Tuesday, 12 November 2024
WeeklyIssue

“ถ้าวงการบันเทิงมี พี่เบิร์ด เป็นตำนาน วงการข่าวต้องมี สรยุทธ สุทัศนะจินดา เป็นตำนานกว่า”

มั่นใจว่า คนไทย เติบโตมากับ สรยุทธ ผ่านหน้าจอทีวี เช้า เย็น ค่ำ ตามแต่ช่วงเวลาที่ สรยุทธ รายงานข่าว แบบไม่มีวันหยุด ไม่มีวันพัก ไม่มีวันป่วย หลายคนสงสัยวัน นอนตอนไหน

การทำงานสไตล์ สรยุทธ ถูกถ่ายทอด ผ่านหนังสือขายดีชื่อ กรรมกรข่าว และออกมาเป็นซีรีย์ ได้หลายเล่มทีเดียว บทสรุปของหนังสือเล่มนี้คือ ทำในสิ่งที่ชอบ และ รัก จะอยู่กับมันได้นาน เหมือนไม่ได้ทำอะไร

สไลต์ข่าวของ สรยุทธ คือ เล่าข่าวให้ชาวบ้านเข้าใจ เน้นเรื่องที่เกียวกับคนส่วนมาก ส่วนเรื่องการเมืองในหลาย ๆ กรณี สรยุทธ ไม่ออกตัวชัดเจนว่าเป็น สีไหน ข้างไหน แต่บางสี เลือกที่จะโจมตีบ้าง เลือกที่จะนำมาใช้ประโยชน์บ้าง สุดแท้แต่สิ่งที่ออกจากปาก สรยุทธ ว่าฝ่ายไหนจะตีความอย่างไร และเป็นประโยชน์กับใคร และใครมองไปทางไหน

สรยุทธ เลือกที่จะพุ่งเป้าไปที่คนหมู่มาก รู้จักการสร้างกระแส เคสใหญ่ ที่เรียกเสียงฮือฮา ได้คือ เมื่อตอนน้ำท่วมใหญ่ประเทศไทย ปี พ.ศ. 2554 ถือเป็นการใช้สื่อ เพื่อช่วยเหลือ แก้ไขปัญหา ได้ตรงจุด และ สร้างการรับรู้ ความไว้วางใจ ได้เผลอ ๆ จะมากกว่ารัฐบาลซะด้วยซ้ำ

ในชีวิตส่วนตัว สรยุทธ เลือกที่จะไม่เปิดเผย ทำตัวเรียบง่าย เงียบนิ่ง ให้สัมภาษณ์ไม่มากครั้ง เน้นการทำงาน

อีกสิ่งที่ สรยุทธ ทำแต่ได้ผลเสมอ คือ การสร้างทีมงาน ทั้งหน้าจอ และ หลังจอ ทำให้ สรยุทธ มี แก๊งค์ ก๊วนของตัวเอง คล้าย ๆ กับ Youtuber สมัยนี้ มีไม่ได้ออกแค่คนเดียว นับเป็นความสำเร็จที่ใครได้มา ประกบ หรือ ปั้น โดยยี่ห้อ สรยุทธ ถือว่าเกิดได้เพียงข้ามคือ ขออนุญาติไม่เอ่ยว่าเป็นใครบ้าง มั่นใจว่า ทุกท่านตอบถูกต้องแน่นอน และทุกคนที่ได้ร่วมงานกับ สรยุทธ รักและเคารพ สรยุทธมาก ๆ เช่นกัน

ในทางกลับกัน แม้มีเสียงชื่นชม แต่ในวิกิพีเดีย ก็มีข้อมูลที่ถูกสรุป ข้อวิพากษ์วิจารณ์ไว้ถึง 14 กรณี ไม่นับรวมคดีไร่ส้มที่มีปัญหาใหญ่สุด ต่าง ๆ นานา ต่างเคส ต่างคู่กรณีกันไป แต่ก็ผ่านมาได้ทุกครั้ง

สิ่งที่สรยุทธ ได้ทำตามคำพิพากษาของศาล นับเป็นเคสของกรณีศึกษาด้านจริยธรรมของสื่อเป็นอย่างมาก รายละเอียดต่าง ๆ สรยุทธ ได้เลือกที่จะเดินหน้าต่อสู้ตามกระบวนการธุติธรรมของ พิสูจน์ความจริง แม้จะใช้เวลา และที่สุดแล้ว ศาลพิจารณาให้จำคุก

สรยุทธ เลือกที่จะเดินตามกระบวนการ และ รับผิดตามคำพิพากษา ศาลฎีกา จำคุก 6 ปี 24 เดือน หลายต่อหลายคำวิพากษ์วิจารณ์ ว่าทำไมติดจริงแค่ปีเศษ ๆ ก็ได้รับการพักโทษ และ ใส่กำไรอีเอ็ม ต่างๆ นานา

ผลสุดท้าย ไม่ว่าอดีตเป็นอย่างไร

แหล่งข่าวคอนเฟิมว่า สรยุทธ จะกลับสู่หน้าจอทีวีช่อง 3 อย่างแน่นอน เพียงแต่รอวันเวลาว่าวันไหน เท่านั้น

14 มีนา นี้ I ll’be Back สรยุทธ กลับมาแล้วแน่นอน!!!

ต้องรอติดตามว่าจะเคลื่อนไหวอะไรอย่างไร มั่นใจว่าต้องไม่ธรรมดาแน่นอน


อ้างอิง :

https://th.wikipedia.org/wiki/สรยุทธ_สุทัศนะจินดา

การตัดสินใจรับคำพิพากษาแบบแมน ๆ ของ 'สรยุทธ' ที่น่านับถือ

“ยืนยันว่าไม่เคยคิดจะหนี เพราะถ้าจะหนีต้องหนีตลอดชีวิต….ถ้าอยู่ในเรือนจำยังมีจุดสิ้นสุด”

การตัดสินใจรับคำพิพากษาแบบ แมนๆ ของสรยุทธ ที่น่านับถือส่วนหนึ่งของคำพูดที่ สรยุทธ สุทัศนะจินดา นักเล่าข่าวชื่อดังกล่าวไว้ในขณะที่กำลังเข้าสู่กระบวนการพิพากษาในชั้นศาลฏีกาของคดี “ไร่ส้ม” อันสั่นสะเทือนจริยธรรมของสื่อมวลชน แต่ด้วยความเป็นนักโทษเด็ดขาดชั้นเยี่ยมและได้รับพระราชทานอภัยโทษ จากเดิมที่ต้องโทษจำคุก 6 ปี 24 เดือน จึงลดเหลือ เพียง 3 ปี 6 เดือน 20 วัน และเมื่อหักวันต้องโทษจำคุกมาแล้วจึงเหลือโทษอยู่อีกเพียงแค่ 2 ปีเศษเท่านั้น ซึ่งเข้าข่ายหลักเกณฑ์การพักการลงโทษกรณีมีเหตุพิเศษ โดยจะได้พักการลงโทษ ปล่อยตัวในวันที่ 13 มีนาคม 2564 นี้

แต่ต้องติดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว หรือกำไล EM (Electronic Monitoring) และต้องปฏิบัติตนตามเงื่อนไขที่กำหนดอย่างครบถ้วน รวมไปถึงต้องรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุกเดือนจนกว่าจะพ้นโทษ นี่เป็นอิสรภาพในการควบคุมของกรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม ที่น่าติดตาม แม้ว่าการพักโทษครั้งนี้อาจยังไม่ใช่จุดสิ้นสุดการต้องโทษของ สรยุทธ สุทัศนะจินดา แต่เมื่อ “กรรมกรข่าว” comeback เมื่อ “คนเล่าข่าวอันดับหนึ่ง” กลับคืนหน้าจอ วงการจะสั่นสะเทือนมากน้อยแค่ไหน ?

บนสังเวียนข่าวกว่า 30 ปี สรยุทธ เริ่มต้นเส้นทางนี้ที่ The Nation ในปี 2531 มา MCOT ที่เขาและรายการของเขาเป็นรายการเดียวที่ได้สัมภาษณ์นายกรัฐมนตรีทักษิณ ในช่วงก่อนการรัฐประหาร 2549 ไล่เรียงมาจนถึงการเล่าข่าวและเป็นพิธีกรรายการข่าวถึง 4 รายการคือ เรื่องเล่าเช้านี้, เรื่องเด่นเย็นนี้, เรื่องเล่าเสาร์อาทิตย์, จับเข่าคุย ทางช่อง 3 ซึ่งเป็นเขาที่สร้างแรงสั่นสะเทือนให้สังคมจากการรายงานข่าวอุทกภัยในปี 2554 อย่างเกาะติด พร้อมดึงเพื่อนในหลายแวดวงร่วมมือกันจนหาเงินบริจาคให้ชาวบ้านที่ทุกข์ร้อนได้มากมาย โดยไม่เคยมีผู้สื่อข่าวคนไหนทำมาก่อน

วีรกรรมของเขาครั้งนั้นโด่งดังขนาดที่คนนึกถึงและเรียกหาชื่อเขาก่อนนายกรัฐมนตรีเสียอีก เรียกได้ว่า สรยุทธ คือจ้าวแห่งการสื่อสารด้วยคำพูด (Speech Communication) โดยเฉพาะเรื่องเล่าของเขาที่สามารถสื่อสารไปยังผู้ชม ผู้ฟัง ได้อย่างลึกซึ้ง กว้างขวางและน่าเชื่อถือ ซึ่งเกิดจากเตรียมพร้อมและการย่อยข่าวอันเป็นพรสวรรค์ของเขา ว่ากันว่าการเตรียมพร้อมประจำวันของ สรยุทธ ตอนช่วงพีกสุด ๆ เขาต้องเดินทางมาถึงช่อง 3 ตั้งแต่ตี 4 กว่า เตรียมข้อมูลเพื่อออกอากาศ 6 โมงเช้า ช่วงบ่ายไปหาที่งีบหลับในตึกของช่อง พอบ่าย 2 โมงเริ่มเตรียมเนื้อหาข่าวเข้ารายการ “เรื่องเด่นเย็นนี้” วันหนึ่งเขานอนประมาณ 3 - 4 ชั่วโมงเท่านั้น กิจวัตรนี้นับเฉพาะส่วนของงานข่าวบนหน้าจอโทรทัศน์ไม่รวมไปถึงผลงานการเขียนหนังสือและงานอื่น ๆ อีกมากมายของเขาในช่วงนั้น

โลกที่หมุนเร็วขึ้นจะเป็นอุปสรรคต่อกลับมาของสรยุทธมากน้อยแต่ไหน? การจะกลับมาอยู่บนจอท่ามกลางกระแสโซเชียลอันเชี่ยวกรากจะยากเกินไปไหม ? คำตอบคือไม่เป็นอุปสรรคและไม่ยาก หากดูจากเพจ “สรยุทธ สุทัศนะจินดา กรรมกรข่าว” ที่มีผู้ติดตามอยู่เกิน 1 ล้านคน เขายังคงเป็น Main Influencer ของประเทศนี้ บริษัทของเขาก็ยังมีกำไรต่อเนื่องในฐานะผู้ผลิตรายการ ปัญหาของเขาน่าจะอยู่ที่ช่อง 3 นั่นเอง

แม้ทีวีดิจิตอลในวันนี้จะมีเม็ดเงินโฆษณาอยู่พอสมควรแต่การแข่งกันสร้างนักเล่าข่าวใหม่ ๆ ผนวกกับรายการข่าวที่พัฒนาทั้งรูปแบบและช่องทางเพื่อสนองต่อโลกที่ผ่านวิกฤติโควิด-19 ไปสู่โลกวิถีใหม่ ก็ทำเอาทีวีดิจิตอลหลายช่องไปไม่เป็น โดยเฉพาะช่อง 3 ที่ประสบปัญหาขาดทุน มีการปรับเปลี่ยนและเลย์ออฟพนักงานอยู่หลายคราว

ชีวิตไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบแต่อุปสรรคจะทำให้เรารู้ว่า “ชีวิตที่แท้จริง” เป็นอย่างไร เชื่อว่าการกลับมาของ สรยุทธ สุทัศนะจินดา จะเป็นแรงกระเพื่อมครั้งสำคัญของวงการข่าว สมใจบรรดาแฟนข่าวของเขา แต่การจะกลับมายืนเป็นเบอร์หนึ่งและเป็นผู้สร้างแรงบันดาลใจได้เหมือนเดิมหรือไม่ ? คงต้องให้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ เพราะหลายๆ ช่องทาง หลาย ๆ สื่อคงไม่มีใครอยู่นิ่ง ๆ แล้วให้รายการของสรยุทธกลับมากระชากเรตติ้งกลับไปเป็นของเขาเหมือนเดิมแน่ ๆ แต่ที่ได้ประโยชน์แน่ ๆ คงเป็นเรา ๆ ท่าน ๆ ผู้บริโภคข่าว เพราะต่อไปนี้รายการข่าวจะมีคุณภาพขึ้นกว่าช่วงที่ไม่มีสรยุทธอยู่แน่นอน

นาทีนี้ ชื่อ 'สรยุทธ' ยังขายได้?

นาทีนี้ต้องเรียกว่าคนทำงานวงการสื่อสารมวลชน นั่งกันไม่ติด นอนคิดหลายตลบ นับคอยวันเวลาที่รุ่นใหญ่ ตำนานแห่งคนข่าวที่เปลี่ยนหน้าจอทีวี จากการนำเสนอข่าวแบบผู้ประกาศข่าวเป็นเหมือนเครื่องอ่านข่าว มาเป็นการเล่าข่าวแบบเข้าถึง จนกลายเป็นเพื่อนที่ต้องอยู่คู่กันทุกเช้า “สรยุทธ สุทัศนะจิดา” ที่มีกำหนดการพักโทษและจะออกจากเรือนจำในวันที่ 14 มีนาคมนี้ ในแวดวงคนสื่อเอง ต่างก็คาดเดากันว่า หลังจากก้าวออกจากเรือนจำ อาจจะได้เห็น สรยุทธ ในหน้าสื่อกระแสหลักทันที แว่วๆมาด้วยซ้ำว่า ต้นสังกัดเดิม พร้อมลงหน้าจอทันทีไม่รีรอ

“สรยุทธ” กลับมาแบบนี้ ! สะเทือนข่าวผังรายการข่าวทีวีทั่วฟ้าเมืองไทยไม่น้อย โดยเฉพาะ “ข่าวช่วงเช้า” ที่แต่ละช่องมีการปรับแผน ยกผัง เปลี่ยนกลยุทธ์กันมาตั้งแต่ต้นปี หลายช่องเตรียมพร้อมรับมือการกลับมาของ “สรยุทธ” แต่ก็สุดจะคาดเดาว่ากลับมาครั้งนี้ จะงัดไม้ไหนออกมาให้ตะลึงกันอีก

ที่แน่ ๆ “สรยุทธ” ที่หลายคนคิดถึง คงมีแฟน ๆ รอการกลับมาของเขามากล้นเลยทีเดียว แต่อย่างไรก็ตามก็ต้องยอมรับ ว่ายุคก่อน “สรยุทธ” เข้าเรือนจำ กับยุคปัจจุบัน ช่องทางสื่อเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว จาก Digital Disruption การพุ่งพรวดของเทคโนโลยี ทำให้สื่อทีวี ไม่ใช่สื่อหลักอีกต่อไป ถ้ายอมรับความจริงข้อนี้ได้ สื่อออนไลน์ได้เข้ามาแทนที และไปไกลกว่าสื่อทีวีไปมากแล้ว ซึ่งคนในแวดวงสื่อเองก็ได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้กันถ้วนหน้า ทั้งการปลดพนักงานออก หรือการขยับตัวของรุ่นใหญ่ลงมาหน้าสื่อออนไลน์เต็มสูบ อย่าง “สุทธิชัย หยุ่น” ถึงขนาดพยากรณ์ไว้ใน Clubhouse แอพลิเคชั่นสังคมออนไลน์สุดฮิตว่า “ในอีกไม่เกิน 5 ปี ข้างหน้า สื่อทีวีสุดท้ายจะกลายเป็นเพียงของหายาก แต่จะไม่มีใครต้องการอีกต่อไป”

รุ่นใหญ่อย่าง “สุทธิชัย หยุ่น” ลงมานำเสนอข่าวผ่านสื่อออนไลน์แล้ว ตามมาติดๆด้วยลูกรักศิษย์เนชั่น อย่าง “จอมขวัญ หลาวเพ็ชร” ที่ฉีกสัญญาต้นสังกัดเดิม ลงมาเปิดหน้าในสำนักข่าวออนไลน์เต็มตัว ไม่เพียงเท่านั้น คนข่าวรุ่นใหม่หลายคนที่อายุงานยังไม่มาก บ้างก็ปรับตัวลงมาลุยสื่ออออนไลน์ควบสื่อทีวี บ้างก็ถอดใจย้ายเส้นทางชีวิต ไม่เดินเส้นทางสื่อทีวีต่อ ไปทำอย่างอื่นที่มีอนาคตกว่า

จึงน่าจับตาว่าคนที่เรียกตัวเองว่า “กรรมกรข่าว” อย่าง “สรยุทธ สุทัศนะจินดา” บุคคลผู้ทรงอิทธิพล ผู้เปลี่ยนหน้าวงการสื่อทีวี กรุยทางให้กับคนข่าวทีวีเดินตาม จนบางคนโด่งดังสุดๆจากสไตล์เดียวกับสรยุทธ สุดท้ายแล้วเมื่อกลับมาใหม่ในครั้งนี้ จะมีแนวทางในการนำเสนอข่าวอย่างไร จะยังคงได้รับการตอบรับจากแฟนข่าวเดิมอยู่หรือไม่ แล้วจะดึงแฟนข่าวที่ย้ายไปภักดีกับสองช่องยักษ์ในตอนนี้กลับมาอย่างไร ท้าทายมากกว่านั้นกับคนรุ่นใหม่และสื่อออนไลน์ “สรยุทธ” จะเข้าไปสร้างปรากฏการณ์อีกครั้งในสื่อเหล่านี้หรือไม่ การกลับมาครั้งนี้จะสร้างปรากฏการณ์รุ่งหรือร่วง อีกไม่นานคงได้รู้กัน

อย่างไรก็ตาม อย่าลืมว่า “จมูกไวต่อข่าว” ไม่ได้มีกันทุกคน แต่ “สรยุทธ” คือคนข่าวตัวจริงที่จมูกไวและประสบการณ์สูง ซึ่งสิ่งนี้เป็นข้อได้เปรียบสื่อออนไลน์ในปัจจุบัน ที่เน้นความไว แต่ไร้ซึ่งมิติและอ่อนประสบการณ์

“เนลสัน แมนเดลา” อดีตประธาธิบดีแอฟริกาใต้ ผู้นำการต่อต้านการแบ่งแยกสีผิว เคยให้สัมภาษณ์กับนักข่าวสำนักหนึ่งกับคำถามที่ว่า “ท่านรู้สึกอย่างไรที่ติดคุกไปตั้ง 27 ปี? “ แมนเดลา ตอบติดตลกว่า “ใครว่าผมติดคุก ผมเรียนหนังสืออยู่ต่างหาก” ระยะเวลาหลายปีที่สรยุทธหายไปจากหน้าจอทีวี ไปอยู่กับการต่อสู้คดีและเรือนจำ อาจเป็นช่วงเวลาที่ทำให้ “สรยุทธ” เกิดการตกผลึกบางสิ่งในชีวิตและการทำงานมากขึ้นก็เป็นได้ และเราจะได้เห็น “ผลึก” นั้นผ่านงาน “ข่าว” รูปแบบใดรูปแบบหนึ่งแน่นอน น่าติดตามและตั้งตารอ

สัญญาณ 'กู้ชีพ' ครั้งใหม่

แม้จะมีการโยกสับเปลี่ยนขยับคนใหม่ ไถคนเก่าออกเป็นระลอกคลื่นในวิก 3 พระราม 4 ตลอดร่วมครึ่งทศวรรษ

แต่ดูเหมือน สัญญาณแห่งการ ‘ฟื้นคืนชีพ’ และสร้างความยิ่งใหญ่แบบในอดีต อาจจะยังไม่เห็นภาพชัดในช่วงนี้นัก

เพราะส่วนหนึ่ง ก็ต้องยอมรับว่าช่อง 3 เป็นสินค้าที่อยู่ในตลาดที่ยากและท้าทายมาก แถมตอนนี้จังหวะของธุรกิจสื่อทีวีดิจิทัลก็ไม่ได้สวยหรูอะไรนัก เพราะโซเชียลมีเดียก็มีข่าวสารให้เสพแบบไม่ต้องง้อทีวี หรือแม้แต่คอนเท้นท์อื่น ๆ ก็มีให้เลือกมากถึงมากที่สุดในโลกออนไลน์

ภาพความลำบากของช่อง 3 จึงเริ่มเห็นได้ชัด จากธุรกิจที่ไม่เคยขาดทุน จนได้สัมผัสกับคำว่าขาดทุนครั้งแรกในช่วงปี 2561

ปี 2560 รายได้ 11,226 ล้านบาท กำไร 61 ล้านบาท

ปี 2561 รายได้ 10,504 ล้านบาท ขาดทุน 330 ล้านบาท

ปี 2562 รายได้ 8,779 ล้านบาท ขาดทุน 397 ล้านบาท

ส่วนหนึ่งก็ต้องยอมรับว่าช่อง 3 แบกต้นทุนทำทีวีดิจิทัลทั้ง 3 ช่องมาตลอด แม้เดือนกันยายน 2562 ได้ตัดสินใจคืนใบอนุญาต 2 ช่อง (ช่อง 3SD / ช่อง 3Family) แต่ก็ไม่ช่วยให้ผลประกอบการกระเตื้องขึ้นมาก เต็มที่ก็คือการคงผลขาดทุนให้ลดลง

อีกส่วนหนึ่ง คือ การจากลาหน้าจอของ ‘สรยุทธ สุทัศนะจินดา’ แห่ง ‘เรื่องเล่าเช้านี้’ (เรื่องเด่นเย็นนี้ / เรื่องเล่าเสาร์ - อาทิตย์) หลังจากเมื่อวันที่ 21 มกราคม 2563 ศาลฎีกาได้พิพากษาจำคุกตัวเขาในฐานะกรรมการผู้จัดการบริษัท ไร่ส้ม และอดีตพิธีกรรายการเล่าข่าวชื่อดัง ที่โยงคดีทุจริตค่าโฆษณาส่วนเกิน อสมท. 138 ล้านบาทเป็นเวลา 6 ปี 24 เดือน

อย่างไรก็ตาม เสียง ‘สัญญาณกู้ชีพ’ ครั้งใหม่ ที่เหมือนจะถูกฝากความหวังไว้ ก็เริ่มก่อเค้าลางๆ หลังจากอีกไม่นานอดีตพิธีกรข่าวชื่อดังแห่งช่อง 3 จะได้ก้าวออกสู่โลกแห่งอิสรภาพ พร้อมการคัมแบ็คช่อง 3 ในรายการข่าวเรียกแขกแบบเร็ววันพ่วงกำไล EM ให้ดราม่ากันเบา ๆ

และนั่นก็ทำให้ 'อดมโน' ไม่ได้ว่า สรยุทธ กับรายการ (ที่อาจจะเป็น) เรื่องเล่าเช้านี้ ซึ่งยังมีหน้าตาของเขาเป็นโลโก้แม้วันที่เจ้าตัวไม่อยู่ จะมีส่วนทำให้ช่อง 3 กลับมาผงาดได้เหมือนแต่ก่อน

ความคิดและคำพูดเช่นนี้อาจจะดูเว่อร์ไปนิด แต่ถ้ามองตามตรรกะ ต้องยอมรับว่า ‘ฝีปาก’ ของสรยุทธนั้น พร้อมฉุดให้ทุก ๆ คอนเท้นท์ที่รันบนแพลตฟอร์มของช่อง 3 มีคนดูได้เสมอ ไม่ว่าจะเป็นข่าว, ละคร, อีเว้นท์ หรือผลงานต่าง ๆ ของทางช่อง และต่างค่ายที่อยากมาโปรโมท แต่พอไม่มีสรยุทธ ทุกอย่างก็ดูดรอปลงตามสภาพ

ลองเทียบดูได้จากแค่รายการ ‘เรื่องเล่าเช้านี้’ ที่ไร้สรยุทธ ที่พอจะทำให้เห็นภาพความดรอป โดยอ้างอิงข้อมูลจาก TV Digital Watch พบว่า เรตติ้งรายการเรื่องเล่าเช้านี้ มีแต่ลดฮวบ ๆ ตั้งแต่ที่เริ่มมีกรณีคดีไร้ส้มเข้ามาเอี่ยว และสรยุทธเริ่มเฟดตัวออกจากช่อง 3

...2557 = 2.852

...2558 = 2.139

...2559 = 1.545

...2560 = 1.101

...2561 = 0.945

โดยเรตติ้งเฉลี่ยของภูมิภาคที่ตกแบบเด่นชัด คือ กรุงเทพและปริมณฑล ที่ตกมาตั้งปี 2557 ซึ่งเดิมมีอยู่ 4.794 ลดลงเหลือเพียง 1.881 ในปี 2561 ซึ่งไอ้ที่แย่ คือ ภูมิภาคนี้ คือ ฐานที่ช่อง 3 มีไว้กำราบช่อง 7 ที่ควบคุมตลาดภูธรนี่น่ะสิ

อันที่จริงแล้ว หากตัดปัญหาเรื่องเงินโฆษณา 138 ล้านบาท (กับ อสมท.) ที่ถือเป็นสึนามิครั้งใหญ่ของชีวิต สรยุทธ เชื่อว่าช่อง 3 อาจจะยังมีสถานภาพที่งดงามในโลกดิจิทัลคอนเท้นท์บูม เพราะจะตั้งธงให้พี่ยุทธไปรุกช่องทางไหน หรือชี้บวกชี้ลบคอนเท้นท์ทุกสไตล์ ในวันที่เขาเป็นเหมือนไอดอลของคนทุกรุ่น มันก็ไม่ได้ยากมากเท่าไร

แต่การจากหน้าจอไป ในยุคที่ใคร ๆ ก็ลืมง่าย มันคือช่องว่างที่ยากลำบากแก่การอุด

แถมตลอดช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา ช่อง 3 หรือจะบอกว่าพี่ยุทธและไร่ส้มก็ได้นั้น แทบไม่ได้สร้างนักเล่าข่าวชายเพื่อมารองรับกรณีที่แกจะถอยออกไปเป็นเถ้าแก่ หรือแม้แต่เมื่อเกิดสถานการณ์ที่ต้องเว้นวรรคด้วยแม้แต่น้อย ทำให้ช่อง 3 และรายการข่าวไม่มีตัวแทน พอไม่มีตัวแทนภาพก็เป็นเช่นนี้

ที่บอกว่าไม่มีตัวแทน ไม่ใช่ว่าไม่มีคนมาเล่าข่าวแทน แต่คนที่มีเขี้ยวเล็บแบบนี้ ในปฐพีก็มีน้อย หรือถึงแม้จะมีอยู่ ก็ใช่ว่ามาแทรกปุ๊บจะแทนที่พี่ยุทธได้ทันที และที่สำคัญก็ไม่รู้พี่ยุทธอยากให้มาแทนด้วยรึเปล่านิสิ

อย่างไรก็ตาม ในการกลับมาของ สรยุทธ ที่ว่ากันว่าช่วงอยู่ในเรือนจำ ก็ปั๊มฐานออนไลน์ไว้เพียบ จากแฟนคลับที่ติดตาม ‘เรื่องเล่าชาวเรือนจำ’ หลักล้านคน น่าจะเป็นแรงส่งช่วยดันยอดชมเหวี่ยงมาประคองช่อง 3 ได้ระดับนึง

แต่มันจะถึงขั้นทำให้ช่อง 3 เติบโตเปรี้ยงปร้างได้จริงแค่ไหน? อันนี้น่าคิด เพราะในยุคที่ข่าวกลายเป็นเรื่องที่ ‘คนธรรมดา’ ก็สามารถแจ้งความคืบหน้าได้ แถมตอนนี้ยูทูบเบอร์ หรือบล็อกเกอร์บางราย มีอิทธิพลสูงส่งเสียยิ่งกว่าคนหน้าจอแก้วซะอีก

การพูดให้เชื่อ การโหนให้เฮ!! จะยังเป็นได้เช่นเคยหรือไม่? จึงต้องดู...

ยิ่งไปกว่านั้น การห่างหายจากหน้าจอไปนานของพี่ยุทธ จะยังแรงพอโกยคนที่มีการรับชมคอนเท้นท์แบบ ‘ส่วนตัวสไตล์’ มากขึ้นให้ ‘คืนกลับมาหา’ เพียงเพราะมีชื่อ ‘สรยุทธ’ คนเดียวแล้วกู้สถานการณ์ได้หรือไม่นั้น มันก็อดคิดไม่ได้ว่าจะง่ายได้ขนาดนั้นเลยหรือ?

ยกเว้นแต่ช่อง 3 พลิกคิดคอนเท้นท์ใหม่ แบบที่ ‘น้าเน็ก’ แกออกไปทำเอง แนวๆ คุยให้เด็กมันฟัง เอ้อ!! แบบนั้นอะ!! เข้าที แล้วหลังจากนั้นโมเดลด้านคอนเท้นท์ของช่อง 3 ก็อาจจะต้องรื้อใหม่หมด (หรือไม่?) ละครตบตี กระทำชำเรา ที่ทำให้โซเชียลด่ากันระงม หรือรายการวาไรตี้เดิม ๆ อาจต้องปัดฝุ่นไหม หรือไม่ก็ต้องเปลี่ยนทิ้ง เพื่อเสริมแรงแบบ 2 ทาง (สรยุทธ + ช่อง 3 New Model)

เหล่านี้แลดูน่าสนในเชิงขององค์รวม!!

เพียงแต่ผลลัพธ์ของมันจะปังแค่ไหน ในวันที่มือปืนเก่ายังโบกมือลา ส่วนมือปืนใหม่ ๆ ที่หวังจะเข้ามาช่วยกอบกู้ช่อง 3 ก็ยังอยู่ยาก เพราะวัฒนธรรมหรืออะไรก็ตามมันค้ำสถาบันนี้ไว้

สรุปแล้ว พี่ยุทธ!! อาจเป็นไอดอลของวันนั้น ส่วนวันนี้อาจแค่ ‘หวังได้’ ก็ต้องเผื่อใจไว้นิดสำหรับมวลชนคนวิก 3

คิดไกลไปเกินละ...อย่าคิดตามล่ะ


อ้างอิง:

https://www.posttoday.com/social/think/419034

https://www.tvdigitalwatch.com/news-ch3-reunglow-choanee-21-1-63/

บทบาทแห่งธรรมศาสตร์ ผลิต (อนาคต) ชาติ

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยอันดับ 3 ของประเทศไทย ! อันดับที่ 561 - 570 ของโลก จากการประกาศผล QS World University Rankings 2021 

จัดอันดับโดย QS Quacquarelli Symonds Limited สถาบันการจัดอันดับมหาวิทยาลัยทั่วโลก โดยพิจารณาจากเกณฑ์การจัดอันดับ อันได้แก่ Academic Reputation (ชื่อเสียงทางวิชาการ)  Employer Reputation (การสำรวจผู้ว่าจ้าง) และ Faculty Student (อัตราส่วนของคณะต่อนักศึกษา) รวมทั้งการอ้างอิงในรายงานวิจัยแยกย่อยแต่ละคณะ 

ปัจจุบันมีคณะเปิดการเรียนการสอนจากทั้งศูนย์รังสิต ท่าพระจันทร์ ลำปาง และพัทยา ทั้งหมด 19 คณะ 4 วิทยาลัย 1 สถาบัน 1 สำนักวิชา จำนวนหลักสูตรทุกระดับจำนวนทั้งสิ้น 297 หลักสูตร เป็นระดับปริญญาตรี 139 หลักสูตร ประกาศนียบัตรบัณฑิต 6 หลักสูตร ปริญญาตรีควบปริญญาโท 4 หลักสูตร  ปริญญาโท 118 หลักสูตร และปริญญาเอก 34 หลักสูตร จัดการศึกษาทั้งภาคกลางวันและภาคค่ำ 

อันดับและหลักสูตรเหล่านี้บ่งบอกถึงการรักษามาตรฐานในทางวิชาการและการบริหารสถาบันทางการศึกษาไม่มากก็น้อย โดยเฉพาะคณะสายสังคมศาสตร์ อย่างนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์และพาณิชยศาสตร์และการบัญชี 
ก็ยังเป็นที่นิยมอยู่ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งจนกระทั่งปัจจุบันนี้ 

แม้ว่าห้วงเวลานี้ ในแวดวงการศึกษาอาจจะมีคำถามถึงความจำเป็นของบทบาทของมหาวิทยาลัยอยู่บ้างก็ตาม แต่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หรือรั้วแม่โดมแห่งนี้ก็ยังคงยืนหยัดพัฒนาต่อไป เพราะหากมองลึกเข้าไปถึงคุณของความมีอยู่ของมหาวิทยาลัย คุณค่าที่นอกจากการบริการวิชาการแล้ว ยังรวมไปถึงสภาพแวดล้อม สังคม ผู้คน และจิตวิญญาณ ซึ่งเมื่อกล่าวถึงจิตวิญญาณของความเป็น “คนธรรมศาสตร์” กลิ่นอายของเสรีภาพ ประชาธิปไตย และการขับเคลื่อนกิจกรรมทางการเมืองก็ลอยขึ้นมาเตะจมูกทันที

นอกจากความโดดเด่นทางวิชาการ และจิตวิญญาณคนธรรมศาตร์แล้ว ธรรมศาสตร์ในศตวรรษที่ 21 นี้ สิ่งที่เห็นได้ชัดในยุคของฮองเฮา หรือ อธิการบดีหญิง รองศาสตราจารย์เกศินี  วิฑูรชาติ คือการพัฒนาสภาพแวดล้อมมหาวิทยาลัยให้น่าอยู่และรักษ์โลก 

จากการตั้งเป้าเป็นมหาวิทยาลัยแห่งความยั่งยืน ลดการใช้พลาสติก และรักษาสภาพแวดล้อม การเอาจริงเอาจังด้านความยั่งยืนนี้ จึงทำให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้รับเลือกจาก International Sustainable Campus Network (ISCN) หรือเครือข่ายมหาวิทยาลัยยั่งยืนนานาชาติ ให้เป็น Award Winner ประจำปี 2020 ด้าน Cultural Change for Sustainability จากการรณรงค์สร้างวิถีชีวิตที่ปลอดจากการใช้พลาสติกครั้งเดียวทิ้ง (No More Single Use Plastics) นับเป็นครั้งแรกที่มหาวิทยาลัยไทยได้รางวัลจาก ISCN

ไม่เพียงเท่านั้น ในด้านขยายฐานการผลิตอนาคตของชาติ มหาวิทยาลัยแห่งนี้ยังแตกหน่อ ต่อยอดการบริหารการศึกษาเป็นโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จากแนวคิดที่เห็นปัญหาของระบบการศึกษา คือ การเน้นท่องจำมากกว่าทำความเข้าใจ และบรรยากาศของการแข่งขันเพื่อไปสู่ความสำเร็จตามค่านิยมของสังคม 

กลายเป็นปัญหาที่สะสมอยู่ในวัฒนธรรมการศึกษาไทย จนส่งผลให้เด็กและเยาวชนจำนวนไม่น้อยขาดความสุขในการเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ มองโรงเรียนเป็นเพียงพื้นที่แห่งการแข่งขัน และเติบโตเข้าสู่ระดับอุดมศึกษาโดยปราศจากการค้นพบศักยภาพและความสนใจของตัวเอง 

จึงเป็นที่มาของโรงเรียนระดับมัธยมศึกษาภายใต้รั้วเหลืองแดงแห่งนี้ เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง (Active Learning) สร้างวัฒนธรรมการเคารพและเรียนรู้ร่วมกันระหว่างผู้เรียน ผู้สอนและผู้ปกครองด้วย

รั้วมหาวิทยาลัยยังคงเป็นดินแดนที่นักเรียนจำนวนมากใฝ่ฝันที่จะก้าวเข้ามาเป็นส่วนหนึ่ง แต่ละสถาบันก็จะมีอัตลักษณ์และภาพจำที่แตกต่างกันไป นอกจากอันดับความแข็งแกร่งทางวิชาการแล้ว คุณค่าที่สำคัญของมหาวิทยาลัยที่ทำให้แตกต่าง คือ กลุ่มสังคมและสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ 

การเข้าถึงโอกาสทางอาชีพการงาน และเปิดโอกาสทางสังคมในการพบเพื่อนใหม่ๆ ให้การศึกษาเป็นตัวนำทางในการยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับอีกหลาย ๆ คน 

“การศึกษา” จึงเป็นความเท่าเทียมแรกของมนุษย์ทุกคนที่ควรจะมีโอกาสเข้าถึง และตลอดระยะเวลา 86 ปี รั้วแม่โดมแห่งนี้ ก็ดูเหมือนว่ากำลังทำหน้าที่นี้อยู่ ดั่งปรัชญาของการตั้งมหาวิทยาลัย ปรากฏตามสุนทรพจน์ ของศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์ รายงานต่อผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ในครั้งพิธี เปิดมหาวิทยาลัยขึ้น เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2477 ว่า “มหาวิทยาลัยย่อมอุปมา ประดุจบ่อน้ำ บำบัดความกระหายของราษฎร ผู้สมัครแสวงหาความรู้ อันเป็นสิทธิและโอกาส ที่เขาควรมีควรได้ ตามหลักเสรีภาพของการศึกษา”

หมายชูชาติ หรือ หมาย ชังชาติ

สำนักไหนหมายชูประเทศชาติ สำนักนั้นธรรมศาสตร์และการเมือง

ข้อความนี้ตัดถ้อยคำมาจากเพลงประจำมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง (ทำนองมอญดูดาว) อันเป็นเพลงประจำมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เพลงแรก ประพันธ์โดยขุนวิจิตรมาตรา เมื่อ พ.ศ. 2478 จากวันที่ก่อตั้งมหาวิทยาลัยในวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2477 เพื่อเป็นตลาดวิชาที่ให้การศึกษาด้านกฏหมายและการเมืองแก่ประชาชนทั่วไป จนถึงวันนี้กว่า 87 ปี ที่สำนักนี้สร้างบุคลากรคุณภาพจำนวนมากออกมาขับเคลื่อนประเทศไทย หลายท่านเป็นบุคคลสำคัญของประเทศและของโลก แต่ ณ ปัจจุบัน “สำนักนี้ยังหมายชูประเทศชาติจริงหรือ ?”

เพราะหากเรามองช่วงเวลาที่เปลี่ยนผ่าน บริบทโดยรวมของขบวนการนักศึกษาที่ผลักดันความชอบธรรมของสังคมพร้อมด้วยคณะอาจารย์ผู้ปลูกฝังสำนึกของธรรมศาสตร์นั้นเปลี่ยนไปมาก สังเกตได้จาก “ธรรมศาสตร์จะไม่ทน” ในวันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2563 ซึ่งไม่ทราบว่าจะไม่ทนอะไร ? เพราะบรรยากาศวันนั้นทุกประเด็นที่เรียกร้องโดยนักศึกษา มีแต่ความย้อนแย้ง หยาบคาย ไม่สร้างสรรค์ กักขฬะ ตื้นเขินทางปัญญาและความคิดเป็นอย่างยิ่ง

โดยเฉพาะข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันฯ 10 ข้อ ก็รับมาอ่านบนเวทีทั้ง ๆ ที่ไม่ทราบมาก่อนว่าจะมี และไม่ทราบว่ามาจากใคร ร่วมไปถึงอีกหลาย ๆ ภาพกิจกรรมบนเวที ที่ละเมิดขอบเขตทางกฏหมายอย่างชัดเจน แสดงให้เห็นความจริงอันน่ารันทดว่านักศึกษาธรรมศาสตร์บางส่วนได้กลายเป็นหุ่นเชิดไร้สมองไปเสียแล้ว นอกจากนั้นการแสดงความรับผิดชอบของมหาวิทยาลัยก็ช่างมักง่าย อาจารย์ระดับรองอธิการบดี ออกมาแก้ต่างเรื่องการชุมนุมว่า “ไม่ทราบมาก่อนว่าจะมีการทำผิดกฏหมายเกิดขึ้น” แต่จะดำเนินมาตรการต่าง ๆ ตามบทบาทและหน้าที่ของมหาวิทยาลัย

สุดท้ายก็ไม่มีสิ่งใดที่แสดงถึงการดำเนินการตามมาตรการดังกล่าว ไม่น่าเชื่อเลยว่านี่คือมหาวิทยาลัยที่เริ่มโดยนักกฏหมายและมุ่งเน้นสอนให้คนรู้กฏหมาย แต่เมื่อมีคนทำผิดกฏหมายซึ่งหน้า กลับปิดตาทั้งสองข้างแล้วบอกว่าตนไม่เคยรู้มาก่อน ภาษาชาวบ้านเขาเรียกว่า “ตอแหล” เช่นนี้แล้ว สำนักนี้หมายชูประเทศชาติจริงหรือ ? แล้วจะชูด้วยอะไร ?

เหลืองของเราคือธรรมประจำจิต แดงของเราคือโลหิตอุทิศให้ อีกหนึ่งวรรคทองของธรรมศาสตร์อันหมายถึง สำนึกในความเป็นธรรมและความเสียสละเพื่อสังคม วรรคทองนี้คงไม่อยู่ในใจของคณาจารย์ที่ประท้วงหยุดสอนแต่ยังรับเงินเดือน ขู่ว่าจะลาออกแต่ก็กลับคำ คณาจารย์หน้าเดิมที่ไม่เคยสร้างประโยชน์อื่นใดให้สังคมนอกจากการแก้มาตรา 112 ทั้งยังสอนสั่งสอนลูกศิษย์ด้วยความบิดเบี้ยวทางความคิด ให้พวกเขาเติบโตอย่างต่ำตม จริยธรรมและสำนึกความเป็นธรรมศาสตร์ของอาจารย์พวกนี้หายไปไหน ?  

นอกจากนี้ยังมี อีแอบระดับอดีตอธิการบดี รองอธิการบดีและนักวิชาการทางกฏหมายที่บิดเบือนกฏหมายตามใจ ปลูกฝังและชักใยอยู่เบื้องหลังมายาวนาน คอยบงการให้นักศึกษามาลงถนน มาแสดงเสรีภาพอันบ้าคลั่ง วิพากษ์และระรานทุกคนที่เห็นต่าง นี่หรือ “ธรรมะ” ที่อาจารย์ธรรมศาสตร์บางจำพวก สอนแก่ลูกศิษย์ ส่วน “แดง” ที่แทน “โลหิต” นั้น อีแอบ กลุ่มเดิมคงมุ่งหวังให้เกิดการนองเลือด เลือดของนักศึกษาที่เรียกว่า “ลูกศิษย์” เพื่อเป็นปัจจัยในการป้ายสีและสร้างความไม่ชอบธรรม ให้เกิดกับสถาบันอันเป็นที่เคารพรักของปวงชนชาวไทย อีแอบพวกนี้ ยังสุมไฟแห่งความแตกแยก ทำลายสำนึกในความเป็นธรรมและเสียสละเพื่อสังคมอันเป็นรากฐานของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไปจนหมด

ฉันรักธรรมศาสตร์ เพราะธรรมศาสตร์สอนให้ฉันรักประชาชน วลีอมตะ สะท้อนชัดซึ่งหลักการของประชาคมและจิตวิญญาณธรรมศาสตร์ แต่จากแถลงการณ์ล่าสุดที่อ้างว่ามาจากผู้บริหารและคณาจารย์ธรรมศาสตร์รวมไปถึงแถลงการณ์ขององค์การนักศึกษาและชุมนุมต่าง ๆ ที่ปราศจากคนลงนามรับผิดชอบ ประกอบกับบรรดาอาจารย์ล้มเจ้าที่ทยอยเปิดตัวออกมาพล่ามข้อกฏหมายที่เป็นประโยชน์เพียงฝ่ายตน บิดเบือนทุกเรื่องอย่างไร้มโนสำนึก กดดันให้ศาลพิจารณาการประกันตัวเพื่อปล่อยตัวนักศึกษาผู้ทำผิดซ้ำซาก เหยียบย่ำระบบยุติธรรม เหยียบย่ำหัวใจของประชาชนคนอื่น ๆ หรือประชาชนของธรรมศาสตร์วันนี้จะมีแค่ พริษฐ์ ชิวารักษ์ และ ปณัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล ประชาชนที่ธรรมศาสตร์รักคือใคร ? คือคนประเภทไหนในประเทศนี้ ?

เราเชื่อว่า คนดีและจิตวิญญาณธรรมศาสตร์ ยังคงมีอยู่ แต่แสงไม่เคยส่องไปถึงพวกเขาเพราะเรามัวแต่หลงอยู่กับสีที่คนเลวสาดอยู่ทุกวัน จนภาพของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กลับกลายไปหมดแล้วอย่างน่าอนาถใจ

“ดาวม็อบ” แสงสว่างจากธรรมศาสตร์

ปีนี้ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีอายุครบ 87 ปี แต่ดูเหมือนช่วง 2-3 ปีหลังมานี้ ‘ธรรมศาสตร์จะร้อนแรง’ เป็นพิเศษ อย่างที่หลายคนติดตามข่าวสาร ไม่ว่าจะเป็นม็อบสารพัดม็อบก็ดี เหล่าแกนนำม็อบก็ดี อาจารย์ และรวมถึงผู้สนับสนุนจากหลายฝั่งหลายฝ่ายก็ดี พอเชื่อมโยงกันให้ดี ๆ อ้าว ! ถนนทุกสาย วิ่งเข้า วิ่งออก จากคำว่า ‘ธรรมศาสตร์’ แทบทั้งสิ้น ?!

เสมือนเป็น ‘โมเดลลิ่งการเมือง’ ดาวม็อบจากคณะนั้น อาจารย์ผู้เป็นแนวหลังจากคณะนี้ หรือศิษย์ผู้พี่ที่คอยให้กำลังใจจากคณะโน้น และอีกบลา ๆ ๆ

มันอาจจะร้อนแรงดี สำหรับคนกลุ่มหนึ่ง แต่มันก็เป็นเครื่องหมายคำถาม สำหรับคนอีกหลาย ๆ กลุ่ม ที่ต่างตั้งคำถามกลับมาระดับเบา ๆ ถึงหนักมาก ‘ที่นี่เป็นมหาวิทยาลัย บ่มเพาะการศึกษาเป็นพื้นฐาน แต่ที่กำลังทำและเป็นอยู่นั่น มันคืออิหยัง ?’

เรื่องทุกอย่างล้วนมีที่มา เมื่อมีผล ก็ต้องมีเหตุ ย้อนกลับไปเดย์วัน หรือวันแรกของการก่อตั้งมหาวิทยาลัย ด้วยชื่อก็ชัดเจนในตัวระดับหนึ่ง แต่เดิมชื่อของมหาวิทยาลัย คือ ‘มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง’ ตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2477 จากเจตนารมย์ของ ศ.ปรีดี พนมยงค์

ในครั้งนั้น ทั้งอาจารย์ปรีดี และคณะราษฎร มีมุ่งหมายที่จะ ‘ยกระดับ’ การศึกษาของประชาชน เพื่อให้สอดคล้องกับระบอบการปกครองของประเทศที่เพิ่งเปลี่ยนใหม่ ดังตามประกาศของคณะราษฎร บางท่อนบางตอนที่ว่า ‘การที่ราษฎรยังถูกดูหมิ่นว่ายังโง่อยู่ ไม่พร้อมกับระบอบประชาธิปไตยนั้น เป็นเพราะขาดการศึกษา ที่พวกเจ้าปกปิดไว้ไม่ให้เรียนเต็มที่ 

แม้ในช่วงแรก การศึกษาที่ว่า จะมุ่งเน้นที่วิชากฎหมายและการเมือง แต่เป็นเรื่องเข้าใจได้ เพราะในเวลานั้น การจะหาครูบาอาจารย์ หรือที่เรียกว่า ‘ผู้รู้’ นั้น คงไม่ใช่เรื่องง่าย ทว่าต่อมา ในช่วงปี พ.ศ. 2495 ชื่อมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ก็ถูกเปลี่ยน โดยตัดคำว่า วิชา และการเมืองออก เหลือไว้เพียง ‘มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์’ พร้อมการขยับขยายภาควิชาและคณะเรียนให้มากขึ้น

ไม่ว่าเบื้องลึก เบื้องหลัง จะเป็นอย่างไร นั่นเป็นเรื่องของอดีต แต่สิ่งที่เห็นเป็นรูปธรรมคือ เมื่อมีวิชาให้เรียนมากขึ้น ประชาชนก็จะได้รู้มากขึ้น และกว้างขึ้น แต่ถึงกระนั้น ไม่ว่าจะธรรมศาสตร์ชื่อสั้น หรือธรรมศาสตร์ชื่อยาว ภาพที่ถูกติดเอาไว้ เหมือนรักไม่ยอมเปลี่ยนแปลง นั่นก็คือ การเมือง

ธรรมศาสตร์ กับ การเมือง อยู่คู่กันมาอย่างแยกไม่ออก

ไม่แปลก หากจิตวิญญาณของการสร้างแต่แรกเริ่ม จะยังคงอบอวลอยู่ในสถานที่แห่งนี้ มองในมิติกลับกัน การมีสถานที่ที่เป็นอัตลักษณ์สำคัญให้กับเรื่องใด ๆ ถือเป็นความสำเร็จของผู้สร้าง และกับสถานที่แห่งนั้น รวมทั้งกับคนรุ่นหลังไว้เพื่อศึกษา

เพียงแต่ เมื่อเวลาผ่านไป ภาพที่ติดกับมหาวิทยาลัย กลับถูกนำไปใช้ในบริบททางการเมืองอีกมากมาย ดีร้ายสลับกันไปอย่างแยกไม่ออก แต่สิ่งหนึ่งที่ชัดและแข็งแรงขึ้นเรื่อย ๆ คือ ‘แบรนด์ธรรมศาสตร์‘ ที่ผูกติดกับการเมือง หากว่ากันในโลกการตลาด ถ้าแบรนด์แข็งแรง จะหยิบจับโฆษณาอะไรก็ทำได้โดยง่าย เพียงแต่ปัญหาสำคัญคือ คนที่หยิบจับแบรนด์ไปทำอะไรนั้น เอาไปทำเรื่องที่เป็นประโยชน์ต่อชาติบ้านเมืองแค่ไหน อย่างไร ?

จึงเป็นที่มาของ ‘ธรรมศาสตร์ร้อนแรง’ ในวันนี้

ประวัติศาสต์ในอดีตมักสะท้อนเรื่องราวอยู่เสมอว่า มีกลุ่มคนไม่กี่คนนักหรอก ที่มักก่อปัญหาให้กับคนหมู่มาก ฉันใดฉันนั้น เวลานี้จึงมีไม่กี่คนนักหรอก ที่กำลัง ‘สุมไฟ’ ให้กับสถาบัน โดยสวนทางเจตนารมย์แรกเริ่ม ในการก่อตั้งขึ้นมาไปสิ้น

‘โง่เพราะขาดการศึกษา...’ แต่พอฉลาดขึ้นมา จึงทำแบบนี้หรือ ?

ปัจจุบัน ‘ธรรมศาสตร์’ มีคณะที่เปิดทำการสอนกว่า 19 คณะ มีวิทยาลัยและสถาบันที่แยกย่อยลงไปอีกมากมาย และประการที่สำคัญ มีบัณฑิตที่ผลิตออกไปนับแสนนับล้านคน คงเป็นการไม่ยุติธรรมเอาเสียเลย หากคนที่ได้ชื่อว่า เป็นศิษย์ร่วมสถาบัน คนที่ถูกประสิทธิ์ประสาทวิชาจากสถาบันแห่งนี้ คนที่เดินออกไปทำคุณประโยชน์ให้กับสังคมในบริบทอื่น ๆ อีกมากมาย จะถูกปรามาสว่า เป็นธรรมศาสตร์แบบเดียวกัน

แม้ ‘การเมือง’ จะเป็นเรื่องของทุกคน แต่เรา หรือแม้แต่มหาวิทยาลัย ก็ไม่จำเป็นต้องมี ‘การเมือง’ อยู่ตลอดเวลา เพียงแต่แค่รู้ว่า หน้าที่อันจริงแท้นั้น ควรทำอะไร และวางบทบาทอย่างไรให้ถูกที่ ถูกเวลา และเหมาะสมตามบริบทสังคม

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีอายุ 87 ปี โลกหมุนรอบตัวเองมา 31,755 รอบ มีผู้คนหมุนเวียนเปลี่ยนผ่านสถานที่แห่งนี้มานับไม่ถ้วน วันนี้ชาวธรรมศาสตร์เชิดหน้ามองตึกโดม ที่ผ่านวันเวลาและความปวดร้าวทางการเมืองมาหลายต่อหลายครั้ง ตึกเก่าหลังแรกของสถาบันยังคงอยู่ คนต่างหากที่เปลี่ยนไป ไม่มีอะไรจีรัง แม้แต่การเมือง...

ธรรมศาสตร์ ทำ-ปะ-สาด ได้ทุกยุค ทุกสมัย

โดยเล็งเห็นว่าการศึกษาในระดับอุดมศึกษา ขณะนั้นมีจุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัยเพียงแห่งเดียว เมื่อมีการ เปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตยใน พ.ศ.2475 ประเทศชาติ มีความจำเป็นต้องมีบุคคล ที่มีความรู้ ทางกฎหมาย การปกครอง และสังคม มารับใช้ประเทศชาติโดยด่วน จึงได้เสนอร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัย วิชาธรรมศาสตร์ และการเมือง พ.ศ.2476 เพื่อเปิดสอนในวิชาแขนงดังกล่าว

เมื่อพระราชบัญญัติผ่านสภาผู้แทนราษฎรแล้ว ได้มีพิธี เปิดมหาวิทยาลัยขึ้น เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2477 โดยผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เป็นผู้กระทำพิธีเปิด และ ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ได้รับแต่งตั้งเป็นบุคคลสำคัญของมหาวิทยาลัยคนแรกของมหาวิทยาลัย (และเป็นบุคคลสำคัญของมหาวิทยาลัยคนเดียว เพราะต่อมาได้เปลี่ยนชื่อ ตำแหน่ง เป็นอธิการบดี)

ปรัชญาของการตั้งมหาวิทยาลัย ปรากฏตามสุนทรพจน์ ของศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์ รายงานต่อผู้สำเร็จราชการ แทนพระองค์มีดังนี้

“... มหาวิทยาลัยย่อมอุปมา ประดุจบ่อน้ำ บำบัดความกระหายของราษฎร ผู้สมัครแสวงหาความรู้ อันเป็นสิทธิและโอกาส ที่เขาควรมีควรได้ ตามหลักเสรีภาพของการศึกษา...”

จากคำกล่าว ของ ปรีดี พนมยงค์ เหมือนการสร้างปราสาทอันยิ่งใหญ่สำหรับประชาธิปไตยของประเทศไทย คือการสร้างความรู้ให้กับประชาชนคนไทย ธรรมศาสตร์ จึงวนเวียนกับการพัฒนาประชาธิปไตยของไทยมาโดยตลอด 87 ปี ที่ผ่านมา ต้องมีส่วนเกี่ยวข้องไม่มากก็น้อยมาโดยตลอด

ฉันรักธรรมศาสตร์ เพราะธรรมศาสตร์สอนฉันให้รักประชาชน

ธรรมศาสตร์ ดินแดนแห่งเสรีภาพ ทุกตารางนิ้ว

“ฉันเยาว์ ฉันเขลา ฉันทึ่ง ฉันจึงมาหาความหมาย ฉันหวัง เก็บอะไร ไปมากมาย สุดท้าย ให้กระดาษ ฉันแผ่นเดียว…”

เหลืองของเรา คือ ธรรมประจำจิต แดงของเรา คือ โลหิตอุทิศให้

ธรรมศาสตร์ ไม่มีระบบรุ่นพี่รุ่นน้อง แต่จะเรียกว่าเพื่อนใหม่ เพราะถือว่าทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกัน

วันสถาปนามหาวิทยาลัย คือ 27 มิถุนายน 2477 (ซึ่งตรงกับวันคล้ายวันพระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว)

นักศึกษาไม่จำเป็นต้องใส่ชุดนักศึกษามาเรียนก็ได้ แต่อาจจะยกเว้นบางวิชา แต่ตอนนี้ได้มีการรณรงค์ให้แต่งชุดนักศึกษา

มีผู้เคยกล่าวไว้ว่า ประวัติศาสตร์การเมืองไทย ก็คือประวัติศาสตร์ธรรมศาสตร์

ไม่ว่า ธรรมศาสตร์ จะเป็นเช่นไร ...ธรรมศาสตร์ ก็ ทำ-ปะ-สาด ให้กับผู้มีอำนาจได้ทุกยุค ทุกสมัย...


อ้างอิง

https://teen.mthai.com/education/102409.html

https://www4.tu.ac.th/index.php/th/408-th-th/teach/280-his

EV เพื่อนรัก ใคร(ไม่)รัก...โลกรัก

EV คือ รถยนต์ที่ใช้พลังงานจากไฟฟ้า 100% ภาษาอังกฤษเรียกว่า Electric Vehicle เรียกสั้น ๆ ว่า EV (อีวี) เป็นนวัตกรรมที่พัฒนา เพื่อให้สามารถใช้พลังงานไฟฟ้าในการขับเคลื่อนรถ หลายคนเลือกใช้ รถยนต์ไฟฟ้า (EV) เพราะประหยัดค่าน้ำมัน รัฐบาลหลาย ๆ ประเทศ ได้สนับสนุนรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ไม่ว่าจะเป็น สหรัฐอเมริกา นอร์เวย์ จีน เยอรมนี หรือ อังกฤษ ซึ่งปัจจุบันเป็นประเทศที่มีผู้ใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้าอยู่ และพยายามที่จะผลักดันนโยบายให้รถยนต์ไฟฟ้า กลายเป็นรถยนต์แห่งอนาคตที่ทั้งโลกจะหันมาใช้ แต่สำหรับประเทศไทย ก็จะถูกกดดันให้ต้องเปลี่ยนมาใช้รถยนต์ไฟฟ้า (EV) แทนที่ รถยนต์ที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงเผาไหม้ ไม่ว่าไทยจะพร้อมหรือไม่พร้อมก็ตาม...

EV เพื่อนรัก ก็คงเป็นเพราะว่า รถยนต์ไฟฟ้า (EV) ‘ประหยัดค่าใช้จ่าย’ (พูดถึงหลังจากที่ซื้อรถยนต์ไฟฟ้าแล้ว) สิ่งที่น่าสนใจอย่างแรกของรถยนต์ไฟฟ้าคือ ‘ไม่ต้องใช้น้ำมัน’ แต่เป็นการ ‘ชาร์จไฟฟ้า’ แทน

ไม่ต้องใช้น้ำมัน... เราจะใช้รถยนต์แบบไม่ต้องเติมน้ำมันเชื่อเพลิงอีกต่อไป ถ้าราคาน้ำมันเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 3 บาทต่อกิโลเมตร ขณะที่เราจะเสียค่าไฟครั้งละ 90 - 150 บาท ต่อการชาร์จหนึ่งครั้ง เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 0.60 - 1 บาทต่อกิโลเมตร เห็นได้ว่าประหยัดค่าน้ำมันเชื้อเพลิงไปได้มากกว่า 2 - 3 เท่า โดยขณะที่ราคาน้ำมัน มีราคาผันผวนตามตลาดโลก

ชาร์จไฟฟ้า... เป็นรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ โดยใช้พลังงานไฟฟ้าซึ่งเก็บอยู่ในแบตเตอรี่ ปรียบเทียบง่าย ๆ เหมือนเรามีโทรศัพท์มือถือ จะใช้งานได้ ก็แค่ชาร์จแบตโทรศัพท์เท่านั้น จากนั้นพลังงานก็จะถูกเก็บไว้ที่แบตเตอรี่ของตัวเครื่อง สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า (EV) เรียกว่าแบตเตอรี่ ‘ลิเธียมไอออน’ ซึ่งเก็บพลังงานไฟฟ้าได้มากกว่าแบตเตอรี่ชนิดอื่น ๆ ง่ายดีไหม

ใครไม่รัก...

ไม่รัก

ไม่รัก = ทว่าการเดินทางไกลเกินกว่า 300 กิโลเมตร หรือเดินทางไกลไปต่างจังหวัด ก็ยังไม่สามารถทำได้โดยการชาร์จเพียงครั้งเดียว บางคันใช้เวลาชาร์จประมาณ 4 ชั่วโมง แต่วิ่งได้แค่ 30 กิโลเมตร บางคันใช้เวลาชาร์จ 8 ชั่วโมง แต่สามารถวิ่งได้ไกลถึง 480 กม. ต่างจากการเติมน้ำมันใช้เวลาแค่นิดเดียว

ไม่รัก = สถานีชาร์จไฟยังไม่ครอบคลุมทุกพื้นที่ เพราะรถยนต์ไฟฟ้าในไทยไม่ได้มีมาก สถานีชาร์จก็ไม่ได้มากมายตาม ก็จะสร้างมามากให้ใครใช้ และในการสร้างก็ใช้งบประมาณที่สูงมาก

ไม่รัก = ราคารถไฟฟ้าที่ยังแพงกว่ารถน้ำมัน ส่วนนี้คงเป็นที่น่าหนักใจที่สุดในเรื่องของราคาที่สูงมาก ยกตัวอย่าง รถยนต์ไฟฟ้าของอเมริกาอย่าง ‘Tesla Model S’ มีราคาสูงถึง 2.4 ล้านบาท ซึ่งราคานี้ยังไม่รวมภาษีนำเข้าหากนำมาขายในประเทศไทย ซึ่งราคาไม่ต่างจากรถยนต์หรู และไม่ต้องพูดถึง รถค่ายตลาดทั่วไป Nissan Leaf ราคาเริ่มต้นในสหรัฐฯ ก็ยังสูงถึง 1 ล้านบาท สิ่งนี้ เลยส่งผลให้จำนวนผู้ซื้อน้อยตามลงไป ก็เป็นไปตามกลไกการตลาดเลย เมื่อความต้องการจากผู้ซื้อน้อย การผลิตก็น้อย แต่ทำให้ราคายังก็ยังสูงอยู่

โลกรัก...โลกถูกใจสิ่งนี้มากที่สุด ซึ่งรถยนต์ไฟฟ้า (EV) เป็นมิตรต่อโลกหรือสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริง เพราะลดมลภาวะที่เกิดจากการเผาไหม้ของเชื้อเพลิง

ระยะทาง 1 ไมล์ ของรถยนต์ปกติ สามารถสร้าง คาร์บอนออกมาได้ 174 กรัม

ระยะทาง 1 ไมล์ ของรถยนต์ไฟฟ้า สามารถสร้าง คาร์บอนออกมาได้ 381 กรัม

ส่วนต่างอยู่ที่ 207 กรัม หรือ รถยนต์ไฟฟ้าสามารถลดการปล่อยคาร์บอน ได้ถึง 54 %

คิดดูว่า ถ้ามีรถยนต์ไฟฟ้าวิ่งในไทยมากกว่า 100,000 คัน โดยรถแต่ล่ะคันวิ่งเฉลี่ยที่ 10,000 ไมล์ หรือ 16,000 กิโลเมตร ก็จะลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึงปีล่ะ 2 แสนตัน

ตรงนี้อยู่ที่ว่าใครจะคำนึงถึงโลกมากแค่ไหน... ซึ่งอเมริกามีรถยนต์ไฟฟ้ามากกว่า 1 ล้านคันแล้ว

ถ้ามีกำลัง ส่วนตัวว่ามันก็น่าลงทุนนะ สมมติเราซื้อรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่ราคาสูง ถ้าใช้ไปอีก 5 - 10 ปี ข้างหน้า เทียบกับรถน้ำมัน แล้วใช้ในระยะยาว ก็ประหยัดกว่าค่าน้ำมันที่เสียไปอีก ว่าไหม หรือไม่ดีราคารถยนต์ไฟฟ้า (EV) อาจจะสามารถลดลงได้อีกในอนาคต…

ลำบากวันนี้... สบายวันหน้า แต่ถ้าวันข้างหน้า หันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้ากันหมด การผลิตน้ำในเชื้อเพลิงน้อยลงหรือไม่มีแล้ว เป็นไปได้หรือไม่ ที่อัตราค่าไฟอาจจะคิดเพิ่มไปอีกหน่วยละเท่าไหร่... ตรงนี้ ก็มาคิดดูอีกที


สนับสนุนโดย : รับข้อเสนอพิเศษมอเตอร์โชว์ ในงาน Mazda Motor Show สัมผัสปิกอัพใหม่ All-New Mazda BT-50 และยนตรกรรมสกายแอคทีฟจากมาสด้า ดอกเบี้ยต่ำสุด 0%* รับประกันคุณภาพรถสูงสุด 5 ปี* และบัตรเติมน้ำมัน 10,000 บ.* 24 มี.ค. 64 - 4 เม.ย. 64 ที่บูธและโชว์รูมทั่วประเทศ

เมื่อ Eco-Friendly กลายเป็นกระแสหลักของโลก

เมื่อ Eco-Friendly กลายเป็นกระแสหลักของโลก และส่งผลให้เกิดคลื่นแห่งการรักษ์สิ่งแวดล้อมไปในทุกมิติ ทุกวงการ แน่นอนรวมไปถึงวงการยานยนต์ ซึ่งถือได้ว่าเป็นอีกหนึ่งสาเหตุหลักในการสร้างมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม ผนวกกับความผันผวนของราคาน้ำมันในศตวรรษนี้ การพัฒนารถยนต์ที่มลพิษต่ำและสามารถใช้เชื้อเพลงทางเลือกจึงเกิดขึ้นอย่างแพร่หลายและต่อเนื่อง กลายมาเป็นรถยนต์ Hybrid Electric Vehicle (HEV) และ Trend ของยานยนต์ที่ได้รับการกล่าวถึงเป็นวงกว้างในปัจจุบันนี้อย่าง Electric Vehicle (EV) รถยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้า 100 %

ข้อดีของรถยนต์ EV หากจำแนกออกมานั้นมีความน่าสนใจหลายเรื่อง เริ่มต้นจากความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริงเพราะใช้พลังงานไฟฟ้าในการขับเคลื่อนจาก Battery ไปสู่ Motor เมื่อพลังงานหมดก็สามารถชาร์ทใหม่ได้ ไม่จำเป็นต้องมาสนใจกับความผันผวนของราคาน้ำมันเพราะค่าไฟฟ้านั้นค่อนข้างคงที่ การทำงานของเครื่องยนต์ก็เงียบเนื่องจากกลไกการขับเคลื่อนไม่มีการจุดระเบิดเพื่อการเผาไหม้ แรงม้าและแรงบิดก็ตอบสนองได้ไวกว่า การบำรุงรักษานั้นก็ง่ายเพราะมีการออกแบบระบบให้ถูกใช้ซ้ำ ๆ แม้จะมีการชาร์จบ่อยครั้ง ก็ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการเสื่อมสภาพของ Battery

ทั้งเรื่องของเครื่องยนต์ที่มีอัตราสึกหรอต่ำ อะไหล่แต่ละชิ้นมีอายุการใช้งานที่ยาวนาน ทั้งยังพัฒนาระบบสมองกลอัจฉริยะที่เชื่อมต่อข้อมูลและสั่งการด้วยการใช้ Mobile Phone หรือ Smart Tablet ปิดท้ายด้วยความหลากหลายของ Brand ผู้ผลิตที่มีอยู่อย่างมากมาย จาก Brand ระดับ Luxury อย่าง Porsche, Mercedes Benz, BMW, MINI หรือจากเจ้าพ่อรถ EV อย่าง Tesla ที่แรงสมใจขาแรง หากอยากได้ Brand จาก Asia อย่าง Nissan, Mitsubishi , BYD ก็มีให้เลือกมากมาย

แต่กระนั้นรถยนต์ EV ก็มีข้อสังเกตอีกพอสมควรว่ามันเหมาะที่จะใช้ในชีวิตประจำวันจริงหรือ ? เริ่มต้นด้วยราคาของรถ EV ที่ยังค่อนข้างสูงหากเทียบกับรถที่ใช้ทั่วไป แม้ราคาจะถูกลงกว่าเดิมมากก็ตาม Battery ที่ซึ่งเป็นส่วนประกอบที่แพงที่สุดชิ้นหนึ่งของรถยนต์ไฟฟ้า หากเสียหายสนนราคาการเปลี่ยนอยู่ที่ 300,000 - 500,000 บ. โดยประมาณ ระยะการเดินทางที่จำกัดเนื่องจากการชาร์จ Battery หนึ่งครั้งจะสามารถวิ่งได้ระยะทางประมาณ 300 - 400 กม. เท่านั้น จึงเหมาะสำหรับการใช้งานในเมือง

ส่วนการเดินทางระยะไกลนั้นต้องวางแผนให้ดี ถ้าจำเพาะมาที่ประเทศไทยสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าในปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 570 แห่งหัวจ่ายประมาณ 1,800 แห่ง ก็ยังไม่สามารถรองรับการใช้งานได้อย่างทั่วถึง ยังไม่รวมไปถึงการชาร์จที่ค่อนข้างถี่และการติดตั้งแท่นชาร์จที่บ้านก็มีค่าใช้จ่ายพอสมควร

วันนี้รถยนต์ EV ในประเทศไทยมีอัตราเติบโตประมาณ 2% หากจะผลักดันรถยนต์ EV ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืนก็คงไม่พ้นหน้าที่ของภาครัฐที่ต้องสนับสนุนในหลายมิติอย่างที่หลายประเทศดำเนินการ โดยอาจจะเริ่มต้นจากลดภาษีซื้อเพื่อสร้างแรงจูงใจ งดภาษีหรือลดภาษีรถยนต์ไฟฟ้าประจำปี อุดหนุนเม็ดเงิน

ลงไปในตลาดเพื่อให้รถ EV ราคาถูกลง หรือง่ายต่อการเปลี่ยนรถยนต์ของผู้บริโภคปัจจุบัน ทั้งยังต้องผลักดันให้ยานพาหนะของภาครัฐมาใช้รถยนต์ EV อย่างเป็นรูปธรรม พร้อมร่วมมือกับเอกชนเพื่อกำหนดแผนกลยุทธ์ระยะยาว ส่งเสริมการผลิต Battery เพื่อรถ EV ในประเทศให้มากขึ้นและสร้างฐานการผลิตรตยนต์ EV ในประเทศอย่างจริงจัง และตอบโจทย์การสร้างสถานีชาร์จไฟที่รองรับอย่างเพียงพอ หากการคาดการณ์ของกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย .

ซึ่งคาดว่าในปี 2564 นี้รถ EV ในประเทศไทยจะมียอดซื้ออยู่ไม่ต่ำกว่า 6,000 คันรวมกับที่จดทะเบียนไว้ก่อนหน้าในปี 2563 ประมาณ 3,000 คัน ทั้งนี้ยังไม่รวมรถ Plug-in Hybrid ที่มาแชร์การชาร์จด้วย การจะสนองตอบต่อการใช้งานที่มากขึ้นจำเป็นต้องมีสถานีชาร์จไฟรองรับในระยะทาง 75 กิโลเมตรต่อ 1 สถานี ซึ่งประเทศไทยจะทำได้ไหม ? และการเอื้อต่อรถ EV จะเป็นการ Disrupt สถานีบริการน้ำมันที่ไม่พร้อมให้บริการชาร์จไฟไหม ? ซึ่งต้องยอมรับว่าปัจจุบันมีเพียง PTT ที่เริ่มขยับ นโยบายการผลิตรถยนต์ EV ไม่น่าจะยาก ที่ยากและน่าจะเป็นปัญหาระยะยาวคงเป็นเรื่องสถานีชาร์จไฟมากกว่า อ่านมาถึงตรงนี้แล้ว สนใจรถยนต์ EV สักคันไหม ?


สนับสนุนโดย : รับข้อเสนอพิเศษมอเตอร์โชว์ ในงาน Mazda Motor Show สัมผัสปิกอัพใหม่ All-New Mazda BT-50 และยนตรกรรมสกายแอคทีฟจากมาสด้า ดอกเบี้ยต่ำสุด 0%* รับประกันคุณภาพรถสูงสุด 5 ปี* และบัตรเติมน้ำมัน 10,000 บ.* 24 มี.ค. 64 - 4 เม.ย. 64 ที่บูธและโชว์รูมทั่วประเทศ


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top