Monday, 20 May 2024
ภาคกลางไทม์

พิจิตร - “สส.ภูดิท อินสุวรรณ์” พลังประชารัฐ พิจิตร เขต 2 ลงพื้นที่เข้ามอบถุงปันน้ำใจให้กับพี่น้องที่ประสบภัยทั้ง 5 ตำบลของอำเภอดงเจริญ

สืบเนื่องจากสส.ภูดิทฯได้ลงพื้นที่สำรวจบ้านเรือนที่ได้รับความเสียหาย จากภัยน้ำท่วมใหญ่ในเขตพื้นที่อำเภอดงเจริญที่ผ่านมา รวมทั้งจังหวัดพิจิตรได้ประกาศให้อำเภอดงเจริญเป็นพื้นที่ประสบสาธารณภัยภุกเฉิน ทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนเป็นจำนวนมาก

ดังนั้น สส.ภูดิท อินสุวรรณ์ พร้อมทีมงานได้ เข้าช่วยเหลือมอบถุงปันน้ำใจ จำนวน 1,575 ชุด เพื่อเป็นการบรรเทาทุกข์และสร้างขวัญกำลังใจให้แก่พี่น้องประชาชนที่ประสบภัยในครั้งนี้ โดยได้รับความร่วมมือจากพล.ต.ต.กำธร จันที ผบก.ภ.จว พิจิตรมอบหมายให้พ.ต.อ.ฐิติภัทร อินทรรักษ์ ผกก.สภ.ทับคล้อและพ.ต.อ.นิเวศน์ เพชรดี ผกก.สภ.ดงเจริญ สนับสนุนการขนส่ง ร่วมกับ สมาคมกู้ภัยสรรเพชญ ในการเข้าช่วยเหลือมอบถุงปันน้ำใจ ตามจุดต่าง ๆ ทั้ง 5 ตำบลของอำเภอดงเจริญ ดังนี้

จุดที่ 1 ตำบลวังงิ้ว                 442 ชุด

จุดที่ 2 ตำบลวังงิ้วใต้             314 ชุด

จุดที่ 3 ตำบลห้วยพุก             304 ชุด

จุดที่ 4 ตำบลห้วยร่วม            330 ชุด

จุดที่ 5 ตำบลสำนักขุนเณร     185 ชุด

 

ปทุมธานี - น้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เนื่องในวันคล้ายวันสวรรคต 13 ตุลาคม 2564

ณ อาคารศาลารักษ์ปทุม ศาลากลางจังหวัดปทุมธานี นายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้ว่าฯ จ.ปทุมธานี เป็นประธานในพิธีวางพวงมาลาถวายสักการะ เบื้องหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เนื่องในวันคล้ายวันสวรรคต 13 ตุลาคม 2564 เพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณและแสดงออกถึงความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์

โดยมี นายปรีชา พรหมเพชร ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดปทุมธานี นางจินจณา โอสถธนากร นายกเหล่ากาชาด จ.ปทุมธานี นายจรูญศักดิ์ สิงหเดช รองผู้ว่าฯ จ.ปทุมธานี นายพงศธร กาญจนะจิตรา รอง ผู้ว่าฯ จ.ปทุมธานี นายดรณ์ สมิตะเกษตริน ปลัดจังหวัดปทุมธานี พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง นายก อบจ.ปทุมธานี พล.ต.ต.ชุมพล ชาญชนะโยธิน ผบก.ภ.จว.ปทุมธานี นายพิษณุ ประภาธนานันท์ นอภ.เมืองปทุมธานี นางสาวธนียา นัยพินิจ หน.สนง.จ.ปทุมธานีและ หน.ส่วนราชการ ร่วมพิธีฯ

 

อยุธยา - PEA ร่วมส่งกำลังใจและมอบถุงยังชีพให้ประชาชน ที่ประสบอุทกภัย ในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

นางสาวนุชนาถ ประทีปธีรานันต์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา นางสมทรง พันธ์เจริญวรกุล นายก อบจ.พระนครศรีอยุธยา นายบดินทร์ เกษมศานติ์ นายอำเภอพระนครศรีอยุธยา นายสุวัฒน์ สรรพโกศลกุล รองนายกเทศมนตรีเทศบาลนครพระนครศรีอยุธยา ให้การต้อนรับ นายศุภชัย เอกอุ่น ผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค พร้อมคณะ ที่ได้เดินทางมาให้กำลังใจและมอบถุงยังชีพช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ตำบลวาสุกรี บริเวณวัดศาลาปูนวรวิหาร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

ทั้งนี้ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) ได้จัดกิจกรรม PEA ขอร่วมส่งกำลังใจให้ประชาชนที่ประสบอุทกภัย จากพายุโซนร้อน “เตี้ยนหมู่” โดยมอบถุงยังชีพให้ผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ตำบลท่าวาสุกรี อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จำนวน 600 ครัวเรือน ที่ผ่านมา PEA  ได้ส่งพนักงานลงพื้นที่ยกระดับมิเตอร์ไฟฟ้าให้พ้นน้ำท่วม แก้ไขระบบไฟฟ้าที่ได้รับความเสียหาย จำนวนกว่า 8,000 เครื่อง เพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน รวมทั้งแนะนำประชาชนในพื้นที่ประสบอุทกภัยหลังน้ำลดให้ใช้ไฟฟ้าได้อย่างปลอดภัย

 

สระบุรี - รับฟังการชี้แจงโครงการเพิ่มทักษะด้านอาชีพ แก่นักเรียนครอบครัวยากจนที่ไม่ได้เรียนต่อหลังจบการศึกษาภาคบังคับ ในปีงบประมาณ 2565

ที่ห้องประชุมป่าสัก ศาลากลางจังหวัดสระบุรี นายสมภพ สมิตะสิริ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี พร้อมส่วนราชการที่เป็นคณะกรรมการขับเคลื่อนโครงการเพิ่มทักษะด้านอาชีพแก่นักเรียนครอบครัวยากจนที่ไม่ได้เรียนต่อหลังจบการศึกษาภาคบังคับในระดับจังหวัด ปีงบประมาณ 2565 ร่วมประชุมรับฟังการชี้แจง ผ่านระบบวิดีทัศน์ทางไกล (Video Conference) ที่มี นายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน เป็นประธานจากห้องประชุมราชสีห์ ศาลาว่าการกระทรวงมหาดไทย พร้อมกันกับคณะกรรมการขับเคลื่อนโครงการฯ จากทุกจังหวัดทั่วประเทศ

การประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนโครงการเพิ่มทักษะด้านอาชีพแก่นักเรียนครอบครัวยากจนที่ไม่ได้เรียนต่อหลังจบการศึกษาภาคบังคับในระดับจังหวัดในครั้งนี้ เป็นการชี้แจงการดำเนินโครงการในระดับจังหวัดในปีงบประมาณ 2565 รวมทั้งสรุปผลการดำเนินงานปีงบประมาณ 2564 ที่ผ่านมา

โดยโครงการดังกล่าวเป็นการมุ่งเพิ่มทักษะด้านอาชีพให้กับเด็กนักเรียนครอบครัวยากจนที่ไม่ได้เรียนต่อหลังจบการศึกษาภาคบังคับ (ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3) เนื่องจากฐานข้อมูลของกระทรวงศึกษาธิการที่ผ่านมา ในแต่ละปีจะมีเด็กนักเรียนกลุ่มนี้ ไม่ได้เรียนต่อหลังจบการศึกษาภาคบังคับนับแสนคนทั่วประเทศ โดยนักเรียนเหล่านี้ได้เข้าสู่ตลาดแรงงานในฐานะ “แรงงานไร้ฝีมือ” เป็นจำนวนมาก

ดังนั้นหากมีการบูรณาการช่วยเหลือเพิ่มทักษะด้านอาชีพให้แก่นักเรียนกลุ่มดังกล่าวหลังจบการศึกษาภาคบังคับแล้ว จะช่วยให้นักเรียนกลุ่มดังกล่าวเข้าสู่ตลาดแรงงานในฐานะ “แรงงานมีฝีมือ” อันจะทำให้มีรายได้ ค่าจ้างที่สูงขึ้น สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ ลดปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมได้อย่างเป็นรูปธรรม

 

สมุทรปราการ - กองทัพเรือ ลำเลียงเรือผลักดันน้ำลงจุดประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์ เสริมกำลังเร่งระบายน้ำออกสู่ทะเล

เมื่อวันที่ 7 ต.ค.64 เวลา 10.00 น. พลเรือโท ปกครอง มนธาตุผลิน เจ้ากรมกิจการพลเรือนทหารเรือ ในฐานะหัวหน้าฝ่ายกิจการพลเรือน ศูนย์บรรเทาสาธารณภัย กองทัพเรือ พร้อมคณะ ให้การต้อนรับ พลตำรวจเอก อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการจังหวัดกรุงเทพมหานคร ในการเดินทางมาตรวจเยี่ยมการติดตั้งเรือผลักดันน้ำ ของกองทัพเรือ พร้อมรับฟังการบรรยายสรุปสถานการณ์น้ำ บริเวณคลองลัดโพธิ์ อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ 

กองทัพเรือ โดยศูนย์บรรเทาสาธารณภัย กองทัพเรือ สั่งการให้กรมอู่ทหารเรือ จัดชุดเฉพาะกิจผลักดันน้ำ อู่ทหารเรือพระจุลจอมเกล้า สนับสนุนเรือผลักดันน้ำ จำนวน 12 ลำ พร้อมกำลังพล อุปกรณ์ และยุทโธปกรณ์ เพื่อปฏิบัติภารกิจผลักดันน้ำคลองลัดโพธิ์ อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ  จากแนวโน้มสถาการณ์น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา จะมีปริมาณจากน้ำเหนือที่ไหลมาสูงขึ้น กอรปกับผลกระทบจากพายุที่จะเข้ามา กรุงเทพฯ ได้ร้องขอรับการสนับสนุนเรือผลักดันน้ำ จากกองทัพเรือ เพื่อเร่งระบายน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาลงสู่อ่าวไทยนั้น ฝ่ายกิจการพลเรือน ศูนย์บรรเทาสาธารณภัย กองทัพเรือ กรมอู่ทหารเรือ และกรุงเทพมหานคร ได้ร่วมพิจารณาแล้ว กำหนดจุดวางเรือผลักดันน้ำ ที่จะสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพในการเร่งระบายน้ำสูงสุด คือบริเวณคลองลัดโพธิ์ จะสามารถระบายน้ำได้ 100,000 ลบ.ม./เครื่อง/วัน  ซึ่งถ้าเดินเครื่องเต็มที่ในช่วงน้ำลงจะสามารถเร่งระบายน้ำได้ 1,200,000 ลบ.ม./วัน

โดยในช่วงเช้า เวลา 10.00 น. พลเรือตรี สุทธิศักดิ์ บุตรนาค รองผู้อำนวยการอู่ทหารเรือพระจุลจอมเกล้า กรมอู่ทหารเรือ ในฐานะ หัวหน้าชุดเฉพาะกิจผลักดันน้ำ อู่ทหารเรือพระจุลจอมเกล้า เป็นประธานในพิธีปล่อยขบวนลำเลียงเรือผลักดันน้ำ จำนวน 12 ลำ จากอู่ทหารเรือพระจุลจอมเกล้า กรมอู่ทหารเรือ อ.พระสมุทรเจดีย์ จ.สมุทรปราการ  มาปฏิบัติภารกิจผลักดันน้ำที่คลองลัดโพธิ์

คลองลัดโพธิ์ เป็นชื่อคลองเดิม บริเวณตำบลทรงคนอง อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ เดิมมีลักษณะตื้นเขิน ต่อมาได้จัดสร้างเป็นโครงการตามแนวพระราชดำริ เป็นการบริหารจัดการน้ำเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพมหานคร โดยยึดหลักการ "เบี่ยงน้ำ" ภายใต้การดูแลของหน่วยงานหลัก 3 หน่วยงานคือ กรมชลประทานกรุงเทพมหานคร และคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ มีหลักการคือ จากสภาพของแม่น้ำเจ้าพระยาเดิมที่มีลักษณะไหลวนคดเคี้ยวบริเวณรอบพื้นที่บริเวณบางกะเจ้านั้นมีความยาวถึง 18 กิโลเมตร นั้นทำให้การระบายน้ำที่ท่วมพื้นที่ชั้นในของกรุงเทพมหานครเป็นไปได้ช้า ไม่ทันเวลาน้ำทะเลหนุน พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร จึงมีพระราชดำริให้พัฒนาใช้คลองลัดโพธิ์ ซึ่งเดิมมีความตื้นเขินมีความยาวราว 600 เมตร ให้ใช้ระบายน้ำที่หลากและน้ำที่ท่วมทางสองฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยาลงสู่ทะเลทันทีในช่วงก่อนที่น้ำทะเลหนุน และปิดคลองลัดโพธิ์เมื่อน้ำทะเลหนุน เพื่อหน่วงน้ำทะเลไม่ให้ขึ้นลัดเลาะไปตามแนวแม่น้ำเจ้าพระยาที่คดโค้งถึง 18 กิโลเมตรก่อนซึ่งใช้เวลามากจนถึงเวลาน้ำลง ทำให้ไม่สามารถขึ้นไปท่วมตัวเมืองได้

คลองลัดโพธิ์ เป็นคลองที่พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีกระแสพระราชดำรัสถึง เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2549 ว่าเป็นสถานที่ตัวอย่างของการบริหารจัดการน้ำ ที่ต้องการความรู้เรื่องเกี่ยวกับเวลาน้ำขึ้นน้ำลง หากบริหารจัดการให้ถูกต้องจะสามารถแก้ปัญหาน้ำท่วมได้ พระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินทางชลมารคไปทรงเปิดประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์ และทรงเปิดสะพานภูมิพล 1 ภูมิพล 2 เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

สมุทรปราการ - กำลังพลจิตอาสา โรงเรียนนายเรือ ร่วมกิจกรรมจิตอาสาพระราชทาน “เราทำความ ดี ด้วยหัวใจ” พัฒนาวัดบางโฉลงนอก และคลองสำโรง

วันที่ 6 ต.ค.64 เวลา 10.30 น.พลเรือโท ชาติชาย ทองสะอาด ผู้บัญชาการโรงเรียนนายเรือ และนายทหารชั้นผู้ใหญ่ของโรงเรียนนายเรือ และกำลังพลจิตอาสาโรงเรียนนายเรือ ร่วมกิจกรรมจิตอาสาพระราชทาน “เราทำความ ดี ด้วยหัวใจ” ในกิจกรรมจิตอาสาป้องกันน้ำท่วม โดยมีพลเรือเอก สมประสงค์ นิลสมัย ผู้บัญชาการทหารเรือ ในฐานะ ผู้อำนวยการศูนย์บรรเทาสาธารณภัย กองทัพเรือ พร้อมด้วยนายทหารชั้นผู้ใหญ่ของกองทัพเรือ และกำลังพลจิตอาสากองทัพเรือ ตลอดจนจิตอาสาจังหวัดสมุทรปราการ และประชาชน เข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าว ณ วัดบางโฉลงนอก อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ

ในการนี้โรงเรียนนายเรือ ได้จัดกำลังพลจิตอาสาจำนวน 30 นาย  พร้อมด้วยรถดับเพลิงเข้าร่วมกิจกรรม โดยได้ร่วมกันทำความสะอาดพื้นที่บริเวณภายในวัดบางโฉลงนอก และเก็บขยะ ผักตบชวาในคลองสำโรง เพื่อไม่ให้เข้าไปกีดขวางการทำงาน งของเรือผลักดันน้ำ ของหน่วยเฉพาะกิจเรือผลักดันน้ำกองทัพเรือ

 

กรุงเทพฯ - กองทัพเรือจัดกำลังพลจิตอาสา บูรณาการชุมชน วางกระสอบทราย 7,000 ถุงรับมืออุทกภัย

กองทัพเรือ โดยศูนย์ประสานงานและสนับสนุนโครงการจิตอาสาพระราชทานตามแนวพระราชดำริของกองทัพเรือ (ศปง.โครงการจิตอาสาฯ ทร.) จัดกำลังพลจิตอาสาจากฐานทัพเรือกรุงเทพ จำนวน 30 นาย ร่วมกับสำนักการระบายน้ำ และสำนักงานเขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร กองทัพบก ตำรวจ และประชาชนจิตอาสา ชุมชนต่าง ๆ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ได้แก่ กองทุนแม่ของแผ่นดินชุมชนตรอกตาแทน กองทุนแม่ของแผ่นดินชุมชนวัดใหม่พิเรนทร์ กองทุนแม่ของแผ่นดิน  ชุมชนหลังเสสะเวช ชุมชนลานมะขามบ้านหม้อเขตบางกอกใหญ่ และชุมชนหลังเสสะเวชเขตบางกอกน้อย ดำเนินการจัดเรียงกระสอบทราย บริเวณท่านิเวศน์วรดิฐ จำนวน 7,000 ถุง ณ อู่ทหารเรือธนบุรี กรมอู่ทหารเรือ ถนนอรุณอมรินทร์ แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ เพื่อเตรียมการป้องกันอุทกภัยในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ที่อาจได้รับผลกระทบจากอุทกภัย ในครั้งนี้


ภาพ/ข่าว  นิราช / นันทพล ทิพย์ศรี รายงาน

เพชรบูรณ์ - ประกอบพิธีอุ้มพระดำน้ำ ประจำปี 2564 รักษาแก่นแท้ของประเพณี พระคู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดเพชรบูรณ์

6 ตุลาคม 2564 เวลา 09.39 น. ที่บริเวณท่าน้ำวัดโบสถ์ชนะมาร นายกฤษณ์ คงเมือง ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ พร้อมด้วยกรมการเมืองทั้ง 4 คือ เวียง วัง คลัง และนา ได้ร่วมอัญเชิญพระพุทธมหาธรรมราชา พระคู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดเพชรบูรณ์ จากวัดไตรภูมิ แห่องค์พระล่องไปตามแม่น้ำป่าสัก ไปยังท่าน้ำวัดโบสถ์ชนะมาร เพื่อประกอบพิธีอุ้มพระดำน้ำ ประจำปี 2564 โดยในปีนี้จังหวัดเพชรบูรณ์กำหนดจัดงานเพื่อ รักษาแก่นแท้ของประเพณีเท่านั้น งดการจัดกิจกรรมที่รวมคนเป็นจำนวนมากเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 

โดยพิธีเริ่มจากนายกฤษณ์  คงเมือง ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์  ได้อัญเชิญพระพุทธมหาธรรมราชาขึ้นประดิษฐานบนเรือ จากวัดไตรภูมิมายังแม่น้ำป่าสัก และแห่องค์พระพุทธมหาธรรมราชาล่องไปตามสายน้ำ ถึงท่าน้ำวัดโบสถ์ชนะมาร เพื่อประกอบพิธี อุ้มพระดำน้ำ ที่ปฏิบัติสืบทอดมานาน และเชื่อกันว่าเป็นพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์อันจะนำความสุข ความสงบร่มเย็นมาสู่เมือง ส่งผลให้ฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาล พืชผลการเกษตรอุดมสมบูรณ์ และทำให้ชาวเพชรบูรณ์มีความเจริญรุ่งเรือง โดยผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ พร้อมด้วยกรมการเมืองทั้ง 4 คือ เวียง วัง คลัง และนา ได้ร่วมกันอุ้มพระดำน้ำจำนวน 6 ครั้ง ครั้งแรกและครั้งที่สองทำพิธีอุ้มในทิศใต้  ครั้งที่สามครั้งที่สี่ทำพิธีอุ้มในทิศเหนือ ครั้งที่ห้าทำพิธีอุ้มในทิศใต้ และครั้งที่หกทำพิธีอุ้มในทิศเหนือ  ซึ่งภายหลังจากเสร็จพิธี ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ และผู้ร่วมประกอบพิธี ได้แจกจ่ายเครื่องบวงสรวง กระยาสารท ข้าวต้มลูกโยน กล้วย ที่ผ่านพิธีอันเป็นมงคล ให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวที่มาร่วมพิธีนำกลับไปรับประทานเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ตนเอง

ประเพณีอุ้มพระดำน้ำมีตำนานที่ถูกเล่าขานมานานเป็นประเพณีหนึ่งเดียวในโลกของจังหวัดเพชรบูรณ์ โดยมี ชาวบ้านกลุ่มหนึ่งได้ออกหาปลาในแม่น้ำป่าสัก แต่อยู่มาวันหนึ่งเกิดเหตุอัศจรรย์ขึ้น โดยกระแสน้ำในบริเวณวังมะขามแฟบ มีพรายน้ำผุดขึ้นมาทีละน้อยจนแลดูคล้ายน้ำเดือด จากนั้นกลายเป็นวังวนดูดเอาองค์พระพุทธรูปองค์หนึ่งลอยขึ้นมาเหนือน้ำ ทำให้ชาวประมงต้องลงไปอัญเชิญพระพุทธรูปขึ้นมาประดิษฐานไว้ที่วัดไตรภูมิ แต่ในปีถัดมาตรงกับวันแรม 15 ค่ำเดือน 10 วันประเพณีสารทไทย พระพุทธรูปดังกล่าวหายไป ชาวบ้านต่างพากันระงมหา สุดท้ายไปพบพระพุทธรูปกลางแม่น้ำป่าสัก บริเวณที่พบพระพุทธรูปองค์นี้ในครั้งแรกกำลังอยู่ในอาการดำผุดดำว่าย

 

ปทุมธานี - บิ๊กแจ็ส จับมือท้องถิ่นลอกคลองหนองเสือ เตรียมรับมือ ‘พายุไลออนร็อค’

เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2564 เวลา 08:30 น. ที่คลอง 10 บริเวณที่เขื่อนหน้าที่ว่าการอำเภอหนองเสือ ตำบลบึงบา อำเภอหนองเสือ จังหวัดปทุมธานี พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี นายเสวก ประเสริญสุข , นายสิระพงษ์ สิริโพธินันท์ รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี , ร.ต.อ. ดร.ตรีลุพธ์ ธูปกระจ่าง นายกเทศมนตรีนครรังสิต , นายวริศ เจริญกัลป์ นายกเทศมนตรีตำบลหนองเสือ ร่วมลงพื้นที่ติดตามตรวจการทำงานขุดลอกคลองโดยใช้เรือโป๊ะในการขุดลอกภายในคลอง 10 ซึ่งเป็นหนึ่งคลองจากการดำเนินการทั้งหมด14 คลองเพื่อเป็นการปรับทัศนียภาพเเละกำจัดวัชพืชบริเวณผิวน้ำ รวมไปถึงรองรับสถานการณ์ที่อาจจะเกิดปัญหาอุทกภัยในช่วงสองวันข้างหน้าหากมีผลกระทบจากน้ำฝนและเป็นช่วงน้ำทะเลหนุนสูง ประกอบกับปริมาณน้ำรวมไหลผ่านแม่น้ำเจ้าพระยาที่เพิ่มขึ้น อาจส่งผลทำให้ระดับน้ำเจ้าพระยาสูงขึ้นอีก 30 - 50 เซนติเมตร และรับพายุหมายเลข 17  ไลออนร็อค จะทำให้ฝนตกหนักในภาคเหนือและอีสานตอนบนในวันที่ 11-12 ต.ค.64 นี้

สืบเนื่องกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ มีประกาศแจ้งว่าได้ประเมินสถานการณ์น้ำแม่น้ำเจ้าพระยา และแม่น้ำป่าสัก พบว่า เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2564 ปริมาณน้ำหลากจากตอนบนของลุ่มน้ำเจ้าพระยาได้ไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาในอัตรา 2,775 - 2,800 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2564 ปริมาณน้ำหลากสูงสุดจากเขื่อนปาสักชลสิทธิ์ได้ไหลผ่านเขื่อนพระรามหกสูงสุดในอัตรา 762 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที โดยคาดว่าในวันที่ 5 ตุลาคม 2564 ปริมาณน้ำหลากรวมกันผ่าน อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในเกณฑ์สูงสุดที่ 3,050 - 3,150 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งจะไหลออกสู่อ่าวไทย ในช่วงวันที่ 7-10 ตุลาคม 2564 ประกอบกับในช่วงเวลาดังกล่าว เกิดสภาวะน้ำทะเลหนุนสูง คาดว่าจะส่งผลให้ระดับน้ำแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้นจากเดิม 30-50 เซนติเมตร บริเวณพื้นที่ลุ่มน้ำนอกแนวคันกั้นน้ำริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ทางกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดปทุมธานี จึงเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ดังกล่าว

โดยแจ้งเตือนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง บริษัทห้างร้านที่ประกอบกิจการริมแม่น้ำเจ้าพระยา อาทิ งานก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่ง แพร้านอาหาร รวมทั้งประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา อำเภอเมืองปทุมธานี และอำเภอสามโคก ทราบถึงสถานการณ์น้ำปัจจุบัน และเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ ขอให้อำเภอเมืองปทุมธานี อำเภอสามโคก กำชับผู้อำนวยการท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ในพื้นที่ริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ติดตามสถานการณ์และตรวจสอบแนวคันกันน้ำให้มีความพร้อมรับสถานการณ์ดังกล่าว ตลอดจนประสานการปฏิบัติกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่เตรียมความพร้อม กำลังพล วัสดุ อุปกรณ์เครื่องจักร และยานพาหนะ ให้พร้อมปฏิบัติงานให้ความช่วยเหลือประชาชน ตลอด 24 ชั่วโมง หากเกิดสาธารณภัยขึ้นในพื้นที่ให้รายงานสถานการณ์ และการให้ความช่วยเหลือในเบื้องต้น ให้กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดทราบทันที ผ่านทางสายด่วน 1784

 

สระบุรี - แม่ทัพภาค 1 ลงพื้นที่ตรวจสถานการณ์น้ำและเยี่ยมประชาชน ที่ได้รับผลกระทบอุทกภัยน้ำท่วมในจังหวัดสระบุรี

วันที่ 5 ตุลาคม 2564 เวลา14.00 น พล.ท.สุขสรรค์ หนองบัวล่าง แม่ทัพภาคที่ 1 และคณะกำหนดเดินทางมาตรวจสถานการณ์น้ำ และตรวจเยี่ยมประชาชน ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัย ในพื้นที่ อำเภอบ้านหมออำเภอหนองโดน จังหวัดสระบุรี

มีนายสมภพ สมิตะสิริ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรีพลตรีคณธัช มากท้วม ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 18 พลตรีจิรวัฒน์ นาคะรัตน์ ผู้บัญชาการศูนย์การทหารม้าค่ายอดิศรสระบุรี พลตำรวจตรีชยานนท์ มีสติ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสระบุรีนายพุทธพงษ์ สุริยะสิงห์ นายอำเภอบ้านหมอบรรยายสรุปเจ้าหน้าที่ หัวหน้าข้าราชการอำเภอบ้านหมอ ให้การต้อนรับ

 จากนั้นได้ดูคันกั้นน้ำของ 23 R ที่ชำรุดแตกที่เป็นสาเหตุให้น้ำท่วม 3 อำเภอได้แก่อำเภอบ้านหมอ  อำเภอหนองโดนและอำเภอดอนพุด จึงได้ตรวจดูการทำงานของเจ้าหน้าที่กรมชลประทาน ได้ดำเนินการเอาหินมัดรวมใส่ตาข่าย เพื่อปิดทางน้ำตรงประตูน้ำเริงราง 

 


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top