Wednesday, 9 July 2025
SPECIAL

คาร์ม็อบระยองครั้งที่ 2 ทวงถามวัคซีคซีนให้แรงงานและคนระยอง กับรมช.สาธิต ติดป้าย ”SAVE เขายายดา ผืนป่าระยอง”

เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 1 สิงหาคม นายภาณุพงศ์ จาดนอกหรือไมค์ระยอง พร้อมกลุ่มแนวร่วมตะวันออกเพื่อประชาธิปไตย โดยมีรถยนต์ 50 คันเข้าร่วมขบวนริมถนนสุขุมวิท หน้าวัดเขาสำเภาทอง หมู่ 7 ต.เพ อ.เมืองระยอง พร้อมติดป้ายผ้าบริเวณทางขึ้นเขายายดา” SAVE เขายายดา ผืนป่าชาวระยอง” เนื่องจากมีกลุ่มคนมีอำนาจขึ้นไปตัดต้นไม้ใหญ่บริเวณจุดชมวิว เขายายดา

นายภาณุพงศ์ หรือไมค์ระยอง กล่าวว่าวันนี้มาจัดคาร์ม็อบระยองครั้งที่ 2 เพื่อทวงถามเรื่องวัคซีนจากนายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ว่าจัดวัคซีนให้กับชาวระยองและภาคตะวันออกจำนวนเท่าไหร่ วันนี้จะมีการประกาศยกระดับการประท้วงเรียกร้องวัคซีนให้กับคนระยองและแรงงานภาคตะวันออก ซึ่งเป็นเมืองเศรษฐกิจ เมืองอุตสาหกรรม สร้างรายได้ให้กับประเทศ ทำไมแรงงานภาคอุตสาหกรรมยังไม่ได้ฉีดวัดซีน รวมถึงบุคลากรทางการแพทย์ และเจ้าหน้าที่พัฒนาสังคมและความความมั่นคงของมนุษย์(พม.)ที่เป็นด่านหน้า สิ่งที่พวกเราเรียกร้องเป็นผลประโยชน์กับประชาชนทั้งสิ้นไม่ได้ต้องการสร้างความวุ่นวาย พร้อมติดป้ายทางขึ้นเขายายดา “SAVE เขายายดา ผืนป่าระยอง เนื่องจากมีกลุ่มคนมีอำนาจขึ้นไปตัดต้นไม้ใหญ่จุดชมวิวเขายายดาเมื่อเร็ว ๆ นี้

ไมค์ระยอง กล่าวต่อว่าได้เปิดบ้านบูรพาช่วยเหลือพี่น้องที่ป่วยโควิด ได้รับข้อมูลว่า เกิดคลัสเตอร์ใหม่จำนวนมากในเขตห้วยโป่ง มาบตาพุด ปลวกแดงและ เขตชลบุรี ดังนั้นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็น ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ เขต 1 ระยอง ควรเร่งหาวัคซีนให้กับแรงานภาคอุตสาหกรรมและคนระยอง เพื่อจะได้เปิดสถานที่ท่องเที่ยว เปิดการผลิตภาคอุตสาหกรรมให้มากที่สุดและเป็นการพยุงเศรษฐกิจให้กับประเทศด้วย

คาร์ม็อบวันนี้จะเคลื่อนขบวนไปที่หน้าศูนย์ราชการจังหวัดระยอง ต.เนินพระ อ.เมืองระยองโดยมีแรลลี่แรงงานสัมพันธ์ภาคตะวันออกประกาศเข้าร่วม ขบวนจะเคลื่อนมาจากบ่อวินปลวกแดง นิคมพัฒนา พบรวมที่ศูนย์ราชการและจะประกาศยกระดับกับแนวร่วมต่อไป


ภาพ/ข่าว  ราชัญ กองทองผู้สื่อข่าว จ.ระยอง

ทหารหน่วยเฉพาะกิจที่ 3 กองกำลังสุรนารี สนธิกำลังปราบปรามขบวนการส่งออกไม้พะยุงข้ามชาติ

เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2564 พันเอก นิสิต สมานมิตร ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจที่ 3 กองกำลังสุรนารี ได้จัดชุดเฉพาะกิจ ร่วมกับจนท.ฝ่ายปกครอง อำเภอขุนหาญ จ.ศรีสะเกษ เจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยศาลา และหน่วยป้องกันและพัฒนาป่าไม้ อ.ขุนหาญ ร่วมกันเข้าจับกุมขบวนการลักลอบขนไม้พะยุง เพื่อนำส่งออกไปยังประเทศลาว 

จากข้อมูลด้านการข่าว สืบทราบว่า ได้มีรถบรรทุก หมายเลขทะเบียน 70-4120 มหาสารคาม ได้ขับรถเข้ามาในพื้นที่ บ้านขุนหาญ ต.โพธิ์กะสังข์ อ.ขุนหาญ จ.ศรีสะเกษ เพื่อมารับไม้พะยุง ไปส่งให้กับนายทุนชาวลาว โดยใช้รถบรรทุกขนาดใหญ่ เพื่อตบตาเจ้าหน้าที่ในการเคลื่อนย้ายออกนอกพื้นที่ ผลการปฏิบัติงาน สามารถจับกุมผู้ต้องหาได้ 1 ราย คือนายอุทัย เทียบหนู อายุ 50 ปี ชาว ตำบลโนนแดง อ.บรบือ จ.มหาสารคาม พร้อมด้วยของกลางเป็นไม้พะยุง จำนวน 66 ท่อน/เหลี่ยม จึงได้แจ้งข้อหา มีไม้หวงห้ามไม้พะยูงไว้ในครอบครองโดยผิดกฎหมาย จับกุมจึงได้นำตัวผู้ต้องหาพร้อมของกลางทั้งหมดส่งเจ้าพนักงานสอบสวน สภ.กันทรอม อ.ขุนหาญ จ.ศรีสะเกษ และนำไม้ของกลางไปเก็บไว้ที่ หน่วยป้องกันรักษาป่าที่ ศก.1 อ.ขุนหาญ จ.ศรีสะเกษ


ภาพ/ข่าว  บุญทัน ธุศรีวรรณ ศรีสะเกษ

ม็อบคาร์ขอนแก่น เผาหุ่น 36 รัฐมนตรีแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ขับไล่รัฐบาลบริหารประเทศล้มเหลว

เมื่อเวลา 19.30 น. วันที่ 1 ส.ค. 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่าภายหลังจากกลุ่มราษฎรขอนแก่น ได้กำหนดจัดกิจกรรมม็อบคาร์เพื่อเน้นย้ำ 3 ข้อเรียกร้อง ประกอบด้วยการให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีพร้อมคณะรัฐมนตรี ลาออกจากตำแหน่ง การร่างรัฐธรรมนูญใหม่ฉบับที่มาจากประชาชนและปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ด้วยการนำรถยนต์และรถจักรยานยนต์เข้าร่วมกิจกรรมนับพันคัน ขับขี่มาตามเส้นทางที่แกนนำกำหนดระยะทาง 12 กม. ตั้งแต่ช่วงเย็นที่ผ่านมา โดยทุก ๆ คัน จะบีบแตรและชูสามนิ้วเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์มาตลอดเส้นทางจนมาถึงจุดหมายหน้าศาลากลางจังหวัดขอนแก่น กลุ่มผู้ชุมนุมได้ตั้งเวทีปราศรัยอยู่กลางถนน พร้อมทั้งปิดเส้นทางไม่ให้รถสามารถสัญจรไป-มาได้ ขณะที่ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เมืองขอนแก่น พร้อมด้วยฝ่ายปกครอง และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขอำเภอ ได้เฝ้าสังเกตการณ์รักษาความสงบเรียบร้อยและความปลอดภัยในกิจกรรมดังกล่าว

ทั้งนี้กลุ่มผู้ชุมนุมมาพร้อมกันที่หน้าเวทีก็ได้นำหุ่นจำลองเป็นศพ 36 หุ่นรัฐมนตรีมากองไว้ที่หน้าเวที ก่อนจะราดน้ำมันและจุดไฟเผา เพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ว่าการบริหารประเทศของคณะรัฐบาลทั้ง 36 คน บริหารได้ล้มเหลวทุกด้าน และเพื่อเป็นการไว้อาลัยให้กับผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อโควิด-19 กว่า 4,000 คน ก่อนที่แกนนำจะสับเปลี่ยนกันขึ้นปราศรัยแสดงออกทางการเมือง ขณะเดียวกันยังคงมีกลุ่มนักดนตรีที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 และตกงาน ได้มาร่วมบรรเลงเพลงสะท้อนความล้มเหลว

ในปัจจุบันได้มีการนำสมุนไพรไทยอย่าง “ฟ้าทะลายโจร” มาใช้ในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอัตราสูงขึ้นในทุกวัน เป็นที่น่าพึงพอใจอย่างมากในทางการแพทย์ ตัวฟ้าละลายโจรนั้นสามารถทำให้ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นและหายจากโรคระบาดนี้ได้อย่างรวดเร็ว

ในช่วงนี้การระบาดของไวรัสโควิด-19 นอกจากจะมีแนวโน้มที่ไม่ลดลงแล้ว ยังเพิ่มขึ้นแบบน่าใจหายอีกด้วยครับ ท่ามกลางการโจมตีผลงานรัฐบาลในเรื่องของการใช้วัคซีน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการบริหารจัดการ หรือแม้กระทั่งคุณภาพของวัคซีน จนชาวบ้านระดับรากหญ้าหลาย ๆ ราย ไม่กล้าที่จะฉีดวัคซีน ถ้ามีเงินหน่อยก็เลือกที่จะรอวัคซีนทางเลือก ที่โรงพยาบาลเอกชนหลายแห่งเริ่มให้มีการเปิดจองไปแล้ว 

ในส่วนของการจัดการ พอรัฐบาลมีมาตรการสั่งปิดแคมป์คนงานหลาย ๆ แห่งในกรุงเทพฯ ก็กลับกลายเป็นว่าทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายของแรงงานจำนวนมากไปยังต่างจังหวัดเพื่อกลับภูมิลำเนา ส่งผลให้ในต่างจังหวัดที่สถานการณ์เริ่มจะคลี่คลายแล้วกลับมารุนแรงขึ้นอีก และมีคลัสเตอร์ที่น่าเป็นห่วงที่สุดเพิ่มขึ้นมาคือคลัสเตอร์ของศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก เนื่องจากการกระจายลงไปสู่เด็กเล็กที่ค่อนข้างลำบากมากในเรื่องของการดูแลตัวเอง 
ท่ามกลางกระแสอันเลวร้ายของโควิด-19 ก็มีอีกกระแสหนึ่งเกิดขึ้นมา นั้นคือกระแสที่ว่าด้วยแพทย์ทางเลือก คือ การใช้ฟ้าทะลายโจร ซึ่งเป็นพืชสมุนไพรที่คนไทยรู้จักกันมานาน อาจจะมีสรรพคุณในการป้องกัน และรักษาไวรัสโควิด-19 ได้ สำหรับวันนี้เราจะมาดูรายละเอียดของเรื่องนี้กันครับ 

ก่อนอื่นเรามารู้จักพืชสมุนไพรที่ว่าด้วยฟ้าทะลายโจรกันก่อน ฟ้าทะลายโจรมีชื่อทางวิทยาศาสตร์คือ Andrographis paniculata (Burm.f.) Wall.ex Nees และชื่อสามัญคือ Kariyat , The Creat ทั้งนี้นอกจากชื่อฟ้าทะลายโจร แล้วยัง มีชื่อเรียกอื่น ๆ อีก ตามแต่ละพื้นที่ เช่น หญ้ากันงู น้ำลายพังพอน ฟ้าสาง เขยตายยายคลุม สามสิบดี เมฆทะลาย ฟ้าสะท้าน เป็นต้น ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของฟ้าทะลายโจร เป็นไม้ประเภทล้มลุก มีความสูงประมาณ 30-70 เซนติเมตร ทุกส่วนของฟ้าทะลายโจรจะมีรสขม กิ่งเป็นใบสี่เหลี่ยม ใบเป็นประเภทใบเดี่ยว แผ่นใบสีเขียวเข้มเป็นมัน ดอก ช่อ ออกที่ปลายกิ่งและซอกใบ ส่วนที่ใช้เป็นสมุนไพรใช้ได้หลายส่วน ทั้งต้น ใบสด ใบแห้ง ฟ้าทะลายโจรเป็นสมุนไพรที่ได้ถูกบรรจุอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ พ.ศ. 2542 (บัญชียาจากสมุนไพร) กระทรวงสาธารณสุข ในรูปแบบยาเดี่ยว ลักษณะส่วนประกอบทางเคมีของฟ้าทะลายโจร มีสารเคมีประกอบอยู่หลายประเภท แต่ที่เป็นสารที่สำคัญในการออกฤทธิ์ คือ สารกลุ่ม Lactone ได้แก่ สารแอดโดรกราโฟไลด์ (andrographolide) สารนีโอแอนโดรกราโฟไลด์ (neo-andrographolide) สาร 14-ดีอ๊อกซี่แอนโดรกราโฟไลด์ (14-deoxy-andrographolide) 

โดยสรรพคุณหลักของฟ้าทะลายโจรคือ ใช้บรรเทาอาการไข้หวัด แก้ไอและเจ็บคอ ทั้งนี้ในประเทศไทยมีหน่วยงานที่ศึกษาเรื่องการใช้ฟ้าทะลายโจรในการรักษาไวรัสโควิด-19 อย่างจริงจังคือโรงพยาบาลอภัยภูเบศร โดยได้ร่วมกับคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในการศึกษาวิจัยถึงกลไกในการต้านโควิด-19 ของฟ้าทะลายโจร ทั้งนี้จากผลการศึกษาพบว่าสารแอนโดรกราโฟไลด์ ซึ่งเป็นสารสำคัญในฟ้าทะลายโจร มีความสามารถในการยับยั้งกระบวนการติดเชื้อไวรัสของเซลล์ปอดในมนุษย์ได้ โดยผ่านกลไกที่สำคัญ คือ การยับยั้งการแบ่งตัวของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในทุกระยะ จึงมีโอกาสที่จะพัฒนาการใช้ฟ้าทะลายโจรเป็นยารักษาและป้องกันโควิด-19 ได้ โดยสามารถใช้เป็นยาเดี่ยว หรือใช้ควบรวมกับสูตรยามาตรฐาน ในการรักษาผู้ที่ติดเชื้อโควิด-19 ได้ ปัจจุบันผลงานวิจัยดังกล่าวได้รับการตีพิมพ์ในวารสารระดับนานาชาติ Journal of  Natural Products ซึ่งเป็นผลการศึกษาที่เกิดขึ้นในระดับห้องปฏิบัติการเท่านั้น 

อย่างไรก็ตามเนื่องจากไวรัสโควิด-19 เป็นโรคอุบัติชนิดใหม่ที่พึ่งเกิดขึ้นมา ในการพัฒนายาที่มาใช้ในการรักษานั้น จะต้องมีการศึกษา วิจัย และค้นคว้าให้มีความลึกซึ้งมากกว่านี้ และอาจใช้ระยะเวลาในการศึกษา เพราะการใช้ยาแต่ละชนิดในการรักษาหรือป้องกันโรคนั้นจะต้องศึกษาผลกระทบที่เกิดจากการใช้ยาชนิดนั้นที่อาจเกิดขึ้นด้วย อย่างไรก็ตามถึงแม้จะมีการศึกษาในระดับห้องปฏิบัติการเท่านั้น แต่ที่มีการศึกษาและเป็นที่ยอมรับอย่างชัดเจนแล้วคือการรับประทานฟ้าทะลายโจรจะช่วยในการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันโรคหวัดได้ ส่วนจะใช้ในการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันโควิด-19 ได้จริงหรือไม่ คงต้องมีการศึกษากันในระยะต่อไป เพื่อให้เกิดความชัดเจนมากขึ้น 

แต่แม้จะยังไม่มีหลักฐานที่ชัดเจน 100% ยืนยันได้ว่าฟ้าทะลายโจรสามารถป้องกันหรือรักษาเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้จริงหรือไม่ก็ตาม การรับประทานฟ้าทะลายโจรก็เป็นประโยชน์ต่อเราอยู่แล้ว ในเรื่องของการป้องกันการเป็นหวัดได้ เพราะฉะนั้น ถ้าเราจะหาพืชสมุนไพรที่ชื่อฟ้าทะลายโจรมารับประทาน ก็ไม่เกิดความเสียหายอะไร นอกจากจะป้องกันการเป็นหวัดได้แล้ว เผลอ ๆ อาจจะสร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกายเราในการป้องกันโควิด-19 ท่ามกลางกระแสความสับสนในเรื่องของการใช้วัคซีน ได้อีกด้วยก็เป็นได้ครับ


เขียนโดย: ผศ.ดร.สุทัศน์ จันบัวลา อาจารย์ประจำสาขาวิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสวนดุสิต

นครนายก - แทนความห่วงใย จากใจเกรียงไกร กิตติธเนศวร นักบริหารยุคใหม่ จัดหาวัคซีนซิโนฟาร์ม (เข็มที่2) ให้พนักงานและประชาชน

แทนความห่วงใย จากใจเกรียงไกร กิตติธเนศวร และดร.เกยูร โชคล้ำเลิศ นักบริหารยุคใหม่ จัดหาวัคซีนชิโนฟาร์ม(เข็มที่2ให้พนักงาน ครอบครัวพักงาน องค์กรลูกค้าและประชาชน เมื่อเวลา 08.30 น. ของวันที่ 1 สิงหาคม 2564 ที่โรงแรมจันทรา รีสอร์ท อำเภอเมือง จังหวัดนครนายก ดร. เกยูร โชคล้ำเลิศ และ นายเกรียงไกร กิตติธเนศวร กรรมการบริษัท ยู้ ฟิชบอล จำกัด และ หจก นครนายกการโยธา อาหารเสริม ยูเอ็นซี แคลเซียม (UNC Calcium) บริการวัคซีนทางเลือก ชิโนฟาร์ม  ได้ประสานกับราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เพื่อขอรับวัคซีนทางเลือก “ซิโนฟาร์ม” ให้กับ พนักงานและครอบครัวพนักงาน ในองค์กร ลูกค้าและประชาชนที่อยู่ในชุมชนเสี่ยงนครนายก

ด้วยความห่วงใยพี่น้องประชาชนชาวจังหวัดนครนายก ดร.เกยูร โชคล้ำเลิศกรรมการ ยู้ ฟิซบอล จำกัดและนาย เกรียงไกร กิตติธเนศวร  หจก.นครนายกการโยธา ได้ประสานกับราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เพื่อขอรับวัคซีนทางเลือก ชิโนฟาร์ม พร้อมนำบุคลากรทางการแพทย์มาฉีดวัคซีนทางเลือก ชิโนฟาร์ม ให้กับพนักงาน ครอบครัวพนักงานในองค์กร ลูกค้าและประชาชนที่อยู่ในชุมชนเสี่ยงของจังหวัดนครนายก

นายเกรียงไกร กิตติธเนศวร  หจก.นครนายกการโยธา เสริมว่า ทางเราพยายามหามาตรการป้องกันมาตลอด และคิดว่า วัคซีน คือ คำตอบของการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่  ในเดือน มิถุนายน - สิงหาคม เราบริจาคข้าวสารมากกว่า 10000 กิโลกรัม แมสมากกว่า 2000 ลัง เจลแอลกอฮอล์ รวมทั้งอาหารสด อาหารแห้ง ทุกวันนี้ เราให้ทุกวัน  เพราะคิดว่า การให้ คือ ให้ไม่ต้องรอ ไม่ต้องคิด หากมีโอกาสเราจะนำวัคซีน หรืออะไรที่เราตัวเล็ก ๆ พอจะช่วยได้ เราจะนำมาแจกให้กับประชาชนอีกครั้ง  และเราจะทำอีกเรื่อยๆ เพราะว่า เราคือคนไทยด้วยกัน “เพราะความสำเร็จนั้นจะ เยี่ยมยอดที่สุด เมื่อมันถูกแบ่งปัน“


ภาพ/ข่าว  สมบัติ เนินใหม่ / รัชชานนท์ เนินใหม่ / ผู้สื่อข่าวจังหวัดนครนายก

รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แจ้งเตือนข้อมูลข่าวสารที่บิดเบือนหรือเป็นเท็จในลักษณะ ‘ข่าวปลอม’ (Fake News) 2 กรณี หมอประสิทธิ์ และสินเชื่อธนาคารกรุงไทย

เมื่อวันที่ 1ส.ค.2564 พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ ดีพอ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยว่า ตามนโยบายของรัฐบาล สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมในการสร้างการรับรู้ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องให้กับพี่น้องประชาชน เพื่อป้องกันการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่บิดเบือนหรือเป็นเท็จในลักษณะข่าวปลอม(Fake News) จากผู้ไม่หวังดีที่พยายามบิดเบือนข้อมูลข่าวสารโดยเฉพาะในสื่อสังคมออนไลน์ นั้น โดยในวันนี้ ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมประเทศไทย ตรวจพบข่าวปลอม อีก 2 กรณี คือ

1. จากที่มีการแชร์ข้อมูลที่ระบุว่าหมอประสิทธิ์ ซึ่งเป็นคณบดีศิริราช ได้ออกประกาศขอความร่วมมือให้ประชาชนล็อกดาวน์ตัวเอง และครอบครัว เพราะตอนนี้พบสายพันธุ์แลมบ์ดา กำลังระบาดในเขตมีนบุรี และขอให้ประชาชนล็อกดาวน์ตัวเองนั้น ทางคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลได้ชี้แจงว่า เรื่องดังกล่าวเป็นข้อมูลเท็จ ซึ่งเรื่องดังกล่าวเคยมีการส่งคลิปเสียงในประเด็นเดียวกันหลายครั้งแล้ว โดยขอยืนยันว่าข้อมูลดังกล่าวทั้งในรูปแบบข้อความ และคลิปเสียง ไม่ได้เป็นข้อมูลที่มาจาก ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลแต่อย่างใด

ซึ่งหากมีการแนะนำหรือข้อพึงระวังเกี่ยวกับสถานการณ์วิกฤตโควิด-19 คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล จะทำการแถลงผ่านสื่อออนไลน์เป็นวิดีโอที่จะปรากฏทั้งใบหน้าและเสียง โดยไม่มีการเผยแพร่ข้อความหรือคลิปเสียงเพียงอย่างเดียว เพื่อป้องกันการแอบอ้าง

2. จากกรณีการโพสต์ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการขอสินเชื่อกับธนาคารกรุงไทย ผ่านแอปพลิเคชันเป๋าตังนั้น ทางธนาคารกรุงไทยได้ตรวจสอบเรื่องดังกล่าวและชี้แจงว่า ปัจจุบันยังไม่มีบริการให้สินเชื่อผ่านแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” ซึ่งแอปพลิเคชันเป๋าตัง เป็นแพลตฟอร์มด้านการเงินระบบเปิด สามารถใช้บริการแม้ไม่มีบัญชีเงินฝากของธนาคารกรุงไทย ให้บริการครอบคลุมทั้งบริการกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (E-wallet) รองรับการทำธุรกรรมโอนเงิน เติมเงิน และชำระค่าสินค้าและบริการ รวมถึงบริการกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ของภาครัฐ (G-wallet) รองรับการทำนโยบายของภาครัฐ บริการกระเป๋าสุขภาพ (Health Wallet) ตรวจเช็กสิทธิด้านสุขภาพผ่านเป๋าตัง บริการด้านการลงทุนพันธบัตรของรัฐผ่านวอลเล็ต สบม.รวมถึงบริการเกี่ยวกับกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ที่ช่วยให้การจัดการบัญชีกยศ. สะดวก และรวดเร็ว

ดังนั้นขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อ และขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ  และเพื่อมิให้เกิดความสับสนและตื่นตระหนก

ซึ่งการกระทำของผู้เผยแพร่ข่าวปลอม อาจเข้าข่ายความผิดตาม  พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ มาตรา 14(1),(2),(5) มีอัตราโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือ ปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามพฤติการณ์ที่ได้กระทำความผิดโดย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จะบังคับใช้กฎหมายกับผู้กระทำความผิดต่อไป

ทั้งนี้ หากพี่น้องประชาชนพบข้อมูลการกระทำผิด สามารถแจ้งเบาะแสผ่าน 4 ช่องทาง ได้แก่ เว็บไซต์ https://www.antifakenewscenter.com ,เฟซบุ๊ก ANTI-FAKE NEWS CENTER, ทวิตเตอร์ @AFNCThailand, ไลน์ @antifakenewscenter และช่องทางโทรศัพท์โทรสายด่วน GCC 1111 ต่อ 87

ตร. เตือนประชาชน ระวัง! “ฟ้าทะลายโจรปลอม” ผู้ขายระวังโทษหนัก

เมื่อวันที่ 1 ส.ค.2564  พ.ต.อ.ศิริวัฒน์  ดีพอ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติมีความเป็นห่วงใยพี่น้องประชาชนในช่วงที่มีการระบาดของโรคโควิด-19 มีประชาชนเป็นจำนวนมากหาซื้อผลิตภัณฑ์สมุนไพรฟ้าทะลายโจร ทำให้เกิดความต้องการในท้องตลาดสูง จึงมีมิจฉาชีพหรือผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ปลอม ฉวยโอกาสโดยการโฆษณาขายผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ขายผลิตภัณฑ์ฟ้าทะลายโจรปลอม หรือใช้หมายเลข อย.ปลอม หรือ โฆษณาแสดงสรรพคุณอันเป็นเท็จ เกินความจริง ทำให้เข้าใจผิดในสรรพคุณ หรือ ทำให้เข้าใจว่ามีวัตถุใดเป็นส่วนประกอบ ซึ่งความจริงไม่มีวัตถุหรือส่วนประกอบน้ัน ในผลิตภัณฑ์สมุนไพร หรือมีแต่มีไม่เท่าที่ทำให้เข้าใจตามที่โฆษณา ฯลฯ

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงขอประชาสัมพันธ์ เพื่อเตือนให้พี่น้องประชาชนระมัดระวังในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ฟ้าทะลายโจร โดยให้เลือกซื้อจากร้านค้าที่มีมาตรฐาน มีความน่าเชื่อถือ และควรตรวจสอบข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น การอนุญาตผลิตภัณฑ์ จากเว็บไซต์ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา www.fda.moph.go.th หรือ Oryor Smart Application และตรวจสอบข้อมูลจาก เว็บไซต์ ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ประเทศไทย www.antifakenewscenter.com เป็นต้น

สำหรับผู้ที่กระทำความผิดในการขายผลิตภัณฑ์ฟ้าทะลายโจรปลอมหรือโฆษณาขายในลักษณะผิดกฎหมายในสื่อสังคมออนไลน์ จะมีความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 มีอัตราโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท ฯ และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(1) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือน หรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหาย แก่ประชาชน มีอัตราโทษจำคุกไม่เกินห้าปี ปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท

นอกจากนี้ยังมีความผิด ตาม พ.ร.บ.ผลิตภัณฑ์สมุนไพร พ.ศ.2562 ตามแต่พฤติการณ์ที่ได้กระทำ เช่น มาตรา 58 (1)ผลิต หรือขายผลิตภัณฑ์สมุนไพรปลอมฯ ประกอบมาตรา 102 มีอัตราโทษจำคุกไม่เกินสามปี และปรับไม่เกินสามแสนบาทบาท มาตรา 70 โฆษณาผลิตภัณฑ์สมุนไพรโดยไม่ได้รับอนุญาตฯและ มาตรา 74 โฆษณาผลิตภัณฑ์สมุนไพรในลักษณะผิดกฎหมายฯ ประกอบมาตรา 114 มีอัตราโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

โดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จะร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบังคับใช้กฎหมายกับผู้กระทำความผิดต่อไป ทั้งนี้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ขอความร่วมมือมายังพี่น้องประชาชน หากพบเห็นการกระทำผิดกฎหมายดังกล่าว กรุณาแจ้งเบาะแสไปยังสายด่วน 191 และสายด่วนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ 1599 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

เราจะสร้างบรรยากาศในบ้านให้เป็นพื้นที่ปลอดภัยได้อย่างไร? สร้างบรรยากาศครอบครัวให้ดี ให้รู้สึกปลอดภัย ไม่ว่าข้างนอกบ้านจะเป็นอย่างไร ทุกคนก็มีความสุขได้

มีคำกล่าวหนึ่ง ผู้หญิงคือผู้สร้างโลก บ้านจะมีความสุขหรือไม่ขึ้นอยู่กับความสุขของผู้หญิง (ภรรยา) แต่บังเอิญว่าความสุขของผู้หญิง (ภรรยา) ขึ้นอยู่กับความรักของผู้ชาย (สามี) สิ่งที่คุณกระทำต่อภรรยามีผลต่อลูกคุณเสมอ จึงขอฝากถึงคุณผู้ชายว่า รักภรรยาคุณให้มากๆ นะ แบ่งเบาภาระภรรยาให้มากๆ เข้าอกเข้าใจในความเป็นภรรยา ในความเป็นแม่ และในความเป็นผู้หญิงของเธอ ถ้าคุณอยากมีครอบครัวที่อบอุ่น และมีความสุขที่แท้จริง

พวกเราอยู่ในยุคของการเปลี่ยนแปลง ทุกๆ ครอบครัวต่างเผชิญกับความไม่แน่นอน การออกนอกบ้านคือสัญลักษณ์ของความไม่ปลอดภัย สิ่งแวดล้อมไม่น่าไว้วางใจ โรคระบาดทำให้ทุกคนต้องกลับเข้าบ้าน  บ้านคือพื้นที่ที่ปลอดภัยที่สุดสำหรับทุกคนในเวลานี้ ประเด็นก็คือ เราจะสร้างบรรยากาศบ้านให้เป็นพื้นที่ที่ปลอดภัยได้อย่างไร ในที่นี้คงไม่พูดถึงความสะอาด แต่เราจะขอพูดในมุมของความรู้สึกมากกว่า

จากผลงานวิจัย เมื่อบรรยากาศในบ้านไม่ปลอดภัย มีความขัดแย้ง หรือเสียงทะเลาะ ด่าทอ ร่างกายและจิตใจของลูก จะตอบสนองอัตโนมัติในการรวบรวมพลังงานร่างกายทั้งหมดเพื่อความพร้อมในการรับมือ และการป้องกันตัวเอง แทนที่จะได้ใช้พลังงานที่มีนำไปหล่อเลี้ยงสมอง ให้สมองและจิตวิญญาณเติบโตพัฒนาก้าวหน้า กลับต้องมาเสียพลังงานกับเรื่องความไม่ปลอดภัยในครอบครัว

จากประสบการณ์ตรง ทั้งพ่อและแม่ส่วนใหญ่ไม่รู้ตัว คิดว่าลูกรับได้ ลูกแข็งแรงมากพอ ไม่น่าจะเป็นไรมาก จริงๆ แล้วมีผลกระทบค่ะ ทั้งคำพูด การกระทำ การควบคุม ความหวังดี ความเหมาะสม การตัดสินใจ ที่ไม่เคยถามถึงความความรู้สึกและความสุข บ่อยครั้งที่การทะเลาะทำให้อีกคนเจ็บปวด ไม่สบายใจ ไม่พอใจ เสียใจ โกรธ เคียดแค้น และทุกข์ใจ

การที่คนในครอบครัวเก็บกดความรู้สึกเหล่านี้ไว้นานๆ ทำให้สุขกายและสุขภาพจิตทรุดโทรม นอนไม่หลับ หงุดหงิด อารมณ์เปราะ กังวล ว้าวุ่นใจ สงสัยลังเล  เจ็บป่วยง่าย โรคแปลกๆ จะเกิดขึ้น ไปหาหมอก็ไม่หาย แต่คุณเชื่อไหมว่าโรคเหล่านี้จะหายไปเมื่อสถานการณ์และบรรยากาศกลับมาเป็นปกติ  ด้วยการที่พ่อแม่ลูกให้อภัยกันและกัน กล่าวขอโทษกัน เราทำผิดเราต้องขอโทษ  เขายอมรับผิด เรายกโทษให้  ทำเพื่อทุกคน ทำให้บรรยากาศกลับมาเป็นปกติ ไม่ได้ทำเพื่อใครคนใดคนหนึ่งแต่ทำเพื่อครอบครัว

โดยเฉพาะเด็กรุ่นใหม่ ผิดคือผิดถูกคือถูก พ่อแม่ทำผิดต้องขอโทษ แต่ก็มีอีกกรณีที่เอาคำขอโทษขออภัยมาเป็นเกมในการทำผิดซ้ำๆ คำขอโทษ ขอภัย ก็ไม่มีค่าอะไร เพราะแค่พูดออกไปงั้นๆ แต่ไม่คิดที่จะแก้ไขปรับปรุง แถมยังทำผิดซ้ำแล้วซ้ำอีก อันนี้ก็คงต้องแก้ที่นิสัยและทัศนคติในการใช้ชีวิตส่วนตัว

ถ้าครอบครัวคุณอยู่ในบรรยากาศของความขัดแย้งและการทะเลาะ และยังแก้ไขไม่ได้ จงพูดให้ลูกเข้าใจว่าพ่อแม่ก็เป็นมนุษย์ธรรมดาคนหนึ่ง ที่มีรักโลภโกรธหลง มีทั้งดีและไม่ดี ให้ลูกจดจำในส่วนที่ดีๆ ของพ่อกับแม่ไปนะ ส่วนที่ไม่ดีที่เป็นข้อบกพร่องก็ไม่ต้องเอาอย่าง สอนให้ลูกรู้จักแยกแยะ 

เมื่อทุกคนร่วมมือเป็นทีมเดียวกัน สร้างบรรยากาศครอบครัวให้ดี ให้รู้สึกปลอดภัย ไม่ว่าข้างนอกบ้านจะเป็นอย่างไร ทุกคนก็มีความสุขได้ โดยเฉพาะถ้าภรรยามีความสุข บ้านก็มีความสุข สามีก็มีความสุข ลูกๆ ก็มีความสุขอย่างแท้จริง สนับสนุนสร้างครอบครัวอบอุ่นด้วยการมีผัวเดียวเมียเดียวค่ะ 

.

เขียนโดย อ.นิธิมา กุญชร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาบุคลากร โปรเฟสชั่นนอล เทรนเนอร์
#Talktonitima


อ้างอิง
https://today.line.me/th/v2/article/k6MwRo
https://aboutmom.co/interview/benjarat-jongcharusphan/22044/
https://adaymagazine.com/domestic-violence-during-pandemic

'ผบช.สตม.'​ ตรวจเยี่ยมจุดคัดกรอง Covid 19​ ต.ตลาดเกรียบ อ.บางปะอิน​ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา​ และ​ ด่าน​ ตม.จังหวัด

ตามนโยบาย พล.ต.อ.สุวัฒน์  แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. และ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รอง ผบ.ตร. (มค) ให้ผู้บังคับบัญชา ตรวจเยี่ยมการปฏิบัติหน้าที่ผู้ใต้บังคับบัญชาที่ปฏิบัติหน้าที่และให้กำลังใจแก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน 

(31กค.64) พล. ต.ท.สมพงษ์​ ชิงดวง ผบช.สตม. ได้เดินทางมาตรวจเยี่ยมจุดตรวจคัดกรองป้องกันการแพร่ระบาด โรคไวรัสโควิด 19 ต.ตลาดเกรียบ อ.บางปะอิน​ จ.พระนครศรีอยุธยา  พบ พ.ต.อ.จิรประภาพ สุทธปรีดา ผกก.ตม.จว.อยุธยา, พ.ต.ท.ภาคิน พงษ์กาญจนะ รอง ผกก.(ป) สภ.บางบาล พร้อมทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ ผู้ปฏิบัติหน้าที่ประจำจุด และเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานอื่น ได้แก่ เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง เจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุข และ เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหาร ว.4 ร่วมบริเวณจุดตรวจฯ

เวลา 14.00 น. พล. ต.ท.สมพงษ์​ ชิงดวง  ผบช.สตม. ได้เดินทางตรวจเยี่ยมด่าน ตม.จว.พระนครศรีอยุธยา พร้อมทั้งมอบนโยบายและกำชับการปฏิบัติราชการของเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดพระนครศรีอยุธยา

ทั้งนี้ ได้แสดงความห่วงใยและให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติงาน รวมถึงการใช้ชีวิตประจำวัน เนื่องจาก ห้วงเวลานี้มีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส โควิด 19 เป็นจำนวนมาก และได้กล่าวขอบคุณในความเสียสละ และอวยพรให้เจ้าหน้าที่จากทุกหน่วยงาน ปลอดภัยจากการระบาดของเชื้อไวรัส โควิด 19 

พร้อมกันนี้ได้มอบสิ่งของบำรุงขวัญ อาทิ หน้ากากอนามัย เจลแอลกอฮอล์ และเครื่องอุปโภค บริโภค ให้แก่เจ้าหน้าที่ เพื่อเป็นขวัญกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่ต่อไป

ฟ้าทะลายโจรกิน ’กันตาย’ หรือ ’กันติด’ ? กับ ‘ผศ.ดร.สุทัศน์’ I LOCK LENS GURU EP.39

LOCK LENS GURU รายการที่จะพาทุกคนมาเจาะลึกประเด็นที่น่าสนใจ ไปกับ ’กูรู’ ตัวจริง 

วันนี้พบกับ ‘ผศ.ดร.สุทัศน์ จันบัวลา’
อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสวนดุสิต

???? ดำเนินรายการโดย เจ THE STATES TIMES
.

.


โปรเด็ด! ถึง 31 ก.ค. นี้ Ford Ranger, MG ZS, Mazda 2 และ Nissan อัลเมร่า ทักไลน์ @THESHOPSTIMES 
คลิก????https://lin.ee/vfTXud9

รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เตือน!! ข้อมูลข่าวสารที่บิดเบือนหรือเป็นเท็จในลักษณะ “ข่าวปลอม” (Fake News) จากผู้ไม่หวังดีที่พยายามบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร

เมื่อวันที่ 31 ก.ค.2564 พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ ดีพอ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยว่า ตามนโยบายของรัฐบาล สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมในการสร้างการรับรู้ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องให้กับพี่น้องประชาชน เพื่อป้องกันการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่บิดเบือนหรือเป็นเท็จในลักษณะข่าวปลอม(Fake News) จากผู้ไม่หวังดีที่พยายามบิดเบือนข้อมูลข่าวสารโดยเฉพาะในสื่อสังคมออนไลน์ นั้น โดยในวันนี้ ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมประเทศไทย ตรวจพบข่าวปลอม อีก 2 กรณี คือ

1. กรณีที่มีการแชร์ข้อมูลว่าตอนนี้กองกำลังทหารกว่า 300 นาย ได้ควบคุมตัวนายกรัฐมนตรี ไว้แล้ว เพื่อให้กองทัพบกทำการรัฐประหารนั้น ทางกองทัพบกได้ตรวจสอบเรื่องดังกล่าวและชี้แจงว่า เป็นข้อมูลเท็จ เป็นการสร้างเรื่องเท็จหวังให้เกิดความวุ่นวายในสังคม เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ทำลายชื่อเสียงกองทัพและรัฐบาล ซึ่งขณะนี้ผู้บัญชาการทหารบกได้มอบให้ผู้อำนวยการสำนักงานพระธรรมนูญทหารบก เข้าดำเนินการแจ้งความร้องทุกข์ต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อผู้ที่ปล่อยข่าวปลอมดังกล่าวต่อไป

2.จากที่มีการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ฟ้าทะลายโจร ตราอินทารา ซึ่งระบุสรรพคุณในการจำหน่ายว่าเสริมภูมิคุ้มกันโรค ป้องกันไม่ให้ติดไวรัสในกลุ่มทางเดินหายใจ ลดการอักเสบที่ปอดและทางเดินหายใจจากการติดเชื้อ ต้านเชื้อไวรัส และรักษาโรคโควิด-19 ได้นั้น ทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ตรวจสอบและยืนยันว่า ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวเป็นผลิตภัณฑ์ปลอม และใช้ข้อความโฆษณาที่เป็นข้อมูลเท็จ

โดยผลิตภัณฑ์ที่มีเลขสารบบอาหาร 63-1-17262-5-0005 ได้รับอนุญาตเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารในชื่อ อินทรา-015 (ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร)/Intra-015 (Dietary Supplement Product) ส่วนประกอบ คือ ไคโตซาน ถั่วขาว ส้มแขก และบุก ซึ่งไม่มีฟ้าทะลายโจรเป็นส่วนประกอบแต่อย่างใด

ดังนั้น ขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อ และขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ และเพื่อมิให้เกิดความสับสนและตื่นตระหนก

ซึ่งการกระทำของผู้เผยแพร่ข่าวปลอม อาจเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ มาตรา 14(1),(2),(5) มีอัตราโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือ ปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามพฤติการณ์ที่ได้กระทำความผิดโดย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จะบังคับใช้กฎหมายกับผู้กระทำความผิดต่อไป

ทั้งนี้ หากพี่น้องประชาชนพบข้อมูลการกระทำผิด สามารถแจ้งเบาะแสผ่าน 4 ช่องทาง ได้แก่ เว็บไซต์ https://www.antifakenewscenter.com ,เฟซบุ๊ก ANTI-FAKE NEWS CENTER, ทวิตเตอร์ @AFNCThailand, ไลน์ @antifakenewscenter และช่องทางโทรศัพท์โทรสายด่วน GCC 1111 ต่อ 87

สกพอ. ร่วมกับพลังสตรีอีอีซี ระยอง ส่งมอบน้ำใจช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด -19

ระยอง​ -​ (31​ก.ค.64)​ นางสาวทัศนีย์ เกียรติภัทราภรณ์ รองเลขาธิการสายงานเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ และ ดร.เพ็ชร ชินบุตร ผู้บริหารกองทุนพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก สกพอ. ร่วมกับ​ กลุ่มสตรีอีอีซี ระยอง เป็นผู้แทนเลขาธิการ สกพอ. (ดร.คณิศ แสงสุพรรณ) มอบถุงยังชีพจำนวน 300 ถุง ให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในอำเภอบ้านฉาง จังหวัดระยอง ได้แก่...

เทศบาลตำบลบ้านฉาง โดยนายสุชิน พูลหิรัญ นายกเทศมนตรี ต.บ้านฉาง​ / เทศบาลตำบลพลา โดยนายสมทรง แถวโชติ รองนายกเทศมนตรี ต.พลา / และองค์การบริหารส่วนตำบลสำนักท้อน โดยนางอิงอร เนียมสะอาด รองนายก อบต.สำนักท้อน อ.บ้านฉาง จ.ระยอง ร่วมรับมอบ ณ​ อาคารเอนกประสงค์ เทศบาลตำบลบ้านฉาง อ.บ้านฉาง จ.ระยอง เพื่อนำไปมอบให้ผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ โควิด-19 ซึ่งกำลังแพร่ระบาดเป็นวงกว้าง ส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่เป็นจำนวนมาก

โดยภายในถุงประกอบด้วยสิ่งของที่จำเป็น เช่น ข้าวสาร อาหารแห้ง ยาสามัญ และหน้ากากอนามัย เพื่อร่วมเป็น อีกหนึ่งกำลังใจให้ประชาชนในพื้นที่อีอีซี ได้ผ่านพ้นวิกฤตโควิด-19 ไปด้วยกัน

ตำรวจ PCT สนธิกำลังนครบาล ทลายเครือข่าย 'พนันออนไลน์' GCLUB พบเงินหมุนเวียนกว่า 250 ล้านต่อเดือน!!

เมื่อวันที่ (30 ก.ค.64) ตำรวจ PCT สนธิกำลัง บก.สส.บช.น. นำกำลังเข้าทลายเครือข่ายพนันออนไลน์พร้อมกันหลายจุด จับกุมผู้ต้องหา 2 คน ยึดรถหรู 3 คัน มีการเผยแพร่ภาพสดบ่อนคาสิโนในกัมพูชา พบเงินหมุนเวียนกว่า 250 ล้านบาทต่อเดือน

พล.ต.ต.สันติ ชัยนิรามัย ผบก.สส.บช.น./หัวหน้าชุดเทคนิคและสืบสวน PCT ชุดที่ 2 กล่าวว่า ได้สั่งการให้ ชุดสืบสวน นำโดย พ.ต.อ.เผด็จ งามละม่อม ผกก.สส.1 บก.สส.บช.น., พ.ต.อ.กฤศณัฎฐ์ ธนศุภณัฎฐ์ ผกก.สส.2 บก.สส.บช.น., พ.ต.อ.ธีรศักดิ์ จันทราพิพัฒน์ ผกก.สส.4 บก.สส.บช.น. และ พ.ต.อ.ธนายุทธ ภูมิงาม ผกก.สน.จรเข้น้อย วางแผนนำกำลังเข้าทำการตรวจค้นสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับการลักลอบเล่นพนันออนไลน์ จำนวน 3 จุด ในเขตพื้นที่ กทม. และ จ.กำแพงเพชร

จับกุมผู้ต้องหา จำนวน 2 คน คือ

1.) น.ส.ทิพวรรณ ศรีลาคำ

2.) น.ส.ตระการตา ด่านวิวัฒน์อนันต์

ตามหมายจับศาลอาญามีนบุรี ลงวันที่ 27 ก.ค. 2564 ในความผิดฐาน “ร่วมกันจัดให้มีการเล่นหรือทำอุบาย ล่อ ช่วยประกาศโฆษณา หรือชักชวนโดยทางตรงหรือทางอ้อมให้ผู้อื่นเข้าเล่นหรือเข้าพนัน (เสือมังกร) ผ่านระบบอินเตอร์เน็ตโดยผิดกฎหมายและร่วมกันฟอกเงิน” ส่งพนักงานสอบสวน สน.จรเข้น้อย ดำเนินคดีตามกฎหมาย

จากการรวบรวมพยานหลักฐานพบว่า เครือข่ายนี้ได้มีการจัดให้เล่นพนันผ่านเว็บไซด์ gclub .fan เว็บไซด์ gclub88888 .com, เว็บไซด์ gclub888888 .com และ เว็บไซด์ gclub88888vip . com โดยมียอดเงินหมุนเวียนในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมาประมาณ 1,500 ล้านบาท และได้ประกาศชักชวนให้บุคคลทั่วไปรวมถึงเยาวชนเข้าเล่นพนันอย่างเปิดเผย ทั้งนี้ จากการสืบสวนพบว่าได้มีการเผยแพร่สัญญาณภาพคาสิโนสดจากประเทศกัมพูชา แล้วจัดให้มีการเล่นพนันผ่านเว็บไซด์ตัวแทนในประเทศไทยโดยมีบุคคลที่เกี่ยวข้องในเครือข่ายเป็นคนไทยทั้งหมด ซึ่งจะได้ทำการสืบสวนขยายผลถึงบุคคลที่เกี่ยวข้องต่อไป

ในการปฏิบัติการครั้งนี้ ได้ตรวจยึดทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิดจากการจัดให้มีการเล่นพนันผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ อันเป็นความผิดตาม พรบ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 และได้ทำการตรวจสอบและอายัดทรัพย์สินดังต่อไปนี้

1.) รถยนต์ ยี่ห้อ Mercedez Benz รุ่น CLA250 จำนวน 1 คัน

2.) รถยนต์ ยี่ห้อ Mercedez Benz รุ่น C300e จำนวน 1 คัน

3.) รถยนต์ ยี่ห้อ Mercedez Benz รุ่น C180 Coupe จำนวน 1 คัน

4.) รถยนต์ ยี่ห้อ Suzuki รุ่น Ciaz จำนวน 1 คัน

5.) โทรศัพท์มือถือ จำนวน 83 เครื่อง

6.) เครื่องคอมพิวเตอร์ จำนวน 1 เครื่อง

7.) แท็บเล็ต จำนวน 1 เครื่อง

8.) เอกสารทางการเงินอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

พล.ต.ต.สันติฯ กล่าวว่า "คดีการพนันออนไลน์เป็นความผิดมูลฐานตามกฎหมายฟอกเงิน หลังจากนี้จะได้แจ้ง ปปง. เพื่อยึดทรัพย์ที่เกี่ยวข้องกับคดีทั้งผู้ต้องหาหรือผู้ที่เกี่ยวข้องและดำเนินคดีฐานฟอกเงินต่อไป"  ซึ่งการปราบปรามการลักลอบเล่นการพนันออนไลน์นั้นถือเป็นอีกหนึ่งในนโยบายที่สำคัญของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. เพื่อป้องกันการมอมเมาเยาวชน โดย มอบหมายให้ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รอง ผบ.ตร./ผู้อำนวยการศูนย์ PCT เป็นผู้ขับเคลื่อน ทั้งนี้หากพบเบาะแสการลักลอบเล่นพนันออนไลน์ หรือการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สามารถแจ้งได้ที่สายด่วน ศูนย์ PCT 1599 ตลอด 24 ชม. หรือ 081-8663000 เฉพาะเวลาราชการ

ว่าด้วย “ข่าวลือ” (Rumor) เนื้อหาใน ‘แง่ลบ’ ที่มักจะแพร่กระจายได้ดีกว่า ‘แง่บวก’ ?

ข่าวลือ คือ "เรื่องเล่าที่มีการอธิบายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจากคนสู่คน และเกี่ยวข้องกับวัตถุ เหตุการณ์ หรือประเด็นที่เป็นประเด็นสาธารณะ" หรืออีกความหมายหนึ่งคือ ข่าวที่พูดกันไปทั่ว แต่ไร้หลักฐานยืนยัน

โลกใบนี้ ข่าวลือสามารถแพร่หลายได้เร็วและไกลมากกว่าข่าวจริง อย่าว่าแต่บ้านเราเลย แม้ในประเทศที่เจริญสุดขีดอย่างสหรัฐอเมริกาก็ยังมีข่าวลือที่เรียกว่า ทฤษฏีสมคบคิด (Conspiracy theories) เกิดขึ้นมากมาย

ในทางสังคมศาสตร์ ข่าวลือเกี่ยวข้องกับรูปแบบของคำแถลงของความจริงที่ไม่ได้รับการยืนยันอย่างรวดเร็วหรือไม่เคยปรากฏมาก่อน นอกจากนี้มีนักวิชาการบางคนระบุว่า ข่าวลือเป็นส่วนหนึ่งของการโฆษณาชวนเชื่อ การศึกษาทางสังคมวิทยา จิตวิทยา และการสื่อสารจึงมีคำจำกัดความของคำว่า ข่าวลือ ที่แตกต่างหลากหลาย

ข่าวลือยังมักถูกกล่าวถึงเกี่ยวกับ "ข้อมูลที่ผิด" และ "การบิดเบือนข้อมูล" (อดีตมักถูกมองว่าเป็นเท็จและหลังถูกมองว่าเป็นเท็จโดยจงใจ แม้ว่ามักจะมาจากแหล่งข่าวของรัฐบาลที่มอบให้กับสื่อหรือรัฐบาลต่างประเทศ) ข่าวลือจึงมักถูกมองว่าเป็นรูปแบบเฉพาะของแนวคิดในการสื่อสารในรูปแบบอื่น ๆ 

German William Stern

การวิจัยทางสังคมศาสตร์ของฝรั่งเศสและเยอรมันเกี่ยวกับข่าวลือเพื่อหาคำจำกัดความทางวิชาการสมัยใหม่ งานวิจัยบุกเบิกของ German William Stern ในปี พ.ศ. 2445 (ค.ศ. 1902) Stern ทำการทดลองเรื่องของข่าวลือกับ "กลุ่มตัวอย่าง" ที่ทำการถ่ายทอดเรื่องราวจาก "ปากต่อปาก" โดยไม่มีสิทธิ์พูดซ้ำหรืออธิบาย เขาพบว่า เรื่องราวสั้นลงและเปลี่ยนแปลงไปเมื่อถึงจุดสิ้นสุดของห่วงโซ่ ลูกศิษย์ของเขาซึ่งเป็นผู้บุกเบิกในศาสตร์ด้านนี้อีกคนหนึ่งคือ Gordon Allport การทดลองนี้คล้ายกับ "เกมกระซิบต่อกันจากหัวแถวถึงท้ายแถวสำหรับเด็ก"

"จิตวิทยาแห่งข่าวลือ" ("A Psychology of Rumour") ตีพิมพ์โดย Robert H. Knapp ในปี พ.ศ. 2487 (ค.ศ. 1944) รายงานการวิเคราะห์ข่าวลือมากกว่าหนึ่งพันครั้งในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งตีพิมพ์ในคอลัมน์ "Rumour Clinic" ของ Boston Herald ได้ให้นิยามข่าวลือว่า

"ข้อเสนอสำหรับความเชื่อเกี่ยวกับการอ้างอิงเฉพาะที่เผยแพร่ โดยไม่มีการตรวจสอบอย่างเป็นทางการ ข่าวลือที่มีคำจำกัดความอย่างน่ากลัวจึงเป็นเพียงกรณีพิเศษของการสื่อสารทางสังคมที่ไม่เป็นทางการ ซึ่งรวมถึงตำนาน เรื่องบอกเล่าสืบต่อกันมา และอารมณ์ขันในปัจจุบัน จากตำนานและเรื่องบอกเล่าสืบต่อกันมา มีความโดดเด่นด้วยการเน้นที่หัวข้อที่มีอารมณ์ขันจากการออกแบบมาเพื่อกระตุ้นเสียงหัวเราะ ข่าวลือใช้ในการทำให้เกิดความเชื่อ

Knapp ได้ระบุลักษณะพื้นฐานสามประการที่ใช้กับข่าวลือ คือ

1.) ถ่ายทอดแบบปากต่อปาก

2.) ให้ "ข้อมูล" เกี่ยวกับ "บุคคล เหตุการณ์ หรือเงื่อนไข" และแสดงและสนอง "ความต้องการทางอารมณ์ของชุมชน"

3.) สิ่งสำคัญสำหรับคำจำกัดความนี้และลักษณะเฉพาะคือ การเน้นที่การถ่ายทอด (คำพูดจากปากต่อปาก ซึ่งต่อมาได้ยินและรายงานในหนังสือพิมพ์) เกี่ยวกับเนื้อหา ("เฉพาะเรื่อง" หมายความว่าสามารถแยกแยะได้จากเรื่องเล็กน้อยและเรื่องส่วนตัวหรือประเด็นสาธารณะ) และการรับ ("ความต้องการทางอารมณ์ของชุมชน" แสดงให้เห็นว่า ถึงแม้ว่าจะได้รับข่าวลือจากบุคคลที่เป็นปัจเจก แต่ก็ปัจเจกบุคคลก็ไม่ได้เข้าใจในรายละอียด ทั้งตัวชุมชน หรือเงื่อนไขทางสังคม)

จากการศึกษาคอลัมน์หนังสือพิมพ์ Knapp ได้แบ่งข่าวลือออกเป็นสามประเภท

1.) ข่าวลือเรื่องเพ้อฝัน (Pipe dream rumors) สะท้อนความปรารถนาของสาธารณชนและผลลัพธ์ที่ต้องการ เช่น น้ำมันสำรองของญี่ปุ่นมีน้อย และสงครามโลกครั้งที่สองกำลังจะสิ้นสุดลงในไม่ช้า

2.) ข่าวลือเรื่องสะพรึงกลัวหรือสะท้อนถึงผลลัพธ์ที่น่ากลัว (Bogie or fear rumors) เช่น การโจมตีโดยไม่คาดคิดของศัตรูกำลังจะเกิดขึ้น

3.) ข่าวลือที่ยั่วยุให้เกิดการบ่อนทำลายความจงรักภักดีของกลุ่ม หรือความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล (Wedge-driving rumors) เช่น ชาวอเมริกันคาทอลิกกำลังพยายามหลีกเลี่ยงร่างกฎหมายบางอย่างที่เกี่ยวข้องกับศาสนา ชาวเยอรมัน-อเมริกัน, อิตาเลียน-อเมริกัน, ญี่ปุ่น-อเมริกัน ไม่ภักดีต่อสหรัฐอเมริกา

Knapp ยังพบว่าข่าวลือเชิงลบมีแนวโน้มที่จะแพร่กระจายมากกว่าข่าวลือเชิงบวก ประเภทเหล่านี้ยังแยกความแตกต่างระหว่างข่าวลือเชิงบวก (pipe dream) และเชิงลบ (Bogie และ Wedge-driving rumors)

ในการศึกษาปี พ.ศ. 2490 (ค.ศ. 1947) The Psychology of Rumour, Gordon Allport และ Leo Postman ได้สรุปว่า "ในขณะที่ข่าวลือแพร่สะพัด ข่าวลือนั้นก็สั้นลง กระชับขึ้น เข้าใจ และบอกได้ง่ายขึ้น" ข้อสรุปนี้มีพื้นฐานมาจาก การทดสอบการแพร่กระจายข้อความระหว่างบุคคล ซึ่งพบว่าประมาณ 70% ของรายละเอียดในข้อความหายไปในการส่งต่อแบบปากต่อปากใน 5-6 ครั้งแรก

ในการทดลอง ผู้เข้าร่วมการทดลองได้แสดงภาพประกอบ และให้เวลาในการดู จากนั้นพวกเขาถูกขอให้อธิบายฉากจากความทรงจำไปยังตัวแบบทดสอบที่สอง จากนั้นให้ผู้ทดสอบคนที่ 2 อธิบายฉากนี้กับคนที่สาม เป็นต้น บันทึกการบอกต่อของแต่ละคน กระบวนการนี้ถูกทำซ้ำแล้วซ้ำอีก โดยมีภาพประกอบต่างกันโดยมีการตั้งค่าและเนื้อหาต่างกันมาก

Allport และ Postman ใช้คำศัพท์สามคำเพื่ออธิบายความเคลื่อนไหวของข่าวลือ ได้แก่ การปรับระดับ การลับคม และการดูดกลืน การปรับระดับหมายถึงการสูญเสียรายละเอียดในระหว่างกระบวนการส่ง เพิ่มความคมชัดในการเลือกรายละเอียดบางอย่างที่จะส่ง และการดูดซึมไปสู่การบิดเบือนในการส่งข้อมูลอันเป็นผลมาจากแรงจูงใจในจิตใต้สำนึก

มีการสังเกตการซึมซับเมื่อผู้ทดลองบรรยายภาพประกอบ ตามที่ควรจะเป็น แต่ไม่เป็นที่พวกเขาเป็นจริง ตัวอย่างเช่น ในภาพประกอบที่แสดงฉากการต่อสู้ ผู้ทดสอบมักจะรายงานรถพยาบาลอย่างไม่ถูกต้องในพื้นหลังของภาพประกอบว่า บรรทุก "เวชภัณฑ์" โดยที่จริงแล้ว มันคือ กล่องที่มีเครื่องหมาย "TNT (102)" อย่างชัดเจน"

การรับรู้ทางสังคม ในปี พ.ศ. 2547 Prashant Bordia และ Nicholas DiFonzo ได้ตีพิมพ์หนังสือ Problem Solving in Social Interactions on the Internet : Rumor As Social Cognition และพบว่าการส่งข่าวลือน่าจะสะท้อนถึง "กระบวนการอธิบายโดยรวม" ข้อสรุปนี้มีพื้นฐานมาจากการวิเคราะห์ กระดานข้อความที่เก็บถาวรซึ่งมีการเข้ารหัสและวิเคราะห์คำสั่ง พบว่า 29% (ส่วนใหญ่) ของข้อความในการอภิปรายเหล่านี้สามารถเข้ารหัสเป็นข้อความ "สร้างความรู้สึก" ซึ่งเกี่ยวข้องกับ "ความพยายามในการแก้ปัญหา" มีข้อสังเกตว่าการสนทนาที่เหลือสร้างขึ้นจากข้อความเหล่านี้ เป็นการตอกย้ำแนวคิดในการแก้ปัญหาร่วมกัน นักวิจัยยังพบว่า ข่าวลือแต่ละอันผ่านรูปแบบการพัฒนาสี่ขั้นตอน ซึ่งมีการแนะนำข่าวลือเพื่อการอภิปราย ข้อมูลได้รับการอาสาและอภิปราย และในที่สุดก็มีการลงมติหรือหมดความสนใจ

สำหรับการศึกษานี้ มีการรวบรวมการสนทนาที่เก็บถาวรเกี่ยวกับข่าวลือบนอินเทอร์เน็ตและเครือข่ายคอมพิวเตอร์อื่น ๆ เช่น BITnet ตามกฎแล้ว การสนทนาแต่ละครั้งจะมีการโพสต์ข้อความอย่างน้อยห้าข้อความในช่วงเวลาอย่างน้อยสองวัน ถ้อยแถลงถูกเข้ารหัสให้เป็นหนึ่งในสิ่งต่อไปนี้ : รอบคอบ วิตกกังวล ตรวจสอบ สอบปากคำ การให้ข้อมูล ความเชื่อ ความไม่เชื่อ การแสดงความรู้สึก พูดนอกเรื่อง หรือไม่สามารถเข้ารหัสได้ การอภิปรายข่าวลือแต่ละครั้งได้รับการวิเคราะห์ตามระบบการเข้ารหัสนี้ ระบบการเข้ารหัสที่คล้ายคลึงกัน ซึ่งอิงจากการวิเคราะห์ทางสถิติถูกนำไปใช้กับการอภิปรายแต่ละครั้งโดยรวม และรูปแบบสี่ขั้นตอนดังกล่าวของการอภิปรายข่าวลือก็ปรากฏขึ้น

4 องค์ประกอบในการจัดการข่าวลือ

>> ประการแรก ความวิตกกังวล (สถานการณ์และบุคลิกภาพ) คือเมื่อคนที่มีบุคลิกวิตกกังวลมากกว่า หรือคนที่ อยู่ในสถานการณ์ที่วิตกกังวลมีแนวโน้มที่จะสร้างข่าวลือเพื่อบรรเทาความไม่มั่นคงของพวกเขา

>> องค์ประกอบที่สองของการจัดการข่าวลือคือความคลุมเครือ ความคลุมเครือคือการที่ใครบางคนไม่แน่ใจว่ากำลังเกิดอะไรขึ้น ดังนั้นพวกเขาจึงลงเอยที่เลวร้ายที่สุด

>> องค์ประกอบที่สามคือความสำคัญของข้อมูล ข้อมูลเป็นกุญแจสำคัญ และหากข้อมูลนั้นไม่น่าสนใจหรือไม่สนใจผู้คน ก็จะไม่มีข่าวลือ แต่ข้อมูลมักจะเป็นเท็จ ข้อมูลยังสามารถคลุมเครือได้

>> องค์ประกอบสุดท้ายของการจัดการข่าวลือคือ ความน่าเชื่อถือ ข่าวลือมักแพร่กระจายโดยแหล่งที่ไม่น่าเชื่อถือ ข่าวลือนั้นไม่น่าเชื่อถือเว้นแต่จะได้รับการพิสูจน์ว่าเป็นความจริง นั่นคือเหตุผลที่คนบอกว่าอย่าไว้ใจหนังสือพิมพ์

กลยุทธ์การสื่อสารทางการเมือง ข่าวลือมีบทบาทสำคัญในการเมืองมาโดยตลอด โดยข่าวลือเชิงลบเกี่ยวกับฝ่ายตรงข้ามมักจะมีประสิทธิภาพมากกว่าข่าวลือเชิงบวกเกี่ยวกับด้านของตัวเอง "การโฆษณาชวนเชื่อ ถูกกำหนดอย่างเป็นกลางว่าเป็นรูปแบบการโน้มน้าวใจอย่างมีจุดมุ่งหมาย อย่างเป็นระบบ ซึ่งพยายามโน้มน้าวอารมณ์ทัศนคติความคิดเห็นและการกระทำของกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ เพื่อวัตถุประสงค์ทางอุดมการณ์การเมืองหรือเชิงพาณิชย์ ผ่านการส่งข้อความด้านเดียวที่มีการควบคุม (ซึ่งอาจจะใช่ หรืออาจจะไม่ใช่ข้อเท็จจริง) ผ่านช่องทางสื่อมวลชนและสื่อทางตรง องค์กรโฆษณาชวนเชื่อจ้างนักโฆษณาชวนเชื่อที่มีส่วนร่วมในการโฆษณาชวนเชื่อ - การสร้างและเผยแพร่รูปแบบการโน้มน้าวใจดังกล่าว" Richard Alan Nelson, A Chronology and Glossary of Propaganda in the United States, พ.ศ. 2539

ในอดีต การวิจัยเกี่ยวกับข่าวลือส่วนใหญ่มาจากแนวทางทางจิตวิทยา (ตามข้อสรุปของ Allport และ DiFonzio ข้างต้น) โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมุ่งเน้นที่ข้อความเกี่ยวกับความจริงที่น่าสงสัย (เป็นเท็จอย่างยิ่งต่อหูของผู้ฟังบางคน) หมุนเวียนด้วยวาจาจากคนสู่คน นักวิชาการให้ความสนใจข่าวลือทางการเมืองอย่างน้อยซึ่งเก่าแก่พอ ๆ กับสำนวนโวหารของ Aristotle อย่างไรก็ตาม ไม่นานมานี้มีความสนใจอย่างต่อเนื่องและการพัฒนาแนวความคิดมุ่งไปที่การใช้ข่าวลือทางการเมือง นอกเหนือบทบาทในสถานการณ์สงคราม แทบไม่มีการดำเนินการใด ๆ จนกระทั่งเมื่อไม่นานมานี้ว่าสื่อรูปแบบต่าง ๆ และเงื่อนไขทางประวัติศาสตร์-วัฒนธรรมอาจเอื้อต่อการแพร่กระจายของข่าวลือได้อย่างไร

การเกิดขึ้นของอินเทอร์เน็ตในฐานะเทคโนโลยีสื่อใหม่ได้แสดงให้เห็นถึงความเป็นไปได้ใหม่ ๆ สำหรับการแพร่กระจายข่าวลืออย่างรวดเร็วในขณะที่เว็บไซต์ debunking (ข้อเท็จจริงหักล้าง) เช่น snopes.com, urbanlegend.com และ factcheck.org แสดงให้เห็น ก่อนหน้านี้ยังไม่มีการวิจัยใดที่พิจารณาถึงรูปแบบหรือรูปแบบของข่าวลือที่จงใจเลือกโดยเจตนาเพื่อวัตถุประสงค์ทางการเมืองในสถานการณ์เฉพาะ (แม้ว่าความสนใจอย่างมีนัยสำคัญต่อพลังของข่าวลือสำหรับการโฆษณาชวนเชื่อสงครามที่เผยแพร่โดยสื่อมวลชนนั้นเป็นที่นิยมตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ส่วนหนึ่งของศตวรรษที่ 21 นักวิชาการด้านกฎหมายบางคนได้ให้ความสำคัญกับการใช้ข่าวลือทางการเมือง แม้ว่าแนวความคิดของพวกเขาจะยังคงเป็นเรื่องเกี่ยวกับจิตวิทยาทางสังคม และเป็นการแก้ปัญหาของพวกเขาเนื่องจากปัญหาสาธารณะมาจากมุมมองของนักวิชาการด้านกฎหมาย ซึ่งส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับกฎหมายหมิ่นประมาทและความเป็นส่วนตัว และความเสียหายต่อชื่อเสียงส่วนตัว

Jayson Harsin

Jayson Harsin ผู้ซึ่งทำการศึกษาการสื่อสารทางการเมืองในปี พ.ศ. 2549 นำเสนอแนวคิดของ "ระเบิดข่าวลือ (ข่าวลือที่แพร่กระจายอย่างรวดเร็วและกว้างขวาง)" เพื่อตอบสนองต่อปรากฏการณ์เชิงประจักษ์ที่แพร่หลายของการสื่อสารที่ลือชื่อในความสัมพันธ์ร่วมสมัยระหว่างสื่อและการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายในการบรรจบกันที่ซับซ้อน สื่อหลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่โทรศัพท์มือถือและอินเทอร์เน็ต วิทยุ ทีวี และสิ่งพิมพ์ Harsin เริ่มต้นด้วยคำจำกัดความที่แพร่หลายของข่าวลือว่า เป็นคำกล่าวอ้างที่มีข้อสงสัยเกี่ยวกับความจริง และมักไม่มีที่มาที่แน่ชัด แม้ว่าต้นกำเนิดและเจตนาของลัทธิหรือพรรคพวกจะชัดเจนก็ตาม จากนั้นเขาก็ถือว่ามันเป็นกลยุทธ์เชิงโวหารเฉพาะในบริบทปัจจุบันของสื่อและการเมืองในหลากหลายสังคม สำหรับ Harsin "ระเบิดข่าวลือ" ขยายคำจำกัดความของข่าวลือไปสู่แนวคิดการสื่อสารทางการเมืองด้วยคุณสมบัติดังต่อไปนี้

>> วิกฤตของการตรวจสอบอาจเป็นแง่มุมที่สำคัญและเป็นอันตรายทางการเมืองมากที่สุดของข่าวลือ Berenson (1952) ให้คำจำกัดความข่าวลือว่าเป็นข้อความโน้มน้าวใจที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่ขาด 'มาตรฐานของหลักฐานที่ปลอดภัย' (Pendleton 1998)

>> บริบทของความไม่แน่นอนหรือความวิตกกังวลของสาธารณชนเกี่ยวกับกลุ่ม บุคคล หรือสาเหตุทางการเมือง ซึ่งข่าวลือแพร่สะพัดหรือส่งต่อไปยังฝ่ายตรงข้าม

>> การเข้าข้างอย่างชัดเจนแม้ว่าจะมีแหล่งที่ไม่ระบุชื่อ (เช่น "ที่ปรึกษาประธานาธิบดีที่ไม่เผยนาม") ซึ่งแสวงหาผลประโยชน์ทางการเมืองจากการแพร่กระจายของข่าวลือ

>> การแพร่กระจายอย่างรวดเร็วผ่านสังคมสื่อกลางทางอิเล็กทรอนิกส์ที่พัฒนาอย่างมากจนข้อมูลข่าวสารสามารถเดินทางได้อย่างรวดเร็ว

ข่าวลวง ข่าวลือ มลพิษทางข้อมูลในโซเชียลมีเดีย และเว็บ จาก การสำรวจร่วมสมัยเกี่ยวกับ ความทันสมัย ​​ความท้าทาย และโอกาส

นอกจากนี้ Harsin ยังพบ "ระเบิดข่าวลือ" ในรูปแบบการสื่อสารอื่น ๆ เช่น การบิดเบือนข้อมูล (ข้อมูลเท็จโดยเจตนา) และการโฆษณาชวนเชื่อ ขณะที่ข่าวลือถูกคนอื่นดู อย่างไรก็ตาม เขาได้ทำการแยกความแตกต่างจากแนวคิดเหล่านี้เช่นกัน เนื่องจากข้อมูลเท็จมักเกี่ยวข้องกับรัฐบาลมากจนเกินไป และการโฆษณาชวนเชื่อคือความพยายามที่จะควบคุมความคิดเห็นโดยไม่คำนึงถึงจริยธรรมและความถูกต้องของข้อความ ในทำนองเดียวกัน "ลูกข่าง" ("Spin") เป็นศัพท์ทั่วไปสำหรับการสื่อสารทางการเมืองเชิงกลยุทธ์ที่พยายามวางกรอบหรือจัดโครงสร้างใหม่ให้กับเหตุการณ์หรือคำแถลงในลักษณะที่สร้างผลประโยชน์ทางการเมืองให้กับฝ่ายหนึ่ง แล้วเป็นอันตรายต่ออีกฝ่ายหนึ่ง แม้ว่าโดยพื้นฐานแล้วมันอาจเป็นเพียงข้อมูลที่ถูกทำให้เข้าใจผิด (Red herring )

นอกจากนี้ "การรณรงค์หาเสียง" ยังเป็นคำที่หมายถึงความพยายามร่วมกันเพื่อโจมตีตัวบุคคลอย่างหลวม ๆ "ระเบิดข่าวลือ" ไม่เหมือนกับ "การรณรงค์หาเสียง" ระเบิดข่าวลือไม่จำเป็นต้องเกี่ยวข้องกับการทำให้เสียชื่อเสียง (เช่นในกรณีเช่นในการอ้างสิทธิ์ในการบุกอิรักและ 9/11 หรืออาวุธทำลายล้างสูงที่ถูกย้ายไปซีเรีย) "ลูกข่าง" ยังหมายถึงเหตุการณ์และการจัดฉากใหม่อีกด้วย ตัวข่าวลือก็อาจพยายามสร้างเหตุการณ์ขึ้นมาเองก็เป็นได้

ระเบิดข่าวลือ สามารถถูกมองว่า มีลักษณะบางอย่างของแนวคิดทั่วไปเหล่านี้ แต่ระเบิดข่าวลือเกิดขึ้นในเงื่อนไขทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ที่เฉพาะเจาะจงมาก และไม่ได้เกี่ยวข้องกับข่าวลือระหว่างบุคคลเลยแบบปากต่อหู เนื่องจากมีการวิจัยข่าวลือที่น่าสนใจมาก พวกเขาเริ่มต้นในสายสัมพันธ์ระหว่าง "ผู้บิดเบือนข้อมูล" โดยเจตนากับสื่อ ไม่ว่าจะเป็นข่าวทางโทรทัศน์ ทอล์คโชว์ หนังสือพิมพ์ วิทยุ หรือเว็บไซต์ จากนั้นพวกเขาก็แพร่กระจายไปทั่วสื่อเหล่านี้ แต่อาจไม่จำเป็นต้องส่งผลให้เกิดการแพร่กระจายข่าวลือแบบปากต่อหูระหว่างบุคคล

Harsin แยกแยะข่าวลือข่าวลือออกจากแนวคิดทั่วไปอื่น ๆ ของข่าวลือ โดยเน้นการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เทคโนโลยีสื่อ และวัฒนธรรม Harsin กล่าวว่า ข่าวลือทางการเมืองมีอยู่เสมอ แต่การเปลี่ยนแปลงเมื่อเร็ว ๆ นี้ได้สร้างสภาพแวดล้อมที่สุกงอมสำหรับข่าวลือทางการเมืองรูปแบบใหม่ : สื่อใหม่ "วัฒนธรรมการบรรจบกัน" ซึ่งข้อมูลที่ผลิตบนอินเทอร์เน็ตสามารถมีอิทธิพลต่อการผลิตเนื้อหาสื่อในรูปแบบอื่น ๆ  เทคโนโลยีสื่อใหม่และค่านิยมทางธุรกิจที่เน้นความเร็วและการหมุนเวียนที่ผสมผสานกับคุณค่าความบันเทิงในข่าว การตลาดทางการเมือง และความปรารถนาของสาธารณชนต่อข่าวแท็บลอยด์ที่สะท้อนความบันเทิงประเภทอื่น ๆ

ข่าวลือเรื่อง "อาวุธอานุภาพทำลายล้างสูง (WMD)" และข้อกล่าวหาการเคลื่อนย้าย WMD ไปยังประเทศอื่น" John Kerry เป็นชาวฝรั่งเศส" OBAMA เป็นมุสลิม John McCain มีลูกผิวสีนอกสมรส ทั้งหมดนี้ เกี่ยวข้องกับข้อความที่เป็นความจริงในคำถามหรือที่เป็นเท็จ ข้อความอื่น ๆ อาจมีลักษณะคลุมเครือ ซึ่งทำให้ดึงดูดต่อผู้ที่มีความคิดที่แตกต่างกัน ซึ่งอาจตีความพวกเขาในลักษณะเฉพาะและเผยแพร่ให้พวกเขาได้รับความเสื่อมเสียชื่อเสียง Harsin สรุปจากการวิจัยข่าวลือที่เน้นการรับรู้ทางสังคมและการแพร่กระจายของการโฆษณาชวนเชื่อ เขาขยายงานของ Prashant และ Difonzio โดยเฉพาะ เนื่องจากพวกเขาพยายามแยกแยะข่าวลือออกจากเรื่องซุบซิบ (Gossip) โดยข่าวลือดังกล่าวเป็นข่าวลือเกี่ยวกับประเด็นสาธารณะ และการนินทาเป็นเรื่องส่วนตัวและไม่สำคัญ การเกิดขึ้นของสาระบันเทิงและแท็บลอยด์โดยเฉพาะในอเมริกาและข่าวของอังกฤษได้ทำลายความแตกต่างนั้น เนื่องจากตอนนี้การเมืองเป็นเพียงการนำความเป็นส่วนตัวไปสู่มุมมองจากสาธารณะ เช่นเดียวกับเรื่องอื้อฉาวของ Clinton-Lewinsky ที่มีความชัดเจนมาก ๆ

การสื่อสารเชิงกลยุทธ์ คล้ายกับลักษณะที่ปรากฏและยังทำหน้าที่ในการสื่อสารทางการเมือง ซึ่งข่าวลือสามารถนำไปใช้กับผลกระทบที่เป็นอันตราย (ระเบิดข่าวลือ) หรืออาจก่อให้เกิดภยันตรายร้ายแรงต่อผู้สมัครรับตำแหน่งทางการเมือง ข่าวลือยังมีบทบาทสำคัญในการสื่อสารเชิงกลยุทธ์ การสื่อสารเชิงกลยุทธ์เป็นกระบวนการสร้างข้อความเพื่อสนับสนุนเป้าหมายขององค์กรอย่างเฉพาะเจาะจง และมักเกี่ยวข้องกับรัฐบาล กองทัพ และองค์กรพัฒนาเอกชน (NGO) การสื่อสารเชิงกลยุทธ์ที่ชาญฉลาดต้องเข้าใจในเรื่องราว แนวโน้ม และ memes (การแพร่กระจายของไอเดีย หรือข้อมูลทางวัฒนธรรมที่ถูกส่งต่อกันไปเป็นทอด ๆ โดยไม่ใช่การส่งผ่านทางพันธุกรรมด้วยการเลียนแบบ) ซึ่งยังคงหมุนเวียนอยู่ในกระแสของวัฒนธรรมตามแต่ละยุคสมัย

หนังสือ Narrative Landmines : Rumours, Islamist Extremism and the Struggle for Strategic Influence โดย Daniel Bernardi, Pauline Hope Cheong, Chris Lundry และ Scott W. Ruston

ข่าวลือสามารถมองได้ว่า เป็นเรื่องราวที่ดูเหมือนมีเหตุผล แต่แฝงไปด้วยความคาดเดา เกี่ยวข้องกับภูมิทัศน์การเล่าเรื่องบางอย่าง (การแสดงออกทางวัฒนธรรมมากมายที่หมุนเวียนอยู่ภายในชุมชนหรือภูมิภาค) ในหนังสือ Narrative Landmines : Rumours, Islamist Extremism and the Struggle for Strategic Influence โดย Daniel Bernardi, Pauline Hope Cheong, Chris Lundry และ Scott W. Ruston ได้ประดิษฐ์คำศัพท์ "IED" เพื่อช่วยอธิบายการทำงานและอันตรายของข่าวลือใน บริบทการสื่อสารเชิงกลยุทธ์ ข่าวลือในฐานะ IED (Improvised explosive device) หรือ ระเบิดข่าวลือแสวงเครื่อง ซึ่งถูกบรรยายว่า เป็นอาวุธในการสื่อสารที่มีเทคโนโลยีต่ำและต้นทุนต่ำ ซึ่งทุกคนสามารถใช้เพื่อขัดขวางความพยายามในการสื่อสาร กิจการพลเรือน หรือการรณรงค์เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ เช่น รัฐบาลที่ดำเนินการในสถานการณ์ตอบโต้วิกฤต หรือกองทัพในการก่อความไม่สงบ ดังที่ Bernardi ตั้งข้อสังเกตว่า "เกือบทุกคนสามารถสร้างและเป็นผู้แพร่ข่าวลือ ราวกับข่าวของญาติตัวเองที่ถูกระเบิดได้ สามารถจำกัดทรัพยากร แต่อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตสำหรับผู้ที่เกี่ยวข้องในทางตรง และสามารถทำให้เกิดความกลัวเพิ่มมากขึ้นได้เรื่อย ๆ"

Daniel Bernardi


โปรเด็ด! ถึง 31 ก.ค. นี้ Ford Ranger, MG ZS, Mazda 2 และ Nissan อัลเมร่า ทักไลน์ @THESHOPSTIMES 
คลิก????https://lin.ee/vfTXud9

‘โตเกียวโอลิมปิก’ สัญลักษณ์ล้านความหมาย สะท้อนแรงบันดาลใจแห่งอำนาจ ‘Soft Power’

ในช่วงนี้มหกรรมกีฬาระดับโลกอย่างโอลิมปิกเกมส์ 2020 กำลังแข่งขันกันอย่างเข้มข้น ประเทศไทยเรามีเรื่องให้น่ายินดีกันไปแล้วกับเหรียญทองประวัติศาสตร์เหรียญแรกของกีฬาเทควันโด กับน้องเทนนิส พาณิภัค ซึ่งเป็นการเบิกชัยให้กับทัพนักกีฬาไทยเป็นเหรียญแรกของการแข่งขันอีกด้วย ซึ่งการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกครั้งนี้ อย่างที่เราทราบกันว่าต้องจัดขึ้นท่ามกลางโรคระบาดอย่างโควิด-19 ประชาชนในประเทศญี่ปุ่นเองก็มีทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยในการจัดการแข่งขันครั้งนี้ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า การแข่งขันกีฬาโอลิมปิก เป็นงานมหกรรมกีฬาที่คนทั่วโลกต่างรอคอย และหลาย ๆ คน ยังคงประทับใจจากเมื่อครั้งพิธีปิดโอลิมปิก 2016 ที่ริโอ เดอ จาเนโร ประเทศบราซิล ที่ช่วงของการส่งต่อการเป็นเจ้าภาพที่นายชินโซะ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นในปี 2016 ขณะนั้น ได้แต่งตัวเป็นมาริโอ ในเกมชื่อดัง "ซูเปอร์ มาริโอ" ร่วมพิธีปิดเพื่อรับช่วงต่อในการเป็นเจ้าภาพโอลิมปิก 2020 เป็นภาพที่หลาย ๆ คนติดตา และคาดหวังว่าในโอลิมปิกเกมส์ที่โตเกียว เราจะได้เห็นพลัง Soft Power หรือวัฒนธรรมป็อปของญี่ปุ่นในการจัดงาน ทำให้ทุกคนรอคอยการจัดโอลิมปิกของญี่ปุ่นในครั้งนี้ 

นายชินโซะ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ในพิธีปิดโอลิมปิก 2016

แต่ด้วยสถานการณ์โควิด-19 อะไรหลาย ๆ อย่างที่ประเทศญี่ปุ่นได้วางแผนไว้ อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงไป บรรยากาศของพิธีเปิดอาจจะมีการปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับสถานการณ์ ลดความรื่นเริงหรือการเฉลิมฉลอง แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่ได้หายไปไหน คือความเป็นญี่ปุ๊น ญี่ปุ่น คำที่หลาย ๆ คนอุทานในการชมพิธีเปิดในครั้งนี้ และทำให้ผู้เขียนได้นึกถึงเรื่อง “Soft Power” ที่เคยเขียนไว้ เพราะการจัดงานโอลิมปิกครั้งนี้ก็ปฏิเสธได้เลยว่าญี่ปุ่น ได้ดึง Soft Power ที่โดดเด่นของประเทศมาใช้ในการแสดงพิธีเปิดงานโอลิมปิกเกมส์ 2020 เมื่อช่วงค่ำของวันที่ 23 กรกฎาคม 2564 ที่ผ่านมา 

เช่น ในช่วง Parade of Athletes ได้นำเพลงจากวิดีโอเกมมาเป็นเพลงเดินเข้าสนามของนักกีฬาในลักษณะเมดเลย์ เช่น Dragon Quest, Final Fantasy, Tales of series, Monster Hunter, Kingdom Hearts, Ace Combat, Sonic the Hedgehog, Winning Eleven (Pro Evolution Soccer) เป็นต้น ในรูปแบบวงออร์เคสตราอย่างยิ่งใหญ่อลังการต้อนรับนักกีฬาแต่ละประเทศ หรือการออกแบบ PLACARDS (ป้ายนำขบวนนักกีฬา) ก็มีการออกแบบเป็นรูป Bubble แบบในมังงะที่เราคุ้นเคยในการอ่านการ์ตูน รวมไปถึงชุดของผู้ถือป้ายนำขบวนแต่ละประเทศที่ออกแบบให้สอดคล้องกับป้าย รวมถึงลำดับการเรียงประเทศที่ใช้ตามตัวอักษรของประเทศญี่ปุ่น แสดงให้เห็นถึงการให้ความสำคัญกับเกม หรือการ์ตูนของประเทศญี่ปุ่นที่เค้าไม่ได้มองว่าเป็นสื่อที่สร้างความบันเทิง แต่มันคือ Soft Power ที่แสดงถึงวัฒนธรรมของชาวญี่ปุ่นในการขับเคลื่อนประเทศได้ จึงนำมาเป็นส่วนหนึ่งของการแสดงในพิธีเปิดครั้งนี้ 

อีกหนึ่งโชว์ที่ถูกพูดถึงมากที่สุดและคลิปถูกแชร์ส่งต่อไปกันในโลกออนไลน์เป็นอย่างมาก คือการแสดงในช่วง LET THE GAMES BEGIN กับการแสดงชุด The History of Pictograms ที่แสดงให้เห็นถึงที่มาของการใช้ Pictograms ในการแข่งขันกีฬา ซึ่งรูปสัญลักษณ์แทนชนิดกีฬานี้ ถูกใช้ครั้งแรกเมื่อโอลิมปิกที่โตเกียวในปี 1964 ถือเป็นภูมิปัญญาของประเทศญี่ปุ่นที่ออกแบบมาเพื่อแก้ปัญหาเรื่องของภาษา เป็นประโยชน์ให้กับนักกีฬา และนักท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก และตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาเจ้าภาพแต่ละประเทศก็จะมีการออกแบบในเวอร์ชันของประเทศตนเอง โดยในการแสดงพิธีเปิด ได้เลียนแบบ Pictograms โดยการใช้การแสดงละครใบ้ผสมผสานกับอุปกรณ์ต่าง ๆ ออกมาเป็นแนว Creative Performance ที่แสดงภาพสื่อออกมาเป็นชนิดกีฬาต่าง ๆ ถึง 50 ชนิดกีฬา โดยได้คู่หูนักแสดงที่มาแสดงครั้งนี้คือ MASA and hitoshi (GABEZ) ทำให้คนที่ได้ดูนึกถึงเกมซ่าท้ากึ๋น (Kasou Taisho) ที่สร้างความประทับใจให้กับคนดูในช่วงพิธีเปิดได้เป็นอย่างดี และยังถูกพูดถึงในอีกหลายวัน แม้จะผ่านช่วงพิธีเปิดมาแล้วก็ตาม 

แม้ว่าการแสดงพิธีเปิดกีฬาโอลิมปิกเกมส์ 2020 จะมีการปรับลดให้เหมาะสมกับช่วงสถานการณ์ แต่ในการแข่งขันครั้งนี้ เรายังได้เห็นในอีกหลาย ๆ เรื่องที่ชาวญี่ปุ่นได้แสดงให้เห็นถึงความใส่ใจทั้งผู้เข้าร่วมการแข่งขัน และการใส่ใจสิ่งแวดล้อม ทั้งการทำเหรียญมาจากโลหะที่รีไซเคิลจากโทรศัพท์มือถือเก่าและขยะอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ขนาดเล็กอื่น ๆ หรือช่อดอกไม้ที่มอบให้กับนักกีฬาคู่กับเหรียญรางวัล ก็นำมาจากดอกไม้ที่ปลูกในพื้นที่ประสบภัยในแถบตะวันออกของประเทศญี่ปุ่นที่เคยเจอเหตุการณ์แผ่นดินไหวและคลื่นสินามิเมื่อปี 2011 

ความเป็นญี่ปุ่น ที่ใช้ Soft Power ยังปรากฏให้เห็นอีกหลายอย่าง เช่น การนำน้องหมีคุมะมง มาสคอตประจำเมืองคุมาโมโตะ ที่คิวชู แปลงร่างเปลี่ยนสีเป็นน้ำเงินร่วมเชียร์กีฬาโอลิมปิก ซึ่งเป็นสีโทนเดียวกับโลโก้ประจำการแข่งขันครั้งนี้ 

นอกจากการเชียร์กีฬาที่สนุกสนาน เรามารอลุ้นกันว่า การแสดงพิธีปิดจะมีอะไรให้คนดูได้ประทับใจอีกบ้าง เพราะหากจะพูดถึงวัฒนธรรม J POP และ Soft Power ของญี่ปุ่น ยังมีอีกหลายอย่างที่พวกเราอยากเห็นไม่ว่าจะเป็นด้านเพลง การ์ตูน เกม มังงะ การแสดงต่าง ๆ และที่ลืมไม่ได้เลยคือ การส่งใจเชียร์นักกีฬาไทยในการแข่งขันครั้งนี้ต่อไป... 


โปรเด็ด! ถึง 31 ก.ค. นี้ Ford Ranger, MG ZS, Mazda 2 และ Nissan อัลเมร่า ทักไลน์ @THESHOPSTIMES 
คลิก????https://lin.ee/vfTXud9


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top