พลเรือเอก สมประสงค์ นิลสมัย ผู้บัญชาการทหารเรือ เป็นประธานในพิธีถวายราชสักการะ และกล่าวถวายราชสดุดี พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องในวันสถาปนาโรงเรียนนายเรือ ครบรอบ 115 ปี วันที่ 20 พฤศจิกายน 2564 ณ โรงเรียนนายเรือ อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรปราการ โดยมีพลเรือโท ชาติชาย ทองสะอาด ผู้บัญชาการโรงเรียนนายเรือ ให้การรับรอง พร้อมคณะนายทหารชั้นผู้ใหญ่ของกองทัพเรือ สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม และกองบัญชาการกองทัพไทย ตลอดจนศิษย์เก่าโรงเรียนนายเรือรุ่น 50 - 114 ร่วมพิธี โดยก่อนหน้านี้ในเวลา 0800 น. ศิษย์เก่าโรงเรียนนายเรือแต่ละรุ่นได้กระทำพิธีวางพานพุ่มถวายราชสักการะ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ต่อมา พลเรือเอก พงษ์เทพ หนูเทพ องค์มนตรี ในฐานะอดีตผู้บัญชาการโรงเรียนนายเรือ เป็นประธานในพิธีบำเพ็ญกุศล ณ หอประชุมภูติอนันต์ โดยมีผู้บัญชาการทหารเรือ นายทหารชั้นผู้ใหญ่ของกองทัพเรือ สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม กองบัญชาการกองทัพไทย ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดสมุทรปราการ อดีตผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้แทนผู้บัญชาการโรงเรียนเหล่าทัพ และส่วนราชการในจังหวัดสมุทรปราการ ตลอดจนศิษย์เก่าโรงเรียนนายเรือร่วมพิธี
หลังเสร็จสิ้นพิธี โรงเรียนนายเรือได้จัดกิจกรรมพาศิษย์เก่าโรงเรียนนายเรือ ชมสถานที่สำคัญในโรงเรียนนายเรือ เพื่อย้อนระลึกจากในอดีตถึงปัจจุบัน ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงที่มีความทันสมัยมากขึ้น โดยนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาเป็นสื่อการเรียนการสอน เช่นห้องเรียนแผนที่อิเล็คทรอนิกส์ ห้องจำลองการเดินเรือ ห้องเรียนอัจฉริยะ (smart classroom) หอดาราศาสตร์ ที่เป็นหอดูดาวแห่งแรกของประเทศไทย ปัจุบันถูกปรับปรุงเป็นพิพิธภัณฑ์อุปกรณ์การเดินเรือ และมีท้องฟ้าจำลอง ในการให้การศึกษาเส้นทางของดวงดาว
ทั้งนี้การจัดกิจกรรมดังกล่าว ได้ปฏิบัติตามมาตรการการป้องกันการแพร่ระบาด ของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ของรัฐบาลอย่างเคร่งครัด
สำหรับโรงเรียนนายเรือ เป็นสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาของกองทัพเรือ มีหน้าที่ให้การศึกษา ฝึกและอบรมนักเรียนนายเรือด้านวิทยาการ วิชาทหาร จริยศึกษาและพลศึกษา เพื่อให้มีความรู้ความสามารถและประสบการณ์ เหมาะสมที่จะเป็นนายทหารสัญญาบัตร ของกองทัพเรือ สามารถปฏิบัติหน้าที่นายทหารสัญญาบัตรชั้นผู้น้อยในระยะแรก ได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีความเป็นผู้นำ มีคุณธรรมประจำใจ มีความสำนึกในหน้าที่และความรับผิดชอบ สืบทอดแบบธรรมเนียมประเพณีของทหารเรือ เทิดทูน และยึดมั่นใน ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข โดยมีปรัชญา โรงเรียนนายเรือ "แหล่งผลิตนายทหารเรือ อันเป็นรากแก้วของกองทัพเรือ"
โรงเรียนนายเรือได้จัดตั้งขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ.2441 ( ร.ศ.117 ) และเปิดการเรียนการสอนนักเรียนนายเรือ ระยะแรกเคยใช้เรือพระที่นั่งมหาจักรี และเรือหลวงมูรธาวสิตสวัสดิ์ เป็นสถานที่ฝึกสอนนักเรียนนายเรือชั่วคราว และใช้เรือหลวงพาลีรั้งทวีป และเรือหลวงสุครีพ ครองเมือง เป็นสถานที่เรียนอีกด้วย โดยได้กำหนดให้มีการศึกษาในวิชาการทหารเรือ เลขคณิต และทหารราบ ภาษาไทย และภาษาอังกฤษ และการฝึกหัดศึกษาอย่างเดียวกับคนประจำเรือ ต่อมา เมื่อปี พ.ศ.2442 กรมทหารเรือในสมัยนั้นได้รับบุคคลภายนอกเข้าเรียนมากขึ้น จึงย้ายไปอยู่ที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเดิม ที่สวนอนันตอุทยาน ธนบุรี และได้ทำการเรียนการสอนกันอย่างจริงจัง โดยมีนักเรียนทั้งหมด 19 นาย และมีนาวาโท ไซเดอร์ลิน (C.P.SEIDELIN) เป็นผู้บังคับการโรงเรียนนายเรือ คนแรก หลังจากนั้นได้ย้ายมาอยู่ที่พระตำหนักสุนันทาลัย ปากคลองตลาด
จากเหตุการณ์ ร.ศ.112 (พ.ศ.2436) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำริว่า กิจการของทหารเรือเท่าที่อาศัยชาวต่างประเทศเข้ามาประจำตำแหน่งหน้าที่ต่าง ๆ นั้น ไม่อาจที่จะหวังในด้านการรักษาอธิปไตยของชาติได้ดีเท่ากับคนไทยเอง พระองค์มีพระราชประสงค์ให้จัดการศึกษาแก่ทหารเรือไทย ให้มีความรู้ความสามารถเพียงพอที่จะรับตำแหน่งหน้าที่ต่าง ๆ ในเรือแทนชาวต่างชาติที่จ้างไว้ต่อไป จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ พระราชโอรสสองพระองค์ ไปทรงศึกษาวิชาการทหารเรือยังต่างประเทศ คือ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ ให้ไปทรงศึกษาวิชาการทหารเรือ ณ ประเทศอังกฤษ และ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนสงขลานครินทร์ ให้ไปทรงศึกษาวิชาการทหารเรือ ณ ประเทศเยอรมันพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ ทรงเห็นความสำคัญของการให้คนไทยทำหน้าที่แทนชาวต่างประเทศ ในตำแหน่งสำคัญทางทหาร จึงได้มีการจัดส่งนายทหารเรือไปรับการศึกษาจากต่างประเทศ มีการพัฒนาทั้งองค์บุคคลและองค์วัตถุควบคู่กันไป ปรับปรุงกำลังรบทางเรือให้ทันสมัยและมีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังทรงจัดการการศึกษาแก่ ทหารเรือไทย