Monday, 6 May 2024
น้ำท่วม

กรุงเทพฯ - "ลุงป้อม" ห่วงน้ำท่วมขังเสีย สั่งเตรียมรับมือฤดูฝนภาคใต้ เร่งวางแผนแก้น้ำเค็ม - น้ำท่วม - น้ำแล้งซ้ำซาก

พล.อ.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ เปิดเผยว่า เมื่อ  พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีได้เรียกประชุม คณะอนุกรรมการอำนวยการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ครั้งที่ 2/64 ณ ห้องประชุม สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เพื่อเตรียมรับมือฤดูฝนภาคใต้ รวมทั้งติดตามบริหารจัดการสถานการณ์ท่วมและน้ำแล้งในภาพรวม

ที่ประชุมรับทราบสถานการณ์สภาพอากาศ รวมทั้งการบริหารจัดการน้ำปัจจุบัน ในพื้นที่ลุ่มต่ำ แหล่งน้ำขนาดใหญ่ - กลาง และเขื่อนระบายน้ำ ซึ่งในภาพรวมยังสามารถควบคุม โดยมีแหล่งน้ำขนาดใหญ่ 38 แห่งที่ต้องเฝ้าระวัง สำหรับการคาดการณ์พื้นที่เสี่ยงอุทกภัยในพื้นที่สำคัญทั่วประเทศ ระหว่าง ต.ค.- ธ.ค.64 มีแนวโน้มลดลง เว้นภาคใต้ มีพื้นที่เสี่ยงเพิ่มขึ้นจากฤดูฝนที่กำลังมาถึง โดยมีโอกาสสูงในการเกิดพายุเคลื่อนผ่านภาคใต้ มีพื้นที่เสี่ยง 725 ตำบล 43,495 หมู่บ้านใน 16 จว. ทุกหน่วยงานได้เตรียมความพร้อมรับมือกับอุทกภัย โดยได้ขุดลอกคูคลอง กำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ ทำพนังกั้นน้ำและก่อสร้างทางระบายน้ำไปยังพื้นที่รับน้ำ เพื่อลดความเสี่ยงและความเสียหายที่จะเกิดขึ้น

สำหรับการบริหารจัดการน้ำฤดูแล้ง ได้พิจารณาวางแผนจากการคาดการณ์น้ำต้นทุน ปริมาณการใช้น้ำและพื้นที่เสี่ยงน้ำแล้ง พบความเสี่ยงขาดแคลนน้ำอุปโภค บริโภคใน 5 จว. 9 อำเภอ 25 ตำบล มีพื้นที่เฝ้าระวังเสี่ยงน้ำแล้งด้านการเกษตร นอกเขตชลประทาน 11 จว. ซึ่งอยู่ระหว่างเร่งกำหนดมาตรการรองรับ ทั้งการเก็บกักน้ำ จัดหาแหล่งน้ำสำรองในพื้นที่เสี่ยง การเติมน้ำ การจัดสรรน้ำฤดูแล้ง การวางแผนเพาะปลูกพืช การเตรียมน้ำสำรองในพื้นที่ลุ่มต่ำ การเฝ้าระวังคุณภาพน้ำ รวมทั้งการติดตามประเมินผล

พล.อ.ประวิตร ได้ย้ำแสดงความห่วงใยถึงประชาชนที่ยังได้รับผลกระทบจากอุทกภัยในพื้นที่ทั่วประเทศ โดยกำชับ สทนช.บูรณาการทำงานร่วมกับทุกหน่วยงาน ยังคงต้องติดตามสถานการณ์สภาพอากาศที่อาจพัฒนาก่อตัวเป็นพายุซ้ำเติมพื้นที่น้ำท่วมเดิม พร้อมทั้งให้เร่งระบายน้ำในพื้นที่น้ำท่วมขังเข้าแหล่งน้ำขนาดใหญ่และลำน้ำสายหลักตามแผนและสถานการณ์ ทั้งนี้ให้นำจุลินทรีย์มาใช้ปรับปรุงคุณภาพน้ำในพื้นที่ท่วมขังนานและเกิดการเน่าเสียหวั่นกระทบสร้างปัญหาโรคระบาด โดยเฉพาะพื้นที่ภาคใต้ ขอให้ทบทวนปรับปรุงและซักซ้อมแผนเผชิญเหตุร่วมกัน และให้ตรวจสอบระบบเตือนภัยให้สามารถแจ้งเตือนภัยล่วงหน้าในพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมที่เคยเกิดปัญหา เพื่อลดผลกระทบและความเสียหายที่เกิดขึ้น

 

กัมพูชา – น้ำท่วมในพนมเปญส่งผลกระทบต่อ 3000 ครอบครัว

ครอบครัวชาวกัมพูชาประมาณ 3,000 ครอบครัวทางตอนใต้ของกรุงพนมเปญได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมที่เกิดจากฝนตกหนักในกัมพูชา ซึ่งครอบครัวเหล่านั้นถูกบังคับให้อาศัยอยู่ในที่พักพิงชั่วคราวและเต๊นท์ เพื่อรอให้ระดับน้ำลดลงตามถนนและบ้านเรือนของพวกเขา ผู้อยู่อาศัยยืนยันว่าพวกเขาไม่ได้เห็นน้ำท่วมใหญ่เช่นนี้มานานกว่า 20 ปีแล้ว น้ำท่วมในประเทศตั้งแต่ต้นเดือนตุลาคมได้คร่าชีวิตผู้คนไปเป็นจำนวนมาก และสร้างความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อบ้านเรือนและโครงสร้างพื้นฐานของพลเมือง

เสียงจาก (ชาวบ้าน) “เราอยู่ในเต็นท์ (หนึ่งสัปดาห์) เราไม่สามารถอาศัยอยู่ในบ้านของเรา บ้านบางหลังถูกน้ำพัดพัดพาไป น้ำเกือบถึงหลังคาบ้านแล้ว ฉันอาศัยอยู่ที่นี่มากว่า 20 ปี และไม่เคยเห็นน้ำท่วมแบบนี้มาก่อน อยู่กับน้ำท่วมลำบาก เราไม่มีไฟฟ้าและไม่มีน้ำสะอาด ลูกๆ ของเรากำลังเผชิญกับปัญหาต่างๆ เช่น โรค แมลง และงู ดังนั้นเราจึงพยายามปกป้องเด็กๆ ของเรา เราไม่สามารถไปทำงานหรือทำธุรกิจใด ๆ ได้เพราะน้ำขึ้นสามครั้งต่อวัน อยากจะขอให้รัฐบาลจัดระบบการเบี่ยงน้ำให้ดีกว่านี้ จะได้ไม่โดนน้ำท่วมอีก เราเสียเวลาของเราเพราะเราไม่สามารถไปทำงานหรือทำธุรกิจได้”

เฮง โสภณ – คนขายอาหาร บอกว่า “เจ้าพนักงานท้องถิ่นเตือนเรื่องอุทกภัยครั้งนี้แล้ว แต่ไม่คิดว่าน้ำจะขึ้นเร็วขนาดนี้ เราคิดว่ามันจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเหมือนปีที่แล้ว มีมากกว่า 50 ครอบครัวที่อาศัยอยู่ในเต็นท์ที่นี่”

ศรี มุจ– คนงานในโรงงาน บอกว่า “จู่ๆ น้ำก็ขึ้นมาเร็ว เราเลยไม่ได้เตรียมตัวไว้ อย่างแรก น้ำอยู่ในระดับต่ำแต่ก็มาถึงคอฉันอย่างรวดเร็ว”

ประเมินน้ำท่วมสูญ 1.6 ล้านไร่ เสียหาย 5,400 ล้าน

ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัยฯ ประเมินผลผลิตข้าวที่เสียหายจริงหลังจากได้รับผลกระทบจากอุทกภัย อยู่ที่ประมาณ 1.6 ล้านไร่ คิดเป็นเพียง 2.3% ของพื้นที่ปลูกข้าวทั้งประเทศ และคิดเป็นมูลค่าความเสียหายรวมประมาณ 5,400 ล้านบาท โดยผลผลิตข้าวที่ได้รับเสียหายส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่จังหวัด นครราชสีมา นครสวรรค์ ชัยภูมิ ศรีสะเกษ และพิจิตร เนื่องจากมีน้ำท่วมขังเป็นเวลานาน

สำหรับผลกระทบจากอุทกภัยในปี 2564 ส่งผลเสียหายน้อยเมื่อเทียบกับมหาอุทกภัยในปี 2554 และปัญหาภัยแล้งในปี 2558 โดยอุทกภัยปี 2554 มีพื้นที่เพาะปลูกข้าวที่ได้รับความเสียหายจริงอยู่ที่ 11.2 ล้านไร่ คิดเป็นมูลค่าความเสียหายรวมถึง 43,600 พันล้านบาท ขณะที่ภัยแล้งในปี 2558 มีพื้นที่เพาะปลูกข้าวที่ได้รับความเสียหายจริงอยู่ที่  2.9 ล้านไร่ คิดเป็นมูลค่าความเสียหายรวมประมาณ 10,500 ล้านบาท

"กรมการทหารช่าง" ส่ง กำลังพล-ยุทโธปกรณ์ ช่วยประชาชน ขนย้านสิ่งของหนีน้ำท่วม พร้อมรับซื่อสินค้าเกษตร

กรมการทหารช่าง โดย กองพลทหารช่าง (ช.11 พัน.602) จัดกำลังพลและยุทโธปกรณ์เข้าช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยน้ำท่วม ในพื้นที่ ต.ยางหัก อ.ปากท่อ จว.ราชบุรี 

โดยการช่วยเหลือเบื้องต้นเป็นการช่วยขนย้ายประชาชนและสิ่งของ ออกจากพื้นที่น้ำท่วม และสะพานขาด ถนนไม่สามารถใช้สัญจรได้  

 

“อลงกรณ์” ระดมทีม! ‘กรมชลประทาน และจังหวัดเพชรบุรี’ เร่งรับมือสถานการณ์น้ำท่วม

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นประธานการประชุมรับมือสถานการณ์น้ำท่วมที่โครงการชลประทานเขื่อนเพชรหลังจากฝนตกหนักที่เพชรบุรีเมื่อคืนที่ผ่านมาร่วมกับนายทวีศักดิ์ ธนเดโชพลรองอธิบดีกรมชลประทาน ณัฐวุฒิ เพ็ชรพรหมศร รองผู้ว่าเพชรบุรี นายสันต์ จรเจริญ ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเพชรบุรี นายสมเกียรติ แจ่มจันทร์ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานเพชรบุรี ตัวแทนเทศบาลเมืองเพชรบุรีรักษาการผอ.สำนักชลประทานที่ 14 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

โดยนายอลงกรณ์ กล่าวภายหลังการประชุมว่าจากสถานการณ์ฝนตกหนักเหนืออ่างเก็บน้ำและใต้อ่างเก็บน้ำทั้ง 3 แห่ง คือ แก่งกระจาน แม่ประจันต์และห้วยผากเมื่อวานนี้ทำให้มีมวลน้ำจากลุ่มน้ำทั้ง3ไหลลงมาที่เชี่ยนเพชรจำนวนมาก ที่ประชุมจึงกำหนดแผนการระบายน้ำในคลองชลประทานหลัก4สายและแม่น้ำเพชรบุรีอย่างเป็นระบบให้มีผลกระทบต่อประชาชนและขุมชน2ฝั่งแม่น้ำเพชรบุรีน้อยที่สุดพร้อมกับแจ้งเตือนล่วงหน้าให้ประชาชนริมฝั่งแม่น้ำและในพื้นที่ลุ่มต่ำยกของขึ้นที่สูงระมัดระวังเรื่องไฟฟ้าและย้ายสัตว์เลี้ยงไปไว้ในที่ปลอดภัยพร้อมกับให้ท้องถิ่นเสริมแนวตลิ่งที่ต่ำป้องกันน้ำล้นฝั่ง 

ในส่วนกรมชลประทานได้ระดมเครื่องสูบน้ำเครื่องผลักดันน้ำและเครื่องจักรกลช่วยเหลือจังหวัดเพชรบุรีอย่างเต็มที่ตามข้อสั่งการของดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีเกษตรฯและนายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน

นอกจากนี้ยังได้ประสานพลเรือเอก ดร.สมัย ใจอินทร์ขอการสนับสนุนเครื่องดันน้ำจากกองทัพเรือซึ่งส่งมาช่วยเพชรบุรีทุกครั้งที่ประสบภัยน้ำท่วม และขอการสนับสนุนกำลังพลและเครื่องจักรกล จากพล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคลรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมและอดีตสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ โดยเพื่อช่วยป้องกันน้ำท่วมและช่วยระบายน้ำท่วมขังในพื้นที่ขุมชนเมืองและพื้นที่เกษตร

“น้ำท่วมครั้งนี้เป็นการท่วมแบบล้นตลิ่ง และท่วมที่ลุ่มต่ำเฉพาะบางพื้นที่ในระยะสั้น ไม่ได้ท่วมทั้งจังหวัดจึงไม่มีผลกระทบต่อการค้าธุรกิจ และการท่องเที่ยวในวงกว้างแต่อย่างใด ส่วนพื้นที่เกษตรที่ได้รับความเสียหาย จะได้รับการดูแลช่วยเหลือเยียวยาจากทางราชการโดยเร็วต่อไป”

พล.1 รอ. เฝ้าระวัง 5 จุดเสี่ยง น้ำเอ่อล้น 24 ชม. พร้อมวางแผนปฏิบัติร่วม สำนักเขต-สำนักระบายน้ำ-ผู้นำชุมชน หวั่นน้ำทะลักเข้าพื้นที่

กองพลที่ 1 รักษาพระองค์  (พล 1 รอ.)ได้ สรุปสถานการณ์จุดเสี่ยงน้ำท่วมเอ่อล้นจากน้ำทะเลหนุนสูงในพื้นที่รับผิดชอบในเขตดุสิต และเขตบางพลัด  5 จุด คือ 1.ชุมชนวัดเทวราชกุญชร 2.ชุมชนมิตรคาม 3.ชุมชนราชผาทับทิมร่วมใจ 4.ชุมชนสีคาม 5.ท่าเขียวไข่กา พบว่า ทุกพื้นที่ยังมีปริมาณน้ำมาก แต่อยู่ในระดับที่แนวเขื่อนกั้นน้ำสามารถรองรับได้  และปริมาณน้ำไม่สามารถเข้ามาในพื้นที่เขตดุสิต 

โดยจัดเจ้าหน้าที่ทหาร รวมกับเจ้าหน้าที่เขตดุสิตและประชาชนในชุมชนเฝ้าระวังระดับสถานการณ์ในพื้นที่อย่างต่อเนื่องตลอด 24 ชม. พร้อมวางแผนการปฏิบัติ ระหว่างสำนักงานเขต สำนักระบายน้ำ และ ผู้นำชุมชน  ในด้านการเตรียมการช่วยเหลือประชาชน หากเกิดน้ำทะลักเข้าพื้นที่ ดังนี้

1.ประสานกับหน่วยเฝ้าระวังของเขตบางพลัดตลอด 24 ชม.
2.จัดชุดปฏิบัติการกองกิจการพลเรือน พล.1 รอ. มาตรวจพื้นที่ช่วงเวลาน้ำขึ้น
3.ดำเนินการกรอกกระสอบทราบเพิ่มเติมร่วมกับเขต ไว้เสริมแนวป้องกัน
4.จัดกำลังชุดช่วยเหลือประชาชนพร้อมที่หน่วยตลอด 24 ชม.

“บิ๊กตู่” สั่งกองทัพ ลงหนุนช่วยชุมชนสองฝั่งเจ้าพระยา ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำเอ่อล้นตลิ่ง เหตุน้ำทะเลหนุนสูง

พล.อ.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา  นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ที่ผ่านมา  กระทรวงกลาโหม โดยทุกเหล่าทัพร่วมกับจิตอาสา ยังคงกระจายกำลังลงพื้นที่เข้าไปช่วยสนับสนุน กทม. จว.นนทบุรี และ จ.สมุทรปราการ เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงและช่วยเหลือประชาชนในชุมชนริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาในหลายเขตของ กทม. เช่น เขตราษฎร์บูรณะ, เขตดุสิต ,เขตพระนคร ,เขตสัมพันธวงศ์ ,เขตยานนาวา, เขตพระโขนง ,เขตบางนาและเขตบางพลัด  ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำเอ่อล้นเข้าพื้นที่ ชุมชนต่างๆได้รับความเดือดร้อน จากสถานการณ์น้ำทะเลหนุนสูงต่อเนื่อง ระหว่าง 5-12 พ.ย.64 

ธ.ก.ส.จัดสินเชื่อเพิ่มหมื่นล.อุ้มช่วยเกษตรกรเจอน้ำท่วม 

นายสมเกียรติ กิมาวหา รองผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ธ.ก.ส. ได้ออกมาตรการสินเชื่อฟื้นฟูและพัฒนาคุณภาพชีวิต วงเงินรวม 10,000 ล้านบาท เพื่อให้เกษตรกรนำไปใช้เป็นค่าลงทุนในการประกอบอาชีพ การสร้าง ซ่อมแซมที่อยู่อาศัยที่ได้รับความเสียหาย หรือลงทุนซ่อมแซมโรงเรือนการเกษตร เครื่องมือ เครื่องจักรกลการเกษตร เพื่อฟื้นฟูการประกอบอาชีพการเกษตรหลังจากได้รับความเสียหาย วงเงินรายละ ไม่เกิน 500,000 บาท อัตราดอกเบี้ย MRR-2 (ปัจจุบัน MRR เท่ากับ 6.50% ต่อปี) ระยะเวลาชำระคืนไม่เกิน 15 ปี นับแต่วันกู้

ก่อนหน้านี้ ธ.ก.ส. ได้ออกสินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายฉุกเฉิน วงเงินรวม 10,000 ล้านบาท เพื่อให้ผู้ประสบภัยนำไปใช้จ่ายที่จำเป็นเร่งด่วนภายในครัวเรือน รายละไม่เกิน 50,000 บาท อัตราดอกเบี้ย 0% ต่อปี เป็นระยะเวลา 6 เดือน และตั้งแต่เดือนที่ 7 อัตราดอกเบี้ย MRR (ปัจจุบัน MRR เท่ากับ 6.50% ต่อปี) ระยะเวลาชำระคืนไม่เกิน 3 ปี นับแต่วันกู้

เพชรบุรี - น้ำลด! ถนนเพชรเกษมขึ้นล่องปกติ รองผู้ว่าฯเพชรบุรี ขอบคุณพี่น้องประชาชน ที่ร่วมแรงร่วมใจบริหารจัดการน้ำในครั้งนี้ ให้ผ่านพ้นวิกฤติน้ำท่วมไปได้ด้วยดี

วันที่ 11 พ.ย. นายณัฐวุฒิ เพ็ชรพรหมศร รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี รักษาราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี เปิดเผยว่าขณะนี้สถานการณ์น้ำในเขตเทศบาลเมืองเพชรบุรีอยู่ในระดับที่ไม่ล้นตลิ่ง กระทบกับพื้นที่ลุ่มต่ำอยู่บ้าง ปริมาณน้ำอยู่ในสถานการณ์ที่สามารถควบคุมได้ แต่ยังคงเร่งสูบน้ำระบายน้ำในพื้นที่ลุ่มต่ำลงสู่ทะเลให้เร็วที่สุด

เส้นทางการการจราจรในพื้นที่อำเภอเมืองจังหวัดเพชรบุรีสัญจรได้ตามปกติ ถนนเส้นเพชรเกษมขาเข้ากรุงเทพฯเเละขาล่องใต้สามารถสัญจรผ่านไปมาได้ ส่วนบริเวณทางลอดโรบินสัน (วัดท่าไชยศิริ) ตำบลสมอพลือ ยังคงมีน้ำท่วมขังแต่ไม่กระทบกับพี่น้องประชาชนในการสัญจรเข้าเข้ามาทำงานและจับจ่ายซื้อของในเมือง สำหรับพื้นที่ชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากน้ำเอ่อท่วมก็จะมีเจ้าหน้าที่ลงไปให้ความช่วยเหลือเยียวยา

“ขอขอบคุณพี่น้องประชาชนชาวจังหวัดเพชรบุรี ที่ร่วมแรงร่วมใจบริหารจัดการน้ำในครั้งนี้ ให้ผ่านพ้นวิกฤติน้ำท่วมไปได้ด้วยดี ในขั้นต่อไปจะเป็นการดูแลเยียวยาประชาชนผู้ได้รับผลกระทบในพื้นที่ อำเภอท่ายาง อำเภอบ้านลาด อำเภอเมือง และอำเภอบ้านแหลม เบื้องต้นสาธารณสุขจังหวัดเพชรบุรีนำยาและเวชภัณฑ์ป้องกันน้ำกัดเท้าไปแจกจ่ายแล้ว ประชาชนที่ได้รับผลกระทบติดต่อได้ที่ส่วนราชการในพื้นที่ได้ทันที” นายณัฐวุฒิ กล่าว

 

“ประวิตร” ลงพท.นครสวรรค์ ดูระบบระบายน้ำ พื้นที่เจ้าพระยาตอนบน พร้อมติดตามความคืบหน้าการพัฒนาบึงบอระเพ็ด และการช่วยเหลือน้ำท่วม

พล.อ.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกประจำรองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี พร้อมคณะ ลงพื้นที่ จ.นครสวรรค์  รับฟังการบรรยายสรุปการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำภาพรวม จากส่วนราชการต่างๆ ณ ศาลากลางจังหวัด เพื่อติดตามความคืบหน้าการบริหารจัดการน้ำพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาตอนบน และการช่วยเหลือประชาชนที่ประสบอุทกภัยในพื้นที่ 

ทั้งนี้พล.อ.ประวิตร ได้กล่าวย้ำว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับ จ.นครสวรรค์ ซึ่งถือเป็นพื้นที่ด้านทรัพยากรนำ้ของประเทศ รวมทั้งเป็นจุดกำเนิดของแม่น้ำเจ้าพระยา และแหล่งน้ำธรรมชาติบึงบอระเพ็ด ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวยังคงเป็นพื้นที่ที่มีปัญหาน้ำท่วมและปัญหาการขาดแคลนน้ำ เพื่อการเกษตรและอุปโภคบริโภคในช่วงฝนทิ้งช่วงในคราวเดียวกัน 

พล.อ.ประวิตร จึงได้กำชับทุกส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะ กรมชลประทาน กรมโยธาธิการและผังเมือง และ จ.นครสวรรค์ ให้การสนับสนุน สทนช. เร่งขับเคลื่อนแผนบริหารจัดการลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนบนในพื้นที่ จ.นครสวรรค์ ให้มีความคืบหน้า โดยเฉพาะโครงการระบบป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนวัดไทรย์ ให้เสร็จสิ้นทันรองรับสถานการณ์น้ำหลากในปีถัดไป  


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top