Monday, 6 May 2024
น้ำท่วม

'บิ๊กป้อม' ชื่นชม 'น้องบาส' ช่วยผู้ถูกไฟดูดจากน้ำท่วม กำชับ 'การไฟฟ้า' เข้าตรวจสอบ เพื่อความปลอดภัยของปชช.

เมื่อวันที่ 17 ก.ย. 65 น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจําสํานักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลโดย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี แสดงความชื่นชมน้องบาส หรือ นายอรรถชัย อาจอุดม อายุ 19 ปี นักศึกษาวิทยาลัยเทคนิคอุดรธานี จ.อุดรธานี เข้าช่วยเหลือนักเรียนชายบริเวณหลังโรงเรียนสตรีราชินูทิศ จ.อุดรธานี จากเหตุการณ์ไฟฟ้าดูดเนื่องจากฝนตกน้ำท่วม โดยทั้งคู่ปลอดภัย และขณะนี้พักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล รองนายกรัฐมนตรี ได้ชื่นชมในความกล้าหาญ มีสติ โดยใช้ร่มดึงตัวผู้ประสบเหตุ ไม่ใช้มือสัมผัสซึ่งมีความเสี่ยงที่จะถูกไฟฟ้าดูดร่วม ถือเป็นแบบอย่างที่ดีในการช่วยเหลือผู้ประสบเหตุไฟฟ้าดูอย่างถูกต้อง

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า รองนายกรัฐมนตรี ยังกำชับให้การไฟฟ้านครหลวง และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ได้ติดตามสถานการณ์ระดับน้ำอย่างต่อเนื่อง และเฝ้าระวังตรวจสอบเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าที่ติดตั้งบนเสาไฟฟ้าให้อยู่ในระดับที่ปลอดภัย รวมถึงพร้อมให้ความช่วยเหลือด้านระบบไฟฟ้าแก่ประชาชนตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมกันนี้ ยังขอให้เพิ่มการประชาสัมพันธ์ ย้ำเตือนประชาชน ให้ระมัดระวังอันตรายจากไฟฟ้ารั่วในสถานการณ์อุทกภัย ซึ่งพบเจออยู่บ่อยครั้ง 

'ชัยวุฒิ' ลงพื้นที่เขตบางเขน แจกถุงยังชีพช่วยเหลือประชาชน

นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พร้อม ภญ.นพวรรณ หัวใจมั่น ว่าที่ผู้สมัคร เขตบางเขน พรรคพลังประชารัฐ ลงพื้นที่ซอยกาญจนา 5/1  แขวงท่าแร้ง เขตบางเขน เพื่อมอบถุงยังชีพช่วยเหลือชาวบ้านที่ประสบปัญหาน้ำท่วมขังมานาน เนื่องจากชุมชนแห่งนี้อยู่ติดคลองพระยาสุเรนทร์

โดยนายชัยวุฒิ กล่าวถึงสถานการณ์น้ำท่วมว่า ในส่วนของรัฐบาล ก็เร่งเข้าไปช่วยเหลือดูแลประชาชน ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งศึกษาพื้นที่ลุ่มต่ำเพื่อหาแนวทางแก้ปัญหา เช่น การยกพื้นที่ให้สูงขึ้น หรือทำคันกั้นน้ำ และทำทางด่วนระบายน้ำให้ดีขึ้น ไม่ให้เกิดปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากต่อไป ซึ่งขณะนี้ผู้ว่าฯ กทม. และรัฐบาลได้หารือกันเพื่อหาแนวทางที่ดีที่สุดในการแก้ไขปัญหา ที่สำคัญต้องคุยกันเรื่องอนาคตว่าจะหาวิธีระบายน้ำอย่างไร ในระยะยาว

ซึ่งจากการลงพื้นที่ ชาวบ้าน ต้องการให้เข้ามาเยียวยาซ่อมแซมบ้าน และเยียวยาพื้นที่การเกษตร และเยียวยารายได้ที่หายไป

'บิ๊กป้อม' ส่งกระเช้าเยี่ยมให้กำลังใจ 'น้องบาส' พร้อมฝากคำชื่นชมและมอบเงินทุนเพื่อการศึกษา

น.ส.ทิพานัน ศิริชนะรองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ตามที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี รักษาราชการนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ได้มอบหมายให้ นายสยาม ศิริมงคล ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี นำกระเช้าดอกไม้และสิ่งของเข้าเยี่ยมให้กำลังใจ 'น้องบาส' หรือนายอรรถชัย อาจอุดม นักศึกษาวิทยาลัยเทคนิคฮีโร่ที่ช่วยเด็กนักเรียน โรงเรียนอุดรพิทยานุกูลถูกไฟดูด พร้อมนำกระเช้าดอกไม้และสิ่งของเยี่ยมเด็กนักเรียนที่ถูกไฟดูดทั้ง 5 คนนั้น

พล.อ.ประวิตรได้มอบหมายให้ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานีนำความห่วงใยและให้กำลังใจ 'น้องบาส' พร้อมสอบถามความคืบหน้าอาการบาดเจ็บของ 'น้องบาส' ด้วยความเป็นห่วง โดยพล.อ.ประวิตรขอให้มีการตรวจเช็กอาการอย่างละเอียดรอบคอบ

นอกจากนี้ยังได้กำชับให้ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี ให้ตรวจสอบหาสาเหตุของอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นเพื่อหามาตรการป้องกันได้ตรงจุด และเป็นแนวทางในการป้องกันปัญหาในกรณีอื่น

'ดร.ธรณ์' ชี้ น้ำยิ่งร้อน 'ไต้ฝุ่นโนรู' ยิ่งแรง แนะ!! ลิสต์ worst-case เตรียมทางหนีทีไล่

(27 ก.ย. 65) ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิทยาศาสตร์ทางทะเล และอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Thon Thamrongnawasawat ว่า ดูภาพดาวเทียมล่าสุดของไต้ฝุ่นโนรูแล้วเริ่มหนักใจ พายุทวีกำลังมากขึ้นในทะเลก่อนเข้าสู่ชายฝั่งเวียดนาม

เหตุผลสำคัญคือน้ำทะเลในทะเลจีนใต้ร้อน ผมดูจากข้อมูลทุ่นกระแสสมุทรและจากที่อื่น ๆ ช่วงนี้อยู่ที่ 29-30 องศา น้ำร้อนมีผลโดยตรงกับไต้ฝุ่น น้ำยิ่งร้อนยิ่งส่งพลังงานให้พายุแรงขึ้น

น้ำร้อนยังทำให้ไอน้ำมากขึ้น ฝนย่อมมีมากขึ้นเป็นธรรมดา

เวียดนามเพื่อนบ้านเราเตรียมตัวแล้ว ของเขาเจอเต็ม ๆ ต้องอพยพกันยกใหญ่

แต่เราก็ประมาทไม่ได้เพราะคงเจอฝนหนักในบริเวณกว้าง จะอพยพล่วงหน้านาน ๆ ก็ยากหน่อยเพราะเดาไม่ถูกว่าตกกระหน่ำตรงไหนบ้าง ต้องใช้การเฝ้าระวังและเตือนภัยในช่วงสั้น ๆ

เพราะฉะนั้น จึงอยากให้เพื่อนธรณ์เตรียมตัวไว้ โดยเฉพาะในพื้นที่คาดว่าฝนหนัก เช่น ภาคอีสาน ภาคเหนือตอนล่าง ฯลฯ ที่คงตามข่าวจากหลายช่องทางได้

ใครอยู่ในที่เสี่ยง เช่น ใกล้แม่น้ำลำคลอง ใกล้ทางน้ำที่ลงมาจากเขา ต้องเตรียมทางหนีทีไล่ไว้ล่วงหน้า น้ำป่ามาเร็วครับ

ดินถล่มยังเป็นอีกภัยต้องระวัง ใครอยู่ริมทางชัน ร่องเขา เตรียมตัวให้พร้อม

การเตรียมตัวให้มากที่สุดเป็นเรื่องสมควร ต่อให้ไม่เกิดอะไรก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าเกิด เรารอดได้เพราะการเตรียมตัวนี่แหละครับ

หลักการง่าย ๆ ของการบริหารความเสี่ยงคือ Worst-case scenario คิดในทางเลวร้ายที่สุดเข้าไว้

น้ำทะลักเข้าบ้าน รถเราจะจมไหม ไฟฟ้าดูดไหม เด็กเล็กคนแก่ไปอยู่ไหน เรามีน้ำกินข้าวกินหลายวันหรือไม่ ไฟดับทำไง มือถือชาร์จเต็มไหม ทางขาดต้องติดอยู่หลายวันเอาไงดี ฯลฯ

ยังรวมถึงการบอกคนอื่นว่าเราอยู่ไหน เกิดอะไรจะติดต่อกันได้ ช่วยกันทัน โดยเฉพาะคนที่ไม่อยู่บ้าน ไปเที่ยวเข้าป่า ฯลฯ ต้องบอกให้คนอื่นทราบ

ยังมีอีกหลายเรื่องที่ทำได้ โดยเริ่มจากนั่งนิ่งๆ แล้วค่อยๆ คิด worst-case ที่อาจเกิดกับเรา ลองลิสต์ไว้เป็นข้อ ๆ ก็ได้ครับ แล้วค่อยให้น้ำหนักว่าอะไรสำคัญกว่ากัน

‘ปลอดประสพ’ ปลุกรัฐเตรียมพร้อมรับมือ 'ไต้ฝุ่นโนรู' แจง 9 ข้อรัฐควรรู้ พร้อมแนะ 5 แนวทางที่ต้องเตรียมการ

‘ปลอดประสพ’ ปลุกรัฐบาลตื่นรับมือพายุโนรูเข้าไทย เหตุฝนจะตกหนักเพิ่มน้ำนับแสนลูกบาศก์เมตร เขื่อนใหญ่ไม่พอรับน้ำ กระทบคนไทยครึ่งประเทศ แนะตั้งวอร์รูมต้องทำจริงจัง ประกาศหยุดราชการ เตรียมทหาร ตำรวจ ประจำการช่วยประชาชน

ดร.ปลอดประสพ สุรัสวดี ประธานด้านนโยบายปฏิรูปโครงสร้างพื้นฐานด้านการจัดการน้ำ พรรคเพื่อไทย และอดีตรองนายกรัฐมนตรี อดีต ผอ.ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติคนแรกของประเทศไทย กล่าวว่า รัฐบาลต้องเตรียมการรับมือกับพายุโนรูที่จะสร้างความรุนแรงและความเสียหายให้กับประเทศไทยเป็นอย่างมาก โดยข้อมูลที่รัฐบาลควรรู้ ได้แก่

1.) พายุโนรูจะเป็นพายุโซนร้อนที่ใหญ่ที่สุดลูกหนึ่ง นับตั้งแต่ที่ประเทศไทยเคยประสบมา 

2.) ขนาดของพายุลูกนี้ ครอบคลุมเนื้อที่ภาคเหนือ ตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง รวมพื้นที่ทั้งหมดครึ่งหนึ่งของประเทศ หรือมากกว่า 250,000 ตารางกิโลเมตร

3.) ด้วยขนาดของพายุที่ครอบคลุมเนื้อที่ขนาดใหญ่ จะกระทบกับพี่น้องประชาชน 30-35 ล้านคน 

4.) พายุโนรูจะอยู่ในประเทศไทย 3-5 วัน โดยจะทำให้ฝนตกหนัก 100-300 มิลลิเมตรหรือมากกว่าในบางพื้นที่ ซึ่งถือว่าเป็นปริมาณฝนที่สูงมาก

5.) ปริมาณฝนดังกล่าวจะเพิ่มน้ำท่า 100,000 ลูกบาศก์เมตร หรือเท่ากับปริมาณน้ำในเขื่อนภูมิพล 10 เขื่อน 

6.) แม้เขื่อนขนาดใหญ่ เช่น เขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิติ์ จะมีความสามารถรับน้ำได้อีก 10,000 ลูกบาศก์เมตร และระบบน้ำในภาคเหนือ รับน้ำได้อีก 10,000 ลูกบาศก์เมตร แต่ขณะนี้พื้นที่ภาคกลางอิ่มตัวแล้ว ไม่มีความสามารถซึมน้ำได้อีก ดังนั้นปริมาณน้ำฝน 100,000 มิลลิเมตร จะมีน้ำเหลือไหลลงสู่ภาคกลาง 70,000-80,000 ลูกบาศก์เมตร และบางพื้นที่น้ำจะไหลบ่าลงมาในลักษณะหน้ากระดาน 

7.) พายุลูกนี้ เป็นพายุลูกที่ 16 แต่เป็นพายุที่ให้น้ำมากที่สุดในประวัติศาสตร์ เมื่อผสมความชื้นในทะเลจีนตอนใต้ และมีร่องมรสุมในพาดผ่านตรงกลาง มีหน้าที่เป็นกับดักความชื้นที่ถูกป้อนจากมหาสมุทร รัฐบาลจึงต้องเร่งเตรียมการ 

8.) ปริมาณน้ำจากพายุโนรู จะไหลลงสู่พื้นที่กรุงเทพมหานครในช่วงเวลาเดียวกันกับน้ำทะเลขึ้นสูง ซึ่งยากต่อการระบายเป็นอย่างมาก

9.) เชื่อว่าจะมีพายุเข้ามาอีก 1-3 ลูก แต่ความรุนแรงน้อยกว่า

ทั้งนี้จากการคาดการณ์ดังกล่าว รัฐบาลต้องเตรียมการ 5 ข้อ ได้แก่

1.) ต้องเตรียมการเผชิญเหตุภายในอีก 24 ชั่วโมง โดยต้องทุ่มเทสรรพกำลังในการเผชิญเหตุใน 5 ข้อ
1.1. ตั้งหน่วยเผชิญเหตุประจำตำบล 
1.2. เรียกทหารประจำการกระจายไปในตำบล เพื่อช่วยเหลือกำนัน ผู้ใหญ่บ้านในการเผชิญเหตุ
1.3. จัดเตรียมเครื่องมือในการเผชิญเหตุให้พร้อม เช่น เรือบด เชือก ฯลฯ
1.4. พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ เช่น พื้นที่ราบ ควรใช้ทหาร ส่วนพื้นที่บนเขา เจ้าหน้าที่กรมอุทยานและกรมป่าไม้ ประจำการในพื้นที่ใกล้หมู่บ้าน ประชาชน
1.5. ตำรวจ ให้อยู่ในเมืองอย่างเดียว 

2.) เมื่อผ่านระยะ 3 วันไปแล้วจะเป็นระยะค้นหา ช่วยเหลือ 
2.1. เตรียมการอุปกรณ์ช่วยเหลือให้พร้อม เช่น เรือ เฮลิคอร์ปเตอร์ อุปกรณ์ให้กับกลุ่มงานทั้ง 3 กลุ่มข้างต้น 

3.) ระยะการฟื้นฟู ต้องทำ 6 เรื่อง
3.1. นำบุคลากรในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมาช่วย
3.2. นำบุคลากรด้านสาธารณสุขเข้ามาช่วยเหลือ รักษาโรคที่เกิดจากน้ำนิ่ง
3.3. ส่งของใช้อุปโภคบริโภคให้ประชาชน
3.4. ใช้โรงเรียนและวัดให้เป็นประโยชน์
3.5. นำทหารจากหน่วยช่าง เพื่อซ่อมแซมสาธารณประโยชน์
3.6. ให้กรมทางหลวงชนบทและกรมชลประทานซ่อมแซมสาธารณูปโภค

อ.ปราโมทย์ เตือน!! พายุโนรู ไม่ธรรมดา!! คาด!! สภาพ กทม. อาจท่วมแบบปี 38

พายุโนรู ภัยพิบัติครั้งนี้ไม่ธรรมดา ต้องตื่นตัว!! หน่วยงานที่เกี่ยวข้องระดับพื้นที่ต้องเร่งสร้างความเข้าใจกับประชาชนให้พร้อมรับมือ พร้อมเตือนประชาชนในภาคอีสานที่อาศัยอยู่แนวพายุเตรียมยกของขึ้นที่สูง ส่วนคนกรุงมีลุ้น!! เสี่ยงน้ำท่วมเหมือนปี 2538 จากผลกระทบของพายุโนรู

หลังจาก ‘พายุไต้ฝุ่นโนรู’ ซึ่งพัดเข้าประเทศเวียดนามไปเรียบร้อย และส่งผลกระทบให้เกิดลมแรง ฝนตกหนัก จนประชาชนหลายแสนคนต้องเร่งอพยพด่วนนั้น ล่าสุดพายุโนรู กำลังเคลื่อนตัวเข้าสู่ประเทศไทยในวันที่ 29 กันยายน 2565 จากการพยากรณ์อากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา 

คำถาม คือ ไทยจะลดผลกระทบและความสูญเสียโดยภาพรวมจากพายุโนรูได้มากน้อยเพียงใด ทีมข่าว THE STATES TIMES ได้สัมภาษณ์ อาจารย์ปราโมทย์ ไม้กลัด ประธานกรรมการมูลนิธิสภาเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ถึงการรับมือภัยพิบัติจาก พายุโนรู ในครั้งนี้ โดยอาจารย์ปราโมทย์ได้แสดงความคิดเห็นว่า…

‘พายุโนรู’ ที่เคลื่อนตัวเข้าสู่ประเทศไทยในครั้งนี้ ถือเป็นภัยพิบัติทางธรรมชาติที่ไม่เคยเกิดขึ้นบ่อยนัก โดยส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและเร่งด่วน ทำให้เตรียมตัวในการรับมือไม่ทัน อีกทั้งการสื่อสารมักไม่ถึงประชาชนอย่างทันท่วงที จนทำให้ผู้คนไม่เข้าใจถึงขั้นตอนในการเตรียมตัวรับมือพายุว่าจะต้องทำอย่างไร หรือเป็นไปในทิศทางไหน

“ปัจจุบันหน่วยงานต่าง ๆ หรือสื่อมวลชน ต่างนำเสนอแต่การเกิดของพายุ หรือแม้แต่เรื่องเส้นทางของพายุ โดยไม่ได้อธิบายว่า ประชาชนควรทำอย่างไร หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระดับพื้นที่ เช่น ระดับจังหวัด, ระดับอำเภอ หรือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ควรนำข้อมูลพายุที่รับทราบมาขยายความ เพื่อสร้างความเข้าใจกับประชาชนให้เข้าใจเรื่องภัยพิบัติอย่างไรให้มากขึ้น”

เรื่องนี้ อ.ปราโมทย์ จึงได้ให้ข้อแนะนำแก่ประชาชนโดยเฉพาะในพื้นที่อีสานไว้แบบเร่งด่วนว่า “พายุที่เข้ามานี้ มันทั้งด่วนและรวดเร็วมาก ฉะนั้นชุมชนต้องรวมตัวกัน และชาวบ้านต้องมีผู้นำที่มีความเข้าใจสภาพพื้นที่เป็นอย่างดี ที่จะบอกได้ว่าจุดไหนน้ำท่วม จุดไหนน้ำไม่ท่วม เมื่อพายุมาจะสามารถเก็บข้าวของเครื่องใช้ไว้ที่สูงได้ทันการณ์ อย่างประชาชนที่อาศัยในลุ่มน้ำภาคอีสานทั้งหมดไม่ว่าลุ่มน้ำเล็กหรือใหญ่ ก็ต้องเตรียมตัวได้ทันทีภายใต้ชุมชนที่ต้องร่วมปรึกษาและแก้ไขปัญหาด้วยกัน”

ในด้านของกรุงเทพฯ จะได้รับผลกระทบจากพายุโนรูในครั้งนี้หรือไม่? อ.ปราโมทย์ กล่าวว่า “อาจจะไม่ส่งผลกระทบตรงมาถึงโดยตรง แต่กรุงเทพฯ จะได้รับผลกระทบจากพายุฝนที่ตกหนักแบบข้ามวันข้ามคืน ขณะเดียวกันก็จะได้รับผลกระทบจากน้ำที่รวมตัวมาจากแม่น้ำปิง, แม่น้ำวัง, แม่น้ำยม, แม่น้ำน่าน และแม่น้ำป่าสัก ซึ่งไม่รู้ว่ามีมวลน้ำรวมตัวกันมาเท่าไร เพราะแนวทางพายุโนรูพัดผ่านมาทางภาคอีสาน เคลื่อนผ่านชัยภูมิ, พิษณุโลก, เพชรบูรณ์, กำแพงเพชร, ตาก และเข้าสู่ประเทศพม่า ซึ่งพายุโนรูได้เคลื่อนตัวผ่านสายน้ำหลักที่รวมตัวเป็นแม่น้ำเจ้าพระยา เมื่อพายุพัดเข้าสู่เพชรบูรณ์ แม่น้ำป่าสักก็ต้องรับน้ำเต็มที่ และไหลลงมาด้านล่างที่เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ที่ดักน้ำไว้ และเมื่อเขื่อนมีการปล่อยน้ำออกมา น้ำก็จะไปรวมตัวที่พระนครศรีอยุธยา คาดว่าจะได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน

'ชัยวุฒิ' วอนหยุดม็อบการเมือง ปล่อยรัฐช่วยน้ำท่วมเต็มที่ ยังมีผู้ประสบภัยจาก 'พายุโนรู' ที่รอการช่วยเหลืออีกมาก

(30 ก.ย. 65) นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) พร้อมคณะ ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำภาคกลาง ที่ จ.สิงห์บุรี พร้อมประชุมติดตามสถานการณ์ ร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัด เเละหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ก่อนที่ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี จะเดินทางไปตรวจราชการ พื้นที่ภาคกลาง ในวันจันทร์นี้

โดย รมว.ดีอีเอส กล่าวนำความห่วงใย จากพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี มาให้กำลังใจ เเละติดตามสถานการณ์ น้ำท่วมซึ่งพลเอกประวิตร จะลงพื้นที่ ภาคกลางในวันจันทร์นี้

นายชัยวุฒิ ยังกล่าวอีกว่า จากสถานการณ์น้ำท่วมในปัจจุบันมีผลกระทบในหลายพื้นที่ วันนี้ได้ลงพื้นที่จังหวัดสิงห์บุรี เพื่อติดตามความพร้อมในการรับมือสถานการณ์ 'พายุโนรู' รวมถึงสถานการณ์น้ำในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งได้หารือกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวเนื่องเร่งจัดการ ตั้งแต่การให้หน่วยงานและเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ รวมถึงชุดปฏิบัติการฝ่ายปกครอง หน่วยแพทย์ พยาบาล เข้าถึงประชาชนที่อยู่ในพื้นที่รับผลกระทบจากพายุและน้ำท่วมขัง โดยหากที่พักอาศัยของครอบครัวใดประสบเหตุจากน้ำท่วมหนัก ก็จะมีหน่วยงานเข้าดูแลและเร่งพาไปศูนย์พักพิงที่จัดเตรียมไว้ ได้กำชับให้เตรียมน้ำ อาหาร ยารักษาโรค ห้องน้ำเคลื่อนที่ 

ขณะเดียวกัน ก็เร่งให้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพื่อระบายน้ำออกจากพื้นที่ชุมชน หากพื้นที่ใดประสบเหตุน้ำท่วมหนัก ก็จะเร่งการเปิดทางระบายน้ำท่วมขังโดยทันที ทั้งนี้หากสถานการณ์คลี่คลายเเล้ว ทางรัฐบาลได้มีการเตรียม มาตรการเยียวยาช่วยเหลือประชาชน ให้เร็วที่สุดด้วย พร้อมกับฝากประชาชนว่า รัฐบาลทำงานต่อขอให้มั่นใจใน พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ว่าท่านตั้งใจช่วยเหลือ พี่น้องประชาชนอย่างเต็มที่ และขอร้องกลุ่มที่ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองในขณะนี้ว่า ขอให้เห็นใจ ประชาชน ที่ประสบอุทกภัย ขอให้รัฐบาลได้ทำงานเต็มที่ ในการรับมือน้ำท่วมช่วยเหลือพี่น้องประชาชนจะดีกว่าการออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองในขณะที่กฎหมายเลือกตั้งยังไม่เสร็จ 

'บิ๊กตู่' สั่งการทุกเหล่าทัพ เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยง เตรียมพร้อมเข้าฟื้นฟูหลายพื้นที่ หลังพายุโนรูอ่อนกำลัง

พลเอกคงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นากรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ย้ำสั่งการทุกเหล่าทัพ ให้คงการสนับสนุนรัฐบาล ช่วยเหลือประชาชนที่ประสบอุทกภัยในทุกพื้นที่ต่อเนื่องกันไป หลังสถานการณ์พายุโนรูอ่อนกำลัง โดยยังให้ร่วมเฝ้าระวังและแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่เสี่ยง ที่ฝนยังตกหนักสะสมต่อเนื่อง และให้ช่วยเหลือเร่งระบายน้ำท่วมขังออกจากพื้นที่ชุมชนลงลำน้ำสายหลักให้เร็วขึ้น เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน ขณะเดียวกัน ให้เตรียมการช่วยเหลือฟื้นฟูพื้นที่ทันที เมื่อสถานการณ์อุทกภัยเริ่มคลี่คลาย เพื่อให้ประชาชนสามารถกลับมาใช้ชีวิตปกติได้โดยเร็ว 

'กรณ์' หนุน 'ชัชชาติ' ชวนอาสาฯ ร่วมกรอกทรายกันน้ำท่วม ย้ำ!! อย่าไปคิดให้เป็นประเด็นการเมืองว่าผู้ว่าฯ ใครเลือก-ใครไม่เลือก 

นายกรณ์ จาติกวณิช กรรมการบริหารพรรคชาติพัฒนากล้า โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก 'กรณ์ จาติกวณิช - Korn Chatikavanij' ระบุว่า...

ขนทรายช่วยชาวกรุงเทพฯ ก่อนลงร่วมงาน #เจี๊ยะฉ่ายภูเก็ต 

เมื่อเช้าก่อนขึ้นเครื่อง ผมเห็นผู้ว่า #ชัชชาติ ออกประกาศหาอาสาสมัครไปกรอกทรายทำกระสอบกั้นนํ้าท่วม 2.5 ล้านกระสอบ ผมก็เลยไลน์ชวนเพื่อนที่ #ชาติพัฒนากล้า (ยังเรียกไม่คล่องปากนัก 😅) บอกใครว่างมาช่วยกัน

เราเอาพลั่วติดไม้ติดมือไป แต่จริงๆ กทม. มีเตรียมไว้ให้ ถุงมือเอาไปเอง รองเท้าบูทปกติเอาไว้ยํ่านา #ข้าวอิ่ม ที่สารคาม และคู่เดิมนี้ใส่ตักทรายครั้งล่าสุดก็ช่วงนํ้าท่วมใหญ่ปี ‘54 

เจ้าหน้าที่ฝากบอกว่า ใครว่างมาช่วยด้วยนะครับ กำลังคนเขาไม่พอจริงๆ คนละไม้คนละมือ 

'บิ๊กตู่' สั่งช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม จ.ขอนแก่น ชี้!! ต้องบูรณาการทุกฝ่าย พร้อมขอความร่วมมือภาคเอกชน

นายกฯ กำชับเร่งช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่ขอนแก่น ย้ำต้องบูรณาการทุกฝ่าย ขอความร่วมมือภาคเอกชนรวมพลังคนไทยช่วยชาติ-ช่วยประชาชน 

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวระหว่างรับฟังบรรยายสรุปสถานการณ์น้ำท่วมที่จังหวัดขอนแก่นว่า การลงพื้นที่ในวันนี้ไม่ได้เป็นการมาตำหนิใคร แต่ต้องการมาช่วยเหลือประชาชนให้ได้รับความเดือดร้อนน้อยที่สุด และขอให้ทุกฝ่ายพยายามเยียวยาอย่างทั่วถึง ทั้งนี้แนวทางการแก้ปัญหามีแผนงานโครงการของทุกจังหวัดอยู่แล้ว ซึ่งหลายโครงการมุ่งดำเนินการให้แล้วเสร็จในปี 2565 และบางโครงการมุ่งให้สำเร็จในปี 2566 

พร้อมย้ำว่าการระบายน้ำในพื้นที่และการพร่องน้ำต่าง ๆ จะต้องบูรณาการไม่ให้เกิดผลกระทบกับ ประชาชน ซึ่งภาพรวมในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือบางพื้นที่น้ำมาก บางพื้นที่น้ำน้อย ดังนั้นจะต้องมาพิจารณาหาแนวทาง เพื่อให้ได้ประโยชน์ร่วมกันในเรื่องของการกักเก็บน้ำ

ทั้งนี้หากยังมีฝนตกในปริมาณมากกว่าที่จะระบายน้ำได้ทัน ก็ยังจะมีปัญหาอยู่เช่นนี้ และไม่ใช่การแก้ตัว แต่เป็นข้อเท็จจริง ซึ่งจะต้องหาแนวทางว่าจะทำอย่างไรให้ประชาชนเดือดร้อนน้อยที่สุด หากอะไรที่สามารถป้องกันได้ก็ให้ดำเนินการไป เช่น การปกป้องโรงพยาบาล พื้นที่เศรษฐกิจ แต่หากเรื่องไหนทำไม่ได้ก็ต้องหาวิธีการแก้ไข เพื่อให้ประชาชนเดือดร้อนน้อยที่สุด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการรักษาพยาบาล อาหาร น้ำสะอาดและพื้นที่พักพิง


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top