Tuesday, 18 March 2025
SPECIAL

ธรรมะประจำวันอาทิตย์ที่ 7 กรกฎาคม 2567 : เจ้ากรรมนายเวร ให้อภัยแล้ว ยังบาปไหม?

จากช่องติ๊กต็อก @dhamma_tv ได้เผยแพร่คำสอนเรื่อง ‘เจ้ากรรมนายเวร ให้อภัยแล้ว ยังบาปไหม?’ จากรายการ ‘ธรรมะทำไม’ โดย ‘พระครูศรีปริยัติวิสุทธิ์ (หลวงพ่อโกวิท)’ รองเจ้าคณะจังหวัดนครราชสีมา เจ้าอาวาสวัดด่านใน

👍คำถาม: ถ้าเจ้ากรรมนายเวร ให้อภัยแล้ว เรายังต้องรับกรรมที่เคยกระทําต่อเขาอยู่หรือไม่?

✨พระครูศรีปริยัติวิสุทธิ์ (หลวงพ่อโกวิท): ต้องถามก่อนว่า ‘เจ้ากรรมนายเวร’ ที่ว่ามานั้นชื่ออะไร? ซึ่งเราก็ไม่ทราบว่าชื่ออะไร แล้วเมื่อบอกว่าเขาอโหสิกรรมให้แล้ว ใครเป็นคนบอก? จะสมมติว่าเจ้ากรรมนายเวรบอกก็ไม่ได้ ในเรื่องบางเรื่องสมมติได้ แต่บางเรื่องสมมติไม่ได้ เรื่องเวรกรรมจึงเป็นเรื่องที่สมมติไม่ได้ 

ใครจะไปถามเจ้ากรรมนายเวร มีกี่คน? ชื่ออะไรบ้าง? อยู่ที่ไหน? รายละเอียดเยอะนะ ฉะนั้นต้องมีตรงกลางแล้วกัน หากทําความดีใด ๆ แล้วเราระลึกถึงท่านผู้มีเวร ก็ระบุได้ว่า “บุญกุศลที่ข้าพเจ้ามีในครั้งนี้ ข้าพเจ้าขอแผ่ถึงท่าน รู้ก็ดี ไม่รู้ก็ดี เป็นมนุษย์ก็ดี เป็นสัตว์ก็ดี เป็นอทิสสมานกาย (สัตว์โลกผู้มีกายไม่ปรากฏ) ก็ดี เป็นโอปปาติกะ (ผู้เกิดผุดขึ้นโดยไม่ต้องอาศัยพ่อแม่ และโตเต็มตัวในทันใด ตามแต่อดีตกรรม ตายก็ไม่มีซากปรากฏ) ก็ดี เมื่อท่านรับทราบ ขอจงอนุโมทนาในบุญกุศลที่ข้าพเจ้าแผ่มานี้ เมื่อท่านรับแล้วขอได้โปรดยกโทษ หากโทษมี ขอให้อภัยหากให้อภัยกันได้” เป็นการใช้จิตใช้จิต แผ่พลังทางจิต

หลวงพ่อเคยเล่าเรื่องพระอรหันต์ครับนามว่า ‘อายุวัฒนกุมาร’ ซึ่งมีพราหมณ์บอกว่าเด็กคนนี้จะอายุไม่ยืน พระพุทธเจ้าจึงมอบพระสงฆ์ไปสวดพระปริตร ท่านก็มีชีวิตยืนยาวมานานถึง 120 ปี

ดังนั้น การสร้างความดีขึ้นมาใหม่ การสร้างกุศลขึ้นมาใหม่ ให้แรงกว่าบาปที่มีอยู่เดิม ก็สามารถที่จะบรรเทาเบาบางบาปนั้นให้ลดทอนลง หากมีผลอย่างแรงก็ลดเป็นปานกลาง หากมีผลอย่างปานกลางก็จะลดหายไป

ธรรมะประจำวันอาทิตย์ที่ 30 มิถุนายน 2567 : สวดมนต์ทุกวัน แต่ไม่มีสติ ได้บุญไหม?

จากช่องติ๊กต็อก @dhamma_tv ได้เผยแพร่คำสอนเรื่อง ‘สวดมนต์ทุกวัน แต่ไม่มีสติ ได้บุญไหม?’ จากรายการ ‘ธรรมะทำไม’ โดย ‘พระครูศรีปริยัติวิสุทธิ์ (หลวงพ่อโกวิท)’ รองเจ้าคณะจังหวัดนครราชสีมา เจ้าอาวาสวัดด่านใน

👍คำถาม: สวดมนต์ภาวนาทุกวัน แต่ไม่มีสติในการดำรงชีวิต จะได้บุญหรือไม่?

พระครูศรีปริยัติวิสุทธิ์ (หลวงพ่อโกวิท): ตรง ๆ ได้บุญอยู่แล้ว ไม่ใช่ได้บุญในขั้นตอนสวด แต่ได้บุญตั้งแต่คิดจะสวดแล้ว พระพุทธเจ้าตรัสว่า ‘เจตนาหํ กมฺมํ วทามิ’

เจตนาในที่นี้หมาย ความตั้งใจ ส่วนการตั้งใจมีอยู่ 3 ระยะ คือ ตั้งใจก่อนทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เรียกว่า ปุพพเจตนา ต่อมาคือเจตนาท่ามกลาง หรือเจตนาขณะกำลังทำ เรียกว่า มุญจนเจตนา และสุดท้าย เมื่อเจตนานั้น ๆ สำเร็จเสร็จไปแล้ว เรียกว่า อปรเจตนา 

ดังนั้นหากท่านสวดมนต์ ท่านก็ได้บุญแล้ว แล้วก่อนจะสวดท่านก็คิดว่าจะสวด และเมื่อสวดจบแล้วท่านก็มีความสุข ไม่มีตรงไหนที่ท่านจะไม่ได้บุญ

ส่วนที่บอกว่าไม่มีสติในการดำรงชีวิต ในมุมมองของศาสนาพุทธ ถ้าท่านรู้ตัวว่าไม่มีสติ นั่นแปลว่าท่านรู้นะ ท่านมีสตินะ ท่านเป็นคนดี ท่านยังรู้ตัวว่าท่านไม่มีสติ ผิดกับคนหลายคนที่เข้าใจว่าตนเองมีสติ แต่จริง ๆ แล้ว ไม่มีสติ 

ดังนั้นท่านที่บอกไม่มีสติในการดำรงชีวิต คือท่านรู้ตัวแล้ว โอกาสปฏิบัติธรรมก้าวหน้ามีเปอร์เซ็นต์สูงมาก

ธรรมะประจำวันอาทิตย์ที่ 23 มิถุนายน 2567 : ชีวิตของเรา...ถูกกำหนดไว้แล้วไหม?

จากช่องติ๊กต็อก @dhamma_tv ได้เผยแพร่คำสอนเรื่อง ‘ชีวิตของเรา...ถูกกำหนดไว้แล้วไหม?’ จากรายการ ‘ธรรมะทำไม’ โดย ‘พระครูศรีปริยัติวิสุทธิ์ (หลวงพ่อโกวิท)’ รองเจ้าคณะจังหวัดนครราชสีมา เจ้าอาวาสวัดด่านใน

✨คำถาม: หากมีหมอดูแม่นมาก ที่รู้อนาคตของเราว่าจะเป็นอย่างไร? แสดงว่าอนาคตถูกลิขิตไว้แล้วใช่หรือไม่?

💛พระครูศรีปริยัติวิสุทธิ์ (หลวงพ่อโกวิท): ถ้าตามคําสอนทางพระพุทธศาสนา หากทําบุญมาก ๆ คนที่อายุสั้นอาจจะอายุยืนได้ มีตัวอย่างคือพระอรหันต์องค์หนึ่งชื่อว่า ‘อายุวัฒนะกุมาร’ โดยอายุขัยจะต้องเสียชีวิตเมื่ออายุ 7 ปี แต่เพราะนิมนต์พระไปสวด 7 วัน 7 คืน ปรากฏว่าเด็กคนนี้รอดพ้นและอยู่มาได้จนอายุ 120 ปี แล้วที่ว่าหมอดูทํานายทายทักอย่างนั้นอย่างนี้ เพราะหมอดูหรือโหราศาสตร์ ประมวลผลจากสถิติ แต่หากบุคคลนั้นไปสร้างกรรมดีมากหรือดวงดีแต่ไม่ทําดีเลย มันอาจจะไม่เป็นอย่างนั้น (ไม่ตรงสถิติ) ก็อาจจะติดคุกติดตะรางได้

✨คำถาม: มองภาพง่าย ๆ คนเรามีกรรม มีบุญมาก่อนหน้านี้แล้ว?

💛พระครูศรีปริยัติวิสุทธิ์ (หลวงพ่อโกวิท): 
ต้องเข้าใจอีกนิดหนึ่งว่า ‘กรรม’ ไม่ใช่ทําร้าย ไม่ใช่คําชั่ว แต่แปลว่าการกระทํา บุญก็เป็นกรรมนะ แต่เป็นกุศลกรรม แต่ถ้ามั่นสร้างกรรมดีไปเรื่อย ๆ กรรมที่ไม่ดีก็จะตามไม่ทัน และพอนานวันเข้า ๆ ก็จะกลายเป็นอโหสิกรรม 

ธรรมะประจำวันอาทิตย์ที่ 16 มิถุนายน 2567 : ธรรมะ คือ ธรรมชาติ แต่ทำไมทำยาก?

จากช่องติ๊กต็อก @dhamma_tv ได้เผยแพร่คำสอนเรื่อง ‘ธรรมะ คือ ธรรมชาติ แต่ทำไมทำยาก?’ จากรายการ ‘ธรรมะทำไม’ โดย ‘พระครูศรีปริยัติวิสุทธิ์ (หลวงพ่อโกวิท)’ รองเจ้าคณะจังหวัดนครราชสีมา เจ้าอาวาสวัดด่านใน

🎙: ธรรมะคือธรรมชาติ แต่ทำไมทำยากจัง?

✨พระครูศรีปริยัติวิสุทธิ์ (หลวงพ่อโกวิท):  คำว่าทำยาก จะเกี่ยวกับการฝึกหัดตนเอง เพราะโดยธรรมชาติของคน ธรรมชาติของมนุษย์ ชอบอะไรที่สบาย เปรียบเหมือนน้ำที่ไหลมาจากที่สูง ไหลลงที่ต่ำ มันไหลง่าย ก็เป็นธรรมชาติของจิต

เหมือนพฤติกรรมของคน เช่น ทุกคนต้องตื่นเช้า ซึ่งไม่มีใครอยากตื่นเช้า การทำคุณงามความดีก็คือการฝึกตน การปฏิบัติตน ย่อมไม่ง่ายเหมือนการทำบาป ไม่ง่ายเหมือนการทำชั่ว

🎙: ตามทฤษฎีของต่างชาติบอกว่าจริง ๆ แล้วคนเกิดมา ก็พร้อมที่จะทำสิ่งที่ดีอยู่แล้ว?

✨พระครูศรีปริยัติวิสุทธิ์ (หลวงพ่อโกวิท): หากยังเด็ก ยังไม่ดี ยังไม่ชั่ว ขณะเป็นเด็กเล็ก เด็กอ่อน ก็อยู่ที่ว่าจะฝึกเด็กนั้นไปทิศทางไหน โดนหล่อหลอมแบบไหน ฝึกให้เด็กมีคุณธรรม กิริยามารยาทเรียบร้อย เด็กก็ไปเส้นทางนั้น มันอยู่ที่การหล่อหลอม

🎙: ถ้าเกิดธรรมชาติของจิตมีความกวัดแกว่งแล้วรักสบายล่ะ?

✨พระครูศรีปริยัติวิสุทธิ์ (หลวงพ่อโกวิท): ก็จะแกว่ง ไหลลงทางต่ำเร็วกว่าจะขึ้นทางสูง เป็นหลักทั่วไป พระพุทธเจ้ามาค้นพบขบวนการฝึกฝนจิต เพราะหากจิตดี พฤติกรรมก็จะดี เรื่องศีลธรรมเป็นเรื่องของการฝึก

🎙: สามารถสรุปได้เลยหรือไม่ว่า หนึ่งในหน้าที่ของมนุษย์ที่เกิดมาก็คือเป็นการฝึกตน?

✨พระครูศรีปริยัติวิสุทธิ์ (หลวงพ่อโกวิท): แน่นอนเลย พูดได้เลย เพราะว่าอย่างสัตว์ทั้งหลายเมื่อพันปีที่แล้ว เคยกินนอนอย่างไร วันนี้ก็กินนอนอย่างนั้น แต่มนุษย์เคยอยู่ถ้ำ แต่วันนี้ไม่อยู่ถ้ำแล้ว วันนั้นมนุษย์ไม่มีเครื่องแต่งกาย แต่วันนี้มนุษย์ก็มีเครื่องแต่งกาย เพราะฉะนั้นมนุษย์เกิดมาเพื่อฝึกฝน ไม่มีใครที่จะเป็นอะไรโดยง่ายดาย

🎙: มนุษย์ฝึกตน ก็แปลว่าก็ต้องฝึกโดยที่มีครู?

✨พระครูศรีปริยัติวิสุทธิ์ (หลวงพ่อโกวิท): อันนี้ชัดเจนอยู่แล้ว ต้องมีครู มีสถานที่ฝึก มีสถานที่เรียน แล้วก็มีเวลา มีสุขภาพ เมื่อครบองค์ประกอบแล้ว การฝึกนั้นจึงจะได้ผล แล้วก็ได้ผลดี ก็สามารถหาข้อมูลจากสื่อสารมวลชน จากเพื่อนฝูง จากท่านผู้รู้ ท่านผู้รู้ย่อมไม่โกหก เหมือนเวลาเราป่วย เราก็ไปหาหมอ เพราะหมอรู้มากกว่า หรือจะไปซื้อยาก็ไปหาเภสัช และต้องดูแหล่งอ้างอิง ดูว่ามีผลสัมฤทธิ์หรือไม่? และแก้ไขอย่างไรบ้าง อย่าฟังแต่ชื่อหรือโฆษณาอย่างเดียว

ธรรมะประจำวันอาทิตย์ที่ 9 มิถุนายน 2567 : ทำไม? ต้องปลงหรือปล่อยวาง

จากช่องติ๊กต็อก @dhamma_tv ได้เผยแพร่คำสอนเรื่อง ‘ทำไม? ต้องปลงหรือปล่อยวาง’ จากรายการ ‘ธรรมะทำไม’ โดย ‘พระครูศรีปริยัติวิสุทธิ์ (หลวงพ่อโกวิท)’ รองเจ้าคณะจังหวัดนครราชสีมา เจ้าอาวาสวัดด่านใน

🎤: ปลงหรือปล่อยวางมีความหมายที่แท้จริงว่าอะไร และมีที่มาที่ไปอย่างไร?

💛พระครูศรีปริยัติวิสุทธิ์ (หลวงพ่อโกวิท): ‘ปลง’ เป็นภาษาไทยที่สื่อว่าตรงข้ามกับ ‘ยึดมั่นถือมั่น’ หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ ‘ยอมรับความจริง’ 

‘ปล่อยวาง’ ก็คือไม่ยึดถือ ไม่ยึดมั่น ไม่ถือมั่น ตรงหลักคําสอนพระพุทธเจ้าโดยตรง ฉะนั้นคําว่าปลง คําว่าปล่อยวาง คือให้อยู่กับความจริง ถ้าชีวิตจะมีความสุข ต้องอยู่กับความเป็นจริง มองทุกสิ่งเป็นบวก หูหนวกบางโอกาส ฉลาดคัดสรร แบ่งปันสังคม อันนี้คืออยู่กับความเป็นจริง เราต้องอยู่กับความเป็นจริงว่าความเป็นจริงนั้น มีเกิด มีแก่ มีเจ็บ มีตาย นี่คือความจริง เราต้องไม่ปฏิเสธสิ่งเหล่านี้ เราต้องอยู่กับสิ่งเหล่านี้ให้ได้

🎤: บางครั้งเห็นสิ่งที่น่าเศร้า แล้วก็จมดิ่งกับความเศร้า?

💛พระครูศรีปริยัติวิสุทธิ์ (หลวงพ่อโกวิท): ก็ไม่แปลก เป็นสิ่งที่ถูกแล้ว ถ้าหากเห็นของเศร้าแล้วใจเบิกบาน แฮปปี้ อันนี้ผิดปกติ แต่เมื่อเห็นแล้ว ก็สามารถใช้คำว่าปลงได้ ต้องคิดไว้เลยว่า สักวันหนึ่งสิ่งเหล่านี้ก็จะเกิดขึ้นกับเรา กับครอบครัวเรา หรือกับญาติพี่น้องของเรา หรือเห็นบางสิ่งบางอย่างที่เคยดีมาแล้ว สักพักมันก็ไม่ดี ก็ต้องคิดได้ว่ามันเป็นความไม่แน่นอน มันคือความจริง ต้องยอมรับความจริง นี่คือกิริยาของการปลง

อย่าไปยึด ต้องหัดวางบ้าง หัดวางทีละนิด ๆ แม้แต่ของรักขนาดไหน เราไม่พลาดจากสิ่งนั้น สิ่งนั้นก็จะพลาดจากเราไปเอง เป็นธรรมดา

ธรรมะประจำวันอาทิตย์ที่ 2 มิถุนายน 2567 : คนไม่มีศาสนา

จากช่องติ๊กต็อก @dhamma_tv ได้เผยแพร่คำสอนเรื่อง ‘ธรรมะสำหรับพนักงานบริษัท’ จากรายการ ‘ธรรมะทำไม’ โดย ‘พระครูศรีปริยัติวิสุทธิ์ (หลวงพ่อโกวิท)’ รองเจ้าคณะจังหวัดนครราชสีมา เจ้าอาวาสวัดด่านใน

🎤: คนที่ไม่นับถือศาสนา ไม่ทำบุญ ไม่มีศาสนานำทางชีวิต ตายไปแล้วจะเป็นอย่างไร?

💛พระครูศรีปริยัติวิสุทธิ์ (หลวงพ่อโกวิท): ก่อนจะตอบว่าตายไปแล้วจะเป็นอย่างไร? เราต้องพูดเรื่องความจริงกันก่อน เช่น ยืนกลางแดดร้อน ๆ คนนับถือศาสนาพุทธร้อนไหม? และคนศาสนาอื่น ๆ ร้อนไหม? แน่นอนว่าทุกคนร้อน ก็แปลว่าความร้อน ไม่ได้เกี่ยวกับศาสนา

เพราะฉะนั้นในเรื่องของการกระทํา แม้คุณจะประกาศตนว่ามีศาสนาหรือไม่มีศาสนา แต่ถ้าคุณทําชั่ว ทําไม่ดี ผลมันเกิดแน่นอน สมมุติว่าคุณไปตีหัวคนอื่น คุณไม่ต้องมีศาสนาก็ได้ แต่คุณจะต้องมีความผิด เขาจะต้องแจ้งความคุณ ถูกดําเนินคดี ฟ้องร้อง ขึ้นศาล ในขณะเดียวกัน ถ้าคุณทําดี คุณไม่ต้องมีศาสนาก็ได้เช่นกัน แต่คุณก็ได้ดีแล้ว เช่น คุณทําธุรกิจ เสียภาษีอากร ไม่หลบเลี่ยงภาษี หรือคุณรักครอบครัว คุณดูแลลูกหลาน แม้คุณประกาศไปว่าคุณไม่มีศาสนาแต่คุณก็ได้รับผลดี

🎤: สังกัดทางจิตใจ จำเป็นหรือไม่?

💛พระครูศรีปริยัติวิสุทธิ์ (หลวงพ่อโกวิท) : ความรู้สึกของมนุษย์แข็งแรงไม่เท่ากัน อย่างเด็กอ่อน 2-3 ขวบ อยู่ลำพังไม่ได้นะ ต้องพึ่งผู้ใหญ่ แต่ถ้าเด็กคนนั้นโต 15 ปี ก็พออยู่ได้นะ อาจจะรับจ้างหาเงินได้ 

ดังนั้นการที่จะประกาศตนว่าไม่มีศาสนา ขออย่าไปด่าคนอื่น การไม่ด่าคนอื่น ก็ถือว่าคุณมีคุณธรรมแล้ว ไม่เป็นวาจาทุจริตแล้ว ไม่จ้วงจาบ ไม่ดูถูก ส่วนกลุ่มคนที่มีศาสนา แต่ต่างศาสนากัน เป็นเพื่อนกันในโรงเรียน ในสถานที่ทํางาน แม้กระทั่งมาแต่งงานกัน สามีศาสนาหนึ่ง ภรรยาศาสนาหนึ่ง ก็ควรจะเข้ากันได้ ไม่ควรจะขัดแย้งกัน 

ดังนั้นในคําถามที่ว่า คนไม่มีศาสนา ทําบาปแล้วจะบาปไหม ก็ถ้าทําชั่ว จะได้รับผลของการทำชั่ว ซึ่งผลของการชั่ว ไม่ได้มาจากศาสนา แต่มาจากการกระทําของตน

🎤: ไม่มีศาสนา ไม่ได้ทำบาป และก็ไม่ได้ทำบุญ? 

💛พระครูศรีปริยัติวิสุทธิ์ (หลวงพ่อโกวิท): ที่จริงเขาทําบุญแล้ว เขาเลี้ยงดูครอบครัว เลี้ยงลูก ก็เป็นการทําบุญแล้ว จะปฏิเสธได้ไงว่าการเลี้ยงลูกไม่ดี นั่นแหละเป็นการทําบุญแล้ว แม้แต่เขาเสียภาษีก็คือการทําบุญแล้ว มาทํางานไม่สาย ก็คือทําบุญแล้ว

ธรรมะประจำวันอาทิตย์ที่ 26 พฤษภาคม 2567 : ธรรมะสำหรับพนักงานบริษัท

จากช่องติ๊กต็อก @dhamma_tv ได้เผยแพร่คำสอนเรื่อง ‘ธรรมะสำหรับพนักงานบริษัท’ จากรายการ ‘ธรรมะทำไม’ โดย ‘พระครูศรีปริยัติวิสุทธิ์ (หลวงพ่อโกวิท)’ รองเจ้าคณะจังหวัดนครราชสีมา เจ้าอาวาสวัดด่านใน

🎙: พนักงานออฟฟิศ พนักงานบริษัท ผู้บริหาร ควรจะใช้ธรรมะข้อไหนดี?

💛พระครูศรีปริยัติวิสุทธิ์ (หลวงพ่อโกวิท): ข้อที่ 1 คือขยัน คงไม่มีนายจ้างที่ไหนอยากได้คนขี้เกียจ ข้อที่ 2 คือซื่อสัตย์ ข้อที่ 3 ประหยัด ข้อที่ 4 สามัคคี และข้อที่ 5 มีวินัย 

ความขยัน ตรงข้ามกับความขี้เกียจ ความขยันคือการเอาใจใส่ มีความเพียร มีวิริยะ อยู่ในแผนกใดก็ขยันขันแข็งกระตือรือร้น ไม่นิ่งดูดาย ไม่ใช่คนที่เช้าชาม เย็นชาม ความขยันก็คือเสน่ห์นะ เพราะคนชอบคนขยัน

🎙: หากเป็นพนักงานบริษัทระดับล่าง แล้วคิดว่า ขยันไปก็เท่านั้น เจ้าของบริษัทไม่เห็นหรอก าคิดแบบนี้ได้ไหม?

💛พระครูศรีปริยัติวิสุทธิ์ (หลวงพ่อโกวิท): คิดแบบนี้ไม่ได้ เพราะในความเป็นจริงผู้บริหารเห็นทั้งหมด และสามารถตรวจสอบได้ และรู้ด้วยว่าใครเป็นตัวถ่วง คำโบราณคือ ม้าเทียมรถ ถ้าม้าตัวไหนพาพวกวิ่งเป๋ ก็จะรู้่ หรือม้าตัวไหนพาพวกวิ่งไปข้างหน้า ก็รู้ บ่งบอกถึงคุณภาพ

ดังนั้นต้องคิดใหม่ว่า เราจะต้องสร้างแผนกให้ชนะแผนกอื่น เช่น แผนกผลิตจะต้องผลิตให้เซลล์ขายไม่ทัน หรือฝ่ายขายก็ขายจนเกลี้ยง ต้องรักบริษัทเหมือนรักบ้าน ให้รักงานเหมือนรักครอบครัว ต้องทำแผนกให้ประสบความสำเร็จ ถ้าทำได้เงินเดือนจะขึ้นทั้งแผนกนะ แต่ในขณะเดียวกันถ้ามีใครเป็นตัวถ่วงก็จะโดนทั้งแผงเหมือนกัน ดังนั้น ‘ความขยัน’ คือธรรมะที่ทุกบริษัทต้องการ

ต่อมา ‘ซื่อสัตย์’ คือซื่อตรง จริงใจ เพราะเวลาพิจารณาขั้นเงินเดือน พวกที่ไม่ซื่อสัตย์ ซื่อตรง ก็จะไม่ได้รับ ความซื่อสัตย์ ซื่อตรง ตรงต่อเวลา เป็นคุณธรรมที่สำคัญ

ถัดมาคือ ‘ประหยัด’ คือการใช้ทรัพยากรของบริษัทด้วยความระมัดระวัง หลวงพ่อเคยไปบรรยายที่บริษัทแห่งหนึ่งมีพนักงาน 800 คน ลองคิดดูว่า ถ้า 800 คนนี้ล้างมือ ขณะถูสบู่ก็เปิดน้ำทิ้งกันทุกคน จะต้องใช้น้ำกี่ลิตร เช่นเดียวกับการปิดไฟ ปิดแอร์ ปิดเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ไม่ได้ใช้แล้ว ไม่ต้องรอให้หัวหน้ามาสั่งหรอก ทำเองได้เลย ฝึกให้เป็นนิสัย อย่าไปคิดว่าทำไปก็เท่านั้น 

เรื่องกระดาษทิชชูก็เหมือนกัน ถ้าทุกคนดึงทิชชูเหมือนดึงเชือกว่าว กระดาษจะต้องหมดวันละกี่ม้วน? แล้วกระดาษนี้เป็นทรัพยากร มาจากต้นไม้ มาจากต้นไผ่ เราต้องผลิต เราต้องทำลายสิ่งแวดล้อมมากมาย ฉะนั้นเราก็ช่วยประหยัด ไม่ได้หมายความว่าไม่ให้ใช้ แต่ให้ฝึกความประหยัดเป็นนิสัย ซึ่งประหยัดต่างจากตระหนี่นะ ตระหนี่คือมีแล้วไม่ใช้ แต่ประหยัดคือใช้เป็น ใช้พอดี 

อีกข้อคือ ‘สามัคคี’ ก็คือการอยู่ด้วยกัน ไม่ทะเลาะกัน ต้องกลมเกลียวกัน 

ข้อสุดท้าย คือ ‘มีวินัย’ อันนี้สำคัญที่สุดเลย การมีวินัยจะทำให้องค์กรทุกองค์กร หากสังเกตองค์กรต่างชาติหรือบริษัทข้ามชาติที่เขาประสบความสำเร็จระดับโลก เพราะความมีวินัย มีมากเป็นอันดับหนึ่ง เราก็มักจะชมว่าทำไมคนยุโรป คนอเมริกา จึงมีระเบียบวินัย ก็เพราะเขาฝึกมา เขาไม่ได้คิดว่าทำให้ใคร เพื่อใคร แต่เขาฝึกทำให้ตัวเองเป็นคนมีคุณภาพ

ดังนั้นธรรมะสำหรับพนักงานบริษัททุกระดับ อย่าไปคิดว่าทำไปก็เท่านั้นแหละ บริษัทเขารวย

หลวงพ่อเคยพูดว่า ทำไมคุณไม่คิดใหม่ ถ้าเจ้าของบริษัทปิดบริษัท (เจ้าของ) เขาอยู่ได้ร้อยปี ไม่เดือดร้อน แต่ถ้าบริษัทปิด เราในฐานะลูกจ้าง จะเอาเงินจากไหนมาผ่อนบ้าน ผ่อนรถ ถ้าหางานใหม่ ก็อาจจะต้องย้ายโรงเรียนลูกอีก หรือเสียค่าเดินทาง ค่าน้ำมันเพิ่มอีก 

ดังนั้นต้องทำบริษัทนี้ให้อยู่ยั่งยืน ไม่ย้ายไปไหน เราจะได้วางแผนซื้อบ้านใกล้บริษัท หาโรงเรียนลูกใกล้บริษัท เมื่ออยู่ใกล้บริษัทเดินมาก็ได้ ปั่นจักรยานมาก็ได้ ไม่ต้องใช้วินมอเตอร์ไซค์ปากซอย เห็นไหม? มันเป็นเรื่องดี ก็ต้องทำให้บริษัทรวยที่สุดเท่าที่จะรวยได้

ส่วนเรื่องเงินเดือน หลวงพ่อมั่นใจว่าไม่ต้องไปบอกให้เขาขึ้น หลวงพ่อเห็นข่าวนะบริษัทข้ามชาติมาอยู่ในไทย ขนาดตอนโควิดยังมีโบนัส 7 เดือน นั่นก็แสดงว่าพนักงานเขากลมเกลียว มีคุณภาพ ฝ่ายขายก็ขายอย่างมีคุณภาพ ฝ่ายผลิตก็ผลิตอย่างมีคุณภาพ แต่หากคิดว่า อย่าไปทำเลย ทำไปก็เท่านั้น ฝ่ายขายก็ขายแบบเนือยๆ ฝ่ายผลิตก็เนือยๆ ทุกแผนกเนือยกันหมด หากเป็นอย่างนี้ก็เตรียมจดบริษัทใหม่เลย ชื่อบริษัทเจ๊งจำกัด ไปไม่รอดแน่

ดังนั้นของฝากไว้ ‘ขยัน ซื่อสัตย์ ประหยัด สามัคคี มีวินัย’ ทำได้แล้วเจริญแน่นอน 

ธรรมะประจำวันอาทิตย์ที่ 19 พฤษภาคม 2567 : ทดแทนบุญคุณ พ่อ-แม่

จากช่องติ๊กต็อก @dhamma_tv ได้เผยแพร่คำสอนเรื่อง ‘ทดแทนบุญคุณ พ่อ-แม่’ จากรายการ ‘ธรรมะทำไม’ โดย ‘พระครูศรีปริยัติวิสุทธิ์ (หลวงพ่อโกวิท)’ รองเจ้าคณะจังหวัดนครราชสีมา เจ้าอาวาสวัดด่านใน

🎙คำถาม: ทดแทนบุญคุณเท่าไหร่ถึงจะพอ?

👉พระครูศรีปริยัติวิสุทธิ์ (หลวงพ่อโกวิท): เรื่องบุญคุณมาจากคําสอนของพระพุทธเจ้าเมื่อพระองค์ตรัสรู้แล้ว มนุษย์เป็นสังคม ถ้าหากว่าไม่มีเรื่องความกตัญญู ไม่มีเรื่องความกตเวที สังคมมนุษย์ก็จะล่มสลาย พระพุทธเจ้าจึงสอนเรื่องสังคมมนุษย์อยู่แล้วสุข อยู่แล้วเจริญ ดังนั้น ความกตัญญูกตเวที เปรียบเหมือนดิน ปลูกพืชก็ต้องอาศัยดิน บ้านเรือนต้องอาศัยดิน ห้างร้านต้องอาศัยดิน งั้นถ้าไม่มีดินจะสร้างอย่างไร? จะปลูกอย่างไร? งั้นสังคมมนุษย์ถ้าไม่มีความกตัญญูก็ไม่ต่าง จากสัตว์พวกนั้น 

(มีจุดลิมิตหรือไม่?) บุญคุณไม่ใช่หนี้ ถ้าเป็นหนี้ แต่ถ้าเป็นหนี้เงินหนี้ทอง เป็นสิ่งเข้าใจได้ ยืมมาเท่าไหร่ จ่ายดอกเท่าไหร่ ดอกเบี้ยเท่าไหร่ ก็น่าจะมีวันหมด

ต่อมาก็คือหนี้ชีวิต เราเป็นหนี้ชีวิต พ่อแม่ให้เราเกิดมา ก็ตั้งแต่พ่อแม่ประคองครรภ์ จนเกิดเราและเลี้ยงเราเติบใหญ่มา ถามว่านับเป็นเงินเท่าไหร่ใครจะนับไหวล่ะ ไม่ได้ให้ทดแทนให้หมด…แต่ทดแทนให้เหมาะสม อย่าใช้คําว่าหมด 

พุทธเจ้าเปรียบเทียบในเรื่องสุวรรณสามชาดก ว่าบุรุษและสตรี นำบิดามานั่งบนบ่าข้างหนึ่ง และมารดามานั่งบนบ่าอีกข้างหนึ่ง ใช้ชีวิต กินอยู่ ขับถ่ายบนบ่านี้อยู่ 100 ปี ก็ยังทดแทนบุญคุณไม่หมด นี่เป็นคําเปรียบเทียบ แต่ถ้าทดแทน ก็ทำตามสติ ตามกําลัง

ส่วนเรื่องที่ถามว่าจะมีวันหมดหรือไม่ พระพุทธเจ้าก็มีตรัสไว้เหมือนกันว่าถ้าหากว่า ‘บุตร’ บวชเป็นภิกษุหรือภิกษุณีก็ดี และมาสอนพ่อสอนแม่ให้บรรลุตั้งแต่โสดาบันขึ้นไป ก็ถือว่าได้ชดใช้บุญคุณ เพราะถือเป็นการเปลื้องท่านจาก ‘อบายภูมิ’ 

สรุปความการตอบแทนบุญคุณก็คือ ‘กตัญญู’ คือระลึกถึงคุณทุกเมื่อ ‘กตเวที’ ให้ตอบแทน เมื่อตอบแทนได้ เมื่อถึงจังหวะ ถึงโอกาส ถึงเวลา

ธรรมะประจำวันอาทิตย์ที่ 12 พฤษภาคม 2567 : อย่าเพิ่งขอพร แผ่กุศลก่อน

จากช่องติ๊กต็อก @dhamma_tv ได้เผยแพร่คำสอนเรื่อง ‘อย่าเพิ่งขอพร แผ่กุศลก่อน’ จากรายการ ‘ธรรมะทำไม’ โดย ‘พระครูศรีปริยัติวิสุทธิ์ (หลวงพ่อโกวิท)’ รองเจ้าคณะจังหวัดนครราชสีมา เจ้าอาวาสวัดด่านใน

🎙คำถาม: เราไปสถานที่หลาย ๆ แห่ง เช่น วัด ศาลเจ้า สถานที่ไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ เราไปแผ่กุศลให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ได้ด้วย จริงหรือไม่?

👉พระครูศรีปริยัติวิสุทธิ์ (หลวงพ่อโกวิท): อันนี้ควรทําอย่างยิ่ง เวลาไปสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ มีพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ มีเจดีย์ศักดิ์สิทธิ์ อย่าเพิ่งไปขอพร คำแนะนำก็คือให้ไปแผ่บุญกุศลให้ท่าน กล่าวดังนี้ “ด้วยอำนาจที่ข้าพเจ้าได้ทำบุญ (ระบุบุญที่ทำ) มา ข้าพเจ้าขอแผ่ให้ท่าน จะเป็นเทพองค์ใดก็ตาม ข้าพเจ้าไม่รู้ชื่อท่าน ขอให้ท่านได้สมบัติอันเป็นทิพย์ ได้อายุอันเป็นทิพย์ ได้อาภรณ์อันเป็นทิพย์ ได้อาหารอันเป็นทิพย์ ให้ท่านได้รัศมีสว่างไสว เมื่อท่านได้รับแล้ว ขอให้แผ่เทวฤทธิ์ของท่าน อวยชัยประสาทพร ขอให้ข้าพเจ้าได้สมบัติอันเป็นส่วนของมนุษย์ ได้อาหารอันเป็นส่วนของมนุษย์ ได้อาภรณ์อันเป็นส่วนของมนุษย์ ได้อายุอันเป็นส่วนของมนุษย์”

👉พระครูศรีปริยัติวิสุทธิ์ (หลวงพ่อโกวิท): แบบนี้คืออธิษฐานที่เป็นอธิษฐานบารมี ไม่เบียดเบียนตนเอง และไม่เบียดเบียนผู้อื่น

🎙คำถาม: แผ่กุศลบ่อย ๆ บุญจะหมดไหม?

👉พระครูศรีปริยัติวิสุทธิ์ (หลวงพ่อโกวิท): บุญไม่ได้มีน้ำหนัก ไม่ได้มีชิ้นมีอันเหมือนเค้ก ตรงกันข้าม ถ้าจะกล่าวให้ชัดเลย ‘บุญ’ เป็นสภาวะชนิดเดียวที่ยิ่งให้แล้วยิ่งเพิ่มขึ้น สิ่งอื่นให้แล้วหมดลง น้อยลง 

👉พระครูศรีปริยัติวิสุทธิ์ (หลวงพ่อโกวิท): ท่านบัณฑิตนักปราชญ์เปรียบว่า เหมือนเรามีเทียนอยู่ 10 เล่ม ก็สว่างประมาณหนึ่ง แต่ถ้าเอาเทียน 10 เล่ม ไปจุดต่ออีกล้านเล่ม นอกจากเทียน 10 เล่มจะไม่ดับแล้ว แสงสว่างจะมากกว่าเดิม

🎙คำถาม: แสดงว่าคำที่บอก “เอาบุญมาฝาก” ฝากยังไงก็ไม่มีทางหมดแน่นอน?

👉พระครูศรีปริยัติวิสุทธิ์ (หลวงพ่อโกวิท): ใช่ แล้วก็ดีกว่าเอาบาปมาฝากด้วย

ธรรมะประจำวันอาทิตย์ที่ 5 พฤษภาคม 2567

จากช่องติ๊กต็อก @dhamma_tv ได้เผยแพร่คำสอนเรื่อง ‘บุญ…มีทุกศาสนา’ จากรายการ ‘ธรรมะทำไม’ โดย ‘พระครูศรีปริยัติวิสุทธิ์ (หลวงพ่อโกวิท)’ รองเจ้าคณะจังหวัดนครราชสีมา เจ้าอาวาสวัดด่านใน ที่ได้ระบุไว้ว่า…

“บุญ…ไม่สังกัดศาสนาไหน ความดี…ไม่ว่าจะชนชาติใด หรือศาสนาใดก็ตาม ทําความดีคือดี ทําความชั่วคือชั่ว ไม่ได้รับการยกเว้น ทุกศาสนาสอนวิธีทําบุญอยู่แล้ว ไม่มีศาสนาไหนที่ไม่มีการทําบุญ เพราะนั้นทุกศาสนามีบุญของตัวเอง มีบุญที่ได้กระทํา (เขามีวิถีปฏิบัติของเขาอยู่แล้ว) ถูกต้อง”

“ทีนี้ต้องตอบตรง ๆ ว่าในห้วงสากลจักรวาล การเวียนว่ายตายเกิด มีอยู่ด้วยกันทั้งนั้น เราคุยกันอาจจะมี (การแยก) ศาสนานั้น ศาสนานี้ แต่เวลาไปเป็นความจริงแล้ว ยกตัวอย่าง งูจะเลื้อยไปประเทศใด ก็ไม่เห็นต้องมีพาสปอร์ต หรือต้องมีวีซ่าเลย ก็เลื้อยไปได้ หรือ นกจากไซบีเรียก็บินมาชัยภูมิ มาวางไข่ ก็ไม่เห็นต้องมีสัญชาติอะไร คําตอบก็คือ ‘นรก’ ไม่ได้เป็นของศาสนาไหน สวรรค์ไม่ได้เป็นของศาสนาไหน บุญกุศลไม่ใช่เป็นของศาสนาไหน เพราะฉะนั้นคนไหนทํา คนนั้นก็ได้บุญ”

ทีนี้พอเกิดแล้วทําให้จิตมีคุณภาพ จิตปราบปลื้ม ผ่องใส เมื่อปลาบปลื้มผ่องใส จิตก็ประมวลแต่เรื่องดี ๆ เข้ามา แล้วก็ส่งผลแต่เรื่องดี ๆ ไม่ต้องอื่นไกล วันไหนอารมณ์แจ่มใส รับประทานข้าวก็อร่อย นอนก็หลับ เมื่อเจอคนรอบข้างก็รู้สึกเบิกบาน แต่ถ้าวันไหนอารมณ์เสีย รับประทานข้าวก็ไม่อร่อย นอนก็ไม่หลับ เจอหน้าคนก็หงุดหงิด เป็นธรรมชาติ”

ธรรมะประจำวันอาทิตย์ที่ 28 เมษายน 2567

‘พระธรรมโกศาจารย์’ (เงื่อม อินฺทปญฺโญ) หรือที่รู้จักในนามท่านพุทธทาสภิกขุ หรือพระอาจารย์พุทธทาสได้ละสังขาร กลับคืนสู่ธรรมชาติอย่างสงบ ณ สวนโมกขพลารามสิริ จ.สุราษฎร์ธานี รวมอายุ 87 ปี เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ.2536 

นับจากวันนั้นถึงวันนี้ ผ่านมาแล้วมากว่า 30 ปี แม้ท่านจะละสังขารไปนานแล้ว แต่คำสอนทางธรรมที่ถูกบันทึกไว้มากมาย เช่น คู่มือมนุษย์, แก่นพุทธศาสน์, พระพุทธเจ้าสอนอะไร, อิทัปปัจจยตา ฯลฯ ก็ไม่หายไปไหน ยังมีคนในโลกใบนี้ใช้เป็นแนวทางปฎิบัติเพื่อดำเนินชีวิตให้พ้นทุกข์ หนึ่งในคำสอนของท่านที่น่าประทับใจได้แก่ “การเรียนธรรมะ คือ การเรียนให้รู้ว่า ไม่มี ‘ตัวกู’ มีแต่ธรรมชาติ ธรรมชาตินี้จะไหลเรื่อย เกิดขึ้น-ตั้งอยู่-ดับไป”

นอกจากนี้ในปี 2548 ยูเนสโกได้ประกาศยกย่องให้ ‘ท่านพุทธทาสภิกขุ’ เป็นบุคคลสำคัญของโลกด้วย

ธรรมะประจำวันอาทิตย์ที่ 21 เมษายน 2567

‘ท่านพ่อเฟื่อง โชติโก’ องค์ท่านได้รับการฝึกฝนอบรมภาวนาจากท่านพ่อลี ธัมมธโร จนเกิดเป็นหลักจิตหลักใจ และมั่นใจในคุณของพระพุทธศาสนา ท่านพ่อเฟื่อง และหลวงปู่เจี๊ยะ จุนฺโท จึงได้เดินทางไปฝากตัวเป็นศิษย์ หลวงปู่ใหญ่มั่น ภูริทัตโต ท่านพ่อเฟื่อง ท่านเป็นพระสมถะ มักน้อย สันโดษ ไม่ยึดติดในสมณศักดิ์ และลาภยศ รักการเดินธุดงค์เป็นชีวิตจิตใจ เป็นพระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ เป็นที่ควรรำลึกน้อมเป็นสังฆานุสสติอย่างยิ่ง

หนึ่งในคำสอนของท่านก็คือ “หูเราก็มี 2 หู ปากก็มีปากเดียว แสดงว่าเราต้องฟังให้มาก ต้องพูดให้น้อย”

ธรรมะประจำวันอาทิตย์ที่ 14 เม.ย. 2567

เมื่อวันที่ 11 เม.ย. 67 เพจเฟซบุ๊ก ‘บุญนิยมทีวี’ ซึ่งเป็นสื่อหลักของ สันติอโศก ได้โพสต์ข้อความระบุว่า “แจ้งข่าว พ่อครูสมณะโพธิรักษ์ มรณภาพ ด้วยโรคชรา เวลา 06.40.10 น. วันพฤหัสบดี 11 เมษายน 2567” สิริอายุ 89 ปี 10 เดือน 6 วัน 

ทั้งนี้ ‘สมณะโพธิรักษ์’ เป็นผู้ก่อตั้งและผู้นำทางจิตวิญญาณแห่งสำนักสันติอโศก เป็นผู้ก่อกำเนิดคณะกลุ่มชาวอโศก ก่อตั้งชุมชนบุญนิยม ‘พุทธสถานสันติอโศก’ ย่านนวมินทร์ ก่อนจะขยายชุมชนบุญนิยม-เครือข่ายพึ่งตนเอง ในอีกหลายจังหวัด รวมทั้งราชธานีอโศก ที่อุบลราชธานี

สมณะโพธิรักษ์เข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี ด้วยอาการปอดอักเสบ กระทั่งออกจากโรงพยาบาล กลับราชธานีอโศก จ.อุบลราชธานี เมื่อต้นเดือน ก.พ. 2567 ที่ผ่านมา ก่อนจะมีอาการทรุดลงและต้องกลับเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลอีกครั้ง กระทั่งมรณภาพอย่างสงบ

สำหรับประวัติสมณะโพธิรักษ์ มีชื่อเดิมว่า มงคล รักพงษ์ เกิดวันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2477 ที่จังหวัดศรีสะเกษ

ในวัยเด็กอาศัยอยู่กับมารดาที่จังหวัดอุบลราชธานี ภายหลังได้เข้ามาศึกษาชั้นมัธยมที่กรุงเทพฯ เมื่อเรียนจบมัธยมปลายก็ได้เข้าศึกษาต่อ ที่โรงเรียนเพาะช่าง แผนกวิจิตรศิลป์ และได้เปลี่ยนชื่อเป็น ‘รัก รักพงษ์’

ขณะที่กำลังเรียนอยู่ได้เข้าทำงานที่ บริษัท ไทยโทรทัศน์ จำกัด เป็นผู้จัดรายการ เป็นรายการเกี่ยวกับเด็ก, การศึกษา และวิชาการ นอกจากงานทางสถานีโทรทัศน์แล้ว ก็ยังทำงานเป็น ครูพิเศษ สอนศิลปะตามโรงเรียน นักแต่งเพลง และทำงานเป็นเด็กส่งหนังสือพิมพ์ไปด้วย

สมัยยังทำงานในวงการบันเทิง ท่านมีผลงานเพลงที่แต่งในนาม ‘รัก รักพงษ์’ ออกมาประสบความสำเร็จ เป็นเพลงยอดนิยมจำนวนมาก รวมทั้งเพลง ‘ผู้แพ้’ ‘กระต่ายเพ้อ’ และเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่อง ‘โทน’ ซึ่งเป็นภาพยนตร์ทำเงิน ออกฉายในปี พ.ศ. 2513 เพลงฮิตจากภาพยนตร์เรื่องนี้ที่ประพันธ์โดย ‘รัก รักพงษ์’ ได้แก่ ‘ฟ้าต่ำแผ่นดินสูง’ และ ‘ชื่นรัก’ เป็นต้น

ต่อมา ท่านได้หันมาศึกษา พุทธศาสนาและได้อุปสมบทในคณะธรรมยุติกนิกาย ณ วัดอโศการาม เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2513 ได้รับฉายาว่า ‘โพธิรกฺขิโต’ มีพระราชวรคุณ (สำรอง คุณวุฑฺโฒ) เป็นพระอุปัชฌาย์

พระโพธิรักษ์เป็นผู้ปฏิบัติเคร่งครัด สงบสำรวม เป็นที่ศรัทธาเลื่อมใส มีผู้มาขอศึกษาปฏิบัติตามทั้งฆราวาสและนักบวช จากคณะธรรมยุต และมหานิกาย ต่อมาพระราชวรคุณ ไม่ต้องการให้พระฝ่ายมหานิกายมาศึกษาอยู่ร่วมด้วย พระโพธิรักษ์ จึงเข้ารับการสวดญัตติฯ เป็นพระของคณะมหานิกายอีกคณะหนึ่ง โดยมิได้สึกจากคณะธรรมยุต ที่วัดหนองกระทุ่ม อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม โดยมีพระครูสถิตวุฒิคุณ เป็นอุปัชฌาย์ เมื่อวันที่ 2 เม.ย. 2516

ตัวท่านเองมุ่งสารธรรมเป็นใหญ่ ไม่ติดใจเรื่องนิกาย จึงมีพระทั้งมหานิกายและพระธรรมยุต ที่มีปฏิปทาเป็น ‘สมานสังวาส’ กัน มาร่วมศึกษาปฏิบัติอยู่ด้วย โดยยึดถือธรรมวินัยเป็นใหญ่ ซึ่งทำให้พระอุปัชฌาย์ทางฝ่ายธรรมยุตไม่พอใจ พระโพธิรักษ์จึงคืนใบสุทธิให้ฝ่ายธรรมยุตไป เมื่อวันที่ 25 เม.ย. 2516 ถือแต่ใบสุทธิฝ่ายมหานิกายเพียงอย่างเดียว แต่ก็มีพระจากทั้งสองนิกาย อยู่ร่วมศึกษาปฏิบัติด้วย เพราะพระโพธิรักษ์ไม่รังเกียจนิกายใด ๆ มุ่งหมายทำงานเพื่อพระศาสนา เพื่อประโยชน์ส่วนรวม โดยไม่ให้ผิดพระวินัยเป็นสำคัญ

วัตรปฏิบัติที่เป็นเอกลักษณ์สำคัญของพระโพธิรักษ์ คือ การฉันอาหารมังสวิรัติ วันละ 1 มื้อ ไม่ใช้เงินทอง นุ่งห่มผ้าย้อมสีกรัก มีชีวิตอย่างเรียบง่าย ไม่มีการเรี่ยไร ไม่รดน้ำมนต์-พรมน้ำมนต์ ไม่ใช้การบูชาด้วยธูปเทียน และไม่มีไสยศาสตร์ ซึ่งแตกต่างจากพระสงฆ์ในมหาเถรสมาคม ทีมีความเป็นอยู่อย่างสุขสบาย ทำให้บางครั้งถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นพระนอกรีต การทำงานด้านศาสนาได้รับอุปสรรคตลอดมา พระโพธิรักษ์และคณะจึงประกาศลาออกจากมหาเถรสมาคม เมื่อวันที่ 6 ส.ค. พ.ศ. 2518 แต่เมื่อถูกพิพากษาว่าไม่สามารถเรียกขานตนเองว่าเป็นพระได้ จึงเรียกตนเองว่า ‘สมณะ’ แทน แต่ยังคงปฏิบัติเคร่งครัดเหมือนเดิม

‘สมณะโพธิรักษ์’ ได้นำ ‘กลุ่มชาวอโศก’ สร้างชุมชนบุญนิยมขึ้น และก่อตั้งพุทธสถานสันติอโศกขึ้นที่ ถ.นวมินทร์ แขวงคลองกุ่ม เขตบึงกุ่ม กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 7 ส.ค. พ.ศ. 2519 หลังจากนั้น ยังเกิดชุมชนเครือข่ายเป็นชุมชนพึ่งตนเองแบบครบวงจร รวมทั้งเกิดพุทธสถานและชุมชนบุญนิยม 9 แห่ง ได้แก่

-พุทธสถานสันติอโศก เขตบึงกุ่ม กรุงเทพฯ
-พุทธสถานปฐมอโศก อ.เมือง จ.นครปฐม
-พุทธสถานศีรษะอโศก อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ
-พุทธสถานศาลีอโศก อ.ไพศาลี จ.นครสวรรค์
-พุทธสถานสีมาอโศก อ.เมือง จ.นครราชสีมา
-พุทธสถานราชธานีอโศก อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี
-พุทธสถานลานนาอโศก อ.สันทราย จ.เชียงใหม่
-สังฆสถานทะเลธรรม อ.เมือง จ.ตรัง
-สังฆสถานหินผาฟ้าน้ำ อ.แก้งคร้อ จ.ชัยภูมิ

นอกจากนี้ ยังมีการก่อตั้งองค์กรในชุมชนบุญนิยมสันติอโศก รวม 8 องค์กร ได้แก่ มูลนิธิธรรมสันติ กองทัพธรรมมูลนิธิ สมาคมผู้ปฏิบัติธรรม ธรรมทัศน์สมาคม มูลนิธิเพื่อนช่วยเพื่อน สมาคมศิษญ์เก่าสัมมาสิกขา สมาคมนักศึกษาผู้ปฏิบัติธรรม และมูลนิธิบุญนิยม

ธรรมะประจำวันอาทิตย์ที่ 7 เมษายน 2567

เมื่อวันที่ 2 เม.ย. 67 ที่ผ่านมา เป็นวันคล้ายวันมรณภาพของ ‘หลวงปู่วัง ฐิติสาโร’ รำลึก 71 ปี อาจาริยบูชาคุณ ‘พระโพธิสัตว์แห่งภูลังกา’ 

‘หลวงปู่วัง’ ท่านเป็นพระธุดงคกรรมฐานที่ช่ำชองการอยู่ป่าเป็นวัตร ออกแสวงหาความวิเวก อยู่ในพื้นที่กันดารไม่หวาดหวั่นพรั่นพรึงต่อภยันตราย ไข้ป่า สัตว์ป่า ผีร้าย หรือแม้แต่ความอดอยาก ท่านปฏิบัติธรรมอย่างอุกฤษฏ์ อยู่รุกขมูลตามป่าทึบดงหนา เงื้อมผา และโถงถ้ำ ทั่วทั้งอาณาเขตดงสีชมพู ทั้งที่ภูวัว ภูสิงห์ และภูลังกา 

‘หลวงปู่วัง’ ท่านเป็นศิษย์ หลวงปู่เสาร์ กันตสีโล และยังได้เคยไปศึกษาธรรมอยู่กับหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต หลายครั้งหลายคราว อีกทั้งยังถือว่าเป็นศิษย์รุ่นแรกของหลวงปู่ฝั้น อาจาโรและหลวงปู่อ่อน ญาณสิริ อีกด้วย 

หลวงปู่วัง ท่านปรารถนาพุทธภูมิเพื่อตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์หนึ่ง แม้หลวงปู่เสาร์ กันตสีโล ผู้เป็นพระอาจารย์เคยเตือนว่า การปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้านั้นต้องใช้เวลาสร้างบารมีมาหลายกัป หลายภพหลายชาติ มันเนิ่นช้าต้องเวียนว่ายในสังสารวัฏอีกยาวไกล แต่หลวงปู่วัง ก็ได้กราบเรียนท่านหลวงปู่ว่ามีความมุ่งมั่นรักในพุทธภูมินี้มาก แม้จะมีผู้มีอำนาจมาบังคับว่าถ้าไม่ยอมถอนจากความปรารถนานี้ จะฆ่าให้ตาย ก็ไม่ยอมถอน แม้จะฆ่าให้ตายก็ยอม เมื่อเป็นอย่างนั้นท่านหลวงปู่เสาร์ก็พลอยอนุโมทนาด้วย และบอกว่าขอให้ตั้งใจต่อไป 

ที่ถ้ำชัยมงคล ธรรมสถานหลวงปู่วังที่ภูลังกา จึงพบเห็นพระพุทธรูปฝีมือการปั้นโดยหลวงปู่วัง อยู่หลายองค์ด้วยกัน หลวงปู่วัง ท่านมักพบเห็นสิ่งอัศจรรย์เหนือโลก และเป็นที่รักใคร่ของเทวดา บังบด พญานาค และฤาษีผู้บำเพ็ญตบะอยู่ตามป่าเขา จนท่านได้รับสมญานามว่าเป็น ‘เทพเจ้าแห่งภูลังกา’

หลวงปู่วัง ท่านละสังขารลงเมื่อวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2496 ซึ่งก่อนมรณภาพ ท่านได้พูดกับศิษย์เบา ๆ ด้วยน้ำเสียงปกติว่า “มันจะตายก็ให้มันตายไป” แล้วก็ไม่พูดอะไรอีก 

จากนั้นประมาณหนึ่งชั่วโมง ท่านก็ได้มรณภาพไปด้วยอาการอันสงบ เมื่อเวลา 20.18 น. ลูกศิษย์หลวงปู่วัง ที่เป็นที่รู้จักในวงศ์พระกัมมัฏฐาน ได้แก่ หลวงปู่วัน อุตฺตโม วัดถ้ำอภัยดำรงธรรม จ.สกลนคร, หลวงปู่โง่น โสรโย วัดพระพุทธบาทเขารวก จ.พิจิตร และ หลวงปู่คำพันธ์ จันทูปโม วัดศรีวิชัย จ.นครพนม

บรรณานุกรมอ้างอิง​ : คัดลอกจากหนังสือชีวประวัติหลวงปู่คำพันธ์ จนฺทูปโม วัดศรีวิชัย บ้านศรีเวินชัย ต.สามผง อ.ศรีสงคราม จ.นครพนม​

ธรรมะประจำวันอาทิตย์ที่ 31 มีนาคม 2567

‘สมเด็จเกี่ยว’ หรือ ‘สมเด็จพระพุฒาจารย์’ อดีตเจ้าอาวาสวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร และอดีตประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช มรณภาพเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2556 หนึ่งในคำสอนของ ‘สมเด็จเกี่ยว’ ที่เตือนสติชาวพุทธได้อย่างดี คือ…

“เมื่อได้ยินอะไรในทางที่เสีย ก็อย่าเพิ่งตัดสินใจว่าเสีย เพราะเพียงแต่เขาพูดกัน ต้องใคร่ครวญพิจารณาให้ดี ในลักษณะฟังหูไว้หู ถ้ายังไม่เห็นที่ประจักษ์ด้วยตนเอง ก็อย่าเพิ่งไปต่อหรือไปเสริม ให้เกิดความเสียหาย”


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top