Friday, 17 May 2024
ประเทศไทย

'ฝรั่ง' อวด!! ได้เป็นคนไทยแล้ว ยอมรับ!! สัญชาติไทยขอยากมาก พร้อมเผยความในใจ!! 'อยู่ที่นี่แล้วสบายใจ-เมืองไทยเหมือนบ้าน'

(15 ก.พ.67) ช่องยูทูบชื่อ ‘มุมมองเพื่อนบ้าน’ ได้โพสต์วิดีโอถึงกรณีชาวต่างชาติรายหนึ่งออกมาแสดงความดีใจที่ได้สัญชาติและถือพาสปอร์ตไทยอย่างเป็นทางการ โดยระบุว่า…

ชาวต่างชาติรายนี้ชื่อ Mark Abbott ได้โพสต์คลิปแสดงความดีใจในอินสตาแกรมส่วนตัว ‘markabbott_official’ ว่า “I got my Thai citizenship. Video about the whole process coming soon! ผมได้รับสัญชาติไทยอย่างเป็นทางการแล้วครับ มันขอยากกว่าสัญชาติอังกฤษ/อเมริกันมาก ๆ ครับ เดี๋ยวจะทำวิดีโอเรื่องการขอแปลงสัญชาติเป็นไทยครับ”

นอกจากนี้ยังได้เล่าประวัติคร่าว ๆ ของ Mark Abbott ว่า เขาเป็นชาวอังกฤษ และได้มาประเทศไทยครั้งแรกตอนที่อายุประมาณ 20 ปี ซึ่งในปัจจุบันเขาอยู่ในประเทศไทยมากกว่า 20 ปีแล้ว จนรู้สึกว่าประเทศไทยคือบ้านของเขา และประเทศไทยก็ได้ตอบแทนความภักดีของเขาด้วยการมอบสัญชาติไทยให้

Mark Abbott ยังเคยบอกอีกว่า เขาหลงเสน่ห์ประเทศไทย ด้วยเหตุผลหลาย ๆ อย่าง เช่น อากาศดี (ไม่หนาวเกินไป) อาหารอร่อย คนไทยน่ารัก จึงตัดสินใจเรียนต่อจนจบปริญญาตรี ได้เดินทางไปหลายประเทศ รู้สึกว่าที่ไหน ๆ ก็เหมือนกัน แต่ประเทศไทยมีคนไทย ชอบคนไทยมาก ชอบวัฒนธรรมไทย ชอบความเอื้ออารี ใจกว้าง ยิ้มง่าย และใส่ใจผู้อื่นของคนไทย ที่สำคัญคือ ประเทศไทยปลอดภัยมาก นี่คือเสน่ห์ที่ชื่นชอบประเทศไทย

แม้ชาวตะวันตกจะมีความคิดแง่ลบกับนิสัยของคนไทย แต่สำหรับ Mark abbott มองว่าเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ และเขาพร้อมที่จะปรับตัวเข้ากับบริบทของสังคมไทย เขาเข้าใจดีว่าสังคมไทยเป็นอย่างไร 

ภายหลังที่เขาได้แชร์เรื่องการขอสัญชาติไทยไปแล้ว ก็มีหลาย ๆ คนเข้ามาแสดงความคิดเห็น ส่วนใหญ่เป็นคนไทยที่เข้ามาแสดงความยินดี และมีชาวต่างชาติหลาย ๆ คนที่ไม่เชื่อว่าเขาขอสัญชาติไทยได้จริง ซึ่ง Mark Abbott ก็ออกมายอมรับและบอกว่า การขอสัญชาติไทยยากมาก และยากกว่าขอของอังกฤษหรือสหรัฐฯ ด้วยซ้ำ ซึ่งหากใครไม่เชื่อก็ไปดูประกาศราชกิจจานุเบกษาได้เลย

โจทย์ใหญ่!! การถวายความปลอดภัยขบวนเสด็จฯ ในวันที่ไทยมี ‘คนไม่ปกติ’ หมายคิดแต่จะล้มเจ้า

ผมอาจจะเขียนเรื่องนี้ช้าไปกว่าทุก ๆ คน แต่อยากให้เรื่องนี้เป็นเรื่องช้าที่ช่วยย้ำเตือนถึงพระมหากรุณาธิคุณขององค์พระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ของพวกเราชาวไทย แม้ว่าคนอาจจะพยายามเปลี่ยนแปลงระบอบ ยกเลิกระบบ และแก้ไขกฎหมายอย่างไม่หยุดยั้ง ทั้งในสภาและนอกสภา

จากเหตุการณ์ป่วนขบวนเสด็จฯ ของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มันมีความจริงด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจราจรเมื่อขบวนเสด็จฯ และกฎหมายเกี่ยวกับการถวายความปลอดภัยเมื่อมีขบวนเสด็จฯ ซึ่งหลายคนไม่เคยสนใจรับรู้ โดยเฉพาะเยาวชนที่เรียกตัวเองว่าผู้นำการเปลี่ยนแปลง (ซึ่งบางคนมันก็ไม่ใช่เยาวชนแล้วล่ะ) แต่มักจะทำผิดกฎหมายอยู่บ่อย ๆ โดยมักจะอ้างว่าตัวเองมีสิทธิ เสรีภาพในการกระทำการนั้น ๆ ผมอยากจะพรุสวาทเบ ๆ ด้วยคำสั้น ๆ ถึงพวกเขาเหล่านั้นว่า ‘ไอ้บ้า’ ประเทศมีกฎหมายถ้าอยากอยู่แบบทำอะไรก็ได้ ก็ไปอยู่ในสถานที่ ที่เขาไม่มีกฎหมาย แต่คงยากเพราะไปที่ไหนเขาก็มีกฎควบคุมทั้งนั้นสรุปคือ ‘ลำบาก’ กับการอยู่ละ!!

กลับมาดูกฎหมายที่ผมจะเล่ากันดีกว่า...

เริ่มต้นด้วยกฎหมายเกี่ยวกับขบวนเสด็จฯ โดยเฉพาะว่าด้วยการจราจร ซึ่ง พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงห่วงใยราษฎรของพระองค์เมื่อมีการเสด็จฯ และจำเป็นต้องปิดการจราจร ทรงเกรงว่าการเสด็จพระราชดำเนินของพระองค์ และพระบรมวงศานุวงศ์ จะกระทบกับการเดินทางของประชาชน จึงให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติกำหนดแนวทางอำนวยความสะดวกด้านการจราจรมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2563 โดยมีแนวทางในการปฏิบัติ 10 ข้อ ดังนี้….

1. ไม่ให้ปิดการจราจร เพื่อให้ประชาชนสามารถใช้เส้นทางได้ตามปกติ

2.ในเส้นทางเสด็จฯ ให้จัดช่องทางเสด็จฯ และช่องทางประชาชน โดยใช้อุปกรณ์ เช่น กรวยยาง ป้ายไฟ เพื่อความสะดวก

3. เส้นทางฝั่งตรงข้ามทางเสด็จฯ กรณีที่มีเกาะกลางถนนเส้นทางฝั่งตรงข้าม สามารถใช้ได้ตามปกติ กรณีไม่มีเกาะกลางถนน ให้ใช้อุปกรณ์ เช่น กรวยยางวาง โดยประชาชนสามารถวิ่งตามเส้นทางที่จัดไว้ได้ตามปกติ

4. กรณีทางร่วมทางแยกให้ประชาชนใช้เส้นทางได้ตามปกติ โดยใช้วิธีการควบคุมรถ เช่น ใช้กรวยยางวางควบคุมกระแสรถ

5. สำหรับสะพานกลับรถ หรือสะพานข้าม ให้ประชาชนใช้ได้ตามปกติ

6. กรณีทางพิเศษที่มีด่านเก็บเงิน ให้วางแนวกรวยยางด้านซ้ายให้ประชาชนเดินรถได้ โดยให้เหลือช่องทางสำหรับขบวนเสด็จอย่างน้อย 2 ช่องทาง

7. กรณีเส้นทางร่วมทางแยก ไม่ให้บังคับให้ประชาชนเปลี่ยนเส้นทาง ให้คำนึงถึงความตั้งใจของประชาชนเป็นหลัก

8. เน้นย้ำในการวางอุปกรณ์ให้พิจารณาตามความเหมาะสม ให้คำนึงถึงเวลา ให้กระทบประชาชนน้อยที่สุด

9. ใช้มาตรการประชาสัมพันธ์เพื่อให้เกิดความปลอดภัยสูงสุดกับทั้งประชาชนและผู้ปฏิบัติหน้าที่

10. ผู้บังคับบัญชาทุกระดับชั้นต้องลงไปกำกับดูแลด้วยตนเอง สำหรับผู้ปฏิบัติให้ใช้วาจา กิริยา ท่าทางด้วยความสุภาพ ไม่ให้ประชาชนรู้สึกว่าถูกบังคับ

การดำเนินการปรับรูปแบบการถวายการอารักขาระหว่างการเสด็จพระราชดำเนินของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์ ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นไปตามวัตถุประสงค์หลัก เพื่อถวายความปลอดภัยแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์ ในระดับสูงสุด เพื่อให้สมกับพระเกียรติ และเป็นไปตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

ก็เลยไม่เข้าใจว่าเมื่อดำเนินการลักษณะดังกล่าวนี้แล้วทำไมยังไป ‘หนักศีรษะ’ ของหญิงสาวและชายหนุ่มคู่นั้นอีก (ไม่อยากพิมพ์ชื่อให้เป็นเสนียดคีย์บอร์ดครับ) หรือมันยังไม่สาแก่ใจในการ ‘ด่า’ และ ‘ความต้องการบางอย่าง’ โดยเฉพาะเกี่ยวกับเรื่องเจ้า เรื่องนาย ทำให้ต้องรีบขับรถด้วยความเร็วเพื่อเข้าไปแทรกขบวนเสด็จฯ แต่เมื่อโดนกัก ก็ลงไปลำเลิก ว่ากล่าว เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติหน้าที่ถวายการอารักขาอย่างคนไร้อารยะ ซึ่งเขาทั้งคู่คงลืมเรื่องกฎแห่งความปลอดภัยทางการจราจร และกฎหมายอีกหลายต่อหลายข้อ โดยเฉพาะกฎหมายตาม พ.ร.บ.การถวายความปลอดภัย พ.ศ. 2560 ซึ่ง ‘ไอ้คนพวกนี้’ มันไม่เคยสนใจอยู่แล้ว แต่ผมขอตัดบางข้อใน พรบ. เพื่อนำไปสู่ข้อความสำคัญดังนี้...

การถวายความปลอดภัย หมายความว่า “การรักษาความปลอดภัยสําหรับองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี พระรัชทายาท พระบรมวงศานุวงศ์ตั้งแต่ชั้นพระองค์เจ้าขึ้นไป และให้หมายความรวมถึงการรักษาความปลอดภัยสําหรับผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์.....และบุคคลที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับเป็นพระราชอาคันตุกะ....โดยครอบคลุม พระราชฐาน ที่ประทับหรือที่พัก...ขณะที่เสด็จฯ ไปหรือไปยังที่ใด รวมตลอดถึงการรักษาความปลอดภัยของ ยานพาหนะ และสิ่งอื่นที่เกี่ยวข้อง”

โดยมี ‘หน่วยราชการในพระองค์’ และ ‘หน่วยงานรัฐ’ เป็นผู้รับผิดชอบ โดยไปอ่านฉบับเต็มได้นะครับ ไม่ยาวแค่ 3 หน้าสั้น ๆ ที่ https://www.royaloffice.th/wp-content/uploads/2018/09/พรบ-ถวายความปลอดภัย.pdf 

แต่คุณเชื่อไหม? ว่ากฎหมายฉบับนี้ก็มีช่องที่ทำให้พวกคนไร้อารยะเห็นช่องในการจะก่อการ เพราะกฎหมายฉบับนี้ไม่มีบทลงโทษใด ๆ ครับ จะเอาผิดไอ้คนพวกนี้ก็ทำได้แค่ ‘กฎหมายจราจร’ เท่านั้น (ซึ่งหลายคนจะพยายามโยงไปที่ ม.112 มันก็ไม่สามารถนะโยม อย่ามั่ว!! เพราะล่าสุดที่พวกมันโดนจับคือคดีเก่าล้วนๆ และเจตนาพวกมันก็ชัดว่าต้องการประทุษร้ายต่อพระบรมวงศานุวงศ์ โดนถอนประกันไม่ใช่เรื่องแปลก และจะโดน ม.116 ก็สมควรได้รับไปครับ) 

ปกติประเทศไทยของเรานี้ ไม่มีใครที่จะกระทำการอันมิบังควรต่อองค์พระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ นอกจากไอ้คนประเภทที่เราได้เห็นกันมานี่ล่ะครับ 

จากเหตุการณ์และกฎหมายที่ว่ามา ก็เลยทำให้สภาเดือดครับ เพราะเล็งเห็นแล้วว่ามี ‘คนไม่ปกติ’ อยู่ในสังคมไทยของเรา ทั้งยังกล้าที่จะกระทำการมิบังควรให้เกิดขึ้นโดยไม่มีจิตสำนึก จึงได้มีการผลักดันอย่างเต็มที่เพื่อ ‘เพิ่มโทษ’ และ ‘ลดจุดอ่อน’ พ.ร.บ.การถวายความปลอดภัย พ.ศ. 2560 โดยเป็นโทษหนักต่างกรรมต่างวาระ ทั้งโทษจำคุกสูงสุดถึง 5 ปี และปรับถึง 500,000 บาท ในกรณีที่ก่อเกิดอันตรายต่อร่างกายและชีวิตขององค์พระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ ซึ่งข้อนี้ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้นเป็นแน่ (ยกเว้นพวกมัน) 

แต่สภาก็ยังคงมีท่านผู้ทรงเกียรติหลายท่าน ‘ขวาง’ ทั้งยังไม่พูดถึงกรณีการละเมิดดังกล่าว แต่เฉไฉไปพูดถึงเรื่องความปลอดภัยและโทษที่ ‘คนไม่ปกติ’ ได้รับ ทั้งยังไปยกเรื่องการปะทะกันของกลุ่มคน โดยไม่สนใจถึงมูลเหตุที่ทำให้เกิดขึ้นเลยแม้แต่นิดเดียว ก็อย่างว่าน่าจะเป็น ‘พรรคพวกเดียวกัน’ หรือไม่ก็คงเป็น ‘คนไม่ปกติ’ เหมือนกัน ไม่แปลกที่ใครจะคิดไปในทางเดียวกันว่าพรรคของพวกท่านนั่นแหละที่อยู่เบื้องหลัง โดยอาจจะเป็นผู้นำจิตวิญญาณของท่านหรือสาวคางทูมเป็นผู้บงการก็ได้ 

อ่านมาถึงตรงนี้ทุกท่านมองว่าเราควรทำอย่างไรกันดี? เมื่อเรามีพวก ‘คนไม่ปกติ’ คิดแต่จะล้มเจ้าอยู่ทุกวัน

‘กูรูฟุตบอลไทย’ ชี้!! เส้นทางวงการฟุตบอลไทยยุคนี้ สดใส หลังโครงสร้างสมาคมใหม่ เหมือน รบ.แห่งชาติด้านฟุตบอล

จากผลการเลือกตั้งนายกสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย ซึ่งได้นายกสมาคมคนใหม่ อย่าง ‘มาดามแป้ง’ นวลพรรณ ล่ำซำ อดีตผู้จัดการทีมฟุตบอลแห่งประเทศไทย ที่ชนะการเลือกตั้งและกลายเป็นนายกสมาคมกีฬาฟุตบอลหญิงคนแรกของไทย ทำให้เกิดการจุดประกายให้กับวงการฟุตบอลไทยว่าจะกลับมาสู่ยุคเฟื่องฟูอีกหรือไม่? รายการ The Tomorrow มหาชนต้องรู้ ออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES จึงได้คลุกวงในพูดคุยกับ คุณศิริชัย ยิ่งเจริญ ผู้จัดรายการ BANGKOK PREMIER LEAGUE ซึ่งอยู่ในแวดวงกีฬาฟุตบอลไทยมาอย่างยาวนาน ถึงทิศทางและโอกาสของฟุตบอลไทยในปัจจุบันและอนาคต เมื่อวันที่ 17 ก.พ.67โดยคุณศิริชัย กล่าวว่า…

แม้วงการฟุตบอลไทยจะเริ่มกลับมาเติบโต ถ้าเอาจริงๆ แล้วถ้าเทียบกับวงการฟุตบอลทั่วโลกถือว่ายังอยู่ในช่วงไข่ด้วยซ้ำไป ซึ่งตรงนี้สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย จะต้องมีบทบาทสำคัญอย่างมากในการเข้ามาดูแลและขับเคลื่อน ภายหลังจากได้นายกสมาคมฯ คนใหม่ อย่าง ‘มาดามแป้ง’ โดยส่วนตัวผมเห็นว่า มาดามแป้งมีความพร้อมในทุกด้าน ทั้งการประสานงานในภาคส่วนต่างๆ เนื่องจากเป็นผู้จัดการทีมชาติอยู่แล้ว และยังมีใจรักและทุ่มเท ถ้าเปรียบเทียบก็เหมือนเราได้รัฐบาลแห่งชาติด้านฟุตบอล ซึ่งคาดหวังว่าวงการฟุตบอลไทยน่าจะมีทิศทางที่ดีขึ้น 

เมื่อพูดถึงนักกีฬาดาวเด่นที่จะมาเป็นกำลังสำคัญจากทัวร์นาเมนต์การแข่งขันในไทยนั้น? คุณศิริชัย กล่าวว่า “ถ้าจะให้อธิบายถึงลีกฟุตบอลไทยอาชีพในปัจจุบันจะแบ่งเป็น 5 ระดับด้วยกัน คือ Tier 1  Tier 2  และ Tier 3 และรองลงมาแบบสมัครเล่น ได้แก่ ‘ไทยแลนด์ เซมิโปรลีก’ และ ‘ไทยแลนด์ เมเจอร์ลีก’ โดยมี BANGKOK PREMIER LEAGUE ซึ่งเป็นรายการที่จัดการแข่งขันอยู่ในกลุ่มไทยแลนด์ เซมิโปรลีก เป็นแม่เหล็กที่น่าสนใจ เพราะรายการนี้สามารถสร้างนักเตะรุ่นใหม่เลื่อนชั้นสู่ระดับอาชีพได้มากมาย เนื่องจากเป็นการแข่งขันที่สร้างความร่วมมือกับโรงเรียนระดับมัธยมปลาย เพื่อเฟ้นหานักกีฬาฟุตบอลเยาวชนเมล็ดพันธุ์ใหม่ เข้าสู่ทีมโดยมีเป้าหมายพัฒนาไปสู่นักฟุตบอลอาชีพ ที่ต้องมีใจรัก มีความพร้อมและทุ่มเท โดยเฉพาะสภาพร่างกาย และวินัยในการฝึกซ้อม”

เมื่อถามถึงสิ่งที่อยากนำเสนอเพื่อให้วงการฟุตบอลไทยเกิดการพัฒนา? คุณศิริชัย กล่าวว่า “เราควรปูพื้นฐานใหม่ด้านกีฬาฟุตบอลทั้งระบบ เริ่มตั้งแต่โภชนาการ เทคนิคการเล่น วิทยาศาสตร์การกีฬา สภาพร่างกาย ซึ่งควรเตรียมความพร้อมมาตั้งแต่วัยเด็กหรือเยาวชน โดยที่ครอบครัวและผู้ปกครองก็จะมีส่วนสำคัญในด้านนี้ เช่น การส่งเสริมให้บุตรหลานอยากเป็นนักฟุตบอลด้วยใจรัก สนุกไปกับมัน ภายใต้ความพร้อมด้านงบประมาณ ค่าใช้จ่าย”

อย่างไรก็ตาม คุณศิริชัย ก็ไม่ได้ตีกรอบให้ผู้ปกครองต้องผูกเด็กไว้กับกีฬาฟุตบอลเท่านั้น ควรหาแรงบันดาลใจของบุตรหลานตัวเองให้ได้ว่าชอบกีฬาอะไร โดยการพาไปชมกีฬาหลาย ๆ ประเภทหรือทดลองเล่นกีฬาเหล่านั้นเพื่อค้นหาตัวตนที่แท้จริง เมื่อมีใจรักและมีระเบียบวินัยในการฝึกซ้อม โอกาสประสบความสำเร็จก็จะสูงขึ้นตาม 

“อย่างไรก็ตาม กีฬาฟุตบอล ก็ยังถือเป็นกีฬาที่ได้รับความนิยมสูงทั่วโลก สามารถสร้างเม็ดเงินได้อย่างมหาศาลและเพิ่มมูลค่าให้กับเศรษฐกิจของประเทศได้ ทั้งมูลค่าของกีฬา มูลค่าของธุรกิจที่เกี่ยวข้อง หรือมูลค่าแฝงทางสังคมที่เกินกว่าตัวเงิน เช่น ความภาคภูมิใจของทีมกีฬา หรือตัวนักกีฬาเอง และส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีให้กับประเทศ ซึ่งเชื่อว่าสมาคมฟุตบอลไทยยุคใหม่จะทำให้ภาพความสำเร็จเหล่านี้มาสู่เมืองไทยได้มากขึ้น” คุณศิริชัย ทิ้งท้าย

‘อ.พงษ์ภาณุ’ ชี้!! หนี้ครัวเรือนไทย ปัญหาที่เริ่มส่อเค้า จะเขย่าโครงสร้างประเทศ หรือแก้นโยบายการเงินที่ผิดพลาด

ทีมข่าว THE STATES TIMES  ได้พูดคุยกับ อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ที่มาร่วมพูดคุยในรายการ Easy Econ ซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES ในประเด็น 'หนี้วิกฤตแล้ว จริงไหม?' เมื่อวันที่ 18 ก.พ.67 โดย อ.พงษ์ภาณุ กล่าวว่า…

ปัญหาหนี้มักจะกลายเป็นเรื่องใหญ่ทุกครั้งที่เศรษฐกิจมีการเติบโตช้าและหรือดอกเบี้ยขึ้นสูง อาทิตย์ก่อนเราคุยกันเรื่องหุ้นกู้ที่อาจจะเป็นปัญหาขึ้นมาได้ เพราะเริ่มมีสัญญาณมาเป็นระยะๆ ในสถานการณ์ที่สุ่มเสี่ยงต่อการผิดนัดชำระหนี้ กล่าวคือ ตลาดการเงินเริ่มขาดสภาพคล่อง ดอกเบี้ยขึ้นสูง เงินเฟ้อติดลบ และ GDP ขยายตัวต่ำ

หนี้ครัวเรือนก็เริ่มตั้งเค้าส่อปัญหาขึ้นมาระยะหนึ่งแล้ว อาทิตย์ที่ผ่านมาบริษัทศูนย์ข้อมูลเครดิต (เครดิตบูโร) รายงานภาวะหนี้ครัวเรือนเมื่อสิ้นปี 2566 ปรากฏว่ามีการเร่งตัวขึ้นมาอยู่ที่ 13.7 ล้านล้านบาท (ไม่รวมหนี้สหกรณ์ออมทรัพย์ หนี้ กยศ. และหนี้นอกระบบ) เพิ่มขึ้น 3.7% year on year และเร็วกว่าการเติบโตของ GDP กว่า 2 เท่าตัว ในจำนวนนี้หนี้ที่เป็น NPL มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเร็ว โดยเฉพาะในกลุ่มหนี้สินเชื่อรถยนต์ แต่ที่น่าวิตกกว่านั้นก็คือ สินเชื่อที่อยู่อาศัยเริ่มมีปัญหาผิดชำระหนี้ และกลายเป็นหนี้รอการเสีย (Special Mention-SM) ซึ่งมีจำนวนเพิ่มขึ้นกว่า 30% และส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อซื้อบ้านที่มีราคาต่ำกว่า 3 ล้านบาท ลูกหนี้เหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นลูกหนี้ที่มีรายได้ปานกลางถึงต่ำ หากไม่สามารถชำระหนี้หรือปรับโครงสร้างหนี้ได้ จะกลายเป็น NPL และถูกยึดบ้านในที่สุด 

ตามการวิเคราะห์ของเครดิตบูโร นอกจากเหตุผลด้านรายได้แล้ว สาเหตุสำคัญมาจากดอกเบี้ยหน้ากระดาน (MRR) ที่ปรับสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้เงินงวดที่จะต้องผ่อนชำระกระโดดขึ้นสูงเกินกว่าวิสัยที่จะรับภาระได้ สถานการณ์เช่นนี้หากไม่ได้รับการแก้ไข จะก่อให้เกิดผลกระทบในวงกว้าง ไม่พียงแต่ผลทางการเงินต่อลูกหนี้ และระบบสถาบันการเงินเท่านั้น แต่จะมีผลในทางสังคมอย่างมากเพราะบ้านเป็นปัจจัย 4 ที่จำเป็นต่อการครองชีพ

เป็นที่น่ายินดีที่รัฐบาลนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน ได้ยกปัญหาหนี้ครัวเรือนเป็นวาระแห่งชาติ และตั้งมั่นที่จะแก้ไขปัญหาให้แล้วเสร็จในรัฐบาลนี้ ที่ผ่านมาได้มีผลสำเร็จที่เป็นรูปธรรมออกมาเป็นระยะๆ โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาหนี้สินนอกระบบ

หนี้ครัวเรือนที่ระดับ 90% ของ GDP โดยตัวเองแล้วไม่น่าจะถือว่าเป็นระดับที่น่าตื่นตระหนก ประเทศที่พัฒนาแล้วและมีระบบการเงินก้าวหน้าล้วนมีหนี้ครัวเรือนที่มีสัดส่วนสูงกว่านี้ ในทางตรงกันข้าม หนี้ครัวเรือนในระดับสูงอาจบ่งบอกว่าครัวเรือนสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้อย่างทั่วถึง ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีในสังคมสมัยใหม่ แต่ที่ภาครัฐควรทำคือการให้การศึกษาและการปลูกฝังวินัยการเงินแก่ประชาชนให้มีการวางแผนการใช้จ่ายเงินที่เหมาะสมและสอดคล้องกับความสามารถในการหารายได้

และที่สำคัญกว่านั้น ขณะนี้สถานการณ์ทางการเงินของประเทศได้สร้างความสุ่มเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาหนี้เป็นอย่างยิ่ง การตึงตัวของตลาดการเงิน และการที่อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงสูงเป็นประวัติการณ์ ซึ่งเป็นผลจากการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายและเงินเฟ้อที่ติดลบมาอย่างต่อเนื่อง ปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่ทางการ โดยเฉพาะธนาคารแห่งประเทศไทย สร้างขึ้นมาเอง แต่ไม่ยอมรับผิดชอบ กลับโยนความผิดไปที่ปัญหาโครงสร้างของประเทศ แน่นอนทุกประเทศรวมทั้งไทย ต่างก็มีปัญหาโครงสร้างแตกต่างกันไป ซึ่งต้องใช้เวลาในการแก้ไข ที่ผ่านมาเรามีการปฏิวัติรัฐประหารก็เพื่อปฏิรูปและปรับโครงสร้างประเทศมิใช่หรือ? ทำให้ผมคิดถึงลุงกำนันแห่ง กปปส. ซึ่งกล่าวไว้ว่าประเทศไทยต้องมีการปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง แต่ 10 ปีให้หลังก็ยังปฏิรูปไม่แล้วเสร็จ 

ทุกวันนี้ ธปท. ก็ยังโทษโครงสร้างประเทศอยู่วันยังค่ำ เห็นทีจะต้องมีการปฏิวัติรัฐประหารอีกสักทีใช่ไหม? กว่าจะปฏิรูปหรือปรับโครงสร้างเสร็จ คนไทยคงโดนยึดบ้านและกลายเป็นคนไร้บ้าน (Homeless) กันทั้งประเทศ

‘ไทย’ คว้าอันดับ 7 ดัชนีของเอเชียแปซิฟิก ด้านความเป็นเลิศการศึกษา ‘STEM’

นวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์เป็นส่วนสำคัญสูงสุดในการเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของประเทศ โดยล่าสุด Center for Excellence in Education (CEE) ซึ่งเป็นองค์กรที่ไม่แสวงหากำไรได้สร้างดัชนีความพร้อมด้านการศึกษาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ (STEM) เพื่อให้ข้อมูลเชิงลึกในการเปรียบเทียบคุณภาพของนักเรียนประเทศต่าง ๆ 

สำหรับดัชนีความเป็นเลิศของ CEE ในด้านการศึกษา STEM จะประเมินว่านักเรียนมีความพร้อมทางวิชาการสำหรับการแข่งขันระดับโลก โดยจะเปรียบเทียบผลงานโอลิมปิกวิชาการโดยรวมตามประเทศ คำนวณค่าเฉลี่ยและการจัดอันดับตามประเทศที่เข้าร่วม และตรวจสอบผลงานของนักเรียนในการแข่งขันโอลิมปิกวิชาการที่เกี่ยวข้องกับ STEM ทั้ง 5 รายการ

ทั้งนี้ ดัชนีฯ ดังกล่าวช่วยให้ผู้กำหนดนโยบายและนักการศึกษามีเครื่องมือสำคัญในการวัดว่านักสร้างสรรค์รุ่นต่อไปของแต่ละประเทศมีอนาคตดีเพียงใดเมื่อเปรียบเทียบกับผู้สร้างนวัตกรรมทั่วโลก โดยการพัฒนาเศรษฐกิจจีนมีความเกี่ยวข้องกับความสำเร็จของจีนในการแข่งขัน STEM Olympiads การทบทวนวิธีที่จะฝึกอบรมผู้นำรุ่นต่อไปจะต้องรวมเครื่องมือนี้ไว้ด้วย

สำหรับ ดัชนีฯ นี้จะแสดงข้อมูลต่อไปนี้ตามผลรวมของการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกนานาชาติในสาขาชีววิทยา เคมี ฟิสิกส์ คณิตศาสตร์ และสารสนเทศ (IT) โดยในการจัดอันดับดัชนีฯ พบว่า อันดับ 1. ได้แก่ จีน อันดับ 2. เกาหลีใต้ อันดับ 3. สิงคโปร์ อันดับ 4. เวียดนาม อันดับ 5. ญี่ปุ่น อันดับ 6. ไต้หวัน อันดับ 7. ไทย อันดับ 8. อิหร่าน อันดับ 9. อินโดนีเซีย อันดับ 10. อินเดีย อันดับ 11. ออสเตรเลีย และอันดับ 12. ฮ่องกง

ซึ่งดัชนีฯ ยังเผยให้เห็นว่าในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศในเอเชียได้เข้ามาครองการแข่งขันโอลิมปิกวิชาการ ส่งผลให้ผลงานของนักเรียนจากยุโรปลดลง ตัวอย่างเช่น เยอรมนี เป็นประเทศแรกในปี 1989, 1988 และ 1982 แต่หลังจากนั้นก็ถูกเขี่ยออกจาก 30 อันดับแรก แม้ว่าจะมีประชากรเพียง 1/8 ของเยอรมนี แต่ฮังการีก็ยังคงรั้งอันดับที่ 20 ได้ ซึ่งถือเป็นการลดลง จากอันดับ 1 หรือ 2 ที่ได้รับในทศวรรษ 1960 และต้นทศวรรษ 1970 

โดยน่าประหลาดใจที่สิงคโปร์ ซึ่งเป็นประเทศที่มีประชากรน้อยกว่า 6 ล้านคน (น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของฮังการี) สามารถเสมอกับเวียดนามเป็นอันดับที่ 5 ได้ การทบทวนผลงานของทีม USA ตั้งแต่ปี 1993 ถึงปัจจุบันเผยให้เห็นอันดับเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เส้นแนวโน้มแสดงให้เห็นการเปลี่ยนแปลงจากการจัดอันดับอันดับที่หกโดยประมาณเป็นอันดับสองหรือสามรองจากจีน

นอกจากนี้ การแข่งขันที่ดุเดือดในธุรกิจระดับโลกได้ผลักดันให้นักศึกษามีความเป็นเลิศในการแข่งขันทางวิชาการเพื่อที่จะโดดเด่น จากข้อมูลของ DiGennaro รัฐบาลส่วนใหญ่ให้การสนับสนุนโครงการโอลิมปิกวิชาการในประเทศต่าง ๆ รวมถึงการฝึกอบรมและทรัพยากรอื่นๆ เช่น ครูและนักเรียน อย่างไรก็ตาม กรณีนี้ไม่ได้เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกา

โดยประเทศจีนได้ลงทุนมหาศาลในการแข่งขันเหล่านี้ และอาจจะทำให้จีนได้เปรียบอย่างมากนอกเหนือจากการแข่งขันโอลิมปิกวิชาการ สิ่งสำคัญ คือ ต้องเน้นว่าจีนใช้เงินจำนวนมากกับการวิจัยและพัฒนา ซึ่งลดลงในยุโรป

‘อดีตบิ๊กข่าวกรอง’ ลั่น!! ประเทศนี้อยู่ยาก ชี้!! ขื่อแปบ้านเมืองมันผุไปหมดแล้ว

(19 ก.พ. 67) นายนันทิวัฒน์ สามารถ อดีตรองผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ‘Nantiwat Samart’ ระบุว่า เอากันให้เต็มที่ เอาที่สบายใจ ตัวอย่างก็มีแล้ว นักการเมืองโกงกิน คอร์รัปชั่นยิ่งมากยิ่งดีให้ได้หมื่นแสนล้าน มีเงินซื้อได้ทุกอย่าง money buy anythings ซื้อได้ทั้งขี้ข้าและยุติธรมม ไม่ต้องกลัวคุกกลัวตาราง หนีไปหาความสุขเมืองนอกสักพัก ค่อยกลับมารับโทษ นอนโรงพยาบาลไม่กี่วันก็ได้กลับบ้าน

"อย่าซื่อแบบป๋าบุญทรงที่ถูกหลอก หลอกให้รอแล้วรอเล่า หรือพี่เปรมที่กล้าหาญรับโทษ ขื่อแปบ้านเมืองมันผุไปหมดแล้ว แถมซ่อมก็ไม่ได้รื้อไม่ได้ อ้างกฎหมายให้อำนาจมัน กฎหมายมันบิดตะกูดไปหมด ซ้ายก็ได้ขวาก็ดี ฉห. แล้ว ประเทศนี้อยู่ยาก" อดีตรองผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ ระบุ

ถาม? เมื่อพรรคการเมืองพรรคหนึ่งมีพฤติกรรมล้มล้างสถาบันชัด ตอบ!! จะถามหาความรับผิดชอบจากคนที่เลือกเข้ามาได้ไหม?

คนไทยถ้าไม่แกล้งหูหนวกตาบอดกันจริง ๆ จะต้องทราบดีว่า สส. จำนวนไม่น้อยที่สังกัดพรรคการเมืองพรรคหนึ่ง มีพฤติกรรมที่คิดล้มล้างสถาบันมานานหลายปี โดยใช้วิธีล้างสมองเด็ก ส่งเสริม ช่วยเหลือ สนับสนุนให้เด็กออกหน้าแสดงแทน เช่น เผารูป ขีดเขียนกำแพงวัดพระแก้ว กระทั่งการขับรถป่วนขบวนเสด็จฯ 

พรรคการเมืองที่ล้มสถาบันจะเข้ามาไม่ได้ ถ้าไม่มีคนจำนวนมาก 'กาเลือก' เข้ามา 

ช่างไม่แฟร์กับคนที่รักสถาบันเลย รู้ทั้งรู้แต่กลับต้องยอมให้กลุ่มคนที่เป็นอันตรายต่อสถาบัน มาสูบกินเงินเดือนจากภาษีอันเหนื่อยยากของประชาชน 

ว่าแต่คนที่เลือกพรรคที่มีพฤติกรรมล้มสถาบันเข้ามา ถึงวันนี้คุณคิดว่า 'ตน' เป็นคนที่เข้าข่ายสายพันธุ์ใดมากที่สุด? 

1. มีนิสัยย้อนแย้งเหมือนพรรคการเมืองที่เขาเลือก ที่มักจะพูดอย่างแต่ทำอีกอย่าง หาความชัดเจนในตัวตนไม่เจอ และไม่คิดจะไม่รับผิดชอบใด ๆ ในสิ่งที่ตนเองทำ สายลมแสงแดดไปวัน ๆ ไม่สนผิดชอบชั่วดี 

2. คิดน้อย ไม่คิดหน้า คิดหลัง ไม่ดูการกระทำของคนให้ลึกซึ้ง หลงเพียงรูปโฉม วาทกรรม เบื่อของเก่า เห่อของใหม่ เห็นคนส่วนใหญ่ทำอะไรก็ทำตามส่ง ๆ ไป ไม่ลงลึก ไม่มีแก่นสาร เป็นประเภทโลกสวยกลวง ๆ เป็นบุคลากรของสังคมที่ไร้คุณภาพ ถือเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ 'บ่อนทำลายสถาบัน' ก่อตัวขึ้นในสังคมไทย

3. หลงพลาดผิดไปแล้ว รู้สึกสำนึกว่าได้เป็นส่วนหนึ่งที่ทำผิดกับแผ่นดินชาติ และสถาบันพระมหากษัตริย์ไป ตั้งใจกลับตัว ปรับความคิดใหม่ เดินหันหลังให้ 'พรรคล้มสถาบัน' อย่างถาวร

4. ตอแหล เห็นกระแสคนรักสถาบันก็รักบ้าง เพราะกลัวถูกสังคมตั้งคำถาม แต่ส่วนลึกก็ไม่ได้รักสถาบันจริง อาจจะเกลียดสถาบันด้วยซ้ำ คนจำพวกนี้อ่านง่าย เห็นอะไรที่เป็นกระแสก็จะกระโจนเข้าหาทางนั้น เป็นคนที่จะไม่มีทางจริงใจกับฝ่ายใด และจะไม่มีทางได้ใจใครกลับมาเช่นกัน

5. แฟนคลับที่เบาปัญญา ถึงวันนี้ยังมองไม่ออก และไม่เชื่อว่าว่าพรรคการเมืองนี้คิดล้มล้างทำลายสถาบัน พวก 'บ่อนทำลายสถาบัน' จะชอบคนกลุ่มนี้มากที่สุด เพราะไม่เท่าทัน

6. พวกที่เกลียดสถาบันเหมือนกัน มีทั้งเปิดหน้าแสดงออกตรง ๆ กับพวกที่หลบซ่อนสนับสนุนอยู่เงียบ ๆ ไม่เผยตัวตนชัดเจน ซึ่งในสังคมไทยจะมีคนอย่างหลังมากกว่า

แล้วคุณคิดว่าตัวเองเข้าข่ายคนแบบใดมากที่สุด?

'พลังงาน' จ่อหารือสรรพสามิต หวังใช้กลไกภาษีช่วยอุ้มราคาดีเซล หลังกองทุนน้ำมันรับภาระอ่วม ยืนราคา 30 บาทได้แค่สิ้น มี.ค.นี้

(20 ก.พ. 67) แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงานเปิดเผยว่า กระทรวงฯ เตรียมทบทวนมาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน ในส่วนของน้ำมันดีเซลที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้ตรึงราคาไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร จนถึงวันที่ 31 มี.ค. 2567 โดยหนึ่งในแนวทางสำคัญก็คือ การหารือกับกรมสรรพสามิต เพื่อใช้กลไกของภาษีสรรพสามิตในการช่วยสนับสนุน เนื่องจากปัจจุบันบันกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงได้อุดหนุนราคาดีเซลเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 5.30 บาทต่อลิตร จากเดิมที่เคยอุดหนุนในอัตราไม่ถึง 5 บาท

ทั้งนี้ เชื่อว่าจากการอุดหนุนดังกล่าว กองทุนน้ำมันฯน่าจะบริหารจัดการตรึงราคาน้ำมันดีเซลได้จนสิ้นสุดระยะเวลาตามมาตรการดังกล่าว เนื่องจากกองทุนฯ ยังมีเงินกู้เหลืออยู่ที่สามารถเบิกจากสถาบันการเงินได้อีกประมาณ 3 หมื่นล้านบาท จากปี 2565-2566 ที่รัฐบาลให้กรอบวงเงินกู้ได้ไม่เกิน 1.5 แสนล้านบาท โดยทำเรื่องกู้รวมไปแล้ว 1.05 แสนล้านบาท เพื่อการบริหารดูแลราคาดีเซล

“เชื่อว่ากองทุนน้ำมันฯ จะบริหารจัดการเงินจนสามารถตรึงราคาน้ำมันในประเทศให้ไม่เกิน 30 บาทต่อลิตรได้ตนถึง 31 มี.ค. 67 แน่นอน แต่หลังจากนั้นคงต้องทบทวนรายละเอียดกันใหม่ หากต้องการต่ออายุมาตรการออกไปอีก” แหล่งข่าว กล่าว

สำหรับปัจจัยสำคัญมาจากราคาน้ำมันดีเซลในตลาดโลกในช่วงที่ผ่านมาปรับตัวสูงขึ้นส่งผลให้กองทุนน้ำมันฯ ต้องจ่ายเฉพาะดีเซลวันละประมาณ 375 ล้านบาทหรือเฉลี่ยเดือนละ 1.1 หมื่นล้านบาท โดยเมื่อหักลบกับรายได้จากกลุ่มเบนซินและชดเชยก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) อีกราว 1,700 ล้านบาทต่อเดือนทำให้กองทุนน้ำมันฯ มีเงินไหลออกวันละประมาณ 320 ล้านบาทหรือเดือนละประมาณ 10,000 ล้านบาท อย่างไรก็ดี หากระดับราคาน้ำมันดีเซลตลาดโลกยังคงมีทิศทางผันผวนในระดับเฉลี่ย 105-110 เหรียญต่อบาร์เรลคาดว่าฐานะกองทุนน้ำมันฯ จะติดลบประมาณ 100,000 ล้านบาทภายในเม.ย.นี้

“ราคาน้ำมันที่ผ่านมาค่อนข้างผันผวนสูงเดี๋ยวขึ้น ลง จากปัจจัยภูมิรัฐศาสตร์เป็นหลัก ทั้งจากการสู้รบในทะเลแดง และในช่วง 1-2 วัน รัสเซีย-ยูเครนมีความตึงเครียดเพิ่มขึ้นภายหลังนายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ปฏิเสธข้อเสนอหยุดยิงชั่วคราว ประกอบกับสถานการณ์ในตะวันออกกลางก็ทวีความตึงเครียดขึ้นเช่นกัน” แหล่งข่าว กล่าว

อย่างไรก็ตามปัจจุบันฐานะกองทุนน้ำมันฯ ณ วันที่ 11 ก.พ. 2567 มีฐานะสุทธิ -87,828 ล้านบาท แบ่งเป็น บัญชี LPG ติดลบ 46,584 ล้านบาท บัญชีน้ำมัน ติดลบ 41,244 ล้านบาท

“หากดูจากวงเงินที่เหลือกองทุนน้ำมันฯอาจจะบริหารจัดการตรึงราคาดีเซลยืดได้ถึง เม.ย. เท่านั้น หลังจากจากนั้น พ.ค.ทุกอย่างจะเกิดปัญหากระทรวงพลังงานเองก็กำลังเร่งหาแนวทางที่จะดำเนินการในเรื่องดังกล่าว โดยจะต้องสรุปออกมาให้ชัดเจนในช่วง มี.ค. และต้นเม.ย. โดยเร่งด่วน เพราะสถานการณ์ขณะนี้ของกองทุนฯ ต่างจากอดีตที่เป็นวิกฤตราคาน้ำมัน แต่ปัจจุบันเป็นวิกฤตสภาพคล่องกองทุนน้ำมันแล้ว ซึ่งการกู้เพิ่มนั้นแม้แต่สถาบันการเงินรัฐก็คงไม่สามารถดำเนินการให้ได้หากไม่มีแหล่งรายได้ไปการันตี” แหล่งข่าว กล่าว

'ผู้ว่าแบงก์ชาติ' ยัน!! ศก.ไทย 'ไม่วิกฤติ' ไม่จำเป็นต้องลดดอกเบี้ยตามคำขอ ด้านสื่อญี่ปุ่นมอง 'เศรษฐา' ต้องการอ้างตัวเลขวิกฤติ ดัน 'ดิจิทัลวอลเล็ต'

เมื่อวานนี้ (21 ก.พ. 67) สำนักข่าวนิกเกอิของประเทศญี่ปุ่น เผยแพร่บทสัมภาษณ์นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยสื่อญี่ปุ่นแห่งนี้ ระบุว่า ธปท.ได้คัดค้านข้อเรียกร้องให้มีการจัดประชุมฉุกเฉินเพื่อปรับลดอัตราดอกเบี้ย ในขณะที่นายเศรษฐพุฒิ บอกว่า ปัญหาเชิงโครงสร้างและวัฏจักรที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย จะไม่ได้รับการแก้ไขด้วยการพลิกกลับของนโยบายทางการเงิน

ทั้งนี้ นายเศรษฐพุฒิ ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวนิกเกอิ ว่า ธนาคารกลางจะ 'ไม่ดันทุรัง' ต่อสถานการณ์ดอกเบี้ยในขณะนี้ซึ่งอยู่ในระดับสูงในรอบทศวรรษ แต่ขอให้พิจารณาตัวเลขล่าสุดที่แสดงให้เห็นถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจที่อ่อนแอ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่ติดลบ และผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ที่เติบโตเพียง 1.9% ในปี 2566 ที่ออกมาต่ำกว่าที่ตลาดคาด ซึ่งเป็นผลจากอุปสรรคทางการเมืองที่ทำให้งบประมาณรัฐบาลปี 2567 ล่าช้า

“ถ้าเราลดอัตราดอกเบี้ยลง มันไม่ได้ทำให้นักท่องเที่ยวจีนใช้จ่ายมากขึ้น หรือทำให้บริษัทจีนนำเข้าปิโตรเคมีจากประเทศไทยมากขึ้นแต่อย่างใด แล้วมันก็ไม่ได้ทำให้รัฐบาลกระจายงบประมาณได้รวดเร็วขึ้นด้วย และนี่คือปัจจัยหลัก 3 ประการที่ทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจไทยค่อนข้างช้า” นายเศรษฐพุฒิ กล่าว

สื่อญี่ปุ่นรายงานว่า แรงกดดันทางการเมืองที่ส่งถึงธนาคารกลางกำลังมีมากขึ้น ประกอบกับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปติดลบต่อเนื่องถึง 4 เดือน ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากการอุดหนุนด้านพลังงานของภาครัฐ ประกอบกับรายรับจากการท่องเที่ยวที่อ่อนแอและการหดตัวของการส่งออก แต่ในการประชุมเมื่อวันที่ 7 ก.พ. ธนาคารกลางยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.5% ซึ่งเป็นการปฏิเสธข้อเรียกร้องของนายกฯเศรษฐา ทวีสิน ที่เรียกร้องให้ลดดอกเบี้ยนโยบายลง

นายเศรษฐาได้ย้ำถึงข้อเรียกร้องนี้อีกครั้งเมื่อวันที่ 19 ก.พ.ที่ผ่านมา หลังจากมีการเปิดเผยตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (จีดีพี) ที่อ่อนแอลง และเรียกร้องให้ธนาคารกลางจัดการประชุมหารือเป็นการฉุกเฉินก่อนการประชุมทั่วไปที่จะมีขึ้นในวันที่ 10 เม.ย.นี้

นายเศรษฐพุฒิ กล่าวถึงความสัมพันธ์ของเขากับนายเศรษฐา ซึ่งควบตำแหน่ง รมว.คลัง โดยยืนยันว่า นายเศรษฐา มีความเป็นมืออาชีพและมีความจริงใจ 'แต่ปฏิเสธว่าเศรษฐกิจไทยอยู่ในภาวะวิกฤต' แม้ว่านายเศรษฐาได้พยายามชี้ตัวเลขทางเศรษฐกิจที่อ่อนแอมาตลอด เพื่ออ้างว่าเศรษฐกิจไทยวิกฤติ ซึ่งนี่จะส่งผลทำให้กระบวนการทางนิติบัญญัติ สามารถอนุมัติการเดินหน้านโยบาย 'ดิจิทัลวอลเล็ต' ได้ง่ายขึ้น

“การฟื้นตัวแม้จะมีความอ่อนแอ แต่มันก็มีความต่อเนื่อง” ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยกล่าว

นิกเกอิรายงานต่อไปว่า ท่าทีของรัฐบาลที่มีต่อธนาคารกลาง ทําให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับความเป็นอิสระของธนาคารกลาง ซึ่งส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน ขณะที่เศรษฐพุฒิไม่มีสิทธิ์ได้รับการต่ออายุ หลังจากหมดวาระในปี 2568 เนื่องจากเขาจะเกษียณอายุในวัย 60 ปี 

“มีความตึงเครียดแต่ก็อยู่ในลักษณะที่สร้างสรรค์ระหว่างรัฐบาลและธนาคารกลางอยู่เสมอ เพราะเราสวมหมวกที่แตกต่างกัน ไม่มีเหตุผลใดที่ทั้งสองจะทํางานร่วมกันไม่ได้ คุณเพียงแค่ต้องเข้าใจว่า เรามีบทบาทที่แตกต่างกันตามกฎหมาย” นายเศรษฐพุฒิกล่าว

ผู้ว่าการธนาคารฯ กล่าวต่อว่า ก่อนหน้านี้ ธนาคารกลางได้ฝ่าฟันกับเสียงเรียกร้องเพื่อให้เปลี่ยนแปลงนโยบาย หลังมีข้อวิจารณ์ว่าอัตราดอกเบี้ยของไทยตามหลังแนวโน้มของทั่วโลกที่มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยตั้งแต่ปี 2565

“เราบอกว่าไม่ นั่นไม่เหมาะสมสำหรับเรา เพราะว่าการฟื้นตัวของเรานั้นช้ากว่าประเทศอื่นๆ” นายเศรษฐพุฒิระบุ

ในการประชุมเมื่อวันที่ 10 ก.พ. คณะกรรมการฯ (คณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง.) จำนวน 2 คนลงมติให้มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% ซึ่งนายเศรษฐพุฒิ กล่าวกับนิกเกอิว่า เสียงส่วนน้อยมีความกังวลเกี่ยวกับอุปสรรคเชิงโครงสร้างที่มีความรุนแรงมาก ดังนั้น จึงอาจเป็นเรื่องสมเหตุสมผลที่จะต้องปรับลดอัตราดอกเบี้ยให้ใกล้เคียงกับสิ่งที่พวกเขาคิดว่าเป็น “ความเป็นกลางในรูปแบบใหม่”

นอกเหนือจากปัญหาเชิงโครงสร้างที่ดำเนินมาอย่างยาวนาน อาทิ จำนวนประชากรและผลิตผลจากแรงงานที่ลดลงแล้ว คณะกรรมการฯยังเห็นถึงความกังวลที่ประเทศไทยพึ่งพาภาคการส่งออกและภาคการท่องเที่ยว ซึ่งมีแรงงานคิดเป็นสัดส่วนถึง 1 ใน 5 ของแรงงานไทยทั้งหมด และคิดเป็นสัดส่วนที่ใกล้เคียงกันเมื่อเทียบกับในจีดีพี

“สิ่งที่เราเห็น คือ การทดแทนการนําเข้ามากขึ้นในประเทศจีน...ซึ่งนั่นไม่เพียงสะท้อนให้เห็นถึงความอ่อนแอของวัฏจักรในเศรษฐกิจจีน แต่ยังรวมถึงการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างที่พวกเขา (จีน) ที่ผลิตด้วยตัวเองมากขึ้น และไม่ได้มีการนำเข้า” นายเศรษฐพุฒิกล่าว

ในขณะที่การเข้าพักที่สั้นลงและการใช้จ่ายที่ลดลงของนักท่องเที่ยว ก็ทำให้เกิดความกังวลเช่นกัน โดยนายเศรษฐพุฒิ ตั้งข้อสงสัยว่า ประเทศไทยอาจจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาถึง 40 ล้านคนต่อปี แต่ตัวเลขนี้เป็นตัวเลขที่บันทึกไว้ในปี 2562 ก่อนโควิดระบาด

“สิ่งต่างๆ เปลี่ยนไปมากอันเป็นผลมาจากโควิด” ผู้ว่าการธนาคารฯกล่าว และระบุว่า “มันเป็นเรื่องเสี่ยงที่จะสรุปว่า ทุกอย่างจะกลับไปเป็นเหมือนเดิมด้วยความล่าช้า คุณต้องทำอะไรสักอย่าง หากคุณต้องการได้ตัวเลขนั้น”

อนึ่ง นายกรัฐมนตรีเศรษฐา เคยกล่าวว่า เขาจะไม่แทรกแซงธนาคารกลางแต่จะพยายามโน้มน้าวให้ "เห็นใจคนที่กำลังทรมาน”

นายเศรษฐพุฒิ กล่าวย้ำกับนิกเกอิว่า “พวกเขากำลังเผชิญกับความเจ็บปวด เพราะว่ารายได้ไม่มีการเติบโตอย่างรวดเร็วตามที่เราต้องการ แต่เราก็รู้สึกถึงวิธีการที่ดีกว่าในการแก้ไขปัญหา คือ การออกมาตรการที่ตรงเป้าหมาย และมันไม่ใช่เรื่องที่เหมาะสม ที่จะต้องมาแจกอุปกรณ์ช่วยชีวิตให้กับทุกๆคน”

ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศ กล่าวว่า เขารับรู้ถึงผลกระทบของอัตราดอกเบี้ยที่สูงที่มีต่อผู้กู้ แต่กล่าวว่า การลดอัตราดอกเบี้ยก่อนเวลาอันควร จะเสี่ยงต่อเสถียรภาพทางการเงิน เนื่องจากหนี้ครัวเรือนยังคงอยู่ที่มากกว่า 90% ของจีดีพี

“ผมคิดว่าหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นนั้น ไม่ใช่ส่วนเล็กๆเลย เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยต่ำมากมาเป็นเวลา มันกระตุ้นให้คนกู้ยืม ดังนั้น การลดอัตราดอกเบี้ยอีกครั้ง ผมคิดว่าเป็นการส่งสัญญาณที่ผิด ในแง่ของการพยายามทําให้หนี้ครัวเรือนมีความยั่งยืนมากขึ้น” นายเศรษฐพุฒิกล่าว

'สภาอุตฯ' เผย!! ตัวเลขเดือนมกราคม 67 ยอดผลิตรถ EV พุ่ง 9,000% ยอดขายในตลาดเติบโต 200% มี EV ไหลวนบนถนนแล้ว 1.48 แสนคัน

(23 ก.พ. 67) เริ่มต้นเดือนแรกของปีด้วยการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของยานยนต์ไฟฟ้า เมื่อกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ได้เผยแพร่รายงานจำนวนการผลิต ยอดขายภายในประเทศ และการส่งออกรถยนต์และรถจักรยานยนต์ของประเทศ ในเดือนมกราคม 2567

โดยยอดผลิต EV พุ่งกระฉูด อาทิ ในส่วนของรถยนต์นั่ง เดือนมกราคม 2567 ผลิตได้ 52,509 คัน ลดลง -7.27% จากเดือนมกราคม 2566 โดยตัวเลขการผลิต EV พุ่งกระฉูดเกือบหนึ่งหมื่นเปอร์เซ็นต์จากการเริ่มตั้งโรงงานผลิตต่าง ๆ ของค่ายรถโดยเฉพาะแบรนด์จีน ซึ่งการผลิตจะต้องเพิ่มมากขึ้นเพื่อตอบสนองต่อนโยบาย EV 3.5 ดังนี้...

-สันดาป (ICE) 32,655 คัน ลดลง -28.95% จากเดือนมกราคม 2566
-แบตเตอรี่ (BEV) 652 คัน เพิ่มขึ้น +9,214.29% จากเดือนมกราคม 2566 
-ไฮบริด (HEV) 18,801 คัน เพิ่มขึ้น +94.63% จากเดือนมกราคม 2566
-ปลั๊กอิน (PHEV) 401 คัน ลดลง -59.70% จากเดือนมกราคม 2566

ด้านยอดขาย EV เริ่มท้าทายตลาด โดยเมื่อเทียบสัดส่วนเดือนมกราคมปีก่อนกับปีนี้ จะเห็นได้ว่า ปีที่แล้ว ICE ครองตลาด 30% ส่วน BEV และ HEV ยังมีตัวเลขอยู่ในหลักหน่วย แต่ปีนี้ การเติบโตของอีวีที่มีหลายเจ้าเข้าตลาดไทยมา ทำให้ยอดขาย BEV เติบโตในระดับ 200% ดังนี้...

-สันดาป (ICE) 14,373 คัน สัดส่วน 26.22 ของยอดขายทั้งหมด ลดลง -32.81%
-แบตเตอรี่ (BEV) 9,763 คัน สัดส่วน 17.81 ของยอดขายทั้งหมด เพิ่มขึ้น +205.48%
-ไฮบริด (HEV) 10,130 คัน สัดส่วน 18.48 ของยอดขายทั้งหมด เพิ่มขึ้น +71.52%
-ปลั๊กอิน (PHEV) 98 คัน สัดส่วน 0.18 ของยอดขายทั้งหมด ลดลง -67.66%

ส่วนยอด EV สะสมนั้น BEV ยังคงเป็นดาวเด่น ดังนี้...

- แบตเตอรี่ (BEV) มีจำนวนทั้งสิ้น 147,743 คัน เพิ่มขึ้น +301.75% จากปีก่อน
- ไฮบริด (HEV) มีจำนวนทั้งสิ้น 357,645 คัน เพิ่มขึ้น +33.75% จากปีก่อน
- ปลั๊กอิน (PHEV) มีจำนวนทั้งสิ้น 54,907 คัน เพิ่มขึ้น + 26.63 จากปีก่อน


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top