้าตัวประกาศลงสมัคร ส.ส. เขต 1 กาญจนบุรี แต่ด้วยติดปัญหาด้านการจัดการ ทำให้สุดท้าย เจ้าตัวจึงเปลี่ยนมาลงสมัครระบบบัญชีรายชื่อเป็น ลำดับที่ 9 ในนามพรรคประชากรไทย โดยเดินทางไปลงสมัครในช่วงบ่ายของวันสุดท้าย 

สำหรับนโยบายหวยๆ ที่ครูปรีชาเสนอคือ การซื้อหวยอย่างเท่าเทียม อย่างมีความสุข ใบละ 80 บาท พร้อมชูมอตโต้ "ยิ้มอย่างมีความสุข ซื้อหวยอย่างมีความสุข เลือกครูปรีชา"

แต่ล่าสุด ผลการนับคะแนนอย่างไม่เป็นทางการ ปรากฏว่าพรรคประชากรไทยได้คะแนนเสียงในระบบบัญชีรายชื่อ จำนวน 56,655 คะแนน ไม่พอต่อการได้เก้าอี้ ส.ส ความฝันและนโยบายของครูปรีชา จึงไม่ได้ไปต่อในการเลือกตั้งหนนี้  

อีกหนึ่งสีสันการเลือกตั้งหนนี้ คือการก้าวขาเข้ามาสู่การเมืองเต็มตัวของ  "นอท กองสลากพลัส" หรือ พันธ์ธวัช นาควิสุทธิ์ CEO กองสลากพลัสที่ปิดตัวไปก่อนหน้านี้ ก่อนออกมาเปิดตัว "พรรคเปลี่ยน" โดยเจ้าตัวนั่งปาร์ตี้ลิสต์ลำดับที่ 1 ตั้งเป้ากวาด 3 ล้านเสียง พร้อมกับการประกาศ 3 นโยบายหลัก 5 นโยบายรอง แก้ไขปัญหาปากท้องโดยเฉพาะกลุ่มคนหาเช้ากินค่ำผ่านนโยบาย "หวยโอกาส"  ให้สามารถหาเงินได้ปีละ 55,000 ล้านบาทต่อปี นำมาต่อยอดทำนโยบายธนาคารโอกาสและกองทุนโอกาสให้เงินกู้แก่ผู้ที่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ 

แต่แล้วก็เช่นกัน ผลการเลือกตั้งไม่เป็นทางการปรากฏว่า พรรคเปลี่ยนไม่มี ส.ส. สอบผ่านทั้งแบบเขตและบัญชีรายชื่อ ทำให้พรรคเปลี่ยนของ "นอท" ไม่มีพื้นที่ในสภาในการเลือกตั้งหนนี้ แต่อย่างน้อยตัวเขาและพรรคเปลี่ยนก็แต่งแต้มสีสันให้บรรยากาศการเลือกตั้งครั้งนี้มีชีวิตชีวามากขึ้น

คนไทยได้เห็นอะไรใน "เลือกตั้ง 66 " บ้าง

ผ่านไปกับการเลือกตั้ง 66 มีทั้งผู้สมหวัง และผู้ผิดหวัง แต่สิ่งสำคัญคือ ประชาชนและประเทศ ต้องเดินหน้าต่อไปพร้อมกับเหล่าบรรดาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ต้อง “มุ่งมั่น” ในการพัฒนาบริหารประเทศ

เลือกตั้งที่ผ่านมา ถือว่าเป็นการเลือกตั้งที่มากไปด้วยสีสัน รวมทั้งมีภาพแปลกตาอยู่ไม่น้อย The State Times รวบรวมสีสัน และความแปลกใหม่ ลองไปดูว่า มีเรื่องราวไหนที่ “ตรงใจ” กับคุณบ้าง 

‘กกต.’ จัดเลือกตั้งใหม่ หน่วย 10 เขต 1 นครปฐม 21 พ.ค.นี้ หลังเจอฝนถล่มจนหน่วยเลือกตั้งล้ม ชวนผู้มีสิทธิเข้าคูหาอีกครั้ง

(19 พ.ค. 66) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายอิทธิพร บุญประคอง ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ได้ลงนามคำสั่งคณะกรรมการการเลือกตั้งที่ 913/2566 ลงวันที่ 18 พ.ค. 2566 เรื่องให้มีการลงคะแนนเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หน่วยเลือกตั้งที่ 10 เขตเลือกตั้งที่ 1 จังหวัดนครปฐมใหม่ โดยมีสาระสำคัญระบุว่า…

คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้รับรายงานกรณีคณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง ได้ประกาศงดลงคะแนนตามมาตรา 102 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. 2561 ด้วยในวันที่ 14 พ.ค. 66 เวลา 16.45 น. เกิดเหตุฝนตกหนักและลมพัดแรง ทำให้ปะรำที่เลือกตั้งล้ม และในระหว่างนั้นมีผู้มีสิทธิเลือกตั้งบางส่วนมาปรากฏตัวในที่เลือกตั้ง แต่คณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งที่ 10 ได้ประกาศงดการลงคะแนน จึงไม่อาจใช้สิทธิเลือกตั้งได้

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 102 พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. 2561 ประกอบข้อ 5 และข้อ 166 ระเบียบ กกต. ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. 2566 กกต. จึงมีมติให้ยกเลิกการเลือกตั้งของหน่วยเลือกตั้งที่ 10 วันที่ 14 พ.ค. 2566 และกำหนดให้วันอาทิตย์ที่ 21 พ.ค. 66 เป็นวันลงคะแนนใหม่

ขณะเดียวกัน สำนักงาน กกต. ประจำจังหวัดนครปฐม ได้ออกประกาศเชิญชวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่อยู่บ้านเลขที่ 1 ถึงบ้านเลขที่ 88/100 หมู่ 8 ต.บางแขม อ.เมือง จ.นครปฐม จำนวน 943 คน ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้ง ส.ส. ในวันอาทิตย์ที่ 21 พ.ค.66 นี้ ตั้งแต่เวลา 08.00 – 17.00 น. ณ ปะรำบริเวณองค์การบริหารส่วนตำบลบางแขม อ.เมือง จ.นครปฐม

41 ว่าที่ ส.ส พรรคพลังประชารัฐ พร้อม! ก้าวข้ามความขัดแย้ง

เปิดรายชื่อ ว่าที่ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ ที่ได้เข้าสภาฯ ทั้ง 41 คน ส.ส.แบบแบ่งเขต คะแนนนำ 39 ที่นั่ง และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 2 ที่นั่ง จะมีใครบ้าง ไปชมกันเลย!!
 

เมื่อการเมืองไทย สร้างนักการเมืองที่มุ่งหาแต่ผลประโยชน์ และประชาชนที่ยอมซื้อสิทธิ์ ขายเสียง เพื่อแลกกับเงินเล็กๆ น้อยๆ

อนิจจา… ประเทศไทย : อาชีพใหม่กับการเลือกตั้ง

มองในมุมลบ กับการเมือง นักการเมืองในประเทศไทย ปัจจุบันนี้ไม่น่าจะดีไปกว่าเดิมมาก นักการเมืองก็ยังหวังแต่ได้ใช้ตำแหน่งหน้าที่การงานอำนาจ แสวงหาประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้อง ประชาชนเองก็หวังแต่เงินเล็ก ๆ น้อย ๆ จากนักการเมืองที่มาหว่านซื้อเสียง รับจ้างฟังปราศรัย

การเลือกตั้งรอบที่ผ่านมา น่าสะพรึงกลัว เดี๋ยวนี้ มีทั้ง

- มีหัวคะแนนหมู่บ้านฯละ 3-4 คน /ผู้สมัครที่ 1 พรรคการเมือง
- มีคนรับจ้างฟังปราศรัย ค่าหัวครั้งละ 300 บาท มีนายหน้าคอยจัดการส่งสัญญาณ ไปยังเครือข่าย ทุกพรรคที่มีการปราศรัย และต้องการระดมคนฟัง จะมีสายรับงานระดมคนให้ พร้อมรับค่าจ้าง ค่าจัดการ
- ซื้อสิทธิ์ นักการเมืองหว่านเงินลงมาจำนวนมหาศาล ซื้อสิทธิ์จากประชาชน หัวละ 300 ไม่ต้องพูดถึง รอบแรก 500 รอบสอง 500 รวมเป็นหัวละ 1000 บาท ต้องซื้อ 4-50,000 หัว หวังผล 50% พูดถึงตัวเลขเงินที่ใช้กันแล้ว ‘ขนลุกขนพอก’
- ขายเสียง ประชาชนผู้เป็นเจ้าของสิทธิ์ พร้อมจะขายเสียงแลกกันเงินเล็กน้อย เพื่อประทังชีวิต รับจ้างปราศรัยครั้งละ 300 ก็เท่ากับหมู 2 กิโลกรัม
- จ่ายเงินกันมโหฬาร นักการเมืองไม่รู้เอาเงินมาจากไหน จ่ายกันจริงจ่ายกันจัง จ่ายกันแบบผิดกฎหมาย แต่ กกต.ไม่มีปัญญาจับมือใครดม หรือเอาผิดได้ตามกฎหมาย ทั้ง ๆ ที่การใช้เงินก็โฉงเฉง
- ถึงเวลานักการเมืองที่ชนะการเลือกตั้ง ก็ใช้ตำแหน่ง-อำนาจ ที่ได้มาจากประชาชนด้วยการซื้อ ถอนทุนคืน หรือเอื้อประโยชน์ต่อพวกพ้อง
- ถอนทุนคืน การถอนทุนคืนก็ต้องมีกำไรด้วย เพื่อรองรับไว้เลี้ยงทีมงาน และรองรับการเลือกตั้งครั้งต่อไปด้วยกับช่วงเวลา 4 ปีระหว่างอยู่ในตำแหน่ง (ถ้าไม่ยุบสภาเสียก่อน)

ลองคิดดูประเทศมันจะดีขึ้นอย่างไร นักการเมืองไม่มีเวลาคิดเรื่องชาติ-บ้านเมือง คิดแต่หาช่องทางถอนทุนคืน คนที่น่าสงสารคือคนสอบตก จ่ายเงินไปพอๆกับคนที่ชนะการเลือกตั้ง แต่แพ้ ไม่มีตำแหน่งหน้าที่-อำนาจ ให้ไปใช้ถอนทุน เว้นแต่เป็นพรรครัฐบาล อาจจะมีตำแหน่งทางบริหารอื่น ๆ ตอบแทนคะแนนปาตี้ลิสต์ ก็พอจะมีหน้ามีตา มีตำแหน่ง-อำนาจให้ก้าวเดินไปในสังคมได้บ้าง และอาจจะพอมีช่องทางใช้อำนาจแสวงหาได้บ้าง

บอกตามตรงว่า ผมเองรักและศรัทธาการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันเป็นระบอบตัวแทน ประชาชนเลือกตัวแทนไปทำหน้าที่แทน เรียกว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แต่ไม่ศรัทธาต่อการได้มาซึ่ง ส.ส. ในสถานการณ์ปัจจุบัน มันไร้เกียรติ์ ไร้ศักดิ์ศรี การประพฤติปฏิบัติของ ส.ส. ก็ไม่น่าศรัทธา ผมจึงไม่ศรัทธาต่อการเลือกตั้งในปัจจุบัน กับการกำกับการเลือกตั้งที่ไม่เป็นไปตามคำขวัญ ‘สุจริต เที่ยงธรรม’

มันเป็นการเลือกตั้งที่สุจริตจริงหรือ ชาวบ้านร้านตลาดรู้กันหมดว่า ใคร พรรคไหน ซื้อเสียงหัวละเท่าไหร่ มีการปราศรัยรับปากว่าจะให้ มีการจัดเลี้ยง มีกาาข่มขู่หัวคะแนนฝ่ายคู่แข่ง และสุดท้ายคือ ซื้อหัวคะแนนคู่แข่ง

มันเที่ยงธรรมจริงหรือ อยากจะถามไปยังคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และทุกกลไกของ กกต. เช่น ผู้ตรวจการเลือกตั้งว่า พอใจต่อผลการจัดการเลือกตั้งแล้วหรือ

กลไกลของ กกต. ทุกองคาพยพ พอจะพูดได้เต็มปากเต็มคำอย่างไม่อายใครได้จริงหรือ ว่า เป็นการเลือกตั้งที่ ‘สุจริต เที่ยงธรรม’ ในฐานะองค์กรหลักของประเทศ

ประเมินทิศทางการเมืองไทย ‘พิธา’ อาจไปไม่ถึงดวงดาว? และการนับถอยหลังสู่คราวอวสานของรัฐบาลในโลกเสมือนจริง

เลียบการเมืองส่งท้ายสัปดาห์… ‘เล็ก เลียบด่วน’ ขออนุญาตจุ๊บจิ๊บซุบซิบข่าวการบ้านการเมืองแบบห้วนๆ สั้นๆ อ่าน-ฟังกันพอเพลินๆ แต่รับประกันไม่ใช่ข่าวโคมลอย…

ประเดิมที่เรื่องร้อนสุดในสัปดาห์นี้และอีก 2-3 สัปดาห์หน้า คือ ‘หุ้นไอทีวี’ ของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แม้จะงัดไม้เด็ดโดยการโอนหุ้นให้ทายาท แต่ก็ไม่ชัดเจนว่าเป็นการ ‘โอน’ หรือ ‘สละมรดก’ กันแน่… ถ้าแค่โอนก็เป็นการขว้างงูไม่พ้นคอ…

เอาเข้าจริงๆ เชื่อเถอะว่าไพ่ใบสำคัญที่มือกฎหมายฝ่ายพิธาจะงัดออกมาต่อสู้ คือ ไอทีวียังเป็นสื่ออยู่หรือไม่ และการถือหุ้นแค่ 0.0035% มีนัยยะในเชิงการสั่งการครอบงำได้จริงหรือ?

มีสุภาษิตทางการเมืองที่บอกว่า ถ้าอยากรู้จักตัวเองให้หมดจดล่อนจ้อนก็จงลงเล่นการเมือง… ไม่เชื่อก็ดูกรณีพิธาที่กำลังถูกขุดอดีตในแทบทุกมิติแบบว่า “ความวัวไม่ทันหายความควายเข้ามาแทรก” มีมากหลายเรื่องที่ถาโถมเข้ามา ทั้งเรื่องธุรกิจและชีวิตส่วนตัว สำหรับ ‘เล็ก เลียบด่วน’ แม้จะยึดมั่นในพุทธภาษิตที่ว่า “คนโกหกไม่ทำชั่วไม่มี” ก็ตาม แต่ส่วนลึกภาวนาให้พิธาฝ่าด่านต่างๆ ไปให้ถึงดวงดาว… เพียงแต่ให้ตระหนักสำนึกมั่นว่า “ไม่มีใครสมบูรณ์” ต่อไปนี้ ขอให้พูดแต่เรื่องจริง อย่าปรุงแต่งตนเองให้ดูดีดูหล่อจนเสียผู้เสียคน…

แล้วในที่สุด กกต.ก็ประกาศออกมาแล้ว 47 หน่วยเลือกตั้ง ใน 16 จังหวัดที่จะต้องนับคะแนนใหม่ เหตุเพราะ ‘คะแนนเขย่ง’ อันหมายถึง จำนวนบัตรกับคนหย่อนบัตรเท่ากัน แต่คะแนนดันไปมากกว่าหรือน้อยกว่า… ซึ่งจำนวน 47 หน่วยจากทั้งหมด 95,000 กว่าหน่วยคงไม่เป็นเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงผลการเลือกตั้ง เพราะแต่ละหน่วยก็มีแค่ 500-600 คะแนนเท่านั้น

อีกทั้งเมื่อส่องไปที่สนาม กทม.แล้ว ปรากฏว่าไม่มีการนับคะแนนใหม่ที่เขต 20 ลาดกระบัง ที่พรรคเพื่อไทยหลุดรอดมาได้ด้วยคะแนนที่เหนือกว่าคู่แข่งเพียง 4 คะแนน แต่อย่างใด ดังนั้น ความระทึกใจเลยแทบไม่มี และคนที่โล่งใจที่สุด นาทีนี้ก็น่าจะเป็น ดร. ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ หรือ ‘ดร.อิ่ม’ ว่าที่ ส.ส.ลาดกระบัง โฆษกพรรคเพื่อไทย นั่นแล…

ส่งท้ายหมายเหตุให้คอการเมืองไปลุ้นกันต่อ นาทีนี้ต้องสรุปว่าไทม์ไลน์โหวตเลือกนายกฯ ก็จะไปตกเอาต้นเดือน ส.ค.

ประเมินสถานการณ์ทิศทางการเมืองในความเชื่อของ ‘เล็ก เลียบด่วน’ จะมี 3 แพร่ง คือ

1.) พิธาไปไม่ถึงดวงดาว ด้วยเหตุอาจจะถูกสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ผ่านด่านโหวตของรัฐสภา

2.) ส้มหล่นใส่เท้าพรรคเพื่อไทย ได้เป็นนายกฯ ยอมผสมข้ามขั้วภายใต้ความอ่อนน้อมถ่อมตัว

3.) ลุงป้อมหรือลุงตู่ผนึกแน่น 188 เสียง จัดตั้งรัฐบาลและเป็นนายกฯ โดยได้พรรคเพื่อไทยเป็นพรรคร่วม หรือหากเพื่อไทยไม่ยอมร่วม ก็จะมีบ้านใหญ่… ระดับอนาคอนดาจากพรรคเพื่อไทยข้ามฝั่งมาร่วมรัฐบาล ดังที่ ‘เล็ก เลียบด่วน’ เคยวิสัชนามาแล้ว

สรุปว่า คณะเปลี่ยนผ่านรัฐบาลก้าวไกลที่ลงนามเอ็มโอยู 23 ข้อ 5 แนวปฏิบัติ พร้อมตั้งคณะทำงานขึ้นมาถึง 14 ชุด ในขณะนี้ จะว่าไปก็เป็นรัฐบาลในโลกเสมือนจริง คำถามสำคัญมีอยู่ว่า ณ วันที่สิ้นสุดรัฐบาลเสมือนจริง อะไรจะเกิดขึ้น?

คิดขึ้นมาแล้วก็ร้อน ๆ หนาว ๆ

ต้องขอลาไปคิดต่อ… สวัสดีครับ

'LINE TODAY’ เผย ‘เลือกตั้ง 66’ ทำคนไทยสนใจการเมืองเพิ่มขึ้น หลังยอดคอนเทนต์พุ่ง ตอกย้ำว่า ‘การเมืองเป็นเรื่องของทุกคน’

เมื่อไม่นานนี้ LINE TODAY ได้ออกมาเผย สถิติคนไทย ว่ามีแนวโน้มสนใจเรื่องการเมืองเพิ่มขึ้น และพร้อมเดินหน้าเสิร์ฟคอนเทนต์เพื่อทุกความสนใจของคนไทย ล่าสุดกับการเกาะติดการ ‘เลือกตั้ง 66’ ได้จัดเต็มเสิร์ฟคอนเทนต์ที่เกี่ยวข้องจากพาร์ทเนอร์ผู้ผลิตชั้นนำตั้งแต่ปลายเดือนเมษายนมาจนถึงวันเลือกตั้ง หากย้อนดูสถิติ พบการเติบโตอย่างน่าสนใจจากพลังแพลตฟอร์มที่ดันให้พาร์ทเนอร์ผู้ผลิตคอนเทนต์ที่ร่วมในโปรเจกต์เติบโตถ้วนหน้า ย้ำพร้อมเดินหน้าตอบโจทย์เนื้อหาความสนใจคนไทยอย่างต่อเนื่อง

เจาะ 4 ความสำเร็จ เรตติ้งคอนเทนต์เลือกตั้งและการเมืองบน LINE TODAY ด้วยแนวคิด ‘รู้สึก รู้ครบ รู้รอบ’ ที่มุ่งเสริมประสบการณ์คอนเทนต์รอบด้านในเหตุการณ์ระดับประเทศอย่างการเลือกตั้งที่ผ่านมา ตั้งแต่ ‘ติดตามไลฟ์และรายงานผล - เกาะติดข่าวสาร - ทดสอบความรู้ - นับถอยหลัง’ พบการเติบโตรอบด้าน ทั้งในแง่ความนิยมจากคนอ่านทุกเพศ ทุกวัย นำไปสู่การเติบโตให้แก่พร์ทเนอร์ผู้ผลิตคอนเทนต์ชั้นนำที่ร่วมโปรเจกต์ นำโดย ไทยรัฐออนไลน์, มติชน, The
MATTER, THE STANDARD, Thai PBS, TODAY และอีกมากมาย

1.) คนแห่ดูไลฟ์ดุเดือด ดันยอดไลฟ์พุ่งสูงถึง 57% ในช่วงใกล้เลือกตั้งที่ผ่านมานั้นได้มีคอนเทนต์ไลฟ์การดีเบตจากพาร์ทเนอร์ที่ระดมแคนดิเดตจากพรรคต่างๆ มาร่วมอภิปรายนโยบายในรูปแบบหลากหลายและเข้มข้น สร้างกระแสในวงกว้าง เรียกผู้ชมดู LIVE แบบสดๆ ผ่าน LINE TO DAY อย่างล้นหลาม ดันยอดวิวให้แก่พาร์ทเนอร์เฉลี่ยถึง 57% สูงขึ้นกว่า 27 เท่า จากช่วงก่อนเลือกตั้ง ขณะที่ยอดเพจวิวจากคอนเทนต์ประเภทบทความข่าวสาร เรื่องการเลือกตั้งและการเมืองจากพาร์ทเนอร์ต่างๆ บน LINE TODAY เพิ่มสูงขึ้นถึง 67% โดยเฉพาะในช่วง 13 - 14 พฤษภาคม ซึ่งเป็นช่วงวันเลือกตั้ง ก็พายอดวิวแตะนิวไฮพุ่งสูงเกิน 100 ล้าน

2.) ควิซมาแรง วัดความรู้ความเข้าใจ ในช่วงที่ผ่านมา LINE TODAY มีแบบทดสอบคำถาม หรือ ควิซทดสอบความรู้ก่อนการเลือกตั้งมากมาย ทั้งสร้างสรรค์ขึ้นโดย LINE TODAY เอง และแบบร่วมกันสร้างสรรค์กับพาร์ทเนอร์ ได้แก่ รู้จัก ‘แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี’ ในศึกเลือกตั้ง 2566, คุณรู้ไหมว่าเขาเลือก นายกฯ กันอย่างไร? และทดสอบความพร้อมก่อนเข้าคูหา : เลือกตั้ง 2566 ที่สามารถชวนคนไทยทั่วประเทศมาร่วมทำควิซทดสอบได้ถึง 150,000 คน

3.) คนรุ่นใหม่สนใจการเมืองมากกว่าเคยในแง่ของประชากรผู้ใช้ LINE TODAY พบว่าคนรุ่นใหม่มีความสนใจคอนเทนต์เลือกตั้งและการเมืองพุ่งสูงขึ้น โดยจำนวนกลุ่มผู้ใช้ ที่อายุต่ำกว่า 20 ปี เพิ่มขึ้น 63% และบริโภคคอนเทนต์ประเภทการเมืองมากขึ้นเฉลี่ย 67% เป็นนัยยะของการที่คนอายน้อย รวมถึงผู้มีสิทธิเลือกตั้งครั้งแรก (first voter) ให้ความสำคัญในเรื่องการเมืองจริงจังมากขึ้น และตอกย้ำว่าการเมืองเป็นเรื่องสำหรับทุกวัย ตามมาด้วยกลุ่มผู้ใช้อาย 30 - 40 ปี เพิ่มขึ้นถึง 61% บริโภคคอนเทนต์การเมืองมากขึ้นถึงวันละ 57% ต่อวัน

4.) เมื่อการเมือง ไม่ได้เป็นแค่กระแสอีกต่อไป แม้จบการเลือกตั้ง ความสนในใจคอนเทนต์เลือกตั้งและการเมืองยังคงสูงอย่างต่อเนื่อง โดยยอดเพจวิวคอนเทนต์เหล่านี้ยังสูงถึง 4 เท่า เมื่อเทียบกับช่วงก่อนเลือกตั้ง เป็นจุดที่ชี้ให้เห็นว่าการเมือง ไม่ได้เป็นเพียงแค่กระแสชั่วคราว แต่ได้กลายเป็นวาระสำคัญที่คนทั้งประเทศให้ความสนใจอย่างจริงจัง ซึ่งแม้จะผ่านช่วงเลือกตั้งไปแล้ว LINE TODAY ก็ยังคงจัดเต็มคอนเทนต์ด้านการเลือกตั้งและ การเมืองที่สอดรับไปกับสถานการณ์ปัจจุบันในหลากหลายแง่มุมจากพาร์ทเนอร์ผู้ผลิตคอนเทนต์ชั้น นำให้คนไทยได้ติดตามอย่างต่อเนื่อง


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top