Tuesday, 20 May 2025
ปูติน

‘ปูติน-ทรัมป์’ ไม่ร่วมวงเจรจาสันติภาพที่อิสตันบูล ทิ้ง ‘เซเลนสกี’ ผู้นำยูเครนผิดหวัง…มองรัสเซียไม่จริงใจ

(16 พ.ค. 68) แผนการเจรจาสันติภาพระหว่างผู้นำยูเครนและรัสเซียในนครอิสตันบูล ประเทศตุรกี เมื่อวันพฤหัสบดีต้องล่มไม่เป็นท่า หลังประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย และโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ ตัดสินใจไม่เข้าร่วม แม้ก่อนหน้านี้ปูตินเคยส่งสัญญาณว่า “พร้อมเจรจาโดยไม่มีเงื่อนไข” ขณะที่ทรัมป์กดดันให้ยูเครนเข้าร่วมการพูดคุยทันที

ประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี แห่งยูเครนระบุว่าเขาจะยินดีเข้าร่วมก็ต่อเมื่อผู้นำรัสเซียเข้าร่วมด้วยตนเอง แต่สุดท้ายรายชื่อของปูตินไม่ปรากฏในคณะผู้แทนของรัสเซีย โดยมีเพียงวลาดิมีร์ เมดินสกี ผู้ช่วยประธานาธิบดีเป็นหัวหน้าคณะ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ระดับรองของกระทรวงกลาโหมและการต่างประเทศ

เซเลนสกี แสดงความผิดหวังพร้อมกับเผยว่า ระดับของคณะผู้แทนรัสเซียสะท้อนว่ามอสโกว์ยังไม่จริงใจ และตั้งคำถามถึงอำนาจในการตัดสินใจของตัวแทนดังกล่าว “เราทุกคนรู้ว่าใครเป็นคนตัดสินใจในรัสเซีย” เขากล่าว พร้อมเสริมว่าคณะผู้แทนของยูเครนประกอบด้วยรัฐมนตรีต่างประเทศ เจ้าหน้าที่ข่าวกรองทหาร และที่ปรึกษาประธานาธิบดี

ด้านสหรัฐฯ ส่งตัวแทนระดับสูง ได้แก่ สตีฟ วิตคอฟ, คีธ เคลล็อก และรัฐมนตรีต่างประเทศ มาร์โก รูบิโอ เข้าร่วมการเจรจาแทนทรัมป์ โดยก่อนหน้านี้ทรัมป์ได้โพสต์เรียกร้องให้ยูเครน “มีการเจรจาเดี๋ยวนี้” เพื่อให้รู้แน่ชัดว่า ข้อตกลงสันติภาพเป็นไปได้หรือไม่ และให้ชาติตะวันตกเตรียมรับมือในทุกกรณี

ถอดรหัส ‘ปูติน’ ปฏิเสธพบ ‘เซเลนสกี’ ที่อิสตันบูล เหตุเพราะรัสเซียมองยูเครนเป็น 'รัฐหุ่นเชิด' ของตะวันตก

นับตั้งแต่การรุกรานยูเครนโดยสหพันธรัฐรัสเซียในปี ค.ศ. 2022 เป็นต้นมา กระบวนการเจรจาสันติภาพยังคงไม่สามารถบรรลุผลในระดับสูงสุดได้ หนึ่งในจุดเปลี่ยนที่สำคัญคือการปฏิเสธของประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูตินที่จะพบกับประธานาธิบดีโวโลดีมีร์ เซเลนสกีแห่งยูเครน ณ กรุงอิสตันบูลซึ่งเสนอโดยตุรกีในฐานะตัวกลางแต่คำตอบจากมอสโกกลับชัดเจน "ไม่มีเหตุผลที่ต้องพบ" ประธานาธิบดีเซเลนสกีเคยกล่าวไว้ในการให้สัมภาษณ์กับ The Economist ว่า ผมพร้อมเจรจากับปูติน ผมพร้อมมานานสองปีแล้วและผมเชื่อว่า หากไม่เจรจากันเราจะไม่สามารถยุติสงครามนี้ได้ ขณะที่อีกด้านหนึ่ง ประธานาธิบดีปูตินตอบโต้ผ่านการให้สัมภาษณ์กับสื่อรัสเซียในช่วงปี 2022 ว่า 

“ไม่มีอะไรต้องพูดคุยกับคนที่อยู่ภายใต้การควบคุมของวอชิงตัน หากยูเครนอยากเจรจาพวกเขาต้องแสดงให้เห็นก่อนว่ามีอำนาจตัดสินใจเป็นของตนเอง” การปฏิเสธครั้งนั้นไม่เพียงเป็นการปิดประตูเจรจา หากยังเผยให้เห็นภาพใหญ่ของสงครามที่ใหญ่กว่ายูเครน — สงครามเพื่อกำหนดระเบียบโลกใหม่ (global order) สงครามแห่งอัตลักษณ์ (identity war) และสงครามของการรับรองความชอบธรรม (legitimacy war) การตัดสินใจของปูตินไม่ใช่เพียงการคำนวณทางยุทธศาสตร์ในสนามรบ หากยังเป็นคำประกาศเชิงอุดมการณ์ว่า รัสเซียจะไม่ยอมเจรจากับสิ่งที่ตนมองว่าเป็น “รัฐหุ่นเชิด” ของตะวันตก บทความนี้จึงมุ่งวิเคราะห์การปฏิเสธครั้งประวัติศาสตร์ของผู้นำรัสเซียผ่านกรอบภูมิรัฐศาสตร์ อำนาจเชิงสัญลักษณ์และจิตวิทยาผู้นำ พร้อมผนวกบทวิเคราะห์จาก Pyotr Kozlov ผู้สื่อข่าวรุ่นใหญ่แห่ง The Moscow Times ที่ชี้ให้เห็นว่าเครมลินใช้การเจรจาเป็นเพียง 'กลยุทธ์ซื้อเวลา' (playing for time) มากกว่าความตั้งใจจริงในการหาทางออกทางการทูตแล้วเราจะเข้าใจว่า "ไม่พบ" นั้น หมายถึงอะไรที่ลึกซึ้งกว่าคำว่า "ไม่พร้อม"

1) เมื่อวิเคราะห์ด้วยกรอบทางภูมิรัฐศาสตร์จะพบว่ารัสเซียกับยูเครนอยู่บนภูมิรัฐศาสตร์ของความไม่เท่าเทียม รัสเซียไม่มองยูเครนเป็นรัฐอิสระสมบูรณ์ ในสายตาของมอสโกยูเครนไม่ใช่รัฐเอกราชหากเป็น “ดินแดนหลงทาง” ที่เคยอยู่ในครรลองของจักรวรรดิรัสเซียและยังคงถูกผูกโยงกับโครงสร้างอำนาจและอัตลักษณ์เชิงประวัติศาสตร์ของรัสเซียอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ แนวคิดนี้ฝังลึกในจิตสำนึกภูมิรัฐศาสตร์ของเครมลิน โดยเฉพาะในยุคของวลาดิมีร์ ปูติน ผู้ซึ่งเคยกล่าวไว้ว่าชาวยูเครนและชาวรัสเซียคือประชาชนชาติเดียวกัน... ยูเครนคือรัฐที่ถูกสร้างขึ้นเทียม ๆ ประโยคนี้ไม่ใช่คำพูดเล่น ๆ หากเป็นการกำหนด “ฐานคิด” ทางภูมิรัฐศาสตร์ของรัสเซียที่มองความสัมพันธ์กับยูเครนผ่านกรอบของอารยธรรมร่วม (civilizational unity) มากกว่าจะยอมรับความเป็น “เพื่อนบ้านอธิปไตย” นี่คือรากเหง้าของแนวคิดความไม่เท่าเทียม (asymmetric geopolitics) ที่ทำให้การเจรจาระหว่างรัสเซียกับยูเครนแทบจะเป็นไปไม่ได้เพราะมันไม่ใช่การพูดคุยระหว่างสองรัฐที่เท่าเทียมกัน แต่เป็นการ “กำหนดชะตา” ของดินแดนที่ถูกเครมลินมองว่ายังอยู่ภายใต้อิทธิพลที่ชอบธรรมของรัสเซีย ในสายตาของปูตินการนั่งเจรจากับเซเลนสกีจึงเป็นเรื่อง “น่าอับอาย” พอ ๆ กับการยอมรับว่ารัสเซียต้องขอความเห็นชอบจากใครสักคนก่อนจะจัดระเบียบ “พื้นที่หลังบ้าน” ของตนเอง ยิ่งไปกว่านั้นยังเป็นการเปิดช่องให้ยอมรับอัตลักษณ์ของยูเครนในฐานะ “ชาติแยกขาด” ซึ่งเป็นสิ่งที่สวนทางกับแนวคิดจักรวรรดิใหม่ของรัสเซียอย่างรุนแรง

ภูมิรัฐศาสตร์ของรัสเซียในศตวรรษที่ 21 ถูกขับเคลื่อนด้วยความพยายามฟื้นฟู “อิทธิพลเหนือพื้นที่หลังโซเวียต” (post-Soviet space) โดยมียูเครนเป็นเสาหลักของอัตลักษณ์ทางภูมิรัฐศาสตร์นี้ หากยูเครนหลุดพ้นจากแรงโน้มถ่วงของรัสเซียไปอย่างสิ้นเชิงและกลายเป็นสมาชิกของ NATO หรือสหภาพยุโรปเมื่อไร—โครงสร้างอำนาจแบบ “โลกหลายขั้ว” ที่รัสเซียพยายามสถาปนาก็จะพังทลายลงในทันที การพบกับเซเลนสกีในฐานะ “ผู้นำที่เท่าเทียม” จึงเท่ากับการรับรองความชอบธรรมของรัฐบาลเคียฟ ซึ่งสวนทางกับกรอบความคิดหลักของรัสเซียว่ารัฐยูเครนปัจจุบันคือ puppet regime หรือรัฐบาลหุ่นเชิด ความลังเลในการยอมรับเซเลนสกีจึงเป็นผลโดยตรงจากกรอบความคิดแบบจักรวรรดินิยมใหม่ (neo-imperialism) ที่ยังฝังรากในอุดมการณ์ของผู้นำรัสเซีย โดยเฉพาะในยุทธศาสตร์ “Russian World” (Russkiy Mir) ซึ่งมองว่าดินแดนยูเครนเป็นพื้นที่ที่ควรถูกดึงกลับเข้าสู่อิทธิพลของมอสโกอีกครั้ง กล่าวโดยสรุป การปฏิเสธของปูตินที่จะนั่งโต๊ะเจรจากับเซเลนสกีจึงไม่ใช่เพียงการปฏิเสธข้อเสนอเพื่อสันติภาพแต่เป็นการยืนยันอย่างแข็งกร้าวว่า รัสเซียไม่เคยและจะไม่ยอมรับว่ายูเครนคือ “รัฐเอกราชที่มีอำนาจเทียบเท่า” หากเป็นเพียงภูมิภาคหนึ่งของโลกที่ต้องอยู่ภายใต้ร่มเงาของจักรวรรดิรัสเซียใหม่เท่านั้น

2) เป็นกลยุทธ์การถ่วงเวลา การไม่พบเพื่อซื้อเวลาและปรับแต้มต่อให้กับทางรัสเซีย ในโลกของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ “การเจรจา” อาจไม่ใช่การเดินหน้าเพื่อหาทางออกแต่อาจเป็น “การถ่วงเวลา” เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับเกมที่ใหญ่กว่า สำหรับรัสเซียภายใต้การนำของวลาดิมีร์ ปูติน โต๊ะเจรจาไม่ใช่ที่สำหรับสร้างสันติภาพ แต่เป็นสนามประลองเชิงจิตวิทยาที่สามารถใช้เปลี่ยนจังหวะรุกให้เป็นจังหวะตั้งรับ ตั้งรับเพื่อเก็บข้อมูล ตั้งรับเพื่อพักฟื้นยุทธศาสตร์ และตั้งรับเพื่อรุกกลับอย่างทรงพลังในจังหวะถัดไป การปฏิเสธจะพบกับเซเลนสกีในกรุงอิสตันบู ไม่ใช่การปฏิเสธเพราะไร้เหตุผล แต่เป็น “การปฏิเสธเชิงยุทธศาสตร์” ที่มาพร้อมกับการคำนวณอย่างแม่นยำ หากพบกันตอนนี้รัสเซียยังไม่อยู่ในตำแหน่งที่จะได้เปรียบเพียงพอ ดังนั้นจึงยังไม่ควรเล่นไพ่ใบนี้แนวคิดนี้คือการเล่นกับเวลา (strategic temporality) ซึ่งเป็นกลยุทธ์คลาสสิกในสงครามและการทูตแบบมหาอำนาจ โดยเฉพาะเมื่อฝ่ายหนึ่งต้องการเปลี่ยน “สภาพแวดล้อมเชิงอำนาจ” (power environment) ให้เป็นประโยชน์ต่อฝั่งตนเองมากขึ้นเสียก่อน เช่น การรอให้อาวุธจากตะวันตกส่งไปถึงยูเครนล่าช้า การสร้างความแตกแยกในกลุ่ม NATO หรือแม้แต่การผลักความเหนื่อยล้าเข้าสู่ฝ่ายประชาชนยูเครนผ่านสงครามที่ยืดเยื้อ กล่าวอีกนัยหนึ่ง ปูตินอาจไม่ได้ปฏิเสธการเจรจาโดยสิ้นเชิง แต่เขาปฏิเสธ “จังหวะนี้” เพราะยังไม่ใช่เวลาที่เขาได้เปรียบมากพอ 

นี่คือสิ่งที่ Pyotr Kozlov เรียกว่า “the diplomacy of delay” การทูตที่ไม่ได้หวังข้อตกลง แต่หวังให้เวลาทำงานแทน การไม่พบจึงไม่ใช่ความล้มเหลวของการทูต แต่มันคือ “การใช้การทูตเป็นเครื่องมือในการทำสงครามแบบไม่ใช้กระสุน” หรืออีกนัยหนึ่งคือ โต๊ะเจรจากลายเป็นสนามเพาะกล้าแห่งความสับสน ที่จะเบ่งบานเป็นความได้เปรียบในสนามรบ ดังนั้นถ้าเซเลนสกีเรียกร้องให้พบหน้า ปูตินอาจไม่ได้หวั่น แต่เขาจะถามกลับว่า—"ทำไมต้องรีบ? ในเมื่อเวลาทำงานให้รัสเซียอยู่แล้ว"

3) การเมืองภายใน การแสดงถึงความเข้มแข็งของผู้นำกับความชอบธรรมในสายตาประชาชน สำหรับวลาดิมีร์ ปูตินการเมืองระหว่างประเทศไม่เคยแยกขาดจากการเมืองภายในประเทศหากแต่เป็นกระจกสะท้อน “ภาพลักษณ์ของผู้นำ” ที่ต้องแกร่ง แน่น และแน่วแน่ “ไม่มีวันอ่อนข้อ ไม่มีวันอ่อนแอ” โดยเฉพาะในห้วงเวลาที่ระบอบการปกครองของเขากำลังเผชิญความท้าทายจากแรงต้านภายใน ทั้งเศรษฐกิจที่บีบคั้นจากมาตรการคว่ำบาตรและความล้าจากสงครามที่ยืดเยื้อยาวนานเกินกว่าที่โฆษณาชวนเชื่อของรัฐจะกลบได้ทั้งหมด การพบกับเซเลนสกีในโต๊ะเจรจา ณ กรุงอิสตันบูล จึงไม่ใช่แค่เรื่องนโยบายต่างประเทศแต่คือเกมเดิมพันภาพลักษณ์ของผู้นำสูงสุดที่ต้อง “แข็งกร้าวพอที่จะไม่ต่อรองกับศัตรูที่ด้อยกว่า” ในสายตาของรัฐเครมลิน “ถ้าจะคุยก็ต้องคุยกับวอชิงตัน ไม่ใช่กับหุ่นเชิดในเคียฟ” 

ซึ่งเป็นคำกล่าวไม่เป็นทางการของเจ้าหน้าที่รัสเซียรายหนึ่งที่หลุดออกมาทางสื่อ ซึ่งสะท้อนจุดยืนว่า เซเลนสกีไม่มีน้ำหนักเพียงพอที่จะได้ “เกียรติ” มานั่งโต๊ะกับปูตินในจิตสำนึกของระบอบอำนาจนิยมแบบรัสเซีย ความชอบธรรม (legitimacy) ไม่ได้มาจากกระบวนการเลือกตั้งเพียงอย่างเดียว แต่มาจากการ “แสดงให้เห็นว่าผู้นำคือผู้ปกป้องชาติ” โดยไม่ยอมก้มหัวต่อแรงกดดันใด ๆ ไม่ว่าจะเป็นตะวันตกหรือตัวแทนจากยูเครน เพราะการที่ปูตินจะ “พบหน้า” กับเซเลนสกี หมายถึงการยอมรับอีกฝ่ายว่าอยู่ในสถานะเท่าเทียม และนั่นคือภาพที่อาจทลายความชอบธรรมที่เขาสร้างมาตลอดกว่า 20 ปี ยิ่งไปกว่านั้นในบริบทของรัสเซียหลังปี ค.ศ. 2022 ความเข้มแข็งของปูตินไม่ได้ถูกวัดจากผลลัพธ์ของสงครามเท่านั้นแต่ยังวัดจากท่าทีเชิงสัญลักษณ์ เช่น การปฏิเสธไม่พบ การไม่เดินทางไปเจรจา หรือแม้แต่การปล่อยข่าวลือเรื่องการเจรจาที่ไม่เคยเกิดขึ้นจริง เพื่อรักษาอำนาจเชิงวาทกรรมไว้กับเครมลินเพียงฝ่ายเดียว ในโลกของเครมลิน “การไม่พูด” อาจดังกว่า “การพูด” และการ “ไม่พบ” ก็อาจทรงพลังยิ่งกว่าการ “พบแล้วแพ้”

4) รัสเซียมองว่าอิสตันบูลเป็นพื้นที่กึ่งกลางที่ไม่เป็นกลาง ในทางภูมิรัฐศาสตร์ “เมือง” ไม่ได้เป็นเพียงจุดบนแผนที่ หากแต่คือ “สัญลักษณ์” ของอำนาจ วาระ และตำแหน่งทางการเมือง อิสตันบูลเป็นเมืองแห่งสองทวีปและอดีตศูนย์กลางของจักรวรรดิออตโตมัน แม้ดูเหมือนจะเป็นพื้นที่เจรจาที่ “กึ่งกลาง” ระหว่างตะวันตกกับตะวันออก แต่สำหรับรัสเซียแล้วอิสตันบูลไม่เคยเป็นกลางและไม่เคย “ว่างเปล่าจากความหมายทางอำนาจ” ทำไมปูตินจึงไม่อยากเจรจาในอิสตันบูล? คำตอบอยู่ในประวัติศาสตร์ ความรู้สึกและกลยุทธ์ที่ซ่อนอยู่ใต้โต๊ะเจรจา ในสายตาของเครมลินอิสตันบูลคือเวทีของตะวันตกในคราบตะวันออกเป็นพันธมิตร NATO ที่แฝงความไม่ไว้ใจ เป็นประเทศที่แม้จะ “ไม่คว่ำบาตรรัสเซียแบบเปิดหน้า” แต่กลับเปิดประตูให้อาวุธตะวันตกเดินทางเข้าสู่ยูเครนทางอ้อม และที่สำคัญคือ ผู้ที่สนับสนุน Bayraktar TB2 โดรนรบที่ยูเครนใช้โจมตีเป้าหมายของรัสเซีย อย่างได้ผลในช่วงต้นสงคราม นอกจากนี้ตุรกีเองก็เล่นเกมสองหน้าในแบบ “เออร์โดกันสไตล์” ที่พร้อมจะเจรจากับทุกฝ่ายเพื่อประโยชน์เชิงยุทธศาสตร์ของตน ไม่ว่าจะเป็นข้อตกลงธัญพืชยูเครน (Black Sea Grain Deal) หรือการเสนอเป็นคนกลางในการปล่อยเชลยศึก 

ซึ่งรัสเซียมองว่าตุรกีไม่ได้เป็นกลาง แต่คือผู้หวังผลจากการสวมบทกลาง “To sit in Istanbul is to play Erdogan’s game.” นี่คือคำพูดที่นักวิเคราะห์การเมืองรัสเซียคนหนึ่งกล่าวไว้แบบตรงไปตรงมา อิสตันบูลจึงกลายเป็น “พื้นที่ที่ดูเหมือนกลาง แต่ไม่เคยกลางจริง” เป็นเหมือนสนามแข่งขันที่วางกับระเบิดทางการเมืองไว้ใต้โต๊ะ สำหรับปูตินการเลือกสถานที่เจรจาคือการเลือก “สัญญะของอำนาจ” และเขาไม่มีวันยอมเสียแต้มด้วยการไปปรากฏตัวในสถานที่ซึ่งอาจถูกตีความว่าเป็น “สนามของอีกฝ่าย” ไม่ว่าจะโดยภาพถ่าย การแถลงข่าว หรือข่าวกรองที่เล็ดลอดออกมา เพราะแค่ปรากฏตัวก็อาจตีความได้ว่าอ่อนข้ และในสงครามที่เดิมพันด้วยศักดิ์ศรีชาติ เรื่องแบบนี้คือสิ่งที่เครมลินรับไม่ได้ อิสตันบูลจึงไม่ใช่พื้นที่แห่งความหวังในสายตาของรัสเซีย แต่มันคือเวทีที่ “ข้างหนึ่งหวังจะเจรจา ขณะที่อีกฝ่ายหวังจะซื้อเวลา” และนั่นทำให้โต๊ะเจรจาไม่มีวันเกิดขึ้นจริงแม้จะปูพรมไว้พร้อมแล้วก็ตาม

5) สงครามที่ใหญ่กว่ายูเครน การประลองเชิงอารยธรรมและโครงสร้างโลก สงครามในยูเครนไม่ใช่แค่การยึดดินแดน ไม่ใช่แค่การแย่งเมือง ไม่ใช่แค่สงคราม “ชายแดน” แต่มันคือสงคราม “ชายขอบของระเบียบโลก” สงครามที่เปิดฉากขึ้นเพื่อท้าทายโครงสร้างโลกเสรีนิยมตะวันตกที่ปกครองโลกมานับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามเย็น ในมุมมองของเครมลิน ยูเครนไม่ใช่เพียงประเทศเพื่อนบ้าน แต่คือ “แนวหน้า” ของสงครามอารยธรรม  การต่อสู้ระหว่างอารยธรรมรัสเซียแบบยูเรเชีย (Eurasianism) กับอารยธรรมตะวันตกแบบแองโกล-แซกซัน การเมืองของวลาดิมีร์ ปูตินไม่ใช่แค่เรื่องผลประโยชน์แห่งรัฐ แต่คือการฟื้นฟู “อารยธรรมรัสเซีย” ที่เขาเชื่อว่าตะวันตกพยายามจะบดขยี้ให้เหลือเพียงรอยจารึกในพิพิธภัณฑ์ “ยูเครนไม่ใช่เป้าหมายสุดท้าย แต่คือเวทีแรกของการรบที่ยิ่งใหญ่กว่านั้น” เป็นวาทกรรมที่สะท้อนออกมาจากทั้งสื่อรัฐและนักคิดสายภูมิรัฐศาสตร์ในรัสเซียอย่างชัดเจน การปฏิเสธที่จะพบกับเซเลนสกีจึงไม่ใช่แค่การดูแคลนเชิงบุคคลหรือการชะลอการเจรจาแต่มันคือการปฏิเสธที่จะ “ลดสงครามเชิงอารยธรรม” ให้กลายเป็นแค่ข้อพิพาทระดับทวิภาคีเพราะในสายตาของปูตินและวงการนโยบายรัสเซีย ยูเครนไม่ใช่ผู้เล่นที่แท้จริงแต่อเมริกาต่างหากคือศัตรูที่เขากำลังประจันหน้า และในเกมระดับนี้การนั่งโต๊ะกับเซเลนสกีเท่ากับลดระดับการต่อสู้ครั้งนี้ลงเป็นแค่ “ความขัดแย้งชายแดน” เท่านั้น 

ขณะเดียวกันโลกก็กำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านของระเบียบอำนาจ — จากโลกแบบขั้วเดียว (unipolarity) ที่อเมริกาครองอำนาจนำมาเป็นโลกแบบหลายขั้ว (multipolarity) ที่จีน รัสเซีย อินเดีย อิหร่า และกลุ่มประเทศโลกใต้เริ่มโผล่หัวขึ้นมาเรียกร้อง “อธิปไตยเชิงอารยธรรม” ของตนเอง รัสเซียไม่ใช่แค่พยายามเอาชนะยูเครน แต่กำลังขยับบทบาทตนในฐานะ “ทัพหน้าแห่งการต่อต้านโลกาภิวัตน์แบบตะวันตก”ดังนั้นโต๊ะเจรจาที่มีแค่เซเลนสกีจึงไม่ใหญ่พอสำหรับปูติน และไม่เพียงพอสำหรับ “โครงการฟื้นฟูรัสเซียในฐานะขั้วอำนาจโลก” ที่เขาหวังจะจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ สงครามนี้จึงไม่ได้เกี่ยวกับแผนที่ แต่เกี่ยวกับแบบแผนโลกไม่ใช่แค่เรื่องดินแดน แต่เป็นเรื่อง “ความหมายของการมีอยู่” ของอารยธรรมตะวันออกท่ามกลางโลกที่ตะวันตกเขียนบทมาตลอดศตวรรษ

ปีเตอร์ โคซลอฟ (Pyotr Kozlov) นักวิเคราะห์การเมืองอาวุโสแห่งหนังสือพิมพ์ The Moscow Times ให้ความเห็นในประเด็นนี้ว่าไม่ได้มองการเจรจาระหว่างรัสเซียกับยูเครนว่าเป็นความพยายามทางสันติภาพอย่างแท้จริง หากแต่เขาขยี้ให้เห็นชัดว่านี่คือ “สงครามอีกรูปแบบหนึ่งที่เงียบกว่า แต่อันตรายไม่แพ้สนามรบจริง” โดยเฉพาะเมื่อฝ่ายรัสเซียเป็นผู้ถือไพ่ในเกมนี้ Kozlov ชี้ว่าตั้งแต่ต้นสงครามรัสเซียไม่เคยตั้งใจเจรจาเพื่อยุติความขัดแย้งอย่างแท้จริงแต่กลับใช้ “การเจรจา” เป็นเครื่องมือในการเบี่ยงเบนความสนใจของฝ่ายตะวันตกและเป็นการซื้อเวลาให้กับกองทัพในการจัดระเบียบยุทธศาสตร์ใหม่ อีกทั้งยังใช้โต๊ะเจรจาเป็นพื้นที่ปฏิบัติการเชิงจิตวิทยาเพื่อปลูกฝังความหวังลม ๆ แล้ง ๆ ให้ยูเครนและชาติตะวันตกตายใจ 

สำหรับเครมลิน การเจรจาไม่เคยเป็นของจริง มันคือฉากบังหน้าเพื่อเบี่ยงแรงกดดันในขณะที่รัสเซียปรับยุทธศาสตร์ใหม่ การทูตที่แท้จริงได้ตายไปแล้ว สิ่งที่เหลืออยู่คือการแสดงสำหรับผู้ชมจากต่างประเทศ เขายังชี้ว่าเหตุผลที่ปูตินปฏิเสธจะพบเซเลนสกีไม่ใช่เพราะไม่สามารถพูดคุยกันได้ แต่เป็นเพราะ “การไม่พบ” นั้นทรงพลังกว่า “การพบ” หลายเท่า เพราะมันทำให้ยูเครนตกอยู่ในภาวะคลุมเครือ (strategic ambiguity) ไม่สามารถวางแผนระยะยาวได้ และบั่นทอนความชอบธรรมของเซเลนสกีในฐานะผู้นำที่มีสิทธิเจรจาโดยตรงกับรัสเซีย ยิ่งไปกว่านั้น Kozlov ยังชี้ให้เห็นว่า เครมลินไม่ได้มองเซเลนสกีในฐานะ “คู่เจรจา” แต่เป็นเพียง “ตัวแทน” ของตะวันตกเท่านั้น จึงไม่มีเหตุผลใดที่ปูตินจะต้องลดตัวลงไปนั่งโต๊ะเดียวกันกับผู้นำที่ถูกมองว่า “ไร้อำนาจตัดสินใจจริง” ในสายตาของมอสโก สิ่งที่ชัดเจนในบทวิเคราะห์ของโคซลอฟคือภาพของ “โต๊ะเจรจา” ในบริบทของรัสเซีย คือสนามที่รบด้วยถ้อยคำ บิดเบือนด้วยเวลา และสั่นคลอนด้วยการเล่นกับความหวังของฝ่ายตรงข้าม ยิ่งเครมลินลากเกมออกไปนานเท่าไร พันธมิตรของยูเครนก็จะเริ่มเหนื่อยล้า แตกแถว และหมดความอดทน นี่คือสงครามแห่งความอึดและจิตวิทยา ที่ปูตินรู้ดีว่าตนได้เปรียบในเกมยืดเยื้อ

บทสรุป การที่วลาดิมีร์ ปูตินปฏิเสธที่จะพบกับโวโลดีมีร์ เซเลนสกีในอิสตันบูลไม่ใช่การปฏิเสธเจรจาเฉพาะหน้า แต่คือการปฏิเสธ 'กรอบการรับรู้' ที่ตะวันตกพยายามจะวาดภาพสงครามให้กลายเป็นความขัดแย้งระหว่างสองรัฐ ทว่าในมุมมองของรัสเซียมันคือศึกชี้ชะตาแห่งอารยธรรมการต่อสู้เพื่อยึดคืนสมดุลของโลกที่เปลี่ยนผ่านไปอย่างรวดเร็วและรุนแรง ภายใต้ฉากหน้าของการทูต ยังมีเกมที่ใหญ่กว่า การซื้อเวลา การกำหนดพื้นที่ต่อรองและการรักษาภาพผู้นำล้วนเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ระยะยาวที่มองเกินกว่ายูเครน มองทะลุไปถึงความพยายามในการจัดระเบียบโลกใหม่ที่ไม่ขึ้นกับอำนาจตะวันตก โต๊ะเจรจาในอิสตันบูลจึงไม่ใช่จุดหมายแต่มันเป็น “สนามทดลอง” ที่รัสเซียเลือกจะเดินหนีเพื่อไปยังสมรภูมิอื่นที่เดิมพันสูงกว่าและหากความขัดแย้งครั้งนี้คือสงครามเพื่ออารยธรรมการเจรจากับผู้นำที่รัสเซียไม่ยอมรับความชอบธรรมก็ย่อมไม่ต่างจากการประกาศยอมแพ้โดยไม่จำเป็น สงครามในยูเครนจึงยังไม่จบ ไม่ใช่เพราะขาดข้อตกลงแต่เพราะขาด 'ความเข้าใจร่วม' ว่าเรากำลังต่อสู้อยู่ในสงครามแบบไหนและเพื่ออะไร

‘ทรัมป์ – ปูติน’ เตรียมพบกัน ในวันจันทร์นี้ เทียบได้กับการเจรจา!! ในช่วงสงครามเย็น

(18 พ.ค. 68) เพจเฟซบุ๊ก ‘Jaroensook Limbanchongkit Pone’ ได้โพสต์ข้อความระบุว่า ...

การพบกันระหว่างทรัมป์และปูตินในวันจันทร์นี้คือฝันร้ายที่สุดของยูเครน

หนังสือพิมพ์ The Telegraph รายงานว่าทรัมป์ได้ทรยศต่ออุดมคติของประชาธิปไตยระดับโลกอีกครั้ง และ “ปูตินผู้เจ้าเล่ห์จะดึงดูดความสนใจของทรัมป์ทั้งหมด” ในการประชุมโดยไม่ต้องมีคนกลาง

The Telegraph บ่นอุบอิบว่าบรรดาผู้นำยุโรปต่างหวังว่าการที่ประธานาธิบดีรัสเซียไม่เข้าร่วมการเจรจาสันติภาพกับยูเครนในอิสตันบูลจะทำให้ทรัมป์หมดความอดทน แต่แทนที่จะเข้าข้างยุโรปและใช้มาตรการคว่ำบาตรรัสเซียที่เข้มงวดยิ่งขึ้น ประธานาธิบดีสหรัฐฯ กลับตัดสินใจ "ตอบแทน" ประธานาธิบดีรัสเซียด้วยการพบปะเป็นการส่วนตัว

The Telegraph ระบุว่า จากมุมมองของปูติน การเจรจาโดยตรงกับประธานาธิบดีสหรัฐฯ จะช่วยเสริมสร้างสถานะของรัสเซียในฐานะมหาอำนาจ และการพบปะดังกล่าวจะเทียบได้กับการเจรจาระหว่างมหาอำนาจในช่วงสงครามเย็น

The Telegraph ระบุหลายครั้งในบทความว่าสำหรับชาวยูเครน การพบปะกันแบบนี้ถือเป็นฝันร้ายที่สุด เนื่องจากปูตินจะดึงดูดความสนใจของทรัมป์ได้อย่างเบ็ดเสร็จ และจะไม่มีคนกลางที่สามารถปกป้องผลประโยชน์ของเคียฟได้


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top