Saturday, 27 April 2024
ปูติน

'มิน อ่อง หล่าย' ลัดฟ้าพบ 'ปูติน' ฉลุยปิดดีลซื้อน้ำมัน พร้อมจ่าย 'รูเบิล-สกุลอื่นๆ' ที่รัสเซียพอใจจะรับ

นายพล มิน อ่อง หล่าย ผู้นำรัฐบาลทหารพม่า เดินทางไปเข้าร่วมประชุมในงาน Eastern Economic Forum (EEF) ที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีที่เมืองวลาดิวอสตอค ทางฝั่งตะวันออกของรัสเซีย เพื่อพบกับ วลาดิมีร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย ซึ่งเป็นการพบกันครั้งแรกนับตั้งแต่การเกิดเหตุรัฐประหารในพม่าตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2021 เป็นต้นมา 

การพบปะระหว่าง 2 ผู้นำ ที่เป็นศูนย์รวมการคว่ำบาตรจากชาติตะวันตก เป็นการคุยกันแบบทวิภาคี นอกรอบจากงานประชุม EEF โดยทั้ง 2 ผู้นำตั้งใจหารือด้านความร่วมมือทางการค้า และยกระดับความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นขึ้นไปอีก โดย นายพล มิน อ่อง หล่าย ได้กล่าวยกย่องผู้นำรัสเซียว่า มีบทบาทเป็นผู้นำโลกในการสร้างเสถียรภาพในระดับนานาชาติ   

ในการประชุม มีการพูดคุยถึงความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ การค้าอย่างกว้างขวาง แต่สิ่งที่เป็นไฮไลท์ของการพบปะกันคือข้อตกลงในการซื้อ-ขายน้ำมัน ระหว่างพม่าและรัสเซีย ที่สามารถปิดดีลได้ทันทีหลังงานประชุม

ซึ่งพม่าและรัสเซีย เคยตกลงที่จะซื้อน้ำมันจากรัสเซียไว้ก่อนหน้านี้ตั้งแต่ช่วงเดือนกรกฏาคม แต่ยังไม่พร้อมที่จะชำระเป็นเงินสกุลรูเบิล 

แต่มาครั้งนี้ ผู้นำพม่ายินดีที่จะชำระค่าน้ำมันด้วยเงินรูเบิล หรือสกุลเงินอื่นๆ ที่ทางรัสเซียพอจะรับได้ ซึ่งจะทำให้การซื้อขายได้ง่ายกับทั้งสองฝ่าย เนื่องจากตอนนี้ทั้งสองประเทศมีข้อจำกัดอย่างมากในการเข้าถึง และทำธุรกรรมทางการเงินระหว่างประเทศด้วยเงินสกุลต่างๆ

ยูเครนเย้ย 'แฮปปี้เบิร์ธเดย์ปูติน' หลังเหตุรถบรรทุกบึ้มสะพานในไครเมีย

ยูเครนยังไม่กล่าวอ้างความรับผิดชอบเหตุรถบรรทุกระเบิดตูมสนั่น ก่อความเสียหายร้ายแรงแก่สะพานรถไฟที่คู่ขนานไปกับถนน ซึ่งเชื่อมจากรัสเซียไปยังไครเมียเมื่อวันเสาร์ (8 ต.ค.) เล่นงานสัญลักษณ์แห่งการผนวกแหลมแห่งนี้เป็นส่วนหนึ่งของมอสโก และเส้นทางลำเลียงเสบียงหลักของกองกำลังรัสเซียที่กำลังสู้รบในดินแดนยึดครองทางภาคใต้ของยูเครน แต่ทางหัวหน้าสภาความมั่นคงเคียฟโพสต์คลิปร้องเพลง "แฮปปี้เบิร์ธเดย์ ปูติน" ส่วนที่ปรึกษาประธานาธิบดีเซเลนสกี บอก "นี่เป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นเท่านั้น

เหตุระเบิดสะพานที่ทอดข้ามช่องแคบเคิร์ช ในส่วนของรัสเซียเบื้องต้นยังไม่ได้กล่าวโทษฝ่ายไหน แต่มันกระตุ้นการส่งสารด้วยความยินดีปรีดาจากบรรดาเจ้าหน้าที่ระดับสูงของยูเครน แม้จะไม่ได้กล่าวอ้างความรับผิดชอบโดยตรงก็ตาม

คณะสืบสวนของรัสเซียเปิดเผยว่ามีผู้เสียชีวิต 3 ราย และสันนิษฐานว่าน่าจะรวมถึงพวกคนที่อยู่ในรถยนต์คันหนึ่งซึ่งกำลังแล่นอยู่ใกล้ ๆ ตอนที่รถบรรทุกเกิดระเบิด

รัสเซียยึดไครเมียมาจากยูเครนในปี 2014 และสะพานข้ามช่องแคบเคิร์ชความยาว 19 กิโลเมตร ที่เชื่อมไครเมียกับโครงข่ายการขนส่งของรัสเซีย ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ทำพิธีเปิดอย่างยิ่งใหญ่ในอีก 4 ปีต่อมา พร้อมขับรถบรรทุกก่อสร้างข้ามสะพานเป็นคันแรก

เวลานี้มันทำหน้าที่เป็นเส้นเลือดหลักสำหรับกองกำลังรัสเซีย ซึ่งยึดครองพื้นที่ส่วนใหญ่ของแคว้นเคอร์ซอน ทางภาคใต้ของยูเครน และเป็นที่ตั้งของท่าเรือกองทัพเรือในเมืองเซวาสโตโพล

ไม่เป็นที่ชัดเจนว่าเหตุระเบิดครั้งนี้เป็นการโจมตีโดยตั้งใจหรือไม่ แต่ความเสียหายที่เกิดกับโครงสร้างพื้นฐานอันสำคัญนี้ เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่รัสเซียประสบความปราชัยในหลายสมรภูมิ และอาจเป็นการกัดกร่อนความเชื่อมั่นต่อสารจากฝ่ายรัสเซีย หลังจากก่อนหน้านี้ทางเครมลินออกมารับประกันกับประชาชนว่าสงครามกำลังเป็นไปตามแผน

นอกจากนี้ มันยังเกิดขึ้นหลังจากผ่านพ้นวันครบรอบวันเกิดอายุ 70 ปีของปูติน เพียงแค่วันเดียว

โอเลกซีย์ ดานิลอฟ ประธานสภาความมั่นคงแห่งชาติและกลาโหมของยูเครน โพสต์วิดีโอภาพที่สะพานกำลังลุกไหม้บนสื่อสังคมออนไลน์ พร้อมกับวิดีโอที่ มาริลีน มอนโร กำลังร้องเพลง "แฮปปี้ เบิร์ธเดย์ มิสเตอร์ประธานาธิบดี"

นับตั้งแต่รัสเซียเริ่มเปิดฉากรุกรานในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ บรรดาเจ้าหน้าที่ยูเครนมักพาดพิงอยู่เป็นประจำ แสดงความปรารถนาทำลายสะพานเคิร์ช ซึ่งทางยูเครนมองว่ามันเป็นสัญลักษณ์แห่งการยึดครองไครเมียของรัสเซีย

กระทรวงกลาโหมรัสเซียระบุในถ้อยแถลงว่ากองกำลังของพวกเขาในทางภาคใต้ของยูเครน จะยังคงได้รับป้อนเสบียงอย่างเต็มรูปแบบเหมือนเดิม ผ่านเส้นทางทางภาคพื้นที่มีอยู่และทางทะเล ขณะที่กระทรวงคมนาคมบอกว่าการขนส่งทางรถไฟข้ามสะพานแห่งนี้ จะกลับมาขนส่งได้อีกครั้งตอนเวลาราว 17.00 จีเอ็มที (ตรงกับเมืองไทย 24.00 น.)

มาเรีย ชาคาโรวา โฆษกกระทรวงการต่างประเทศรัสเซีย กล่าวว่าปฏิกิริยาตอบสนองของเคียฟของเหตุการณ์ทำลายโครงสร้างพื้นฐานทางพลเรือนครั้งนี้ "เป็นหลักฐานพยานสันดานก่อการร้ายของยูเครน"

คณะกรรมาธิการต่อต้านก่อการร้ายของรัสเซียเผยว่า รถบรรทุกสินค้าระเบิดบนถนนของสะพาน ตอนเวลา 6.07 น.(ตรงกับเมืองไทย 10.07 น.) เป็นเหตุให้โบกี้บรรทุกถังน้ำมัน 7 ตู้ของรถไฟขบวนหนึ่งซึ่งกำลังมุ่งหน้าสู่แหลมไครเมีย บนรางที่แล่นขนานกัน เกิดไฟลุกไหม้

นอกจากนี้ มันยังทำให้สะพานพังลงมาบางส่วน แต่ส่วนโค้งของสะพานที่ทอดข้ามช่องแคบเคิร์ช น่านน้ำที่บรรดาเรือใช้เดินทางระหว่างทะเลดำกับทะเลอาซอฟ ไม่ได้รับความเสียหาย

ภาพที่โพสต์โดยคณะกรรมการสืบสวนแห่งรัสเซีย เป็นภาพสะพานถนนขาดไปเลนหนึ่ง ส่วนอีกครึ่งยังคงอยู่สภาพเดิมอยู่ แต่มีรอยร้าว ส่วนภาพอื่น ๆ ที่บันทึกจากระยะไกลพบเห็นกลุ่มควันพวยพุ่งขึ้นจากสะพาน

มีคาอิโล โปโดลยัค ที่ปรึกษาประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี แห่งยูเครน โพสต์ทางทวิตเตอร์ภาพส่วนหนึ่งของสะพานที่กำลังจมน้ำ และเขียนข้อความว่า "ไครเมีย สะพาน จุดเริ่มต้น" แต่ไม่ได้ระบุว่ากองกำลังยูเครนอยู่เบื้องหลังเหตุระเบิด

“ทุกสิ่งทุกอย่างที่ผิดกฎหมายต้องถูกทำลาย ทุกสิ่งทุกอย่างที่ถูกขโมยไปต้องกลับคืนมาสู่ยูเครน ทุกสิ่งทุกอย่างที่รัสเซียยึดครองเอาไว้ต้องถูกขับไล่ออกไป” โปโดลยัคเขียน

มอสโกอ้างอิงไครเมีย ซึ่งคนส่วนใหญ่พูดภาษารัสเซีย ในฐานะส่วนหนึ่งในประวัติศาสตร์และของรักของหวงของรัสเซีย โดยเฉพาะในปีนี้ คาดหมายว่าจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวของชาวรัสเซียจำนวนมาก เนื่องจากเชื่อว่ามันมีความปลอดภัยจากสงคราม

คิริล สเตรมูซอฟ รองผู้บริหารแคว้นเคอร์ซอน ที่ได้รับการแต่งตั้งจากรัสเซีย เชื่อว่าเหตุระเบิดสะพาน "จะไม่ส่งผลกระทบต่อเสบียงทหารมากเท่าไหร่ แต่จะก่อปัญหาต่าง ๆ ด้านโลจิสติกส์สำหรับไครเมีย"

อย่างไรก็ตาม มีโคลา เบไลสคอฟ จากสถาบันศึกษายุทธศาสตร์แห่งยูเครน ซึ่งเป็นที่ปรึกษาประธานาธิบดีในกรุงเคียฟ กล่าวว่าสะพานเคิร์ช เป็นสิ่งที่กองกำลังผู้รุกรานรัสเซียไม่อาจหาอะไรมาทดแทนได้ และหากมันถูกตัดขาด "แนวหน้าทางใต้ทั้งหมดของรัสเซียจะถูกบดขยี้อย่างรวดเร็วและง่ายดาย"

แม้กองกำลังรัสเซียยึดชายฝั่งยาวเหยียดของยูเครนที่เชื่อมต่อแคว้นเคอร์ซอนและไครเมียกับรัสเซีย แต่ทาง เบไลสคอฟ มองว่าการเชื่อมโยงด้านการขนส่งดังกล่าวไม่ค่อยดีนัก และทางรัสเซียคงอยากส่งกำลังเสริมไปยังเคอร์ซอน ข้ามสะพานแห่งนี้ผ่านทางแหลมไครเมียมากกว่า

สหรัฐฯ ทุ่ม $290 ล้าน ตุนยาต้านรังสีนิวเคลียร์ ก่อนไบเดนเตือน 'วันโลกาวินาศ' อาจเกิดขึ้น

รัฐบาลสหรัฐฯ ของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ทุ่มเงิน 290 ล้านดอลลาร์ สั่งซื้อยาต้านรังสีเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ท่ามกลางคำเตือนของผู้นำรายนี้เกี่ยวกับ 'แนวโน้มของวันโลกาวินาศ' อันมีชนวนเหตุจากท่าทีของผู้กระหายสงคราม วลาดิมีร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย ตามรายงานของหนังสือพิมพ์นิวยอร์กโพสต์

กระทรวงสุขภาพและบริการมนุษย์ของสหรัฐฯ (HSS) ยืนยันว่าการจัดซื้อจัดหายา Nplate (เอ็นเพลท) ครั้งใหญ่ เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามที่กำลังดำเนินการอยู่ก่อนแล้ว สำหรับยกระดับเตรียมพร้อมปกป้องชีวิตประชาชนจากสถานการณ์ฉุกเฉินทางรังสีและนิวเคลียร์

ยาตัวนี้ ซึ่งสามารถใช้ได้กับทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ได้รับอนุมัติให้ใช้รักษาอาการบาดเจ็บทางเม็ดเลือด ที่เกิดพร้อมกับความผิดปกติจากการได้รับรังสีสูงแบบเฉียบพลัน (Acute Radiation Syndrome, ARS) ในคนไข้ผู้ใหญ่และเด็ก ถ้อยแถลงของกระทรวงสุขภาพและบริการมนุษย์ของสหรัฐฯ ระบุ

อาการป่วยจากรังสีลักษณะดังกล่าว "เกิดขึ้นเมื่อทั้งร่างกายของบุคคลรายหนึ่งๆ สัมผัสกับรังสีทะลุทะลวงในปริมาณที่สูงมาก เข้าถึงอวัยวะภายในภายในเวลาไม่กี่วินาที" คำเตือนของกระทรวงสุขภาพและบริการมนุษย์ของสหรัฐฯ "อาการบาดเจ็บของการได้รับรังสีสูงแบบเฉียบพลัน ในนั้นรวมถึงเลือดไม่แข็งตัวตามปกติ ผลจากปริมาณเกล็ดเลือดต่ำ ซึ่งสามารถก่อให้เกิดภาวะเลือดออกไม่หยุุดไม่สามารถควบคุมได้และเป็นอันตรายถึงขั้นเสียชีวิต"

ยา Nplate ผลิตโดยบริษัทเอ็มเจน ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ในแคลิฟอร์เนีย จะทำหน้าที่กระตุ้นให้ร่างกายผลิตเกล็ดเลือด เพื่อลดภาวะเลือดออกอันมีต้นตอจากรังสี

งบประมาณ 290 ล้านดอลลาร์ มาจากโครงการป้องกันอาวุธชีวภาพ Project BioShield กฎหมายปี 2004 ที่มอบเงินลงทุนสนับสนุนบริษัทต่างๆ สำหรับพัฒนามาตรการตอบโต้ทางการแพทย์ที่มีความสำคัญยิ่งกับความมั่นคงของชาติ

อย่างไรก็ตาม ถ้อยแถลงไม่ได้ให้รายละเอียดว่าจะมีการแจกจ่ายยาต้านรังสีนี้อย่างไรหรือที่ไหน

โฆษกรายหนึ่งของกระทรวงสุขภาพและบริการมนุษย์ของสหรัฐฯ ระบุว่า การลงทุนดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของการเตรียมพร้อมทางนิวเคลียร์ที่ดำเนินการอยู่ก่อนแล้ว และไม่ได้เร่งรัดขึ้นสืบเนื่องจากสถานการณ์ในยูเครน

'ปูติน' ชำแหละ!! ทุกความขัดแย้งและความปั่นป่วนเพราะชาติตะวันตกหวังควบคุมโลก ซึ่งมันจะไม่เป็นผล

เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม ที่ผ่านมา ประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซียได้ใช้เวลากว่าสามชั่วโมงบรรยายและตอบคำถามจากสื่อในเรื่องต่าง ๆ ในงาน Valdai Discussion Club ที่รัสเซีย

คำพูดและคำตอบหลาย ๆ เรื่องน่าสนใจ ถ้าใครมีเวลา 3 ชั่วโมงครึ่งอยากดู/ฟังทั้งหมด เชิญที่ Link >> https://www.youtube.com/watch?v=p5UUN6Y-KbY
(ปธน.ปูตินใช้ภาษารัสเซียเกือบทั้งหมด แต่มีผู้บรรยายเป็นภาษาอังกฤษ)

>> เรื่องแรก โลกกำลังเข้าสู่ยุคของความชุลมุนวุ่นวาย อันเป็นผลมาจากการดิ้นรนของชาติตะวันตกในการรักษาอำนาจและอิทธิพลของตนแต่ฝ่ายเดียวในการครอบงำโลกในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจ การเมืองการปกครอง สังคม ศิลปะ วัฒนธรรม ค่านิยม และอื่น ๆ 

ความขัดแย้งในยูเครน การยั่วยุในไต้หวัน ความปั่นป่วนของตลาดพลังงาน และอาหาร ล้วนเป็นผลจากความพยายามของชาติตะวันตกในการควบคุมโลก ซึ่งจะไม่เป็นผล 

หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ชาติตะวันตกนำโดยสหรัฐฯ สถาปนาตนเองเป็นผู้ตั้งกฏกติกาของโลกโดยเอาประโยชน์ของตนเป็นที่ตั้ง แต่พวกตนเองกลับไม่ปฏิบัติตามกฏกติกาเหล่านั้น โดยเฉพาะเมื่อเสียประโยชน์ อย่างเช่น การค้า การเงินและการลงทุนเสรีที่ชาติตะวันตกข่มขู่และบังคับให้ประเทศต่าง ๆ ต้องเปิดประเทศ เพราะพวกตนก้าวหน้ากว่าใครทั้งเรื่องของทุน เทคโนโลยี แต่เมื่อมีคนอื่นขึ้นมานำบ้าง ก็ละทิ้งหลักการการค้าเสรีอย่างกรณีของหัวเว่ย และการบังคับผู้ผลิตไม่ให้ขายไมโครชิปให้กับธุรกิจของจีน

สิ่งเหล่านี้ เป็นที่ชัดเจนมากขึ้น ๆ ในสายตาของชาวโลก และนับจากนี้ไป จะไม่มีชาติที่เป็นเอกราช ที่คิดถึงประโยชน์ของตนเองและประชาชนของตน ยอมตกเป็นเหยื่อทางความคิดของชาติตะวันตกอีกต่อไป จะไม่มีใครนั่งเฉยอีกต่อไป แต่จะเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลง ของการเริ่มต้นของกติกาโลกใหม่ที่เป็นธรรมต่อทุกชาติ และปฏิบัติต่อทุกชาติอย่างสมฐานะ ไม่ใช่ผู้ฟังคำสั่งที่ต้องเชื่อฟังอีกต่อไป

>> เรื่องต่อไป ความสัมพันธ์กับชาติตะวันตก โดย ปูติน กล่าวว่า รัสเซียเป็นชาติเอกราชที่มีอารยธรรมแบบของตนเอง และไม่คิดว่าโลกตะวันตกเป็นศัตรู รวมทั้งไม่คิดตั้งตัวเป็นศัตรูของชาติตะวันตกด้วย

แต่ปัจจุบัน ชาติตะวันตกถูกปกครองโดยชนชั้นนำที่มีความเชื่อเรื่องเสรีนิยมสุดขั้ว ที่เห็นว่าใครก็ตามที่มีความเชื่อต่างจากตนจะต้องเป็นศัตรูไปทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นรัสเซีย, จีน หรืออิหร่าน หรือใครก็ตามที่ปฏิเสธ ดื้อดึง แข็งขืน ต่อต้านแนวคิดเสรีนิยมของพวกเขาจะถูกกำหนดให้เป็นศัตรูของพวกตนทันที

ปูติน ขยายความว่า ในขณะที่ชาติตะวันตกมีรากฐานความเชื่อในคริสต์ศาสนา ซึ่งใกล้เคียงกับรากฐานทางวัฒนธรรมของรัสเซีย ลัทธิเสรีนิยมที่เพิ่งเกิดขึ้นมาหลังชาติตะวันตกชนะสงครามโลกครั้งที่สอง และสำคัญตนผิดว่าเหนือกว่าชาวโลก กลับนิยมความรุนแรง ก้าวร้าว และไม่อดทนต่อใครก็ตามที่ต่างจากตนเอง ไม่เชื่อฟังตนเอง ไม่ต่างจากลัทธิจักรวรรดินิยม หรือ 'เจ้าอาณานิคมยุคใหม่'

ลัทธิเสรีนิยมของชาติตะวันตก เชื่อว่าตนเองมีสิทธิที่จะกำหนดให้คนทั้งโลกรับเอาความเชื่อและค่านิยมของตน ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง เสรีภาพของการแสดงออกโดยไม่มีขอบเขต สิทธิมนุษยชน สิทธิของสัตว์ รวมถึงเพศสภาพ ทั้งที่ความเป็นจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้นเลย

>> เรื่องต่อไป สงครามในยูเครน ปูตินกล่าวว่า เขาแน่ใจว่าเขาตัดสินใจเรื่องของยูเครนได้ถูกต้อง และการตัดสินใจของเขาสามารถรักษาชีวิตของชาวยูเครนเชื้อสายรัสเซียนับแสนคนเอาไว้ได้

ปูตินเปรียบว่าการสู้รบในยูเครนเป็นเสมือนสงครามกลางเมืองเพราะคนรัสเซียและยูเครนต่างมีที่มาจากชนชาติสลาฟ ดินแดนที่เป็นประเทศยูเครนก็เป็นสิ่งที่สหภาพโซเวียตยกให้ไปอย่างสันติเมื่อสิ้นสุดยุคของสหภาพโซเวียต เช่นเดียวกับประเทศอื่นที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียต

>> เรื่องต่อไป สหรัฐอเมริกา ปธน.ปูตินประกาศว่าสหรัฐฯ ได้มาถึงจุดที่ไม่สามารถนำเสนอสิ่งดีๆ หรือความคิดสร้างสรรค์ที่มีประโยชน์ต่อโลกแล้ว แม้กระทั่งพันธมิตรฯ ชาติตะวันตกของตน สหรัฐฯ ยังนำความพินาศมาให้อย่างเรื่องของอียูและพลังงานจากรัสเซีย ที่สหรัฐฯ เข้ามาบงการ บ่อนทำลายจนเศรษฐกิจ อุตสาหกรรมของอียูอยู่บนขอบเหวของความล่มสลาย 

อดีตนายกฯ ญี่ปุ่น ตำหนิสื่อวิจารณ์แต่ ‘ปูติน’ ทั้งนี้ ‘เซเลนสกี’ มีส่วนทำให้คนยูเครนทุกข์ทรมาน

ประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี แห่งยูเครน ทำให้ประชาชนในประเทศของเขา ‘ทุกข์ทรมาน’ จากความเห็นของ ‘โยชิโร โมริ’ อดีตนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น พร้อมตำหนิสื่อมวลชนแดนปลาดิบมีความลำเอียงในการรายงานข่าวความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครน

“ผมไม่เข้าใจว่าทำไมถึงมีแต่ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ ส่วน เซเลนสกี ไม่ได้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ใดๆ นี่คือปัญหา เซเลนสกีทำประชาชนยูเครนจำนวนมากทุกข์ทรมาน” โมริ กล่าวระหว่างร่วมกิจกรรมทางการเมืองหนึ่งในกรุงโตเกียวเมื่อวันศุกร์ (18 พ.ย.) ตามรายงานของเกียวโดนิวส์

“สื่อมวลชนญี่ปุ่นลำเอียงเข้าหาฝ่ายหนึ่ง พวกเขาอยู่ภายใต้อิทธิพลรายงานข่าวจากตะวันตก ผมไม่อาจช่วยได้ แต่รู้สึกแค่ว่าพวกเขาพึ่งแต่รายงานข่าวจากยุโรปและอเมริกาเท่านั้น” โมริ ระบุ

นอกจากนี้ โมริ ยังวิพากษ์วิจารณ์จุดยืนของ ฟูมิโอะ คิชิดะ นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันของญี่ปุ่นในความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครน ว่าลำเอียง และเอนเอียงเข้าหาสหรัฐฯ

'ปูติน' ระงับสนธิสัญญานิวเคลียร์กับสหรัฐฯ หลังพบสหรัฐฯ เริ่มพัฒนาหัวรบนิวเคลียร์แบบใหม่

ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซีย ระบุระหว่างแถลงนโยบายประจำปีเมื่อวันอังคารว่า เขาระงับการมีส่วนร่วมของรัสเซียในสนธิสัญญาลดการครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ที่รัสเซียทำไว้กับสหรัฐอเมริกา และกล่าวหาชาติตะวันตกว่าทำให้ความขัดแย้งในยูเครนเลวร้ายลง

สำนักข่าวเอเอฟพีและรอยเตอร์รายงานว่า ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซีย แถลงนโยบายประจำปีในกรุงมอสโก เมื่อวันอังคารที่ 21 กุมภาพันธ์ 2566 ต่อสมาชิกรัฐสภาและนายทหารระดับสูงของรัสเซีย ก่อนหน้าไม่กี่วันที่จะครบรอบ 1 ปี ที่ทหารรัสเซียเริ่มบุกเข้าไปในยูเครนเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2565

ปูตินกล่าวหามหาอำนาจชาติตะวันตกว่าต้องการจำกัดรัสเซียให้หมดสิ้น และรัสเซียถูกบังคับให้ระงับการมีส่วนร่วมในสนธิสัญญา 'นิวสตาร์ต' ซึ่งเป็นสนธิสัญญาจำกัดการครอบครองหัวรบนิวเคลียร์ที่รัสเซียมีข้อตกลงไว้กับสหรัฐ แต่บอกว่าจะไม่ถอนตัวจากข้อตกลงทั้งหมด

ผู้นำรัสเซียกล่าวว่า บางคนในกรุงวอชิงตันกำลังคิดเรื่องกลับมาทดสอบอาวุธนิวเคลียร์อีกครั้ง ดังนั้นกระทรวงกลาโหมของรัสเซียและบริษัทนิวเคลียร์ของรัสเซียควรที่จะพร้อมทดสอบอาวุธนิวเคลียร์ของรัสเซียถ้ามีความจำเป็น

ปูตินระบุแน่นอนว่าเราจะไม่เริ่มทดสอบอาวุธนิวเคลียร์ก่อน แต่ถ้าสหรัฐอเมริกาดำเนินการทดสอบอาวุธนิวเคลียร์ เราจะทำเช่นกัน ไม่ควรมีภาพลวงตาที่อันตรายที่ว่าความเสมอภาคทางยุทธศาสตร์ของโลกสามารถถูกทำลายได้

สหรัฐฯ เดือด!! ปูติน เปิดทำเนียบรับ ‘หวังอี้’ พร้อมชวน ‘สีจิ้นผิง’ เยือนยกระดับความสัมพันธ์

ท่ามกลางความตึงเครียดในสงครามรัสเซีย-ยูเครน แต่นโยบายด้านการต่างประเทศก็ยังต้องดำเนินต่อไป ซึ่งวันนี้ (23 ก.พ.66) วลาดิมีร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย ได้เปิดทำเนียบต้อนรับ หวัง อี้ รัฐมนตรีต่างประเทศจากจีน ที่ได้มาเยือนกรุงมอสโก ก่อนวันครบรอบ 1 ปี วันเริ่มต้นปฏิบัติการทางทหารของรัสเซียในยูเครนเพียงวันเดียว สะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นระหว่าง จีน และ รัสเซีย ยังคงเดิม ไม่เปลี่ยนแปลง

โดย นาย หวัง อี้ รัฐมนตรีต่างประเทศจีนได้กล่าวกับปูติน ว่า จีน และ รัสเซีย พร้อมที่จะยกระดับความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ และ เชิงพาณิชย์ให้มากขึ้นกว่าเดิม และคาดหวังว่าจะได้ฉันทามติในข้อตกลงใหม่ๆ เพิ่มขึ้นอีกในอนาคต

ด้าน ปูติน ผู้นำรัสเซีย ได้กล่าวกับตัวแทนจากจีนว่า ความร่วมมือด้านการค้าระดับทวิภาคีของทั้ง 2 ประเทศ ได้ผลลัพธ์ที่ดีเกินคาดมาก ทำรายได้โตขึ้นถึงเกือบ 2 แสนล้านเหรียญ คาดว่าน่าจะโตกว่าปีที่ผ่านมาที่ 1.85 แสนล้านเหรียญอย่างแน่นอน 

นอกจากนี้ ปูติน ยังกล่าวกับ หวัง อี้ อีกด้วยว่า ทางรัฐบาลรัสเซียรอคอยการมาเยือนของผู้นำจีน ที่เคยมีกระแสข่าวว่ามีแผนการเยือนรัสเซียในเร็วๆนี้ เพื่อหารือข้อตกลงใหม่ๆ โดยย้ำว่าข้อตกลงที่ผ่านมาล้วนคืบหน้าไปด้วยดี และราบรื่น รวมถึงความร่วมมือระหว่างจีน และ รัสเซีย มีความสำคัญอย่างยิ่งในการสร้างเสถียรภาพในสถานการณ์ของโลกในวันนี้ 

หากมองดูให้ดีแล้ว ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ความเคลื่อนไหวของผู้นำชาติมหาอำนาจอย่าง โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐ ที่ได้เดินทางไปเยือนกรุงเคียฟแบบ Surprise Visit เป็นการตอกย้ำบทบาทของสหรัฐฯ ในสงครามรัสเซีย-ยูเครน ขณะที่ หวัง อี้ รัฐมนตรีต่างประเทศจีน ซึ่งได้มาเยือนกรุงมอสโก ก็สร้างความวิตกกังวลกับนานาชาติว่า ความขัดแย้งจะเพิ่มดีกรีให้ร้อนแรงขึ้นจนเลยขีดความสงครามเย็น จนกลายเป็นสงครามโลกหรือไม่ 

นี่ยังไม่นับความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และ จีน ซึ่งเข้าสู่ภาวะตึงเครียดอีกครั้ง จากกรณีพบบอลลูนสัญชาติจีนเหนือน่านฟ้าสหรัฐฯ 

เกี่ยวกับกรณีนี้ นายแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ได้ออกมาให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อว่า จีนกำลังเตรียมที่จะส่งอาวุธสนับสนุนให้กับฝ่ายรัสเซีย เพื่อใช้ในการสู้รบที่ยูเครน ตามมาด้วยคำขู่ของ โวโลดิมีร์ เซเลนสกี ผู้นำยูเครนที่ออกมาโจมตีว่า เมื่อใดก็ตามที่จีนส่งอาวุธสนับสนุนรัสเซีย จะเป็นจุดเริ่มต้นของสงครามโลกครั้งที่ 3 และรัสเซียจะเป็นฝ่ายพ่ายแพ้

‘ปูติน’ เผย ตลาดแรงงานในรัสเซียยังคึกคัก หลัง ‘อัตราว่างงาน’ ลดต่ำเป็นประวัติการณ์

(15 มี.ค. 66) เมื่อวันอังคารที่ 14 มี.ค. 66 สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย เปิดเผยว่า อัตราการว่างงานของประเทศ ลดแตะระดับต่ำเป็นประวัติการณ์ อยู่ที่ร้อยละ 3.6 จากข้อมูลตลาดแรงงานล่าสุด

ปูติน ซึ่งเดินทางไปปฏิบัติงานที่สาธารณรัฐบูร์ยาเตีย ระบุว่า อัตราการว่างงานของรัสเซียต่ำเป็นประวัติการณ์ แม้เทียบกับช่วงก่อนเกิดการระบาดใหญ่ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 4.7

‘สี จิ้นผิง’ เตรียมบินลัดฟ้า เดินทางเยือน ‘รัสเซีย’ หลังได้รับคำเชิญจาก ‘วลาดิเมียร์ ปูติน’ 

สี จิ้นผิงเตรียมเดินทางเยือน ‘รัสเซีย’ อย่างเป็นทางการ

ปักกิ่ง, 17 มี.ค. (ซินหัว) — วันศุกร์ (17 มี.ค.) ฮว่าชุนอิ๋ง โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของจีน ประกาศว่าสีจิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน จะเดินทางเยือนรัสเซียอย่างเป็นทางการระหว่างวันที่ 20-22 มี.ค. ตามคำเชิญของวลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย

‘ทูตจีน’ เผยสัมพันธ์ ‘จีน-รัสเซีย’ แข็งแกร่ง ท่ามกลางปั่นป่วนบนโลก ยิ่งต้องแน่นแฟ้น

มอสโก, 18 มี.ค. (ซินหัว) — จางฮั่นฮุย เอกอัครราชทูตจีนประจำรัสเซีย กล่าวในการให้สัมภาษณ์กับสื่อจีนเมื่อไม่นานนี้ว่า ยิ่งโลกเผชิญความปั่นป่วนมากเท่าใด ความสัมพันธ์จีน-รัสเซียก็ยิ่งจำเป็นต้องก้าวต่อไปข้างหน้าอย่างมั่นคง

จางระบุว่าไม่ว่าสถานการณ์ระหว่างประเทศจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร สถานะหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์รอบด้านแห่งความร่วมมือในยุคใหม่จีน-รัสเซียจะยังคงเดินหน้าต่อไปในระดับสูงขึ้น ภายใต้การชี้แนะเชิงกลยุทธ์ของผู้นำทั้งสอง

เมื่อวันศุกร์ (17 มี.ค.) ฮว่าชุนอิ๋ง โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของจีน ประกาศว่าสีจิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน จะเดินทางเยือนรัสเซียอย่างเป็นทางการระหว่างวันที่ 20-22 มี.ค. ตามคำเชิญของวลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย

จางกล่าวว่าผู้นำจีนและรัสเซียยังคงรักษาการติดต่อสื่อสารอย่างใกล้ชิด และแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับความร่วมมือทวิภาคีและประเด็นระหว่างประเทศที่สำคัญ ซึ่งเปรียบเสมือนเข็มทิศและหลักยึดในการพัฒนาความสัมพันธ์ทวิภาคี

จางเผยว่าสีจิ้นผิงและปูตินได้บรรลุฉันทามติเชิงยุทธศาสตร์ที่สำคัญหลายประการในการส่งเสริมการยกระดับความสัมพันธ์ทวิภาคี การรักษาความมั่นคงและเสถียรภาพในภูมิภาค และการสร้างประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันของมนุษยชาติ

ตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา ความสัมพันธ์จีน-รัสเซียได้ก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ โดยความร่วมมือทวิภาคีบรรลุผลลัพธ์ใหม่ ขณะการประสานงานเชิงกลยุทธ์ก้าวสู่ระดับใหม่

จางเน้นย้ำว่าความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าจีน-รัสเซียได้ยืนหยัดต่อแรงกดดันและก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง แม้เผชิญกับความท้าทายหลายประการ เช่น การระบาดใหญ่ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) อันยืดเยื้อ วิวัฒนาการของสถานการณ์ระหว่างประเทศที่สลับซับซ้อน และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่อ่อนแอ

จางกล่าวว่าปี 2022 การค้าทวิภาคีระหว่างจีนและรัสเซียพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ที่ 1.90 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 6.44 ล้านล้านบาท) พร้อมเสริมว่าการค้าพลังงานมีบทบาทสำคัญมากยิ่งขึ้นในการค้าทวิภาคี ขณะที่การส่งออกผลิตภัณฑ์เครื่องกลและไฟฟ้า ยานยนต์ และชิ้นส่วนยานยนต์ของจีนไปยังรัสเซียล้วนมีการเติบโตอย่างมาก

จางเผยว่าสัดส่วนการชำระเงินในสกุลเงินท้องถิ่นเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยกลุ่มธนาคารรัสเซียดำเนินธุรกิจโดยใช้สกุลเงินหยวนอย่างกว้างขวาง

จางกล่าวถึงความร่วมมือระดับท้องถิ่นระหว่างจีนและรัสเซียที่ลึกซึ้งกว่าที่เคยเป็นมา โดยชี้ว่าสถาบันและผู้ประกอบการท้องถิ่นจากสองประเทศ มีส่วนร่วมแข็งขันในงานมหกรรมสินค้านำเข้านานาชาติจีน (CIIE) งานกว่างโจวแฟร์ (Canton Fair) การประชุมเศรษฐกิจภูมิภาคตะวันออก (EEF) และการประชุมเศรษฐกิจนานาชาติเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก (SPIEF) ซึ่งช่วยประสานความต้องการความร่วมมือและปลดปล่อยศักยภาพความร่วมมืออย่างเต็มที่

จางเปิดเผยว่าสะพานทางหลวงข้ามพรมแดนเฮยเหอ-บลาโกเวชเชนสค์ สะพานทางรถไฟข้ามพรมแดนถงเจียง-เนซเนียลีนินสกอย และสะพานข้ามแม่น้ำบริเวณพรมแดนแห่งอื่นๆ ต่างทยอยเปิดให้สัญจร ส่วนช่องทางขนส่งและโลจิสติกส์ข้ามพรมแดนมีการขยับขยายเพิ่มเติมเช่นกัน

หลังจากจีนเพิ่มประสิทธิภาพและปรับเปลี่ยนมาตรการป้องกันการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) พิธีการทางศุลกากรที่ท่าเรือของจีนและรัสเซียได้ทยอยกลับสู่รูปแบบเดียวกับก่อนเกิดโรคระบาดใหญ่ ซึ่งช่วยรับรองการแลกเปลี่ยนของทั้งบุคลากรและสินค้าระหว่างสองฝ่ายว่าจะเป็นไปอย่างราบรื่น

“การค้าทวิภาคีเติบโตอย่างแข็งแกร่งช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ปีนี้ โดยมูลค่าสูงถึง 3.36 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.14 ล้านล้านบาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 25.9 เมื่อเทียบปีต่อปี ซึ่งนับเป็นการเริ่มต้นที่ดี” จางกล่าว “ตัวเลขนี้แสดงให้เห็นอีกครั้งว่ารากฐานความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าทวิภาคียังคงแข็งแกร่ง”

ในฐานะประเทศเพื่อนบ้าน จีนและรัสเซียมีความไว้เนื้อเชื่อใจกันทางการเมืองอย่างแน่นแฟ้น มีความเกื้อกูลกันทางเศรษฐกิจในระดับสูง และมีศักยภาพในการร่วมมือที่ดีเยี่ยม ทำให้บริษัทรัสเซียจำนวนมากขึ้นแสดงความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะร่วมมือกับฝ่ายจีน

จางเชื่อมั่นว่าการค้าจีน-รัสเซียจะพุ่งแตะระดับสูงสุดใหม่ในปี 2023 พร้อมมุ่งมั่นบรรลุเป้าหมายทางการค้าที่ผู้นำทั้งสองฝ่ายตั้งเป้าไว้ที่ 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 6.81 ล้านล้านบาท) ภายในสิ้นปีนี้

จางเสริมว่าความร่วมมือระหว่างประชาชนมีบทบาทสำคัญมาตลอดประวัติศาสตร์แห่งการพัฒนาความสัมพันธ์จีน-รัสเซีย


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top