Monday, 26 May 2025
SPECIAL

ชลบุรี - ทัพเรือภาคที่ 1 จัดกำลังพลจิตอาสากองทัพเรือ เปิดปฏิบัติการปูพรมทำความสะอาดหาดดงตาล ครั้งที่ 2/2564

สืบเนื่องจากช่วงวันที่ 23-26 พฤษภาคม 2564 ซึ่งเกิดพายุฝนฟ้าคะนอง กับมีฝนตกหนักลมกระโชกแรงในหลายพื้นที่ คลื่นลมทะเลได้หอบพัดเอาขยะมูลฝอยที่อยู่ในทะเลขึ้นมาบริเวณชายหาดดงตาล ต.สัตหีบ อ.สัตหีบ จว.ชลบุรี เป็นจำนวนมาก

ในวันนี้ 30 พ.ค.64  เป็นอีกครั้งหนึ่งที่ พลเรือโท โกวิท อินทร์พรหม ผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 1 ยังคงเห็นถึงความสำคัญในการฟื้นฟูสภาพแวดล้อมทางทะเล และสถานที่สาธารณประโยชน์ จึงได้มอบหมายให้ นาวาเอก วีระชัย  บุญมาก ผู้อำนวยการกองกิจการพลเรือน ทัพเรือภาคที่ 1 จัดกำลังพลจิตอาสาทัพเรือกองทัพเรือ จำนวน 61 นาย ได้แก่ กำลังพลจากกองบัญชาการทัพเรือภาคที่ 1 ร่วมกับกำลังพลจากหมวดเรือเฉพาะกิจทัพเรือภาคที่ 1 และเรือในหมวดเรือลาดตระเวนชายแดน เปิดปฏิบัติการ ปูพรมทำความสะอาดชายหาดดงตาล ตั้งแต่ทางเข้าออกหน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่งบริเวณสะพานคลองถูป จนถึงอุทยานเรือประวัติศาสตร์เรือของพ่อ ต.91

สำหรับปฏิบัติการปูพรมทำความสะอาดหาดดงตาลในครั้งนี้ สามารถกำจัดขยะมูลฝอยบริเวณชายหาด และที่ฝังอยู่ใต้พื้นทราย ได้เป็นจำนวนมาก โดยมีขยะที่ถูกกำจัด ได้แก่ ถุงพลาสติก หลอดกาแฟ แก้วพลาสติก ขวดน้ำดื่ม ขวดแก้ว กระสอบ ถุงขนม ฯลฯ รวมปริมาณขยะมูลฝอยที่สามารถกำจัดได้ในครั้งนี้คิดเป็นน้ำหนักขยะจำนวนมากกว่า 600 กิโลกรัม ในการนี้ผู้อำนวยการกองกิจการพลเรือนได้กล่าวขอบคุณกำลังพลจิตอาสากองทัพเรือ ที่เสียสละเวลาส่วนตัวในวันหยุดราชการ มาร่วมกันทำความดีเพื่อสังคม ซึ่งเป็นการฟื้นฟูสภาพแวดล้อมทางทะเล และสถานที่สาธารณประโยชน์ ตามที่ผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 1 ได้มอบนโยบายให้ อีกทั้งยังเป็นการสร้างจิตสำนึกให้แก่กำลังพลในสังกัดทัพเรือภาคที่ 1 ให้ร่วมกันทำความดีเพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ อีกด้วย

การปฏิบัติการทำความสะอาดชายหาดดงตาลในครั้งนี้ ทำให้ทราบว่าสภาพแวดล้อมโดยเฉพาะทางทะเล และชายหาด นั้น ยังคงมีขยะมูลฝอยเป็นจำนวนมาก ซึ่งต้องการความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ตั้งแต่ครัวเรือนไปจนถึงหน่วยงานต่าง ๆ ที่จะต้องหันมาร่วมกันรณรงค์ “งดการทิ้งขยะลงทะเล” อันจะทำให้สภาพแวดล้อมทางทะเลเกิดความสะอาด ไม่เป็นอันตรายต่อสัตว์ทะเล อีกทั้งจะทำให้เกิดทัศนียภาพที่สวยงามบริเวณชายหาด ใช้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สะอาดได้อย่างยั่งยืน


ภาพ/ข่าว : กองกิจการพลเรือน ทัพเรือภาคที่ 1 / นิราช / นันทพล ทิพย์ศรี ก012 ชลบุรี

ระยอง - ศรชล.ร่วม ศวทอ.สำรวจปะการังฟอกขาว สร้างความสนใจนักท่องเที่ยว

จากกรณี เกิดปะการังฟอกขาวพื้นที่บริเวณชายฝั่งในพื้นที่ อ.บ้านฉาง จ.ระยอง สร้างความแตกตื่นให้กับพี่น้องชาวประมงในพื้นที่เกรงว่าจะเป็นอันตรายต่อวิถีชีวิตของสัตว์น้ำในทะเล นั้น

ในวันนี้ 30 พ.ค.64  ผอ.ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลจังหวัดระยอง (ศรชล.จว.รย.) โดย นาวาเอก อนุพงค์ จันทร์พฤกษ์ รอง ผอ.ศรชล.จว.รย.) และนาวาเอก พิศาล หาญภักดี หัวหน้าศูนย์ควบคุมความมั่นคงท่าเรือจังหวัดระยอง (ศคท.จว.รย.) ให้ น.ต.จารึก พรเจริญ จนท.ส่งกำลังบำรุง ศรชล.จว.รย. บูรณาการร่วมกับ ศวทอ. ลงพื้นที่สำรวจปะการังสีขาวบริเวณหาดพลา อ.บ้านฉาง จ.ระยอง

เบื้องต้นได้สอบถามชาวบ้านและชาวประมงพื้นบ้านในพื้นที่แจ้งว่าปะการังสี ขาวชนิดนี้เกิดขึ้นปีละครั้ง จะเห็นอยู่ประมาณ 4-5 วัน และจะเกิดขึ้นประมาณเดือน เม.ย.ถึง มิ.ย. จากการสำรวจของศูนย์วิจัยฯ ปรากฏการณ์นี้เรียกว่า ประการังฟอกขาว ได้แก่ ปะการังโขด ปะการังช่องเหลี่ยม ปะการังผึ้ง และปะการังวงแหวน จะพบเห็นก็ต่อเมื่อน้ำทะเลลดต่ำระดับน้ำลึกประมาณ 10-30 ซม. ในช่วงน้ำลงเต็มที่ของทุกปี และมีอูณภูมิประมาณ 30-31 องศาเซลเซียส เป็นภาวการณ์สูญเสียสาหร่ายขนาดเล็กที่อาศัยอยู่ใน เนื้อเยื่อของปะการังออกไป ทำให้มองเห็นก้อนปะการังที่เป็นหินปูนสีขาวด้านใน แต่ในระหว่างปล่อยอาจเห็นปะการังมีสีซีดจาง สีชมพู ฯลฯ ขึ้นกับระยะของการฟอกขาว อาจไม่ฟอกจนขาวก็ได้เมื่อน้ำเย็นลงหรือแดดน้อยลง

นอกจากนี้แล้ว ยังได้ดำเนินการติดตามสถานการณ์ปะการังฟอกขาว ภายใต้โครงการประเมินสถานการณ์ปะการังฟอกขาว โรคและภูมิคุ้มกันแนวปะการัง อันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ บริเวณหาดพลา อำเภอบ้านฉาง  จังหวัดระยอง อุณหภูมิน้ำทะเล 32.2 องศาเซลเซียส ความเค็ม 33 ppt ความลึกน้ำ 0.5-1.0 เมตร (ช่วงน้ำลงต่ำสุด) และปะการังโผล่พ้นน้ำ พบว่าปะการังฟอกขาว พื้นที่ประมาณ 6 ไร่ ปะการังมีสีซีดจางประมาณ 80% และฟอกขาวประมาณ 10% ของปะการังมีชีวิต ปะการังที่มีสีซีดจาง ได้แก่ ปะการังโขด (Porites lutea) ปะการังช่องเหลี่ยม (Favites spp.) และปะการังวงแหวน (Favia sp.) ลักษณะการฟอกขาวของแนวปะการังบริเวณนี้เป็นปรากฏการณ์ปกติ ที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี เนื่องจากเป็นแนวปะการังน้ำตื้น และน้ำทะเลลดลงต่ำในเวลากลางวัน (เดือนพฤษภาคม-มิถุนายน) จากการสำรวจในปี 2563 การฟอกขาวบริเวณนี้จะฟื้นตัวได้หลังกลางเดือนมิถุนายน ทั้งนี้ศูนย์วิจัยฯ จะติดตามการฟื้นตัวของปะการังนี้ต่อไป

น.ส.ประไพ สาธิตวิทยา อายุ 65 ปี ประธานกลุ่มอนุรักษ์ประมงสามัคคีบ้านพลา ต.พลา อ.บ้านฉาง จ.ระยอง เปิดเผยว่า ขณะนี้ประชาชน และชาวประมงพื้นบ้าน เกิดความตื่นตระหนกกับปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวเป็นพื้นที่วงกว้าง เพราะเมื่อไม่นานนี้พบว่า มีตะกอนสีชมพูจำนวนมาก ติดอวนปูขึ้นมาจากใต้ทะเล ที่ยังหาข้อสรุปแท้จริงไม่ได้ ซึ่งการเกิดปะการังฟอกขาวไม่ใช่เรื่องดีกับทะเลแต่อย่างใด จะต้องเกิดผลกระทบห่วงโซ่อาหารของสัตว์ทะเลอย่างแน่นอน

และยังได้กล่าวต่ออีกว่า การเกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้ในทะเลที่เป็นแหล่งทำมาหากินของชาวบ้าน รู้สึกไม่ค่อยดีอาจส่งผลกระทบกับห่วงโซ่อาหารของสัตว์ แต่ปัญหานี้ยากต่อการแก้ไข จึงได้ร่วมกันปรับเปลี่ยนวิถีใหม่ พลิกวิกฤติให้เป็นโอกาส โดยการชักชวนนักท่องเที่ยวมาถ่ายภาพปะการังสีขาว เพื่อให้การค้าหรือการท่องเที่ยว กลับมาคึกคักอีกครั้ง


ภาพ/ข่าว ศรชล.ภาค 1 / นิราช / นันทพล ทิพย์ศรี

พังงา – ปิดจ๊อบโรงพยาบาลสนามพังงา หลังส่งผู้ป่วย 2 รายสุดท้ายกลับบ้าน ไม่พบผู้ป่วยใหม่ 12 วันต่อเนื่อง

เมื่อเวลา10.00 น.วันที่ 30 พฤษภาคม 2564 ที่โรงพยาบาลสนามพังงา 1 โรงยิมเนเซี่ยมสนามกีฬา อบจ.พังงา พญ.สิรินาฏ พัฒนพิชัย ผอ.โรงพยาบาลสนามฯพร้อมด้วยทีมแพทย์-พยาบาล ร่วมมอบหน้ากากอนามัย ข้าวสาร ของที่ระลึกและคู่มือการปฏิบัติตัวให้กับผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 จากคลัสเตอร์ อบต.มะรุ่ย 2 รายสุดท้ายของจังหวัดพังงา ที่เข้ารักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลสนาม โดยทั้งคู่เป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูงที่ได้กักตัวอยู่ที่โรงแรมพังงา เบย์ รีสอร์ท และที่ อบต.มะรุ่ย และได้ตรวจพบเชื้อจากการตรวจครั้งที่2 เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2564 เป็นผู้ป่วยรายที่ 66-67 ของจังหวัดพังงา ที่ได้รับเชื้อจากที่ทำงานใน อบต.มะรุ่ย ซึ่งทั้ง 2 รายเป็นผู้ป่วยที่ไม่แสดงอาการ

 

โดยแพทย์ได้ให้คำแนะนำการปฏิบัติตนในการกลับไปพักฟื้นต่อที่บ้านและการใช้ชีวิตประจำวัน โดยให้กักตัวเองที่บ้านอีก1อาทิตย์ ต้องสวมหน้ากาก หมั่นล้างมือ หลีกเลี่ยงไปที่ชุมชน หลังจากนั้นก็ออกไปทำงานได้ตามปกติ และหลังจากนี้ประมาณ3-6 เดือนให้เข้ารับวัคซีนได้ ทางผู้ป่วยได้กล่าวขอบคุณทีมแพทย์-พยาบาลที่ให้การดูแลรักษาเป็นอย่างดีตลอดระยะเวลาที่อยู่ในโรงพยาบาลสนาม ตอนแรกเข้ามานั้นรู้สึกตื่นเต้นมาก แต่ได้รับการดูแลจนรู้สึกอบอุ่น อาหารก็อร่อยทุกมื้อ โดยทางทีมแพทย์พยาบาลได้มอบดอกกุหลาบแสดงความยินดีกับผู้ป่วย2รายสุดท้ายพร้อมกับเดินไปส่งขึ้นรถและโบกมือส่งเสียงอำลากันอย่างอบอุ่น

พญ.สิรินาฏ พัฒนพิชัย เปิดเผยว่า โรงพยาบาลสนามพังงา1 ได้รับผู้ป่วยโควิด-19 ที่ไม่แสดงอาการและมีอาการเล็กน้อยมาดูแลรวม 26 ราย เป็นผู้ชาย6ราย ผู้หญิง 20 ราย หลังจากนี้ทางโรงพยาบาลสนามจะปิดดำเนินการ แต่จะเตรียมพร้อมต่อไว้อีก 1 เดือน เผื่อจะมีผู้ป่วยรายใหม่ขึ้นมาอีก สำหรับบุคลากรที่ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลสนามจะต้องกักตัวเองประมาณ5วัน ก่อนจะทำการตรวจหาเชื้ออีกครั้งเพื่อไปปฏิบัติงานตามปกติ ในส่วนของการรับวัคซีนนั้นจะช่วยลดความรุนแรงของโรค จึงขอเชิญชวนให้ทุกคนที่มีสิทธิฉีดวัคซีนไปลงทะเบียน ที่สถานพยาบาลใกล้บ้าน

สำหรับสถานการณ์การเกิดโรคโควิด-19 ของจังหวัดพังงา ประจำวันที่  30 พฤษภาคม 2564  ไม่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 12 วันต่อเนื่อง มีผู้ป่วยสะสมรวม 67 ราย  รักษาตัวหาย จำนวน 66 ราย  เสียชีวิต 1 ราย


ภาพ/ข่าว  อโนทัย งานดี

'จุรินทร์ - อลงกรณ์'​ รุดพื้นที่เพชรบุรีให้กำลังใจบุคลากรดูแลผู้ป่วยโควิด-19 พร้อมติดตามความคืบหน้าโครงการการค้าออนไลน์ของตลาดกลางสินค้าเกษตรท่ายางภายใต้ยุทธศาสตร์​ '1 เปิด 1 ปิด'​

ที่โรงพยาบาลสนามชั่วคราว​ (ศูนย์การภาพบำบัด) อำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี​ และรัฐมนตรีว่าการกระทาวงพาณิชย์, นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์พร้อมด้วยนายอภิชาติ สุภาแพ่ง ที่ปรึกษารมช.พาณิชย์, นายอรรถพร พลบุตร คณะที่ปรึกษารมช.สาธารณสุข​ และ​ ดร.กัมพล สุภาแพ่ง คณะที่ปรึกษารัฐมนตรีเกษตรฯ​ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมให้กำลังใจกับบุคลากรทางการแพทย์ที่ปฏิบัติงานดูแลผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งเป็นแรงงานชาวเมียนมาและแรงงานไทยบางส่วน ในคลัสเตอร์ของโรงงานแคลคอมฯ 

ทั้งนี้ได้มอบถุงยังชีพเป็นเครื่องอุปโภคบริโภค เพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องนำไปแจกจ่ายให้กับประชาชนผู้ที่เดือนร้อนได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าว เป็นการช่วยเหลือในเบื้องต้น โดยมี นายภัคพงศ์ ทวิพัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี พร้อมด้วย นางวิพร แววศรีผ่อง นายอำเภอเขาย้อย, นายแพทย์ สุทัศน์ ไชยยศ รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเพชรบุรี ร่วมให้การต้อนรับ

จากนั้น นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และคณะ ได้เดินทางต่อไปยัง ตลาดกลางการเกษตรหนองบ้วยของสหกรณ์การเกษตรท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี เพื่อพบปะพี่น้องกลุ่มเกษตรกรชาวจังหวัดเพชรบุรี และกลุ่มเกษตรชาวนาเกลือ​ ​3​ จังหวัด​ (เพชรบุรี​ ​- สมุทรสงคราม​ - สมุทรสาคร)

พร้อมเดินเยี่ยมชมผลิตผลทางการเกษตรโดยเฉพาะความคืบหน้าโครงการพัฒนาแพลตฟอร์มการค้าออนไลน์​ ซึ่งมีบริษัทไปรษณีย์ไทยร่วมดำเนินการกับคณะอนุกรรมการอีคอมเมิร์ซของกระทรวงเกษตรฯ​ และกระทรวงพาณิชย์ภายใต้ยุทธศาสตร์ '1  เปิด 1 ปิด'​ คือ เปิดเศรษฐกิจให้เร็วที่สุดและปิดโควิดให้เร็วที่สุด โดยนายอลงกรณ์ได้ขอให้ทางรองนายกรัฐมนตรีช่วยประสานรัฐบาลให้ส่งวัคซีนมาเพิ่มให้เพชรบุรีโดยเร็วที่สุด

สำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในจังหวัดเพชรบุรี วันนี้ (30 พ.ค.64) มียอดผู้ติดเชื้อ จำนวน 754 ราย รวมยอดสะสม 5,191 ราย ยังครองแชมป์เป็นอันดับที่ 2 ของประเทศไทย

นอกจากนี้ในส่วนของมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดเพิ่มเติม จังหวัดเพชรบุรีมีการประกาศล็อกดาวน์ พื้นที่ใกล้เคียงซึ่งพบการแพร่ระบาดคลัสเตอร์ใหม่ เพิ่มอีก 4 ตำบล ในอำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี ประกอบด้วย ตำบลเขาย้อย ตำบลหนองชุมพล ตำบลหนองชุมพลเหนือ และตำบลห้วยโรง อีกทั้งยังมีการเพิ่มจุดตรวจจุดสกัดทั้ง 4 ตำบล รวม 14 จุด เพื่อป้องกันการขนย้ายกลุ่มแรงงานที่มีความเสี่ยงสูงเข้า-ออก ในพื้นที่อีกด้วย

แนะ 3 เทคนิคให้คุณพ่อคุณแม่นำไปสอนลูก เมื่อลูกขาดความรับผิดชอบ

คุณคงเคยหงุดหงิดใช่ไหม? ที่เห็นลูกดูเป็นคนที่ขาดความรับผิดชอบ ขาดวินัย ไม่รู้หน้าที่ สอนจนไม่รู้จะสอนอย่างไรดี วันนี้ผู้เขียนมีเรื่องราวดีๆ มาเล่า เกี่ยวกับเทคนิคที่จะช่วยให้คุณพ่อคุณแม่นำไปสอนลูก เมื่อลูกขาดความรับผิดชอบ 

เริ่มต้นจากการค้นหาความหมายของการสอนที่ดี คืออะไร?

ช่วงนั้นโชคดี ได้เข้าอบรมหลักสูตร จิตวิทยาพัฒนาศักยภาพบุคคลสู่ความเป็นเลิศในองค์กร กับนักจิตวิทยาท่านหนึ่ง ท่านพูดในคลาสว่า การสอน หมายถึง การสร้างบรรยากาศที่ดี ให้เป็นกันเอง กระทั่งเกิดความไว้วางใจ จากนั้นเขาจะเปิดใจมารับฟังในสิ่งที่เรากำลังพูดด้วยตัวเขาเอง เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมด้วยตัวเขาเอง โดยที่เราไม่ต้องไปออกคำสั่ง

ผู้เขียนได้นำความหมายนี้มาสอนลูกศิษย์ มาสอนลูกน้อง และมาสอนลูก ทำให้เกิดผลลัพธ์ที่ดี เกินความคาดหมายอย่างน่าแปลกใจ และเชื่อว่าถ้าคุณพ่อคุณแม่นำความหมายของการสอน ไปใช้สอนกับลูกๆ ของท่าน ผู้เขียนหวังว่าจะตอบโจทย์ในการสอนลูกให้เชื่อฟัง 

1. เริ่มต้นรับผิดชอบงานเล็กๆ น้อยๆ ที่ไม่เกินความสามารถ
ลองมอบหมายงานบ้านให้รับผิดชอบเดือนละ 1 อย่าง ที่ผ่านมาผู้เขียนดูแลลูกสาวสองคน ดูแลหลานสาวอีก 2 คน รวมเป็น 4 สาว ทั้งๆ ที่ตอนนั้น ผู้เขียนเองทำงานหนักแทบไม่มีเวลาเลย แต่สามารถดูแลพวกเขาทั้ง 4 คนมาได้ด้วยดี

ได้มอบหมายงานในรอบ 1 เดือน ให้ลูกๆ หลานๆ รับผิดชอบ ทำคนละหน้าที่ ได้แก่ กวาดบ้านถูบ้าน/ ซักผ้าเก็บผ้า/ ทิ้งขยะ/ เอานำใส่ตู้เย็น แบบนี้จะเห็นชัด ว่าเมื่อไรก็ตามที่บ้านไม่สะอาด เป็นความรับผิดชอบของใคร เห็นชัดเจนเพราะมีเจ้าภาพ น้ำในตู้เย็นหมด ก็สามารถเรียกคนรับผิดชอบเรื่องนี้มาตักเตือนได้เลย ซึ่งก็ได้ผล ที่ทุกคนยอมรับผิดในข้อบกพร่องของตัวเอง 

ผู้เขียนก็ถือโอกาสอธิบายบอกสอนในเรื่องความรับผิดชอบไปในตัว แต่คุณต้องระวังเรื่องที่อาจทำให้ลูกๆ รู้สึกว่างานที่ตนเองรับผิดชอบนั้น หนักว่าคนอื่น ผู้เขียนก็ตระหนักเรื่องนี้เช่นกัน จึงได้มีการสลับหน้าที่กันไปทุกเดือน ทำให้ทุกคนได้ทำทุกหน้าที่ โดยพิจารณาความยากง่ายจากอายุ และความสามารถในการรับผิดชอบด้วย 

2. การช่วยเหลือผู้อื่นให้ประสบความสำเร็จ 
กรณีถ้าน้องคนเล็กได้รับผิดชอบงานที่หนักเกินไป น้องเล็กสามารถไปเจรจาขอความช่วยเหลือจากพี่ๆ ได้ เรื่องนี้ก็เป็นวิธีช่วยสอนให้เกิดการเรียนรู้เรื่องการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ และการช่วยเหลือพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันไปในตัว

3. การกล่าวชื่นชมเมื่อลูกมีความรับผิดชอบ 
เป็นอีกเรื่องที่ช่วยส่งเสริมให้ลูกๆ มีความรับผิดชอบ เช่น การเก็บที่นอนให้เรียบร้อยสวยงามเรียบตึง หลังจากตื่นนอน ต้องรู้จักชื่นชมเมื่อลูกทำได้ดี ให้ลูกฝึกความรับผิดชอบด้วยความสุข ความสุขต้องไม่กดดัน หรือบังคับ คุณพ่อคุณแม่ต้องระวัง อย่าทำให้บรรยากาศในการสอนเสียเป็นอันขาด 

เริ่มต้นจากความรับผิดชอบเล็กๆ น้อยๆ ในบ้าน นำไปสู่ความรับผิดชอบต่อสังคม (Social Responsibility) ซึ่งมีความจำเป็น ต้องปลูกฝังกันอย่างจริงจัง ส่งเสริมการเรียนรู้และวิธีการปฎิบัติอย่างถูกต้องเหมาะสม โดยเฉพาะกับเด็กๆ ที่ต้องเติบโตขึ้นมาเป็นกำลังสำคัญในการสร้างสังคม ให้เป็นสังคมที่น่าอยู่ต่อไป

เขียนโดย อ.นิธิมา กุญชร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาบุคลากร โปรเฟสชั่นนอล เทรนเนอร์
#Talktonitima


อ้างอิงข้อมูล:  

https://www.sanook.com/women/61307/
https://mgronline.com/qol/detail/9630000040712

เป็นคนดีแล้วได้อะไร ? ความบริสุทธิ์ใจ ภัยสังคม จริงหรือ ?

ยกให้อยู่ในหมวดคำถามจักรวาลแตก โดยมีคนในโลกแบกคำตอบที่แตกต่างไว้เพียบ

เป็นคนดีแล้วได้อะไร ?

แต่ก่อนหลายคนจะยึดมั่นกับ​ 'ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว'​

...แต่บังเอิญ​ ช่วงนี้มักมีประโยคหนึ่งนัวผุดขึ้นมาในหัวกันบ่อยขึ้นว่า 'ความดีไม่ใช่รางวัลตอบแทนการทำดี'​ อ่าว...แล้วยังไงดี !!

เคยคิดไหม? ว่าการให้เงินขอทาน ซื้อกล้วย ซื้ออ้อยให้ช้าง หรือซื้อนกกระจิบกระจอกที่พ่อค้าแม่ค้าจับมาเป็นเซตใส่กรงไว้ เพื่อปล่อยแถวหน้าวัด มีค่าเท่ากับส่งเสริมกระบวนการทำลายสังคมให้เติบโต โดยที่เราอาจไม่รู้ตัวหรือไม่? 

จริงอยู่ที่ว่าการกระทำเช่นนั้น​ อาจมาจากความเวทนาสงสาร​ และพอได้นำเงินให้แก่ขอทาน รวมถึงซื้อกล้วย ซื้ออ้อยให้ช้างกินนั้นช่วยให้เรารู้สึกสบายใจก็ตาม

แต่ในสังคมวันนี้​ มันมีเรื่องแปลกตรงที่​ 'การให้'​ ที่เอ่อล้นไปด้วย​ 'ใจอันบริสุทธิ์'​ กลับจุดประกายให้เกิดปัญหาในสังคมได้แบบ...มหากาพย์ 

ขอยกตัวอย่าง กรณี "พิมรี่พาย" ยูทูปเบอร์ ชื่อดัง กับเหตุการณ์ดราม่าที่เคยเกิดขึ้นเมื่อช่วงเดือนมกราคม หลังมีคลิปการเดินทางไปที่หมู่บ้านแม่เกิบ อ.อมก๋อย ซึ่งอยู่ห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่กว่า 300 กม. เพื่อนำสิ่งของไปมอบให้เด็ก ๆ 

ด้วยสภาพความเป็นอยู่ของคนที่นี่ จึงทำให้พิมรี่พายทุ่มเงินกว่า 5 แสนบาท เพื่อติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ผลิตไฟฟ้า ซื้อโทรทัศน์จอยักษ์มาติดตั้งที่ลานหมู่บ้าน ด้วยการเปิดไฟ และเปิดทีวีให้เด็ก ๆ ดู เผื่อพวกเขาจะได้เห็นว่ามีอาชีพมากมายอยู่ในนี้ และจะได้มีความฝันว่าโตขึ้นไปควรเป็นอะไร 

หลังจากที่คลิปดังกล่าวถูกเผยแพร่ไป มีคนกดไลก์และแชร์มากมาย จนทำให้เกิดแฮชแท็ก #พิมรี่พาย ขึ้นเทรนด์อันดับ 1 ในทวิตเตอร์ประเทศไทย ซึ่งก็มีทั้งกระแสชื่นชมและเห็นต่างในเรื่องนี้

ในแง่ความเห็นด้วยคงไม่ต้องอธิบายความ​ แต่ในแง่ความคิดเห็นต่างอันนี้ต้องมาถอดรหัสกันดู!! 

หนึ่งในความเห็นต่างที่น่าสนใจมาจากนักเขียนหนุ่มเจ้าของนามปากกา “ภินท์ ภารดาม” ซึ่งเปิดอีกมุมมองเกี่ยวกับการทำดีของพิมรี่พายในครั้งนั้นไว้ว่า​ "ชื่นชมแต่ไม่เห็นด้วย" 

เขาเล่าว่า​ "ชื่นชมความเป็นนักปฏิบัติ โลกเรามีนักพูดเยอะมาก แต่ไม่ลงมือทำ การลงมือทำของเธอโดยไม่ต้องรอเหนือรอใต้ ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงได้จริง 

"แต่ความช่วยเหลือเป็นการไปถามเอาจากคุณครู หรือสอบถามในฐานะผู้ให้ และไปนึกเอาเป็นข้อสรุปเองว่าจะต้องให้อะไร และคิดไปว่าเด็กจะต้องมีอาชีพอย่างคนเมือง จึงนำไปสู่ข้อสรุปที่ว่า ต้องเอาทีวีมาให้เด็กดู​ เพื่อจะได้รู้ว่าต้องการมีอาชีพอะไร เป็นข้อสรุปที่ได้จากตัวพิมพรี่พายเอง คล้ายกับการคิดแทนเด็กๆ ไม่ใช่ความต้องการของเด็กๆ"

"เราอาจจะเป็นปัจจัยให้กับเขาในการสนับสนุนในสิ่งที่เขาต้องการ แต่การก้าวล่วงไปมองว่าเด็กต้องอ่านหนังสือถึงจะมีความรู้ เป็นความคิดที่เป็นการกระทำการแทน แต่หากมองว่าถ้าเราเข้าไปเรียนรู้กับเด็กดอยและใช้เวลาอยู่บนดอยมากหน่อย ใช้เวลาสังเกตการณ์มากหน่อย อาจจะมองเห็นเองว่าอะไรควรทำ อะไรไม่ต้องทำ ไม่ปล่อยให้อารมณ์หรือ ความกรุณาแบบอัตโนมัติเข้าทำงาน อย่างน้อยต้องศึกษาเรื่องราวตามภูมิปัญญาชาวเขา จะมองเห็นหนทางที่จะหยิบยื่นความช่วยเหลือได้ยั่งยืนกว่านี้"

หลังมีดราม่า พิมรี่พาย ได้ไลฟ์ชี้แจงดราม่าเรื่องที่ขึ้นไปติดตั้งทีวีและแผงโซลาร์เซลล์ให้เด็กๆ และบอกว่า อาชีพของเธอเป็นอาชีพที่ต้องสร้างภาพให้คนเห็น ซึ่งเธอนั้นเลือกที่จะสร้างภาพแบบคืนดีด้วยการคืนให้สังคม จึงอยากเอาเงินที่เหลือไปตอบแทนสังคม แล้วก็ฝากถึงคนที่เห็นต่างอยากให้มองถึงเจตนาที่แท้จริงของเธอ คือแค่ อยากทำความดี เพราะการทำความดี เป็นไปด้วยเจตนาดี จะทำความดีต่อไป 

อย่างไรก็ตามเราเองก็มองว่าสุดท้าย เมื่อเราทำดีแล้ว ก็เสร็จสิ้นด้วยความดี หากยิ่งไม่หวังผลในความดี ก็คงจะยิ่งดีขึ้นไปอีก...หรือแม้หลายครั้งที่ทำดี แล้วได้รับผลตอบรับแบบบัดซบบ้าง สูญเปล่าบ้าง แต่ไม่ว่าอย่างไร "ความดีก็คือความดี" 

คิดแค่นั้นพอ!! 


อ้างอิงข้อมูล
https://www.khaosod.co.th/special-stories/news_5704244

มาไม่หยุดทุกพื้นที่ชายแดน…!!! กองกำลังสุรสีห์ จับอีกระลอก 21 คนเมียนมา-กัมพูชา หลบเข้าประเทศทางช่องธรรมชาติพื้นที่ชายแดน

เมื่อวันที่ 30 พ.ค.กองทัพภาคที่​ 1​ โดยกองกำลัง สุรสีห์ (กกล.สุรสีห์) โดย หน่วยเฉพาะกิจลาดหญ้า (ฉก.ลาดหญ้า) ร่วมกับ สภ.ไทรโยค, สภ.สังขละบุรี, ร้อย.ตชด.136 เเละฝ่ายปกครอง  ลาดตระเวนตรวจถึงบริเวณเส้นทางธรรมชาติ บ.ท้ายเหมือง ต.บ้องตี้ อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี ได้ตรวจพบกลุ่มบุคคลต้องสงสัย ตรวจสอบพบเป็นบุคคลต่างด้าวสัญชาติเมียนมา ลักลอบข้ามแดนโดยผิดกฎหมาย เลยแสดงตัวเข้าจับกุม จำนวน 9 คน เป็นชาย 7 คน หญิง 2 คน

ต่อมาเจ้าหน้าที่ตรวจยังพบกลุ่มบุคคลต่างด้าวสัญชาติเมียนมา ลักลอบข้ามแดนโดยผิดกฎหมาย อีกจำนวน 6 คน เป็นชาย 3 คน หญิง 3 คน กำลังเดินเข้ามายังบริเวณสวนยาง บ้านทิโคร่ง ต.ปรังเผล อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี ทางหน่วยจึ่งได้ทำการตรวจวัดอุณหภูมิ เเละนำตัวผู้ต้องหาส่งดำเนินคดีตามกฏหมายต่อไป

ต่อมาวันที่ 30 พ.ค.เวลา 01.00 น. กองกำลังบูรพา (กกล.บูรพา)  โดยชุด

คทร.ฉก.ตาพระยา ตรวจพบแรงงานต่างด้าวชาวกัมพูชา จำนวน 7 คน ชาย 3 คน หญิง 3 คน และเด็กหญิง 1 คน พร้อมชายไทย 1 คน เป็นคนดูต้นทาง บริเวณบ้านทัพสยาม อ.ตาพระยา จ.สระแก้ว จากการสอบถาม ทั้งหมดให้การว่าจะเข้าไปหางานทำในพื้นที่ตอนในของประเทศไทย เจ้าหน้าที่จึงได้ควบคุมตัวสั่งตัวไปดำเนินการตามกฎหมายและมาตรการควบคุมโรคต่อไป

ขอเป็น ‘คนดี’ ที่โลกไม่ต้องจำ

ไม่มีงานไหน ‘สำเร็จ’ ได้ด้วยตัวคนเดียว 

ประโยคนี้ไม่เคยผิดเพี้ยน ไม่ว่ายุคเวลาจะผ่านไปนานเพียงใด 

นั่นก็เพราะทุกความสำเร็จของงาน ล้วนประกอบไปด้วย ‘คนเบื้องหน้า’ และ ‘คนเบื้องหลัง’ ซึ่งส่วนใหญ่เราปฏิเสธได้ยากที่คนเบื้องหน้า มักเป็นผู้ได้หน้าเสมอ เพียงแต่เบื้องหลังความสำเร็จ ก็สำคัญไม่แพ้กัน 

อย่างงานในวงการบันเทิง บรรดาคนเบื้องหลัง ตั้งแต่ผู้กำกับ ผู้จัดการ คนจัดคิว คอสตูม ช่างแต่งหน้า ช่างกล้อง ช่างไฟ ยันแม่บ้านและรปภ. ที่แม้จะมีหน้าที่แตกต่างกันไป แต่ทุกๆ หน้าที่ขับเคลื่อนบนจุดหมายเดียว คือ ดันหน้าฉากให้ไปได้ไกลที่สุด  

แน่นอนว่าในสังคมที่เรามองภาพมิติเดียว มันเลี่ยงไม่ได้จริงๆ ที่คนทำงานเบื้องหลังจะเหนื่อยแค่ไหน ก็ยากที่ใครจะต้องรู้!!

แต่สิ่งที่อยากให้เหล่า ‘คนเบื้องหลัง’ ได้รู้ไว้ข้อ คือ คุณคือของจริง ตัวจริง เก่งจริง โดยไม่ต้องให้ใครมาจำ 

ย้อนกลับไปในช่วงวัยกระเตาะของผู้เขียน ซึ่งสมัยก่อนเป็นเพียงชะนีน้อยนักกิจกรรมตัวยง ได้โอกาสกลับมาร่วมวงกับก๊วนชะนีที่บัดนี้เริ่มโรยราไปตามปี พ.ศ. 

บทสนทนาในวงชะนีชรา ได้หวนให้นึกถึงชีวิตวันวานในรั้วมหาวิทยาลัย ที่แมสเสจส่วนใหญ่ก็ยังไม่พ้นเรื่องผู้ และวนเวียนไปเรื่องลงต่ำใต้คาดสะดือ

แต่มันมีอยู่เรื่องหนึ่งที่ถูกหยิบมาคุยกันโดยบังเอิญ นั่นคือเรื่อง ‘ความภูมิใจในรั้วมหาวิทยาลัย’

ใช่แล้วเจ้าค่ะ ตัวอิชั้นเองก็มีประสบการณ์เรื่องนี้มากโข เลยรีบโอ่ให้ฝูงชะนีตัวอื่นฟังอย่างโอ้อวดเลยว่า “จำได้ไหม ฉันเคยเป็น ‘พี่เลี้ยง’ ให้กับดาวเดือนในสายคณะของเรา แถมเอาชนะการประกวดในมหาวิทยาลัยมาก่อนนะ เฮ้ยๆ” 

เรื่องนี้ถูกเปิดด้วยปมว่า ใจจริงก็มิอยากรับ แต่รัศมีแห่งการเป็นผู้ดัน มันไปกระแทกตาครูบาอาจารย์และใจรุ่นน้องรอบๆ ข้างที่เชื่อมั่นว่าจะทำให้เด็กน้อยหน้าละอ่อนในสังกัด (2 คน) เป็นดาวเดือนของคณะที่พร้อมคว่ำคู่แข่งคณะอื่นๆ ได้ 

เชื่อไหมว่า ตอนแรก อิชั้น ก็คิดว่าการเป็นพี่เลี้ยงคงไม่ได้ยากเกินความสามารถสักเท่าไร แค่สอนน้องให้ ฝึกตอบคำถาม ฝึกพูด ฝึกเดินๆๆ บนเวทีแค่นั้นพอ จบ!!

แต่ไปมาๆ พอได้สัมผัสจริง มันคนละเรื่องกันเลยนิหว่า!!

ก็เพราะคุณน้องๆ ดาวเดือนที่อิชั้นได้เข้าดูแลแบบเริ่มจากศูนย์ >> ย้ำว่าศูนย์เลย!! ทำอะไรไม่เป็นสักอย่าง 

จะสอนเดิน ก็ยาก เพราะน้องดาวสาวสวยใหม่กับเรื่องนี้มาก ไหนจะต้องหัดใส่ส้นสูงเดินเอวแอ่นๆ แบบอแมนด้า ไหนจะต้องสอนแนะนำตัว ซึ่งก็พูดติดๆ ขัดๆ ยังกะเด็กจัดฟัน ส่วนไอ้ฝั่งน้องเดือน หนุ่มน้อยเรือนร่างดี มันดันไม่รักดี ไม่เคยคิดจะสนใจใดๆ นอกจากเอาแต่กดตีป้อมรัวๆๆ จนไม่รู้ว่าในหัวลืมคิดว่าตัวเองต้องมาซ้อมประกวด หรือซ้อมชิงถ้วย ROV กันแน่!!

เป็นแบบนี้...ไอ้เราก็ท้อใจสิเจ้าคะ!! 

เหตุการณ์เหล่านี้ เกิดขึ้นซ้ำๆ ซ้ำๆ และ ซ้ำๆ กันยังกะดูหนังเดจวู

แต่เรื่องแบบนี้ มักมีจุดเปลี่ยนเสมอ!!

เพราะมีอยู่วันหนึ่งที่ต้องฝึกน้อง ‘ดาว - เดือน’ ให้เดินและตอบคำถาม เพื่อสร้างความประทับใจแก่ท่านคณะกรรมการ โดยมีเพื่อนๆ มาร่วมเป็นหน้าม้า ซึ่งอิชั้นก็เตรียมคำถามและคำตอบระดับเวที Miss Universe ไว้อย่างเหมาะสมไปประมาณ 50 ข้อ 

ด้านน้องดาวตอบได้ดีบ้าง ไม่ได้บ้าง อันนี้เข้าใจ และก็คงต้องมาปรับจูนกันต่อ 

แต่อิคุณน้องเดือนนี่สิ ยังเหมือนเดิม ไม่สนใจและมัวแต่เล่นเกม แทนที่จะฝึก 

ความโกรธบันดาลสิเจ้าคะ!!

บันดาลขนาดไหนหรอ? ก็ขนาดที่อยู่ดีๆ สองฝั่งแก้มแอบไปด้วยหยดน้ำตาที่พรากลงมาต่อหน้าน้องๆ เพราะเป็นคนด่าใครไม่เป็น!! (รู้สึกอาย แหะๆ) 

แน่นอนว่าช่วงเวลานั้น ตัวอิชั้นเองก็ไม่รู้ว่าจะต้องทำเยี่ยงไร ครั้นจะกระชากหัวมาตบ ก็ทำไม่เป็น จะด่าหยาบๆ เจ้าคุณแม่ก็สอนมาว่ามิควร 

แต่ต้องบอกตรงๆ ว่าตลอดหลายวันที่ผ่านมากับน้องๆ ดาวเดือนนั้น มันกินเวลาชีวิต และต้องดึงจักระส่วนเกินของร่างกายมาใช้ เรียกว่าทั้งท้อและเหนื่อยแบบสุดแรง  เพราะมันไม่ใช่แค่สิ่งที่ ‘ไม่ได้ดั่งใจตรงหน้า’ แต่ยังมีแรงกดดันจากทางอาจารย์ในคณะฯ อีกว่า “อยากให้รุ่นนี้เป็นดาวเดือนประจำคณะ” 

ความเครียด มันเลยมาจบที่ซีนน้ำตาเช่นนี้แล!!

ว่าแต่ซีนเรียกน้ำตาในตอนนั้น มิได้เสียเปล่า เพราะตอนนั้นน้องๆ ดาวเดือนต่างก็ช็อกเจ้าค่า คงไม่คิดว่าจะมีกรณีศึกษาเช่นนี้ให้เห็นเป็นบุญตา เพราะส่วนตัวอิชั้นเองเป็นคนรับแรงกดดันได้มาก (ยิ่งดันแรงมากเท่าไรก็ยิ่งชอบ)

เมื่อเด็กๆ เห็นเราอยู่ในสภาพดังกล่าว เลยขอโทษและปรับความเข้าใจกับเราใหม่อีกครั้ง เพื่อที่จะสามารถทำงานกันต่อได้ แล้วพวกเขาก็ให้ความร่วมมือและตั้งใจแบบสุดๆ (อันนี้เรื่องจริงนะ)

จุดพลิกจากวันนั้น ทำให้เกิดเหตุการณ์น่าชื่นใจในเวลาต่อมา นั่นก็คือ ในวันประกวดจริง เจ้าน้องเดือนผู้ไล่ล่าป้อม ได้เป็นที่หนึ่งของคณะฯ ส่วนน้องดาวได้เป็นที่ 2 ของคณะฯ 

ต่อม Proud ทะลักสิเจ้าคะ!! เพราะนี่คือผลงานชิ้นโต ที่ทำให้เด็กทั้ง 2 คนเป็นที่น่าจดจำ และสามารถทำให้คณะอิชั้นได้หน้ากันเต็มๆ

เอาล่ะ!! ที่นี้ก็มาถึงไคลแม็กซ์ 

ที่บอกว่าไคลแม็กซ์ เพราะพอการประกวดเสร็จ ท่านอาจารย์ก็เข้ามาชื่นชมเด็กๆ ทั้ง 2 คนโดยมีนักปั้นแบบเรายืนหัวโด่อยู่ข้างหลัง 

ช็อตถ่ายรูปกัน มีความสุขกันของเหล่าคณาจารย์ กับบรรดาน้องๆ ดาวเดือน โดยมีพื้นหลังเป็นอิชั้น ‘นักปั้น ผู้เดียวดาย’ กลับมิมีเสียงชม (ประปรายก็ยังดี) เล็ดลอดรูปากอาจารย์ผ่าน รูหูกรู แม้แต่น้อย

ต่อมความน้อยเนื้อต่ำใจ ไหลทะลัก จนอยากจะตะโกนออกมาเหมือนกันว่า ชมกูสิ ชมกูสิ โว้ยยยย!!

อารมณ์ในตอนนั้น คาค้างใจมานานนม เพราะนี่คือการ ‘พราก’ ความภูมิใจที่ฉันควรได้ไปจากอก

นี่แหละ ที่อยากจะบอกว่า ความสำเร็จของทุกสิ่งอย่าง มันอาจจะมิได้มา ด้วยใครคนใดเพียงคนหนึ่ง 

>> ว่าแต่บทสรุปของเรื่องนี้ยังไม่จบ ขอตัดฉากกลับมาที่ตัวอิชั้นในปัจจุบันแปบ!!

เรื่องนี้สอนให้รู้ว่า ใจจริงของมนุษย์ทุกคนย่อมอยากได้รับการชื่นชม แต่เชื่อหรือไม่ว่า ข้อคิดแบบตรัสรู้จากการได้ทำบางอย่างสำเร็จ แต่ไร้คนชมนั้น มันทำให้อิชั้นบรรลุบางอย่าง จนทำให้แอบอมยิ้มเบาๆ ข้างมุมปากมิได้

อะไรน่ะหรือ?

การได้หวนคิดว่า 2 ดาวเดือนที่เราเคยปลุกปั้น เดินถึงฝั่งฝั่ง มันพิสูจน์ตัวฉัน ว่า “เราก็มีดีเหมือนกันนิหว่า” 

เพราะนี่คือผลงานที่เกิดจากมันสมอง

นี่คือผลงานที่เกิดจากสองมือ

แม้ชื่อเสียงในเบื้องหน้าจะไม่ระบือ แต่คนที่รู้ และอนาคตที่รออยู่ ย่อมรู้ว่า “ฉันก็ไม่ธรรมดา” มันคือ ‘ของดี’ ที่ติดตัวอิชั้น แม้โลกไม่จดจำ ก็อย่าได้แคร์ 

นี่ก็เป็นอีกมุมของการทำงาน ที่แม้ว่าเบื้องหน้าจะสวยงามเพียงใด แต่หากไร้เบื้องหลังที่ดีคอยโอบอุ้มและประคับประคอง ก็ยากที่จะทำให้ ‘เป้าประสงค์’ นั้นๆ ไปถึงฝั่ง 

จงเชื่อมั่นในจุดเรายืน และจงเชื่อมั่นในสิ่งที่เราทำ โดยไม่ต้องหวังอะไรที่มันเป็นแค่ ‘นามธรรม’ ให้หลงเพ้อไปชั่วครู่

ก็ความสามารถที่เรามี มันเป็น ‘รูปธรรม’ ติดตัว ที่ใครก็พรากมันไปมิได้ ยังไงเล่า!! 

Have a good day ค่ะ 


ขอบคุณภาพประกอบจากซีรีส์ 2Moons The Series เดือนเกี้ยวเดือน

‘Yes man’ ชีวิตเกือบตุ้บ เพราะมุ่ง​ 'เซย์เยส'​

เชื่อว่าหลายๆ​ คนคงได้ยินประโยคติดหูอย่าง ‘ทำดีย่อมได้ดี’ ซึ่งก็อาจจะจริง แต่ไม่จริงทั้งหมด วันนี้เลยอยากจะยกกรณีของหนังเรื่อง ‘Yes Man’ หรือชื่อไทย ‘คนมันรุ่งเพราะมุ่งเซย์เยส’ หนัง Feel Good ที่สะท้อนให้เห็นว่าการทำดี (แบบไม่ลืมหูลืมตา) ก็ไม่ใช่ผลดีเสมอไป

โดยหนังเรื่องนี้ได้เล่าถึง ‘คาร์ล อัลเลน’ นายธนาคาร ที่มีชีวิตสุดหดหู่ เพราะการหย่าร้าง ทำให้เขาเริ่มใช้ชีวิตแบบหันหลังให้สังคม คำพูดติดปากของเขาคือ​ การเซย์ ‘โน’ (ปฏิเสธทุกอย่าง)​

เขาปฏิเสธกับทุกสิ่งที่เหวี่ยงเข้ามาในชีวิต แต่ทุกอย่างกลับเปลี่ยนไปเมื่อเขาได้มาเจอกับเพื่อนเก่าที่ชักชวนให้เขาไปเข้าร่วมสัมมนา ที่ทุกคนต่างพูดแต่คำว่า ‘เยส’ (ตอบรับทุกเรื่อง)​ ซึ่งก็กลายเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เขาเริ่ม​ 'เซย์เยส’ กับทุกเรื่องที่เข้ามาในชีวิต 

หลังจากนั้นชีวิตเขาก็เริ่มเปลี่ยนไป​ เพราะชีวิตที่เคยมีแต่ความหดหู่กลับมีเรื่องดีๆ เข้ามา แต่เมื่อไหร่ที่เขาเซย์ ‘โน’ เรื่องแย่ๆ ก็จะเกิดขึ้นกับเขาไปเสียทุกที ทำให้เขายิ่งเชื่อว่าหากเขาเริ่มปฏิเสธเขาก็จะกลับมาสู่ชีวิตหดหู่แบบเดิมอีกครั้ง 

เพียงแต่การเซย์ ‘เยส’ ของเขา​ ก็ใช่ว่าจะเจอเรื่องดีๆ​ ทั้งหมด​ เพราะมันกลับทำให้เกิดเรื่องยุ่งๆ   ด้วยเช่นกัน​ เมื่อเขาดันตกปากรับคำไปซะทุกเรื่อง แม้ว่าเรื่องนั้นจะไม่เต็มใจทำ หรือเกินความสามารถที่เขาจะทำได้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็ทำให้เขาต้องมาทำความเข้าใจเสียใหม่กับการ เซย์ ‘เยส’ แบบไม่ลืมหูลืมตาของเขา

จากโลกของหนัง​ อ้อมมาสู่โลกของความเป็นจริง​  อะไรที่หล่อหลอมให้คนหนึ่งคนเกิดพฤติกรรมชอบเยสแบบ​ ‘คาร์ล อัลเลน’

ปัจจัยสำคัญหนึ่งที่สะท้อนจากเรื่องนี้​ คือ ‘ความขี้เกรงใจ’ จนไม่กล้าปฏิเสธ ซึ่งเรื่องนี้ทางผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาของจีน 'โจวเหวยลี่'​ เชื่อว่า "ความวุ่นวายส่วนใหญ่ของชีวิตมาจากการที่คุณพูดว่า YES เร็วเกินไป และพูดว่า NO ช้าเกินไป" โดยเธอมองว่าความเกรงใจกลายเป็นส่วนหนึ่งที่มาทำลายชีวิต 

และทางออกที่จะแก้ไขปัญหานี้ได้​ ก็ง่ายๆ​ แค่หัดรู้จักเซย์ ‘โน’ เสียบ้าง ซึ่งอาจจะต้องเริ่มเปลี่ยนวิธีคิด กำจัดความเกรงใจออกไป เพื่อให้เรากล้าที่จะปฏิเสธ พร้อมท่องจำไว้ด้วยว่า "ก่อนจะเห็นแก่คนอื่น เราต้องเห็นแก่ตัวเองเสียก่อน" 

"การปฏิเสธไม่ใช่การกระทำที่แย่ แต่เราควรต้องเรียนรู้ที่จะพูดคำว่า ‘ไม่’ และคำว่า ‘ได้’ ไปพร้อมๆ​ กัน"

หากมองดูจากภาพยนต์เรื่อง Yes Man นี้แล้วก็สะท้อนให้เห็นว่าการเซย์ ‘เยส’ ที่สุดโต่ง​ หรือ​ 'โน'​ แบบสุดลิ่มทิ่มประตู ย่อมสร้างความเดือดร้อนให้กับตนเองได้ทั้งนั้น

ฉะนั้นหนทางที่ดีที่สุด​ คือ ควรอยู่บนความพอดี เราควร เซย์ ‘เยส’ กับเรื่องที่ทำได้ และเซย์ ‘โน’ กับเรื่องที่เกินตัวไปสำหรับเรา เพราะถ้ายังเป็น Yes Man ในชีวิตจริง ก็คงชีวิตหวิดตุ้บ เพราะมุ่งเซย์เยสอย่างแน่นอน


ข้อมูลอ้างอิง 
https://www.brandthink.me/content/moody-digest-say-no
https://www.thairath.co.th/news/foreign/1229676

Hiking แบบฟิน ๆ เดินฝัน ๆ บนสันเขาสวิส

ถ้าพูดถึงการพักผ่อนหย่อนใจหรือใช้เวลาว่างของคนสวิสแล้ว จะต้องมี Hikking หรือ Trekking การเดินท่องเที่ยวตามเทือกเขาลำเนาไพรรวมอยู่ด้วยแน่ ๆ และสวิสก็ขึ้นชื่อเรื่องวิวทิวทัศน์ที่สวยงามอยู่แล้ว ทำให้การเดินป่าเดินเขาไม่น่าเบื่อเลย แม้ว่าเส้นทาง Hiking จะใช้เวลา 2-8 ชั่วโมงในการเดินทางไปและกลับ โดยมีปลายทางสิ้นสุดคือกลับมาที่จุดเริ่มต้น การเดินอาจจะเดินไปและกลับบนเส้นทางเดิม หรือเดินเป็นวงรอบกลับมาที่จุดเดิม หรือบางเส้นทาง Hiking อาจจะมีจุดเริ่มต้นและสิ้นสุดเป็นคนละที่ แต่เส้นทาง Hiking มีการจัดตามระดับความฟิตของแต่ละคนอีกด้วย


มาดูระดับความฟิต และป้ายบอกเส้นทางแบบคร่าว ๆ กัน 

1. T1 Hiking จะมีป้ายบอกเป็นสีเหลือง
2. T2 Mountain hiking จะมีป้ายบอกเป็นสีขาวแดงขาว
3. T3 Challenging mountain hiking สีขาวแดงขาวเหมือน T2 
4. T4 Alpine hiking จะเป็นสีขาวฟ้าขาว 
5. T5 Challenging Alpine hiking สีขาวฟ้าขาวเหมือน T4
6. T6 Difficult Alpine hiking ส่วนใหญ่ไม่มีป้ายบอกเป็นกิจลักษณะ
7. Winter hiking ป้ายจะเป็นสีชมพู

เอาหล่ะ !! มาถึงเส้นทางที่เราจะพูดถึงกันในวันนี้ดีกว่า วี่เลือกเป็นเส้นทางสันเขาระดับ T3 เหมือนว่าจะง่าย ๆ แต่ทางขึ้น ๆ ลง ๆ เอาเรื่องเพราะเป็นการข้ามจากอีกเขามาอีกเขา แต่รับรองว่าทำให้หัวใจเต้นรัว ๆ ได้เลยทีเดียว 


ส่วนใหญ่เวลาวี่มาที่นี่จะขับรถมาที่ Schwyz (ชวีส)-Schlatti (ชรัตตี้) เป็นรัฐตอนกลางของประเทศสวิตเซอร์แลนด์ที่มีชื่อเสียงด้านการท่องเที่ยว จากตรงนี้เราจะเจอกับ Funicular Railway ทางรถรางที่มีเส้นทางที่ชันที่สุดในโลก ซึ่งหลังจากใช้เวลาในการวางแผนและก่อสร้างจนแล้วเสร็จใช้เวลาประมาณ 14 ปี ก็ได้มีการเปิดตัวไปเมื่อ 15 ธันวาคม 2017 แทนที่เก่าที่สร้างมาตั้งแต่ปี 1933 วิ่งที่ความสูง 744 เมตรจากระดับน้ำทะเลระหว่างเมือง Schywz Schlatti ไปยังหมู่บ้านในหุบเขา Stoos โดยมีความลาดเอียง 110% เลยทีเดียว และสามารถจุคนได้ถึงครั้งละ 136 คน โดยทำลายสถิติโลกก่อนหน้านี้ ที่เคยเป็นของเป็นของ Gelmerbahn (เกลเมอร์บาน) ที่เมือง Bern ของสวิส โดยมีความชันอยู่ที่ 106% ส่วนอันดับที่สามอยู่ที่อังกฤษใน East Hill Cliff Railway โดยมีความชันอยู่ที่ 78%

ส่วนใหญ่การมาที่หมู่บ้าน Stoos ก็มักจะมีจุดหมายปลายทางที่ Fronalpstock (ฟรอนอัลปชต๊อก) ยอดเขาที่อยู่เหนือหมู่บ้านขึ้นไป เป็นจุดชมวิวที่สามารถมองเห็นทะเลสาบได้ถึง 10 ทะเลสาบด้วยกัน (ถ้าอากาศดีฟ้าเปิดนะ) เช่น Vierwaldstättersee (เฟียร์วัลชแต๊ตเตอร์เซ), Zugersee (ซูเกอร์เซ), Ägerisee (แอเกอร์รี่เซ) และอื่น ๆ แถมยังมีร้านอาหารที่นั่งได้ทั้งด้านในและด้านนอกสำหรับดื่มกาแฟชิล ๆ ยามมีแดด 

อ้อ !! แล้วมีชาวบ้านแถวนี้เอาชีสภูเขามาขายด้วย จะแอบบอกว่าอร่อยมาก ๆ โดยจากหมู่บ้าน Stoos เราจะต้องนั่ง chairlift (กระเช้าห้อยขา 6 ที่นั่ง)  ขึ้นไปสู่ยอดเขาอีกสองต่อถึงจะไปถึงยอดเขา Fronalpstock (ฟรอนอัลปชต๊อก) แต่วี่ไม่ได้ไปแบบนั้นหลังจากนั่ง funicular railway มาที่หมู่บ้าน Stoos แล้ววี่เดินไปขึ้น Chairlift เพื่อขึ้นไปที่ยอดเขา Klingenstock (คลิ้งเง่นชต๊อก) เพื่อเดินข้ามเขาไปที่ Fronalpstock นั่นแหล่ะ 


การเดินบนสันเขาจาก Klingenstock ไป Fronalpstock ระยะทางประมาณ 4.7 กิโลเมตร และจะมีการไต่ระดับความสูงประมาณ 402 เมตร เส้นทางค่อนข้างเล็ก บางช่วงบางตอนที่เป็นทางอันตรายก็มีราวให้เกาะเดินด้วย คนสวิสจะใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง แต่วี่ใช้เวลารวมพักกินข้าวและหยุดถ่ายรูปเป็นระยะ ๆ รวมแล้วประมาณ 3 ชั่วโมงนิด ๆ 


วิวบนสันเขานี้สามารถใช้คำว่า ‘Breathtaking’ ได้จริง ๆ สวยสะกดและน่าประทับใจที่สุด เส้นทางนี้เป็นเส้นทางที่คนสวิสว่ากันว่าควรมาสักครั้งในชีวิต ส่วนตัววี่เองนั้นมาทุกปีเพื่อ Hiking เป็น The must คือเป็นทริปบังคับของตัวเอง เพราะรักบรรยากาศและวิวที่นี่มาก ตอนที่พาแม่มา แม่บอกว่าที่นี่สวยกว่า Jungfrau Joch (ยุงเฟรายอค) อีกนะ (แต่นี่เป็นเพียงความเห็นส่วนตัวเท่านั้น) อยากรู้ว่าจริงไหมก็แนะนำให้มาลองด้วยตัวเองสักครั้งเถอะ


ส่วนราคาค่าขึ้นก็ไม่แพงเลยจริง ๆ ราคาอยู่ที่ 46 สวิสฟรังค์ หรือประมาณ 1,600 บาทไทย ถ้ามีบัตรครึ่งราคา ก็อยู่ที่ 36 ฟรังค์ หรือประมาณ 1,200 บาทเท่านั้น ถ้าเทียบกับวิวและบรรยากาศต้องบอกว่าเกินคุ้มจริง ๆ และเป็นการขึ้น funicular railway หนึ่งต่อบวก chairlift อีกสองต่อ คือคุ้มสุด ๆ 


และแนะนำว่าถ้าจะขึ้นไปเดินบนสันเขาเส้นทาง Klingenstock-Fronalpstock ควรจะใส่รองเท้าสำหรับ Hiking และเตรียมน้ำดื่มสำหรับระหว่างทาง เสื้อกันลม และเสื้อกันหนาวให้พร้อมเพราะอยู่ที่ความสูงถึง 1920 เมตรจากระดับน้ำทะเลเลยทีเดียว อากาศอาจบาง ๆ นิดหน่อย ถ้าไปวันที่อากาศดี ฟ้าเปิดจะมองเห็นความสวยงามไปได้ไกลสุดลูกตาเลยทีเดียว 

บางครั้งการพาตัวเองไปอยู่กับธรรมชาติมันเยียวยาชีวิตประจำวันที่แสนจะวุ่นวายได้ดีเหลือเกิน นี่แหล่ะธรรมชาติบำบัด เวลาเราออกเดินทางและเมื่อตอนเย็นที่เรากลับบ้านหัวเราอาจจะยุ่ง ๆ รองเท้าเราอาจจะเลอะเทอะ แต่แบตเตอรี่หัวใจของเรามันจะเต็มเปี่ยมเลยนะ ลองดูสิ

คน (พยายาม) ดี เหตุใด​ 'การทำดี'​ ต้องมี 'ความพยายาม'​

การแสดงออกในสังคมที่เต็มไปด้วยผู้คนที่คิดต่าง บางครั้งอาจต้องยอมสูญเสียความเป็นตัวเอง​ด้วยการ เสแสร้งบ้าง​ สร้างภาพบ้าง เพื่อให้สามารถยืนอยู่รอดในสังคม 

เชื่อไหมว่า​ เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องมโน​ เพราะมีคนจำนวนไม่น้อยยึดมั่นจนกลายเป็นหลักสูตรที่ฝึกหัดกันอย่างแพร่หลาย​ เพื่อให้ได้รับ 'สถานภาพอันดีทางสังคม' มาครอบครอง

เห็นปรากฏการณ์แบบนี้แล้ว​ จึงอดคิดไม่ได้ว่า​ สังคมที่เราใช้ชีวิตอยู่​ ล้วนเต็มไปด้วย 'หน้ากาก'​ ที่ซ้อนทับ​ 'หน้ากากกันโควิด'​ 

เพียงแต่ที่น่ากลัว​กว่านั้น คือ​ ตอนนี้เริ่มมีการพูดถึงการสร้างสถานภาพอันดี ผ่าน​ 'ความพยายามในการทำดี​' หรือจะเรียกแรงๆ​ ว่า​ 'ทำดีเอาหน้า'​ ก็ไม่ผิดอันใด



เอ่อ!! นี่เรามาถึงจุดนี้แล้วหรือ​ จุดที่ต้องทำให้สังคมเห็นว่า​ 'ฉันคือคนดี' 

- ตัวตนของเราจริงๆ
- ตัวตนที่ไร้การปรุงแต่ง
- ตัวตนของคนที่อยากทำดีแบบไม่ต้องเสแสร้ง 

สิ่งเหล่านี้​ ยังมีจริงอยู่​หรือไม่? 

แล้วเหตุใดถึงเกิดประเด็นเช่นนี้ในสังคม? 

ว่ากันว่า​ คำนิยามของการทำความดีนั้นมีอยู่มากมาย​ เช่น​ สิ่งที่ทำแล้วเป็นประโยชน์ ความพอใจ ความสุขใจ ความอิ่มเอมใจที่ส่งต่อให้แก่ผู้อื่น​ สังคม​ ประเทศ​ และโลก​ ในแบบที่ตัวผู้ทำไม่เบียดเบียนใคร ไม่เดือดร้อนตนเอง​ และครอบครัว

ฟังดูแล้ว​ ธรรมดา!! 

ใช่!! มันธรรมดามากๆ

และเพราะมันธรรมดามากๆ​ นี่แหละ​ มันจึงไม่สอดรับกับสภาวะใหม่ของสังคมปัจจุบัน​ 'สังคมของคนหิวแสง'​ ที่เริ่มหยิบการทำดีแบบได้รับยอมรับและยกย่องเข้ามาเอี่ยว

อย่างที่บอก!! วันนี้​หลายคนที่ต้องสวม 'หน้ากากมนุษย์' เพื่อเข้าหาสังคมแห่งการยกย่อง​ ชื่อเสียง​ เกียรติยศ​ และผลประโยชน์ให้เชื่อมโยงเข้าตัวเอง​ จำเป็นต้องสร้าง​อัตลักษณ์บางอย่างให้เกิดการจดจำ

นั่นจึงเป็นเรื่องที่ปฏิเสธได้ยาก​ ที่ตัวแปรอย่าง​ 'การทำความดี'​ จะถูกแปรเจตนาจาก​ 'ทำเพราะมันคือความดี'​ เป็น​ 'ทำเพราะฉันต้องพยายามทำความดี'​ 

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด ก็เช่น นักแสดง เน็ตไอดอล หรือศิลปินบางคน เมื่อครั้งที่ยังไม่มีชื่อเสียง ก็ใช้ชีวิตแบบคนปกติทั่วไป ทำความดีได้แต่ไม่ถึงกับเอิกเกริกยิ่งใหญ่ เป็นตัวของตัวเองโดยไม่ต้องพยายาม​ อยากทำอะไรที่สุขใจก็ทำกันไป

แต่เมื่อก้าวเข้ามาในวงการ มีชื่อเสียง มีคนมากมายรู้จักและให้ความสนใจ กลายเป็นบุคคลสาธารณะ ก็มีโจทย์ใหญ่พ่วงชีวิตเข้ามา​ นั่นคือ​ 'การพยายามเป็นต้นแบบที่ดีให้กับผู้อื่น'​ 



ทุกอย่างที่ทำถูกจับตามอง เพราะเขากลายเป็นคนที่ต้องอยู่ท่ามกลาง​ 'แสง'​ แม้จะหิวแสงหรือไม่หิวแสงก็ตาม​ 

ฉะนั้น​ หลายๆ​ กิจกรรมของการทำความดี​ จึงไม่ใช่แค่ทำเพราะอยากทำ​ แต่ต้องทำแล้วมีผลประโยชน์​ ทำแล้วต้องมีผู้คนยกย่องสรรเสริญ​ โดยมีกระบวนการคัดกรองความดีที่ทำ​แล้วเวิร์กในสายตาสังคม

ว่ากันไปขนาดนั้น!! ก็ขนาดนั้นเลยนั่นแหละ!! เพราะทำแล้ว​จะ Failed ก็ไม่ได้​ ทำแล้วถูกจับผิดนินทาว่า​ Fake ก็ไม่ได้อีก​ โอ้โห!! ทำไมมันดูยากจัง

แต่นี่แหละ​ คือ​ กฎเหล็กของการทำดีเอาหน้า​ เพราะทุกอย่างก็เพื่อให้เกิดภาพลักษณ์ที่ดีที่สุดในการทำงานหรือแม้แต่การอยู่ในสังคมทั้งสิ้น

อันที่จริง​ ที่เล่ามาทั้งหมด​ ไม่ใช่เรื่องผิดอันใด​ เพราะอย่างน้อย​ ต่อให้พยายามทำดี​ มันก็คือ​ 'ความดี'​ ที่ได้ทำเหมือนกัน​ แต่แค่มันดูน่าเศร้า​ ที่บางครั้งเราต้องเลือกใช้ชีวิต​ ใช้คำพูด​ สายตา​ การแสดงออก​ ที่มาจากการกลั่นกรอง​ เพียงเพื่อคนอื่น​

มันก็เลยลามมาถึงคำถามที่ว่า​ การทำความดีที่เคยมีการนิยามไว้​นั้น เป็น​ 'อะไร'​ ในสังคมมนุษย์กันแน่​ 'เครื่องมือปันความสุข' หรือ​ 'เครื่องมือปั้นความสุข'​

แล้วสรุปเราจะเลือกอยู่กับ​ 'สังคมพยายามดี'​ ที่มีคนยกย่อง​ เชิดชู​ แต่ไม่มีความสุขใจ

หรือเลือกทำดี 'ตามหัวใจ'​ โดยไม่ต้องพยายาม​ แม้ไร้คนเชิดชู

คำถามนี้​ ทุกคนมีคำตอบ​ ผ่านคำถามอีกทอดที่ว่า... 

'หิวแสง'​ หรือเปล่าล่ะ? 

เสียงสะท้อนแห่งความหวัง เหล่า​ 'คนดัง'​ ผู้พังกำแพงแห่งความสับสน​ 'ฉีด​-​ไม่ฉีดวัคซีน'​

ในช่วงนี้เราจะเห็นกระแสคนดังออกมารณรงค์เรื่องการฉีดวัคซีนโควิด-19 กันมากขึ้น​ แม้ว่าระบบการจัดการวัคซีนของบ้านเราอาจจะยังไม่พร้อมที่จะรองรับการฉีดวัคซีนให้กับประชากรทั้งประเทศ ซึ่งนั่นเป็นส่วนหนึ่งที่ภาครัฐต้องเร่งจัดการให้เร็วที่สุด 

แต่ในมิติของการสื่อสาร การที่คนดัง (Celebrity) ออกมาเคลื่อนไหวเรื่องนี้ มีผลเปลี่ยนแปลงต่อความคิดคนอย่างไรบ้าง? 

เราได้เห็นตัวอย่างว่ามีคนเปลี่ยนใจที่จะฉีดวัคซีนจากการฟังคนที่มีชื่อเสียงพูด เช่น คุณแม่ทองสุข คุณแม่ของพี่โน้ต อุดม ได้ฟังคุณสรยุทธ สุทัศนะจินดา กลับมาจัดรายการเรื่องเล่าเช้านี้ ที่มีการพูดถึงเรื่องวัคซีนพร้อมกับเชิญชวนให้ทุกคนไปฉีด ทำให้คุณแม่เปลี่ยนใจอยากไปฉีดวัคซีนจากตอนแรกที่ไม่อยากไปฉีด 

เหตุการณ์นี้ไม่ใช่ปรากฏการณ์ใหม่ เพราะมันคือหลักการเดียวกันกับการโฆษณาที่ใช้คนดังหรือบุคคลทีมีชื่อเสียงมาเชิญชวน ซึ่งมีงานวิจัยมากมายที่ได้ศึกษาถึงเรื่องศิลปินที่มีชื่อเสียง สามารถชักจูงความคิด ความเชื่อ ซึ่งส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทัศนคติหรือเปลี่ยนลักษณะนิสัย 

การเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียง โดยเฉพาะคนในวงการบันเทิง นอกจากสร้างผลงานเพื่อมอบความบันเทิงให้กับคนดูได้แล้ว อีกด้านหนึ่งคือสามารถเป็นผู้นำทางความคิด (Opinion leader) และสามารถชี้นำสังคมได้ อีกทั้งสามารถเปลี่ยนแปลงความคิดผู้คนที่ติดตามได้​ แม้อาจจะเป็นแค่ทำให้ฉุกคิดตามก็เถอะ

เราจะเห็นว่าในสถานการณ์หลาย ๆ ครั้งที่ต้องการความช่วยเหลือในการกระจายข่าวสาร มักจะมีคนดังออกมาช่วยพูด เพราะเสียงของบุคคลที่มีชื่อเสียง “ดัง” และสามารถชี้นำสังคมได้ เช่นเดียวกับครั้งนี้ที่เราเห็นคนดัง ออกมาพูดเรื่องการฉีดวัคซีน แต่สิ่งที่ต้องระวังในการให้ข้อมูล คือ ต้องเป็นข้อมูลที่ถูกต้อง ตรวจสอบได้ เพราะเรื่องการฉีดวัคซีนเป็นเรื่องละเอียดอ่อนและส่งผลต่อชีวิตและร่างกาย

มาถึงตอนนี้ เสียงของคนดัง ดังพอที่ประชาชนเริ่มหันมาสนใจเรื่องของการฉีดวัคซีนแล้ว แต่คงจะดีไม่น้อย ถ้าการกระจายวัคซีนของภาครัฐสามารถจัดการให้กับคนในประเทศได้อย่างทั่วถึงและรวดเร็วพอ ๆ​ กับเสียงของคนดังเหล่านั้น

ข้อมูลอ้างอิง
https://www.sanook.com/news/8380622/


แหล่งรวม "บทความและคอนเทนต์แปลกใหม่!!!" แบบไร้ Toxic ติดตามได้ที่ THE STATES TIMES Blockdit
LINK : https://www.blockdit.com/pages/60583e7ff90e240c3e7f1c32

ข้อเสนอแนะปฏิรูปการสื่อภาครัฐ เพื่อประสิทธิภาพในการบริหารข้อมูลข่าวสาร และสร้างความมั่นคงให้กับประชาชนทุกคน

ทุกท่านคงได้เห็นแล้วว่าปัญหาของการสื่อสารของภาครัฐ โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 นั้น ถือว่ามีปัญหาและขาดประสิทธิภาพอย่างรุนแรง

ประชาชนตกอยู่ในความวิตกกังวล สับสน และขาดความเชื่อมั่น เพราะไม่รู้ว่าข้อมูลใดเป็นข้อมูลจริงหรือเท็จ ในขณะที่ผู้ปั่นกระแสข่าวปลอมก็ย่ามใจ กระทำการได้โดยเข้าถึงประชาชนมากกว่าภาครัฐ โดยใช้วิธีการสื่อสารที่เน้น Keyword และย้ำข้อความเดิม ๆ จนทำให้คนเกิดความเชื่อในข่าวลือนั้น

ซึ่งทำให้การบริหารสถานการณ์โควิดและการทำงานของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเป็นไปอย่างยากลำบาก ดังนั้น บทความนี้จะนำเสนอแนวทางในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวเป็นข้อ ๆ ดังนี้

1.) ทัศนคติในการสื่อสาร

ภาครัฐต้องปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์และทัศนคติที่มีต่อการสื่อสารปัจจุบัน คือ ต้องเปลี่ยนจากการทำตัวเป็นเจ้านายที่ถนัดในการ “ออกคำสั่ง” ในแถลงการณ์ และคิดว่าประชาชนมีหน้าที่รับฟังและนำปฏิบัติตามโดยโดยไม่สนใจว่าผู้ฟังจะได้รับสาร หรือ จะเกิดความสับสนในสารที่ได้รับไปหรือไม่

โดยต้องปรับมาเป็นการต้องยึดผู้รับสารหรือ “ประชาชนเป็นศูนย์กลาง” โดยพยายามสื่อสารในประเด็นที่เขาสงสัยและต้องส่งข้อมูลไปให้ถึงผู้รับสารให้ได้มากที่สุด

นอกจากนี้รัฐยังต้องเข้าใจว่าการต่อสู้กับการบิดเบือน ไม่ใช่แค่การหาเครือข่ายหรือผู้สนับสนุนมาโต้เถียงในโลกออนไลน์ แต่คือการสื่อสารที่ทำให้คนตรงกลางซึ่งเป็นประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ เข้าใจข่าวสารและข้อมูลได้อย่างถูกต้อง และนั่นคือวัคซีนสำคัญในการป้องกันไวรัสข่าวปลอม

2.) วิธีการสื่อสาร

การทำภาพเพื่ออธิบายข้อมูลที่จะสื่อสาร ต้องมีความกระชับ เข้าใจง่าย เสพง่าย สามารถนำไปส่งต่อหรือนำไปใช้อธิบายเพื่อให้เกิดความเข้าใจ หรือแก้ปัญหาความเข้าใจผิดในวงกว้างได้ทันที โดยไม่ต้องมานั่งตีความให้ซับซ้อนวุ่นวาย เหมือนแถลงการณ์อันแสนยืดยาวที่ผู้มีอำนาจชอบทำในอดีต

การทำข้อมูลต้องอธิบายใน “ประเด็นที่ประชาชนสงสัย” ไม่ใช่สิ่งที่รัฐคิดว่าตนอยากอธิบายแต่เพียงฝ่ายเดียว ซึ่งทำได้ด้วย 2 วิธีการคือ 

(1) การใช้เครื่องมืออย่าง Social Listening หรือการเก็บข้อมูลเชิงสถิติในโลกออนไลน์หรือสื่อต่าง ๆ เพื่อนำมาประมวลผลและวิเคราะห์ ความสนใจและทัศนคติที่ประชาชนกำลังมีอยู่ในขณะนั้น 

(2) การใช้หน่วยสำรวจ ทีมงาน หรือคณะทำงานที่คอยสอดส่องกระแสอารมณ์หรือความสงสัยของผู้คนในโลกออนไลน์ในแต่ละแพลตฟอร์ม 

โดยทั้งสองวิธีการนี้ต้องทำควบคู่กันไป เพื่อให้ได้ข้อมูลทั้งเชิงปริมาณและข้อมูลเชิงคุณภาพเพื่อนำมาวิเคราะห์ปัญหา และสถานการณ์ความเข้าใจผิด รวมถึงวางแผนการประชาสัมพันธ์เพื่อดักทางกระแสข่าวปลอมได้ทันต่อสถานการณ์ 

3.) กระบวนการสื่อสาร

ภาครัฐต้องเปลี่ยนวิธีคิดจากการรอให้คนมารับสาร เหมือนการแถลงข่าวก่อน/หลังภาพยนตร์ช่วง Prime Time ในทีวีเมื่อ 30-40 ปีที่แล้ว เพราะทุกวันนี้แต่ละคนใช้มือถือกันหมดแล้ว ดังนั้นการนำข้อมูลข่าวสารเข้าถึงประชาชนจึงต้องทำใน “เชิงรุก” คือทำอย่างไรก็ได้ให้ข้อมูลที่ต้องการสื่อสารเข้าถึงประชาชนได้ไวที่สุด

กรณีเป็นชุมชน อาจใช้วิธีการภาคสนามคือ อาศัยเครือข่ายประธานชุมชน และ จิตอาสา อย่าง อ.ส.ม.หรือเครือข่ายภาคประชาชนกลุ่มต่าง ๆ ในการช่วยกระจายข้อมูลลงไปในพื้นที่

กรณีเป็นบ้านรั้ว ต้องประสานสื่อหรือเพจที่มีผู้ติดตามจำนวนมาก ในการกระจายข่าวสาร และหากหน่วยงานภาครัฐต้องการเผยแพร่ข้อมูลเอง ต้องทำการยิงโฆษณาไปตามจำนวนประชากรที่มีอยู่ในพื้นที่ต่าง ๆ โดยอาจขอความร่วมมือจากผู้ให้บริการแพลตฟอร์มต่าง ๆ ไม่ว่าจะ Facebook, Twitter, IG, TikTok ฯลฯ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเป็นข้อมูลเกี่ยวกับด้านการสาธารณสุขในช่วงวิกฤตไวรัสโควิดด้วยแล้ว ยิ่งน่าจะขอความร่วมมือจากภาคเอกชนได้ง่ายมากกว่าในภาวะปกติ

การทำงานในรูปแบบนี้ ต้องใช้การประสานงานแบบบูรณการจากหลายภาคส่วนทั้ง ข้อมูลทะเบียนราษฎรจากกระทรวงมหาดไทย, ข้อมูลด้านสาธารณสุขจากกระทรวงสาธารณสุข, การประสานงานด้านดิจิทัลจากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งทั้งหมดจะทำไม่ได้เลยหากขาดการสั่งการที่เป็นเอกภาพ

4.) การปราบปรามผู้กระทำผิดและแก้ไขความเข้าใจผิด

แบ่งได้เป็น 3 ส่วน คือ (1) การตรวจสอบสื่อที่บิดเบือน (2) การแก้ไขความเข้าใจผิดของผู้รับสาร (3) การดำเนินคดีกับผู้เผยแพร่ข่าวปลอม

ตัวอย่างกรณีที่ ผศ.ดร.วรัชญ์ ครุจิต จาก NIDA ซึ่งได้เข้าไปเป็นที่ปรึกษาให้กับ ศบค. ได้ออกมาแก้ข่าวที่เกิดจากการบิดเบือนสื่อมวลชน จนทำให้สื่อใหญ่หลายสำนักต้องออกมาแถลงการณ์ขอโทษ และแสดงความรับผิดชอบ 

เช่น กรณีไทยพีบีเอส แปลข่าวประสิทธิภาพวัคซีนผิดจากข่าวต้นฉบับของต่างประเทศ หรือกรณีช่อง 3 บิดเบือนเนื้อหาของหมอทวีศิลป์ จนทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่าง ศบค.และคุณ อรอุมา สิทธิรักษ์ นักวอลเลย์บอลทีมชาติไทย 

กรณีนี้ อ.วรัชญ์ ได้ทำการตรวจสอบการบิดเบือน จนทำให้สำนักข่าวต้องยอมลบเนื้อหา และแถลงการณ์ขอโทษต่อสาธารณชน รวมไปถึงการที่ อ.วลัชญ์ชี้แจงเนื้อหาที่แท้จริงให้กับคุณอรอุมา จนแก้ไขความเข้าใจผิดระหว่างหมอทวีศิลป์และนักวอลเลย์บอลหญิงทีมชาติไทยได้สำเร็จ 

สุดท้ายคือ การดำเนินคดีกับผู้จงใจบิดเบือนข่าวสารหรือตั้งใจเผยแพร่ข่าวลือขาวปลอม โดยหวังผลให้เกิดความแตกแยกและเกลียดชังในหมู่ประชาชนอย่างชัดเจน 

หากภาครัฐยังปล่อยให้บุคคลเหล่านี้ลอยนวล ซึ่งที่เกิดขึ้นคือ ผู้ทำผิด

จะไม่เกรงกลัวกฎหมายและย่ามใจคิดว่าจะทำอะไรก็ได้ โดยไม่ต้องรับผิดชอบต่อผลของการกระทำ

ทั้งหมดนี้ คือข้อเสนอสำหรับการปฏิรูปการสื่อสารของหน่วยงานภาครัฐ และที่ผมได้เขียนมานั้น มิได้เพราะนิยมชมชอบหรือสนับสนุนรัฐบาลหรือบุคคลใดบุคคลหนึ่งโดยเฉพาะ แต่ต้องการให้ภาครัฐเกิดความมีประสิทธิภาพในการสื่อสารต่อประชาชน

เพราะการสื่อสารและบริหารข้อมูลเป็นหัวใจสำคัญที่ทำให้เกิดความมั่นคง และเกิดความร่วมมือต่อโครงการหรือนโยบายสาธารณะต่าง ๆ 

เช่น หากภาครัฐมีนโยบายการพัฒนา ส่งเสริมธุรกิจและอาชีพ แต่ประชาชนเข้าไม่ถึงข้อมูล ก็จะทำให้ประชาชนเสียโอกาสเหล่านั้น และการพัฒนาประเทศก็จะเป็นไปได้อย่างล่าช้า ซึ่งไม่เป็นการดีต่อประชาชนทุกคนในประเทศนี้ ดังนั้นเรื่องการสื่อสารจึงถือเป็นหัวใจอย่างหนึ่งในพัฒนาและขับเคลื่อนประเทศในเจริญรุดหน้าไปได้อย่างมั่นคง


แหล่งรวม "บทความและคอนเทนต์แปลกใหม่!!!" แบบไร้ Toxic ติดตามได้ที่ THE STATES TIMES Blockdit
LINK : https://www.blockdit.com/pages/60583e7ff90e240c3e7f1c32

เช็คก่อนเชื่อ ชัวร์ก่อนแชร์ 

ข่าว​ Fake ว่อน​ Feed 

หากเป็นสมัยยุคอนาล็อค ถ้าถามว่าข่าวอะไรแพร่ไว ก็น่าจะเป็น “ข่าวลือ” แต่สมัยยุคดิจิทัลนี้ข่าวลือต้องแพ้ “ข่าวลวง” (Fake news) ข่าวลวงยุคนี้มีหลากหลายรูปแบบและแยบยลขึ้นทุกวัน

BBC ระบุถึงความหมายของ Fake news ในยุคโลกออนไลน์ไว้สั้น ๆ เข้าใจง่ายไม่ซับซ้อนว่า Fake news คือ ข่าว หรือเรื่องราวที่ไม่จริงในอินเตอร์เน็ต “ Fake news is news or stories on the internet that are not true.” จากนิยามสั้น ๆ นี้ ยากตรงเราจะรู้ได้อย่างไรว่า ข่าวหรือเรื่องราวนั้น ๆ จริงหรือไม่ เพราะข่าวหรือเรื่องราวที่บอกความจริงไม่หมด หรืออาศัยข้อมูลจริงบ้างบางส่วนผสมไม่จริงหรือนำเสนอเพื่อให้เข้าใจผิดในสาระสำคัญนี้แยกแยะลำบากเหมือนกัน   

วันนี้จะมาชวนช่วยกันลองเช็คข้อมูลหาความจริงกัน ขอยกกเรื่องราวจากรณีล่าสุดในโลกโซเชียลฯ ที่มีการเผยแพร่จดหมายจาก บริษัท แอคแคป แอสเซ็ทส์ จำกัด ที่ส่งถึง ศ.นพ.นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ โดยในเนื้อความระบุว่าบริษัทสามารถจัดสรรวัคซีนซิโนฟาร์ม จำนวน 20 ล้านโดส ให้แก่รัฐบาลไทยได้ โดยไม่ผ่านตัวแทนหรือบริษัทผู้จัดจำหน่ายอื่นใด แต่ตลอดระยะเวลา 1 เดือนที่ผ่านมาบริษัทไม่สามารถเข้าถึงหรือเข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุขเพื่อนำเอกสารดังกล่าวไปนำเสนอวัคซีนได้เลย 

ครั้งแรกที่เห็นจดหมายนี้ ก็สงสัยว่าจะเป็นไปได้ไหม? เพราะเท่าที่จำได้จากข่าว วัคซีนซิโนฟาร์ม มีบริษัท ไบโอจีนีเทค จำกัด ได้ขอขึ้นทะเบียนกับ อย. ไว้แล้ว ทำไมจะมีอีกบริษัทแถมบอกว่าไม่ผ่านตัวแทนหรือบริษัทผู้จัดจำหน่ายอื่นด้วย มีความแปลก ๆ น่าสงสัย ๆ เลยลองหาข่าวจากสื่อพบว่า ด้านรัฐบาล โดยนายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ชี้แจงว่า จากการตรวจสอบข้อมูลในระบบของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แล้ว ปรากฏว่าบริษัท แอคแคป แอสเซ็ทส์ จำกัดไม่สามารถนำเข้ายาเข้ามาในประเทศไทยได้ เนื่องจากไม่ได้รับอนุญาตอย่างเป็นทางการจากหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง และวัคซีน Sinopharm ได้มีบริษัท ไบโอจีนีเทค จำกัด ได้ขอขึ้นทะเบียนกับ อย. ไว้ก่อนแล้ว และขณะนี้อยู่ระหว่างการประเมินคำขอขึ้นทะเบียนอยู่ และอยู่ระหว่างการดำเนินการในขั้นตอนการพิจารณา และยังระบุด้วยว่าการเจรจาติดต่อเรื่องการนำเข้าวัคซีนสามารถติดต่อผ่านทางองค์การเภสัชกรรม หรือสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาได้โดยตรงในเบื้องต้น โดยไม่มีความจำเป็นต้องพบนายกรัฐมนตรีหรือรองนายกรัฐมนตรีตามที่อ้างแต่อย่างใด

ข้อมูลของบริษัท แอคแคป แอสเซ็ทส์ จำกัด กับของด้านรัฐบาลนั้นขัดแย้งกันพอสมควร…ยังไม่ต้องรีบเชื่อใครก็ได้ ก่อนจะเชื่อใคร ชวนลองมาตรวจสอบข้อมูลแบบง่าย ๆ กันกับความเป็นบริษัทแอคแคป แอสเซ็ทส์ ที่บอกว่าจะเอาวัคซีน Sinopharm เข้ามา 20 ล้านโดส (ภายใน 2 สัปดาห์ด้วยนะ) บริษัทนี้คือบริษัทอะไร ทำไมถึงกล่าวอ้างว่าจะนำเข้าวัคซีนได้   

วิธีการตรวจสอบ คือ ลองไปเช็คข้อมูล บริษัท แอคแคป แอสเซ็ทส์ จำกัดใน website ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ พบว่าบริษัท แอคแคป แอสเซ็ทส์ จำกัด จดทะเบียนเมื่อวันที่ 13 เม.ย. 2563 (ถึงวันนี้ก็ปีกว่า ๆ เอง) ทุนจดทะเบียน 5 ล้านบาท คณะกรรมการบริษัท คือ นายกรกฤษณ์ กิติสิน และ นายศวิษฐ์ อุทัยเฉลิม จดทะเบียนในประเภทธุรกิจ “การซื้อและการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นของตนเองที่ไม่ใช่เพื่อเป็นที่พักอาศัย” วัตถุประสงค์ตอนจดทะเบียน คือ “ประกอบกิจการซื้อเเละการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นของตนเองที่ไม่ใช่เพื่อเป็นที่พักอาศัย” นอกจากนี้ยังไม่พบข้อมูลการส่งงบการเงินปรากฎอยู่เลย หากพิจารณาจากข้อมูลที่ปรากฎนี้ต้องบอกตรง ๆ ว่าบริษัท แอคแคป แอสเซ็ทส์ จำกัด ที่ทำธุรกิจด้านอสังหาฯนั้นไม่ใกล้เคียงกับการจะเป็นบริษัทตัวแทนผู้นำเข้าวัคซีนได้เลย การนำเข้าวัคซีนในยามปกติก็ไม่ง่ายแล้ว ยิ่งในยามภาวะฉุกเฉินมีวิกฤตโรคระบาดนี้ยิ่งไม่น่าจะเป็นได้ว่าบริษัทผู้ผลิตจะวางใจให้บริษัทที่ไม่ได้เป็นบริษัทที่มีประสบการณ์ตรงมาเป็นตัวแทนนำเข้า 

ที่มา : กรมพัฒนาธุรกิจการค้า https://datawarehouse.dbd.go.th/company/profile/5/0105563061387

พอหาข้อมูลได้ชักอยากรู้ต่อว่าแล้วบริษัท ไบโอจีนีเทค จำกัด ได้ขอขึ้นทะเบียนกับ อย. ไว้เพื่อวัคซีน Sinopharm ละเป็นอย่างไรบ้าง จึงลองไปหาข้อมูลบริษัทฯจาก website ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้าบ้าง  ก็พบว่า บริษัทไบโอจีนีเทค จำกัด จดทะเบียนจัดตั้งเมื่อปี 2536 โดยจดทะเบียนในประเภทการขายส่งเคมีภัณฑ์ทางอุตสาหกรรม และมีวัตถุประสงค์การจดทะเบียนเพื่อ นำเข้าและส่งออกขายสินค้าเคมีภัณฑ์วัสดุทางการแพทย์ ทุนจดทะเบียน 24 ล้านและมีการแสดงงบแสดงสถานะการเงินปรากฎอยู่ชัดเจน 

ดังนั้นหากพิจารณาเปรียบเทียบข้อมูลบริษัทของทั้งคู่แล้ว แล้วสมมุติว่าเราคือชิโนฟาร์ม เราจะเลือกบริษัทไหนเป็นตัวแทนนำเข้าวัคซีน ระหว่างบริษัทที่เปิดมาเพื่อนำเข้า-เคมีภัณฑ์ทางการแพทย์ กับบริษัทซื้อขายอสังหาริมทรัพย์? 

นอกจากนี้บริษัท แอคแคป แอสเซ็ทส์ จำกัด อ้างว่าตนเองมีฐานะเป็นพันธมิตรผู้เดียวในประเทศไทยของบริษัท TELLUS AGROTECH PTE. LTD. ผู้จัดจำหน่ายวัคซีน “ซิโนฟาร์ม” ในภูมิภาคเอเชีย…ทำให้อยากรู้จักบริษัทTELLUS AGROTECH PTE. LTD.  ด้วย เลยลองไป search หาข้อมูลบริษัทนี้ ก็เจอบริษัทที่มีชื่อเดียวกันกับ TELLUS AGROTECH PTE. LTD.  ระบุว่าบริษัทมีสถานะการดําเนินงานในปัจจุบันและเปิดให้บริการมา 2 ปี 118 วัน โดยจดทะเบียนเมื่อวันที่ 28 Jan 2019 ธุรกิจหลักของบริษัทคือบริการให้คําปรึกษาด้านการเกษตร ธุรกิจรองคือการพัฒนาซอฟต์แวร์สําหรับสื่อดิจิทัล…ถ้าบริษัทนี้คือบริษัทเดียวกันตามที่บริษัท แอคแคป แอสเซ็ทส์ จำกัด อ้างถึงนี้ก็ต้องบอกว่า บริษัทฯนี้ ดูไม่ใกล้เคียงกับการเป็นผู้จัดจำหน่ายวัคซีน “ซิโนฟาร์ม” ในภูมิภาคเอเชียเลย 

ที่มา : https://www.sgpbusiness.com/company/Tellus-Agrotech-Pte-Ltd

และที่สำคัญ ศ.นพ.นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ผู้ที่จดหมายจาก บริษัท แอคแคป แอสเซ็ทส์ จำกัด ระบุว่าส่งจดหมายไปถึงนั้น โพสต์ชี้แจงใน Facebook ส่วนตัวลงวันที่ 27 พ.ค. 64 ว่า “หนังสือนี้ร่อนไปทั่วบนระบบออนไลน์โดยที่ คนที่หนังสือนี้ส่งถึงยังไม่ได้เห็นหนังสือตัวเป็น ๆ เลย...” (เป็นเรื่องที่น่าประหลาดใจ ชวนสงสัยมากว่า หากตั้งใจให้คุณหมอ ทำไมคุณหมอถึงไม่ได้รับ แต่ชาวเน็ตเห็นก่อนอีกด้วย ชวนสงสัยยิ่งนักว่าจดหมายนี้มีวัตุประสงค์เพื่ออะไร) นอกจากนี้คุณหมอยังได้ระบุถึงกฎระเบียบต่าง ๆ ในการเป็นตัวแทนนำเข้าวัคซีนด้วย

สำหรับความคิดเห็นส่วนตัวนั้น เมื่ออ่านที่คุณหมอเขียนแล้วก็รู้สึกสงสารคนทำงาน ลำพังจะต้องสู้กับโรคระบาด ต้องช่วยกันเพื่อให้คนไทยปลอดภัยที่สุดเท่าที่ทำได้นั้นก็ยากลำบากมากในยามนี้ แล้วยังต้องมาเจอเรื่องราวเช่นนี้อีก ดูจะบั่นทอนกำลังใจคนทำงานไม่น้อย ซึ่งสุดท้ายย่อมจะเป็นผลดีกับประชาชนและสังคมส่วนรวม 

ส่วนกรณีของบริษัท แอคแคป แอสเซ็ทส์ จำกัด ก็คงต้องพิสูจน์ข้อเท็จเพิ่มเติมกันต่อไปว่าจะ fake หรือไม่ fake อย่างไร ยังไม่ขอฟันธง แต่เท่าที่มีข้อมูลตอนนี้พอให้สังคมได้ช่วยกันพิจารณา ตั้งคำถามกับข้อเท็จจริงในกรณีจากเรื่องราวข้อมูลกรณีนี้ได้พอสมควร 

แต่แน่นอนว่า Fake news นั้นเกิดที่ไหน ก็เดือดร้อนที่นั้น เพราะทำให้เกิดความเข้าใจผิด ความเข้าใจผิดนี้นำไปสู่ปัญหาต่าง ๆ ได้มาก ยิ่งในยามที่เราต้องเผชิญกับภาวะการต่อสู้กับโรคระบาดอาจทำให้เกิความผลลบอย่างที่เราอาจจะคาดถึง  การรู้เท่าทันและไม่ตกเป็นเหยือของข่าวปลอมจึงเป็นภูมิคุ้มกันที่ดีที่เราจะสร้างให้ตัวเองได้  สุดท้ายนี้มีวิธีสร้างภูมิคุ้มกันโดยการสังเกต fake news จาก BBC มาฝากค่ะ ทำได้ไม่ยาก ทั้งหมดเริ่มต้นจากการสังเกต ตั้งข้อสงสัย แล้วตั้งคำถามถามตัวเองก่อนจะเชื่อ หรือจะแชร์อะไร ว่า

- มีการรายงานเรื่องราวไปที่อื่นหรือไม่? (คือดูว่ามีสื่อลงหลาย ๆ สำนักไหม หรือมีการนำเสนออย่างกว้างขวางชัดเจนไหมนั้นเอง)

- ข่าวหรือเรื่องราวนั้น ๆ อยู่ในวิทยุทีวีหรือในหนังสือพิมพ์? (ข้อนี้อาจต้องระวัง เพราะบางทีสิ่งที่อยู่ในสื่อหลักอย่างวิทยุและโทรทัศน์ก็อาจจะไม่จริงทั้งหมดเสมอไป)

- คุณเคยได้ยินชื่อ หรือรู้จักองค์กรที่เผยแพร่ข่าว หรือเรื่องราวหรือไม่? (ถ้าชื่อสำนักข่าว หรือชื่อ url ไม่คุ้นเคยต้องตั้งคำถามต่อว่า คนส่งข่าวหรือเรื่องราวนี้คือใคร น่าเชื่อถือมากน้อยแค่ไหน)

- เว็บไซต์ที่คุณพบว่าเรื่องราวดูเป็นของแท้หรือไม่? (เพื่อพึงระวังเว็บไซต์เลียนแบบ (copycat) ที่ออกแบบมาเพื่อมีลักษณะเหมือนเว็บไซต์จริงของคนอื่น)

- ที่อยู่ (URL) เว็บไซต์ที่ด้านบนของหน้าดูจริงหรือไม่? โดยให้สังเกตตอนท้ายของชื่อเว็บไซต์ ว่าดูปกติไหม เช่น '.co.uk' หรือ '.com'  ถ้าเป็น 'com.co' แบบนี้แสดงว่าไม่ปกติแล้ว ไม่น่าเชื่อถือ

- รูปภาพหรือวิดีโอดูปกติหรือไม่? (ในภาพหรือวิดีโอดูมีความผิดปกติอย่างไรบ้างหรือไม่)

- เรื่องราวฟังดูน่าเชื่อถือหรือไม่? (บางเรื่องหากลองพิจารณาดูดี จะพบว่ามีความไม่สมเหตุ สมผลบ้างอย่าง ซึ่งควรนำไปสู่การหาข้อมูลเพิ่มเติม เช่น กรณีจดหมายของบริษัท แอคแคป แอสเซ็ทส์ จำกัดนี้)

ถ้าหากคําตอบสําหรับคําถามเหล่านี้คือ 'ไม่' เช่น ไม่น่าเชื่อถือ ไม่เคยได้ยินที่ไหน ไม่รู้จักแหล่งที่มา เป็นต้น เราอาจต้องการตรวจสอบเพิ่มเติมก่อนที่เชื่อ จะแชร์ เพราะเราอาจกลายเป็นผู้ส่งต่อและขยาย fake news เสียเอง และการที่เราช่วยกันเช็คข้อมูลก็จะได้ช่วยกันเผยแพร่ข้อมูลที่ถูกต้องให้กับทั้งคนใกล้ตัวและสังคมได้รับรู้ด้วย สิ่งที่จะทำให้ fake news พ่ายแพ้ไป คือความจริงที่ถูกต้อง หากยังเช็คข้อเท็จจริงไม่ได้ ก็อย่างเพิ่งแชร์ อย่าเพิ่งเชื่อ เพราะอย่างน้อยก็เท่ากับว่าเราได้ช่วยกันยับยั้งการระบาดของ fake news ได้ค่ะ 

ข้อมูลอ้างอิง 
https://datawarehouse.dbd.go.th/company/profile/5/0105563061387
https://www.thereporters.co/covid-19/270520212209/
https://www.bbc.co.uk/newsround/38906931


แหล่งรวม "บทความและคอนเทนต์แปลกใหม่!!!" แบบไร้ Toxic ติดตามได้ที่ THE STATES TIMES Blockdit
LINK : https://www.blockdit.com/pages/60583e7ff90e240c3e7f1c32

'ผู้นำคนพิการ'​ ใจปล้ำ!! เท 'หมดหน้าตัก'​ ช่วยคนพิการไทย​ มอบของยังชีพแบบจัดเต็มในช่วงโควิด

ที่ศูนย์ฝึกอบรมอาชีพ 'สมาคมคนพิการภาคตะวันออก'​ อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี 'อาจารย์ณรงค์ ไปวันเสาร์'​ นายกสมาคมคนพิการภาคตะวันออก และตำแหน่งคณะกรรมการบริหารสมาคมคนพิการแห่งประเทศไทย เปิดศูนย์ฝึกอบรมและสร้างอาชีพ สมาคมคนพิการภาคตะวันออก ให้ 'นายชีวานนท์ พรรัตน์ธนิกกุล'​ นายกสมาคมสหพันธ์แรงงานคนพิการไทย และตำแหน่งคณะอนุกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการด้านแรงงาน เข้าชมการฝึกอาชีพการเย็บผ้า การสกรีนร้อน ซึ่งเป็นอีกหนึ่งอาชีพที่คนพิการ แต่ละประเภทสามารถนำมาเรียนรู้ และฝึกฝนเป็นการสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับตนเองและครอบครัว โดยใช้สโลแกน "นี่ไม่ใช่โรงงาน นี่ไม่ใช่โรงเรือน แต่ที่นี่ คือ ครอบครัวของคนพิการ" 

ซึ่งนอกเหนือจากการสร้างงานสร้างอาชีพสร้างรายได้ให้กับคนพิการแล้ว​ ที่แห่งนี้ยังเป็นที่พักอาศัยของคนพิการมากกว่า 30 ชีวิต และใช้ชีวิตความเป็นอยู่ด้วยความอบอุ่น ฉันพี่น้อง โดยพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน รวมถึงยังใช้ชีวิตในการเป็นอยู่ "แบบครอบครัว" เดียวกัน อยู่ด้วยกัน กินด้วยกัน และร่วมกันส่งต่อความดีให้กับผู้อื่น เพราะคนที่ได้รับการฝึกฝน อาชีพการเย็บผ้าแล้วนั้น ยังได้รับการรับรองมาตรฐานจากสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานระดับชาติ เพื่อเป็น"ครูผู้สอนการเย็บผ้า" ให้กับคนพิการต่างๆในประเทศไทยมากมาย

ทั้งนี้​ ยังมีกิจกรรมเพิ่มเติม ที่ทาง "อาจารย์ณรงค์" ได้นำเสนอ​อย่าง "ผู้นำคนพิการที่ใจถึงพึ่งได้" ซึ่งเป็นการมอบข้าวสาร อาหารแห้ง เครื่องอุปโภค บริโภค ให้กับผู้แทน โดยเป็น "ผู้นำคนพิการจังหวัด" นำไปมอบส่งต่อให้กับ คนพิการ คนยากไร้ คนด้อยโอกาส ผู้ป่วยติดเตียง ตามบ้านเรือน ที่ไม่สามารถ ออกมาใช้ชีวิตทำมาหากินได้อย่างคนปกติ และยังเป็นการให้กำลังใจซึ่งกันและกัน ต่อสู้ชีวิตในช่วงสถานการณ์เชื้อไวรัสโควิด - 19 ที่กำลังแพร่ระบาดอยู่ในขณะนี้ ด้วยความห่วงใย จากใจจริง


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top