Monday, 6 May 2024
น้ำท่วม

“รองโฆษกรัฐบาล” เผย รมว.คมนาคม สั่งติดตามน้ำท่วมใต้ “สั่งติดป้ายเตือน-แนะนำเลี่ยงเส้นทาง-จุดพักรถ-จัดจนท.ดูแลปชช.”เตรียมฟื้นฟูหลังน้ำลด แจง ปิดถนนสายเอเชีย “สี่แยกปฐมพร จ.ชุมพร ทั้งขาขึ้นกทม.-ขาล่องใต้-หยุดเดินรถไฟสถานีสวี-เขาสวนทุเรียน” 

ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จากอิทธิพลของมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือพัดปกคลุมอ่าวไทย ส่งผลให้หลายจังหวัดในภาคใต้มีฝนตกหนัก น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำล้นตลิ่ง เช่น จ.เพชรบุรี ระนอง ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย แจ้งให้พื้นที่ 15 จังหวัด ภาคใต้ เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และคลื่นลมแรง ช่วงวันที่ 12-14 พ.ย. นี้

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ส่วนผลกระทบด้านคมนาคม นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท การรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.)รายงานผลกระทบจากอุทกภัย การสัญจรของประชาชนในพื้นที่ โดยให้ติดตั้งป้ายเตือน ป้ายแนะนำเส้นทางเลี่ยงบริเวณสายทางที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย จัดเจ้าหน้าที่ติดตามสถานการณ์ เพื่อเข้าช่วยเหลือประชาชน โดยล่าสุดต้องปิดเส้นทางถนนทางหลวงหมายเลข 41 (ถนนเอเชีย 41) ตั้งแต่สี่แยกปฐมพร จนถึง อ.หลังสวน จ.ชุมพร  ทั้งขาขึ้นกรุงเทพฯ และขาล่องใต้ เนื่องจากน้ำท่วมสูงการจราจรไม่สามารถผ่านได้  

ขณะที่การรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.)รายงานว่า ตั้งแต่ช่วงค่ำของวันที่ 12 พ.ย.ประกาศปิดทางในเส้นทางสายใต้ ช่วงระหว่างสถานีสวี - เขาสวนทุเรียน อ.สวี จ.ชุมพร เนื่องจากสถานการณ์น้ำท่วม ส่งผลให้ต้องหยุดเดินรถเพื่อรอการเปิดทางรวม 8 ขบวน นอกจากนั้นสั่งการให้เตรียมการสำหรับการฟื้นฟูสายทางที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัย เพื่อให้หลังน้ำลดแล้วเข้าดำเนินการฟื้นฟู ส่งคืนพื้นผิวจราจร ให้ประชาชนสัญจรตามปกติให้เร็วที่สุด

ทหารสตูล ลุยพื้นที่น้ำท่วม!! เร่งช่วยชาวบ้านขนของขึ้นที่สูงหนีน้ำ และนำรถแม็คโคลงขุดสิ่งกีดขวางทางน้ำ ขณะมวลน้ำไหลบ่าเข้าท่วมบ้านเรือน

วันนี้ 18 พ.ย.2564 พ.อ. เรวัตร เซ่งเข็ม ผู้บังคับกองพันทหารราบที่ 2 กรมทหารราบที่ 5 / ผู้อำนวยการศูนย์บรรเทาสาธารณภัย กองพันทหารราบที่ 2 กรมทหารราบที่ 5 พร้อมด้วยทหาร ร่วมกับเจ้าหน้าที่หลายหน่วยลงพื้นที่ช่วยชาวบ้านขนของขึ้นที่สูงหนีน้ำพร้อมทั้งได้นำรถแม็คโคเร่งขุดลอกเอากิ่งไม้ และเศษขยะที่ถูกน้ำพัดพามากีดขวางทางน้ำ อยู่ที่คอสะพาน ทำให้มวลน้ำเกิดการไหลช้า และไหลล้นตลิ่งเข้าท่วมบ้านเรือน เนื่องจากสภาพอากาศท้องฟ้าในจังหวัดสตูล ยังมืดครึ้ม บางพื้นที่มีฝนตก

ในขณะที่มวลน้ำจากตามภูเขาที่ได้สะสมกับน้ำฝนที่ตกมาหลายวันไหลเข้าท่วมบ้านชาวบ้านในพื้นที่จังหวัดสตูล ที่เป็นเส้นทางน้ำในขณะนี้ล่าสุดน้ำได้เข้าท่วมพื้นที่อำเภอควนโดน จังหวัดสตูล หลายหมู่บ้าน ชาวบ้านเดือดร้อน ทางอำเภอควนโดนประเมินบ้านเรือนที่ได้รับผลกระทบจากท้องถิ่น จำนวน 300 ครัวเรือน

 

สุราษฎร์ธานี - “นิพนธ์” ล่องใต้!! อ.กาญจนดิษฐ์ - ดอนสัก ช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วม กำชับทุกฝ่ายดูแลประชาชนอย่างใกล้ชิด ตลอดฤดูมรสุมและเร่งรัดฟื้นฟูเยียวยาโดยเร็ว

นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย พร้อมคณะ ได้เดินทางลงพื้นตรวจเยี่ยมและให้กำลังผู้ที่ประสบอุทกภัยน้ำท่วมในพื้นที่ตำบลท่าอุแท อำเภอกาญจนดิษฐ์ และตำบลชลคราม อำเภอดอนสัก จังหวัดสุราษฎร์ธานี พร้อมมอบถุงยังชีพบรรเทาความเดือดร้อนให้ผู้ประสบภัย จำนวน 200 ชุด ซึ่งสถานการณ์อุทกภัยในจังหวัดสุราษฎร์ธานี ตั้งแต่วันที่ 6 - 19 พฤศจิกายน 2564 ในพื้นที่ 14 อำเภอ และสถานการณ์คลี่คลายแล้วทั้งหมด แต่ยังมีการเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ความเสียหายในภาพรวมประสบอุทกภัย ในพื้นที่ 14 อำเภอ 52 ตำบล 268 หมู่บ้าน 3,147 ครัวเรือน 10,087 คน  มูลค่าความเสียหายเบื้องต้นประมาณ 86 ล้านบาท

นายนิพนธ์ กล่าวว่า สถานการณ์อุทกภัยขณะนี้ยังคงต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ซึ่งรัฐบาลมีความห่วงใยต่อความเดือดร้อนที่พี่น้องประชาชนกำลังประสบอยู่ในขณะนี้ จึงขอให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้ดูแลประชาชนอย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งให้เร่งรัดฟื้นฟูเยียวยาประชาชนโดยเร็วที่สุด โดยกระทรวงมหาดไทยนั้นมีภารกิจในการบำบัดทุกข์ บำรุงสุข ซึ่งในฐานะที่ตนกำกับดูแลกรมปภ. มีหน้าที่ในการดูแลประชาชนโดยตรงเมื่อเกิดทั้งภัยน้ำท่วมและน้ำแล้ง สิ่งสำคัญที่เน้นย้ำคือการสร้างที่ให้น้ำอยู่ ทำทางให้น้ำไหล จะเป็นการบริหารจัดการสถานการณ์ภัยจากน้ำได้อย่างครบวงจร สามารถบรรเทาความรุนแรงของภัยได้ รวมทั้งการแจ้งเตือนพี่น้องประชาชนให้รับทราบข้อมูลข่าวสารก่อนเกิดภัยก็จะมีส่วนช่วยให้ลดความรุนแรง ความสูญเสียได้อย่างมาก

 

เลขานุการในองค์ "หม่อมเจ้าอุทัยกัญญา ภาณุพันธุ์ " เชิญ "สิ่งของประทาน" ช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม จ.ชุมพร ในโครงการ ‘แสงอาทิตย์อุทัย ช่วยบรรเทาภัย ในอุปถัมภ์หม่อมเจ้าอุทัยกัญญา ภาณุพันธุ์’

หม่อมเจ้าอุทัยกัญญา ภาณุพันธุ์ ทรงกรุณาให้ "นายยุทธพงษ์  เอี้ยงอ้าย" เลขานุการในองค์ฯ เชิญสิ่งของอุปโภค บริโภค ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (น้ำท่วม) นำไปใช้ในการดำรงชีพเบื้องต้น เพื่อเป็นขวัญกำลังใจแด่ผู้ประสบภัย ให้ผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปได้ด้วยดี  

โดย เชิญ "สิ่งของประทาน” ให้แก่ ผู้ใหญ่บ้าน และตัวแทนผู้ประสบภัย จากหมู่ที่ 9 หมู่ที่ 2 ณ ศาลาหมู่บ้าน หมู่ที่ 9 หมู่ที่ 10 ณ ศาลาหมู่บ้าน หมู่ที่ 10  หมู่ที่ 4 ณ ศาลาหมู่บ้าน หมู่ที่ 4 ตำบลชุมโค อำเภอปะทิว จังหวัดชุมพร 

ทั้งนี้ ได้รับความร่วมมือจาก เจ้าหน้าที่สำนักงานเลขานุการในหม่อมเจ้า อุทัยกัญญา ภาณุพันธุ์ /โรงเรียนนิรมลชุมพร / สมาคมแรงงานคนพิการไทย / นายอนัน รามพันธุ์ นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดชุมพร / นายสุรินทร์ เหล่าพัทรเกษม ประธานคณะทำงานขับเคลื่อนศูนย์ส่งเสริมความรับผิดชอบต่อสังคมของภาคธุรกิจ ( CSR ) จังหวัดชุมพร ได้ร่วมนำสิ่งของอุปโภค บริโภค ช่วยเหลือหมู่บ้านผู้ประสบอุทกภัย และได้รับความเมตตาจาก พระมหาขวัญชัย อคฺคชโย เจ้าอาวาสวัดคีรีวงก์ ได้นำยาสมุนไพร(ตำรับยาวัดคีรีวงก์) เสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ไข้พิษ ไข้กาฬ ร่วมมอบให้ประชาชน ในครั้งนี้ด้วย

น้ำท่วม-น้ำมันแพง ทำเงินเฟ้อ พ.ย.พุ่ง 2.71% จับตาโอไมครอนปลายปี

นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยสถานการณ์ราคาสินค้าและบริการ เดือนพ.ย.2564 ว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค หรือเงินเฟ้อทั่วไป เดือนพ.ย 2564 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน สูงขึ้น 2.71 จาก 2.38% ในเดือนก่อน ตามการสูงขึ้นของราคาน้ำมัน รวมถึงราคาผักสด ที่ยังคงได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม เช่นเดียวกับเนื้อสุกร อาหารบริโภคในบ้าน-นอกบ้าน และเครื่องประกอบอาหาร ราคาปรับสูงขึ้นตามต้นทุน สำหรับสินค้าสำคัญที่ราคาลดลง อาทิ ข้าวสาร ไก่สด ผลไม้สด เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ (น้ำดื่มบริสุทธิ์ กาแฟผงสำเร็จรูป) และเสื้อผ้า ส่วนสินค้าอื่น ๆ ยังเคลื่อนไหวในทิศทางที่ปกติ สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจและกลไกของตลาดในปัจจุบัน

“เงินเฟ้อในเดือนนี้ขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์และการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ทั้งมาตรการด้านการท่องเที่ยว และมาตรการสนับสนุนให้เกิดการจับจ่ายใช้สอย ในประเทศ ที่ส่งผลให้เศรษฐกิจโดยรวมและกำลังซื้อของประชาชนปรับตัวดีขึ้น”

ส่วนแนวโน้มเงินเฟ้อในเดือนธ.ค. 2564 มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนที่ผ่านมา สาเหตุสำคัญมาจากสถานการณ์เศรษฐกิจในประเทศที่ปรับตัวดีขึ้น ราคาน้ำมันที่ทรงตัวในระดับสูงและมีทิศทางเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ซึ่งกระทบต่อต้นทุนการผลิตสินค้าและค่าขนส่ง ส่วนราคาสินค้าในกลุ่มอาหารมีแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่องตามความต้องการ ปริมาณผลผลิต ต้นทุนและวัตถุดิบ ประกอบกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐในหลากหลายรูปแบบที่ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ส่งผลดีต่อผู้บริโภค ผู้ประกอบการ และระบบเศรษฐกิจในภาพรวม

นราธิวาส - ฝนกระหน่ำ 5 วัน!! น้ำป่าทะลักจนแม่น้ำสุไหงโก-ลก ล้นตลิ่ง ไหลเข้าท่วมบ้านจนเดือดร้อน

รายงานข่าวเกี่ยวกับสภาวะฝนที่ตกลงมาอย่างหนัก ตั้งแต่วันที่ 15 ธ.ค.64 ถึงปัจจุบันเป็นเวลา 5 วันติดต่อกัน จากพื้นที่ จ.นราธิวาส แจ้งว่า ล่าสุดบรรยากาศบนท้องฟ้ายังคงมีเมฆฝนมืดครึ้มปกคลุมพื้นที่ทั้ง 13 อำเภอ และมีฝนตกลงมาเป็นช่วง ๆ ไม่หนักเหมือนในทุกวันที่ผ่านมา แต่ส่งผลทำให้มวลน้ำป่าบนเทือกเขาสันกลาคีรี ซึ่งมีต้นกำเนิดในพื้นที่ อ.สุคิริน ได้ไหลทะลักลงสู่แม่น้ำสุไหงโก-ลก อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในช่วงคืนที่ผ่านมา จนปริมาณน้ำในแม่น้ำสุไหงโก-ลก ซึ่งอยู่ในระดับตลิ่งสูง 8.20 เมตร มีระดับน้ำที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยเฉลี่ยชั่วโมงละ 30 ซ.ม.

จนล่าสุดมีปริมาณน้ำล้นสูงจากระดับสูง 1.69 เมตร และได้ไหลบ่าเข้าท่วมบ้านเรือนของประชาชน ที่ปลูกสร้างอยู่ที่ราบลุ่มริมตลิ่ง โดยเฉพาะบ้านน้ำตก ม.5 ต.ปาเสมัส อ.สุไหงโก-ลก ซึ่งมีปริมาณน้ำท่วมขังสูงโดยเฉลี่ย 40 ถึง 60 ซ.ม. ทำให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ จำนวน 50 ครัวเรือน รวม 250 คน ได้รับความเดือดร้อน จนต้องใช้เรือพายและเดินลุยน้ำหากมีธุระจำเป็นต้องติดต่อกับโลกภายนอก

นอกจากนี้แล้วยังมีชุมชนในเขตเทศบาลเมืองสุไหงโก-ลก อีก 4 ชุมชน คือ ชุมชนท่าประปา ชุมชนท่าชมพู ชุมชนท่าเจ๊ะกาเซ็ง และชุมชนหัวสะพาน ซึ่งถือว่าเป็นพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซากจากปริมาณของแม่น้ำสุไหงโก-ลกล้นตลิ่ง แต่ในปีนี้กรมโยธาธิการได้สร้างกำแพงกันน้ำแล้วเสร็จร้อยละ 95 ทำให้พื้นที่ 4 ชุมชนหลุดพ้นจากปัญหาปริมาณน้ำในแม่น้ำสุไหงโก-ลก ไหลทะลักเข้าท่วม แต่มีเพียงปริมาณน้ำฝนเท่านั้นที่ท่วมบ้านเรือนของประชาชน โดยภาพรวมสูงเฉลี่ยเพียง 20 ถึง 30 ซ.ม. ซึ่งถือว่าเป็นเพียงอุปสรรค์เล็กน้อยที่ชาวบ้านได้รับผลกระทบ เนื่องจากกรมโยธาธิการได้นำเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่ มาติดตั้งทำการสูบน้ำระบายออกจากพื้นที่ 4 ชุมชน และคาดว่าในปีนี้สภาวะน้ำท่วมขัง 4 ชุมชนจะไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากแม่น้ำสุไหงโก-ลก ล้นตลิ่งแต่อย่างใด

ส่วนความพร้อมในการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนนั้น นายรุ่งเรือง ธิมาบุตร นายอำเภอสุไหงโก-ลก ได้มอบหมายให้นายคมกฤต จันทร์เมือง ปลัดอำเภอสุไหงโก-ลก ร่วมกับ ร.ท.อัครวัฒน์ อยู่รอบเรือง หน.ชุดบรรเทาสาธารณภัย ร. 151 พัน 2 นำกำลังพลลุยน้ำลงพื้นที่น้ำท่วมขัง เพื่อให้การช่วยเหลือประชาชนในการขนย้ายสิ่งของสัมภาระที่จำเป็นหนีระดับขึ้นที่สูง เนื่องจากเกรงว่าหากมีสภาวะฝนที่ตกลงมาอย่างหนักในช่วง 1 ถึง 2 วันนี้ มวลน้ำป่าจากเทือกเขาสันกลาคีรีอาจจะไหลสมทบลงสู่แม่น้ำสุไหงโก-ลก อีกละลอก เพื่อระบายลงสู่ทะเลด้าน อ.ตากใบ อาจจะส่งผลกระทบให้มีระดับน้ำท่วมขังเพิ่มสูงขึ้น

 

กัมพูชา - ชาวนากัมพูชาทิ้งไร่นา!! เนื่องจากระดับน้ำทะเลสูงขึ้น ทำพืชผลเสียหาย

สีหนุวิลล์/กัมพูชา - กลุ่มชาวนาในเขตเปรยนบ ประเทศกัมพูชา ถูกบังคับให้ขายที่ดินของตนเนื่องจากระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นบ่อยครั้ง ซึ่งทำให้พืชผลเสียหาย

พวกเขาเชื่อว่าการจัดตั้งบริษัทเอกชน โดยเฉพาะฟาร์มกุ้ง ใกล้ ๆ กับพวกเขาเป็นสาเหตุสำคัญของการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล เนื่องจากน้ำเค็มไหลจากฟาร์มกุ้งไปยังนาข้าว สร้างความเสียหายแก่พืชผล ส่งผลให้ชาวบ้านเพียง 40% ถึง 50% ยังคงปลูกข้าวในพื้นที่ ส่วนที่เหลือขายที่ดินให้บริษัทเอกชน

“หม่อง ริน” ชาวนาบอกว่าเขาปลูกข้าวมาตั้งแต่ปี 2527 และเมื่อน้ำทะเลเริ่มไหลเข้าสู่นาข้าว เขาถูกบังคับให้ขายที่ดินของเขา เขื่อนเก่ารั่วไหลทำให้น้ำทะเลเข้านาข้าว และสร้างความเสียหายให้กับพืชไร่และไร่ผัก ตามคำกล่าวของคุณรัน รองหัวหน้าชุมชนประมง

รัน ยังรับรองด้วยว่าฟาร์มกุ้งที่ตั้งขึ้นใกล้กับที่ดินของพวกเขา มีส่วนทำให้เกิดความเสียหา ยเนื่องจากน้ำล้นเข้าไปในนาข้าว ทำลายพืชผล นอกจากนี้ รองผู้อำนวยการยังระบุด้วยว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทุกปีทำให้น้ำทะเลไหลลงสู่พื้นที่น้ำจืดอย่างต่อเนื่อง

คุณรันกล่าวเสริมว่า “อย่างไรก็ตาม ในพื้นที่ของเรา เรามีป่าชายเลนที่สามารถช่วยป้องกันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ แต่พื้นที่ที่อยู่ไกลออกไปเล็กน้อยมักถูกน้ำทะเลท่วม กรมวิชาการเกษตรมาตรวจสอบน้ำท่วม เขื่อน และฝากดินอีกส่วนหนึ่งเพื่อทำให้ถนนสูงขึ้นเพื่อป้องกันไม่ให้น้ำทะเลไหลข้ามถนน แต่ถนนสายใหม่ถูกน้ำทะเลกิน”

“กรมวิชาการเกษตรมาตรวจสอบน้ำท่วม เขื่อน และฝากดินอีกส่วนหนึ่งเพื่อทำให้ถนนสูงขึ้นเพื่อป้องกันไม่ให้น้ำทะเลไหลข้ามถนน แต่ถนนสายใหม่ถูกน้ำทะเลกิน” เขากล่าว

หลังจากเหตุผลดังกล่าว เกษตรกรจำนวนมากจึงตัดสินใจลาออกจากอาชีพและเริ่มทำงานในสาขาอื่น เช่น การก่อสร้าง โดยอธิบายว่าการทำนาเป็น “งานที่ไร้ประโยชน์” หลังจากเหตุผลดังกล่าว เกษตรกรจำนวนมากจึงตัดสินใจลาออกจากอาชีพและเริ่มทำงานในสาขาอื่น เช่น การก่อสร้าง โดยอธิบายว่าการทำนาเป็น “งานที่ไร้ประโยชน์”

 

ผู้ว่าฯนราธิวาส พร้อมด้วยนายกเหล่ากาชาด จ.นราธิวาส ลงพื้นที่เยี่ยมให้กำลังใจ พร้อมมอบถุงยังชีพช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ ต.มูโนะ อ.สุไหงโกลก

จากเหตุพนังกั้นน้ำริมฝั่งแม่น้ำโก-ลกพังส่งผลให้น้ำไหลทะลัก เข้าท่วมบ้านเรือนประชาชนเสียหาย 700 หลังคาเรือน นายสนั่น พงษ์อักษร ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส พร้อมด้วยนางสิริวิมล พงษ์อักษร นายกเหล่ากาชาดจังหวัดนราธิวาส พร้อมคณะลงพื้นที่เยี่ยมให้กำลังใจผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ตำบลมูโนะ อำเภอสุไหงโกลก จังหวัดนราธิวาส หลังจากที่เกิดกรณีพนังกั้นน้ำริมฝั่งแม่น้ำโก-ลกพัง ส่งผลให้น้ำไหลทะลัก เข้าท่วมบ้านเรือนประชาชนในพื้นที่ตำบลมูโนะ ได้รับความเสียหายจำนวน 2 หมู่บ้าน ได้แก่บ้านมูโนะ หมู่ที่ 1 และบ้านปาดังยอ หมู่ที่ 3 ส่งผลให้บ้านเรือนราษฎร 700 หลังคาเรือน ประชาชนได้รับผลกระทบจำนวน 1,975 คน

นายสนั่น พงษ์อักษร ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส กล่าวว่า จากการที่พนังกั้นน้ำริมฝั่งแม่น้ำโก-ลกพัง เมื่อคืนที่ผ่านมา ทำให้น้ำไหลทะลักจากแม่น้ำสุไหงโกลก เข้ามาท่วมในพื้นที่บ้านเมืองราษฎร พื้นที่หมู่ที่ 1 และหมู่ที่ 2 ของตำบลมูโนะ เสียหายไป 700 หลังคาเรือน ด้วยความห่วงใยพี่น้องผู้ประสบอุทกภัย จึงได้มาสำรวจที่เกิดเหตุ และคาดว่าพนังกั้นน้ำน่าจะมีรอยรั่วหรือมีการกัดเซาะ ทำให้น้ำไหลทะลักเข้ามาท่วมบ้านเรือนพี่น้องประชาชน ซึ่งไม่เคยเกิดเหตุการณ์อย่างนี้มากว่า 10 ปีแล้ว

ในครั้งนี้ตั้งใจนำเวชภัณฑ์ และหน้ากากอนามัยนำมามอบให้กับพี่น้องที่ประสบอุทกภัย พร้อมกับถุงยังชีพช่วยเหลือในเบื้องต้น  อย่างไรก็ตามในส่วนของการช่วยเหลือในเรื่องของการอพยพ ได้จัดจุดอพยพพี่น้องประชาชน ไว้ที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กในหมู่บ้าน ซึ่งทางส่วนท้องถิ่น โดยนายกองค์การบริหารส่วนตำบล ก็ได้จัดอาหารไว้ 3 มื้อ ดูแลพี่น้องประชาชนผู้ประสบภัยอย่างทั่วถึงแล้ว

 

นราธิวาส - ผู้ว่านราฯ ปรุงอาหารมื้อเย็น ลุยน้ำแจกชาวบ้าน พร้อมเหมาลูกชิ้นแจกเด็ก พร้อมช่วยบรรเทาทุกข์ชาวนราธิวาส จากภัยน้ำท่วม

นายสนั่น พงษ์อักษร ผู้ว่าราชการ จ.นราธิวาส ได้เดินทางมายังพื้นที่ประสบอุทกภัยน้ำท่วมตลาดมูโนะ อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส เพื่อปรุงอาหารมื้อเย็นเป็นผัดเผ็ดไก่กับไข่ต้ม จำนวน 1,800 กล่อง พร้อมน้ำดื่ม แจกจ่ายให้กับประชาชนที่อาศัยอยู่ในตลาดมูโนะ พร้อมทั้งได้เดินลุยน้ำแจกจ่ายให้กับประชาชนที่ไม่สามารถเดินลุยน้ำมารับอาหารในครั้งนี้ด้วย ซึ่งการเดินลุยน้ำในครั้งนี้ผู้ว่าราชการ จ.นราธิวาส ได้ถือโอกาสพูดคุยปรับทุกข์กับชาวบ้าน ถึงในบ้านพักที่ถูกน้ำท่วมขัง เพื่อเป็นการสำรวจความเสียหายไปในตัว หากสภาพน้ำท่วมกลับคลี่คลายกลับสู่สภาวะปกติ ก็จะได้เร่งตั้งงบประมาณในการช่วยเหลือได้ทันที

ซึ่งการเดินลุยน้ำแจกอาหารกล่องของผู้ว่าราชการ จ.นราธิวาสในครั้งนี้ พบว่ายังมีระดับน้ำท่วมขังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากผลพวงของมวลน้ำป่าที่ไหลทะลักเข้าท่วมบ้านเรือนของประชาชน ที่บริเวณจุดพนังกั้นน้ำพังเสียหาย แถมมีกระแสน้ำที่ไหลเชี่ยวกรากกว่าในช่วงเช้าที่ผ่านมา จนเจ้าหน้าที่กองอาสารักษาดินแดน อ.สุไหงโก-ลก ต้องนำเชือกผูกมัดไว้กับเสาไฟฟ้า เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนที่เดินทางเข้าออกตลาด เนื่องจากเกรงว่าอาจจะถูกกระแสน้ำที่เชี่ยวกรากพัดจนได้รับอันตรายถึงชีวิต ซึ่งภาพรวมระดับน้ำท่วมขังสูงจากช่วยเช้าประมาณ 20 ซ.ม.โดยอยู่ในระดับ 80 ถึง 90 ซ.ม.

และในระหว่างที่นายสนั่น พงษ์อักษร ผวจ.นราธิวาส เดินลุยน้ำแจกอาหารกล่องและน้ำดื่มแล้วเสร็จ ได้ถือโอกาสเหมาลูกชิ้นปิ้งของประชาชน ที่ตั้งร้านค้าในน้ำเป็นเงิน 2,000 บาท เพื่อแจกจ่ายให้กับเด็กและเยาวชนที่กำลังสนุกสนานกับการเล่นน้ำ และได้มีผู้ปกครองท่านหนึ่ง พูดทีเล่นที่จริงกับท่านผู้ว่าราชการ จ.นราธิวาส ว่า ท่านสมเป็นกับผู้ว่าติดน้ำและติดดิน และมีเสียงหัวเราะตามมาสร้างความคลายเครียดในช่วงน้ำท่วมครั้งนี้

 

ปัตตานี - "นิพนธ์" รุดลงปัตตานี นำความห่วงใยรัฐบาล เร่งช่วยเหลือ ปชช. ประสบอุทกภัยในพื้นที่ สั่งระดมทุกหน่วยผนึกกำลัง พร้อมเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบโดยเร็วที่สุด!!

วันนี้ 28 กุมภาพันธ์ 2565 นายนิพนธ์ บุญญามณี รมช.มหาดไทย ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและให้กำลังผู้ที่ประสบอุทกภัยน้ำท่วมในพื้นที่ อ.เมืองปัตตานี และอ.แม่ลาน จ.ปัตตานี พร้อมมอบถุงยังชีพและสิ่งของเครื่องใช้จำเป็น บรรเทาความเดือดร้อนให้ผู้ประสบภัย บริเวณ 2 จุด จำนวนกว่า 500 ชุด โดยมีนายนิพันธ์ บุญหลวง ผู้ว่าราชการจังหวัด พร้อมด้วยรองผู้ว่าราชการจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง และผู้นำท้องที่ ร่วมลงพื้นที่ในครั้งนี้ด้วย

ภาพรวมสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ จ.ปัตตานี ได้รับผลกระทบจากบริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังค่อนข้างแรงจากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ ส่งผลทำให้ลมตะวันออกที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้มีกำลังแรง ประกอบกับหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงใกล้เกาะบอร์เนียว เคลื่อนเข้าปกคลุมประเทศมาเลเซียและภาคใต้ตอนล่าง ทำให้พื้นที่จังหวัดปัตตานีมีฝนตกหนักสะสม ตั้งแต่ช่วงวันที่ 23 ก.พ. 65 ที่ผ่านมา 

จนกระทั่งวานนี้ (วันที่ 27 ก.พ. 65) หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณช่องแคบมะละกา ก็ยังคงเคลื่อนตัวทางตะวันตกเข้าปกคลุมเกาะสุมาตราตอนบน ในขณะที่ลมตะวันออกกำลังแรงที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้มีกำลังอ่อนลง จนเกิดฝนตกหนักสะสมอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้มีพื้นที่ได้รับผลกระทบ จำนวน 6 อำเภอ 27 ตำบล 81 หมู่บ้าน 3 ชุมชน1,730 ครัวเรือน 5,598 คน ในส่วนของอำเภอเมืองปัตตานี ได้รับผลกระทบ จำนวน 3 ตำบล 4 หมู่บ้าน 2 ชุมชน 162 ครัวเรือน 810 คน และอำเภอแม่ลาน ได้รับผลกระทบ จำนวน 3 ตำบล 10 หมู่บ้าน 219 ครัวเรือน 913 คน ส่วนผลกระทบด้านอื่นๆ อาทิ ด้านการเกษตรมีพื้นที่เสียหาย จำนวน 3,167 ไร่ ด้านประมงและปศุสัตว์ มีความเสียหายเล็กน้อยนอกจากนี้ในส่วนของสิ่งสาธารณูปโภค ถนนได้รับความเสียหาย 5 สาย และมัสยิด 1 แห่ง ทั้งนี้ อปท. ในพื้นที่ ได้ให้ความช่วยเหลือโดยการแจกถุงยังชีพให้แก่ผู้ประสบภัย เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเบื้องต้นแล้ว

นายนิพนธ์ กล่าวว่า สภาพภูมิอากาศในปีนี้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เกิดฝนนอกฤดูกาลอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้มีปริมาณน้ำฝนสะสมจำนวนมาก ตนมีความห่วงใยพี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าว โดยได้ติดตาม/ประเมินสถานการณ์ พร้อมแจ้งเตือน/สร้างการรับรู้ข้อมูลข่าวสารไปสู่พี่น้องประชาชนผ่านหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาโดยตลอด ปัจจุบัน กรมอุตุมนิยมวิทยา กับ ปภ. ได้ทำงานใกล้ชิดกันมากขึ้น การคาดการณ์สถานการณ์ต่างๆ ของกรมอุตุนิยมวิทยามีความแม่นยำ ทำให้มีการแจ้งเตือนล่วงหน้าและรับมือกับสถานการณ์ได้ดีขึ้น ทั้งนี้กระทรวงมหาดไทยเองก็ได้ติดตามและเน้นย้ำแนวทางในการปฏิบัติการตามแผนเผชิญเหตุอุทกภัยและวาตภัย เพื่อบริหารจัดการสถานการณ์ บูรณาการทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง และมีการสั่งเตรียมความพร้อมในพื้นที่มาโดยตลอดตั้งแต่ระดับจังหวัดลงไปจนถึง อปท. ซึ่งได้ประสานงานกันอย่างต่อเนื่อง เพื่อเตรียมรับสถานการณ์ได้อย่างทันท่วงทีทั้งเรื่องของบุคลากร ลงไปจนถึงอุปกรณ์เครื่องจักรกลต่าง ๆ อาทิ เรือท้องแบน รถราต่าง ๆ ที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ เบื้องต้น อปท. ในพื้นที่ กับ ปภ. ได้ดำเนินการตามแผนอพยพประชาชนไปยังที่ปลอดภัย และดูแลเรื่องอาหารการกินต่าง ๆ อย่างเป็นไปด้วยความเรียบร้อย

นายนิพนธ์ กล่าวต่อไปอีกว่า สำหรับแนวโน้มคาดการณ์ว่า จ.ปัตตานี สถานการณ์ในวันนี้ได้คลี่คลายลงแล้ว จนเกือบจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ส่วนปริมาณน้ำฝนที่ยังคั่งค้างอยู่ตามแนวเทือกเขาต่างๆ นั้น ก็จะไหลลงแม่น้ำหลัก อยากจะฝากไปถึงพี่น้องประชาชนให้ติดตามสถานการณ์และข่าวสารจากทางราชการอย่างใกล้ชิด และฝากเตือนถึงเรื่องการสัญจรไปมา ให้ใช้ความระมัดระวังมากขึ้น งดลงเล่นน้ำ เพราะหากมีเหตุการณ์น้ำป่าไหลหลากเกิดขึ้นอีก อาจได้รับอันตรายจนถึงชีวิตได้ ซึ่งหลังจากนี้ หากสถานการณ์ทุกอย่างได้คลี่คลายลงแล้ว ตนก็สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ได้สำรวจ ตรวจตราความปลอดภัยของบ้านเรือน และทรัพย์สินของพี่น้องประชาชน เพื่อบรรเทาความวิตกกังวล พร้อมสั่งดำเนินการสำรวจและประเมินความเสียหายอย่างเร่งด่วน เพื่อดำเนินการช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่ตามระเบียบของทางทางราชการกันต่อไปราชการ และนอกจากนี้ ตนยังมีความห่วงใยถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ที่ยังคงมีการระบาด และมีผู้ติดเชื้ออย่างต่อเนื่อง พร้อมขอความร่วมมือประชาชนทุกคนให้ปฏิบัติตนตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด เพื่อให้เราทุกคนผ่านพ้นวิกฤตินี้ไปด้วยกัน


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top