Tuesday, 20 May 2025
ปูติน

‘ปูติน’ ลั่น!! รัสเซียไม่คิดขยายวงสงครามไปประเทศอื่น เผย เกือบปิดดีลยูเครนสำเร็จ แต่อีกฝ่ายถอยทัพไปก่อน

เมื่อไม่นานนี้ ในการให้สัมภาษณ์กับนักข่าวอเมริกันเป็นครั้งแรก ของ ประธานาธิบดี ‘วลาดิมีร์ ปูติน’ แห่งรัสเซีย ได้กล่าวยืนยันว่า รัสเซียจะต่อสู้เพื่อผลประโยชน์ของตนเองจนถึงที่สุด แต่เขาไม่สนใจที่จะขยายวงสงครามยูเครนไปยังประเทศอื่นๆ อย่างโปแลนด์ หรือลัตเวีย

บทสัมภาษณ์ผู้นำรัสเซีย ความยาวกว่า 2 ชั่วโมง โดย ‘ทัคเกอร์ คาร์ลสัน’ อดีตพิธีกรรายการทอล์กโชว์แนวการเมืองชาวอเมริกัน ผู้เคยจัดรายการ Tucker Carlson Tonight ทางช่องฟ็อกซ์นิวส์ ที่คาร์ลสันเดินทางมาสัมภาษณ์ที่กรุงมอสโก ของรัสเซีย เมื่อวันอังคารที่ 6 ก.พ.ที่ผ่านมา แต่นำออกอากาศทาง tuckercarlson.com เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 8 ก.พ. ในช่วงหนึ่ง ปูตินกล่าวว่า ผู้นำตะวันตกตระหนักดีว่า เป็นไปไม่ได้ที่จะสร้างความปราชัยทางยุทธศาสตร์ให้กับรัสเซีย และกำลังสงสัยว่าจะทำอย่างไรต่อไป ก่อนที่ปูตินจะกล่าวต่อไปว่า “เราพร้อมสำหรับการเจรจา”

เมื่อถูกคาร์ลสันถามถึงฉากทัศน์ที่ผู้นำรัสเซียจะส่งกองทหารรัสเซียเข้าไปยังโปแลนด์ ซึ่งเป็นชาติสมาชิกองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต) หรือไม่ ปูตินกล่าวตอบว่า “มีเพียงกรณีเดียวเท่านั้น หากโปแลนด์โจมตีรัสเซีย ทำไมน่ะเหรอ? เพราะเราไม่มีความสนใจโปแลนด์ ลัตเวีย หรือที่อื่นใด”

ทั้งนี้ ในการให้สัมภาษณ์ที่ปูตินพูดเป็นภาษารัสเซียและถูกพากย์ทับเป็นภาษาอังกฤษนั้น ปูตินเริ่มต้นด้วยการร่ายยาวถึงประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ของรัสเซียกับยูเครน โปแลนด์ และประเทศอื่นๆ และใช้เวลาส่วนหนึ่งไปกับการคร่ำครวญว่า ยูเครนใกล้จะบรรลุข้อตกลงเพื่อยุติสงครามแล้ว ในการเจรจาที่นครอิสตันบูลเมื่อเมษายนปี 2022 แต่อีกฝ่ายกลับถอยไป เมื่อทหารรัสเซียถอนกำลังออกจากพื้นที่ใกล้กรุงเคียฟ

ปูตินยังกล่าวถึงสหรัฐอเมริกาว่า มีประเด็นเร่งด่วนภายในประเทศที่ต้องกังวล

“จะดีกว่าไหมถ้าเจรจากับรัสเซีย? ทำข้อตกลง ได้เข้าใจสถานการณ์ที่กำลังพัฒนาไปในขณะนี้แล้ว โดยตระหนักว่ารัสเซียจะสู้เพื่อผลประโยชน์ของตนเองจนถึงที่สุด”

นอกจากนี้ ผู้นำรัสเซียยังกล่าวด้วยว่า เขาเชื่อว่ามีความเป็นไปได้ที่จะบรรลุข้อตกลงในการปล่อยตัว ‘นายอีแวน เกิร์ชโควิช’ นักข่าวอเมริกันของหนังสือพิมพ์เดอะ วอลสตรีทเจอร์นัล ที่ถูกจับกุมในประเทศรัสเซีย เมื่อเกือบ 1 ปีก่อนและกำลังรอการพิจารณาคดีในข้อหาจารกรรม โดยปูตินเปิดเผยว่า หน่วยปฏิบัติการพิเศษของรัสเซียและสหรัฐฯ กำลังหารือกันในคดีเกิร์ชโควิชอยู่ ซึ่งมีความคืบหน้าอยู่บ้าง

นับเป็นการให้สัมภาษณ์สื่อสหรัฐฯ เป็นครั้งแรกของปูตินนับจากปี 2021 และก่อนที่สงครามรุกรานยูเครนของรัสเซียจะเปิดฉากขึ้นเมื่อเกือบ 2 ปีก่อน

‘จีน’ ยินดี ‘ปูติน’ เข้ารับตำแหน่ง ปธน.รัสเซียสมัยที่ 5 เชื่อ!! จะนำพาเศรษฐกิจ-สังคมในประเทศก้าวหน้า

(10 พ.ค.67) สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า หลินเจี้ยน โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของจีน กล่าวว่า จีนแสดงความยินดีกับวลาดิเมียร์ ปูติน สำหรับการเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีรัสเซียสมัยที่ 5 อย่างเป็นทางการ และเชื่อว่ารัสเซียจะสร้างความสำเร็จใหม่ ๆ ในการพัฒนาประเทศ รวมถึงความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและสังคมภายใต้การนำของปูติน

หลินเจี้ยน กล่าวในการแถลงข่าวประจำวัน เมื่อถูกถามถึงความคิดเห็นในกรณีปูตินสาบานตนรับตำแหน่งประธานาธิบดีสหพันธรัฐรัสเซีย ระยะ 6 ปี เมื่อวันอังคาร (7 พ.ค.) และยูริ อูชาคอฟ ผู้ช่วยประธานาธิบดีรัสเซีย เผยว่า ปูตินจะเยือนจีนในการเดินทางเยือนต่างประเทศระยะแรกของการดำรงตำแหน่งผู้นำรัสเซียสมัยใหม่นี้ โดยหลินชี้ว่าความสัมพันธ์จีน-รัสเซีย ได้เติบโตต่อเนื่องอย่างแข็งแกร่งภายใต้การชี้นำเชิงยุทธศาสตร์จากสองผู้นำรัฐ

จีนและรัสเซียได้ยึดมั่นหลักการไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด หลีกเลี่ยงการเผชิญหน้า และไม่มุ่งเป้าไปยังฝ่ายที่สาม รวมถึงเดินหน้าความสัมพันธ์และความร่วมมือทวิภาคีด้านต่าง ๆ บนพื้นฐานการเคารพซึ่งกันและกัน ความเสมอภาค และผลประโยชน์ร่วมกัน ซึ่งนำพาผลประโยชน์อันจับต้องได้มาสู่ประชาชนสองประเทศและมีบทบาทเชิงบวกต่อการเดินหน้าการพัฒนาโลกร่วมกัน

หลินเจี้ยน กล่าวว่า ปีนี้ตรงกับวาระครบรอบ 75 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตจีน-รัสเซีย ซึ่งทั้งสองฝ่ายจะดำเนินการตามแนวปฏิบัติของความเข้าใจร่วมกันระหว่างสองประธานาธิบดี เสริมสร้างความไว้วางใจซึ่งกันและกัน ขยับขยายความร่วมมือ และสานต่อมิตรภาพ เพื่อร่วมสนับสนุนโลกหลายขั้วที่เท่าเทียมและเป็นระเบียบ และโลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจที่เอื้อประโยชน์และครอบคลุมในระดับสากล พร้อมดำเนินการตามลัทธิพหุภาคีที่แท้จริง และส่งเสริมธรรมาภิบาลโลกที่เป็นธรรมและเท่าเทียมยิ่งขึ้น

หลินเจี้ยน กล่าวอีกว่า จีนให้ความสำคัญกับการชี้นำเชิงยุทธศาสตร์จากการทูตระดับผู้นำรัฐของความสัมพันธ์จีน-รัสเซีย โดยประธานาธิบดีทั้งสองเห็นพ้องจะธำรงรักษาการมีปฏิสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดและรับรองการเติบโตที่ราบรื่นและมั่นคงของความสัมพันธ์จีน-รัสเซีย

'คิม จองอึน' มอบสุนัขประจำชาติ 'พุงซาน' เป็นของขวัญให้ 'ปูติน' หลังการลงนามข้อตกลงหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์อย่างกว้างขวาง

(21 มิ.ย. 67) สำนักข่าวกลางเกาหลี ของทางการเกาหลีเหนือรายงานว่า คิม จอง อึน ผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือได้มอบสุนัขพันธุ์ 'พุงซาน' (Pungsan) ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นหนึ่งในสมบัติชาติของเกาหลีเหนือ และเป็นสุนัขล่าสัตว์ที่มีความจงรักภักดีและเฉลียวฉลาด ให้เป็นของขวัญแก่ ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซีย หลังจากที่ทั้งสองฝ่ายประชุมสุดยอดร่วมกันที่กรุงเปียงยาง

โดยทางสำนักข่าวยอนฮับ รายงานเพิ่มเติมว่า คิม จอง อึน มอบสุนัขให้กับนายปูติน ในระหว่างที่ทั้งสองเดินเล่นในสวนของบ้านพักรับรองคึมซูซัน หลังจากลงนามในข้อตกลงส่งเสริมความสัมพันธ์เป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์อย่างกว้างขวาง ขณะที่ด้านสำนักข่าวกลางเกาหลี รายงานว่า คิมมอบสุนัขประจำชาติ 1 คู่ให้กับปูติน ซึ่งผู้นำรัสเซียได้กล่าวแสดงความขอบคุณ

ทั้งนี้ หากย้อนไปเมื่อปี 2018 ‘คิม จอง อึน’ เคยส่ง สุนัขพุงซานให้ ‘มุน แจ อิน’ ประธานาธิบดีเกาหลีใต้คนก่อน และในปี 2000 ก็เคยมอบลูกสุนัขพันธุ์พุงซานแด่ ‘คิม แด จอง’ อดีตประธานาธิบดีของเกาหลีใต้ เช่นกัน

อย่างไรก็ตามในปี 2022 อดีตประธานาธิบดีมุน ก็จำต้องทิ้งสุนัขทั้ง 2 ตัว ที่ชื่อ ซองคังและโกมิ โดยอ้างว่า ขาดการสนับสนุนทางการเงินสำหรับการเลี้ยงดูสุนัขจากรัฐบาลชุดปัจจุบันของประธานาธิบดี ยุน ซอก ยอล ทำให้สุนัขทั้ง 2 ตัว ต้องย้ายไปอยู่ที่สวนสัตว์ในเมืองกวางจู หลังจากไปพักชั่วคราวที่โรงพยาบาลสัตว์ในเมืองแทจู และถูกดูแลต่อในฐานะสัญลักษณ์ของสันติภาพ การปรองดอง และความร่วมมือระหว่างเกาหลีใต้และเกาหลีเหนือ

'มาริษ' ร่วมเฟรม 'ปูติน-สี จิ้นผิง' ระหว่างเข้าร่วมประชุม  BRICS Plus Summit ที่รัสเซีย 

นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรงงการต่างประเทศ ในฐานะผู้แทนของนายกรัฐมนตรี เดินทางเข้าร่วมการประชุมระดับผู้นำระหว่างกลุ่มประเทศ BRICS กับกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนา หรือ BRICS Plus Summit ครั้งที่ 4 ซึ่งจัดขึ้นที่เมืองคาซาน รัสเซีย

ก่อนเริ่ม นายมาริษ ได้ร่วมถ่ายภาพหมู่กับผู้นำ  BRICS นำโดย นายวลาดีมีร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย และ นายสี จิ้น ผิง ประธานาธิบดีสาธารณรัฐประชาชนจีน  ซึ่งช่วงหนึ่ง ประธานาธิบดีรัสเซีย ในฐานะเจ้าภาพ ได้เดินเข้ามาจับมือทักทาย นายมาริษ ด้วย 

ทั้งนี้ นายมาริษ มีกำหนดกล่าวถ้อยแถลง ในการประชุม จัดขึ้นภายใต้หัวข้อ 'BRICS and the Global South: Building a Better World Together' เพื่อหารือแนวทางการแก้ไขปัญหาความท้าทายในระดับภูมิภาคและระดับโลก และแนวทางการส่งเสริมระบบพหุภาคีเพื่อการสร้างระบบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่เป็นธรรมและเป็นประโยชน์ต่อประเทศกำลังพัฒนามากขึ้น 

‘วลาดิเมียร์ ปูติน’ ผู้นำรัสเซียที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดของโลก

ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน วัย 72 ปี คือผู้นำรัสเซียที่ครองตำแหน่งยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์ 200 ปีของรัสเซีย ภายหลังจากชนะการเลือกตั้ง เมื่อเดือนมิถุนายน 2567 ที่ผ่านมา นั่นจะทำให้ปูตินดำรงตำแหน่งเป็นสมัยที่ 5 และจะอยู่ในตำแหน่งต่อไปอีก 6 ปี 

ปูติน ชนะการเลือกตั้งครั้งล่าสุด ด้วยคะแนนมากเป็นประวัติการณ์ถึง 87% สูงกว่าชัยชนะครั้งก่อน ซึ่งได้คะแนนเสียง76.7% โดยได้ประกาศในสุนทรพจน์ว่า ชัยชนะของเขาจะทำให้รัสเซียรุ่งโรจน์ “แข็งแกร่ง และมีประสิทธิภาพ” มากขึ้น

และแน่นอนว่า ชัยชนะของปูติน ที่จะทำให้เขาอยู่ในตำแหน่งยาวนานต่อไปอีกอย่างน้อย 6 ปีนั้น สะท้อนให้เห็นถึงความเป็นผู้ทรงอิทธิพลสูงที่สุดในบรรดาผู้นำของโลกในปัจจุบัน และสามารถกุมอำนาจการบริหารประเทศไว้อย่างเบ็ดเสร็จ 

ไม่เพียงแต่เป็นผู้นำรัสเซียเท่านั้น แต่ปูติน ยังเป็นหนึ่งในผู้นำที่ร่วมก่อตั้งกลุ่ม BRICS ซึ่งเป็นอักษรย่อใช้เรียกกลุ่มประเทศที่มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว ประกอบด้วย บราซิล (Brazil) รัสเซีย (Russia) อินเดีย (India) จีน (China) และแอฟริกาใต้ (South Africa) ซึ่งกำลังท้าทายมหาอำนาจทางเศรษฐกิจที่มีผู้นำอย่างสหรัฐ อเมริกา โดยตรง 

สำหรับ วลาดิเมียร์ ปูติน มีชื่อเต็ม ๆ ว่า วลาดิเมียร์ วลาดิมีโรวิช ปูติน (Vladimir Vladimirovich Putin) เกิดเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม ปี 1952 ปัจจุบันอายุ 72 ปี ปูติน เกิดในเลนินกราด (Leningrad) สมัยยังเป็นสหภาพสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียต (Union of Soviet Socialist Republics: USSR) ก่อนที่จะแตกในปี 1991 ออกเป็นทั้งหมด 15 ประเทศ โดยปูติน ได้ขึ้นเป็นผู้นำรัสเซียครั้งแรกเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม ค.ศ. 1999 ภายหลังจาก บอริส เยลต์ซิน ได้ลงจากตำแหน่งประธานาธิบดี 

นั่นคือจุดเริ่มต้นความยิ่งใหญ่และทรงอำนาจของปูติน ที่ยาวนานมาจนถึงปัจจุบัน และยังคงยืนหยัดท้าทายมหาอำนาจอย่างสหรัฐ อเมริกา และกลุ่มชาติพันธมิตร อย่างทระนง

THE STATES TIMES ไม่อาจกล้าหยิบยกคำใดมาเชิดชู แค่อยากให้รู้ว่า “เราภูมิใจในตัวคุณ”

ชาติตะวันตกส่งทหารล็อตใหญ่ 50,000 นาย ช่วยรับมือสู้ศึกรัสเซีย ปูทางสู่การยุติสงคราม

(23 ม.ค.68) เว็บไซต์สปุตนิกรายงานว่า รัฐบาลยูเครนเชื่อว่าบรรดาชาติพันธมิตรตะวันตกอาจส่งทหารอีกจำนวน 50,000 นาย มายังยูเครนเพื่อช่วยรับมือศึกรัสเซีย อันเป็นส่วนหนึ่งของการยุติความขัดแย้งระหว่างสองชาติ

ตามรายงานของไฟแนนเชียลไทมส์ ที่อ้างแหล่งข่าวในรัฐบาลเคียฟระบุว่า 
ประธานาธิบดีโวโลดีมีร์ เซเลนสกี ได้กล่าวเรียกร้องให้ชาติพันธมิตรตะวันตกส่งทหารไปยูเครนเพื่อรักษาความปลอดภัยหากมีข้อตกลงสันติภาพกับรัสเซีย ในขณะเดียวกัน เขากล่าวว่า ทหารต่างชาติจะไม่ได้ถูกส่งไปยังเคียฟตามที่บางประเทศในยุโรปต้องการ พร้อมเสริมว่า ยูเครนต้องการกองทัพขนาดหนึ่งล้านนายซึ่งต้องรักษาไว้

รายงานจากไฟแนนเชียลไทมส์ อ้างอิงแหล่งข่าวที่มีส่วนร่วมในการหารือระหว่างเคียฟและพันธมิตรตะวันตก ว่า เจ้าหน้าที่ของยูเครนเชื่อว่า ตะวันตกอาจส่งทหารระหว่าง 40,000 ถึง 50,000 นายเพื่อรักษาความปลอดภัยบนแนวรบยาว 1,000 กิโลเมตร (621.4 ไมล์) 

อย่างไรก็ตามมีการประเมินว่า กำลังทหารประมาณ 40,000 นายอาจไม่เพียงพอที่จะสร้างความแข็งแกร่งจนไม่ตกเป็นเป้าโจมตีของรัสเซีย และอาจไม่มีขนาดใหญ่พอที่จะไม่ต้องการกำลังเสริม หากว่าต้องเผชิญหน้ากับรัสเซีย ซึ่งทหารจำนวน 50,000 นายนี้จะต้องไม่ถูกมองว่าเป็นการผูกมัดลับของนาโต้ด้วย

ด้าน Camille Grand อดีตเจ้าหน้าที่ระดับสูงของนาโต้ เสริมว่า กองทัพนี้น่าจะเกิดขึ้นจากการรวมกลุ่มชั่วคราวที่นำโดยสหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส และเนเธอร์แลนด์ พร้อมด้วยการเข้าร่วมจากประเทศในแถบบอลติกและนอร์ดิก

อย่างไรก็ตาม โฆษกเครมลิน ดมิทรี เพสคอฟ กล่าวก่อนหน้านี้ว่า การหยุดความขัดแย้งในยูเครนไม่สามารถยอมรับได้สำหรับรัสเซีย ในเดือนธันวาคม 2024 ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูตินกล่าวว่า รัสเซียไม่ต้องการแค่การหยุดยิง แต่ต้องการสันติภาพที่ยั่งยืนโดยมีการรับประกันความปลอดภัยที่เชื่อถือได้สำหรับประเทศและประชาชนของตน

ลูคาเชนโกถล่มทลาย!! ชนะเลือกตั้งสมัย 7 'ปูติน-สี' ร่วมยินดี ไม่แคร์ตะวันตกซัด เผด็จการไร้ความชอบธรรม

นายอเล็กซานเดอร์ ลูคาเชนโกประธานาธิบดีคนปัจจุบันของเบลารุส ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีของประเทศเป็นครั้งที่ 7 ตามข้อมูลเบื้องต้นจากคณะกรรมการการกลางเลือกตั้ง Центральной избирательной комиссии (ЦИК) ของสาธารณรัฐเบลารุสโดยจำนวนผู้ออกมาใช้สิทธิ์ในการเลือกตั้งตามข้อมูลของคณะกรรมการการเลือกตั้งกลางของสาธารณรัฐ อยู่ที่ 85.70% พลเมืองโหวตมากที่สุดในภูมิภาค Mogilev Могилевской области (92.64%) น้อยที่สุดในมินสค์ (69.72%) โดยรวมแล้วมีพลเมือง 6.9 ล้านคนเป็นผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงในการเลือกตั้งครั้งนี้ 

ทั้งนี้การเลือกตั้งประธานาธิบดีในเบลารุสเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2025 ที่ผ่านมา จากข้อมูลเบื้องต้นจากคณะกรรมการการเลือกตั้งกลางเบลารุส ลูคาเชนโกชนะด้วยคะแนน 86.82% ผู้สมัครรายอื่นแสดงผลลัพธ์ดังต่อไปนี้:
- นายโอเล็ก ไกดูเควิชОлег Гайдукевич สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ผู้นำพรรคเสรีประชาธิปไตย (LDP) Либерально-демократической партии (ЛДП) ได้ 2.02% ของคะแนนเสียง;
- แอนนา คาโนปัตสกายาАнна Канопацкая (อายุ 48 ปี) ผู้ประกอบการอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (2016–2019) และผู้เข้าร่วมในการเลือกตั้งประธานาธิบดีปี 2020  ได้ 1.86%;

- นายเซอร์เกย์ ไซรานคอฟ (Сергей Сыранков) เลขาธิการคนแรกของคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2024 และอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ 3.21%;
- นายอเล็กซานเดอร์ คิซเนียค (Александр Хижняк) หัวหน้าพรรครีพับลิกันแห่งแรงงานและความยุติธรรม(Республиканской партии труда и справедливости) และรองผู้อำนวยการสภาผู้แทนราษฎรเมืองมินสค์ ได้ 1.74%
- ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 5.1% โหวตต่อต้านผู้สมัครทุกคน และผู้มาใช้สิทธิ์ในการเลือกตั้งทั้งหมดคือ 85.7%

โดยเมื่อวันที่ 22 มกราคม 2025 รัฐสภายุโรปมีมติเรียกร้องให้ไม่ยอมรับผลการเลือกตั้งที่กำลังจะมีขึ้นในเบลารุส สหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปกล่าวก่อนการเลือกตั้งว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ไม่เสรีและไม่ยุติธรรม เนื่องจากสื่ออิสระถูกห้ามในเบลารุส และผู้นำฝ่ายค้านคนสำคัญทั้งหมดถูกจำคุกหรือถูกบังคับให้หลบหนีออกนอกประเทศ พันธมิตรใกล้ชิดของประธานาธิบดีรัสเซีย วลาดิมีร์ ปูติน เคยออกมาปกป้องการจำคุกนักต่อต้านรัฐบาลและประกาศว่า “ผมไม่สนใจตะวันตก”นายคายา คัลลาส นักการทูตชั้นนำของสหภาพยุโรป เรียกการเลือกตั้งครั้งนี้ว่าเป็น “การหลอกลวง” และกล่าวว่า “ลูคาเชนโกไม่มีความชอบธรรมใดๆ” ในขณะที่นางอันนาเลนา แบร์บอค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเยอรมนีกล่าวว่า“ชาวเบลารุสไม่มีทางเลือกอื่น วันนี้เป็นวันที่ขมขื่นสำหรับผู้ที่โหยหาเสรีภาพและประชาธิปไตย”

ในวันเลือกตั้ง นายอเล็กซานเดอร์ ลูคาเชนโกกล่าวว่าไม่สำคัญสำหรับเขาว่าตะวันตกจะยอมรับผลการลงคะแนนหรือไม่ “สิ่งสำคัญสำหรับผมคือชาวเบลารุสยอมรับการเลือกตั้งเหล่านี้” หลังจากการลงคะแนนเสียงในเบลารุสสิ้นสุดลงนายคาจา คัลลาหัวหน้าฝ่ายการทูตของสหภาพยุโรปและนางมาร์ธา คอส กรรมาธิการยุโรปเพื่อการขยายขนาด ได้ออกแถลงการณ์ร่วมที่พวกเขาเรียกว่าการเลือกตั้งประธานาธิบดีในสาธารณรัฐเป็นเรื่องสมมติ “การเลือกตั้งหลอกลวงในเบลารุสในวันนี้ไม่ได้เสรีหรือยุติธรรม”
เมื่อทราบผลการเลือกตั้งนายราโดสลาฟ ซิคอร์สกี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศโปแลนด์แสดงความประหลาดใจเล็กน้อยที่ดูเหมือนว่าผู้มีสิทธิเลือกตั้ง “เพียง” 87.6% เท่านั้นที่ให้การสนับสนุนลูคาเชนโก “ส่วนที่เหลือจะเข้าไปอยู่ในเรือนจำได้หรือไม่”

การเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งก่อนในเบลารุสเกิดขึ้นในปี 2020 นอกจากประธานาธิบดีคนปัจจุบันแล้ว ยังมีผู้สมัครฝ่ายค้านอีก 3 คนที่วางแผนจะลงสมัครรับเลือกตั้งในเวลานั้น ได้แก่ 1) นายเซอร์เกย์ ทิคานอฟสกี้ (Сергей Тихановский) บล็อกเกอร์ 2) นายธนาคาร นายวิคเตอร์ บาบาริโก้ (Виктор Бабарико) นักธุรกิจ และ 3) นายวาเลรี เซปคาโล (Валерий Цепкало) โดยนายเซอร์เกย์ ทิคานอฟสกี้ถูกควบคุมตัวก่อนการเลือกตั้งหลังจากนั้นนางสเวตลานา ทิคานอฟสกายาภรรยาของเขาก็ต้องหลบหนีออกจากประเทศ นายวิคเตอร์ บาบาริโก้และนายวาเลรี เซปคาโล ถูกคณะกรรมการการเลือกตั้งกลางปฏิเสธการสมัคร ในการเลือกตั้งครั้งนั้นนายอเล็กซานเดอร์ ลูคาเชนโกได้รับคะแนนเสียงมากกว่า 80% ฝ่ายค้านไม่ยอมรับผลลัพธ์เหล่านี้โดยเชื่อว่านายเซอร์เกย์ ทิคานอฟสกี้เป็นผู้ชนะซึ่งตามรายงานของคณะกรรมการการเลือกตั้งกลางได้รับเพียง 9.9% หลังจากนั้นความวุ่นวายก็เกิดขึ้น เกิดการประท้วงครั้งใหญ่เกิดขึ้นในประเทศเป็นเวลาหลายเดือนซึ่งภายหลังถูกปราบปรามโดยกองกำลังความมั่นคง

ในขณะที่ฝั่งตะวันตกไม่เห็นด้วยและไม่ยอมรับกับชัยชนะของนายอเล็กซานเดอร์ ลูคาเชนโกผู้นำหลายประเทศและองค์กรระหว่างประเทศออกมาแสดงความยินดีกับชัยชนะของนายอเล็กซานเดอร์ ลูคาเชนโกที่ได้รับชัยชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีเบลารุสเป็นครั้งที่ 7 ประกอบด้วย

ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินแห่งสหพันธรัฐรัสเซียได้แสดงความยินดีอย่างอบอุ่นต่อประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐเบลารุส อเล็กซานเดอร์ ลูกาเชนโกสำหรับชัยชนะอันน่าเชื่อของเขาในการเลือกตั้งประธานาธิบดี และขออวยพรให้เขาประสบความสำเร็จในการทำงานในตำแหน่งสูงสุดของรัฐบาล ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินได้กล่าวว่า “ชัยชนะที่น่าเชื่อในการเลือกตั้งแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนถึงอำนาจทางการเมืองระดับสูงของคุณ เช่นเดียวกับการสนับสนุนจากประชาชนอย่างไม่ต้องสงสัยสำหรับแนวทางของรัฐ เมื่อเร็ว ๆ นี้ เราได้พยายามทำอะไรมากมายเพื่อกระชับความสัมพันธ์ฉันมิตรระหว่างมอสโกและมินสค์ แน่นอนว่า เราจะยังคงทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดในการพัฒนาความร่วมมือรัสเซีย-เบลารุสในหลากหลายแง่มุม เพิ่มประสิทธิภาพของสถาบันต่างๆ ของรัฐสหภาพ และส่งเสริมกระบวนการบูรณาการที่เป็นประโยชน์ร่วมกันในพื้นที่เอเชีย" นายวลาดิเมียร์ ปูตินยังอวยพรให้อเล็กซานเดอร์ ลูกาเชนโกประสบความสำเร็จในกิจกรรมของรัฐบาลเพื่อประโยชน์ของพี่น้องชาวเบลารุส ตลอดจนมีสุขภาพที่ดีและเจริญรุ่งเรือง และยังเชิญเชิญให้นายอเล็กซานเดอร์ ลูคาเชนโกไปเยือนมอสโกในอนาคตอันใกล้นี้ 

นายคาสซิม-โจมาร์ท โทคาเยฟประธานาธิบดีคาซัคสถานได้แสดงความยินดีกับนายอเล็กซานเดอร์ ลูคาเชนโกสำหรับชัยชนะในการเลือกตั้งด้วยการสนทนาทางโทรศัพท์ นายคาสซิม-โจมาร์ท โทคาเยฟตั้งข้อสังเกตว่าในคาซัคสถาน นายอเล็กซานเดอร์ ลูคาเชนโกเป็นที่รู้จักในฐานะบุคคลทางการเมืองที่โดดเด่นซึ่งมีส่วนช่วยอย่างมากในการพัฒนาความสัมพันธ์มิตรภาพและหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ของคาซัค – เบลารุส

นายชาฟกัต มีร์ซีโยเยฟประธานาธิบดีอุซเบกิสถานได้มีการสนทนาทางโทรศัพท์ยินดีกับนายอเล็กซานเดอร์ ลูคาเชนโกโดยนายชาฟกัต มีร์ซีโยเยฟได้แสดงความยินดีอย่างอบอุ่นกับเพื่อนร่วมงานชาวเบลารุสของเขาเกี่ยวกับชัยชนะอันน่าเชื่อในการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งนี้

ประธานาธิบดีทาจิกิสถานนาย เอโมมาลี ราห์มอน ได้แสดงความยินดีกับเพื่อนร่วมงานชาวเบลารุสของเขาสำหรับชัยชนะและผลลัพธ์ที่สูงในการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งล่าสุด เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2025 ประธานาธิบดีอเล็กซานเดอร์ ลูกาเชนโก ของเบลารุสสนทนาทางโทรศัพท์กับนายอิลฮาม อาลีเยฟประธานาธิบดีอาเซอร์ไบจาน ซึ่งแสดงความยินดีกับประมุขแห่งรัฐเบลารุสในชัยชนะอย่างมั่นใจในการเลือกตั้งประธานาธิบดีขอให้เขาประสบความสำเร็จในการทำงานในตำแหน่งที่รับผิดชอบนี้และการดำเนินการตามแผนของเขาประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ได้แสดงความยินดีกับสำหรับชัยชนะในการเลือกตั้งของนายอเล็กซานเดอร์ ลูกาเชนโก “ความเจริญรุ่งเรืองและอำนาจต่อเบลารุสที่เป็นมิตร” ผมให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาความสัมพันธ์จีน-เบลารุส และพร้อมที่จะพยายามร่วมมือกับคุณเพื่อสานต่อมิตรภาพดั้งเดิมระหว่างจีนและเบลารุส กระชับความร่วมมือทวิภาคีที่เป็นประโยชน์ร่วมกันในระดับทวิภาคี และส่งเสริมการพัฒนาที่ก้าวหน้าของความสัมพันธ์จีน-เบลารุส 

เพื่อประโยชน์ของประชาชนทั้งสองประเทศ” นายนูร์ลัน เออร์เม็กบาเยฟเลขาธิการองค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ (SCO) ได้กล่าวแสดงความยินดีกับนายอเล็กซานเดอร์ ลูกาเชนโก สำหรับชัยชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดี “ผมขอแสดงความยินดีกับคุณในนามของภารกิจของเราของผู้สังเกตการณ์ขององค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้เกี่ยวกับชัยชนะที่น่าเชื่อ เราคุ้นเคยกับข้อมูลของคณะกรรมการการเลือกตั้งกลางเบลารุสแล้ว ในส่วนของเรา เราถือว่าคำเชิญให้เข้าร่วมสังเกตการณ์การเลือกตั้ง อันเป็นสัญลักษณ์ของการเปิดกว้างของรัฐเบลารุสต่อการสังเกตจากภายนอก ความไว้วางใจ และความเคารพต่อความร่วมมือขององค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้"

นายบากิตชาน ซาจินเทเยฟ หัวหน้าคณะกรรมการอีอีซีได้มีสาสน์แสดงความยินดีกับนายอเล็กซานเดอร์ ลูกาเชนโก สำหรับชัยชนะในการเลือกตั้ง “ผมเชื่อว่าประสบการณ์หลายปีของคุณในการปกครองรัฐจะยังคงมีส่วนสนับสนุนความสำเร็จทางเศรษฐกิจของสาธารณรัฐเบลารุสและการพัฒนากระบวนการบูรณาการในทวีปเอเชีย”

นายอิมังกาลี ทัสมากัมเบตอฟ เลขาธิการองค์การสนธิสัญญาความมั่นคงร่วม (CSTO) แสดงความมั่นใจว่าภายใต้การนำของนายอเล็กซานเดอร์ ลูกาเชนโก เบลารุสจะยังคงมีส่วนสำคัญต่อกระบวนการบูรณาการ เสริมสร้างเสถียรภาพในพื้นที่ยูเรเซียอันกว้างใหญ่ และกระชับความสัมพันธ์พันธมิตรให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้นภายในกรอบขององค์การสนธิสัญญาความมั่นคงร่วม

พระสังฆราชคิริลล์แสดงความยินดีกับนายอเล็กซานเดอร์ ลูกาเชนโก สำหรับชัยชนะของเขาในการเลือกตั้งประธานาธิบดี “ เป็นเรื่องน่ายินดีที่ในพันธกิจที่ยากลำบากของคุณ คุณมักจะให้ความสนใจอย่างมากต่อสถานะทางจิตวิญญาณและศีลธรรมของสังคมและการสนับสนุนค่านิยมของครอบครัวแบบดั้งเดิม” พระสังฆราชตั้งข้อสังเกต เขาแสดงความหวังในการพัฒนาปฏิสัมพันธ์ระหว่างหน่วยงานภาครัฐของประเทศกับคริสตจักรออร์โธดอกซ์เบลารุส

นายชาห์บาซ ชารีฟ นายกรัฐมนตรีปากีสถานได้ส่งสาสน์แสดงความยินดีกับนายอเล็กซานเดอร์ ลูกาเชนโก สำหรับชัยชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดี ในข้อความแสดงความยินดี ยังกล่าวถึงประวัติศาสตร์อันยาวนานของความสัมพันธ์ฉันมิตรระหว่างปากีสถานและเบลารุส และแสดงความหวังว่าจะทำงานร่วมกันต่อไปเพื่อกระชับความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ตามที่เขาพูด ความร่วมมือกำลังพัฒนาในด้านต่างๆ รวมถึงการค้า การศึกษา และวัฒนธรรม และมีความสนใจที่จะสำรวจโอกาสในการขยายความร่วมมือในด้านอื่นๆ

ประธานาธิบดีคีร์กีซสถานได้กล่าวแสดงความยินดีกับนายอเล็กซานเดอร์ ลูกาเชนโกทางโทรศัพท์ถึงชัยชนะอย่างถล่มทลายในการเลือกตั้ง ผู้นำของทั้งสองประเทศยืนยันถึงปฏิสัมพันธ์และความสนใจในเบลารุส-คีร์กีซในระดับสูงในการขยายความร่วมมือที่เป็นประโยชน์ร่วมกันต่อไป

ประธานาธิบดีคนแรกของคาซัคสถาน นายนูร์สุลต่าน นาซาร์บาเยฟ ได้แสดงความยินดีกับลูคาเชนโกสำหรับชัยชนะในการเลือกตั้ง นายอเล็กซานเดอร์ ลูกาเชนโกยังขอบคุณ นายนูร์สุลต่าน นาซาร์บาเยฟอย่างอบอุ่นสำหรับคำพูดและความปรารถนาดีของเขา ประธานาธิบดีเวียดนามแสดงความยินดีกับนายอเล็กซานเดอร์ ลูกาเชนโกสำหรับชัยชนะในการเลือกตั้ง “เวียดนามติดตามและสังเกตอย่างใกล้ชิดด้วยความพึงพอใจเสมอถึงความสำเร็จที่ชาวเบลารุสได้รับภายใต้การนำของคุณในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมและการเสริมสร้างสถานะระหว่างประเทศของประเทศ เวียดนามให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อการเสริมสร้างและพัฒนามิตรภาพแบบดั้งเดิมกับเบลารุสและเชื่อมั่นเช่นนั้น ด้วยความมุ่งมั่นของผู้นำและประชาชนของทั้งสองประเทศ ความร่วมมือหลายแง่มุมระหว่างเวียดนามและเบลารุสจะยังคงให้ผลลัพธ์มากยิ่งขึ้นในนามของผลประโยชน์ร่วมกันของประชาชนทั้งสอง ในนามของสันติภาพ เสถียรภาพ และการพัฒนาใน ภูมิภาคและโลก”

ประธานาธิบดีเติร์กเมนิสถานแสดงความยินดีกับนายอเล็กซานเดอร์ ลูกาเชนโกสำหรับชัยชนะของเขาและแสดงความมั่นใจในการพัฒนาความสัมพันธ์กับเบลารุส “เติร์กเมนิสถานให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาความร่วมมือทวิภาคีต่อไป ซึ่งตามธรรมเนียมแล้วตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเสมอภาค การเคารพซึ่งกันและกัน และความไว้วางใจ ผมเชื่อมั่นอย่างลึกซึ้งว่าภายใต้การนำที่ชาญฉลาดและมองการณ์ไกลของคุณ สาธารณรัฐเบลารุสจะประสบความสำเร็จมากยิ่งขึ้น ความสำเร็จและความสัมพันธ์ระหว่างรัฐของเราจะก้าวไปสู่ระดับใหม่เชิงคุณภาพ”

ประธานาธิบดีนิการากัวนายโฮเซ่ แดเนียล ออร์เทกา ซาเวดราและรองประธานาธิบดี โรซาริโอ มูริลโล สงสาสน์แสดงความยินดีกับประธานาธิบดีนายอเล็กซานเดอร์ ลูกาเชนโกเนื่องในโอกาสได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง "เรามีความสุขและภาคภูมิใจในความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิด เป็นพี่น้องกัน และในการปฏิวัติ เราขอแสดงความยินดีกับคุณในชัยชนะครั้งประวัติศาสตร์นี้ในบริบทของความปรารถนา เป้าหมาย และการประนีประนอมในนามของสันติภาพ ความเจริญรุ่งเรือง และความเจริญรุ่งเรืองของสิทธิ ยืนยันว่าคุณเป็นประธานาธิบดีของกลุ่มคนที่กล้าหาญของคุณ และยังคงมีบทบาทสำคัญในการต่อสู้เพื่อโลกแห่งความยุติธรรม ภราดรภาพ และความเคารพที่มีหลายขั้ว”

ประธานาธิบดีอเล็กซานเดอร์ ลูคาเชนโก แห่งเบลารุส ยังได้รับสาสน์แสดงความยินดีจากประธานาธิบดีเซอร์เบีย อเล็กซานดาร์ วูซิช ในโอกาสที่เขาได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดี “ในนามของพลเมืองของสาธารณรัฐเซอร์เบียและในนามของข้าพเจ้าเอง ผมขอแสดงความยินดีกับคุณที่ได้รับการเลือกตั้งใหม่ในฐานะประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐเบลารุส และขอให้คุณมีสุขภาพแข็งแรงและประสบความสำเร็จในการบรรลุภารกิจที่รับผิดชอบของคุณ”

นอกจากนี้นายอเล็กซานเดอร์ ลูกาเชนโกยังได้รับสาสน์แสดงความยินดีในโอกาสแห่งชัยชนะในการเลือกตั้งจากประธานสภาบริหารแห่งรัฐเมียนมาร์ นายกรัฐมนตรีของประเทศเมียนมาร์ นายมิน อ่องลาย และนายเซลจ์กา ซีวิยาโนวิช ประธานรัฐสภาแห่งบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา นายดมิทรี เมดเวเดฟ หัวหน้าพรรรัสเซีย ยูไนเต็ด อดีตประธานาธิบดีสหพันธรัฐรัสเซีย ซึ่งกล่าวว่าพลเมืองของประเทศได้มอบความไว้วางใจให้ นายอเล็กซานเดอร์ ลูกาเชนโกดำรงตำแหน่งสูงสุดของรัฐบาลเป็นครั้งที่ 7 ติดต่อกัน ซึ่งบ่งบอกถึงการสนับสนุนอย่างกว้างขวางสำหรับนโยบายภายในประเทศและต่างประเทศในปัจจุบัน ผมมั่นใจว่ากิจกรรมของคุณจะยังคงมีส่วนร่วมในทุกวิถีทางที่เป็นไปได้ในการเสริมสร้างมิตรภาพและความร่วมมือที่หลากหลายระหว่างประเทศที่เป็นพี่น้องกันของเรา การบูรณาการที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นภายในรัฐสหภาพและสมาคมอื่น ๆ ในพื้นที่เอเชีย ผมขอให้คุณอเล็กซานเดอร์ ลูกาเชนโกที่รักมีสุขภาพที่ดี มีความสำเร็จใหม่ ๆ และสิ่งที่ดีที่สุด ผมขอให้คุณประสบความสำเร็จในทุกสิ่ง”

ยูเครนยอมรับแพ้รัสเซียแน่ หากสหรัฐระงับความช่วยเหลือ

(7 ก.พ.68) โวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ประธานาธิบดียูเครน ยอมรับว่าสถานการณ์ของประเทศอาจย่ำแย่ลงอย่างมาก หากสหรัฐฯ ยุติการให้ความช่วยเหลือทางทหารและการเงิน

คำกล่าวของเซเลนสกีมีขึ้นท่ามกลางความไม่แน่นอนเกี่ยวกับท่าทีของสหรัฐฯ ต่อยูเครน หลังจากที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ มีคำสั่งระงับโครงการสนับสนุนเงินทุนสำหรับต่างประเทศเกือบทั้งหมด

สำนักข่าว RT ของรัสเซียรายงานว่า สหรัฐฯ เป็นผู้สนับสนุนหลักของยูเครนตั้งแต่เกิดความขัดแย้งรุนแรงขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 โดยเมื่อเดือนที่แล้ว ทรัมป์ระบุว่าสหรัฐฯ ได้ใช้เงินไปแล้วกว่า 200,000 ล้านดอลลาร์ในการสนับสนุนยูเครน อย่างไรก็ตาม เซเลนสกีโต้แย้งว่าตัวเลขที่แท้จริงอยู่ที่ประมาณ 76,000 ล้านดอลลาร์

ระหว่างการให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ เซเลนสกียืนยันว่าความช่วยเหลือจากสหรัฐฯ ในขณะนี้ยังคงดำเนินต่อไปและยังไม่ถูกระงับ อย่างไรก็ตาม เขาไม่ได้กล่าวถึงแนวโน้มของมาตรการช่วยเหลือในอนาคต

“ผมไม่อยากคิดเลยว่าหากเราไม่ได้รับการสนับสนุนต่อไป สถานการณ์จะเป็นอย่างไร” เซเลนสกีกล่าว “แน่นอนว่าสิ่งนี้จะส่งผลกระทบต่อศักยภาพในการป้องกันประเทศของเราอย่างรุนแรง และผมไม่มั่นใจว่าเราจะสามารถรับมือได้หรือไม่”

อดีตนักวิเคราะห์จับตาประชุมริยาดจุดชนวนยุโรประส่ำ สหรัฐฯ ถอย เปิดทางดีลรัสเซียยุติสงครามยูเครน

(19 ก.พ.68) เจ้าหน้าที่ระดับสูงของทั้งฝ่ายรัสเซียและสหรัฐฯ กำลังอยู่ระหว่างหารือพบปะกันที่กรุงริยาด เมืองหลวงของซาอุดิอาระเบีย เพื่อหาแนวทางยุติความขัดแย้งในยูเครน ซึ่งกำลังใกล้จะครบรอบ 3 ปี ที่ทั้งรัสเซียและยูเครนต่างเปิดฉากสงครามกัน ซึ่งประเด็นดังกล่าว ทางสำนักข่าว Sputnik ได้สัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญอิสระด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของสหรัฐฯ เพื่อวิเคราะห์สถานการณ์นี้   

โดยนาย ไมเคิล มาโลฟ อดีตนักวิเคราะห์นโยบายความมั่นคงระดับสูงของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ เผยกับสื่อรัสเซียว่า ที่ผ่านมาแนวทางที่ยุโรปและยูเครนต้องการ ซึ่งก็คือการเอาชนะรัสเซียในสนามรบเพื่อยุติสงครามตัวแทนครั้งนี้ แต่แนวทางดังกล่าวได้พิสูจน์แล้วว่าไม่ได้ผล และพวกเขาก็ไม่สามารถปกป้องตนเองได้ นั่นทำให้มองได้ว่าหลังจากที่สหรัฐเปลี่ยนรัฐบาลสู่ยุคประธานาธิบดีทรัมป์ พร้อมกับมีการประชุมที่ริยาดอาจเป็นสัญญาณของการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในภูมิรัฐศาสตร์โลก  

"ผมมองว่านี่อาจเป็นจุดเริ่มต้นของจุดจบของ NATO" มาโลฟกล่าว "ในที่สุด เราอาจได้เห็นยุโรปเปลี่ยนไปใช้ระบบพันธมิตรด้านกลาโหมระดับภูมิภาคแทนที่จะคงโครงสร้างองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (NATO) ที่มีสมาชิก 32 ประเทศ ซึ่งแทบจะไม่สามารถตัดสินใจเป็นเอกฉันท์ในเรื่องใด ๆ ได้เลย"

มาโลฟวิเคราะห์ว่าการประชุมที่ริยาดสะท้อนให้เห็นการยอมรับความจริงของสหรัฐฯ ในหลายประเด็น ได้แก่  

1.  ไม่ใช่ยุโรปหรือรัฐบาลเซเลนสกี ที่จะมีหน้าที่เป็นตัวแสดงหลักที่มีบทบาทสำคัญต่อการยุติสงครามในยูเครน แต่คือรัสเซียและสหรัฐฯ จะเป็นผู้ชี้ชะตาในเรื่องนี้

2. วอชิงตันกำลังหันกลับมาใช้แนวคิดเรื่อง 'ขอบเขตอิทธิพล' แทนที่จะเดินหน้าสร้างระเบียบโลกแบบขั้วเดียวต่อไป  

3. สหรัฐฯ ไม่ต้องการเป็นผู้สนับสนุนสงครามของยุโรปอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่ออดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ หันมาให้ความสำคัญกับซีกโลกตะวันตกมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นกรีนแลนด์ ปานามา หรือแคนาดา แทนที่จะมุ่งเน้นไปที่ยุโรป  

"ทรัมป์ต้องการฟื้นฟูความสัมพันธ์ที่แตกร้าวกับมอสโก และมองว่ารัสเซียเป็นคู่เจรจาที่เท่าเทียมกัน ไม่ใช่ฝ่ายที่สหรัฐฯ จะพูดจาสั่งสอนเครมลินเหมือนที่รัฐบาลไบเดนทำ" นักวิเคราะห์กล่าว  

นอกจากนี้ ทรัมป์ในฐานะนักธุรกิจ ยังตระหนักว่าสหรัฐฯ ไม่สามารถทำสงครามทั่วโลกได้ และควรใช้แนวทางแข่งขันทางเศรษฐกิจและความร่วมมือมากกว่าการเผชิญหน้า  

สำหรับยุโรป มาโลฟมองว่ายุโรปกำลังเผชิญกับผลกระทบจากการตัดสินใจของตนเอง "พวกเขาทำลายเศรษฐกิจตัวเองโดยการตัดขาดพลังงานราคาถูกจากรัสเซีย ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรม คุณภาพชีวิต และขีดความสามารถในการผลิตของตัวเอง ประชาชนในประเทศเหล่านี้เริ่มตั้งคำถามแล้วว่าผู้นำของพวกเขากำลังทำอะไรอยู่"

มาโลฟสรุปว่า ขณะที่ชนชั้นนำของยุโรปยังคงเดินหน้าในแนวทางที่เป็นผลเสียต่อประชาชน เสียงสะท้อนจากสังคมอาจเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้ยุโรปต้องทบทวนแนวทางของตนเองใหม่

‘อ.เจษฎา’ ฟาดใส่!! ‘ทรัมป์’ คนโง่เท่านั้น ที่บอกว่า ‘ยูเครน’ เริ่มสงครามก่อน ชี้!! ‘รัสเซีย’ บุกรุกรานเข้ายึด ‘ไครเมีย’ ของยูเครน ตั้งแต่ปี 2014 แล้ว

(22 ก.พ. 68) รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า …

เห็นด้วยตามนั้นครับ ‘คนโง่เท่านั้น ที่บอกว่า ยูเครนเริ่มสงครามก่อน’

สิ่งที่เกิดขึ้นจริงก็คือ รัสเซียบุกรุกรานเข้ายึดไครเมียของยูเครนได้สำเร็จไปรอบนึงแล้ว ตั้งแต่ปี 2014 .. และปี 2022 นี้ ก็ยกกำลังเข้ามาบุกรุกราน จนจะถึงเมือง เคียฟ อยู่แล้ว ด้วยความตั้งใจที่จะยึดประเทศให้ได้ใน 3 วัน (แต่ 3 ปีแล้ว ก็ยังคืบหน้าไปได้ไม่เยอะ)

ส่วนที่บางคนอ้างถึงสนธิสัญญามินซ์ อ้างว่ายูเครนทำผิดที่คิดจะเข้าเนโต้ .. จริงๆในสนธิสัญญา ไม่ได้มีเขียนระบุ เรื่องที่บอกว่าเนโต้จะไม่ขยายพื้นที่ ไม่มีเขียนระบุว่ายูเครนห้ามเข้า nato 

และที่ผ่านมาก็มีหลายชาติที่เคยเป็นสมาชิกสหภาพโซเวียต และมีพรมแดนติดกับประเทศรัสเซีย ก็เข้าร่วมเนโต้ไปตั้งนานแล้ว แต่ไม่ถูกรุกราน ไม่ถูกหาเรื่องจากรัสเซีย 

คนที่ฉีกสัญญาจริง ๆ คือรัสเซียต่างหาก ที่ละเมิดสนธิสัญญาบูดาเปสต์ ให้ยูเครนยอมมอบอาวุธนิวเคลียร์ทั้งหมดที่มีให้กับรัสเซีย เพื่อแลกกับสันติภาพ และการันตีว่าจะไม่บุกรุกราน แต่ปูตินก็ฉีกสัญญานั้น

สุดท้ายคือ เลิกโทษคนยูเครนหรือประธานาธิบดียูเครน ที่พยายามต่อสู้รักษาเอกราชของประเทศตน ได้แล้ว อันนั้นมันคือการ blame victim การไปโทษเหยื่อ ที่ขัดขืนคนร้ายขัดขืนฆาตกร จนถูกทำร้ายหรือเสียชีวิต 

สงครามเลวร้ายนี้หยุดได้อย่างรวดเร็ว เพียงแค่ปูตินยอมถอนทัพกลับไปประเทศตัวเอง ซึ่งนานาชาติต้องร่วมกันผลักดันให้เห็นว่าเขาคิดผิดที่ก่อสงครามนี้


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top