Sunday, 19 May 2024
สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จัดโครงการอุปสมบทหมู่ข้าราชการตำรวจเพื่อถวายเป็นพระกุศลแด่สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เนื่องในโอกาสฉลองพระชนมายุ 8 รอบ

วันนี้ 26 มิ.ย.66 ณ วัดเทพศิรินทราวาสราชวรวิหาร ในระหว่างวันที่ 19 มิ.ย.66 ถึง 8 ก.ค.66 รวม 20 วัน โดยมีข้าราชตำรวจจากทั่วประเทศสมัครใจเข้าร่วมโครงการอุปสมบทหมู่ในครั้งนี้ จำนวน 38 นาย และประชาชน จำนวน 10 คน 
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 24 มิ.ย.66 ระหว่างเวลา 16.30 ถึง 18.00 น. มีการประกอบพิธี
ถวายราชสักการะ พิธีเจริญพระพุทธมนต์สมโภชนาค พิธีมอบบาตรและผ้าไตร ณ มณฑลพิธีลานพระศรีมหาโพธิ์   และพิธีบรรพชาอุปสมบท ณ พระอุโบสถวัดเทพศิรินทราวาสราชวรวิหาร  

โดยมี พล.ต.ท.ธัชชัย  ปิตะนีละบุตร ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เดินทางมาเป็นประธานในพิธีฯ ภายหลังการอุปสมบทเป็นพระภิกษุสงฆ์แล้ว
จะศึกษาพระปริยัติธรรมและปฏิบัติธรรม ณ วัดเทพศิรินทราวาสราชวรวิหาร
​การจัดโครงการอุปสมบทหมู่ฯ

ในครั้งนี้  สำนักงานตำรวจแห่งชาติ  มุ่งหวังเพื่อให้ข้าราชการตำรวจได้ร่วมแสดงความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา รวมถึงเพื่อให้ข้าราชการตำรวจได้บำเพ็ญคุณงามความดี  ถือเป็นโอกาสที่จะได้เสริมสร้าง คุณธรรม จริยธรรม พัฒนากล่อมเกลาจิตใจ  ซึ่งก่อประโยชน์ให้กับตนเอง ครอบครัว และสังคมต่อไป

สำนักงานตำรวจแห่งชาติเร่งรัดป้องกันและปราบปรามการแข่งรถในทาง มอบหมาย ผู้ช่วย ผบ.ตร.ขับเคลื่อน วาง 9 มาตรการเข้ม แก้ไขปัญหาเด็กแว้นอย่างมีประสิทธิภาพ

ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พล.ต.ท.ประจวบ วงศ์สุข ผู้ช่วย ผบ.ตร. เปิดเผยว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ภายใต้การนำของ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. และ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล รอง ผบ.ตร. ที่ตระหนักและให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาการแข่งรถในทางของเด็กและเยาวชน (เด็กแว้น) อันเป็นปัญหาที่สร้างอุบัติเหตุบนท้องถนน เกิดความไม่ปลอดภัยต่อผู้ใช้รถใช้ถนน และสร้างความเดือดร้อนรำคาญให้แก่ประชาชนในชุมชนและสังคม จึงได้จัดตั้งศูนย์ป้องกันและปราบปรามการแข่งรถในทาง และความผิดอื่นที่เกี่ยวข้อง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปข.ตร.) โดยมอบหมายให้ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล รอง ผบ.ตร. เป็น ผอ.ศปข.ตร. และมี พล.ต.ท.ประจวบ วงศ์สุข ผู้ช่วย ผบ.ตร. เป็น รอง ผอ.ศปข.ตร. เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยได้ดำเนินการขับเคลื่อนการป้องกันและปราบปรามการแข่งรถในทาง โดยใช้นโยบายบังคับใช้กฎหมาย ใน 4 มาตรการหลัก ได้แก่ มาตรการก่อนเกิดเหตุ มาตรการขณะเกิดเหตุ มาตรการสอบสวนขยายผล และมาตรการเฝ้าระวังและปรับเปลี่ยนพฤติกรรม

พล.ต.ท.ประจวบฯ กล่าวว่า วันนี้ได้รับมอบหมายให้เป็นประธานการประชุมขับเคลื่อน ศปข.ตร. และกำหนดแนวทางมาตรการปฏิบัติในห้วงต่อไปในปี พ.ศ.2566 โดยมีผู้แทนหน่วย บช.น., ภ.1 - 9 และ บก.ทล. พร้อมด้วยหัวหน้าสถานีตำรวจ 1,484 สถานีทั่วประเทศ เข้าร่วมประชุมผ่านระบบการประชุมทางไกล รับฟังรายงานการบันทึกข้อมูลในระบบ CRIME และสถิติการดำเนินการ สถิติการร้องเรียนผ่านทางศูนย์รับแจ้งเหตุ 191 และ 1599 พร้อมการวิเคราะห์จัดกลุ่มความเสี่ยงของพื้นที่ สน./สภ. และสรุปผลการป้องกันปราบปราม ตลอดจนการติดตามตรวจสอบการแข่งรถในทางที่ปรากฏในสื่อสังคมออนไลน์ และความคืบหน้าการจ่ายเงินรางวัลเบาะแส เป็นต้น

พล.ต.ท.ประจวบฯ กล่าวต่อว่า ได้กำหนดมาตรการปฏิบัติและกำชับให้หน่วย บช.น., ภ.1 - 9 และ บก.ทล. นำไปขับเคลื่อนเพื่อป้องกันและปราบปรามการแข่งรถในทางและความผิดอื่นที่เกี่ยวข้อง ในห้วงต่อไปในปี พ.ศ.2566 โดยกำชับให้เพิ่มความเข้มในการปฏิบัติ ดังนี้

1. ให้ทุกหน่วยระดมกวาดล้างจับกุมและเพิ่มความเข้มในมาตรการป้องกันปราบปรามการแข่งรถในทาง ขับรถโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยของผู้อื่น การรวมกลุ่มหรือมั่วสุมในลักษณะหรือโดยพฤติการณ์ที่น่าจะเป็นการนำไปสู่การแข่งรถในทาง โดยเน้นการบังคับใช้กฎหมายใน 4 มาตรการหลัก ได้แก่ มาตรการก่อนเกิดเหตุ มาตรการขณะเกิดเหตุ มาตรการสอบสวนขยายผล และมาตรการเฝ้าระวังและปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติกำหนดอย่างต่อเนื่องและจริงจัง

2. เร่งรัดกวดขันตรวจสอบการกระทำความผิดทุกช่องทาง และเพิ่มความเข้มในการระดมกวาดล้างจับกุม ทั้ง ONLINE เช่น คลิปการแข่งรถ, การขับรถที่ไม่คำนึงถึงความปลอดภัย, ร้านค้าออนไลน์ ฯลฯ และ ON GROUND เพิ่มความเข้มออกตรวจตรา แหล่งมั่วสุม จุดนัดหมาย ร้านจำหน่ายอะไหล่ ร้านซ่อมดัดแปลงสภาพรถ ร้านแต่งซิ่ง โรงงานและร้านขายท่อไอเสียที่ไม่ได้มาตรฐาน ตลอดจนเส้นทาง ถนนที่มีความเสี่ยงในพื้นที่ ฯลฯ ดำเนินการตามกฎหมายกับตัวการ และสอบสวนขยายผลไปยังผู้สนับสนุน เช่น ผู้ผลิต จำหน่าย ประกอบ ดัดแปลง ยุยงส่งเสริม Admin page และกองเชียร์ ตรวจยึดรถต้องสงสัย พร้อมจัดทำประวัติผู้กระทำผิดและมีพฤติกรรมเสี่ยง

3. กรณีมีการชักชวนรวมกลุ่มมั่วสุมแข่งรถในทาง หรือออกทริปท่องเที่ยวในช่วงเทศกาล วันหยุดราชการและวันหยุดต่อเนื่อง ในห้วงเดือน ก.ค. - ส.ค.66 ให้ดำเนินการตามมาตรการที่ ตร. กำหนด ตั้งแต่พื้นที่ต้นทาง พื้นที่กลางทาง จนถึงพื้นที่ปลายทาง ตั้งจุดตรวจ จุดสกัด เพื่อกวดขันวินัยจราจร ตรวจสอบและป้องปรามให้ครอบคลุม และให้หน่วยพื้นที่ต้นทางประชาสัมพันธ์กับ Admin Page ให้ระงับการดำเนินการดังกล่าว เพื่อไม่ให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญแก่ผู้ใช้รถใช้ถนน และประชาชนที่พักอยู่ริมทางและลดการสูญเสียจากอุบัติเหตุ หากมีการรวมกลุ่มออกทริปท่องเที่ยวเกิดขึ้นแล้ว ให้ สน./สภ. บูรณาการกำลังทุกฝ่ายให้ยุติกิจกรรมพร้อมติดตามจับกุมให้ได้โดยเร็ว หากเกี่ยวข้องในหลายพื้นที่ ให้บูรณาการข้อมูลและการปฏิบัติ ระหว่างพื้นที่อย่างต่อเนื่อง 

4. ในช่วงเปิดภาคเรียน ให้ดำเนินโครงการ เปิดโรงเรียน เปิดโรงรถ พร้อมทั้งเครือข่ายเยาวชนก่อการดีอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ความรู้ ป้องปรามและปรับเปลี่ยนเยาวชนที่มีพฤติกรรมเสี่ยง ให้กลับตัวเป็นคนดี มีจิตอาสา มุ่งสู่การแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน

5. ให้ความสำคัญการรับแจ้งเหตุและร้องเรียนในทุกช่องทาง โดยให้ กก.สส.บก.น./ภ.จว. ร่วมกับงานสืบสวน ของ สน./สภ. เร่งรัดตรวจสอบและดำเนินการ เน้นการสืบสวนหลังเกิดเหตุให้ได้ตัวผู้ก่อเหตุมาดำเนินคดีทุกราย เพื่อป้องปรามไม่ให้กลับมากระทำความผิดอีก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการได้รับแจ้งเหตุทางศูนย์รับแจ้งเหตุฉุกเฉิน 191 ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจออกตรวจสอบทุกเหตุ แล้วรายงานให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติทราบตามความเป็นจริง 

6. ในห้วงที่ผ่านมา พบว่าสถิติการรับแจ้งเหตุฯ ของบางหน่วย มีแนวโน้มสูงขึ้น ให้หน่วยทุกระดับนำข้อมูลการรับแจ้งเหตุและพื้นที่เสี่ยงต่างๆ ของศูนย์รับแจ้งเหตุฉุกเฉิน 191, 1599 และข้อมูลในระบบ CRIMES มาวิเคราะห์ เพื่อวางแผนและกำหนดมาตรการในการป้องกันปราบปรามเหตุเพื่อป้องกันเหตุและลดอุบัติเหตุ ให้เท่าทันต่อสถานการณ์ เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ และสืบสวนจับกุมให้ได้ทุกราย 

7. ให้ผู้บังคับบัญชาสุ่มตรวจและทดสอบการปฏิบัติ กรณีเมื่อได้รับแจ้งเหตุแข่งรถในทาง ผ่านศูนย์รับแจ้งเหตุฉุกเฉิน 191 และช่องทางอื่นๆ เพื่อทดสอบการดำเนินการทั้งระบบ เช่น การรับแจ้งและประสานงาน การเดินทางไปที่เกิดเหตุ การเข้าระงับเหตุและดำเนินคดี การรายงานผลการปฏิบัติ เพื่อกระตุ้น แก้ไขปรับปรุง และเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติ 

8. แสวงหาความร่วมมือ ข้อมูลและเบาะแสจากเครือข่ายภาคประชาชนในพื้นที่และช่องทางอื่นๆ ทุกช่องทาง ประชาสัมพันธ์และสร้างการรับรู้ให้ประชาชนรับทราบ กรณีผู้ให้ข้อมูลหรือเบาะแสที่สามารถนำไปสู่การจับกุมความผิดแข่งรถในทาง จะได้รับค่าตอบแทน รายละ 3,000 บาท โดยสามารถแจ้งข้อมูลหรือเบาะแสได้ ผ่านช่องทางต่างๆ เช่น ศูนย์รับแจ้งเหตุฉุกเฉิน 191, สายด่วน 1599 และ ศูนย์โซเชียลมีเดีย ศปก.ตร.

9. กรณีมีการจัดการแข่งขันรถ อันมีลักษณะเป็นเทศกาลประจำในพื้นที่ เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจหรือสืบทอดวัฒนธรรมประเพณี ให้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ เพื่อกำหนดมาตรการรักษาความปลอดภัย และอำนวยความสะดวกการจราจร และป้องกันอุบัติเหตุอย่างใกล้ชิด
          
พล.ต.ท.ประจวบฯ กล่าวทิ้งท้ายว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีความมุ่งหวังที่จะดำเนินการป้องกันและปราบปรามการแข่งรถในทางและความผิดอื่นที่เกี่ยวข้อง ให้บรรลุผลสำเร็จเป็นรูปธรรม ประชาชนได้รับความสะดวกในการการเดินทาง ลดอุบัติเหตุบนท้องถนน และความเดือดร้อนรำคาญของประชาชนในชุมชนและสังคม ตลอดจนสร้างความปลอดภัยต่อผู้ใช้รถใช้ถนน จึงขอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจทุกสถานีทั่วประเทศ ทุ่มเทสรรพกำลังอย่างต่อเนื่องและจริงจัง เพื่อสร้างความสงบเรียบร้อยให้แก่ประชาชนและสังคม

สำนักงานตำรวจแห่งชาติส่งมอบรถรับบริจาคโลหิตให้กับสภากาชาดไทย และจัดกิจกรรมจิตอาสาร่วมบริจาคโลหิต สำหรับใช้ช่วยชีวิตผู้ป่วยและผู้ประสบเหตุต่างๆ ให้เพียงพอ ตามหลักคิด "ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก"

วันนี้ (7 ก.ค.66) เวลา 09.30 น. พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) และ พล.ต.อ.วิสนุ ปราสาททองโอสถ จเรตำรวจแห่งชาติ ในฐานะผู้อำนวยการหลักสูตรการพัฒนาผู้บริหารระดับสูง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือหลักสูตรรวมมิตร พร้อมกลุ่มนักศึกษารวมมิตร ได้ร่วมกันมอบรถรับบริจาคโลหิตเคลื่อนที่ ซึ่งจัดหาจากรายได้ในการจัดกิจกรรมคอนเสิร์ต และแข่งขันกอล์ฟรวมมิตรสามัคคีที่ผ่านมา  ให้แก่ สภากาชาดไทย จำนวน 1 คัน โดยมีรองศาสตราจารย์ แพทย์หญิง ดุจใจ ชัยวานิชศิริ ผู้อำนวยการศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย เป็นผู้รับมอบ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรับบริจาคโลหิตแบบเคลื่อนที่ ลดปัญหาความขาดแคลนโลหิต สำหรับใช้ช่วยชีวิตผู้ป่วยและผู้ประสบเหตุต่างๆ ให้เพียงพอ ตามหลักคิด "ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก"

โดยมี พล.ต.อ.ชินภัทร สารสิน รอง ผบ.ตร. , พล.ต.ท.ประจวบ วงศ์สุข ผู้ช่วย ผบ.ตร. , พล.ต.ท.อนุชา รมยะนันทน์ ผู้บัญชาการสำนักงาน ก.ตร. , พล.ต.ท.กฤษฎา กาญจนอลงกรณ์ ผู้บัญชาการประจำสำนักงาน ผบ.ตร. , พล.ต.ท.อาชยน ไกรทอง ผู้บัญชาการประจำสำนักงาน ผบ.ตร./โฆษก ตร. ,พล.ต.ต.วัชรินทร์ ประสพดี เลขานุการตำรวจแห่งชาติ , พล.ต.ต.วริศร์สิริภ์ ลีละสิริ ผู้บังคับการตรวจคนเข้าเมือง 3 , พล.ต.ต.สุนทร อรุณนารา ผู้บังคับการสำนักงาน ก.ต.ช. และ พล.ต.ต.พัลลภ แอร่มหล้า ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสมุทรปราการ พร้อมด้วยกลุ่มรวมมิตร อาทิ คุณกฤษฎา จีนะวิจารณะ , คุณกนกศักดิ์ ปิ่นแสง , คุณสารัชต์ รัตนาภรณ์ ร่วมพิธี

นอกจากนี้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้จัดกิจกรรมจิตอาสาร่วมบริจาคโลหิต ณ ห้องโถง ชั้น 1 อาคารศูนย์ฝึกอบรมพัฒนาบุคลากรและสวัสดิการ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยเชิญชวนข้าราชการตำรวจในสังกัดที่มีที่ตั้งอยู่ใน ตร. ร่วมบริจาคโลหิตในครั้งนี้ สำหรับในส่วนของหน่วยงานในสังกัดของสำนักงานตำรวจแห่งชาติทั่วประเทศ กำหนดให้มีการจัดกิจกรรมดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง เพื่อส่งต่อโลหิตสนับสนุนภารกิจของศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย

ทั้งนี้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติตระหนักถึงความสำคัญของการบริจาคโลหิต ถือเป็นการทำกุศลอันยิ่งใหญ่ด้วยการเป็นผู้ให้ โดย 1 คน จะสามารถบริจาคได้ ครั้งละ 350 – 450 ซีซี สามารถช่วยเหลือผู้ป่วยได้ถึง 3 คน การบริจาคโลหิตเป็นส่วนหนึ่งของการทำความดี เสียสละเพื่อส่วนรวม โดยไม่หวังสิ่งตอบแทน อีกทั้งยังเป็นการสำรองโลหิตให้มีปริมาณเพียงพอ และทันต่อการให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยทั่วประเทศ

หลังจาก ผบ.ตร. และคณะผู้บังคับบัญชา ได้ส่งมอบรถรับบริจาคโลหิตให้กับสภากาชาดไทยเรียบร้อยแล้ว ได้ตรวจเยี่ยมและให้กำลังใจข้าราชการตำรวจที่มาร่วมบริจาคโลหิตในครั้งนี้ ณ จุดรับบริจาคโลหิต ห้องโถง ชั้น 1 อาคารศูนย์ฝึกอบรมพัฒนาบุคลากรและสวัสดิการ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ด้วย

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เชิญชวนประชาชน “ทำแบบทดสอบวัคซีนไซเบอร์ 40 ข้อ ได้รับ Whoscall Premium ใช้ฟรี 1 ปี และลุ้นรับ iPhone 14 จำนวน 60 เครื่อง ” 

เนื่องจากในรอบสัปดาห์  มีการรับแจ้งความออนไลน์คดีปลอมเสียงเป็นบุคคลอื่นโทรศัพท์หลอกลวงเพื่อยืมเงิน สร้างความเสียหายและความกังวลให้กับพี่น้องประชาชน พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์  กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. และ พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ รอง ผบ.ตร. เป็นห่วงพี่น้องประชาชน ที่อาจจะตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ จึงมอบหมายให้ พล.ต.อ.สมพงษ์ ชิงดวง  ที่ปรึกษาพิเศษ ตร.   หัวหน้าคณะทำงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันต้านภัยอาชญากรรมทางเทคโนโลยีและ พล.ต.ท.ธัชชัย  ปิตะนีละบุตร ผู้ช่วย ผบ.ตร. พร้อมด้วยคณะทำงาน แถลงข่าวเตือนภัย เมื่อวันที่ 12  ก.ค.2566 เวลา 10.30 น. ณ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ 

พล.ต.อ.สมพงษ์  ชิงดวง  ที่ปรึกษาพิเศษ ตร.กล่าวว่าในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา (2-8 ก.ค.2566)  มีสถิติการรับแจ้งความคดีออนไลน์มากที่สุดยังเป็นคดีเดิมๆ  5 อันดับ ได้แก่  อันดับ 1)  คดีหลอกลวงซื้อขายสินค้าหรือบริการ 2) คดีหลอกลวงให้โอนเงินเพื่อทำงานหารายได้พิเศษ   3) คดีหลอกลวงให้กู้เงิน  4) คดีหลอกลวงให้ติดตั้งโปรแกรมควบคุมระบบในเครื่องโทรศัพท์ฯ และ 5) คดีข่มขู่ทางทางโทรศัพท์ให้เกิดความกลัวแล้วหลอกให้โอนเงิน (Call Center) มองในภาพรวมแล้ว สถิติการรับแจ้งลดลงเพียงเล็กน้อย จึงต้องเร่งประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนประชาชนได้รับทราบ สำหรับคดีออนไลน์ที่คนร้ายนำมาหลอกลวงซ้ำเติมประชาชนในช่วงนี้  คือ ลำดับ 7 การแอบอ้างเป็นบุคคลอื่นเพื่อยืมเงิน  และจากการตรวจสอบสถิติการรับแจ้งความออนไลน์ทั้งหมด มีการรับแจ้ง จำนวน 10,425 เคส ความเสียหาย 370 ล้านบาทเศษ โดยคนร้ายใช้วิธีการปลอม Facebook  ไลน์ และโทรศัพท์หลอกลวงเป็นบุคคลอื่นเพื่อยืมเงิน แต่ช่วงนี้คนร้ายใช้วิธี“ปลอมเสียง”เป็นบุคคลอื่นเพื่อยืมเงิน  ซึ่งเป็นการพัฒนาวิธีการหลอกลวงของคนร้าย ถือเป็นความจำเป็นเร่งด่วนต้องแจ้งเตือนให้ประชาชนทราบ

พ.ต.อ.ก้องกฤษฎา  กิตติถิระพงษ์  รอง ผบก.ตอท.บช.สอท. กล่าวว่า  ก่อนหน้านี้คนร้ายจะโทรศัพท์หาเหยื่อ แกล้งถามว่า “ทำอะไรอยู่และจำได้หรือไม่ว่าเป็นใคร”  เหยื่อพยายามคิดว่าเสียงเหมือนใคร แล้วบอกชื่อไป  คนร้ายจะสวมรอยเป็นคนนั้นทันที   แล้วบอกว่าเปลี่ยนเบอร์โทรศัพท์มือถือ   จากนั้นให้เหยื่อบันทึกชื่อใหม่ไว้  วันต่อมาคนร้ายโทรศัพท์มาอ้างว่ามีเรื่องต้องใช้เงินด่วน  ซื้อของแล้วเงินไม่พอ หรือมีเหตุจำเป็นต้องใช้เงินอื่นๆ  แต่ลืมเอาบัตรเอทีเอ็มมา หรือแอปพลิเคชันธนาคารใช้ไม่ได้  แล้วแจ้งเลขบัญชีม้าเพื่อให้โอนเงินให้ โดยรับปากว่าจะคืนเงินให้ตอนเย็น   สำหรับช่วงนี้คนร้ายใช้โปรแกรม แอปพลิเคชัน หรือเทคนิคใดๆ ปลอมเสียง แล้ว โทรศัพท์หาเหยื่อโดยเรียกชื่อเหยื่อได้อย่างถูกต้อง  และบอกชื่อคนที่ถูกปลอมเสียงให้เหยื่อทราบ  แล้วหลอกให้โอนเงินโดยใช้วิธีการเดียวกันข้างต้น
จุดสังเกตุ 

1.  คนร้ายมีข้อมูลหมายเลขโทรศัพท์  ชื่อ หน้าที่การงาน ความสัมพันธ์ของคนที่ถูกแอบอ้างและเหยื่อ 
2. ชื่อบัญชีธนาคารที่รับโอนเงิน (บัญชีม้า) ไม่ตรงกับคนที่คนร้ายแอบอ้าง 
วิธีป้องกัน 
1. ให้สอบถามรายละเอียดเชิงลึกระหว่างคนที่ถูกแอบอ้างกับเหยื่อหรือผู้ที่ได้รับโทรศัพท์คนร้าย  
2. ให้ติดต่อกลับทางช่องทางอื่น เช่น ไลน์  facebook  หรือหมายเลขโทรศัพท์เดิม  
3. กรณีให้โอนเงินเข้าบัญชีคนอื่นหรือบัญชีม้า โดยอ้างว่าเป็นบัญชีของเลขา  ร้านค้า  เพื่อน หรืออื่นๆ ให้สงสัยไว้ก่อนว่าเป็นคนร้าย 
4. ตรวจสอบเบอร์โทรศัพท์ที่คนร้ายใช้ด้วยแอปพลิเคชัน Whoscall (เป็นแอปพลิเคชันแจ้งเตือนเบอร์มิจฉาชีพที่โทรเข้ามาได้เบื้องต้น)
ในทางเทคนิคแล้วผู้เชี่ยวชาญแจ้งว่ากรณีคนร้ายปลอมเสียงผู้อื่นนั้นสามารถทำได้ แต่ยังไม่ได้มีการนำเสียงที่คนร้ายใช้ เปรียบเทียบกับเสียงจริงของบุคคลที่ถูกคนร้ายแอบอ้าง  จึงยังไม่สามารถยืนยันได้ว่าได้มีการนำเทคโนโลยีตามที่ปรากฎเป็นข่าวมาใช้หลอกคนไทยแล้วหรือไม่  แต่จากข้อมูลการใช้  voice.ai มาหลอกลวงนั้น  ส่วนใหญ่จะเป็นการหลอกญาติหรือคนรู้จักที่คอนข้างสนิทกัน  ต้องมีตัวอย่างเสียงคนถูกแอบอ้างและรู้ข้อมูลผู้ถูกแอบอ้างและเหยื่อในระดับหนึ่ง  

พล.ต.ต.ฐายุฏฐ์  จันทร์ถาวร รอง ผบช.สอท. กล่าวว่า พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์  กิตติประภัสร์               ผบ.ตร. ตระหนักดีว่า  การควบคุมอาชญากรรมทางเทคโนโลยี  จำเป็นต้องใช้การปราบปรามควบคู่ไปกับการป้องกันไม่ให้เหตุเกิด   สำหรับวิธีการป้องกันนั้นต้องใช้วิธีสร้างภูมิคุ้มกันภัยออนไลน์ให้แก่ประชาชนได้รู้เท่าทันกลโกงและวิธีการหลอกลวงของคนร้าย  จึงสั่งการให้จัดทำแบบทดสอบโดยอาศัยแผนประทุษกรรมของคนร้าย  สถิติและประเภทคดี  มาวิเคราะห์และจัดทำแบบทดสอบ  หากประชาชนได้อ่านและทำแบบทดสอบจนครบทั้ง 40 ข้อ แล้วจะทำให้รู้ว่าคนร้ายใช้จุดอ่อนด้านใดของเหยื่อมาหลอกลวง  วิธีการหลอกลวงของคนร้าย  วิธีรับมือคนร้าย  และวิธีป้องกันตนเองไม่ให้ตกเป็นเหยื่อ  อีกทั้งจะทำให้มีความรู้ด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้องสามารถนำไปใช้ในการป้องกันตนเองและผู้อื่นได้ จะขอให้ พล.ต.ต.ปรัชญา  ประสานสุข รอง ผบช.ภ.2 ให้รายละเอียดเกี่ยวกับแบบทดสอบให้ทราบ
พล.ต.ต.ปรัชญา  ประสานสุข รอง ผบช.ภ.2 กล่าวว่า แบบทดสอบสำหรับประชาชน  จะมีอยู่ด้วยกัน 40 ข้อ จะเปิดให้ประชาชนเริ่มทำข้อสอบได้ ตั้งแต่วันนี้จนถึง วันที่ 30 กันยายน 2566 โดยสามารถเข้าทำแบบทดสอบได้ใน 3 ช่องทาง ได้แก่ 1) สแกนคิวอาร์โค้ด 2) เข้าเว็ปไซต์ไซเบอร์วัคซีน และ 3) ทำแบบทดสอบเมื่อครูไซเบอร์ไปให้ความรู้ในพื้นที่ โดยเป็นการเข้าแบบทดสอบผ่าน Google Form สำหรับทำแบบทดสอบ ( หากไม่ชิงรางวัล สามารถทำแบบทดสอบได้เลย ) และจะสามารถดูเฉลยได้เมื่อทำข้อสอบเสร็จ กด "ดูคะแนน" 

กรณีต้องการรับสิทธิเพื่อชิงรางวัลต้องดำเนินการ ดังนี้
1. กดลิงก์ "เข้าเว็บไซต์ไซเบอร์วัคซีน" จาก Google form  หรือ เข้าผ่านเว็บไซต์  
http://www.เตือนภัยออนไลน์.com   และสมัครใช้งานและเข้าสู่ระบบไซเบอร์วัคซีนผ่านเว็บไซต์ดังกล่าว (เข้าสู่ระบบผ่านไลน์) 
2. ทำการยืนยันตัวตนด้วยบัตรประชาชน  หรือแอปพลิเคชัน THaiD 
3. หน้าแรกของระบบไซเบอร์วัคซีน จะมีปุ่ม "ทดสอบ 40 คำถามสำหรับประชาชน"  ให้กดเพื่อทำแบบทดสอบ
4. เลือกยืนยันความสมัครใจรับการทดสอบ และ กรอกอีเมล  กรณีต้องการทราบผลคะแนนทางอีเมล
กรณีที่ทำข้อสอบครบ 40 ข้อแล้ว  จะได้รับ Whoscall Premium Gift Code ฟรี ซึ่งสามารถใช้บริการ Whoscall Premium Feature ได้ฟรี เป็นระยะเวลา 1 ปี หากทำแบบทดสอบได้คะแนนตั้งแต่ 35 ข้อ หรือคิดเป็น 87.5 เปอร์เซ็นต์ ขึ้นไป จะมีสิทธิ์ลุ้นรับรางวัล iPhone 14 และสามารถติดตามการจับรางวัลได้ทางช่องทาง www.เตือนภัยออนไลน์.com   โดยประชาชนสามารถทำแบบทดสอบได้ไม่จำกัดจำนวนครั้ง  สำหรับประชาชนที่ทำแบบทดสอบไปก่อนหน้านี้  แต่ต้องการได้รับสิทธิลุ้นรางวัล สามารถทำแบบทดสอบใหม่ได้ แต่จะได้รับสิทธิ Whoscall Premium และสิทธิลุ้น iPhone 14 เพียง 1 สิทธิ  เท่านั้น

นาย กชศร ใจแจ่ม ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ บริษัท Gogolook จำกัด กล่าวว่า บริษัท Gogolook จำกัด ผู้ให้บริการแอปพลิเคชัน Whoscall ในประเทศไทยเล็งเห็นถึงปัญหาอาชญากรรมทาง เทคโนโลยีของประเทศ และจำนวนอาชญากรรมที่มีอัตราเพิ่มสูงขึ้น และมูลค่าความเสียหายเพิ่มขึ้นอย่าง ต่อเนื่อง บริษัท Gogolook จำกัด จึงได้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของ คณะทำงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันภัย อาชญากรรมทางเทคโนโลยี (CYBER VACCINATED) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยบริษัท Gogolook จำกัด ได้สนับสนุน คณะทำงานในหลายๆ ด้าน เพื่อให้โครงการนี้ได้รับผลตอบรับที่ดี และสัมฤทธ์ผล โดยเริ่มจาก การสนับสนุน Whoscall Premium Gift Code ให้ผู้ที่เข้าร่วม ทำแบบทดสอบจำนวน 40 ข้อ เพื่อการเข้าใจ ถึงอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ตั้งแต่วันนี้จนถึง วันที่ 30 กันยายน 2566 โดยผู้ที่ได้เข้าร่วมทำแบบทดสอบ จำนวน 40 ข้อ เมื่อทำแบบทดสอบทั้ง 40 ข้อเสร็จสิ้น จะได้รับ Whoscall Premium Gift Code ฟรี ซึ่งสามารถใช้บริการฟีเจอร์เสริมต่างๆ จาก Whoscall Premium ได้ฟรีเป็นระยะเวลา 1 ปี โดยฟีเจอร์พรีเมียม ของ Whoscall เป็นฟีเจอร์ที่เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของ Whoscall เองให้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งโดยพื้นฐานแล้ว Whoscall เป็น แอปพลิเคชัน ที่ให้บริการฟรีอยู่แล้ว แต่หากมีการสมัคร Whoscall Premium ก็จะได้รับ ฟีเจอร์ที่เพิ่มขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกสบายและการป้องกันขั้นสูงสุดได้แก่
● การอัปเดตฐานข้อมูลเบอร์โทรศัพท์มิจฉาชีพ  และฐานข้อมูลของเบอร์โทรศัพท์ในระบบแบบอัตโนมัติ 
ทำให้ผู้ใช้มีฐานข้อมูลล่าสุดอยู่ตลอด
● การ Block Spam Call แบบอัตโนมัติ สามารถบล็อกสายมิจฉาชีพได้ทันที
● Smart SMS Assistant ระบบการช่วยจัดการข้อความที่มีความเสี่ยง สามารถจัดหมวดหมู่ SMS และ 
สแกนลิงก์อันตรายใน SMS
● URL Scanner สามารถนำลิงก์ URL มาตรวจสอบความปลอดภัย
● การใช้บริการ Whoscall โดยปราศจากสื่อโฆษณาต่างๆ
นอกจากประโยชน์ที่ได้กล่าวมาข้างต้น Whoscall ยังคงพัฒนาระบบต่างๆเพิ่มขึ้นโดยตลอด เพื่อให้ผู้ใช้ บริการ Whoscall ได้รับความปลอดภัยเพิ่มขึ้น และลดอัตราความเสี่ยงต่ออาชญากรรมทางเทคโนโลยี

โดยนอกจากการสนับสนุน Whoscall Premium Gift Code แก่คณะทำงานแล้ว บริษัท Gogolook จำกัด จะได้เป็นส่วนหนึ่งในการประชาสัมพันธ์กิจกรรมต่างๆ ของ CYBER VACCINATED เพื่อให้โครงการดังกล่าว ประสบผลสำเร็จ ตามความตั้งใจของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สามารถลดจำนวนอาชญากรรม และผลกระทบ จากอาชญากรรมทางเทคโนโลยีได้
 
พล.ต.อ.สมพงษ์  ชิงดวง  กล่าวเพิ่มเติมว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติผนึกกำลังส่วนราชการ เอกชนและภาคีเครื่องข่ายทำพิธีเปิดการรณรงค์  “ผนึกกำลังร่วมใจ ต้านภัยไซเบอร์ ไม่เชื่อ ไม่รีบ ไม่โอน รู้ทันกลโกง” เพื่อประชาสัมพันธ์ แจ้งเตือนให้ประชาชนรู้เท่าทันภัยออนไลน์  โดยใช้ข้อความที่เป็นสาระสำคัญ เดียวกันคือ “ไม่เชื่อ ไม่รีบ ไม่โอน รู้ทันกลโกง” อีกทั้งได้มีการประชาสัมพันธ์ให้พี่น้องประชาชนได้ทำแบบทดสอบ วัคซีนไซเบอร์จำนวน 40 ข้อ เพื่อรับสิทธิพิเศษ และลุ้นรับรางวัล ดังกล่าวข้างต้น และเชื่อมั่นว่าหากพี่น้องประชาชนได้ทำแบบทดสอบ  วัคซีนไซเบอร์ ทั้ง 40 ข้อ จะทำให้มีภูมิคุ้มกันหรือมีวัคซีนไซเบอร์เพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน  จึงขอประชาชนสัมพันธ์เชิญชวนให้พี่น้องประชาชนได้ทดสอบความรู้ ตามแบบทดสอบวัคซีนไซเบอร์(สำหรับประชาชน) ได้ ดังนี้
1. สแกน QR Code หรือตามลิงก์นี้ https://rb.gy/hl5ff 
2. ช่องทาง www.เตือนภัยออนไลน์.com และ https://pctpr.police.go.th  
3. ช่องทางตามที่ครูไซเบอร์  ได้ประชาสัมพันธ์ให้ทราบ
และขอให้ช่วยกันแชร์เพื่อให้ทุกคนได้รับทราบและทำแบบทดสอบจะได้มีภูมิคุ้มกันภัยกันทุกคน สำหรับภัยออนไลน์ที่คนร้ายแอบอ้างเป็นบุคคลอื่นหลอกลวงขอยืมเงินนั้นมีหลายรูปแบบ  และคนร้ายได้พัฒนารูปแบบใหม่ๆ ดังนั้นจึงขอแจ้งเตือนพี่น้องประชาชนให้ได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารถึงวิธีการของคนร้าย จุดสังเกต และวิธีป้องกัน จะได้รู้เท่าทันภัยออนไลน์ และเพื่อให้รู้เท่าทันภัยออนไลน์ในรูปแบบใหม่  สามารถติดตามข้อมูลการแจ้งเตือนภัยออนไลน์ได้จาก เว็บไซต์ และเพจ เตือนภัยออนไลน์ หมายเลขโทรศัพท์ 081-866-3000 หรือโทรสายด่วน 1441

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เตือนภัยออนไลน์ “ระวัง: แอพดูดเงินปลอมอาละวาด ปลอม Google Play และใช้นามสกุลเว็บ .CC”

เนื่องจากในรอบสัปดาห์  มีการรับแจ้งความออนไลน์คดีหลอกให้กดลิงก์แอปพลิเคชันควบคุมโทรศัพท์ แล้วโอนเงินออกไป สร้างความเสียหายให้กับพี่น้องประชาชนเพิ่มมากขึ้น พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ รอง ผบ.ตร. และ พล.ต.อ.สมพงษ์ ชิงดวง  ที่ปรึกษาพิเศษ ตร. หัวหน้าคณะทำงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันต้านภัยอาชญากรรมทางเทคโนโลยีเป็นห่วงพี่น้องประชาชน ที่อาจจะตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ จึงมอบหมายให้  พล.ต.ท.ธัชชัย ปิตะนีละบุตร ผู้ช่วย ผบ.ตร. พร้อมด้วยคณะทำงาน แถลงข่าวเตือนภัย เมื่อวันที่ 19 ก.ค.2566 เวลา 11.00 น. ณ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ 

พล.ต.ท.ธัชชัย ปิตะนีละบุตร ผู้ช่วย ผบ.ตร. กล่าวว่าในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา (9-15 ก.ค.2566) มีสถิติการรับแจ้งความคดีออนไลน์มากที่สุด 5 อันดับ ได้แก่  อันดับ 1) คดีหลอกลวงซื้อขายสินค้าหรือบริการ 2) คดีหลอกลวงให้โอนเงินเพื่อทำงานหารายได้พิเศษ 3) คดีหลอกลวงให้กู้เงิน 4) คดีหลอกลวงให้ติดตั้งโปรแกรมควบคุมระบบในเครื่องโทรศัพท์ฯ และ 5) คดีข่มขู่ทางทางโทรศัพท์ให้เกิดความกลัวแล้วหลอกให้โอนเงิน (Call Center) ซึ่งเมื่อช่วงเดือน มีนาคม 2566 - มิถุนายน 2566 สถิติคดีหลอกลวงให้ติดตั้งโปรแกรมควบคุมระบบในเครื่องโทรศัพท์ฯ อยู่ในลำดับที่ 7 แต่ช่วง 2 สัปดาห์นี้สถิติการรับแจ้งความเพิ่มมากขึ้นจนขยับมาอยู่ลำดับที่ 4  มีสถิติการรับแจ้งความออนไลน์ในรอบ 2 สัปดาห์ห้วงวันที่ 2-15 ก.ค.2566 จำนวน 595 เคส ความเสียหาย 90.5 ล้านบาทเศษ เห็นได้ว่าคนร้ายได้พัฒนารูปแบบและวิธีการหลอกลวง ถือเป็นความจำเป็นเร่งด่วนต้องแจ้งเตือนให้ประชาชนทราบ

พล.ต.ต.ชูศักดิ์ ขนาดนิด ผบก.ตอท.บช.สอท. กล่าวว่า “ตำรวจเตือนให้กดโหลดแอปพลิเคชันจาก Google Play Store คนร้ายก็เขียน Google Play ในเว็บไซต์ปลอมตบตา” โดยแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่การไฟฟ้านครหลวงส่ง SMS แจ้งว่า “เนื่องด้วยเจ้าหน้าที่คำนวณค่า FT ไฟฟ้าผิด ทำให้เก็บค่า FT ไฟฟ้ามาเกินให้ติดต่อเจ้าหน้าที่ http://mea.bwz-th.cc” เหยื่อหลงเชื่อกดลิงก์เพิ่มเพื่อนไลน์ ขอชื่อและเบอร์โทรศัพท์ แล้วคนร้ายจะโทรมาพร้อมหลอกให้โหลดแอปพลิเคชันการไฟฟ้านครหลวงปลอมที่ส่งลิ้งมาให้ทางไลน์  ซึ่งเมื่อกดเข้าไปจะมีข้อความและสัญลักษณ์ด้านบนเป็น Google Play เพื่อให้เหมือนว่าเป็นการโหลดจาก Google Play แต่ความจริงเป็น Google Play ปลอม จากนั้นจะหลอกให้กดโหลดแอปพลิเคชั่นควบคุมเครื่องโทรศัพท์  แล้วให้เหยื่อกรอกชื่อ หมายเลขโทรศัพท์ ตั้งรหัสผ่าน 6 ตัว 2 ชุด ที่ไม่ซ้ำกัน กดยืนยันข้อมูล 3 จุดให้เป็นสีน้ำเงิน เพื่อยืนยันตัว จากนั้นหน้าจอจะเกิดข้อความค้าง ขึ้นข้อความว่า “อยู่ระหว่างโหลดข้อมูล” โดยคนร้ายจะหลอกว่าให้โหลดข้อมูลไม่ต่ำกว่า 15% แล้วเงินจะเข้าบัญชี แต่ปรากฏว่าในระหว่างนั้นคนร้ายได้สุ่มนำรหัสที่เราใส่ไป หรือจากวันเดือนปีเกิดเรา หรือจากหมายเลขโทรศัพท์ไปทดลองเข้าแอปธนาคารในโทรศัพท์ โอนเงินออกจากบัญชีเหยื่อไป

จุดสังเกตุ  
การเปรียบเทียบของปลอม-ของจริง 
ของปลอม ของจริง
1) ไลน์เป็นชื่อบัญชีส่วนบุคคล สามารถโทรหากันได้ 1) ไลน์เป็นชื่อบัญชี MEA Connect ซึ่งเป็นบัญชีทางการ (Official) ไม่สามารถโทรหากันได้
2) เว็บไซต์ปลอม นามสกุลของโดเมนของ มักลงท้ายด้วย .cc    2) เว็บไซต์ชื่อ www.mea.or.th นามสกุล ของโดเมนคือ .or.th
3) บนหน้าจอระบุหน้าเว็บไซต์ Google Play 
แต่ลิงก์ที่แสดงเป็น http://mea.tw-th.cc 3) เมื่อต้องการ Download App บน Google Play 
ลิงก์ที่แสดงจะระบุ https://play.google.com
4) แอปพลิเคชันของปลอม MEA Smart Life ไม่มีข้อมูลติดต่อของนักพัฒนาซอฟต์แวร์ และแอปฯ ในเครือ 4) แอปพลิเคชันของจริง MEA Smart Life มีข้อมูลติดต่อของนักพัฒนาซอฟต์แวร์ และมีแอปฯ ในเครือ

วิธีป้องกัน 

1) ไม่เปิดอ่านหรือ กดลิงก์ใน SMS แปลกปลอม หรือติดตั้งแอปพลิเคชันที่มิจฉาชีพหลอกให้ติดตั้ง 
2) กรณีมีการส่ง SMS ที่ผิดปกติ ควรโทรศัพท์ตรวจสอบกับการไฟฟ้านครหลวง MEA call center 
โทร. 1130 โดยตรง 
3) หากต้องการติดตั้งแอปพลิเคชันใดๆ ควรโหลดและติดตั้งจาก Google Play store หรือ Apple 
Store เท่านั้น ไม่ควรดาวน์โหลดจากลิ้งค์หรือข้อความที่มีคนส่งให้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ขอแจ้งเตือนให้พี่น้องประชาชนได้รู้เท่าทัน รูปแบบกลโกงของคนร้ายที่ได้พัฒนาวิธีการหลอกลวง โดยการส่ง sms พร้อมแนบลิงก์ควบคุมเครื่องโทรศัพท์มาด้วย  และมีวิธีการป้องกันง่ายๆ คือ ไม่เปิดอ่านหรือ กดลิงก์ใน sms แปลกปลอม หรือติดตั้งแอปพลิเคชันที่มิจฉาชีพหลอกให้ติดตั้ง หากต้องการติดตั้งแอปพลิเคชันใดๆ ควรโหลดและติดตั้งจาก Google Play store หรือ Apple Store เท่านั้น และเพื่อให้รู้เท่าทันภัยออนไลน์ในรูปแบบใหม่  สามารถติดตามข้อมูลการแจ้งเตือนภัยออนไลน์ได้จาก เว็บไซต์ และเพจ เตือนภัยออนไลน์ หมายเลขโทรศัพท์ 081-866-3000 หรือโทรสายด่วน 1441 

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เตือนภัยออนไลน์ 'ระวังคนร้ายอ้าง ThaID โหลดแอปดูดเงิน'

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์  กิตติประภัสร์ ผบ.ตร., พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ รอง ผบ.ตร.  พล.ต.อ.สมพงษ์ ชิงดวง ที่ปรึกษาพิเศษ ตร./หัวหน้าคณะทำงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันต้านภัยอาชญากรรมทางเทคโนโลยี และ พล.ต.ท.ธัชชัย ปิตะนีละบุตร ผู้ช่วย ผบ.ตร. มีความห่วงใยพี่น้องประชาชนว่าได้รับข้อความสั้น (SMS) แอบอ้างแอปพลิเคชัน ThaID หลอกให้กดลิงก์ควบคุมโทรศัพท์ เพื่อโอนเงินออกไป 

พล.ต.ท.ธัชชัย ปิตะนีละบุตร ผู้ช่วย ผบ.ตร. พร้อมด้วยคณะทำงาน จึงขอแจ้งเตือนพี่น้องประชาชนว่า ให้ระวังกลุ่มคนร้ายอ้างเป็นเจ้าหน้าที่จากแอป ThaID (ไทยดี) ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันของกรมการปกครองในการแสดงบัตรประชาชนและทะเบียนบ้านออนไลน์  โดยคนร้ายจะติดต่อผู้เสียหายหลายทาง มีทั้งการแอบอ้างทางโทรศัพท์เข้ามา อ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่กรมการปกครอง ให้ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน ThaiD ปลอม หรือส่ง SMS เข้าโทรศัพท์ผู้เสียหายในชื่อ ThaiD เพื่อให้ผู้เสียหายทำการอัพเดทให้ยืนยันตัวตน หรือ อ้างเหตุผลอื่นๆ  ผ่านลิงก์ wsc.fit/62 ซึ่งเป็น LINE Account  ชื่อ Thai ID ปลอม เมื่อพูดคุยผ่าน Line แล้วจะหลอกล่อให้ดาวน์โหลดแอพดูดเงิน ซึ่งจะทำให้โทรศัพท์มือถือไม่สามารถใช้งานได้ชั่วคราว และคนร้ายจะทำการดูดเงินออกจากโทรศัพท์ผู้เสียหายไปสำนักงานตำรวจแห่งชาติและกรมการปกครองจึงขอแจ้งเตือนพี่น้องประชาชนทราบ มิให้หลงเชื่อโดยเด็ดขาด

หากได้รับการติดต่อทางทางโทรศัพท์หรือ SMS ดังกล่าว อย่าดาวน์โหลด หรือมีข้อสงสัย ให้โทรแจ้งสายด่วน 1441 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือ 1548 กรมการปกครอง และหากเผลอติดตั้งแอปพลิเคชันปลอมแล้ว ให้รีบตัดสัญญาณอินเทอร์เน็ต ถอดซิมโทรศัพท์มือถือออก และแจ้งความตำรวจผ่านระบบ www.thaipoliceonline.com

นอกจากนั้น นายชลอ อินทพันธุ์ ผู้อำนวยการส่วนบูรณาการฐานข้อมูลกลางภาครัฐ สำนักบริหารการทะเบียน ผู้แทนกรมการปกครองได้ชี้แจงว่ากรมการปกครอง ไม่มีช่องทางไลน์ทางการ (LINE Official Account) ในการติดต่อกับประชาชน และไม่มีนโยบายในการส่งข้อความสั้น (SMS) ไปยังประชาชนแต่อย่างใด หากประชาชนต้องการดาวน์โหลด แอปพลิเคชัน “ThaID” (ไทยดี)  สามารถดาวน์โหลดหรือติดตั้งผ่าน App Store หรือ Play Store เท่านั้น และสามารถลงทะเบียนได้ด้วยตัวเอง หรือลงทะเบียนผ่านเจ้าหน้าที่  ณ สำนักงานเขต/ที่ว่าการอำเภอ 

ทั้งนี้ประชาชน สามารถติดตามข้อมูลการแจ้งเตือนภัยออนไลน์ได้จาก เว็บไซต์ www.เตือนภัยออนไลน์.com หรือโทรสายด่วน 1441 

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และสมาคมโทรคมนาคมฯ ชี้แจงการสวมซิม (SIM SWAP)

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์  กิตติประภัสร์ ผบ.ตร., พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ รอง ผบ.ตร.  พล.ต.อ.สมพงษ์ ชิงดวง ที่ปรึกษาพิเศษ ตร./หัวหน้าคณะทำงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันต้านภัยอาชญากรรมทางเทคโนโลยี และ พล.ต.ท.ธัชชัย ปิตะนีละบุตร ผู้ช่วย ผบ.ตร. มีความห่วงใยพี่น้องประชาชนกรณีมีการแชร์ในโลกโซเชียลเกี่ยวกับการสวมซิม (SIM SWAP) เพื่อควบคุมเครื่องโทรศัพท์และโอนเงินออกจากบัญชีไป จึงได้ร่วมกับสมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ แถลงข่าว เมื่อวันที่ 26 ก.ค.2566 เวลา 10.30 น. ณ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตามที่มีการแชร์ในโซเชียล  ว่าขณะนี้มีการหลอกลวงทางเทคโนโลยีขั้นสูงที่เรียกว่า SIM SWAP FRAUD เริ่มจากขณะใช้งานโทรศัพท์อยู่ตามปกติ เครือข่ายโทรศัพท์ไม่มีสัญญาณ (Zero Bar) เป็นระยะเวลาหนึ่ง หลังจากนั้นไม่นาน มีโทรศัพท์อ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่จากบริษัทผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือแจ้งว่ามีปัญหาเครือข่ายสัญญาณมือถือ จากนั้นแนะนำให้กด 1 เพื่อเชื่อมต่อเครือข่ายอีกครั้ง เมื่อกด 1 เครือข่ายจะปรากฏขึ้นทันทีชั่วคราวและจะไม่มีสัญญาณอีกครั้ง (Zero Bar) ช่วงนี้คนร้ายได้ควบคุมเครื่องโทรศัพท์และโอนเงินออกจากบัญชีไป ขณะที่เจ้าของโทรศัพท์จะไม่ได้รับการแจ้งเตือนใด ๆ เนื่องจากซิมถูกเปลี่ยนขณะที่มือถือถูกตัดสัญญาณโทรศัพท์

พ.ต.อ.ก้องกฤษฎา  กิตติถิระพงษ์ รองผบก.ตอท.และ คุณเลิศรัตน์ รตะนานุกูล กรรมการบริหารและประชาสัมพันธ์  สมาคมโทรคมนาคมฯ ได้ชี้แจงว่า กรณีที่อาจโดนมิจฉาชีพสวมรอยหรือลักลอบการใช้ SIM นั้น ปัจจุบันผู้ให้บริการ และ กสทช. ในฐานะองค์กรกำกับดูแลได้มีมาตรการป้องกันกรณีการสวมสิทธิ์ออก SIM ทดแทน การแอบอ้าง รวมถึงในแง่เทคนิคซึ่งกรณีดังกล่าวจึงไม่อาจเกิดขึ้นได้หรือมีความเป็นไปได้น้อยมาก ดังนั้นเพื่อเป็นการป้องกันการตื่นตระหนก จึงขอชี้แจงให้ทราบโดยทั่วกันว่า ข้อความที่ส่งต่อกันทางออนไลน์คือ Fake News หากมีผู้ใดได้รับความเสียหายจากการสวมซิม         (SIM SWAP SCAM) ดังกล่าว กรุณาแจ้งได้ที่เว็บไซต์สมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ http://tct.or.th , http://www.facebook.com/tct.or.th  หรือโทร. 02-0033781-2 หรือมีข้อสงสัย ให้โทรแจ้งสายด่วน 1441 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรณีถูกคนร้ายหลอกลวงแจ้งความตำรวจผ่านระบบ www.thaipoliceonline.com

ทั้งนี้ประชาชน สามารถติดตามข้อมูลการแจ้งเตือนภัยออนไลน์ได้จาก เว็บไซต์ www.เตือนภัยออนไลน์.com หรือโทรสายด่วน 1441

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ แจกรางวัล ผู้โชคดี!!! ได้ความรู้วัคซีนไซเบอร์และได้รับ iPhone 14 จำนวน 20 เครื่อง

เมื่อวันที่ 8 ส.ค.2566 เวลา 10.00 น. พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. พร้อมด้วย พล.ต.อ.สมพงษ์ ชิงดวง ที่ปรึกษาพิเศษ ตร. พล.ต.ท.ธัชชัย ปิตะนีละบุตร ผู้ช่วย ผบ.ตร. และคณะทำงานร่วมพิธีจับรางวัลผู้โชคดีจากการทำแบบทดสอบวัคซีนไซเบอร์ สำหรับประชาชน จำนวน 40 ข้อ ชิงรางวัล iPhone 14 ประจำเดือน กรกฏาคม 2566 จำนวน 20 เครื่อง ณ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

ผบ.ตร. กล่าวว่า เมื่อช่วงต้นเดือน กรกฎาคม 2566 ได้ประชาสัมพันธ์เชิญชวนให้ประชาชนได้ทำแบบทดสอบวัคซีนไซเบอร์สำหรับประชาชน จำนวน 40 ข้อ เพื่อให้มีภูมิคุ้มกันภัยไซเบอร์ โดยเริ่มทำแบบทดสอบได้ตั้งแต่วันที่ 11 ก.ค.2566 จนถึง วันที่ 30 กันยายน 2566 หากทำแบบทดสอบครบ 40 ข้อแล้ว  จะได้รับ Whoscall Premium Gift Code ฟรี ซึ่งสามารถใช้บริการ Whoscall Premium Feature ได้ฟรี เป็นระยะเวลา 1 ปี หากทำแบบทดสอบได้คะแนนตั้งแต่ 35 ข้อ  ขึ้นไป จะมีสิทธิ์ลุ้นรับรางวัล  iPhone 14  เดือนละ 20 รางวัล  เป็นเวลา 3 เดือน  รวม 60 รางวัล  เริ่มจับรางวัลผู้โชคดีในเดือนสิงหาคม 2566  โดยประชาชนสามารถทำแบบทดสอบได้ไม่จำกัดจำนวนครั้ง  แต่จะได้รับสิทธิ Whoscall Premium และสิทธิลุ้น iPhone 14 เพียง 1 สิทธิ เท่านั้น

ในห้วงวันที่ 11 – 31 ก.ค.2566 มีประชาชนเข้ามาทำแบบทดสอบวัคซีนไซเบอร์ สำหรับประชาชน จำนวน 40 ข้อ  และได้รับสิทธิ Whoscall Premium Gift Code ฟรี ซึ่งสามารถใช้บริการฟีเจอร์เสริมต่างๆ จาก Whoscall Premium ได้ฟรีเป็นระยะเวลา 1 ปี จำนวน 78,083 คน  ในจำนวนนี้มีประชาชน ทำแบบทดสอบได้คะแนนตั้งแต่ 35 ข้อ  ขึ้นไป และได้รับสิทธิ์ลุ้นรับรางวัล iPhone 14 จำนวน 70,846 คน สำหรับวันนี้เป็นการจับรางวัลหาผู้โชคดี จำนวน 20 คนแรก  ที่จะได้รับรางวัล iPhone 14  จำนวน  20 รางวัลๆละ 1 เครื่อง สำหรับวิธีการจับรางวัลผู้โชคดี จำนวน 20 ท่าน ใช้วิธีกดสุ่มเลือกผู้โชคดีทีละรางวัลจากรายชื่อทั้งหมด โดยข้าราชการตำรวจหรือข้าราชการอื่นที่เข้าไปทำแบบทดสอบ สำหรับประชาชน จำนวน 40 ข้อนี้ ทุกคนมีสิทธิ์ลุ้นรับรางวัลทั้งหมด และวันนี้ผู้ที่โชคดีได้รับรางวัล iPhone 14  จำนวน 20 รางวัลๆ ละ 1 เครื่อง รายชื่อแนบท้ายใบแถลงข่าวนี้ ผบ.ตร.กล่าวเพิ่มเติมว่า วันนี้ได้จับรางวัลหาผู้โชคดีรับ iPhone 14 จำนวน 20 คนแรก ครบถ้วนแล้ว และสำหรับเดือนสิงหาคม 2566  มีผู้ที่ได้รับรางวัลในการแนะนำให้ประชาชนทำแบบทดสอบมากที่สุด จำนวน 2 รางวัล ได้แก่

1. ตำรวจผู้แนะนำมากที่สุด คือ พ.ต.อ.ชัยณรงค์  บุญด้วง รอง ผบก.ภ.จว.สระแก้ว แนะนำ จำนวน 1,805 ราย 
2. ประชาชนผู้แนะนำมากที่สุดคือ น.ส.นัฐจิตต์ กุลดิลก แนะนำ จำนวน 164 ราย

สำหรับผู้ที่ทำแบบทดสอบไปแล้ว แต่ไม่ได้รับรางวัลประจำเดือน กรกฎาคม 2566  ยังมีสิทธิ์ลุ้นรางวัลประจำเดือน สิงหาคม และ กันยายน 2566 ได้โดยไม่ต้องทำแบบทดสอบใหม่ ส่วนผู้แนะนำที่จะได้รับรางวัล ต้องเริ่มนับใหม่ในเดือนถัดไป และต้องไม่ซ้ำคนเดิม ส่วนแบบทดสอบยังใช้แบบทดสอบเดิมบนระบบเดิม จึงขอฝากให้พี่น้องสื่อมวลชนได้ประชาสัมพันธ์ให้ผู้โชคดีได้รับทราบทั่วกัน สำหรับผู้โชคดีสามารถตรวจสอบรายชื่อได้ช่องทาง www.เตือนภัยออนไลน์.com  ในการรับรางวัล  จะมีเจ้าหน้าที่ตำรวจติดต่อไปยังผู้ที่โชคดี จากนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ได้รับมอบหมายจะนำส่งรางวัลถึงบ้านหรือที่อยู่ของผู้โชคดีกับมือท่านเอง  สำหรับการจับรางวัลหาผู้โชคดีได้รับรางวัล iPhone 14 ประจำเดือน สิงหาคม และ กันยายน 2566 เดือนละ 20 รางวัล รวม 40 รางวัล จะมีขึ้นในวันที่เท่าใด ขอให้ติดตามรายละเอียดได้ในช่องทาง  www.เตือนภัยออนไลน์.com จึงขอประชาสัมพันธ์ให้พี่น้องประชาชนได้เข้าทำแบบทดสอบเพื่อจะได้มีภูมิคุ้มกันภัยไซเบอร์และได้ลุ้นรางวัล iPhone 14 ได้ใน 3 ช่องทาง ดังนี้ 1) สแกนคิวอาร์โค้ด 2) เข้าเว็ปไซต์ไซเบอร์วัคซีน และ ๓) ทำแบบทดสอบเมื่อครูไซเบอร์ไปให้ความรู้ในพื้นที่ โดยเป็นการเข้าแบบทดสอบผ่าน Google Form สำหรับทำแบบทดสอบ  ( หากไม่ชิงรางวัล สามารถทำแบบทดสอบได้เลย ) และจะสามารถดูเฉลยได้เมื่อทำข้อสอบเสร็จ กด "ดูคะแนน" 
กรณีต้องการรับสิทธิเพื่อชิงรางวัลต้องดำเนินการ ดังนี้

1. กดลิงก์ "เข้าเว็บไซต์ไซเบอร์วัคซีน" จาก Google form  หรือ เข้าผ่านเว็บไซต์  www.เตือนภัยออนไลน์.com   
และสมัครใช้งานและเข้าสู่ระบบไซเบอร์วัคซีนผ่านเว็บไซต์ดังกล่าว (เข้าสู่ระบบผ่านไลน์) 
2. ทำการยืนยันตัวตนด้วยบัตรประชาชน  หรือแอปพลิเคชัน THaID 
3. หน้าแรกของระบบไซเบอร์วัคซีน จะมีปุ่ม "ทดสอบ 40 คำถามสำหรับประชาชน"  ให้กดเพื่อทำแบบทดสอบ
4. เลือกยืนยันความสมัครใจรับการทดสอบ และ กรอกอีเมล  กรณีต้องการทราบผลคะแนนทางอีเมล
เพื่อให้พี่น้องประชาชนได้รู้เท่าทันภัยออนไลน์อย่างต่อเนื่อง จึงขอประชาสัมพันธ์ให้ทำแบบทดสอบ วัคซีนไซเบอร์ จำนวน 40 ข้อ และขอให้แชร์แบบทดสอบไปให้กับญาติหรือผู้เป็นที่รักเพื่อให้พี่น้องประชาชนที่ทำแบบทดสอบมีความรู้เท่าทันกลโกงของคนร้ายบนโลกออนไลน์และไม่ตกเป็นเหยื่อ 

ทั้งนี้สามารถติดตามข้อมูลการแจ้งเตือนภัยออนไลน์ได้ผ่านทาง www.เตือนภัยออนไลน์.com Facebook https://www.facebook.com/เตือนภัยออนไลน์ หมายเลขโทรศัพท์ 081-866-3000 หรือโทรศัพท์สายด่วน 1441 กรณีถูกคนร้ายหลอกลวงแจ้งความตำรวจผ่านระบบ www.thaipoliceonline.com  

( QR CODE ข้อสอบ 40 ข้อ สำหรับประชาชน)

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 91 พรรษา 12 สิงหาคม 2566

เนื่องในโอกาสมหามงคลวันเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงเจริญพระชนมพรรษา 91 พรรษา ด้วยความจงรักภักดีของข้าราชการตำรวจ พนักงานราชการ และลูกจ้างในสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กำหนดให้มีการจัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในวันศุกร์ที่ 11 ส.ค.66 ตั้งแต่เวลา 08.00 น. เป็นต้นไป โดยมี พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์  กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พร้อมด้วยคุณสุมนา กิตติประภัสร์ นายกสมาคมแม่บ้านตำรวจ ผู้บังคับบัญชาระดับสูงของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ คณะสมาคมแม่บ้านตำรวจ และข้าราชการตำรวจในสังกัดของสำนักงานตำรวจแห่งชาติเข้าร่วมพิธีอย่างพร้อมเพรียงกัน ซึ่งมีกำหนดการจัดงานพิธี ดังนี้

- เวลา 08.00 น. พิธีเจริญพระพุทธมนต์ถวายพระพรชัยมงคล ณ ห้องสารสิน ชั้น 2  อาคาร 1 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
- เวลา 08.45 น. พิธีทำบุญตักบาตรพระสงฆ์ 92 รูป ณ ห้องศรียานนท์  ชั้น 2 อาคาร 1 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
- เวลา 10.15 น. พิธีถวายราชสักการะ พิธีถวายพระพรชัยมงคล และลงนามถวายพระพร ณ ห้องโถง ชั้น 1 อาคาร 1 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

ทั้งนี้ เนื่องในโอกาสอันเป็นมหามงคล  สำนักงานตำรวจแห่งชาติขอประชาสัมพันธ์เชิญชวนข้าราชการตำรวจ ลูกจ้างในสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และประชาชนทุกหมู่เหล่าร่วมลงนามถวายพระพร สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา วันที่ 12 ส.ค.66 ผ่านระบบออนไลน์ ที่เว็บไซต์หน่วยราชการในพระองค์  ระหว่างวันที่ 11-13 ส.ค. 66 https://wellwishes.royaloffice.th/

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เตือนภัยออนไลน์ แก็งค์คอลเซ็นเตอร์หลอกให้นักเรียนนักศึกษาถ่ายคลิปตัวเองเรียกค่าไถ่จากพ่อแม่

สืบเนื่องจาก พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์  กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ รอง ผบ.ตร. และ พล.ต.อ.สมพงษ์ ชิงดวง ที่ปรึกษาพิเศษ ตร. / หัวหน้าคณะทำงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันต้านภัยอาชญากรรมทางเทคโนโลยี และ พล.ต.ท.ธัชชัย  ปิตะนีละบุตร ผู้ช่วย ผบ.ตร. มีความห่วงใยพี่น้องประชาชน เนื่องจากในช่วงนี้ มีคดีนักเรียนนักศึกษาถูกคนร้ายหลอกให้เรียกค่าไถ่จากพ่อแม่ผู้ปกครองหลายคดีจึงขอเตือนภัยพี่น้องประชาชน ให้ระมัดระวังดูแลบุตรหลานของตนเอง และขอให้ครู บุคลากรทางการศึกษา ช่วยกันสอดส่องดูแลนักเรียน นักศึกษา มิให้ตกเป็นเหยื่อ ดังนี้

เมื่อวันที่ 11   ส.ค.2566  พล.ต.อ.สมพงษ์ ชิงดวง ที่ปรึกษาพิเศษ ตร./ หัวหน้าคณะทำงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันต้านภัยอาชญากรรทางเทคโนโลยี ได้แถลงว่า นับตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.2565 มีคดีข่มขู่ทางโทรศัพท์ให้เกิดความกลัวแล้วหลอกให้โอนเงิน (Call Center) จำนวน 20,000 กว่าเคส ข่มขู่ว่าเกี่ยวข้องกับยาเสพติด จำนวน 2,000 กว่าเคส ซึ่งเดิมเป็นการโทรศัพท์หลอกบุคคลทั่วไปให้โอนเงิน แต่ช่วงนี้มีเคสที่น่าสนใจ จำนวน 4 เคส ซึ่งทั้ง 4 เคส มีรูปแบบการกระทำผิดในลักษณะเดียวกัน กล่าวคือคนร้ายใช้วิธีการโทรศัพท์หาพ่อแม่แล้วส่งรูปบุตรหลานที่ถูกควบคุมตัวไว้มาให้ โดยที่พ่อแม่ไม่สามารถติดต่อบุตรหลานได้ จำต้องโอนเงินให้ไป ซึ่งหลังจากโอนเงินแล้ว บุตรหลานก็สามารถติดต่อกลับมาได้ ซึ่งเบื้องต้น พ่อแม่คาดว่า เป็นเรื่องการเรียกค่าไถ่ แต่เมื่อเจ้าหน้าที่สอบสวนลึกๆ พบว่า เป็นคดีที่บุตรหลานถูกแก็งค์คอลเซ็นเตอร์โทรมาข่มขู่บุตรหลานว่าเกี่ยวข้องกับการกระทำผิด และบังคับให้ถ่ายคลิป หรือ ภาพถ่าย ส่งให้กลุ่มคนร้ายนำไปเรียกค่าไถ่จากพ่อแม่อีกครั้ง โดยให้โอนเงินผ่านบัญชีบุตรหลานของตนเองหรือเข้าบัญชีม้า แล้วหลบหนีไป

สำหรับแผนประทุษกรรมคดีนี้ กลุ่มคนร้ายได้ใช้วิธีการโทรศัพท์ผ่านระบบ Voip (Voice Over Internet Protocol) หรือระบบ Internet โทรเข้าโทรศัพท์มือถือหรือโทรศัพท์พื้นฐานของผู้เสียหายหรือเหยื่อ โดยสุ่มหรือเลือกกลุ่มนักศึกษาในระดับชั้นอุดมศึกษา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาที่ตั้งใจเรียนดี โดยคนร้ายได้อ้างตัวเป็นเจ้าหน้าที่ไปรษณีย์ เจ้าหน้าที่ธนาคาร หรือเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือเจ้าหน้าที่รัฐ แล้วแต่จะอ้างเพื่อข่มขู่ทำให้เหยื่อตกใจกลัวว่ามีพฤติการณ์เกี่ยวข้องกับยาเสพติด หรือมีหมายจับต่างๆ และมีความผิดมูลฐานฟอกเงิน โดยทำทีอ้างว่าสามารถช่วยเหลือไม่ให้ถูกดำเนินคดีได้ และเสนอให้ความช่วยเหลือ โดยให้ผู้เสียหายหรือเหยื่อโอนเงินมายังบัญชีธนาคาร(บัญชีม้า) ที่กลุ่มคนร้ายได้จัดเตรียมไว้และหลอกลวงเงินของผู้เสียหายไป หากนักศึกษาหรือเหยื่อไม่มีเงินกลุ่มคนร้ายก็แนะนำให้ผู้เสียหายหรือเหยื่อไปย้ายหรือออกจากห้องพักหรือที่พักปัจจุบันที่พักอยู่ใกล้กับสถานศึกษา และคนร้ายให้เหยื่อหรือผู้เสียหายไปเปิดซิมโทรศัพท์ใหม่ ซื้อเชือกมัด ผ้าเทปกาวจากร้านค้าเพื่อใช้พูดคุยโต้ตอบกับคนร้าย อีกทั้งคนร้ายยังสั่งการให้ผู้เสียหายหรือเหยื่อทำทีปิดโทรศัพท์ และสั่งการให้ผู้เสียหายหรือเหยื่อใช้ผ้าเทปและเชือกมัดมือมัดเท้าตัวเอง และถ่ายคลิปวีดิโอโดยใช้เครื่องของผู้เสียหายหรือเหยื่อเองเก็บเอาไว้ เพื่อสร้างสถานการณ์ว่าถูกลักพาตัวและส่งคลิปดังกล่าวให้คนร้ายทางแอพพลิเคชั่นทางโทรศัพท์ จากนั้นคนร้ายจะส่งคลิปไปยังพ่อแม่หรือผู้ปกครอง เพื่อเรียกค่าไถ่จากพ่อแม่หรือผู้ปกครองของผู้เสียหายหรือเหยื่อ โดยการโอนเงินมีอยู่ 2 รูปแบบ 1.พ่อแม่โอนเงินไปให้เหยื่อแล้วเหยื่อโอนเงินต่อไปให้คนร้าย 2. พ่อแม่โอนเงินให้คนร้าย
ข้อสังเกตุ และข้อควรระวัง  
1. คนร้ายอาจจะหาข้อมูลหรือสุ่มคัดเลือกเหยื่อเป็นกลุ่มนักศึกษาระดับชั้นอุดมศึกษา ซึ่งพักอาศัยอยู่ตามหอพักหรือที่พักใกล้สถานศึกษาโดยเหยื่อเป็นบุคคลที่อยู่หอพักหรือที่พักเพียงคนเดียว ไม่ได้พักอาศัยอยู่กับพ่อแม่หรือผู้ปกครอง
2. คนร้ายได้วางแผน และมีสคริปต์เพื่อเตรียมการพูดหลอกลวง และใช้ถ้อยคำที่มีประสบการณ์มาก เพื่อข่มขู่และชักจูงให้เหยื่อตกใจกลัว (เช่น โทรมาอ้างเป็นเจ้าหน้าที่แจ้งว่ามีพัสดุตกค้าง แจ้งว่ามีหมายจับ หรือมีคนเอาข้อมูลไปเปิดบัญชีธนาคารแล้วเอาบัญชีไปใช้ในการกระทำความผิดฐานฟอกเงิน) ขู่ว่าถ้าถูกดำเนินคดีจะไม่ได้เรียนต่อ และคล้อยตามคำสั่งของคนร้าย
3. คนร้ายใช้โทรศัพท์ผ่านระบบ Internet (VOIP : Voice Over Internet Protocol) ซึ่งหมายเลขดังกล่าวจะมีหมายเลขไม่ถึง 10 หลักและมีเครื่องหมาย +697 +698 ซึ่งสังเกตุได้ว่าน่าจะเป็นหมายเลขโทรศัพท์ที่โทรมาจากต่างประเทศหรือโทรผ่านระบบ Internet หากผู้เสียหายโทรย้อนกลับไปยังเบอร์ของคนร้าย จะไม่สามารถติดต่อได้ และหมายเลขดังกล่าวอาจจะไม่มีอยู่จริง เป็นการที่คนร้ายสร้างหมายเลขโทรศัพท์หรือปลอมเบอร์ (Fake)
4. คนร้ายได้มีการพัฒนารูปแบบการหลอกลวง โดยผสมผสานระหว่างแผนประทุษกรรมของแก๊งคอลเซ็นเตอร์กับแผนประทุษกรรมการเรียกค่าไถ่ โดยเน้นกลุ่มเป้าหมายเป็นกลุ่มนักศึกษา เพื่อทดแทนปริมาณเหยื่อที่ปัจจุบันอาจจะไม่ค่อยเชื่อถือของแผนประทุษกรรมแก๊งคอลเซ็นเตอร์แบบดั้งเดิม
5. คนร้ายเปลี่ยนกลุ่มเป้าหมายไปที่กลุ่มนักศึกษา เพราะนักศึกษาพักอยู่คนเดียวห่างจากครอบครัว มีการสั่งซื้อของ มีการหัดเริ่มลงทุนมีการยุ่งเกี่ยวกับการพนัน จึงทำให้แก๊งคอลเซ็นเตอร์เข้าถึงได้ง่ายและข้อมูลที่ใช้ข่มขู่สอดคล้องกับการใช้ชีวิตประจำวันที่เกิดขึ้นจริง ควรระวังไม่ให้เหยื่อที่อยู่หอพักตามลำพัง ควรจะมีบัดดี้อยู่ด้วย

แนวทางการป้องกัน
สำหรับนักศึกษา
1. สังเกตเบอร์ที่โทรเข้ามาก่อนรับสาย หากเป็นเบอร์ที่ไม่รู้จัก หรือเป็นเบอร์ที่มีเครื่องหมาย +697 +698 นำหน้าให้สงสัยไว้ก่อนว่าอาจจะเป็นแก็งคอลเซ็นเตอร์
2. สังเกตความผิดปกติของปลายสายได้จากคำถาม เช่น การถามชื่อ และข้อมูลส่วนตัวโดยตรง หรือการใช้ข้อความอัตโนมัติในการตอบรับแล้วให้เรากดเบอร์เพื่อติดต่อเจ้าหน้าที่ เป็นต้น ถ้ามีการสนทนาทาง Video call ให้มีสติและสังเกตปากกับเสียงตรงกันหรือไม่ หรือ ภาพและท่าทางมีความผิดปกติหรือไม่(คนร้ายสามารถใช้โปรแกรมปลอมใบหน้าขณะสนทนาได้)
3. หากคนร้ายข่มขู่ว่ากระทำผิด และต้องไปแจ้งความหรือติดต่อเจ้าหน้าที่ ให้นัดหมายไปพบเจ้าหน้าที่เพื่อแจ้งความ สอบสวนปากคำ ชี้แจง หรือยื่นพยานเอกสารพยานวัตถุ ณ สถานที่เกิดเหตุหรือสถานที่ราชการด้วยตนเอง หากมั่นใจว่าปลายสายเป็นแก๊งคอลเซ็นเตอร์หรือมิจฉาชีพ วางสายทันที แจ้งเบาะแส กับหน่วยงานที่ดูแล เช่น ตำรวจ ธนาคาร ค่ายมือถือ หรือ กสทช.
4. หากคนร้ายให้โอนเงินเพื่อตรวจสอบ  ให้สันนิษฐานว่าเป็นแก็งคอลเซ็นเตอร์ เนื่องจากข้อมูลบัญชีมีเพียงธนาคารที่ตรวจสอบได้ห้ามบอกข้อมูลส่วนบุคคลและข้อมูลทางการเงิน รวมถึงห้ามโอนเงินตามคำกล่าวอ้าง
5. โหลดแอปฯ Who’s call ซึ่งสามารถตรวจสอบหมายเลข และจะระบุหมายเลขที่ไม่รู้จัก ช่วยให้ทราบว่าใครโทรมาทันที      
​6. หากคนร้ายส่งเอกสารมาข่มขู่  ให้ตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่และหน่วยงานที่ออกเอกสารนั้นๆ โดยตรง หรือโทรหาตำรวจท้องที่ เบอร์ 191 หรือเบอร์ 1441 และเบอร์ 081-8663000 หรือเข้าพบพนักงานสอบสวนท้องที่เกิดเหตุ หรือปรึกษากับผู้ปกครอง 
​สำหรับพ่อแม่ผู้ปกครอง นอกจากต้องรู้เกี่ยวกับวิธีป้องกันตัวสำหรับศึกษาดังกล่าวข้างต้นแล้ว สิ่งที่ต้องรู้เพิ่มเติม มีดังนี้

1. หากคนร้ายข่มขู่ให้โอนเงินพร้อมส่งคลิปมาให้ดู  ให้รีบปรึกษาบุคคลที่ไว้วางใจ เจ้าหน้าที่ตำรวจท้องที่ หรือ โทรสายด่วน  191 ,1441 และเบอร์ 081-8663000 เพื่อพิจารณาแยกแยะว่าเป็นแก็งคอลเซ็นเตอร์หรือมีการจับตัวเรียกค่าไถ่จริงๆ และเจ้าหน้าที่ตำรวจจะได้ให้ความช่วยเหลือถูกวิธี
2. ก่อนโอนเงินให้ดูว่าเป็นบัญชีที่อยู่ในแบล็คลิสต์ที่ใช้กระทำความผิด หรือบัญชีม้าหรือไม่
ผศ.ดร.ศุภกร ปุญญฤทธิ์ ช่วยราชการสำนักงาน รมว.กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์  วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า นายอเนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้รับทราบว่ามีคนร้ายแก็งคอลเซ็นเตอร์ หลอกให้นักศึกษาจับตัวเองเรียกค่าไถ่จากผู้ปกครอง เพื่อให้ผู้ปกครองโอนเงินให้คนร้าย จึงมีความห่วงใยนักศึกษาและพ่อแม่ผู้ปกครอง และได้มอบหมายให้มาร่วมแถลงข่าวกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในเรื่องแผนประทุษกรรมของคนร้าย ไม่ว่าจะเป็นวิธีกลโกง จุดสังเกต และวิธีป้องกัน เพื่อจะได้นำข้อมูลดังกล่าวไปแจ้งเตือนนักศึกษา พ่อแม่ผู้ปกครองให้รู้เท่าทันภัยออนไลน์ในรูปแบบนี้ และไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของคนร้ายแก็งคอลเซ็นเตอร์ดังกล่าว

พล.ต.อ.สมพงษ์ฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า กรณีนี้คนร้ายจะเลือกเหยื่อที่เป็นนักศึกษา ซึ่งอาจจะไม่รู้เท่าทันคนร้าย อีกทั้งเป็นจุดอ่อนไหวของพ่อแม่ผู้ปกครองที่มีความรักความห่วงใยบุตร - ธิดาของตนเองเป็นทุนเดิม โดยมีแผนประทุษกรรม ดังนี้ 

1. หลอกให้เหยื่อย้ายหรือเปลี่ยนที่พัก ไปหาเช่าที่พักใหม่ เพื่อไม่ให้พ่อแม่ผู้ปกครองตามหาตัวได้ และหลอกเหยื่อว่ามี
ตำรวจนอกเครื่องแบบสะกดรอยเฝ้าดูอยู่ห้ามออกไปจากห้องเช่าที่พักใหม่
2. หลอกให้เหยื่อ ลบแอปพลิเคชันที่เป็นช่องทางติดต่อสื่อสารออกจากเครื่อง เช่น Line FB Twitter TikTok เป็นต้น
เพื่อไม่ให้เหยื่อติดต่อกับคนอื่น
3. หลอกให้เหยื่อปิดมือถือเบอร์เดิม เพื่อไม่ให้พ่อแม่ติดต่อได้ และหลอกให้เปิดเบอร์ใหม่ใช้ในการติดต่อกับคนร้าย  

รวมถึงให้สแกน QR Code เพื่อใช้และควบคุม Line เหยื่อ ผ่าน Pc-iPad ตลอดเวลา
สำนักงานตำรวจแห่งชาติ  มีความห่วงใยพี่น้องประชาชน จึงขอแจ้งเตือนให้พี่น้องประชาชนนักเรียน นักศึกษา และผู้ปกครอง ที่อาจตกเป็นเหยื่อกลโกงของแก็งคอลเซ็นเตอร์ในรูปแบบนี้ ได้รู้เท่าทันรูปแบบกลโกงของคนร้ายที่ได้พัฒนาวิธีการหลอกลวงในรูปแบบต่างๆ  และเพื่อให้รู้เท่าทันภัยออนไลน์ในรูปแบบใหม่ สามารถติดตามข้อมูลการแจ้งเตือนภัยออนไลน์ได้ผ่านทาง www.เตือนภัยออนไลน์.com  Facebook https://www.facebook.com/เตือนภัยออนไลน์ หมายเลขโทรศัพท์ 081-866-3000 หรือโทรศัพท์สายด่วน 1441 กรณีถูกคนร้ายหลอกลวงแจ้งความตำรวจผ่านระบบ www.thaipoliceonline.com 


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top