Monday, 26 May 2025
SPECIAL

สมุทรปราการ - มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ลงพื้นที่ส่งต่อน้ำใจไทย มอบเครื่องช่วยหายใจ พร้อมอุปกรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์แก่โรงพยาบาลสมุทรปราการ สู้ภัยโควิด-19

วันนี้ (วันที่ 1 มิถุนายน 64 เวลา 13.00 น.) นางศิริกุล โอภาสวงศ์ กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง พร้อมด้วยนายจารุรัตน์ คุณัตถานนท์ กรรมการและเหรัญญิก มอบอุปกรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์ ในโครงการ “ส่งต่อน้ำใจไทย สู้ภัยโควิด-19”  แก่โรงพยาบาลสมุทรปราการ ประกอบด้วย เครื่องช่วยหายใจ จำนวน 1 เครื่อง ชุด Personal Protective Equipment ( PPE ) จำนวน 200 ชุด หน้ากาก N95 จำนวน 200 ชิ้น หน้ากากอนามัย จำนวน 200 กล่อง เจลแอลกอฮอล์ ขนาด 5 ลิตร จำนวน 20 แกลลอน รวมมูลค่าทั้งสิ้น 281,900 บาท(สองแสนแปดหมื่นหนึ่งพันเก้าร้อยบาทถ้วน) เพื่อใช้ในการรักษาผู้ป่วยจากการติดเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) โดยมี นายแพทย์ปฏิวัติ วงศ์งาม รองผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ โรงพยาบาลสมุทรปราการ เป็นผู้รับมอบ ณ ห้องประชุมโกศล อาคารผู้ป่วยนอก โรงพยาบาลสมุทรปราการ

การมอบอุปกรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์ มูลนิธิป่อเต็กตึ๊งได้ริเริ่มดำเนินการมามอบมาแล้วตั้งแต่ปี พ.ศ. 2563 เป็นต้นมา พร้อมทั้งจัดตั้งกองทุน “ธารน้ำใจ สู้ภัยโควิด-19” เพื่อมอบอุปกรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์ให้กับโรงพยาบาลที่ขาดแคลนต่อเนื่อง ควบคู่กับโครงการ “ส่งต่อน้ำใจไทย สู้ภัยโควิด-19” โดยในสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา (โควิด-19) ระลอกใหม่นี้ มูลนิธิป่อเต็กตึ๊งได้ปรับแผนการดำเนินงานการช่วยเหลือประชาชนทั้งด้านบรรเทาสาธารณภัย สังคมสงเคราะห์ และหน่วยแพทย์สงเคราะห์ชุมชน พร้อมประสานงานเพื่อให้ความช่วยเหลือเชิงรุกทั้งในส่วนของประชาชน ชุมชน และบุคลากรทางการแพทย์อย่างต่อเนื่อง รวมถึงจัดตั้งโรงครัวประกอบอาหารปรุงสุกเพื่อช่วยเหลือประชาชนในขณะนี้ รวมงบประมาณดำเนินการออกช่วยเหลือประชาชนในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 นับตั้งแต่ปี 2563 จนถึงปัจจุบันเป็นเงินไม่ต่ำกว่า 33 ล้านบาท

มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ขอเชิญชวนผู้มีจิตศรัทธาทุกท่านร่วมบริจาคสมทบทุนช่วยเหลือในสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา (โควิด-19) กับมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ติดต่อสอบถาม รวมถึงติดตามข่าวสารกิจกรรมการช่วยเหลือผู้ประสบเหตุ – ผู้ประสบภัยต่าง ๆ ของมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ได้ที่เฟซบุ๊ก แฟนเพจ www.facebook.com/atpohtecktung

ชายแดนไทยเมียนมา ริมน้ำสาละวิน สงบต่อเนื่อง 5 วัน เจ้าหน้าที่ทหารราบที่ 7 และทหารพราน 36 เข้าดูแลรักษาพยาบาลและมอบของอุปโภคบริโภค ให้กับผู้หนีภัยความไม่สงบจากเมียนมา ทั้ง 4 แห่ง

นายสิธิชัย จินดาหลวง ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน ในฐานะประธานคณะกรรมการศูนย์สั่งการชายแดน ไทย - เมียนมา ด้านจังหวัดแม่ฮ่องสอน แถลงสถานการณ์ชายแดนไทย-เมียนมา จ.แม่ฮ่องสอน ประจำวันที่ 1มิ.ย. 64 เวลา 12.00 น ว่าสถานการณ์การสู้รบฝั่งเมียนมา ตั้งแต่วันที่ 27 พ.ค. 64 เวลา 17.00 น. เป็นต้นมา ไม่มีการสู้รบระหว่างทหารเมียนมากับกองกำลังชนกลุ่มน้อยกะเหรี่ยง KNU ด้านตรงข้าม อ.แม่สะเรียง และ อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน และยังคงไม่มีการปฏิบัติการทางอากาศในฝั่งประเทศเมียนมา เป็นระยะเวลา 32 วัน

สำหรับผู้หนีภัยความไม่สงบชาวเมียนมา (ผภ.สม.) ที่อยู่ในพื้นที่ปลอดภัยชั่วคราวได้เดินทางกลับภูมิลำเนาในประเทศเมียนมา จำนวน 363 คน ยังคงเหลืออยู่ในพื้นที่ปลอดภัยชั่วคราว 4 แห่ง จำนวน 255 คน ดังนี้ พื้นที่ปลอดภัยชั่วคราว บริเวณห้วยมะระ ต.แม่คง อ.แม่สะเรียง จำนวน 7คน พื้นที่ปลอดภัยชั่วคราว บริเวณห้วยจอกลอ ต.แม่คง อ.แม่สะเรียง จำนวน 80 คน พื้นที่ปลอดภัยชั่วคราว บริเวณห้วยโกเกร๊ะ ต.แม่คง อ.แม่สะเรียง จำนวน 135 คน พื้นที่ปลอดภัยชั่วคราว บริเวณบ้านเสาหิน ต.เสาหิน อ.แม่สะเรียง จำนวน 33 คน โดยหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารราบที่ 7 และหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 36 ได้เข้าไปให้ความช่วยเหลือในเรื่องของการรักษาพยาบาลเบื้องต้น และมอบสิ่งของอุปโภคบริโภคให้กับผู้หนีภัยความไม่สงบชาวเมียนมา (ผภ.สม.) ในพื้นที่ปลอดภัยชั่วคราวทั้ง 4 แห่ง เพื่อให้ความช่วยเหลือขั้นต้นตามหลักมนุษยธรรม

ทางด้าน ราษฎรไทยที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ บ.ท่าตาฝั่ง ต.แม่ยวม อ.แม่สะเรียง ที่ได้รับผลกระทบจากการสู้รบ ยังอยู่ในพื้นที่ตำบลรวบรวมพลเรือน 2 แห่ง จำนวน 189 คน อยู่ในพื้นที่ตำบลรวบรวมพลเรือน ห้วยกองกูด ต.แม่ยวม อ.แม่สะเรียง จำนวน 168 คน พื้นที่ตำบลรวบรมพลเรือน ห้วยกองคา ต.แม่ยวม อ.แม่สะเรียงจำนวน 21 คน   


ภาพ/ข่าว  สุกัลยา / ถาวร อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน

ศรชล.จับเรือบรรทุกน้ำมันเถื่อน 25,000 ลิตร ปรับกว่า 1.78 ล้านบาทเข้าหลวง

เมื่อวันที่ 31 พ.ค.64 ระหว่างเวลา 15.00-22.00 น. ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลภาค 1 (ศรชล.ภาค 1) โดย ศรชล.จังหวัดสมุทรปราการ ให้ นาวาเอก สุระชัย ยงกัน รอง ผอ.ศรชล.จังหวัดสมุทรปราการ อำนวยการให้ ศคท.จว.สป. ส.รน.๓ กก.๔ บก.รน.  จท.ภูมิภาคสาขาสมุทรปราการ และ สรรพสามิตสมุทรปราการ ตรวจสอบจับกุมเรือ ธนธานี เป็นเรือประเภทบำบัดของเสีย แอบบรรทุกน้ำมันดีเซล ซึ่งยังไม่ได้เสียภาษีสรรพสามิต มีลูกเรือจำนวน 2 คน สัญชาติไทยทั้งหมด โดยไม่มีเอกสารหลักฐานการเสียภาษีสรรพสามิต และหลักฐานผ่านพิธีการทางศุลกากรมาแสดง ในระวางบรรทุกน้ำมัน จำนวน 25,000 ลิตร จึงได้ควบคุมลูกเรือ จำนวน 2 คน มาที่สรรพสามิตสมุทรปราการ เพื่อนำตัวผู้ต้องหาส่งผู้มีอำนาจเปรียบเทียบปรับ ตาม พรบ.ภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2560 

ผลการดำเนินการตามกฎหมาย ได้เปรียบเทียบปรับตาม พรบ.สรรพสามิต เป็นเงินทั้งสิ้น จำนวน 1,787,100 บาท ต่อไปแล้ว


ภาพ/ข่าว ปชส.ศรชล.ภาค 1

จเรตำรวจแห่งชาติ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมผู้เสียหายคดียาเสพติด พร้อมมอบนโยบายแก่ข้าราชการตำรวจ

วันนี้ 1 มิถุนายน 2564 พลตำรวจเอก วิสณุ ปราสาททองโอสถ จเรตำรวจแห่งชาติ เดินทางมายัง กองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 11 โดยมี พลตำรวจตรี จรัล จิตเจือจุน รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 3 รักษาราชการแทนผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดจันทบุรี พร้อม พลตำรวจตรี สรศักดิ์ ชนะสิทธิ์ ผู้ทรงคุณวุฒิสำนักงานตำรวจแห่งชาติให้การต้อนรับ จากนั้นเดินทางพร้อม นาย สุธี ทองแย้ม ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี ไปยังบ้านผู้เสียหายคดียาเสพติด ที่ ต.วังโตนด อ.นายายอาม จ.จันทบุรี เพื่อมอบสิ่งของและเงินช่วยเหลือเป็นขวัญ-กำลังใจ พร้อมสร้างความเชื่อมั่นในทางคดีจะให้ความเป็นธรรม

สำหรับผู้กระทำความผิดถ้ามีมูลกระทำความผิดจริงจะต้องถูกลงโทษทั้งทางวินัยร้ายแรงและทางอาญา ซึ่งขณะนี้ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยกองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 1 ก็ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง  กรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดปฏิบัติการข่าว กองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 11 ถูกพาดพิงว่ากระทำการเรียกรับเงินจากการปฏิบัติหน้าที่ ตามข่าวในสื่อออนไลน์ สำนักข่าวไทย OnIine วันที่ 25 เมษายน 2564 เสนอข่าว "แม่ร้องทุกข์สื่อ ไขปมคลิปเสียงสนทนากับลูกสาว หลังถูกคนในเครื่องแบบอุ้มหายตัวไป กักขัง อ้างถูกจับยาเสพติดพร้อมรีดเงิน 30,000 บาท แลกกับการปล่อยตัวลูกสาว"

ดังนั้น เพื่อให้การตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าว เป็นไปด้วยความเรียบร้อย จึงอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 15 แห่งพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 และระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติว่าด้วยการสั่งให้ข้าราชการตำรวจไปปฏิบัติราชการในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2563 ข้อ 6(2) จึงให้ข้าราชการตำรวจจำนวน 8 นาย ปฏิบัติราชการที่กองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดนภาค1(งานการข่าว)โดยขาดจากการปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งเดิม.ซึ่งทางท่านพลตำรวจเอก วิสณุ ปราสาททองโอสถ จเรตำรวจแห่งชาติ ได้กล่าวว่าทุกเรื่องต้องรวดเร็วตรวจสอบได้และเป็นธรรมจากนั้นได้เดินทางต่อมายังกองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัดจันทบุรี เพื่อตรวจเยี่ยม-มอบแนวทางปฏิบัติ พร้อมมอบพระพุทธรูปให้กับ ข้าราชการตำรวจทุกสภ.ในสังกัดภูธรจังหวัดจันทบุรี เพื่อเป็นขวัญ-กำลังใจและให้มุ่งมั่นในการปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นธรรมต่อไป


ภาพ/ข่าว เอกลักษณ์ อานาภรณ์ ผู้สื่อข่าว จ.จันทบุรี

อุทัยธานี - หน่วยทหารยื่นมือช่วยชาวบ้าน แก้ปัญหาน้ำท่วม กำจัดผักตบชวาในลำคลอง เขาฆ้องชัย หมู่ 11 บ้านวังหน้าศาล ต.ประดูยืน อ.ลานสัก

ณ ลำคลองเขาฆ้องชัย บ้านวังหน้าศาล หมู่ 11 ต.ประดู่ยืน อ.ลานสัก จ.อุทัยธานี โดยมี นาวาเอกเอกปิ่นแก้ว สาระปัญญา รองผู้บังคับบัญชาหน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ 15 พร้อมหน่วยข้าราชการในพื้นที่ ที่ขาดไม่ได้ ก็คือความร่วมมือของชาวบ้าน ที่ร่วมใจกัน ดำเนินการแก้ไขปัญหาผักตบชวาบ้านวังหน้าศาล และขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาล และแนวทางการดำเนินการ บูรณาการ เพื่อแก้ไขปัญหาผักตบชวาให้เกิดความเรียบร้อย เป็นรูปธรรม เกิดความต่อเนื่องอย่างยั่งยืนให้ประชาชนในพื้นที่ ที่ได้มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ฟื้นฟูแหล่งน้ำรักษาความสะอาดและจัดเก็บขยะมูลฝอยในพื้นที่สาธารณะ คูคลอง ปัจจุบันปัญหาสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะปัญหาน้ำเน่าเสีย และสิ่งปฏิกูลจากการปล่อยลงแม่น้ำลำคลอง สารเคมี การสะสมของวัชพืชต่าง ๆ ส่งผล ให้คุณภาพน้ำต่ำลง คูคลอง ตื้นเขิน ไม่สามารถระบายน้ำได้ทันเมื่อฝนตกหนักทำให้เกิดน้ำท่วมตามมา


ภาพ/ข่าว ภาวิณี ศรีอนันต์ รายงาน

ขอนแก่น - สหกรณ์โคนมจี้รัฐ ทบทวนสิทธิ์การจัดสรรโควตานมโรงเรียนให้กับสหกรณ์มากขึ้น หวั่นนมล้นตลาด หลังพบเอกชนรายใหญ่เจาะตลาดนมโรงเรียนและนมพาณิชย์มากขึ้น เฉพาะที่ขอนแก่นนมคงค้างมากถึงวันละเกือบ10 ตัน วอนทุกหน่วยเร่งแก้ปัญหา

เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 1 มิ.ย.2564 ที่สหกรณ์โคมนม จ.ขอนแก่น นายนัยฤทธิ์ จำเล ประธานกรรมการชุมนุมสหกรณ์โคนมแห่งประเทศไทย จำกัด  พร้อมด้วย นายคำพันธ์ ไชยหัด ประธานสหกรณ์โคนมขอนแก่น จำกัด นำคณะกรรมการสหกรณ์โคมนมแห่งประเทศไทย และสหกรณ์โคนมขอนแก่น ร่วมกันจัดกิจกรรมเนื่องในวันดื่มนมโลกประจำปี 2564 แบบวิถีใหม่ หรือนิวนอมอล ภายใต้มาตรฐานความปลอดภัยด้านสาธารณสุขจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 อย่างเข้มงวด ด้วยการรณรงค์ให้ประชาชนดื่มนมกันอย่างแพร่หลาย และการนำเสนอผลิตภัณฑ์ของเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมในพื้นที่  ก่อนที่ทั้งหมดจะร่วมประชุมเพื่อรับทราบถึงปัญหาและแนวทางในการแก้ไขปัญหาเพื่อนำเสนอต่อรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาเร่งด่วนให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมที่ได้รับผลกระทบอยู่ในขณะนี้

นายคำพันธ์ ไชยหัด ประธานสหกรณ์โคนมขอนแก่น จำกัด กล่าวว่า เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมที่เป็นสมาชิกขณะนี้มีอยู่กว่า 174 ราย แต่ละวันมีการส่งน้ำนมโคดิบให้กับสหกรณ์วันละ ประมาณ 42 ตัน ในราคารับประกันการซื้อที่ กิโลกรัมละ 17.50 บาท ซึ่งสหกรณ์ได้ทำการคัดคุณภาพและผ่านขั้นตอนกระบวนการต่างเพื่อส่งจำหน่ายให้กับกลุ่มลูกค้าหลัก 2 กลุ่มแยกเป็นกลุ่มบริษัทเชิงพาณิชย์ อาทิ  อสค.,ซีพี ,บริษัทเอกชนตามสัญญาคู่ค้า วันละ ประมาณ 20 ตัน และอีกส่วนคือส่งจำหน่ายให้กับ กลุ่มนมโรงเรียนวันละ 22 ตัน แต่ปัญหาที่พบคือการส่งจำหน่ายให้กับกลุ่มนมโรงเรียนนั้นมีการรับซื้อวันละ 15 ตัน ทำให้นมของสหกรณ์คงค้างอยู่ในสต๊อกมากถึงวันละ 7  ตัน ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่าปัญหาที่เกิดขึ้นเกิดจากการจัดสรรโควต้า ซึ่งสหกรณ์โคนมขอนแก่นอยู่ในกลุ่ม 3 ที่กรมปศุสัตว์กำหนด ครอบคลุมพื้นที่ 12 จังหวัดภาคอีสานตอนบนโดยมีผู้ประกอบการทั้งในส่วนของสหกรณ์และบริษัทเอกชน รวมทั้งสิ้น 14 ราย โดยมีการรับซื้อน้ำนมจากผู้ประกอการดังกล่าววันละ 166 ตัน ในรูปแบบของการจัดสรรโควต้า

“ยอมรับว่าสถานการณ์โควิด-19 ที่เกิดขึ้น นั้นส่งผลกระทบต่อเกษตรกรอย่างมาก การจัดสรรโควต้าของกลุ่มนมโรงเรียน ที่ประกาศให้กลุ่มที่ 3 รับซื้อวันละ 166 ตัน แต่ก็มีการจัดสรรให้กับกลุ่มสหกรณ์ในสัดส่วนที่น้อยกว่ากลุ่มบริษัทเอกชน จนทำให้ขณะนี้น้ำนมจากสหกรณ์โคนมขอนแก่นคงค้างอยู่ในสต็อกแต่ละวันจำนวนมาก ซึ่งหากไม่มีการแก้ไขก็จะส่งผลกระทบต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงโคมที่อาจจะต้องปล่อยทิ้งน้ำนมทั้งหมดไป”

ขณะที่ นายนัยฤทธิ์ จำเล ประธานกรรมการชุมนุมสหกรณ์โคนมแห่งประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า กลุ่ม 3 ของสหกรณ์โคนมแห่งประเทศไทย พบว่ามีสหกรณ์ที่ได้รับผลกระทบในลักษณะนี้เกิดขึ้นแล้วที่ สหกรณ์โคนมขอนแก่น และ สหกรณ์โคนมวาริชภูมิ จึงต้องมีการประชุมด่วนหารือถึงทางออกในการแก้ไขปัญหาเพราะหากปล่อยทิ้งไว้เข้ามารับฟัง รับทราบ หรือแก้ไขปัญหาตั้งแต่ต้นทางก็จะส่งผลต่อเหตุการณ์ที่ไม่เกิดขึ้น เพราะต้องยอมรับว่าสถานการณ์โควิดที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบในด้านต่างๆอย่างมาก ทุกภาคส่วนกำลังกำหนดแนวทางและพากันก้าวผ่านวิกฤติเหตุการณ์นี้ไปได้ด้วยกันโดยเร็ว ดังนั้นการจะออกมาเทนมทิ้งหรือการกระทำใด ๆ นั้นควรไม่มีเกิดขึ้น

“เราต้องหาทางออกและได้ข้อสรุปหรือข้อเสนอแนะที่เป็นการแก้ไขปัญหาให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม ซึ่งต้องยอมรับว่าปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นนี้นั้นแต่ละสหกรณ์นั้นแตกต่างกัน โดยเฉพาะการเลื่อนการเปิดภาคเรียนของโรงเรียนทุกแห่ง ทำให้การบริโภคนมลดลง จึงขอเชิญชวนให้คนไทยทั้งประเทศร่วมกันช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงโค ด้วยการดื่มนมทุกวัน ขณะที่คณะทำงานเมื่อได้ข้อสรุปจากปัญหาดังกล่าวแล้ว จะมีการเสนอต่อกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และรัฐบาลเพื่อได้รับทราบจนนำไปสู่การแก้ไขปัญหาที่ตรงจุดและชัดเจนต่อไปอย่างเร่งด่วน”

สระแก้ว - นายกเทศมนตรีเมืองอรัญประเทศ จ.สระแก้ว ทำคลีนนิ่งหน้าด่านพรมแดนคลองลึก-ปอยเปต

ถึงแม้ประเทศไทยยังพบผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ทุกวัน แต่ส่วนใหญ่มาจากต่างประเทศ และอยู่ในสถานกักกัน รวมถึงมีการสกัดคนที่ลักลอบเข้าไทยอย่างผิดกฎหมายได้ก็ตาม โดยเฉพาะหน้าด่านพรมแดนคลองลึก-ปอยเปตเป็นส่วนสำคัญที่ต้องรับคนไทยที่ไปทำงานในฝั่งกัมพูชากลับเข้าประเทศวันละ 100 ราย ดังนั้นจึงต้องทำการคลีนนิ่งป้องกันการแพร่ระบาดเชื้อโรคโควิด-19

เมื่อเวลา 15.00 น.ของ วันที่ 31 พค.64 นายวัชรินทร์ อรัญเจริญยิ่ง นายกเทศมนตรีเมืองอรัญประเทศ จ.สระแก้วพร้อมทีมงาน ทม.อรัญประเทศและ อสม.กม.5ฝั่งซ้ายและขวา จนท.ตำรวจท่องเที่ยวอำนวยความสดวกเดินหน้าสู้ภัยโควิด19 ณ.หน้าด่านพรมแดนคลองลึก-ปอยเปต ทำการฉีดล้างพ่นน้ำยาคลอบคลุมทั่วบริเวณทุกจุดเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดเชื้อโรคโควิด-19 สร้างความมั่นใจให้กับ จนท.ที่ปฏิบัติหน้าที่บริเวณดังกล่าวและกลุ่มการเดินรถส่งสินค้าข้ามแดนไปยังประเทศกัมพูชา ส่วนด่านพรมแดนคลองลึก-ปอยเปตยังคงไม่ได้รับอนุญาตให้เปิดด่านสำหรับบุคคลเข้า-ออก (ยกเว้น) รถขนส่งระบบโลจิสติกส์ยังใช้มาตราการให้มีคนขับประจำรถเพียงคนเดียวในการเข้า-ออกเท่านั้น

ทั้งนี้นายวัชรินทร์ อรัญเจริญยิ่ง นายกเทศมนตรีเมืองอรัญประเทศได้กล่าวห่วงใยว่า พี่น้องประชาชนคนไทยที่เดินทางกลับจากประเทศกัมพูชาเพื่อที่จะเข้ารับการรักษาตัวนั้นให้ปฏิบัติตนอยู่ในกฎระเบียบเพื่อตัวท่านเองร่วมมือกับ จนท.อย่างเคร่งครัดเพื่อควบคุมการระบาดของเชื้อโรคไปยังสถานที่ต่าง ๆ กล่าวทิ้งท้ายเชิญพี่น้องฉีดวัคซินกาดอย่าตกเพื่อครอบครัวและพร้อมที่ช่วยเหลือทุกหน่วยงานที่ประสานมา ทำความสะอาด ล้างท่อระบายน้ำต่าง ๆ บริเวณหน้าด่านนอกจากนั้นแล้วยังเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับพ่อค้าแม่ค้นชาวกัมพูชาด้วย วันนี้ พร้อมอุปกรณ์สำหรับทำความสะอาด รถฉีดน้ำแรงดันสูง เข้าทำความสะอาดพื้นถนน และตามท่อระบายน้ำต่าง ๆ ในพื้นที่ ซึ่งการทำความสะอาดพื้นที่ตลาดโรงเกลือบริเวณหน้าด่านในครั้งนี้ ถือว่าเป็นการจัด “บิ๊กคลีนนิ่งเดย์”เพื่อเตรียมรองรับเข้าสู่ฤดูฝน ซึ่งบริเวณนี้อยู่ในพื้นที่ต่ำเมื่อถึงฤดูฝนของทุก ๆ ปีจะเกิดปัญหาน้ำท้วมเป็นประจำ เนื่องจากมีขยะจำนวนมากเข้าไปอุกตันท่อระบายน้ำ การทำความสะอาดในครั้งนี้จึงเน้นการจัดเก็บขยะต่าง ๆ ออกจากท่อระบายน้ำ เพื่อให้น้ำไหลได้อย่างสะดวก ปัญหาน้ำท้วมตลาดโรงเกลือก็จะสามารถแก้ไขได้ในระดับหนึ่ง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นอกจากเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับพ่อค้าแม่ค้าชาวกัมพูชาจำนวนมากที่เปิดร้านขายสินค้นในตลาดโรงเกลือช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 โดย มีความเป็นห่วงเรื่องนี้มาก จึงได้ให้หน่วยงานต่างๆในพื้นที่อำเภออรัญประเทศ จัดกิจกรรม บิ๊กคลีนนิ่งเดย์ และกิจกรรมต่าง ๆ ขึ้น เพื่อให้พ่อค้าแม่ค้าชาวกัมพูชามีความมั่นใจว่า คนไทยจะดูแลให้กับพ่อค้าแม่ค้าชาวกัมพูชาเป็นอย่างดี นอกจากนั้นแล้วยังเป็นการจัดกิจกรรม บิ๊กคลีนนิ่งเดย์ มีความเป็นห่วงประชาชนทั่วประเทศอีกด้วย


ภาพ/ข่าว  อดิศักดิ์ สระแก้ว / สมศักดิ์ สารการ /บูรพาทีวีออนไลน์ รายงาน

สมุทรสงคราม - ผอ.ศรชล.ภาค 1/ผบ.ทรภ.1 ตรวจเยียมหน่วยงาน ศรชล.จังหวัด และหารือข้อราชการ

พล.ร.ท.โกวิท อินทร์พรหม ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลภาค 1 และผู้บัญชาการทัพเรือภาค 1 (ผอ.ศรชล.ภาค 1/ผบ.ทรภ.1) พร้อมคณะฯ เข้าเยี่ยมพบปะและหารือข้อราชการกับ นายชรัส บุญณสะ ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลจังหวัดสมุทรสงคราม/ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสงคราม (ผอ.ศรชล.จว.สส./ผวจ.สส.) เพื่อหารือข้อราชการ พร้อมตรวจเยี่ยมการปฏิบัติงานของ ศรชล.จว.สส.และศูนย์ควบคุมความมั่นคงท่าเรือจังหวัดสมุทรสงคราม (ศคท.จว.สส.) ศคท.จว.สส.เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจกับกำลังพล ตลอดจนให้แนวทางในการปฏิบัติราชการในด้านต่าง ๆ เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติงานและยกระดับการให้บริการในด้านต่าง ๆ กับประชาชนและพี่น้องชาวประมงในพื้นที่ ในโอกาสเดียวกันนี้ด้วย


ภาพ/ข่าว ปชส.ศรชล.ภาค 1 / นิราช / นันทพล ทิพย์ศรี รายงาน

พิจิตร - นายก อบต.โพธิ์ประทับช้าง ปลุกพลังชาวบ้านฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อป้องกันโควิด

วันที่ 31 พ.ค. 2564 นายปิติพล  ปานทิม  นายก อบต.โพธิ์ประทับช้าง จ.พิจิตร และ เรืออากาศตรี บุญเกิด มีทวี  รองนายก อบต.โพธิ์ประทับช้าง รวมถึง นายปุณยวัจน์ เหลืองวิจิตร รองนายก อบจ.พิจิตร ได้ร่วมกันทำกิจกรรมในการฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อไวรัสโควิด โดยมีประชาชน กำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน และ สมาชิก อบต. รวมเกือบ 100 คน ที่นำเครื่องจักรกลทางการเกษตรที่ใช้ฉีดพ่นไม้ผลหรือสวนส้มโอมาดัดแปลงเป็นเครื่องฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อไวรัสโวิด รวมถึง อบจ.พิจิตร ก็นำเครื่องฉีดพ่นที่เป็นนวัตกรรมมาร่วมดำเนินการในครั้งนี้ด้วย  

ซึ่งการรณรงค์ในครั้งนี้เนื่องจาก ต.โพธิ์ประทับช้าง เป็นพื้นที่ตั้งของวัดโพธิ์ประทับช้าง ซึ่งเป็นโบราณสถานและแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ ซึ่งในแต่ละวันมีนักท่องเที่ยวแวะเวียนมาเป็นจำนวนมาก ดังนั้นเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยว อบต.โพธิ์ประทับช้างจึงได้ดำเนินการดังกล่าว สำหรับพื้นที่ ต.โพธิ์ประทับช้าง ประชากรส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกรรม และทำสวนปลูกส้มโอ โดยที่ผ่านมาพื้นที่แห่งนี้ไม่เคยพบผู้ป่วยติดเชื้อโควิดเลยแม้แต่รายเดียว สาเหตุเนื่องจากชาวบ้านให้ความร่วมมือกันเป็นอย่างดี อีกทั้งยังมีผู้นำชุมชนที่เข้มแข็ง จึงทำให้รอดพ้นจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิดดังกล่าว

สำหรับสถานการณ์ของจังหวัดพิจิตรประจำวันที่ 31 พ.ค. 64 วันนี้ไม่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ ติดต่อกันมาเป็นเวลา 2 วันแล้ว ผู้ป่วยสะสมระลอก 3 เดือนเมษายน 64 จนถึงวันนี้มีผู้ป้วยสะสม 144 รายรักษาหายแล้ว 95 ราย  ผู้ป่วยยังรักษาตัวอยู่ 47 ราย มีเสียชีวิต 2 ราย 


ภา/ข่าว  สิทธิพจน์  พิจิตร

ยโสธร - Kick off การป้องกันและกำจัดโรคลัมปี สกิน สร้างความเชื่อมั่นให้เกษตรกร

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 31 พ.ค.64 นายชลธี ยังตรง ผู้ว่าราชการจังหวัดยโสธร เป็นประธานเปิดการรณรงค์ Kick off การป้องกัน กำจัดโรคลัมปี สกิน ในโค กระบือ ที่ฟาร์มโคขุนหนองแหน ตำบลหนองแหน อำเภอกุดชุม โดยมี นายสัตวแพทย์ชาติชาย ยิ้มเครือ ปศุสัตว์จังหวัดยโสธร นายสรวิศ สมพงษ์ นายอำเภอกุดชุม จ.ส.ต.พงษ์สถิตย์ อรอินทร์ ประชาสัมพันธ์จังหวัด ผู้แทนเกษตรและสหกรณ์จังหวัด นายเทอดศักดิ์ สมภักดี นายกองค์การบริหารส่วนตำบลหนองแหน นายทรงศักดิ์ วงษ์สุพรรณ หัวหน้าด่านกักกันสัตว์ นายดำรงศักดิ์ หงษ์ทะนี ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหารสัตว์ ปศุสัตว์อำเภอทุกอำเภอ และหัวหน้าส่วนราชการระดับอำเภอ พร้อมเกษตรกรผู้เลี้ยงโค กระบือ ในพื้นที่ ข้าร่วมงาน

นายสัตวแพทย์ชาติชาย ยิ้มเครือ ปศุสัตว์จังหวัดยโสธร กล่าวว่า การจัดกิจกรรมครั้งนี้เพื่อสร้างการรับรู้ให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องเรื่องโรคลัมปี สกิน ซึ่งเป็นโรคอุบัติใหม่ในประเทศ ให้แก่เกษตรกรและประชาชนทั่วไป ให้เกิดความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการปฏิบัติงานป้องกัน ควบคุม และกำจัดโรค การจัดกิจกรรม ประกอบด้วย การปล่อยขบวนรถหน่วยพ่นยาฆ่าเชื้อโรคและพ่นยากำจัดแมลง  ปล่อยขบวนรถหน่วยสัตวแพทย์เคลื่อนที่ สร้างความรู้ ความเข้าใจในการป้องกันโรคลัมปี สกิน แก่เกษตรกรโดยงดการเคลื่อนย้ายสัตว์ และขอให้เป็นเครือข่ายในการเฝ้าระวังโรค พร้อมทั้งมอบสารกำจัดแมลง น้ำส้มควันไม้ ชุดเวชภัณฑ์สำหรับสัตว์  แร่ธาตุก้อน วิตามิน บำรุงสุขภาพสัตว์ มอบหญ้าแห้งอาหารสัตว์

ทั้งนี้การเฝ้าระวังป้องกันการแพร่ระบาดโรคในพื้นที่บ้านหนองแหน หมู่ 1 ,3, 7 ซึ่งมีเกษตรกรเลี้ยงสัตว์รวม 8 คอก โค 14 ตัว องค์การบริหารส่วนตำบลหนองแหน ได้สนับสนุนพ่นยาไล่แมลงที่เป็นพาหนะนำชื้อโรคพร้อมปศุสัตว์อำเภอกุดชุม เร่งลงพื้นที่ให้ความรู้แก่เกษตรกรในการเฝ้าระวัง ป้องกันโรค

สำหรับโรคลัมปี สกิน เป็นโรคอุบัติใหม่พบในโค กระบือ  เกิดจากเชื้อไวรัสติดต่อโดยแมลงดูดเลือดเป็นพาหนะนำโรคและไม่ติดต่อสู่คน สัตย์ป่วยจะมีอาการไข้สูง ซึม เบื่ออาหาร มีตุ่นนูนแข็งขึ้นตามลำตัว ต่อน้ำเหลือโต ขณะนี้มีการแพร่ระบาดทั่วประเทศ 41 จังหวัด ส่วนในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบระบาดใน 17 จังหวัด โดยจังหวัดยโสธร พบารระบาดใน 9 อำเภอ 58 ตำบล เกษตรกรได้รับผลกระทบ 563 ราย ซึ่งมีสัตว์เลี้ยง รวม 160,236 ตัว มีสัตว์ป่วยรวม 875 ตัว  ยังคงป่วย 768 ตัว และได้ประกาศเป็นเขตโรคระบาดชนิดลัมบีสกิน ในโค เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2564 เพื่อควบคุมการเคลื่อนย้ายสัตว์เข้า-ออกในพื้นที่ ซึ่งจะสร้างความมั่นใจว่าจะสามารถกำจัดโรคลัมปี สกิน ให้หมดไปได้อย่างแน่นอน และขอให้เชื่อมั่นว่า โรคนี้ รักษาหาย เนื้อกินได้ ไม่ติดคน


ภาพ/ข่าว  สมัย คำแก้ว ผู้สื่อข่าวภูมิภาคจังหวัดยโสธร

ขอนแก่น - เปิดตัวน้อง “ใบหม่อน” หุ่นยนต์อัจฉริยะช่วยบุคลากรทางการแพทย์ปราบโควิด-19 จากผลงานของนักเรียนชั้น ม.1 ส่งมอบให้กับ รพ.ชุมแพ ได้ใช้งานจริงในราคาไม่แพง

เมื่อเวลา 14.00 น.วันที่ 31 พ.ค.2564 ที่โรงเรียนเมทนีดล อ.เมือง จ.ขอนแก่น ดร.อรทัย  สันติเมทนีดล ผู้อำนวยการโรงเรียนเมทนีดล จ.ขอนแก่น นำคณะครูและนักเรียน ร่วมส่งมอบน้อง “ใบหม่อน” หุ่นยนต์อัจฉริยะช่วยบุคลากรทางการแพทย์ปราบโควิด-19 ให้กับ พญ.ดวงพร  อัศวราชันย์ ผอ.รพ.ชุมแพ จ.ขอนแก่น ซึ่งเป็นผลงานประดิษฐ์ของนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาชั้นปีที่ 1 ที่ได้ประดิษฐ์และคิดค้นขึ้นสำหรับการให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่กำลังเกิดขึ้น

ดร.อรทัย สันติเมทนีดล ผู้อำนวยการโรงเรียนเมทนีดล จ.ขอนแก่น กล่าวว่า ด้วยการจัดการเรียนการสอนที่มีการบรรจุรายวิชา เอไอ หรือปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งคณะครูได้ให้โจทย์ให้กับนักเรียนระดับชั้น ม.1 ในการคิดค้นและประดิษฐ์หุ่นยนต์อัจฉริยะที่สามารถใช้งานได้และสอดรับสถานการณ์ปัจจุบัน นักเรียนจึงได้เสนอแผนงานในการประดิษฐ์หุ่นยนต์เพื่อช่วยเหลือและสนับสนุนบุคลากรทางการแพทย์ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่กำลังเกิดขึ้นจึงได้ประสานงานร่วมกันกับหลักสูตรภาควิชาเมคาทรอนิกส์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ในการวางแผนประดิษฐ์หุ่นยนต์ขึ้น เพื่อให้สามารถใช้งานได้อย่างครอบคลุม

“น้องใบหม่อน เป็นหุ่นยนต์ตัวที่ 2 ที่นักเรียนได้คิดค้นและประดิษฐ์ขึ้น โดยมีความสูง 165 ซม. และขนาดความกว้าง 40 ซม. โดยด้านบนส่วนหัวจะเป็นที่ตั้งของกล้องและระบบรับสัญญา บริเวณลำตัวจะติดตั้งหลอดรังสี UVC ที่มีคุณสมบัติเศษในการฆ่าเชื้อโรคได้ในรัศมี 5-7 เมตร ขณะที่ช่วงล่างก่อนถึงฐานล้อ มีการติดตั้งกล่องใส่สิ่งของ ที่สามารถรับน้ำหนักได้ ไม่เกิน 3 กม. ระบบพลังงานใช้แบตเตอรี่รองรับไฟบ้านทั่วไป โดยใช้เวลาชาร์จ 2 ชม. ต่อการใช้งานอย่างต่อเนื่องได้นานถึง 6 ชม. ระบบรับ-ส่งสัญญาณผ่านระบบไวไฟที่สามารถส่งสัญญาณได้ถึงกันระยะทางกว่า 300 เมตร ซึ่งเมื่อได้รูปแบบแล้วจึงวางแผนในการจัดหาอุปกรณ์ส่วนต่าง ๆ อย่างครบถ้วนและเข้าสู่ขั้นตอนของการประดิษฐ์ตามคำแนะนำของคณาจารย์ โดยนักเรียนได้ใช้เวลาเพียง 2 วันก็สามารถทีจะประดิษฐ์หุ่นยนต์ตัวนี้ได้สำเร็จ อย่างไรก็ดีสำหรับหุ่นยนต์อัจฉริยะตัวแรกที่ประดิษฐ์ขึ้นนั้นได้ส่งมอบให้กับ รพ.ภูเวียง และวันนี้ตัวที่ 2 ได้ส่งมอบให้กับ รพ.ชุมแพ โดยได้มีการสาธิตและสอนการใช้งานกับเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบเรียบร้อยแล้ว และทางโรงเรียนยินดีที่จะดูแลรักษาและซ่อมบำรุงให้กับหุ่นยนต์ทั้ง 2 ตัวตลอดระยะเวลาของการใช้งานที่โรงพยาบาลอีกด้วย”

ด.ช.ณัฎฐ์  นาคบรรพต  จิตร์โต นักเรียนชั้น ม.1 โรงเรียนเมทนีดล จ.ขอนแก่น กล่าวว่า จากข้อมูลพบว่าหุ่นยนต์ที่ใช้ในวงการการแพทย์ ที่มีบางพื้นที่นำมาใช้ในการเป็นผู้ช่วยเหลือบุคลากรทางการแพทย์จากสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น ราคาสูงถึงตัวละกว่า 5 ล้านบาท ทำให้เพื่อนๆร่วมชั้นเรียน ซึ่งขอเป็นส่วนหนึ่งในการนำความรู้ ความสามารถ นำเอาแนวความคิดมาประสานกับเทคนิคทางวิชาการวิทยาศาสตร์ จนกลายมาเป็นน้องใบหม่อน ในราคาต้นทุนตัวละ 30,000 บาทที่เพื่อนร่วมชั้นเรียนทุกคนใช้เวลาในการประดิษฐ์เพียง 2 วัน ซึ่งข้อดีของน้องใบหม่อนนี้นั้นสามารถหมุนได้ 360 องศา มีขนาดความกว้างที่พอดี ที่สามารถเข้าไปในสถานที่ต่าง ๆ ได้แทบทั้งหมด รัศมีการฉายรังสี ยูวีซี ได้กว้างและไกลถึง 5-7 เมตร ซึ่งสามารถที่จะทำความสะอาด ฆ่าเชื้อโรค เชื้อจุลชีพ แบคทีเรียในห้องพักผู้ป่วย หรือห้องปฎิบัติการได้อย่างครบถ้วน อีกทั้งยังคงสามารถใช้ในการรับส่งของ ระหว่างแพทย์และผู้ป่วย ด้วยการติดตั้งกล่องด้านล่างช่วงฐานล้อ และบริเวณตัวหุ่นยนต์มีการติดตั้งชั้นสำหรับการใส่สิ่งของ หรือยา หรือแฟ้มผู้ป่วย เพื่อลดความเสี่ยงให้กับบุคลากรทางการแพทย์ ในสถานการณ์ที่มีการแพร่ระบาดของโรคที่เกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้

ขณะที่ พญ.ดวงพร อัศวราชันย์ ผอ.รพ.ชุมแพ จ.ขอนแก่น กล่าวว่า หุ่นยนต์ที่ได้รับมอบจะเป็นประโยชน์ต่อการทำงานของโรงพยาบาลอย่างมาก โดย รพ.ชุมแพ ทำการรักษาผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 แล้วทั้งสิ้น 23 ราย ซึ่งขณะนี้บางส่วนหายขาดจาดโรคและบางส่วนอาการดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยหุ่นยนต์ที่ได้รับมอบถือเป็นมิติใหม่ในการทำงานโดยเฉพาะกับการที่จะช่วยในเรื่องของการทำความสะอาดห้องผู้ป่วยหรือ ห้องปฎิบัติการต่าง ๆ ด้วยระบบรังสียูวีซี รวมทั้งการรับ-ส่งสิ่งของ เวชภัณฑ์ยา หรือการติดต่อกับผู้ป่วยกับทีมแพทย์ ที่จากนี้ไปจะสามารถดำเนินการได้อย่าง สะดวก คล่องตัวและเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพจากผลงานของนักเรียนในครั้งนี้

คุมเข้มสกัดโควิด ชายแดนไทย-มาเลเซีย หวั่นแรงงานลอบเข้าเมืองทะลัก หลังมาเลเซียปิดประเทศ

นายอำเภอเบตงกำชับ หน่วยงานความมั่นคง ทหาร ตำรวจ ตชด. ฝ่ายปกครอง  "เบตง" บูรณาการร่วม ออกลาดตระเวนตามแนวกำแพงชายแดนไทย-มาเลเซีย ป้องกันกลุ่มแรงงานไทย และต่างด้าวในมาเลเซียลักลอบเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย หลังมาเลย์ประกาศคำสั่งล็อกดาวน์ทั่วประเทศ 1 -14 มิ.ย.64 เพื่อป้องกันผู้ลักลอบหลบหนีเข้าเมืองเพื่อสกัดกั้นการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 

วันที่ 31 พ.ค.64 ที่ด่านพรมแดนเบตง อ.เบตง จ.ยะลา ซึ่งเป็นด่านพรมแดนไทย-มาเลเซีย ตรงข้ามกับด่านเปิงกาลันฮูลู รัฐเปรัก ประเทศมาเลเซีย  นายเอก ยังอภัย ณ สงขลา นายอำเภอเบตง ได้กำชับให้เจ้าหน้าที่หน่วยงานความมั่นคง ทั้งทหาร ชุดป้องกันชายแดนที่ 4 ตำรวจ สภ.เบตง ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองเบตง  ตชด. ชุดเฝ้าตรวจชายแดน  อส.อำเภอเบตง  ออกลาดตระเวนตามแนวกำแพงตลอดแนวชายแดนไทย-มาเลเซีย โดยเฉพาะในพื้นที่ป่าเขาและช่องทางธรรมชาติ เพื่อป้องกันการลักลอบเข้าเมืองโดยไม่ผ่านขั้นตอนการตรวจคัดกรองโควิด-19 และกักตัว 14 วัน ของกลุ่มแรงงานไทยและต่างด้าวในมาเลเซีย ซึ่งอาจเป็นกลุ่มเสี่ยงที่นำพาโควิด-19 สายพันธุ์อินเดียและแอฟริกาใต้เข้ามาแพร่ระบาดในพื้นที่ชายแดนไทย หลังจากประเทศมาเลเซียกำลังเผชิญกับการระบาดที่มีความรุนแรง จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ยังคงพุ่งสูงขึ้น อีกทั้งยังพบการระบาดของเชื้อโควิดกลายพันธุ์ สายพันธุ์แอฟริกา สายพันธุ์อินเดียและในประเทศมาเลเซียอีกด้วย

นายอำเภอเบตง กล่าวด้วยว่า พรุ่งนี้เป็นวันแรกของการปิดประเทศมาเลเซีย และอาจจะมีชาวไทยมุสลิมในมาเลเซียที่เข้าเมืองมาผิดกฏหมายลักลอบกลับเข้ามาโดยไม่ผ่านการตรวจโควิด-19 ส่วนบรรยากาศที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองเบตง จังหวัดยะลา เจ้าหน้าที่กองอำนวยการร่วมประสานงานประจำด่านตรวจคนเข้าเมืองเบตง ได้ร่วมกันคัดกรองแรงงานไทยที่เดินทางกลับมาจากมาเลเซีย โดยต้องผ่านการฉีดยาฆ่าเชื้อ ตรวจสัมภาระ ซักประวัติ ตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย พร้อมกักตัว 14 วัน ที่ศูนย์ Local Quarantine ในพื้นที่จังหวัดยะลา

ล่าสุดทางการมาเลเซียประกาศออกคำสั่งล็อกดาวน์ทั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1 -14 มิ.ย.64  เพื่อพยายามควบคุมสถานการณ์ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือโควิด-19 ที่ยังคงมีความรุนแรง จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ยังคงพุ่งสูงขึ้น อีกทั้งยังพบการระบาดของเชื้อโควิดกลายพันธุ์ สายพันธุ์แอฟริกาและอินเดีย ในประเทศมาเลเซียด้วย โดยมีคำสั่งห้ามประชาชนเดินทางระหว่างรัฐ รวมทั้งการเดินทางข้ามพื้นที่ภายในรัฐ ตลอดจนยังห้ามประชาชนมีกิจกรรมที่ต้องรวมกลุ่มกัน โดยมาตรการใหม่นี้เริ่มใช้ในวันที่ 1 -14 มิ.ย.64

นอกจากนี้มีคำสั่งปิดสถานศึกษาทั่วประเทศ ซึ่งในส่วนของธุรกิจ ผู้ประกอบการค้าต่าง ๆ ยังคงอนุญาตให้เปิดทำการได้ต่อไปแต่ต้องมีหนังสือรับรองของบริษัทหรือองค์กรที่สังกัดอยู่จึงสามารถเดินทางได้ขณะที่ธุรกิจ ผู้ประกอบการค้าต่าง ๆ ได้ให้ความร่วมมือกับทางการโดย พนักงาน เจ้าหน้าที่ ของบริษัท ห้างร้าน  ต้องใส่แมส ตลอดเวลาในการทำงาน และต้องตรวจอุณหภูมิ ร่างกาย ก่อนเข้าบริษัท


ภาพ/ข่าว  ธานินทร์  โพธิทัพพะ / ปื๊ด เบตง

หน่วยเรือรักษาความสงบเรียบร้อยตามลำแม่น้ำโขงนครพนม จับผู้ต้องหาค้ากัญชา พร้อมรถตู้ริมฝั่งโขง

วันที่ 30 พ.ค.64 ที่ บก.นรข.เขตนครพนม อ.ธาตุพนม จ.นครพนม นอ.ฤทธิ์ นาทวงศ์ ผบ.นรข.เขตนครพนม แถลงว่า เมื่อวันที่ 29 พ.ค.64 ได้รับแจ้งจากแหล่งข่าวว่าจะมีการลักลอบนำยาเสพติดเข้ามาในราชอาณาจักรในพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำโขง หน้าวัดหลักศิลา บ.หลักศิลา ต.พระกลางทุ่ง อ.ธาตุพนม จ.นครพนม จึงได้สั่งการให้ น.ท.พิเชษฐ์ เมืองโคตร หน.สน.เรือธาตุพนม จัดชุดลาดตระเวนซุ่มเฝ้าตรวจบริเวณดังกล่าว

จนกระทั่งเวลาประมาณ 01.50  น.ได้มีรถตู้ต้องสงสัยจำนวน 1 คัน ยี่ห้อโตโยต้า สีเทา ทะเบียน ฮย3004 กทม. ได้ขับมาจอด ที่บริเวณริมฝั่งแม่น้ำโขง หน้าวัดหลักศิลา บ.หลักศิลา ต.พระกลางทุ่ง อ.ธาตุพนม จ.นครพนม จนท. ชุดลาดตระเวน ที่ซุ่มอยู่ห่างจากจุดรถตู้ต้องสงสัยประมาณ 50 เมตร เมื่อรถตู้ดับเครื่องยนต์ได้เห็นชายต้องสงสัยซึ่งเป็นคนขับรถตู้คันดังกล่าวเปิดประตูเดินลงมาจากรถเดินอ้อมไปทางด้านซ้ายของรถตู้ เจ้าหน้าที่ชุดลาดตระเวนจึงได้แสดงตัวขอตรวจค้น ชายต้องสงสัยและรถตู้คันดังกล่าว ทราบชื่อภายหลังคือ นายพัฒนชัย (สงวนนามสกุล) อายุ 37 ปี ที่อยู่ 151 หมู่ที่ 7 ต.นาดี อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์

จากการตรวจสอบในบริเวณพื้นที่ที่รถตู้ต้องสงสัยจอดอยู่ พบห่อสีดำจำนวน 3 ห่อ และกระสอบถุงปุ๋ย จำนวน 5 กระสอบอยู่บริเวณด้านข้างรถและห่อสีดำจำนวน 1 ห่ออยู่ในตัวรถ เจ้าหน้าที่ฯ นำผู้ต้องหาและของกลางทั้งหมด มาที่ สน.เรือธาตุพนม เพื่อทำการตรวจสอบอย่างละเอียด ภายในกระสอบเป็นกัญชาอัดแท่ง 180 แท่ง/กก. นำของกลางกัญชา พร้อมผู้ต้องหา และรถยนต์ ส่งมอบให้พนักงานสอบสวน สภ.หลักศิลา อ.ธาตุพนม เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป       


ภาพ/ข่าว  สุเทพ หันจรัสผสข.นครพนม

เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ห้วยศาลาจังหวัดศรีสะเกษ จับกุมมอดไม้เขมร ตามแนวชายแดนไทยกัมพูชา

เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2564 นายสาธิต พันธุมาศ หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยศาลา แจ้งมาว่า เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยศาลา จ.ศรีสะเกษ ขอรายงานการกระทำผิดกฏหมายว่าด้วยการป่าไม้ ประจำวันที่ วันที่ 30 พ.ค 2564  ดังนี้

           1. วันที่ 30 พ.ค. 2564 เวลา 14.54 น. ศูนย์พิทักษ์ป่าที่ 1 (ชุด Smart Patrol) จับกุมชาวกัมพูชา 3 คน 1.นายโคน รุน อายุ  24  ปี  2.นายโพลี สา  อายุ  19  ปี  3.นายคน วันดี อายุ  19  ปี  ทั้ง 3 คน อาศัยอยู่บ้าน/ภูมิ โอสวาย ตำบล/คุ้ม โอสวาย อำเภอ/สรกมตอเปียงประสาท  จังหวัด/เขต อุดรมีชัย ประเทศกัมพูชา  ทั้งนี้ ได้ประสาน จนท.สาธารณสุข รพสต.บ้านนาตราว ทำการคัดกรอง Covid-19 เบื้องต้น ตามมาตรการป้องกันฯของจังหวัดศรีสะเกษ

           2. แจ้งข้อกล่าวหา กระทำผิด พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 11,48, พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พศ.2507 มาตรา 14 พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562  มาตรา 53,55(5)  สำหรับ ความผิดพรบ.คนเข้าเมือง พศ.2522 และ  พรบ.อื่นที่เกี่ยวข้อง ได้ขอความร่วมมือพนักงานสอบสวน ดำเนินการ

           3. ตรวจยึดไม้พะยูงแปรรูป จำนวน 8 ท่อน ปริมาตร 0.125 ลูกบาศก์เมตร พร้อมอุปกรณ์การกระทำผิด ขวาน จำนวน  1  เล่ม หัวไฟคาดศีรษะ จำนวน 2 อัน ตลับเมตร จำนวน 1  อัน เลื่อยลันดา จำนวน 1 ปื้น จอบ จำนวน 1 ด้าม เสียม จำนวน 1 ด้าม  นำส่ง พงส.สภ.ขุนหาญ อำเภอขุนหาญ  จ.ศรีสะเกษ ดำเนินคดีตามกฎหมาย ต่อไป

           4. เหตุเกิดเมื่อวันที่  30  พ.ค. 2564  เวลา  14.54 น.  บริเวณป่าทางทิศใต้พนมโพธิ์ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยศาลา  ทับซ้อนเขตป่าสงวนแห่งชาติ  “ป่าฝั่งขวาห้วยศาลา” ท้องที่ตำบลห้วยจันทร์  อำเภอขุนหาญ  จังหวัดศรีสะเกษ  ห่างจากชายแดนไทย - กัมพูชา ประมาณ  10  กิโลเมตร  พิกัดตรวจยึดจับกุม UTM 48 P427922 E 1599051 N   


ข่าว/ภาพ  บุญทัน  ธุศรีวรรณ ศรีสะเกษ

อำนาจเจริญ - รมช.เกษตรและสหกรณ์ลงพื้นที่ตรวจโรคลัมปี-สกิน ระบาดโค-กระบือระบาดในพื้นที่ อำนาจเจริญรับปากจะนำเรื่องเข้าครม.เพื่อหาทางช่วยเหลือเกษตรกรต่อไป

เมื่อเวลาประมาณ 15.30 น. นางมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เดินทางมาเป็นประธานในการเปิดงานรณรงค์ป้องกันการแพร่ระบาดโรคลัมปี-สกินระบาดในโค-กระบือ ที่บ้านโคกพระ หมู่ 3 ต. นาป่าแซง อ.ปทุมราชวงศา จ. อำนาจเจริญ และมอบเวชภัณท์และอุปกรณ์การป้องและปล่อยขบวนรถในการรณรงค์ ป้องกันโรคระบาด เพื่อนำไปช่วยเหลือเกษตรกกรที่ได้รับผลกระทบจากโรคระบาดในครั้งนี้ และรับปากว่าจะนำความเดือดร้อนจากเกษตรกรเข้า ครม.เพื่อหามาตรการช่วยเหลือเกษตรกรต่อไป

นายทวีภัทร เหล่าบรรเทา สหกรณ์จังหวัดอำนาจเจริญ บอกว่าขณะนี้ได้เกิดโรคลัมปีสกินหรือโรคตุ่มระบาดในโค ของสมาชิกสหกรณ์ในพื้นที่ จ. อำนาจเจริญ มาตั้งแต่ต้นเดือน มีนาคม 2564 ส่งผลให้สมาชิกสหกรณ์ได้รับผลกระทบจากโรคระบาดในครั้งนี้ ทางสหกร์จึงได้จัดโครงการรณรงค์ป้องกันโรคระบาด โดยเชิญ รมช.เกษตรและสหกรณ์มาหามาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบในครั้งนี้ต่อไป

นางมนัญญา รมช.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่าจากการรายงานของ ผวจ.สหกรณ์จังหวัดและ ปศุสัตว์จังหวัด ทราบว่าโรคระบาดในพื้นที่ จ. อำนาจเจริญ  ระบาดในครั้งนี้ประมาณ 1,000 ตัว  ตายตามที่ได้รับรายงานจำนวน 38 ตัว ซึ่งส่งผลกระทบต่อเกษตรกร ตนรับปากว่าจะนำปัญหาดังกล่าวไปเสนอ ครม.เพื่อหาทางช่วยเหลือเกษตรกรต่อไป


ภาพ/ข่าว รมช.เกษตรติดตามสถานการณ์โรคระบาดโค-กระบือ / นายคู่  บุญมาศ 


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top