เป็นคนดีแล้วได้อะไร ? ความบริสุทธิ์ใจ ภัยสังคม จริงหรือ ?

ยกให้อยู่ในหมวดคำถามจักรวาลแตก โดยมีคนในโลกแบกคำตอบที่แตกต่างไว้เพียบ

เป็นคนดีแล้วได้อะไร ?

แต่ก่อนหลายคนจะยึดมั่นกับ​ 'ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว'​

...แต่บังเอิญ​ ช่วงนี้มักมีประโยคหนึ่งนัวผุดขึ้นมาในหัวกันบ่อยขึ้นว่า 'ความดีไม่ใช่รางวัลตอบแทนการทำดี'​ อ่าว...แล้วยังไงดี !!

เคยคิดไหม? ว่าการให้เงินขอทาน ซื้อกล้วย ซื้ออ้อยให้ช้าง หรือซื้อนกกระจิบกระจอกที่พ่อค้าแม่ค้าจับมาเป็นเซตใส่กรงไว้ เพื่อปล่อยแถวหน้าวัด มีค่าเท่ากับส่งเสริมกระบวนการทำลายสังคมให้เติบโต โดยที่เราอาจไม่รู้ตัวหรือไม่? 

จริงอยู่ที่ว่าการกระทำเช่นนั้น​ อาจมาจากความเวทนาสงสาร​ และพอได้นำเงินให้แก่ขอทาน รวมถึงซื้อกล้วย ซื้ออ้อยให้ช้างกินนั้นช่วยให้เรารู้สึกสบายใจก็ตาม

แต่ในสังคมวันนี้​ มันมีเรื่องแปลกตรงที่​ 'การให้'​ ที่เอ่อล้นไปด้วย​ 'ใจอันบริสุทธิ์'​ กลับจุดประกายให้เกิดปัญหาในสังคมได้แบบ...มหากาพย์ 

ขอยกตัวอย่าง กรณี "พิมรี่พาย" ยูทูปเบอร์ ชื่อดัง กับเหตุการณ์ดราม่าที่เคยเกิดขึ้นเมื่อช่วงเดือนมกราคม หลังมีคลิปการเดินทางไปที่หมู่บ้านแม่เกิบ อ.อมก๋อย ซึ่งอยู่ห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่กว่า 300 กม. เพื่อนำสิ่งของไปมอบให้เด็ก ๆ 

ด้วยสภาพความเป็นอยู่ของคนที่นี่ จึงทำให้พิมรี่พายทุ่มเงินกว่า 5 แสนบาท เพื่อติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ผลิตไฟฟ้า ซื้อโทรทัศน์จอยักษ์มาติดตั้งที่ลานหมู่บ้าน ด้วยการเปิดไฟ และเปิดทีวีให้เด็ก ๆ ดู เผื่อพวกเขาจะได้เห็นว่ามีอาชีพมากมายอยู่ในนี้ และจะได้มีความฝันว่าโตขึ้นไปควรเป็นอะไร 

หลังจากที่คลิปดังกล่าวถูกเผยแพร่ไป มีคนกดไลก์และแชร์มากมาย จนทำให้เกิดแฮชแท็ก #พิมรี่พาย ขึ้นเทรนด์อันดับ 1 ในทวิตเตอร์ประเทศไทย ซึ่งก็มีทั้งกระแสชื่นชมและเห็นต่างในเรื่องนี้

ในแง่ความเห็นด้วยคงไม่ต้องอธิบายความ​ แต่ในแง่ความคิดเห็นต่างอันนี้ต้องมาถอดรหัสกันดู!! 

หนึ่งในความเห็นต่างที่น่าสนใจมาจากนักเขียนหนุ่มเจ้าของนามปากกา “ภินท์ ภารดาม” ซึ่งเปิดอีกมุมมองเกี่ยวกับการทำดีของพิมรี่พายในครั้งนั้นไว้ว่า​ "ชื่นชมแต่ไม่เห็นด้วย" 

เขาเล่าว่า​ "ชื่นชมความเป็นนักปฏิบัติ โลกเรามีนักพูดเยอะมาก แต่ไม่ลงมือทำ การลงมือทำของเธอโดยไม่ต้องรอเหนือรอใต้ ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงได้จริง 

"แต่ความช่วยเหลือเป็นการไปถามเอาจากคุณครู หรือสอบถามในฐานะผู้ให้ และไปนึกเอาเป็นข้อสรุปเองว่าจะต้องให้อะไร และคิดไปว่าเด็กจะต้องมีอาชีพอย่างคนเมือง จึงนำไปสู่ข้อสรุปที่ว่า ต้องเอาทีวีมาให้เด็กดู​ เพื่อจะได้รู้ว่าต้องการมีอาชีพอะไร เป็นข้อสรุปที่ได้จากตัวพิมพรี่พายเอง คล้ายกับการคิดแทนเด็กๆ ไม่ใช่ความต้องการของเด็กๆ"

"เราอาจจะเป็นปัจจัยให้กับเขาในการสนับสนุนในสิ่งที่เขาต้องการ แต่การก้าวล่วงไปมองว่าเด็กต้องอ่านหนังสือถึงจะมีความรู้ เป็นความคิดที่เป็นการกระทำการแทน แต่หากมองว่าถ้าเราเข้าไปเรียนรู้กับเด็กดอยและใช้เวลาอยู่บนดอยมากหน่อย ใช้เวลาสังเกตการณ์มากหน่อย อาจจะมองเห็นเองว่าอะไรควรทำ อะไรไม่ต้องทำ ไม่ปล่อยให้อารมณ์หรือ ความกรุณาแบบอัตโนมัติเข้าทำงาน อย่างน้อยต้องศึกษาเรื่องราวตามภูมิปัญญาชาวเขา จะมองเห็นหนทางที่จะหยิบยื่นความช่วยเหลือได้ยั่งยืนกว่านี้"

หลังมีดราม่า พิมรี่พาย ได้ไลฟ์ชี้แจงดราม่าเรื่องที่ขึ้นไปติดตั้งทีวีและแผงโซลาร์เซลล์ให้เด็กๆ และบอกว่า อาชีพของเธอเป็นอาชีพที่ต้องสร้างภาพให้คนเห็น ซึ่งเธอนั้นเลือกที่จะสร้างภาพแบบคืนดีด้วยการคืนให้สังคม จึงอยากเอาเงินที่เหลือไปตอบแทนสังคม แล้วก็ฝากถึงคนที่เห็นต่างอยากให้มองถึงเจตนาที่แท้จริงของเธอ คือแค่ อยากทำความดี เพราะการทำความดี เป็นไปด้วยเจตนาดี จะทำความดีต่อไป 

อย่างไรก็ตามเราเองก็มองว่าสุดท้าย เมื่อเราทำดีแล้ว ก็เสร็จสิ้นด้วยความดี หากยิ่งไม่หวังผลในความดี ก็คงจะยิ่งดีขึ้นไปอีก...หรือแม้หลายครั้งที่ทำดี แล้วได้รับผลตอบรับแบบบัดซบบ้าง สูญเปล่าบ้าง แต่ไม่ว่าอย่างไร "ความดีก็คือความดี" 

คิดแค่นั้นพอ!! 


อ้างอิงข้อมูล
https://www.khaosod.co.th/special-stories/news_5704244