Sunday, 19 May 2024
สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติและนายกสมาคมแม่บ้านตำรวจนำข้าราชการตำรวจร่วมฟังธรรมในโครงการ “ธรรมนำใจ” เพื่อตำรวจไทยมีคุณธรรม ฟังธรรมตามกาล คือมงคลอันประเสริฐ

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย พลตำรวจเอก ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ มีความห่วงใยข้าราชการตำรวจทั่วประเทศในทุกมิติ ทั้งการทำงาน สุขภาพกาย และสุขภาพใจ ซึ่งในการปฏิบัติหน้าที่อาจทำให้ข้าราชการตำรวจและครอบครัวเกิดความเครียดและวิตกกังวล ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และคุณสุมนา กิตติประภัสร์ นายกสมาคมแม่บ้านตำรวจ จึงได้จัดทำโครงการ “ธรรมนำใจ” ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 เพื่อให้ข้าราชการตำรวจได้น้อมนำคุณธรรม มาปรับใช้ในชีวิตประจำวัน

วันนี้ (29 มี.ค.2566) เวลา 09.30-11.00 น. พลตำรวจเอก ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พร้อมด้วย คุณสุมนา กิตติประภัสร์ นายกสมาคมแม่บ้านตำรวจ ได้เป็นประธานในโครงการ “ธรรมนำใจ” ครั้งที่ 1 ซึ่งได้กราบอาราธนานิมนต์ และรับเมตตาจากพระเดชพระคุณ “หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม” ประธานสงฆ์ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม อ.วังน้ำเขียว จว.นครราชสีมา มาแสดงพระธรรมเทศนา เรื่อง “ครองตน ครองคน ครองงาน บริหารตามหลักธรรมาธิปไตย” ณ ห้องประชุมแจ้งยอดสุข ชั้น 2 อาคาร ศูนย์ฝึกอบรมพัฒนาบุคลากร และสวัสดิการ  สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ถ.พระราม 1 เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร โดยมี พลตำรวจโท กรไชย คล้ายคลึง ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ , พลตำรวจโท นิธิธร จินตกานนท์ ผู้บัญชาการประจำสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ,พลตำรวจโท ยิ่งยศ เทพจำนงค์ ผู้บัญชาการสำนักงานกำลังพล , พลตำรวจโท นัยวัฒน์ ผะเดิมชิต ผู้บัญชาการสำนักงานยุทธศาสตร์ตำรวจ , พลตำรวจโท อนุชา รมยะนันทน์ ผู้บัญชาการสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ , พลตำรวจโท สุคุณ พรหมายน ผู้บัญชาการตำรวจท่องเที่ยว , คุณนิภาพรรณ สุขวิมล อุปนายกสมาคมแม่บ้านตำรวจ , พลตำรวจตรีหญิง วิรญา พรหมายน ,คุณรงรอง ภูริเดช , คุณชนาพร ไกรทอง กรรมการบริหารสมาคมฯ , คณะแม่บ้านฯ พร้อมข้าราชการตำรวจ เข้าร่วมพิธี

ทั้งนี้ โครงการ “ธรรมนำใจ” ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 กำหนดให้มีการฟังบรรยายธรรม เดือนละหนึ่งครั้ง ระหว่างเดือนมีนาคมถึงกันยายน 2566 และให้ข้าราชการตำรวจเข้าร่วมฟังบรรยายจำนวนคราวละ 350 นาย ณ ห้องประชุมแจ้งยอดสุข ชั้น 2 อาคารศูนย์ฝึกอบรมพัฒนาบุคลากรและสวัสดิการ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งวันนี้เป็นการจัดกิจกรรมครั้งแรก

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ร่วมกับ กรมสรรพากร เตือนภัยออนไลน์

เนื่องจากในรอบสัปดาห์ มีข่าวการแอบอ้างเป็นกรมสรรพากรหลอกลวงประชาชน และมีคดีออนไลน์ ที่เกิดขึ้นมาก ได้แก่ การซื้อสินค้าแล้วไม่ได้สินค้า สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย พล.ต.อ.สมพงษ์ ชิงดวง  ที่ปรึกษาพิเศษ ตร./หัวหน้าคณะทำงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันต้านภัยอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พร้อมด้วยคณะทำงาน เป็นห่วงพี่น้องประชาชน ที่อาจจะตกเป็นเหยื่ออีก จึงได้ร่วมกับกรมสรรพากร โดย นาย วินิจ วิเศษสุวรรณภูมิ รองอธิบดีกรมสรรพากร แถลงข่าวเตือนภัย เมื่อวันที่ ๑ พ.ค.๒๕๖๖ เวลา ๑๔.๐๐ น. ณ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีรายละเอียดดังนี้

 
ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา (23-29 เม.ย.2566)  มีสถิติการรับแจ้งความคดีออนไลน์มากที่สุดยังเป็นคดีเดิมๆ  5 อันดับ ได้แก่ อันดับ 1. คดีหลอกลวงซื้อขายสินค้าหรือบริการ 2. คดีหลอกลวงให้โอนเงินเพื่อทำงานหารายได้พิเศษ 3. คดีหลอกลวงให้กู้เงิน 4. คดีข่มขู่ทางทางโทรศัพท์ให้เกิดความกลัวแล้วหลอกให้โอนเงิน (Call Center) และ 5. คดีหลอกลวงให้ลงทุนผ่านระบบคอมพิวเตอร์

    
ภัยออนไลน์ที่น่าสนใจและเกิดขึ้นมากในรอบสัปดาห์ มีจำนวน 2 เรื่อง ดังนี้ 
1. “สรรหาวิธีแอบอ้างสรรพากร  หลอกเอาเงิน”  
1.1  คดีนี้รูปแบบแรก   แก๊งคอลเซ็นเตอร์โทรหาผู้เสียหายแอบอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่กรมสรรพากร  
และกล่าวหาผู้เสียหายว่ามีการกระทำผิด เช่น ติดค้างค่าภาษีจากการก่อตั้งบริษัท หรือถูกแอบอ้างเอาข้อมูลไปใช้เปิดบริษัท หรือมีคดีฟอกเงิน หรือเลี่ยงภาษี  แล้วให้ผู้เสียหายเพิ่มเพื่อน LINE สถานีตำรวจที่ไกลจากบ้านผู้เสียหาย(LINE ปลอมของคนร้าย) แล้วส่งเอกสารปลอมข่มขู่ให้เชื่อ และหลอกให้โอนเงินอ้างว่าเป็นการตรวจสอบข้อมูล  จากนั้นให้เพิ่มเพื่อน LINE กับ ปปง. (LINE ปลอมของคนร้าย) แล้วหลอกให้โอนเงินเพิ่มอีก 
1.2 รูปแบบที่ 2 แก๊งคอลเซ็นเตอร์โทรหาผู้เสียหาย  แอบอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่ของกรมสรรพากร  
สามารถช่วยยกเลิกหรือสมัครโครงการต่างๆ ของ รัฐบาล เช่น ธงฟ้า คนละครึ่ง ถุงเงิน บัตรประชารัฐ หรือลดหย่อนภาษี หรือช่วยดำเนินการไม่ให้เสียภาษีย้อนหลัง แล้วให้ผู้เสียหายเข้าเว็บปลอมเพื่อกรอกและเปิดเผยข้อมูลส่วนตัว จากนั้นให้ดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นเพื่อเข้าควบคุมเครื่องโทรศัพท์ แล้วโอนเงินของผู้เสียหายออกไป

จุดสังเกต  
1)  ชื่อเว็บไซต์กรมสรรพากรปลอม  เช่น  https://www.rd-go-th.xyz, https://www.rd-go- 
th.co
, https://www.rd-go-th.top และ https://www.rd-go-th.org เป็นต้น ซึ่งไม่ใช่เว็บไซต์ของกรมสรรพากร ซึ่งมีจุดสังเกตหลายจุด  

2) หนังสือราชการที่ใช้ข่มขู่  ไม่เป็นไปตามแบบฟอร์มและภาษาของทางราชการ  

3) บัตรประจำตัวเจ้าหน้าที่ของรัฐ  แบบอักษรที่ใช้ ชื่อ ยศ ตำแหน่ง  ไม่ถูกต้อง  

4) กรมสรรพากร สถานีตำรวจ และ ปปง. ไม่มีช่องทางติดต่อบัญชี LINE ส่วนตัวที่สามารถส่ง 
สติ๊กเกอร์ โทร วีดีโอคอล หรือดู LINE VOOM ได้ 
     

วิธีป้องกัน  
1) ศึกษาช่องทางการติดต่อกรมสรรพากร ซึ่งมี 2 ช่องทาง คือ สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขาและ 
ทางออนไลน์ ผ่านระบบ e-Filing ของกรมสรรพากร   
2) ตรวจสอบชื่อเว็บไซต์ที่ถูกต้องของกรมสรรพากร คือ https://www.rd.go.th ก่อนกระทำการใดๆ  
3) สอบถามข้อมูลได้ที่สำนักงานสรรพากรทุกแห่งทั่วประเทศ หรือ ศูนย์สารนิเทศสรรพากร (RD Intelligence Center) โทร. ๑๑๖๑ 
4) สำหรับการดาวน์โหลดเว็บไซต์ของทางราชการหรือแอพพลิเคชั่นต่างๆ  ควรดาวน์โหลดจาก Appstore และ Play Store กรณีมีความจำเป็นต้องกดลิงก์ดาวน์โหลด  ควรไปค้นหาใน Appstore และ Play Store เพื่อเป็นการกรองอีกชั้นหนึ่ง   
 
2. “ซื้อสินค้ามือสอง แต่ได้สินค้ามือเปล่า”คดีนี้มิจฉาชีพทำการสร้างเพจ หรือ โพสตามเพจต่างๆ เพื่อซื้อขายสินค้ามือสอง (โทรศัพท์,ไอแพด,ไอพอด ฯลฯ) หรือสินค้าทั่วไป   โดยใช้รูปโปรไฟล์เป็นผู้หญิงหน้าตาดีหรือสร้างเพจขึ้นมาโดยใช้ชื่ออื่น จนมีผู้ติดตามจำนวนมาก รวมถึงมีหน้าม้ากดเพิ่มเครดิต จนมีความน่าเชื่อถือ หลอกขายสินค้ามือสองหรือสินค้าทั่วไป โดยให้ผู้เสียหายจ่ายเงินมัดจำ หรือ จ่ายเงินก่อน เมื่อผู้เสียหายโอนเงินให้แล้ว จะไม่ส่งสินค้าให้ แล้วบล็อกผู้เสียหายไม่ให้ติดต่อได้  

ซึ่งสถิติการรับแจ้งความคดีออนไลน์มากที่สุด 5 อันดับ ได้แก่  อันดับ 1)  โทรศัพท์/Ipad โดยโทรศัพท์ส่วนใหญ่เป็น Iphone    โดยหลอกผ่านเพจ Facebook 2) ผลไม้หรือของกิน เช่น อาหารคลีน นมกล่อง    โดยหลอกผ่านเพจ Facebook 3) เสื้อผ้า ของแบรนด์เนม  โดยหลอกผ่านเพจ Facebook/IG 4) เกมส์ (จ้างอัพเลเวล หรือซื้อเกมส์)   โดยหลอกผ่านเพจ Facebook/IG และ 5) บัตรงาน บัตรคอนเสิร์ต  โดยหลอกผ่าน Twitter/IG  
     

ความเสียหายจากการหลอกขายสินค้าและบริการ ตั้งแต่ 1 มี.ค.65 ถึง 29 เม.ย.66 จำนวน 89,577 เคส   ความเสียหาย 1,308,527,198 บาท สำหรับเพจปลอมที่หลอกขายสินค้า ได้แก่ Smart Shop, พิมรี่พาย แม่ค้าออนไลน์,แซลมอน สายพันธุ์นอร์เวย์เจียน, Wholesale sashimi ส่งทั่วประเทศไทย และทุเรียนเขยจันทร์จากสวนคุณชาคริต ปลีก – ส่ง เป็นต้น  

ผบ.ตร. พร้อมภาคีเครือข่าย มอบรางวัล พลเมืองดีส่งคลิปฝ่าฝืนกฎหมาย ตาม “โครงการอาสาตาจราจร”

วันนี้ (3 พ.ค.66) เวลา 10.00 น.ณ ห้องสารสิน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ  พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร.  พล.ต.ท.ประจวบ  วงศ์สุข ผู้ช่วย ผบ.ตร. พล.ต.ท.วีระ จิรวีระ รอง จตช.  พร้อมด้วย  นพ.แท้จริง ศิริพานิช เลขาธิการมูลนิธิเมาไม่ขับ คุณพิศเพลิน วิริยะพันธุ์ ผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายสื่อสารองค์กร บริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด (มหาชน) คุณนิตยา ลีธีระกุล ผู้บริหารสถานีวิทยุพิทักษ์สันติราษฎร์ สวพ.91 และ คุณอัจฉรา  บัวสมบูรณ์ ผู้บริหารสถานีวิทยุ จส.100 ร่วมแถลงผลการมอบรางวัล และเกียรติบัตร โครงการอาสาตาจราจร โดยมอบรางวัลให้กับประชาชนเจ้าของคลิปกล้องหน้ารถที่บันทึกอุบัติเหตุทางถนนหรือการกระทำผิดกฎจราจรที่สำคัญ ประจำเดือน มี.ค. 2566 และ แคมเปญพิเศษ 7วัน 7คลิป 7หมื่น ช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2566 รวมรางวัลทั้งสิ้น 27 รางวัล เงินรางวัลสูงสุด 20,000 บาท รวมเงินรางวัลที่จะมอบในวันนี้ เป็นเงินจำนวนทั้งสิ้น 170,000 บาท โดยบริษัท วิริยะประกันภัย และ กองทุนเลขสวย (กองทุนเพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน) กรมการขนส่งทางบก เป็นผู้สนับสนุนเงินรางวัล 
 
ผบ.ตร.กล่าวว่า การมีส่วนร่วมของภาคประชาชนกับส่วนราชการเป็นหัวใจของการทำงานเพื่อสร้างความยั่งยืนในการแก้ไขปัญหาสังคม รวมทั้งปัญหาการจราจรด้วย ประชาชนสามารถช่วยกันสร้างความสะดวก และปลอดภัยทางถนน โดยร่วมกันเป็นหูเป็นตา สอดส่องพฤติกรรมการใช้รถใช้ถนนที่ฝ่าฝืนกฎจราจร ก่อให้เกิดปัญหาสำหรับผู้ร่วมทางทั้งด้านอุบัติเหตุและความสะดวกใน เมื่อสังคมเกิดการรับรู้ว่า บนถนนอาจมีกล้องหน้ารถ หรือผู้ร่วมทางที่อาจใช้กล้องโทรศัพท์มือถือบันทึกการกระทำที่ฝ่าฝืนกฎจราจร จนถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจติดตาม  มาดำเนินคดี  จะช่วยยับยั้งปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเสี่ยงบนท้องถนน

โดยคลิปต่างๆ จะเป็นพยานหลักฐานให้เจ้าหน้าที่ตำรวจติดตามผู้กระทำผิดมาดำเนินคดี ตลอดจนเป็นพยานหลักฐานในชั้นศาลเพื่อพิจารณาลงโทษผู้ทำผิด โดยประชาชนผู้ที่พบเห็นการทำผิดกฎจราจร หรืออุบัติเหตุ สามารถส่งคลิปมาในช่องทางที่กำหนด ได้แก่ เพจตำรวจทางหลวง  เพจกองบังคับการตำรวจจราจร  รวมถึงเพจเครือข่ายที่ร่วมโครงการ ทั้งเพจมูลนิธิเมาไม่ขับ สวพ.91 และ จส.100  

คลิปที่มีเนื้อหาน่าสนใจที่ได้รับการคัดเลือก นอกจากประชาชนจะได้รับเงินรางวัลแล้ว ยังได้รับใบประกาศเกียรติคุณจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในฐานะพลเมืองดี ช่วยส่งพยานหลักฐานเพื่อช่วยคนดีชี้คนผิด เป็นส่วนหนึ่งในการลดอุบัติเหตุทางถนน

ศูนย์อำนวยการรักษาความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อยการจัดการเลือกตั้ง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ Election Security and Public Order Management Centre

ตำรวจ รปภ.เข้มส่งบัตรเลือกตั้งกาแล้ว เข้าศูนย์ไปรษณีย์ หลักสี่
“ศลต.ตร.เผย” เลือกตั้งล่วงหน้า พบถ่ายรูปบัตรเลือกตั้ง - ขายเหล้า 12 คดี
 

วันนี้ ( 8 พฤษภาคม 2566 ) ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ( ตร. ) พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ( ผบ.ตร. ) มอบหมาย ศูนย์อำนวยการรักษาความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อยการจัดการเลือกตั้ง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศลต.ตร.) ภายใต้อำนวยการของ พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ รอง ผบ.ตร./ผอ.ศลต.ตร. ร่วมในภารกิจการจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็นการทั่วไป พ.ศ.2566 ในด้านการรักษาความปลอดภัย การรักษาความสงบเรียบร้อย และการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย
 
พล.ต.ท.นิธิธร จินตกานนท์ ผู้บัญชาการ ประจำสำนักงาน ผบ.ตร. ทำหน้าที่ โฆษก ศลต.ตร.เปิดเผยว่าภายหลังปิดหีบเลือกตั้งล่วงหน้า เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2566 ศลต.ตร.ได้ส่งกำลังตำรวจทางหลวง ตำรวจตระเวนชายแดน ตำรวจนครบาล และตำรวจภูธร คณะกรรมการการเลือกตั้ง ( กกต. ) และบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ร่วมภารกิจขนส่งบัตรเลือกตั้งล่วงหน้าที่ลงคะแนนแล้ว จากศูนย์ไปรษณีย์ 15 แห่งทั่วประเทศ กลับมายังศูนย์ไปรษณีย์หลักสี่ กทม. เพื่อคัดแยกส่งยังหน่วยเลือกตั้งต่อไป โดยขบวนรถขนบัตรเลือกตั้ง เดินทางออกจากศูนย์ไปรษณีย์จังหวัดต่าง ๆ ตั้งแต่เวลา 21.00 น. และถึงจุดหมายที่ศูนย์ไปรษณีย์หลักสี่เป็นที่เรียบร้อยทั้ง 15 ขบวน ตั้งแต่ช่วงกลางดึกที่ผ่านมา โดยรถทุกคันตำรวจรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวด มีตำรวจตระเวนชายแดนพร้อมอาวุธนั่งประจำรถ มีรถตำรวจทางหลวงนำขบวน และปิดท้ายขบวน โดยมีตำรวจท้องที่คอยดูแลความปลอดภัยระหว่างพักรถ  
 
สำหรับสถานการณ์โดยรวมในวันเลือกตั้งล่วงหน้า และการกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้งนั้น โฆษก ศลต.ตร.กล่าวว่า ภาพรวมทั่วประเทศสถานการณ์เป็นไปด้วยความเรียบร้อย  ศลต.ตร.ได้รับรายงานการกระทำความผิดกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้ง 12 คดี เป็นคดีจำหน่ายสุรา ในเวลาห้าม 8 คดี ในท้องที่ สน.ลุมพินี 2 คดี สน.คลองตัน 1 คดี สภ.โซ่พิสัย จว.บึงกาฬ 1 คดี สภ.ป่าตอง จว.ภูเก็ต 1 คดี ,สภ.วิชิต จว. ภูเก็ต 1 คดี, สภ.บ่อผุด จว.สุราษฎร์ธานี 1 คดี และ สภ.เมืองนครศรีธรรมราช 1 คดี

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ร่วมกับ สมาคมธนาคารไทย เตือนภัยออนไลน์

เนื่องจากในรอบสัปดาห์ มีข่าวการแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ธนาคารหลอกลวงประชาชน และมีคดีออนไลน์ ที่เกิดขึ้นมาก ได้แก่ การแอบอ้างเป็นศูนย์กระจายสินค้า หลอกให้โอนเงินเพื่อสต๊อกสินค้า สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย พล.ต.อ.สมพงษ์ ชิงดวง ที่ปรึกษาพิเศษ ตร./หัวหน้าคณะทำงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันต้านภัยอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พร้อมด้วยคณะทำงาน เป็นห่วงพี่น้องประชาชน ที่อาจจะตกเป็นเหยื่ออีก จึงได้ร่วมกับ  สมาคมธนาคารไทย โดย นายยศ  กิมสวัสดิ์ ประธานสำนักงานระบบการชำระเงิน สมาคมธนาคารไทย(TBA) แถลงข่าวเตือนภัย เมื่อวันที่ 8 พ.ค.๒๕๖๖ เวลา ๑๔.๐๐ น. ณ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ 

พล.ต.อ.สมพงษ์ ชิงดวง ที่ปรึกษาพิเศษ ตร.กล่าวว่าในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา (30 เม.ย.-6 พ.ค.2566) มีสถิติการรับแจ้งความคดีออนไลน์มากที่สุดยังเป็นคดีเดิม ๆ 5 อันดับ ได้แก่ อันดับ 1) คดีหลอกลวงซื้อขายสินค้าหรือบริการ 2) คดีหลอกลวงให้โอนเงินเพื่อทำงานหารายได้พิเศษ  3) คดีหลอกลวงให้กู้เงิน 4) คดีหลอกลวงให้ลงทุนผ่านระบบคอมพิวเตอร์ และ 5) คดีข่มขู่ทางทางโทรศัพท์ให้เกิดความกลัวแล้วหลอกให้โอนเงิน (Call Center) 

พล.ต.ต.ชูศักดิ์ ขนาดนิด ผู้บังคับการตรวจสอบและวิเคราะห์อาชญากรรมทางเทคโนโลยี บช.สอท. กล่าวว่า ภัยออนไลน์ที่น่าสนใจและเกิดขึ้นมากในรอบสัปดาห์ เรื่องแรก เป็นเรื่องมิจฉาชีพแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ของธนาคารส่ง SMS และโทรศัพท์หลอกลวงผู้เสียหาย มีรายละเอียด ดังนี้

1. คดีนี้รูปแบบแรก มิจฉาชีพส่งข้อความว่า  มีผู้เข้าสู่ระบบธนาคารของผู้เสียหายจากอุปกรณ์อื่น 
หากไม่ได้ดำเนินการด้วยตนเอง ให้ผู้เสียหายติดต่อธนาคารทันที โดยเพิ่มเพื่อนใน line กับมิจฉาชีพซึ่งใช้ชื่อธนาคาร และอ้างตัวว่าเป็นเจ้าหน้าที่ธนาคารแล้วส่งลิงก์มาให้หลงเชื่อและกดลิงก์ เพื่อให้ผู้เสียหายดาวน์โหลดแอพพลิเคชันควบคุมเครื่องโทรศัพท์ แล้วโอนเงินออกจากบัญชีผู้เสียหาย         

จุดสังเกต  
1) มิจฉาชีพส่งข้อความพร้อมแนบลิงก์คล้ายข้อความจริงจากธนาคาร และใช้ชื่อไลน์คล้ายกับ
เจ้าหน้าที่ธนาคาร
2) ธนาคารจะใช้หมายเลขโทรศัพท์ของธนาคาร(ขึ้นต้นด้วยหมายเลข 02)ส่งข้อความ จะไม่ใช้หมายเลขโทรศัพท์ส่วนตัวหรือเบอร์มือถือ หรืออีเมลส่งข้อความ  และจะไม่มีการแนบลิงก์ให้กดแต่อย่างใด

วิธีป้องกัน 
1) ไม่เปิดอ่านหรือ กดลิงก์ใน SMS แปลกปลอม หรือติดตั้งแอปพลิเคชันที่มิจฉาชีพหลอกให้
ติดตั้ง 
2) กรณีมีการส่ง SMS ที่ผิดปกติ ควรโทรศัพท์ตรวจสอบกับ call center ของธนาคารโดยตรง 
3) กรณีมีการส่ง Link แปลกปลอม ให้ตรวจสอบจากเวบไซต์ www.who.is 
4) หากต้องการติดตั้งแอปพลิเคชันใดๆ ควรโหลดและติดตั้งจาก Google Play store หรือ 
Apple Store เท่านั้น 

ธนาคารไม่มีนโยบายการส่งข้อความ SMS แบบแนบลิงก์ทุกชนิด หรือมีข้อความให้แอดไลน์ไอดี หากได้รับ SMS ดังกล่าว  อย่าหลงเชื่อ !!

2. รูปแบบที่ 2 มิจฉาชีพโทรศัพท์หาผู้เสียหายแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ธนาคาร แล้วแจ้งว่าบัญชีของ
ผู้เสียหายมีความผิดปกติ หรือติดค้างชำระยอดบัตรเครดิต เมื่อผู้เสียหายหลงเชื่อมิจฉาชีพจะอ้างต่อว่า มีการนำสำเนาบัตรประชาชนของผู้เสียหายไปใช้ เป็นเหตุให้ผู้เสียหายเกี่ยวข้องกับการกระทำผิด แล้วให้โอนเงินไปให้มิจฉาชีพตรวจสอบ 

จุดสังเกต มิจฉาชีพจะโทรศัพท์มาแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่สถาบันการเงินต่างๆ แล้วเริ่มบทสนทนาพูดคุยโน้มน้าวให้หลงเชื่อ แล้วส่งต่อให้คุยกับเจ้าหน้าที่หน่วยงานบังคับใช้กฎหมายอื่นๆ เพื่อให้เกิดความกลัว แล้วให้โอนเงินให้คนร้ายตรวจสอบ

วิธีป้องกัน 
1) ให้ติดต่อ call center ของธนาคารเพื่อสอบถามข้อมูลโดยตรง  เพราะธนาคารไม่มีนโยบายในการ
โทรศัพท์แจ้งให้ประชาชนโหลดแอพพลิเคชั่น หรือโอนเงินไปตรวจสอบ
2) กรณีอ้างหน่วยงานของรัฐที่เป็นหน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย ให้โทรศัพท์สอบถามข้อมูลจาก
หน่วยงานนั้นๆ โดยตรง
3) ถ้ามีการสนทนาทาง Video call ให้มีสติและสังเกตปากกับเสียงตรงกันหรือไม่ หรือ ภาพและท่าทางมีความผิดปกติหรือไม่

ศลต.ตร.ปรับแผนอำนวยการจราจร รับเลือกตั้ง 14 พ.ค.66 ตำรวจพร้อมดูแล จับตาความเคลื่อนไหว เฝ้าระวังการซื้อเสียง - ก่อกวน – พื้นที่แข่งขันสูง

วันนี้ (9 พฤษภาคม 2566 ) ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) มอบหมาย ศูนย์อำนวยการรักษาความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อยการจัดการเลือกตั้ง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศลต.ตร.) ภายใต้อำนวยการของ พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ รอง ผบ.ตร./ผอ.ศลต.ตร. ร่วมในภารกิจการจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็นการทั่วไป พ.ศ.2566 ในด้านการรักษาความปลอดภัย การรักษาความสงบเรียบร้อย และการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย

พล.ต.ท.นิธิธร จินตกานนท์ ผู้บัญชาการ ประจำสำนักงาน ผบ.ตร. ทำหน้าที่ โฆษก ศลต.ตร.เปิดเผยว่า ในช่วงสัปดาห์สุดท้ายก่อนการเลือกตั้ง ส.ส.ทั่วประเทศ ในวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 นี้  สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย ศลต.ตร. ได้เตรียมกำลังตำรวจกว่า 145,000 นาย เพื่อดูแลความปลอดภัย สืบสวนหาข่าว รักษาความสงบเรียบร้อย และอำนวยการจราจร โดยที่ประชุม ศลต.ตร.ได้สรุปผลการปฏิบัติ ปัญหา ข้อขัดข้องต่าง ๆ จากการเลือกตั้งล่วงหน้าที่ผ่านมา

“ผบ.ตร. และ ผอ.ศลต.ตร.สั่งการให้นำปัญหาข้อขัดข้องต่างๆ ที่เกิดขึ้นในวันที่ 7 พฤษภาคม 2566 มาปรับใช้ในการปฏิบัติในวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 โดยเฉพาะเรื่องการจัดการจราจร ในจุดที่มีประชาชนไปลงคะแนนเลือกตั้งจำนวนมาก ให้หัวหน้าสถานีตำรวจอำนวยการการบริการจัดการจราจร และประสานงานเรื่องจุดจอดรถ พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบโดยทั่วกัน และให้ตรวจสอบสภาพภูมิอากาศในวัน เวลาดังกล่าว เพื่อกำหนดแผนการจราจร การรักษาความปลอดภัย และการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน โดยให้ประสานผู้จัดสถานที่เลือกตั้ง จัดพัดลมระบายอากาศ เพื่อระบายความร้อนให้พียงพอรองรับสถาพอากาศที่ร้อนจัดด้วย” โฆษก ศลต.ตร.กล่าว

พล.ต.ท.นิธิธร ฯ กล่าวด้วยว่า ศลต.ตร. ได้ติดตามสถานการณ์ต่าง ๆ ที่กระทบต่อความสงบเรียบร้อย และการกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง อาทิ เฝ้าระวังการซื้อเสียง โดยเฉพาะในคืนวันที่ 13 พฤษภาคม 2566 หรือคืนหมาหอน เร่งประชาสัมพันธ์การกระทำความผิดกฎหมายเลือกตั้ง โดยเฉพาะการถ่ายรูปบัตรเลือกตั้งที่ลงคะแนนแล้ว การฉีก ทำลายบัตรเลือกตั้ง รวมทั้งติดตามความเคลื่อนไหวเฝ้าระวังกลุ่มผู้ไม่หวังดีก่อกวนการหาเสียงในช่วงโค้งสุดท้าย ทั้งนี้ ผบ.ตร. กำชับให้เฝ้าระวังเป็นพิเศษในพื้นที่ที่มีการแข่งขันสูง และให้ระดมกวาดล้างอาชญากรรมทั่วประเทศอย่างเข้มข้นช่วงก่อนเลือกตั้ง อย่างไรก็ตาม ศลต.ตร.ประชุมติดตามสถานการณ์ทั่วประเทศที่กระทบต่อการเลือกตั้งทุกวัน เพื่อให้การดูแลความปลอดภัย รักษาความสงบเรียบร้อยในการจัดการเลือกตั้งเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สร้างความเชื่อมั่นให้แก่พี่น้องประชาชน

ทั้งนี้หากประชาชนมีเบาะแส ข้อมูล สามารถส่งมาได้ที่เฟซบุ๊กศูนย์โซเชียลมีเดีย ศปก.ตร. หรือสามารถแจ้งตำรวจได้ที่สถานีตำรวจนครบาล สถานีตำรวจภูธร ทุกแห่ง หรือ โทร.191 หรือ 1599 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง หรือ แจ้งสายด่วน กกต. 1444

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เตือนภัยออนไลน์ “แก็งคอลเซ็นเตอร์ สวมรอยส่งข้อความ SMS ยังไม่สิ้นซาก” 

เนื่องจากในรอบสัปดาห์  มีการจับกุมมิจฉาชีพรับจ้างแก็งคอลเซ็นเตอร์ (Call Center)นำเครื่องจำลองสถานีฐาน (False Base Station) ส่งข้อความสั้น(SMS)  สวมรอยช่องทางปกติของสถาบันการเงิน และหน่วยงานอื่น หลอกลวงผู้เสียหายกดลิงก์เพิ่มเพื่อนไลน์และหลอกให้โหลดแอปพลิเคชันควบคุมเครื่องโทรศัพท์แล้วโอนเงินออกจาก Mobile Banking ของผู้เสียหาย พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์  กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. และ พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ รอง ผบ.ตร. เป็นห่วงพี่น้องประชาชน ที่อาจจะตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพรายอื่นสวมรอยส่งข้อความสั้น(SMS) ในลักษณะเดียวกัน   จึงมอบหมายให้ พล.ต.อ.สมพงษ์ ชิงดวง  ที่ปรึกษาพิเศษ ตร.   หัวหน้าคณะทำงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันต้านภัยอาชญากรรมทางเทคโนโลยี  และ พล.ต.ท.ธัชชัย  ปิตะนีละบุตร ผู้ช่วย ผบ.ตร. พร้อมด้วยคณะทำงาน แถลงข่าวเตือนภัย เมื่อวันที่ 30 พ.ค.2566  เวลา 13.30 น. ณ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เนื่องจากยังมีการส่งลิงก์ในลักษณะดังกล่าวอยู่ และมีการส่งในรูปแบบอื่นๆ อีกจำนวนมาก  

พล.ต.อ.สมพงษ์  ชิงดวง  ที่ปรึกษาพิเศษ ตร.กล่าวว่าในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา (21-27 พ.ค.2566)  มีสถิติการรับแจ้งความคดีออนไลน์มากที่สุด 5 อันดับ ได้แก่  อันดับ 1)  คดีหลอกลวงซื้อขายสินค้าหรือบริการ 2) คดีหลอกลวงให้โอนเงินเพื่อทำงานหารายได้พิเศษ   3) คดีหลอกลวงให้กู้เงิน  4) คดีหลอกลวงให้ติดตั้งโปรแกรมควบคุมระบบในเครื่องโทรศัพท์ฯ และ 5) คดีข่มขู่ทางทางโทรศัพท์ให้เกิดความกลัวแล้วหลอกให้โอนเงิน (Call Center) สำหรับคดีออนไลน์ที่มิจฉาชีพนำมาหลอกลวงในช่วงนี้ คือ คดีหลอกลวงให้ติดตั้งโปรแกรมควบคุมระบบในเครื่องโทรศัพท์ฯ โดยใช้วิธีส่งข้อความสั้น (SMS) สวมรอยช่องทางปกติของสถาบันการเงิน หรือหน่วยงานอื่น โดยขยับมาจากอันดับ 6 เป็นอันดับ 4 ซึ่งถือเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วนต้องย้ำเตือนให้ประชาชนได้รับทราบ  

พล.ต.ต.ชูศักดิ์ ขนาดนิด   ผบก.ตอท.บช.สอท.    กล่าวถึงรายละเอียดภัยออนไลน์ที่มิจฉาชีพรับจ้างแก็งคอลเซ็นเตอร์ (Call Center) นำเครื่องจำลองสถานีฐาน (False Base Station) ส่งข้อความสั้น(SMS)หลอกลวงผู้เสียหาย  ดังนี้ 

ก่อนหน้านี้มิจฉาชีพแก็งคอลเซ็นเตอร์ส่งข้อความสั้น (SMS) หลอกลวงผู้เสียหายโดยใช้ SIM BOX โทรศัพท์จากต่างประเทศผ่านระบบ VOIP หรือส่งผ่านอีเมลผ่านบริษัทรับส่งข้อความสั้น (SMS) แต่ในรอบเดือนที่ผ่านมา มิจฉาชีพนำเครื่องจำลองสถานีฐาน (False Base Station) ใส่ไว้ในรถขับไปเส้นทางต่างๆ ในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล แล้วส่งสัญญาณไปยังโทรศัพท์มือถือที่อยู่บริเวณใกล้เคียง โดยใช้ชื่อผู้ส่งเป็นสถาบันการเงิน ส่งข้อความสั้น (SMS) ว่า “มีผู้เข้าสู่ระบบธนาคารของผู้เสียหายจากอุปกรณ์อื่น หากไม่ได้ดำเนินการด้วยตนเอง ให้ผู้เสียหายติดต่อธนาคารผ่านลิงก์ไลน์(Line)ทันที”     และมีผู้เสียหายหลงเชื่อกดลิงก์เพิ่มเพื่อนไลน์   แล้วคนร้ายจะโทรผ่านไลน์หลอกให้กดลิงก์โหลดแอปพลิเคชันควบคุมเครื่องโทรศัพท์ และโอนเงินออกจาก Mobile Banking  ของผู้เสียหาย โดยในห้วงเดือน เม.ย. -พ.ค. 2566 มีการแจ้งความออนไลน์ จำนวน 1,398 เคส รวมมูลค่าความเสียหาย 235,135,988.50 บาท 

ต่อมาวันที่ 24 พ.ค.66 เวลาประมาณ 08.00 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจไซเบอร์โดยการนำของพล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท.,   พล.ต.ต.วิวัฒน์ คำชำนาญ  รอง ผบช.สอท., พล.ต.ต.อำนาจ ไตรพจน์ รอง ผบช.สอท.  พล.ต.ต.สถิตย์ พรมอุทัย ผบก.สอท.3 พล.ต.ต.ชูศักดิ์ ขนาดนิด ผบก.ตอท. ได้ประสานความร่วมมือกับ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ,สำนักงานคณะกรรมการ การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) ,สำนักงานคณะกรรมการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ,ผู้ให้บริการเครือข่าย AIS TRUE และ DTAC, ธนาคารกสิกรไทย และ ศูนย์ประสานงานการรักษาความมั่นคงปลอดภัยเทคโนโลยีสารสนเทศภาคธนาคาร (TB-CERT) ทำการสืบสวน ตรวจค้น จับกุมกลุ่มขบวนการดังกล่าว โดยจับกุม นายสุขสันต์ อายุ 40 ปี กับพวก รวม 6 คน ในข้อหา “ร่วมกัน ทํา มี ใช้ นําเข้า นําออก หรือค้าซึ่งเครื่องวิทยุคมนาคม

โดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาต ตามมาตรา 6 พระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม พ.ศ.2498, ร่วมกันตั้งสถานีวิทยุคมนาคม โดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาตตามมาตรา 11 พระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม พ.ศ.2498, ร่วมกันใช้คลื่นความถี่ในการประกอบกิจการโทรคมนาคม โดยไม่ได้รับอนุญาตอันมีลักษณะที่เป็นการประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่สาม ตามมาตรา 67(3) ตามพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม, เป็นอั้งยี่หรือซ่องโจรตามประมวลกฎหมายอาญา” ตรวจยึดรถยนต์ที่ติดตั้งเครื่องจำลองสถานีฐาน (False Base Station) จำนวน 4 คัน พร้อมอุปกรณ์ 4 ชุด ตรวจยึดเครื่องจำลองสถานีฐาน (False Base Station)   ที่ยังไม่ได้แกะออกมาใช้อีก 1 ชุด ในชั้นจับกุมผู้ต้องหาให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา โดยให้การรับว่าได้รับการติดต่อว่าจ้างจากคนรู้จักที่ทำงานอยู่ประเทศเพื่อนบ้านขับรถนำเครื่องจำลองสถานีฐาน (False Base Station) ส่งข้อความสั้น (SMS) หลอกลวงประชาชนในรัศมี 2 กม. หรือครอบคลุมพื้นที่ 4 ตร.กม. โดยจะได้ค่าจ้างสำหรับการวิ่งส่งสัญญาณเดือนละ 80,000 บาท ซึ่งเครื่องดังกล่าวนั้นสามารถส่งสัญญาณไปยังโทรศัพท์ที่อยู่บริเวณใกล้เคียงได้วันละ 20,000 หมายเลขต่อเครื่อง  

ขอเน้นย้ำให้ได้รับทราบว่า  ในช่วงแรกมิจฉาชีพต้องการให้ผู้เสียหายเพิ่มเพื่อนไลน์เพื่อหลอกลวงด้วยการพูดคุยตลอดเวลาให้ผู้เสียหายหลงเชื่อและทำตามขั้นตอน  จากนั้นจะพยายามส่งลิงก์ผ่านไลน์เพื่อให้ผู้เสียหายกดโหลดแอปพลิเคชันควบคุมเครื่องโทรศัพท์ โดยมิจฉาชีพจะคอยแนะนำขั้นตอนต่างๆ  ทีละขั้นตอน  เนื่องจากการกดยอมรับแอปพลิเคชันให้ควบคุมเครื่องโทรศัพท์นั้น  มีขั้นตอนยุ่งยาก ผู้เสียหายไม่สามารถทำได้ด้วยตนเอง ต้องทำตามคำแนะนำของคนร้าย และเมื่อผู้เสียหายกดยินยอมขั้นตอนสุดท้ายแล้ว  หน้าจอจะมีข้อความเป็นเปอร์เซ็นต์หรือข้อความกำลังอัพเดด กรุณารอสักครู่  ช่วงนี้มิจฉาชีพจะทดลองเข้าแอปพลิเคชันธนาคารจากรหัสที่เราตั้งในแอพ หรือจากเบอร์โทรศัพท์ของเรา โอนเงินออกจากบัญชี Mobile Banking  ของผู้เสียหาย  หากเข้าไม่ได้ก็จะหลอกให้โอนเงินไปลงทะเบียน หรือโอนระหว่างบัญชี ซึ่งคนร้ายจะเห็นว่าเรากดรหัสอะไร 

จุดสังเกต   
1) มิจฉาชีพส่งข้อความสั้น (SMS) พร้อมแนบลิงก์สวมรอยช่องทางปกติในการส่งข้อความจาก 
ธนาคาร และใช้ชื่อไลน์คล้ายกับเจ้าหน้าที่ธนาคาร หรือหน่วยงาน 
2) มิจฉาชีพส่งข้อความสั้น (SMS) ขณะขับรถไปตามเส้นทางต่างๆ แสดงว่าทุกคน ทุกอาชีพมี 
โอกาสได้รับข้อความสั้น (SMS) และตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ 
3) พนักงานธนาคาร  ไม่ใช้ไลน์ส่วนตัวในการติดต่อลูกค้า 
4) เว็บไซต์ปลอมที่มิจฉาชีพให้กดโหลดแอปพลิเคชันควบคุมเครื่องโทรศัพท์นั้น  สามารถกดได้ 
เฉพาะเมนูดาวน์โหลด เมนูอื่นๆ เมื่อกดแล้วจะไม่ขึ้นข้อมูลใดๆ  
4) ธนาคารไม่มีนโยบายการส่งข้อความ SMS แบบแนบลิงก์ทุกชนิด หรือมีข้อความให้แอดไลน์ 
ไอดี  หรือเพิ่มเพื่อนในไลน์ 

วิธีป้องกัน  
1) ไม่เปิดอ่านหรือ กดลิงก์ใน SMS แปลกปลอม หรือติดตั้งแอปพลิเคชันที่มิจฉาชีพหลอกให้ 
ติดตั้ง  
2) กรณีมีการส่ง SMS ที่ผิดปกติ  ควรโทรศัพท์ตรวจสอบกับ สายด่วนของธนาคารหรือ 
หน่วยงานนั้นๆ โดยตรง  
3) หากต้องการติดตั้งแอปพลิเคชันใดๆ ควรโหลดและติดตั้งจาก Google Play store หรือ  
Apple Store  เท่านั้น  อย่าเชื่อคำแนะนำของคนร้ายให้กดเข้าบราวเซอร์อื่น 
4) มิจฉาชีพอาจใช้วิธีการหลอกลวงในรูปแบบให้สแกน QR Code หรือเพิ่มเพื่อนไลน์ทาง ID  
Line จึงไม่ควรสแกนหรือเพิ่มเพื่อนไลน์ทาง ID Line จากคนที่ไม่น่าเชื่อถือ 
 จากข้อมูลสถิติรับแจ้งความออนไลน์พบว่า  หลังจากแก็งคอลเซ็นเตอร์ (call center) ดังกล่าวข้างต้นถูกจับกุมแล้ว  ปรากฏว่ายังมีสถิติการรับแจ้งความมิจฉาชีพส่งข้อความสั้น (SMS) แอบอ้างสถานบันการเงิน  การไฟฟ้า ประปา และหน่วยงานอื่นหลอกลวงประชาชนอยู่  เนื่องจากยังมีแก็งคอลเซ็นเตอร์(call center) จำนวนหนึ่งยังไม่ถูกจับกุมตัวดำเนินคดี และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น 
สำนักงานตำรวจแห่งชาติ  มีความห่วงใยพี่น้องประชาชนที่อาจตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพแก็งคอลเซ็นเตอร์(call center) ดังกล่าว จึงขอแจ้งเตือนให้ได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารถึงวิธีการของมิจฉาชีพ   และให้ตระหนักไว้ว่าหากมี SMS แปลกปลอม ต้องไม่เปิดอ่านหรือ กดลิงก์ใน SMS แปลกปลอม หรือติดตั้งแอปพลิเคชันที่มิจฉาชีพหลอกให้ติดตั้ง กรณีมีการส่ง SMS ที่ผิดปกติ  ควรโทรศัพท์ตรวจสอบกับ สายด่วนของธนาคารหรือหน่วยงานนั้นๆ โดยตรง หรือไปติดต่อหน่วยงานนั้นๆ  ด้วยตนเอง  และที่สำคัญหากต้องการติดตั้งแอปพลิเคชันใดๆ ควรโหลดและติดตั้งจาก Google Play store หรือ Apple Store  เท่านั้น และเพื่อให้รู้เท่าทันภัยออนไลน์ในรูปแบบใหม่  สามารถติดตามข้อมูลการแจ้งเตือนภัยออนไลน์ได้จาก เว็บไซต์ และเพจ เตือนภัยออนไลน์ หรือโทรสายด่วน 1441

‘โฆษก ตร.’ แจง ปมเลื่อนยศ ‘ร.ต.อ.หญิง’ เป็นไปตามกฎ ก.ตร. ชี้ เพราะมีคุณวุฒิปริญญาโท ทำให้เลื่อนยศได้เร็วภายใน 2 ปี

เมื่อวันที่ 8 มิ.ย. 66 พล.ต.ท.อาชยน ไกรทอง โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (โฆษก ตร.) เปิดเผยว่า ตามที่ปรากฎจากสื่อเกี่ยวกับการบรรจุและดำรงตำแหน่ง ร.ต.อ. หญิง นั้น สำนักงานตำรวจแห่งชาติขอเรียนว่า หลักสูตรการฝึกอบรมข้าราชการตำรวจและบุคคลที่บรรจุหรือโอนมา เป็นข้าราชการตำรวจชั้นสัญญาบัตร (กอส.) เป็นหลักสูตรการฝึกอบรมสำหรับข้าราชการตำรวจชั้นสัญญาบัตร ซึ่งบรรจุจากบุคคลภายนอก เช่น ทายาทตำรวจ ผู้มีวุฒิปริญญาสาขาต่างๆ ผู้มีวุฒิปริญญาในสาขาวิชาที่ขาดแคลน นายแพทย์ รพ.ตร. ตำรวจน้ำ ที่รับโอนมาจากทหารเรือ นักวิทยาศาสตร์ ฯลฯ เป็นหลักสูตรตามระเบียบ ตร. ซึ่งกรณีของ ร.ต.อ. หญิง เป็นผู้มีวุฒิปริญญาซึ่งผ่านการคัดเลือก และได้รับการบรรจุแต่งตั้งเป็นข้าราชการตำรวจชั้นประทวนได้รับเงินเดือนขั้นต่ำ โดยมีเงื่อนไขเมื่อผ่านการอบรมฯ หลักสูตรตามที่ ตร. กำหนดแล้ว จึงจะได้รับการแต่งตั้งเป็นข้าราชการตำรวจชั้นสัญญาบัตรได้รับเงินเดือนตามคุณวุฒิ

สำหรับ ร.ต.อ. หญิง ดังกล่าว ได้ผ่านการรับสมัครและคัดเลือกบุคคลภายนอกผู้มีวุฒิ ใช้วิธีการคัดเลือกตามกฎ ก.ตร. ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกหรือการสอบแข่งขันฯ และตรวจสอบคุณวุฒิและคุณสมบัติเป็นไปตามหลักเกณฑ์ จนได้บรรจุเป็นข้าราชการตำรวจ ยศสิบตำรวจตรีหญิง (ส.ต.ต. หญิง) ในปี พ.ศ. 2563 ในตำแหน่ง ผบ. หมู่ฯ ต่อมาผ่านการฝึกอบรมหลักสูตร กอส. ในปี พ.ศ. 2564 และแต่งตั้งเป็นข้าราชการตำรวจชั้นสัญญาบัตร ยศร้อยตำรวจตรีหญิง ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย. 64 โดยมีคุณวุฒิที่ใช้บรรจุแต่งตั้งนิเทศศาสตรมหาบัณฑิต (ปริญญาโท) จากนั้นจะใช้ระยะเวลาครองยศ 8 เดือน ได้รับการเลื่อนยศเป็น ร.ต.ท. หญิง และครองยศ ร.ต.ท.หญิง อีก 1 ปี จะได้รับการเลื่อนยศเป็น ร.ต.อ. หญิง รวมระยะเวลา 1 ปี 8 เดือน โดยการเลื่อนยศของ ร.ต.อ. หญิง ดังกล่าว เป็นไปตามตามกฎ ก.ตร. ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการแต่งตั้งยศ พ.ศ.2554 ข้อ 8.2.8 ที่กำหนดให้ข้าราชการตำรวจที่ได้รับยศสูงขึ้น ต้องครองยศตามจำนวนปีที่รับราชการ ยกเว้นผู้ที่บรรจุในคุณวุฒิ ปริญญาโท ให้รับราชการในชั้นยศ ร.ต.ต. 1 ปี และ ร.ต.ท. 1 ปี

โฆษก ตร. กล่าวอีกว่า ในปัจจุบัน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีความตั้งใจที่จะดูแลขวัญกำลังใจของกำลังพลในส่วนที่เป็นข้าราชการตำรวจชั้นประทวนที่มีความตั้งใจ มีความรู้ความสามารถที่จะเป็นนายตำรวจชั้นสัญญาบัตร มีการเปิดสอบแข่งขันข้าราชการตำรวจชั้นประทวนเป็นตำรวจชั้นสัญญาบัตร ล่าสุดเมื่อปลายเดือน พ.ค. 66 มีการเปิดรับสมัครตำรวจชั้นประทวนเป็นสัญญาบัตร จำนวน 430 อัตรา สำหรับตำแหน่งทั่วไป และ จำนวน 450 อัตรา สำหรับสายงานสอบสวน

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ร่วมกับ เครือเจริญโภคภัณฑ์ และโลตัส ลงพื้นที่ เร่ง “เตือนภัยนักช้อป น็อกโจร ไซเบอร์” 

เมื่อวันเสาร์ที่ 10 มิถุนายน 2566 เวลา 16.00 – 18.00 น. ณ โซนหน้า Fresh Food โลตัส สาขารามอินทรา พล.ต.ต.ชูศักดิ์ ขนาดนิด ผู้บังคับการตรวจสอบและวิเคราะห์อาชญากรรมทางเทคโนโลยี บช.สอท ,พ.ต.อ.ไพโรจน์ เพ็ชรพลอย ผกก.กลุ่มงานป้องกันอาชญากรรมทางเทคโนโลยี บก.ตอท. บช.สอท,พ.ต.ท.หญิง ณพวรรณ ปัญญา อาจารย์ (สบ2) กลุ่มงานคณาจารย์ คณะสังคมศาสตร์ รร.นรต. รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ  ร่วมงาน

“เตือนภัยนักช้อป น็อกโจร ไซเบอร์” ที่ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติร่วมกับ เครือเจริญโภคภัณฑ์ และโลตัส พร้อม คุณสาคริต นันทจิต รองผู้อำนวยการ ฝ่าย Solution Architect, DevOps และการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลและระบบสารสนเทศ โลตัส และ คุณเทวินธวี คุณารัตนวัฒน์ (จอห์นสัน) ดารา/นักแสดง

โดยวัตถุประสงค์ในการจัดงานครั้งนี้มุ่งรณรงค์สร้างภูมิคุ้มกันต้านภัยอาชญากรรมทางเทคโนโลยีให้แก่ประชาชนทั่วไป ได้ตระหนักรู้และเฝ้าระวัง ภัยจากโจรไซเบอร์ ซึ่งภายในงานมีการเสวนาหัวข้อ “เรียนรู้กลโกง...น็อกโจรไซเบอร์”  พล.ต.ต.ชูศักดิ์ ขนาดนิด ได้ยกตัวอย่างในระหว่างการเสวนา กรณีกลโกงแจ้งsmsค่าไฟ,กลโกงหลอกทำงานออนไลน์,หลอกให้กู้เงินแบบไม่ได้เงิน, ฯลฯ พร้อมยกตัวอย่างความเสียหาย

ปัจจุบันมีคนไทยตกเหยื่อกลโกงของโจรออนไลน์แล้วมีการรับแจ้งความกว่า2แสนเคส, มูลค่าความเสียหายกว่า3หมื่นล้าน ย้ำ!ให้ตั้งข้อสงสัยทุกครั้งก่อนตัดสินใจซื้อของออนไลน์ แนะนำให้ซื้อผ่านช่องทางที่เชื่อถือได้ พร้อมให้ความรู้ถึงข้อสังเกตุเบื้องต้น เพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของโจรออนไลน์ ไม่เชื่อ! ไม่รีบ! ไม่โอน!

ด้าน คุณสาคริต นันทจิต รองผู้อำนวยการ ฝ่าย Solution Architect, DevOps และการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลและระบบสารสนเทศ โลตัส กล่าวเพิ่มเติม เรื่องของวิธีการจัดเก็บข้อมูลลูกค้าว่ามีการจัดเก็บข้อมูลต่างๆที่รัดกุม เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการเฝ้าระวังภัยออนไลน์  ทางโลตัสเองได้สร้างความมั่นใจเพิ่มเติมว่าทางโลตัสเองได้มีการยกเลิกข้อความสั้นและการแนบลิงก์ต่างๆแล้ว เพื่อไม่ให้ประชาชนสับสนระหว่างsmsที่ทางโลตัสจัดส่งกับsmsแนบลิงก์ของมิจฉาชีพ พร้อมสร้างความมั่นใจว่าโลตัสให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาโดยตลอดและยังดำเนินการอย่างเต็มที่ต่อไป

พ.ต.ท.หญิง ณพวรรณ ปัญญา รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ฝากเพิ่มเติมว่า ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มุ่งมั่นและดำเนินการสร้างภูมิคุ้มกันต้านภัยไซเบอร์ต่อไปอย่างเต็มความสามารถ ทั้งนี้อยากขอความร่วมมือในภาคประชาชนให้ช่วยกันส่งต่อ แชร์เรื่องราวกลโกงต่างๆที่ได้พบเจอเพื่อเป็นประโยชน์ต่อการไม่ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพออนไลน์ อีกทั้งยังเป็นการร่วมกันสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อตัดตอนของอาชญากรรมออนไลน์ให้หมดไปจากสังคมไทย

สำนักงานตำรวจแห่งชาติเร่งรัดปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติ แสวงหาความร่วมมือในภูมิภาคอาเซียนและระดับสากล มุ่งแก้ไขความเดือดร้อน สร้างความสงบสุขอย่างยั่งยืนแก่ประชาชนและสังคม

พล.ต.ท.ประจวบ วงศ์สุข ผู้ช่วย ผบ.ตร. เปิดเผยว่า ตามนโยบายของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ภายใต้การนำของ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. และ พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ รอง ผบ.ตร. ที่มุ่งให้ความสำคัญในการป้องกันปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติและแก้ไขปัญหาความมั่นคงทุกประเภท ซึ่งทวีความรุนแรง เป็นภัยต่อชีวิตและทรัพย์สิน และก่อให้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศเป็นอันมาก สมควรที่จะแสวงหาความร่วมมือ แลกเปลี่ยนข้อมูลและร่วมบูรณาการปฏิบัติกับหน่วยงานความมั่นคงของประเทศเพื่อนบ้านทั้งในและนอกภูมิภาคอาเซียน ในระดับพหุภาคีและระดับสากล
 
จึงได้มอบหมายให้ พล.ต.ท.ประจวบ วงศ์สุข ผู้ช่วย ผบ.ตร. พร้อมคณะ ประกอบด้วย พล.ต.ท.สรร พูลศิริ ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ ตร., พล.ต.ต.เขมรินทร์ หัสศิริ ผบก.ตท., พ.ต.อ.พงษ์เดช คำใจสู้ รอง ผบก.ภ.จว.เชียงใหม่ พร้อมผู้แทนจาก บช.ก., สตม., บช.ปส., บก.ปคม., บก.ปทส., ตท. และ ป.ป.ส. เดินทางไปร่วมประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านอาชญากรรมข้ามชาติ ครั้งที่ 23 (The 23rd ASEAN Senior Officials Meeting on Transnational Crimes) (SOMTC) ซึ่งมีกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 20 - 23 มิถุนายน 2566 ณ เมืองยอร์กยากาตาร์ สาธารณรัฐอินโดนีเซีย ร่วมกับนายไมเคิล เทเน รองเลขาธิการอาเซียนฝ่ายประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน พร้อมทั้งผู้แทนประเทศสมาชิกอาเซียน ทั้ง 10 ประเทศ สาธารณรัฐประชาธิปไตยติมอร์-เลสเต และประเทศคู่เจรจา

ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น  เกาหลีใต้(ประเทศคู่เจรจา SOMTC+3) สหภาพยุโรป(EU) ออสเตรเลีย รัสเซีย อินเดีย นิวซีแลนด์ สหรัฐอเมริกาและแคนาดา โดยมี พล.ต.อ.ลิสติโย ซิกิต ปราโบโว ผบ.ตร.อินโดนีเซีย และ พล.ต.ท.อกุส อันเดรียนโต ผู้บัญชาการตำรวจฝ่ายสอบสวนคดีอาญา         
และประธานคณะทำงานเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียน ให้การต้อนรับ

พล.ต.ท.ประจวบฯ กล่าวว่า การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านอาชญากรรมข้ามชาติ (SOMTC) ในครั้งนี้ นอกจากจะเป็นการสนับสนุนและเตรียมความพร้อมสำหรับการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านอาชญากรรมข้ามชาติ ในการทำหน้าที่เป็นกลไกและหน่วยงานในการกำกับนโยบายของอาเซียนในการต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติแล้ว ยังเป็นการดำเนินการภายใต้ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน ซึ่งเป็นเสาหลักที่ 1 จาก 3 เสาหลักของอาเซียน โดยจะร่วมดำเนินการ ประสานงาน ดำเนินกลยุทธ์และกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อป้องกันและต่อสู้กับอาชญากรรมข้ามชาติที่มีอยู่และเกิดขึ้นใหม่ และเน้นการติดตามผลตามแผนงานความร่วมมือด้านการต่อต้านการก่อการร้ายและอาชญากรรมข้ามชาติ เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งและปรับปรุง การประสานงานข้ามภาคส่วนและระดับพหุภาคี การยกระดับความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับประเทศคู่เจรจาข้างต้นและประเทศผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ภายใต้ความร่วมมือป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติ ใน 10 สาขา

ได้แก่ การลักลอบค้าอาวุธ(Arms smuggling) การก่อการร้าย(Terrorism) การฟอกเงิน(Money laundering) การละเมิดลิขสิทธิ์ทางทะเล (Sea piracy) การลักลอบขนคนโดยผิดกฎหมาย (Human smuggling) การค้ามนุษย์ (Trafficking in persons) อาชญากรรมทางไซเบอร์ (Cybercrime) อาชญากรรมทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ(International economic crime) การลักลอบค้ายาเสพติด (Illicit drug trafficking) และการลักลอบค้าไม้และสัตว์ป่า (Illicit wildlife and timber trafficking) โดยประเทศไทยได้รับมอบหมายให้เป็นผู้นำในการป้องกันปราบปรามการลักลอบค้ายาเสพติด และการลักลอบค้าไม้และสัตว์ป่า ซึ่งทุกประเทศที่ร่วมประชุมได้ร่วมติดตามผลการปฏิบัติและพร้อมดำเนินการตามแผนความร่วมมือ ผลการประชุมหารือเป็นไปด้วยความเรียบร้อย
 
พล.ต.ท.ประจวบฯ กล่าวต่อว่า จากการเปิดประเทศภายหลังการคลี่คลายของสถานการณ์แพร่ระบาดโรคโควิด - 19 เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของหลายประเทศ ส่งผลให้ประเทศไทยต้องรับมือกับอาชญากรรมข้ามชาติที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น เช่น อาชญากรรมทางไซเบอร์ ในประเทศไทย มีการฉ้อโกงออนไลน์และแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากมีลักษณะเป็นองค์กรอาชญากรรมขนาดใหญ่ ซึ่งในห้วงที่ผ่านมา ศปอส.ตร.(PCT) ได้รับแจ้งเหตุแก๊งคอลเซ็นเตอร์ กว่าหมื่นราย สร้างความเสียหาย กว่า 400 ล้านบาท ภายใน 1 สัปดาห์ โดย บช.สอท. ได้ใช้เทคโนโลยีช่วยเหลือประชาชนที่ตกเป็นเหยื่อ

โดยเชิญชวนผู้ใช้โทรศัพท์รายงานหมายเลขต้องสงสัย และผู้ให้บริการให้ความร่วมมือสืบสวนหมายเลขต้องสงสัยและบล็อคหมายเลขคนร้าย แล้วส่งข้อมูลมายังตำรวจไซเบอร์ ส่งผลให้การสืบสวนจับกุมมีประสิทธิภาพมากขึ้น สำหรับการค้ามนุษย์ ในห้วงที่ผ่านมา ประเทศไทยได้ร่วมกับกัมพูชา ทลายแก๊งคอลเซ็นเตอร์รายใหญ่ในเมืองสีหนุวิลล์ และช่วยเหลือเหยื่อคนไทยที่ถูกหลอกผ่านทางโซเชียลมีเดียไปทำงาน แล้วถูกกักขัง บังคับใช้แรงงานกว่า 800 คน สำหรับการลักลอบค้ายาเสพติด ประเทศไทยเป็นผู้นำในการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการด้านการต่อต้านยาเสพติดเพื่อประชาคมที่มั่นคงของอาเซียนฯ และเป็นผู้ริเริ่มจัดตั้งศูนย์ความร่วมมืออาเซียนด้านยาเสพติด(ASEAN-NARCO)

โดยในครั้งนี้ได้พิจารณาความร่วมมือในโครงการต่อต้านยาเสพติดร่วมกับออสเตรเลีย สำหรับการลักลอบค้าไม้และสัตว์ป่า มีการนำเทคโนโลยีระบบนิติวิทยาศาสตร์ด้านพันธุกรรม DNA มาใช้เพื่อระบุตัวตนและจำแนกแหล่งที่มาของสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ทั้งนี้ การบริหารจัดการชายแดนแบบเชิงรุก การแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร การปฏิบัติตามแผนความร่วมมือ การเสริมสร้างศักยภาพของเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมาย คือกุญแจสำคัญในการปราบปราม สกัดกั้นและจับกุมขบวนการผู้กระทำผิดในทุกรูปแบบ  
  
พล.ต.ท.ประจวบฯ กล่าวทิ้งท้ายว่า ปัจจุบันอาชญากรรมข้ามชาติพัฒนาไปสู่รูปแบบใหม่ ใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือมีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น ถือเป็นภัยคุกคามรูปแบบใหม่ที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคง เศรษฐกิจและสังคมของทุกประเทศ ดังนั้น จึงจำเป็นอย่างยิ่ง ที่หน่วยงานความมั่นคงทั้งในและระหว่างภูมิภาคจะต้องส่งเสริมความร่วมมือทั้งในระดับพหุภาคีและระดับสากล นำไปสู่ความสำเร็จในการป้องกันปราบปรามอาชญากรรมทุกประเภทในภาพรวม เพื่อให้ประเทศชาติและประชาชนมีความปลอดภัย มีสันติภาพและความมั่นคงอย่างยั่งยืน


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top