Sunday, 15 December 2024
WeeklyIssue

กักตัว 14 วัน ทำไรดี ?

‘อยู่อย่างคนเหงาเหงา..อยู่กับความเดียวดาย..แม้ใครจะมองว่าทุกข์..แต่ฉันกลับสุขใจ’

ขอยกเพลง ‘อยู่อย่างเหงา ๆ’ ของ สิงโต นำโชค ให้เป็นบทเพลงที่แทนความในใจของเราได้ดีที่สุดในตอนนี้

ก่อนหน้านี้เราก็เคยอยู่อย่างคนเหงา ๆ ตามเนื้อเพลงจริง ๆ ในช่วงที่ไวรัสระบาดรอบสอง เดือนมกราคม 2564 เราไปเที่ยวเกาะกูดกับเพื่อน ๆ จังหวัดตราด ซึ่งตอนนั้นจังหวัดตราด ถือเป็นพื้นที่สีแดง พอเรากลับมาจากท่องเที่ยวเสร็จ ที่ทำงานของเราสั่งให้กักตัว 14 วัน นั่นเป็นการกักตัวครั้งแรกของเราเลย แต่เป็นการกักตัวที่ยังไม่ได้เตรียมความพร้อม เตรียมข้าวของ เตรียมใจ อะไรทั้งสิ้น อารมณ์แบบเที่ยววันนี้ พรุ่งนี้กักตัว

ตอนที่ทำงานประกาศให้ Work from home เพื่อกักตัว 14 วัน เรามีความคิดชั่ววูบนึง ว่ากักตัวก็ดีสิ ได้อยู่ห้อง อยู่บ้าน ไม่ต้องไปไหน ได้ใช้ชีวิตแบบ Slow Life ตามหนังที่เคยดู หรือตามมายาคติที่หลายๆ คนเคยบอก เราจะได้ลองทำมันในช่วงนี้แหละ

แต่ทำไมพอได้ลองกักตัวอยู่จริงถึงยิ่งเหงากันนะ ?

อย่างแรกเลย พอเราได้อยู่ห้อง และแน่ใจแล้วว่าจะต้องอยู่ห้องแน่ ๆ ไปอีก 14 วัน ไม่ต้องไปไหน ไม่ต้องรีบ ไม่ต้องแต่งตัว ความขี้เกียจก็จะเข้ามาครอบงำเราทันที อย่างเรา ช่วงกักตัวคือเป็นคนที่ใช้เตียงนอนได้คุ้มค่ามาก เราสามารถอยู่บนเตียงนอนได้ทั้งวัน นั่ง นอน เล่นเกม คอลกับเพื่อน ลุกออกจากเตียงแค่ไปห้องครัว และเข้าห้องน้ำเท่านั้น

อย่างที่สอง เราใช้ชีวิตเดิม ๆ ตื่นมาในห้องเดิม เตียงเดิม หมอนเดิม กิจวัตรเหมือนเดิม ทุกอย่างมันเดิมไปหมด พอถึงจังหวะนี้ เริ่มก็คิดถึงข้างนอก ยิ่งนั่งดูรูปที่เพิ่งไปเที่ยวมา ก็ยิ่งอยากเผชิญโลกอีกครั้ง ร้านสะดวกซื้อในซอยก็ยังดี

และอย่างที่สามที่เราคิดออกในตอนนี้ มันเป็นเพราะว่าเราไม่ได้เลือกเองว่าเราจะอยู่ตรงนี้ มันเป็นสภาพความจำยอมที่ต้องอยู่ เพื่อไม่แพร่เชื้อให้คนอื่น และให้คนอื่นมาแพร่เชื้อให้เรา เปรียบไปตอนเด็ก ๆ ที่เรารู้อยู่แล้วว่าเดี๋ยวเราต้องล้างจาน แต่พอแม่มากระตุ้นก่อนเวลาที่เราจะทำ เราจะไม่อยากทำเสียเฉย ๆ อารมณ์ประมาณว่า ถ้าอยากทำเดี๋ยวทำเอง ไม่ต้องบอก!

การกักตัวสำหรับเรา พอเข้าวันที่ 5 - 6 มันรู้สึกเฉื่อยมาก เวลาแต่ละวันกว่าจะผ่านไปคือนานมาก นอกจากทำงานที่ได้มอบหมายจากที่ทำงาน ในแต่ละวันเราไม่ได้อะไรเลย เราแค่ทำตัวเดิม ๆ อยู่กับกิจวัตรเดิม ๆ

จนมีวันนึง ที่เรานอนอยู่บนเตียงนิ่ง ๆ เราไม่มีอะไรทำเลย ไม่มีอารมณ์อยากเล่นโทรศัพท์ เล่นเกม ดูซีรีส์เลยแม้แต่นิด สิ่งที่เรานอกจากนอนมองเพดานห้อง แล้วเราก็ได้ตั้งคำถามกับตัวเอง แล้วทำไมเราถึงต้องใช้ชีวิตให้มันไม่สนุกด้วย

เราอยากใช้ชีวิตให้มันสนุกแล้วล่ะ

สิ่งแรกที่เราทำ คือทำความสะอาด และจัดห้องใหม่ ยกโต๊ะ ตู้ เตียง ย้ายที่ตามที่ใจเราอยาก ล้างแอร์ รวมไปถึงเปลี่ยนสีหลอดไฟ ทีแรกคิดว่าแค่หาอะไรทำฆ่าเวลา แต่พอจัดเสร็จมันกลายเป็นว่าเราได้เปลี่ยนบรรยากาศ เราได้ใช้พื้นที่ห้องในทุกมุมแล้ว จากปกติเราทำทุกอย่างอยู่บนเตียงนอน เราก็ได้โอกาสออกจากเตียงมานั่งโซฟา ดูโทรทัศน์ ออกไประเบียงรดน้ำต้นไม้ เลี้ยงปลาหน้าห้อง เรียกได้ว่าได้คราวใช้พื้นที่ห้องอย่างคุ้มค่าเสียที

พอจัดห้องเสร็จ สงสัยวิญญาณแม่บ้านเข้าสิง เราอยากทำอาหาร! เราเริ่มจากสั่งวัตถุดิบออนไลน์มาส่งที่คอนโด คิดว่าถึงคราวแล้วที่เราจะได้โชว์สกิลแม่ศรีเรือน พอทำจริง ๆ อาหารของเรากลายเป็นเมนูลดน้ำหนักได้ดีทีเดียว เพราะเราทำอะไรไม่อร่อยเลย นอกจากเมนูไข่ สุกี้ และบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป แต่ไม่รู้ทำไมเราก็ยังคงทำอาหารทานเองอยู่ทุกมื้อ อาจจะเพราะเราสนุก อ๋อ โอเค งั้นเอาสนุกก่อนแล้วกัน ความอร่อยค่อยพัฒนาตามมา

อีกอย่างที่เราทำเป็นประจำ คือ ร้องเพลง มีดนตรีในหัวใจ เราร้องหมดทุกแนว สากล ไทยสากล ลูกทุ่ง เพื่อชีวิต เราอินได้กับทุกเพลง เพลงไหนเศร้ามาก เรานั่งร้องไห้ เพลงไหนสนุกหน่อย เราเต้นเหมือนโคโยตี้เลย ร้องด้วยเสียงเพี้ยน ๆ ของเราเนี่ยแหละ โครตจะมีความสุข

อย่างเรา เราเป็นคนที่มีความสุขได้ง่ายมาก สถานการณ์โรคระบาดจึงมีผลกับเราน้อย เราไม่ชอบให้ตัวเองไม่มีความสุขด้วย เราเป็นคนที่มีความเชื่อว่าความทุกข์จะต้องอยู่กับเราไม่นาน หรือมีท่าทีว่าจะนาน ก็เป็นเราเนี่ยแหละที่จะทำให้มันหายไปเอง กักตัวเราก็จะสู้ เราจะอยู่รอด อย่างน้อยก็รอดจากความเครียด

ช่วงกักตัวถือเป็นโอกาสสำหรับเราที่ได้เรียนรู้ที่จะอยู่กับตัวเอง เราได้พูดคุยกับตัวเองมากขึ้น เรารู้ว่าเราต้องการอะไร ไม่ต้องการอะไร เรามีเป้าหมายในชีวิตใหม่ ได้รู้วิธีทำให้ตัวอย่างมีความสุข เราได้ทำเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่เราเคยอยากทำแต่พลัดวันไปเรื่อย ๆ จนหมด

เราแชร์วิธีการกักตัวให้มีความสุขฉบับของเรา มาเล่าให้ผู้อ่านฟังนะคะ เผื่อผู้อ่านจะลองนำวิธีของเราไปใช้ดู จริงอยู่ที่เราได้ทำหลาย ๆ อย่างในช่วงกักตัว แต่ให้เลือกได้ เราก็อยากทำทุกอย่างเองแบบอิสระ ไม่ต้องมีสถานการณ์โรคระบาดมาเป็นข้อกำหนดอยู่ดีแหละเนอะ แล้วผู้อ่านคิดว่ายังไงคะ ?


สนับสนุนข่าวโดย : แหล่งรวม "บทความและคอนเทนต์แปลกใหม่!!!" แบบไร้ Toxic ติดตามได้ที่ THE STATES TIMES Blockdit

คลิก : https://www.blockdit.com/pages/60583e7ff90e240c3e7f1c32

Self Home Quarantine​: กักตัวกับบ้าน​ มายาคติแห่งอิสรภาพ​ แต่บาปไปตกกับคนรอบตัว

ช่วงนี้เห็นกระแสบ่นถึง​ 'อิสรภาพ'​ ที่สูญหายจากการถูกกักตัวใน​ State​ Quarantine​ รูปแบบต่าง ๆ​ จากบรรดาผู้ติดเขื้อโควิด-19 ทั้งที่ต้องกักตัวในโรงพยาบาลทั่วไปหรือแม้แต่โรงพยาบาลสนามที่ต้องเปิดเพิ่มกันแทบทุกจังหวัด​

แต่ที่ทำให้ขุ่นมัวประสาทตานิดหน่อย​ คือ​ บางคนที่ต้องกักตัวดันชอบออกมาแชร์​ แอร์ไม่มี​ อาหารสุนัข​ไม่รับประทาน​ บริการไม่​ First​ Class

เฮ้ย!! รู้ไหมว่า​ ไอ้สิ่งที่ตัวคุณเป็นอยู่เนี่ย​ มองในเชิงกายภาพ​แล้ว​ มัน​เหมือน​'​ระเบิดเคลื่อนที่'​ ที่มีความอันตรายสูง​ จนคนเขาอี๋กันอยู่นะเว้ยเฮ้ย

อยากได้อิสรภาพ​ในวันที่ตัวเองติดโควิด-19 จนทำตัวเหมือนตนเองไม่รู้เดียงสา​ เล่นไฮโล​ โชว์ก้น​ เซลฟี่กันเพลิดเพลินในที่กักกัน​ โดยมิได้สำเหนียกว่าตนเองอยู่ในสถานะอะไร​ (ผู้ป่วย)​ ก็อย่าทะลึ่งการ์ดตกกันดิฟระ!!

14​ วันในการกักตัว​ของผู้ติดเชื้อ​ มันน่าอึดอัด​ มันไม่อิสระ​ มันไม่สามารถทำอะไรตามใจนึกได้ อันนี้เข้าใจดี แต่มันไม่มีวิธีไหน​ดีสุดเท่ากับการยึดมั่นในวินัยที่ตัวผู้ติดเชื้อต้องแบกรับ​นะฮิ...

เพราะหัวใจของการควบคุมโควิด-19 ในกลุ่มคนที่ติดเชื้อแล้ว​ มันมีความหมาย​ ต่อทั้งตัวคุณเอง​ ว่า​ 14​ วันนี้จะรุนแรงจนแดดิ้นดับ​ หรือจะได้กลับไปสู่อ้อมอกครอบครัว​ หรือสังคมหรรษาที่จากมา

เอาล่ะ!! ที่ว่ามาทั้งหมด​ ขอจบในกรณีผู้ที่ติดเชื้อ​แล้วต้องถูกเฝ้าดูอาการ...

แต่เนื่องจากโรคนี้ 80% มักไม่มีอาการหรือมีอาการเพียงเล็กน้อย ทำให้ยากที่จะรู้ ครั้นจะจับคนมาสวนจมูกตรวจเชื้อ​ ก็ดูจะสิ้นเปลืองทรัพยากรมาก และถึงผลการตรวจจะบอกว่า Negative หรือไม่พบเชื้อ ก็ยังไม่อาจไว้ใจได้ และต้องกักตัว 14 วันอยู่ดี

มันก็เลยเป็นที่มาของ​คนอีกกลุ่มที่เรียกว่า 'กลุ่มเสี่ยง'​ ซึ่งต้องมีการกักตัว 14 วัน​ แบบ 'เฝ้าระวัง'​ เพื่อดูความเคลื่อนไหวของโรค

อย่างไรซะ​ การกักตัว 14 วันแบบเฝ้าระวังของกลุ่มเสี่ยง ก็มีรูปแบบให้เลือกอยู่​ 2​ แนวทาง​ได้แก่...

1.)​ การกักตัวแบบ​ State Quarntine ซึ่งจะสร้างความมั่นใจให้กับสังคมได้มากกว่า​ เพราะไม่ว่าคุณจะเป็นหรือไม่เป็น​ คนรอบข้างจะไม่เจอผลกระทบ แต่ก็มีราคาที่ต้องจ่ายในระดับหนึ่ง​ รวมถึง ราคาแห่งเสรีภาพที่ผู้ถูกกักต้องสูญเสียไปใน

สถานที่กักตัวที่เป็น State Quarantine นั้น ๆ​ เพราะต้องกักตัวในห้องเดี่ยว ไม่เอาไปนอนรวมกันกับห้องสองคนสามคน​ ที่หากมี 1 คนติดเชื้อคนที่เหลือก็จะติดเชื้อไปด้วย

กลุ่มเสี่ยงที่กลับจากต่างประเทศ หรือกลับจากเมืองและแหล่งเสี่ยงหนักมาก​ จึงมักถูกดูแลกักตัว 14 วันโดยรัฐก่อนกลับสู่ชุมชน หากเสี่ยงน้อยก็สามารถให้กลับบ้านไปกักตัวเองที่บ้านได้ แต่ต้องมีระบบการติดตามเยี่ยมหรือเฝ้าระวังจากคนในชุมชน​ (ส่วนใครที่มีเชื้อจะต้องมาแจ้งเพื่อแยกกักตัวจากทางบ้านโดยอัตโนมัติ​ ห้ามปิดบัง​ เพราะมีความผิด)​

2.) การกักตนเองที่บ้านหรือ Self Home Quarantine เป็นอิสรภาพที่หลายคนที่ผ่านพ้นพื้นที่เสี่ยงมามักแสวงหา​ เพราะมันก็คือการกลับมาบ้านของ​ตนเอง​ ซึ่งสะดวกและมีความสุขในมุมผู้ถูกตีตราให้กักตัว

แต่ทราบหรือไม่ว่า​ ในความเป็นจริงแล้ว​ การกักตัวที่บ้านก็ต้องมีวินัย และต้องเป็นคนพอมีอันจะกินด้วยถึงจะทำให้การกักตัวมีประสิทธิภาพ

ฟังแล้วแปลก ๆ​ และทำไมถึงเป็นเช่นนั้น ?

เพราะปัจจัยทางสังคมและเศรษฐกิจของคนแต่ละคนไม่เหมือนกัน

เคยมีแพทย์อินเดียท่านหนึ่งได้เสนอบทความว่า Home quarantine is priviledge หรือ​ การกักตัวที่บ้านนั้น​ เหมาะแก่​ กลุ่มอภิสิทธิ์ชน ที่สุด​ หมายความว่า เขาต้องมีบ้านหลังใหญ่พอ มีห้องนอนมากพอ มีคนดูแลส่งข้าวส่งน้ำ มีเงินออมที่ไม่ต้องทำงาน 14 วัน​ก็มีข้าวกิน เป็นต้น

ซึ่งชีวิตคนส่วนใหญ่​ มันก็มักจะสวนทางกับสิ่งที่เขาว่ามาทั้งนั้น​ และนั่นก็ยากที่จะทำให้การกักตัวเป็นไปอย่างมีประสิทธิผล

ในประเทศไทย​เอง​ ก็สะท้อนปัญหาด้านความพร้อมของการกักตัวที่บ้านได้ชัด​ โดยผ่านประสบการณ์​ของ​ นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ​ ผู้อำนวยการ​ โรงพยาบาล​ จะนะ จังหวัดสงขลา​ ทึ่เคยแชร์ให้ฟังว่า...

"ผมมีประสบการณ์ตรงเกี่ยวกับเรื่องนี้​ โดยผู้ใหญ่บ้านโทรมาปรึกษาว่า มีคนกลับจากมาเลเซีย และเขาเข้าใจว่าต้องกักตัวเอง 14 วัน

"แต่บังเอิญบ้านเขาเล็กมาก แถมดันอยู่เป็นครอบครัวใหญ่ ญาติพี่น้องก็ยากจน ไม่รู้จะทำอย่างไร ให้มากักตัวที่โรงพยาบาลได้ไหม ?

"ผมก็ตอบไปว่า หากป่วยติดเชื้อ มากักที่โรงพยาบาลได้ แต่หากเป็นการเฝ้าระวังเช่นนี้ ก็ต้องให้ผู้ใหญ่เป็นธุระในการจัดการ ซึ่งจะใช้โรงเรียน ใช้กุฏิร้าง ได้ไหม ผู้ใหญ่ต้องปรึกษากันเองในหมู่บ้าน"

จากตัวอย่างนี้​ ลองนึกภาพดูว่า​ ถ้าคุณเกิดติด​เชื้อโควิด-19​ ในช่วงเฝ้าระวังขึ้นมาบนพื้นฐานครอบครัวราว ๆ​ นี้ โอกาสที่คนในครอบครัวจะติดจากคุณ​ จะเกิดขึ้นได้หรือไม่ ? ยิ่งถ้าคนในบ้านเกิดมีผู้สูงอายุอยู่ด้วยจะเป็นอย่างไร ? เพราะหากย้อนดูข้อมูลจากกองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขแล้ว​ จะพบว่า​ ที่ผ่านมากลุ่มผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 เป็นผู้ป่วยที่มีอายุมาก คิดเป็นค่าเฉลี่ยประมาณ 50% ของคนสูงอายุที่เกิน 70 ปี ขึ้นไป​ทั้งสิ้น

ฉะนั้นหากมองภาพความเป็นจริงของสังคมไทย​ หรืออาจจะสังคมอื่น ๆ​ คนที่มีศักยภาพพอที่จะกักตัวได้แบบไม่สร้างภาระหรือนำโรคไปแพร่ให้คนในครอบครัวได้​ 'มันน้อย'​ ก่อนหน้านี้คนเขียนก็เจอกับตัวมาแล้ว​ เพราะบ้านเพื่อนติดกันทั้งบ้าน​จากการกักตัว​เอง​แบบเฝ้าระวัง แต่มีข้อจำกัดของการใช้พื้นที่ร่วมในบ้านและวินัยที่ต่ำ​ จนคนในบ้านร่วม​ 5​ ชีวิตตั้งแต่เด็กยันแก่​ ติดโควิดกันถ้วนหน้า​

อย่าปล่อยให้พวกเขาต้องมาเจ็บและเสียชีวิตจากโควิด-19 เพียงเพราะคำว่าอิสรภาพโง่ ๆ​ ที่มักนำพาวินัยต่ำ ๆ​ มาสู่ตน​ ภายใต้การการ์ดตก​ของตัวเอง...ว่าแล้วโบกหัวตัวเอง​ 10​ ที​ ปฏิบัติด่วน!!

อ่ะ​!! บ่นไปเยอะ​ เอาเป็นว่าใครที่อยู่คนเดียว การกักตัวเฝ้าระวัง 14 วันที่บ้านไม่ใช่เรื่องยาก แต่หากใครต้องอยู่บ้านกับครอบครัวที่อยู่กันหลายชีวิต​ อยากให้เคร่งครัดกับวินัยตามนี้...

1.) ที่วัดอุณหภูมิร่างกาย ที่ปกติแล้วอุณหภูมิในร่างกายไม่ควรเกิน 37.5 องศาเซลเซียส ซึ่งข้อนี้ใครกักตัว 14 วันที่บ้าน และอยู่บ้านคนเดียวก็ต้องมีไว้ เพื่อเช็กอาการของตัวเองเป็นระยะ ๆ

2.) ล้างมือด้วยสบู่ หรือเจลแอลกอฮอล์บ่อยๆ อยู่คนเดียวก็ต้องปฏิบัติข้อนี้เช่นกัน

3.) หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดกับคนในบ้าน มีระยะห่าง 1-2 เมตร โดยเฉพาะผู้สูงอายุ และคนในบ้านที่มีโรคประจำตัว

4.) แยกห้องนอน เป็นห้องพักที่โปร่ง อากาศถ่ายเท แสงแดดเข้าถึง

5.) แยกห้องน้ำ หากแยกไม่ได้ ให้ใช้เป็นคนสุดท้าย ทำความสะอาดทันที ปิดฝาก่อนชักโครกทุกครั้ง จุดเสี่ยงที่สำคัญคือ โถส้วม อ่างล้างมือ ก๊อกน้ำ ลูกบิดประตู

6.) แยกของใช้ส่วนตัว จาน ชาม แก้วน้ำ เสื้อผ้า ผ้าห่ม ผ้าเช็ดตัว และแยกทำความสะอาด

7.) แยกรับประทานอาหาร ตักแบ่งมาต่างหาก ล้างด้วยน้ำยาล้างจาน ผึ่งแห้ง ตากแดด

8.) แยกขยะที่มีสารคัดหลั่ง น้ำมูก น้ำลาย เช่นหน้ากากอนามัย ทิชชู เพราะเป็นขยะติดเชื้อ ใส่ถุงขยะ 2 ชั้น ราดด้วยสารฟอกขาว มัดปากถุงให้แน่นก่อนนำไปทิ้ง กรณีนี้สำคัญมากรวมถึงคนที่กักตัว 14 วันที่บ้าน ที่กักตัวอยู่คนเดียวก็ต้องทำด้วยเช่นกัน เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อออกไปสู่คนอื่น

9.) สวมหน้ากากอนามัย โดยเฉพาะเมื่อต้องพบปะคนอื่น และต้องอยู่ห่างกัน 1 - 2 เมตร

10.) ทั้งคนที่กักตัว 14 วันที่บ้านคนเดียว และอยู่บ้าน ก็ต้องงดกิจกรรมนอกบ้าน หยุดงาน หยุดเรียน งดใช้รถสาธารณะ

นอกจากนี้คนในครอบครัวเองก็ต้องระมัดระวังตัวเองด้วย โดยต้องล้างมือบ่อยๆ ระวังจุดเสี่ยงสัมผัสต่างๆ แยกใช้สิ่งของร่วมกัน

ส่วนพวกที่อยู่คอนโด แม้อยู่คนเดียว ก็ต้องเน้นเรื่องการแยกขยะฆ่าเชื้อ ใส่ถุงขยะ 2 ชั้น มัดปากถุงให้แน่นก่อนทิ้ง งดใช้บริการของส่วนกลาง เช่น สระว่ายน้ำ, ฟิตเนส

ส่วนการเริ่มนับวันกักตัวจำนวน 14 วันที่บ้าน​ จะต้องนับจากวันไหนนั้น ขอให้เริ่มนับจากวันที่เจอผู้ติดเชื้อโควิดวันสุดท้าย เช่น หากเจอเพื่อนที่เป็นโควิดวันที่ 1 เมษายน ซึ่งยังไม่แสดงอาการ จนกระทั่งยืนยันว่าพบเชื้อวันที่ 4 เมษายน ก็ให้นับตั้งแต่วันที่เจอคือ 1 เมษายน​ และต่อไปอีก 14 วันเลย

อย่างไรเสียคนที่ยอมกักตัวเองอย่างมีวินัย ยอมทิ้งอิสรภาพบางประการ​ พร้อมทำตัวเหมือนคนไข้คนหนึ่งที่เต็มไปด้วยความรับผิดชอบและเชื่อฟังตามแพทย์แนะนำ​ ควรได้รับความชื่นชม ไม่ไปรังเกียจเขา

เพราะเขาจะเป็น​ 'ฮีโร่'​ ได้​ทันที​ หากวินัยในช่วง 14 วันนั้น ส่งผลต่ออนาคตที่ภาคส่วนด้านสาธารณสุขควบคุมต่อได้โดยง่าย

.

ข้อมูลอ้างอิง:

https://www.thairath.co.th/lifestyle/life/2068084

https://www.chanahospital.go.th/content/

https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/873235


สนับสนุนข่าวโดย : แหล่งรวม "บทความและคอนเทนต์แปลกใหม่!!!" แบบไร้ Toxic ติดตามได้ที่ THE STATES TIMES Blockdit
คลิก : https://www.blockdit.com/pages/60583e7ff90e240c3e7f1c32

ถ้าต้องโดนกักตัวอยู่บ้าน 14 วัน เหล่าคนดังจะทำอะไร ‘ทิพย์...ทิพย์’ กันบ้าง?

ก่อนอื่น มิได้แช่งใครให้ต้องกักตัวนะครับ แฮ่! แต่อย่างที่ทราบกันดี ช่วงเวลานี้ ข้าศึก เอ้ย! พี่โควิด บุกกระหน่ำทำแฮททริคไปแล้ว 3 รอบ เล่นเอาประเทศไทย คนไทย ป่วนสุดอะไรสุด ณ ขณะนี้

จึงเป็นที่มาของการขอความร่วมมือจากทางการให้ ‘อยู่กับบ้าน’ หรือเรียกทางการสักหน่อย คือการกักตัวเอง อยู่กับที่ ไม่เคลื่อนตัวไปไหน จะเป็นการช่วยกันในยามนี้ ได้ดีที่สุด

เวลากักตัวอยู่บ้าน ถ้าทำงานไปด้วย เราเรียก ‘เวิร์ค ฟอร์ม โฮม’ บางคนจมอยู่หน้าจอดูซีรี่ย์ อันนี้เรียก ‘เน็ตฟลิกซ์ ฟอร์ม โฮม’ หรือบางคนจิ้มๆ ๆ ๆ ซื้อของบนมือถือ อันนี้เรียก ‘โชปี๊ ฟอร์ม โฮม’ (หรือใครจะเถียงว่า เป็นอาการ ‘ลาซาด้า ฟอร์ม โฮม’ อันนั้นก็สุดแท้)

เวลานี้ ไม่ว่าใคร ล้วนแต่ต้องกักตัวเองให้ปลอดภัย จะปลอดภัยกับตัวเอง หรือจะปลอดภัยกับคนอื่น ยังไงก็ควรต้องทำ แต่ไหน ๆ ก็เบื่อ ๆ เครียด ๆ กับบรรยากาศการระบาดของโควิด แถมยังต้องอยู่กับเหย้าเฝ้ากับเรือน งั้นเรามาลองตั้งโจทย์สนุก ๆ กันดีกว่า

ช่วงนี้ไปไหนไม่ได้ เห็นหลายคนใช้วิธีไปแบบทิพย์..ทิพย์ ถ้างั้นสมมตินะครับสมมติ ถ้าเหล่าคนดังระดับประเทศ ต้องโดนกักตัวอยู่บ้าน 14 วัน คิดว่าพวกเขา (น่าจะ) ทำอะไร ‘แบบทิพย์...ทิพย์’ กันบ้าง?

พริษฐ์ ชีวารักษ์ & ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล: สำหรับเพื่อนรักสายสามนิ้วคู่นี้ ตอนนี้ไม่ได้แค่กักตัว 14 วัน แต่ถูกควบคุมตัวมาเป็นเดือนแล้วล่ะ แฮ่! ทางเราขอแนะนำว่า ให้คุณเพนกวิน และคุณรุ้ง ลองทำกิจกรรม ‘ม็อบทิพย์’ เพื่อสร้างสีสันในยามกักตัว แก้เหงา หรือจะเพิ่มเอาอีกออพชั่นหนึ่ง ด้วยกิจกรรม ‘อิ่มทิพย์’ เพราะทราบข่าวว่า ทั้งสองท่านอดอาหารกันอยู่ Fighting!

ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ : ช่วงนี้ไม่ค่อยเห็นคุณเอก –ธนาธร ตามหน้าสื่อเสียเท่าไร ไม่แน่ใจกำลังกักตัวอยู่หรือเปล่า หรือว่ากำลังเตรียมโปรเจ็คต์ใหญ่ อันนี้ก็ไม่ทราบได้ แต่เอาเป็นว่า แนะนำกิจกรรมทิพย์ให้คุณเอกนิสนึง เป็น ‘วัคซีนทิพย์’ เพราะที่ผ่านมา คุณเอกเป็นหัวหอกด้านการวิพากษ์วิจารณ์การจัดหาวัคซีนของรัฐบาลมาตลอด ๆ ทั้งมาช้า มาน้อย มาได้ มาเสีย โอย...สารพัด คงต้องจัด ‘วัคซีนทิพย์’ ให้ไปเพื่อความฟิน อ๊อ! แต่ไม่แนะนำลูกพรรคก้าวไกล อาทิ คุณวิโรจน์ ลักขณาอดิศร นะครับ ท่านนี้ก้าวไกล ก้าวไว ก้าวก่อน ไปฉีดวัคซีนเรียบโร้ยยย แฮ่ะ ๆ

อนุทิน ชาญวีรกูล: อีกท่านที่แนะนำให้ลองกิจกรรม ‘วัคซีนทิพย์’ เพราะที่ผ่านมา ชุลมุนวุ่นวายกับการจัดหาวัคซีนมาตลอด ได้จินตนาการถึง ‘วัคซีนทิพย์’ เอาที่แบบมาสารพัดยี่ห้อไปเลย เผื่อ ส.ส.ฝ่ายค้านได้ฉีดกันให้ครบถ้วน จะไม่มีประโยคแทงม้าตัวเดียว เพราะงานนี้แทงม้าทั้งคอก เอาที่สบายใจกันไป

ปิยบุตร แสงกนกกุล : จารย์ครับ ทางเราขอแนะนำ ‘กฎหมายทิพย์’ เพราะอย่างที่แควน ๆ เอ้ย! แฟน ๆ ที่ติดตามผลงานอาจารย์ทราบดี อาจารย์ค่อนข้างหมกมุ่น เอ้ย! ใช้คำว่า อาจารย์ค่อนข้างแม่นยำเรื่องกฎหมายมากมาย และอาจารย์ก็อยากแก้กฎหมายนู่นนี่นั่นมากมายเช่นเดียวกัน ดังนั้น แนะนำกิจกรรม ‘กฎหมายทิพย์’ ในช่วงกักตัวอยู่บ้าน อาจารย์เขียนเลยครับ เขียนกฎหมายทิพย์กันให้หนำใจ

ทักษิณ ชินวัตร: สำหรับท่านนี้อาจจะอยู่นอกเมือง เอ้ย! เมืองนอก มาอย่างยาวนานนนนน แต่นี่เป็นเรื่องสมมตินะครับสมมติ สมติถ้าคุณโทนี่จะต้องกักตัวอยู่เฉย ๆ 14 วัน ทางเราก็ขอแนะนำ ‘เมืองไทยทิพย์’ ออกเสียงคล้าย ๆ อุทัยทิพย์ กินชื่นใจดับร้อน แต่สำหรับ ‘เมืองไทยทิพย์’ อันนี้เป็นกิจกรรมให้คุณโทนี่มโนถึงเมืองไทย ให้ชื่นใจคลายเหงา แฮ่! อยากไปเที่ยวไหน จัดเลยขอรับ!

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา: ปิดท้ายที่ ‘ลุงตู่’ นายกรัฐมนตรีประเทศไทย ในโลกความจริงลุงตู่มีภารกิจมากมาย คงยากที่จะได้กักตัว แต่สมมติถ้าได้กักตัว แนะนำกจิกรรม ‘สเปซทิพย์’ ชื่อแปลกหู ดูอินเตอร์ หรือจะเรียกเป็นไทยว่า ‘อวกาศทิพย์’ ก็ได้เช่นกัน ไม่มีที่ไหนจะสงบเงียบและสบายใจไปกว่าอวกาศอีกแล้ว จินตนาการเลยครับ ว่าได้ท่องไปในท่องอวกาศ ล่องลอยยยยย ล่องไปในอ๊าววะกาด! แนะนำให้โทรปรึกษาอีลอน มัสก์ เสียก่อนก็ได้ ถ้าไม่มั่นใจเรื่องการเดินทาง แฮ่!

ย้ำ! สมมตินะครับสมมติ ดังนั้น ขอจบแต่เพียงเท่านี้ ก่อนที่จะได้ไปประกอบกิจกรรม ‘ตะรางทิพย์’ ที่ไหนสักแห่ง แฮ่! ขออนุญาตบ้ายบาย สู้ตายนะพี่น้องชาวไทย เราจะผ่านโควิดไปด้วยกัน ปู๊น ๆ!!


สนับสนุนข่าวโดย : แหล่งรวม "บทความและคอนเทนต์แปลกใหม่!!!" แบบไร้ Toxic ติดตามได้ที่ THE STATES TIMES Blockdit

คลิก : https://www.blockdit.com/pages/60583e7ff90e240c3e7f1c32

ถอดสมการ ‘เฟกนิวส์’ ‘ทฤษฎีสมคบคิด + ข่าวปลอม’ ยกกำลังสองด้วย ‘โซเชียลมีเดีย’ = โกหกอย่างมีหลักการ

การที่เทคโนโลยีได้นำพาสิ่งที่เรียกว่า ‘โซเชียลมีเดีย’ ออกมาแนบชิดประชาคมโลก มันก็เป็นอะไรที่ช่วยเปิดหูเปิดตาคนได้เยอะ

ข่าวสารมากมาย ความรู้หลากหลาย หาพบได้แค่ ‘นิ้วคลิก’ และ ‘ลากรูด’ ผ่านหน้าจอกะทัดรัดที่เรียกว่าสมาร์ทโฟน ซึ่งสามารถเชื่อมโลกทั้งใบให้เรา ‘รู้กว้าง’ ได้มากกว่าเคย

แต่อย่างว่าเหรียญย่อมมี 2 ด้าน (ถ้าไม่ทะลึ่งไปทำหัว 2 ฝั่ง ก้อย 2 ฝั่ง) เรื่องดี ๆ มีเพียบ แต่เรื่องอัปรีย์ก็มีเสียบแทรกเข้ามาให้เห็นได้พร้อม ๆ กัน

ข่าวปล่อย ข่าวปลอม ข่าวเท็จ หรือเรียกรวม ๆ กันว่า ‘เฟกนิวส์’ (Fake News) มันก็คือหนึ่งในสิ่งที่วนเวียนอยู่ในโลกโซเชียลมีเดียที่มาพร้อมกันกับโลกจริงแบบคู่ขนาน และดูท่าช่วงนี้จะหลุดออกมามาก ถึงขนาดที่ว่ากันว่าไฟลามทุ่ง ยังไม่รุ่งเท่าแสงแห่ง ‘เฟกนิวส์’ ที่ปล่อยกันในโลกโซเชียลยังไงยังงั้น!! 

เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องพูดเอาฮา เพราะเคยมีทีมวิจัยของมหาวิทยาลัย MITตีพิมพ์เรื่องราวเกี่ยวกับข่าวปลอมในปี 2018 โดยระบุว่า พบ ข่าวปลอม ที่ไม่ใช่เรื่องจริง แต่เป็นเพียงการลือถึง 126,000 โพสต์ แพร่กระจายไปในวงกว้างถึงผู้คนราว 3 ล้านคน และรีทวีตไปรวมมากกว่า 4.5 ล้านครั้ง ระหว่างปี 2006–2017 

ยิ่งไปกว่านั้นงานวิจัยชิ้นเดียวกันยังระบุด้วยว่า แค่ 1% ของเฟกนิวส์ สามารถแพร่กระจายเป็นวงกว้างไปสู่คนได้ตั้งแต่ 1,000 ถึง 100,000 คนต่อหนึ่งข่าว (แล้วแต่ข่าว) กันเลยทีเดียว

คำถาม คือ ทำไมผู้คนจึงเชื่อเฟกนิวส์?

ตรงนี้มี 2 ปัจจัยใหญ่ ๆ ให้ลองเช็ค...

ปัจจัยแรก หากพูดตามหลักการแล้ว ‘เฟกนิวส์’ เป็นสิ่งที่เล่นกลกับจิตใจคน เหตุเพราะทุกคนล้วนมีสิ่งที่เรียกว่า ‘การรับรู้อย่างมีอคติ’ (Cognitive Bias) ซ่อนอยู่ในตัว และการรับรู้ในลักษณะนี้นี่แหละ ที่มักจะนิยมชมชอบเนื้อหาที่กระตุ้นอารมณ์อย่างรุนแรง หรือแม้แต่สิ่งที่ทำให้ประหลาดใจ ตื่นกลัว เกลียดชัง ขยะแขยง ดูถูกดูหมิ่น ฯลฯ (รวม ๆ แล้วฝักใฝ่เรื่องแย่ ๆ ซะมาก)

...มันเป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่ชวนเชื่อได้ง่ายกับสิ่งเหล่านี้!!

และถ้ายิ่งเนื้อหานั้น ๆ ออกมาจากคนในครอบครัว เพื่อน ๆ หรือคนที่เราชื่นชม ผสมผสานไปกับความคิดเห็นหรือความเชื่อที่เรามีอยู่แล้วเป็นทุนเดิมด้วยล่ะก็...โอ้โห!! ความถูกผิดที่เคยสั่งสมมาในสมองนี่ถูกย่อยสลายเกลี้ยงได้เลย 

ยกตัวอย่างง่าย ๆ เลย หากเราเชื่อว่าผู้นำบางคนในต่างประเทศ (ประเทศไทยก็ได้) ชอบพูดอะไรที่ดูไม่เข้าท่าหรือไม่ฉลาด และบังเอิญดันมีคนไปแชร์คำพูดประหลาด ๆ จากคนเหล่านั้นมาผ่านตาเรา เราก็จะเชื่อง่ายเป็นพิเศษและรีบแชร์ต่ออย่างรวดเร็ว โดยจะตัดความคิดว่านี่คือข่าวปลอมไปจากหัว (ถามใจดูซิว่าเคยทำไหม)

ปัจจัยที่สอง เป็นเพราะคนยุคนี้ไม่ชอบเรื่องราว ‘ซับซ้อน’ และ ‘ขี้เกียจ’ ที่จะตามหาหรือสืบค้นต้นตอให้ยุ่งยาก 

เฮ้ย!! ขนาดนั้นเลยหรอ? 

ขนาดนั้นเลยแหละ!! ขนาดพอ ๆ กับที่เขาบอกกันว่าคนยุคนี้อ่านหนังสือไม่เกิน 8 บรรทัดยังไงยังงั้นนั่นแหละ 

เรื่องนี้ถ้ายกตัวอย่าง อยากจะพูดในเชิงเปรียบเทียบให้เห็นภาพสักนิด โดยย้อนไปถึงยุคที่ผู้คนส่วนใหญ่ มักจะรู้ว่าสื่อต้นตอข่าวที่ตัวเองรับข่าวสารมา ไม่ว่าจะเป็นหนังสือพิมพ์ นิตยสาร รายการวิทยุ และรายการโทรทัศน์ใดบ้างมีระดับความน่าเชื่อถือในระดับที่ไปบอกเล่าต่อได้

แต่บังเอิญทุกวันนี้ หลากหลายสื่อเล่นกันง่าย ๆ แค่ไปเอาเรื่องราวจากในโซเชียลมีเดีย เอาโพสต์จาก Facebook หรือ Twitter มาอ่านออกอากาศกันอย่างหน้าตาเฉย ราวกับอยากจะช่วยรับประกันว่า ข่าวพวกนั้นเชื่อถือได้ พอมันเป็นแบบนี้ เรื่องจริง เรื่องปลอม จึงปะปนกันมั่วซั่วไปหมด แล้วมันจะไปประสาอะไรกับคนที่อยู่ในโลกโซเชียลที่พบเจอเรื่องอะไรก็เชื่อไปโดยไม่หาต้นตอ ถ้าบังเอิญเรื่องนั้นมันจริง ก็ OK ไป แต่ถ้าไม่ใช่นี่สิ ฮ่วย!! หน้าแหก 

...และนี่แหละที่บ่งชี้ชัดว่า ‘จิตใจคน’ เอย ‘ความไม่ชอบซับซ้อน’ เอย และความ ‘ขี้เกียจ’ เอย เป็นตัวเร่งชั้นดีให้ข่าวปลอมเกิดได้อย่างรวดเร็ว 

ทฤษฎีสมคบคิด ส่วนผสมที่ลงตัวแห่ง ‘เฟกนิวส์’ ที่ทรงเสน่ห์

อย่างไรก็ตาม เฟกนิวส์ หรือ ข่าวปลอมที่ดี (เดี๋ยว ๆ มีด้วยเหรอ) มักจะมาจาก ‘ทฤษฎีสมคบคิด’ ที่บ้างก็เรียกว่า ‘ลัทธิการกบฏ’ (Conspiracy Theory) ซึ่งเป็นเรื่องเล่า บทความที่สร้างขึ้นมาจากความคิดของคน หรือกลุ่มคน โดยนำเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นมาปะติดปะต่อเข้าด้วยกัน มีข้อเท็จจริงประกอบอยู่เพียงเล็กน้อย กับทุกประเด็นทั้งการเมือง ศาสนา วัฒนธรรม กีฬา และอื่น ๆ 

แต่บอกไว้ก่อนว่าเรื่องเหล่านี้ นักวิชาการจะไม่นำมาใช้อ้างอิงหรอกนะฮะท่านผู้ชม!!

แต่ ๆ ๆ ถึงแม้จะไม่มีใครหยิบมาอ้างอิง ก็จะมีบางกลุ่มที่หยิบ ทฤษฎีสมคบคิดเหล่านี้ มาอ้างอิงให้เป็นข่าว (ปลอม) โดยพยายามปั้นทฤษฎีให้กลายเป็นข่าว แล้วดันข่าว (ปลอม) เหล่าให้คนในสังคมยอมรับว่าเป็น ‘เรื่องจริง’

ตรงนี้น่ากลัวกว่าข่าวปลอม จากแหล่งที่โกหกและแชร์ต่ออย่างไม่มีนัยยะแอบแฝงอย่างมาก 

เพราะต้องขอบอกว่า เฟกนิวส์ ที่มาจากทฤษฎีสมคบคิดเหล่านี้ มีความรุนแรงและพร้อมสร้างความแตกแยกให้กับผู้คนในสังคมได้ง่ายๆ เนื่องจากผู้เผยแพร่ส่วนใหญ่จะหวังผลในระดับสังคม ประเทศ การเมือง ศาสนา และวัฒนธรรม โดย ‘ยกระดับข่าวปลอม’ ด้วยข้อมูลเหตุผลช่วยประคอง ทำให้คนบางพวกที่มี ‘ขบถทางความคิด’ มักจะชอบและเลือกหยิบมาเผยแพร่ต่อได้ง่าย

เอาง่าย ๆ อย่างตอนนี้เรื่องที่ถูกจับมาเป็นข่าวปลอมเชิงทฤษฎีสมคบคิดบ่อยสุด มันก็จะวน ๆ กับเรื่องของโควิด-19 

ตัวอย่างแค่ใกล้ ๆ อย่างในประเทศไทยก็พอ เราคงได้เห็นข่าวปลอม ข่าวมั่วเกี่ยวกับโควิด ที่มีการให้เหตุผลเกี่ยวกับการดูแลร่างกาย การรักษาระยะห่าง วิธีใส่หน้ากาก หรือแม้แต่การฉีดวัคซีนแบบผิด ๆ มาปนเปื้อนใส่หัวคนแบบมีเหตุผลประกอบ แต่มีคนแชร์กันเพียบ ซึ่งหากมองผลลัพธ์ของมันแล้ว นอกจากจะทำให้เกิดการติดเชื้อแพร่หลาย ยังกระทบต่อความมั่นคงของรัฐบาล ที่สะท้อนถึงความห่วยไม่สามารถคุมสถานการณ์อยู่ก็เป็นได้

หรืออย่างทฤษฎีสมคบคิด ที่ถูกใช้ทางการเมืองระหว่างประเทศที่ใหญ่โตหน่อย ก็กรณีสหรัฐอเมริกากับจีนที่กล่าวหากันเรื่องที่มาของผู้แพร่ไวรัส ที่มองว่าผู้แพร่โรคนี้ต้องการใช้ไวรัสเป็นเครื่องมือบ่อนทำลายอีกฝ่ายหนึ่ง แต่เพราะหลักฐานไม่ชัดเจน ไม่หนักแน่นพอ สุดท้ายแนวคิดเหล่านี้ก็หายไป

อย่างไรก็ตาม ทฤษฎีสมคบคิดเกี่ยวกับโควิด-19 ก็ยังมีหลุดออกมาอีกมาก ถึงขนาดมีองค์กรที่ก่อตั้งขึ้นมาเพื่อเผยแพร่อย่างเป็นทางการ เช่น QAnon ที่สหรัฐอเมริกา กลุ่มขวาจัดที่มีการดำเนินการอย่างเป็นระบบ มีผู้ติดตามจำนวนไม่น้อย

เรื่องราวของกลุ่มนี้ สามารถจับนั่นโยงนี่ได้จนต้องเบ้ปากมองบน เช่น สร้างข่าวปลอมทฤษฎีสมคบคิดในยุโรปว่าเสา 5G เป็นสื่อกลางกระจายไวรัสโควิด-19 ในอังกฤษ และ เนเธอร์แลนด์ หรือบ้างก็พยายามเผยแพร่ให้เห็นว่าแผนการล้างโลกด้วยการปล่อยเชื้อโรคให้ระบาดอย่างร้ายแรงและรวดเร็ว 

แม้แต่ บิลล์ เกตส์ (Bill Gates) เจ้าพ่อ Microsoft ก็ยังโดน!! โดยมีการอ้างว่าโควิด-19 เป็นแผนของนายบิลล์ เกตส์ ที่หวังรวยจากการพัฒนาวัคซีนและยา ที่มูลนิธิของเขาให้การสนับสนุนหลายแห่ง โดยไม่เชื่อมโยงจากคำพูดในงาน TED Talk เมื่อปี 2015ที่เตือนเรื่องการระบาดของไวรัสที่ถูกเผยแพร่ออกมาก่อนหน้านี้ 

อันที่จริงแล้ว หลากหลายทฤษฎีสมคบคิด มักเป็นแนวคิดที่เกิดจากการ ‘สะสมอคติ’ แม้หลักฐานจะไม่น่าเชื่อถือในเชิงวิชาการ แต่ในเชิงหลักคิดที่มีอารมณ์นำพา มันตอบโจทย์!!  

ที่น่ากลัว คือ ‘ต่อให้มีใครมาบอกข้อมูลจริง ก็ไม่ได้ต้องการการพิสูจน์แล้ว’ เหมือนกับกรณีที่วันนี้ยังมีบางกลุ่มถกกันเรื่อง ‘โลกกลม VS โลกแบน’ อยู่ไม่เลิก

แน่นอนว่า ส่วนผสมที่ลงตัว ต้องพึ่งพาเครื่องมือที่พร้อมลงทัณฑ์ นั่นก็เลยย้อนกลับมาที่โซเชียลมีเดีย ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้ทฤษฎีสมคบคิดและข่าวปลอมกลายเป็น ‘เนื้อเดียวกัน’ แถมยังกระจายไปไกลและรวดเร็ว เกิดมีแอปพลิเคชัน มีแพลตฟอร์ม มีเว็บไซต์มากมายหลายร้อยที่ใช้เผยแพร่ แม้บรรดาเจ้าของเครื่องมือสื่อใหญ่อย่าง Facebook, Twitter, Line และ YouTube จะออกมาตรการควบคุม แต่ก็ไม่สามารถจัดการลบอะไรพวกนี้ได้หมด

ความบิดเบือนทางการเมือง ศาสนา สังคม วัฒนธรรม และอื่น ๆ ของ ‘เฟกนิวส์’ เหล่านี้ เป็นสิ่งที่ต่อยอดความเชื่อและความศรัทธา ได้มากกว่า ‘เหตุผล’ ไปเป็นที่เรียบร้อยในยุคที่สมการ ‘ทฤษฎีสมคบคิด + ข่าวปลอม ยกกำลังสองด้วย โซเชียลมีเดีย’ 

ใคร? ซึ่งในที่นี้ไม่ได้อยากระบุว่าเป็น คน, รัฐบาล หรือองค์กรใด ๆ ที่คิดว่าตนเองมี ‘ข่าวแท้’ อยู่ในมือ แต่กลับนิ่งเฉย จะไม่มีวันเอาชนะ ‘เฟกนิวส์’ เหล่านี้ได้ 

และถ้าหากแต่ปล่อยให้พลังของเฟกนิวส์ เกิดการทำซ้ำ ย้ำเรื่องปลอมเข้าไปเรื่อย ๆ โอกาสที่เรื่องปลอม ๆ จะกลายร่างเป็นเรื่องจริง จนถึงขั้นมาทดแทน ‘เรื่องที่แท้จริงแบบไม่บิดเบือน’ ก็มีสูง 

โกหกคำโต พูดง่ายๆ ซ้ำ ๆ สุดท้ายผู้คนก็จะเชื่อ!!

ธรรมชาติของมนุษย์มันก็จะประมาณนี้แหละ!!


อ้างอิง: 
https://siamrath.co.th/n/174018
https://www.the101.world/fake-news/
https://www.nytimes.com/2020/04/17/technology/bill-gates-virus-conspiracy-theories.html
 

ชัวร์ ก่อน แชร์ !! ‘ตระหนก & ตระหนัก’ ยุควิกฤติโรคระบาด ก่อนแชร์ให้ใคร!! เข้าใจ ‘ความจริง’ ดีหรือยัง?

เป็นเรื่องที่ดีมาก ๆ ที่วันนี้โลกโซเชียลมีเดีย ซึ่งมีหลากหลายแพลตฟอร์ม ได้ปล่อยข่าวสาร ข้อมูล หรือบทความต่าง ๆ ออกมาสู่สาธารณะชนมากมาย จนช่วยเปิดโลกให้ประชนอย่างเราได้รับรู้ถึงเหตุการณ์ เรื่องราวต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมได้อย่างรวดเร็วยิ่งกว่าจรวด

แต่จะมีใครรู้ไหมว่า เรื่องบางเรื่อง ข่าวสารบางอย่าง มันก็ไม่ได้เปิดโลกที่ดีให้กับเราทั้งหมด เพราะบางเรื่องราวก็พร้อมจะเป็นข่าวปลอม หรือ ‘Fake News’ ที่เล่นกับความสนใจของผู้คนในสังคมช่วงนั้น ๆ เพียงเพื่อโน้มน้าว ชักจูง เรียกยอดไลค์ ยอดแชร์ หรืออะไรก็ตามแต่ แพร่ลามไปมาก จนเริ่มแยกไม่ออกแล้วว่าระหว่าง ‘การแพร่กระจายข่าวปลอม’ กับ ‘การแพร่กระจายไวรัสโควิด-19’ อะไรที่จะกระจายเป็นวงกว้างไปมากกว่ากัน

ยิ่งในโลกโซเชียลด้วยแล้ว ยิ่งลุกลามหนักจนเกิดความเข้าใจผิดในหลากเรื่อง หลายประเด็น และที่แย่คือเจ้า ‘ไอ’ แห่งความเสียหายจากการที่เราแชร์ๆ กันออกไป มันไปถึงไหนต่อไหนแล้ว จนไปทำร้ายใครหรือไม่ ก็มิทราบได้... 

อย่างประเด็นข่าวปลอมเรื่องโควิด-19 นี่เรียกว่าเป็นประเด็นเท็จสุดคลาสสิคที่หนีไม่พ้นเอามาก ๆ

มากซะจนมีเรื่องมาให้รวบรวมไว้เพียบ จนต้องขอหยิบมาสร้างความกระจ่างกันอีกรอบแก่ผู้ที่อาจจะยังไม่กระจ่าง 

ฉะนั้นเพื่อให้ผู้อ่านได้เข้าใจกันแบบง่าย ๆ ก็เลยขออนุญาตพาไปแยกแยะว่าเรื่องไหนจริง หรือเรื่องไหนลวงในโลกโซเชียลกันดู แต่จะรับรู้กันธรรมดา ก็คงจะน่าเบื่อ!!

ลองมาปล่อยนิ้วเลือก ‘กด’ กับ 2 ปุ่มสัญลักษณ์ของความ ‘จริง-เท็จ’ อย่าง ‘ปุ่มตระหนก’ (แตกตื่น) และ ‘ปุ่มตระหนัก’ (แตกฉาน) กันสักนิด น่าจะสร้างแรงจดจำให้ผู้อ่านได้มากยิ่งขึ้น หากพร้อม ‘กดปุ่ม’ แล้วตามมาเลย...


ข่าวเท็จ: กินฟ้าทะลายโจรสามารถป้องกันโควิด-19 ได้

ปุ่มตระหนก : บนสังคมออนไลน์มีการแชร์ข้อมูลเกี่ยวกับการป้องกันโควิด-19 ด้วยฟ้าทลายโจรเป็นจำนวนมาก เนื่องจากคนไทยมีความหวาดกลัวติดเชื้อโควิด-19 มากขึ้นและต่อเนื่อง จึงได้พยายามติดตามข้อมูลจากสังคมออนไลน์ พบว่า สมุนไพร ฟ้าทะลายโจร มีสรรพคุณช่วยป้องกันโรคโควิด-19 ทำให้ประชาชนเริ่มเดินทางหาซื้อสมุนไพรฟ้าทะลายโจร ที่โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร อย่างต่อเนื่อง เพื่อหวังจะป้องกันความเสี่ยงจากโรคโควิด-19 ได้ 

ปุ่มตระหนัก : ข้อมูลไม่เป็นความจริง ภญ.ดร.ผกากรอง ขวัญข้าว หัวหน้าศูนย์หลักฐานเชิงประจักษ์ โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร โดย ภญ.ดร.ผกากรอง กล่าวยืนยันกรณีที่มีการแชร์ข้อมูลระบุว่าฟ้าทะลายโจรสามารถใช้เป็นทางเลือกแทนวัคซีนเพื่อป้องกันโควิด-19 ได้นั้น ไม่เป็นความจริง เพราะยังไม่มีการศึกษาวิจัยว่าการใช้ฟ้าทะลายโจรสามารถป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ได้ ที่ผ่านมาเป็นการศึกษาว่าฟ้าทะลายโจรมีผลต่อภูมิคุ้มกัน แต่ยังไม่มีการศึกษาว่ามีผลต่อภูมิคุ้มกันของเชื้อโควิด-19 ไม่เหมือนกับวัคซีนที่มีการศึกษาแล้ว เพราะฉะนั้นไม่ควรใช้ฟ้าทะลายโจรแทนวัคซีน

ข่าวเท็จ : ยาเขียว ใช้รักษาโควิด-19 ได้ ด้วยวิธีขับไวรัสออกทางเหงื่อ และปัสสาวะ

ปุ่มตระหนก : บนสังคมออนไลน์มีการแชร์คลิปเสียง พร้อมบอกว่า เป็นเสียงของคณบดีศิริราช ที่แนะนำว่าให้กิน “ยาเขียว” เพื่อขับพิษโควิด-19 ได้ ด้วยวิธีขับไวรัสออกทางเหงื่อ และปัสสาวะ โดยให้รับประทานยาเขียวเพื่อทำให้เกิดความร้อนในร่างกาย เมื่อร่างกายเกิดความร้อนก็จะมีการขับเหงื่อและปัสสาวะออกมาซึ่งเชื้อไวรัส จะออกมาด้วยกับเหงื่อและน้ำปัสสาวะ 

ปุ่มตระหนัก : ข้อมูลไม่เป็นความจริง เสียงดังกล่าวไม่ใช่เสียงของคณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราช และปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลด้านประสิทธิผล และความปลอดภัยในผู้ป่วยโรคโควิด-19 ดังนั้น จึงยังไม่สามารถกล่าวได้ว่าการกินยาเขียว สามารถใช้รักษาโรค โควิด-19 ได้ โดยทางคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ได้ชี้แจงว่า เสียงดังกล่าวไม่ใช่เสียงของคณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และข่าวนี้เป็นข่าวเก่าที่เคยมีการส่งต่อแล้ว โดยยาเขียวเป็นตำรับยาไทย ตามองค์ความรู้ของแพทย์แผนไทย หรือหมอพื้นบ้าน ที่มีการใช้กันมานานหลายทศวรรษ และเป็นตำรับที่ยังมีการผลิตขายทั่วไปตราบจนปัจจุบัน ประชาชนทั่วไปในสมัยก่อนจะรู้จักวิธีการใช้ยาเขียวเป็นอย่างดี กล่าวคือ มักใช้ยาเขียวในเด็กที่เป็นไข้ออกผื่น เช่น หัด อีสุกอีใส เพื่อกระทุ้งให้พิษไข้ออกมา เป็นผื่นเพิ่มขึ้น และหายได้เร็ว ซึ่งยาเขียวจัดเป็นยาเย็น ทำให้ตำรับยาเขียวส่วนใหญ่มีสรรพคุณ ดับความร้อนของเลือดที่เป็นพิษ ซึ่งพิษในที่นี้หมายถึงของเสีย หรือความร้อนที่อยู่ภายในร่างกายเท่านั้น 

นี่เป็นเพียงการยกตัวอย่างของข่าวที่ทำให้ผู้คนตื่นตระหนก และมีการแชร์ข้อมูลกันอย่างมากมาบางข่าวเท่านั้น โดยจะเห็นได้ว่าข่าวที่ปล่อยออกมา มีการแชร์กันแพร่หลาย ซึ่งถือว่าไม่ได้มีการกลั่นกรองกันเสียเลย ช่องทางของข้อมูลทางออนไลน์ในยุคนี้เปลี่ยนแปลงไปมาก และเข้าใจว่า ‘ทุกคน’ สามารถเป็นผู้ส่งสาร หรือเป็นคนกระจายข่าวได้ เพราะฉะนั้น ก่อนจะทำการส่งต่อข่าว เราต้อง เข้าใจข้อมูล ‘ความจริง ’เองเสียก่อน 

ทีนี้มาดูข่าวที่เป็นข่าวจริง เกี่ยวกับโควิด-19 ที่อยากให้ได้ทราบกันบ้าง!! 

ข่าวจริง : ปรับคนขับรถไม่ใส่หน้ากาก-ออกนอกเคหสถาน จริงหรือ?

ปุ่มตระหนก : ในโซเชียลมีเดีย มีการแชร์ภาพใบเสร็จรับเงินค่าปรับ พร้อมคำเตือนว่า “ถึงจะอยู่ในรถส่วนตัว ก็ต้องใส่ Mask ด้วยนะ เจอด่านตรวจ จับปรับทันที”

ปุ่มตระหนัก : เป็นข้อมูลจริง เมื่อวันที่ 26 เมษายน พ.ศ.2564 ณ เวลา 14.30 น. ศูนย์โควิดกระทรวงมหาดไทย (ศบค.มท.) ได้อัพเดทรายชื่อ 50 จังหวัดที่มีบทลงโทษ กรณีประชาชนไม่ใส่หน้ากาก ทั้งหน้ากากอนามัย หน้ากากผ้า เมื่ออยู่นอกเคหสถาน หรือ สถานที่สาธารณะ หรือในชุมชน ซึ่งมีโทษปรับไม่เกิน 20,000 (สองหมื่นบาท) ถ้าขับรถหรืออยู่ในรถคนเดียวไม่ใส่หน้ากากอนามัยได้ แต่ถ้ามีคนอื่นนั่งมาด้วยต้องใส่หน้ากากอนามัย ซึ่งคนที่ไม่ใส่หน้ากากที่อยู่ในรถนั้นจะเป็นผู้ที่ถูกปรับ การจับและปรับผู้ไม่ใส่หน้ากากอนามัยนั้น เจตนาในการประกาศคือการป้องกันการติดต่อของโรคจากบุคคลไปสู่บุคคล ดังนั้นเมื่อมีบุคคลอื่นอยู่ในรถด้วยจึงต้องสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า ไม่ยกเว้นแม้เป็นครอบครัวเดียวกัน เพื่อประโยชน์ในการควบคุมโรคและการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ และกรณีนั่งคนเดียวจึงอนุโลมได้ว่าไม่ต้องใส่หน้ากากอนามัย 

เมื่อข่าวสารได้แพร่กระจายออกไปเป็นวงกว้างแล้ว หากเป็นข่าวปลอมหรือ Fake News ก็เท่ากับมีคนรับข่าวสาร ข้อมูลที่ผิดเพิ่มเป็นจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ ฉะนั้นทุกครั้ง เพื่อป้องกันไม่ให้เราเป็นส่วนหนึ่งในการปล่อยข่าว Fake News และรับข้อมูลผิด ๆ เราต้องหาแหล่งข่าวที่น่าเชื่อถือก่อน ใช้เวลาสักนิดก่อนกดแชร์ จะช่วยลดอัตราการส่งต่อข่าวสารข้อมูลผิด ๆ

ก่อนจบเนื้อหานี้ไป ขอแชร์ 6 วิธีทิ้งทาย ที่อยากให้ลองไปปรับใช้กันดู เพื่อไม่ตกเป็นเหยื่อของ Fake News อีกต่อไป ดังนี้ 
1.) ข่าวต้องมีความน่าเชื่อถือ มีแหล่งอ้างอิงที่มาที่ชัดเจน สามารถตรวจสอบได้
2.) สังเกตการเรียบเรียงเนื้อข่าว และการสะกดคำต่างๆ เพราะข่าวปลอมมักจะสะกดผิดและมีการเรียบเรียงที่ไม่ดี
3.) สังเกต URL ให้ดี โดยข่าวปลอมอาจมี URL คล้ายเว็บของสำนักงานข่าวจริง
4.) ดูรายงานข่าวจากที่อื่น ๆ ว่ามีข่าวแบบเดียวกันหรือไม่ มีแหล่งอ้างอิงที่น่าเชื่อถือ
5.) ตรวจสอบข่าวจากการเสิร์ชหาข้อมูล อาจพบว่าเป็นข่าวเก่า หรือพบการแจ้งเตือนจากเว็บไซต์อื่นว่าเป็นข่าวปลอม
6.) ข่าวปลอมอาจมีการนำรูปภาพจากข่าวเก่ามาใช้ เพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือ


ข้อมูลอ้างอิง 
https://tna.mcot.net/category/sureandshare
 

เผลอใจให้คนหลอกลวง!! ตำหรับยา ‘หมอ (ไม่ได้) บอก’ หลอกให้หลง!! ส่ง ‘โควิด’ ไปสู่ที่ชอบ

วิกฤติโควิด-19 ดูจะยังหนักหนาหาที่จบยาก ทำให้ทุกคนต้องพยายามดิ้นรนหาทางเลี่ยงติดเชื้อให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ (ยกเว้นใครก็ไม่รู้) 

แน่นอนว่ามาตราการต่าง ๆ ในการป้องกันดูแลตัวเองไม่ว่าจะเป็นใส่หน้ากากอนามัย หมั่นใช้แอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อ เว้นระยะห่าง หรืออีกมากมาย

แต่ทำไมมันช่างดูวุ่นวายนัก ทำไมมันยากจัง อยากมีสูตรสำเร็จเลยอะ (พลีซซซซ)

เดี๋ยว ๆ อย่าทำเป็นเล่นไป!! ก่อนหน้านี้ได้ข่าวว่ามีสูตรสำเร็จ โดยมียาที่บอกสรรพคุณว่ากินแล้วป้องกันโควิดได้ด้วยนะ!!

ในช่วงวิกฤติที่ใคร ๆ เริ่มมองหาทางป้องกันและรักษาหลาย ๆ แบบ ก็เป็นจังหวะโอกาสของยาหลากตำหรับหลายสูตรโผล่ขึ้นมาให้เห็นกันที่หน้าจอโทรศัพท์ได้ไม่เว้นแต่ละวัน 

แต่มันก็ไม่มีปัญหาหรอกถ้าตำหรับยาเหล่านี้มันช่วยได้อย่างที่อวดอ้างสรรพคุณ เพราะในความเป็นจริงกลายเป็นว่ายาต่าง ๆ ที่ถูกแชร์กันโครม ๆ ไม่ว่าจะผ่านทางไลน์ เฟซบุ๊ก หรือแม้แต่ทวิตเตอร์ มันดันเป็นยาที่หมอ (ไม่ได้) บอก เนี่ยสิ...

อย่างเมื่อไม่นานมานี้หลาย ๆ คนคงได้เห็นการอวดอ้างสรรพคุณของสมุนไพร ‘ฟ้าทะลายโจร’ ที่แชร์กันให้พรึ่บว่า ช่วยป้องกันโควิด-19 ได้ (แหม่ขนาดนั้นเลยนะยาเทวดาปะเนี่ย) 

ความจริงมันก็ถูกครึ่ง ไม่ถูกครึ่ง!! เพราะว่ากันว่าฟ้าทะลายโจรมีประโยชน์ในการนำมาใช้กับผู้ป่วยโควิด และถ้ากินในปริมาณน้อย ก็ช่วยป้องกันหวัดได้ (แต่ต้องกินในปริมาณที่ถูกที่ควรนะจ๊ะ) ถึงกระนั้นก็ไม่เห็นมีหมอท่านไหนออกมาคอนเฟิร์มว่า ฟ้าทะลายโจรช่วยป้องกันโควิด-19 ได้จริง

แต่สิ่งที่น่ากลัว คือ ดันมีการแชร์ข้อมูลว่าฟ้าทะลายโจรช่วยป้องกันโควิด-19 จนมีคนมากมายหลงเชื่อและซื้อบริโภคกันยกใหญ่ ทำเอาขนาดขาดตลาดกันเลยทีเดียว 

แน่นอนว่าการแห่กันมาซื้อมาใช้โดยไม่ได้ศึกษา ย่อมส่งผลลบมากกว่าผลลัพธ์ที่ดี เพราะแม้ว่าฟ้าทะลายโจรจะเป็นสมุนไพรแต่ก็ใช่ว่าใคร ๆ ก็ใช้ได้ โดยมีข้อห้ามสำหรับผู้ที่แพ้ยาฟ้าทะลายโจรตั้งแต่ หญิงตั้งครรภ์ให้นมบุตร ผู้ป่วยโรคตับ โรคไต และไม่ควรใช้ร่วมกับยาวาร์ฟาริน แอสไพริน โคลพิโดเกรล ยาลดความดันโลหิต เพราะยาเหล่านี้ถ้าใช้ร่วมกันขึ้นมาละก็ ถึงขั้นอัมพฤกษ์ อัมพาต เส้นเลือดหัวใจตีบ เพราะจะทำให้เกิดการแข็งตัวของเลือด และอาจเกิดผลข้างเคียงที่รุนแรงได้ 

อย่างว่าล่ะนะ ขึ้นชื่อว่ายาแล้ว มันก็ไม่ใช่ขนมที่จะบริโภคเท่าไรก็ได้ หากคิดจะใช้ยาก็ต้องใช้ตามปริมาณที่เหมาะสม ใช้เยอะเกินแทนที่จะให้คุณ จะกลายเป็นให้โทษแทน ซึ่งเรื่องนี้ก็มีผู้คนจำนวนไม่น้อยที่หลงเชื่อข้อมูลผิด ๆ โดยไม่ศึกษาให้ครบถ้วน คิดแค่ว่าเป็นสมุนไพร กินเข้าไป กินเข้าไป สุดท้ายไปลงเอยที่โรงพยาบาลกันถล่มทลาย 

นี่ก็ถือเป็นอีกหนึ่งเรื่องของ ‘ข่าวปลอม’ ในโลกออนไลน์ ที่หยิบยกมาเล่าให้ฟัง ซึ่งเกิดจากการปล่อยข้อมูลผิด ๆ จนคนหลงเชื่อและกลายเป็นสร้างผลกระทบในทางลบต่อคนอื่น ๆ และอยากหยิบยกมาให้คิดให้ถี่ถ้วนก่อนจะเชื่อ

อย่าตกเป็น ‘เหยื่อ’ ของข่าวลวงในโลกออนไลน์ ยอมเสียเวลาสักนิด ใช้เวลาค้นหาข้อมูล ใช้วิจารณญาณในการเสพข้อมูล เพิ่มสิ่งเหล่านี้เข้าไปสักนิดในชีวิตคุณ 

เราไม่อยากให้ใครเป็น ‘เหยื่อ’ ของข้อมูลลวง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงวิกฤติแบบนี้ ‘คนหลอกลวง’ เขาพร้อมทำทุกอย่างเพื่อประโยชน์ตัวเอง โดยไม่ใส่ใจชีวิตคนอื่นอยู่แล้ว 

...จริงๆ นะ!! 


อ้างอิง:
https://www.facebook.com/DramaAdd/posts/10158599361813291
https://www.hfocus.org/content/2021/04/21423
https://www.facebook.com/mix.watcharapakorn/posts/2915209905420389
https://news.thaipbs.or.th/content/303508
 

‘วิชามาร’ สร้างข้อมูลเท็จ ลดความน่าเชื่อถือ ‘แบรนด์’ ธุรกิจ

ต้องยอมรับว่า Social Media เป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยกระจายข่าวสารไปยังกลุ่มคนได้เป็นจำนวนมาก ทำให้ทุกวันนี้คนส่วนใหญ่เลือกเสพข้อมูลข่าวสารจากช่องทาง Social Media มากกว่าช่องทางอื่น ๆ ส่งผลให้ Social Media นั้นมีความทรงอิทธิพลอย่างมาก อีกทั้งยังกระจายข้อมูลข่าวสารไปอย่างรวดเร็ว ยิ่งกว่าไฟลามทุ่ง

จากอิทธิพลของ Social Media ดังกล่าว ทำให้เกิดข้อมูลทั้งที่เป็นเรื่องจริงและไม่จริง ผุดขึ้นอย่างมากมายด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะข่าวปลอม หรือ Fake News ที่ระบาดอย่างหนัก พอ ๆ กับการระบาดของไวรัสโควิด-19 ก็ว่าได้ เพราะจากข้อมูลของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ที่สรุปข้อมูลจากการแจ้งเบาะแส และการใช้สื่อโซเชียลมีเดียในโลกออนไลน์ เกี่ยวกับสถานการณ์โควิด-19 ในช่วงการระบาดรอบที่ 2 ระหว่างวันที่ 19 ธ.ค. 63-28 ก.พ. 64 พบข้อความที่เกี่ยวข้องทั้งหมด จำนวน 35.47 ล้านข้อความ หลังจากคัดกรองแล้วพบข่าวที่เข้าหลักเกณฑ์เป็นข่าวปลอม 2,784 ข้อความ โดยมีข่าวที่ต้องดำเนินการตรวจสอบทั้งหมด 1,346 เรื่อง  

อย่างไรก็ตาม ‘ข่าวปลอม’ ไม่ใช่สิ่งที่เพิ่งเกิดขึ้น แต่เป็นสิ่งที่มีมาช้านาน แต่ในอดีตการจะปล่อยข่าวปลอม จะต้องมีเครื่องมือที่สามารถกระจายข่าวได้ หากไม่เครื่องมือของตัวเอง ก็จะใช้วิธี อย่างเช่น การส่งจดหมายลูกโซ่ ถัดมาเมื่อมีอินเทอร์เน็ต ข่าวปลอมยิ่งเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นส่งผ่าน FWD Mail การส่งในเว็บบอร์ดต่าง ๆ จนกระทั่งมาถึงการแชร์ผ่าน Social Media

การสร้างข่าวปลอมมีทุกวงการ ไม่ว่าจะเป็นด้านธุรกิจ การเมือง และสังคม แม้บางครั้งคนที่สร้างข่าวปลอม อาจต้องการเพียงแค่ความสนุก แต่กลับส่งผลกระทบต่อผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างคาดไม่ถึง โดยเฉพาะในฝั่งของภาคธุรกิจ ที่อาจจะถูกลดความน่าเชื่อถือในตัวบริษัท หรือ แบรนด์สินค้า ก็ได้

ยกตัวอย่างเคส คลาสสิค ข่าวปลอมในธุรกิจประกันภัย ที่เริ่มมีคนส่งต่อผ่าน FWD Mail ครั้งแรกราวปี 2549 แต่กระทั่งปัจจุบันก็ยังมีแชร์ข่าวนี้ผ่าน Social Media อยู่เรื่อย ๆ

โดยข่าวที่แชร์กันในโลกออนไลน์ เป็นข้อความเกี่ยวกับ “รายชื่อ Black List บริษัทประกัน(รถยนต์)” ที่ระบุ ข้อความว่า...

รายชื่อ Black List บริษัทประกัน (รถยนต์) สำหรับผู้ที่จะถอยป้ายแดงทั้งหลาย รวมทั้งที่ถอยแล้วมาป้ายไม่แดงแล้ว

รายชื่อ Black List บริษัทประกัน (รถยนต์) ข้อมูลจากบริษัท ทิสโก้ รู้ไว้ก็ดีนะ

จากหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ

บริษัทประกันดังกล่าว คือ

อันดับที่ 1. ลิเบอร์ตี้ประกันภัย มี ดร.พาชื่น รอดโพธิ์ทอง และพ.ต.ท.พงษ์ชัย วราชิต ถือหุ้นใหญ่

อันดับที่ 2. มิตรแท้ประกันภัย (ไทยประสิทธิ์เดิม)

อันดับที่ 3. บ.สัมพันธ์ประกันภัย นายศรีศักดิ์ ณ นคร ถือหุ้นใหญ่

บ.ทั้ง 3 ข้างต้น อู่ต่าง ๆ ส่ายหน้าหนี ไม่รับรถเข้าซ่อมเพราะเบี้ยวค่าซ่อมหลายร้อยล้านบาท โดยลิเบอร์ตี้เป็นสุดยอดแห่งการเบี้ยว

ยังมี บริษัทประกันภัยที่อยู่ในข่ายจะโดนอู่ต่าง ๆ ขึ้นบัญชีดำอีกคือ

อันดับที่ 4 บ.อาคเนย์ประกันภัย เพราะถึงแม้จะไม่ชักดาบแต่จะใช้วิธี 'HairCut ' คือจะต่อรองกับอู่ว่าจะจ่ายให้น้อยกว่าค่าซ่อมที่ค้างไว้ ซึ่งอู่ต่าง ๆ หลายแห่งก็ต้องยอม เพราะไม่อยากยุ่งยากเรื่องฟ้องร้อง

ยังมีอีกประเภท คือ จ่ายค่าซ่อมช้ามาก บางที่เป็นปีถึงจะชำระให้' ได้แก่

อันดับที่ 5 พัชรประกันภัย

และอันดับที่ 6 เอราวัณประกันภัย

อันดับที่ 7 พาณิชยการประกันภัย บริษัทนี้คนที่เรารู้จักเพิ่งโดนสด ๆ ร้อน รถชนมา 4 เดือนแล้วยังไม่ได้เริ่มแตะเลย เนื่องจากว่าไม่มีเงินจ่าย ให้อู่ซ่อม พูดง่าย ๆ ว่าจะเจ๊งแล้ว

ข้อมูลข้างบนนี้คงมีประโยชน์กับท่านที่กำลังมองหา บ.ประกัน จะได้ไม่ต้องเสียใจภายหลัง เพราะจ่ายเบี้ยประกันแล้ว ใคร ๆ ก็อยากได้รับบริการที่ดี ไม่มีตุกติก

และก็เพิ่งมีรายล่าสุดก็คือ อันดับ 8 บ.สินทรัพย์ประกันภัย อยู่ในอาการง่อนแง่น

บริษัทประกันภัยทั้งหมดนี้ คุณควรจะช่วยกันแชร์ให้คนที่น่าสงสารรู้ก่อนที่จะเค้าจะเสียรู้ บริษัทพวกนี้

 

นี่คือข้อความทั้งหมดจากเคสกรณีตัวอย่าง!!

อย่างไรก็ตาม หากเป็นคนที่ไม่อยู่ในแวดวงธุรกิจ หรือไม่ได้ติดตามข่าวสารธุรกิจประกันภัย ก็จะหลงเชื่อข้อความเหล่านี้โดยง่าย เพราะในอดีตที่ผ่านมาภาพลักษณ์ของธุรกิจประกันภัยในสายตาคนทั่วไปมักไม่ค่อยดีอยู่แล้วนั่นเอง

แต่หากคนที่ติดตามข่าวสารจะพบข้อเท็จจริงว่า บริษัทประกันวินาศภัยที่ถูกกล่าวอ้าง ได้แก่ บริษัท พาณิชยการประกันภัย จำกัด บริษัท สัมพันธ์ประกันภัย จำกัด บริษัท ลิเบอร์ตี้ประกันภัย จำกัด และบริษัท พัชรประกันภัย จำกัด ได้ถูกเพิกถอนใบอนุญาตการประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยไปแล้วในระหว่างปี 2547 ถึงปี 2557

ส่วนอีก 4 บริษัท ยังประกอบธุรกิจอยู่ โดยมีฐานะการเงินอยู่ในเกณฑ์ที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) กำหนด โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัท อาคเนย์ ประกันภัย ยังเป็นหนึ่งในเครือกลุ่มธุรกิจการเงินของเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี อีกด้วย

หากย้อนไปดูต้นของข้อความเท็จดังกล่าว มีทั้งหมด 3 เวอร์ชั่น ยุคปี 2549-2552 ข้อความอันเป็นเท็จมีบริษัททั้งหมด 7 แห่ง ถูกกล่าวหาว่ามีฐานะทางการเงินไม่ดี มีการส่งผ่านกระดาษในลักษณะจดหมายลูกโซ่ ต่อมาปี 2553-2556 ข้อความดังกล่าวยังคงเหมือนเดิม จำนวนบริษัทยังคงมี 7 บริษัท เพียงแต่ลบสัญลักษณ์ขึ้นย่อหน้าใหม่ และมีการจั่วหัวเป็นตัวดำ ส่งผ่าน e-mail จากนั้น ในปี 2557 เป็นต้นมา มีการเพิ่มบริษัทประกันภัยอีก 1 แห่ง รวมเป็น 8 บริษัท แต่ข้อความส่วนใหญ่ยังคงเหมือนเดิม ส่งผ่านกันทางสังคมออนไลน์ โดยเฉพาะกลุ่มไลน์ เฟสบุ๊ค ทวิตเตอร์ ทำให้บริษัทที่ยังดำเนินธุรกิจอยู่ ได้รับความความเสียหายและขาดความน่าเชื่อถือจากประชาชนที่ได้รับข้อมูลเท็จดังกล่าวอย่างมาก

กระทั่ง หนึ่งในบริษัทที่ได้รับความเสียหาย อย่างมิตรแท้ประกันภัย ได้ปฏิบัติการ ‘เชือดไก่ให้ลิงดู’ ด้วยการฟ้องร้องผู้ที่แชร์ข้อมูลดังกล่าวรายหนึ่งในจังหวัดนครศรีธรรมราช ในคดีอาญาในข้อหา ความผิดนำเข้าข้อความอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ตามพรบ.กระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 และฟ้องคดีแพ่ง ข้อหา ละเมิด เรียกร้องค่าเสียหายอีก 1 ล้านบาท ซึ่งศาลได้ตัดสินให้คู่กรณีทำการไกล่เกลี่ย โดยให้ผู้ถูกฟ้องทำการส่งข้อความขอโทษผ่านทาง Social Media ทั้งเพจเฟซบุ๊ก และไลน์กลุ่ม ที่ผู้ถูกฟ้องเป็นสมาชิกอยู่ เนื่องจากไม่มีเงินชดใช้ 

ในกรณีนี้ จึงถือเป็นหนึ่งตัวอย่างของธุรกิจที่ได้รับจากข้อมูลอันเป็นเท็จ หรือข่าวปลอม แม้จะมีการฟ้องร้องเอาผิดกับผู้แชร์ข้อมูลไปแล้วหลายราย แต่ข้อมูลดังกล่าว ก็ยังส่งต่อกันผ่าน Social Media จนถึงทุกวันนี้ 

ฉะนั้น ก่อนจะแชร์ข่าวสารข้อมูล หรือ โพสต์ข้อความอะไรบน Social Media ควรเช็คข้อมูล หรือ ตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อนทุกครั้ง เพราะถ้าแชร์ข้อมูลเท็จ หรือ ข่าวปลอมออกไป แล้วเกิดความเสียหายกับคนอื่น ถูกฟ้องร้องขึ้นมา จะต้องเสียเวลาขึ้นโรงขึ้นศาล และอาจถึงขั้นติดคุก และเสียเงินเสียทอง โดยไม่รู้ตัว เพราะอย่าลืมว่า โทษจากการทำผิด พรบ.คอมพิวเตอร์นั้น หนักหนามิใช่น้อย
 

‘มหากาพย์การอดอาหาร’ สู้เพื่อความยุติธรรม หรือเพื่อเจตนาอันใด?

เลขที่ออก 94...

ขึ้นต้นมาด้วยตัวเลข ไม่ได้ใบ้หวยแต่อย่างใด แค่หยิบยกเอาตัวเลขจากข่าวที่หลายคนติดตามกันมานานพอสมควร นั่นคือ การอดอาหารประท้วง ของ พริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ เพนกวิน ที่เมื่อสัปดาห์ก่อน มีรายงานออกมาว่า เพนกวินมีน้ำหนักลดฮวบลง ตัวเลขอยู่ที่ราว ๆ 94 กิโลกรัม จากน้ำหนัก 110 กิโลกรัม สาเหตุก็มาจากการประท้วงอดอาหาร หลังจากไม่ได้รับการประกันตัวจากศาลเสียที

80 กว่าวันกับการอยู่ในเรือนจำ และ 40 กว่าวันกับการอดอาหาร รวมกับอีก 9 ครั้งในการยื่นขอประกันตัว และหากนับถึงเวลาที่บทความนี้ออกสู่สายตาคุณ น่าจะทราบผลแล้วว่า การยื่นขอประกันตัวครั้งที่ 10 ของเพนกวิน (ในวันที่ 6 พ.ค.) ผลจะออกมาเป็นเช่นไร

กลับมาที่กิจกรรม ‘การอดอาหารประท้วง’ กันอีกที หลายคนอาจพอทราบกันมาบ้าง ว่าเป็น ‘กิจกรรมเชิงสัญลักษณ์’

สืบย้อนกลับไป การอดอาหารประท้วงมีมานานตั้งแต่ยุคโรมัน เคยมีการอดอาหารประท้วงจักรพรรดิโรมัน เพื่อขออนุมัติการเดินทางจากเหล่าขุนนาง หรือแม้แต่ที่อินเดีย ก็เคยมีการอดอาหารที่หน้าบ้านพวกเศรษฐี เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมที่ถูกข่มเหงรังแก รวมถึงการอดอาหารอยู่หน้าบ้านคู่กรณี เพื่อประท้วงที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม แบบนี้ก็เคยเกิดขึ้นมาแล้ว

อย่างไรก็ตาม ในบันทึกของประวัติศาสตร์ยุคใหม่ เรื่องราวการอดอาหารที่ผู้คนคุ้นเคย คงหนีไม่พ้น การอดอาหารในตำนานของ ‘มหาตมะ คานธี’ ในการต่อสู้เรียกร้องเอกราชของอินเดียจากอังกฤษ ช่วงปี ค.ศ. 1919 – 1947

หรืออีกเหตุการณ์สำคัญในช่วงปี ค.ศ. 1981 นักโทษกองกำลังกู้ชาติของไอร์แลนด์เหนือ ที่ถูกจับกุมในข้อหาก่อความไม่สงบ จากสาเหตุการประท้วงให้มีการแบ่งแยกดินแดนจากอังกฤษ ต่อมานักโทษเหล่านี้ได้ทำการประท้วงด้วยการอดอาหาร จนมีผู้เสียชีวิตไปถึง 10 ราย จนเหตุการณ์ในครั้งนั้น ทำเอารัฐบาลอังกฤษ ภายใต้การนำของนางมาร์กาเร็ต แทตเชอร์ นายกรัฐมนตรี ถูกกล่าวหาว่าใจร้ายใจดำ เนื่องจากปล่อยให้มีเหตุการณ์ยืดเยื้อจนมีคนตายในที่สุด

มาที่เมืองไทยของเรา หลายคนยังจำกันได้ ครั้งหนึ่งเคยมีเหตุการณ์อดอาหารประท้วงของ พลตรีจำลอง ศรีเมือง และ ร.ต. ฉลาด วรฉัตร ในการขับไล่ พลเอกสุจินดา คราประยูร ในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ เมื่อปี พ.ศ. 2535

และล่าสุด เหตุการณ์การอดอาหารของเพนกวิน-พริษฐ์ (รวมไปถึง รุ้ง – ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล) หลังจากที่ทั้งสองคนทำการยื่นขอประกันตัวต่อศาล เรียกว่ายื่นแล้วยื่นอีก แต่ยื่นยังไงก็ไม่ผ่าน จนต้องออกมาอดอาหารประท้วงกันอย่างที่เห็น

หยิบยกเหตุการณ์จากอดีตสู่ปัจจุบันมาเล่าถึง เพื่อสะท้อนให้เห็นว่า พฤติกรรมการอดอาหาร ถูกนำมาใช้ ‘ข้อเรียกร้อง’ ต่อเรื่องราวใดเรื่องราวหนึ่ง กันมานักต่อนัก

แต่เรื่องที่ควรรู้อย่างหนึ่งของการอดอาหารประท้วง คือ หลักการสำคัญนี้... “เป็นการกระทำที่ไม่มีเจตนาฆ่าตัวตาย หรือไม่ได้เป็นการประกาศฆ่าตัวตาย แต่เป็นการทรมานร่างกายของผู้ประท้วง เพื่อเรียกร้องคู่กรณีให้หันมาพิจารณาปัญหาที่เกิดขึ้น จากการกระทำอันอยุติธรรมของคู่กรณีต่อผู้ประท้วง”

ขอขีดเส้นใต้ตัวโตๆ ตรงประโยค >> ‘จากการะทำอัน อยุติธรรม ของคู่กรณีต่อผู้ประท้วง’ ไว้สักนิด แล้วตัดภาพกลับมาคิดต่อกับเรื่องราว ‘การอดอาหารของเพนกวินและรุ้ง’ เพราะอย่างที่เล่าไปว่า พวกเขาได้ทำการขอยื่นประกันตัวต่อศาลมาหลายครั้ง จนภาพที่ออกมา ดูเหมือนว่า กระบวนการยุติธรรม ทำหน้าที่ ‘ไม่ค่อยจะยุติธรรม’ สักเท่าไร

พูดง่ายๆ คือ ถ้าจะหยิบประโยคที่ขีดเส้นใต้ข้างต้นมาเรียบเรียงเหตุการณ์นี้ใหม่ จะตีความได้ว่า ‘เพนกวิน-รุ้ง อดอาหารประท้วง จากการกระทำอันอยุติธรรมของศาล’ ขยายความเพิ่มอีกนิด เพนกวิน-รุ้ง อดอาหารจากการที่ศาลไม่ยอมให้ประกันตัว เพราะศาลทำหน้าที่อย่างไม่ยุติธรรม

ใช่หรือไม่?

มาดูข้อเท็จจริงทางด้านศาลกันบ้าง เล่าโดยย่อในประเด็นที่ว่า การพิจารณาการปล่อยตัวชั่วคราวจากกรณีนี้ ศาลต้องใช้หลักกฎหมายตามมาตรา 108/1 ซึ่งหัวใจสำคัญมีอยู่ว่า หากให้ประกันแล้ว จะไม่ไปก่อเหตุภยันตรายประการอื่น หรือพูดง่ายๆ ว่า เรื่องที่เคยกระทำมาแล้ว ห้ามไม่ให้กลับไปทำอีก

แต่จากข้อเท็จจริงอีกเช่นกัน ที่ผ่านมา ทั้งเพนกวินและรุ้ง ไม่เคยมีการยื่นคำร้องใน ‘เงื่อนไขนี้’ ไปที่ศาลเลย มากไปกว่านั้น ในการขึ้นไต่สวนหลายครั้งที่ผ่านมา ยังมีพฤติกรรมขอถอนกระบวนการพิจารณา ถอนทนาย พร้อมทั้งไม่ลงชื่อในรายงานกระบวนพิจารณา รวมถึงนำรายงานกระบวนพิจารณาไปเขียนเอง ภายหลังจากที่ศาลลงจากบัลลังก์ไปแล้ว ทั้งหมดทั้งมวลเหล่านี้ จึงเป็นเหตุให้ขาดความน่าเชื่อถือ และทำให้ศาล ไม่เชื่อว่า จำเลยจะกระทำตามเงื่อนไขได้

กรณีกลับกัน ในรายของ นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข, นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา (ไผ่ ดาวดิน) เเละนายปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม (หมอลำแบงค์) เหล่าผู้ต้องหาที่อยู่ในกรณีเดียวกัน แต่ทั้ง 3 คน ได้มีการลงชื่อในคำร้อง และยืนยันต่อศาล ขอให้ศาลทำการไต่สวน และทำการแถลงต่อศาลด้วยตนเองว่า จะไม่กระทำลักษณะที่ถูกฟ้อง และจะไม่ก่อเหตุร้ายประการอื่น เมื่อศาลรับเงื่อนไข จึงนำมาสู่การได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวอย่างที่ปรากฎ

เรื่องเดียวกัน แต่ผลออกมาต่างกัน!!

สาเหตุง่ายๆ ไม่ซับซ้อน!! ก็เพราะการกระทำที่ไม่เหมือนกันไง!!

เรื่องราวเหล่านี้ ปัญหาอาจไม่ได้อยู่ที่ ‘ความยุติธรรมหรืออยุติธรรม’ หากแต่อยู่ที่การปฏิบัติตาม ‘หลักการ’ หรือไม่? ซึ่งสุดท้าย ก็ต้องย้อนกลับไปถามถึง ‘เจตนา’ ของผู้อดอาหารประท้วงแล้วล่ะว่า ทำไมถึงไม่ยอมรับหลักการนั้น?

อย่างที่บอกไปว่า ก่อนบทความนี้จะออกสู่สายตาคุณ ข่าวการยื่นขอประกันตัวครั้งที่ 10 ของเพนกวิน น่าจะทราบผลกันแล้ว แต่อย่างไรก็ตาม การเข้าใจถึงหลักการ รู้ถึงที่มาที่ไปของปัญหาที่เกิด น่าจะเป็น ‘สาระสำคัญ’ มากกว่าความขุ่นข้องหมองใจ ต่อเรื่องราวการประท้วงที่ไม่เป็นผล หรือแม้แต่การพากันทุกข์ใจต่อร่างกายที่ทรุดหนักของเพนกวิน หรือรุ้งเองก็ตาม

ถึงตรงนี้ หน้าประวัติศาสตร์ของ ‘การอดอาหาร’ อาจไม่มีความหมายใดๆ เลย ถ้าเราไม่พยายามเข้าใจถึง ‘บริบท’ ที่เกิดขึ้นรอบข้าง

อดอาหารน่ะ ‘อดได้’ แต่ถ้าขาดความรู้และปัญญา ปัญหามันก็ไม่มีทางหมดไปได้ร้อก!!


ข้อมูลอ้างอิง:

https://en.wikipedia.org/wiki/Hunger_strike,

https://www.matichon.co.th/columnists/news_253996,

https://www.naewna.com/local/569779,

https://www.facebook.com/800980833325664/posts/871902402900173/,

https://prachatai.com/journal/2006/03/7610

ย้อนฟิล์มเก่า ‘ฮันนะซัง สวยสั่งได้’ กรณีศึกษาสะท้อนสังคมปัจจุบัน ฉันควรเป็น ‘ฮันนะ’ หรือ ‘เจนนี่’ ดี?

...ไม่รู้ว่าค่านิยมของสังคมในสมัยนี้เป็นอะไรกันหมด

...เกิดอะไรขึ้น? ทำไมถึงการยึดโยงกับอุดมคติอันโหดร้ายที่ว่า...

>> ‘คนสวย จะต้องผอม’

>> ‘ยิ่งผอม ยิ่งดูดี ’

>> ‘ผู้ชาย ชอบผู้หญิงผอม’

เรื่องนี้มีปัจจัยชวนคิด ที่ก่อให้เกิดค่านิยมในโลกที่กำลังให้ความสำคัญกับเรื่องรูปลักษณ์ / เรือนร่าง อยู่ 3 ปัจจัย…

1.) การเปลี่ยนแปลงของค่านิยมในสังคมที่บูชาวัตถุ ทำให้คนในปัจจุบันมองว่า ร่างกายเป็นทรัพย์สินรูปแบบหนึ่ง

2.) การพัฒนาเทคโนโลยีแห่งความงามรุดหน้ามาก แพทย์สามารถทำศัลยกรรมให้ร่างกายมนุษย์ไร้ที่ติ หรือใช้กรรมวิธีต่างๆ เพื่อให้ผู้หญิง ผู้ชาย สวยหล่อได้ดังใจปรารถนา

และ 3.) อิทธิพลของสื่อที่กระตุ้นค่านิยมเรื่องรูปลักษณ์ เรือนร่าง สร้างรูปร่างในอุดมคติของวัยรุ่นขึ้นมาก ไม่ว่าจะเป็นนายแบบ นางแบบ ดารา นักร้องทั้งในประเทศและต่างประเทศ

แล้วทำไมถึงเป็นแบบนั้น ?

ความคิดเหล่านี้ เกิดจากอิทธิพล และแรงกดดันของสังคม ที่ยังให้ความสำคัญกับผู้หญิง หรือผู้ชายที่มีหน้าตา รูปร่างสวยงาม รวมถึงมีร่างกายผอมเพรียว โดยเฉพาะยิ่งปัจจุบันด้วยแล้ว คนจะมองแต่รูปลักษณ์ภายนอกอย่างฉาบฉวย หรือมักมีการเปรียบเทียบรูปร่างตัวเองกับผู้อื่น

พูดง่ายๆ ก็คือ เพียงเพราะว่ามนุษย์ต้องการการยอมรับจากสังคม!! และเมื่อสังคมมองเห็นว่าสิ่งไหนดี ก็พยายามเป็นไปตามที่สังคมวางไว้ ส่วนใครที่ไม่เป็นไปตามสิ่งที่สังคมมองว่าดี ก็จะถูกบูลลี่ ล้อเลียน หรือกลายเป็นคนที่ผิดแปลกไปเลยในสังคมนั้น ๆ

กรณีศึกษาที่เทียบเคียงกับกรณีดังกล่าวได้ดีมาจากภาพยนตร์เกาหลีเรื่องนานมาแล้วเรื่องหนึ่งอย่าง ‘200 Pounds Beauty ฮันนะซัง สวยสั่งได้’ ที่สะท้อนเรื่องนี้ได้ชัดมากอ

จากเนื้อเรื่อง ‘ฮันนะ’ เป็นสาวร่างท้วมน้ำหนักกว่า 200 ปอนด์ แต่พรสวรรค์ของเธอ คือ มีเสียงร้องเป็นเลิศ แต่เธอก็ทำได้แค่ต้องหลบอยู่ใต้หลังเวทีแล้วคอยร้องลิปซิงค์ให้กับนักร้องสาวสวย หุ่นดี และมีชื่อเสียงโด่งดังอย่าง ‘เอมี่’ จากการเกลี้ยกล่อมของ ‘ซังจุน’ โปรดิวเซอร์เพลง ที่ฮันนะเองนั้นตกหลุมรัก

เพื่อต้องการเอาชนะใจของซังจุน ฮันนะจึงยอมทำทุกอย่าง และก็มีความสุขเสมอที่ได้ทำ เพียงเพราะอยากใกล้ชิดกับซังจุน

แต่สาวร่างท้วมคนนี้ ไม่เคยคิดเลยว่าน้ำหนักเจ้ากรรมของเธอ !! จะเป็นอุปสรรคอันใหญ่หลวง...ทั้งต่อ ‘ซังจุน’ และคนรอบข้าง

และนี่ก็คือจุดเปลี่ยน !! เมื่อฮันนะรู้ว่าถูกทีมงานในค่ายเพลงมองเหมือนเธอเป็นตัวตลกคนหนึ่ง และแกล้งมาทำดี เพราะต้องการใช้ประโยชน์จากเสียงของเขาเท่านั้น แต่มันคงไม่เจ็บปวดมากเท่าไหร่ หากหนึ่งในนั้นไม่ใช่ ซังจุน โปรดิวเซอร์คนที่เธอแอบรักมานาน

เรื่องนี้ทำให้ฮันนะเสียใจและคิดจะฆ่าตัวตาย แต่สุดท้ายเธอเลือกทำสิ่งตรงข้าม ฮันนะได้ตัดสินใจไปทำศัลยกรรมแปลงโฉมทั้งตัว ทั้งดูดไขมัน ลดความอ้วน เปลี่ยนตา ปรับจมูก แต่งปาก ทำทุกอย่างที่ทำได้ จนเหมือน ‘ตายแล้วเกิดใหม่’ เพราะหลังจากนั้นฮันนะเอง ก็เริ่มต้นชีวิตใหม่ และทำเป็นไม่รู้จักใครอีกเลย แม้แต่พ่อของเธอเอง

จากนั้น ฮันนะ กลายเป็นนักร้องสาวสวยเสียงดี ชื่อ ‘เจนนี่’ หลังจากเขากลับไปสมัครเป็นนักร้องเงาเสียงที่ค่ายเดิมกับซังจุนอีกครั้ง ด้วยความที่สวยครบทุกอย่างแล้ว แถมมีพรสวรรค์เสียงดีเป็นทุนเดิม เจนนี่ หรือฮันนะเลยได้เป็นนักร้องจริง ๆ และสามารถกลับมามัดใจซังจุนได้ด้วยความสวยของเขา ซึ่งทุกอย่างก็ดูจะเป็นแบบที่ฮันนะใฝ่ฝัน

หลังจากที่ฮันนะ ได้เป็นที่ต้องการ เป็นที่ยอมรับของสังคมและคนที่เขารักมากขึ้น แต่ฮันนะกลับรู้สึกว่าเธอ...

>> ‘พราก’ ตัวตนของตัวเองออกไปจากชีวิต

>> ‘พราก’ ครอบครัว คือ พ่อที่เธอรักให้ถอยห่างออกไป

>> ‘พราก’ เพื่อน ที่เคยอยู่เคียงข้างกายให้หมดสิ้นความหมาย

แม้ว่าจะมีทั้งความสวยพร้อม และรูปลักษณ์ภายนอกที่ครบสมบูรณ์ตามที่ต้องการแล้วก็ตาม แต่นี่คือสิ่งที่เธอต้องเสียไปทั้งหมด

ทว่า จนแล้วจนรอด สุดท้ายวันหนึ่ง ซังจุน ก็ได้รู้ความจริงว่า เจนนี่สาวสวย คือ ฮันนะสาวอ้วน และเขาก็ยอมรับไม่ได้ที่ฮันนะทำศัลยกรรมมา แถมซังจุนก็ยังมองว่า สุดท้ายแล้วจะเป็นฮันนะหรือเจนนี่ ก็เป็นแค่สินค้าที่จะทำเงินให้ซังจุนเท่านั้น

อย่างไรเสีย ฉากจบของเรื่อง เกิดขึ้นในงานคอนเสิร์ต โดย เจนนี่ หรือ ฮันนะ ได้สารภาพว่าตัวเองคือ ฮันนะสาวอ้วนที่คอยเป็นลิปซิงค์ให้ศิลปินหลังเวที แถมยังทำศัลยกรรมมาทั้งตัว แต่สุดท้าย ก็เป็นไปตามพลอตเรื่องของหนังที่รู้อยู่แล้วว่าต้องจบแบบแฮปปี้เอ็นดิ้ง เพราะแฟนคลับก็รับได้ในสิ่งที่เขาเป็น จากผลงานและความสามารถของเขา และเธอก็ได้ใจของ ซังจุน รวมถึงได้สิ่งที่เธอเสียไป ไม่ว่าจะเป็นตัวตน ครอบครัว และเพื่อนกลับมา

ถึงกระนั้น หากสะท้อนภาพเสียดสีเจ็บๆ จากภาพยนตร์เรื่องนี้จะพบว่า ‘ความดูดี’ กำลังกลายเป็นบรรทัดฐานของสังคมที่น่าเศร้า สังคมที่โลกสวยและชอบพูดหน้าฉากว่า ‘นิยมคนดี คนเก่ง’ กลับเทียบไม่ได้เลยกับ ‘ความดูดี’ ซึ่งภาพยนตร์เรื่องนี้สื่อให้เห็นชัดจาก ฮันนะ ที่ต่อให้มีความสามารถแค่ไหน แต่รูปร่างหน้าตาไม่ผ่าน ก็ไร้ประโยชน์

ว่าแต่สังคมเราทุกวันนี้ ยังเป็นแบบนั้นกันจริงๆ อยู่หรือเปล่า?

สุดท้ายแล้ว สิ่งที่สำคัญที่สุดของมนุษย์ คืออะไร?

...ภาพลักษณ์ที่ดูดี

...ความสามารถ

...หรือ จิตใจดีๆ แบบไหน คือ คำตอบ?

แล้วสรุปเราควรจะเลือกเป็น ‘ฮันนะ’ หรือ ‘เจนนี่’ ดีในสังคมทุกวันนี้?

ฉันอยากผอม…ฉันเลย (คลั่ง) ผอม

“ถ้าเธอผอม เธอจะน่ารัก/สวยกว่านี้นะ”

“เสียดาย ทำไมอ้วน ไม่น่าปล่อยตัวแบบนี้เลย”

“ไปทำไรมา…ทำไมอ้วนขึ้นแบบนี้ล่ะ”

ไม่แน่ใจว่าหลาย ๆ คน จะเคยได้ยินคำพูดเหล่านี้จากคนใกล้ ๆ ตัว กันบ้างไหมคะ ? ว่าถ้าสมมุติเราผอม หรือ เราลดน้ำหนักได้สัก 5 – 6 กิโล เราคงจะมีความสุขนะ แล้วเราก็จะดูดีมากๆ

ขอบอกว่า ผู้เขียนเอง ก็เคยมีประสบการณ์ ยอมหันมาลดน้ำหนักจากเสียงเอื้อนเอ่ยของชาวบ้านเขาเล่ามา แล้วเราก็ว่าตามไปได้ดีมาแชร์กันค่ะ ซึ่งกว่าจะผ่านช่วงเวลานั้นมาได้ มันไม่ง่ายเลย…

ในช่วงสมัยมัธยมปลาย แต่ก่อนหนักประมาณ 70 กิโลกรัม ด้วยความที่ตัวเองนั้นสูงเพียงแค่ 170 ก็เลยจะดูอวบนิด ๆ (หรือประมาณว่าจ้ำม่ำค่ะ ????) ในช่วงเวลานั้นเรามีความรู้สึกแค่ว่าหิว ก็ทาน ชอบทานพวกของทอด ของมัน หมูกระทะต้องสามชั้น เบคอนเท่านั้น ผักไม่ค่อยแตะค่ะ เพราะรู้สึกว่าไม่อร่อย แต่ก็ทานบ้างนะคะ

เพื่อน ๆ พอเจอเราเข้าไปก็ตกใจว่าทำไมดูอ้วนขึ้น มีแก้ม มีพุง ขนาดนี้ ตัวผู้เขียนก็แค่ตอบไปว่า ก็เรากิน ไม่ได้ดม… เพื่อน ๆ ก็ต่างพากันหัวเราะชอบใจ แต่ในใจเราก็เจ็บเหมือนกันนะคะ เราก็อยากให้เพื่อนทักว่า ดูดีขึ้น

แต่สภาพตอนนั้นไอ้เราก็คงไม่อยากไปบังคับให้เพื่อนพูดโกหก เพื่อเอาใจหรอกค่ะ ว่าแล้วก็เลยเริ่มหาวิธีลดน้ำหนัก แต่ไม่ว่าจะออกกำลังกาย ทานผัก ผลไม้ (รู้สึกตัวเบาลงนะคะ) แต่น้ำหนักก็ยังคงเท่าเดิม ก็เลยเริ่มหาวิธีลัดเพื่อที่อยากจะดูผอม ดูดีในสายตาเพื่อน ๆ (กำลังจะเข้ามหาวิทยาลัยแล้วด้วย อยากดูเป็นเฟรชชี่เด็กปี 1 น่ารัก ๆ)

ตอนนั้นก็เลยเริ่มวิธีเบสิคง่าย ๆ ก่อนเลยคือ ไม่ว่าเราจะทานอะไรเข้าไปจนอิ่มแล้ว … เราจะไปล้วงคอ!!

ใช่ค่ะ!! การล้วงคอจะทำให้เราอาเจียนสิ่งที่เราทานไปทั้งหมดให้ออกมา ซึ่งในตอนนั้นเราจะรู้สึกดีกับตัวเองมากเลยค่ะ รู้สึกท้องเบาหวิว

( เครดิตภาพ : pobpad )

ใช่ค่ะ!! การล้วงคอจะทำให้เราอาเจียนสิ่งที่เราทานไปทั้งหมดให้ออกมา ซึ่งในตอนนั้นเราจะรู้สึกดีกับตัวเองมากเลยค่ะ รู้สึกท้องเบาหวิว

ยังๆๆ พอเราทำไปได้ระยะหนึ่ง เริ่มรู้สึกว่า ตัวเองยังผอมไม่พอ ทีนี้เลยตัดสินใจอดอาหารเพิ่มค่ะ กินวันล่ะมื้อ ถ้าหิวก็ดื่มน้ำเปล่า ตอนนั้นเราผอมมากเลยค่ะจากน้ำหนัก 70 กว่าเราเหลือประมาณ 60 กิโลในช่วงเวลาไม่ถึง 2 เดือน

แต่ชีวิตช่วงนั้น มันก็จะแปลกๆ นิด ตรง ‘นิสัย’ และความรู้สึกของเราเปลี่ยนไปค่ะ เริ่มรู้สึกหงุดหงิด โวยวายง่าย ทำให้คนรอบข้างเรา เพื่อนของเราแม้กระทั่งคุณพ่อคุณแม่ไม่อยากจะคุยกับเราเลยค่ะ

เรากลายเป็นคนล่ะคนไปเลย เราเสียใจมากเลยค่ะ พอคิดแบบนั้น ก็เลยลองหาข้อมูลดูว่าตัวเรามีอาการอะไรกันแน่ แล้วก็ได้ไปเจอกับโรคหนึ่งที่ชื่อว่า ‘โรคคลั่งผอม’ หรือ ‘Anorexia Nervosa’ ซึ่งโรคนี้เป็นโรคที่หลาย ๆ คนเป็น โดยเฉพาะคนที่อยากผอม หรือ ต้องการที่จะผอมมากกว่านี้

จริงๆ แล้ว โรคคลั่งผอมนั้น เพื่อนๆ หลาย ๆ คนอาจจะเคยได้ยินจากการที่ศิลปินหรือพวกนางแบบเป็นกัน อย่าง อดีตสมาชิก OH MY GIRL อย่าง ‘จินอี’ ที่ในวงเธอผอมที่สุด แต่กลายเป็นว่าที่เธอต้องออกจากวง เพราะเธอรู้สึกว่าตัวเองอ้วนมากในตอนขึ้นเวที จึงพยายามลดน้ำหนักจนกลายเป็นโรคคลั่งผอม

( เครดิตภาพ : WM Entertainment )

ขออ่านต่อไปอีกนิด เริ่มหลอนละ เพราะโรคนี้เป็นอาการที่เกิดจากภาวะจิตใจที่กระทบไปสู่ร่างกาย ยังไงน่ะหรือ ภาวะจิตใจในที่นี้คือเจอแรงกดดันจากคนใกล้ตัว ที่คิดว่าทำไมตัวเองถึงโดนคนอื่นบอกว่าอ้วน หุ่นไม่ดี คนที่เป็นโรคนี้จะมีสภาพจิตใจที่ค่อนข้างแย่เลยทีเดียวค่ะ จะต้องการลดน้ำหนัก พอลดได้ก็จะดีใจจนลดต่อไปเรื่อย ๆ แต่ผู้ป่วยจะไม่มีทางพอใจในรูปร่างของตนเอง ไม่อยากทานอะไรเพราะจะกลัวกลับไปอ้วน ทำให้ร่างกายไม่ได้รับพลังงาน อารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดง่าย

ที่น่ากลัว คือ ผู้ป่วยโรคนี้มีสิทธิ์ที่จะเสียชีวิตได้เลยนะคะ ฉะนั้นใครที่เข้าข่าย ควรไปพบแพทย์เพื่อให้หมอตรวจดูอาการ และรักษาอย่างถูกวิธี พอเสร็จจากการรักษา ก็ต้องยอมรับตัวเอง และ คอยประคับประคองจิตใจไม่ให้กลับไปคลั่งผอมอีก

เชื่อไหมว่า พอผู้เขียนได้อ่านบทความนี้โดยละเอียด ก็แอบกลัวที่จะลุกลามจนต้องไปหาหมอรักษา เลยกลับไปใช้ชีวิตตามปกติ ทานอาหารเหมือนเดิม พอทานข้าว ทานขนมได้ ทีนี้ไม่หยุดเลยค่ะ จนทำให้น้ำหนักเราดีดขึ้นเกือบ 10 กิโลกรัม หรือหลาย ๆ คนอาจจะรู้จักที่เรียกว่า โยโย่เอฟเฟกต์ ( YoYo Effect ) ซึ่งเป็นภาวะที่เกิดจากการที่ร่างกายอดอาหารและ พอกลับไปทานอาหารร่างกายปรับตัวไม่ทันจึงเกิดภาวะน้ำหนักขึ้นอย่างรวดเร็ว

ตอนนั้นบอกได้เลยว่าท้อใจ และหมดกำลังใจในการใช้ชีวิตเลยค่ะ แต่พอได้เข้ามหาวิทยาลัยเพื่อน ๆ เจอเราสภาพนี้ตอนแรกก็กลัวนะคะว่าเพื่อน ๆ จะรับไม่ได้ ไม่อยากคุยกับเรา…

แต่กลายเป็นว่าเพื่อน ๆ ในมหาลัยต่างรักและเอ็นดูเรา ไม่ใช่เพราะเราอ้วนดูน่าแกล้งนะคะ แต่เป็นเพราะเราจริงใจ และ เป็นมิตร เพื่อน ๆ ต่างมีความสุขเวลาอยู่กับเรา เราเป็นคนสนุก เฮฮาด้วย

จากวันที่เรากำลังเข้าใกล้สภาวะ ‘โรคคลั่งผอม’ และหลุดออกมาได้จนถึงวันนี้ ทำให้เราเริ่มเข้าใจแล้วว่า มนุษย์เราไม่ว่าจะอยู่ในสภาพไหน อ้วน ผอม ดูดี หุ่นไม่ดีหรืออะไรก็ตาม แต่ถ้าเรามีจิตใจที่ดี ยิ้มแย้มแจ่มใส อะไร ๆ ก็จะดีขึ้นเองค่ะ

แต่ยังไงซะ ส่วนตัวก็ยังไม่ยอมท้อในการลดน้ำหนักนะคะ ยังคงพยายามลดน้ำหนักอยู่ เช่น ปรับพฤติกรรมการกิน ทานผักผลไม้ ออกกำลังกาย ดื่มน้ำเยอะ ๆ ใส่กำลังใจดีๆ เข้ามาในกาย และใช้ชีวิตให้มีความสุข ลดด้วยความที่อยากให้สุขภาพดี ไม่ต้องภาพลักษณ์ดี คิดแบบนี้กันดีกว่าค่ะ

อ้อ!! แล้วก็ไม่ต้องให้ เค้าหรือใครคนนั้น มาตัดสินเราด้วยล่ะ Have a good day ค่ะ ????

ว่าแล้ว ช่วงนี้ เหงาจัง ร้านบุฟเฟ่ต์ปิด!!


อ้างอิง:

https://www.rama.mahidol.ac.th/ramachannel/article/โรคคลั่งผอม เป็นโรคหรือแค่วิตกกังวล

https://www.lovefitt.com/tips-tricks/เทคนิคหยุดโยโย่ เอฟเฟกต์


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top