Wednesday, 9 July 2025
SPECIAL

นนทบุรี - กองทัพบก โดยกรมพลาธิการทหารบก ได้จัดกิจกรรมจิตอาสาบำเพ็ญประโยชน์ "มีแล้วแบ่งปัน" เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 69 พรรษา 28 กรกฏาคม 2564

เมื่อ 27 ก.ค.64 เวลา 10.30 น. พลโท กิตติชัย วงศ์หาญ เจ้ากรมพลาธิการทหารบก ได้มอบสิ่งของอุปโภค บริโภค บรรจุถุงยังชีพ จำนวน 200 ถุง และเครื่องพ่นหมอกควันกำจัดยุงลายให้กับประชนชุมชนกาหลง อ.เมือง จว.นนทบุรี ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรงติดเชื้อโควิด-19 และป้องกันโรคไข้เลือดออก

โดยแสดงถึงความห่วงใยแก่ประชาชนให้มีกำลังใจสามารถผ่านวิกฤตนี้ไปด้วยกัน ตามแนวทางของกองทัพบก ที่ทหารเป็นที่พึ่งของประชาชนในทุกโอกาส ซึ่งการจัดกิจกรรมเป็นไปตามข้อกำหนดฉบับที่ 28 ของศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด โดยเจ้ากรมพลาธิการทหารได้มอบสิ่งของ ให้กับผู้นำชุมชนรับไปแจกจ่ายให้กับประชาชนในชุมชนต่อไป ในการนี้ได้เข้าเยี่ยมประชาชนสอบถามสภาพความเป็นอยู่ ชี้แจงการปฏิบัติงานของกองทัพ และให้กำลังใจอดทนต่อสู้ไปด้วยกัน

ตาก - นายอำเภอแม่สอดพร้อมกับนายกกิ่งกาชาด สมาชิกแม่บ้านมหาดไทย ลงพื้นที่สำรวจน้ำท่วม เพื่อประสานงานให้ความช่วยเหลือประชาชนในเบื้องต้น ที่ตำบลท่าสายลวดและตำบลแม่ตาว

นายชัยพฤกติ์ เชียรธานรักษ์ นายอำเภอแม่สอด พร้อมกับว่าที่ร้อยตรีหญิงกัญญารัตน์  เชียรธานรักษ์ นายกกิ่งกาชาดอำเภอแม่สอดและสมาชิกแม่บ้านมหาดไทย ปลัดอาวุโส เจ้าหน้าที่ อส.แม่สอด ลงพื้นที่สำรวจน้ำท่วม เพื่อประสานงานให้ความช่วยเหลือประชาชนในเบื้องต้น ที่ตำบลท่าสายลวดและตำบลแม่ตาว โดยมีเจ้าหน้าที่ ตำรวจ ชุดสายตรวจประจำตำบล ผู้นำท้องที่ ผู้นำท้องถิ่น กำนัน ผญบ.และ ชรบ. ให้การต้อนรับ 

ซึ่งในเบื้องต้นได้ประสานงานไปยังเทศบาลตำบลท่าสายลวดในการจัดเตรียมพื้นที่ เต้นท์ อาหารและน้ำดื่ม เพื่อดูแลในขณะที่น้ำยังท่วมอยู่ และได้จัดให้เจ้าหน้าที่ อสม.สำรวจผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนจากอุทกภัยดังกล่าวให้ลงรายชื่อขอรับความช่วยเหลือที่แอพพลิเคชั่น พ้นภัย ของสภากาชาดไทย

ทั้งนี้ นายกกิ่งกาชาดอำเภอแม่สอดและสมาชิกแม่บ้านมหาดไทยอำเภอแม่สอด ได้แนะนำให้ ผู้ดูแล Community Isolation หรือ ci โรงงานจากัวร์ ต้มน้ำสมุนไพรดื่มช่วยสร้างความอบอุ่นให้แก่ร่างกายในช่วงฤดูฝน อีกทั้งยังสามารถบรรเทาอาการไข้ไอจากการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้อีกด้วย จากนั้นได้เดินทางไปยังเทศบาลท่าสายลวด เพื่อมอบนโยบายให้แก่คณะทำงาน ให้เร่งช่วยเหลือประชาชนโดยด่วน โดยมี นายกเทศมนตรีเทศบาลท่าสายลวด ปลัดเทศบาลท่าสายลวดและเจ้าหน้าที่ให้การต้อนรับ ต่อจากนั้นได้เดินทางไปยังพื้นที่ตำบลแม่ตาว สำรวจบ้านเรือนของประชาชนที่ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมในครั้งนี้ด้วย


ภาพ/ข่าว  วรภา พันลุตัน จ.ตาก

ชลบุรี - ทัพเรือภาคที่ 1 จัดกำลังพลจิตอาสากองทัพเรือ ทำความสะอาด พื้นที่ชายหาดดงตาล กองเรือยุทธการ อำเภอสัตหีบ เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 28 กรกฎาคม 2564

วันที่ 27 ก.ค.64 พลเรือโท โกวิท อินทร์พรหม ผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 1 จัดกำลังพลจิตอาสากองทัพเรือ ฟื้นฟูสภาพแวดล้อมทางทะเล และสถานที่สาธารณประโยชน์ ชายทะเลอ่าวดงตาล กองเรือยุทธการ เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 28 กรกฎาคม 2564

โดยมอบหมายให้ นาวาเอก วีระชัย บุญมาก ผู้อำนวยการกองกิจการพลเรือน ทัพเรือภาคที่ 1 จัดกำลังพลจิตอาสาทัพเรือกองทัพเรือ จำนวน 50 นาย ได้แก่ กำลังพลจากกองบัญชาการทัพเรือภาคที่ 1 ร่วมกับกำลังพลจากหมวดบินเฉพาะกิจทัพเรือภาคที่ 1 หมวดเรือเฉพาะกิจทัพเรือภาคที่ 1 และหมวดเรือลาดตระเวนชายแดน ปฏิบัติการปูพรมทำความสะอาดชายหาดดงตาล ตั้งแต่ทางเข้าออกหน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่งบริเวณสะพานคลองถูป จนถึงอุทยานเรือประวัติศาสตร์เรือของพ่อ ต.91 เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล

สำหรับปฏิบัติการปูพรมทำความสะอาดหาดดงตาลในครั้งนี้ ได้ดำเนินการจัดกิจกรรมให้มีความเหมาะสมกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อ COVID-19 มีการแบ่งกำลังพลจิตอาสาออกเป็น 5 กลุ่มย่อย กระจายกันทำความสะอาดเก็บขยะตลอดแนวชายหาดดงตาล ซึ่งได้ดำเนินการตามมาตรการควบคุม และป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 อย่างเคร่งครัด โดยให้กำลังพลจิตอาสาเว้นระยะห่างมากกว่า 2 เมตร ตลอดเวลาของการทำกิจกรรมฯ ในการนี้สามารถกำจัดขยะมูลฝอยบริเวณชายหาด และที่ฝังอยู่ใต้พื้นทราย ได้เป็นจำนวนมาก โดยมีขยะที่ถูกกำจัด ได้แก่ ถุงพลาสติก หลอดกาแฟ แก้วพลาสติก ขวดน้ำดื่ม ขวดแก้ว กระสอบ ถุงขนม ฯลฯ รวมปริมาณขยะมูลฝอยที่สามารถกำจัดได้ในครั้งนี้คิดเป็นน้ำหนักขยะจำนวนมากกว่า 700 กิโลกรัม

การจัดกิจกรรมในครั้งนี้ ถือเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นการร่วมกันทำความดีเพื่อสังคม ฟื้นฟูสภาพแวดล้อมทางทะเล และสถานที่สาธารณประโยชน์ สร้างจิตสำนึกให้แก่กำลังพลในสังกัดทัพเรือภาคที่ 1 ให้ร่วมกันทำความดีเพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ อีกทั้งยังช่วยทำให้สภาพแวดล้อมทางทะเลเกิดความสะอาด ไม่เป็นอันตรายต่อสัตว์ทะเล และทำให้เกิดทัศนียภาพที่สวยงามบริเวณชายหาด ใช้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สะอาดได้อย่างยั่งยืน


ภาพ/ข่าว  กองกิจการพลเรือน ทัพเรือภาคที่ 1

นิราช / นันทพล ทิพย์ศรี ชลบุรี

‘นิ้วล็อก’ เป็นความผิดปกติของนิ้วมือที่ไม่สามารถ ‘งอ’ หรือ ‘เหยียด’ ได้อย่างปกติ ต้องใช้นิ้วมือด้านตรงข้ามมาแกะนิ้วที่ล็อกออกจนเกิดเสียงดัง ‘กึ้ก’

ในโลกยุคดิจิทัล เพียงใช้ปลายนิ้วสัมผัสก็สามารถเนรมิตทุกสิ่งได้ตามที่ต้องการ ผลที่ตามมาคือมีผู้ประสบปัญหา ‘นิ้วล็อก’ จำนวนมากขึ้นและที่สำคัญคือช่วงอายุที่เป็นน้อยลง เนื่องจากการใช้งานของนิ้วมือที่เปลี่ยนไป จากที่เคยใช้นิ้วกดแป้นพิมพ์คอมพิวเตอร์ พัฒนาเป็นการแตะเลื่อนหน้าจอโทรศัพท์มือถือแทน นอกจากนี้ยังติดเล่นโทรศัพท์มือถือเป็นเวลานานอีกด้วย จึงส่งผลให้ชะลอการเจริญเติบโตทางโครงสร้างของกระดูกและกล้ามเนื้อในร่างกาย วัยรุ่นหลายคนมีอาการกระดูกสันหลังคด หลังค่อม เสียบุคลิกภาพ และเมื่อถึงวัยทำงานก็อาจเกิดออฟฟิศซินโดรม (Office syndrome)

‘นิ้วล็อก’ เป็นความผิดปกติของนิ้วมือที่ไม่สามารถ ‘งอ’ หรือ ‘เหยียด’ ได้อย่างปกติ ต้องใช้นิ้วมือด้านตรงข้ามมาแกะนิ้วที่ล็อกออกจนเกิดเสียงดัง ‘กึ้ก’ คล้ายเสียงไกปืนลั่น อาจเป็นนิ้วเดียวหรือหลายนิ้ว หากเป็นมาก นิ้วอาจค้างอยู่ในท่างอ(ท่าเหนี่ยวไกปืน) พบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย 3 - 4 เท่า และ พบในนิ้วมือข้างที่ถนัดมากกว่า

ใครที่เสี่ยงต่อการเป็น ‘นิ้วล็อก’ !?!

•    แม่บ้านที่ชอบหิ้วถุงพลาสติกหนักๆเวลาจ่ายตลาด หรือ ทำอาหาร
•    ชอบยกของหนัก เช่น หม้อแกง กะละมังใส่น้ำจนเต็ม
•    ทำอาชีพรับจ้างซักผ้า หรือ ต้องบิดผ้า โดยมักจะเป็นนิ้วล็อกที่นิ้วชี้
•    แม่ค้าขายข้าวแกงที่ต้องใช้ตะหลิวหรือทัพพีทำกับข้าวปริมาณเยอะ ๆ
•    นักเรียน นักศึกษา ต้องจับดินสอปากกาบ่อย ๆ หรือ อาชีพนักเขียน จิตรกร
•    เล่นเกม หรือ พิมพ์งานด้วยคอมพิวเตอร์
•    นักกีฬาประเภทที่ต้องออกแรงกำมือมากกว่าปกติ เช่น กอล์ฟ เทนนิส ปิงปอง หรือ แบดมินตัน
•    ทำอาชีพที่ต้องใช้มือทำงานหนัก ๆ ซ้ำ ๆ เช่น ช่างที่ต้องใช้ไขควง ใช้เครื่องเจาะถนน คนส่งน้ำ คนส่งแก๊ส คนสวนที่ต้องใช้กรรไกรตัดกิ่งไม้, ใช้จอบเสียมขุดดิน
•    ทำอาชีพขายเนื้อสัตว์ จะมีการใช้มือซ้ำๆในการสับเนื้อสัตว์
•    ทันตแพทย์
•    ช่างงานฝีมือเย็บปักถักร้อย ช่างตัดเสื้อผ้า
•    ช่างตัดผม ช่างทำผม

ความเสี่ยงต่าง ๆ ล้วนเกิดจากการใช้งานนิ้วมือซ้ำ ๆ ทำให้เอ็นในนิ้วมือเสียดสีกับอุโมงค์หุ้มเอ็นในขณะใช้งานครั้งแล้วครั้งเล่า เกิดการบาดเจ็บหรืออักเสบซ้ำ ๆ เอ็นในนิ้วมือหรืออุโมงค์หุ้มเอ็นมีการปรับตัวหนาขึ้นจนเกิดเป็นพังผืด เป็นเหตุให้เอ็นในนิ้วมือสูญเสียความยืดหยุ่น ประกอบกับเมื่อช่องอุโมงค์หุ้มเอ็นหนาตัวแคบเข้า ส่งผลให้เอ็นในนิ้วมือลอดผ่านอุโมงค์ได้ยากเรียกว่า “นิ้วล็อก”

อาการของ ‘นิ้วล็อก’ 4 ระยะ

ระยะแรก มีการปวดบริเวณโคนนิ้วมือ เมื่อกดแล้วเจ็บปวดมากขึ้น แต่ยังไม่มีอาการติดสะดุด ส่วนใหญ่ปวดมากหลังตื่นนอนตอนเช้าหรืออากาศเย็น

ระยะที่ 2 เริ่มมีอาการสะดุดของนิ้วเวลางอหรือเหยียดนิ้วมือ เวลากำมือหรือแบมือจะรู้สึกตึงๆ เหยียดนิ้วได้ไม่คล่อง อาจได้ยินเสียงดัง ‘กึ้ก’ คล้ายเสียงไกปืนลั่น เกิดจากเอ็นที่เคลื่อนผ่านอุโมงค์หุ้มเอ็น โดยมีการปวดรุนแรงมากขึ้นเมื่อทำงานหนัก

ระยะที่ 3 เกิดอาการ “นิ้วล็อก” พร้อมกับการเจ็บปวด บวม ชา ไม่สามารถเหยียดนิ้วมือออกเองได้ ต้องเอามืออีกข้างมาช่วยเหยียด นิ้วมืออาจค้างอยู่ในท่างอ(ท่าเหนี่ยวไกปืน) หรืออาจติดล็อกในท่าเหยียดนิ้วมือจนไม่สามารถงอนิ้วลงได้เอง

ระยะที่ 4 มีการอักเสบบวมและเจ็บปวดมาก นิ้วมือบวมและติดอยู่ในท่างอไม่สามารถเหยียดออกได้ ถ้าใช้มืออีกข้างช่วยเหยียดจะปวดมาก สร้างความเจ็บปวดและความยากลำบากในการใช้งานมือ

การรักษา “นิ้วล็อก”

ในระยะแรกที่เริ่มปวด ควรพักการใช้งานมือจนอาการปวดทุเลาลง อาจใช้เวลาหลายวัน ในช่วงนี้อาจประคบด้วยความเย็น 15 นาทีใน 1 - 2 วันแรก หลังจากนั้นแช่น้ำอุ่น 15 นาทีในวันถัดมา ทำวันละ 3 - 4 ครั้ง อาจร่วมกับการกินยาต้านการอักเสบหรือวิตามินบีด้วย

ระยะที่ 2 ถ้ามีอาการปวดมากจนรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันสามารถกินยาระงับปวดได้ ร่วมกับการทำกายภาพบำบัดเพื่อลดการปวดและภาวะตึงของเอ็นนิ้วมือ

ระยะที่ 3 แพทย์อาจพิจารณาฉีดยาสเตียรอยด์ที่อุโมงค์หุ้มเอ็น ซึ่งเป็นการรักษาแบบชั่วคราว ช่วยลดการอักเสบได้ดี อาการจะดีขึ้นใน 2 - 3 วันหลังจากฉีดยา แต่ไม่ควรฉีดมากกว่า 3 ครั้งต่อปี

ระยะที่ 4 การผ่าตัดเพื่อเปิดอุโมงค์หุ้มเอ็นให้กว้างขึ้นให้เอ็นนิ้วมือเคลื่อนผ่านได้สะดวก

อย่างไรก็ตาม ‘นิ้วล็อก’ อาจเกิดซ้ำได้อีก โดยการดูแลเพื่อป้องกันหรือชะลอการเกิด ‘นิ้วล็อก’ มีดังนี้

1.) พักการใช้งานมือ เมื่อต้องใช้มือทำงานหนักเป็นเวลานาน

2.) หมั่นเคลื่อนไหวข้อมือและข้อนิ้วมือทุกข้อย่างสม่ำเสมอ เพื่อกระตุ้นการไหลเวียนของเลือดและป้องกันไม่ให้เกิดการคั่งค้างของของเสียบริเวณข้อต่อ

3.) ออกกำลังกายยืดเหยียดกล้ามเนื้อแขน, ข้อมือและนิ้วมือ ช่วยให้กล้ามเนื้อและเอ็นต่าง ๆ มีความยืดหยุ่นและผ่อนคลายดังนี้

- ยกแขนระดับไหล่ ใช้มือข้างหนึ่งดันให้ข้อมืออีกข้างหนึ่งกระดกขึ้น - ลง
ปลายนิ้วเหยียดตรงค้างไว้ 10 วินาที ทำ 10 ครั้งต่อชุด ทำ 3 ชุดต่อวัน

- ฝึกกำ - แบมือ เพื่อเพิ่มการเคลื่อนไหวของข้อนิ้วมือและเพิ่มกำลังของกล้ามเนื้อภายในมือ
หรืออาจบีบลูกบอลในฝ่ามือก็ได้

-สามารถเพิ่มกำลังกล้ามเนื้องอ-เหยียดนิ้วมือโดยการใช้หนังยางเป็นแรงต้าน
เหยียดนิ้วมืออ้าออกพร้อมออกแรงต้านกับยางยืดค้างไว้ 10 วินาที ทำ 10 ครั้งต่อชุด ทำ 3 ชุดต่อวัน

4.) นวดและดูแลมือให้สะอาดอยู่เสมอ เมื่อพบอาการติดขัดหรือเคลื่อนไหวลำบากของนิ้วมือ โดยเฉพาะช่วงหลังตื่นนอน สามารถใช้นิ้วมืออีกข้างนวดและช่วยยืดเหยียดนิ้ว

- วางนิ้วโป้งขวาไว้ที่โคนนิ้วโป้งซ้าย จากนั้นเคลื่อนนิ้วโป้งขวากดนวดจากโคนนิ้วจนสุดข้อมือ
ทำเช่นนี้ทีละนิ้วจนครบทุกนิ้ว สลับมืออีกข้างในลักษณะเดียวกัน

- ใช้นิ้วโป้งขวานวดคลึงกล้ามเนื้อฝ่ามือซ้ายในลักษณะวงกลมเล็ก ๆ ซ้อนกัน
เริ่มจากทางด้านนิ้วก้อยไปหานิ้วโป้ง

- ใช้นิ้วโป้งและนิ้วชี้ประกบเข้ากับนิ้วที่ต้องการนวด ออกแรงนวดจากปลายนิ้วไปยังโคนนิ้ว ทั้งด้านหน้า ด้านหลังและด้านข้างของทุกนิ้ว

- ใช้นิ้วโป้งและนิ้วชี้ประกบเข้ากับด้านข้างของนิ้วที่ต้องการนวด
ออกแรงดึงจากโคนนิ้วไปยังปลายนิ้ว ทำเช่นนี้ทีละนิ้วจนครบทุกนิ้ว สลับมืออีกข้างในลักษณะเดียวกัน

5.) เมื่อต้องทำงานลักษณะกำมือหรือจับสิ่งของแน่นๆ เช่น จับตะหลิว หิ้วของ จับปากกา ควรดัดแปลงอุปกรณ์ที่ใช้ให้มีขนาดใหญ่ขึ้นและเหมาะสม เพื่อช่วยกระจายน้ำหนัก หรือ หาอุปกรณ์ที่ช่วยผ่อนแรง เช่น ใช้เสียมด้ามใหญ่ทำให้ไม่ต้องกำมือแน่นเกินไป หรือ ใช้ผ้าจับช่วยหมุนเปิดขวด เป็นต้น

6.) ระมัดระวังการใช้งานมือและไม่ใช้มือทำงานผิดประเภท เช่น ขุดดิน ปอกเปลือกมะพร้าว เป็นต้น และถ้ามีการบาดเจ็บให้รีบรักษาทันที

เขียนโดย: กภ.คณิต คล้ายแจ้ง นักกายภาพ ภาควิชาเวชศาสตร์ฟื้นฟู โรงพยาบาลศิริราช


เอกสารอ้างอิง
รศ.นวลอนงค์ ชัยปิยะพร. (2556). นิ้วล็อก. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์หมอชาวบ้าน.
นพ.วิชัย วิจิตรพรกุล. (2548). นิ้วล็อก. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ดอกหญ้ากรุ๊ป.
กนกอร บุญพิทักษ์. (2555). นิ้วล็อกกับโรคของกระดูกและเอ็น. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ:  สำนักพิมพ์ feel good.
 

รองโฆษก ตร. เตือนกรณีการแชร์ข้อมูลข่าวปลอม ในหัวข้อ ‘ใส่หน้ากากอนามัย ที่ไม่ระบุ VFE ทำให้ป้องกันไวรัสไม่ได้’ เป็นข่าวปลอม (Fake News) !!

วันที่ 27 ก.ค. 2564 พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เตือนกรณีการแชร์ข้อมูลข่าวปลอมในหัวข้อ ใส่หน้ากากอนามัย ที่ไม่ระบุ VFE ทำให้ป้องกันไวรัสไม่ได้ โดยทางรัฐบาล สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้มีนโยบายในการสร้างการรับรู้ข่าวสารที่ถูกต้องให้กับพี่น้องประชาชน เพื่อป้องกันการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่บิดเบือนหรือข่าวปลอม (Fake News) จากผู้ไม่หวังดีที่โดยเฉพาะในสื่อสังคมออนไลน์

ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมประเทศไทย ได้ตรวจพบข่าวปลอมเพิ่มเติมอีก 1 กรณี คือใส่หน้ากากอนามัย ที่ไม่ระบุ VFE ทำให้ป้องกันไวรัสไม่ได้ นั้น ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมประเทศไทย ได้ตรวจสอบข้อมูลกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) กระทรวงสาธารณสุขแล้ว ยืนยันว่ากรณีดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลเท็จ เนื่องจาก คำว่า VFE ที่พบในบรรจุภัณฑ์ของหน้ากาก หมายถึง ค่าประสิทธิภาพในการป้องกันเชื้อไวรัสของหน้ากาก ซึ่งหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ที่ อย. อนุญาตจะมีคุณสมบัติในการป้องกันการแพร่เชื้อไวรัสที่มาพร้อมละอองฝอยของน้ำลายได้ แม้จะไม่ได้ระบุข้อมูลประสิทธิภาพในการป้องกันเชื้อไวรัสในรูปแบบ VFE

ดังนั้น ขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อ และขอความร่วมมือไม่ส่งต่อ หรือแชร์ข้อมูล จนกว่าจะตรวจสอบความถูกต้องให้ชัดเจนเสียก่อน เพื่อมิให้เกิดความสับสนและตื่นตระหนกในสังคม รวมถึงเพื่อความปลอดภัยของสุขภาพด้วย เพราะในปัจจุบันนี้มีข่าวปลอมในลักษณะนี้เกิดขึ้นทุกวัน การกระทำของผู้ที่ผลิตข่าวปลอมและผู้ที่เผยแพร่ เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ มาตรา 14(2),(5) มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หรือกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะดำเนินการตามกฎหมายกับผู้ที่ผลิตข่าวปลอมและผู้ที่เผยแพร่ทุกรายอย่างเด็ดขาดจริงจังและต่อเนื่องต่อไป

นอกจากนี้ หากพี่น้องประชาชนพบเบาะแสการกระทำความผิด สามารถแจ้งผ่าน 4 ช่องทาง ได้แก่ เว็บไซต์ https://www.antifakenewscenter.com ,เฟซบุ๊ก ANTI-FAKE NEWS CENTER, ทวิตเตอร์ @AFNCThailand, ไลน์ @antifakenewscenter และช่องทางโทรศัพท์โทรสายด่วน GCC 1111 ต่อ 87 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

รองโฆษก ตร. เตือนกรณีการแชร์ข้อมูลข่าวปลอม ในหัวข้อ 'น้ำมันเหลือง – น้ำมันเขียว ใช้ทาจมูกหรือทาผ้าปิดจมูกช่วยป้องกันไวรัส' เป็นข่าวปลอม (Fake News) !!

วันที่ 27 ก.ค. 2564 พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เตือนกรณีการแชร์ข้อมูลข่าวปลอมในหัวข้อ น้ำมันเหลือง-น้ำมันเขียว ใช้ทาจมูกหรือทาผ้าปิดจมูกช่วยป้องกันไวรัส โดยทางรัฐบาล สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้มีนโยบายในการสร้างการรับรู้ข่าวสารที่ถูกต้องให้กับพี่น้องประชาชน เพื่อป้องกันการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่บิดเบือนหรือข่าวปลอม (Fake News) จากผู้ไม่หวังดีที่โดยเฉพาะในสื่อสังคมออนไลน์

ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมประเทศไทย ได้ตรวจพบข่าวปลอมเพิ่มเติมอีก 1 กรณี คือกรณี น้ำมันเหลือง-น้ำมันเขียว ใช้ทาจมูกหรือทาผ้าปิดจมูกช่วยป้องกันไวรัสนั้น ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมประเทศไทยได้ตรวจสอบข้อมูลกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุขแล้ว ยืนยันว่ากรณีดังกล่าวนั้นเป็นข้อมูลเท็จ เนื่องจากไม่ได้มีข้อมูลวิชาการรับรอง อีกทั้งยังอาจก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อเยื่อบุบริเวณทางเดินหายใจได้อีกด้วย

ดังนั้นขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อ และขอความร่วมมือไม่ส่งต่อ หรือแชร์ข้อมูล จนกว่าจะตรวจสอบความถูกต้องให้ชัดเจนเสียก่อน เพื่อมิให้เกิดความสับสนและตื่นตระหนกในสังคม รวมถึงเพื่อความปลอดภัยของสุขภาพด้วย เพราะในปัจจุบันนี้มีข่าวปลอมในลักษณะนี้เกิดขึ้นทุกวัน การกระทำของผู้ที่ผลิตข่าวปลอมและผู้ที่เผยแพร่ เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ มาตรา 14(2),(5) มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หรือกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะดำเนินการตามกฎหมายกับผู้ที่ผลิตข่าวปลอมและผู้ที่เผยแพร่ทุกรายอย่างเด็ดขาดจริงจังและต่อเนื่องต่อไป

นอกจากนี้ หากพี่น้องประชาชนพบเบาะแสการกระทำความผิด สามารถแจ้งผ่าน 4 ช่องทาง ได้แก่ เว็บไซต์ https://www.antifakenewscenter.com ,เฟซบุ๊ก ANTI-FAKE NEWS CENTER, ทวิตเตอร์ @AFNCThailand, ไลน์ @antifakenewscenter และช่องทางโทรศัพท์โทรสายด่วน GCC 1111 ต่อ 87 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

ผลสำเร็จ โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการสืบสวนและป้องกันปราบปรามอาชญากรรม โดยใช้ระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิดไร้สาย (Wireless CCTV) ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร ระยะที่ 1

ตามที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยดำริของ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้จัดทำโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการสืบสวนและป้องกันปราบปรามอาชญากรรม โดยใช้ระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิดไร้สาย (Wireless CCTV) ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร ระยะที่ 1 โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่พฤศจิกายน 2563 จนเสร็จสิ้นโครงการเมื่อมิถุนายน 2564 ที่ผ่านมาในพื้นรับผิดชอบของสถานีตำรวจนครบาลภายใต้ความร่วมมืออย่างดียิ่งจากภาคีภาครัฐและเอกชน จนสามารถบรรลุวัตถุประสงค์สำคัญของโครงการในการเพิ่มประสิทธิภาพด้านการสืบสวนจับกุมผู้กระทำผิด การป้องกันการก่อเหตุในพื้นที่จุดเสี่ยงอันล่อแหลมต่อการเกิดอาชญกรรม และสร้างความเชื่อมั่นในการรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน

“จะทำอย่างไร ให้ประชาชนต้องไม่เกิดความหวาดระแวงภัยอาชญากรรม สามารถทำให้ผู้หญิงคนหนึ่ง เดินคนเดียวได้อย่างสบายใจบนถนนตอนกลางคืน” คำกล่าวของ พลตำรวจเอกสุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่บัดนี้ กาลเวลาได้พิสูจน์ให้เห็นเป็นจริงแล้วด้วยมันสมองและสองมือของ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข อดีตนักสืบผู้เชี่ยวกรำในงานสืบสวน ที่ได้ใช้เทคโนโลยีอันทันสมัยมาเสริมเขี้ยวเล็บในงานสืบสวนและป้องกันปราบปรามอาชญากรรม เพื่อขานรับนโยบายของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในการรักษาความสงบเรียบร้อย ตลอดจนความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน

“ทำไมตำรวจต้องทำเอง ในเมื่อกล้องตามท้องถนนมีมากมาย ?” นั่นเป็นเพราะที่ผ่านมา กล้องวงจรปิดของส่วนราชการอื่นและกล้องของเอกชน ไม่ได้ถูกจัดหามาเพื่อตอบโจทก์ในการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้กับตำรวจ อาทิ ความล่าช้าอันเกิดจากการต้องประสานงาน การมีจุดติดตั้งที่ไม่ได้มุ่งเน้นจุดเสี่ยงอันล่อแหลมต่อการเกิดอาชญากรรมหรือ “เส้นทางโจร” และปัญหามุมกล้องที่ไม่สอดคล้องสัมพันธ์กัน ต่างจากกล้องในโครงการ ที่ทีมสืบสวนได้เลือกจุดติดตั้งที่มีประสิทธิภาพจากประสบการณ์ด้วยตนเอง และที่สำคัญจะไม่มีกรณี “กล้องเสีย กล้องหาย กล้องไม่ชัด” ดังที่เห็นเป็นข่าวอยู่บ่อยครั้งอีกต่อไป เนื่องจากตำรวจจะเป็นผู้รับผิดชอบดูแล และบำรุงรักษากล้องทุกตัวด้วยตนเองอย่างสม่ำเสมอ 

​ด้วยนโยบายของสำนักงานตำรวจแห่งชาติยุคใหม่ที่ต้องเน้นการพึ่งพาตนเอง จึงเกิดแนวคิดที่ว่า อาหารฟาสฟู๊ดแบบไทย ๆ  อย่างข้าวผัดกระเพรา ก็อิ่มอร่อยได้ไม่ต่างจากสเต็กจานหรู แถมยังปรุงได้ง่าย รวดเร็ว และราคาถูก ดังนั้นกล้องวงจรปิดหรือกล้อง CCTV จึงไม่จำเป็นต้องใช้ของแบรนด์เนมราคาแพง และมีค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาที่สูงเกินความจำเป็น อีกทั้งยังมีขั้นการจัดซื้อจัดจ้างที่ยุ่งยาก ไม่ทันต่ออาชญากรรมที่เพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่กำลังรุนแรงในปัจจุบัน

โครงการนี้จึงเปรียบเหมือนผัดกระเพราอาหารราคาถูก ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติซื้อเอง ปรุงเอง กินเอง โดยการจัดหาอุปกรณ์ระบบกล้องวงจรปิดที่มีประสิทธิภาพ เหมาะสมกับลักษณะการทำงาน คุ้มราคา และดูแลรักษาได้ง่าย ด้วยวงเงินงบประมาณของสำนักงานตำรวจแห่งชาติเพียง 36 ล้านบาท ในการติดตั้งกล้องวงจรปิดไร้สาย (Wireless CCTV) จำนวนถึง 9,138 ตัวใน 5,606 จุดเสี่ยงทั่วกรุงเทพมหานคร ภายในระยะเวลาเพียง 8 เดือน ภายใต้ความร่วมมืออันอบอุ่นยิ่งจากเหล่าภาคีภาครัฐและเอกชน โดยได้จัดทำ MOU กับการไฟฟ้านครหลวงในการติดตั้งกล้องบนเสาไฟฟ้าและเชื่อมต่อกระแสไฟฟ้าโดยไม่มีค่าใช้จ่าย  ในส่วนของการเชื่อมโยงกล้องวงจรปิดก็ได้รับการสนับสนุนซิมการ์ดอินเตอร์เน็ตจากผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือได้แก่ AIS, True, TOT และ กสท.เป็นอย่างดี

“จะเป็นโจรในกรุงเทพยุคนี้ ใจต้องกล้า” เพราะนับตั้งแต่ดำเนินโครงการนี้ ภายใต้การขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่องจากผู้บังคับบัญชาในทุกระดับ ทำให้เกิดผลสัมฤทธิ์จนเป็นที่ประจักษ์ในระยะเวลาอันสั้น สามารถปิดคดี โดยติดตามจับกุมผู้กระทำผิดมาลงโทษได้อย่างรวดเร็วถึง 99% ของคดีทั้งหมด นอกจากนั้นยังสามารถลดโอกาสในการติดเชื้อโควิด-19 จากการลงพื้นที่ปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจได้อีกด้วย 

ด้วยผลสำเร็จเป็นอย่างดีของโครงการดังที่กล่าวมา สำนักงานตำรวจแห่งชาติจึงได้ต่อยอดความสำเร็จ ด้วยโครงการในระยะที่ 2 โดยจะติดตั้งกล้องวงจรปิดไร้สายเพิ่มเติมอีกกว่าหมื่นตัวเพื่อปูพรมปิดตายช่องว่างอันเป็นบ่อเกิดแห่งอาชญากรรมโดยมีแนวคิดเสริมในโครงการ “ฝากกล้องกับตำรวจ” ที่จะติดตั้งกล้องให้กับบ้านพักอาศัยของประชาชนผู้สนใจโดยไม่มีค่าใช้จ่าย นอกจากนั้นยังจะพัฒนากล้องวงจรปิดให้มีความฉลาดด้วยปัญญาประดิษฐ์หรือ AI ที่จะสามารถวิเคราะห์บุคคลตามหมายจับ แผ่นป้ายทะเบียนรถ และแจ้งเตือนกรณีเกิดเหตุอาชญากรรม หรือพบวัตถุต้องสงสัยได้โดยอัตโนมัติ ผ่านระบบบริหารจัดการกล้องวงจรปิด หรือ Video Management System ที่สามารถเชื่อมโยงกล้องวงจรปิดทุกตัว ทั้งของภาครัฐและเอกชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้จะเริ่มทดลองดำเนินโครงการในสถานีตำรวจนครบาลต้นแบบ 3 แห่ง ก่อนขยายโครงการไปสู่สถานีตำรวจอื่น ๆ จนครอบคลุมทั่วประเทศ 

ท่ามกลางกระแสโลกาภิวัตน์ที่ขับเคลื่อนด้วยสื่อสังคมออนไลน์และเทคโนโลยีอันทันสมัย ตำรวจในฐานะผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ เป็นอีกหนึ่งฟันเฟืองสำคัญของรัฐ ที่ต้องหมุนตามให้ทัน เพื่อขับเคลื่อนกระบวนการในการรักษาความสงบเรียบร้อยของสังคมและบังคับใช้กฎหมาย โครงการนี้จึงเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่สำคัญของเจ้าหน้าที่ตำรวจ อันเกิดจากวิสัยทัศน์ของผู้บังคับบัญชา ความร่วมมือร่วมใจทั้งจากภาครัฐและเอกชนอย่างบูรณาการณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกำลังใจและการสนับสนุนจากพี่น้องประชาชน โดยมีสื่อมวลชนเป็นกระบอกเสียงที่สำคัญทุกองค์ประกอบที่กล่าวมา เป็นประหนึ่งชิ้นส่วนจิ๊กซอว์ซึ่งแตกต่างแต่ล้วนสำคัญที่มาประกอบกัน เพื่อที่จะทำให้ตำรวจไทยยุคนี้ ได้กลายเป็นตำรวจไทยยุค 4.0 อย่างแท้จริง

 

สงขลา - ศอ.บต. เตรียมเรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อช่วยเหลือเกษตรสวนทุเรียน

พล.ร.ต.สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ( ศอ.บต.) เปิดเผยว่า หลังจากที่ ศอ.บต. ได้ดำเนินการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูก ฟักทอง,ฟักเขียว และพริกเขียวมัน ที่ได้รับความเดือดร้อน ใน จ.สงขลา และ พื้นที่อื่น ๆ ที่ไม่สามารถขายผลผลิตสู่ตลาดได้ เนื่องจากปัญหาของโควิด-19 ทำให้พ่อค้าไม่เดินทางมารับซื้อถึงในสวน และการปิดตลาด ปิดร้านค้า เพื่อหยุดการระบาดของเจ้าหน้าที่รัฐ โดย ศอ.บต.นำผลผลิตที่ซื้อมาจากเกษตรกรไปแจกจ่ายให้กับประชาชนในพื้นที่ ระบาดของโควิด-19 และถูก ปิดหมู่บ้านตำบลและประชาชนผู้ได้รับความเดือดร้อนกลุ่มต่าง ๆ จนสามารถแก้ปัญหาลุล่วงไปได้

และขณะนี้ เกษตรกรชาวสวนทุเรียนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็เริ่มจะได้รับความเดือดร้อน จากการที่ผลผลิตทุเรียนเริ่มออกสู่ตลาด แต่จากปัญหาของโควิด-19 และการล็อกดาวน์ พื้นที่ใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำให้พ่อค้าต่างถิ่น และ ล้งที่มารับซื้อทุเรียนในพื้นที่ไม่สามารถเดินทางมาได้ ทำเกษตรกรเจ้าของสวนทุเรียนขายผลผลิตในราคาที่ถูกกว่าปีก่อน ๆ  และเริ่มวิตกกังวล เพราะทุเรียนในพื้นที่กำลังจะออกสู่ตลาดมากขึ้น

ศอ.บต. จึงได้เตรียมประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่นหน่วยงานการเกษตร ,พาณิชย์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ เพื่อรองรับผลผลิตที่กำลังออกสู่ท้องตลาด เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนทุเรียนให้สามารถขายได้ในราคาปกติ และไม่ถูกกดราคาจากพ่อค้าที่เป็นผู้รับซื้อ

สำหรับทุเรียนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น ใน 2 ปีที่ผ่านมา สามารถจำหน่ายในราคาที่สูง เนื่องจากโรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปทุเรียน บริษัทม่านกู่หว่านฟู้ด จำกัด ซึ่งตั้งในใน อ.เทพา จ.สงขลา ได้รับซื้อเพื่อทุเรียนแช่แข็งส่งออกไปยังประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งในปีนี้ ผู้แทนของบริษัทได้รับปากกับ ศอ.บต. ที่จะรับซื้อทุเรียนจากเกษตรกรเจ้าของสวนให้มากกว่าเดิม เพื่อทดแทนการที่พ่อค้าจากต่างถิ่นไม่สามารถเข้ามารับซื้อได้อย่างปกติ เชื่อว่าสถานการณ์ของเกษตรกรชาวสวนทุเรียนใน จชต. ไม่เลวร้าย แต่อาจจะมีปัญหาบ้าง เพราะความไม่สะดวกต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากโควิด-19


ภาพ/ข่าว  นายปรีชา สถิตเรืองศักดิ์ / หาดใหญ่ จ.สงขลา

อุดรธานี – ทหารเตรียมพร้อม ช่วยผู้ป่วยติดโควิด-19 พร้อมของกำลังพลและยุทโธปกรณ์ สำหรับการปฏิบัติภารกิจช่วยเหลือประชาชน

พันโท เศรษฐสิทธิ์ พวงบานเย็น ผู้บังคับกองพันทหารราบที่ 1 กรมทหารราบที่ 13 ได้ตรวจสภาพความพร้อมของกองร้อยช่วยเหลือประชาชน หมวดสารวัตรทหาร และชุดเผชิญเหตุหมวดเสนารักษ์ของกองพันทหารราบที่ 1 กรมทหารราบที่ 13 บริเวณหน้ากองบังคับการกองพันทหารราบที่  1 ค่ายพระยาสุนทรธรรมธาดา ตำบลโนนสูง อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี

โดยทำการฝึกเตรียมความพร้อมของกำลังพลและยุทโธปกรณ์เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมให้กับชุดปฏิบัติการให้มีความพร้อมสำหรับการปฏิบัติภารกิจช่วยเหลือประชาชนในการบรรเทาสาธารณภัย และเป็นชุดเผชิญเหตุในการช่วยเหลือประชาชน ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (Covid-19) ให้เกิดความชำนาญของกำลังพล ในการใช้ยุทโธปกรณ์ และเข้าช่วยเหลือประชาชนได้อย่างปลอดภัยทั้งผู้ให้การช่วยเหลือ และผู้ได้รับการช่วยเหลือ

จากการตรวจความพร้อมในครั้งนี้ ทำให้หน่วยมีความพร้อมด้านกำลังพล ยุทโธปกรณ์ ความชำนาญของกำลังพลเพิ่มมากขึ้น และสามารถปฏิบัติภารกิจได้เมื่อได้รับการประสานหรือเมื่อได้รับคำสั่งให้ออกไปปฏิบัติหน้าที่


ภาพ/ข่าว  จ.ส.อ.กฤษฎา มณีใส กรมทหารราบที่ 13

ชลบุรี - เตรียมสร้างจุดพักคอยโควิด 67 แห่งรองรับผู้ป่วยโควิด หลังจากพบการแพร่ระบาดจำนวนมาก ต้องระบายผู้ป่วยอาการดีขึ้น

วันที่ 27 ก.ค.64 นายภัครธรณ์ เทียนไชย ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี พร้อมด้วย นางสาวฐิติลักษณ์ คำพา รองผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี นายสุคนธ์ สุวรรณศักดิ์สิน นายอำเภอเมืองชลบุรี นพ.อภิรัต กตัญญุตานนท์ สาธารณสุขจังหวัดชลบุรี และ เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องได้ลงพื้นที่ตรวจความพร้อมในการสร้างศูนย์พักคอย ตามที่ได้สั่งการให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ จ.ชลบุรี รับผิดชอบ กรณีที่มีประชาชนในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น ๆ ติดไวรัสโควิด-19 เข้ารับการรักษาตัว และมีอาการดีขึ้นเพื่อรอกลับบ้าน

สำหรับการลงพื้นที่ ตรวจความพร้อมของศูนย์พักคอยในครั้งนี้ มีทั้งหมด 3 พื้นที่ ประกอบด้วย ศาลาประชาคมเทศบาลตำบลคลองตำหรุ รับผิดชอบโดยเทศบาลตำบลคลองตำหรุ โรงแรมพาราไดซ์ อินน์ สาขาห้วยกะปิ รับผิดชอบโดยเทศบาลเมืองชลบุรี และศูนย์พัฒนาศักยภาพผู้สูงอายุ เทศบาลเมืองแสนสุข รับผิดชอบโดยเทศบาลเมืองแสนสุข คาดว่าจะสามารถเปิดใช้งานได้ในอีก 2-3 วันนี้

หลังจากนั้น นายภัครธรณ์ฯ กล่าวยอมรับว่า ขณะนี้สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ของ จ.ชลบุรี มีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ เพราะหลายคัสเตอร์ ทั้งในครอบครัวและโรงงาน ทางจังหวัด จึงได้เตรียมมาตรการสร้างศูนย์พักคอย เพื่อให้ผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาและมีอาการดีขึ้น มาพักรักษาตัวเพื่อรอกลับบ้าน เบื้องต้นได้มีการเตรียมความพร้อมของจุดพักคอยประมาณ 67 แห่ง รองรับผู้ป่วยได้ประมาณ 2,000 คน

นายภัครธรณ์ กล่าวอีกว่า ส่วนการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในโรงงานต่าง ๆ นั้น หากมีการตรวจพบจะสั่งห้ามเข้า-ออกโรงงาน เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรค ซึ่งได้ดำเนินการแล้ว 31 แห่ง โดยปิดโรงงานนาน 28 วัน บางคนยังทำงานได้ก็จะจำกัดพื้นที่ไม่ให้ออกมาพบปะกับบุคคลภายนอก เพื่อลดจำนวนผู้ป่วยที่จะเข้ามารักษาตัวที่โรงพยาบาล และโรงพยาบาลสนาม


ภาพ/ข่าว  นิราช / นันทพล ทิพย์ศรี ก012 ชลบุรี

นราธิวาส - ผู้ว่าฯนราธิวาส กำชับนายอำเภอจัดตั้ง รพ.สนาม รองรับผู้ป่วย COVID - 19 ที่จะเดินทางกลับภูมิลำเนา ด้านสาธารณสุขจังหวัดจำแนกผู้ป่วยเป็น 5 สี เพื่อการดูแลรักษาอย่างเหมาะสม

วันนี้ (26 ก.ค. 64) ที่ห้องประชุมพระนราภิบาล ชั้น 5 ศาลากลางจังหวัดนราธิวาส นายเจษฎา จิตรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส เป็นประธานการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จ.นราธิวาส (ศบค.นธ.) และคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนราธิวาส ครั้งที่ 35/2564  โดยมี นายไพโรจน์ จริตงาม นายบุญพาศ รักนุ้ย รองผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการประชุม โดยมีการประชุมระบบ Video Conference ร่วมกับ 13 อำเภอในจังหวัดนราธิวาส

โดยที่ประชุมได้ติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จังหวัดนราธิวาส พร้อมทั้งการคาดการณ์การรองรับผู้ป่วย COVID-19 ที่คาดว่าจะมีผู้ป่วยเพิ่มหลังเทศกาลฮารีรายออิดิ้ลอัฎฮา และต้องเตรียมรับผู้ป่วยที่จะเดินทางกลับภูมิลำเนา จึงต้องใช้เตียงรองรับผู้ป่วยเพิ่มอีก ซึ่งมีแนวทางให้อำเภอต่างๆจัดหาโรงพยาบาลสนามเพิ่มเพื่อรองรับผู้ป่วยประเภทเตียงสีเขียว

อีกทั้งที่ประชุมได้ร่วมกันพิจารณาเรื่องการรับผู้ป่วย COVID-19 กลับภูมิลำเนาโดยให้ อบจ.นราธิวาส จัดหาสถานที่เพื่อจัดตั้งโรงพยาบาลสนามในพื้นที่ของโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 39 อำเภอระแงะ เพื่อรองรับผู้ป่วยประมาณ 500 เตียง ในช่วง 14 วันแรก ในด้านการดูแลรักษาผู้ป่วยแบบแยกกักที่บ้าน ( HI : Home Isolation) และ  (CI : Community Isolation) การแยกกักในชุมชน มีแนวทางในการดูแลผู้ป่วย COVID-19 โดยจำแนกตามสี คือ สีแดง รักษาในโรงพยาบาลหลัก , สีเหลือง รักษาในโรงพยาบาลชุมชน , สีเขียว แยกเป็น 3 สี คือ สีเขียว 1 รักษาที่โรงพยาบาลสนาม , สีเขียว 2 การกักตัวในชุมชน และสีเขียว 3 การกักตัวที่บ้าน

นอกจากนี้ที่ประชุมได้ร่วมกันพิจารณา เรื่องการจัดตั้งศูนย์แยกกักตัวในชุมชน (CI) อำเภอศรีสาคร จำนวน 100 เตียง และอำเภอตากใบ จำนวน 220 เตียง รวมทั้งการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามในพื้นที่อำเภอบาเจาะ จำนวน 300 เตียง ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาสให้พิจารณาการดูแลรักษาผู้ป่วยโดยใช้ระบบที่ปรับให้เข้ากับสถานการณ์ ความพร้อม และความเหมาะสมของพื้นที่

ในด้านการขออนุมัติเปิดโรงแรมแกรนด์การ์เด้นเป็นสถานที่กักกัน จำนวน 200 เตียง ที่ประชุมได้เห็นชอบในหลักการโดยให้ทางอำเภอสุไหงโกลกไปสร้างความเข้าใจแก่ประชาชนในพื้นที่อีกครั้ง สำหรับการเปิดการเรียนการสอนในรูปแบบ On - Site จะมีการเลื่อนออกไปอีก โดยจะใช้การเรียนออนไลน์ไปจนถึงวันที่ 30 สิงหาคมนี้ และจะมีการพิจารณาอีกครั้ง


ภาพ/ข่าว  แวดาโอ๊ะ หะไร จ.นราธิวาส

ชุมพร - มทบ.44 ช่วยเหลือชาวเกษตรมังคุด ชาวชุมพรที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19

พลโท เกรียงไกร ศรีรักษ์ แม่ทัพภาคที่ 4 มีนโยบายให้ทหารในพื้นที่จังหวัดชุมพรเข้ามาช่วยเหลือในปัญหาราคาผลผลิตที่ตกต่ำช่วงนี้เป็นเรื่องของราคา มังคุด มทบ.44 จัดกิจกรรม Army Delivery กองทัพบกช่วยเหลือประชาชน จัดกำลังพลจิตอาสารับซื้อผลผลิตทางการเกษตรมังคุดที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19                                                                                                                             

วันที่ 26 กรกฏาคม 2564 เวลา 15.00 น.   พล.ต.เสนีย์ ศรีหิรัญ ผบ.มทบ.44 มอบหมายให้ พ.อ.หญิงประภาศรี ตัณศิลา ประจำมทบ.44 รักษาราชการแทน หก.กกร.มทบ.44 จัดกำลังพลชุดปฏิบัติการกิจการพลเรือน และกำลังพลจิตอาสาพระราชทาน เราทำความดี ด้วยหัวใจ จาก มทบ.44 ประสานกับสหกรณ์การเกษตร และท่านพาณิชย์จังหวัดชุมพร รับซื้อผลผลิตทางการเกษตรคือ มังคุด จากเกษตรกรที่รวบร่วมนำมาที่ ธนาคาร ธ.ก.ส. จังหวัดชุมพร เพื่อช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อน ลดปัญหาพืชผลทางการเกษตรของมังคุดล้นตลาดราคาตกต่ำ

พ.อ.หญิงประภาศรี ตัณศิลา กล่าวว่า พลโท เกรียงไกร ศรีรักษ์ แม่ทัพภาคที่ 4 มีนโยบายให้ทหารในพื้นที่จังหวัดชุมพรเข้ามาช่วยเหลือในปัญหาราคาผลผลิตที่ตกต่ำช่วงนี้เป็นเรื่องของราคา มังคุด มทบ.44 จัดกิจกรรม Army Delivery กองทัพบกช่วยเหลือประชาชน จัดกำลังพลจิตอาสารับซื้อผลผลิตทางการเกษตรมังคุดที่ได้รับผลกระทบ จากโควิด-19 ในห้วงการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ระลอกใหม่ ที่ผ่านมา และในวันนี้เป็นกิจกรรมแรกที่จะดำเนินการเราจะดำเนินการรับซื้อผลผลิตมังคุดของเกษตรกรทุกวันตลอดไปจนถึงเดือนสิงหาคม โดยจะประสานงานกับท่านพาณิชจังหวัดชุมพร ฝ่ายทหารเองก็มีความยินดีที่จะได้ช่วยพี่น้องชาวเกษตรกรทุกท่าน

นายอุดม ศรีสมทรง พาณิชย์จังหวัดชุมพร กล่าว สถานการมังคุดจังหวัดชุมพรก็เป็นปัญหาด้านการตลาด โดยที่จังหวัดชุมพรเป็นจังหวัดที่ปลูกมังคุดมากเป็นอันดัน 2 รองจากจังหวัดนครศรีธรรมราช แต่ราคาก็ต่ำมากเกินจากที่คาดหมาย เกิดจากสถานการการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในทั้งประเทศและทั่วโลกทำให้ประเทศจีนที่เป็นผู้นำเข้ารายใหญ่ประสบปัญหาขนส่งไม่ทันจึงทำให้ผลผลิตออกสู่ทองตลาดเป็นจำนวนมากจึงทำให้ราคาตกต่ำในขณะนี้ ทางด้านจังหวัดชุมพรจะขอผู้ประกอบการออนไลน์ ที่สามารถทำออนไลน์พาณิชย์ ทางกรมสินค้าภายในได้จัดทำกล้องสำหรับส่งออนไลน์ส่งไปรษณีย์ฟรีให้กับเกษตรกรได้นำไปใช้ส่งผลผลิตของตนได้ครับ ติดขอรับได้ที่ พาณิชย์จังหวัดชุมพรได้ที่ 077-503959 - 077-511210 ได้ในเวลาราชการ


ภาพ/ข่าว  ธนากร โกศลเมธี รายงานศูนย์ข่าวสารจังหวัดชุมพร

เชียงใหม่ - วิทยาลัยอาชีวศึกษาเชียงใหม่ มอบอาหารกล่องและน้ำดื่ม ในโครงการ “อาชีวะร่วมด้วยช่วยประชาชน FIX IT จิตอาสา” ช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19

เมื่อวันจันทร์ ที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ 2564 เวลา 10.30 น ที่หน้าวิทยาลัยอาชีวศึกษาเชียงใหม่ นายสมบัติ นาหลวง ผู้อำนวยการวิทยาลัยอาชีวศึกษาเชียงใหม่ พร้อมด้วย ผู้บริหาร คณะครู บุคลากรทางการศึกษา และงานโครงการพิเศษและบริการชุมชน มอบอาหารกล่องและน้ำดื่ม หน้ากากอนามัย เจลล้างมือ ตามโครงการ "อาชีวะร่วมใจ ต้านภัยโควิด"

นายสมบัติ นาหลวง ผู้อำนวยการวิทยาลัยอาชีวศึกษาเชียงใหม่ กล่าวว่า วิทยาลัยอาชีวศึกษาเชียงใหม่ ได้รับมอบหมายจากกระทรวงศึกษาธิการ โดยสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา มอบหมายให้วิทยาลัยอาชีวศึกษาเชียงใหม่ ดำเนินการช่วยเหลือประชาชน ผู้ประสบภัยพิบัติจากการแพร่ระบาดของโรคไวรัสติดเชื้อโคโรน่า 2019 (Covid-19) จัดตั้งโรงครัวประกอบอาหารปรุงสุก ในโครงการ “อาชีวะร่วมด้วยช่วยประชาชน FIX IT จิตอาสา” ช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 เพื่อแจกจ่ายให้แก่ผู้ได้รับความเดือดร้อน จากสถานการณ์ดังกล่าว

โดยได้จัดทำอาหารกลางวันในรูปแบบอาหารกล่อง มอบให้กับโรงพยาบาลสันทราย โรงพยาบาลนครพิงค์ โรงพยาบาลสนามเชียงใหม่ และแจกอาหารกลางวัน ในรูปแบบอาหารกล่องพร้อมน้ำดื่ม หน้ากากผ้าพร้อมด้วยเจลแอลกอฮอล์แบบหลอด ให้กับประชาชนบริเวณด้านหน้า บริเวณหน้าวิทยาลัยอาชีวศึกษาเชียงใหม่เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบ

ตั้งแต่วันที่ 26 - 30 กรกฎาคม 2564 เวลา 10.45 น. ถึง 12.00 น. หรือแจกตามจำนวนอาหาร  ขอเชิญผู้ที่ได้รับผลกระทบ จากการแพร่ระบาดของโรคไวรัสติดเชื้อโคโรน่า 2019 รับอาหารและน้ำดื่มได้ที่บริเวณหน้าวิทยาลัยอาชีวศึกษาเชียงใหม่ ภายใต้มาตรการป้องกันโควิด-19 ใส่Mask เว้นระยะห่าง Social Distancing ตรวจวัดอุณหภูมิ ล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์


ภาพ/ข่าว  นภาพร / เชียงใหม่

แม้ว่าละครในจอแก้ว ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นจริง แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าละครที่ถ่ายทอดออกมาเป็นการแสดงที่ดูเหมือนจะเป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้น ก็เป็นสื่อที่อาจจะส่งผลและมีอิทธิพลต่อคนดู

ละครโทรทัศน์ คือ ความบันเทิงในรูปแบบหนึ่งที่อยู่คู่กับจอแก้วมาอย่างยาวนาน ตั้งแต่ยุคแอนะล็อกมาจนถึงการออกอากาศระบบดิจิทัล หลังจากที่มีช่องโทรทัศน์เพิ่มมากขึ้น ก็ทำให้คนดูมีทางเลือกในการรับชมละครเพิ่มมากขึ้น และข้อที่ยังยืนยันได้ว่าละครโทรทัศน์ยังเป็นรายการที่ได้รับความนิยม ก็จากการจัดเรตติงของเนลสัน ที่พบว่า ละครโทรทัศน์ ยังคงเป็นรายการที่มีผู้รับชมสูงสุดของแต่ละสถานี และเป็นจุดขายของแต่ละสถานีในการช่วงชิงพื้นที่เรตติงหลังข่าวภาคค่ำ

โดยความคาดหวังของละครโทรทัศน์ในมุมคนดู ก็มีหลายเหตุผล เช่น เพื่อความเพลิดเพลิน ให้ความบันเทิงกับคนดู หรือเพื่อหลักหนีจากโลกความจริงไปสู่โลกจินตนาการ เราอาจจะเป็นนางเอกนิยายในชีวิตจริงไม่ได้แต่เราเป็นได้ในโลกละคร

นอกจากนี้บางครั้งละครก็ถูกคาดหวังให้ทำหน้าที่เป็นกระจกสะท้อนสังคม ให้แง่คิด และเปลี่ยนแปลงสังคมได้ และละครก็จะถูกตรวจสอบจากคนดูได้เช่นกันหากพบว่าเนื้อหามีความไม่เหมาะสม เช่นเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา มีกระแสแบนละครเมียจำเป็น ทางช่อง 3 ที่ถูกพุ่งเป้าไปที่บทละครที่มีเนื้อหาไม่เหมาะสม ทำให้เกิด hashtag #แบนเมียจำเป็น #ข่มขืนผ่านจอพอกันที ซึ่งขึ้นเทรนด์อันดับ 1 และ 2 ของทวิตเตอร์ประเทศไทยในช่วงเวลานั้น

ประเด็นเนื้อหาที่ถูกพูดถึง เช่น การใส่ฉากข่มขืนในละคร พระเอกรังเกียจนางเอกที่ถูกขืนใจ แม้กระแสในโลกโซเชียลจะถูกตั้งคำถามถึงความไม่เหมาะสมของเรื่องราว แต่ดูเหมือนว่าเรตติงตอนจบจะสวนทางกับกระแสสังคม ที่สามารถโกยเรตติงไปได้ทั่วประเทศถึง 4.7 ขณะที่ยอดชมทางออนไลน์ ก็กวาดยอดวิวรวมกัน 2 แพลตฟอร์มไปได้กว่า 500,000 วิว (TrueID, 3+)

หากเรามองว่าละคร สามารถเป็นสื่อชนิดหนึ่งที่สามารถเป็นเครื่องมือในการสอนหรือกล่อมเกลาสังคมได้ การมีเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมออกฉาย อาจจะทำให้เกิดการเลียนแบบ ซึ่งเป็นสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในโลกความจริงที่คู่ขนานมากับโลกของละคร ผ่านการเลียนแบบตามหลักจิตวิทยา ที่มีทั้งรูปแบบของการเลียนแบบภายใน (Identification) ที่อาจจะเป็นสิ่งที่สังเกตได้ยากและต้องใช้เวลา และการเลียนแบบภายนอก (Imitation) ซึ่งการเลียนแบบภายนอกเป็นสิ่งที่สังเกตเห็นได้อย่างง่ายและชัดเจน เช่น เด็กที่ดูเซเลอร์มูนแล้วทำท่าแปลงร่างตาม

หรือแม้แต่การเลียนแบบงานในสื่อมวลชน ที่ดูเหมือนจะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ง่ายจากการเรียนรู้ร่วมไปกับเหตุการณ์ต่างๆ เช่น เราอาจจะรู้ว่าการขับรถยนต์ขับยังไงจากการดูละคร ทั้งๆ ที่ในชีวิตจริงของเราอาจจะไม่เคยขับรถยนต์มาก่อน เรียกว่า Observation Learning หรือถ้าละครได้นำเสนอบทลงโทษของคนที่ทำผิด ผู้ที่รับชมอาจจะรู้สึกคล้ายกับว่าตนเองได้รับบทลงโทษไปด้วย และจะไม่กล้าทำตามที่นักแสดงทำ เรียกว่า Inhibitory Effect ซึ่งก็มีงานวิจัยมากมายที่ออกมาสนับสนุนแนวคิดเหล่านี้พอสมควร

ดังนั้น แม้ว่าละครอยู่ในจอแก้ว ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นจริง แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าละครที่ถ่ายทอดออกมาเป็นการแสดงที่ดูเหมือนจะเป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้น ก็เป็นสื่อที่อาจจะส่งผลและมีอิทธิพลต่อคนดู จึงต้องถูกคาดหวังตามมาว่าจะสามารถให้คติหรือสอนคนดูได้เช่นกัน
.
เขียนโดย: อาจารย์อาทิตยา ทรัพย์สินวิวัฒน์ (น้ำนุ่น) อาจารย์ประจำสาขานวัตกรรมการสื่อสาร วิทยาลัยนวัตกรรมสื่อสารสังคม มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ


ที่มา:
Bandura, A., (1997). Social Learning Theory. America: New Jersey.
กาญจนา แก้วเทพ. (2556). สื่อสารมวลชน : ทฤษฎีและแนวทางการศึกษา. กรุงเทพฯ: เอดิสัน เพรส โพรดักส์
Instagram : @klink.official
https://www.thairath.co.th/entertain/news/2029213

ตราด - กองทัพเรือ จัดกิจกรรม “กปช.จต. หมอเดินเท้า..เข้าหาชุมชน” และให้ความรู้เกี่ยวกับการป้องกันการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เพื่อเป็นการช่วยเหลือและสนับสนุนเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์

กองทัพเรือ โดยกองบัญชาการป้องกันชายแดนจันทบุรีและตราด (กปช.จต.) จัดกิจกรรม “กปช.จต. หมอเดินเท้า..เข้าหาชุมชน” โดยจัดกำลังพล จำนวน 6 นาย (ประกอบด้วย จนท. กพร.กปช.จต. จำนวน 3 นาย จนท. ร้อย.รยบ.ฯ จำนวน 2 นาย และ จนท. มว.ปจว.กจต. จำนวน 1 นาย) เข้าเยี่ยมเยียนประชาชน ผู้สูงอายุ และผู้ป่วยติดเตียง ในพื้นที่ ชุมชนที่ 8 อ.เมืองจันทบุรี จังหวัดจันทบุรี รวมจำนวน 5 ครอบครัว

กิจกรรมในครั้งนี้ คุณสายพิน ทองลา ประธานชุมชนที่ 8 และ จนท.อสม. รวม 2 คน ร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ ประกอบด้วย  การมอบหน้ากากอนามัย ข้าวสาร ปลากระป๋อง มาม่า น้ำดื่ม และผลไม้ และให้ความรู้เกี่ยวกับการป้องกันการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Covid-19) เพื่อเป็นการช่วยเหลือและสนับสนุนเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ของกระทรวงสาธารณสุข ที่ให้การบริการพี่น้องประชาชน ณ สถานพยาบาลต่าง ๆ ที่มีผู้เข้ารับบริการเป็นจำนวนมาก จนอาจทำให้ไม่สามารถดูแลได้ทั่วถึง


ภาพ/ข่าว สนง.โฆษกกองทัพเรือ

นิราช / นันทพล ทิพย์ศรี รายงาน


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top