ธรรมะประจำวันอาทิตย์ที่ 11 สิงหาคม 2567 : ‘ปัญญา’ คือสิ่งที่สูงส่งกว่าคำว่า ‘ฉลาด’ หรือไม่?
จากช่องติ๊กต็อก @dhamma_tv ได้เผยแพร่คำสอนเรื่อง ‘ปัญญา’ คือสิ่งที่สูงส่งกว่าคำว่า ‘ฉลาด’ หรือไม่? จากรายการ ‘ธรรมะทำไม’ โดย ‘พระครูศรีปริยัติวิสุทธิ์ (หลวงพ่อโกวิท)’ รองเจ้าคณะจังหวัดนครราชสีมา เจ้าอาวาสวัดด่านใน
💛คำถาม: ‘ปัญญา’ คือสิ่งที่สูงส่งกว่าคำว่า ‘ฉลาด’ หรือไม่? แล้วในทางพุทธศาสนา ‘ปัญญา’ เกิดขึ้นเมื่อใด?
🌕พระครูศรีปริยัติวิสุทธิ์ (หลวงพ่อโกวิท): มาดูวิธีที่ทำให้เกิดปัญญาก่อน อย่างแรกคือ ‘ฟัง’ หรือ ‘สุตามยปัญญา’ แปลว่า ปัญญาสำเร็จด้วยการฟัง การไปเรียนหนังสือก็คือการไปฟัง หรือการไปฟังพระเทศน์ ก็คือการไปฟัง
อย่างที่สองคือ ‘จินตามยปัญญา’ แปลว่า ปัญญาสำเร็จด้วยการคิด เมื่อฟังแล้ว ก็เก็บมาคิดไตร่ตรองว่าจริงหรือไม่จริง ใช่หรือไม่ใช่ ควรหรือไม่ควร เป็นการคิดวิเคราะห์
อย่างที่สามคือ ‘ภาวนามยปัญญา’ แปลว่า ปัญญาสำเร็จด้วยการอบรม หรือปฏิบัติ เช่น การสวดมนต์เป็นภาวนา การนั่งสมาธิเป็นภาวนา
ปัญญาจะเกิดเป็นลำดับ ๆ ผ่านวันเวลาและการฝึกฝน เช่น เด็กชาย ก. กลายมาเป็น นาย ก. ต่อมากลายเป็น ร้อยตรี ก. ขยับมาเป็น พันโท ก. และไปถึง พลเอก ก.
ส่วนคนที่เกิดมาแล้วมีปัญญาหลักแหลม ในทางพระพุทธศาสนา เชื่อว่าเป็นการสะสมมาจากชาติก่อน ถ้าสะสมมามากก็จะฉลาดหลักแหลม อย่างที่เห็นได้ เด็กบางคนเรียนจบ ป.ตรี ตั้งแต่อายุ 11 ปี จบป.เอก ตอนอายุ 22 ปี บางคนกลายเป็นอัจฉริยะและนักวิทยาศาสตร์ คิดบางเรื่องได้มากกว่าคนอื่น ๆ เป็นกลุ่มคนที่มีปัญญาล้ำเลิศ
อย่างไรก็แล้วแต่ ถ้าจะดีเลิศที่สุด จะต้องเป็นคนที่มีปัญญานำตนให้พ้นทุกข์ได้
ที่มา:ธรรมะทำไม (@dhamma_tv)