Thursday, 22 May 2025
SPECIAL

กาฬสินธุ์ - สสจ.กาฬสินธุ์ มอบรถรับส่งผู้ป่วยโควิด ด้านที่ปรึกษารมว.คมนาคม ส่งตัวแทนสานบุญมอบเครื่องช่วยหายใจ

สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดกาฬสินธุ์ ปล่อยขบวนรถรับ-ส่งผู้ป่วย 16 คัน เพื่อมอบให้กับโรงพยาบาลใช้ในการรับส่งผู้ป่วยโควิด-19 ด้านที่ปรึกษา รมว.คมนาคม ส่งตัวแทนสะพานบุญมอบเครื่องช่วยหายใจให้กับโรงพยาบาลกาฬสินธุ์ ใช้ดูแลรักษาผู้ป่วย ขณะที่สถานการณ์โรคพบผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มอีก 142 ราย ยอดสะสม 3,381 ราย

เมื่อเวลา 13.00 น.วันที่ 3 สิงหาคม 2564 ที่ลานสนามกีฬากลาง จ.กาฬสินธุ์ นพ.อภิชัย ลิมานนท์ นายแพทย์ สสจ.กาฬสินธุ์ นพ.พรพัฒน์ ภูนากลม รองนายแพทย์ สสจ.กาฬสินธุ์ ดร.สม นาสะอ้าน รองนายแพทย์ สสจ.กาฬสินธุ์ นายยุทธพล ภูเลื่อน รองนายแพทย์ สสจ.กาฬสินธุ์ พร้อมด้วยผู้บริหารและเจ้าหน้าที่สำนักงานสาธารณสุข จ.กาฬสินธุ์ ร่วมกันปล่อยขบวนรถพยาบาลรับ-ส่ง ผู้ป่วย โดยงบเงินกู้โควิด-19 จากรัฐบาล จำนวน 16 คัน เพื่อมอบให้กับโรงพยาบาลต่างๆในพื้นที่ใช้ในการรับส่งผู้ป่วยโควิด-19

นพ.อภิชัย ลิมานนท์ นายแพทย์ สสจ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า รถรับ-ส่งผู้ป่วย หรือรถกู้ชีพฉุกเฉิน ทั้ง 16 คันดังกล่าว ได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงสาธารณสุข ในงบเงินกู้เพื่อแก้ปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 โดยส่งมอบให้กับโรงพยาบาลกมลาไสย เขาวง คำม่วง ดอนจาน ท่าคันโท นาคู นามน ยางตลาด ร่องคำ สมเด็จ สหัสขันธ์ สามชัย หนองกุงศรี ห้วยผึ้ง ห้วยเม็ก แห่งละ 1 คัน และโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชกุฉินารายณ์ จำนวน 2 คัน ทั้งนี้ เพื่อนำมาใช้บริการรับส่งผู้ป่วยโควิด-19 เป็นหลัก  และในอนาคตเมื่อสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย ก็จะให้บริการสำหรับรับส่งผู้ป่วยทั่วไป

นพ.อภิชัยกล่าวอีกว่า สำหรับว่าสถานการณ์ของโรคโควิด-19 ในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ ยังน่าเป็นห่วง มีจำนวนผู้ป่วยผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเป็นหลักร้อย เนื่องจากยังมีการเดินทางจากพื้นที่เสี่ยง และแจ้งความประสงค์ขอรับการรักษาที่ภูมิลำเนา ดังนั้น รถพยาบาลกู้ชีพฉุกเฉินเพื่อใช้สำหรับรับ-ส่งผู้ป่วยโควิด-19 จึงสำคัญและจำเป็น โดยอุปกรณ์ภายใน จะเป็นส่วนประกอบสำหรับการช่วยเหลือผู้ป่วยผู้ติดเชื้อ มีระบบห้องความดันลบ นอกจากนี้ยังเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจให้กับเจ้าหน้าที่ เพื่อให้เกิดความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพในการช่วยเหลือผู้ป่วยได้ทันท่วงที

ด้านนายณัฐวัชต์ พิมพะนิตย์ หรือ สจ.เบ๊นซ์ รองประธานสภาองค์การบริหารส่วน จ.กาฬสินธุ์ พร้อมด้วยนายกีรฒิการย์ พิมพะนิตย์ หรือเลขาบัส เลขานุการนายก อบจ.กาฬสินธุ์ เป็นตัวแทนนายวิรัช พิมพะนิตย์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และนางมัลลิกา แสนภักดี ประธานนักบริหารระดับสูงธรรมศาสตร์เพื่อสังคม (นมธ.) ร่วมเป็นสะพานบุญ ส่งมอบเครื่องช่วยหายใจ (FHNC) จำนวน 1 เครื่อง มูลค่า 220,000 บาท ให้แก่โรงพยาบาลกาฬสินธุ์ เพื่อใช้ประโยชน์ในการดูแลรักษาผู้ป่วยในโรงพยาบาล โดยมีนพ.ประมวล ไทยงามศิลป์ ผอ.โรงพยาบาลกาฬสินธุ์ พร้อมเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลร่วมรับมอบ

นอกจากนี้ยังได้ร่วมมอบสนับสนุนค่าน้ำมันจำนวน 10,000 บาท แก่สมาคมเมตตาธรรมทิพยสถานกาฬสินธุ์ เพื่อใช้เป็นค่าน้ำมันในการรับส่งผู้ป่วยกลับมารักษาที่บ้าน และร่วมกับนายประภาส ยงคะวิสัย มอบน้ำยาฆ่าเชื้อ เครื่องฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อ หน้ากาก น้ำดื่ม และเจลแอลกอฮอล์ ให้กับมูลนิธิใจถึงใจกาฬสินธุ์ เพื่อใช้ในการปฏิบัติภาคกิจช่วยเหลือสังคมอีกด้วย

ขณะที่สถานการณ์ล่าสุดวันที่ 3 สิงหาคม 2564 พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่เพิ่มขึ้นสูงอีก 142  ราย เป็นผู้ป่วยขอกลับมารักษาในภูมิลำเนา 44 ราย เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยงติดเชื้อจากต่างจังหวัดตรวจพบระหว่างกักตัว 82 ราย ติดเชื้อภายในจังหวัด 16 ราย ยอดผู้ติดเชื้อสะสม 3,381 ราย กำลังรักษา 1,959 ราย รักษาหายแล้ว 1,407 ราย และยอดผู้เสียชีวิตสะสม 15 ราย


ภาพ/ข่าว  ณัฐพงษ์ ประชากูล จ.กาฬสินธุ์

นราธิวาส - มทภ.4 สั่งขนย้ายเตียงไม้ไผ่ จัดทำโดย ฉก.นราธิวาส รองรับผู้ป่วยโควิด-19 ที่เข้ามารับการรักษา สนับสนุนโรงพยาบาลสนาม จังหวัดชายแดนภาคใต้

พลโทเกรียงไกร ศรีรักษ์ แม่ทัพภาคที่ 4 สั่งการ กองพลพัฒนาที่ 4 ค่ายรัตนพล ขนย้ายเตียงไม้ไผ่ จำนวน 250 เตียง ที่สนับสนุนจัดทำจาก หน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส เตรียมแจกจ่ายให้กับโรงพยาบาลสนาม ในพื้นที่จังหวัดสงขลา รองรับปริมาณผู้ป่วยที่เพิ่มสูงขึ้นจากการเดินทางกลับมารักษาตัวยังภูมิลำเนา

สำหรับโรงพยาบาลสนาม ในพื้นที่จังหวัดสงขลา ได้ดำเนินการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามให้เป็นไปตามมาตรฐานกระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้มีพื้นที่รองรับผู้ป่วยติดเชื้อ COVID-19 โดยผู้ป่วยที่เข้ามารับการรักษาส่วนมากเป็นผู้ป่วยที่เดินทางมาจากพื้นที่อื่น เข้ามารักษาตัว ณ ภูมิลำเนา ซึ่งทางจังหวัดได้เปิดให้มีการประสานเพื่อขอเข้ามารับการรักษาที่เบอร์โทรศัพท์ของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสงขลา


ภาพ/ข่าว  แวดาโอ๊ะ หะไร จ.นราธิวาส

สระแก้ว - ‘ตรีนุช’ ตรวจเยี่ยมกิจกรรมการขับเคลื่อนความปลอดภัยสู่สถานศึกษา พร้อมมอบนวัตกรรมเครื่องพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อโควิด-19

เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2564 น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) พร้อมด้วย ดร.สุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ตรวจเยี่ยมกิจกรรมการขับเคลื่อนความปลอดภัยสู่สถานศึกษา และเครือข่ายความร่วมมือตามโครงการ ศธ. ห่วงใยประชาชนช่วงสถานการณ์โควิด-19 พร้อมมอบนวัตกรรมเครื่องพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ณ วิทยาลัยเทคนิคสระแก้ว

น.ส.ตรีนุช เปิดเผยว่า สถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ได้เกิดการระบาด อย่างกว้างขวางทั้งในประเทศและต่างประเทศทั่วโลก รัฐบาลได้ตระหนักความสำคัญถึงปัญหาดังกล่าว จึงเร่งดำเนินการฉีดวัคซีนให้กับประชาชน โดยมีจุดมุ่งหมายให้เป็นการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ อันจะช่วยสถานการณ์ให้ดีขึ้น ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(สอศ.) ได้มอบหมายให้วิทยาลัยเทคนิคสระแก้ว เป็นผู้ประสานและจัดทำนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ที่สนับสนุนและช่วยเหลือบุคลากรทางการแพทย์ และประชาชน ในการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ขึ้น รวมทั้งวางแนวทางการขับเคลื่อนให้กับสถานศึกษาในสังกัด สอศ.ทุกแห่ง ดำเนินการสร้างนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ที่ป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 เพื่อสนับสนุนบุคลากรทางการแพทย์ และหน่วยงานต่าง ๆ ซึ่งเป็นการดำเนินงานที่ตอบสนองนโยบายของรัฐบาลและ กระทรวงศึกษาธิการ วาระเร่งด่วน (Quick Win) และเป็นการแสดงถึงศักยภาพของ สถานศึกษาอาชีวศึกษาโดยเฉพาะครูและผู้เรียนอาชีวศึกษาที่มีความรู้และสมรรถนะอาชีพที่สามารถคิดสร้างสรรค์นวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติ

ด้าน ดร.สุเทพ กล่าวว่า สอศ.ได้มอบให้วิทยาลัยเทคนิคสระแก้ว เป็นผู้ประสานและจัดทำนวัตกรรมรวมทั้งอุปกรณ์ป้องกัน เพื่อลดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 โดยแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ คือ นวัตกรรมด้านการป้องกัน และนวัตกรรมด้านการบริการทางการแพทย์ ซึ่งนวัตกรรมด้านการป้องกัน จะเป็นการเน้นการฆ่าเชื้อไวรัส COVID-19 ด้วยการใช้น้ำยา และแสงยูวีซี ส่วนนวัตกรรมด้านการบริการทางการแพทย์ เน้นการใช้หุ่นยนต์ช่วยงานบุคลากรทางการแพทย์ โดยในวันนี้ได้จัดพิธีส่งมอบเครื่องมืออุปกรณ์นวัตกรรมดังกล่าวให้แก่โรงพยาบาลสนามองค์การบริหารส่วนจังหวัดสระแก้ว (อบจ.สระแก้ว) สำนักงานส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษาจังหวัดสระแก้ว สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดสระแก้ว ที่ว่าการอำเภอวัฒนานคร สำนักงานเทศบาลตำบลวัฒนานคร สถานีตำรวจภูธรวัฒนานคร,สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสระแก้ว เขต 1 และเขต 2 สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาสระแก้ว โรงพยาบาลวัฒนานคร โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชสระแก้ว โรงพยาบาลจิตเวชสระแก้วราชนครินทร์  โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านท่าเกวียน ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก สังกัดองค์การบริหารส่วนตำบลวัฒนานคร ศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัดสระแก้ว โรงเรียนวัฒนานคร และโรงเรียนอนุบาลศรีวัฒนาวิทยา เพื่อนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อผู้เรียน บุคลากรทางการศึกษา และประชาชนต่อไป


ภาพ/ข่าว  ทีมงาน อบจ,สระแก้ว / บูรพาทีวีออนไลน์ รายงาน

สมุทรสาคร – อาลัย “นางฟ้าชุดขาว” ทำงานหนักดูแลผู้ป่วย ติดโควิด-19 เสียชีวิต

เมื่อเวลา 14.00 น. ของวันที่ 2  สิงหาคม 2564 ที่วัดศรีเมือง ม.3 ต.ท่าทราย อ.เมือง จ.สมุทรสาครนางชุติพร วิจิตร์แสงศรี นายกเหล่ากาชาดจังหวัดสมุทรสาคร เป็นประธานในพิธีณาปนกิจศพนางสาวอุไรวรรณ จันทรปลิน อายุ 45 ปี พยาบาลวิชาชีพ ปฏิบัติงานอยู่ที่หอผู้ป่วยอายุรกรรมชาย 1 โรงพยาบาลสมุทรสาคร ที่เสียชีวิตจากโรคติดเชื้อโควิด-19 โดยมีพระครูสาครสิริวัฒน์ เจ้าอาวาสวัดศรีเมือง เจ้าคณะตำบลบ้านเกาะ เป็นประธานฝ่ายฆราวาส ร่วมด้วย นายแพทย์นเรศฤทธิ์ ขัดธะสีมา นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสมุทรสาคร นายแพทย์อนุกูล ไทยถานันดร์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมุทรสาคร  แพทย์พยาบาลโรงพยาบาลสมุทรสาคร พร้อมญาติพี่น้องเข้าร่วมพิธีประมาณ 80 คน โดยภายในงานมีแพทย์พยาบาลโรงพยาบาลสมุทรสาครได้ร่วมร้องเพลงมาร์ชพยาบาล เพื่อเป็นการอาลัยผู้ตายและส่งดวงวิญญาณไปสู่สรวงสวรรค์

สำหรับบรรยากาศภายในงานเป็นไปด้วยความโศกเศร้าของญาติพี่น้องเนื่องจากครอบครัวผู้เสียชีวิตที่อยู่กันมีจำนวน 9 คนและมีผู้ติดเชื้อโควิด 7 คนซึ่งขณะนี้กำลังรักษาตัวอยู่ โดยทางด้านเพื่อนพยาบาลรุ่น 6 วิทยาลัยพยาบาลพระจอมเก้าเพชรบุรี กล่าวว่า พวกตนรู้สึกเสียใจมากคือไม่คิดว่ามันเป็นความจริง  มันเกิดขึ้นกับเพื่อนเราจริง ๆ ใช่ไหม ไม่มีใครอยากให้มันสูญเสีย ด้วยโรคที่เราดูแลคนไข้หรือว่าดูแลคนอื่นแล้วเราต้องมาเป็น เขาก็ต้องจากไป ซึ่งตนอยากให้ทางภาครัฐจัดวัคซีนให้เร็วเพื่อจะป้องกันได้เร็ว เพราะเราไม่รู้เลยว่าใครที่เดินมาจะเป็น บางคนก็ปกปิดข้อมูล บางคนก็บอกไม่บอกพอมาถึงก็เป็นแล้วมานอนรวมกัน คือเราไม่รู้เพราะตอนนี้มันเป็นโรคอุบัติใหม่ ไม่มีใครรู้อะไรดีที่สุด แต่เราอยากให้เขาดูแลเราให้ดีที่สุดเพราะเราต้องดูแลคนไข้

ส่วนทางด้านนายแพทย์อนุกูล ไทยถานันดร์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมุทรสาคร  กล่าวว่าสำหรับสวัสดิการในการดูแลช่วยเหลือครอบครัวผู้เสียชีวิตนั้น ทางผู้เสียชีวิตมีสิทธิ์หลายอย่างที่โรงพยาบาลดูแลให้ รวมทั้งประกันชีวิต ทางเจ้าหน้าที่จะรวบรวมทั้งหมดให้ และในส่วนโรงพยาบาลเองก็มีเงินที่ทางโรงพยาบาลได้รวบรวมไว้แล้วเพื่อให้แก่ญาติของผู้เสียชีวิตต่อไป


ภาพ/ข่าว  ชูชาต แดพยนต์  ทีมข่าวสมุทรสาคร

“Podcar” เป็นระบบขนส่งสาธารณะที่สามารถไปถึงจุดหมายได้ในระยะเวลาที่รวดเร็วและมีความเป็นส่วนตัวเปรียบเสมือนการนำบริการแบบรถไฟฟ้ารวมกับรถแท๊กซี่ นอกจากนี้ยังสามารถช่วยแก้ไขปัญหาจราจรได้อย่างดีอีกด้วย

หลายท่านน่าจะได้เคยดูหนังแนววิทยาศาสตร์โลกอนาคต เนื้อหาในเรื่องมียานพาหนะส่วนตัวมารับในเวลาที่ต้องการ และไปจุดหมายตามที่ต้องการโดยอัตโนมัติ ระหว่างทางก็นั่งคุยกันไปโดยไม่ต้องกังวลกับการควบคุมยานพาหนะนั้น ดูเหมือนว่าเรื่องแบบนี้น่าจะเกิดขึ้นในโลกอนาคต แต่ความเป็นจริงแล้วได้มีระบบขนส่งแบบนี้เปิดใช้งานจริงมานานกว่าสี่สิบปีแล้ว ในชื่อที่เรียกว่า “Podcar”

ในช่วงปี 1950 ประเทศสหรัฐอเมริกาประสบปัญหาการขยายตัวของเมืองอย่างกระจัดกระจาย คือเกิดชุมชนใหม่ในแถบชานเมือง แต่คนยังต้องเข้ามาทำงานในใจกลางเมืองด้วยการขับรถยนต์ จึงส่งผลให้เกิดปัญหาการจราจรติดขัด ทางรัฐบาลจึงได้กำหนดนโยบายส่งเสริมการลงทุนและการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนเพื่อใช้แก้ปัญหานี้ และในช่วงนั้นได้มีการวิจัยรูปแบบการขนส่งต่าง ๆ เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาจราจร หนึ่งในนั้นก็มีแนวคิดว่าผู้คนส่วนใหญ่เลือกที่จะไม่ใช่ระบบขนส่งมวลชนเพราะไม่สะดวกและไม่เป็นส่วนตัวเหมือนกับการใช้รถยนต์ จึงมีการพัฒนาระบบขนส่ง Private Public Transit (PRT) ขึ้น

ระบบ PRT เป็นยานพาหนะขนาดเล็กที่จุผู้โดยสารได้ 2-6 คน หากจุผู้โดยสารมากกว่านั้นจะถูกเรียกว่า Group Rapid Transport (GRT) หรือเรียกอีกชื่อว่า Podcar ตามรูปทรงของรถ ระบบของ Podcar ถูกออกแบบมาให้วิ่งไปตามเส้นทางที่กำหนดและจอดตามจุดที่ต้องการโดยอัตโนมัติ และสิ่งที่แตกต่างจากระบบขนส่งสาธารณะทั่วไป คือ สามารถไปถึงจุดหมายโดยไม่ต้องจอดแวะระหว่างทาง จึงใช้ระยะทางเวลาเดินทางน้อยกว่า และระบบยังมีความยืดหยุ่นในการให้บริการ คือ ในช่วงที่ผู้โดยสารใช้บริการมากสามารถกำหนดตารางการเดินรถเหมือนระบบขนส่งสาธารณะทั่วไป และช่วงที่ผู้โดยสารน้อยก็สามารถเรียกรถเพื่อใช้บริการได้ตามต้องการ ระบบเหมือนนี้จึงเหมือนรถแท็กซี่รวมกับระบบรถไฟฟ้า หรือเหมือนกับลิฟท์ส่วนตัวที่วิ่งในแนวราบและไม่ต้องจอดรับส่งระหว่างทาง 

Podcar เริ่มใช้ครั้งแรกในปี 1975 ที่เมือง Morgantown ในรัฐเวสต์เวอร์จิเนียของสหรัฐอเมริกา เนื่องจากเมืองแห่งนี้ตั้งอยู่เชิงเขาและมีประชากรอยู่ประมาณ 30,000 คน นอกจากนั้นยังเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยเวสต์เวอร์จิเนียที่มีนักศึกษาและคนทำงานอยู่จำนวนมาก ด้วยข้อจำกัดของสภาพภูมิประเทศจึงทำให้อาคารเรียนกระจายอยู่ทั่วเมือง แต่เดิมทางมหาวิทยาลัยจัดรถโดยสารรับส่งนักศึกษาระหว่างอาคารเรียนที่อยู่คนละฝั่งของตัวเมือง แต่ก็ต้องประสบกับปัญหาสภาพจราจรที่ติดขัด จึงมองว่าแนวคิดของ PRT น่าจะเหมาะกับการแก้ไขปัญหานี้มากกว่าระบบขนส่งอื่น โดยระบบนี้มีทั้งหมด 5 สถานี ระยะทางรวม 13.2 กิโลเมตร รถมีทั้งหมด 73 คัน และถูกออกแบบให้จุผู้โดยสารได้ 20 คน

ต่อมาในปี 1979 ได้เริ่มใช้ระบบ PRT แห่งที่สองในโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยดุ๊ก ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นระบบขนส่งที่เชื่อมระหว่างอาคารสองแห่งกับอาคารจอดรถ แต่ต้องยกเลิกการใช้งานและทำลายเส้นทางทิ้งเนื่องจากการขยายอาคารในโรงพยาบาล

หากเป็นระบบ PRT ที่ดูทันสมัยขึ้นมาหน่อยก็คงเป็นเส้นทาง ParkShuttle ที่เปิดให้บริการในปี 1999 ที่วิ่งด้วยรถยนต์ไฟฟ้าไร้คนขับ บนเส้นทางถนนเฉพาะที่ฝังระบบนำทางไว้ใต้พื้นถนน เชื่อมระหว่างสถานีรถไฟไฟฟ้า Kralingse Zoom กับ Rivium Business Park ในเมืองรอตเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์โดยมีระยะทางรวม 1.8 กิโลเมตร ระบบนี้มีสถานีทั้งหมด 5 แห่ง และในปี 2021 มีโครงการขยายเส้นทางโดยใช้รถยนต์อัตโนมัติวิ่งบนถนนสาธารณะ

นอกจากนั้นยังมีการนำระบบ PRT มาใช้ในการรับส่งผู้โดยสารในสนามบิน เช่น การรับส่งผู้โดยสารระหว่างอาคารผู้โดยสาร 5 กับอาคารจอดรถของสนามบินฮีทโธรว์ในอังกฤษ โดยใช้ระบบของ ULTra  ที่เป็น Podcar ขนาดเล็กจุผู้โดยสารได้ 4 คน วิ่งไปตามเส้นทางเฉพาะที่มีระยะทางยาว 3.9 กิโลเมตร และสนามบินแห่งใหม่ในนครเชิงตูของจีน ก็ใช้ระบบ PRT ของ ULTra ในการรับส่งผู้โดยสารเองระหว่างอาคารผู้โดยสารสองหลังกับอาคารจอดรถ คาดว่าจะเริ่มใช้งานในปี 2021

ในเกาหลีใต้เองก็นำระบบ PRT มาใช้ในแหล่งท่องเที่ยว โดยระบบ SkyCube ถูกนำมาใช้ในเขตอนุรักษ์ของเมือง Suncheon เนื่องจากต้องการรักษาสภาพแวดล้อมของแหล่งท่องเที่ยวเพราะระบบนี้ไม่มีการปล่อยมลพิษและเสียงรบกวนจากการก็วิ่งน้อยเพราะใช้ล้อยาง รวมถึงออกแบบให้เป็นทางยกระดับเพื่อให้นักท่องเที่ยวเห็นทิวทัศน์ที่สวยงามตลอดสองข้างทาง

ถ้าระบบขนส่งนี้มีข้อดีหลายอย่าง แต่ทำไมถึงยังมีใช้เพียงแค่ไม่กี่แห่งในโลก นั้นเพราะในอดีตระบบนี้ไม่เหมาะกับการใช้ในเมืองใหญ่หรือมีผู้โดยสารจำนวนมาก เพราะความสามารถในการขนส่งผู้โดยสารต่อชั่วโมงน้อยกว่าระบบขนส่งหลัก เช่น รถไฟฟ้าหรือรถใต้ดิน และหากสร้างในเมืองขนาดเล็กที่มีจำนวนผู้โดยสารเหมาะสมกับการใช้งาน ก็ต้องพบกับปัญหาการลงทุนที่สูงเมื่อเทียบกับการใช้รถเมล์แบบปกติ นอกจากนั้นความยืดหยุ่นและความสะดวกสบายในการใช้งานยังไม่เท่ากับการใช้รถแท็กซี่ที่ให้บริการรับส่งได้ถึงจุดหมายปลายทาง (Door to door) ระบบนี้จึงอาจเหมาะกับการรับส่งระหว่างอาคารในเส้นทางที่ไม่ไกลมากเช่นในสนามบิน

แต่ด้วยเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นในปัจจุบัน อาจจะนำเทคโนโลยีรถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติมาผสมเข้ากับระบบ PRT เช่น โครงการ ParkShuttle ในเนเธอร์แลนด์ เพื่อทำให้ต้นทุนการก่อสร้างเส้นทางลดต่ำลง และแนวโน้มการเกิดขึ้นของเมืองใหม่ไร้มลพิษที่มีเป้าหมายให้เป็นเมืองปลอดรถยนต์ อย่างโครงการ Ajman City ในสหรัฐอาหรับเอมิเรตต์ ที่มีแผนใช้ระบบ PRT เป็นระบบขนส่งรองเชื่อมต่อกับระบบขนส่งหลักเพื่อขนส่งผู้คนไปถึงจุดหมายที่ต้องการ โดยมีโครงข่ายเส้นทางรวมระยะทาง 120 กิโลเมตร รวมถึงแนวโน้วค่าแรงที่ปรับตัวสูงขึ้นซึ่งเป็นหนึ่งในต้นทุนที่สำคัญของระบบขนส่งสาธารณะ จึงอาจส่งผลให้ในอนาคตอันไม่ไกลนี้เราน่าจะได้เห็น PRT หรือ Podcar ใช้แพร่หลายมากยิ่งขึ้น

.

เขียนโดย : อาจารย์ ศรัณย์ ดั่นสถิตย์
อาจารย์ประจำหลักสูตรการจัดการโลจิสติกส์ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา 


ข้อมูลอ้างอิง 
https://en.m.wikipedia.org/wiki/Personal_rapid_transit
https://transportation.wvu.edu/prt 
https://today.duke.edu/2017/12/remembering-duke%E2%80%99s-railway https://www.2getthere.eu/projects/rivium/
https://newsroom.posco.com/en/koreas-first-personal-rapid-transit-prt-skycube/
https://www.zatran.com/en/technology/personal-rapid-transit-prt/
https://www.bloomberg.com/news/articles/2014-09-19/personal-rapid-transit-is-probably-never-going-to-happen
https://www.wired.com/2008/10/personal-pod-1/
https://www.bloomberg.com/news/articles/2013-01-15/would-more-drivers-use-mass-transit-if-it-mimicked-private-cars

 

ขอนแก่น – สั่งปิดตลาดสดศรีเมืองทอง เพิ่มอีก 7 วัน หลังพบผู้ป่วยติดเชื้อเชื่อโยงคลัสเตอร์หลายจังหวัด พร้อมสั่งปรับปรุงตลาดให้ถูกสุขอนามัยฝ่าฝืนเอาผิดตามกฎหมาย ขณะที่ อบจ.ขอนแก่น จัดซื้อวัคซีน “โมเดอร์นา” จากสภากาชาดไทยชุดแรก 30,000 โดส

เมื่อเวลา 17.30 น.วันที่ 2 ส.ค.2564 ที่สำนักงานสาธารณสุข จ.ขอนแก่น นายสมศักดิ์  จังตระกุล ผวจ.ขอนแก่น พร้อมด้วย นพ.สมชายโชติ  ปิยวัชร์เวลา นายแพทย์สาธารณสุข จ.ขอนแก่น ประชุมร่วมคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อ จ.ขอนแก่น เพื่อติดตามและประเมินสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในพื้นที่ จ.ขอนแก่น โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง

นายสมศักดิ์  จังตระกุล ผวจ.ขอนแก่น กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่เกิดขึ้นที่ประชุมวันนี้ได้มีข้อสรุปและมีมติร่วมกันอย่างเป็นเอกฉันท์ในการที่จะมีประกาศคำสั่งจังหวัดเพิ่มเติมให้สอดรับกับการที่ ศบค.ปรับให้ขอนแก่น จัดอยู่ในกลุ่มจังหวัดสีแดง โดยเฉพาะกับการกำหนดจำนวนบุคลที่จะเข้าร่วมกิจกรรม รวมทั้งการตั้ง รพ.สนาม ที่เรือนจำ อ.พล ภายใต้การกำกับและควบคุมของกรมราชทัณฑ์และ รพ.พล การกำหนดจุดตรวจการเข้าและออกเมือง จากเดิมกำหนดจุดตรวจที่ด่านนาโน อ.บ้านไผ่ ให้เป็น ด่านตรวจ อ.พล การผ่อนผันการเดินทางของ สส.และ สว. ที่ต้องเดินทางไปปฎิบัติงานและประชุมในพื้นที่จังหวัดสีแดงเข้ม การขยายระยะเวลาการสอบของหน่วยงานของรัฐทุกหน่วยในการจัดการสอบกลุ่มข้าราชการพิเศษ จากเดิม กำหนดการสอบ ส.ค. ไปเป็นเดือน ก.ย.

“วันนี้ที่ประชุมได้มีมติให้ อบจ.ขอนแก่น จัดหาวัคซีนทางเลือกโมเดอร์นา ตามระเบียบของสภากาชาดไทย เบื้องต้น 30,000 โดส สำหรับการฉีดให้กับชาวขอนแก่นกลุ่มเป้าหมาย 15,000 คน ซึ่งจะใช้งบประมาณ 33 ล้านบาท โดยในการพิจารณารายชื่อของผู้ที่จะเข้ารับการฉีดวัคซีนนั้นมอบหมายให้ สสจ.ขอนแก่น ตรวจสอบรายชื่อบุคคลที่ลงทะเบียนผ่านระบบหมอพร้อมและขอนแก่นพร้อมเป็นลำดับแรก ซึ่งเมื่อมีติเป็นเอกฉันท์ก็จะมีการแต่งตั้งคณะทำงานร่วมระหว่างคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อกับ อบจ.ดำเนินการตามขั้นตอนและระเบียบที่สภากาชาดไทยกำหนดไว้ต่อไป”

ผวจ.ขอนแก่น กล่าวต่ออีกว่า ที่ประชุมยังมีมติในการขยายระยะเวลาการปิดการเรียนการสอนของโรงเรียนเอกชน ไปจนกว่าสถานการฯจะคลี่คลาย รวมทั้งการมีคำสั่งปิดตลาดศรีเมืองทองออกไปอีก 7 วัน จากเดิมครบกำหนดสั่งปิดในวันที่ 5 ส.ค. เนื่องจากเป็นคลัสเตอร์ที่พบการแพร่เชื้อในกลุ่มพ่อค้า-แม่ค้า และขณะนี้การสอบสวนโรคยังคงพบว่าผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อของตลาดแห่งนี้ยังคงเชื่อมโยงไปในกลุ่มตลาดของอีกหลายจังหวัด ทำให้ที่ประชุมจึงมีคำสั่งปิดตลาดต่อไปอีกและให้มีการจัดระบบด้านสุขอนามัย ตามมาตรฐานด้านสาธารณสุขอย่างเข้มงวด หากฝ่าฝืนจะต้องถูกดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายทันที อย่างไรก็ตามขณะนี้การขาดเครื่องพ่นออกชิเจนแบบไฮโฟ ในการใช้ในการรักษาผู้ป่วยในภาพรวมยังคงขาดแคลนอยู่ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่าต้องใช้เครื่องดังกล่าวในการรักษาประมาณ 110 เครื่องดังนั้น นอกจากการประสานงานร่วม อบจ.ขอนแก่น,เทศบาลนครขอนแก่นแล้ว ยังคงขอรับบริจาคจากผู้มีจิตศรัทธาในการขอรับการสนับสนุนเครื่องพ่นออกซิเจนดังกล่าวอย่างเร่งด่วนในระยะนี้

เชียงใหม่ - เทศบาลนครเชียงใหม่ จัดกิจกรรมรณรงค์ “ล้างเมืองเชียงใหม่ สู้ภัยโควิด -19”

เทศบาลนครเชียงใหม่ จัดกิจกรรมล้างเมืองเชียงใหม่ สู้ภัยโควิด-19 ล้างถนนและทางเท้าด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ ทำความสะอาดเมืองเชียงใหม่ สร้างความมั่นใจให้ประชาชน

วันที่ 2 สิงหาคม 2564 เวลา 20.00 น. ณ บริเวณข่วงประตูท่าแพ นายไทณ์ โรจน์รัตนจินดา รองนายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ เป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรมรณรงค์ ล้างเมืองเชียงใหม่ สู้ภัยโควิด -19 เป็นการเดินหน้านโยบายของเทศบาลฯ ภายใต้หลักการ “สร้าง สาน เสริม” การสร้างใหม่ สานต่อ และเสริมพลังการพัฒนา ซึ่งเทศบาลนครเชียงใหม่ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จึงได้จัดให้มีการทำความสะอาดถนนและทางเท้าในเขตเทศบาลนครเชียงใหม่ทั้งสี่แขวงด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและความปลอดภัยให้แก่ประชาชนชาวเชียงใหม่

การจัดกิจกรรมดังกล่าวในช่วงเวลากลางคืนเพื่อให้กระทบกับการใช้ชีวิตประจำวันของประชาชนน้อยที่สุด โดยมี นางบงกช ตุวานนท์ ประธานสภาเทศบาลนครเชียงใหม่ นางสาวรัชนี ชมชื่น รองนายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ นายพิศุทธ์ พิศุทธกุล นางสาวพรผกา ตาระกา ที่ปรึกษานายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ สมาชิกสภาเทศบาลนครเชียงใหม่ หัวหน้าแขวงทั้งสี่แขวง เจ้าหน้าที่เทศบาล และประชาชนชาวเชียงใหม่ เข้าร่วมกิจกรรม


ภาพ/ข่าว  นภาพร / เชียงใหม่

ลำปาง - รองผู้ว่าฯ ลำปาง ตรวจติดตามการดำเนินงานป้องกันโรค COVID-19 พื้นที่ กฟผ.แม่เมาะ

เมื่อวันที่ 2 ส.ค. 2564 ที่ จ.ลำปาง นายจำลักษ์ กันเพ็ชร์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง นำทีมตรวจเยี่ยมการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) แม่เมาะ ติดตามการดำเนินงานป้องกันโรค COVID-19 เข้าตรวจประเมินการปฏิบัติตามแผนมาตรการควบคุมโรคของจังหวัดลำปางโดยมีนายอดิศักดิ์  กิจเจริญธนารักษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการผลิตไฟฟ้า 2 และนายมาโนช  ชูชาติวรรณกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการเหมืองแม่เมาะ และเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องมาให้การต้อนรับ พร้อมทั้งบรรยายสรุปให้รายละเอียดข้อมูล ณ ห้องประชุมมุ่งงานเลิศ อาคารประชาสัมพันธ์แม่เมาะ กฟผ.แม่เมาะ จ.ลำปาง

นายจำลักษ์ กล่าวว่า “จังหวัดลำปาง ได้ประกาศกำหนดให้หน่วยงานสถานประกอบการต่าง ๆ ผู้ที่มีผู้ปฏิบัติงานจำนวนมากต้องปฏิบัติตามมาตรการควบคุมโรคอย่างเคร่งครัด เนื่องจากมีความเสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ได้ในลักษณะเป็นกลุ่มก้อนโดยเบื้องต้น รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง พร้อมทีมเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้เข้าทำการตรวจเยี่ยมประเมินผลการดำเนินงานเฝ้าระวังป้องกันการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อ COVID-19 สำหรับสถานประกอบการ(โรงงาน) หรือ Good Factory Practice (GFP) ของ กฟผ.แม่เมาะ ทั้งนี้เนื่องจากภายในสถานประกอบการโรงไฟฟ้ารวมถึงบริเวณพื้นที่เหมืองแม่เมาะ ถือเป็นสถานที่ประกอบการขนาดใหญ่ ที่แต่ละวันจะมีพนักงานเจ้าหน้าที่ทั้งของ กฟผ.แม่เมาะ และของบริษัทคู่สัญญา เข้าไปปฏิบัติหน้าที่อยู่รวมกันเป็นจำนวนมาก ถ้าหากเกิดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อ COVID-19 ก็อาจเกิดการแพร่กระจายเป็นวงกว้างจนเกิดเป็นคลัสเตอร์ใหม่ของจังหวัดได้ ทั้งยังจะส่งผลต่อภารกิจหลักในการผลิตกระแสไฟฟ้าซึ่งจะกระทบต่อเศรษฐกิจภาพรวมทั้งประเทศ”

นายอดิศักดิ์ กล่าวว่า “ในมาตรการปฏิบัตินั้น กฟผ.แม่เมาะ ได้มีการนำมาตรการเฝ้าระวังป้องกันการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อ COVID-19 เข้ามาใช้อย่างเข้มข้น ภายใต้แผนปฏิบัติการ ZERO COVID โดยมีเป้าหมายกำหนดให้พื้นที่โรงไฟฟ้าและเหมืองแม่เมาะ ต้องเป็นเขตพื้นที่ปลอดเชื้อ COVID-19 ร้อยเปอร์เซ็นต์ ดังนั้นเพื่อให้มั่นใจได้ว่าคนไทยต้องมีไฟฟ้าใช้อย่างต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมง ทาง กฟผ. แม่เมาะ จึงได้สั่งการให้พนักงานที่เกี่ยวข้องกับการเดินเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้า ต้องกักตัวเองอยู่ภายในบริเวณพื้นที่ Safe Zone ตลอด 24 ชั่วโมง สำหรับในส่วนบุคลากรทั่วไปได้เน้นกำชับให้ทุกหน่วยทุกพื้นที่ต้องปฏิบัติตามมาตรการเฝ้าระวังป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดอย่างเคร่งครัด

ส่วนในกรณีฉุกเฉินหากปรากฏว่ามีการตรวจพบพนักงานเจ้าหน้าที่ติดเชื้อโควิด-19 ทาง กฟผ.แม่เมาะได้จัดทำพื้นที่ FAI หรือ Factory Accommodation Isolation ไว้จำนวน 2 แห่ง คือ ที่อาคารถิ่นเทเวศร์ ใช้สำหรับเป็นสถานที่พักคอยของผู้ป่วยสีเขียวจำนวน 16 ห้อง และที่อาคารอเนกประสงค์ห้วยคิง ได้ทำการจัดตั้งเป็น รพ.สนาม รองรับผู้ป่วยได้จำนวน 60 เตียง ประกอบกับพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานอยู่ในพื้นที่ก็ได้มีการฉีดวัคซีนโควิดไปแล้วเกินกว่าร้อยละ 90 จึงเชื่อมั่นได้ว่าพื้นที่โรงไฟฟ้าและเหมืองแม่เมาะ จะเป็นพื้นที่ที่มีความปลอดภัยสูงสุด และจะไม่เป็นจุดแพร่ระบาดของเชื้อโควิดอย่างแน่นอน


ภาพ/ข่าว  ภาวินันท์ บุตรหล้า รายงาน

ชลบุรี - สร้างความมั่นใจ "บางเสร่" ตรวจเชิงรุกหาเชื้อโควิด-19 กลุ่มประมง 78 ราย พบทุกคนปลอดเชื้อ

วันนี้ 2 ส.ค.64 ที่สะพานท่าเทียบเรือกลุ่มประมงบางเสร่ ต.บางเสร่ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี  เจ้าหน้าที่สาธารณสุขอำเภอสัตหีบ ร่วมกับ เทศบาลตำบลบางเสร่ กลุ่มเกษตกรทำประมงบางเสร่ และฝ่ายปกครองอำเภอสัตหีบ บูรณาการร่วม การตรวจหาเชื้อโควิด-19 (ชุดคิท) ให้กับชาวประมงพื้นบ้านแบบเชิงรุก สกัดกั้นการแพร่ระบาด พื้นที่เศรษฐกิจชุมชน ย่านการค้า การท่องเที่ยว โดยมี นายชัยวัฒน์ อินอนงค์ นายกเทศมนตรี ตำบลบางเสร่ พร้อมคณะผู้บริหาร , นายสำราญ ก้องเสนาะ ประธานกลุ่มเกษตรกรทำประมงบางเสร่ , คุณภาชินี บุญเรือง ผอ. รพ.สต.ตำบลบางเสร่ , นาย วรฤทธิ์ จังบวร กำนันตำบลบางเสร่ , นางสาว วลีพร อินอนงค์ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่4 บางเสร่ ฝ่ายปกครองในพื้นที่ประมงบางเสร่ ร่วมอำนวยความสะดวก ให้กับประชาชนชาวประมง พร้อมประชาสัมพันธ์รณรงค์ การป้องกันโควิด-19

นาย ชัยวัฒน์ อินอนงค์ นายกเทศมนตรี ตำบลบางเสร่ กล่าวว่า สำหรับการตรวจแบบเชิงรุก ในพื้นที่กลุ่มประมงบางเสร่ ซึ่งเป็นพื้นที่ เศรษฐกิจ มีประชากร กลุ่มแรงงานต่างด้าว จำนวนมาก ในวันนี้ทำการตรวจเชิงรุก โดยกลุ่มประมงบางเสร่ ร่วมกับสมาชิก จัดหาชุดตรวจหาเชื้อโควิด-19 (ชุดคิท) เพื่อมาตรวจสร้างความมั่นใจให้กับพี่น้องประชาชนชาวตำบลบางเสร่ และพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งถือว่าพื้นที่นี้ เป็นจุดศูนย์กลาง เส้นทางการค้า การท่องเที่ยว และในสถานการณ์ปกติ ตรงนี้จะเป็นจุดรับนักท่องเที่ยว ประชาชน มีการค้าขาย ตลอดทั้งวัน จึงจำเป็นต้องตรวจหาเชื้อโควิด-19 แบบเชิงรุก และเราจะลงทุกพื้นที่ ในตำบลบางเสร่ เพื่อสแกนหา กลุ่มคนกลุ่มเสี่ยง  เพื่อให้ตำบลบางเสร่เป็นพื้นที่ปลอดเชื้อ ปลอดโรค ปลอดภัย

 และสำหรับการ ตรวจหาเชื้อโควิด-19 ในวันแรก แบบเชิงรุก จากชุดคิท มีผู้เข้ารับการตรวจทั้งสิ้น 78 ราย ในเบื้องต้น ไม่พบเชื้อโควิด-19 ทั้ง 78 ราย แต่ยังคงเน้นย้ำให้ทุกคนดูแลป้องกันตนเอง ในสถานวิกฤตโควิด-19 เชื่อมั่นในบางเสร่บ้านเรา เราจะผ่านและเดินหน้าไปด้วยกัน


ภาพ/ข่าว  นิราช ทิพย์ศรี / นันทพล  ทิพย์ศรี  อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี

เชียงราย CAR MOB ขับไล่รัฐบาล รถร่วมขบวนกว่า 200 คัน นำโดยกลุ่ม ‘Chiangrai No เผด็จการ’

เวลา 16.40 น. วันที่ 1 ส.ค. 64 กลุ่ม Chiangrai No เผด็จการ กลุ่มคนเสื้อแดงเชียงราย เยาวชนและประชาชนชาวจังหวัดเชียงรายนำโดย นายสราวุทธิ์ กุลมธุรพจน์ แกนนำกลุ่ม Chiangrai No เผด็จการ ได้พากันมารวมตัวที่บริเวณห้าแยกมังราย ติดกำแพงดิน อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย เพื่อจัดกิจกรรมCAR MOB ขับไล่รัฐบาล พร้อมกับจังหวัดอื่นทั่วประเทศ โดยได้มีมวลชนกว่า 300 คน มีรถยนต์ร่วมขบวนกว่า 100 คันและจักรยานยนต์อีกกว่า150 คัน โดยได้ตั้งขบวนก่อนจะขับรถเคลื่อนขบวนไปตามถนนสายต่าง ๆ ตั้งแต่ห้าแยกมังราย ไปตามถนนพหลโยธินสายนอกมุ่งหน้าไปแยกแม่กรณ์

โดยมีการนำป้ายมาติดที่รถเป็นข้อความวิจารณ์การทำงานของรัฐบาลรวมไปถึงบีบแตรและแสดงสัญลักษณ์ชูสามนิ้วตลอดเส้นทาง จากนั้นตัดเข้าสู่ถนนพหลโนธินสายในมุ่งสู่ในเมืองเชียงราย ผ่านแยกประตูสลีผ่านหอนาฬิกา โดยมีการจำลองการเก็บศพริมถนน แยกประตูเชียงใหม่ จากนั้นมุ่งหน้าสู่ศาลากลางจังหวัดเชียงราย ซึ่งทางกลุ่มม็อบได้นำขบวนจักรยายนต์แวะเข้าศาลากลางส่งหนังถึงผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย โดยมอบให้เจ้าหน้าที่ประจำศาลากลางจังหวัดเชียงราย โดยอ่านข้อความที่ส่งถึงจังหวัด

โดยมีเนื้อหาเรียกร้องให้จัดหาวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่มีประสิทธิภาพและผลการันตีรับรองคุณภาพในป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 มาช่วยเหลือพี่น้องประชาชนชาวเชียงรายอย่างเร่งด่วน และเรียกร้องให้ทางจังหวัดอนุญาตให้ร้านอาหารหรือร้านเหล้าสามารถเปิดและจำหน่ายเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ได้ เพื่อประคองธุรกิจให้อยู่รอดได้ โดยทางจังหวัดได้ส่งผู้แทนมารับมอบหนังสือเพื่อนำไปเสนอผู้ว่าราชการจังหวัดพิจารณาตามขั้นตอนต่อไป

จากนั้นทางขบวนผู้ชุมนุมได้เคลื่อนขบวนต่อโดดยอ้อมผ่านถนนนอกเมืองทางชุมชนน้ำลัด ผ่านแยกตลาดบ้านใหม่ จากนั้นมุ่งหน้าสู่ตัวเมืองอีกครั้งทางสะพานขัวพญามังราย ผ่านสถานีตำรวจเมืองเชียงรายและเคลื่อนขบวนไปทำกิจกรรมที่บริเวณสวนตุงและโคมเฉลิมพระเกียรติ เขตเทศบาลนครเชียงรายเป็นพื้นที่สุดท้าย

โดยที่สวนตุงและโคม เทศบาลนครเชียงราย ได้มีการนำรถมาจอดเพื่อทำการปราศรัย โดยผลัดกันกล่าวถึงการทำงานของรัฐบาล จากนั้นได้มีการนำหุ่น มาทำการประหารตัดคอด้วยเครื่องกิโยติน ก่อนจะนำหุ่นไปใส่โลงศพ แล้วเผา จากนั้นได้มีการแสดงสัญลักษณ์ชู 3 นิ้ว และบีบแตร ก่อนจะแยกย้าย


ภาพ/ข่าว  ณัฐวัตร ลาพิงค์ เชียงราย

ฉะเชิงเทรา - “นายกไก่” กิตติ เป้าเปี่ยมทรัพย์ นายกอบจ.ฉะเชิงเทรา มอบโรงพยาบาลสนามใต้ร่มพระบารมี จังหวัดฉะเชิงเทรา

วันที่ 2 ส.ค. 2564 นายไมตรี ไตรติลานันท์ ผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา รับมอบโรงพยาบาลสนามใต้ร่มพระบารมี จังหวัดฉะเชิงเทรา จากนายกิตติ เป้าเปี่ยมทรัพย์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดฉะเชิงเทรา โดยมีนายมณเฑียร คณาสวัสดิ์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดฉะเชิงเทรา แพทย์หญิงสมบัติ ชุติมานุกูล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพุทธโสธร หัวหน้าส่วนราชการ และบุคลากรทางการแพทย์ ร่วมลงพื้นที่ ซึ่งโรงพยาบาลสนามใต้ร่มพระบารมี จังหวัดฉะเชิงเทรา ดำเนินการจัดตั้งโดยองค์การบริหารส่วนจังหวัดฉะเชิงเทรา พร้อมนี้ได้ตรวจดูความพร้อมก่อนลำเลียงผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เข้าดูแลรักษา ณ โรงพยาบาลสนามใต้ร่มพระบารมี จังหวัดฉะเชิงเทรา หมู่ที่ 6 ต.สนามจันทร์ อ.บ้านโพธิ์ จ.ฉะเชิงเทรา

โดยนายกิตติ เป้าเปี่ยมทรัพย์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดฉะเชิงเทรา กล่าวว่า อบจ.ฉะเชิงเทรา ดำเนินการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามใต้ร่มพระบารมี จังหวัดฉะเชิงเทรา ใช้งบประมาณมากกว่า 12 ล้านบาท โดยมีการดำเนินการดำเนินดังนี้

1. พื้นที่อาคารและบริเวณโดยรอบที่ปรับปรุง

2. เตียงสำหรับผู้ป่วยพร้อมเครื่องนอนและอุปกรณ์จำเป็น จำนวน 1,200 ชุด

3. ห้องพักสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ จำนวน 5 ห้อง พร้อมอุปกรณ์

4. ระบบบำบัดน้ำเสีย

5. ตู้คอนเทนเนอร์ จำนวน 10 ตู้

6. พัดลมระบายอากาศ จำนวน 14 ตัว

7. เครื่องฟอกอากาศ จำนวน 5 เครื่อง

8. เครื่องผลิตไอน้ำระบายความร้อน จำนวน 3 เครื่อง

9. ระบบไฟฟ้า/แสงสว่าง ภายในและภายนอกอาคาร

10. ระบบประปาสำหรับผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์

11. ระบบสื่อสาร แนะนำ ปรึกษาสำหรับผู้ป่วย

12. ห้องสุขา จำนวน 80 ห้อง รถสุขา จำนวน 5 คัน (60 ห้อง)

ทั้งนี้มีจัดตั้งระบบบริการดูแลรักษาพยาบาล ผู้ป่วยที่เข้าข่าย PUI ในกรณีที่เกินขีดความสามารถของโรงพยาบาล ตั้งแต่การคัดกรองผู้ป่วย การให้การวินิจฉัยดูแลรักษาแบบ One Stop Services สามารถรับผู้ป่วยยืนยัน COVID-19 ได้ดูแลรักษาแบบผู้ป่วยใน และให้การดูแลผู้ป่วยที่อาการไม่รุนแรง ใช้เป็นสถานที่ดูแลรักษาผู้ป่วยที่มีอาการคงที่และได้รับการส่งตัวมาจากโรงพยาบาลหรือวิกฤตจนดีขึ้นแล้ว

นายกิตติ เป้าเปี่ยมทรัพย์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดฉะเชิงเทรา กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันเตรียมรองรับผู้ป่วยไว้ 1,200 เตียง และมีผู้มีจิตศรัทธาบริจาคเตียงกระดาษมาให้เพิ่มอีก 200 เตียง ซึ่งจะได้จัดเสริมเพิ่มเติมเข้าไป เพื่อจะได้รองรับผู้ป่วยได้เพิ่มเป็น 1,400 เตียง

คาร์ม็อบระยองครั้งที่ 2 ทวงถามวัคซีคซีนให้แรงงานและคนระยอง กับรมช.สาธิต ติดป้าย ”SAVE เขายายดา ผืนป่าระยอง”

เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 1 สิงหาคม นายภาณุพงศ์ จาดนอกหรือไมค์ระยอง พร้อมกลุ่มแนวร่วมตะวันออกเพื่อประชาธิปไตย โดยมีรถยนต์ 50 คันเข้าร่วมขบวนริมถนนสุขุมวิท หน้าวัดเขาสำเภาทอง หมู่ 7 ต.เพ อ.เมืองระยอง พร้อมติดป้ายผ้าบริเวณทางขึ้นเขายายดา” SAVE เขายายดา ผืนป่าชาวระยอง” เนื่องจากมีกลุ่มคนมีอำนาจขึ้นไปตัดต้นไม้ใหญ่บริเวณจุดชมวิว เขายายดา

นายภาณุพงศ์ หรือไมค์ระยอง กล่าวว่าวันนี้มาจัดคาร์ม็อบระยองครั้งที่ 2 เพื่อทวงถามเรื่องวัคซีนจากนายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ว่าจัดวัคซีนให้กับชาวระยองและภาคตะวันออกจำนวนเท่าไหร่ วันนี้จะมีการประกาศยกระดับการประท้วงเรียกร้องวัคซีนให้กับคนระยองและแรงงานภาคตะวันออก ซึ่งเป็นเมืองเศรษฐกิจ เมืองอุตสาหกรรม สร้างรายได้ให้กับประเทศ ทำไมแรงงานภาคอุตสาหกรรมยังไม่ได้ฉีดวัดซีน รวมถึงบุคลากรทางการแพทย์ และเจ้าหน้าที่พัฒนาสังคมและความความมั่นคงของมนุษย์(พม.)ที่เป็นด่านหน้า สิ่งที่พวกเราเรียกร้องเป็นผลประโยชน์กับประชาชนทั้งสิ้นไม่ได้ต้องการสร้างความวุ่นวาย พร้อมติดป้ายทางขึ้นเขายายดา “SAVE เขายายดา ผืนป่าระยอง เนื่องจากมีกลุ่มคนมีอำนาจขึ้นไปตัดต้นไม้ใหญ่จุดชมวิวเขายายดาเมื่อเร็ว ๆ นี้

ไมค์ระยอง กล่าวต่อว่าได้เปิดบ้านบูรพาช่วยเหลือพี่น้องที่ป่วยโควิด ได้รับข้อมูลว่า เกิดคลัสเตอร์ใหม่จำนวนมากในเขตห้วยโป่ง มาบตาพุด ปลวกแดงและ เขตชลบุรี ดังนั้นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็น ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ เขต 1 ระยอง ควรเร่งหาวัคซีนให้กับแรงานภาคอุตสาหกรรมและคนระยอง เพื่อจะได้เปิดสถานที่ท่องเที่ยว เปิดการผลิตภาคอุตสาหกรรมให้มากที่สุดและเป็นการพยุงเศรษฐกิจให้กับประเทศด้วย

คาร์ม็อบวันนี้จะเคลื่อนขบวนไปที่หน้าศูนย์ราชการจังหวัดระยอง ต.เนินพระ อ.เมืองระยองโดยมีแรลลี่แรงงานสัมพันธ์ภาคตะวันออกประกาศเข้าร่วม ขบวนจะเคลื่อนมาจากบ่อวินปลวกแดง นิคมพัฒนา พบรวมที่ศูนย์ราชการและจะประกาศยกระดับกับแนวร่วมต่อไป


ภาพ/ข่าว  ราชัญ กองทองผู้สื่อข่าว จ.ระยอง

ทหารหน่วยเฉพาะกิจที่ 3 กองกำลังสุรนารี สนธิกำลังปราบปรามขบวนการส่งออกไม้พะยุงข้ามชาติ

เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2564 พันเอก นิสิต สมานมิตร ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจที่ 3 กองกำลังสุรนารี ได้จัดชุดเฉพาะกิจ ร่วมกับจนท.ฝ่ายปกครอง อำเภอขุนหาญ จ.ศรีสะเกษ เจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยศาลา และหน่วยป้องกันและพัฒนาป่าไม้ อ.ขุนหาญ ร่วมกันเข้าจับกุมขบวนการลักลอบขนไม้พะยุง เพื่อนำส่งออกไปยังประเทศลาว 

จากข้อมูลด้านการข่าว สืบทราบว่า ได้มีรถบรรทุก หมายเลขทะเบียน 70-4120 มหาสารคาม ได้ขับรถเข้ามาในพื้นที่ บ้านขุนหาญ ต.โพธิ์กะสังข์ อ.ขุนหาญ จ.ศรีสะเกษ เพื่อมารับไม้พะยุง ไปส่งให้กับนายทุนชาวลาว โดยใช้รถบรรทุกขนาดใหญ่ เพื่อตบตาเจ้าหน้าที่ในการเคลื่อนย้ายออกนอกพื้นที่ ผลการปฏิบัติงาน สามารถจับกุมผู้ต้องหาได้ 1 ราย คือนายอุทัย เทียบหนู อายุ 50 ปี ชาว ตำบลโนนแดง อ.บรบือ จ.มหาสารคาม พร้อมด้วยของกลางเป็นไม้พะยุง จำนวน 66 ท่อน/เหลี่ยม จึงได้แจ้งข้อหา มีไม้หวงห้ามไม้พะยูงไว้ในครอบครองโดยผิดกฎหมาย จับกุมจึงได้นำตัวผู้ต้องหาพร้อมของกลางทั้งหมดส่งเจ้าพนักงานสอบสวน สภ.กันทรอม อ.ขุนหาญ จ.ศรีสะเกษ และนำไม้ของกลางไปเก็บไว้ที่ หน่วยป้องกันรักษาป่าที่ ศก.1 อ.ขุนหาญ จ.ศรีสะเกษ


ภาพ/ข่าว  บุญทัน ธุศรีวรรณ ศรีสะเกษ

ม็อบคาร์ขอนแก่น เผาหุ่น 36 รัฐมนตรีแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ขับไล่รัฐบาลบริหารประเทศล้มเหลว

เมื่อเวลา 19.30 น. วันที่ 1 ส.ค. 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่าภายหลังจากกลุ่มราษฎรขอนแก่น ได้กำหนดจัดกิจกรรมม็อบคาร์เพื่อเน้นย้ำ 3 ข้อเรียกร้อง ประกอบด้วยการให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีพร้อมคณะรัฐมนตรี ลาออกจากตำแหน่ง การร่างรัฐธรรมนูญใหม่ฉบับที่มาจากประชาชนและปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ด้วยการนำรถยนต์และรถจักรยานยนต์เข้าร่วมกิจกรรมนับพันคัน ขับขี่มาตามเส้นทางที่แกนนำกำหนดระยะทาง 12 กม. ตั้งแต่ช่วงเย็นที่ผ่านมา โดยทุก ๆ คัน จะบีบแตรและชูสามนิ้วเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์มาตลอดเส้นทางจนมาถึงจุดหมายหน้าศาลากลางจังหวัดขอนแก่น กลุ่มผู้ชุมนุมได้ตั้งเวทีปราศรัยอยู่กลางถนน พร้อมทั้งปิดเส้นทางไม่ให้รถสามารถสัญจรไป-มาได้ ขณะที่ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เมืองขอนแก่น พร้อมด้วยฝ่ายปกครอง และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขอำเภอ ได้เฝ้าสังเกตการณ์รักษาความสงบเรียบร้อยและความปลอดภัยในกิจกรรมดังกล่าว

ทั้งนี้กลุ่มผู้ชุมนุมมาพร้อมกันที่หน้าเวทีก็ได้นำหุ่นจำลองเป็นศพ 36 หุ่นรัฐมนตรีมากองไว้ที่หน้าเวที ก่อนจะราดน้ำมันและจุดไฟเผา เพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ว่าการบริหารประเทศของคณะรัฐบาลทั้ง 36 คน บริหารได้ล้มเหลวทุกด้าน และเพื่อเป็นการไว้อาลัยให้กับผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อโควิด-19 กว่า 4,000 คน ก่อนที่แกนนำจะสับเปลี่ยนกันขึ้นปราศรัยแสดงออกทางการเมือง ขณะเดียวกันยังคงมีกลุ่มนักดนตรีที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 และตกงาน ได้มาร่วมบรรเลงเพลงสะท้อนความล้มเหลว

ในปัจจุบันได้มีการนำสมุนไพรไทยอย่าง “ฟ้าทะลายโจร” มาใช้ในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอัตราสูงขึ้นในทุกวัน เป็นที่น่าพึงพอใจอย่างมากในทางการแพทย์ ตัวฟ้าละลายโจรนั้นสามารถทำให้ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นและหายจากโรคระบาดนี้ได้อย่างรวดเร็ว

ในช่วงนี้การระบาดของไวรัสโควิด-19 นอกจากจะมีแนวโน้มที่ไม่ลดลงแล้ว ยังเพิ่มขึ้นแบบน่าใจหายอีกด้วยครับ ท่ามกลางการโจมตีผลงานรัฐบาลในเรื่องของการใช้วัคซีน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการบริหารจัดการ หรือแม้กระทั่งคุณภาพของวัคซีน จนชาวบ้านระดับรากหญ้าหลาย ๆ ราย ไม่กล้าที่จะฉีดวัคซีน ถ้ามีเงินหน่อยก็เลือกที่จะรอวัคซีนทางเลือก ที่โรงพยาบาลเอกชนหลายแห่งเริ่มให้มีการเปิดจองไปแล้ว 

ในส่วนของการจัดการ พอรัฐบาลมีมาตรการสั่งปิดแคมป์คนงานหลาย ๆ แห่งในกรุงเทพฯ ก็กลับกลายเป็นว่าทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายของแรงงานจำนวนมากไปยังต่างจังหวัดเพื่อกลับภูมิลำเนา ส่งผลให้ในต่างจังหวัดที่สถานการณ์เริ่มจะคลี่คลายแล้วกลับมารุนแรงขึ้นอีก และมีคลัสเตอร์ที่น่าเป็นห่วงที่สุดเพิ่มขึ้นมาคือคลัสเตอร์ของศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก เนื่องจากการกระจายลงไปสู่เด็กเล็กที่ค่อนข้างลำบากมากในเรื่องของการดูแลตัวเอง 
ท่ามกลางกระแสอันเลวร้ายของโควิด-19 ก็มีอีกกระแสหนึ่งเกิดขึ้นมา นั้นคือกระแสที่ว่าด้วยแพทย์ทางเลือก คือ การใช้ฟ้าทะลายโจร ซึ่งเป็นพืชสมุนไพรที่คนไทยรู้จักกันมานาน อาจจะมีสรรพคุณในการป้องกัน และรักษาไวรัสโควิด-19 ได้ สำหรับวันนี้เราจะมาดูรายละเอียดของเรื่องนี้กันครับ 

ก่อนอื่นเรามารู้จักพืชสมุนไพรที่ว่าด้วยฟ้าทะลายโจรกันก่อน ฟ้าทะลายโจรมีชื่อทางวิทยาศาสตร์คือ Andrographis paniculata (Burm.f.) Wall.ex Nees และชื่อสามัญคือ Kariyat , The Creat ทั้งนี้นอกจากชื่อฟ้าทะลายโจร แล้วยัง มีชื่อเรียกอื่น ๆ อีก ตามแต่ละพื้นที่ เช่น หญ้ากันงู น้ำลายพังพอน ฟ้าสาง เขยตายยายคลุม สามสิบดี เมฆทะลาย ฟ้าสะท้าน เป็นต้น ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของฟ้าทะลายโจร เป็นไม้ประเภทล้มลุก มีความสูงประมาณ 30-70 เซนติเมตร ทุกส่วนของฟ้าทะลายโจรจะมีรสขม กิ่งเป็นใบสี่เหลี่ยม ใบเป็นประเภทใบเดี่ยว แผ่นใบสีเขียวเข้มเป็นมัน ดอก ช่อ ออกที่ปลายกิ่งและซอกใบ ส่วนที่ใช้เป็นสมุนไพรใช้ได้หลายส่วน ทั้งต้น ใบสด ใบแห้ง ฟ้าทะลายโจรเป็นสมุนไพรที่ได้ถูกบรรจุอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ พ.ศ. 2542 (บัญชียาจากสมุนไพร) กระทรวงสาธารณสุข ในรูปแบบยาเดี่ยว ลักษณะส่วนประกอบทางเคมีของฟ้าทะลายโจร มีสารเคมีประกอบอยู่หลายประเภท แต่ที่เป็นสารที่สำคัญในการออกฤทธิ์ คือ สารกลุ่ม Lactone ได้แก่ สารแอดโดรกราโฟไลด์ (andrographolide) สารนีโอแอนโดรกราโฟไลด์ (neo-andrographolide) สาร 14-ดีอ๊อกซี่แอนโดรกราโฟไลด์ (14-deoxy-andrographolide) 

โดยสรรพคุณหลักของฟ้าทะลายโจรคือ ใช้บรรเทาอาการไข้หวัด แก้ไอและเจ็บคอ ทั้งนี้ในประเทศไทยมีหน่วยงานที่ศึกษาเรื่องการใช้ฟ้าทะลายโจรในการรักษาไวรัสโควิด-19 อย่างจริงจังคือโรงพยาบาลอภัยภูเบศร โดยได้ร่วมกับคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในการศึกษาวิจัยถึงกลไกในการต้านโควิด-19 ของฟ้าทะลายโจร ทั้งนี้จากผลการศึกษาพบว่าสารแอนโดรกราโฟไลด์ ซึ่งเป็นสารสำคัญในฟ้าทะลายโจร มีความสามารถในการยับยั้งกระบวนการติดเชื้อไวรัสของเซลล์ปอดในมนุษย์ได้ โดยผ่านกลไกที่สำคัญ คือ การยับยั้งการแบ่งตัวของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในทุกระยะ จึงมีโอกาสที่จะพัฒนาการใช้ฟ้าทะลายโจรเป็นยารักษาและป้องกันโควิด-19 ได้ โดยสามารถใช้เป็นยาเดี่ยว หรือใช้ควบรวมกับสูตรยามาตรฐาน ในการรักษาผู้ที่ติดเชื้อโควิด-19 ได้ ปัจจุบันผลงานวิจัยดังกล่าวได้รับการตีพิมพ์ในวารสารระดับนานาชาติ Journal of  Natural Products ซึ่งเป็นผลการศึกษาที่เกิดขึ้นในระดับห้องปฏิบัติการเท่านั้น 

อย่างไรก็ตามเนื่องจากไวรัสโควิด-19 เป็นโรคอุบัติชนิดใหม่ที่พึ่งเกิดขึ้นมา ในการพัฒนายาที่มาใช้ในการรักษานั้น จะต้องมีการศึกษา วิจัย และค้นคว้าให้มีความลึกซึ้งมากกว่านี้ และอาจใช้ระยะเวลาในการศึกษา เพราะการใช้ยาแต่ละชนิดในการรักษาหรือป้องกันโรคนั้นจะต้องศึกษาผลกระทบที่เกิดจากการใช้ยาชนิดนั้นที่อาจเกิดขึ้นด้วย อย่างไรก็ตามถึงแม้จะมีการศึกษาในระดับห้องปฏิบัติการเท่านั้น แต่ที่มีการศึกษาและเป็นที่ยอมรับอย่างชัดเจนแล้วคือการรับประทานฟ้าทะลายโจรจะช่วยในการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันโรคหวัดได้ ส่วนจะใช้ในการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันโควิด-19 ได้จริงหรือไม่ คงต้องมีการศึกษากันในระยะต่อไป เพื่อให้เกิดความชัดเจนมากขึ้น 

แต่แม้จะยังไม่มีหลักฐานที่ชัดเจน 100% ยืนยันได้ว่าฟ้าทะลายโจรสามารถป้องกันหรือรักษาเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้จริงหรือไม่ก็ตาม การรับประทานฟ้าทะลายโจรก็เป็นประโยชน์ต่อเราอยู่แล้ว ในเรื่องของการป้องกันการเป็นหวัดได้ เพราะฉะนั้น ถ้าเราจะหาพืชสมุนไพรที่ชื่อฟ้าทะลายโจรมารับประทาน ก็ไม่เกิดความเสียหายอะไร นอกจากจะป้องกันการเป็นหวัดได้แล้ว เผลอ ๆ อาจจะสร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกายเราในการป้องกันโควิด-19 ท่ามกลางกระแสความสับสนในเรื่องของการใช้วัคซีน ได้อีกด้วยก็เป็นได้ครับ


เขียนโดย: ผศ.ดร.สุทัศน์ จันบัวลา อาจารย์ประจำสาขาวิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสวนดุสิต


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top